ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
ครั้งที่ 12 วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 10.39 - 16.11 นาฬิกา
เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
การหารือในวันนี้ท่านแรกนะครับ ท่านพลพีร์ สุวรรณฉวี เชิญครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม พลพีร์ สุวรรณฉวี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนครราชสีมา วันนี้ขอบคุณ พรรคภูมิใจไทยที่ให้โอกาสผมได้หารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานทั้งหมดประมาณ ๗-๘ เรื่อง ถ้าเกิดว่า เวลานั้นไม่พอ ผมขออนุญาตส่งเอกสารให้กับท่านประธานตามหลังนะครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
โครงการแรก เป็นถนนสาย บ้านปรางค์ ตำบลหินดาด ไปโคกสว่างตำบลห้วยแถลง ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่สัญจรหลัก ของพี่น้องประชาชน แล้วก็ยังเป็นเส้นสำคัญไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอห้วยแถลงด้วย ก็คือปราสาทบ้านปรางค์ ท่านประธานครับ ถนนมันเหลือแค่ประมาณเกือบ ๙๐๐ เมตร เท่านั้นเองที่จะทำให้ถนนเส้นนี้นั้นได้สมบูรณ์ แต่ว่าช่วงนี้ด้วยฝน ด้วยงบประมาณก็แล้วแต่ ทำให้ถนนเส้นนี้ไม่สามารถที่จะเป็นถนนหลักให้กับพี่น้องประชาชนได้ เพราะว่า มีการเดินทาง ทำให้การเดินทางนั้นลำบาก
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
โครงการที่ ๒ เป็นโครงการขอขยายไฟฟ้าเพื่อการเกษตรของบ้านตาฮิง-โนนงิ้ว สาย นม.๓๒๖๐๗ ตำบลห้วยแคน มีพี่น้องประชาชนหรือพี่น้องเกษตรกรประมาณ เกือบ ๓๐ ครัวเรือน ที่ไม่สามารถเข้าสู่การใช้ไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั่นไฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโค กระบือ สุกร หรือไก่ ก็แล้วแต่ครับ ท่านประธาน เขาไม่มีไฟฟ้าที่จะใช้ เพราะฉะนั้นฝากท่านประธานได้ส่งสารนี้ไปถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายไฟสำหรับการเกษตรให้กับพี่น้องประชาชนด้วยนะครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
โครงการที่ ๓ ถ้าเป็นถนน คสล. อีกเส้นหนึ่งที่พี่น้องชาวหลุ่งตะเคียนนั้น ได้ใช้กันในการระหว่างสัญจรระหว่างตำบลเองเข้าอำเภอห้วยแถลง แล้วก็สัญจรไปที่ อำเภอพิมาย และเส้นนี้เป็นเส้นหลักของพี่น้องประชาชนที่ประกอบการเกษตรท่านประธาน เพราะว่าเป็นถนนที่พี่น้องประชาชนนั้นได้ขนสินค้าทางการเกษตรไปขายที่อำเภอพิมาย
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
เส้นที่ ๔ เป็นเส้นทางหลวงชนบท นม.๓๐๔๑ ตำบลทับสวาย อำเภอ ห้วยแถลง แยก ทล.๒๒๖ บ้านตะแกรง เส้นนี้จริง ๆ มีความยาวทั้งหมดประมาณ ๒๒ กิโลเมตร แต่สิ่งที่ผมจะมาขอท่านประธานได้หารือในวันนี้ก็คือว่าจะมีอยู่ ๒ ช่วง ท่านประธาน ช่วงที่ ๑ เราอยากจะขอยกระดับการทางระยะทางประมาณสัก ๕ กิโลเมตร เพื่อจะได้ส่งเสริมสภาพผิวการจราจรให้กับพี่น้องประชาชนได้ดีขึ้น แล้วอีกอย่างหนึ่งจะขอ ไฟส่องสว่างให้กับพี่น้องประชาชนของเส้นนี้ระหว่างที่ถนนเส้นนี้ผ่านในพื้นที่ของชุมชน เพราะว่ากลางคืนนั้นไม่มีแสงสว่างให้พี่น้องประชาชนค่อนข้างที่จะอันตรายครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
โครงการที่ ๓ นม.๕๐๔๒ ของบ้านหนองไผ่ เส้นนี้ก็เช่นกันของตำบลศรีสุข และตำบลศรีละกอ ความยาวเกือบ ๓๐ กิโลเมตร แต่ว่ามี ๒ ช่วงที่ต้องการรับการพัฒนา จากท่านประธานนะครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
เส้นที่ ๖ เป็นเส้นทางข้ามทางรถไฟตำบลหินโคนครับท่านประธาน เส้นนี้เป็น ความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ว่าไม่สามารถที่จะสัญจรได้และ อบต. ได้ตั้ง งบประมาณเอาไว้แล้ว แต่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ส่งมอบให้กับ อบต. เพราะฉะนั้น อบต. ไม่สามารถลงไปซ่อมแซมได้ครับท่านประธาน ส่วนอีก ๓-๔ โครงการ ที่เหลือนั้น ผมขออนุญาตท่านประธานได้ส่งเป็นเอกสารนะครับ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ส่งมาเป็นเอกสารนะครับ ต่อไปท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เชิญครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภา ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน ดังนี้
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องแรก ถนน รย.๒๐๑๕ บริเวณแยกป้าไสวก่อสร้างมา ๕ ปีไม่จบไม่สิ้น โครงการไม่มีความคืบหน้า ผู้รับจ้างติดปัญหาสภาพคล่อง ผู้รับผลกระทบคือประชาชน การสัญจรผ่านไปมาเหมือนวิ่งบนผิวดวงจันทร์ ฝนตกทีเละเทะ ถ้าฝนตกหนักมีน้ำท่วม เข้าบ้านพี่น้องประชาชน
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ถนน รย.๓๐๑๓ เส้นนี้มีจุดวิกฤติหลายจุด เช่น ตามแยก และคอสะพานที่ควรเร่งสร้างเพื่อแก้ปัญหา เส้นนี้ไม่กี่กิโลเมตรแต่สร้างมา ๗ ปีได้แล้วครับ จนชาวบ้านเรียกว่าถนนเจ็ดชั่วโคตร จะต้องรอถึง ๘ ชั่วโคตรไหมครับถึงจะเสร็จ ฝุ่นเยอะ เป็นปัญหาสุขภาพและอันตรายในการสัญจร ทั้ง ๒ เส้นฝากท่านประธานผ่านไปยัง แขวงทางหลวงชนบท เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวปลวกแดง มาบยางพร-สะพานสี่ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ บริเวณแยกลงอุ้ยมีการจราจรติดขัดขยายถนนไม่ได้ มีการตั้ง ข้อสงสัยว่าเพราะเอกชนได้สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรบนพื้นที่หลวงจึงขอฝากแขวงการทาง จังหวัดไปตรวจสอบว่ามีการรุกที่หลวงจนสร้างปัญหาการจราจรจริงหรือไม่
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ คือสี่แยกวัดจอมพลไม่มีสัญญาณไฟจราจรทั้งที่เป็นแยกที่รถผ่าน เยอะมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อย ขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาด้วยครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ ถนนเส้นรอบอ่างเก็บน้ำประแสร์ อำเภอวังจันทร์ บริเวณ จุดทางเข้ามีปัญหาผิวถนนพัง ไฟทางไม่สว่าง เสี่ยงอุบัติเหตุ อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าของพื้นที่และหน่วยงานที่ได้รับการประสานให้ซ่อมแซมเร่งแก้ไขครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๖ บริเวณถนนเส้นท่ากินข้าว หมู่ที่ ๑๑ ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย พังชำรุดเป็นหลุมบ่อมายาวนานสัญจรยาก ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขด้วย ชาวบ้านเดือดร้อน
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๗ บริเวณชุมชนบ้านสามเนิน ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม มีผู้รับเหมาขนดินออกมาจากพื้นที่ก่อสร้างทำดินหล่น บนถนนมีฝุ่นเยอะ อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนจาก การขนดินด้วยครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๘ ที่อำเภอวังจันทร์ ถนนหลวงเส้น ๓๔๔ กิโลเมตรที่ ๖๘ ไฟส่องสว่างไม่ติดมานานต้องซ่อมแซม อันตรายมาก ๆ และสี่แยกสหกรณ์ชะแวะ กิโลเมตร ที่ ๘๔ ต้องการไฟแดงที่แยกเพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจร ฝากแขวงทางหลวงจัดการ ด้วยนะครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๙ บริเวณถนนเส้น ๓๓๗๑ บริเวณหน้า มจพ. ระยอง และหน้า วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย ถนนเป็นเนินเป็นทางตรงยาวรถวิ่งเร็วเกิดอุบัติเหตุบ่อย คนสัญจร ไปมาบาดเจ็บเสียชีวิตเยอะโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ อบจ. ระยองติดตั้งไฟจราจรทีนะครับ อย่าให้การไปเรียนต้องเสี่ยงตายกันขนาดนี้เลย
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑๐ บ้านหนองม่วง หมู่ที่ ๔ ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ รองนายก อบต. ได้ประสานเรื่องการขอติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้ง ทำการเกษตร ตอนนี้เหลือขั้นตอนการขออนุญาตตามระบบราชการที่ยังไม่คืบหน้ามานาน รบกวนเร่งรัดด้วยนะครับ รวมถึงไฟถนนทางขึ้นชุมชนด้วยยังไม่มีตอนนี้ ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าดูแลด้วย ชาวบ้านสัญจรไปมาอันตราย
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เรื่องน้ำประปาในเขตผมมีทั้งขุ่นดำไม่ไหลในหลาย ๆ พื้นที่ ในอำเภอปลวกแดง เช่น หมู่บ้านศศิธร ๒๑ หมู่บ้านโกลเด้นแลนด์ หมู่บ้านซอยห้างแก้ว หมู่บ้านรมิดา หลังโรงงานไฮ-พี หอพักต่าง ๆ และอมตะซิตี้ ระยอง ในตำบลมาบยางพร ใช้น้ำประปาเอกชนที่แพงและไม่ได้คุณภาพชาวบ้านต้องจ่ายค่าน้ำทุกเดือน แต่น้ำที่คุณภาพ ไม่ดี บางคนเลยต้องซื้อน้ำมาใช้เอง ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค และ อปท. ที่ทำสัญญากับการประปาเอกชนต่าง ๆ แก้ปัญหา ด้วยนะครับ แค่มีน้ำใช้ไม่ขาดแคลนมีคุณภาพไม่น่ายากขนาดนั้นถ้าทุกหน่วยงานใส่ใจ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ รักษาเวลาได้ดี ต่อไปท่านสกุณา สาระนันท์ เชิญครับ
นางสาวสกุณา สาระนันท์ สกลนคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สกุณา สาระนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันได้นำความเดือดร้อนของประชาชนมาหารือต่อท่านประธานใน ๓ เรื่องดังต่อไปนี้
นางสาวสกุณา สาระนันท์ สกลนคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องขอขยายช่องทางจราจรถนนสาย ๒๒๒ จาก ๒ เลน เป็น ๔ เลนตลอดสาย ถนนสาย ๒๒๒ เป็นถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดสกลนคร และจังหวัดบึงกาฬ ขณะนี้ที่บึงกาฬกำลังมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๗ แล้วต่อจากนี้ถนนสาย ๒๒๒ ก็จะเป็นถนนเส้นทางสำคัญที่จะเชื่อม จากไทยไปลาว ไปเวียดนาม แล้วรวมถึงไปที่จีน ขณะนี้ถนนสายนี้ก็ได้ขยายช่องทาง ๔ เลน ไปบางส่วนแล้ว จากความยาวทั้งหมด ๑๒๘ กิโลเมตร ได้ขยายไปแล้วประมาณ ๖๐ กิโลเมตร เหลือ ๗๐.๗ กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ดิฉันจึงนำ ข้อร้องเรียนของประชาชนชาวอำเภอวานรนิวาส หารือผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทาน ให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการขยายช่องทางจราจรถนนสาย ๒๒๒ ตามเหตุผล ที่อธิบายข้างต้น
นางสาวสกุณา สาระนันท์ สกลนคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ การเพิ่มศักยภาพหนองทุ่งมน หนองทุ่งมนเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อ การอุปโภคบริโภค รวมถึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต แต่ปัจจุบัน หนองทุ่งมนมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำไม่เพียงพอ สาเหตุหลักก็คือว่าแหล่งน้ำต้นทางก็คือ อ่างวังกอไผ่มีสภาพตื้นเขิน และคลองส่งน้ำที่เชื่อมระหว่างอ่างวังกอไผ่กับหนองทุ่งมน มีสภาพชำรุด ขาดการดูแล ท่านนายกเทศมนตรีอำเภอเจริญศิลป์ นายเสาร์ วงศ์กระจ่าง จึงได้ยื่นข้อร้องเรียนให้ดิฉันส่งเรื่องผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทานเพื่อศึกษาแนวทาง แก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
นางสาวสกุณา สาระนันท์ สกลนคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมในลุ่มน้ำยามและห้วยลำปะหัง ลำน้ำยามและห้วยลำปะหังเป็นลำน้ำที่มี ความสำคัญต่อชาวอำเภอวานรนิวาส และชาวอำเภอพังโคนเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงฤดูฝน ก็จะมีน้ำไหลหลากท่วมบ้านเรือนไร่นา แต่ในฤดูแล้งกลับมีสภาพแห้งขอด ปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร พี่น้องชาวตำบลต้นผึ้งนำทีมโดยนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลต้นผึ้ง นายจุลลา มาตะรักษ์ จึงเข้าพบดิฉันและหารือเพื่อขอให้กรมชลประทาน ได้ลงไปศึกษาแนวทางชะลอและกักเก็บน้ำในลำน้ำยามและห้วยลำปะหังให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกการทำประตูระบายน้ำ ฝายกั้นน้ำตามความเหมาะสม และพิจารณาจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพุธิตา ชัยอนันต์
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน พุธิตา ชัยอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๔ พรรคก้าวไกล ขอหารือประเด็น ปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในเขตของดิฉันจำนวน ๓ เรื่อง ดังนี้
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ ๔ บ้านดอนตัน ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร้องเรียนมายังดิฉันถึงปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำประปาไม่ใสสะอาด ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เมื่อดิฉันลงพื้นที่ตรวจสอบกับกรรมการประปาหมู่บ้านพบว่า น้ำที่ต้นน้ำหรือสถานที่เก็บน้ำมีน้ำใส แต่สุดสายปลายทางเป็นน้ำสีขุ่น ประเด็นปัญหาเช่นนี้ พรรคก้าวไกลได้ให้ความสำคัญ และวันนี้ สส. พรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติขอให้สภานี้ศึกษา วิธีการแก้ปัญหานี้ทั้งประเทศ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและที่กำกับดูแล ใส่ใจความทุกข์ร้อนของชาวบ้านและเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นปัญหาที่ดิฉันได้รับแจ้งมาจากมูลนิธิสว่างสำเร็จ ซึ่งเป็น อาสาสมัครกู้ภัยทำงานในพื้นที่อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างองค์กรของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ซึ่งแต่เดิมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทำให้ ผู้ปฏิบัติงานเกิดการตกหล่นของข้อมูล การเบิกจ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครกู้ภัย ที่จากเดิมเคยได้รับกลับไม่ได้รับ ซึ่งเป็นเช่นนี้กว่า ๙ เดือนแล้ว ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วประเทศทำให้อาสาสมัครกู้ภัยแบกรับ ค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องมือและเวชภัณฑ์ไม่ไหว บางแห่งเดือดร้อนหนักถึงขั้นหยุดวิ่งรับส่ง ผู้ป่วยเลยก็มี ก็ขอให้ต้นสังกัดเดิมอย่างกระทรวงสาธารณสุขอย่าเพิ่งทิ้ง และกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลมาร่วมกันแก้ปัญหานี้ด่วนค่ะ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ มีชาวบ้านหมู่ที่ ๑๕ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร้องเรียนมายัง Page ของดิฉันถึงปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการเรียกรับ ผลประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจที่ดินของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สทก. และมีการบุกรุกผืนป่าใหม่ ซึ่งเป็นแปลงผืนป่า ที่ชาวบ้านหวงแหนเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐออกเอกสารสิทธิ ในช่วงเวลาเดียวกันโดยทุจริต ดิฉันได้เข้าไปสอบถามประชาชนในพื้นที่เห็นว่าเป็นที่น่าสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดจริง ตามที่ประชาชนร้องเรียนมา จึงขอให้หน่วยงานกระทรวงต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบ อย่างละเอียดในเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์
นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต ๗ พรรคภูมิใจไทย อำเภอปราสาท อำเภอลำดวน กระผมขอกราบขอบพระคุณ ทุกคะแนนเสียงจากพ่อแม่พี่น้องที่เลือกผมให้มาทำหน้าที่ในวันนี้ ท่านประธานครับ สุขภาพ เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต คือเรามีสุขภาพที่ดีจะทำให้การดำเนินชีวิตของบุคคลมีภาวะ ทางกายและจิตใจที่สมบูรณ์ อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือ ท่านประธาน ๒ เรื่อง ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เรื่องการขอขยายพื้นที่โรงพยาบาลปราสาท ซึ่งโรงพยาบาล ปราสาทเป็นพื้นที่รองรับเขตบริการชาวอำเภอปราสาท และยังต้องรองรับโรงพยาบาล ลูกข่ายถึง ๒ แห่ง คือ โรงพยาบาลพนมดงรักและโรงพยาบาลกาบเชิง ขอ Slide ครับ
นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
จากข้อมูลในการให้บริการพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาที่ตามมา คือการให้บริการที่จอดรถไม่เพียงพอต่อประชาชนที่มารับบริการ จึงได้นำเรื่องเข้าประชุม ในที่ประชุมส่วนราชการ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน เห็นควรขอใช้พื้นที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๑๗ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน เนื่องจาก พื้นที่โรงพยาบาลมีความคับแคบต้องจอดรถบนถนนทางหลวง เพื่อประโยชน์กับชาวบ้าน ในพื้นที่ ท่านประธานครับ ผมมีความจำเป็นต้องขออาคารผู้ป่วย ๑๐ ชั้น เพื่อรองรับ การให้บริการ เช่น หอผู้ป่วยมะเร็ง หอผู้ป่วยระยะกลาง งานกายภาพบำบัด ศูนย์เครื่องมือ ทางการแพทย์ เพื่อรองรับให้บริการที่สูงขึ้นในอนาคตสำหรับประชาชนในเขตอำเภอ ปราสาทและรองรับสาธารณสุขชายแดน ประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการขยายพื้นที่ให้บริการ โรงพยาบาลสามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และครบวงจร ลดความแออัดของการให้บริการในโรงพยาบาล ลดการส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลสุรินทร์ ท่านประธานครับ ประชาชนกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ชีวิต จะได้รับบริการ สาธารณสุขที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าประเด็นที่ผมปรึกษาหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่อง สามารถเกิดขึ้นได้จริง จึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภาควัต ศรีสุรพล
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น เขต ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องจะมาปรึกษาหารือท่านประธานอยู่ ๔ เรื่องนะครับ
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องขอขยายถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๘ จากอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ถึงสามแยก อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ให้เป็นถนน ๔ เลน ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวนี้ผมเคยได้ ปรึกษาหารือท่านประธานสภามายังสภาผู้แทนราษฎรใน ปี ๒๕๖๒ ผ่านมาวันนี้ ๔ ปี ถนนเส้นดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเลย ซึ่งต้องบอกว่า ถนนสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่พี่น้องประชาชนใช้สัญจรไปมา เชื่อมต่อจังหวัด สู่จังหวัด แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเลย แม้กระทั่งในช่วง กลางตลาดอำเภอสีชมพู ผ่านมา ๑๐-๒๐ ปีถนนก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ได้รับการเหลียวแล จากกรมทางหลวงเลย ซึ่งช่วงถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๘ ช่วงผ่านกลาง อำเภอสีชมพู ท่านประธานสามารถดูได้จาก Slide นะครับว่าถนน ๒ ข้างทางของ อำเภอสีชมพูก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดน้ำท่วมขัง หน้าแล้งเกิดฝุ่นละอองมากมาย พี่น้อง ประชาชนลำบากกันมากครับท่านประธาน ผมจึงอยากทวงถามท่านประธานสภาผ่านไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ออกมาสำรวจ ติดตามแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องขอขยายไหล่ทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๓๓ จากสามแยกอำเภอศรีบุญเรืองถึงวงเวียนไดโนเสาร์ อำเภอภูเวียง ซึ่งเรื่องนี้ผมเคย ได้ปรึกษาหารือมายังสภาผู้แทนราษฎรแล้วใน พ.ศ. ๒๕๖๒ และได้มีการขยายไหล่ทาง มาแล้วช่วงหนึ่งจนถึงหน้าโรงพยาบาลอำเภอหนองนาคำ และมีการต่อขยายช่องทางจราจร ๔ เลน มาจนถึงหน้าโรงเรียนอำเภอหนองนาคำ ระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร แต่ก็ยัง ไม่สุดเส้นทาง ยังคงเหลือระยะทางอีก ๑๖ กิโลเมตร ผมจึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งบรรจุเข้าแผนพัฒนาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๓๘ พื้นที่ถนนบริเวณ โดยรอบของวงเวียนไดโนเสาร์ พื้นยุบตัวชำรุดเสียหาย เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ซ้ำเติมไฟฟ้า ส่องสว่างไม่เพียงพอบริเวณโดยรอบถนนวงเวียนทำให้พี่น้องประชาชนเกิดอุบัติเหตุ อยู่บ่อยครั้ง ผมจึงอยากฝากท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมา สำรวจติดตามแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เพื่อความปลอดภัยของน้อง ๆ นักเรียน และผู้ใช้ถนนสัญจร ไปมาบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๓๘ อยากขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกมา สำรวจ บรรจุเข้าแผนเพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางบริเวณโรงเรียนภูเวียงวิทยาคม ให้กับน้อง ๆ นักเรียนด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธนยศ ทิมสุวรรณ เชิญครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายธนยศ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมมีประเด็นหารือกับท่านประธานทั้งหมด ๓ ประเด็น ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่น้อง ชาวอำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอนาแห้ว และอำเภอด่านซ้าย ที่ให้ความไว้วางใจ และสนับสนุนให้ผมกลับมาเป็นผู้แทนอีกสมัยนะครับ
เรื่องแรก เรื่องฝายน้ำปวนพังเสียหาย โดยผมได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ตำบลปากปวน อำเภอวังสะพุง ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่ฝายน้ำปวนพังเสียหาย และทำให้ที่ดินของชาวบ้านบริเวณดังกล่าวถูกน้ำกัดเซาะเกือบ ๒ ไร่ ฝายกั้นน้ำดังกล่าว เป็นโครงการสร้างโดยกรมชลประทาน ต่อมาได้ทำบันทึกโอนไปทางเทศบาลตำบลปากปวน แต่เมื่อปี ๒๕๖๔ ฝายน้ำปวนไม่สามารถใช้งานได้ พังเสียหายลง อีกทั้งเทศบาลปากปวน ก็มีงบประมาณอย่างจำกัด จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอความกรุณาท่านประธาน ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาให้ด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านตำบลเหล่ากอหก อำเภอนาแห้ว ว่ามีความเดือดร้อน เรื่องถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒๖๘ ช่วงระหว่างสวนป่าบ้านนาปอ ตำบลแสงภา ถึงบ้านเหล่ากอหก ตำบลเหล่ากอหก ตลอดสายยาวประมาณ ๑๙ กิโลเมตร ถนนเส้นดังกล่าวมีขนาดเล็ก แคบ แล้วก็ไม่มีไหล่ทาง ชำรุด แล้วก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่นักท่องเที่ยวใช้ในการเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอนาแห้ว ถ้าได้รับการแก้ไขก็จะทำให้มีผลดี ต่อการท่องเที่ยว แล้วก็เพิ่มความปลอดภัยให้กับชาวบ้านนะครับ จึงขอความกรุณา ท่านประธานทำหนังสือถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งจัดสรรงบประมาณ มาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาเรื่องช้างป่า โดยได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าช้างป่าบุกรุก ทำลายพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องชาวอำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ อำเภอวังสะพุง ไม่ว่า จะเป็นสวนแก้วมังกร ไร่ข้าว แล้วก็พืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งหาวิธีการจัดการและเยียวยาปัญหาให้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนสิ่งของอื่น ๆ เพื่อเพิ่ม ความมั่นใจ ปลอดภัย แล้วก็ป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากช้างป่าในอนาคต ช้างป่า อยู่ได้ คนก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน จึงขอความกรุณาท่านประธานทำหนังสือถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชิญครับ
นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยครับ
นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
จากที่ผมได้รับร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชน ปัญหาหลักของถนนถือเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย และผมเชื่อ ได้ว่ายังเป็นปัญหาในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศไทยเช่นกัน ผมขอมาพูดถึงพื้นที่ที่แรกก่อนก็คือ พื้นที่บ้านขม ตำบลแม่ยาว และบางหมู่บ้านในตำบลห้วยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ถนนเป็นดินลูกรัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเป็นดินโคลน ไม่สามารถสัญจรได้สะดวก รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ต้องใช้โซ่พันล้อ เพื่อให้สามารถขึ้นเขาได้ ตามภาพที่ได้แสดงอยู่ ณ ตอนนี้ เป็นเพียงบางส่วน ซึ่งเป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนประสบเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการแก้ไข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดพื้นที่ป่าไม้ และงบประมาณ เกินศักยภาพของหน่วยงาน ผมจึงกราบเรียนผ่านไปยังท่านประธาน ขอความอนุเคราะห์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณางบประมาณช่วยเหลือโดยเร่งด่วนครับ ผมอยากให้ ท่านประธานลองพิจารณาว่า หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำอย่างไร เพื่อที่จะได้ลงมายัง สถานพยาบาลได้ทันท่วงที หลายต่อหลายกรณีมี่พี่น้องประชาชนได้พูดกับผมว่าลงมาไม่ทัน สิ้นใจกลางทาง ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่หากพี่น้องประชาชนได้มี ถนนสัญจรไปมาอย่างสะดวก พื้นที่ต่อไปเป็นพื้นที่ตำบลแม่กรณ์ และตำบลบ้านดู่ ประกอบด้วย บ้านเหล่าพัฒนา บ้านไร่ บ้านโป่งพระบาท ได้ใช้ถนนเส้นทางข้างศูนย์ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๕ จังหวัดเชียงราย ทางทิศตะวันตก เป็นเส้นทางหลัก ในการสัญจรไปมา โดยมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขนดิน แล้วก็สัญจรบ่อยครั้งทำให้ถนน เป็นหลุมเป็นบ่อ ลึกประมาณ ๕-๗ นิ้ว และไม่มีไฟกิ่งส่องสว่าง หากเดินทางในเวลากลางคืน ถ้าผู้ใช้เส้นทางไม่ชินกับเส้นทาง รถจักรยานยนต์ตกหลุมลงไป ทำให้รถเสียหลักเกิดอุบัติเหตุ อยู่บ่อยครั้ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ยังมีปัญหามากมาย ที่พี่น้องประชาชนฝากมาหารือในสภาแห่งนี้ ซึ่งวันนี้เวลาอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ เรื่องบริการจัดการขยะ น้ำท่วมขังซ้ำซาก ไฟฟ้า ประปา สิทธิที่ดินทำกิน แต่ทุกประเด็น ผมจะนำมาหารือในโอกาสหน้าอย่างแน่นอน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน สุดท้ายนี้ด้วยความเคารพต่อท่านประธาน ผมขอฝากคำถามจากพี่น้องประชาชนไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงรายว่าถนนที่ดีอยู่แล้วขยันซ่อมทั้งปี แต่ถนนที่พังรอมา หลายปีทำไมไม่ซ่อมสักทีครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิพิธ รัตนรักษ์ เชิญครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยความเคารพท่านประธาน กระผมขอหารือท่านประธาน สัก ๒ เรื่อง เขต ๒ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ประกอบด้วย อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน ตำบลเกาะเต่า อำเภอดอนสัก และอำเภอกาญจนดิษฐ์ ต้องยอมรับว่าพี่น้องของเขต ๒ นั้น ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือว่าเป็น อุตสาหกรรมที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ปัญหาปัจจุบันนั้น เรื่องของการขาดแคลนน้ำในเมืองท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ต้องยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่ปัญหาปัจจุบันนั้นปัญหาการขาดแคลนน้ำ ยกตัวอย่างของตำบลเกาะเต่า ผมได้รับการร้องเรียนจากท่านผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ นายมนตรีวัฒ ตู้วิเชียร ว่าขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่เกาะเต่า พี่น้องประชาชนได้ซื้อน้ำมาจากจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี นี่ถือว่า เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาหน้าบ้าน ในส่วนของอำเภอเกาะพะงันนั้นปัญหาการขาดแคลนน้ำ เช่นกัน เกาะสมุยก็ถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองใหญ่ขาดแคลนน้ำ น้ำที่ได้ลำเลียงจาก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่เพียงพอกับการใช้อุปโภคหรือบริโภค น้ำขาดแคลน ทำให้สิ่งต่าง ๆ ขาดแคลนไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถาบันการศึกษา เด็ก นักเรียน สถาบันการแพทย์ การท่องเที่ยว หรือสิ่งต่าง ๆ สร้างความลำบาก กระผมขอนำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประปาส่วนภูมิภาค การบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานที่มี หน้าที่เกี่ยวข้อง กระผมขอฝากความกรุณาให้ช่วยดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน อาจจะไปตั้ง รูปแบบของคณะกรรมการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา ออกแบบในเรื่องของ การวางแผนการบริหารการจัดการน้ำ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวนะครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ เรื่องของขยะ ต้องยอมรับว่าในเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทาง เข้ามาเมืองท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ ขยะที่เกาะสมุยมีมากมาย ขยะที่เกาะพะงันก็มีมากมาย ส่วนขยะที่เกาะเต่าก็มีครับ ผมถือว่านี่คือผลกระทบเรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยว ทำอย่างไรนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วเกิดความไว้วางใจ เป็นที่ประทับใจ เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เกิดความสะอาดนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ สำคัญ ก็เป็นกระบวนการของการบริหารการท่องเที่ยว กระผมขอฝากไปยังหน่วยงาน ที่เคารพทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านคณะกรรมการ ผู้บริหาร ระดับสูง ท่านเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ลงพื้นที่แก้ปัญหาให้โดยเร่งด่วนด้วยครับ เพราะปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหน้าบ้านของการท่องเที่ยว ด้วยความเคารพ ท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิภาณี ภูคำวงศ์ เชิญครับ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๘ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือเรื่องพื้นที่ค่ะท่านประธาน ขอ Slide ด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ เรื่องถนนทางหลวง หมายเลข ๒๐๖๒ ถนนจากตำบลบ้านทุ่มไปยังอำเภอมัญจาคีรี ซึ่งต้องบอกก่อนว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่อง Logistics การคมนาคมขนส่ง และถนนเส้นนี้ยังเป็นถนน ๒ ช่องจราจร ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งไม่รองรับกับการสัญจรไปมาอย่างยิ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และถนนเส้นนี้ ยังเป็นถนนที่ผ่านอำเภอพระยืน อำเภอมัญจาคีรี และไปยังจังหวัดชัยภูมิ และยังเป็น อีกเส้นทางลัดไปยังกรุงเทพมหานคร ยิ่งช่วงวันหยุดเทศกาล รถสัญจรไปมาอย่างหนาแน่น มาก ๆ ถนนเส้นทางนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ดิฉันจึงอยากขอฝาก ท่านประธานไปยังกรมทางหลวง เพื่อขอขยายถนนจาก ๒ ช่องจราจร เป็น ๔ ช่องจราจร ให้ตลอดสายด้วยค่ะ ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ขยายทีละ ๓ กิโลเมตร ซึ่งไม่รองรับกับจำนวน รถที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วันค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายปรีชา ช่างภา กำนัน ตำบลกุดเค้า และนายจงกล ไชยศรี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองขาม ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี ให้ติดตามเรื่องการติดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้ง ๒ แห่ง ทางกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ได้ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานชลประทานที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ ซึ่งทางชลประทาน ขอนแก่นก็ได้ลงมาสำรวจพื้นที่เรียบร้อย พบว่าสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าติดตั้งได้ในลักษณะ แพสูบน้ำ โดยสูบน้ำจากลำน้ำชีขึ้นมาบ้านเขวาและบ้านขุมดิน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ และบ้านหนองขามมีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ ดิฉันจึงอยากขอฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือสำนักงานชลประทานที่ ๖ เร่งเข้ามาดำเนินการเพื่อ เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องด้วยค่ะ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยของเรากำลังเข้าสู่ช่วง El Nino หรือภัยแล้ง ถ้าหากโครงการนี้สำเร็จโดยเร็วจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ เป็นอย่างยิ่งค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายสุเนตร เรือนทิพย์ นายกเทศมนตรี ตำบลนาข่า เรื่องโครงการขยายเขตจำหน่ายระบบการประปาส่วนภูมิภาค กรณีขาดแคลน น้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบประปาผิวดินในพื้นที่บ้านนาข่า อำเภอมัญจาคีรี ดิฉันขอฝากท่านประธานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคเขต ๖ ให้เร่งรัดเข้ามา ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันนี้น้ำไม่สะอาดและไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของพี่น้องค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ ประเด็นสุดท้ายค่ะท่านประธาน และดิฉันก็ได้รับเรื่องร้องเรียน จากนายกเทศมนตรีตำบลพระยืนมิ่งมงคล ได้ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนการวางท่อขยาย เขตน้ำประปา เป็นปัญหาเช่นเดียวกันค่ะท่านประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่บ้านหนองคู บ้านป่าหม้อ บ้านหินเหิบ บ้านเกาะประดู่ บ้านป่าซาง และบ้านศิลาทิพย์ ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน ดิฉันอยากจะขอฝากท่านประธานไปยัง การประปาส่วนภูมิภาค เขต ๖ ให้เร่งดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องในพื้นที่ อย่างเร่งด่วนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธนพัฒน์ ศรีชนะ เชิญครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายธนพัฒน์ ศรีชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคภูมิใจไทย ขอหารือเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องจังหวัดยโสธรอยู่ ๒ เรื่องนะครับ ก่อนอื่นกระผมกราบขอบพระคุณทุกคะแนนเสียงที่พี่น้อง เขต ๓ อำเภอกุดชุม อำเภอไทยเจริญ อำเภอเลิงนกทา มอบให้กับกระผม ธนพัฒน์ ศรีชนะ ในครั้งนี้ ขอ Slide ด้วยนะครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เกี่ยวกับทางหลวงหมายเลข ๒๑๖๙ สายยโสธร-เลิงนกทา หรือถนนวารีราชเดช มีระยะทางตลอดสาย ๖๗ กิโลเมตร เป็นทางหลวง ๒ ช่องทางตลอดสาย มีเพียงแค่ ๔ ช่องทางจราจรบางแห่งซึ่งอยู่ใน ความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงยโสธร และแขวงทางหลวงมุกดาหาร ถนนสายนี้ถือเป็น ถนนสายยุทธศาสตร์สายสำคัญเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับ สปป. ลาว ซึ่งพี่น้อง จังหวัดยโสธรมีประชากรมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนที่จะต้องสัญจรผ่านเส้นทางนี้เป็นประจำ แต่ยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีรถขนส่งสินค้ารถบรรทุกหนัก รถสิบล้อ รถสิบแปดล้อวิ่งผ่านเป็นประจำไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐,๐๐๐ คันต่อวัน ยังมีสะพานมากถึง ๒๐ แห่ง ความกว้างของสะพานแคบกว่าช่องทางถนน ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง การที่มี รถบรรทุกสัญจรไปมาทำให้พื้นผิวจราจรชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ตลอดจนปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน เกิดปัญหารถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ กระผมขอเป็นอีก ๑ กระบอกเสียงผ่านไปทางท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมให้เร่งผลักดันงบประมาณ สู่พ่อแม่พี่น้องจังหวัดยโสธรด้วยนะครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้อุโบสถวัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นอุโบสถไม้ตะเคียนทอง ก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ จนแล้วเสร็จ และเตรียมฉลองในช่วงปีใหม่ ปี ๒๕๖๗ เกิดเหตุไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง โดยยังไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท จึงอยากฝาก ท่านประธานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ช่วยเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้วย และผู้ที่สนใจอยากร่วมทำบุญสามารถโอนภาระบัญชีวัด หรือ QR Code ตามภาพบน Slide ได้เลยนะครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
สุดท้าย กระผมขอกราบเรียนท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งผลักดันงบประมาณ หรือเร่งพิจารณางบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน ขอขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านหรั่ง ธุระพล เชิญครับ
นายหรั่ง ธุระพล อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายหรั่ง ธุระพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๓ พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่อยากนำหารือท่านประธานเกี่ยวกับเรื่องถนนหนทาง อยู่ ๒ เส้นทางครับ ท่านประธานครับ จังหวัดอุดรธานี เขตเลือกตั้งที่ ๓ มีอยู่ ๓ อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอเพ็ญ อำเภอสร้างคอม และอำเภอเมืองเป็นบางส่วน สำหรับส่วนที่ ผมจะหารือกับท่านประธานในวันนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องถนนหนทางเส้นถนนมิตรภาพ จากจังหวัดอุดรธานีไปจังหวัดหนองคาย หลักกิโลเมตรที่ ๑๙ เป็นทางแยกบ้านด่าน ตำบลเชียงหวาง เข้าไปสู่อำเภอเพ็ญผ่านไปอำเภอสร้างคอม ระยะทางทั้ง ๒ ช่วง ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนที่คับแคบมาก เป็นถนน ๒ เลน บางช่วงไม่มีไหล่ทาง ทำให้ผู้สัญจรไปมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะว่าอำเภอสร้างคอมจะมี แหล่งท่องเที่ยว คือแพอ่างน้ำพาน มีผู้คนสัญจรไปมาท่องเที่ยว ตลอดทั้งนักท่องเที่ยว ต่างจังหวัดมาท่องเที่ยวสถานที่แห่งนี้เป็นประจำ แล้วอีกอย่างหนึ่ง มีรถบรรทุกสินค้า การเกษตรวิ่งสวนทางทำให้ถนนเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อ ทรุดโทรมลงมาก บางครั้งก็มี การเฉี่ยวชนกันจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีคดีความอยู่หลายคดีที่ติดค้างอยู่ที่ สภ. ทั้ง ๒ อำเภอ ผมจึงอยากเสนอท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้เข้ามาแก้ไขเร่งด่วน ทำถนนเป็น ๔ เลน จากแยกบ้านด่านไปถึงอำเภอเพ็ญ แล้วก็ผ่านไปอำเภอสร้างคอม ให้ขยายถนนออกเป็น ๔ ช่องจราจร เพื่อจะได้สะดวกในการสัญจรไปมา จะได้ไม่เกิดปัญหา กับพี่น้องประชาชน แล้วก็ติดไฟส่องสว่างตามแยกต่าง ๆ จากอำเภอเพ็ญไปถึง อำเภอสร้างคอม และหมู่บ้านที่มีถนนตัดผ่าน วันนี้ฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่มี ส่วนเกี่ยวข้องให้เข้ามากำกับดูแลแล้วก็ขยายเส้นทางเส้นนี้โดยด่วนด้วยครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ เชิญครับ
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากเขตคลองสามวา ท่านประธานคะ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่สามารถที่จะก้าวก่ายการทำงาน ของหน่วยงานราชการ รวมถึงไม่สามารถที่จะเกี่ยวข้องกับงบประมาณได้ ดิฉันจึงขอนำ ความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนคลองสามวามาปรึกษาหารือยังรัฐสภาแห่งนี้ เพื่อนำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ปัญหาแรก ก็คือปัญหาเรื่องการจราจร การจราจรในเขตพื้นที่ของดิฉัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นถนนคู้บอน หทัยราษฎร์ นิมิตใหม่ พระยาสุเรนทร์ หรือว่าเลียบคลองสอง ซึ่งเมื่อวานติดเป็นชั่วโมงเลยค่ะท่านประธาน แต่ที่หนักหนาสาหัสที่สุดจริง ๆ ก็จะเป็นบริเวณ แยกลำกระโหลก สุเหร่าคลองหนึ่ง หรือที่มีชื่อเล่นว่าเส้นกีบหมู เป็นปัญหาที่ได้รับ การร้องเรียนมาเป็นอันดับ ๑ ของเขต ยิ่งในช่วงเวลาฉุกเฉินช่วงเช้ากับช่วงเย็น จะมีพี่น้อง แรงงานพลัดถิ่น และพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่มารอคอยงาน และผู้รับเหมาจะนำพวกเขา มาส่งบริเวณนี้ ทำให้เกิดการจราจรติดขัด มีความพยายามที่จะแก้ไขมายืดเยื้อยาวนาน แต่ไม่ได้ดีขึ้น เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การกวดขันและอำนวยการจราจร การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับ การขยายตัวของเมืองและประชากร รวมถึงการเร่งจัดตั้งตลาดนัดแรงงาน ตามที่ท่านผู้ว่า กทม. ได้ Plan ไว้ตั้งแต่ปีก่อน รวมถึงดูแลจัดการแรงงานนอกระบบให้ได้รับสวัสดิการที่ดี มีการ Upskill Reskill เพื่อให้แรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานที่จะสามารถพัฒนาประเทศชาติ ของเราต่อไปได้
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ปัญหาต่อไป เป็นเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอค่ะท่านประธาน คลองสามวาเป็นเขตที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีประชากรกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ประชากรเยอะ ที่สุดในกรุงเทพมหานคร แต่เรามีรถขนส่งสาธารณะเพียง ๒ สาย แน่นอนว่าไม่เพียงพอกับ ความต้องการของประชาชน การสนับสนุนส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนในเขตของดิฉัน นอกจากจะลดรายจ่ายให้กับประชาชนแล้ว ก็ยังจะเป็นการลดปัญหาการจราจรในเขต ของดิฉันอีกด้วย
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ปัญหาสุดท้าย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นฉุกเฉินเมื่อคืนนี้ เป็นเรื่องที่ออกข่าวไปแล้ว ช่อง ๗ เมื่อวาน คือเรื่องของการลักลอบเผาขยะ ไม่ว่าจะเป็นการเผาขยะในเชิงของธุรกิจ เช่น การเผายางรถยนต์ เผาสายไฟ และการเผานา เผาหญ้าในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดอัคคีภัย ปัญหา PM2.5 มลพิษทางอากาศต่าง ๆ ส่งผลกระทบให้ประชาชน ในเขตบริเวณแบนชะโด วัดสุขใจ นิมิตใหม่ ไทยรามัญ หนองระแหง บริเวณเลียบทางด่วน จตุโชติ ซึ่งประชาชนร้องเรียนไปเท่าไรก็ไม่ได้รับความคืบหน้า ขณะที่เรามีข้อบัญญัติ ของสภา กทม. และมีข้อกฎหมายมากมายที่ควบคุมเรื่องนี้ ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั่วประเทศ และดิฉันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้เหมือนกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับตัวท่านค่ะ
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ดิฉันหวังว่าทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไขโดยไวที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของประชาชนผู้เสียภาษี ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านพิบูลย์ รัชกิจประการ ครับ
นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สตูล ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ผมขอหารือเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สตูล ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตำบลฉลุง และตำบลควนโพธิ์ โดยได้รับการร้องเรียนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง และนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลควนโพธิ์ พร้อมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๘ และหมู่ที่ ๑๔ ตำบลฉลุงและผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๗ ตำบลควนโพธิ์ ในเรื่องของ ความปลอดภัย ในการสัญจรบนถนนสายที่ ๔๑๖ จากสามแยกตำบลฉลุงไปถึงสามแยก ตำบลควนโพธิ์ ระยะทางประมาณ ๔.๓ กิโลเมตร ซึ่งถนนสายนี้ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน สาเหตุจากถนนเส้นนี้ ไม่มีเกาะกลาง Barrier และจุดตัดที่เหมาะสม จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงอยากจะฝาก ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ตั้งงบประมาณและสำรวจ ออกแบบเกาะกลาง Barrier และจุดตัดที่เหมาะสมเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และอยากจะฝากถึงสถานีตำรวจภูธรตำบลฉลุง ช่วยจัดส่ง ตำรวจจราจรไปอำนวยความสะดวกให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาคมที่ ๔๓ ด้วยครับ
นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สตูล ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตำบลควนโดน ตำบลควนสตอ ตำบลย่างชื่อ อำเภอควนโดน ตำบลฉลุง ตำบลบ้านควน ตำบลเกตรี ตำบลคลองขุด และตำบลพิมาน อำเภอเมือง ในช่วงฤดูฝนฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันจะทำให้เกิด น้ำท่วมขัง และในช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับการทำการเกษตรและน้ำใช้ ซึ่งผมเคยอภิปรายหารือมาแล้วเมื่อปี ๒๕๖๓ ซึ่งตอนนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการทำโครงการสร้าง อ่างเก็บน้ำคลองช้างที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง และโครงการแก้มลิงเอาไว้กักเก็บน้ำ ยามหน้าฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อยากให้ทั้ง ๒ หน่วยงานเร่งสำรวจและตั้งงบประมาณในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ให้เร็วที่สุด เพราะน้ำท่วมและแล้งทุกปี
นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สตูล ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ กรณีประชาชน ตำบลวังประจัน ตำบลควนโดน ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน ตำบลปูยู ตำบลเจ๊ะบิลัง และตำบลควนขัน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ประสบ ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากการประกาศพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติทั้ง ๖ ตำบล มีที่ตั้งอยู่ในเขตป่าถาวรและป่าชายเลน ซึ่งผมเคยอภิปราย หารือมาแล้วเมื่อปี ๒๕๖๕ ผมอยากจะสอบถามหน่วยงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสตูล สำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล สำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๑๐ ตรัง นายอำเภอเมืองสตูล นายอำเภอควนโดนว่าปัญหาของพี่น้องประชาชน ทั้ง ๖ ตำบล ได้รับการแก้ไขเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว เพราะชาวบ้านก็สอบถามมายังผม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแก้ปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านต่อไป ท่านแรก ท่านสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ท่านที่ ๒ ท่านสรพัช ศรีปราชญ์ แล้วก็ท่านที่ ๓ ท่านสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ เชิญท่านสุรพจน์ก่อนครับ เชิญครับ
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขออนุญาตปรึกษาหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนในเขตพื้นที่จำนวน ๔ เรื่องครับ ขอ Slide ด้วยครับ
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องซ่อมแซมอาคาร บังคับน้ำหนองแปน หนองแปนเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่จุน้ำได้ ๗ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ รับประโยชน์ ๑๐,๐๐๐ ไร่ แต่ปัจจุบันอาคารบังคับน้ำหนองแปนเกิดการชำรุดเสียหาย ไม่สามารถเปิดปิดบานประตูน้ำได้ ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มที่ ผมจึงฝาก ท่านประธานไปยังกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาสำรวจติดตามและเร่ง ซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำหนองแปนให้ใช้งานได้อย่างเร็วที่สุด
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องการขุดลอกลำห้วยกุดแดง ลำห้วยน้ำจั่น และลำห้วยกุดส้มโฮง ระยะทางโดยรวม ๖ กิโลเมตร เนื่องจากลำห้วยสายนี้ได้รับน้ำจากหนองแปนไหลผ่านไปยัง หนองกุดกว้าง หนองค้า หนองบ้านขนวนนคร และหนองปากขยุ้มเพื่อกักเก็บน้ำ แต่ปัจจุบัน มีสภาพตื้นเขินน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้อย่างเต็มที่ ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยัง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กรุณาจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ ขุดลอกลำห้วยอย่างเร่งด่วนด้วยครับ
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องซ่อมแซมฝายลำห้วยกุดกว้าง เนื่องจากฝายแห่งนี้สร้างมานาน กว่าสิบปีแล้ว ปัจจุบันเกิดการชำรุดเสียหายตรงบริเวณหูช้าง คันดินที่อยู่บริเวณด้านข้าง เกิดน้ำเซาะ คันดินขาด และมีสภาพตื้นเขิน ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ กระผมจึงขอฝาก ท่านประธานไปยังกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาสำรวจติดตามแก้ไข อย่างเร่งด่วน
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เรื่องการขุดลอกแก้มลิงหนองโสกจาน หนองเชิญหลง หนองปากขยุ้ม ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ถ้ามีการขุดลอกแก้มลิงทั้ง ๓ หนองนี้จะทำให้พ่อแม่พี่น้อง ชาวเกษตรกรได้รับประโยชน์และสามารถดูแลพื้นที่การเกษตรได้ถึง ๕,๐๐๐ ไร่ ผมจึงฝาก ท่านประธานไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กรุณาจัดสรร งบประมาณเพื่อการขุดลอกแก้มลิงโดยด่วน
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ จากที่ได้กล่าวมาเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเต็มระบบในพื้นที่ ตำบลกุดกว้าง ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณความจุน้ำกว่า ๙ ล้านลูกบาศก์เมตร และจะมี ปริมาณน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตร เพื่อรับประโยชน์ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ และสามารถ แก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของพื้นที่ต่อไป จึงขอฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สำรวจติดตามและจัดสรร งบประมาณเพื่อการพัฒนาโดยด่วนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสรพัช ศรีปราชญ์ เชิญครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม นายสรพัช ศรีปราชญ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้นำความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่มาปรึกษาหารือดังนี้ ขอ Slide ด้วยครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณ แยกเลี่ยงเมือง-เสาไห้ เนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานข้ามแยกผ่านมาหลายปีแล้ว มีการปิด Lane ถนนหลายจุดทำให้สัญจรไปมายากลำบาก ยิ่งช่วงเวลาเร่งด่วนส่งผลให้รถติด ไปหลายกิโลเมตร ฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดงานให้ก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จโดยเร็วครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าส่องสว่างถนนพหลโยธินตั้งแต่ช่วงตำบลห้วยบง ผ่านสวนพฤกษศาสตร์พุแค ไปยังตำบลหน้าพระลานมืดดับสนิทเนื่องจากถูกลักขโมยสายไฟ ประชาชนเดินทางในเวลากลางคืนต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และเสี่ยงต่อการเกิด อุบัติเหตุ และนี่ไม่ใช่ปัญหาของจังหวัดสระบุรีเพียงจังหวัดเดียวครับท่านประธาน ผมนั่งฟัง เพื่อนสมาชิกหารือมาตลอดหลายสัปดาห์เกือบทุกพื้นที่มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำห้วยหินขาวปัจจุบันมี ๒ เครื่อง ใช้งาน ไม่ได้ ๑ เครื่อง สอบถามจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ความว่าเสียมากว่า ๔ ปีแล้ว ทำเรื่องไป แล้วไม่ได้รับการแก้ไข ฝากท่านประธานผ่านไปถึงกรมชลประทานพิจารณาเรื่องนี้ด้วยครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ พี่น้องหมู่ที่ ๕ ตำบลกุดนกเป้า แจ้งมาว่าน้ำในลำคลองใกล้วัด ทุ่งสาริกาเน่าเหม็น มีผลต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้านอย่างมาก ขอให้ท่านประธานแจ้งให้ หน่วยงานรับผิดชอบเข้าตรวจสอบด้วยครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ เรื่องหนี้นอกระบบ จากการที่ได้ไปเดินพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า ตามตลาดต่าง ๆ ในพื้นที่ พ่อค้าแม่ค้าบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าขายของไม่ดีแล้วยังมาเจอ หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยก็แพง ขายของไม่พอส่งดอกเบี้ย อยากฝากท่านประธานผ่านไปถึง รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่นับวันเริ่มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเร่งด่วนครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๖ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวตำบลหน้าพระลานว่าน้ำประปา ไม่ไหล ไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง บางบ้านต้องไปขอน้ำจากวัดขนใส่ถังเพื่อนำมาใช้ เรียนท่านประธานผ่านไปยังการประปาส่วนภูมิภาคเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้พี่น้องครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๗ ขณะนี้ประชาชนได้ร้องเรียนเรื่องยาเสพติดที่ระบาดอย่างหนัก ทำให้ปัญหาอาชญากรรมตามมามากมาย จึงขอท่านประธานผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนช่วยเหลือลูกหลานของเราด้วยครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องฝากจากท่านสาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี เขต ๒ เป็นปัญหาภัยแล้งในจังหวัดลพบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้พืชผล ทางการเกษตรเสียหาย ฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตาม ดูแล เยียวยา เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ เชิญครับ
นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม นายสัมพันธ์ มะยูโซะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ จากที่ผมได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนในอำเภอเจาะไอร้องเพื่อนำมาปรึกษาหารือท่านประธาน มีด้วยกัน ๒ เรื่อง
นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องแรก คือการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จากการสัญจรถนนสายตันหยงมัส-เจาะไอร้อง ถนนทางหลวงชนบท ที่ ๕๐๐๒ นราธิวาส จากอำเภอเจาะไอร้องถึงตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่มีประชาชนใช้สัญจรกว่าหมื่นคน เป็นเส้นทางเลียบทางรถไฟ ช่วยย่นระยะทาง ในการเดินทางจากบ้านบูกิต อำเภอสุไหงปาดี ระยะทางกว่าหลายสิบกิโลเมตร แต่ในปัจจุบัน ประสบปัญหาเรื่องของเส้นทางที่แคบ ถูกตัดขาด และชำรุดเสียหาย เนื่องจากเกิดน้ำท่วม ทุกปีที่บริเวณคลองไอบือตง จนทำให้เกิดปัญหาขาดไฟฟ้าส่องสว่างตามมาด้วย ซึ่งตอนนี้ ทาง อบต. บูกิต บรรเทาปัญหาของพี่น้องประชาชนได้เพียงทำทางผ่านชั่วคราว โดยการฝัง ท่อระบายน้ำบริเวณคลองดังกล่าว และปริมาณน้ำฝนของภาคใต้นั้นมีน้ำท่วมไหลลงมา เทือกเขาบูโดเป็นจำนวนมาก สร้างปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจนแทบ ไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ เนื่องจากยังไม่มีสะพานที่ได้มาตรฐาน ถนนดังกล่าวอยู่ภายใต้ การดูแลของกรมทางหลวงชนบทในการซ่อมแซมก่อสร้าง เป็นถนนที่อยู่ในพื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ผมจึงขอเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มีการสร้างถนนและเพิ่มไหล่ทาง พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างตลอดเส้นทางคือ ทางหลวงชนบทที่ ๕๐๐๒ นราธิวาส ซ่อมแซมสะพานข้ามตัดขาดไปพร้อมกับขยายสะพาน ในบางช่วงให้กว้างขึ้นจากเดิมให้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องด่านศุลกากรอำเภอแว้ง ตำบลบูเก๊ะตา เนื่องจากด่านศุลกากร ตำบลบูเก๊ะตายังไม่มีสถานะที่สามารถมองเห็นได้ว่าเป็นด่านความมั่นคงถาวร มีเพียง ตู้ Container อยู่ในการตรวจสอบคนเข้าออกระหว่างประเทศ มองดูแล้วเหมือนไม่ใช่ ด่านศุลกากร เป็นเพียงการผ่อนปรนธรรมดา ในขณะเดียวกันทางฝั่งประเทศมาเลเซีย มีด่านศุลกากรตรงข้ามกันมีความเป็นมาตรฐานและพร้อมสำหรับการต้อนรับเข้าออก ของชาวต่างชาติและสินค้าต่าง ๆ ผมได้ลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวพบว่าด่านศุลกากร บูเก๊ะตามีอาคารสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อย แต่ไม่ได้มีการเข้าไปทำการใด ๆ จึงเกิด ความกังวล ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับคำตอบว่าด่านศุลกากร ณ เวลานี้เป็นเพียงแค่ ด่านธรรมดาในการผ่านเข้าออกของชาวบ้าน และสำหรับรถสินค้าทางการเกษตร รถบรรทุก อาหารทะเลจะต้องไปตรวจมาก่อน เหตุใดทุกอย่างอยู่ที่ด่านสุไหงโก-ลก และทำไม ไม่ให้บริการ One Stop Service ให้จบไปในที่เดียวกัน ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ท่านที่ ๒ ท่านวันนิวัติ สมบูรณ์ ท่านที่ ๓ ท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ เชิญท่านสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ครับ
นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ จังหวัดปัตตานี เขต ๓ ผมมีปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของพี่น้องในพื้นที่ ๓ อำเภอ อำเภอแรกก็คืออำเภอยะรัง ก่อนอื่น ต้องขอแสดงความเสียใจและห่วงใยกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากกรณี เหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลยะรัง นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสันติสุข ยังไม่มี ผมในฐานะซึ่งเป็นตัวแทนของพี่น้องในเขตเลือกตั้ง ขอฝากความหวังจากพี่น้อง ประชาชนผ่านท่านประธานให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อนำสันติสุขสู่ชายแดนใต้ โดยการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ให้มาก เพื่อแสวงหามุมมองของสันติสุข แล้วก็ขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้องรีบเยียวยาอย่างเร่งด่วนและเป็น ธรรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อส. ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบก็หวังเป็นอย่างยิ่ง
นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือขอให้มีการขยายในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง ขยายถนน ๔ ช่อง จราจร เส้นทางเพื่อความมั่นคงและเพื่อการท่องเที่ยว เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่าง ยะลา-ปัตตานี ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๗๑ ระหว่างตำบลวังพญาแล้วก็ตำบลพิเทน ถนนเส้นนี้จะเป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอำเภอทุ่งยางแดง นั่นคือภาพที่ผมได้โชว์ ให้เห็น
นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ก็คือในพื้นที่อำเภอแม่ลาน ขอให้มีการสร้างสะพานระหว่าง ริมคลองฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ของหมู่ที่ ๒ บ้านคูระ ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นฝั่งของตำบลตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บริเวณ จุดนี้ตามภาพเป็นบริเวณที่จะมีน้ำท่วมเกือบทุกปี รัฐมนตรีหลายคนก็จะมาเยี่ยม ที่ไปก็แค่ มอบถุงยังชีพ ไปก็รับปากกับชาวบ้านว่าชาวบ้านขอสะพานข้ามในความกว้างประมาณ ๘๐ เมตร แต่วันนี้ก็ยังไม่ได้
นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ คือเรื่องของกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ไฟตกบ่อยครั้ง และไฟฟ้า ส่องสว่างริมถนนในหมู่บ้านดับบ่อย ก็ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการเป็นเรื่อง เร่งด่วน ก็ขอฝาก ๔ เรื่องนี้ให้กับท่านประธานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวันนิวัติ สมบูรณ์ เชิญครับ
นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วันนิวัติ สมบูรณ์ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น ขออนุญาตหารือท่านประธานวันนี้ทั้งหมด ๔ เรื่อง
นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องแรก อยากจะขอให้ท่านประธาน ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปาและระบบกระจาย น้ำประปาหมู่บ้าน บ้านมูลนาค หนองใหญ่ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ปัจจุบัน ๔๐ กว่าปีแล้ว แล้วก็หลายส่วนได้ชำรุด หลายส่วนได้พังลงไปตามกาลเวลา ทำให้น้ำประปา มีกลิ่น มีสี พี่น้องหลายครอบครัวต้องซื้อน้ำจากต่างที่เพื่อนำมาอุปโภคบริโภค แล้วก็ฝาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ช่วยจัดสรรงบประมาณดูแลครับ
นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอให้ช่วยปรับปรุงเส้นทางซ่อมแซมเส้นทางที่พังลงทั้ง ๔ เส้น ซึ่งผมแยกไว้ ทั้ง ๔ เส้นนี้ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. ทั้งสิ้น ขอฝากท่านประธาน ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เส้นแรก เส้น A ก็คือบ้านระหอกโพธิ์ อำเภอโนนศิลา เชื่อมไปยังบ้านมาบตากล้า หมู่ที่ ๕ บ้านหนองไฮ หมู่ที่ ๓ บ้านปอแดง หมู่ที่ ๑ ตำบลปอแดง เป็นถนนเชื่อมตำบล ข้อ B บ้านหนองบอน บ้านเปาะ บ้านโนนกราด บ้านขาม แล้วก็ บ้านหนองบัว อันนี้อยู่ในตำบลหนองสองห้องทั้งสิ้น เชื่อมกับต่างจังหวัดด้วย แล้วก็มี รถสิบล้อวิ่งทำให้ถนนพัง หน้าต่อไปเลยก็ได้มีรูป ข้อ C บ้านหนองน้ำขุ่น หมู่ที่ ๘ เชื่อมไป ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา เชื่อมไปตำบลป่าปอ อำเภอบ้านไผ่ ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร แต่ชำรุดจริง ๆ ๑๐ กิโลเมตร ขอฝากท่านประธานครับ ข้อดี เป็นบ้านหนองขี้เห็น หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านหัน เชื่อมกับอำเภอบ้านไผ่เช่นกัน ขอฝากท่านประธานให้กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นได้ดูแล
นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องที่ผมเคยอภิปรายตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ปีที่แล้ว ขอให้ขยายช่องทางจราจรถนนเจนจบทิศ ขก.๒๔๔๐ ทางพาดหนองสองห้อง อำเภอพล มี ๕ ช่วง แล้วก็ได้จัดการไปแล้ว ๑ ช่วง ขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ดูแล อีก ๔ ช่วงที่เหลือ ระยะทางรวมประมาณ ๑๙.๒ กิโลเมตร
นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอเปือยน้อย สืบเนื่องจากมีกรณีทุจริตสหกรณ์การเกษตรอำเภอเปือยน้อย ซึ่งปัจจุบันต้องขอบคุณ ท่านผู้กำกับ สภ. เปือยน้อย ท่าน พันตำรวจเอก เดชาธร ดีมี ที่ได้สืบสวนสอบสวน หาผู้กระทำผิดได้แล้วนะครับ แต่ว่าเงินที่สูญหายไปมีจำนวนมาก ๒๐ ล้านกว่าบาท ก็ขอฝากท่านประธานให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วก็ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ช่วยติดตามทวงความเป็นธรรมให้ด้วย กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ เชิญครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๗ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือ ๓ เรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาเรื่องเรือข้ามฟากท่าเรือเจดีย์-ตลาดปากน้ำ หยุดให้บริการ เนื่องจากสันดอนปากแม่น้ำตื้นเขิน ท่านประธานครับ ในช่วงน้ำลงตลอดเดือนมีนาคม-กันยายน เรือไม่สามารถวิ่งผ่านร่องน้ำตื้นระหว่างเกาะป้อมผีเสื้อสมุทรได้ ทำให้ท่าเรือต้องปิด ให้บริการ ส่งผลกระทบต่อประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่ใช้บริการเรือข้ามฟากประชาชน ต้องแก้ปัญหาโดยการนั่งรถแท็กซี่ขึ้นทางด่วน จากเสียค่าเรือ ๖ บาท เพิ่มเป็น ๒๐๐-๓๐๐ บาท จากเดิมใช้เวลา ๑๕ นาที เพิ่มเป็นเกือบ ๑ ชั่วโมง และยังส่งผลกระทบ กับอาชีพอื่น เช่น พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ วิ่งรถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อมี สส. มาตั้งกระทู้ถามในสภา กรมเจ้าท่าก็จะมาขุดลอกเป็นครั้ง ๆ ไป ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา อย่างถาวร และชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อนอยู่จนถึงปัจจุบัน และล่าสุด เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รอน้ำขึ้น รอเรือวิ่ง จนคลอดลูกกันที่ท่าเรือแล้วครับท่านประธาน ผมจึงใคร่ขอเสนอแนวทางแก้ไข ๓ ระยะดังนี้
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ระยะเร่งด่วน เสนอให้ขุดคลองให้ทะลุรอบเกาะ มีความลึกมากพอ และควร ตั้งงบเพื่อการบำรุงรักษาทุกปี
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ระยะกลาง เสนอให้สร้างเขื่อนกันดิน Slide ถาวร และทำการเดินทาง ทำทางเดินไปยังจุดที่น้ำลงไม่ถึง
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ระยะยาว เสนอให้เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เช่น การสร้างท่าเรือรอง ขึ้นกับใกล้ท่าเรือหลัก หรือเพิ่มเส้นรถเมล์ พระสมุทรเจดีย์-ปากน้ำ ขึ้นทางด่วนกาญจนาภิเษก สุขสวัสดิ์-บางพลี เพื่อเชื่อมต่อ ๒ แม่น้ำ ดังนั้นผมจึงฝากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาการจราจรติดขัดช่วงเวลาเร่งด่วนบนถนนสุขสวัสดิ์ ในเขต อำเภอพระประแดง และอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เนื่องจากในพื้นที่อำเภอพระประแดง มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีการปิดช่องการจราจร ๑ ช่องทาง ทำให้ช่วงเวลาเร่งด่วน การจราจรติดขัดอย่างมาก ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ใช้เวลาอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง ผมจึงขอเสนอ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายเส้นทางการติดช่วงเวลาเร่งด่วน ขนาดรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อ ขึ้นไป ตั้งแต่เทศบาลลัดหลวงจนถึงสามแยกเจดีย์ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ในช่วงเวลาเร่งด่วนด้วยครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาเรื่องร้องเรียนรถบรรทุกขนดิน ทำดินหล่นบนท้องถนน ท่านประธานครับ ในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์มีการขยายเมือง มีการถมดินก่อสร้าง โครงการหมู่บ้านจัดสรรมากมายหลายโครงการ แต่ปัญหาที่ตามมาคือในซอยประชาอุทิศ ๙๐ ซอยประชาอุทิศ ๑๓๑ และริมถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณหน้าโรงเรียนศิริวิทยา ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา มากกว่า ๒,๕๐๐ คน มีปัญหาดินร่วงเต็มพื้นถนน และส่งผลกระทบให้กับประชาชน จึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และผู้ประกอบการ ควรกำหนดให้มีจุดการล้างล้อ ฉีดล้อ ก่อนออกจาก Site งาน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิด อุบัติเหตุ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนพี่น้องเขต ๗ สมุทรปราการ ในระยะยาว ด้วยครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านต่อไป ท่านเกรียงยศ สุดลาภา ท่านที่ ๒ ท่านพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ ท่านที่ ๓ ท่านขัตติยา สวัสดิผล เชิญท่านเกรียงยศ สุดลาภา เชิญครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ อยากจะหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสะพาน แต่ว่าจะเป็นสะพานอะไร ขอ Slide ด้วยครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เนื่องจากปัจจุบันนี้บริเวณ สี่แยกไฟฉาย มีการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ถนนจรัญสนิทวงศ์ แล้วก็มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ปัจจุบันได้ทำการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากว่าในอดีตมีสะพานลอย ๔ ด้าน บริเวณสี่แยก แต่ว่าปัจจุบันมีสะพานลอยเพียงแค่ ๓ ด้าน ขาดไปอีก ๑ ด้านซึ่งเป็นบริเวณ ที่สำคัญมาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาภายในระยะเวลา ๖ เดือน อุบัติเหตุทั้งหมด ๑๓ ครั้ง ซึ่งเป็นเด็กนักเรียน แล้วก็เป็น ประชาชนผู้ที่สัญจรไปมา บริเวณนั้นจะมีตลาดนครหลวง ตลาดนครหลวงซึ่งเป็นบริเวณที่ ประชาชนเดินไปตลาดเป็นจำนวนมากทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ก็จะมีบริเวณตรงนี้ ที่สะพานลอยหายไป เมื่อก่อนมีครบทั้ง ๔ ด้านแต่ตรงนี้หายไป แม้กระทั่งทางม้าลายก็ยัง ไม่มี จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสะพานลอยปัจจุบันนี้มันหายไปไหน แล้วที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้ชี้แจงกับทางชาวบ้านว่ากำลังดำเนินการก่อสร้าง งบประมาณผ่านเรียบร้อยแล้วมีการแก้ไขสัญญา ผมก็ไม่แน่ใจว่าทำไมสะพานลอย หรือสะพานอุโมงค์ต่าง ๆ ต้องมีการแก้ไขสัญญา ปัจจุบันนี้ได้รับแจ้งมาว่าจะดำเนินการตั้งแต่ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม แต่ว่าปัจจุบันยังไม่มีการตอกเข็ม ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น จึงขอเรียกร้อง ก็เป็นบริเวณก่อสร้าง อยากให้ทาง กรุงเทพมหานครเร่งในการดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เนื่องจากว่าตรงนั้นมีคนสัญจร เป็นจำนวนมากนะครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง กรณีที่เมื่อวานมีเพื่อนสมาชิก สส. ในห้องประชุมได้พูดถึงกรณี ชุมชนวัดใหม่ยายมอญ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยท่านเลขาธิการพรรคได้ลงพื้นที่ไป ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่ถูกไล่ที่จาก รฟม. อย่างไรเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงแล้วก็น่ากังวลอยากให้ท่านประธานช่วย ๆ เร่งไปทาง กรุงเทพมหานครให้ช่วยดำเนินการด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ เชิญครับ
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผมพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดสมุทรปราการ วันนี้ ผมได้นำปัญหาข้อร้องเรียนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มานำเรียนท่านประธานผ่านไปถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการคืนพื้นผิวจราจร ตลอดแนว เส้นรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ตั้งแต่สี่แยกเทพารักษ์จนถึงสี่แยกลาซาล ถนนศรีนครินทร์ ตำบลเทพารักษ์ ตำบลสำโรงเหนือ ด่านสำโรง รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๖๒ และได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองยังดำเนินการคืนพื้นผิวจราจร ไม่แล้วเสร็จ เมื่อผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนถึงปัญหาการจราจรติดขัด ผมได้ลงพื้นที่ไปสำรวจก็พบปัญหา ๓ เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ปัญหาแรก คือบริเวณ ถนนศรีนครินทร์ตั้งแต่แยกศรีเทพาไปจนถึงแยกลาซาล ในภาพ Slide ที่นำมาให้ ท่านประธานดู จะเห็นได้ว่ายังมีแท่ง Barrier กั้นปิดผิวพื้นผิวจราจร ๑ ช่องจราจร ทำให้ การจราจรติดขัดอย่างหนัก ผมเกิดความสงสัยว่าทำไม หรือด้วยสาเหตุใดเมื่อรถไฟฟ้า สามารถเปิดวิ่งรับส่งผู้โดยสาร แถมยังเก็บเงินค่าโดยสารแล้วแต่ไม่ยอมคืนพื้นผิว ถนนศรีนครินทร์ให้พี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนเส้นศรีนครินทร์ได้ใช้ถนนอย่างสะดวก หรือต้องการให้รถติดครับ ประชาชนจะได้หันไปใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองแทน ฝากท่านประธาน ช่วยถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจตรงกันด้วย
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ถัดมา บริเวณเกาะกลางแนวเส้นรถไฟฟ้ามหานคร ใส่สีเหลือง จะมีการวาง ท่อระบายน้ำไว้ แต่เมื่อการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จท่อดังกล่าวไม่มีฝาปิด ทำให้มีขยะ เป็นจำนวนมากอยู่ในท่อ ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขเกรงว่าอาจจะทำให้การระบายน้ำเป็นไปด้วย ความยากลำบากเพราะมีขยะขวางทางระบายน้ำอยู่
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ปัญหาสุดท้ายครับ มีการขุดเจาะ Footpath และถนนเข้าซอยต่าง ๆ เพื่อติดตั้งเสาไฟส่องสว่างบริเวณ Footpath แนวถนนเทพารักษ์ตั้งแต่แยกศรีเทพาจนถึง สามแยกสำโรง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จทำให้รถที่สัญจรผ่านไปมาลำบาก
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ ผมขอนำเรียนท่านประธานผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ คือบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และแขวงการทางให้เร่งดำเนินการ ในการปรับปรุงซ่อมแซมพื้นถนน และดำเนินการคืนพื้นผิวจราจรให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหา รถติดในช่วงเวลาเร่งด่วน คืนความปกติให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนตลอดแนวเส้นรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เพราะเวลาที่มี คนใช้บริการรถไฟฟ้านั้นหมายถึงผลกำไรที่ท่านจะได้รับ แต่ทุกนาทีที่มีค่ามากสำหรับ คนหาเช้ากินค่ำที่เสียเวลามากมายในการเดินทางออกไปทำมาหากินเส้นดังกล่าว ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านขัตติยา สวัสดิผล เชิญครับ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตหลักสี่และเขตจตุจักร มาขอ ความช่วยเหลือจากทางสภาแห่งนี้ โดยทางอดีต สส. สุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่และเขตจตุจักร ได้ฝากเรื่องดิฉันมา และตอนนี้ สส. สุรเกียรติ เทียนทอง พี่ชายของ สส. สุรชาติก็นั่งอยู่ข้าง ๆ ดิฉัน เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ แล้วก็ใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันตรงถนนเลียบ ทางรถไฟสายใต้แล้วก็ใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นพื้นที่ของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย มีการทำถนน แล้วก็แนวคั่นเขตทางเพื่อให้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รวมถึงรถบรรทุก ใช้วิ่ง สัญจรไปมาจากถนนเลียบริมคลองประปาเพื่อเข้าไปยังชุมชนบ่อฝรั่ง แล้วก็รวมถึงหมู่บ้าน ในบริเวณใกล้เคียงด้วยค่ะ ท่านประธานคะ ชุมชนบ่อฝรั่งเป็นชุมชนดั้งเดิมในเขตจตุจักร ตั้งอยู่ที่ริมบึงบางซื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ใช้ถนนเส้นนี้ แต่ปัญหาคือถนนเส้นนี้ไม่มีไฟ ยังขาดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้พี่น้องที่อาศัย อยู่ในชุมชนบ่อฝรั่งกลัวที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเกรงว่าพื้นที่ ดังกล่าวอาจจะเป็นแหล่งซ่องสุมอาชญากรรมหรือว่ายาเสพติดได้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ก็ได้มีการร้องเรียนมาทางอดีต สส. สุรชาติ เทียนทอง เพื่อให้ประสานไปกับสถานีตำรวจ นครบาลบางซื่อเพื่อที่จะให้ไปตรวจตราในพื้นที่อย่างบ่อยครั้ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ดิฉันจึงขอใช้พื้นที่แห่งนี้ประสานให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ช่วยดูแลทำการติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณเลียบทาง รถไฟสายใต้แล้วก็ใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยในเขตจตุจักรค่ะ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลอง บางบัว เขตหลักสี่ แล้วก็บริเวณคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร สืบเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ได้มีนโยบายจัดระเบียบบ้านพักอาศัยริมคลองหลัก ๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยทำเขื่อน ริมคลองต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมถึงได้สร้างบ้านพักอาศัยริมคลองในโครงการที่ชื่อว่า บ้านมั่นคง ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงในหลายชุมชนในเขตหลักสี่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ชายคลองบางบัว ชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนาสะพานไม้ ๒ ชุมชนบางบัวเชิงสะพานไม้ ๑ แล้วก็หลายชุมชนในเขตจตุจักร ไม่ว่าจะเป็นชุมชนประชาร่วมใจ ๑ และชุมชนประชา ร่วมใจ ๒ ได้ดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีผู้เข้าไปอาศัยอยู่แล้ว แต่ว่าทางเดินบริเวณ ริมคันเขื่อนยังไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง กลางวันสวยดี แต่กลางคืนเปรียบเสมือนแดนสนธยา อันมืดมิด นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีไฟก็เฉพาะเพียงบางจุดที่ เจ้าของบ้านมั่นคงแต่ละหลังมีความอนุเคราะห์ยื่นมาส่องสว่างให้ จึงอยากประสานให้ กรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่าง
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้าย เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนริมคลอง บางเขน โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านท้ายซอยวิภาวดี ๕๖ ซึ่งถนนเชื่อมระหว่างวิภาวดี กับพหลโยธินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะพานไม้ที่ใช้ถูกรื้อออกเพื่อมีการปรับ ภูมิทัศน์และสร้างถนน แต่ตอนนี้สร้างถนนเสร็จแล้ว ปรับภูมิทัศน์เสร็จแล้ว แต่ไม่มีการสร้าง สะพานคืนมา จึงขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครเอาสะพานไม้คืนมาให้ชาววิภาวดี ๕๖ ด้วย ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านต่อไปเตรียมตัวนะครับ ท่านวีรนันท์ ฮวดศรี ท่านที่ ๒ ท่านจักรัตน์ พั้วช่วย ท่านที่ ๓ ท่านกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล เชิญท่านวีรนันท์ ฮวดศรี ครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมนำปัญหาพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาปรึกษาหารือกับประธานดังต่อไปนี้ครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องแรก ที่อยู่อาศัยของพี่น้องริมทางรถไฟจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมี การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ กระทบต่อที่อยู่อาศัย ของพี่น้องริมทางรถไฟหลายชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นกว่า ๑,๒๐๐ คน ตำบลศิลา ๑๑ ชุมชน จากการพูดคุยพี่น้องประชาชนไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่มีความกังวลฝากผม หารือกับท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการหาพื้นที่สำหรับกลุ่มคนที่ต้อง รื้อย้ายออกจากพื้นที่เดิมครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ การปรับปรุงภูมิทัศน์บึงแก่นนคร บึงแก่นนครเป็นสัญลักษณ์ ที่สำคัญของจังหวัดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันบึงแก่นนครนั้น มีความเสื่อมโทรมไม่ได้รับการปรับปรุงดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องภูมิทัศน์ ลู่วิ่งทางเดิน ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ อิฐตัวหนอนที่มีความชำรุดบกพร่อง ห้องน้ำไม่สะอาด ขาดการดูแล แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความไม่ปลอดภัย จึงขอเรียนท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้บึงแก่นนครแห่งนี้เป็นสถานที่ ปลอดภัยของผู้คนที่มาใช้บริการ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องต่อมา น้ำท่วมขังซ้ำซากในบริเวณซอยฉิมพลี ๙/๗ เนื่องจากไม่มี ท่อระบายน้ำ ซึ่งทางพี่น้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งและได้รับ การช่วยเหลือแล้ว แต่ปัจจุบันน้ำยังท่วมขังซ้ำซากอยู่ จึงอยากฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องด้วย
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นต่อมา เรื่องไฟส่องสว่าง จุดแรก บริเวณถนนริมคลองชลประทาน จากบิ๊กซีเลี่ยงเมืองไปสำนักงานชลประทาน เส้น RCM ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๔๑ ถึงกิโลเมตรที่ ๔๕ ระยะทาง ๔ กิโลเมตร เส้นนี้กลางคืนมืดครับท่านประธาน เกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม บ่อยครั้ง จุดที่ ๒ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ รอบบึงทุ่งสร้าง ตั้งแต่แปลงปลูกป่าวันต้นไม้ ประจำชาติยาวถึงถนนประชาสโมสร ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุ และความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จุดที่ ๓ อุโมงค์ กลับรถใต้สะพานมิตรภาพ บริเวณทางออกบ้านโนนตุ่นไปยังบ้านกุดกว้าง ตำบลเมืองเก่า เข้าตัวเมืองขอนแก่น จุดดังกล่าวเป็นจุดอับที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการในเรื่องไฟส่องสว่างไม่เพียงพอให้กับ พี่น้องประชาชนในบริเวณทั้ง ๓ จุดดังกล่าวด้วย
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นต่อมา เรื่องถนนชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อที่บริเวณถนนเลี่ยงเมือง เลียบคลองชลประทานไปศูนย์ปฏิบัติธรรม ธรรมรตาวัดตาลเรียง บ้านผือ หมู่ที่ ๒ ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น เกิดชำรุดตลอดเส้นทาง ระยะทางกว่า ๑.๒ กิโลเมตร และไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีหรือสิทธิ ในการประกันตัว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า เป็นผู้กระทำผิด แต่ในปัจจุบันที่เห็น คุมขังเป็นหลัก ประกันตัวเป็นข้อยกเว้น ซึ่งในขณะนี้ มีผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองและคดี ๑๑๒ อยู่หลายคดี อย่างเช่น คุณโสภณ คุณเวหา คุณวารุณี ทั้ง ๓ คนไม่ได้รับการประกันตัวให้ออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งคุณเวหา และคุณวารุณีขณะนี้กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวดังกล่าว ทราบว่า ขณะนี้คุณวารุณี Admit อยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ฝากท่านประธานส่งเรื่องนี้ ไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมที่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการประกันตัวโดยตรง และฝาก ท่านประธานส่งเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรมที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังให้ทำตาม หลักกติกาสากลด้วย ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เอกสารที่เราจะชี้แจงในสภาช่วยยื่นให้เจ้าหน้าที่หน่อยนะครับ ไม่มีปัญหา ครั้งต่อไปยื่นก่อนก็ได้จะได้เป็นมาตรฐาน ต่อไปท่านจักรัตน์ พั้วช่วย เชิญครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพรัก เป็นอย่างสูง ผม จักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ สส. คนไทหล่ม วันนี้ขอหารือท่านประธาน ๓ เรื่องสำคัญ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดปรากฏการณ์ El Nio ทำให้พื้นที่ผม ประสบปัญหาภัยแล้งหนักมาก คิดดูครับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ปกติแล้วอำเภอหล่มสักบ้านผม น้ำต้องท่วม ๒ รอบ แต่ปีนี้น้ำในแม่น้ำป่าสักยังมีจำนวนน้อยอยู่เลยนะครับ จึงอยากฝาก ท่านประธานผ่านไปยังกรมชลประทานให้สำรวจ ออกแบบก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ๔ แห่ง อ่างแรก อ่างเก็บน้ำปากช่อง ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก ๒. อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำพาย ตำบลบ้านกลาง อำเภอหล่มสัก ๓. อ่างเก็บน้ำตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และ ๔. อ่างเก็บน้ำน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว เพื่อช่วยเรื่องการบริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน ขอภาพประกอบด้วยนะครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ จากแผนที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จะเห็นได้ว่าแม่น้ำป่าสักถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ไหลจากอำเภอเหนือสุดของจังหวัด ก็คืออำเภอหล่มเก่า ไปสู่อำเภอใต้สุดของจังหวัดก็คืออำเภอศรีเทพ อยากให้กรมชลประทาน ก่อสร้างฝายกั้นน้ำในแม่น้ำป่าสัก จุดประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้เป็นช่วง ๆ เพราะว่า แม่น้ำป่าสักมีความลาดชันสูงน้ำจะมาไวแล้วก็ไปไว ถ้ามีฝายเป็นช่วง ๆ จะช่วยชะลอน้ำไว้ใช้ ในด้านการเกษตรได้ มีทั้งหมด ๔ จุดที่สำคัญนะครับ จุดแรก บ้านวังมลเหนือ ตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จุดที่ ๒ ก็คือในเขตเทศบาลหล่มสัก จุดที่ ๓ บ้านปากห้วยขอนแก่น ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก และจุดที่ ๔ บ้านวังซอง ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ ขอให้กรมทางหลวงสำรวจ ออกแบบก่อสร้างทางหลวง เชื่อมระหว่าง ๒ อำเภอ ระหว่างอำเภอหล่มสักและอำเภอน้ำหนาว ระหว่างทางหลวง หมายเลข ๒๓๔๓ ตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๑๖ ตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว ถ้าทำสำเร็จจะช่วยให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น ทุกวันนี้ทั้ง ๒ อำเภอนี้เวลาจะเดินทางไปหากันจะต้องขับอ้อมไปที่ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งทั้ง ๒ อำเภอนี้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์เหมือนกัน
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ข้อสุดท้ายจริง ๆ ครับ ขอให้ท่านประธานเร่งรัดในการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ สามัญทั้ง ๓๕ คณะ เพราะจะได้เป็นช่องทางในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน วันนี้ผมขอฝาก ท่านประธานเพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล เชิญครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือกับท่านประธานดังนี้
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง ในเรื่องกลิ่นขยะจากศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ตำบลทับมา ที่ส่งกลิ่นเหม็นไปยังชุมชนโดยรอบ ส่งผลกระทบด้านสุขภาวะของประชาชน ได้รับกลิ่นขยะรบกวนตลอดเวลา แม้ที่ผ่านมา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย และกลิ่นรบกวนไปแล้วนั้น อาจยังไม่เพียงพอต่อการจัดการขยะที่เพิ่มมากขึ้น จึงขอฝาก ท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่น ขยะรบกวนนี้ด้วยค่ะ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินของแขวงการทาง ดิฉันได้ทราบ ข้อมูลจากบันทึกรายการทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมของแขวงการทางระยอง ในปี ๒๕๖๖ มีการโจรกรรมทรัพย์สินของแขวงทางหลวงระยองไปแล้ว ๔๙ ครั้ง ยังไม่ทันหมดปีเลย ท่านประธาน และย้อนไปในปี ๒๕๖๕ มีการโจรกรรมทรัพย์สินของแขวงทางหลวง จำนวน ๑๖ ครั้ง จะเห็นได้ว่าปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินแขวงทางหลวงระยองมีความรุนแรงขึ้น และสร้างความเสียหายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เวลากลางคืน ต้องเดินทางในทางที่มืดมิดไม่ปลอดภัย เสี่ยงอันตรายต่ออุบัติเหตุและการถูก จี้ปล้นจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในความมืดนี้ และปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงพื้นที่ จังหวัดระยองเท่านั้น แต่การโจรกรรมสายไฟ รวมถึงโจรกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของแขวง การทางเกิดขึ้นแล้วหลายจังหวัดทั่วประเทศ ดิฉันขออนุญาตเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดูแล บำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่าสูง หากเกิดการโจรกรรมขึ้นทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนได้ทันที ส่วนการโจรกรรมสายไฟและอุปกรณ์อื่น ๆ ขอให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งรัดติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบโจรกรรม รวมถึงการแก้ไขปัญหา ระยะยาวในการขออนุมัติงบประมาณสำหรับการติดตั้งระบบเตือนภัยหรือกล้องวงจรปิด ด้วยค่ะ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย คุณกฤช ศิลปชัย ได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องประชาชน ในพื้นที่บริเวณชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ว่ามีผู้ประกอบการบ่อทรายเข้ามาดำเนิน ธุรกิจขุดทรายออกไปขาย มีการวิ่งรถบรรทุกผ่านถนนซอยวัฒนา บ้านในไร่ หมู่ที่ ๑ ตำบลเพ ทำให้ถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ส่งผลให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ประสบอุบัติเหตุไปหลายคัน ดิฉันจึงเรียนมายังท่านประธานเพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทศบาล ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ให้ตรวจสอบการทำธุรกิจดังกล่าวว่าได้มีการขออนุญาต ถูกต้องหรือไม่ และเร่งดำเนินการซ่อมแซมถนนดังกล่าว หากมีพื้นที่ถนนทับซ้อน กับหน่วยงานอื่นก็ขอให้เร่งบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหา และขอให้สถานีตำรวจภูธรเพ ได้ตรวจสอบเวลาวิ่งรถและน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้ขนทรายดังกล่าวว่าอยู่ในเกณฑ์ตามที่ กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๔ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านแรก ท่านประมวล พงศ์ถาวราเดช ท่านที่ ๒ ท่านอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ท่านที่ ๓ ท่านกุลวลี นพอมรบดี แล้วก็ท่านสุดท้าย ท่านธนาธร โล่ห์สุนทร เชิญท่านประมวล พงศ์ถาวราเดช ครับ
นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ประมวล พงศ์ถาวราเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต ๓ พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าดำเนินการรับฟัง ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม แต่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลแม่รำพึง ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลพงศ์ประศาสน์ ตำบลบางสะพาน ได้คัดค้านการจัดตั้ง อุทยานแห่งชาติอ่าวสยามโดยกลุ่มพี่น้องตำบลแม่รำพึง โดยการนำของท่านกำนันสุรศักดิ์ สิงคิวิบูลย์ พี่น้องตำบลกำเนิดนพคุณ โดยการนำของกำนันวิเชียร เกตุงาม และกลุ่มรักแม่รำพึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านผ่านศูนย์ดำรงธรรม ให้นายเลิศยศ แย้มพราย นายอำเภอบางสะพาน เพื่อการคัดค้านการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม เพราะจะเกิด ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ทำมาหากินในพื้นที่ ไม่ว่าการเก็บพืชผัก การจับสัตว์น้ำ หรือการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยามดังกล่าว เพราะมี ทั้งแหล่งอุตสาหกรรม มีท่าเทียบเรือ มี Resort เป็นป่าสงวนที่อยู่ในเขตเมือง เพราะฉะนั้น จะสร้างปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อย่างเช่น พ.ร.บ. อุทยาน แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่เคยจับชาวบ้านเก็บเห็ดแล้วมีโทษถึงติดคุก เพราะฉะนั้นผมอยากให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยกเลิกแนวคิดที่จะไปขอความคิดเห็นจากพี่น้อง ประชาชนที่จะสร้างอุทยานแห่งชาติอ่าวสยามเป็นการเร่งด่วน
นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องที่ ๒ ปีนี้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำ พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ไม่มีน้ำจะอุปโภคบริโภค เพราะฉะนั้นผมอยากให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดสรรงบประมาณโดยประสานสำนักงบประมาณเพื่อจัดซื้อน้ำมันให้กับกรมฝนหลวง และการบินเกษตร เพื่อทำฝนเทียมให้กับพี่น้องทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ของผม ไม่ว่าอำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ขนาดน้ำประปา ก็ไม่มีที่จะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นอยากให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ แห่งชาติผู้ดูแลการจัดสรรงบประมาณประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรงบประมาณ ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดซื้อน้ำมันเพื่อไปทำฝนเทียมให้พี่น้องประชาชน ทั่วประเทศต่อไป ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ เชิญครับ เพราะปรากฏการณ์ El Nino ที่สร้างความร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติ ทำให้แหล่งน้ำ ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและแหล่งอาหารลดน้อยลง แล้วก็เป็นเหตุให้ ช้างป่าออกมาหากินพืชผลทางการเกษตรตามบ้านเรือนในพื้นที่ชุมชนรอบเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนช้างป่าในพื้นที่ป่าที่เท่าเดิม และลดน้อยลงทำให้แหล่งน้ำและแหล่งอาหารของช้างป่านั้นไม่เพียงพอต่อช้างป่าในพื้นที่ ดังกล่าว เมื่อน้ำและอาหารไม่เพียงพอช้างป่าเลยต้องออกมาหาอาหารในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อชุมชนในตำบลวังด้งและตำบลช่องสะเดาได้รับความเดือดร้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ทำกินของราษฎร ที่ถูกช้างป่าบุกรุกทำลาย จากพฤติกรรมการหาอาหาร หรือกรณีที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งคืออุบัติเหตุรถชนกับช้างป่า ที่เดินข้ามถนนหรือเดินอยู่บนถนนในเวลากลางคืน เนื่องจากถนนสาย ๓๑๙๙ กาญจนบุรี-ศรีสวัสดิ์ เริ่มตั้งแต่ตำบลวังด้งถึงบ้านหมอเฒ่า ตำบลช่องสะเดา ไม่มีไฟฟ้า ส่องสว่าง หากมีช้างป่าเดินอยู่บนถนนมักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นเพื่อเป็น การป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างรั้วไฟฟ้า ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และใช้ในการป้องกันช้างป่า รวมถึงการเพิ่ม ไฟส่องสว่างตามแนวถนนตั้งแต่ตำบลวังด้งถึงตำบลช่องสะเดาที่เป็นถนนเส้นทางหลัก ในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะใช้เส้นทางนี้ในเวลากลางวันและเวลา กลางคืน ทั้งนี้ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเร่งดูแลแก้ไขปัญหาของประชาชน อย่างเป็นระบบ อย่าปล่อยให้ชาวบ้านได้รับชะตากรรมอันโหดร้ายนี้ไปเรื่อย ๆ ผมในฐานะ ผู้แทนของประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรีจึงมิอาจนิ่งนอนใจในปัญหานี้ได้ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกุลวลี นพอมรบดี เชิญครับ
นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน กุลวลี นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๑ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันมีเรื่องขอหารือท่านประธานเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่เทศบาลเมืองราชบุรีและพื้นที่ข้างเคียง ได้แก่ ตำบลดอนตะโก ตำบลเจดีย์หัก
นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ราชบุรี ต้นฉบับ
สืบเนื่องจากพื้นที่เขตเทศบาล เมืองราชบุรีและพื้นที่โดยรอบมีอัตราการเกิดของบ้านพักอาศัยในรูปแบบของบ้านจัดสรร เป็นจำนวนมาก ประกอบกับได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่ง ในการระบายน้ำในเขตพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเกิดภาวะช่วงหน้าฝนผลที่ตามมา คือน้ำท่วมขังบ้านเรือนพี่น้องในชุมชนตาม Clip ที่ได้นำเสนอท่านประธาน โดยในห้วงเวลา ที่ผ่านมาดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนและได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางน้ำร่วมกับท่านผู้นำในชุมชน และได้ประสานความเดือดร้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องขอขอบคุณในส่วนของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้จัดสรรงบประมาณประจำปี ๒๕๖๖ วงเงินงบประมาณ ๒๒๐ ล้านบาท ในการก่อสร้างโครงการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงของการประมูลงานหาตัวผู้รับเหมา โดยเป็นงานวางท่อขนาดใหญ่ ขนาด ๒.๔๐ เมตร บริเวณแนวถนนอุดมศิริ หน้าสำนักงานทางหลวงชนบทราชบุรี เพื่อนำน้ำบางส่วน จาก Zone เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑ นำน้ำบางส่วนจาก Zone ด้านหลัง ตลาดศรีเมือง นำน้ำบางส่วนจาก Zone ชุมชนแม้นรำลึก เทศบาลเมืองราชบุรี ออกทางแยก โรงแรม D1 ไปยังจุดรวมน้ำสะพานรถไฟ กิโลเมตรที่ ๑๐๑+๗๔๕ ที่ดิฉันต้องใช้คำว่า นำน้ำบางส่วนออกนั้นเป็นเพราะว่าการนำมวลน้ำในพื้นที่บริเวณดังกล่าวออกจากเส้นทาง วางท่อที่ดิฉันได้กล่าวถึงไม่รวดเร็วพอที่จะนำน้ำออกได้ทันการณ์ โดยที่ผ่านมาได้มี การประชุมหารือร่วมกับท่านผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกศักดิ์ชัย พิศาลผล จากเทศบาล เมืองราชบุรี ท่านนายกวสันต์ กลิ่นสุคนธ์ จากทางตำบลดอนตะโก ทางสำนักงานโยธาธิการ และผังเมืองจังหวัดราชบุรี และตัวของดิฉันเองได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางน้ำอีกหลายจุด จึงได้ข้อสรุปว่าแนวทางระบายน้ำออกอีกเส้นทางหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ได้รวดเร็วขึ้น นั่นคือการวางท่อตามแนวถนนหลังโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา ผ่านพื้นที่ ศูนย์แพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลราชบุรี ออกไปยังซอยจอมปลวกข้างร้านอาหาร หนามหญ้า และไปออกที่จุดรวมน้ำสะพานรถไฟ กิโลเมตรที่ ๑๐๑+๗๔๕ โดยการวางท่อ เพิ่มเส้นทางระบายน้ำจุดนี้ นอกจากพื้นที่ที่ดิฉันได้กล่าวถึงจะได้รับประโยชน์ แล้วพี่น้อง อีกฝั่งหนึ่งก็คือ Zone หมู่บ้านคอกควาย หมู่ที่ ๓ ตำบลดอนตะโก และภายในพื้นที่บริเวณศูนย์แพทย์แผนไทยซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ อนาคตจะมีการก่อสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยเพิ่ม ที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ด้วยเช่นกันก็จะได้รับประโยชน์ด้วย ดิฉันจึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้โปรดดำเนินการตั้งงบประมาณประจำปี ๒๕๖๗ ที่จะถึงนี้เป็นโครงการวางท่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในพื้นที่เขตเทศบาล เมืองราชบุรีและตำบลข้างเคียง โดยเป็นโครงการต่อเนื่อง ระยะที่ ๒ เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำท่วมขังตรงนี้ให้จบสิ้นและยั่งยืนต่อไป ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านสุดท้าย ท่านธนาธร โล่ห์สุนทร นะครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย ผมมีประเด็น ที่จะหารือปัญหาของพี่น้องประชาชนที่จะฝากไปยังท่านประธานใน ๕ ประเด็นนะครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ก็คือมีการก่อสร้างถนน ๔ เลน ของทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๕ สายลำปาง-แจ้ห่ม ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร ซึ่งทางผู้รับเหมาทำงานไม่เรียบร้อย โดยไม่มีป้ายไฟบอกในเวลากลางคืน แล้วการจะเปิดหรือปิด Lane ต่าง ๆ ก็ไม่มีป้ายบอก อย่างชัดเจน เสี่ยงต่อการเกิดรถชนในบริเวณนั้น ก็ขอฝากท่านประธานแจ้งไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือกรมทางหลวง ในการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ด้วยครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ก็คือไฟฟ้าขาดแคลน ที่หมู่ที่ ๑๒ ตำบลบ้านขอ ซึ่งในบริเวณ ซอย ๗ ของหมู่ที่ ๑๒ เป็นเส้นทางสัญจรหลักของชาวบ้านในการไปทำการเกษตร รวมถึง เป็นเส้นทางหลักที่จะออกไปยังถนนใหญ่ ซึ่งก็ได้ทำการขอไฟฟ้าไปแต่ยังไม่ได้รับ การดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ในบริเวณนั้นเพราะขาดไฟฟ้า ก็ขอฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการด้วยนะครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ก็คือปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง ที่บ้านสบมาย ตำบลบ้านแลง ในช่วงที่ฝนตกถึงแม้ฝนจะตกไม่หนักก็ตามไฟมักจะดับ ๔-๕ ชั่วโมงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแบบนี้มา ๔-๕ ปีไม่เคยได้รับการแก้ไข ฝากท่านประธาน ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วยนะครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ ประเด็นไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ที่บ้านไร่เหนือ หมู่ที่ ๙ ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน ได้มีการติดตั้งไฟกิ่งบริเวณท้ายหมู่บ้าน แล้วก็ตรงหัวหมู่บ้าน แต่ว่าตรงช่วงกลางหมู่บ้านยังไม่ได้รับการติดตั้ง ซึ่งผมได้รับการร้องเรียนมาก็คือ เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นในการสัญจรในเวลากลางคืน ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการให้ด้วยนะครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอหารือ ก็คือที่บ้านสบลี ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน มีพี่น้องประชาชนจำนวน ๕๙๐ ราย ๒๐๐ ครัวเรือน ได้ทำหนังสือไปยังการประปา ส่วนภูมิภาค ในการที่จะขอขยายเขตประปาต่อจากบ้านข่วมกอม หมู่ที่ ๙ ซึ่งขอไป นานแล้วแต่ก็ยังไม่เคยได้รับการดำเนินการใด ๆ เพราะว่าที่บ้านสบลีมีผู้ใช้น้ำเยอะ ทำให้ ในช่วงหน้าแล้งทำให้ปริมาณการใช้น้ำไม่เพียงพอ ก็ฝากท่านประธาน วันนี้ผมขอฝาก ท่านประธานเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ จบการหารือของท่านสมาชิก ๓๐ ท่านนะครับ ทางสภาผู้แทนราษฎรของเรา จะได้รีบส่งปัญหาของท่านไปยังกระทรวงต่าง ๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งดำเนินการ ตามที่ท่านได้หารือนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๑ คน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขณะนี้ มีสมาชิกมาลงชื่อเข้าประชุม ๓๒๖ ท่าน ครบองค์ประชุมแล้วนะครับ ผมขอดำเนินการ ประชุมตามระเบียบวาระการประชุม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ตามระเบียบวาระต่อไปเป็นการพิจารณารับทราบรายงานของหน่วยงาน ต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนดไว้นั้น ผมเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาดังกล่าวเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมไปจากเดิม เฉพาะในการประชุม วันนี้นะครับ แต่เนื่องจากข้อบังคับ ข้อ ๒๘ กำหนดให้ต้องดำเนินการพิจารณาตามลำดับ ระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้ ดังนั้นในวันนี้ผมขอปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเปลี่ยนระเบียบ วาระการประชุม โดยนำเรื่องรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ และภายหลังจากจบการพิจารณาเรื่องนี้ จะเป็นการพิจารณาระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้าง พิจารณา จะมีท่านสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็น อย่างอื่น ต่อไปก็เป็นการพิจารณา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒.๔ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ และรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ตามมาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ รายละเอียดตามที่ เอกสารได้วางไว้ให้ท่านสมาชิกได้ดูแล้วนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ในการนี้ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง ข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ข้อ ๓๑ ขอเชิญผู้มีรายชื่อต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจง ในที่ประชุม ท่านที่ ๑ ท่านศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ท่านประธาน กสทช. ท่านที่ ๒ ท่านไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการ แทนเลขาธิการ กสทช. ท่านที่ ๓ ท่านสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงาน กิจการโทรคมนาคม ท่านที่ ๔ ท่านสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการ ภูมิภาค ท่านที่ ๕ ท่านกีรติ อาภาพันธุ์ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. สายงานวิชาการ ท่านที่ ๖ ท่านเสน่ห์ สายวงศ์ วิศวกรเชี่ยวชาญพิเศษ ท่านที่ ๗ ท่านมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ท่านที่ ๘ ท่านยุพา ทรัพย์ยิ่ง รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร ท่านที่ ๙ พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ท่านที่ ๑๐ ท่านรองศาสตราจารย์คลินิก พลเอก สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กรรมการด้านกิจการ กระจายเสียง ท่านที่ ๑๑ ท่านจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ท่านที่ ๑๒ ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทิศา รัตนวิชา กรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม ท่านที่ ๑๓ ท่านอารีวรรณ จตุทอง กรรมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เชิญทุกท่าน เข้าประจำที่แล้วนะครับ ท่านจะชี้แจงก่อนสัก ๕ นาทีไหมครับ เชิญครับ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติ ทุกท่าน กระผม ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ขออนุญาต ท่านประธาน นำคณะผู้บริหารสำนักงาน กสทช. เข้าแถลง หรือชี้แจงรายงานผล การปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่แก้ไขเพิ่มเติม
