ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สกุณา สาระนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ดิฉันจะขออภิปราย รายงานผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรปี ๒๕๖๔ ก่อนที่ดิฉัน จะอภิปรายเนื้อหาของรายงานฉบับนี้ ดิฉันขอแสดงความเห็นต่อภาพรวมของรายงานก่อน ด้วยรายงานนี้เป็นรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของหน่วยงานสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ข้อมูลนำเสนอจึงเป็นข้อมูลทางบัญชีเสียส่วนใหญ่ เป็นการรายงานการใช้จ่ายเงินว่าถูกต้องตามกฎ ระเบียบหรือไม่ เป็นรายงานสถานะการเงิน ของกองทุน กล่าวคือดิฉันพบแต่งบการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขแสดงข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้ แสดงการวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกองทุน โดยเฉพาะข้อมูลนี้ไม่สามารถเชื่อมไปหาคำตอบว่ากองทุนนี้ให้ความสำเร็จของเกษตรกร เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร ท่านประธานคะ เวลาเราอ่านรายงานประจำปีของบริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนจะถึงเนื้อหาส่วนที่จะเป็นงบการเงินก็มักจะมีบทนำ ซึ่งบทนำก็จะเกริ่นถึงผลงานโดยรวมของบริษัทนั้น ๆ โดยทำเป็นกราฟหรือว่าแผนภูมิ พร้อมคำอธิบาย อ่านแล้วก็จะเข้าใจผลการดำเนินงานของบริษัทว่าเป็นอย่างไร เทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ท่านประธานคะ ทุกครั้งที่เวลาที่ สตง. เข้ามารายงานต่อสภา ก็จะรายงานเพียงการใช้เงินตามระเบียบ ตามกฎต่าง ๆ ว่าง่าย ๆ ว่าจะรายงานประเภท Compliance Audit นอกจากนี้ก็จะรายงาน Financial Audit ซึ่งเป็นการรายงานสถานะ การเงินของกองทุนว่าเป็นอย่างไร แต่ สตง. ไม่เคยรายงาน Performance Audit ทั้งที่ การรายงานในส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่ามันจะสะท้อนผลสัมฤทธิ์ของการใช้ งบประมาณว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ท่านประธานคะ ในสภาแห่งนี้เราอยากเห็น การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ ดิฉันอยาก ทราบว่าการบริหารกองทุน ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท แก้ปัญหาให้เกษตรกรได้มากน้อยแค่ไหน มากกว่าการที่จะมาตรวจสอบว่ามันมีการใช้ถูกต้องทางกฎระเบียบทางการเงินแค่ไหน อย่างไร ดิฉันและเพื่อนสมาชิกหลายคนได้อภิปรายเรื่องนี้ในสภา ชุดที่ ๒๕ ในสภา ที่ผ่านมา หลายครั้งว่า สตง. จะสามารถรายงานตามคำร้องขอของสภาได้เมื่อไร ภายในสภา ชุดที่ ๒๖ นี้ได้หรือไม่ ขอให้ตัวแทนจาก สตง. ได้ตอบคำถามนี้ด้วยนะคะ
ประเด็นต่อมา ด้วยรายงานฉบับนี้เป็นรายงานสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เวลาผ่านมาร่วม ๒ ปี ดิฉันก็เลยคิดว่าถ้าเราอภิปรายเฉพาะงบประมาณในปี ๒๕๖๔ นี้ อาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อสภานี้เท่าที่ควร จึงได้ไปค้นข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ มาร่วม ประกอบการอภิปราย โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก ตามหมายเหตุที่ ๑๖ หัวข้อรายได้อื่น ดิฉันพบว่ามีรายได้อื่น ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นรายได้อะไร จำนวนประมาณ ๑๗๔ ล้านบาท เทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งมีรายได้อื่นเพียง ๒.๗ ล้านบาท เพิ่มขึ้นมามากถึง ๑๗๐ ล้านบาท ดิฉันจึงอยากให้ตัวแทน จากกองทุนได้ลุกขึ้นมาชี้แจงว่ารายได้อื่นที่ว่ามานี้มาจากอะไรค่ะ