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกที่กระผมได้เข้ามา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธาน กสทช. ร่วมกับ กสทช. ท่านอื่น เพื่อบริหารคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการ เพื่อยกระดับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการดาวเทียม สื่อสารของประเทศไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า และสามารถปรับตัวให้ทันกับบริบทที่มี การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศ โดยมีผลการปฏิบัติงาน ที่สำคัญ อาทิ ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชน และจัดให้มีการประมูลสิทธิในการเข้าวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกิจการดาวเทียม การกระจายบริการ โทรคมนาคม กระจายเสียงและโทรทัศน์ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง เท่าเทียม รวมทั้งขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การศึกษา และด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เป็นต้น และ กสทช. ในฐานะหน่วยงานอำนวยการของรัฐในการบริหารกิจการสื่อสารระหว่าง ประเทศ กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้ทุ่มเทแรงใจรณรงค์หาเสียงสนับสนุน ประเทศไทยภายใต้โครงการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร หรือ ITU Council ในวาระปีคริสต์ศักราช ๒๐๒๓-๒๐๒๖ ผ่านการประชุม และร่วมดำเนินกิจการต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๒๖ กันยายน ถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ให้ประเทศไทยเป็นสมาชิก สภาบริหารของ ITU สำหรับวาระ ๔ ปี ตั้งแต่คริสต์ศักราช ๒๐๒๓-๒๐๒๖ ในระดับที่ ๔ จาก ๑๖ ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย หรืออันดับที่ ๑๖ จาก ๑๙๓ ประเทศสมาชิกทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนคะแนนเสียงสนับสนุนที่ได้รับสูงที่สุดที่ ประเทศไทยเคยได้รับในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และประเทศไทยจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง สมาชิกสภาบริหาร ITU Council ดังกล่าวต่อไปอีก ๔ ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับ ประเทศ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ท้ายนี้กระผมขอนำเรียนเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกบุคคล เพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่แก้ไข เพิ่มเติม มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการโดยความเห็นของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. และวรรคสอง เลขาธิการ กสทช. ต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันแต่งตั้ง และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๗ รวมทั้งคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ กสทช. กำหนด ซึ่งได้นำเสนอ กสทช. กำหนด คุณสมบัติอื่นเพิ่มเติม ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๕ พุทธศักราช ๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๖ จึงได้มีประกาศประธาน กสทช. รับสมัคร และขยายเวลารับสมัคร ระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ โดยมีผู้สนใจยื่นใบสมัคร จำนวน ๙ คน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ และได้มีประกาศประธาน กสทช. กำหนดการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์บุคคล ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ มีผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ จำนวน ๘ คน ในวันดังกล่าวประธาน กสทช. และ กสทช. ทุกท่านร่วมรับฟังวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก เพื่อให้ กสทช. แต่ละท่านมีข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป ขณะนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรายชื่อ บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อขอความเห็นชอบจาก กสทช. ต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ในโอกาสนี้กระผมขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ให้โอกาส กสทช. เข้าชี้แจง และนำเสนอผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ในวันนี้ สำหรับในรายละเอียดผลของ การปฏิบัติงานของ กสทช. ในปี ๒๕๖๕ นั้น กระผมขออนุญาตท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เลขาธิการ กสทช. และคณะผู้บริหาร กสทช. ได้ชี้แจงผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ แก่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ขอขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ให้สมาชิกอภิปรายก่อนนะครับ เนื่องจากว่ามีท่านสมาชิกมาลงชื่ออภิปรายจำนวนมาก มากจริง ๆ ก็อยากจะให้ท่านสมาชิกทุกท่านรักษาเวลาให้อยู่ใน ๗ นาที แล้วอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องการอภิปรายซ้ำ จะมีการอภิปรายซ้ำกันเยอะ ท่านที่อภิปรายทีหลังก็ลองดูว่าประเด็น ของท่านมันซ้ำกันหรือยัง ก็ตัด ๆ ออกไปบ้าง เพราะคิดว่าวันนี้ถึง ๓๐-๔๐ ท่าน ก็รักษาเวลา กันด้วย ตอนนี้มี ๔ ท่านแรก ท่านที่ ๑ ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง ท่านที่ ๒ ท่านสุรเกียรติ เทียนทอง ท่านที่ ๓ ท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ท่านที่ ๔ ท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชิญว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชิญครับ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน อรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด เชียงใหม่ เขต ๖ อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันต้องขอขอบคุณผู้ที่มาชี้แจงรายงานการปฏิบัติงานของ กสทช. ด้วยนะคะ ดิฉันได้เปิดดูรายงานการปฏิบัติงานของ กสทช. ในหนังสือเล่มนี้ ในหน้า ๖ ข้อ ๓ จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วไป บริการสังคม USO เพื่อยกระดับให้การบริการ การแพทย์และระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ จัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการ Internet ความเร็วสูงพื้นที่ชายขอบ Zone C+ จำนวน ๓,๙๒๐ หมู่บ้าน และ Internet ความเร็วสูงพื้นที่ห่างไกล Zone C จำนวน ๑๕,๗๓๕ หมู่บ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงบริการให้เท่าเทียมกัน ปัจจุบันได้เปิดใช้บริการแล้วทั้งหมด ๑๙,๖๕๕ หมู่บ้าน รวมทั้งจุดบริการ ๒๙,๗๔๘ โดยใช้งบประมาณทั้งหมด ๑.๓ หมื่นล้านบาท โครงการนี้ดิฉัน คิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก แล้วยังไม่พอนะคะ มันยังเป็นโครงการที่เขตบ้านดิฉัน เข้าข่ายเลยก็คือในพื้นในที่ชายขอบ Zone C และอีกอย่างหนึ่งก็คือพื้นที่ห่างไกล Zone C ตัดภาพมาค่ะ ในพื้นที่บ้านของดิฉันนะคะ ขอ Slide หน่อยค่ะ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
อันนี้นะคะ พื้นที่ของ บ้านดิฉัน แทบจะทุกหมู่บ้านทุกอำเภอจะมีตัวนี้อยู่ในแทบจะทุกหมู่บ้านของเรา ดิฉันก็เลย สงสัยและคลางแคลงใจมาโดยตลอดว่าทำไม วันนี้ได้โอกาสจากพี่น้องประชาชนได้มอบหมาย ให้มาทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวบ้าน ก็เลยนำปัญหา เรื่องนี้มาหารือทางท่านประธาน ฝากไปจนถึงผู้ชี้แจงด้วยนะคะ คือก่อนหน้านี้ดิฉันก็ได้รับ ข้อมูลมาจากหลาย ๆ ท่าน วันนี้ต้องขออนุญาตอ้างถึงข้อมูลในการอภิปรายวันนี้ก็คือ คุณสมทบ จำรัส ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ป๋าม ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว คุณไพศาล ด้วงทอง กำนันตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว คุณวรกานต์ กาเรือง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง พี่น้องประชาชนปางควาย ตำบลเมืองคองด้วยค่ะ พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่ ชายแดนติดชายขอบ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้เลยนะคะ แต่ดิฉันได้ถามกับประชาชนทุกคนว่า ตู้นี้มันคือตู้อะไร พี่น้องประชาชนก็เลยบอกว่านี่คืออนุสาวรีย์เน็ตฟ้าประชารัฐค่ะ ดิฉันก็เลย ถามไปว่าทำไมต้องใช้คำว่า อนุสาวรีย์เน็ตฟ้าประชารัฐ พี่น้องตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า Internet ที่ใช้บนฟ้า คนธรรมดาอย่างเราใช้ไม่ได้ หน้าตาแบบนี้ค่ะ ขอ Zoom เข้าไป ก็จะเห็นแล้วว่ามันมีตราของ กสทช. อยู่ เป็นสัญลักษณ์ที่เราเห็นได้ชัดมาก
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ต่อไปค่ะ นี่คือบริษัทผู้รับเหมาเลยค่ะ คือดิฉันก็ไม่ต้องบอกว่ามันมีบริษัท ไหนบ้าง ท่านผู้ชมทางบ้านแล้วก็พี่น้องในสภาของเราช่วยดูด้วยว่ามีบริษัทอะไรบ้าง ประเด็น ก็คือด้วยงบประมาณขนาดนี้ เยอะขนาดนี้ อยากจะสอบถามท่านประธานไปยังผู้ที่ชี้แจงว่า ท่านทำได้อย่างไร ทำให้มันใช้ไม่ได้แบบนี้ทำได้อย่างไรคะ แล้วอีกอย่างหนึ่งขอสอบถามก็คือ การดำเนินการโครงการนี้จบไปแล้ว ท่านมีการประเมินผลอย่างไร มีการตรวจสอบ บ้างไหมว่ามันใช้ได้จริงไหม อะไร อย่างไร ด้วยโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ไม่ใช่แค่เขต บ้านของดิฉันนะคะ เท่าที่เข้าไปดูมันมีทั่วประเทศไทยเลย อยากจะให้ท่านประธานฝากไปยัง ผู้ที่ชี้แจงให้ดำเนินการปรับปรุงโครงการนี้ให้ใช้ได้จริงตามวัตถุประสงค์ ประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชนของเรา และคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาษีของพี่น้องประชาชนของเรา แต่ถ้าหากยังเป็นอนุสาวรีย์ Net ฟ้าประชารัฐแบบนี้ พี่น้องของดิฉันฝากมาบอกว่า แบบจะอี้ จะไว้ใจ๋ได้กา ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุรเกียรติ เทียนทอง เชิญครับ
นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ โดยส่วนใหญ่การเปิดประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ก็จะเปิดประมูล ในระยะเวลา ๑๕ ปี แบ่งออกเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้กับการโทรคมนาคม และใช้กับ การกระจายเสียงโทรทัศน์และวิทยุ เพราะฉะนั้นถ้าจะประเมินการปฏิบัติงานของ กสทช. เราคงต้องดูในภาพรวมของโครงการสำคัญ ๆ ที่ท่านได้กำกับดูแลอยู่
นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมมีคำถามถึงท่านผู้มาชี้แจง คือ กสทช. ว่าถ้าให้ท่านประเมินว่าในโครงการ Digital TV ที่ท่านกำกับดูแล และเป็นผู้เริ่ม ดำเนินการมา ๑๐ ปีที่ผ่านมาท่านคิดว่าโครงการนี้ได้รับความสำเร็จหรือไม่ การที่เราจะตอบ คำถามนี้ได้เราคงต้องย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างวงการ TV ไทยใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ว่ามหากาพย์แห่งทศวรรษ Digital TV มันเกิดอะไรขึ้น บ้างครับ ในปี ๒๕๕๖ กสทช. ได้นำคลื่นความถี่ออกมาประมูล Digital TV โดยใช้คำว่า ปฏิรูป ยกระดับ เปลี่ยนถ่าย วงการโทรทัศน์ TV เมืองไทย โดยประกาศออกสื่อว่ารายได้ ที่จะจัดเก็บจากใบอนุญาตจะมีมากถึง ๕๑,๗๐๐ กว่าล้านบาท โดยให้แบ่งจ่ายออกเป็น ๔ งวด และบางรายเป็น ๖ งวด โดยในขณะนั้นในตลาดเองมีผู้ประกอบการ TV ที่เป็น TV ดาวเทียม อยู่จำนวนมาก รายใหญ่หน่อยก็จะเป็นเจ้าของกล่องที่เราเคยเห็นกันอยู่ในท้องตลาด มีหลาย ๆ ยี่ห้อ แล้วการที่จะให้เจ้าของกล่องต่าง ๆ บรรจุช่อง Digital TV ลงไปในกล่อง จะทำอย่างไรล่ะครับ กสทช. ก็เลยออกกฎเกณฑ์มา ๒ กฎเกณฑ์ คือ Must Have กับ Must Carry ที่เราเคยได้ยินกัน Must have คืออะไรครับ คือกฎเกณฑ์ที่การถ่ายทอดอะไร ที่สำคัญ ๆ อย่างเช่นการกีฬา ต้องถ่ายทอดผ่านช่อง Free TV เท่านั้น Must Carry ก็คือ การที่บังคับให้เจ้าของกล่องทุกกล่องนำช่องของ กสทช. เรียงลำดับ ๑-๓๖ ตามที่ ท่านกำหนดลงไปบรรจุอยู่ในทุก ๆ Platform ซึ่ง ๒ หลักเกณฑ์นี้ที่เราเห็นกันว่าปัจจุบันนี้ มันกลับกลายมาเป็นยาพิษเข้ามาสู่ กสทช. อย่างที่เราเห็นกันชัด ๆ เลยก็คือการถ่ายทอด ฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ท่านเองก็รับทราบดีถึงปัญหานี้ เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา Board กสทช. ก็เพิ่งเห็นชอบให้ยกเลิกหลักเกณฑ์พวกนี้ ในปี ๒๕๕๗ ได้มีการใช้งบประมาณ ถึง ๑๕,๘๐๐ ล้านบาท ในการสนับสนุนเป็นส่วนลดในการซื้อกล่อง Digital TV แต่โครงการนี้ ก็ไม่ได้สำเร็จสักเท่าไร ในช่วงเวลานั้นเองก็มีผู้ประกอบการ TV Digital รวมตัวกันเข้าไป เจรจาก็ดี เข้าไปร้องเรียนกับ กสทช. ก็ดี ถึงการล่าช้าของการเปลี่ยนถ่าย ทำให้ผู้ประกอบการ บางรายไม่สามารถที่จะชำระค่าใบอนุญาตได้ จนไปถึงการที่ท่านไปยกเลิกใบอนุญาตแล้วก็ ยกเลิกสัญญาณเขา เป็นที่มาของในปี ๒๕๕๙ ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ทำการฟ้องท่านว่า ท่านประพฤติโดยมิชอบที่ไประงับสัญญาณเขา ต่อมาในปี ๒๕๖๑ ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ ตัดสินให้ท่านต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตคืนกับบริษัท ไทยทีวี จำกัด และคืน Bank Guarantee ก็คือท่านไปแพ้คดีเขานั่นเอง ในปีเดียวกันก็มี ม. ๔๔ ออกมาช่วยเหลือเยียวยา กันว่าถ้าใบอนุญาตที่ชำระมาแล้ว ที่ต้องชำระ ๔ งวด ก็ขยายให้เป็น ๖ งวด เยียวยากัน ยังไม่จบครับ ในปี ๒๕๖๒ ก็มี ม. ๔๔ ออกมาอีกรอบหนึ่งว่าการขยายการชำระค่าใบอนุญาต ๒ งวดสุดท้ายไม่ต้องชำระแล้ว แล้ว กสทช. ก็ยังมีหน้าที่ในการชำระค่าโครงข่าย คือ MUX แทน แล้วผู้ประกอบการที่ต้องการคืนใบอนุญาตก็สามารถคืนใบอนุญาตได้ โดย กสทช. ต้องคืนเงินค่าใบอนุญาตที่ชำระมาแล้วถึง ๖๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนั้นมีผู้คืน ใบอนุญาตถึง ๗ ราย ท่านประธานครับ สรุปง่าย ๆ คือ กสทช. จะสามารถจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากช่อง TV Digital ที่ขณะนี้มีอยู่ได้เพียงแค่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ และจากช่องที่คืนใบอนุญาตไปแล้วแค่เพียง ๒๗ เปอร์เซ็นต์ จนมาถึงคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ที่ผมขอนำเสนอ จาก ๕๑,๗๙๘ ล้านบาท กสทช. จะคงเหลือรายได้จากการประมูล ช่อง TV Digital ได้เพียงแค่ ๒๕.๘๗ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหักจากเงินสนับสนุนที่ท่านเอามา สนับสนุนการซื้อกล่องแล้ว เพียง ๒๕.๘ เปอร์เซ็นต์ ๑ ใน ๔ เท่านั้น ด้วยความห่วงใยครับ ท่านประธาน
นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้จากข้อมูลที่ผมพูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้จะมาบอกว่าการที่เราไป เยียวยา ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เขาประสบปัญหามันไม่ดี มันดีครับท่านประธาน แต่ผมขอตั้งคำถามถึง กสทช. ครับ
นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๑ ใช่หรือไม่ที่มหากาพย์ที่ผมว่ามันเกิดทั้งหมด มันเกิดขึ้นจาก ต้นเหตุที่ท่านไม่เข้าใจในเรื่องกิจการของโทรทัศน์ดีเท่าที่ควร ท่านถึงไม่สามารถที่จะ Foresee หรือคาดการณ์ล่วงหน้าถึงเทคโนโลยีที่มันกำลังเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และมี ผลกระทบกับวงการโทรทัศน์ไทยในขณะนั้นใช่หรือไม่ครับ
นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๒ เนื่องจากสัมปทานนี้ยังเหลือเวลาอีกแค่ ๕ ปี ผมขอสอบถามว่า ท่านมีแผนหรือยังที่จะนำคลื่นความถี่ตรงนี้นำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อ ปกติแล้วองค์กรใหญ่ ๆ จะมีแผนในระยะ ๕ ปี ก็ฝากครับ เพราะว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมันเร็วกว่าเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว
นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๓ ผมได้ถามไปแล้วว่าถ้าให้ท่านประเมินตัวเองแล้วท่านคิดว่า โครงการ Digital TV มันเป็นโครงการที่ได้รับความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของท่านหรือไม่ ก็ฝากผู้ที่มาชี้แจงตอบคำถามด้วยครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกันต์พงศ์ ประยูรศักดิ์ เชิญครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตมีนบุรีและเขตสะพานสูง พรรคก้าวไกล วันนี้ขออภัยการทำงานของท่าน กสทช. ในภารกิจ USO ซึ่งตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี ๒๕๔๔ กสทช. ท่านได้บอกว่าเรามีการสร้างโครงข่าย พื้นฐานทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ แล้วก็ทุกชุมชนตามมาตรานี้ ซึ่งท่านก็มีพันธกิจ 3A A แรก ก็คือ Available A2 คือ Accessible A3 คือ Affordable ซึ่งก็แปลว่าทั่วถึง เข้าถึง แล้วก็ ราคาถึงใจ ซึ่งตรงนี้ท่านก็ได้รับเงินสนับสนุน USO ได้รับเงินสนับสนุนจากงบที่เป็น ค่าธรรมเนียม ประมาณ ๒.๕ เปอร์เซ็นต์ กับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากท่าน ไม่ว่าจะเป็น DTAC GSM หรือบริษัทต่าง ๆ ที่ทำธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคมนะครับ ซึ่งในสิ้นปี ๒๕๖๕ อ.เอทได้ไปดูงบประมาณของท่าน ท่านได้มีงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ ๗๒,๐๐๐ ล้านบาท แล้วท่านก็มีรายจ่ายอยู่ที่ประมาณ ๕๓,๐๐๐ ล้านบาท ท่านก็จะมี งบเหลือพอสิ้นปี ๒๕๖๕ ประมาณ ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท สิ่งที่ท่านได้บอกกับพวกเราว่าท่านทำ อะไรไปบ้าง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เพราะ USO มีมาตั้งแต่ปี ๑๘๓๗ เราเพิ่งเอามาใช้งานจริง ๆ ประมาณสัก ๒๐ ปีที่แล้ว เมื่อปี ๒๕๔๘ ท่านบอกว่าท่านได้ติดตั้งโทรศัพท์ ท่านได้ทำ Internet ท่านได้มีการติดตั้ง Internet ให้กับโรงเรียนชายขอบ เมื่อสักครู่นี้ที่ อ.เอทได้บอก ไปแล้วกว่า ๕๐๐ ที่ ท่านมีการเข้าไป Internet ชุมชน มีการเข้าถึงผู้พิการ มีการเสริมสร้าง ในปี ๒๕๕๙ ท่านอ้างว่าท่านได้ทำเสรีทางการแข่งขัน ตอนนี้เสรีหรือเปล่า เหลือกี่บริษัท อันนี้ อ.เอทไม่แน่ใจนะครับ เรื่องของการลดค่าบริการ อันนี้ยิ่งหนักเลยยิ่งใช้ยิ่งแพง หรือเปล่า เรื่องของการที่จะทำให้ Internet Hi-speed จาก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากร ในประเทศไทยให้เป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งที่ท่านบอกว่าท่านกำลังจะทำ หรือท่านทำ ไปแล้วก็ไม่แน่ใจ นี่คือทั้งหมด แล้วยังมีการบอกว่าท่านเข้าถึงหมู่บ้านประมาณ ๔๕,๐๐๐ หมู่บ้าน โดยให้กระทรวง DES ก็คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำไปประมาณ ๒๕,๐๐๐ หมู่บ้าน แล้วท่านเองก็ทำประมาณ ๒๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ซึ่งตรงนี้เป็นตัวเลขที่อย่างไรเดี๋ยวท่านค่อยชี้แจงให้กับ อ.เอททีหลังได้นะครับ แล้วก็ทำ Internet ความเร็ว ๓๐/๑๐ ซึ่งตอนนี้ถ้าเกิดได้สัก ๑ เมกะไบต์ อ.เอทก็ถือว่าหรูแล้ว และอีกอันหนึ่งที่ อ.เอทชอบมากคือท่านห่วงใยผู้พิการทางสายตา อ.เอทได้เข้าไปโทรศัพท์ มีเดซี่ ๑๔๑๔ ไปรับฟังดู อ.เอทก็โทรศัพท์ไปเองเลย ปรากฏว่าก็ยังมีหนังสือพิมพ์อีกหลายที่ ที่ยังไม่ได้มีเรื่องของการตอบรับ ยังไม่มีผลว่าฉบับไหนอ่านได้บ้าง อ่านไม่ได้บ้าง อย่างไร ฝากเรื่องนี้ด้วยนะครับ ทีนี้มาดูความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรครับ พอเรารับโทรศัพท์ ถ้าไปชายขอบหน่อย No service ครับ หรือไม่มีสัญญาณนะครับ ท่านเปลี่ยนสัญญาจ้าง หลายรอบมาก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุดท้าย USO ก็ยังประกอบเหมือนเดิม ไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลงนะครับ มีเรื่องที่ร้องเรียนอยู่ใน ป.ป.ช. เพียบ ในเรื่องของ Internet โรงเรียน สุดท้ายก็เข้าถึงไม่ได้ ชุมชนต่าง ๆ เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด สุดท้ายเวลาไหน อย่างไร ก็ยัง ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ และที่สำคัญ สตง. บอกว่าท่านใช้งบประมาณ ๘,๐๐๐ ล้านบาท ไม่มีรายละเอียดเลยครับว่าท่านเอาไปซื้ออะไรบ้าง จ่ายอะไรบ้าง ไม่ได้ชี้แจงเลยว่า โครงการไหนถึงไหนแล้ว เรื่องของขาดความโปร่งใส เรื่องของ Phase 2 ท่านมีทั้งหมด 3 Phase ตอนนี้ท่านกำลัง Phase ที่ ๓ Phase 2 ตามมาตรา ๒๘ ท่านบอกว่าควรที่จะมี การรับฟังอย่างน้อย ๓๐ วัน ท่านฟังอยู่ประมาณสัก ๗ วัน อันนี้น้อยไปไหมครับ อย่างไร ฝากด้วยนะครับ บางบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคม ยังไม่ได้มีเรื่องของใบอนุญาต ฝากท่านดูด้วยครับว่าบริษัทไหนที่ยังไม่มีใบอนุญาต และที่สำคัญครับ บางโครงการที่ท่าน ทำกับ กทปส. นี่เป็นกองทุนเพื่อที่จะทำให้มีการปรับปรุง พัฒนาด้านการโทรคมนาคม บางโครงการไปทับซ้อน ทับซ้อนกับใครครับ ทับซ้อนกับกระทรวงสาธารณสุขประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านบาท อันนี้ทาง NT ซึ่งเขาบอกเองเลยว่ามัน Work ไหม มันใช่ไหม อยากที่จะ ฝากท่านจริง ๆ และนี่คือสิ่งที่ท่านกำลังนำเสนอแก่พวกเรา ท่านบอกว่าท่านทำ 3A ใช่ไหมครับ เมื่อสักครู่นี้ ก็คือ Available Accessible แล้วก็ Affordable ซึ่งแปลว่าทั่วถึง เข้าถึง แล้วก็ราคาถึงใจ อ.เอทว่าตอนนี้ท่านกำลังทำ 3D มากกว่า D ที่ ๑ คือ Delay หรือล่าช้า D ที่ ๒ คือ Dictatorship ก็คือเรื่องของการมีเผด็จการในกลุ่มบริหารของท่าน และ D ที่ ๓ ก็คือ Drone ในที่นี้ไม่ใช่โดนใจนะครับ ท่านกำลังโดนตำหนิจากองค์กรต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ท่านทำธุรกิจ ธุรกรรมด้วย ดังนั้น อ.เอทขอฝากครับ ให้ท่าน ช่วยทำให้เป็น กสทช. อย่างแท้จริง คำว่า กสทช. ในทีนี้คือเลิกการแสดง แล้วก็ทำเพื่อชาติ อย่างแท้จริง ขอบพระคุณครับ Respect
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
รักษาเวลาได้ดีนะครับ ต่อไปท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์ ครับ ไปที่ท่านเอกราช อุดมอำนวย พร้อมหรือยังครับ ท่านเทอดชาติเชิญครับ ท่านเอกราชเตรียมตัวนะครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๕ อำเภอเทิง อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ กสทช. ได้มานำเสนอรายงานการปฏิบัติงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งผม ก็มี PowerPoint ขอ PowerPoint หน่อยครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ประการแรก กสทช. นั้นเป็นหน่วยงาน สำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องของนโยบายในการที่จะให้ประชาชนนั้นได้มีการสื่อสารในรูปแบบใหม่ อย่างทั่วถึงกัน และกิจการตรงนี้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ เป็นที่ตั้ง อันนี้คือหลักการใหญ่ของ กสทช. นะครับ เราจะเห็นว่าการดำเนินงานที่ผ่านมา ของ กสทช. นั้น
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ประการแรก ผมก็ขออนุญาตชื่นชมนะครับ ทาง กสทช. นั้นได้รับรางวัล มากมายหลายรางวัล ซึ่งเป็นรางวัลระดับชาติเป็นที่น่าชื่นชม ก็ถือว่าท่านได้ดำเนินการตรงนี้ ได้เป็นอย่างดียิ่ง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ นั้น ทาง กสทช. นั้นก็ได้อนุมัติคลื่นสัญญาณ ๑๒ ช่องรายการให้กระทรวงศึกษาธิการ ในการที่ จัดการเรียนการสอนแบบ On Air ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
อันนี้เป็นรายได้ของ กสทช. เราจะเห็นว่ามีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสม นั่นก็แสดงให้เห็นว่า กสทช. นั้นมีกำไรสุทธิอยู่ที่ ๑,๑๕๖ ล้านกว่าบาท อันนี้ถือว่าเป็นกองทุน ที่เป็นกำไร ที่ กสทช. ได้นำเสนอต่อที่ประชุมมานะครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
กสทช. ได้จัดทำสัญญาณเครือข่ายให้กับทางหมู่บ้าน ศูนย์บริการต่าง ๆ สาธารณะ โรงเรียนบางแห่ง ยังไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ เราจะเห็นว่าบริการเหล่านี้ กสทช. พยายามที่จะบริการให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ใน Slide ถัดไปท่านจะเห็นว่ามีการบริการ ของ กสทช. ที่เขียนไว้ในรายงาน ทั้งในส่วนของหมู่บ้าน ในสาธารณะ Wi-Fi ของโรงเรียน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แต่ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่าเป้าหมายในแต่ละปี ของ กสทช. นั้นยังไม่ครอบคลุม ยังไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า กสทช. เองนั้นก็คงจะได้มี แผนดำเนินงานที่จะช่วยเหลือทั้งหมู่บ้าน ทั้งสาธารณะ ให้บริการต่าง ๆ ในปีถัด ๆ ไป ในแผนงานโครงการต่าง ๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ใน Slide ถัดไปท่านจะเห็นว่าทั้งหมดนั้นเรามีถึง ๗๕,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน แล้วก็มี ๗,๐๐๐ กว่าตำบล ๘๐๐ กว่าอำเภอ ในการบริการ Wi-Fi กับบริการ Internet สาธารณะให้กับทางหมู่บ้าน ตำบลนั้น กสทช. ก็ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่าง ครอบคลุมทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญครับ นอกเหนือจากบริการอย่างทั่วถึง ครอบคลุมแล้ว ประสิทธิภาพมันต้องใช้ได้จริง เราจะเห็นว่าหมู่บ้านที่มี เราลองไปใช้สัญญาณดู ปรากฏว่าไม่เสถียร ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการได้ เพราะฉะนั้น ประชาชนเอง ผู้ใช้บริการเองจึงต้องไปใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในบริษัทเอกชน ต่าง ๆ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการให้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องที่ กสทช. เองจำเป็นจะต้องทำหน้าที่ในการที่จะพัฒนาเครือข่าย ต่าง ๆ นี้ให้เสถียร แล้วก็ใช้ได้ และมีความรวดเร็ว นี่ประการที่ ๑ เพราะฉะนั้นเครือข่าย ตรงนี้ให้ประชาชนใช้ได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบว่าท่านมี USO ให้กับทางโรงเรียน ให้ทาง หมู่บ้านแล้วมันใช้ไม่ได้ เครือข่ายไม่เสถียร นี่ต้องมีหน้าที่ประเมินนะครับ จริง ๆ แล้ว ผมได้รับทราบการรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นองค์กรอิสระก็ดี หน่วยงานที่ ดำเนินการเพื่อสาธารณะก็ดี มารายงานกับทางสภา เราก็รับทราบข้อมูลต่าง ๆ นั้น แต่ทางสภาเองไม่เคยตรวจสอบนะครับท่านประธาน ถ้าเราจะมีการรับฟังรายงานเสร็จแล้ว เรามีหน่วยงานเข้าไปทดสอบ ไปตรวจสอบดูในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มารายงานกับทางสภา ผมว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ อันนี้เป็นประเด็นที่ผมต้องฝากทาง กสทช. ไว้นะครับว่า ๑. ความครอบคลุมทั่วถึง ๒. เรื่องของความเสถียรแล้วก็ใช้ได้จริงของเครือข่ายต่าง ๆ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ใน Slide ถัดไปท่านจะเห็นว่าการดำเนินงานของ กสทช. นั้นยังจะต้อง ครอบคลุมในหลายเรื่อง ผมยกมาข้อเดียวครับ ท่านมีหลายข้อในเอกสารรายงานมันจะ เยอะไป แต่สิ่งที่เห็นก็คือปัญหาที่เกิดจากแก๊งโทรศัพท์ก็ดี ปัญหามิจฉาชีพส่งข้อความก็ดี ปัญหาเรื่องของการฉ้อโกงประชาชนโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ดี ทาง Facebook ทาง LINE ก็ดี หรือทางโทรศัพท์มือถือที่โทรเข้ามาแล้วก็บอกว่าสัญญาณจากตรงโน้นตรงนี้ ล่อให้ประชาชนที่เป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้นะครับ วันนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องของอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก็มารายงาน ก็เป็นหน่วยงานที่น่าจะมีความสัมพันธ์กัน การที่เรามีเครือข่ายสัญญาณเหล่านี้ เขาก็ใช้ เครือข่ายเหล่านี้ละครับไปหลอกลวงประชาชน แต่เราก็ไม่สามารถที่จะดูต้นตอของสาเหตุ ได้ว่ามันเกิดจากอะไร นี่คือตัวอย่างหนึ่งนะครับ ทั้ง ๓ รายการนี้เป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง ซึ่งมีมากในการที่ทางมิจฉาชีพนั้นใช้ช่องทางเหล่านี้ในการที่จะโกงประชาชน
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ใน Frame สุดท้ายเป็นข้อเสนอแนะในการดำเนินงานครับ เราจะเห็นว่าสิ่งที่ ผมอยากจะขอให้ทาง กสทช. ดำเนินการก็คือจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการ Internet ความเร็วสูงในทุกหมู่บ้าน เพราะประชาชนนั้นจะต้องเป็นผู้ได้รับบริการสาธารณะ จากภาครัฐ เพราะฉะนั้นเรามีงบประมาณนี้ค่อนข้างที่จะเยอะในแต่ละปี ถ้าเรามาแชร์ มาช่วยประชาชนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ที่สำคัญที่ผมได้เรียนไปแล้วก็คือความเสถียร ความยั่งยืน และใช้ได้จริงนะครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ การที่ทาง กสทช. นั้นได้เป็นบริการสาธารณะโดยยึดประโยชน์ ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งนั้น สิ่งที่ผมอยากจะเรียนก็คือวันนี้เราอัฐยาย กินขนมยาย ก็หมายความว่าอย่างเช่นสถานศึกษาโรงเรียนเราใช้สัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์ แต่เราใช้งบประมาณในการไปซื้อเครือข่ายสัญญาณ จัดงบประมาณให้กับทางโรงเรียนไปซื้อ เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ถ้า กสทช. เห็นว่าสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นเรื่อง ที่เราจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ให้กับผู้เรียน ให้กับโรงเรียน ถ้าเราสามารถจะบริการ เครือข่าย Internet ความเร็วสูงให้กับทางโรงเรียนฟรี ผมคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อคนไทย ต่อประเทศชาติในอนาคตนะครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ประการสุดท้ายครับท่านประธาน ในเรื่องของการจัดให้มีระบบ CSR ของ กสทช. ต่อสังคมในการบริการให้ผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ก็ฝากทาง กสทช. ทั้ง ๓ ประเด็นครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านให้เตรียมตัวนะครับ ท่านแรก ท่านเอกราช อุดมอำนวย ท่านที่ ๒ ท่านธีระชัย แสนแก้ว ท่านที่ ๓ ท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เชิญท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอบคุณที่ได้เปิดโอกาสให้อภิปรายรายงานของ กสทช. หลังจากเลื่อน เป็นโรคเลื่อน ไม่เข้ามาหลายสัปดาห์ ก็ขอบพระคุณที่ท่านได้ให้โอกาส ให้เกียรติสภาแห่งนี้
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ก่อนอื่นผมชวนท่านดู Slide อันแรกก่อนเลย เป็นเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จากประชาชนในเขตดอนเมืองที่ผมเป็นผู้แทนราษฎร หรือว่าตามสื่อต่าง ๆ ที่เพื่อนสมาชิก ที่เป็นผู้แทนราษฎรของเขตต่าง ๆ ย่อมทราบดีว่ามันมีปัญหามากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการรกรุงรัง สายสื่อสารเมื่อเปรียบเทียบผลงานการจัดระเบียบและแผนการตั้ง งบประมาณในการดำเนินงานร่วมกับ กฟผ. และ กฟน. สำเร็จตามแผนเพียงร้อยละ ๑๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เงินเดือนท่านคนละเท่าไรครับ ซึ่งปริมาณน้อยมาก แสดงถึงศักยภาพ ในการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแผน ถ้าเป็นการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ก็ต้องมี การทบทวนการจ้างหรือเลิกจ้างไปแล้ว
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ในส่วนของการจัดระเบียบสายสื่อสารลงดินร่วมกับ กฟผ. และ กฟน. เช่นกัน ก็พบว่าระยะทางที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ ตามรายงานที่ท่านเขียนมาอยู่ที่ ๓๕ กิโลเมตรโดยประมาณ เป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางสายสื่อสาร ทั้งหมดในประเทศไทย แล้วแบบนี้คำถามคือเมื่อไรเราจะเห็นการจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ไม่รบกวนสายตา ไม่รบกวนทัศนียภาพ และไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยการเดินทาง ของพี่น้องประชาชน รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่เป็นระเบียบเหล่านี้ จึงอยาก เน้นย้ำกลับไปที่ กสทช. ว่าที่มีการตั้งงบประมาณในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ขอให้ ดำเนินการตามแผนงบประมาณที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชน จะได้เกิดความคุ้มค่าและมี ประสิทธิภาพมากกว่านี้
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ในกรณีเรื่องของการจัดสรรงบประมาณการวางแผนค่าใช้จ่ายของ กสทช. ผมอยากเรียนท่านประธานว่าขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. เขาประหลาดมาก เขาไปออกระเบียบคณะกรรมการ กสทช. ให้อำนาจของกรรมการ อีกคณะหนึ่งในการจัดทำงบประมาณรายจ่าย จะต้องไปขออนุมัติจากคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ความเห็น อันนี้แกล้งขัดขาตัวเองหรือว่าขัดขากันเองครับ ประธานหรือคนของใครเขาก็พูดกันทั่ว หรือว่ากรรมการที่ไปนั่งอยู่เป็นตัวแทนของเอกชน รายไหนหรือเปล่า ผมไม่กล้านะครับ แต่ประชาชนเขาเคลือบแคลงใจ เพราะตลอดเวลา ที่ผ่านมาไม่ค่อยรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน นั่นหมายถึงว่า กสทช. เวลาจะ วางแผนอะไร ขอความเห็นก็ต้องรายงานไปยังคณะกรรมการดังกล่าวก่อน ก่อนที่จะได้อนุมัติ ใช้เงิน แล้วแบบนี้จะเป็นองค์กรอิสระไปทำไมครับ แล้วผมชวนมาดูโครงสร้างของ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีบทบาทในการให้ความเห็นวางแผน งบประมาณรายจ่าย มีใครบ้าง เป็นภาคการเมืองทั้งนั้นเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นประธาน รองประธาน กรรมการ ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิล้วนเป็นบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในคณะรัฐมนตรี จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการดำเนินงานของ กสทช. การวางแผนต่าง ๆ ถูกฝ่ายการเมือง ครอบงำแล้วหรือไม่ อะไรจะเป็นตัว Guarantee ผมไม่อยากให้ถูกครอบงำและกลืนกินไป ทั้งหมด นอกจากนี้คณะกรรมการที่มีบทบาทในการให้ความเห็น ล้วนเป็นบุคคลที่มีส่วน ได้เสียในการดำเนินกิจการของ กสทช.
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ผมอยากชวนดูอีก Slide หนึ่ง ข้อกังวลเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงาน ผมชวนตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. มีความโปร่งใสหรือไม่ ประการแรกก็คือกรณีที่ประธาน กสทช. ไม่ยอมรับมติปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช. ที่มีมติจากคณะกรรมการ กสทช. ให้ปลดรักษาการ โดยมีการอ้างอำนาจในการแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ว่า เป็นอำนาจของประธานโดยผู้เดียว
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ คือการใช้อำนาจในทางมิชอบในการออกคำสั่งยกเลิก คณะกรรมการสอบวินัยของตนเอง ของรักษาการ ประหลาดมาก จะเห็นได้ว่า ๒ ตำแหน่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง ซึ่งอาจหมายถึงผลประโยชน์ที่มีร่วมกันระหว่างประธาน และตำแหน่งของเลขาธิการ กสทช.
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ผมอยากขอตั้งข้อสังเกตว่าท่านประธานเห็นไหมครับว่าตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. มีบทบาทมากอย่างไรภายใต้การดูแลงบประมาณหลักหมื่นล้าน ต้องมีความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติงาน ออกบังคับบัญชาพนักงาน ดำเนินกิจการต่าง ๆ ภายใต้โครงการงบประมาณ โดยตรง อันที่ ๒ ก็คือเลขาธิการ กสทช. ก็ยังต้องดูแลงบประมาณรายจ่าย อันดับที่ ๓ ก็คือ เรื่องบทบาทในการทำให้กองทุน กทปส. บรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในการบริการโทรคมนาคม โดยทั่วถึง ซึ่งกองทุนนี้เป็นทุนหมุนเวียนและดำเนินกิจการหมื่นล้านต่อปี
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
จะเห็นว่าความสำคัญของเลขาธิการ กสทช. นั้นมีอำนาจมหาศาล แต่ล่าสุด กระบวนการในการสรรหาตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ก็มีความกังวลเกิดขึ้นเรื่องของ กระบวนการคัดเลือกการสรรหาคุณสมบัติ การออกประกาศสะท้อนความไม่โปร่งใสที่ต้อง เปิดกว้างและตรวจสอบได้ รวมถึงโครงสร้างองค์กรที่มีความเสี่ยงต่อการถูกครอบงำ ที่มี ผลประโยชน์เกี่ยวพันกับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ หรือการดำเนินงานบริหารของ กสทช. ซึ่งมีเลขาธิการในการชี้นำบทบาทขององค์กรแห่งนี้ จึงอยากเรียนทางสำนักงาน กสทช. ท่านประธานกรรมการต่าง ๆ หรือว่าที่เลขาธิการใหม่ ว่าท่านจะดำเนินการอย่างไรขอให้ คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องเป็นตัวตั้งเสมอ และที่ท่านบอกว่าได้เลขาธิการคนใหม่แล้ว เขาก็ทราบมาว่ามีการร้องเรียนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกคำสั่งโดยไม่ชอบ แล้วก็ ขัดกันของผลประโยชน์ ผมก็อยากเรียนว่าตามพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๖๑ ให้การแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. กระทำโดย ประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ไม่ใช่ของประธานคนเดียวนะครับ ฝากเอาไว้ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๗ พรรคเพื่อไทย ขอกราบเรียนท่านประธานดังนี้นะครับว่า กระผมขออนุญาตอภิปรายรายงานผล การปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ดังนี้ ท่านครับ กระผมมีความสนใจที่เกี่ยวข้อง กับพี่น้องประชาชน โดยกิจการของโทรคมนาคม หน้า ๗๕ ถึงหน้า ๙๔ การส่งเสริม สนับสนุน ประยุกต์ใช้ 5G อย่างต่อเนื่องและจัดระเบียบ การสื่อสารลงใต้ดิน การบริการ กำจัดระบบหมายเลขโทรศัพท์ การจัดให้มีการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม อันนี้ผมเห็นด้วยและสนับสนุนท่านทำได้ดีแล้ว ทั้ง ๔ อย่างนี้พี่น้องประชาชนยังเชื่อว่า ท่านจะสามารถให้การบริการในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้นไป แต่เรื่องที่กระผมมีความกังวลที่เกี่ยวข้อง กับ กสทช. ที่มีความรับผิดชอบโดยตรง และอาจจะมีหลายกระทรวง หลายอย่างด้วย ก็คือเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม ทั้งการแก้ไขปัญหา เรื่องแก๊ง Call Center ท่านประธานรู้จักไหม แก๊ง Call Center เมื่อคราวที่แล้วพระราชกำหนด ของกระทรวง DE เข้ามาแล้วเราก็ผ่านไปแล้ว น่าจะใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่ ณ วันนี้ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการส่งข้อความ SMS การหลอกลวงพี่น้องประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาการฉ้อโกง การแสดงตนเป็นบุคคลอื่นทางโทรศัพท์ ถึงแม้ ณ วันนี้ทราบว่า กสทช. ได้ไปอบรมให้กับ พี่น้องประชาชนในชนบท ในพื้นที่ ในตำบลต่าง ๆ ในอำเภอต่าง ๆ ผมทราบว่าวันนี้ไปที่ เขตอำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของผม ขอขอบคุณครับ ท่านประธานครับ กระผมเชื่ออย่างยิ่งว่าไม่มีใครในประเทศนี้ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่รู้จัก Call Center กระผมเชื่อมั่นว่าทุกคนในประเทศเคยถูกแก๊ง Call Center จัดการ มาแล้วโดยการหลอกลวง ทั้งบอกว่าเสี่ยงโชค โชคดีจะได้รับรางวัลใหญ่ โดนหลอกว่า มีหมายจับ ท่านทำผิดกฎหมาย จะต้องไปศาลวันนี้ จากสำนักงานอัยการสูงสุด ท่านถูกหลอกว่า มีพัสดุจดหมายจากไปรษณีย์ โดนหลอกว่าเกี่ยวข้องกับ Website การพนันบอล โดนหลอกลวงต่าง ๆ นานาเพื่อให้พี่น้องประชาชนหลงเชื่อและยอมโอนเงินไปให้กับพวกนี้ นี่คือพวกมิจฉาชีพที่ดำเนินการแบบทันสมัย เราแทบไม่ทันพวกนี้ เราจะสกัดพวกนี้ได้อย่างไร กสทช. แล้วร้ายกว่านั้นครับ โดนหลอกส่งข้อมูลบุคคล เช่น บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขบัตร เครดิต สมุดบัญชีธนาคาร ใช้หลักจิตวิทยาโน้มน้าวให้ตกใจกลัวจนรีบส่งข้อมูล และกระตุ้น ให้เกิดความโลภ และรีบเร่งในการเอาข้อมูลส่วนตัวส่งให้ พอรู้สึกก็หายไปแล้ว หาเงินมา ทั้งชีวิต หายไปในวันเดียวครับ เลวจริง ๆ พวกนี้นะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ แก๊ง Call Center ผมจะพูดไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังแก้ไม่ได้ กระทรวงไหนมาผมก็จะพูด เรื่อง Call Center นี่ละ มันทำให้พวกเราเป็นโรคประสาทจริง ๆ ครับ Application ดูดเงิน จากโทรศัพท์นี่ละ ซึ่งเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงหลอกเอาเงินเราไปนะครับ เมื่อ ๒ วันก่อนผมอ่าน ข่าวรู้สึกสลดหดหู่ ที่จังหวัดสมุทรปราการ พ่อฆ่ายกครัว หนีปัญหาหนี้ค้ำประกัน ซ้ำถูกแก๊ง Call Center หลอกเสียเงินไป ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท ลูกเมียเสียชีวิต พ่อเจ็บหนัก ชั้นล่าง ไปดูในบ้านตามข่าว พบศพผู้เสียชีวิต ๒ คน เป็นเด็กชายอายุ ๑๑ ปี ผู้หญิงก็ ๔๑ ปี ทราบภายหลังว่าเป็นลูกและเมีย นี่ละผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุประมาณ ๑๓ ปี อยู่ชั้นล่างอีก เป็นลูกกับเมียทั้งนั้น ครอบครัว ฆ่ายกครัว อันนี้เป็นที่เรื่องสลดกับพวกแก๊ง Call center นี่ละ ท่านจะช่วยเขาได้อย่างไร ท่านครับ ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารมันไปไกลมากแล้ว และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเรา ทั้งการศึกษา การคมนาคม การแพทย์ หรือแม้กระทั่งการสั่งอาหาร เรียกรถแท็กซี่ได้ครับ แต่พวกมิจฉาชีพมันก็ฉลาด ฉลาดไปเรื่อย ๆ ฉลาดเลยหน้าของพวกเราไปอีก คนพวกนี้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เอามาหลอกลวงพี่น้องประชาชนโดยการเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย เราตามทันมันก็ไปเรื่อย แล้วก็หาเหยื่อใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เช่น หลอกให้นาย ก โอนเงินไม่ได้ เพราะนาย ก รู้ทัน อย่าง สส. นี่รู้ทัน เมื่อ ๒-๓ วันก่อนก็รู้ทัน หลอกไม่ได้ โดยเฉพาะหลอกผมนี่หลอกไม่ได้สักที เพราะว่าผมไม่รับถ้าเบอร์แปลก ๆ บางทีเราก็ใช้เทคนิคในการที่ว่ามันมี Application Spam เวลาเบอร์แปลก ๆ มา อันนี้ก็เป็นการช่วยได้ระดับหนึ่ง ท่านประชาสัมพันธ์ไปด้วยนะครับ คนใช้โทรศัพท์มือถืออะไรต่าง ๆ แล้วมันก็จะไปหลอก หลอกนาย ก ไม่ได้ ก็จะหลอกนาย ข หลอกนาย ข ไม่ได้ ก็ไปหลอก ๒๐ คน หลอก ๒๐ คน ไม่ได้ หลอกไปหลอกมาได้คนหนึ่ง ถือว่าคุ้มแล้วครับ เพราะมันได้เยอะ คุณหมอถูกหลอกเป็น ๑๐๐ ล้านบาท ท่านก็คงจะทราบ เหมือนกัน นี่ละครับท่าน เครื่องมือมิจฉาชีพหลอกลวงคือสิ่งเล็ก ๆ ที่ว่า SIM โทรศัพท์นี่ละ ใช้ทั้งโทร ทั้งส่ง SMS และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง แล้วสามารถดูดเงินได้ครับท่านประธาน Call Center ผมไม่อยากจะพูด เวลาจะหมด เพราะมันเยอะเหลือเกิน อยากจะขอ กราบเรียนท่านประธานนะครับ กระผมว่าพี่น้องประชาชนรอคำตอบจากท่านว่าแก๊งนี้ เราจะมีวิธีการในการจัดการตรงนั้นได้อย่างไร คนหนึ่งสามารถใช้ SIM เยอะ ๆ หลอกลวง ทำให้พี่น้องประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นโน่นเป็นนี่ ลักษณะที่ว่าซื้อ SIM เยอะ ๆ แล้วก็ไปหลอก เอาคนที่ตายแล้วมาซื้อ SIM อะไรต่าง ๆ เอาบัตรประชาชนไปทำ แล้วก็ทำงานมาได้ ทุกเรื่องครับ นี่ละท่านจะทำอย่างไร ขออนุญาตท่านประธานว่ากระผมอยากจะเรียนถาม แทนพี่น้องประชาชนไปยังผู้ชี้แจง สุดท้ายแล้วครับ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเรื่อง Call Center และพวก ใช้ SMS หลอกลวง ท่านได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นมรรคเป็นผล เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้างครับ มิจฉาชีพท่านจับได้ประมาณกี่คน ท่านประสานงานกับตำรวจ และมีการเชื่อมโยงกันไหมระหว่างผู้รักษากฎหมายอีกด้านหนึ่ง ท่านได้สั่งปิดสัญญาณ SIM หรือยกเลิกเบอร์กระทำความผิดไปบ้างหรือไม่ มันเยอะเหลือเกิน นี่ละครับ ผมขอกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงเพียงเท่านี้ละครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เชิญครับ
นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ โดยในวันนี้ผมจะขอ Focus อยู่เรื่องเดียว คือเรื่องการป้องกันปัญหาของแก๊ง Call Center ของ กสทช. เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา พวกเราคงได้เห็นพาดหัวข่าวที่น่าสลดใจ เกิดเหตุ โศกนาฏกรรมฆ่ายกครัว ๓ ศพ โดยต้นเหตุของเรื่องนี้ก็มาจากเรื่องการโดนแก๊ง Call center หลอกลวง จนทำให้ผู้ก่อเหตุลงมือปลิดชีพภรรยากับลูกของตัวเอง และพยายามฆ่าตัวตาย ตาม ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์นี้อย่างสุดซึ้ง และที่ลุกขึ้นมาพูดอภิปราย ในวันนี้เพราะไม่ต้องการให้มีโศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยอีก เพื่อนร่วมงานของผู้ก่อเหตุได้ให้การว่าผู้ก่อเหตุจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนใจเย็น เหล้าไม่กิน บุหรี่ ไม่สูบ ตั้งใจทำงานเป็นอย่างดีมาตลอด แต่ครอบครัวของเขาต้องมาล่มสลายเพราะโดน ปัญหาแก๊ง Call Center หลอกให้โอนเงิน โดยหลอกให้หลงเชื่อว่าจะได้กู้เงิน อ้างว่า ให้โอนเงินไปตรวจสอบบ้าง ไปจ่ายค่าระบบบ้าง ไปจ่ายค่าธรรมเนียมบ้าง ตอดเหยื่อ ให้โอนไปเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดเขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากหลายแหล่งรวมเป็นเงินกว่า ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปัญหาแก๊ง Call Center ได้กลายเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที ๆ มีข่าวออกมาไม่เว้น แต่ละวัน คนมีชื่อเสียง นักแสดง นักข่าว ชาวบ้าน โดนกันทั่วหน้า เชื่อว่าทุกคนในห้องนี้ น่าจะเคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊ง Call Center กันแทบทุกคน ใครโชคร้ายตกเป็นเหยื่อ ก็ไม่เพียงแต่เสียทรัพย์ ติดหนี้ติดสิน ยังอาจเสียสุขภาพจิตจนเสียผู้เสียคน ครอบครัว ต้องพังทลาย ไปจนถึงขนาดสูญเสียชีวิตได้ ท่านประธานครับ ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหานี้มันรุนแรงขนาดไหน กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเป็นผู้คุมกฎ คุมเกณฑ์ คุมช่องทางที่แก๊ง Call Center ใช้ในการเข้าหาเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็น SMS หรือโทรศัพท์ แต่ทำไม กสทช. จึงป้องกันปัญหานี้ไม่ได้ กสทช. ควรจะทำได้ดีกว่านี้ใช่หรือไม่ หรือท่านคิดว่าที่เป็นอยู่อย่างนี้ท่านได้ทำสุดความสามารถแล้ว ทั้ง SMS และโทรศัพท์ ไม่ว่า จะเป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเบอร์บ้าน ล้วนเป็นบริการที่ต้องลงทะเบียนทั้งนั้น ถ้าจะสืบ จะสาว มันไล่เบี้ยกันได้หมดว่าใครเป็นคนมาเปิดเบอร์เอาไว้เพื่อทำแก๊ง Call Center มา หลอกเงินคนไทย แต่ทำไมถึงป้องกันไม่ได้ ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ ผมได้ไปคุยกับตำรวจ ท้องที่มา เราจะเห็นตำรวจท้องที่หลายแห่งออกมาประชาสัมพันธ์บน Facebook ให้ระวัง เบอร์โทรแก๊ง Call Center มี List เบอร์เป็นร้อย ๆ เบอร์ เบอร์โทรศัพท์เบอร์อะไร SMS จากไหน ตำรวจท่านก็ทราบหมดครับ แล้วก็ต้องขอชื่นชมในความหวังดีของตำรวจที่ท่าน อุตส่าห์ทำ Poster ๑๘ กลโกง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อ Online มาประชาสัมพันธ์แจกให้ ประชาชนคนไทยดูแลตัวเอง นี่มันเป็นวิธีการป้องกันที่ได้ผลขนาดไหนครับ เราเห็นข่าว เหยื่อแก๊ง Call center แทบทุกวัน พวกเราก็คงจะทราบกันดีว่ามันได้ผลขนาดไหน ผมจึง อดตั้งคำถามไม่ได้ครับท่านประธานว่าทำไม กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่าย โทรศัพท์ ท่านถึงป้องกันไม่ได้ ยังปล่อยให้คนไทยโดนหลอกแล้วโดนหลอกอีก จากเบอร์ โทรศัพท์เดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้อภิปรายสนับสนุน และอนุมัติกฎหมาย พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งในนั้น มาตรา ๔ ได้กำหนดไว้ว่าเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการ โทรคมนาคม หรือผู้เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ต้องเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน ผ่านระบบ หรือกระบวนการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ กระทรวง DES และสำนักงาน กสทช. เห็นชอบร่วมกัน ขอถามจริง ๆ เถอะครับว่ากฎหมายก็ให้อำนาจหน้าที่แล้วว่าให้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันอาชญากรรมแบบนี้ แล้ว กสทช. ได้ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง ท่านได้ทำ ระบบฐานข้อมูลเบอร์โทร ฐานข้อมูลเจ้าของเบอร์ที่เป็นแก๊ง Call Center ให้แชร์ข้อมูล ระหว่างกันกับผู้เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใดปัญหาแก๊ง Call Center นี้ถึงยังไม่ดี ขึ้นเลย กสทช. ทำไมไม่จัดการให้มีระบบระงับยับยั้งหมายเลขโทรศัพท์ของแก๊ง Call Center ที่ถูกจับได้แล้วไม่ให้เบอร์นั้นโทรศัพท์ไปหลอกคนอื่นได้อีก
นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ผมต้องขอวิงวอนไปถึง กสทช. ให้ท่านช่วยแก้ปัญหาแก๊ง Call Center ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ปัญหาแก๊ง Call Center นี้จะบ่อนทำลายสังคมไทยไปมากกว่านี้ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านรชตะ ด่านกุล ครับ
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม รชตะ ด่านกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เขต ๑๕ อำเภอด่านขุนทด อำเภอเทพารักษ์ และอำเภอพระทองคำ ท่านประธานที่เคารพครับ ในวันนี้ผมขออภิปราย และมีข้อสอบถามถึงสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือที่เราเรียกย่อ ๆ ว่าสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมของชาติ ท่านประธานครับ
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ในการอภิปรายและข้อสอบถามในครั้งนี้ ผมได้ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานผลการปฏิบัติงานสำนักงาน กสทช. พุทธศักราช ๒๕๖๕ เป็นหลักครับท่านประธาน ในประเด็นอภิปรายมี ๓ ประเด็น
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ คลื่นความถี่ 5G และการนำไปใช้งาน ท่านประธานครับ คลื่นความถี่ 5G ที่ได้จัดประมูลไปนั้นมีการนำไปใช้งาน ใช้ประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน อย่างไร และในเมื่อคลื่นความถี่ 5G นั้นถือเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของประเทศชาติ ท่านมีนโยบายทำอย่างไร
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ การคุ้มครองผู้บริโภค ผมขอตั้งข้อสังเกตทั้งในเรื่องของ การดำเนินการแก้ไขปัญหา Call Center เถื่อน แก๊งมิจฉาชีพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของการผูกขาดทางการค้า
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ คุณภาพของการให้บริการของพี่น้องประชาชน มีตัวชี้วัด มีมาตรฐานสากลเพียงใด สามารถตรวจติดตาม หรือตัวชี้วัดได้อย่างไรครับท่านประธาน
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ในส่วนประเด็นของการอภิปรายข้อสอบถามคลื่นความถี่ที่เราได้นำมา ใช้งานนั้นมีประสิทธิภาพ ผมต้องขออธิบายการพัฒนาของคลื่นความถี่ ความแตกต่าง และการนำไปใช้งานครับท่านประธาน ยกตัวอย่าง 1G ถึง 5G คลื่น 1G ใช้สำหรับเสียง 2G ใช้สำหรับใช้งานเสียงและข้อความ 3G สำหรับ Multimedia 4G สำหรับ Multimedia และ Real time 5G สำหรับแก้ไขปัญหาการหน่วง หรือ Delay ของเวลา ยกตัวอย่าง เช่น การผ่าตัดโดยเครื่องมือกลผ่านเทคโนโลยี 5G Telemedicine หรือแม้กระทั่งรถยนต์ ไร้คนขับ หรือ Smart Car เป็นต้น ที่ต้องการแก้ปัญหาการ Delay หน่วงอย่างแท้จริง จากการที่ผมได้กล่าวข้างต้น ทางสำนักงาน กสทช. ได้พยายามทำโครงการต้นแบบ ดัง Slide ที่ผมได้แจ้งให้กับที่ประชุมในครั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น โครงการต้นแบบ 5G AI โรงพยาบาลศิริราช โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล หรือแม้แต่กระทั่งโครงการ 5G Case ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ท่านประธานครับ นี่คือตัวอย่างโครงการนำร่อง กสทช. ที่พยายามนำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ผมมีข้อสอบถามง่าย ๆ ว่าโครงการนำร่องเหล่านี้สำนักงาน กสทช. สามารถนำเสนอ มาพัฒนา มาต่อยอด สนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ เอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐได้อย่างไร รวมทั้งนำมาใช้เชิงพาณิชย์ในปัจจุบันได้หรือไม่ ประเด็น คำถามครับ ผมมีข้อสอบถามไปยังสำนักงาน กสทช. ดังต่อไป ข้อ ๑ โครงการที่ผมกล่าว ข้างต้นมีโครงการใดสำเร็จบ้าง ข้อ ๒ งบประมาณที่นำไปใช้คุ้มค่าหรือไม่ ข้อ ๓ ประเทศไทย ของเรามี 5G แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่ เราใช้เทคโนโลยี 5G เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ต้องผลักภาระ ให้ผู้บริโภคในการประมูลคลื่นนั่นเองครับท่านประธาน
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นคำถามส่วนของข้อ ๒ คือการคุ้มครองผู้บริโภค จากแผนภาพ Slide ครับท่านประธาน จะเห็นว่า Call Center เถื่อนมาจาก ๒ แหล่งเป็นหลัก แหล่งที่ ๑ จากคู่สัญญาจากต่างประเทศ มาเชื่อมต่อสัญญาณผ่าน Operator ในไทย ส่วนที่ ๒ มาจาก ตะเข็บชายแดนของไทย ผ่านเพื่อนบ้าน ผ่าน SIM Card หรือที่เรียกว่า SIM Box คือ 1 Box มีเบอร์โทรศัพท์เป็นร้อย SIM สามารถใช้ต่อเชื่อมโทรศัพท์มาประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย นี่คือต้นตอของ Call Center แต่ประเด็นปลายทางก็คือว่าในเมื่อจะเป็นปลายทาง จากต่างประเทศหรือตะเข็บชายแดน ก็ยังต้องผ่าน Operator ที่ประเทศไทยก็คือผู้ให้บริการ ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงาน กสทช. เหตุใดจึงไม่มีการกวดขัน คัดกรอง หรือว่าระงับยับยั้ง เบอร์ที่ต้องสงสัย เบอร์ที่โทรออกผิดปกติ เป็นต้น ทำให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องประชาชน เสมอมาครับท่านประธาน
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งครับ ขอพูดในเรื่องของ การรวบตลาด ขออนุญาตใช้เป็นสีแทนผู้ประกอบการนะครับ สีน้ำเงินคือผู้ประกอบการ ที่ส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด สีเขียวอันดับ ๒ ชมพูอันดับ ๓ สีเหลืองอันดับ ๔ เมื่อไม่นาน มานี้เขียวกับชมพูควบรวมกิจการกัน ทางสำนักงาน กสทช. ให้ความเห็นว่าไม่เป็นการผูกขาด การตลาด เพราะว่ายังมีสีเหลืองคือ NT เป็นรายที่ ๓ อยู่ ซึ่งถ้าท่านดูแล้วจะทราบเลยครับว่า NT นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง ๒.๓๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่มีผลเลย ทำให้ผู้เล่นหลัก มีแค่ ๒ เจ้า ฉะนั้นการแข่งขันทางการค้าไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ภาระการบริโภค ตกไปกับพี่น้องประชาชนครับท่านประธาน
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ในเรื่องสุดท้าย คุณภาพบริการ ผมขอสอบถามว่าในระยะการซ่อมซึ่งไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง มันเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งผมตอบท่านเองเลยครับว่าไม่เป็นจริง ก็ขออนุญาตสรุป ง่าย ๆ ว่าผมมีความเห็นว่าปัญหาในสำนักงาน กสทช. ยังมีอีกหลายด้านที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การจัดระเบียบสาย การบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง หรือที่เรียกว่า USO และดาวเทียม เป็นต้นครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ และหลังจากที่ท่านศศินันท์อภิปรายเสร็จ จะปิดการลงชื่อเพื่ออภิปรายนะครับ เชิญท่านศศินันท์ครับ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ เขตสายไหม พรรคก้าวไกล รอ Slide นะคะ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
หัวข้อที่จะมาพูด ในวันนี้เป็นในเรื่องของกองทุนวิจัย กทปส. ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้การดูแลของหน่วยงาน กสทช.
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นแรก อันนี้ข้ามไปเลยก็ได้เพราะว่ามีผู้อภิปรายหลายท่านพูดไปแล้ว ในเรื่องของโครงสร้างของกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนา แล้วก็ที่มาของแหล่งทุน
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ดิฉันอภิปรายเรื่องของการใช้งบผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งจริง ๆ เราจะไม่แปลกใจเลยถ้าเราได้ย้อนกลับไปดู Board บริหารของกองทุน ซึ่งมีองค์กร ต่าง ๆ เข้ามาบริหารกองทุน
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ทีนี้ประเด็นที่ ๒ ดิฉันมีคำถามต่อไปว่า กทปส. ได้ดำเนินการตามพันธกิจ หรือไม่ หรือว่าสนใจแค่ว่าใคร หรือหน่วยงานใดเป็นผู้ขอกองทุน ก็เลยแบบว่าสนแค่ว่าใคร หรือเปล่า เป็นการของบกองทุน เช่นกรณีนี้ กรณีการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคง ของกองทัพบก โดยกรมการทหารสื่อสาร โดยมีการขอกรอบงบประมาณที่ ๓๐ ล้านบาท และ กทปส. ได้มีการปรับลดลงเหลือ ๑๘ ล้านบาท โดยโครงการนี้ให้หลักการและเหตุผลว่า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับ ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสร็จแล้วก็มีห้อยท้ายว่า รวมถึงผู้ด้อยโอกาส และคนพิการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่มีห้อยท้ายเอาไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในมาตรา ๕๒ (๑) เพราะเป็นการสร้าง ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข่าวสารด้านความมั่นคงให้กับผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ ซึ่งดิฉัน ขอตั้งข้อสังเกตไปยังผู้ชี้แจงว่าการอ้างอิงถึงการสอดคล้องกับโครงการกับวัตถุประสงค์ มาตรา ๕๒ (๑) นั้น เป็นจริงหรือไม่ และเหตุใดกองทัพบกถึงไม่ได้ใช้งบประมาณขององค์กร ตัวเองผ่านกระบวนการรัฐสภาเพื่อขออนุมัติงบ PR กองทัพตัวเอง ทั้งนี้ในส่วนของ กองทัพบกเองก็มีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไป เสียงบประมาณ ถ้าในตารางจะมีงบประมาณที่เขียนว่าถ้าออกอากาศ ๙ ล้านกว่าบาท ทั้งที่ได้รับใบอนุญาตประเภทกิจการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตก็ได้ ซึ่งตรงนี้ ทางกองทุนเองก็ได้ให้เหตุผลในการอนุมัติงบนี้ไว้ว่า เนื่องจากหน่วยงานผู้ขอรับการส่งเสริม สนับสนุนเป็นกรมการทหารสื่อสาร ไม่ใช่วิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จึงพิจารณาสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการออกอากาศตามมติของผู้บริหารกองทุน ก็อยากฝากทุกท่านย้อนกลับไปดูว่า Board ของผู้บริหารกองทุนเป็นใครบ้าง นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทส โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร มูลนิธิโครงการหลวง ด้วยงบประมาณ ๒๑๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท โดยอ้างวัตถุประสงค์ ตามมาตรา ๕๒ (๑) เช่นเดียวกัน ซึ่งโครงการนี้เป็นการให้ทุนสำหรับงบประมาณการก่อสร้าง มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕๒ (๑) ที่เป็นการให้บริการ อย่างทั่วถึง จึงชวนตั้งคำถามว่า กสทช. เหตุใดจึงต้องประกาศให้ทุนตามโครงการนี้ด้วย
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
แล้วยังมีอีกโครงการหนึ่ง เป็นประเด็นที่ ๓ เรื่องความคลุมเครือของการใช้ ภาษาใน TOR กทปส. ให้งบพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบสื่อสารของ กระทรวงกลาโหม เป็นรถปฏิบัติการสื่อสาร ก็ตั้งข้อสังเกตว่ามีจุดประสงค์เป็นไปตามแผน ยุทธศาสตร์ปี ๒๕๖๐-๒๕๘๐ และใช้เพื่อการปฏิบัติการการชุมนุมทางการเมืองจริงหรือไม่ โครงการนี้ใช้งบประมาณด้วยกรอบงบประมาณ ๔๓,๙๓๙,๐๐๐ บาท โดยให้เหตุผลว่า เป็นการบูรณาการการใช้งานข้อมูลสื่อผสม ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ โสตทัศนูปกรณ์ และระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม ในการติดตามสถานการณ์และสนับสนุนภารกิจ ของรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แล้ว โครงการนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาและการวิจัยซึ่งเป็นพันธกิจหลักของกองทุน กทปส. มีการยื่นประมูลโดยเจ้าเดียว ด้วย นอกจากนั้นยังมีกองทุน กทปส. ยังอนุมัติงบโครงการในการจัดทำสื่อสาธารณะ อีกหลายอย่าง อันนี้เป็นรายการที่ได้รับทุนจากกองทุน กทปส. ในปี ๒๕๖๓ ก็จะมีรายการ ตามนั้นเลยค่ะ ขออนุญาตหยิบมา ๑ ในโครงการที่ได้รับทุน คือเรื่องโครงการใบบุญ เณรน้อย โครงการนี้ได้รับทุนไปประมาณ ๔,๙๔๔,๔๗๐ บาท ดิฉันได้เข้าไปตามดู ก็เพิ่งเคยได้ยินชื่อการ์ตูนเรื่องนี้เหมือนกัน ใบบุญเณรน้อย วันนี้ก็ถือ โอกาสประชาสัมพันธ์เลยแล้วกันนะคะ ช่วยเข้าไปดูกัน จะได้คุ้มกับงบประมาณนิดหนึ่ง มีทั้งหมด ๔๐ ตอน งบประมาณตอนละ ๑๒๓,๖๑๑.๗๕ บาท หารเฉลี่ยมาให้ ซึ่งก็ได้เข้าไป ดูว่าการแบ่งเป็น Clip ๔๐ ตอน แล้วก็มี Clip ลงซ้ำด้วย เพื่อสำหรับเพิ่มยอด View อีกกว่า ๑,๐๓๒ ตอน แบ่งยอด View ก็คือที่มียอด View ประมาณ ๑๐,๐๐๐-๖๔,๐๐๐ View ประมาณ ๑๒ Clip นะคะ แล้วก็มี ๐-๑๐๐ View ประมาณ ๑๙ Clip เลยนะคะ แล้วมีอีก โครงการหนึ่งนะคะ โครงการรายการ ๕ หมู่ของหนู ชื่อน่ารักมาก ๆ คิดถึงลูกที่บ้าน ช่วยไปดู กันด้วยนะคะ ๕ หมู่ของหนู มีทั้งหมด ๔๐ ตอน งบประมาณตอนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เช่นเดียวกัน
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ก็เกิดประเด็นคำถามนะคะว่า กทปส. เป็นองค์กรภายใต้การดูแลของรัฐ โดยมีส่วนร่วมในการได้รับงบประมาณและรายได้จาก กสทช. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สำหรับ กสทช. ถือว่า กทปส. ทำได้ดีตามพันธกิจหรือจุดประสงค์ของกองทุนหรือไม่ หาก กสทช. ยังปล่อยให้ กทปส. อนุมัติงบสำหรับกองทัพ โดยมี Board บริหารเป็นผู้นำทาง การทหารแบบนี้ต่อไปจะถือเป็นประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ขอฝากไว้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านขัตติยา สวัสดิผล ครับ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายถึงรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ และรายงาน การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ปี ๒๕๖๕ โดยอิงจากรายงานในเล่มนี้นะคะ ซึ่งจากรายงานเล่มนี้ ดิฉันได้เห็นถึงปัญหาและความท้าทายที่ทาง กสทช. จะต้องเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริง จึงอยากแสดงความห่วงใย แล้วก็ถามคำถามไปยัง กสทช. ใน ๖ ประเด็น ดังต่อไปนี้ ขอ Slide แรกค่ะ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก เป็นเรื่อง ความสามารถในการแข่งขันรวมถึงโครงสร้างตลาด ในรายงานฉบับนี้ทาง กตป. ได้มี การรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งประชาชน ผู้ประกอบการสื่อ แล้วก็ผู้รับสื่อที่อยู่ภายใต้ กสทช. ว่าเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาหนึ่งที่เจอคือการแข่งขันของผู้ประกอบการสื่อ TV และวิทยุถูกควบคุมโดยหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่เข้มงวดมากจนเกินไป ซึ่งเมื่อเทียบกับ เนื้อหาทางสื่อ Online เขาไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะมาควบคุมหลักเกณฑ์มากขนาดนี้ ทำให้ ผู้ที่ผลิตสื่อ Online ทำงานได้ง่ายกว่า จึงเกิดการแข่งขันกับสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุม ของ กสทช. ดิฉันขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ค่ะ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ของคุณสรยุทธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของ กสทช. แต่เขาต้องแยกออกมาทำรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ทางช่อง YouTube ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่าที่ออกในทาง TV นั่นก็เพราะว่าบางเนื้อหา มันไม่สามารถออกอากาศทาง TV ได้จึงต้องย้ายมาออกอากาศในทาง YouTube แทน คนก็ตามมาเพราะอยากมาเสพเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น สิ่งนี้ ทำให้สื่อหลัก ๆ ไม่สามารถขยับตัวทัน แล้วก็ขยับตัวไม่ได้ เพื่อที่จะรับกับพฤติกรรม การเสพสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะว่าติดกฎระเบียบของ กสทช. นั่นเอง ทำให้ ผู้ประกอบการสื่อที่อยู่ภายใต้ กสทช. แข่งขันไม่ทัน แล้วก็แข่งขันไม่ได้กับทางสื่อ Online ค่ะ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
นอกจากนั้นเมื่อผู้บริโภคเอาความรวดเร็ว แล้วก็เอาความสะดวกของตนเอง เป็นที่ตั้ง สื่อ Online จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด แล้วก็นำมาสู่ปัญหาการแบ่ง สัดส่วนตลาดที่สื่อ Online แบ่งสัดส่วนการใช้บริการไปจากสื่อหลักที่อยู่ภายใต้ กสทช. นั่นเอง นอกจากนั้นประชาชนบ่นว่าใน TV และวิทยุมีสื่อโฆษณามากกว่าเนื้อหาสาระสำคัญ ที่เขาต้องการจะดู ดิฉันเข้าใจนะคะว่าเราต้องมีโฆษณาเพื่อการเพิ่มรายได้ เนื่องจากว่า ค่าใช้จ่ายในการประมูลคลื่นความถี่นั้นแพงลิบลิ่วเหลือเกิน ก็ต้องยัดเยียดโฆษณาให้กับ ผู้บริโภค แต่ถ้ายัดเยียดโฆษณามากเกินไป นั่นหมายความว่าผู้บริโภคสื่อเขาก็จะหนีไปใช้ สื่อ Online มากขึ้น แล้วเดี๋ยวนี้ช่อง YouTube ก็มีให้สมัครแบบ Premium แล้วโดยที่ไม่มี โฆษณาคั่น ผู้บริโภคก็จะยิ่งหนีสื่อหลักไปเสพสื่อ Online กันมากขึ้นหรือเปล่า
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
- ๓ ๘/๑ ดิฉันจึงอยากให้ทาง กสทช. พิจารณาทบทวน ปรับลดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสื่อที่อยู่ ภายใต้ กสทช. เราจะสามารถปรับหลักเกณฑ์ให้เหมือนเป็น OTT Service ได้ไหม ซึ่งเรา อาจจะควบคุมเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดปัญหาจริง ๆ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ดิฉันขอพูดถึงเรื่อง Cyber Security รวมถึง Data Privacy นั่นก็คือความปลอดภัยทาง Cyber แล้วก็ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล จากรายงานของ กตป. เล่มนี้ค่ะ ดิฉันเห็น กสทช. ว่ามี ๔ มาตรการในการแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center นะคะ อันแรกก็คือจะระงับสายโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์ที่โทรเข้ามาเป็น เบอร์โทรศัพท์บ้าน อันที่ ๒ ก็คือระงับสายโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรเข้า เป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรให้กับประเทศใดเลย ๓. ก็คือ ตรวจสอบสายโทรเข้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายว่ามีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ และมาตรการที่ ๔ ก็คือถ้าสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดเลขหมาย ต้นทาง ก็ให้ดำเนินการเพิ่มเครื่องหมาย +๖๖ เข้าไปนำหน้าเบอร์เพื่อให้ประชาชนทราบว่า เป็นการโทรเข้ามาจากต่างประเทศ คำถามของดิฉันก็คือว่า ๔ มาตรการนี้เพียงพอหรือไม่ ที่จะแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center เรามีตัวชี้วัดความสำเร็จหรือเปล่าว่า ๔ มาตรการนี้ ทำแล้วได้ผล ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร เราสามารถแก้ปัญหานี้ไปได้เท่าไรแล้ว และทาง กสทช. จะมีมาตรการนอกเหนือจาก ๔ มาตรการนี้อีกหรือไม่
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ คือเรื่อง USO หรือ Universal Service Obligation ท่านประธานคะ ภารกิจหลักของ กสทช. คือเรื่อง USO นั่นหมายความว่าทาง กสทช. ต้องจัดให้มีโทรคมนาคม พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม คือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเหลื่อมล้ำ แต่จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงว่ามีผู้เข้าถึง Internet เท่าที่สำรวจจริงคือจำนวน ๕๖.๗ ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน ๘๖.๖ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งประเทศ นี่คือจำนวนจากสำนักงานสถิติที่เขาแสดงออกมา ดิฉันเลยอยากตั้งคำถามของ กสทช. ว่ามันคือตัวเลขนี้จริง ๆ หรือไม่ และทาง กสทช. เอง ได้ทำสถิติของตัวเองหรือไม่ว่ามีผู้เข้าถึง Internet เป็นตัวเลขตามนี้จริง ๆ คำถามต่อมา คือสถานการณ์การเข้าถึงสัญญาณในปัจจุบันครอบคลุมกี่พื้นที่แล้ว เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนเท่าไรในเชิงพื้นที่ของประเทศ เราได้มีการตรวจสอบถึงจุดเสี่ยงบ้างหรือไม่ว่า หากมีปัญหาในการส่งสัญญาณเวลาที่เกิดภัยพิบัติหรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ประสิทธิภาพ ของสัญญาณเหล่านี้มีมากหรือน้อยเพียงใด และอีกคำถามหนึ่งก็คือ กสทช. มีมาตรการ ส่งเสริมผู้สูงอายุให้เข้าถึงสื่อยุคใหม่ได้อย่างไรบ้าง
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ เป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคว่าทาง กสทช. มีการคุ้มครอง การละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง คำถามคือ กสทช. ได้มีการควบคุมอย่างเพียงพอ แล้วหรือไม่ในส่วนของโฆษณาในแง่ของปริมาณความถี่และเสียงที่ผู้บริโภคต้องเสพเสียง เข้าไป เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนมากบ่นถึงเรื่องการโฆษณาที่เกินจริง การโฆษณาที่มีคลื่นถี่ เกินไป และที่สำคัญจะว่าแปลกก็แปลก มีการเร่งเสียงโฆษณาขึ้น คือเวลาเราดูอยู่ดี ๆ พอโฆษณามาเสียงเร่งขึ้นค่ะ อันนี้ตามรายงานฉบับนี้บอกไว้นะคะ ก็เลยอยากจะถามว่าสิ่งนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคสื่อหรือเปล่า และทาง กสทช. มีแนวทางในการแก้ปัญหา อย่างไรบ้าง
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกเรื่องที่ดังมากเมื่อไม่นานมานี้ คือกฎ Must Have Must Carry คำถาม ของดิฉันคือกฎของ กสทช. ตอนนี้มันสอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ทำไมเราถึงมีปัญหาในการซื้อลิขสิทธิ์ดูฟุตบอลโลก แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าจากใน Slide จะเห็นว่าเวียดนามมีประชากรเกือบ ๑๐๐ ล้านคน แต่ซื้อลิขสิทธิ์ดูฟุตบอลในราคา ๕๐๐ กว่าล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทย มีประชากร ๖๙ ล้านคน แต่เราต้องซื้อลิขสิทธิ์ดูฟุตบอลในราคา ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท แถมยังต้องใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงเอาไปใช้แบบผิด วัตถุประสงค์อีก เหตุใดถึงไม่เตรียมตัวเจรจาการซื้อลิขสิทธิ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ฟุตบอลโลกมี ๔ ปีครั้ง เราจะได้หาความร่วมมือจากภาครัฐรวมถึงหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ในการทำให้ประชาชนได้ดูฟุตบอลได้ ดิฉันไม่ได้จะให้ยกเลิกกฎนี้นะคะ แต่ดิฉันคิดว่า ทุกหน่วยงานควรจะต้องหาทางออกร่วมกันในการทำให้กฎนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องไป เบียดเบียนเงินภาษีของประชาชนในส่วนอื่น ๆ ค่ะ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๕ เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในรายงานบอกว่าปัจจุบัน มีการขยายโครงข่ายสัญญาณ 5G คลื่นความถี่ย่าน ๒,๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ ในเขต EEC ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ EEC ดิฉันจึงอยากตั้งคำถามว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ EEC นี้เพียงพอแล้วหรือไม่ และมีแผนที่จะขยายโครงข่ายอีกหรือเปล่า ส่วน กสทช. ยังมี นโยบายขยายขอบเขตที่จะเพิ่มเสาโทรคมนาคมให้ครอบคลุมการเข้าถึงอย่างเพียงพอ ก็เลยอยากถามว่าเพียงพอคือประมาณเท่าไร ครอบคุมพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ ครอบคุมพื้นที่ชนบท ด้วยหรือไม่
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกคำถามหนึ่งค่ะ เมื่อปี ๒๕๖๔ มติให้ยกเลิกการประมูลวงจรดาวเทียม ด้วยเหตุผลว่ามีผู้ยื่นประมูลเพียงแค่รายเดียว ดิฉันไม่แน่ใจว่าตอนนี้ กสทช. ได้มีการวาง กรอบระยะเวลาให้มีการประมูลใหม่แล้วหรือยัง เนื่องจากวงโคจรดาวเทียม ๑๑๙.๕ หรือดาวเทียมไทยคม ๔ กำลังจะหมดอายุในไม่ช้านี้ ซึ่งหากหมดอายุแล้วยังไม่ได้มี การต่อสัญญา อาจจะขาดความต่อเนื่องในการใช้บริการและอาจเสียโอกาสได้
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดิฉันมีคำถามว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กสทช. จะมีมาตรการหรือข้อเสนออย่างไรบ้าง ที่จะพัฒนากฎ ระเบียบด้านสารสนเทศให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีขึ้น อย่างรวดเร็ว นี่คือ ๖ ประเด็นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๓๐ ในเขตบางแคและเขตภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกล ในวันนี้ผมขออนุญาตอภิปราย รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ที่ทุกท่านเห็นอยู่ในหน้าจอ พาดหัวข่าวนะครับ ขอบคุณฐานเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาครับ อลังการงานสร้างอาคาร กสทช. แห่งใหม่ เป็น Complex ที่ตั้งใจว่าจะเสร็จในปี ๒๕๖๖ นี้ แต่ ณ วันนี้ครับท่านประธาน เรากำลังเข้าสู่เดือน ๙ ในวันพรุ่งนี้แล้ว ความคืบหน้าของโครงการยังไม่มีแนวโน้มว่า จะแล้วเสร็จแต่อย่างใด ที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ริมถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ใกล้ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ศูนย์ราชการนนทบุรี ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามว่าเมื่อโครงการนี้สร้างเสร็จแล้ว ท่านมีแผนอย่างไรกับสำนักงานปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ในซอย ๘ ถนนพหลโยธิน ในเขตพญาไท มูลค่าโครงการของโครงการนี้ ๒,๗๔๓ ล้านบาท ซึ่งตั้งงบในปี ๒๕๖๖ ไป ๒๗๐ ล้านบาท คงเหลือผูกพันในปี ๒๕๖๗ อยู่เพียง ๑๕๐ ล้านบาทเท่านั้น เหลือแค่ ๑๕๐ ล้านบาท จาก ๒,๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งโครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อเราดูรายละเอียดงบงานก่อสร้าง และงานออกแบบ จะแบ่งเป็นงานก่อสร้างและตกแต่งภายในอาคารสำนักงานแห่งใหม่ทั้งสิ้น ๒,๖๔๓ ล้านบาท และส่วนของงานจ้างผู้ควบคุมงาน ๙๗ ล้านบาท ซึ่งตั้งงบประมาณ ในปี ๒๕๖๖ ไปแล้ว ๑๑ ล้านบาท เป็นงวดสุดท้าย รวมถึงงานออกแบบเพิ่มเติม ๓ ล้านบาท ซึ่งได้เบิกไปเรียบร้อยเมื่อปี ๒๕๖๔ Slide ถัดไปเป็นภาพ ณ เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นปีที่ เดิมเรากำหนดให้สถานที่แห่งนี้ ที่ทำการ กสทช. แห่งใหม่สร้างเสร็จในปีนี้ ด้านหน้าโครงการนั้น ได้มีการปิดทับวันสิ้นสุดของโครงการไปเรียบร้อยแล้ว จึงอยากสอบถามท่านผู้ชี้แจงผ่านทาง ท่านประธานว่าจะมีแนวโน้มเปิดใช้โครงการนี้อย่างเต็มรูปแบบได้เมื่อไร ซึ่งผมคาดว่า ท่านเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ใน กสทช. เองซึ่งต้องย้ายมาทำงานที่นี่ ซึ่งค่อนข้างไกลจากที่เดิม ก็คงอยากจะทราบประเด็นนี้นะครับ รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจร ผ่านไปมาในบริเวณที่ก่อสร้างอยู่นะครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เมื่อเรามาดูราคากลางการจ้างงานในวงเงิน ๑๐๐ ล้านบาท เราจะเห็นว่า เป็นค่าจ้างควบคุมงาน ๗๙.๒๙ ล้านบาท ดังที่ Highlight อยู่เป็นสีเหลืองเอาไว้นะครับ ซึ่งจุดนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตในการประกาศผู้ชนะการเสนอราคางานก่อสร้างควบคุมงาน เรามี การคำนวณราคากลาง ณ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ๑ เดือนถัดมาประกาศงบประมาณ และโครงการ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒ และอีก ๑ เดือนถัดมา วันที่ ๑๑ เช่นกันเลย ระยะเวลา ห่างกัน ๑ เดือนพอดี ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ก็เป็นเวลาที่ห่างกัน ๑ เดือนพอดีในวันที่ ๑๑ เหมือนกัน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นระเบียบของ กสทช. เองในการจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นได้
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ในหน้าถัดไป คุณสมบัติด้านผลงานของผู้เสนอราคาจ้างก่อสร้างอาคาร กสทช. ในข้อ ๕.๒ มีกำหนดไว้ว่าโดยเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับส่วนราชการ หน่วยงาน ตามกฎหมายด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติ ในฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือที่ขีดเส้นใต้นะครับ หรือหน่วยงาน เอกชนที่สำนักงาน กสทช. เชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลงานได้จริง ซึ่งจุดนี้ก็ต้องตั้ง ข้อสังเกตอีกว่าเราเอาเกณฑ์อะไรเป็นตัวชี้วัด รวมถึงจะมีผู้รับเหมาหน้าใหม่เข้ามารับงาน กสทช. ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเราเชื่อมโยงเกี่ยวกับผู้รับงานการประกวดราคา เราขอ เชื่อมโยงมาที่สื่อในด้านของการทำสื่อ ประกวด จ้างผลิตสื่อองค์ความรู้เพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภคสื่อ ในข้อ ๑๑ บอกไว้ว่าต้องมีผลงานการผลิตสื่อประเภทเดียวกันกับงานที่จ้าง โดยมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๓๕๐,๐๐๐ บาท ดูเป็นวงเงินที่อาจจะเยอะสักเล็กน้อยสำหรับผู้ผลิต สื่อรายเล็ก แต่นั่นยังไม่เท่ากับการประกวดจ้างผลิตสื่อ Online ให้ความรู้ปัญหาหลอกลวง ทางอาชญากรรมเทคโนโลยีซึ่งกำลังเป็นประเด็น ในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนโดนหลอก เป็นจำนวนมาก ท่านได้กำหนดไว้ในการประกวดราคา ข้อ ๑๑ ว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงาน ประเภทผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อ Online โดยมีมูลค่าวงเงินไม่น้อยกว่า ๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท จุดนี้ก็จะเป็นวงเงินที่ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน ก็ขอตั้งคำถามครับว่าอยากให้ กสทช. มีการสนับสนุนสื่อรายเล็กให้เข้ามาผลิตผลงานสื่อมากกว่านี้
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ผมขอยกตัวอย่างจากของ กสทช. เป็น YouTube ใน Channel นี้ท่านมี การ Upload ผลงานให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย โดยขอ ชื่นชมครับ ท่านมีการนำ Influencer และมีการ Upload ทำเป็น Episode เป็นตอน ๆ ก็ทำให้ยอดผู้ติดตามอยู่ในระดับค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ อยู่ที่หลักหมื่นเลย โดยท่าน Upload ประมาณสัปดาห์ละ ๑ คลิป ซึ่งจุดนี้ก็ขอเสนอ กสทช. ผ่านทางท่านประธานไปครับ น่าจะเป็นข้อดีหากท่านได้นำผู้ผลิตสื่อรายเล็กมาอยู่ในกระบวนการผลิตได้มากขึ้น ทำให้ สามารถ Upload ผลงานต่าง ๆ เข้าสู่วงการให้พี่น้องประชาชนได้เห็น ได้ศึกษาหาความรู้ จากการป้องกันตัวเองจากการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มากขึ้น ขอฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ในการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และก่อให้เกิด การแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม โดยมีคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายและตัดสินใจในเรื่อง สำคัญ ๆ จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของ กสทช. ผมก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วน เกี่ยวข้องในส่วนที่ท่านได้ตั้งใจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ผมก็มีข้อกังวลกับการดำเนินการในองค์กรของท่าน หลาย ๆ ส่วนที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ซึ่งมีข่าวในเชิงลบอยู่บ่อยครั้ง และอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือขององค์กรต่อไปได้ โดยจากรายงานนี้ ผมมีข้อเสนอแนะและข้อคำถามผ่านท่านประธานไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ดังนี้
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้ กสทช. และรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาภายในองค์กร โดยเฉพาะ ความขัดแย้งใน Board ของ กสทช. และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อเดินหน้าสิ่งที่ เป็นประโยชน์ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป และขอให้มี กระบวนการในการคัดเลือกคณะกรรมการและเลขาธิการที่โปร่งใสและเป็นธรรม ผมคิดว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนกำลังเฝ้ามองอยู่
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้ กสทช. ได้ส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใสภายในองค์กร เปิดโอกาสและช่องทางให้องค์กร หน่วยงาน และภาคประชาสังคมเข้าไปตรวจสอบ และติดตามการทำงาน อีกทั้งควรจะสร้างกลไกภายในองค์กรเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์คุณธรรม จริยธรรมของบุคลากร ซึ่งล่าสุดก็มีข่าวการใช้งบไปต่างประเทศหลายล้านบาท ซึ่งข้อนี้ ผมก็อยากให้ชี้แจงประเด็นนี้ด้วยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อคำถามจากทาง ประชาชน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้ กสทช. ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมาก็มีข้อกังขาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ในบางประเด็น เช่น การควบรวมของ True กับ DTAC ประเด็นการนำเงินกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. ไปสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ๒๐๒๒ จำนวน ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าการใช้เงินของกองทุนนี้ควรจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของกองทุนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ นอกจากนี้ขณะนี้ก็มีประเด็นการพิจารณา การเข้าซื้อธุรกิจ 3BB ของ AIS ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ โดยประเด็นนี้ผมขอให้ทาง กสทช. ได้รับฟังความคิดเห็นของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็น ตัวแทนของภาคประชาชนที่มีความเป็นอิสระ และได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ประเด็นเหล่านี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. ขอให้ทาง กสทช. ดูแลและตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์ และ Internet ที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีแนวโน้มการควบรวม ของกิจการโทรคมนาคมได้สร้างความกังวลต่อค่าบริการ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะส่งเสริมให้ประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๕. ขอให้ กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับและควบคุมเนื้อหาทางสื่อ ช่องทาง Digital Platform หรือช่องทาง Online ควบคุมเนื้อหาที่มีความรุนแรงและมี การหลอกลวง
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๖. ขอให้ กสทช. เร่งแก้ไขปัญหาและทำให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยคุกคาม ทาง Cyber ทั้งแก๊ง Call Center และการโดนหลอกทาง Online ซึ่งกระทบต่อความมั่นคง ของรัฐ เศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ผมทราบดีว่าทาง กสทช. ก็ได้มี ความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ในหลากหลายวิธี เช่น การรณรงค์ การกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนบริเวณชายแดน การควบคุมเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น แต่ท่านประธานครับ ปัญหานี้ก็ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัจจุบันประชาชนโดนหลอกเป็นจำนวนมาก วิธีของแก๊ง หลอกลวงก็มีหลากหลายมากขึ้น ทั้งหลอกทางโทรศัพท์ ทาง Online และทาง SMS ซึ่งตอนนี้ก็มีการปลอมตัวเป็น กสทช. เองมาทวงเงินประชาชน ล่าสุดก็มีการปลอมเป็น รัฐบาลใหม่บอกว่าจะแจกเงินดิจิทัล ปลอมเป็นท่านนายกรัฐมนตรีขอยืมเงิน ๓๐๐ บาท และจะคืนให้เป็นเงินดิจิทัล เพิ่มไปอีกเป็น ๒๐,๐๐๐ บาท นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในขณะนี้ ผมจึงขอให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อน จริง ๆ ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีข่าวที่น่าสลดใจที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วนะครับ ก็คือพ่อ ได้สังหารครอบครัวหลังถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินหลายล้านบาท
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๗. ขอให้ กสทช. ได้เร่งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับประเทศ เพื่อนบ้าน หรือประเทศในกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือกำจัดแก๊ง Call center เพราะเราทราบดีว่ามีบัญชีม้าที่โอนต่อไปเป็นทอด ๆ โอนไปต่างประเทศ และการพัฒนา ระบบการสื่อสารร่วมกันในระดับนานาชาติ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๘. ขอให้ กสทช. ได้ให้ความรู้ประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้มีทักษะเรียนรู้ เท่าทันสื่อ หรือเราเรียกว่า Media Literacy ให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบ วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลบนโลก Online โดยปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นการหลอกลวง หรือ Fake News จำนวนมากครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๙. ขอให้ กสทช. ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบ ขจัดปัญหา สายสื่อสารรุงรังบดบังทัศนียภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและเป็นอันตรายต่อพี่น้อง ประชาชน และพิจารณาให้นำสายสื่อสารลงใต้ดิน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑๐. ขอให้ กสทช. เร่งพัฒนาการสร้างระบบเตือนภัยประชาชน หรือ Emergency Warning System ซึ่งต้องแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สาธารณภัยที่รวดเร็ว เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุเร่งด่วนนะครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ข้อเสนอแนะและข้อคำถามทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ สะท้อนมาจากความกังวลและปัญหาของพี่น้องประชาชน ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุด ต่อพี่น้องประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภคมน หนุนอนันต์ ครับ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาค่ะ ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันต้องขออภิปรายการดำเนินงานของ กสทช. โดยจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นต้นตอ ของปัญหางบประมาณมหาศาลที่ไม่โปร่งใส ทำไมดิฉันถึงตั้งหัวเรื่องแบบนี้ ขอ Slide ค่ะ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
จากรายงานในปี ๒๕๖๕ สำนักงาน กสทช. ตั้งงบประมาณ ๖,๗๖๕ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๖ ก็คือปีนี้ กสทช. ตั้งงบประมาณ ๖,๒๐๐ กว่าล้านบาท งบประมาณ กสทช. ในแต่ละปี จำนวน ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท เป็นงบประมาณที่มากกว่ากระทรวงหลายกระทรวงนะคะ แต่ก็ไม่มี แม้แต่บาทเดียวที่ผ่านการพิจารณาโดยองค์กรที่มาจากประชาชน
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แหล่งรายได้ กสทช. มาจากการเก็บสัมปทานคลื่นความถี่ แต่ กสทช. ไม่ใช่ ผู้หาเงินเองนะคะ แต่เป็นเหมือนหน่วยงานที่เก็บค่าต๋ง มีหน้าที่เก็บรายได้ค่าธรรมเนียม จากคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะ โดยมีประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของ เพื่อนำรายได้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ แต่จากผลการปฏิบัติงาน รายได้ของ กสทช. ปีละ ๔๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถูกนำไปใช้อย่างไร ตาม พ.ร.บ. กสทช. มาตรา ๖๕ เปิดช่องให้ กสทช. นำรายได้ที่จัดเก็บในแต่ละปีหักค่าใช้จ่ายก่อนแล้วนำส่งเป็นเงินแผ่นดิน ส่วนหนึ่งของ ค่าใช้จ่ายนี้ถูกจัดสรรเป็นค่าบุคลากร ก็คือค่าเงินเดือนของ กสทช. ทั้ง ๗ คนนี้ละค่ะ ใช้งบประมาณ ๒๘.๖ ล้านบาท ท่านประธานคะ ค่าใช้จ่ายของคน ๗ คน ใช้เงินประเทศปีละ ๒๘.๖ ล้านบาท การบริหารงานของ กสทช. ทำให้ดิฉันคิดว่านี่คือระบบเจ้าภาษีนายอากร ที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัย ร. ๕ ที่มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับอำนาจตามกฎหมายเข้าไปเก็บเกี่ยว ผลประโยชน์จากอะไรสักอย่างหนึ่งหลังจากหักเปอร์เซ็นต์ไว้กับตัวแล้ว แล้วค่อยส่งให้กับ รัฐบาล ท่านประธานคะ อำนาจที่เบ็ดเสร็จนำมาซึ่งความฉ้อฉลที่เบ็ดเสร็จ อำนาจการอนุมัติ งบประมาณที่เบ็ดเสร็จในตัวเองเปิดช่องให้ท่านใช้งบประมาณอย่างไรก็ได้ เราจึงได้ข่าวมา ตลอด กสทช. ทุกยุคทุกสมัยมันไม่โปร่งใส กรณีที่สังคมตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส คือการเดินทางไปต่างประเทศของประธาน กสทช. มีข่าวออกทั่วไปเลยว่า ๑ ปี ๓ เดือน ท่านเดินทางแล้ว ๑๕ ครั้ง ใช้งบ ๔๕.๘ ล้านบาท แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมนะคะ เพราะว่า ท่านก็ให้เลขาธิการออกมาชี้แจงแล้วว่าจริง ๆ แล้วค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่ ๔๕.๘ ล้านบาท ตามที่สื่อนำเสนอ แต่ใช้ไปแค่ ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้นค่ะ แต่ท่าน บอกว่าแค่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของประธานนะคะ ไม่ได้นับผู้ติดตาม ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส ดิฉันเรียกร้องให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศของสำนักงาน ทั้งหมดด้วยค่ะ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีก ๑ โครงการที่ดิฉันขอตั้งคำถามนะคะ การอนุมัติโครงการพัฒนาทักษะ สร้างความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ๕ ภูมิภาค งบประมาณ ๑.๗๙ พันล้านบาท โครงการนี้ทำอะไรคะ โครงการนี้จ่ายเงินจ้างบริษัทเอกชนในแต่ละภูมิภาคให้ไปอบรม ประชาชนชายขอบ ใช้เทคโนโลยีประมูลขายงานกันตามภูมิภาคต่าง ๆ สิ่งที่น่าสงสัยคือ งบ ๑,๘๐๐ ล้านบาท อบรมใช้เทคโนโลยีให้กับคนชายขอบช่วงเลือกตั้ง ท่านมีเป้าหมาย อะไรคะ กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรม ๕๐๐,๐๐๐ คน ตอนนี้อยู่ไหนหมด เขาใช้เทคโนโลยี เก่งขึ้นไหมคะ และมีข้อกล่าวหาจากสื่อว่าบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการล้วนมี ความใกล้ชิดกับกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลทั้งสิ้น โดยแต่ละรายที่ชนะการประมูลโครงการนี้แต่ละ Zone ต้องเจียดงบสนับสนุนพิเศษให้กับ พรรคการเมืองใหญ่เกือบ ๑๐๐ ล้านบาท ผ่านกระบวนการจัดสรรประโยชน์ที่มีผู้บริหาร ระดับสูงของ กสทช. แห่งนี้เป็นผู้ดำเนินการ อันนี้สื่อลงนะคะ ดิฉันไม่ได้พูดเอง แต่ก็ สอดคล้องกันค่ะ เมื่อคิดกลับไปแล้วการที่ กสทช. กระตือรือร้นเหลือเกินในการที่จะนำ งบประมาณของ กสทช. ไปทำฟุตบอลโลกสนองพระเดชพระคุณอดีตผู้มีบารมีในรัฐบาล ชุดที่แล้ว ดิฉันไม่ทราบว่าผู้บริหารระดับสูงท่านนั้นเป็นใคร ขอให้ท่านชี้แจงด้วยนะคะ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายค่ะ ดิฉันเป็นนักข่าวเก่า มีแหล่งข่าวให้ข้อมูลที่น่าสนใจมาว่า มีบริษัทหนึ่งชื่อทาลอนเน็ต มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ Board กสทช. และรับโครงการต่าง ๆ จาก กสทช. ดิฉันอยากทราบว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่ ก็เลยไปสืบค้นข้อมูล พบว่า บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด มีตัวตนอยู่จริงค่ะ ได้รับการประมูลงานจาก กสทช. จริงตามที่ แหล่งข่าวแจ้งมา โดยบริษัทประกอบกิจการซื้อขาย ติดตั้ง บำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ ออกแบบพัฒนา e-Commerce มีทุนจดทะเบียน ๕ ล้านบาท ข้อมูลการรับงานภาครัฐ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ มีการรับงานไปแล้ว ๓๕ โครงการ วงเงิน ๑๔๑ ล้านบาท ๒๑ จาก ๓๕ โครงการ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด ดังกล่าวโครงการเกือบทั้งหมดรับงานจาก กสทช. ที่เดียว ลองค้นข้อมูลแล้วก็ไม่พบ Website บริษัท เมื่อเปรียบเทียบรายได้บริษัทกับวงเงินจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด แทบจะเท่ากันพอดีค่ะ หรืออาจกล่าวได้ว่าบริษัทนี้มีรายได้ก้าวกระโดดทันทีตั้งแต่ระดับงาน กสทช. ในปี ๒๕๖๐ นี่คือที่ตั้งของ บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด จากฐานข้อมูลเราพบว่า บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด มีที่ตั้งอยู่ที่เขตสายไหม กรุงเทพมหานครนี่เองค่ะ ซึ่งเป็นที่ตั้ง เดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอมิตา การจัดหาน้ำประปาในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ดิฉันให้ ทีมลงไปสำรวจค่ะ พบว่าที่ตั้งบริษัทที่รับงาน กสทช. ปีละ ๓๐ กว่าล้านบาทนี้ สภาพจริง เป็น Townhouse ๑ คูหา ๓ ชั้นแบบนี้ และรูปนี้ก็ถ่ายเมื่อไม่กี่วันนี้เอง หน้าบริษัทก็มี ตากกางเกงอยู่ บริษัทนี้ยังคงดำเนินการอยู่และรับงาน กสทช. ปี ๒๕๖๖ นี้ด้วย เรื่องนี้ดิฉัน อยากให้มีการชี้แจงว่า กสทช. ใช้งบประมาณของรัฐปีละ ๒๓-๓๐ ล้านบาท จัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการแบบนี้ได้อย่างไร ข้อกล่าวหานี้มี กสทช. ท่านหนึ่งเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ ขอให้ ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบด้วยนะคะ ข้อมูลความไม่โปร่งใสทั้งหมดดิฉันอภิปรายมานี้ แสดงให้เห็นว่านี่เป็นสถานะองค์กรแบบพิเศษ ที่นำมาซึ่งอำนาจพิเศษ กสทช. ถูกแต่งตั้งโดย วุฒิสภาที่มาจาก คสช. ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณซึ่งมาจากทรัพยากรของประเทศที่มี ประชาชนเป็นเจ้าของปีละหลายหมื่นล้านบาท อยู่ในการบริหารของ กสทช. ถูกใช้อย่างไม่มี ประสิทธิภาพ ต้นตอของปัญหานี้ล้วนเกิดจากโครงสร้างอำนาจตามกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ ให้แก่รัฐราชการที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษโดยไร้การตรวจสอบ ในฐานะอดีตสื่อมวลชนนะคะ ดิฉันติดตามการทำงานของ กสทช. มาโดยตลอด ติดตามว่าเมื่อไรท่านจะทำตามแผนแม่บท ที่ให้ไว้คือการปฏิรูปสื่อที่ระบุไว้ในปี ๒๕๕๓ แต่เวลาล่วงเลยจนถึงบัดนี้ดิฉันคิดว่าการปฏิรูปสื่อ อาจจะไม่เร่งด่วนเท่ากับการปฏิรูป กสทช. ดิฉันขอเสนอความเห็นต่อสภาแห่งนี้ว่า กสทช. จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ ที่ไม่ให้อำนาจ กสทช. เป็นหน่วยงานที่ลอยเหนือการตรวจสอบ และของบประมาณจากสภา ต้องมีการเปลี่ยนที่มาของ Board ให้ยึดโยงกับประชาชน และถูกตรวจสอบจากองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้ได้ ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ที่ประชุมครับ เรามีแขกจาก Cheltenham Ladies’ College จากประเทศ สหรัฐอเมริกา รับชมอยู่ด้านบนนะครับ Very warm welcome ต่อไปเป็นท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๕ ประกอบด้วย อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตอภิปรายรายงานการปฏิบัติงานของ กสทช. ปี ๒๕๖๕ แต่ก่อนที่จะลง รายละเอียด ผมอาจจะมีความเห็นต่างแล้วก็อาจจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็น ข้อกฎหมายให้ท่านประธานทราบผ่านไปยังผู้มาชี้แจงของ กสทช. อยู่สักเล็กน้อย ข้อกฎหมาย ที่ผมอยากแสดงความเห็นก็คือรายงานที่ กสทช. มาสามารถแสดงต่อสภาของเราในวันนี้ อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๖๐ ถ้าไปดูข้อกฎหมายข้อนี้ การชี้แจง ต่อสภามันเป็นหลักการที่อยู่ในหมวด ๗ ก็คือความสัมพันธ์กับรัฐบาลและรัฐสภา นั่นก็คือ กสทช. มีหน้าที่ที่ต้องมาชี้แจงต่อสภา ส่วนหลักการชี้แจงการทำรายงานใน พ.ร.บ. องค์กร จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ รายละเอียดทั้งหมดของเล่มที่ กสทช. มาเสนอต่อสภานี้ วิธีการทำรายงานก็คือจะอยู่ในมาตรา ๗๖ จะมีรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากเรียนต่อท่านประธานสภาก็คือว่า พอเราลงรายละเอียดดู ในมาตรา ๗๖ แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าการดำเนินการที่เราพูดกันมาเกือบครึ่งวันนี้มันจะเป็นไป ตามมาตรา ๗๖ หรือไม่ อย่างไร เพราะอะไรครับ เพราะการรายงานของ กสทช. การจัดทำ รายงานก็ต้องจัดทำรายงานปฏิบัติงานประจำปี ขอใช้คำว่า ประจำปี แล้วก็ต้องเสนอต่อ รัฐสภาภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี แล้วก็ยังมีระบุอีกว่ารายงานการปฏิบัติงาน สิ่งที่ต้องดำเนินการมีทั้งหมด ๘ อนุมาตรา ๘ วงเล็บ สำคัญที่สุดใน (๒) แผนงาน โครงการ แผนงานประมาณที่จะต้องรายงานก็คือสำหรับปีถัดไป เรากำลังอยู่ในช่วงระยะเวลา ปี ๒๕๖๖ คำว่า แผนงานระยะเวลาปีถัดไป นั่นหมายความว่าระยะเวลาแผนงานของ กสทช. ที่ต้องดำเนินการในปี ๒๕๖๗ แต่รายงานที่เราพูดถึงก็คือมันตั้งแต่ปีโน้นแล้ว ปี ๒๕๖๕ แล้วก็ แผนงานที่ต้องปฏิบัติงานปีถัดไปที่ท่านกล่าวในรายงานก็คือของปี ๒๕๖๖ นั่นหมายความว่า ท่านดำเนินการไปหมดแล้วแต่สภายังไม่ทราบ จริง ๆ วันนี้ท่านต้องรายงานแผน การปฏิบัติงานของปี ๒๕๖๗ ถ้าเป็นไปตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ ท่านประธานครับ ผมก็เลยไม่ทราบว่ามันเป็นเพราะเหตุผลกลใดที่สภาของเรา ไม่รู้เลยว่าปี ๒๕๖๗ ที่จะมีการตั้งงบประมาณท่านมีแผนงานอย่างไร เรารู้ว่าปี ๒๕๖๖ คือแผนงานปี ๒๕๖๖ ซึ่งท่านปฏิบัติงานไปแล้วปี ๒๕๖๖ เหตุผลเหล่านี้ผมก็เลยอยากให้ ชี้แจงว่าเพราะเหตุผลใด มันเป็นเรื่องของสภาเรา หรือเป็นเรื่องที่ทาง กสทช. รายงานล่าช้า ท่านประธานครับ จะอย่างไรก็ตาม เมื่อทาง กสทช. มาชี้แจงแล้ว ตามอำนาจหน้าที่ ของ กสทช. ๑ ในนั้นก็คือเป็นเรื่องของการรับเรื่องร้องเรียน ผมก็เลยขอถือโอกาสนี้ว่า การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาคลื่นความถี่โทรคมนาคม ผมในฐานะเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายพื้นที่ของผมโดยเฉพาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ อำเภอบาเจาะ อยู่ใน Zone C ผมดูการดำเนินกิจการที่ท่านรายงานของปี ๒๕๖๕ การดำเนินการขยายตั้ง USO NET ท่านบอกว่าท่านดำเนินการ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ รับเรื่องร้องเรียนดำเนินการไป ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หมู่บ้านทั้งหมดในประเทศนี้มี ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ที่ท่านดำเนินการ ไปแล้วในปี ๒๕๖๕ ๑๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ผมก็เลยอยากเรียนถามท่านว่าขณะนี้ ในปี ๒๕๖๗ ปีนี้ปี ๒๕๖๖ ยังมีหมู่บ้านอีกกี่หมื่นหมู่บ้านที่ท่านยังไม่ดำเนินการ ผมเห็นด้วย กับโครงการนี้ครับ แล้วในปี ๒๕๖๗ ท่านคิดว่าท่านจะดำเนินการติดตั้งศูนย์ USO NET ใน Zone C อีกกี่หมื่นหมู่บ้านกว่าจะครบ ๗๕,๐๐๐ หมู่บ้านของประเทศนี้
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องร้องเรียนที่ผมลงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบที่อยู่ ตามภูเขาในเขตพื้นที่ผม อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ ตามเทือกเขาบูโด สัญญาณ Wi-Fi ที่มีการติดตั้งมันมีระยะที่รับสัญญาณเพียงไม่กี่เมตร ไม่กี่ร้อยเมตร ไม่กี่สิบเมตร ถ้าเลย ไปกว่านั้นก็ไม่สามารถใช้สัญญาณ Wi-Fi ได้ หลายพื้นที่ที่ผมลงพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี ในพื้นที่ยังไม่มีเยอะมากนะครับ ท่านลองไปตรวจสอบดูในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนราธิวาส อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ ปัญหามันมีครับ ตอนนี้ลูกหลานไปเรียนหนังสือ ที่กรุงเทพมหานคร พ่อแม่ก็ทำสวน ทำไร่ ช่วงนี้ต้องไปขึ้นทำสวนทุเรียน ลูกหลานเวลาพ่อแม่ ขึ้นไปที่สวนจะติดต่อพ่อติดต่อแม่ไม่ได้ หรือพ่อแม่มีเรื่องที่จะปรึกษาหารือกับลูกหรือแจ้งข่าว ให้ทราบว่ามีใครไม่สบายบ้าง ต้องกลับมาที่บ้านเพื่อสัญญาณ Wi-Fi อย่างเดียว ผมก็เลย อยากเรียนถามทาง กสทช. ให้ช่วยชี้แจงว่าท่านมีแผนประสานงานกับบริษัทเอกชนที่ใช้ ศูนย์บริการ ท่านมีแผนที่จะประสานงานกับการใช้เสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ที่ยังไม่มี เสาสัญญาณโทรศัพท์ คลื่นความถี่โทรศัพท์อย่างไรบ้าง เพราะมันจำเป็นจริง ๆ ในพื้นที่ นราธิวาสแถบเทือกเขานะครับ หลายหมู่บ้านยังใช้โทรศัพท์ติดต่อลูกหลานที่มาเรียน ที่ต่างจังหวัดไม่ได้ ต้องใช้สัญญาณ Wi-Fi อย่างเดียว เวลาพ่อแม่ขึ้นไปทำสวนลูกจะติดต่อ ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่ไปทำสวนก็โทรศัพท์ติดต่อไม่ได้ โทรศัพท์ไม่ติด บางครั้งมีเรื่องด่วนก็ยังทำ ไม่ได้ ผมก็เลยอยากเรียนถามท่านที่มาชี้แจงว่าตามบทบาทหน้าที่ของท่าน ผมร้องเรียนท่าน อย่างนี้นะครับ ท่านมีโครงการเป้าหมายนโยบายในการแก้ไขปัญหาเสาสัญญาณคลื่นความถี่ โทรศัพท์อย่างไรบ้าง ท่านจะไปประสานกับ AIS หรือ True หรือ DTAC ให้หัน Cell site ให้มีความถี่มากขึ้นหรือไม่ อย่างไร นี่คือปัญหาที่ผมอยากเรียนถึงความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชน ถึงท่านประธานผ่านไปยังผู้มาชี้แจงของ กสทช. ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เนื่องจากมีสมาชิกลงชื่ออภิปราย ๓๑ ท่าน แล้วก็มีประเด็นที่หลากหลาย และต้องการเวลาในการชี้แจง ผมจะให้ทาง กสทช. ได้ชี้แจงหลังจากท่านที่ ๑๖ ในรอบที่ ๑ แล้วก็จะเริ่มอภิปรายต่อ อีก ๒ ท่านนะครับ ท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เขตอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง วันนี้ผมขออภิปรายสอบถามทาง กสทช. ๒ ประเด็น ด้วยกัน
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
โดยประเด็นแรก ผมขอสอบถามความคืบหน้าในการดำเนินการการแจ้งเตือน ภัยพิบัติด้วยระบบ Cell Broadcast ระบบ Cell Broadcast คืออะไรครับ ระบบ Cell Broadcast คือระบบการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน โดยสามารถส่งเจาะจงเฉพาะพื้นที่ได้โดยอิงจากตำแหน่งเสาสัญญาณโทรศัพท์ ยกตัวอย่าง เช่น หากมีการคำนวณจัดระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนแล้วว่าจะมีน้ำท่วมในอำเภอสันป่าตอง เราก็สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ และพื้นที่ใกล้เคียงได้ ทีนี้มาในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ อ้างอิงจากสำนักข่าวหลายสำนักนะครับ รองเลขาธิการ กสทช. ขออนุญาตเอ่ยนามครับ คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ได้มีการชี้แจง กับสำนักข่าวว่าระบบ Cell Broadcast อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ว่าติดขัดอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นแรก คือการขาดงบประมาณ มาถึงคำถามแรกนะครับ ประเทศเราไม่มี งบประมาณที่จะส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนที่น้ำกำลังจะท่วมบ้านเลยหรือครับ ประเด็นที่ ๒ ทางเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่าผู้ประกอบกิจการบางรายไม่สามารถ Upgrade Hardware หรือ Software เพื่อที่จะรองรับระบบตรงนี้ได้
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
มาถึงประเด็นคำถามที่ ๒ เราไม่มีเงื่อนไขนี้ในใบอนุญาตประกอบกิจการ อยู่แล้วหรือครับ ทาง กสทช. ได้กำชับกับผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์อย่างชัดเจนว่าหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นให้แจ้งเตือนกับประชาชนตามประกาศ กสทช. อย่างชัดเจน ทำไมเราไม่สามารถใช้หลักการเดียวกันนี้ได้กับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ ยิ่งถ้าเกิด กสทช. แจ้งว่าขาดงบประมาณ เรายิ่งต้องใช้หลักการนี้ให้ผู้ประกอบ กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการเลยหรือเปล่า ทาง กสทช. ชี้แจงต่อว่า ระบบ Cell Broadcast จะพัฒนาเป็น ๒ Phase Phase แรก คือการส่ง SMS ทั่วไปที่จะแล้วเสร็จ ภายในสิ้นปี ๒๕๖๕ แต่ในต้นปีที่ผ่านมา ช่วงเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่ ค่า PM2.5 AQI พุ่งสูงกว่า ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ แทบจะทุกวัน พวกเราชาวเชียงใหม่ก็ไม่เคยได้รับ SMS แจ้งเตือนเลยแม้แต่ฉบับเดียว มาใน Phase ที่ ๒ ต่อครับ กสทช. แจ้งว่าระบบ Cell Broadcast จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีหน้า สิ้นปีหน้าของปีที่แล้วก็คือสิ้นปีนี้
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๓ เหลือเวลาอีกแค่ ๔ เดือน นั่นหมายความว่าประเทศไทยของเรา จะได้รับระบบ Cell Broadcast แจ้งเตือนภัยพิบัติเฉพาะกลุ่มพื้นที่แล้วใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบ คือไม่ ผมขอทราบเหตุผลและแนวทางที่ทาง กสทช. อยากให้สภาแห่งนี้ช่วยเหลือ เพราะนี่คือ ระบบพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ผมผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ในหนังสือเล่มนี้ไม่มีคำว่า Cell Broadcast เลยแม้แต่คำเดียว ซึ่งมันขัดกับคำชี้แจงของ กสทช. อย่างชัดเจน ผมอยาก ให้ทุกคนมองระบบนี้ให้มันกว้างขึ้น เพราะหากเราพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว มันไม่ได้แจ้ง เตือนจากภัยธรรมชาติอย่างเดียวนะครับ มันยังแจ้งเตือนภัยจากมนุษย์ได้ด้วย ภัยจากมนุษย์ มีอะไรบ้าง เหตุการณ์กราดยิง ถ้าเรามีระบบแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร เราจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้กี่ชีวิต แค่นี้ก็คุ้มค่าแล้วหรือเปล่า เอาใกล้ตัวอีกนิดหนึ่ง เหตุการณ์เด็กหาย หรือว่าพลัดหลงจากผู้ปกครอง ถ้าเรามีระบบแจ้งเตือนประชาชนในรัศมี ใกล้ ๆ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาแล้วก็ช่วยตามหาได้ มันจะดีไหมครับ ท่านประธานครับ ประชาชนชาวไทยได้รับ SMS หลอกลวงจากแก๊งต้มตุ๋นแทบทุกวัน แต่พวกเรากลับไม่เคย ได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติจากภาครัฐเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมในฐานะผู้ที่ลงพื้นที่ เห็นปัญหามาหลายปี และมายืนในวันนี้ในฐานะผู้แทนราษฎร การที่ต้องเจอกับปัญหา น้ำท่วมมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ มันเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เตรียมตัวเก็บของไม่ทัน บางคนหลับ ๆ อยู่ตื่นมาน้ำเต็มบ้าน บางคนโดนไฟดูดก็มี เพราะฉะนั้นต่างประเทศเขามี ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบนี้กันมานานแล้ว ทำไมประเทศเราถึงยังทำไม่ได้ ผมก็ขอ ฝากคำถามท่าน กสทช. ไปนะครับ
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เป็นประเด็นการจัดการสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ตรงนี้ผมขอ ไม่ลงรายละเอียดมากนักนะครับ เพราะว่าเพื่อนสมาชิกได้ลงรายละเอียดไปค่อนข้างเยอะ ผมขอยกตัวอย่างกรณีการร้องเรียนผ่าน LINE Official ของ กสทช. NBTC 1220 ผมได้ยื่น ร้องเรียนไปเมื่อเดือนมิถุนายนกับเรื่องของสายเคเบิล สาย Internet สายโทรศัพท์ที่มันรก รุงรัง ข้อมูลครบถ้วน ชื่อสกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ภาพแล้วก็พิกัด ของจุดเกิดเหตุ และจุดเกิดเหตุนั้นมันผิดต่อหลักเกณฑ์ของการไฟฟ้าอย่างชัดเจน ผ่านมาแล้ว ๓ เดือน ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ แจ้งไปกี่ครั้ง ตอบกลับมาเหมือนเดิมครับ อยู่ในระหว่างดำเนินงาน ผมขอเข้าคำถามเลยนะครับ ผมขอทราบอัตราความสำเร็จ และระยะเวลาเฉลี่ยในการดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียน โดย ๒ คำถามนี้ ผมขอแบ่งเป็น ๒ คำตอบ ในส่วนที่ ๑ จะเป็นในพื้นที่เฉพาะกรุงเทพมหานคร และในส่วนที่ ๒ จะเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด ผมขอเป็น ๒ คำตอบ เพราะผมเชื่อว่ามันมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน เพราะในแผนการจัด ระเบียบสายสื่อสาร กสทช. ปี ๒๕๖๕ แผนของ กทม. มันเป็น ๑ ใน ๓ ของทั้งหมด ในทั่วประเทศ ทีนี้พอเราพูดถึงแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร กสทช. ปี ๒๕๖๕ เรามาดู พื้นที่ตัวอย่างกัน ผมขอยกตัวอย่าง อำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในแผนนี้จะมีอยู่ ๒ โครงการด้วยกัน
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
โครงการแรก จะเริ่มต้นจากสถานีไฟฟ้าอำเภอสันป่าตอง ไปยังโรงเรียน สันป่าตอง (สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) OK ตรงนี้ผมเห็นด้วยเพราะว่าผ่านผังเมืองชุมชน ความหนาแน่นค่อนข้างสูง ตลาดสด โรงเรียน ร้านค้าจำนวนมาก แต่อีกโครงการหนึ่งครับ ท่านประธาน เริ่มต้นจากคลองชลประทาน ๑ ซ้าย ๒๓ ซ้าย ไปจนถึงสถานีไฟฟ้าสันป่าตอง ระยะทางเลียบถนนทางหลวง ๑๐๘ ๒.๒๓ กิโลเมตร ตรงนี้ถ้าเรามาดูในผังเมือง มันเป็น ผังเมืองประเภทอนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งแน่นอนปัญหาสายสื่อสารไม่ใช่ ปัญหาหลักในพื้นที่นี้เลย ผมจึงอยากถามว่าทาง กสทช. ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ เลือกโครงการเข้าไปในแผนนี้ เพราะหากเรากลับทิศนะครับท่านประธาน ๒.๒๓ กิโลเมตร ไปอีกทิศหนึ่ง ผังเมืองตรงนี้จะเป็นพื้นที่สีแดง ความหนาแน่นสูง โรงเรียนกว่า ๔ โรงเรียน บ้านจัดสรรเยอะมาก ตลาดสดขนาดใหญ่ ขนาดกลางเต็มไปหมด ทำไมเราถึงไม่เลือกพื้นที่ ตรงนี้ล่ะ ตอนแรกผมกังวลเลยว่าการเลือกพื้นที่แบบนี้จะทำให้เพื่อที่จะมีตัวเลขผลงาน ที่ดูดี แต่ทีนี้เรามาเปิดรายงานเล่มนี้กันต่อ รายงานเล่มนี้เขียนชัดเจนว่าผลการจัดระเบียบ ของสายสื่อสาร กสทช. ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด ในแผนนะครับ ๑,๕๑๐ กิโลเมตร แต่ทำ ได้จริงเพียง ๕๗ กิโลเมตร ไม่ถึง ๔ เปอร์เซ็นต์ มันเกิดอะไรขึ้นกับ กสทช. ครับ กสทช. จะทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารไปทำไม หากการดำเนินการจริงนั้นทำไม่ได้เลย วันนี้ ผมจึงขอฝากคำถาม กสทช. ไป ๓ หัวข้อด้วยกัน
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
๑. ก็คือความคืบหน้าของระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติในระบบ Cell Broadcast
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
๒. อัตราความสำเร็จและระยะเวลาเฉลี่ยในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของ กสทช. โดยแบ่งคำตอบเป็น ๒ พื้นที่ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
๓. หลักเกณฑ์ในการเลือกพื้นที่เข้าแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร และแนวทาง ในการแก้ไขผลการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ล้มเหลวในปี ๒๕๖๕ ขอบคุณท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน แล้วก็จะเป็นคิวของผู้ชี้แจงนะครับ เชิญครับ
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม กฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ก่อนอื่นก็ต้องชื่นชม คณะกรรมการ กสทช. ทำรายงานมาได้สวยหรู ผมยอมรับตรง ๆ ว่ารายงานที่ท่านทำมา ถ้าพิจารณาดูจากรายงานที่ท่านทำมานี่เคลิ้มครับ เคลิ้มกับสิ่งที่ท่านนำเสนอมา ในรอบปี ที่ผ่านมามีหลายอย่างที่ท่านได้จัดการมาดูแล้วมันน่าจะดี แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูแล้ว มันก็ย้อนแย้งกันอยู่ ผมเองรู้สึกว่า กสทช. เอง อย่างที่ผู้อภิปรายก่อนหน้านี้ท่านได้กล่าวไว้ ก็คือท่านเป็นผู้รับค่าต๋ง สมบัตินี้เป็นสมบัติชาติ ประชาชนทุกคนในประเทศนี้ควรได้รับ ประโยชน์จากการใช้คลื่น การใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างเต็มที่ แต่การที่มีผู้เข้ามาจัดการ บริหารองค์กรนี้และใช้เงินงบประมาณมากมายมหาศาล แต่สิ่งที่มันสัมฤทธิผล ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็สิ่งที่สูญเสียผมมองว่ามันยังย้อนแย้งกันอยู่ หลายสิ่งหลายอย่างครับ วันนี้ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศบ้านเรา เรายอมรับกันตรง ๆ เรื่องแก๊ง Call Center นี่คือปัญหาระดับชาติที่แก้ไม่หมดครับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง DE หรืออะไรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกสิ่งทุกอย่าง แต่หน้าที่หลักของ กสทช. ผมอยาก ทราบว่าทำไมปล่อยให้เกิดปัญหานี้มาส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม บ้านเมืองเรา อย่างมหาศาล หน้าที่ของท่านเป็นผู้กำกับดูแลหลายสิ่งหลายอย่าง เครื่องไม้เครื่องมือ ท่านมีเยอะแยะ บุคลากรก็มีเยอะแยะ แต่การแก้ปัญหานี้มันเหมือนไม่ค่อยได้รับการใส่ใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำหน้าที่ ผมดูจากงบการเงิน จริง ๆ ผมก็ไม่ค่อยอยากจะใส่ใจในเรื่องงบการเงิน ที่ท่านทำมา แต่ผมดูแล้วในงบการเงิน ค่าบุคลากรของ กสทช. ในปี ๆ หนึ่งมหาศาลนะครับ เกือบ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ผมไม่แน่ใจ ขออนุญาตดูนิดหนึ่ง เมื่อสักครู่ผมดูคร่าว ๆ ค่าบุคลากร ถ้าดูไม่ผิด ผมเห็นแล้วน่าตกใจครับ แต่กับสิ่งที่ท่านได้ทำมามันเป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่าทำไมถึงได้ ทำงานออกมาแล้วมันไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่จ่ายไป คือในงบการเงินของท่าน ค่าใช้จ่าย บุคลากรผมไม่แน่ใจว่ามีอะไรบ้าง แต่ว่ามีหมายเหตุข้อ ๓๘ บอกว่าประมาณ ๑,๙๐๐ ก็คือ ประมาณสัก ๒,๐๐๐ ตัวเลขกลม ๆ แต่ผมเข้าใจครับว่าองค์กรท่านใหญ่ ท่านอาจจะจัดการ ในเรื่องอื่น แต่ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งผู้อภิปรายหลายท่านก็ได้ลงรายละเอียดในเรื่องของ เสาโทรคมนาคมอะไรต่าง ๆ ลงไป แต่ผมมองว่าปัญหาสำคัญที่สุดวันนี้ที่กระทบต่อพี่น้อง ประชาชนในเรื่องของแก๊ง Call Center ครับ ท่านจะมีวิธีการไหนในการที่จะจัดการปัญหานี้ ทุกคนแม้กระทั่งผมเองก็เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่จะอ้างว่าปัญหามันเกิดมาจากประเทศข้างเคียง ที่เขามีการใช้ SIM แล้วก็โทรศัพท์เข้ามา แล้วก็มีวิธีการอะไรเยอะแยะ แต่ผมถามว่า เจ้าหน้าที่ กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลในส่วนนี้ไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะปกป้องไม่ให้มีการใช้ เครื่องมือสื่อสารหรือเครื่องโทรคมนาคมเข้ามาเป็นแก๊ง Call Center แล้วก็มาหลอกลวง เอาเงินพี่น้องประชาชนคนไทยของเราได้หรือครับ อันนี้ผมอยากฝากถาม เพราะเงินที่จ่ายไป ประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ค่าบุคลากร ผมเชื่อว่าถ้าท่านจะจัดสรรเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน ที่จะทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในประเด็นต่อมา เงิน ผมดูจากนี้แล้ว อันนี้เฉพาะค่าใช้จ่ายรายปี ของปี ๒๕๖๕ แต่ยังมีเงินสำหรับสวัสดิการที่อยู่อาศัยอีกประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท อันนี้ ผมเข้าใจครับ เราเป็นพนักงาน เราอาจจะต้องจัดสรรสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้มีที่อยู่อาศัย ผมเห็นด้วย ผมไม่ได้ติดใจ แต่ผมมองว่าสิ่งที่ กสทช. กันเงินไปเป็นค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับบุคลากรมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นงานที่จะต้องให้มันสัมฤทธิผลควรจะมี มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นในส่วนหนึ่งที่ผมชื่นชมก็คือว่าในส่วนของ Internet เท่าที่ผมดู แผนคร่าว ๆ จุดยุทธศาสตร์ของท่านอะไรต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นก็คือว่าเรื่อง Internet ผมอยากให้ส่งเสริม ในท้องถิ่นทุรกันดาร Internet มีความสำคัญ ปัจจุบันโลกมันก้าวไปไกล เพราะฉะนั้นในสิ่งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารที่ไร้พรมแดน แล้วก็ให้บุคลากรหรือคน ในชาติของเราได้เข้าถึงการศึกษาผ่านระบบ Internet ต่าง ๆ เหล่านี้ผมอยากให้เน้นย้ำ เพราะว่าถ้าเกิดพี่น้องประชาชนได้รับโอกาสในสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะมีโอกาสในการที่จะเรียนรู้ แล้วก็จะรู้เท่าทันสังคมที่มันผันแปรไป เพราะฉะนั้นในสิ่งสำคัญ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมอยากให้ ท่านส่งเสริมในเรื่องของ Internet ในขอบชายแดน หรืออะไรที่อยู่ถิ่นทุรกันดารห่างไกล ก็ตาม อันนี้ฝากไปด้วย และที่สำคัญ ในส่วนของค่าเงินอะไรต่าง ๆ ผมคงไม่ติดใจ แต่ว่า เอาไว้ปีหน้าถ้าท่านมารายงานอีกผมคงจะมีเวลาและมีโอกาสได้เจาะรายละเอียดลงไป มากกว่านี้ในเรื่องของงบการเงินที่ท่านทำมา ในเรื่องของยุทธศาสตร์ที่ท่านทำมาก็ดูสวยหรูดี ก็ยอมรับ ขอชื่นชมว่าท่านทำมาดี แต่ว่ามันยังมีข้อบกพร่องอยู่ อย่างไรฝากไว้ว่าในเรื่องของ แก๊ง Call Center เป็นปัญหาระดับชาติที่ผมมองว่ามันควรจะแก้อันดับแรก ฝากท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงให้ช่วยจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญทางผู้ชี้แจงตอบคำถามในรอบที่ ๑ ครับ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรตินะครับ ก็ขอบพระคุณสำหรับคำอภิปรายทั้งหมดทั้งหลาย ผมขอชี้แจงในส่วนของประธาน กสทช. แล้วที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของสำนักงาน กสทช.
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
สำหรับเรื่องการปลดรักษาการเลขาธิการ และการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ ผมเรียนสั้น ๆ ว่าผมปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าให้ประธาน กรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. เรื่องมติของ กสทช. มติ กสทช. ยังไม่ใช่กฎหมาย มติบางอย่างของ กสทช. ถ้าไม่ชอบ ด้วยกฎหมายก็นำไปปฏิบัติหรือลงนามในคำสั่งไม่ได้ มติ กสทช. บางอย่างที่ทำไปก็ถูก ศาลปกครองตีตกมาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือการควบรวมธุรกิจ ผมเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ ท่านประธาน การควบรวมธุรกิจนั้นอำนาจ กสทช. ในมาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. องค์กรนั้น ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการอนุญาตการควบรวมธุรกิจ แต่ประกาศการควบรวมธุรกิจนั้น ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด เพราะฉะนั้นอำนาจ ในการอนุญาตนั้นไม่มีใน กสทช.
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องความขัดแย้งใน Board กสทช. ซึ่งมองแล้วก็เรียนให้ทราบว่า มันเป็นความเห็นไม่ตรงกันในการตีความในทางกฎหมายที่เราใช้กันใน กสทช. มากกว่า เป็นความขัดแย้งส่วนตัว เรื่อง Digital TV และแผนแม่บทในวันข้างหน้า ผมเรียนตรง ๆ ว่า Digital TV ที่ล้มเหลวมาเพราะว่าเราคาดเดาไม่ถูก แล้ว ๕ ปีข้างหน้าเทคโนโลยีเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน ไม่ใช่คิดไม่ออก คิดแล้วว่าแผน มีอะไรบ้าง ว่าจะต้องเอาคลื่นมาประมูลอย่างไร แต่ถึงเวลานั้นจริง ๆ พฤติกรรมและเทคโนโลยี เปลี่ยนไป แผนก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปอีกนะครับ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องสุดท้าย คือเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผมจะขอให้ทางฝ่าย สำนักงานและฝ่ายงบประมาณ ซึ่งดูแลภาระงานของผมในฐานะประธานในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ผ่านมาเป็นผู้ชี้แจง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีต ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านผู้ชี้แจงต่อไปเลยครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ขออนุญาต เรียนชี้แจงเป็นภาพรวมทั้งหมดเป็นข้อ ๆ ส่วนเรื่องของเทคโนโลยี 5G การเข้าถึง Internet หรือว่า Cell Broadcast และแม้กระทั่งสายสื่อสาร เดี๋ยวขออนุญาตให้ท่านรองเลขาธิการ สุทธิศักดิ์ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมเป็นผู้ชี้แจง ส่วนการประมูล TV แล้วคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร อันนี้เดี๋ยวขออนุญาตให้ท่านผู้ช่วยเลขาธิการมณีรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ช่วย เลขาธิการสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เป็นผู้ชี้แจง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ที่อยากจะเรียนชี้แจงนะครับ คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่าย งบประมาณ ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณของเรา เราปฏิบัติตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ประจำปี ๒๕๕๓ และที่แก้ไขนะครับ ในมาตรา ๕๗ วรรคสอง ระบุว่าการทำ งบประมาณของเรา ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ งบประมาณของเราเป็นปีปฏิทิน คือเริ่มวันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ทำงบประมาณเสร็จเราจะต้องส่งให้คณะกรรมการ DE ซึ่งงบประมาณของเราไม่ได้เข้าสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากว่าเราไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดิน เรามีรายได้ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราก็ให้คณะกรรมการ DE ซึ่งเป็นผู้กำกับเทคโนโลยี ของประเทศช่วยกันดูแล้วก็ให้ความเห็นชอบว่าสิ่งที่เราจัดตั้งไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เหมาะสม หรือไม่ ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หรืออย่างที่ท่านอนุมัติแล้วเราถึงจะกลับมา ใช้งบประมาณปีนั้น ๆ นะครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ตอบข้อถามที่ว่าทำไมถึงไม่มีรายงานแผนการใช้เงินปี ๒๕๖๗ เนื่องจากว่า อย่างที่ผมเรียนนะครับว่าเราเป็นปีปฏิทิน เพราะฉะนั้นอย่างเช่นปีนี้เราใช้ปี ๒๕๖๖ อยู่ แต่การตั้งงบประมาณซึ่งเราจะต้องส่งไปให้คณะกรรมการ DE ช่วงเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน ก็จะเป็นของปี ๒๕๖๗ เพราะฉะนั้นรายงานปี ๒๕๖๕ จึงไม่มีแผนงาน ของปี ๒๕๖๗
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
สำหรับเรื่อง USO ผมขออนุญาตเล่าอย่างนี้นะครับ USO มีทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน แล้วก็เป็นหมู่บ้านที่ต้องการความช่วยเหลือประมาณ ๔๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ซึ่งเราก็ได้ประสานกับทาง DE ว่าเราทำ ๒๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน แล้ว DE ทำ ๔๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าเหลืออีกประมาณไม่ถึง ๑,๐๐๐ หมู่บ้าน ก็จะครบถ้วน ส่วนจุดเสริมที่เรากำลังทำ ที่มีสมาชิกท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าจุดบอดต่าง ๆ ไม่ ว่าจะเป็นทาง ๓ จังหวัดภาคใต้หรืออะไร เราก็จะดำเนินการเสริมเติมเพิ่มเติมเข้าไปให้ในปีนี้ USO นี่ Speed เดิม ความเร็วในการใช้ของ Wi-Fi ประมาณที่ ๓๐ ก็คือ Download 30 Upload 10 แต่ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๖ นี้เราได้ปฏิบัติเป็น ๑๐๐/๑๐๐ หมดแล้ว เพราะฉะนั้น Speed ก็จะดีขึ้น ส่วนศูนย์ USO NET หรือว่า USO Wrap ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ ของโรงเรียน โรงพยาบาล อันนี้เราก็เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ช่วงเวลา ๘ โมงครึ่ง ถึง ๔ โมง ครึ่ง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ทางด้าน Call Center นะครับ Call Center ผมเรียนอย่างนี้ครับ เราได้ บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองบัญชาการ สอท. หรือว่าจะเป็น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมี ปอท. ก็คืออาชญาเทคโนโลยีอยู่ มีแบงก์ชาติ แล้วก็มีกระทรวง DE เราบูรณาการกัน เราได้ทำข้อจำกัดในการใช้ SIM ทุกวันนี้ ก็คือ ๑. ประชาชนจะซื้อ SIM ตามลูกตู้ได้ที่ ๕ SIM เกินกว่า ๕ SIM คุณต้องมารายงานตัวที่ศูนย์ ของ Operator เขา และตอนนี้เรากำลังทำประกาศว่าผู้ที่มี SIM หลาย ๆ SIM จะต้องมา รายงานตัวใหม่ แล้วก็จะต้องตอบคำถาม หรือชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีหลาย ๆ SIM หลังจากนั้นเราก็มีการป้องกันทางด้าน ๑. เบอร์ที่เป็นเบอร์ ๓ หลัก ๔ หลัก ที่ไม่ใช่เบอร์ ถูกกฎหมายแน่นอน อันนี้เราก็ระงับ เบอร์ที่โทรศัพท์มาผ่าน VoIP หรือทาง Net Internet Protocol เราก็มีการ +๖๙๗ เข้าไปให้ประชาชนได้รับทราบ ส่วนเบอร์ที่ Roaming มาจากเบอร์ SIM Card จริง ๆ ก็จะเป็น +๖๙๘ ตามตะเข็บชายแดนที่ได้ออกไป ตรวจร่วมกับตำรวจและทางผู้บัญชาของผม เราจะเห็นว่าปัญหาก็คือเสาโทรคมนาคมซึ่งมี เสาที่ถูกต้องตามกฎหมายของที่ Operator เขามาขอการใช้เสา แต่ว่ามีการหันสัญญาณ เข้าไปทางต่างประเทศคือประเทศชายแดนรอบข้าง เราได้มีการให้เขาปรับสัญญาณลง ให้เหมาะสมแล้วก็หันกลับเข้ามาในประเทศ เพราะว่าใบอนุญาตเราให้ใช้ได้แค่ภายใน ประเทศ ซึ่งจากการปรับสัญญาณลง หรือว่าการนำอุปกรณ์ลง จะต้องไม่กระทบกับคนดี ๆ บริเวณนั้น
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนเสาเถื่อนซึ่งเมื่อเราเพิ่งไปจับมาเมื่อไม่นานนี้เมื่อเดือนที่แล้วก็ได้มีการเอา เสาเถื่อนลงแล้ว มีประชาชนบางกลุ่มใช้ Wi-Fi ที่เป็นขนาดใหญ่ ยิงจากทางฝั่งเราเข้าไป ทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอันนี้เราเห็นว่าเป็นเสาเถื่อนเราได้ดำเนินการเอาลงแล้วนะครับ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราร่วมกันกับทุกหน่วยงาน ถ้าเป็นเบอร์ที่โทรศัพท์มาหลอกโดยตรง หรือว่าเป็น SMS ที่เป็นใน Blacklist SMS Blacklist ทาง Operator เขาจะระงับอยู่แล้ว ส่วนเบอร์โทรศัพท์ที่ตำรวจแจ้งเรามาว่าเป็นเบอร์ที่หลอกลวงแน่นอน เป็น Call Center แน่นอน อันนี้เราก็ระงับการใช้เลยนะครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องถัดไปเป็นเรื่องของกองทุน กองทุนเราคือตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเงินวิจัย และพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เราทำตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕๒ ทุกวงเล็บ การจัดสรร งบประมาณกองทุนเข้าไปก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ส่วนราชการที่ได้รับเงินกองทุนไป ตั้งแต่แรกอยู่ในโครงการสนับสนุนภาครัฐ ปี ๒๕๖๒ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้มีการตั้งงบส่วนนี้แล้ว สำหรับรายการทีมีท่าน สส. เอ่ยชื่อรายการมา ๒-๓ รายการนั้นก็เป็นการสนับสนุนผู้ผลิต รายการเจ้าเล็ก ๆ เพราะว่ารายการเด็กปัจจุบันนี้มีการผลิตออกมาน้อยมาก ถ้าสังเกตตาม TV Digital รายการเด็กจะน้อยมาก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการท่านคิดก็คือว่าเรา ควรจะสนับสนุนรายการ TV เกี่ยวกับเด็กให้เยอะขึ้น แล้วก็เป็นการสนับสนุนผู้ผลิตรายการ เจ้าเล็ก ๆ ด้วย
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องอาคารสำนักงานใหม่นะครับ อาคารสำนักงานใหม่เนื่องจากว่าเกิดภาวะ COVID-19 เราทำให้แผนการของเราเลื่อน Slip ออกมา ขณะนี้ผมได้หารือกับทาง ท่านประธานแล้วก็คือว่าเราอาจจะต้องมีการระงับการก่อสร้างก่อน หลังจากระงับแล้ว เราจะตรวจดูว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วถึงจะค่อยดำเนินการต่อไปนะครับ เพราะว่าสิ่งที่เราวางแผนไว้ เนื่องจากโดน COVID-19 มา ๒-๓ ปี ทำให้แผนเราเลื่อนไปหมด ส่วนที่ถามว่าถ้าไปอยู่ที่ทำงานใหม่แล้ว ที่ทำงานเก่าปัจจุบันนี้ทำอะไร ก็ยังมีหน่วยงานอยู่ เพราะเนื่องจากว่าปัจจุบันนี้เรามีการเช่าตึกข้างนอกอยู่ ๓-๔ ตึก เพราะฉะนั้นก็จะมีกลุ่มที่ ๓-๔ ตึก ก็คงต้องจัด Location ใหม่ว่ามีบางส่วนต้องไปทำที่สำนักงานใหญ่ ก็คือที่นนทบุรี บางส่วนก็มาทำที่สายลมเหมือนเดิมนะครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องการใช้เทคโนโลยี 5G แล้วก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Cell Broadcast ผมจะให้ท่านรองเลขาธิการสุทธิศักดิ์นะครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ขออนุญาตตอบอีกเรื่องหนึ่งนะครับ เรื่องต่างประเทศ ผมขออนุญาตเรียน อย่างนี้ครับ การเดินทางต่างประเทศของท่านประธานและคณะกรรมการทุกท่าน เป็นไป ตามที่ประเทศไทยได้รับมอบหมาย ผมต้องขอเรียนอย่างนี้ว่าอย่างปีที่ท่านประธานเข้ามา เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ เป็นช่วงที่สำนักงาน กสทช. ได้รับอนุมัติมอบหมายจาก ครม. มาว่าให้ออกหาเสียงเพื่อที่จะรับสมัครเป็นกรรมการสภาบริหารของ ITU ซึ่งท่านประธาน ในฐานะประธาน กสทช. ก็เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย การหาเสียงช่วงนั้นก็ได้ออกหาเสียง ตามแผนที่เราวางไว้ เพราะว่าประเทศไทยเราเป็นสมาชิก ITU มา ๑๐๐ กว่าปี แล้วก็ได้เป็น สภาบริหารทุกครั้ง แต่ก่อนเดิมเป็นกรมไปรษณีย์ทำ แล้วมาเป็นกระทรวง DE ปีนี้เป็นปีแรก เป็นครั้งแรกที่ กสทช. ได้รับมอบหมายงานนี้ ก็ต้องทำให้เต็มที่ ก็ออกไปตามที่ ITU เขาเชิญ ว่ามีการประชุม ITU ที่เป็นทางการ เนื่องจากว่าระยะ ๒-๓ ปีก่อนหน้านี้มี COVID-19 ไม่สามารถที่จะเดินทางได้ พอเริ่มเดินทางได้ ITU เขาก็จัด ประกอบกับท่านประธาน และคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งชุด ไม่เคยเข้าสู่วงการโทรคมนาคมมาก่อน ทางต่างประเทศ ก็อยากจะรู้จัก อยากจะอะไร แล้วท่านในฐานะผู้แทนประเทศไทยอย่างเป็นทางการก็ต้อง ร่วมเดินทางไปประชุม เพราะฉะนั้นการประชุมก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ค่าใช้จ่ายของท่าน ก็เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาที่ทางรัฐบาลได้ออกไว้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการเบิกจ่าย นอกเหนือจากสิทธิของท่าน ซ้ำท่านยังจะเดินทางต่ำกว่าสิทธิด้วยนะครับ แล้วก็ค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ ภาพรวมของทั้งสำนักงาน เดินทางไปต่างประเทศนะครับ เราก็ตั้งเท่ากับงบประมาณ ก่อน COVID-19 หรือช่วง COVID-19 เราเคยได้เท่าไรเราก็ตั้งแค่นั้น เราไม่เคยมีการขอเพิ่ม ส่วนช่วง COVID-19 ก็เป็นช่วงที่ลดลงตามปกติเพราะว่าห้ามเดินทาง ผมขออนุญาต กราบเรียนเท่านี้ก่อนนะครับ
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรตินะครับ ต่อข้อซักถามหรือประเด็น ข้อสังเกตต่าง ๆ จากสภา ผมขอใช้สิทธิพาดพิงก่อน เหมือนกับผมเป็นฝ่ายค้านอย่างไร ไม่ทราบนะครับ
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ผมขอตอบคุณภัทรพงศ์ก่อนในประเด็นที่พาดพิงในเรื่อง Cell Broadcast จริง ๆ เรามีการศึกษา เรามีคณะทำงานที่ทำร่วมกัน เราเห็นประโยชน์ของประชาชนที่จะ ได้รับ แต่ด้วยข้อจำกัดบางข้อจำกัดที่เราทำ อย่างเช่นที่เราบอกว่างบประมาณไม่มี อันนี้ไม่ใช่ ว่าไม่มีนะครับ แต่งบประมาณ ณ วันนั้นเราก็ต้องมีการจัดหางบประมาณเพื่อที่จะทำ Cell Broadcast เรียนตามตรงว่า Cell Broadcast มันมี ๒ ส่วนด้วยกัน คือ ๑. ผู้ประกอบการ ต้องทำ กับ ๒. ตัวต้นทางในการส่งข้อความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อำนาจไม่ได้อยู่ที่ กสทช. ในการส่งนะครับ ท่านอาจจะเข้าใจผิด ในการบูรณาการทำ Cell Broadcast มี 3-4 Party ด้วยกัน หน่วยงานที่เป็นคนส่งข้อมูลที่จะเตือนภัย มีตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานตำรวจแห่งชาติ ซี่งในต่างประเทศเขาก็ต้องมีการมา คุยกันก่อนว่า Level ไหนควรจะต้องเตือนในระดับไหน ไม่ใช่เห็นปุ๊บเตือน กลายเป็น สร้างความวุ่นวายให้กับสังคมไปเลย ประชาชนแทนที่จะได้ประโยชน์ กลับไม่ได้ประโยชน์ เราก็ต้องมีการคุยในคณะทำงานของเราตรงนี้ก่อนเพื่อ Setup ในเรื่องของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ที่เกิดขึ้น งบประมาณเป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามจะตั้งงบประมาณเพื่อจัดสรรโดยใช้เงิน ทาง Board ก็มีนโยบายออกมาว่าควรจะต้องใช้งบประมาณในส่วนของทาง USO กองทุน ของเราในการช่วยดำเนินการสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งก็น่าจะมี ผมเชื่อได้ว่ามีในส่วนตรงนี้
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ลำดับที่ ๒ ที่ท่านถามว่าผู้ประกอบการทำไมไม่มีโครงข่ายตัวนี้หรือ ทำไม ไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือ เราใส่ในเงื่อนไขที่เขาต้องแจ้งใน SMS อยู่แล้ว แต่ Cell Broadcast มันเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพิ่งมาในระดับ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเรามีตั้งแต่ Network 2G 3G 4G แล้วก็ 5G ใน 1G 2G ไม่มีแน่ในระบบ Cell Broadcast ที่สามารถ ทำได้ 3G บางรายก็ยังทำไม่ได้ 4G ก็ยังมี Vendor ที่ยังต้องไป Upgrade ต้องมีการทำข้อมูล หรือลงทุนในเรื่อง Upgrade Software ทำการพัฒนา Software เพื่อให้ส่งในทิศทาง เดียวกันได้ อันนี้ก็จะเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เราทำกันอยู่ ถามว่าแล้วเราทำอย่างไร เราแก้เป็น ๒ เฟส อย่างที่ผมพูด ที่ท่านเข้าใจถูกแล้ว Phase แรกที่จะทำให้คือ เป็น SMS ก่อน ซึ่งเราทำกันอยู่ ปัจจุบันก็มีการส่งอยู่ แต่เราไม่สามารถที่จะเป็นคนส่งได้ ท่านอาจจะต้อง ร้องไปที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการที่จะมีการเตือนภัยในเรื่องต่าง ๆ กรมควบคุมมลพิษก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ เรามีการพูดคุยตั้งหลากหลายใน Party ที่เกิดขึ้น มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดทุกคนคิดเหมือนกันหมด ผมก็พยายามที่จะคิดเพื่อให้ประโยชน์กับ ประเทศชาติ ประชาชน ไม่แพ้ท่าน เราก็พยายามที่จะสร้างระบบโทรคมนาคมไปสนับสนุน ไป Support ให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ อันนี้ผมรับข้อสังเกต ของท่านมา และผมคิดว่าคงจะดำเนินการทำต่อนะครับ
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ต่อข้อซักถามที่ ๒ ในเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ว่าท่านว่ามีเงื่อนไข เรื่องพื้นที่อย่างไร ความสำเร็จเป็นอย่างไร แล้วก็แผนงานล่าช้า ในหลาย ๆ คนก็ถามมา ในเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ต้องเรียนตามตรงครับว่า การจัดระเบียบสายสื่อสาร มันไม่ได้ง่ายอย่างที่พวกเราเข้าใจ เราคิดว่าตื่นขึ้นมาพรุ่งนี้เช้าถ้าจัดระเบียบสายสื่อสารแล้ว เอาสายลงเสร็จแล้วจบ พรุ่งนี้เอาสายใหม่ขึ้น มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด ผมจะอธิบายให้ท่าน เข้าใจว่ามันเริ่มตั้งแต่ ๑. เราต้องเอาสายใหม่ขึ้นก่อน แล้วก็มีการตัดถ่ายสัญญาณเข้าบ้าน ให้กับประชาชนใหม่ก่อนถึงจะรื้อถอนสายเดิมได้ ข้อจำกัดก็คือว่า ๑. เราต้องมี Party ตั้งแต่ กับการไฟฟ้า กับหน่วยงานท้องถิ่น ท่านเชื่อไหมว่าการทำงานของเรา เราไม่ได้เป็นคนทำ คนเดียวนะครับ Party ที่เราต้องไปทำ ก็คือการไฟฟ้าก็ต้องเป็นเจ้าของเสา ท่านก็ต้องไปดู ความเรียบร้อยของเสาว่าขึ้นสายใหม่เป็นไปตามมาตรฐานจริงหรือเปล่า เพราะว่าถ้าติดผิด มันก็จะส่งผลต่อเสาที่มันมีการเอนได้ โคลงได้ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเราไม่ได้ทำงาน ได้ทั้งวันนะครับ คือทำงานได้เฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่เกิดขึ้นเท่านั้น ในการตัดถ่าย Traffic เองเราก็ไม่กล้าที่จะทำในวันที่มีประชาชนอยู่เยอะ ๆ หรือเวลาเร่งด่วน เพราะว่า อะไร ถ้าประชาชนใช้งานไม่ได้ในบริเวณนั้น ก็จะเกิดเรื่องร้องเรียนเข้ามาอีกว่าแล้วใครไปสั่ง ทำตรงนี้ ใครไปสั่งทำตรงนั้น มันก็จะเป็นปัญหาอยู่ คนที่ทำงานจริง ๆ ทำงานได้ตั้งแต่ ช่วงประมาณตี ๒ ถึงตี ๕ เท่านั้นเอง เพราะ ๖ โมงก็ต้องเก็บของแล้ว เพราะว่าจราจรก็ต้อง คนทำงานอีก อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามจะให้เข้าใจว่าการจัดระเบียบสายสื่อสาร ไม่ได้แค่คิด แต่ถามว่ามันล่าช้ากว่าแผนจริงหรือไม่ จริง ตรงนี้เรายอมรับ เราจะเร่ง Speed ตรงนี้ให้ ซึ่งเราก็มีการคุยกับทางหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานท้องถิ่นใน กทม. เอง หรือ อบต. อบจ. เองที่ในต่างจังหวัด ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณ ที่ว่าให้ข้อมูลตรงนี้ โดยเฉพาะท่านที่อยู่เชียงใหม่ คุณเอกราชใช่ไหมครับ เขตดอนเมือง ที่พูด ในเรื่องของสายสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดผมเชื่อได้ว่าในอนาคตข้างหน้าถ้าเราจะเลือกพื้นที่ เราจะลงพื้นที่ เราเลือกจากอะไร เราเลือกโดยมีการประชุมคุยกับท้องถิ่น มีคุยกับการไฟฟ้าว่า เสาต้นนั้นบริเวณไหนที่ว่ามีจุดวิกฤติหรือไม่ อย่างไร จุดวิกฤตินี่หมายถึงอะไร หมายถึงว่า เส้นทางตรงนั้นจะมีสายค่อนข้างเยอะ ทางการไฟฟ้าก็จะบอกว่าควรจะมาจัดระเบียบ สายสื่อสารตรงนี้ เราก็จะคุยกับ อบต. อบจ. หน่วยงานท้องถิ่นขึ้นมาว่าสามารถที่จะ ดำเนินการได้หรือไม่ ถ้าได้เราถึงจะกำหนดเป็นแผนร่วมกัน แต่ในวันข้างหน้าผมเชื่อได้ว่า ถ้าท่าน สส. ที่ดูแลพื้นที่ท่านอยากเข้ามาอยู่ในองค์ประกอบนี้ผมยินดีนะครับ อย่างเช่น ท่านเอกราช ท่านภัทรพงษ์เอง ถ้าอยากจะทำร่วมกับผม หรือเรามาลงพื้นที่ด้วยกัน ผมว่า ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่ตอบสนองพี่น้องประชาชนได้นะครับ อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการจัด ระเบียบสายสื่อสารที่ผมอยากจะชี้แจงนิดหนึ่ง
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ต่อข้อหารือในเรื่องของ Call Center ผมก็ต้องอธิบายนิดหนึ่งว่าตอนนี้ เหมือนกับทาง กสทช. เป็นจำเลยหลักเลย จริง ๆ เราอยากจะให้แยกนิดหนึ่งว่าสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ออกใบอนุญาตสร้างโครงข่าย Internet ก็เหมือนกับถนนหนทาง รถที่มาวิ่งอยู่ บนถนนหนทาง หรือคนที่มาใช้ถนนเหล่านี้มันก็มีตั้งแต่ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ป้ายทะเบียน ผิด ไม่ผิด ก็เฉกเช่นเดียวกัน Platform ที่มาวิ่งอยู่บน Internet จะมีตั้งแต่ว่าถูกหรือไม่ถูก คนที่เป็น Call Center เป็นมิจฉาชีพ ก็จะมาใช้ช่องทางเหล่านี้ในการล่อลวงประชาชน ของเราเกิดขึ้น แต่ถามว่าแล้วโครงข่ายที่เรากำกับดูแลหลักเราเป็นคนที่รับผิดชอบจริงไหม จริง ถ้าโครงข่ายไม่ดี ถนนไม่ดี Internet ช้า Internet ไม่ดีอะไรอย่างนี้ ผมว่า กสทช. รับเต็ม ๆ แต่นี่เราก็พยายามบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติที่เป็น คนเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่บน Platform ตรงนี้ ปปง. ต้องไปสืบในเรื่องของการทำธุรกรรม ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน ตำรวจต้องไปตามจับผู้ร้ายที่ใช้เทคโนโลยี ผมจำได้คำหนึ่งนะครับ จากท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติที่พูดว่า ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อันนี้จริง เลยครับ เพราะว่า กสทช. เป็นคนที่จะนำพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ มาใช้กับประชาชนให้มาก ที่สุด เพื่ออะไร เพื่อให้ประชาชนได้มีความสะดวกสบายในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ถามว่า คนที่มาใช้ดีหรือไม่ดี กสทช. ไม่ได้ไปกำกับนะครับ แต่เราไปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ปปง. แบงก์ชาติ ช่วยกันบูรณาการในการทำตรงนี้ ต้องขอขอบคุณสภา ที่ได้มีการผ่าน พ.ร.ก. ที่เราดำเนินการร่วมกับตำรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ อย่างทางหลาย ๆ ท่านที่แจ้งมาว่าทำไมไม่มีการส่งข้อมูล พ.ร.ก. นี้ก็ออกไปแล้ว ผมเรียนตามตรงนะครับ พ.ร.ก. ออกมาเรามีการประสานงาน กับตำรวจในการส่งข้อมูลและการแชร์ข้อมูลในบางส่วนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ระบบที่เป็น Real time เรายังไม่เกิด เพราะว่าเรายังต้องลงทุน ยังต้องการสร้าง Platform อยู่ แต่ตอนนี้ เรามีการส่งให้ตำรวจไปในการจับกุม ปราบปราม สืบสวนสอบสวน เพื่อเอาคนกระทำ ความผิดออกมา ในส่วนของ กสทช. เองเราก็สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เบอร์โทรศัพท์ อย่างที่ท่านกังวลว่าทำไมไม่ปิดเบอร์โทรศัพท์ ถ้าตำรวจแจ้งเรามาว่า เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้เป็นเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพจริง ๆ เราสั่งให้ Operator ปิดเบอร์ โทรศัพท์ บล็อกเบอร์โทรศัพท์นั้นนะครับ ตอนนี้เราทำอยู่ มาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างที่ ท่านขัตติยา ต้องขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ อย่างเช่นว่ามาตรการเรามีมากกว่านั้นหรือเปล่า เรามีเพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ ก็จะมีตั้งแต่ที่บอกว่าเรามีดอกจัน ๑๓๘ ดอกจันที่จะบล็อก เบอร์ต่างประเทศเลยที่ไม่ให้โทรศัพท์เข้ามา ตอนนี้เรามีมาตรการเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วก็ จะมีมาตรการที่กำลังจะนำเข้าสู่ Board กสทช. ก็คือว่า SIM ตั้งแต่ ๑๐๐ SIM ต่อไปนี้ เราจะให้กลับมาลงทะเบียนหรือยืนยันตัวตนใหม่ หากว่าภายใน ๓๐ วันไม่มาลงทะเบียน หรือไม่มายืนยันตัวตน เบอร์โทรศัพท์เหล่านั้นจะใช้ไม่ได้ แต่จะรับสายได้ อันนี้ก็จะเป็นอะไร ที่เราต้องการ Cleansing ในเรื่องของระบบการ Regis ของการลงทะเบียน SIM ที่เกิดขึ้น อันนี้ถ้า Board ผ่าน ซึ่งผมว่าผ่านคณะอนุกรรมการ ผ่าน Board ก็น่าจะบังคับใช้ได้เลย อันนี้ก็จะเป็นมาตรการที่เราเข้มขึ้น นอกจากนั้นเองเราก็มีการคุยกับหน่วยงานความมั่นคง ในการส่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นไปตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ ในเรื่องการที่เราคุยกัน ตั้งแต่ว่า เหตุในการสงสัยจาก ๑๓ เป็น ๑๐ เราก็มีการส่งแล้ว ก็มีการคุยกันตกผลึกแล้ว ผมว่า มาตรการเข้มงวดก็จะเริ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างที่รักษาการเลขาธิการบอกว่าลงพื้นที่ เราก็จะมี การไปตรวจจับอยู่เป็นประจำ อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราเกิดขึ้นนะครับ
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ต่อข้อ 5G ผมขออนุญาตนิดหนึ่ง 5G เราก็มีการประเมินในพื้นที่ อย่าง EEC ตอนนี้ที่เงื่อนไขเราบอกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันผมเชื่อได้ว่าที่เขารายงานมา ถ้าผม จำไม่ผิดนะครับ ใน EEC อยู่ที่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ของ 4G ในประเทศไทยมี Mobile Broadband อยู่ที่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์นะครับ Internet ประจำที่อยู่ที่ประมาณ ๕๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ตรงกับที่ท่านสมาชิกได้กล่าวไปกับทาง DE เขาให้ข้อมูลท่าน ก็ตรงกัน แต่การเข้าถึง Internet ผมอยากให้แยกเป็น ๒ ประเด็น การเข้าถึง Internet โดย Fixed Broadband กับการเข้าถึง Internet บน Mobile Broadband มันแตกต่างกัน ถ้าจะตีความในการเข้าถึง Internet Mobile Broadband 4G ในประเทศไทยมันอยู่ที่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ผมก็เชื่อได้ว่า มันก็จะเข้าถึง per Population ๙๙ เปอร์เซ็นต์ แต่ Fixed Broadband ที่เป็น Fiber เข้าบ้านคน ครัวเรือนอยู่ที่ ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามจะเร่ง Speed ตัวนี้ให้มีการส่งเสริมมากขึ้น เพื่อให้มีการเข้าถึง Broadband มากขึ้น ผ่านโครงข่าย ของ USO เราเอง หรือผ่านในเรื่องของการกำกับดูแลผ่านช่องทาง Commercial ก็คือ ทางผู้ประกอบการของเราออกไป นี่ก็จะเป็น EEC ต่อที่โครงการ 5G ที่ว่าสำเร็จ ไม่สำเร็จ อย่างไร ผมก็เชื่อได้ว่าในสิ่งที่เราทำลงไป โรงพยาบาลศิริราชเองก็เป็นอะไรที่เป็นมรรคผล ที่ศิริราชค่อนข้างมีความสะดวกสบายในวันนี้ แล้วก็มีการติดตาม Tracking ในการ Monitor ในการติดตาม ในการสั่งจ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การตรวจรักษาที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น การเก็บรักษาประวัติต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำมากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นอะไรที่ทางศิริราช เขาก็รายงานมาว่าเขาก็มี Efficiency เกิดขึ้นประมาณ ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เห็นได้ชัด ก็คือที่ผาหมี จริง ๆ ท่านก็อาจจะไปดูได้ในผาหมีที่เอาเรื่อง 5G ไป Sensor ไปใส่ ในการทดลองทดสอบแปลงเศรษฐกิจก็คือแปลงวานิลลา ซึ่งทางผาหมีหรือโครงการหลวง ท่านบอกเองว่าใส่เทคโนโลยีเข้าไป ประสิทธิผลและประสิทธิภาพมันเพิ่มขึ้น เกณฑ์มันขึ้น จากการปลูก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วลดการใช้น้ำลงประมาณ ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อันนี้ เรากำลังจะขยายผลต่อ อันนี้ก็อยู่ที่ทางเราที่เราต้องทำในโครงการที่สนับสนุนต่อ แต่อย่างที่บอก เราไม่อยากจะเป็นเบี้ยหัวแตก เราจะทำในเรื่องของการบูรณาการทั้งหมด ในการส่งเสริมตามนโยบายของ Board กสทช. อยากเห็นภาพรวมภาพใหญ่ ซึ่งผมว่า ในหลาย ๆ เรื่องก็อาจจะเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ต่อข้อสังเกตและข้อคำถามหรือข้อฝาก ผมก็คงจะน้อมรับในสิ่งที่ท่านคิด คำถามหรือข้อฝากหารือ หรือฝากข้อสังเกตให้กับผมที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชนผมก็ จะทำนะครับ แต่ถ้าจะทำเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งผมคงไม่ทำแน่ ผมก็คงจะทำ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ถ้าข้อสังเกตที่ท่านฝากมาเป็นเพื่อประชาชนจริง ๆ ผมก็จะทำนะครับ แล้วผมเชื่อได้ว่าถ้าในเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสารหรือการที่ทำ เรื่องต่าง ๆ จากท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ถ้าเห็นว่าในพื้นที่ที่ท่านอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำหนดในเรื่องของการเลือกพื้นที่ในเรื่องของแผน ผมยินดีที่เราจะเข้าไปในพื้นที่นั้น พร้อมกัน อันนี้ก็จะมีการทำงานที่ผมอยากจะเรียนท่านประธานผ่านไปยังสภาผู้ทรงเกียรติ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวทางผู้ชี้แจง ผมว่ารอบแรกพอเท่านี้ก่อนแล้วกันนะครับ แล้วเดี๋ยวมีการอภิปรายในรอบสอง แล้วก็ยังจะให้เวลามากขึ้น เรียนสมาชิกครับ ลำดับต่อไปจะเป็นท่านรักชนก ศรีนอก ครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ผู้แทนราษฎรของชาวบางบอน จอมทอง หนองแขม ขอร่วมอภิปราย รายงานของ กสทช. ด้วยค่ะ Board กสทช. เท่าที่เราทราบก็คือเป็นเหมือนองค์กรอิสระ อื่น ๆ ที่ สว. จะคัดเลือก Board บริหารมา ซึ่งดิฉันก็ทราบมาว่าคุณหมอสรณซึ่งเป็น หมอโรคหัวใจของผู้มากบารมีทางการเมืองหลายท่าน ดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทีนี้ดิฉันก็ได้ติดตามงานด้านการคุ้มครอง ผู้บริโภคของท่าน ประเด็นแรก เรื่องการควบรวม True DTAC ก่อนที่ท่านจะได้ตัดสินใจ ที่รับทราบ ท่านได้มีการใช้งบประมาณ ๒๐ ล้านบาท จ่ายให้กับ SCF และศูนย์บริการ วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาผลกระทบ ซึ่งภาคประชาชนที่สนใจในงาน วิชาการนี้ ในงานวิจัยนี้ ก็ได้ฝากดิฉันผ่านไปยังท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าสามารถ หารายงาน ๒ ฉบับนี้อ่านได้จากที่ไหนคะ เพราะว่าภาคประชาชนไม่สามารถหาวิจัยฉบับเต็ม มาศึกษาได้ ซึ่งดิฉันก็ตั้งข้อสังเกตว่าที่ท่านตั้งใจไม่เผยแพร่เป็นความตั้งใจหรือเปล่า เพราะในงานวิจัย ของ SCF ชี้ว่าการควบรวมจะส่งผลต่อการแข่งขัน ทำให้เกิดการผูกขาด ส่งผลทำให้ ราคาสูงขึ้น การเข้าสู่ตลาดของรายใหม่ยากขึ้น และเมื่ออนุญาตไปแล้วจะหวนคืนกลับมา ได้ยาก งานของจุฬาก็สอดคล้องกันค่ะ เท่าที่ดิฉันทราบ แต่ท่านประธานกลับหยิบยก เพียงบางประเด็นเท่านั้นที่ว่าท่านไม่ได้มีอำนาจในการอนุญาตให้ควบรวมมาใช้เป็นเหตุผล ข้ออ้าง ซึ่งมันก็แปลกดีค่ะ เพราะว่าสิ่งนี้เป็นวลี เป็นประโยค เป็นนัยสำคัญที่สอดคล้องกับ บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการควบรวมนี้สื่อสารกับสาธารณชนในช่วงนั้น ที่ท่านได้เปิดเผยเนื้อหางานวิจัยเหล่านี้เป็นเพราะว่ากลัวคนจะทราบหรือเปล่าว่า ผลการศึกษาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในงานวิจัยมันอาจจะบอกหมดแล้วก็ได้ว่าปัญหาหลังจากนี้ จะเกิดอะไรขึ้น แต่ท่านก็ทำหูทวนลม ปิดหูปิดตา ปิดความจริงต่อสาธารณชน จริง ๆ แล้ว ท่านสรณได้ตอบแล้วว่าท่านไม่มีอำนาจ แต่มาดูกันว่าจริง ๆ ท่านไม่ต้องเสียเงินถึง ๒๐ ล้านบาทไปศึกษา เพราะตาม พ.ร.บ. นี้ก็ได้ให้อำนาจเต็มกับท่านแล้วในการรักษา ผลประโยชน์ของสาธารณะ นั่นหมายรวมถึงการยับยั้งการควบรวมซึ่งทำให้ตลาดลูกเข้าสู่ การผูกขาด ศาลปกครองก็ได้ชี้แล้วว่าท่านมีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมได้ อำนาจหน้าที่ ของท่านในเล่มนี้ตามหน้า ๓๐ ท่านก็เขียนเอาไว้เองว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน ดิฉันไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าท่านไม่เข้าใจ Job Description ตัวเอง หรือท่านกำลังรักษา ผลประโยชน์ให้ใครกันแน่ ดิฉันต้องฝากท่านประธานถามผ่านไปยังผู้ชี้แจง ถามท่านประธาน กสทช. เองที่นั่งอยู่ ณ ที่แห่งนี้เลยก็ได้ ท่านช่วยกรุณาตอบให้ดิฉันเข้าใจหน่อยว่าถ้าไม่ใช่ องค์กรของท่านแล้ว จะมีองค์กรไหนในประเทศนี้อีกที่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวม ครั้งนี้ งานที่เป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน ท่านก็ละเว้น แต่งานที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ของท่าน อย่างการอนุมัติเงินฟุตบอลโลก ๖๐๐ ล้านบาท ท่านก็กลับใช้อำนาจที่คาบเส้น ตัดสินใจ นี่นะคะผลงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของประธาน กสทช.
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ข้อ ๒ เมื่อสักครู่ประเด็นที่ ๒ ที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปว่า ประธาน กสทช. หลังจากได้รับตำแหน่ง ๑ ปี ๔ เดือน เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ๑๒๐ กว่าวัน คิดเป็นประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของเวลาทำงานทั้งหมด ถ้าท่านไปทำงาน จริง ๆ ดิฉันไม่มีข้อสงสัยอะไรค่ะ แต่ช่างบังเอิญเสียเหลือเกินที่การไปดูงานส่วนใหญ่ของท่าน ปลายทางก็คือไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข่าวลือนะคะ ดิฉันไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง ขอความชัดเจนด้วยว่าเป็นประเทศที่คุณหมอสรณมีคลินิกส่วนตัวอยู่ที่นั่นจริงหรือไม่ เพราะว่าถ้าเป็นความจริงประชาชนก็ตั้งคำถามว่าท่านใช้งบประมาณในการบินนี้ไปเพื่อ เอื้อกับกิจการส่วนตัวของท่านหรือไม่ และการที่ท่านเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ ทำให้ กิจการวาระการประชุมต่าง ๆ ที่สำคัญใน กสทช. ถูกเลื่อนไป เรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่รอท่านมา ตัดสินใจกองอยู่เป็นกองพะเนิน และคนในองค์กรเองที่เขาอยากจะทำงาน ตั้งใจจะทำงาน จริง ๆ เขาก็อึดอัดค่ะ ถ้างานคลินิกในต่างประเทศของท่านไม่สามารถละวางได้ หรือสำคัญ กว่างานใน กสทช. ก็อย่าทำราวกับว่าตำแหน่งประธาน กสทช. เป็นเพียงงาน Part-time ของท่านนะคะ เราจะได้หาคนที่พร้อมและเหมาะสมมาทำงานตรงนี้ดีกว่าไหมเอ่ย
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกครับ ต้องระมัดระวังข้อบังคับ ข้อ ๖๙ ไม่ให้แสดงวาจาที่ใส่ร้ายหรือเสียดสี ยังอยู่ใน เนื้อหาสาระ แต่ขอให้ระมัดระวังคำพูดนะครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขอบคุณค่ะท่านประธาน จะระมัดระวังคำพูดค่ะ ถ้าคำไหนที่เกินเลยไปท่านประธานให้ดิฉันถอนได้นะคะ แล้วก็ต้อง ขอแสดงความยินดีที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ ITU Council ดูท่านพูดแล้วน่าจะภูมิใจ กับมันมาก อย่างไรช่วยอธิบายความคุ้มค่าของการเป็นสมาชิกด้วยได้ไหม แล้วก็อยากทราบว่า ท่านใช้งบประมาณในการหาเสียงไปจำนวนเท่าไร ค่าเดินทางของคณะ ค่าจัดเลี้ยงผู้บริหาร เลขาธิการ กสทช. ค่ากิน ค่าใช้ต่าง ๆ ขอให้ท่านได้ชี้แจงอย่างชัดเจน คงไม่ใช่ว่าเป็นสมาชิก ในรอบนี้เพื่อให้ท่านได้เบิกงบในการบินไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งดิฉันเห็นภาพว่าในงานมีการตัดสูทสีเหลืองแจกคนทั้งคณะเลย ๑๐ กว่าคน ดิฉัน ก็อยากทราบว่าเขามีข้อกำหนดไหมคะว่าต้องใส่สูทสีเดียวกัน ท่านตัดสูทกับ Brand ไหน ราคาเท่าไร ใช้งบจากส่วนไหน ดิฉันอยากเห็นใบเสนอราคา เพราะว่าไม่สามารถหาได้ จากรายงานฉบับนี้
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
และข้อสุดท้ายในเล่มนี้ หน้า ๒๗๖ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ข้อ ๘ โครงการ การร่วมมือผลิตข่าวในพระราชสำนักและการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีและรัฐพิธี ท่านใช้ งบประมาณตรงนี้ ท่านใส่เอาไว้ในปี ๒๕๖๖ ๑๕ ล้านบาท ดิฉันขอตั้งคำถามว่ามันไม่ได้ ซ้ำซ้อน ทับซ้อนกับสิ่งที่ช่องปกติเขารายงานกันอยู่แล้วหรือคะ ท่านมีความจำเป็นอะไร ต้องตั้งงบประมาณเผื่อเอาไว้อีก ๑๕ ล้านบาทสำหรับกิจการงานตรงนี้ อย่างไรดิฉัน อยากพิจารณานะคะ มันเป็นงบในปี ๒๕๖๖ ถ้าท่านตัดได้ก็อยากให้ตัด เพราะว่าซ้ำซ้อน กับสิ่งที่ช่องปกติได้รายงานหรือว่าได้ทำอยู่แล้ว กสทช. เป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์ เฉียดล้านล้านบาท มีอำนาจในการให้คุณให้โทษสูงมาก แต่คนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญ กลับเป็นคนที่ไม่ได้มีความสามารถหรือความเชี่ยวชาญตรงสาย แถมความรับผิดชอบ ในการทำงานของท่านก็น่าตั้งคำถาม กสทช. เป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง แต่ท่านอย่าทำให้กลายเป็นว่าองค์กรนี้เป็นอิสระจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเลยค่ะ อย่าให้การทำงานของท่านต้องถูกตั้งคำถามว่าถูกครอบงำโดยผู้มากบารมีทางการเมือง บางคนผ่าน Board กสทช. หรือไม่ ทุกคนที่อยู่ในองค์กรนี้ที่เขาอยากจะตั้งใจทำงาน เพื่อพัฒนาองค์กรนี้ พัฒนาประเทศนี้ด้วยใจจริง เขารอคนที่ตั้งใจทำงานจริง ๆ และมี ความสามารถจริง ๆ มานำองค์กรของเขาอยู่ค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพยิ่งครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาต นำเรียนท่านประธาน วันนี้เป็นรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. นะครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตว่าทางท่านประธาน กสทช. เองได้มาชี้แจง ผมเรียนอย่างนี้ว่ารายงานประจำปี ตามมาตรา ๗๖ เป็นรายงานของประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. อยากจะฝากเรียนว่าในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ คงต้องให้ทั้งประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. มาชี้แจง เพราะว่าในบทบัญญัติของมาตรา ๗๖ ขออนุญาต นำเรียนท่านประธานครับ เขาไม่ได้บอกว่ารายงานนี้เป็นรายงานเพื่อทราบ ไม่ได้เหมือนกับ องค์กรอิสระอื่นเลยครับ องค์กรอิสระอื่นเขาเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นรายงานผลการปฏิบัติงาน เพื่อทราบ แต่รายงานตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ได้เขียนไว้ ขออนุญาตเรียนท่านประธานครับว่านอกจากนั้นในรายงานเขากำหนดไว้ ๘ ข้อที่สำคัญ ๘ ข้อที่สำคัญหมายถึงว่า ๑. ผลงานของ กสทช. ในปีที่ล่วงมาแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับ แผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ ๒. แผนงาน โครงการ และแผนงบประมาณสำหรับ ปีถัดไป อยากจะฝากเรียนท่านประธานไปถึงท่านประธาน กสทช. และท่านเลขาธิการ หรือผู้มาชี้แจงว่าอยากจะให้ทางท่านประธานรีบบรรจุรายงานประจำปี ๒๕๖๖ อีกครับ เพราะว่าจะมีแผนการทำงานของปี ๒๕๖๗ ในงบประมาณนั้น ซึ่งเราจะมาดูกันได้ อย่างชัดเจนว่ามีงบประมาณอะไรบ้างในการที่จะดำเนินการ ในการที่เราจะอภิปราย วันนี้ เราอภิปรายของปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อยู่ ซึ่งมันอาจจะล้าสมัยเกินไป ก็ขออนุญาตฝากเรียน ท่านประธานตรงนี้นะครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คราวนี้อยากจะฝากเรียน ท่านประธานตรงประเด็นนิดหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ท่านประธานครับ ผมอยากจะฝากเรียนอย่างนี้ว่าการจัดระเบียบสายสื่อสารมี ๒ อย่างนะครับ ๑. ก็คือเรานำสายสื่อสารลงดิน ๒. ก็คือเป็นการจัดระเบียบสายสื่อสาร ก็คือนำเอาสายตาย ที่ลอยอยู่บนอากาศออก ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะฝากเรียนท่านประธานไปถึงผู้ที่มาชี้แจง ทั้งหมดว่า ๑. ก็คืออย่าไปโทษ กสทช. ที่เดียว มันยาก เพราะฉะนั้นถ้าในกรุงเทพมหานคร ท่านประธานครับ เจ้าของพื้นที่คือกรุงเทพมหานคร กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วที่สำคัญก็คือการไฟฟ้านครหลวง ๕ หน่วยงานจะต้องประสาน ความร่วมมือร่วมกันในการที่จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสาร วันนี้ถ้าท่านอยากจะเห็น กรุงเทพมหานครสามารถที่จะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็ทำทัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำสายสื่อสารลงดินนะครับ ผมเรียนท่านประธานว่า นำสายสื่อสารลงดินอย่างที่ทุกคนคาดการณ์กันจะทำให้อัตราค่าบริการของพี่น้องประชาชน เพิ่มขึ้นอีกเป็น ๗-๘ เท่าของการให้บริการอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าต้นทุนของการนำ สายสื่อสารลงดินจะต้องมีการสร้างท่อร้อยสายเพิ่มเติมอีก จะต้องมีการลงทุนเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทหรือ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องเพิ่ม อัตราค่าบริการกับพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นข้อห่วงใยของผมในขณะที่ ผมเคยดำรงตำแหน่งอดีตเลขาธิการ กสทช. ในวันนี้แค่จัดระเบียบสายสื่อสาร ในกรุงเทพมหานครทั้งหมดให้แล้วเสร็จแล้วกัน ผมมีท่อร้อยสายบนอากาศที่อยากจะโชว์ ท่านประธานครับว่าท่อร้อยสายบนอากาศที่เราอยากจะทำ ท่านประธานเห็นนะครับว่า เมื่อเรานำสายตายที่เราเห็นแขวนอยู่บนอากาศที่อยู่บนเสาไฟฟ้า เราคิดว่ามีสายตาย อยู่ประมาณสัก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ทำงานร่วมกัน ๕ หน่วยงานจัดระเบียบสาย นำสายตาย ไม่ว่าจะเป็นสายสื่อสาร สาย Cable TV ในอดีตที่ผ่านมา สายกิจการโทรคมนาคมในอดีต ท่านประธานอาจจะเกิดในยุคของ Packlink Phone Link ต่าง ๆ ที่ยังแขวนอยู่นำลงมา แล้วก็เอาท่อร้อยสายอย่างที่ผมโชว์ร้อยเข้าไป ร้อยเข้าไปเสร็จเรียบร้อยจัดระเบียบให้ดี ติด RFID ไว้ แจ้งไปที่สำนักงานเขต แจ้งไปที่สำนักงาน กสทช. ถ้าผู้ประกอบกิจการ โทรคมนาคมจะมีการเปิดท่อนี้มันจะมีเสียงดัง จะต้องไปขออนุญาต ถ้าขโมยเปิดต่อไป ก็คือจะมีเสียงดังเกิดขึ้น RFID จะเตือนสำนักงานเขต เตือน กสทช. ว่ามีผู้ประกอบกิจการ โทรคมนาคมไปเปิดท่อหรือไปร้อยสายขึ้นมา ถ้าเห็นสายที่มาร้อยทีหลังความหมายของผม ก็คือเป็นสายที่มาติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ไม่เกิน ๖ เดือนหรือ ๗ เดือนทั้งกรุงเทพมหานครขอให้ได้รับความร่วมมือในการทำงาน ทำทุกวันอาทิตย์แล้วกัน แจ้งประชาชนทุกคนว่าทุกวันอาทิตย์ทางสำนักงาน กสทช. เอง กรุงเทพมหานครเอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และการไฟฟ้านครหลวงจะมีการปิดถนนในการที่จะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร ทุกเส้นทาง ๒,๔๐๐ กว่ากิโลเมตรในกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดให้เสร็จ ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไรที่เราจะร่วมมือกันทำงานในเรื่องนี้ จัดแล้วทำเรื่องนี้ให้ดี ใช้เงินงบประมาณไม่เยอะ เพราะฉะนั้น ๕๐๐-๖๐๐ ล้านบาททำไปเถอะครับ เพื่อให้แล้วเสร็จ ในการที่จะจัดระเบียบนี้ แต่ถ้าในอนาคตข้างหน้าเราจะมีการนำสายสื่อสารลงดินที่จะมี การลงทุนต่าง ๆ การสร้างถนนต่อไปในอนาคตข้างหน้าค่อยมีการใช้งบประมาณของแผ่นดิน ทำท่อร้อยสายใต้ดิน อยู่ในโครงการที่มีการก่อสร้างถนนใหม่ ไม่ใช่ว่ามาขุดทีหลังเกิดปัญหา กับพี่น้องประชาชนในการที่สัญจรไปมาต่าง ๆ ด้วย ตรงนี้อยากจะฝากเรียนท่านประธาน ไปถึงผู้ชี้แจงว่าขอให้ดำเนินการ เป็นกำลังใจให้ครับ ในฐานะที่ผมก็เคยเป็นอดีตเลขาธิการ กสทช. เป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการที่จะมาชี้แจงในเรื่องพวกนี้ ขอให้ท่านทำ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการที่จะเดินหน้าในส่วนนี้ต่อไป ขออนุญาตท่านประธาน กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านชลธานี เชื้อน้อย ครับ
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๓ พรรคก้าวไกล อำเภอเมือง อำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่ทะ ขอแสดงข้อคิดเห็นต่อท่านประธานสภาผ่านไปยัง ผู้ชี้แจง กสทช. ในประเด็นการกระจายโครงข่ายสัญญาณ ขอ Slide ด้วยครับ
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
เนื่องด้วยภารกิจขององค์กรคือการกำกับ ดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ในข้อ ๔ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน โดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม Universal Service Obligation ปัจจุบันประชาชนมีการใช้ เทคโนโลยีสื่อสารในประจำวันเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติ แห่งชาติ เพราะฉะนั้นนี่คือบทบาทสำคัญของ กสทช. การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการ Internet ความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ Zone C Plus และ Zone C โดยมี ๔ กลยุทธ์ ก็คือ ๑. เพื่อยกระดับการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ๒. เพื่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ๓. เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ๔. เพื่อความมั่นคง พื้ นที่ ชายขอบมี Zone C Plus ๓,๙๒๐ หมู่บ้ำน และ Zone ห่ำงไกล Zone C ๑๕,๗๓๕ หมู่บ้าน แสดงถึงความสำคัญ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุน จากภาครัฐ หากพิจารณาจากบริบทของพื้นที่ที่ห่างไกลการขยายด้านโทรคมนาคมนั้น อาจไม่มีแรงจูงใจที่ให้ผู้สนใจเข้าไปลงทุน เพราะฉะนั้นเมื่อลงทุนแล้วอาจมีผลตอบแทนที่ต่ำ บทบาทการดำเนินการจึงเป็นของ กสทช. ที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัด ให้มีโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสะดวกต่อการเข้าถึงบริการ นี่คือ ภาพรวมของประเทศเรานะครับ ท่านจะเห็นช่องโหว่ที่ไม่มีสีม่วง นั่นคือการกระจายโครงข่าย ที่ไม่ทั่วถึง นี่ก็คือภาพรวมของจังหวัดลำปาง และเราก็จะโฟกัสที่ Slide ต่อไปครับ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาท่านทำได้น่าพอใจ แต่เหตุใดในพื้นที่จังหวัดลำปางโดยเฉพาะ อำเภอแม่เมาะซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ถึงยังไม่ครอบคลุม ทั้งที่ควรจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักด้วยซ้ำไป หน่วยงานควรปรับ หลักเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ ขอให้ทาง กสทช. พิจารณาทบทวนนโยบาย นอกจากตัวชุมชนเอง เส้นทางระหว่างชุมชนก็ขอให้ครอบคลุมด้วยครับ จากภาพแสดงพื้นที่ ตามถนนทางหลวงชนบทลำปาง หมายเลข ๓๐๑๓ ในตำบลจางเหนือ อำเภอแม่เมาะ ซึ่งจัดอยู่ใน Zone C Plus ซึ่งผมเคยไปลงพื้นที่ แต่ไม่แน่ใจเส้นทางเพราะไม่มีสัญญาณ โทรศัพท์ จึงจอดรถเพื่อโบกรถถาม แต่ประชาชนไม่สามารถหยุดจอดเพื่อให้สอบถามได้ เมื่อไปถึงหมู่บ้านจึงได้รับรู้ความจริงที่ว่าไม่จอดระหว่างทางเพราะเคยเกิดกรณีการปล้น ชิงทรัพย์ ชิงรถและลักพาตัวระหว่างเส้นทางสัญจร และระหว่างเดินทางไม่มีสัญญาณ จึงไม่สามารถที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที หรือแม้แต่ระหว่างเดินทางจาก หมู่บ้านไปโรงพยาบาล การขอคำแนะนำจากโรงพยาบาลถึงการดูแลผู้ป่วยในระหว่างขนส่ง ผู้ป่วยสัญญาณขาดหาย จนทำให้เกิดความสูญเสียในกรณีต่อมานะครับ และนี่คือพื้นที่ ในตำบลติดกัน ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ มีความเสถียรของสัญญาณตลอดเส้นทาง เพราะฉะนั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ อยากเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยัง ผู้ชี้แจง โลกของเรา ประเทศของเราพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่มิจฉาชีพก็มีการปรับตัว ใช้ช่องโหว่ของสัญญาณในการกรรโชกทรัพย์หรือทำให้เสียทรัพย์ กรณีนี้พี่น้องประชาชน กลับรู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งต้องขอชมเชยว่าที่ผ่านมาท่านทำได้ดี แต่อาจยังไม่ทั่วถึง และดีพอ อยากวิงวอนให้ทาง กสทช. Recheck และให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ และให้มี การตรวจสอบว่าการกระจายโครงข่ายโทรคมนาคมนั้นมีความทั่วถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเป็นประโยชน์กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงภายใต้ กสทช. ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ประกอบไปด้วยอำเภอหนองวัวซอ อำเภอหนองแสง อำเภอโนนสะอาด ซึ่งพี่น้อง ชาวจังหวัดอุดรธานีก็ได้รับผลกระทบจากวิทยุชุมชนคลื่นความถี่ที่ทาง กสทช. เคยตัด สัญญาณไป แล้วก็เมื่อปีที่แล้วชุดที่ ๒๕ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย นำคณะขอยื่น เพื่อขยายอายุ ยืดอายุ แต่ก็ได้เพียง ๓ ปี ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากวัดไร่สวรรค์ พระคุณเจ้า วัดป่าบ้านตาด วิทยุเสียงธรรม ตำบลหนองไฮ อำเภอเมืองอุดรธานี ก็ยังต้องใช้ในการที่ จะเผยแผ่ธรรมะทุกเช้าทุกวัน ฉะนั้นอยากเรียกร้องตรงนี้ให้มีการคงอยู่ ใกล้จะถึง ๓ ปีแล้ว ก็อยากให้ขยาย แล้วก็อยากให้คงอยู่แบบยั่งยืนนะครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เนื่องจากว่าตอนนี้มีแก๊ง Call Center Online หลอกให้รัก ลงทุน แล้วก็สูญเงินไปเป็น ๒๐ ล้านบาท หลายสิบล้านบาทนะครับ ซึ่งเราจะเห็นว่า Application ต่าง ๆ สามารถที่จะทำให้บุคคลหลงเชื่อในการลงทุน ยิ่งตอนนี้ลงทุนทาง Online ก็ได้รับ ผลกระทบเป็นจำนวนมาก
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
ขนาดบุคคลสำคัญ บุคคล ที่มีชื่อเสียงในวงการสื่อยังต้องโดนหลอก ใช้ Application Instagram แล้วก็ไปหลอกลวง พี่น้องประชาชน ซึ่งตอนนี้ก็มีการทลายแก๊ง Hybrid Scam ข้ามชาติ ซึ่งก็เป็นข่าวครึกโครม อยู่ขณะนี้ นั่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะแก้ไขปราบปรามได้ น่าห่วงใยพี่น้องประชาชนคนไทย ทั้งประเทศ แต่เมื่อมองลงไปแล้วเราต้องดูว่าแต่ละองค์กรซึ่งมีข้อมูลของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ของส่วนราชการ ส่วนภาคเอกชน มีคนที่นำข้อมูลของลูกค้า ของคนในองค์กรนั้นไปหารายได้ จากแก๊ง Call Center แก๊ง Online ข้ามชาติอะไรอย่างนี้ไหม อันนี้ก็อยากให้ทาง กสทช. ต้องใส่ใจติดตาม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าตอนนี้แก๊ง Call Center ไม่ธรรมดานะครับ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการบังคับข่มขู่ ขู่เข็ญ แล้วก็หลอกลวงให้คนไปทำงานเป็น Call Center อย่างที่พม่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ไม่ธรรมดานะครับ อย่างเขมรก็ ๑๐๐,๐๐๐ คน ลาว ไทย เวียดนามก็เป็นแสนคน นี่เฉพาะคนที่ถูกหลอก ถูกบังคับให้ทำงานเป็นแก๊ง Call Center ซึ่งเขาเองก็ไม่อยากทำแต่ก็โดนบังคับ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องประสานงาน กับประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราขึ้นชื่อเลยครับ ตอนนี้ทั้งโลกเขาทราบดี แก๊ง Call Center มักจะมากบดานแล้วก็ใช้เป็นที่ทำงานของเขา อย่างเมามัน สำหรับแก๊ง Call Center พี่น้องครับ เงินที่เราสูญเสียไม่น้อย จากตรงนี้ กสทช. ท่านต้องประสานงานกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย กับ DE อันนี้ต้องประสานงานกัน แบบบูรณาการ ถ้าอย่างนั้นท่านไม่สามารถที่จะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องแก๊ง Call Center Online ไม่ว่าจะเป็นแก๊ง Hybrid Scam หรือแก๊งต่าง ๆ ได้ เพราะอะไรครับ อย่างธนาคาร แห่งประเทศไทยต้องช่วยกันว่าพอมีปัญหาเราก็ต้องล็อกเงินในธนาคารให้เรียบร้อย ใช้ระบบ ง่าย ๆ นั่นละครับ ที่ท่านล็อกบัตรเครดิตทำไมไม่เอามาใช้ ผมสอบถามไปแล้วบอกว่า มันลงทุนเยอะ แต่การสูญเสียของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เยอะกว่านั้นครับ ดังนั้นฝากผู้บริหารไว้ แล้วก็ทางพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ฝาก ไว้ด้วยว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไขให้พี่น้องประชาชนอย่าได้พบกับความเดือดร้อน สูญเสียเงินทอง มากมายก่ายกองขนาดนี้
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง ผมฝากทาง กสทช. ข่าวเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ แล้วก็ทำเรื่องใหญ่ ๆ นั่นก็คือการประมูลสำหรับการอนุญาตใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด หรือ Package ไม่นานนะครับท่านประธาน เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๕ นี้เอง ผมอยากให้ท่านประธานไปติดตามเรื่องนี้ ท่านเป็นคนที่ตรวจสอบละเอียดพอสมควร มีราคารวมกันไม่มากหรอกครับในส่วนที่ผู้ประกอบการ แต่มากมายมหาศาลสำหรับ พี่น้องประชาชน สำหรับพวกเราทุกคน จำนวน ๘๐๖,๕๖๓ ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ชนะการประกวดมี ๒ ราย คือ ๑. บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ได้รับอนุญาต จัดชุดดาวเทียม ชุดที่ ๒ ชุดที่ ๓ ชุดที่ ๒ ก็ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ชุดที่ ๓ ก็ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ชุดที่ ๔ เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ดูดี ๆ ตรงนี้ ได้เท่าไรครับ ได้ ๙,๐๗๖ ล้านบาท กสทช. ฝากท่านไปดูแลด้วยว่าพี่น้องประชาชนคนไทย ทั้งประเทศในฐานะที่เป็นเจ้าของผู้เสียภาษีของประเทศ กสทช. ช่วยตอบให้ฟังชัด ๆ หน่อย ว่ามันเป็นอะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็ขอกราบขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านธนเดช เพ็งสุข ครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ จากเล่มรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ในหน้า ๑๐๖ กสทช. เขียนไว้ว่ามีนโยบายให้ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน พนักงาน และลูกจ้าง กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการดำเนินงานบนหลัก ธรรมาภิบาลและตรวจสอบได้ ฟังดูดีมากครับ จากรายงานของ กสทช. เล่มนี้ ซึ่งสวนทางกับ การอภิปรายของเพื่อนสมาชิกในหลาย ๆ คน และยังมีประเด็นที่น่าชื่นชมอีกคือ กสทช. ได้รับการประเมินคุณธรรม ความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐถึง ๙๙.๕๘ เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ ๑ หรือเรียกว่า AA แล้วยังมีรางวัลเต็มไปหมดในหนังสือเล่มนี้ที่ กสทช. ได้รับ ซึ่งก็สวนทางกับเนื้อหาที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายและเนื้อความที่ผมได้รับทราบมา ระหว่างการหาข้อมูลเพื่อที่จะมาพูดคุยกับท่านในวันนี้ นี่คือเอกสาร ๒ ฉบับในมือของผม ที่ได้รับมาจากเพื่อนในองค์กร กสทช. ของท่านถึงความขัดแย้งในองค์กร เป็นเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนภายในหน่วยงานของท่าน มีการกล่าวถึงการวิ่งเต้นขึ้นตำแหน่ง การทำ Project ต่าง ๆ ของ Board บริหารของ กสทช. แต่ละท่านที่ทุกคนล้วนมี Project เป็นของตน มีการพูดถึงเงินทอนระดับ ๑๐๐ ล้านบาท ๑,๐๐๐ ล้านบาท มีการพูดถึง บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด ตามที่เพื่อนสมาชิกได้ตั้งคำถามไปครั้งแรกและท่านก็ยังไม่ได้ตอบ และในข้อความเหล่านี้ยังมีการระบุถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของบริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด กับ กสทช. ท่านหนึ่ง ซึ่งเมื่ออภิปรายเสร็จแล้วผมจะนำเอกสารให้กับท่านประธาน ได้ลองอ่านดู ท่านประธานครับ และที่น่าตั้งข้อสงสัยไปกว่านั้นคือปลายทางของหนังสือ ร้องเรียน เรื่องนี้ยังมีเรื่องปลายทางของเงินทอนที่มีกล่าวถึงว่าบุคคลท่านหนึ่งใน กสทช. ต้องนำปลายทางของเงินทอนเหล่านี้ไปที่บ้านป่า บ้านลาดพร้าว ๗๑ และบ้านโชคชัย ๔ หรือผู้คุ้มครองหัวโต๊ะ ผมยิ่งตกใจเข้าไปอีก เพราะ ๒ ใน ๓ สถานที่นี้อยู่ในเขตเลือกตั้ง ที่ผมเป็น สส. อยากทราบจริง ๆ ว่าบ้านใครจะไปหา อยากรู้จริง ๆ นะครับ ท่านประธานครับ จากข้อร้องเรียนเบื้องต้น ผมก็ไปหาข้อมูลเพิ่มมาอีกและพบข้อกังขา ที่มากขึ้นคือการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตัวจริง ที่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ใช้เวลาแล้ว กว่า ๓ ปี ๓ ปีก็ยังใช้รักษาการอยู่ ผมข้องใจจริง ๆ ว่ากระบวนการคัดสรรนี้มันยากเย็น อย่างไร คุณสมบัติต่าง ๆ มันเป็นอย่างไร ผมได้ถามไปยังผู้สมัครเป็นเลขาธิการ กสทช. ตามที่ท่านกล่าวถึง ๘-๙ ท่าน ทราบมาว่าไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน มีการเลื่อนเปิดรับ เลื่อนปิดรับ และสุดท้ายหลังจากเขาไปแสดงวิสัยทัศน์ ไปสัมภาษณ์ ก็ได้รับจดหมาย ตอบกลับกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ตกคุณสมบัติ โดยที่ท่านไม่ระบุเหตุผลว่าเขาตกข้อใด หรือมีคะแนนเกณฑ์ในข้อใด เรื่องนี้เป็นข้อข้องใจจริง ๆ ว่าตกลงแล้วตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. มีเกณฑ์ที่แท้จริงคือคนของคุณหรือของใคร หรือใครที่คุณต้องดูแล เรื่องนี้น่าติดตาม ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาคือเรื่องร้องเรียนที่ได้ทราบจากบุคคลในองค์กรของท่านเองจริง และผู้เข้าดำรงตำแหน่งผิดจุด ผู้เสนอตัวดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. จริงว่าการพิจารณา ของท่านมีลับ ลวง พราง ล่าสุดเลยครับ หนังสือราชการของท่านเอง ของประธาน กสทช. ที่มีการเลื่อนวันประชุมจาก ๖ กันยายน เป็น ๔ กันยายน เวลา ๐๙.๓๐ น. เป็นต้นไป มีการพยายามเปลี่ยนแปลงห้องประชุมจากห้องประชุมที่มีความพร้อมสูงสุดคือห้องสายลม ๑๑๒๑ ไปที่ห้องประชุม ๑๐๒๑ มีความพยายามนัดหมายในวันที่ กสทช. ๔ ท่านติดภารกิจ เรื่องนี้น่าสงสัยยิ่งนักครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ทั้งหมดทั้งมวลคือพฤติกรรมที่ผมต้อง ตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงการประเมินงานของ ป.ป.ช. เช่นเดียวกันว่าเรื่องร้องเรียนเขาเยอะ ขนาดนี้ คนพูดถึงเขาเยอะขนาดนี้ เหตุใดยังได้ AA มาอยู่ในมือ หรือว่าองค์กรตรวจสอบ ก็ไม่โปร่งใสเช่นกัน ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอใช้พื้นที่นี้ส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคตว่าการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลสำคัญเข้าไปทำงาน ในองค์กรบริหารองค์กรอิสระหรือ Board ต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ กสทช. มันหมดเวลาแล้วกับการที่ จะนำเก้าอี้ตัวนี้มาแต่งตั้งร่างทรงของผู้มีอำนาจ หมดเวลาแล้วครับที่จะนำเก้าอี้ตัวนี้มาเป็นที่ ซับน้ำตาของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ผิดหวังกับเก้าอี้ในองค์กรของตน และหมดเวลา แล้วครับ ที่จะเป็นเก้าอี้ตัวนี้มาเป็นที่พักพิงของข้าราชการทหาร ตำรวจยามเกษียณ หรือบุคคลใกล้ชิดของบุคคลสำคัญ มันหมดเวลาแล้วครับ ที่จะพิจารณาด้วยเกณฑ์ การต่างตอบแทน ยุติกันเสียทีกับคำกล่าวอย่างหนาหูในวงราชการว่าค่าของคนอยู่ที่คน ของใคร
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันหนึ่งองค์กรของท่าน จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและโปร่งใส ปราศจากเงินทอน หรือไม่ต้องไปจิบกาแฟ รอที่ร้านหนุ่มน้อยสายลม เรื่องนี้ประชาชนกำลังสังเกตการตั้งเลขาธิการ กสทช. ครั้งนี้ ขอให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ทำงานให้คุ้มกับเงินเดือนที่ท่านได้รับจากภาษี ประชาชน ให้คุ้มทั้งเวลาและหน้าที่ อย่าเพิ่งไปเที่ยวครับ เอาให้จบก่อน ๓ ปีแล้วนะครับ ขอบคุณท่านประธานมากครับ ฝากท่านประธานไปถึง กสทช. ทุกท่าน เรื่องนี้ทางผม และเพื่อนสมาชิกจะติดตามอย่างใกล้ชิดครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนิคม บุญวิเศษ ครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขออภิปรายรายงานการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ เท่าที่ผมนั่งศึกษารายงานมันมีใบแทรกขึ้นมา ผมก็สงสัยว่าใบแทรกนี้ มันคืออะไร ผมได้อ่านแล้วก็ได้โทรหาคนที่พอจะทราบว่าคืออะไรนะครับ ผมขออภิปราย ให้ทราบอย่างนี้ครับ รายงานฉบับนี้ กสทช. ทำออกมาตามกฎหมาย เขาบอกว่าต้องมีการทำ สรุปการเงินต่าง ๆ ออกมาภายใน ๑๒๐ วัน แต่ท่านก็บอกว่าเหตุที่มีการล่าช้านี่นะครับ เท่าที่ผมนั่งอ่านที่มันล่าช้าก็คือว่า สตง. ไม่ได้ รับรองรายงานจึงทำให้เกิดการล่าช้า ผมก็เลยมานั่งดูรายงานของ สตง. สตง. ก็พูดทำนองว่า ท่านรายงานให้สภาทราบโดยที่ สตง. ยังไม่รับรอง สตง. ก็เลยบอกว่าเมื่อไปตรวจสอบแล้ว มันมีส่วนต่าง ซึ่งมันเหลื่อมล้ำกันระหว่างงบต่าง ๆ บางอันก็ ๔๐๐ กว่าล้านบาท บางอันก็ ๖๒ ล้านกว่าบาท ซึ่งมีหลายอย่างครับ แต่ผมเข้าใจแล้วครับว่า ทำไมมันถึงมีการเหลื่อมล้ำ อย่างนี้ สตง. บอกว่า สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือเล่มนี้ออกมาก่อนที่จะมีการตรวจสอบ เสร็จแล้วพอมีการตรวจสอบ เวลามันเหลื่อมออกมาจึงทำให้ยอดของรายงานกับสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินตรวจมันเลยไม่ตรงกัน แล้วสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็บอกว่า เมื่อท่านได้รับแล้วให้ท่านดำเนินการแก้ไขผลการปฏิบัติงานปี ๒๕๖๕ ให้มันสอดคล้องกับ รายงาน แล้วส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทีนี้ผมอยากจะถามว่าแล้วเราจะเห็น ชุดนั้น ชุดที่มีการแก้ไขเข้าสภาอย่างไร หรือท่านจะไปรายงานในปี ๒๕๖๖ อันนี้ก็อยากจะ เรียนถามท่านคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ขอแสดงความยินดีกับท่านด้วยนะครับ ท่านเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ตอนนี้ก็ประมาณ ๑ ปี ท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผมขอเรียนท่านประธานไปยัง กสทช. ชุดใหม่ มันมีเรื่องค้างกันอยู่ในชุดเก่า ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ กสทช. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ เขาบอกว่า ให้องค์กรอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ องค์กรอิสระนี้ เป็นองค์กรของรัฐก็คือ กสทช. คลื่นความถี่ที่ว่านี้เขาบอกว่าให้มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์ สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน แต่ที่ผ่านมาท่านประธานคนใหม่และกรรมการชุดใหม่ มันมีปัญหามากมาย ผมก็เห็นใจชุดเก่า เนื่องจากว่ามันก็อาจจะจัดสรรยากพอสมควร คลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ที่เป็นวิทยุกระจายเสียง ซึ่ง กสทช. ชุดเก่านั้นได้มีการแยก ประเภทเป็น ๓ ประเภท ประเภทชุมชน ประเภทสาธารณะ ประเภทธุรกิจ ซึ่งมันมีวิทยุ ประเภทธุรกิจที่โดนจับปิดไปหลายคลื่น กลุ่มคนเหล่านี้ยังรอคอยความเป็นธรรมจาก กสทช. อยู่ว่าท่านไปจับผิดเขาโดยที่เขาไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย หลายคนลงทุนไปหลายแสน เป็นล้าน เจ๊งครับ ทุกคนตกงาน ธุรกิจเสียหาย บางคนเป็นหนี้เป็นสิน มีคดีความ เลิกกับลูก กับเมียก็มี ลักษณะนี้ความไม่เป็นธรรมมันยังคงอยู่ ถึงแม้จะมีชุดใหม่มาความไม่เป็นธรรม มันยังอยู่ มันไม่เป็นธรรมท่านจะมาแก้ไขอย่างไร หลายพันคลื่นก็รอคอยว่าความเป็นธรรม จะกลับมาเมื่อไร ผมอยากจะถามชุดใหม่ครับว่าท่านจะมีวิธีการเยียวยาเขาอย่างไร ไม่ใช่ว่า ปล่อยผ่านให้เงียบหายไป ความไม่เป็นธรรมมันไม่เงียบหาย ยิ่งนานเท่าไรมันจะไม่เป็นธรรม มากขึ้น ๆ ฉะนั้นตรงนี้อย่าให้ปล่อยผ่านว่ากลุ่มภาคประชาชนที่เขาทำธุรกิจเป็นวิทยุกระจายเสียง ประเภทธุรกิจที่ท่านมาปิดของเขา เสร็จแล้วท่านก็ไม่ให้โอกาสเขาทดลองประกอบกิจการ แต่ท่านก็นำกลุ่มวิทยุที่ยังมีปัจจุบันนี้ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ คลื่น ที่มีการต่อสู้ขอให้มีการขยาย การทดลองประกอบกิจการออกมา แล้วทราบว่าจะมีการปิดกันน่าจะเป็นปีหน้าเดือนเมษายน นี้ละครับ ขอความกรุณาเถอะครับ กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มของภาคประชาชนจริง ๆ ซึ่งถ้าจะให้ ไปประมูลคลื่นแข่งกับกลุ่มนายทุนผมคิดว่าคงยาก ไม่มีทางนะครับ อย่าลืมว่ากลุ่มวิทยุ ภาคประชาชนเขาทำประโยชน์กับประเทศชาติ กับประชาชนในชุมชนของเขา นอกจากทำ ธุรกิจแล้วเขายังออกข่าวสารบ้านเมืองต่าง ๆ เตือนภัยต่าง ๆ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องจ่าย ค่าโฆษณา ค่า Spot อะไรเลย ปล่อยให้กลุ่มเหล่านี้มีช่องทางในการประกอบธุรกิจต่อไป เถอะครับ เพื่อเป็นการช่วยรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าขึ้นมา เพราะกลุ่มธุรกิจ รายเล็กรายน้อยอาศัยโฆษณากับวิทยุชุมชน ธุรกิจภาคประชาชน กลุ่มศิลปินนักร้อง นักแสดงเช่นกัน ไม่มีค่ายเพลงก็มาอาศัยเปิดสถานีวิทยุที่รู้จัก ดีเจ นักจัดรายการก็ให้การช่วยเหลือประชาสัมพันธ์กัน ทุกคนก็มีงานทำ นักจัดรายการ ท้องถิ่นต่าง ๆ มีภูมิปัญญาต่าง ๆ สามารถจัดรายการได้เป็นการส่งเสริม ฉะนั้นถ้าท่านมาปิด แล้วก็นำไปประมูล ผมคิดว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะประกอบกิจการได้ เท่าที่ผมนั่งอ่าน ท่านมีการประมูลคลื่นเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ๗๔ คลื่น มีการประมูลทั้งหมด ๖๘ คลื่น แต่ผมก็ยังไม่ทราบว่าเป็นคลื่นไหนบ้าง แล้วท่านก็บอกว่าท่านจะมีการเอาคลื่นความถี่ต่ำ มาเป็นคลื่น FM เกี่ยวกับสาธารณะ ชุมชน หรือธุรกิจก็ตาม คำว่า คลื่นความถี่ต่ำ ปัจจุบันนี้ ๕๐๐ วัตต์ ๕๐ วัตต์ มันยังไปไม่ไกลเลยครับ ถ้ามันต่ำกว่านี้ถามว่าใครจะมาทำกัน แล้วขอฝากด้วยว่าคลื่นสาธารณะควรเป็นคลื่นของภาครัฐ คลื่นทหาร คลื่นกองทัพ ควรจะ เป็นคลื่นสาธารณะ แต่ปัจจุบันนี้คลื่นเหล่านี้เอามาทำธุรกิจ ไม่ได้ทำสาธารณะนะครับ เอามา ทำธุรกิจมีการโฆษณาต่าง ๆ ผมก็เลยอยากให้ท่านกำกับดูแลให้มันถูกต้อง ให้เป็นธรรมตามที่ กฎหมายกำหนดหน่อย ขอฝากคณะกรรมการชุดใหม่ ขอฝากจริง ๆ ด้วยในเรื่องของ การเยียวยา ท่านอย่าให้มันเงียบหายไป วิทยุเข้ามาที่คณะกรรมาธิการหลายครั้งไม่มีการแก้ไข ไม่มีการบันทึกด้วย ไม่รู้มันเกิดอะไรขึ้น ผมจึงขอฝากชุดใหม่ที่จะเป็นความหวังให้กับ กลุ่มวิทยุภาคประชาชน เอากลับมาดูแล เอากลับมาแก้ไขให้ถูกต้องด้วยครับ ขอบคุณ มากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณคุณนิคม มากครับ ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีคณะนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม School In Parliament ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ จำนวน ๑๒๐ คน เข้ามาชมสภา ขณะนี้ก็กำลังเข้ามานั่งฟัง การประชุมรัฐสภาของเรา สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคณะครูและนักเรียนทุกท่าน ต่อไป ก็เป็นคุณมานพ คีรีภูวดล เชิญครับ ผมขอผ่าน ท่านต่อไป คุณณพล เชยคำแหง เชิญครับ ถ้าไม่อยู่ก็ผ่าน ต่อไปนะครับ เชิญคุณณพลครับ แล้วท่านที่จะเตรียมตัวต่อไป คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แล้วก็คุณอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ตามลำดับ เชิญครับ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายณพล เชยคำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมได้รับหน้าที่ให้อภิปรายรายงานผลการปฏิบัติงานและการทำงาน ประจำปีของหน่วยงาน กสทช. นะครับ เอาชื่อย่อ ชื่อจริงยาวมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ ประเทศของเรากำลังก้าวสู่โลกของ Digital ภารกิจในการกำกับดูแลและการประกอบการ ของโทรคมนาคมจึงเป็นประโยชน์อย่างมากกับประชาชนในประเทศนี้ เพราะฉะนั้น ในการกำกับดูแล การกำกับเรื่องของการแข่งขันให้เป็นธรรม จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน กสทช. แล้วผมเข้าใจดีว่าหน่วยงานของท่านก็ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องในการดูแล ความเป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ในการโทรคมนาคม มันเริ่มขยายวงออกไปมากขึ้น เนื่องจากว่ามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตามนวัตกรรม ของอนาคตที่มีเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อประชาชนโดยรวม ขอ Slide นิดหนึ่งครับ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ในปัจจุบันในสิ่งที่เราเห็นในโลก ก็คือที่เราเอ่ยกันว่ายุค 5G วันนี้เพื่อนบ้านของเราเขาใช้ระบบ 5G กันไปนานแล้ว ขณะเดียวกันผมเข้าใจว่าในบ้านเราก็มีระบบ 5G แต่ว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง และในบางพื้นที่ก็ยังมีสัญญาณที่ไม่เสถียรอยู่ อันนี้โดยเฉพาะในบางจุดที่เป็นจุดที่ ไกลปืนเที่ยงหน่อยบางครั้งสัญญาณติดต่อยากมาก มีการหลุดสัญญาณอยู่บ่อย ๆ อันนี้ก็อยากจะสะท้อนให้ได้ปรับปรุงว่าในโลกของยุค 5G แล้วเราควรจะดำเนินการ เรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมให้เสถียรมากขึ้นกว่านี้ ผมนั่งฟังมาตั้งแต่ต้นก็มีผู้อภิปราย หลายท่านได้พูดถึงในประเด็นปัญหาหลาย ๆ เรื่อง ก็อาจจะซ้ำกันบ้าง แต่ว่าในมุมของผม น่าจะเป็นปัญหาที่จะถามท่านคณะกรรมการ กสทช. อย่างสั้น ๆ กระชับ ๆ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๑ ที่เราเห็นกันอยู่เรื่อย ๆ หลาย ๆ ท่านก็พูดคือปัญหาเรื่องของแก๊ง Call Center ซึ่งวันนี้เป็นปัญหาระดับชาติอีกปัญหาหนึ่ง แล้วก็มีการวิวัฒนาการในเรื่องของ กลอุบายต่าง ๆ ของแก๊งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ คือรู้ทันแล้วเขาก็ไปไกลกว่าไปเรื่อย ๆ ก็ยังมี ปัญหาเรื่องข่าวของการถูกหลอกอยู่สม่ำเสมอ ประเด็นปัญหาของแก๊ง Call Center คำถาม ก็คือมันจะหมดไปได้อย่างไร เนื่องจากว่าวันนี้เราเข้าใจกันดีว่าแก๊งนี้สำนักงานเขาตั้งอยู่ริม บริเวณชายแดนเพื่อนบ้านของเรา สัญญาณไปถึง แต่เราไปทำอะไรเขาไม่ได้เพราะว่า อยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ให้อำนาจเราไปทำ ตรงนั้น แต่สัญญาณไปได้อย่างไรครับ เขาก็ไปตั้งสำนักงานของเขาอยู่ตรงนั้น เมื่อสักครู่ก็มี ผู้อภิปรายพูดถึงเรื่องของพม่าจำนวนเท่าไร ที่ปอยเปต เขมรมีเท่าไร ที่ลาวมีเท่าไร อันนี้เป็น ปัญหาที่ริมชายแดน และทั้งหมดที่ไปก็คือคนไทยเรานี่ละที่จะถูกหลอกเองหรือจะถูกจูงใจ อย่างไรก็ไปอยู่ตรงนั้น ปัญหาเรื่องของ Call Center น่าจะมีทางออกที่ดีได้ ก็คือผมเข้าใจว่า สายส่งของแต่ละข่ายของวิทยุโทรทัศน์ ของสื่อสารโทรคมนาคมแต่ละค่าย วิศวกรเขาต้องรู้ ว่าในสายส่งแต่ละสายที่มีความถี่ มี Traffic มาก ๆ มันอยู่ตรงไหน แล้วตรงนั้นมันเป็น จุดที่จะต้องใช้สายขนาดนั้นหรือไม่ เพราะมันคือป่าบางที่ มันก็คือชุมชนที่ไม่น่าจะเกิด Traffic ได้ขนาดนั้น ผมว่าอันนี้เขาทราบ เพียงแต่ว่ามันเป็นธุระไม่ใช่ แล้วเราจะได้อะไร ผมว่าเรื่องนี้ต้องมีการประสานงาน แล้วก็ขอความร่วมมือกันให้เห็นเป็นจริงเป็นจัง เพราะบางเรื่องสิ่งที่เขาจะต้องทำ ถึงรู้แต่ก็ไม่ทำ เพราะเขาขาดรายได้ครับ อยู่ดี ๆ จะไปจับ ซึ่งปกติพอมีแก๊ง Call Center เขาได้รายได้จากการโทรศัพท์ออกของเขาเยอะอยู่แล้ว วันนี้ ถ้าจะต้องเป็นอย่างนั้น ผมก็ต้องคิดว่าน่าจะมีการพิจารณาว่าเราจะร่วมมือกันได้อย่างไร อันนี้คือเรื่องของแก๊ง Call Center ซึ่งที่มาก็มาจากอย่างที่บอกไปก็คือสำนักงานตั้งอยู่ใน ขอบ ๆ บ้านเรา เราทำอะไรเขาไม่ได้ ต้องเจรจาระหว่างประเทศกันนะครับ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
อันที่ ๒ ที่มาจากแก๊งนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชัดเจนมากก็คือเรื่องของ SIM ปลอม SIM ปลอมมาได้อย่างไรครับ มาจากการลงทะเบียนปลอม คือตัวแทนจำหน่ายของค่าย โทรศัพท์มือถือทั้งหลายเขาก็จะมี Agent ของเขา แต่พวกนี้อาจจะไม่ใช่ Agent เป็น Dealer เป็นพวกลูกตู้ทั้งหลายที่ไปขายสิทธิแล้วเป็นการปลอมแปลงการลงทะเบียนเสร็จสรรพด้วย นายคนนี้หน้าตามาพร้อมเสร็จหมด เอกสารมีครบ แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าเป็นตัวเขา พอถึงเวลา ไปดำเนินคดีไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็เป็นไปได้ แล้วแก๊งลูกตู้เหล่านี้ก็มีรายได้มหาศาลจากการขาย SIM ปลอม อันนี้ก็ต้องดำเนินคดี ต้องตามจับกันให้ได้ ถึงแม้มันจะมีเยอะมากก็ตาม แต่คิดว่า ถ้าเราตัดตอนตรงนี้ได้ก็จะช่วยได้เยอะนะครับ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ประเด็นปัญหาที่ ๒ ในมุมที่คนทั่ว ๆ ไปเห็นก็คือเรื่องของสายสื่อสาร กลายเป็นว่าวันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาบ้านเรา ต้องมีภาพ Selfie กับสายสื่อสาร อย่างใน Slide ที่เห็น แล้วก็เอาไปโชว์กันว่ามาถึงประเทศไทยแล้ว เป็นที่สนุกสนาน ของนักท่องเที่ยว แต่ในความเป็นเราเอง เรารู้สึกว่าทำอย่างไรจะหมดไปให้ได้ อันนี้ ก็เช่นเดียวกันครับ มันเป็นสายสื่อสารที่ระโยงระยาง ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นสายตาย ก็คือไม่ได้มีการใช้แล้ว แต่ไม่มีการเก็บออก เพราะไม่รู้จะมีใครเก็บ แล้วเก็บจะได้อะไร เพราะเก็บมีแต่ค่าใช้จ่าย ต้นทุนมันมี แต่ไม่มีผลตอบแทน ในอดีตสายเหล่านี้ข้างใน เป็นทองแดงยังเก็บได้ แต่ทุกวันนี้เป็น Fiber Optic หมดแล้ว ก็คือขยะดี ๆ นี่เองครับ อย่างนั้นก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ก็ปล่อยไป นับวันมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการขยายตัวของ ระบบสื่อสาร มันก็จะกองกันอยู่ในภาพที่เห็นอย่างนี้ละครับ คำถามก็คือปัญหานี้ทาง กสทช. คิดว่าจะดำเนินการแก้ไขได้อย่างไร ผมว่าต้องขอความร่วมมือไปที่ทุกค่ายของโทรศัพท์ ที่ทำสายนี้ เสานี้เป็นเสาของการไฟฟ้าครับ แต่ว่าเราไปอาศัยสายเขาแล้วก็ไม่เก็บให้เขา ถึงเวลาไฟฟ้าจะมาเก็บเขาก็มีค่าใช้จ่าย เราจะเก็บเองก็มีค่าใช้จ่าย ก็เป็นปัญหาให้เห็น อย่างทุกวันนี้
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ปัญหาสุดท้าย ก็คือเรื่องที่มีผู้อภิปรายได้พูดไปแล้ว คำถามก็คือวันนี้ ในคณะกรรมการ กสทช. ที่ยังมีรักษาการเลขาธิการ กสทช. อยู่ ถึงวันนี้จะร่วม ๓ ปีแล้ว หรืออาจจะ ๓ ปีแล้วก็ได้ที่ยังเป็นรักษาการอยู่ คำถามก็คือเมื่อไรจะได้เลขาธิการตัวจริงครับ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นปัญหาภายในในเรื่องของคุณสมบัติอะไรก็ตาม หรือจะเป็นเรื่องเสียง ของ Board ที่ไม่เอกฉันท์ อย่างไรก็เป็นเรื่องของภายใน ไม่ก้าวล่วงนะครับ เพียงแต่ว่าวันนี้ มันจะตลกมากหากรักษาการไปถึงอายุครบ ๕ ปี เพราะอายุของเลขาธิการก็มีอายุ ๕ ปีครับ แต่นั่นคือต้องใช้รักษาการเลขาธิการไปถึง ๕ ปีผมถือว่านาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พอครับ สรุปจบ ได้ครับ เกือบ ๒ นาทีแล้ว
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ก็มีประเด็นแค่นี้ครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล เชิญครับ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในเรื่องของ กสทช. ผมขออภิปรายเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องของกองทุนวิจัยพัฒนากิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จริง ๆ ในวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยอันนี้ผมว่าก็พูดไว้ชัดเจน เพราะว่าเป็นรายจ่ายหลักของ กสทช. ว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายหลักประมาณเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ทุก ๆ ปีเราก็ได้เงิน เจียดมาจากตัว กสทช. ที่มาจากค่าธรรมเนียม ในวัตถุประสงค์ของกองทุนก็พูดไว้ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสเพื่อจะใช้บริการทั่วถึงของการวิจัย เพื่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อการพัฒนาการบริการ เพื่อทำให้คนในอุตสาหกรรมทั้ง ๓ สาขานี้ ได้มีโอกาสเป็นพื้นที่ทดลอง แล้วก็คุ้มครองผู้บริโภค
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมใช้ในการอภิปรายข้อมูลเรื่องนี้ ก็มีคนที่เขาทำวิจัยเรื่องทุน ของ กทปส. ไว้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งประเด็นสำคัญ ๓ เรื่องที่ผมอยากพูด อันที่ ๑ ก็คือเรื่อง การใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ อันที่ ๒ ก็คือเรื่องตัวทุนต่าง ๆ ที่มอบให้ มันกลายเป็น แหล่งเงินทุนอีกแหล่งหนึ่งที่ส่วนงานราชการเอาไปทำภารกิจปกติของส่วนงานราชการนั้น ๆ แล้วอันที่ ๓ ก็คือเรื่องธรรมาภิบาล
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ใน Slide ที่ ๓ ผมขอฝากดู ใน Slide ที่ ๓ ให้หน่อยครับ ใน Slide ที่ ๓ นี้เราจะเห็นได้ว่าในโครงการต่าง ๆ ที่ปรากฏ ตามเอกสาร หรือแม้กระทั่งโครงการเก่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เพื่อนสมาชิกพูดไปมาก ก็คือเรื่องการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ๖๐๐ ล้านบาท ไม่น่าเชื่อนะครับ เรามีชื่อโครงการว่า โครงการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทย ๓๐ ล้านบาท มาขอใช้เงินกองทุน โครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของกองทัพบกขอไป ๑๘ ล้านบาท โครงการ พัฒนาเพื่อการสื่อสารของกระทรวงกลาโหมอีก ๔๓ ล้านบาท ซึ่งปกติในโครงการเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันน่าจะไปอยู่ในงบปกติที่หน่วยงานขอตรงไปกับสำนักงบประมาณ เพราะฉะนั้น ผมมีความรู้สึกเหมือน กทปส. นี่ทำหน้าที่คล้าย ๆ สำนักงบประมาณทางด้านกิจการ วิทยุกระจายเสียงอีกแหล่งหนึ่ง หรืออันที่มันไปตอบกับเรื่องตัวหน่วยงานรัฐในหน่วยงานอื่น ๆ กทปส. ก็ให้กับหน่วยงานอย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำเรื่องระบบปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่อีก ๑๗ ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาให้ไป ๑๐ ล้านบาท โครงการวิศวกรรมเรื่องระบบโทรทัศน์วงจรปิดของกระทรวงกลาโหมให้ไปอีก ๒๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่ากองทุน กทปส. เป็นแหล่งเงินทุนอีกอันหนึ่ง ที่ไปกระจายให้กับส่วนราชการ ซึ่งพอไปเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ผมคิดว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนพูดไว้ภาพใหญ่มาก แล้วก็พยายามที่จะตอบตรงไปกับประชาชน ทั่วไปเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนที่อยู่ในวงการทั้ง ๓ อัน ถึงแม้ว่าในตัววิธีการบริหารกองทุน จะบอกไว้ แบ่งประเภทของกองทุนไว้ทั้ง ๔ ประเภท อันนี้ผมเข้าใจว่าคงจัดตัวกองทุนไว้ อยู่ในประเภทที่เป็นตามวัตถุประสงค์ของกองทุนก็คือชี้ไปเลย หรือแม้กระทั่งในอันที่เป็น ของส่วนราชการก็เป็นกองทุนประเภทหนึ่งที่ชี้ไปเลย ฉะนั้นผมอยากให้ความเห็น ผ่านท่านประธานก็คืออาจจะต้องไปปรับดูวัตถุประสงค์ของกองทุนใหม่ ในเรื่องอะไร ที่สามารถใช้ในงบปกติได้ ขอให้กลับไปใช้ในงบปกตินะครับ เราจะเห็นได้ว่ามันมีชื่อแปลก ๆ อยู่หลายชื่ออย่างที่ผมได้บอกไป
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนอันถัดมาก็คือวัตถุประสงค์ของ กทปส. ก็คือเรื่องการให้กองทุน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พอไปดูชื่อโครงการต่าง ๆ ของกองทุนสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ใน Slide ถัดไป เราก็จะเห็นได้ว่าในกองทุนกลุ่มนี้หลายชื่อโครงการ มันซ้ำกัน โครงการที่ไปขอในกองทุนสื่อกับโครงการที่ กทปส. ให้เองก็ซ้ำกัน เนื่องจากว่า ผมไม่มีโอกาสได้อ่านลงไปดูในรายละเอียดใน Slide ถัดไป ผมไม่ทราบว่าในรายละเอียด ของเนื้อหาของงานวิจัยที่ขอหรือขอเงินสนับสนุนที่ขอนี่ทำงานเนื้อหาอะไร แต่ผมว่าในฐานะ ที่ กทปส. เป็นหน่วยงานต้นทางคือให้เงินเขา เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องตรวจสอบผลผลิต หรือโครงการประจำปีแต่ละอันว่าประเภทไหน อาจจะต้องมีเส้นแบ่งเขตกันว่าถ้าเรื่อง ประเภทนี้ทาง กทปส. เป็นคนทำ เรื่องประเภทนี้ให้ตัวกองทุนสื่อเป็นคนทำ ถ้าเราอ่านแบบ ผิวเผินเร็ว ๆ มันจะมี Keyword คำที่เห็นอยู่เรื่อย ๆ เช่น จะมีคำว่า ศูนย์ข้อมูลระบบสื่อสาร หรือมีคำว่า Digital หรือมีคำว่า Platform แล้วก็ปลายทางที่จะให้ก็คือให้เด็ก ให้คนพิการ หรือทำงานเรื่องเพื่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นผมอยากฝากให้หน่วยงานช่วยดูรายละเอียด เพิ่มเติมให้หน่อย เพื่อทำให้กองทุนนี้ได้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่สำคัญ อันหนึ่งผมคิดว่าของกองทุนก็คือเรื่องตัวโครงสร้างของกองทุนที่ผมเรียกว่าธรรมาภิบาล ผมทราบดีว่าตัวกรรมการของ กสทช. และตัวกรรมการของกองทุนมันถูกตราด้วยกฎหมาย พอเราเห็นรายชื่อทุนที่ได้รับมันก็กลับไปย้อนดูว่าใครเป็นสมาชิกที่จะอนุมัติเงินเหล่านี้ได้ ท้ายที่สุดนี้กรรมการทั้งหลายของทั้ง กสทช. และ กทปส. ก็มาจากส่วนราชการที่เป็นทหาร สัก ๓-๔ คน มาจากตำรวจ ๑ คน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีคุณหมอเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ หลายคนมาก ฉะนั้นผมคิดว่าสำคัญก็คือ Stakeholder ที่ดูเรื่องนี้น่าจะรู้เรื่องดี ผมคิดว่า ผู้ประกอบการที่เขาทำงานอยู่ในแวดวงนี้ เพราะฉะนั้นในการคัดเลือกคุณวุฒิ หรือในการคัดเลือกตัวแทนจากส่วนราชการ ผมอยากเรียนว่าอยากทำให้มันตรงกับ ความต้องการของตัววัตถุประสงค์กองทุนแล้วก็ประโยชน์ที่ได้รับกับประชาชนปลายทาง ฉะนั้นฝากกราบเรียนท่านประธานถึงหน่วยงาน กสทช. ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ครับ ขอผ่านก่อนนะครับ เชิญคุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ มาพร้อมกับ กตป. หรือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ผมนั่งฟังด้วยความตั้งใจตั้งแต่เช้าครับ แล้วก็ต้องกราบเรียนว่าที่ลุกขึ้นอภิปรายในวันนี้ ก็ตั้งจิตมาแต่ไกล ตั้งใจมาแต่บ้าน เพราะเรื่องของ กสทช. นั้นมันกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชน เรื่องของการบริหารจัดการคลื่นความถี่ เรื่องของความโปร่งใส ในการบริหารจัดการงบประมาณของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศนั้น เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนจับตา และหลายต่อหลายครั้งที่เราได้ฟังคำอรรถาธิบายจาก กสทช. เหมือนกับฟังเพลงศิรินทรา นิยากร คืออยากฟังซ้ำคำที่ท่านอธิบาย เพราะหลายเรื่องฟังแล้ว เกิดความมั่นใจ แต่หลายเรื่องแล้วก็เหมือนเราพายเรือวนในอ่างกลับมาที่เดิม ท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ ผมลองจัดหมวดหมู่ที่ท่านสมาชิกได้ลุกขึ้นอภิปรายในหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ได้หลายหมวดหมู่ด้วยกัน เรื่องที่ท่านสมาชิกให้ความห่วงใยสนใจหลัก ๆ เรื่องแรก ก็คือเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช. ก่อนลุกขึ้นอภิปรายผมก็ได้ถามข้อมูล จากเพื่อนสมาชิกทั้งในสภา นอกสภา เขาบอกว่าฝากให้กำลังใจ กสทช. และฝากเน้นย้ำ ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายให้ชัดเจน ยึดกฎหมายให้มากเพราะว่าจะมีคนติดตาม ตรวจสอบท่านอย่างใกล้ชิด อย่างที่ผมเรียนว่างานของ กสทช. นั้นภารกิจสำคัญมันเป็น หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตถือเป็นปัจจัยที่ ๕ ตื่นเช้ามานี้ถ้าเรามาวัดชั่วโมง ของการที่เรามีภารกิจในชีวิตระหว่างการอยู่บ้าน กับการอยู่กับโทรศัพท์มือถือ อยู่กับหน้าจอ อยู่กับภารกิจของ กสทช. นั้น ตัดสินใจยากว่าเราใช้ภารกิจในแต่ละวันนั้นไปกับสิ่งใด มากกว่ากัน ดังนั้นข้อห่วงใยที่ ๑ ก็คือเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช. ซึ่งท่าน ก็ได้ชี้แจงแล้ว เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของ USO ซึ่งก็เข้าใจว่ามีการเติม Speed มีการเพิ่มเข้าไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีจุดโหว่หรือยังมีจุดที่มีปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกรณี ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องของปัญหาแก๊ง Call Center ด้วยความเคารพนะครับ ผมเป็นผู้หนึ่งที่ลุกขึ้นอภิปรายและตั้งข้อสังเกตใน พ.ร.บ. ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และผมก็ได้ใช้บริการคณะกรรมการนะครับ ด้วยความเคารพ เพราะก็มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ แก๊ง Call Center ผมก็ฝากท่านกรรมการไป ซึ่งก็ต้องกราบเรียนท่านว่าจากวันฝากจนวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นท่านต้องอดทนนะครับ ถ้าจะมีคนตั้งข้อสังเกตเรื่องของงาน แก้ไขเรื่องของแก๊ง Call Center
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องสำคัญอีก ๑ เรื่อง ที่พี่น้องประชาชนไม่ค่อยสบายใจก็คือเรื่องของ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ๒ ค่าย ซึ่งเรื่องนี้มีประชาชนได้รับ ผลกระทบอย่างมาก และหลายครั้งที่แต่ละท่านชี้แจงมันก็ยังมีหลายประเด็น โดยเฉพาะ ในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการในค่ายมือถือทั้ง ๒ ค่ายดังว่า ดังนั้นผมจึงต้องเรียน ว่าการสื่อสารชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อพิทักษ์สิทธิของพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการ โทรศัพท์มือถือทั้ง ๒ ค่ายนั้นท่านจะต้องดำเนินการต่อไป ผมต้องขอกราบเรียนว่า งาน กสทช. ที่ลุกขึ้นมาชี้แจงหลายเรื่อง เฉพาะวันนี้ท่านสมาชิกได้ถามท่านก็ตอบตรง ประเด็นเช่นเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสาร ผมก็ได้ทราบจากท่านว่าก่อนจะเอา สายใหม่ขึ้นก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสัญญาณปล่อยผ่านสายเก่าก่อน ทีนี้สิ่งที่ท่านยังชี้แจง ไม่ชัดหรือตอบไม่ตรงนัก ก็คือว่าการจัดระเบียบสายสื่อสารจากบนดินลงไปใต้ดินมันทำให้ ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่ผมยืนยัน ผมฟังท่าทีของท่านแล้วสบายใจที่ท่าน กสทช. บอกว่า ต่อไปนี้ถ้าเพื่อนสมาชิกในพื้นที่ใดก็ตามที่สนใจใคร่รู้ตื่นตัวในเรื่องนี้จะไปชี้ด้วยกัน ไปจัด ระเบียบสายสื่อสารด้วยกันท่านก็ยินดี ซึ่งผมว่าเป็นท่าทีที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ผมตั้ง คำถามต่อว่ามันมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไร เรื่องของ Cell Broadcast SMS เตือนภัย พิบัติท่านก็ชี้แจงได้ดีนะครับ ผมฟังก็เห็นภาพว่ามันจะไปเตือนอุตลุดก็คงไม่ได้ คือแทนที่จะ เตือนภัยมันกลายเป็นการสร้างความโกลาหล แต่ผมคิดว่าท่านควรจะต้องมีระบบ ในการสร้างสมดุลว่าความเหมาะสมเป็นอย่างไร แล้ว Cell Broadcast มันเหนือกว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ที่เคยมีคนแนะนำให้เราใช้ในการเตือนภัยพิบัติอย่างไร และผลสัมฤทธิ์ ของเรื่องนี้เดินมาถึงปัจจุบันนี้อยู่ตรงไหน แล้วระยะทางกว่าจะถึงเป้าหมายอยู่ไกลแค่ไหน อย่างไร ผมใช้เวลากับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ ผมเข้าใจว่าครบถ้วนก็ต้องบริหารจัดการที่ กตป. ด้วย ผมตั้งคำถาม สัก ๓ ข้อ ขอบพระคุณที่ท่าน กตป. ยิ้มรับคำถามที่ผมจะได้ถามนะครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๑ ผมถาม กตป. หรือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. หรือที่เรียกว่า Super Board เอาเข้าจริงเป็น Super Board จริงหรือเปล่าหรือเป็นเสือกระดาษ เพราะ กตป. ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วทำอะไร กสทช. ไม่ได้เลยหรือเปล่า ทำได้แค่การรายงานเท่านั้น หรือไม่ ปัญหาและอุปสรรคของ กตป. มีอะไรบ้าง นี่คำถามข้อที่ ๑ ซึ่งผมเชื่อว่า กตป. ต้องตอบได้นะครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๒ ความไม่เป็นเอกภาพของกรรมการ กสทช. ที่ต้องยอมรับว่า มีสารพัดข่าวมากมาย ข่าวเชิงบวกนี่น้อยครับ แต่ข่าวเชิงลบนี่เยอะ คำถามคือ กตป. จะใส่ เข้าไปในรายงานปีหน้าหรือไม่ หรือไม่กล้าใส่เพราะว่าเกรงใจ กสทช.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๓ การที่ Board ๔ คน มีมติปลดเลขาธิการ แต่ประธานไม่ยอมปลด ในแง่กฎหมายจะต้องส่งไปที่ศาลปกครองหรือไม่ แล้วถ้าสรรหาเลขาธิการ กสทช. แล้วได้เลขาธิการคนที่โดนปลดไป สิ่งที่เซ็นคำสั่งไปเป็นโมฆะนั้นกรรมการ กสทช. จะทำ เรื่องนี้ให้ชัดเจนได้อย่างไร นี่ก็เป็นประเด็นคำถามที่ฝากไว้ แล้วก็ขอให้กำลังใจ ทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง กตป. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขณะนี้มีคณะ อบต. จากจังหวัดนราธิวาส ๒๐๐ คน เข้ามาชมกิจการสภาและมานั่งฟัง การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ก็ขอต้อนรับทุกท่านนะครับ ยังมีอีกคณะหนึ่งที่เข้ามา นั่งอยู่ข้างบนของห้องประชุมนี้คือคณะองค์การบริหารส่วนตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายอีก ๕๐ คน เข้ามาอยู่ที่ข้างบนของห้องประชุมนี้แล้ว ก็ขอต้อนรับทุกท่านนะครับ วันนี้เต็มห้องประชุมข้างบนเลย ห้องฟังการประชุมครับ ต่อไปจะเป็นท่านสุดท้าย ที่จะอภิปรายในเรื่องนี้คือคุณจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ เชิญครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ผมนั่งฟัง การอภิปรายและการถามตอบของ กสทช. กับเพื่อนสมาชิกด้วยความสนใจ ผลสรุปอันหนึ่ง ที่ผมได้ข้อสรุปก็คือว่าในการพิจารณารายงานผลการประกอบการของ กสทช. ในปี ๒๕๖๕ นั้น กสทช. ยังมิได้มีการดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สาเหตุ ที่ผมสรุปอย่างนี้ก่อนก็เนื่องจากได้ฟังเพื่อนสมาชิกพูด แล้วก็จะขออนุญาตอ่านมาตรา ๗๖ เพื่อกราบเรียนต่อท่านประธานครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรา ๗๖ ให้ กสทช. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีในด้าน การบริหารคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณี ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดแผนงานและผลการปฏิบัติงาน รายละเอียดเกี่ยวกับ การบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณี และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเปิดเผย ให้ประชาชนทราบ รายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ (๑) ผลงานของ กสทช. ในปีที่ล่วงมาเมื่อเทียบกับแผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ (๒) แผนงาน โครงการ และแผนงบประมาณสำหรับปีถัดไป (๓) งบการเงินและรายงาน ของผู้สอบบัญชี รายงานการตรวจสอบภายใน
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ถ้าหากได้อ่านมาตรา ๗๖ อย่างช้า ๆ รายละเอียดก็จะ พบว่ารายงานที่ กสทช. ทำมาไม่ครบถ้วน อย่าง (๑) เป็นเรื่องแผนงานของปี ๒๕๖๕ และผล การปฏิบัติงานของปี ๒๕๖๕ แต่ผมอ่านดูแล้วก็ไม่เห็นว่ามีการแสดงให้เราเห็นว่า กสทช. วางแผนงานอย่างไร และผลเป็นอย่างไรโดยชัดเจน แล้วถ้าหากไปดูใน (๒) ก็คือแผนงานของ ปี ๒๕๖๖ ก็จะอยู่ในหน้า ๒๖๗-๒๖๘ ประมาณ ๒ หน้า ก็ไม่ปรากฏว่ามีรายละเอียดของ แผนงานที่จะทำให้พวกเราทราบเลยว่า กสทช. จะทำอะไรในปี ๒๕๖๖ มีแผนงานอะไรบ้าง และแผนงานนั้นจะมีการวัดผลได้อย่างไร มีแต่การบรรยายคร่าว ๆ ประมาณ ๒ หน้าว่า จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ แต่ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่แผนงานที่จะมานำเสนอต่อสภา เพื่อให้สภาให้ข้อคิดเห็นหรือท้วงติง เนื่องจากมาตรา ๗๖ มีลักษณะพิเศษคือไม่ใช่รายงาน เพื่อทราบเท่านั้น แต่เป็นการรายงานเพื่อที่สภาแห่งนี้จะได้มีข้อคิดเห็น รวมทั้งยังสามารถ ขอเอกสารเพิ่มเติมจากทาง กสทช. เพิ่มได้อีกด้วย ดังนั้นการดำเนินการใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๗๖ ของ กสทช. จึงยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนใน (๓) ใน ๑๒๐ วัน กสทช. จะต้องส่งรายงานผลการประกอบกิจการประจำปี พร้อมด้วยรายงาน งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบของสอบบัญชี แต่ในเอกสารที่เป็นเล่มก็ไม่มีนะครับ ส่วนในเอกสารแทรกก็เป็นเอกสารที่ สตง. แจ้งว่า มีประเด็นที่จะต้องแก้ไข เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลง ไม่ตรงกับรายงานของผู้ตรวจสอบ บัญชี แต่การแนบเอกสารนั้นมาก็ไม่ได้หมายความว่ากระทำครบถ้วนตาม (๓) นะครับ เนื่องจาก (๓) เขียนอย่างนี้ครับท่านประธาน รายงานของผู้สอบบัญชีซึ่งก็คือรายงานของ สตง. ปกติรายงานของผู้สอบบัญชีก็จะมีเขียนว่า สตง. ได้ตรวจสอบรายงานงบการเงิน ของ กสทช. แล้วมีความเห็นอย่างไรบ้าง มีความเห็นว่ามีข้อบกพร่องในสาระสำคัญหรือไม่ โดยมีหมายเหตุประกอบงบการเงินโดยครบถ้วน แต่เอกสารที่ กสทช. ส่งมาทั้งส่วนที่เป็น ในเล่มนี้เอง หรือในใบแทรกนี่ผมก็ไม่พบว่ามีรายงานของผู้สอบบัญชีแนบมาแต่อย่างใด ดังนั้นผมจึงอาจจะกล่าวได้ว่ารายงานผลการดำเนินงานของ กสทช. ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังบกพร่องอยู่ในสาระสำคัญ ผมก็ประสงค์ใช้อำนาจตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ. กสทช. มีในวรรคท้ายบอกว่า นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอาจขอให้ กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. แล้วแต่กรณี ชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจา ก็ได้ ก็จะขอความกรุณาท่านประธาน ขอให้ กสทช. ดำเนินการตามมาตรา ๗๖ ให้ครบถ้วน สมบูรณ์ครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมฟังแล้วก็ค่อนข้างกังวลครับท่านประธาน ทาง กสทช. ได้ชี้แจงว่าในเรื่องของการกำกับหรือป้องกันปัญหาเรื่องอาชญากรรมทาง Cyber นั้น กสทช. ไม่มีอำนาจหรือไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผมเข้าใจว่าการให้ ข้อมูลนั้นเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากถ้าหากดูตามมาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เขียนไว้ชัดเจนครับท่านประธาน ใน (๔) (๖) (๗) ว่านอกจาก ท่านจะต้องพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว ท่านยังต้องกำกับดูแลด้วย อำนาจกำกับดูแล ก็คืออำนาจที่จะต้องดูแลไม่ให้ประชาชน พ่อแม่พี่น้องเดือดร้อนจากอาชญากรรมทาง Cyber เป็นความรับผิดชอบของท่านโดยตรง ส่วนการรับผิดชอบของหน่วยงานบ้านเมืองในเรื่องของ กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ หรือศาลก็แล้วแต่ ก็เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งในเรื่องของ กระบวนการยุติธรรม แต่ในเรื่องของฝ่ายบริหาร ผู้กำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัย ของประชาชน ความเดือดร้อนของประชาชนนั้นเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กสทช. อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ขออนุญาตฝากความกังวลไป ๒ เรื่อง ก็คือ ๑. รายงานผลงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๗๖ แล้วก็อำนาจหน้าที่ของ กสทช. นั้นมีอำนาจ หน้าที่ในการกำกับดูแลด้วย ดังนั้นจึงมีความรับผิดชอบโดยตรง ถ้าหากว่าประชาชนเดือดร้อน เกี่ยวกับอาชญากรรมทาง Cyber เป็นสิ่งที่ กสทช. ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขอเชิญ กสทช. ชี้แจงครับ
นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ
ขออนุญาตนิดหนึ่งได้ไหมครับ ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ
ขอบคุณนะครับท่านประธาน เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล
นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ
พอดีมี ๑ คำถามที่อยากจะถามไปยังท่านผู้ชี้แจงนะครับ ตามประกาศ ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องของการยกเลิกประกาศ Must Have ก็เลยมีชาวบ้านอยากจะสอบถามว่าการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ๒๐๒๖ ที่จะถึงนี้ท่านคิดว่าคนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกไหมครับ แบบทั่วถึง และเท่าเทียม ถ้าไม่ได้ดู ท่านจะมีแนวทางหรือมีความรับผิดชอบเรื่องนี้ต่อพี่น้องประชาชน อย่างไร ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญเลยครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
จะถามเพิ่ม หรือครับ เชิญครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๕ พรรคประชาชาติ ก่อนที่ผู้มาชี้แจงจะชี้แจง ผมขออนุญาตท่านประธาน พอดีเมื่อเช้าผมก็ได้อภิปรายประเด็น ของ กสทช. เกี่ยวกับ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วผมก็รอฟังคำตอบ อยากให้ท่านชี้แจงไป ในคราวเดียวกัน นั่นก็คือว่าผมอภิปรายเมื่อเช้าว่าในพื้นที่ชายขอบ Zone C ใน ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้เป็นเทือกเขาคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านประสบ ปัญหาความเดือดร้อนในการใช้โทรศัพท์ ก็เลยอยากให้ท่านชี้แจงไปในคราวเดียวกัน เพ ราะว่าผมฟั งท่ำนชี้แจงบำงช่วงบำงตอนท่ำนยังไม่ตอบป ระเด็น นี้ว่า ในปี ๒๕๖๗ ในแผนงบประมาณปี ๒๕๖๗ ท่านมีโครงการจะแก้ปัญหาการใช้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ Zone C ที่ยังไม่มีเสาสัญญาณอาจจะยังไม่มีคลื่นโทรศัพท์ อย่างไรบ้าง
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ก็อยากเพิ่มเติมที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยได้อภิปราย เมื่อสักครู่เกี่ยวกับข้อกฎหมายมาตรา ๗๖ ๑๒๐ วันในปีงบประมาณปี ๒๕๖๗ ท่านได้ยื่น เสนอแผนงานต่อคณะรัฐมนตรีหรือยัง อย่างไรบ้าง ขอบคุณครับ จะได้ชี้แจงคราวเดียวกัน ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญชี้แจง เลยครับ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ก่อนอื่น ผมขออนุญาตใช้สิทธิที่ถูกพาดพิงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของกระผม กระผมขอชี้แจงว่า ถ้าไม่นับรวมการอบรมที่สหรัฐอเมริกาในวิชาชีพผมตั้งแต่ปี ๑๙๘๔-๑๙๙๓ กระผมไม่เคย ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนอกประเทศไทย กระผมไม่เคยมีคลินิกส่วนตัวทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ สิ่งที่ปรากฏในสื่ออาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดโดยที่มีแพทย์ไทยอาวุโสที่มีชื่อ คล้ายกัน ที่มีคลินิกส่วนตัวและประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสหรัฐอเมริกา และมีคนไทยไปรับ การรักษามาก
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เรื่องค่าใช้จ่ายในการพิจารณาการควบรวม True Dtac เป็นมติ กสทช. ไม่ใช่คำสั่งของประธาน กสทช.
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เรื่องการสรรหาเลขาธิการ ผมชี้แจงไปแล้วว่าผมปฏิบัติตาม กฎหมาย ผมปฏิบัติตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ขออนุญาตนิดเดียวครับ ต้องขอประทานโทษท่านคุณหมอด้วยครับ พอดีชื่อผู้ชี้แจงมันผิด
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวอย่างนี้ ได้ไหมครับคุณณัฐวุฒิ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ไม่ครับท่านประธาน เสียหาย ต่อคุณหมอครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวผมจะให้พูด หลังจากที่ท่านประธาน กสทช. ได้ชี้แจง แล้วมีประเด็นอะไรที่พวกเรา ไม่ใช่คุณณัฐวุฒิ ท่านเดียวนะครับ เห็นว่ายังชี้แจงไม่ชัดเจนหรือเพิ่มเติม เดี๋ยวตอนหลัง หลังจากที่ประธาน ได้ชี้แจงแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะไม่จบ ขออภัยด้วยคุณณัฐวุฒิครับ เดี๋ยวพอท่านชี้แจงจบ ท่านณัฐวุฒิต่อได้เลย เชิญครับ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ในกรณีเรื่องของ ITU อันนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เราจะเป็น Council ของ ITU สำหรับเรื่องความไม่เป็น เอกภาพ ผมเรียนอีกครั้งว่าอันนี้เป็นเรื่องของความเห็นทางกฎหมายที่ต่างกัน ไม่ใช่เรื่อง ส่วนตัว แล้วบางครั้งการที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องของการกฎหมายก็ต้องขอความกระจ่าง จากที่ปรึกษากฎหมาย หรือแม้กระทั่งกฤษฎีกา ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ยังมีสมาชิก ท่านใดจะขอซักถามเพิ่มเติม รวมทั้งคุณณัฐวุฒิ ไม่มีอะไรแล้วนะครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ต้องขอประทานโทษท่านประธานจริง ๆ ครับ แต่ท่านประธานแก้ไขแล้วครับ บังเอิญว่าชื่อผู้ชี้แจงที่ขึ้นบนจอมันไม่ตรงกับชื่อคุณหมอสรณ ซึ่งด้วยความเคารพ ผมก็รู้จัก ท่านเคยเป็นกรรมาธิการ เกรงว่าสังคมจะเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็เลยต้องรีบยกมือ ต้องขอประทานโทษท่านประธานด้วยครับ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้แก้ไขแล้ว ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณณัฐวุฒิมากครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
ขออนุญาตครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญเลยครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขต ๑ พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมเอง ขอนิดเดียวนะครับ ผมขอสนับสนุนท่านณพล เชยคำแหง จากพรรคเพื่อไทย ในเรื่องสายของ โทรคมนาคมทั้งหมด สายโทรศัพท์ทุก ๆ อย่างที่อยู่บนเสาไฟ ทางในเมืองนี้อยู่น่าเกลียด แต่ทางนอกเมืองโดยเฉพาะทางต่างจังหวัดยิ่งน่าเกลียดใหญ่เลย เกือบจะคล้องคอผู้ที่โดยสาร รถมอเตอร์ไซค์หลายครั้งหลายคราแล้วครับ มีทั้งสายเก่าและสายใหม่ แยกกันไม่ออกเลยว่า อันไหนสายเก่าและอันไหนสายใหม่ เส้นใหม่หรือเส้นเก่าเราไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นแล้วก็ ขอนำเรียนด้วยความเคารพถึงท่านผู้ชี้แจง แล้วก็ให้ถึงหน่วยงานของท่านด้วยว่าช่วยกัน หน่อย บ้านเมืองของประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่อย่างน้อย ๆ เป็นเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่าให้เพื่อนต่างประเทศ ให้เพื่อนคนที่มาเที่ยวจากต่างประเทศมามองเห็นบ้านเมืองเรา โดยสายโทรศัพท์ของเราเป็นอย่างนั้น ผมนำเรียนว่าช่วยกันหน่อย แล้วก็ลดปัญหา ไม่ว่า รกร้างทีหนึ่งแล้ว เสาไฟฟ้ามาขยับ แต่สายโทรศัพท์ยังกองอยู่ที่พื้นนานเป็นปี ๆ แล้วก็ อยู่ทางเขตชุมชน อยู่หน้าโรงเรียน อยู่หน้าวัด เพราะฉะนั้นก็ขอนำเรียนท่านประธาน ฝากด้วย ฝากให้ดูแลและแก้ไขปัญหาโดยด่วนเลยครับ โดยเฉพาะทางจังหวัดชุมพร ขอบคุณ มากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณคุณวิชัย มากครับ เชิญครับ ทาง กสทช. จะชี้แจง
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญท่าน สส. ก่อน แล้วก็เดี๋ยวท่านชี้แจง
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของชาวบางบอน จอมทอง หนองแขม อยากฝาก ท่านประธาน ถามผ่านท่านประธานไปยังท่านผู้ชี้แจงเมื่อสักครู่ คุณหมอสรณ ขออนุญาต เอ่ยนามท่านนะคะ คือเนื่องจากท่านบอกว่าท่านไม่ได้มีอำนาจในการอนุญาตทั้ง ๆ ที่ จริง ๆ แล้วใน Board บริหารตอนที่โหวตกันก็มีหลายเสียงที่ออกเสียงโดยการบอกไปเลยว่า ไม่อนุญาต แล้วดิฉันก็ได้ถามไปเมื่อการอภิปรายสักครู่นี้ว่าถ้าไม่ใช่องค์กรของท่านแล้ว ถ้าไม่ใช่ตัวท่านแล้ว ที่มีอำนาจในการที่จะหยุดยั้งการควบรวมนี้ จะมีองค์กรไหน บุคคลไหน หรือว่าเทวดาองค์ไหนในประเทศนี้ที่จะสามารถหยุดยั้งการควบรวมนี้ได้ หรือว่ามีอำนาจ ในการทำสิ่งเหล่านี้ ท่านช่วยตอบให้ดิฉันหายสงสัยทีค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญครับ
ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิก ผมปฏิบัติตามกฎหมายนะครับ อำนาจหน้าที่ มาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. องค์กร ไม่ได้มีข้อไหนเลยที่มีบทบัญญัติให้อนุญาตการควบรวมธุรกิจ สำหรับว่า ใครจะมีอำนาจนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่มากไปกว่าพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ก็เรียนแค่นี้ครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต้องการ จะซักถามเพิ่มเติม ได้ เชิญครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ถ้าเช่นนั้นแล้วท่านก็สามารถ ออกเสียงว่าไม่รับทราบการควบรวมได้ไม่ใช่หรือคะ ก็ในเมื่อท่านบอกว่ารับทราบได้ ท่านก็ ต้องบอกว่าไม่รับทราบได้ แล้วนั่นก็อาจจะหมายถึงการไม่อนุญาตก็ได้ไม่ใช่หรือคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญท่านเลขาธิการ ใช่ไหม ท่านเลขาธิการกำลังจะชี้แจงเพิ่มเติม เชิญครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับ เดี๋ยวทางด้านสายงานโทรคมนาคม ให้ท่านรองเลขาธิการ สุทธิศักดิ์เป็นผู้ตอบ ส่วนทางด้านดาวเทียม จะเป็นท่านผู้เชี่ยวชาญเสน่ห์ แล้วทางวิทยุชุมชน จะให้ทางท่านผู้ช่วยมณีรัตน์นะครับ ผมขออนุญาตตอบในส่วนงานนโยบายก่อนนะครับ เรื่องเดินทางที่ไปตามมติของ ครม. ที่ไปหาเสียง ITU Council อันนี้ก็เป็นแผนงานการใช้ จ่ายเงินทั้งหมดเราก็ได้นำเสนอ ครม. ซึ่ง ครม. ก็มีอนุมัติตามมา ซึ่งสมัยก่อน ก่อนที่เราจะมา รับผิดชอบก็จะมีกระทรวง DE มีกระทรวงคมนาคม เขาก็จะมีตั้งงบหาเสียงไว้อยู่ อันนี้เราก็ เริ่มหาเสียงตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนผ้าที่ท่านถามสีเหลือง เราได้ใช้ OTOP ซึ่งชาวบ้านเป็นคนทอ แล้วก็ใช้ ช่างชาวบ้านมาตัดให้ ก็ไม่มีอะไร ส่วน TV ที่ออกพระราชพิธีต่าง ๆ อันนี้เป็นงบที่เราตั้งให้ แล้วก็ให้ ทรท. รวมการเฉพาะกิจมาใช้ ซึ่งทุกช่องจะได้ใช้เหมือนกันหมด โดยที่แม่ข่าย คือ ทรท.
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
USO ที่เมื่อสักครู่นี้ผมตอบคำถามท่าน ตอนนี้ ศอ.บต. กำลังจะส่งข้อมูล เพิ่มเติมให้เราว่าจุดบอดการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ตรงไหนอีก ซึ่งเราจะไปทำเพิ่มเติมในแผน USO
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
เรื่องจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน เราใช้ระเบียบพัสดุของทางกระทรวงการคลัง ซึ่งคนที่จัดซื้อจัดจ้างก็จะต้องยื่นผ่านระบบที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนด เราไม่ได้มีระเบียบ จัดซื้อจัดจ้างเป็นของตัวเราเองนะครับ เพราะฉะนั้นการจัดซื้อจัดจ้างก็จะเป็นไปตามที่ ทางกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังเป็นคนกำหนดทุกอย่าง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องเอกสารที่ว่าการปรับงบ เนื่องจากว่า พ.ร.บ. ให้เราส่งภายใน ๑๒๐ วัน ส่วน สตง. มีอำนาจในการตรวจเรา ๑๘๐ วัน ก็จะมีช่วงเหลื่อมระยะเวลากันอยู่ ซึ่งเราส่ง ภายในระยะเวลาที่กำหนดตลอด พอหลังจากที่ สตง. ตรวจของเราเสร็จ สตง. จะแจ้งตัวเลข มาให้เราปรับ เราก็จะปรับแล้วเราก็จะส่งเป็นเอกสารตามมา ซึ่งเป็นเอกสารทางการ ซึ่งในนั้นใบปะหน้าก็จะมีเขียนอยู่แล้วว่า สตง. ได้ตรวจแล้ว เพราะฉะนั้นของปี ๒๕๖๕ ที่ท่านถามมาก็จะได้เห็นในเล่มของปี ๒๕๖๖ จะเป็นตัวเลขที่ถูกต้องทั้งหมดนะครับ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนทางด้านกองทุน ขอยืนยันว่างบประมาณใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งงบประมาณที่อนุมัติให้ส่วนราชการไม่ได้มีตั้งในปี ๒๕๖๕ แล้ว ได้สิ้นสุดตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีงบสนับสนุนให้กับส่วนราชการอีกแล้ว แล้วก็เวลาที่ผู้เข้ามาขอยื่นรับทุน ไม่ว่าจะเป็นทั้งกระทรวง DE คือกองทุน DE กองทุนสื่อ หรือว่าของ สกสว. และแม้กระทั่ง ของ กทปส. เองตอนนี้เรามีการบูรณาการระบบซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นใครยื่นที่ไหนก็ตาม ก็จะขึ้นถึงกันหมดว่าอันนี้ได้ให้ไปแล้ว อันนี้ยังไม่ได้ให้ เดี๋ยวขออนุญาตเชิญท่านรองสุทธิศักดิ์ ตอบทางด้านโทรคมนาคมนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก่อนที่ผู้ชี้แจง จะชี้แจงเพิ่มเติม ขอเรียนเล็กน้อยนะครับ ขณะนี้ได้มีผู้มาฟังการประชุมของเรา สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคุณ Sebastian Lim ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ ระหว่างประเทศแห่งมาเลเซียและคณะ จำนวน ๑๒ คน ซึ่งมาเยี่ยมรัฐสภาแล้วก็กำลังฟัง การประชุมของสภาของเรา ขอต้อนรับทุกท่านครับ เชิญต่อเลยครับ
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ ต่อข้อหารือหรือข้อซักถาม ผมก็ขอตอบในเรื่องของการขยายโครงข่ายก่อนนิดหนึ่ง สืบเนื่องมาจากที่ท่านรักษาการ ได้ตอบไปของท่านกมลศักดิ์นะครับ ผมว่าในแผนเราที่ยังมีตกหล่นอยู่ก็คงจะเก็บในส่วน ที่เหลือ แต่ต้องเรียนตามตรงว่าในบางพื้นที่มีข้อจำกัดจริง ๆ ถนนมี แต่เสาไฟฟ้าไม่มี มันก็ ไม่สามารถที่จะลากเรื่อง Fiber หรือขยายสัญญาณเข้าไปได้ นอกจากจะใช้เรื่องดาวเทียม เข้าไป พอดาวเทียมเข้าไปก็จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพการให้บริการอีก แต่เราจะพยายามทำดี ที่สุดตรงนี้ในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม ต้นฉบับ
ตอบของท่านรักชนก เรื่องควบรวม ทางสำนักงานเองผมคิดว่าเราทำตาม อำนาจกฎหมายที่เกิดขึ้น แล้วก็องค์คณะของ กสทช. ก็เป็นองค์คณะที่เป็นอำนาจหน้าที่ ของแต่ละบุคคลที่จะตัดสินใจในการดำเนินการว่ามีมติอย่างไร ทีนี้เราต้องเคารพในสิ่งที่ ตัดสินใจของแต่ละท่าน เพราะฉะนั้นมติออกแบบนั้นเราก็ต้องยอมรับในมติตรงนั้นออกไป แต่ข้อคลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งที่ท่านรักชนกกล่าวคือมีการใช้เงินจ้างที่ปรึกษาประมาณ ๒๐ ล้านบาท จริง ๆ เราใช้อยู่ประมาณ ๑๔ ล้านบาท ที่เป็นของคนไทยส่วนหนึ่ง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เป็นของ SCF ก็คือต่างประเทศ ถามว่าทำไมเราต้องใช้ ทั้งไทยและต่างประเทศในการที่จะมาเป็นรายงานผลการศึกษาเพื่อประกอบกัน ทาง Board เองก็มีมติในเรื่องของการที่ว่าในประเทศไทยก็จะมีมุมมองหนึ่ง ต่างประเทศ ก็จะมีอีกมุมมองหนึ่ง เลยต้องมีการเอาทั้ง Second Opinion กับ Third Opinion มา แล้วนอกจากนั้นเราก็มีคณะอนุกรรมการอีก ๔ คณะขึ้นมาที่ตั้งโดย Board เข้ามาบูรณาการ Blend ในเรื่องของข้อมูลทั้งหมดที่เข้าสู่ Board แล้วก็เข้าไปใน Board ในการที่จะตัดสินว่า รับทราบหรือไม่รับทราบตามประกาศของเรา อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีมติตรงนั้นออกมา เราก็ต้องยอมรับในมตินั้นออกไป
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม ต้นฉบับ
แล้วส่วนหนึ่งที่มี Guarantee สำหรับประชาชนแน่ ๆ ที่เราบอกก็คือ มีมาตรการเฉพาะ ซึ่งเราก็มีคณะทำงานที่ติดตามเรื่องมาตรการเฉพาะนี้อยู่ในการควบรวม ในนามของสำนักงาน อันนี้เราก็ชี้แจงเบื้องต้นในเรื่องของการควบรวมที่เกิดขึ้น
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม ต้นฉบับ
แล้วก็ผมเข้าใจว่าจะมีเรื่องของทางท่านที่เพิ่มเติมขึ้นมาในเรื่องของ จัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งผมก็ยินดีแล้วผมก็น้อมรับในเรื่องของการที่จะไปเร่งรัดในแต่ละ พื้นที่ที่เกิดขึ้น ก็ยังเรียนตามตรงว่าในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละสถานที่มันมีแผนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมี บางพื้นที่ที่มันเป็นจุดวิกฤติหรือเหตุการณ์ที่เฉพาะหน้าจริง ๆ ก็มีการขอมาในบางพื้นที่ เราก็รีบดำเนินการให้ อันนี้ก็เป็นการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางสำนักงาน กสทช. เอง การไฟฟ้านครหลวงในกรุงเทพฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในต่างจังหวัด หน่วยงาน อบต. อบจ. หรือกรุงเทพมหานคร ในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีถ้า สส. ในพื้นที่ได้เห็น แล้วก็เล็งถึงประโยชน์ตรงนี้เราก็จะมาทำงานร่วมกันในการที่จะทำอะไรเพื่อประชาชน ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจริง ๆ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวมีอีก ท่านหนึ่งชี้แจง เดี๋ยวผมจะให้สมาชิกได้ซักถามเพิ่มเติมได้ครับ เชิญชี้แจงให้จบก่อนครับ
นายเสน่ห์ สายวงศ์ วิศวกรเชี่ยวชาญพิเศษ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายเสน่ห์ สายวงศ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงาน กสทช. ขออนุญาตใช้เวลาของสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวกับกิจการ ดาวเทียม ซึ่งท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับอนุญาต ในการให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด ซึ่ง กสทช. ได้จัดให้มี การคัดเลือกในลักษณะประมูล เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคมที่ผ่านมา ก็ขออนุญาตเรียนอย่างนี้ว่า แต่เดิมทาง กสทช. ชุดเดิมได้มีหลักเกณฑ์ แล้วก็มีผู้ประสงค์เข้าร่วมการคัดเลือกเพียง ๑ ราย การประมูลครั้งดังกล่าวจึงยกเลิกไป แล้วก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่มี เงื่อนไขสำคัญก็คือว่ามีการกำหนดให้จัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วก็กำหนดให้มีช่องสัญญาณสำหรับบริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิด ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนั้นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญก็คือให้มีแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีที่ คุ้มครองผู้ใช้บริการของดาวเทียมไทยคม ๔ ซึ่งกำลังจะหมดอายุที่ประสงค์จะใช้บริการ ต่อไปนี้ในช่วง Transition ไปยังดาวเทียมดวงใหม่ไม่ให้มีผลกระทบแล้วก็ใช้งานได้อย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการประมูลอาจจะมีความคลาดเคลื่อน ผลการประมูล ๕ ชุด ชุดที่ ๑ และชุดที่ ๕ ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ แล้วก็ชุดที่ ๒ และชุดที่ ๓ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ได้ยื่นประมูลในราคาสุดท้ายที่ ๓๘๐ ล้านบาท และ ๔๑๗ ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนในชุดที่ ๔ นั้น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้มีราคาสุดท้ายในราคา ๙ ล้านบาท อันนี้เหตุผลที่ราคาน้อยก็เนื่องจากว่าเป็นจุดขายงานดาวเทียมที่ยังประสานงาน ไม่เสร็จสิ้น และยังไม่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นใช้งานจริงได้ในเวลาอันรวดเร็ว สรุปก็คือว่า เราได้มีการนำที่ได้จากการประมูลนำส่งรัฐทั้งหมดก็คือในราคา ๘๐๖ ล้านบาท ซึ่งทาง กสทช. มุ่งหวังว่าจะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเดิม ซึ่งมีผู้รับอนุญาตเพียง ๑ ราย ไปสู่ระบบ การอนุญาตที่สามารถสร้างการแข่งขันได้เพิ่มขึ้นในอนาคต แล้วก็ประเทศไทยสามารถรักษา สิทธิวงโคจรดาวเทียมไว้ได้ ในชั้นนี้ก็คือจะมีอีก ๒ ชุด ก็คือที่ยังไม่มีผู้ยื่นความต้องการ กสทช. อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ แล้วก็ให้สร้างเพิ่มขึ้น แล้วก็คาดหวังว่า จะสามารถจัดให้มีการคัดเลือกภายในสิ้นปี ๒๕๖๖ นี้ ก็ขออนุญาตใช้เวลาเท่านี้ครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญอีกท่านหนึ่ง เดี๋ยวผมจะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ซักถามเพิ่มเติม เชิญครับ
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธาน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ดิฉัน มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายงาน กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ในส่วนที่ได้มีข้อซักถามตั้งแต่เช้าในเรื่องของโทรทัศน์ Digital ว่า ในด้านของ กสทช. เองเราได้มีการดำเนินการอย่างไร หรือไม่ ที่เกี่ยวข้องกับ การประมูลคลื่นความถี่ จากการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดของ กสทช. ก่อนที่จะ ทำการประมูลคลื่นความถี่ เราได้มีการศึกษาในเรื่องของมูลค่าคลื่นความถี่ รวมถึง ในเรื่องของกรณีของกลุ่มตลาดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานคลื่นความถี่เหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งในสภาวการณ์ในขณะนั้นเองเป็นยุคของการตื่นตัวของกลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่อยู่ในกลุ่มภาคพื้นดิน ที่มีอยู่จำนวนน้อยราย แล้วก็มีกลุ่มที่อยู่บน Platform ดาวเทียมหรือเคเบิลเองก็ตาม ต้องการที่จะเข้ามาสู่ตลาด ในเรื่องของกิจการโทรทัศน์ที่เป็นระดับชาติ ฉะนั้นในกลุ่มของความต้องการหรือความต้องการ ของกลุ่มตลาดจึงมีความต้องการที่สูงมาก จากข้อมูลที่เห็นนะคะ เป็นข้อมูลที่ปรากฏ ในสื่อสาธารณะอยู่แล้วว่าเรามีการเปิดประมูลคลื่นความถี่อยู่ ๒๔ คลื่นความถี่ แต่มีผู้เข้าร่วม แข่งขันถึง ๔๙ ราย ฉะนั้นจึงเห็นถึงความต้องการในตลาดนะคะ และการประมูลคลื่นความถี่ หรือมูลค่าของการประมูลคลื่นความถี่เราคำนวณจากมูลค่าคลื่นความถี่ในราคาที่ต่ำที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าในเชิงของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เป็นมูลค่าในเชิง สังคม การประมูลคลื่นความถี่จึงถือเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดเพื่อให้ผู้ให้บริการรายใหม่สามารถ เข้าสู่ตลาดได้ค่ะ นี่ก็จะเป็นคำตอบคำถามแรกที่ได้มีคำถามว่าเราได้มีการศึกษาเรื่องนี้หรือไม่
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนคำถามที่ ๒ ที่สอบถามว่าเราได้มีการประเมินหรือไม่ ในเรื่องของ การดำเนินการของการประมูลคลื่นความถี่ หรือภายหลังจากที่เราได้มีการดำเนินการมาแล้ว จากการดำเนินการของเราทั้งหมดเราได้มีการศึกษาแล้วก็มีการประเมินรายงานผลการศึกษา ปรากฏอยู่ใน Website ของสำนักงาน กสทช. ค่ะ จากรายงานดังกล่าวปรากฏว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เองเราสามารถที่จะเพิ่มในเรื่องของมูลค่ามวลรวม ของตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเฉพาะกิจการโทรทัศน์ได้ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ทั้งนี้เป็นกรณีของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการเกิดการผลิต มูลค่ามวลรวมในอุตสาหกรรมในเรื่องของการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แล้วก็ได้มีการลดทอนในกรณีที่เราได้มีการคืนคลื่นความถี่ ภายใต้มาตรา ๔๔ ไปแล้วเรียบร้อย เอกสารข้อมูลต่าง ๆ สามารถที่จะดูได้ใน Website ของสำนักงาน กสทช. ค่ะ
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ต่อไปก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้มีการประเมินกันว่าภายหลังจากที่ได้มี การประมูลคลื่นความถี่ในระบบ Digital แล้ว มีการ Disrupt ในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามา ในช่วง ๔-๕ ปีหลังนี้มา กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจค่ะ เราได้มีการศึกษาในเรื่องนี้ และในเรื่องนี้เอง ก็อยู่ในการศึกษาว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเรื่องของการใช้งานคลื่นความถี่ ในอีก ๕ ปีต่อไป นั่นหมายความว่าคลื่นความถี่ใน ๕ ปีต่อไป หากจะต้องมีการนำไปใช้ ในกิจการอื่นที่เป็นกิจการที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับชมในประเทศไทยเราเอง ในปัจจุบันนี้เอง เป็นกลุ่มที่ยังอยู่ใน Generation ที่รับชมโทรทัศน์ พฤติกรรมผ่านทาง โทรทัศน์ภาคพื้นดินอยู่ในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ ๕๐ ก็เป็นกลุ่มตั้งแต่ ๔๕ บวกขึ้นไป นั่นหมายถึงอายุนะคะ ดังนั้นในกรณีนี้กิจการคลื่นความถี่ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นและใช้ สำหรับกิจการบริการสาธารณะอยู่ แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของการที่จะนำไปสู่ในเทคโนโลยีใหม่ หรือ New เทคโนโลยีในเรื่องของ Digital เอง ก็มีกลุ่มใหม่ที่เป็นกลุ่มที่เรียกว่าอายุต่ำกว่า ๔๑ ปี เป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ค่าตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพูดไม่ได้ผิดค่ะว่าค่าทางการตลาดกลุ่มเหล่านี้ได้มีการเพิ่ม ตัวขึ้นและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความจริงค่ะ และในกรณีนี้เอง กสทช. ก็ได้เข้าไปได้ ดูในเรื่องของมูลค่าโฆษณาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็เข้าไปศึกษาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตจะต้องทำอย่างไร ในการศึกษาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เองก็นำมาสู่ในเรื่องของ การศึกษาฉากทัศน์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคใหม่ ในเรื่องของการดำเนินการในกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ทีนี้ก็จะข้ามต่อไปถึงในเรื่องของท่านสมาชิกท่านหนึ่งที่ได้มีการสอบถาม ในเรื่องของ Over-The-Top หรือ OTT ที่มีความเชื่อมโยงกัน ในส่วนนี้เองจะนำเรียนว่า มีความเชื่อมโยงกัน และ กสทช. ก็ได้มีการดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วในเรื่องของการมีมติ ในครั้งที่ผ่านมาว่าให้สำนักงาน กสทช. ไปประสานงานร่วมกันกับ ETDA หรือว่า DE ในเรื่อง ของการดำเนินการเกี่ยวกับกลุ่มผู้ให้บริการโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการสื่อภาพและเสียง ผ่านทาง Over-The-Top ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีแนวทางหรือกลไกในเรื่องเกี่ยวกับ การกำกับดูแลในเรื่องของ Over-The-Top TV นะคะ ทั้งนี้ก็จะมีแนวทางที่สำนักงานจะได้มี การนำเสนอเรื่องของการ Deregulate หรือในเรื่องของการลดทอนภาระการกำกับดูแล ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากว่า เราไม่สามารถที่จะสกัดกั้นการหลั่งไหลเข้ามาของสื่อต่างชาติได้ และรวมถึงต้องมีการสร้าง ให้เกิดศักยภาพที่เข้มแข็งของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยค่ะ
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เป็นประเด็นที่สอบถามกันมากในเรื่องของกฎ Must Have Must Carry ค่ะ จะขออนุญาตทำความเข้าใจกับท่านสมาชิกว่าในเรื่องของกฎ Must Have Must Carry เอง เกิดขึ้นมาในช่วงยุคของการเกิดขึ้นของ TV Digital ในช่วงของ ๕-๑๐ ปี ที่ผ่านมา ในช่วงนั้นเองการรับชมของประชาชนชาวไทยจะเป็นการรับชมผ่านทาง เสาก้างปลา ส่วนหนึ่งประมาณสัก ๔๙ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นการรับชมผ่านทางดาวเทียม และเคเบิล ดังนั้นเอง กฎ Must Have Must Carry จะเป็นจุดที่เข้าไปเติมเต็มทำให้ ประชาชนสามารถเข้าถึง Content ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการพื้นฐานได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ กสทช. ในยุคนั้นได้วางกรอบแนวทางหรือนโยบายขึ้นมา
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ถัดไปก็คือว่าเมื่อมีการผ่านมาในระยะหนึ่ง ก็จะมีกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ การบริหารจัดการการใช้สิทธิในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ Event โดยเฉพาะฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่เกิดขึ้น ถามว่าในขณะนั้นการดำเนินการในเรื่องนั้น ในยุคต้น ๆ มีผู้ที่จะเข้าไปแข่งขันในเรื่องของการซื้อลิขสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร กลไก ในตลาดในวันนั้นยังมีน้อยรายที่เข้าไป แต่เมื่อกลไกตลาดของ Digital TV ได้มีการเติบโตขึ้น ผู้ให้บริการมีศักยภาพมากขึ้นในการที่ จะเข้าไปสู่ตลาดได้ การเปลี่ยนแปลงในการรับชมผ่านทางโลก Internet มากขึ้น ในกรณีดังกล่าวนี้เอง กสทช. ท่านเองก็ได้ให้แนวทางสำนักงาน กสทช. มาให้พิจารณา การปรับเปลี่ยนบริบทในเรื่องของการเข้าแทรกแซงตลาดด้วยกฎ Must Have Must Carry ด้วยเช่นเดียวกันนะคะว่าเรื่องเหล่านี้เรายังคงต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบันนี้เองเราได้มีการพูดคุยกับกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว ก็มีแนวทางที่จะมีการนำเสนอว่า ๑. อาจจะต้องขอให้มีการตัดรายการฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายออกหรือไม่ ในกรณีนี้เองในอุตสาหกรรมก็มีข้อคิดเห็นว่ายังคงเป็นประโยชน์อยู่ แต่ขอให้ กสทช. ได้ช่วยพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับสิทธิหรือลิขสิทธิ์มา สามารถบริหารจัดการสิทธิได้ และกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนสามารถที่จะเข้ารับชม รายการที่มีความสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ได้ไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นในกรณีนี้เอง กสทช. เราได้ รับฟังภาคอุตสาหกรรม แล้วก็จะมาประมวลผลใน ๓ ประเด็นด้วยกัน
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ยังคงรักษารายการที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการไว้ เพื่อให้ผู้พิการ สามารถเข้ารับชมได้
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของรายการที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ประเด็นนี้เอง เราได้มีการศึกษาเพิ่มเติมว่าท้ายที่สุดหากเรายังคงในเรื่องของรายการนี้ไว้อยู่ แต่อาจจะต้อง มีการนำเสนอเพื่อกำหนดมาตรการบางอย่างบางประการให้ประชาชนสามารถเข้ารับชมได้ เช่น รายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมีอยู่ ๑๕ หรือหลายสิบ Match แต่อาจจะกำหนด Match สุดท้ายที่เป็น Match แข่งขันรอบสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าร่วม รับชมพร้อมกันได้ เป็นต้น ก็เป็นแนวทางที่สำนักงานทำการศึกษา และจะนำเสนอต่อ กสทช. เพื่อให้ได้รับกรอบแนวนโยบายต่อไป ก็ถือว่าเป็นการตอบคำถามของท่านสมาชิกที่ถาม ในคำถามสุดท้ายแล้วด้วยนะคะ
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
ส่วนประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือไม่ ต้องนำเรียนท่านค่ะว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำวินิจฉัยออกมา แล้วว่ากฎ Must Have หรือ Must Carry นี้เองเป็นกฎที่เกี่ยวข้องกับกฎเฉพาะในเรื่องของ การส่งสัญญาณผ่านทางโทรทัศน์ในประเทศไทย ฉะนั้นผู้ที่รับสิทธิมาตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการภายใต้กฎ Must Have Must Carry กฎทั้ง ๒ เรื่อง ทั้งเรื่องของ ลิขสิทธิ์ และ Must Have Must Carry ไม่มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นข้อกฎหมาย
นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต้นฉบับ
และในประเด็นของกิจการกระจายเสียง ที่ท่านสมาชิกได้มีการสอบถามว่า ทาง กสทช. เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคตสำหรับกลุ่มผู้ประกอบกิจการ กระจายเสียง ขอนำเรียนว่า กสทช. ชุดปัจจุบันท่านเข้ามา และท่านตระหนักถึง ความเดือดร้อนของพี่น้องวิทยุชุมชน และพี่น้องวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ ท่านได้ พยายามเข้ามาแก้ไขในเรื่องของสภาพปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น ดูกลไกต่าง ๆ รวมถึงกำหนดมาตรการ ซึ่งในปี ๒๕๖๗ นี้เองท่านจะได้มีการดำเนินการในเรื่องของ ความชัดเจน การอนุญาตเกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจายเสียง และรวมถึงนำไปสู่ในเรื่องของ การนำเอาระบบ Digital เข้ามาเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบกิจการในอนาคต นอกจากนี้ในเรื่องของการทำวิทยุ Online ก็เป็นอีก ส่วนหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกันค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ทาง กสทช. แจ้งว่ายังมีผู้จะขอชี้แจงในประเด็นสุดท้ายอีก ๒ รายใช่ไหมครับ เชิญครับ จะมี ผู้ชี้แจงเพิ่มเติม
นางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ นางสาวจินตนันท์ ชยาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ขอบพระคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้มีคำถามไปถึง กตป. เนื่องจากว่าเราฟังเรื่องของ กสทช. มาตั้งแต่เช้า ก็มีคำถามถามว่า กตป. จะต้องเกรงใจ กสทช. หรือเปล่า มีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไร ดิฉันก็อยากจะขอเรียน ท่านประธานผ่านไปทางท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะคะว่าจริง ๆ แล้วคณะกรรมการ กตป. ก็เข้ามาหลัง กสทช. นิดหน่อย คือเข้ามาเริ่มทำงานวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จากที่ทำงานมาเป็นระยะเวลา ๑ ปีเศษ ปัญหาและอุปสรรคก็คือว่า กตป. เป็นแค่คณะกรรมการที่ทำงานคล้ายกับนักวิชาการ คือไม่มี สถานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากว่า พ.ร.บ. กสทช. มาตรา ๗๐ ถึงมาตรา ๗๓ ได้ให้หน้าที่ และอำนาจของ กตป. เป็นแค่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ให้แต่หน้าที่และอำนาจ ให้กรรมการ ๕ ท่าน แต่ไม่ได้ให้องคาพยพ ไม่ได้ให้มือให้ไม้ในการทำงาน กตป. นะคะ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่า กสทช. ไม่กรุณาให้ Staff เรามา เราก็จะนั่งกันอยู่ ๕ คน ทำอะไรไม่ได้ แล้วในการที่เราของบประมาณ เราก็จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองของ กสทช. เมื่อผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วถึงจะไปที่คณะกรรมการ DES เพื่อที่จะอนุมัติ งบประมาณให้กับ กตป. แม้ว่ากระทั่งรายงานที่อยู่ในมือของท่านทั้งหลาย ผู้ที่ทำ TOR จัดซื้อจัดจ้าง แล้วก็ผู้อนุมัติค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็เป็นหน้าที่ของ กสทช. ไม่ใช่ของ กตป. ดังนั้น ถ้าจะถามว่าปัญหาและอุปสรรคคืออะไร ก็คือเรื่องกฎหมายค่ะ ทาง กตป. ก็ได้มีการส่ง ขอแก้ระเบียบไปที่คณะกรรมการ DES ซึ่งตอนนี้ก็รอรัฐบาลใหม่อยู่ว่าท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมาเมื่อไร ทาง กตป. ก็พร้อมที่จะไปชี้แจงทุกอย่าง เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน สมดังที่ทุกท่านหวังนะคะ
นางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องที่ว่าถ้าไม่แก้กฎหมายเรื่องเกี่ยวกับ กตป. แล้ว เรื่องอื่น ที่อยู่ใน พ.ร.บ. กสทช. อาจจะต้องแก้เป็นระดับพระราชบัญญัติด้วย เพราะเนื่องจากว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ TV Digital ซึ่งเมื่อหมด ใบอนุญาตในปี ๒๕๗๒ แล้ว จากที่ดิฉันได้มี In-depth interview เรื่อง Focus group อะไรต่าง ๆ ผู้ผลิตโทรทัศน์ต่าง ๆ ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้สนใจเลยที่จะมา ประมูล ดังนั้นทาง กสทช. ก็คงจะต้องทำแผนเปลี่ยนผ่าน พวก Transition period ต่าง ๆ ในการทำงาน แล้วก็เรื่อง OTT เนื่องจากทุกวันนี้ทุกท่านก็ไถหน้าจอโทรศัพท์กัน ดูโทรทัศน์ ผ่าน OTT ดังนั้นคณะกรรมการที่จะมาดูแลมันไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. จะเป็นกระทรวง DE ที่คุม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กระทรวงวัฒนธรรมที่คุม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และ กสทช. ดังนั้นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้นะคะ
นางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ก็คือว่าระยะเวลากรอบการดำเนินงานของรายงานต่าง ๆ ของ กตป. ๙๐ วัน ของ กสทช. ๑๒๐ วัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือช่วง ๑๒๐ วันเสร็จแล้วก็จะมี การชุลมุน เพราะว่าจะต้องพยายามที่จะไปเอารายงานที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยของ กสทช. มาทำเพื่อที่จะให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาต่าง ๆ อันนี้ก็ต้องขอร้องนะคะ ขอกล่าวกับ ท่านประธานผ่านไปท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะคะ ถ้ามีการแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ต่าง ๆ ขอความกรุณาช่วยพิจารณาด้วยค่ะ เดี๋ยวดิฉันให้ท่านอารีวรรณตอบคำถามที่ ๒ ขอบพระคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญ คุณอารีวรรณครับ
นางสาวอารีวรรณ จตุทอง คณะกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงาน กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน นางสาวอารีวรรณ จตุทอง คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของข้อ ๒ ที่ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติได้ถามมาเกี่ยวกับเรื่องของความไม่เป็นเอกภาพ ของ กสทช. ที่ตอนนี้มีข่าวมากมาย และทาง กตป. เองจะใส่เข้าไปในตัวรายงานปีหน้า หรือไม่ หรือว่าต้องเกรงใจ กสทช. ต้องเรียนถึงบทบาทภารกิจ ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ท่าน กตป. ท่านจินตนันท์เองก็ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับทุกท่านไปแล้วว่าในส่วนของ กตป. นั้นการทำงาน ของเราอยู่ภายใต้ตัวพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งก็เป็นกฎหมายฉบับเดียว ของ กสทช. นี่ละค่ะ แล้วก็ในส่วนของ กตป. นั้นก็มีตัวบทอยู่แค่ ๓-๔ มาตรา แล้วก็เขียน เอาไว้ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ ก็คือการจัดทำตัวรายงาน ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ซึ่งในส่วนนี้ คำว่าติดตามรายงานประเมินผล กสทช. จะมีนัยรวมถึง ๓ ส่วนด้วยกัน ๑. ก็คือ ตัวกรรมการ ๒. คือเลขาธิการ และ ๓. ก็คือส่วนสำนักงาน กสทช. ดังนั้นเรียนได้เลยว่า ในตัวรายงานของ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๖ เมื่อเรามีหน้าที่ที่จะต้องติดตามประเมินผล ใน ๓ องคาพยพใหญ่ของ กสทช. แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรที่เกิดขึ้นของปี ๒๕๖๖ ในฐานะที่เราเป็น กตป. ทั้ง ๕ ท่าน ซึ่งถึงแม้ว่าจะแยกเป็นแต่ละด้านแล้ว เราก็ยังมีเรียกว่า เป็นภาพรวมของ กตป. ทั้ง ๕ ท่าน และเรายืนยันว่าเราจะทำหน้าที่เป็นเสมือนดังกระจก สะท้อนให้ กสทช. เองได้ทราบว่าการที่ กตป. ทำหน้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งจะต้อง ทำรายงานอยู่บนพื้นฐานงานวิชาการ งานวิจัย ประกอบกับการจัดกระบวนการรับฟัง ความเห็นของประชาชน ซึ่งตรงนี้เรียกได้ว่าเราทำตามขั้นตอนวิชาการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการส่งแบบสอบถามไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ชุดในแต่ละด้าน แล้วก็ยังมีการจัดเวที Focus Group Interview Group Public Hearing ขนาดใหญ่ ซึ่งเราต้องเดินสายไปพื้นที่ ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ๕ ภาค ทั้งหมดทั้งมวลนี้เรียกได้ว่างานของ กตป. นั้น เราใช้ สรรพกำลังอย่างเต็มที่ มีการที่จะต้องเดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเวลาเราไปทำกิจกรรม Public Hearing หรือว่าการจัดเวทีรับฟังสาธารณะ เราก็ยังถือโอกาสการให้ความรู้ กับประชาชนผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งแต่ละเวทีจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ท่าน ดังนั้นในกิจกรรม เหล่านี้เรายืนยันได้เลยว่าสิ่งที่เราได้รับข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกทุกอย่าง อย่างที่บอก การจัดเวทีทุกเรื่อง เราจะต้องกลับมาแล้วประมวลผล วิเคราะห์ผล แล้วก็นำ งานวิชาการต่างประเทศมาผนวกเอาไว้ด้วย เพื่อให้ตัวรายงานฉบับนี้มีความสมบูรณ์ เที่ยงตรงมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วเราก็จะเอาตัวรายงานมารายงานให้กับทาง กสทช. ทราบ แล้วตัวเล่มรายงานนี้เราก็มารายงานให้กับท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ท่านสมาชิกวุฒิสภาให้รับทราบในตัวรายงานด้วย ดังนั้นในส่วนนี้คำถามที่ท่าน ได้ถามมาดิฉันยืนยันว่าท่านสามารถอ่านได้ น่าจะเป็นปลายปีนี้ หรืออาจจะเป็นต้นปีหน้า ที่เราจะนำเสนอรายงานนี้ให้กับท่านอีกครั้งหนึ่ง
นางสาวอารีวรรณ จตุทอง คณะกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงาน กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต้นฉบับ
แล้วเรื่องที่ว่าจะไม่เป็นเอกภาพของ กสทช. ไหม อย่างที่เรียนไปว่า ในประเด็นของกรรมการ ถ้าเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมาเราจะต้องเอาข้อมูลเหล่านี้ใส่ลงไปในเล่ม แน่นอนค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ จะชี้แจงอีกไหมครับ ไม่มีแล้วนะครับ มีสมาชิกอยากจะซักถามเพิ่มเติม เมื่อสักครู่บอกว่า ไม่มีแล้วนี่ครับ
นายอรรถกร ศิริลัทยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ อรรถกรครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอให้สมาชิกก่อน ก็แล้วกันนะครับ เชิญครับ
นายอรรถกร ศิริลัทยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ผมเรียนท่านประธาน ขออนุญาตหารือนะครับ รายงานฉบับนี้เราก็ใช้เวลาตั้งแต่ช่วง ประมาณ ๑๐.๔๕ นาฬิกา ตอนนี้ก็บ่ายสามโมงครึ่งแล้ว ผมว่าวันนี้ผู้ซักถามก็ได้ใช้เวลา พอสมควร เมื่อสักครู่นี้ผู้ชี้แจงก็ได้ตอบ และยังได้บอกว่ามีอะไรคุยกันข้างหลัง หรือว่าไปดู ใน Website ก็ได้ ผมว่าเราน่าจะเดินต่อนะครับ จึงขออนุญาตนำเรียนท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมาก ก็ขอบคุณผู้ชี้แจง แต่ว่ามีสมาชิกอยากจะถามสั้น ๆ ผมขอให้ได้ซักถามสั้น ๆ คุณภัทรพงษ์ จะได้ไม่ติดใจอะไร สั้น ๆ ได้ไหมครับ คุณจิตติพจน์ก่อน
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ผมขออนุญาตถามสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ เพื่อที่ผู้ตอบจะได้ตอบ ประเด็นหนึ่งที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตและสอบถามไว้ ก็คือการปฏิบัติตามมาตรา ๗๖ ใน (๓) ที่ระบุว่าทาง กสทช. นั้นจะต้องส่งรายงานของผู้สอบบัญชี แต่ก็ปรากฏว่าทาง กสทช. ก็ไม่ได้ตอบว่าจะนำรายงานผู้สอบบัญชีมาส่งมอบให้สภาแห่งนี้เมื่อไร ซึ่งในวรรคท้าย ของมาตรา ๗๖ ระบุชัดเจนว่าท่านต้องส่ง คือกฎหมายบังคับว่าท่านต้องส่ง แล้วเราก็ขอ เพิ่มเติมได้ ซึ่งรายงานที่ท่านอ้างมาในเอกสารแนบ ตีความอย่างไรมันก็ไม่ใช่รายงาน ของผู้สอบบัญชี ซึ่งตามกฎหมายนะครับ รายงานของผู้สอบบัญชีไปตรวจสอบดูจาก ข้อกฎหมายหรือรายงานผู้สอบบัญชีของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ก็จะเห็นชัดเจนว่า เป็นอย่างไร ซึ่งในกรณีนี้คือรายงานของ สตง. ที่เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ ท่านมีหน้าที่ต้อง ส่งให้สภาแห่งนี้ ส่วนประเด็นที่ ๒ ก็เป็นเรื่องอำนาจของ กสทช. ที่ทาง กสทช.
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมอยากให้ถาม สั้น ๆ เห็นว่าเราได้พิจารณาเรื่องนี้ทั้งวันแล้ว
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ใช่ครับ สั้น ๆ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถือว่าเป็นการฝาก ข้อสังเกตไปให้ กสทช. ก็แล้วกัน ไม่ต้องตอบอะไรแล้วครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ก็คือประเด็นเรื่องอำนาจ ในการกำกับดูแล ซึ่งตามชื่อของ พ.ร.บ. เขียนชัดเจน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับ มีคำว่า กำกับ ชัดเจนครับ มาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และมาตราอื่น ๆ ก็มี ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง Call Center หรือการควบรวมกิจการ เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยแท้ กสทช. ย่อมไม่อาจจะละเว้น ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้ ขออนุญาตสอบถาม ๒ เรื่องครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อันนี้ถือว่า ฝากข้อสังเกตไปนะครับ คุณภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ครับ
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาต ฝากท่านประธานถามไปยังผู้ชี้แจง ผมขอข้อเดียวสั้น ๆ ทางท่านผู้ชี้แจงได้กล่าวว่าระบบ Cell Broadcast เป็นเทคโนโลยีใหม่ เพิ่งมีมาได้ ๔-๕ ปี เทคโนโลยีนี้มีมากว่า ๑๐ ปี แล้วนะครับท่านประธาน ทางสหรัฐอเมริกาแล้วก็ยุโรปใช้มากว่า ๑๐ ปีแล้ว เอาใกล้ ๆ เข้ามาหน่อย ประเทศฟิลิปปินส์เองก็ใช้มากว่า ๖ ปีแล้วครับ ทีนี้ท่านผู้ชี้แจงได้พูดต่อว่า ระบบการแจ้งเตือนจะทำให้ประชาชนแตกตื่น ในส่วนนั้นผมว่าเราปล่อยให้เป็นตาม หลักเกณฑ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดีกว่า วันนี้ผมขอ ความชัดเจนกับประชาชนชาวไทย ให้ กสทช. ตอบว่าระบบ Cell Broadcast จะเกิดขึ้นจริง ได้เมื่อไร ภายในปีไหน แล้วถ้ามันไม่สามารถทำได้ ผมขอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า ทาง กสทช. อยากให้สภาแห่งนี้ช่วยเหลือในส่วนไหนเพื่อให้มันเกิดขึ้นได้จริง ขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ผมคิดว่าน่าจะรับข้อสังเกตไปนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวปีหน้าก็เจอกันอีก เพราะเรายังมีเรื่องที่ สมาชิกจะอภิปรายและประชาชนสนใจคือราคาผลิตผลที่ตกต่ำ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมขอยุติ การรับทราบรายงานของ กสทช.
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ขอสั้น ๆ ไม่เกิน ๑ นาทีค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ เชิญครับ ๑ นาที ได้ครับ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันคงไม่คาดหวังว่าจะได้คำตอบเรื่องบริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด ที่ดิฉัน อภิปรายไป แต่ย้ำอีกครั้งว่าบริษัทนี้รับงานจาก กสทช. ปีหนึ่ง ๒๐-๓๐ ล้านบาท และจาก การลงพื้นที่ไปดูก็มีกางเกงในตากอยู่หน้าบริษัทนั่นละค่ะ แต่ท่านต้องอย่าลืม อย่าทำเป็น เหมือนไม่มีการอภิปรายในสภาแห่งนี้ ๑๔๑ ล้านบาท ภาษีประชาชนนะคะ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก็รับข้อสังเกต อีกคนหนึ่งนะครับ เพราะว่าถ้าตอบไปตอบมาก็อาจจะยาว เราได้ใช้เวลาในเรื่องนี้ทั้งวันแล้ว แล้วก็อย่างที่ผมได้กล่าว ยังมีเรื่องที่สำคัญรออยู่ เพราะฉะนั้นก็ถือว่ายุติการอภิปรายเรื่อง รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ และรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ขอขอบคุณผู้มาชี้แจงทุกท่านนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๕.๓ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ (นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นผู้เสนอ) และเนื่องจากว่าญัตติดังกล่าวนี้เป็นญัตติที่เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เกี่ยวกับราคาผลิตผลและสินค้าตกต่ำ ซึ่งผมเห็นว่ามีญัตติในทำนองเดียวกันนี้อีก ๑๐ ฉบับ ที่อยู่ในวาระการประชุมแล้วและที่เพิ่งเสนอมาใหม่ ซึ่งผมจะอ่านญัตติทั้งหมดแล้วก็จะขอ ความเห็นจากที่ประชุมว่าเราจะนำมารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้หรือไม่ ญัตติที่เสนอ อีก ๑๐ ฉบับ มีดังนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการแก้ไขปัญหาราคาพืชผล ทางการเกษตรตกต่ำและต้นทุนสูง (นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้เสนอ) ซึ่งอยู่ในระเบียบ วาระที่ ๕.๑๗
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นผู้เสนอ) ตามระเบียบวาระที่ ๕.๓๖
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ (นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ) ซึ่งอยู่ใน ระเบียบวาระที่ ๕.๓๗
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๔. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาราคา ผลผลิตตกต่ำอย่างเป็นระบบ (นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล เป็นผู้เสนอ) ซึ่งยังไม่ได้บรรจุ ระเบียบวาระ แต่ส่งเอกสารมาแล้วนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๕. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไข ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ (นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ เป็นผู้เสนอ) ก็ยังไม่ได้บรรจุ แต่ก็ได้เสนอ เรื่องมาแล้ว สำหรับญัตติอีก ๓-๔ ญัตติที่ยังไม่ได้บรรจุ ผมขอให้ทางเจ้าหน้าที่ได้แจก ไปพลาง ๆ เลยจนกว่าผมจะอ่านให้จบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๖. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และนายวิชัย สุดสวาสดิ์) เป็นผู้เสนอ ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระเช่นเดียวกัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๗. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหาแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างครบวงจรและยั่งยืน (นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ) ยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๘. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้ง ตกต่ำ (นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นผู้เสนอ)
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๙. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ (นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เป็นผู้เสนอ)
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑๐. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหามาตรการและแนวทาง แก้ไขปัญหาและป้องกันราคาพืชผลสินค้าเกษตรตกต่ำต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไป (คุณสรวงศ์ เทียนทอง เป็นผู้เสนอ)
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ญัตติทั้ง ๑๐ ญัตตินี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกันสามารถจะมารวม พิจารณากันได้ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ผมขออนุญาตให้นำเรื่องทั้ง ๑๑ เรื่อง มาพิจารณาในคราวเดียวกันนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ เนื่องจากว่ามีผู้เสนอญัตติทั้งหมด ๑๐ ฉบับ ถ้าผมจะขอ ความกรุณาอย่างนี้ได้ไหมครับว่าสำหรับผู้เสนอขอให้อภิปรายเรื่องที่ท่านเสนอนี้ เฉพาะผู้เสนอก่อนนะครับ ๑๑ ท่านนี้ คนละไม่เกิน ๑๐ นาที เพื่อจะได้เฉลี่ยเวลาทั้งหมดได้ แล้วก็จะให้ผู้อภิปรายซึ่งมีรายชื่อมาแล้วหลายท่าน สำหรับผู้อภิปรายร่วมหรือผู้เสนอ ญัตติร่วมนั้นเราก็จะอาศัยหลักการเดิม คือคนละ ๗ นาที ถ้าไม่มีผู้ใดขัดข้อง ขอให้เรา ดำเนินการตามนี้นะครับ แต่ว่าสำหรับผู้เสนอจะเกินบ้างนิดหน่อยก็พออนุญาตได้ แต่ว่า ขอให้อยู่ในกรอบเวลา ๑๐ นาที ท่านแรก ขอเชิญคุณอรรถกร ศิริลัทธยากร ก่อนครับ เชิญครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ขอบพระคุณท่านประธานครับ กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จากจังหวัด ฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคพลังประชารัฐ ขอบพระคุณท่านประธานครับ ที่ท่าน กรุณาบรรจุและเปิดโอกาสให้ผมและเพื่อนสมาชิกจากพรรคพลังประชารัฐได้มีโอกาส นำเสนอญัตติซึ่งเป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในวันนี้ ท่านประธานครับ ตอนนี้ในห้องประชุมพรรคพลังประชารัฐ เรามีท่านเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ท่าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็อยู่กับพวกเราด้วย ซึ่งทราบมาว่าเมื่อเช้ามีตัวแทน ของผู้เลี้ยงกุ้งตั้งความหวังไว้ครับ มาร่วมยื่นหนังสือ มาร่วมพูดคุย ถกเถียงถึงปัญหาราคากุ้ง ตกต่ำ นี่คือสิ่งที่พิสูจน์เป็นอย่างดีว่าญัตติของผมนั้นเป็นญัตติที่เร่งด่วน เป็นญัตติที่ต้องการ แก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังมีเพื่อนสมาชิกที่ร่วมลงชื่อและยื่นญัตตินี้กับผมอีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นท่าน สส. ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว จากจังหวัดสงขลา พ่อหนุ่มจากคาบสมุทรสทิงพระ คุณอามินทร์ มะยูโซ๊ะ จากจังหวัดนราธิวาส คุณจักรัตน์ พั้วช่วย จากจังหวัดเพชรบูรณ์ คุณปกรณ์ จีนาคำ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน คุณภาคภูมิ บูลย์ประมุข จากจังหวัดตาก และอีก หลายคน ก่อนที่ผมจะอภิปรายให้เหตุผล ผมขออนุญาตอ่านญัตติของผมนะครับ ท่านประธาน ตามธรรมเนียมของเรา ผมจะขออนุญาตไปเร็ว ๆ เนื่องจากในขณะนี้ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังได้รับความเดือดร้อน อย่างหนัก เนื่องจากราคากุ้งเลี้ยงตกต่ำอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งหลังจากการที่ คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งและผลิตภัณฑ์หรือว่า Shrimp Board บอร์ดกุ้ง อนุมัติการนำเข้าจากเอกวาดอร์และอินเดียเข้ามา โดยอ้างว่าชาวเกษตรกรไทย มีโครงการประกันราคากุ้งอยู่แล้ว นอกจากนั้นมีปัญหาการขาดทุนและการเลี้ยงกุ้ง ของเกษตรกรเกิดขึ้นมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูง และมีโรคระบาดในกุ้ง ประกอบกับ ราคาประกันขั้นต่ำที่ห้องเย็นตั้งไว้นั้นเท่ากับราคาต้นทุน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งเท่ากับ เป็นการบังคับให้เกษตรกรขายในราคาขาดทุน ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาหนี้สิน แม้ราคา กุ้งจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งและผลิตภัณฑ์ก็ตาม แต่ราคาของกุ้งก็ไม่ได้ตามที่คณะกรรมการกำหนด จึงขอให้รัฐบาลช่วยลดภาระ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เช่น ค่าอาหาร ค่าปูน ค่าไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำไร ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยตรง ดังนั้นเองในญัตตินะครับ ผมขอเสนอญัตติด่วน แต่ว่า ทางสภานี้บรรจุไว้เป็นญัตติทั่วไป ผมก็ไม่เป็นไร ตามข้อบังคับการประชุมของ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้สภาเป็นผู้แทนพิจารณาดำเนินการแก้ไขช่วยเหลือและตั้ง คณะกรรมาธิการ ผมเรียนว่าขณะนี้ปัญหานี้รอไม่ได้ครับท่านประธาน และเบื้องต้นได้พูดคุย กับเพื่อนสมาชิก เห็นด้วยตรงกันครับว่าญัตติของผมและเพื่อนสมาชิกอีกหลายท่านถ้าจะเป็น การดี เป็นการด่วน เราสามารถทำรายงานและส่งไปที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีนั้นได้สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไวครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณนะครับ สำนักกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่ช่วยร่างญัตตินี้ให้ผมตั้งแต่วันที่ผมมาทำงานที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ในวันแรก แต่อย่างไรก็ดีครับ ด้วยความเร่งด่วน มันก็เป็นความผิดของผมส่วนหนึ่งครับ ญัตติที่ผมเขียนอาจจะไปส่งผลกระทบต่อบุคคลที่อยู่ใน Board กุ้ง โดยถ้อยคำบางคำ ที่บอกว่า Board กุ้งอนุมัติการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียเข้ามา ผมก็ขออนุญาตกราบเรียนขอโทษไปยังผู้เสียหาย ผ่านท่านประธานไปยังผู้ที่ถ้าได้ยินของผม แล้วไม่สบายใจ ด้วยความเคารพครับ แต่อย่างไรก็ตามผมยืนยันด้วยความเคารพจริง ๆ ครับ ว่าความปรารถนาของผมกับความปรารถนาของคนที่ทำงานอยู่ใน Board กุ้งเหมือนกันครับ คือต้องการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำอย่างแท้จริง ท่านประธานที่เคารพครับ ขณะนี้ถ้าใคร อยู่ในแวดวงการเลี้ยงกุ้ง จะรู้เลยครับว่าปัญหามันเกิดขึ้นจริง ผมขออนุญาตนำหัวข้อข่าวจาก หนังสือพิมพ์ หรือหัวข้อข่าวจาก Internet มาอ้างอิงบางช่วงบางตอน ยกตัวอย่าง เช่น ที่กระบี่ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ โดยเกษตรกรขาดทุน อย่างหนัก เรื่องนี้ผมก็ได้พูดคุยกับท่าน สส. สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดสุพรรณบุรีประสบปัญหาราคาตกต่ำ เรื่องนี้ผมก็ทราบว่า ท่าน สส. สรชัด สุจิตต์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ติดตามเรื่องนี้ อย่างใกล้ชิด หรือสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยออกมาเตือนให้ชะลอการเลี้ยงออกไปก่อน เสี่ยงที่จะเจ๊ง ก็มีครับ หรือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคากุ้งตกต่ำ ซึ่งสวนทางกับต้นทุนที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ก็เป็นความห่วงใยที่ สส. ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว จังหวัดสงขลา ให้ความสนใจอยู่ หรือมีการสำรวจความเห็นคล้ายกันว่า ปริมาณกุ้งที่เลี้ยงในประเทศไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาที่ตกต่ำ ในวันนี้ หรือสถานการณ์ราคากุ้งที่ซื้อขายได้จริงในตลาดนั้นถูกกว่า ราคาเสมอทุนครับ ท่านประธาน เรื่องนี้ผมก็ได้พูดกับ สส. อำนาจ วิลาวัลย์ พรรคภูมิใจไทย จากจังหวัด ปราจีนบุรี เพราะว่าพื้นที่ของพวกเราติดกัน ท่านประธานที่เคารพครับ ราคากุ้งโดยเฉพาะ ราคากุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งต้องบอกว่าเลี้ยงในบ่อ ขณะนี้อาการน่าเป็นห่วง ปัจจัยหลักต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาตกต่ำมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน โดยในสถานการณ์ปัจจุบันผมต้องเรียน ท่านประธานว่าในสถานการณ์ตลาดกุ้งโลก กุ้งล้นตลาด Stock กุ้งมีอยู่จำนวนมากนะครับ ดังนั้นเองประเทศผู้นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่อเมริกา ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศ แถบยุโรป เขาก็เริ่มชะลอการนำเข้า ใช้กุ้งใน Stock ของเขาก่อน ระบายกุ้งใน Stock ในประเทศเขาก่อน นี่คือหลักเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคากุ้งนั้นตกต่ำ อีก ๑ ประเด็นปัญหา ก็คือว่าอำนาจในการต่อรองซื้อขายของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทยน้อยจริง ๆ ครับ ท่านประธาน ผมยกตัวอย่างเมื่อเช้านี้เองครับ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตลาดแพกุ้ง ในอำเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการขายกุ้งแวนนาไม มีการขายกุ้ง ๒.๘ ตัน สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือว่าขายหมด ไม่พอครับ แม่ค้ารับซื้ออย่างรวดเร็ว แต่ซื้อราคาที่พี่น้องเกษตรกรไม่ได้กำไร แล้วพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเหล่านี้ก็นำไปขายต่อในราคาที่ตัวเองได้กำไร เมื่อเช้านี้ทราบมาว่า มีการทะเลาะเบาะแว้งกันพอสมควร เหตุการณ์แบบนี้เราไม่ควรจะเห็นนะครับ คนทำมา ค้าขายควรที่จะได้กำไรทุก ๆ ทาง ทุก ๆ ฝ่าย นี่ก็เป็นปัญหาหลักหนึ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือว่าต้นทุนขณะนี้ครับท่านประธาน ต้นทุนของผู้เลี้ยงกุ้ง สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าปูน ค่าไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้นครับ ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งหลายราย อยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้จะไปทำอย่างอื่น ไม่ขาย ก็ไม่ได้ตอนที่ราคามันตก เพราะว่าถ้าไม่ขายมันก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเก็บกุ้งเข้าสู่ห้องเย็น หรือแม้แต่กระทั่งกุ้งที่สด ๆ ถ้าไม่ขายเลยมันก็เกิดปัญหา ราคาก็ตกอยู่ดีครับ นอกจากนี้ครับ ผมขออนุญาตเรียนต่อที่ประชุมว่าประเทศของเราเป็นประเทศหลักในการเลี้ยงกุ้ง ถือว่า ประเทศไทยของเรามีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่มีความรู้ มีความสามารถ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ ประเทศไทยประเทศเดียวที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในปริมาณมาก ๆ ตอนนี้เราสามารถบอกได้ เลยครับว่าในตลาดโลกเรามีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่หลายราย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเอกวาดอร์ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม หรือแม้แต่กระทั่งประเทศ อินโดนีเซียก็ตามครับ ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตกุ้งในปริมาณมาก ๆ ได้เหมือนกัน แต่ข้อแตกต่างก็คือว่าเขาสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มากกว่า เขาจึงมีความได้เปรียบ ในเรื่องของราคาที่จะส่งต่อเวลาเขาขายครับ จากปัญหาหรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผมได้นำเรียนต่อท่านประธาน ก็ส่งผลกระทบต่อราคากุ้ง ในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จังหวัดฉะเชิงเทราของผมก็เป็นจังหวัดที่เราเลี้ยงกุ้ง เป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย น่าจะเป็นลำดับ ๒ ของประเทศ ดังนั้นเองผมก็ได้รับ ข้อร้องเรียนจากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมาหลายเดือน ไม่ใช่เฉพาะในเดือนนี้นะครับ ก็ต้อง ขอบคุณท่านกำนันประพันธ์ ศรีสังข์ กำนันตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า ที่ท่านชักชวน ผมไปพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จนทำให้ผมนั้นเกิดความรู้สึกว่า ผมจะต้องใช้สภาแห่งนี้แก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ท่านประธานครับ ขณะนี้ มีการบรรเทากิโลกรัมละ ๒๐ บาท แต่ผมเรียนท่านประธานว่าการบรรเทาแค่นี้ในทางปฏิบัติ จริงนั้นไม่สามารถครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็ก เกษตรกรรายย่อย ดังนั้นเอง ผมขออนุญาตวิงวอนนะครับ ถึงแม้ขณะนี้จะมีการเยียวยาจากทางรัฐบาล จะมีมาตรการ เยียวยากิโลกรัมละ ๒๐ บาท อย่างที่ผมบอกไป ไม่ว่าจะเป็นทางกระทรวงพาณิชย์ที่เข้ามามี ส่วนร่วม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาช่วยกันเยียวยาตรงนี้ แต่มันไม่ทั่วถึงครับ การแก้ไขปัญหาที่ทั่วถึงมากกว่าก็คือการลดต้นทุนการผลิต อย่างที่ผมนำเรียนไปก่อน หน้านี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าปูน ค่าไฟ ถ้าเราลดต้นทุนการผลิตได้มันก็สามารถ ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้อย่างทั่วถึง เวลาผมมีไม่เยอะผมจะขออนุญาตไปเร็ว ๆ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตสรุปเลยแล้วกันว่าข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่พี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้งได้สะท้อนผ่านมายังผม ให้ผมมาสะท้อนที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ข้อเรียกร้องที่ ๑ อยากวิงวอนให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยสนับสนุน หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ปัจจัยผลิตกุ้ง ราคาลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องเคมีการเกษตร ข้อเรียกร้องที่ ๒ ขอให้ประมง ช่วงนี้ถึงแม้ว่าท่านจะหยุดไม่ได้ แต่ท่านสามารถชะลอการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศได้ อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วงที่ราคากุ้งในประเทศไทยตกต่ำ ข้อเรียกร้องที่ ๓ เงินชดเชย สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ทุกคนต้องได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นบ่อใหญ่ บ่อกลาง บ่อเล็ก สุดท้าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีแผนรับรองทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ สรุปครับท่านประธาน ผมเสนอญัตตินี้ด้วย ความเป็นห่วงในความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และขออนุญาตนะครับ ถึงแม้ว่าญัตติของผมจะเขียนไว้ชัดเจน จะขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ แต่ดูจาก ระยะเวลาแล้ว การที่จะนำญัตติของผมและของเพื่อนสมาชิกทำเป็นรายงานส่งไปที่ นายกรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แก้ไขคงจะเป็นทางออกที่รวดเร็วที่สุดครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตหารือ ปิยรัฐ สั้น ๆ ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ แต่ว่า กำลังอยู่ในญัตติ กำลังมีญัตติ ต้องหารือเรื่องที่อยู่ในญัตตินี้
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ใช่ครับ ถูกต้องครับท่านครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถ้าเรื่องนอกเหนือ ญัตติผมจะไม่อนุญาต ญัตตินี้จะตกครับ เชิญครับ
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมฟังท่านผู้อภิปรายได้อภิปรายเรื่องญัตติราคากุ้งตกต่ำ ผมเป็น ๑ ในผู้ที่ช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องกุ้งจนถูกดำเนินคดีเพราะช่วยเกษตรกรขายกุ้ง ที่สนามหลวง ฉะนั้นผมเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากครับ แล้วที่สำคัญคือเรื่องสินค้า เกษตรตกต่ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อวานนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวให้ผู้เสนอ ญัตติได้เสนอทั้งหมด เดี๋ยวผมจะให้อภิปราย
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เพื่อนสมาชิกได้ให้ความสำคัญ เรื่องนี้ ผมก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ท่านประธาน ฉะนั้นผมขออย่างนี้ครับท่านประธาน เพื่อเห็นแก่สภาแห่งนี้ว่าทุกคนให้ความสำคัญเช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลของเรา ผมขอเสนอ ญัตติให้มีการนับองค์ประชุมครับท่านประธาน ขอผู้รับรองครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวาน ได้มีการขอเสนอเลื่อนญัตติ แล้วก็ได้เป็นมติร่วมกันแล้วว่าญัตติของการเสนอปัญหาราคา พืชผลทางการเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไขจากเกษตรกร แล้วถ้านับจำนวน เกษตรที่รอการแก้ไขปัญหาไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง วันนี้พืชผลเกษตรทั้งหมดรอการรับฟังและรอการสรุปประเด็นปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไข ในวันนี้ค่ะ ถ้าสมาชิกทางพรรคก้าวไกลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญและจะนับองค์ประชุม ทั้ง ๆ ที่ ญัตติยังเสนอกันไม่ครบ ดิฉันเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรที่เขารอการแก้ไขอยู่ ถ้าท่าน จะทำอย่างนี้ได้ค่ะ ประชาชนรอการแก้ไขจากสภา การเสนอญัตติยังไม่เสร็จสิ้นด้วยซ้ำ แล้วก็ เป็นการสรุปกันตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมาแล้วว่าญัตติด่วนจำเป็นจะต้องเลื่อนขึ้นมาในวันนี้
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมขอใช้สิทธิ พาดพิงตามข้อบังคับ ข้อ ๗๒ ครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ อยากให้ ท่านประธานได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นค่ะ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมขอใช้ สิทธิพาดพิง พรรคก้าวไกลเสียหายครับ ท่านประธานครับ Pan กล้องได้เลยครับว่า ความสำคัญมันอยู่ที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝั่งไหนเยอะกว่ากัน พรรคไหนเยอะ กว่ากัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมยังไม่อนุญาต ถ้าเผื่อจะประท้วงหรือใช้สิทธิพาดพิงก็กรุณายืนขึ้น ยกมือ แล้วผมก็จะชี้ให้พูดก่อนครับ ไม่อย่างนั้นสภาเราก็จะไม่มีระเบียบ ทางโน้นก็พูด ทางนี้ก็พูด ขอให้ยืนขึ้นก่อน แต่ว่า ต้องเป็นกรณีที่พาดพิงหรือประท้วงครับ เชิญครับ ท่านจะใช้สิทธิ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม วิโรจน์นะครับ ผมพูดสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ใช้สิทธิพาดพิงตามข้อบังคับ ข้อ ๗๒ พรรคก้าวไกลเสียหายครับ เพราะพรรคก้าวไกลเราเห็นความสำคัญของ ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรครับ กล้อง Pan มาสิครับ เพื่อนสมาชิกของผมอยู่เต็ม ไปหมด
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ยังไม่ได้กล่าวอ้างชื่อเลยนะคะ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แล้ว Pan ไปฝั่งนั้นสิครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อย่าเพิ่งครับ ต้องให้คุณวิโรจน์เขาชี้แจงสิ่งที่พาดพิงถึงเขาจบก่อน แล้วประธานก็จะวินิจฉัย เชิญคุณวิโรจน์ครับ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ดังนั้นความสำคัญมันอยู่ที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ร่วมฟังประชุม ดังนั้นพวกผม ก็เลยอยากจะนับองค์ประชุมเพื่อจะได้ทราบกันครับ ประชาชนที่ฟังอยู่ทางบ้านจะได้ทราบ ว่าพรรคไหนให้ความสำคัญ พรรคไหนไม่ให้ความสำคัญ และเมื่อสักครู่ก็มีผู้รับรองญัตติ ถูกต้องครับ ดังนั้นท่านประธานครับ นับองค์ประชุมเลยครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถ้าจะเป็น การประท้วงหรือใช้สิทธิพาดพิงกรุณายกมือด้วยนะครับ ยืนขึ้น ถ้ายังไม่ใช่เดี๋ยวผมจะ ดำเนินการประชุมต่อไปนะครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ผมประท้วงครับท่านประธาน ผมประท้วงข้อ ๕ ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ผมเข้ามา สมัยที่ ๒๖ สมัยนี้ ผมเป็นผู้นำเกษตรกร ขาข้างหนึ่งผมเป็นประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อย ภาคอีสาน และเป็นประธานเครือข่ายยางแห่งประเทศไทย การที่ยื่นญัตติมันเป็นความสำคัญ ผมประท้วงครับท่านประธาน ผมจะขอร้องพรรคก้าวไกลครับว่าเห็นประโยชน์แก่พี่น้อง ประชาชนหรือไม่ อย่างไร ที่เป็นเกษตรกร ผมเป็นเกษตรกร ผมพูดตรงนี้เกษตรกรฟัง ทั้งประเทศครับ และท่านนับองค์ประชุมคราวนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต้องขออภัย คุณธีระชัยครับ เพราะว่าเขาเสนอตามสิทธิที่ขอนับองค์ประชุม ถ้าหากว่าเป็นการผิด ข้อบังคับ คุณก็ต้องบอกว่าข้อบังคับข้อไหน เดี๋ยวรอสักครู่ เดี๋ยวให้คุณธีระชัยพูดให้จบ แต่ไม่ใช่อภิปรายนะครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ถ้าเกิดว่าท่านประธานจะอนุญาตให้ ทางด้านพรรคก้าวไกล ผมก็ขอให้มีการนับองค์ประชุมโดยขานชื่อ ขอผู้รับรองครับ ขอขาน ชื่อครับ อยู่ข้างนอกก็มีครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คุณธีระชัยครับ การนับโดยการขานชื่อต้องรอบหลังครับ เพราะว่าอันนี้เขาเสนอนับองค์ประชุมก่อน แต่ถ้าหากว่าคุณธีระชัยต้องการให้นับโดยการขานชื่อ ต้องหลังจากที่ญัตติของคุณวิโรจน์ เดินหน้าไปก่อนครับ เชิญคุณครูมานิตย์ครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จริง ๆ ก็ไม่ได้ที่จะติดใจ อะไรมากนักที่ผู้เสนอจากพรรคก้าวไกลให้มีการนับองค์ประชุม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ สภาก็ล่ม นี่เป็นเรื่องปกติของสภาแห่งนี้ เป็นวิถีของการประชุม แต่ว่าอยากจะกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกผู้นำเสนอว่าวันนี้รัฐบาลก็ไม่มี แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของ ข้อกฎหมาย แล้ววันนี้เราโชคดีได้ท่านว่าที่รัฐมนตรี ยังเป็นว่าที่นะครับ เพราะยังไม่ได้ โปรดเกล้าฯ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า อันนี้ต้องขอบพระคุณมากนะครับ ที่ให้ความใส่ใจ มานั่งฟังปัญหาเรื่องเกษตรกร มานั่งฟังปัญหาเรื่องกุ้ง อันนี้เป็นเรื่องของชาวบ้านล้วน ๆ ผมคิดว่าถ้าพอจะถอยกันได้ และให้ท่านว่าที่รัฐมนตรีเขาสดับรับฟังไปในเรื่องปัญหา ของประชาชน แล้วก็เป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคน แต่ผมไม่ติดใจนะครับ ถ้ามีการนับ และสภาล่มพวกเราก็กลับบ้าน แต่คนที่สูญเสียนี่คือพี่น้องประชาชนนะครับ ก็ไม่เป็นไรครับ ก็ยินดีครับ จะวิธีขานชื่อ จะวิธีโหวต อย่างไรก็ยินดีทุกอย่าง แต่เราผู้แทนราษฎรในสภา แห่งนี้ไม่ได้สูญเสียอะไรเลยครับ แต่คนสูญเสียคือพี่น้องประชาชนคนไทย โดยเฉพาะ พี่น้องเกษตรกร พี่น้องชาวประมงล้วน ๆ เลยครับท่านประธาน ขอบพระคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมาก มีผู้ประท้วงข้างหลังอีกคนครับ
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ดิฉันไม่ได้ประท้วงท่านใดนะคะ ดิฉันขออนุญาตหารือท่านประธาน แล้วก็เพื่อนสมาชิก ทุกท่านนะคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถ้าเป็นการหารือ ตอนนี้ผมยังไม่อนุญาตครับ เพราะว่ามีผู้เสนอขอนับองค์ประชุมแล้วครับ ไม่เป็นไร เดี๋ยวผม จะถามผู้เสนอก็แล้วกันนะครับ
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ขอกราบวิงวอนนะคะ พี่น้องจะต้องมีข้าวกิน ขออนุญาตให้เป็นไปตามวาระได้ไหมคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขออนุญาตครับ เราจะดำเนินการประชุมต่อ คือผมอยากจะถามคุณวิโรจน์ครับ เพราะว่าคุณวิโรจน์เสนอ นับองค์ประชุม มีผู้รับรองถูกต้อง ต้องการจะถอนไหมครับ
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ผม ปิยรัฐ จงเทพ ผู้เสนอญัตติครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง เขตบางนา พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เรียนสมาชิกทุกท่าน ท่านที่บอกว่าขอร้องให้พวกเรานั้นร่วมให้ความสำคัญ แน่นอนครับ เราให้ความสำคัญ แต่ท่านควรไปขอร้องเพื่อนของท่านต่างหากที่จะมาเข้าร่วม ประชุม เพื่อให้เห็นแก่ความสำคัญญัตติของท่านเองครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ไม่ควรจะ ปรบมือนะครับ เพราะเรานั่งประชุมในสภานี้ ผมขออนุญาตอย่างนี้เลยครับ เพราะว่าเป็น การเสนอญัตติที่ถูกต้อง
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต ระหว่างที่ท่านประธานกำลังเรียกเพื่อนสมาชิกเข้ามา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมขอเชิญ ท่านสมาชิกที่อยู่ข้างนอกเข้ามาในห้องประชุมครับ เพราะจะมีการนับองค์ประชุม เชิญครับ ผมจะให้เวลาสมาชิกที่อยู่ข้างนอกนะครับ
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ขออนุญาตครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ต่อในประเด็นของการเสนอญัตติ เรื่องราคาสินค้าตกต่ำนะครับท่านประธาน ผมนั่งอยู่ในสภาตรงนี้ตั้งแต่เมื่อวานต่อเนื่องมา จนถึงวันนี้เรื่องรับทราบ ท่านประธานก็จะเห็นนะครับ เพื่อนสมาชิกจากหลายพรรคการเมือง เขาตั้งใจเพื่อที่จะเสนอปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ผมมีใบผู้เสนอญัตตินะครับ เอาเฉพาะผู้เสนอญัตติ ๑๑ ราย ๑๑ ญัตติ ในพรรคภูมิใจไทยของผม ทั้งท่าน สส. สฤษฏ์พงษ์ สส. มุกดาวรรณ สส. วรสิทธิ์ ที่มีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตร เราก็รอกันอยู่
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมขอประท้วง ท่านประธานและประท้วงผู้อภิปรายครับ ไม่แน่ใจว่าขณะนี้เราอภิปรายได้หรือเปล่าครับ ขอประท้วงผู้อภิปรายตอนนี้ครับ ไม่แน่ใจว่าเราอภิปรายได้อยู่หรือเปล่าครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตอนนี้จะนับ องค์ประชุมครับ อาจจะมีสมาชิกที่อยู่ข้างนอกอีกหลายท่าน เชิญครับ สมาชิกที่อยู่ข้างนอก เชิญเข้ามาลงมติครับ
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ในระหว่างที่รอนะครับ ความสำคัญ ของการเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมันก็ดูกันตอนนี้ละครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมขออนุญาตว่า จะไม่มีการอภิปรายแล้ว เดี๋ยวจะอภิปรายกันทั้ง ๒ ฝ่าย ขอความกรุณา เรานับองค์ประชุมก่อน ก็ไม่มีอะไรครับ ถ้าองค์ประชุมครบก็ดำเนินการประชุมต่อไป ถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องยุติ การประชุม แล้วก็เอาเรื่องที่เราค้างญัตตินี้ก็ไปพิจารณาในคราวหน้า เชิญท่านสมาชิกที่อยู่ ข้างนอกเข้ามาครับ
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมอย่างนี้นะครับ เรียนท่านประธานนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมไม่อนุญาตใคร แล้วครับ เพราะว่าเราจำเป็นต้องนับองค์ประชุม
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ไม่เป็นไร ผมเข้าใจ แล้วก็พูดกันหลายท่าน บังเอิญว่ามีการเสนอให้นับองค์ประชุมซึ่งเป็นสิทธิของ ผู้ที่จะเสนอ ก็ต้องนับองค์ประชุม สำหรับท่านสมาชิกที่เข้ามาในห้องประชุมนี้แล้ว กรุณากดบัตรแสดงตนเพื่อจะได้ทราบจำนวนผู้เข้าประชุมครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
ท่านประธาน ๒๗๖ ภาคภูมิ แสดงตนครับ
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพรรค แล้วก็เป็นตัวแทนของทาง Whip ของพรรค ถ้าเป็นแบบนี้คิดว่าพรรคภูมิใจไทยของพวกเรา และเพื่อนสมาชิกที่เห็นความเดือดร้อนปากท้องของพี่น้องประชาชน
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ตกลงอภิปรายได้ แล้วใช่ไหมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
นับองค์ประชุม ก่อนครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ตอนนี้อภิปรายได้แล้วใช่ไหมครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวผม ขออนุญาตเลยครับ กรุณานั่งลง เพราะว่าผมทราบและเข้าใจดี แต่ว่าเมื่อเป็นการเสนอญัตติ โดยถูกต้องและมีผู้รับรองถูกต้องเราก็ต้องดำเนินการนั้น เพราะเรามีกฎข้อบังคับ ส่วนจะอภิปรายเดี๋ยวเอาไว้อภิปรายทีหลัง ในตอนนี้ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบวาระครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ๒๗๖ ภาคภูมิ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
มีผู้ที่เข้ามา ยังไม่ได้แสดงตนท่านใดบ้างครับ เชิญแสดงตนครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ คือเป็นการตรวจสอบองค์ประชุมโดยที่พวกเราก็ไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัวกันครับ มีเพื่อนกำลังเดิน มาจากห้องประชุมแล้วก็ห้องพักผ่อนที่เตรียมการอภิปรายกันอยู่ เพราะว่ามีเพื่อนเตรียม ลงชื่ออภิปรายเรื่องของปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ของพรรคเพื่อไทยมีเพิ่มเติมราว ๔๐-๕๐ คน ก็อยู่ในห้องเตรียมการอภิปรายกันอยู่ ขอท่านประธานใช้เวลารอสักครู่ น่าจะกำลังทยอยมา ก็ขอความกรุณาท่านประธานนะครับ แล้วก็ขอความกรุณาผ่านไปยัง เพื่อนสมาชิกที่ตรวจสอบองค์ประชุมครับ อันนี้มันเป็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกร เราเข้าใจ ว่าเมื่อวานมันมีปัญหากันเพราะเนื่องด้วยเรายังไม่มี Whip เป็นทางการ ทั้ง Whip รัฐบาล และ Whip ฝ่ายค้าน ทำให้การเจรจาต่อรองในเรื่องของญัตติต่าง ๆ มันมีปัญหาบ้าง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เข้าใจครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ก็ขอความกรุณาเพื่อนสมาชิกนะครับ ถ้าเกิดว่าเราอยากจะให้การประชุมวันนี้ราบรื่น เราก็เดินหน้าก่อน ให้มีการอภิปรายจนจบ เพราะเป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนเขารอ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ตอนนี้อภิปราย ได้แล้วใช่ไหมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตอนนี้กำลังรออยู่
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
การจะประท้วงต้องยกมือขึ้นครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมยินดีครับ คุณจุลพันธ์ รอสัก ๔-๕ นาทีได้ เพราะว่าทุกครั้งเราปฏิบัติมา เพราะสมาชิกอาจจะอยู่ใน ห้องประชุมปรึกษาหารือกันอยู่ บางครั้งก็อยู่ในห้องกรรมาธิการ รอได้ครับ สัก ๔-๕ นาที คราวก่อนผมก็รอหลายนาทีอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นขอกรุณาใจเย็น ๆ เดี๋ยวก็จะมีการนับ องค์ประชุม ก็ไม่มีอะไร ถ้าองค์ประชุมเราครบก็เดินหน้าต่อไป ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้อง ไปประชุมในคราวหน้าครับ เราไม่สามารถจะดำเนินการประชุมได้ถ้าองค์ประชุมที่ขอนับ องค์ประชุมแล้วไม่ครบครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ผม ณัฐวุฒิครับ ถ้าระหว่างนี้มีเพื่อนสมาชิกอภิปรายอีกสักท่านเดียวนะครับ พรรคก้าวไกลจะขอใช้สิทธิ อภิปรายเช่นเดียวกันครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ยุติก่อนแล้วกัน ผมจะรอ ๔-๕ นาที แต่ว่าขอความกรุณา ห้ามมีการอภิปรายแล้วนะครับ เดี๋ยวทั้ง ๒ ฝ่าย อภิปราย ผมคิดว่าเราทำความเข้าใจกันแล้ว ขอ ๔-๕ นาทีครับ อันนี้ตามที่มีผู้ขอร้อง แล้วเราก็เคยปฏิบัติกันอย่างนี้มานะครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
ประท้วงท่านประธานครับ ดูฝั่งซ้าย ท่านประธานบ้างครับ ผมประท้วงท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
ตามข้อ ๕ ครับ ผมเอง วิชัย สุดสวาสดิ์ ขออนุญาตประท้วงท่านประธานตามข้อ ๕
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ผมประท้วง ท่านประธานตามข้อ ๙ ท่านผู้ประท้วง ประท้วงข้อ ๕ เรื่องการเลือกประธาน ซึ่งไม่ถูกต้อง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอความกรุณาครับ ถ้าประท้วงต้องแต่ละท่าน คุณวิชัยใช่ไหม ช่วยบอกเลยว่าประท้วงประธานเรื่องอะไรครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
ประท้วงข้อ ๕ ท่านประธานควบคุม การประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก็กำลังควบคุมอยู่
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
ผมเข้าใจท่านประธานครับ แต่ขออนุญาต นิดหนึ่งท่านประธาน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมประท้วงท่านประธาน ตามข้อ ๙ ครับ ท่านผู้ประท้วงได้ประท้วง ข้อ ๕ ซึ่งไม่ถูกต้องครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
ผมประท้วงท่านประธานควบคุมการประชุม ท่านดูสิครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมขอความกรุณา ให้นั่งลงครับ คุณวิชัยกรุณานั่งลงได้ครับ เพราะว่าไม่ได้ผิดข้อบังคับ แล้วก็กำลังควบคุม การประชุมครับ ผมจะไม่อนุญาตแล้วครับ เรากำลังนับองค์ประชุม กรุณารอสัก ๒-๓ นาที
นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมมีคำถามนิดหนึ่ง ขออนุญาตปรึกษาท่านประธานนิดหนึ่ง ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล เป็น ๑ ในผู้เสนอญัตติครับ มีคำถามถามท่านประธานแบบนี้ครับว่าวันนี้ถ้ามี การนับองค์ประชุมไปแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวรอให้จบ เรื่องนับองค์ประชุม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องปิดประชุมครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ผมประท้วงท่านประธานนิดเดียวครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย คือ ๒-๓ นาทีมันน้อยไปครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมดูยังไม่มี คนเดินเข้ามาครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ผมกำลังรับโทรศัพท์ของพรรคพวก กำลังมากันอยู่ครับ ผมไม่ว่าหรอกครับ เรื่องนับผมไม่ติดใจ ผมไม่ประท้วงด้วย ผมถือว่า เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมกำลังรอครับ ๒-๓ นาที แต่ว่าห้ามมีการพูดอะไรกันครับ ถ้าท่านเข้ามากรุณากดบัตรแสดงตนด้วยครับ ทุกท่านที่เพิ่งเข้ามากรุณากดบัตรแสดงตน เรากำลังจะนับองค์ประชุม ขอความกรุณาครับ ผมจะรออีกสัก ๒ นาที เพราะว่ามีผู้ขอร้องครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมถ่ายรูปนาฬิกาไว้ครับ ตอนนี้มันครบ ๕ นาทีแล้วครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอความกรุณา อย่าถึงขนาดนั้น ท่านคงทราบนะครับ คราวที่แล้วผมรอเกือบชั่วโมงผมก็รอ เพื่อให้ทุกอย่าง ได้มีความเรียบร้อยแล้วก็ให้โอกาสทุกฝ่ายครับ กำลังเข้ามา ๔-๕ คน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คุณอดิศร จะประท้วงอะไร ต้องเป็นเรื่องของการประท้วง ไม่มีการอภิปรายแล้วนะครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศร เพียงเกษ ถูกวางตัวเป็นประธาน Whip รัฐบาล แต่ยังไม่ได้เป็นนะครับ ผมขอเวลาสภาแห่งนี้ ด้วยความเคารพทุกท่าน ผมรู้ว่าหน้าที่การงานของแต่ละท่านทำอย่างไร แต่ว่าญัตติก็มี ความสำคัญ ท่านเลือกใช้วิธีนี้เรื่ององค์ประชุม แล้วก็จะมีปัญหาสิครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต้องขอ ความกรุณาจริง ๆ ท่านอดิศรครับ ท่านพูดทางนั้นจะยืนกันมาเป็นแถว ไม่มีวันจบครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ถ้าขอร้องกันไม่ได้ พวกกระผม เห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกร ขอไม่ร่วมประชุมด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ไม่เป็นไรครับ ขณะนี้ผมถือว่าครบจำนวนที่ผมขอเวลาแล้วนะครับ ขอให้ท่านสมาชิกได้กดบัตรแสดงตน ท่านผู้ใดที่กดบัตรแสดงตนไม่ได้ ขัดข้อง กรุณาบอกด้วยนะครับ ใจเย็น ๆ ครับ ไม่มีอะไร การประชุมเราก็จะมีอย่างนี้ ก็ต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างท่านสมาชิกเอง ถ้าไม่มีผู้ใด ขอแสดงตนแล้ว ขอเชิญเจ้าหน้าที่ได้บอกจำนวนผู้แสดงตน
นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ภาณุ พรวัฒนา หมายเลข ๒๗๘ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
แสดงตนครับ เชิญครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมประท้วง ท่านประธานตามข้อ ๕ ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
มีผู้แสดงตนเพียง ๙๖ ท่าน เป็น ๙๘ คน ถือว่าองค์ประชุมขณะนี้ไม่ครบ ผมขออนุญาตปิดการประชุมครับ