ประเด็นที่ ๒ ตามหมายเหตุที่ ๒๒ หัวข้อค่าใช้จ่ายอื่น ดิฉันพบว่ามีเงินจ่ายขาด เพิ่มขึ้นมาอีก ๖ ล้านบาท เป็นเงินจ่ายให้แก่โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเข้าถึงแหล่งทุนค่ะ ประเด็นนี้ขอให้ทางกองทุนได้ชี้แจงด้วยว่าโครงการนี้มีการดำเนินการ อย่างไร เพราะกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรโดยตัวของมันก็คือแหล่งทุนอยู่แล้ว จึงขอตั้ง คำถามว่าเกษตรกรมีอุปสรรคใดในการเข้าถึงแหล่งทุน เหตุใดต้องมีโครงการนี้ และจะถือว่า เป็นการดำเนินงานซ้ำซ้อนหรือไม่
ประเด็นที่ ๓ ตามหมายเหตุที่ ๒๓ ดิฉันพบว่ามีการยืดเวลาชำระคืน ให้โครงการ ๒ โครงการ ซึ่งทำให้ตัวเลขในรายงานเงินให้กู้ระยะสั้นและเงินให้กู้ระยะยาว ในงบแสดงฐานะการเงินมีการเปลี่ยนแปลง ดิฉันจึงอยากให้ทางกองทุนชี้แจงว่า ทั้ง ๒ โครงการ เป็นโครงการอะไร ทางกองทุนยืดเวลาชำระคืนด้วยเหตุผลอะไร และขอทราบด้วยว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล่าช้านี้ นอกจากนี้ดิฉันขอตั้ง ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่น่าสนใจคือกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมีรายรับมากกว่ารายจ่าย ว่าง่าย ๆ ก็คือมีกำไร กำไรปี ๒๕๖๓ ๒๕ ล้านบาท ปี ๒๕๖๔ ๑๕ ล้านบาท เมื่อเห็นตัวเลขนี้ ดิฉันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าการสร้างผลกำไรจากเงินของเกษตรกรที่ทุกข์ยากอยู่แล้ว เป็นภารกิจของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรหรือไม่ ผู้บริหารกองทุนอาจจะให้คำตอบว่าต้องมี กำไรเพื่อขยายความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในวงกว้างมากขึ้น ดิฉันก็ต้องย้อนถามว่าการทำกำไรกับเกษตรกรที่มีความยากลำบากอยู่แล้วมันเป็นนโยบาย ของรัฐหรือไม่ และมันใช่ภารกิจของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรหรือเปล่า และดิฉัน ก็ตั้งคำถามเลยไปยัง สตง. ว่าการบริหารกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจนมีกำไรมันถือว่า เป็นความล้มเหลวหรือความสำเร็จของกองทุน หากกองทุนเองยังแสวงหาผลกำไร กับเกษตรกร แล้วกองทุนนี้จะต่างอะไรกับธุรกิจเงินกู้ เงินด่วนทั่ว ๆ ไป หรือกองทุนนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อกองทุนจาก สงเคราะห์เกษตรกร เป็น กองทุนธุรกิจเกษตรกร น่าจะ เหมาะสมกว่า
ประเด็นสุดท้าย ทุกวันนี้เราต่างก็ทราบดีว่าภาคการเกษตรของเราประสบ ปัญหาวิกฤติหลายเรื่อง โดยเฉพาะผลผลิตต่อหน่วยเราต่ำมาก ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวต่อไร่ ของประเทศไทยต่ำกว่าแทบทุกประเทศ รวมถึงประเทศกัมพูชา แล้วเราก็ทราบดีว่าสาเหตุ ของปัญหานั้นคืออะไร หลัก ๆ ก็คือเราขาดความรู้ความสามารถในการที่จะเข้าไปใช้ กับการเกษตรกรรม และการพัฒนาหรือแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยการทำงาน บูรณาการร่วมกับ หลายภาคส่วน ต้องข้ามหน่วยงาน ข้ามกรม ข้ามกระทรวง ดิฉันจึงขอตั้งคำถามฝากไปยัง กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรว่าท่านมีแผนงานรับมือเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับ หน่วยงานดังกล่าวนี้อย่างไร ท่านอาจจะคิดว่านี่มันไม่ใช่ภารกิจของกองทุน ปล่อยให้ กรมวิชาการเกษตร ปล่อยให้กรมปศุสัตว์หรือคนที่มีภารกิจทำ ถ้าอย่างนั้นดิฉันก็ตั้งคำถาม ต่อไปว่าแล้วกองทุนนี้จะต่างอะไรจากธุรกิจปล่อยเงินกู้ทั่ว ๆ ไป ท่านประธาน ดิฉันขอฝาก ข้อคิด รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อให้ผู้บริหารกองทุนได้พิจารณาทบทวนเพื่อความสำเร็จ ตามภารกิจของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สกุณา สาระนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอร่วมอภิปราย ญัตติราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะนี้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาที่เป็นวิกฤติ ปัญหาเรื่องราคาตกต่ำที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโรคระบาด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ซ้ำเติมให้เกษตรกรไทย ยากลำบาก เกษตรกรมีรายรับไม่พอรายจ่าย ทำให้เกษตรกรไม่มีศักยภาพที่จะยกระดับ พัฒนาผลผลิต ทำให้ผลผลิตต่อหน่วยของเราลดต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างน่าตกใจ ขอ Slide ค่ะ
ดิฉันอ้างอิงข้อมูลจาก USDA หรือกระทรวงเกษตรกรรมแห่งสหรัฐอเมริกาที่ทำการสำรวจเมื่อปี ๒๕๖๓ ดัชนีผลิตภาพ การผลิต ปัจจัยการผลิตรวมของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเป็นครั้งแรก ในรอบ ๒๑ ปีนะคะ แพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า และกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีบทความใน Website USDA ซึ่งระบุว่าประเทศของเรานี่ขาดในเรื่องขององค์ความรู้ และนวัตกรรม เรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเอาไปใช้ในวงการเกษตร ดิฉันเองก็เห็นด้วยนะคะ จากบทวิเคราะห์ของ USDA แต่ดิฉันก็จะขอเพิ่มเติมว่าบทความการวิเคราะห์นั้นก็ถูกค่ะ แต่ว่าถูกเพียงครึ่งเดียว นั่นก็คือประเทศของเรามีงานวิจัย มีงานนวัตกรรม แต่ปัญหาก็คือ ของเราไม่ได้เอางานวิจัยนั้นไปปรับใช้ งานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่วาทกรรม เราไม่ได้เอาองค์ความรู้เหล่านี้ไปปฏิบัติให้ถึงมือเกษตรกรได้จริง นี่คือปัญหาของประเทศไทย ยกตัวอย่างนะคะ วันนี้ประเทศของเราพื้นที่ ๑๔๐ ล้านไร่ คิดเป็น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ทั้งหมด มีปัญหาเรื่อง pH ต่ำ หรือเรียกว่าสภาพเป็นดินกรด สภาพดินกรดนี่ค่ะธาตุอาหาร หลายชนิด สภาพดินกรดจะทำให้ธาตุอาหารต่าง ๆ ถูกตรึงไว้ในดิน นั่นหมายความว่า ถ้าดินเป็นกรดนี่ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยก็จะลดลงมากกว่าครึ่งนะคะ แต่วันนี้เราก็ยัง ปล่อยให้พื้นที่ที่ทำการเกษตรของเราอยู่ในสภาพดินที่มีปัญหาเป็นดินกรด ประกอบกับ การใส่ปุ๋ยที่ผิดสูตร ผิดวิธีทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร ท่านประธานคะ พรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงปัญหานี้นั่นก็คือปัญหาด้านการผลิต เราจึงมี นโยบายเพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตรด้วยหลักการที่ว่า ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ดังเช่นเพื่อนสมาชิกได้กล่าวไปทั้ง ๒ ท่านก่อนหน้านี้นะคะ ตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เราเป็นฝ่ายค้าน เราก็ได้ไปทดลองปฏิบัติตามหลักคิดนี้ เราไปพบพี่น้องชาวสวน ยางพาราทั่วประเทศ เอานวัตกรรมของพรรคเพื่อไทยนำโดยท่าน สส. วิสุทธิ ไชยณรุณ และทีมเกษตรพรรคเพื่อไทย พาพี่น้องเกษตรกรกว่า ๕๐ ชีวิตทั่วประเทศเพิ่มผลผลิต ยางพาราเป็น ๑-๒ เท่าตัวภายในเวลาเพียง ๑ เดือนค่ะ จากค่าเฉลี่ยของสวนยางทั่วประเทศ อยู่ที่ ๒๒๕-๒๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเพิ่มได้เป็น ๕๐๐-๑,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีนะคะ ด้วยการปรับดินให้มี pH ที่เหมาะสม ใส่ปุ๋ยถูกสูตร ถูกวิธี ถูกเวลา นอกจากนี้ต้นยางตายนิ่ง หมายถึงต้นยางที่ยังไม่ตาย แต่ไม่ได้ให้ผลผลิตนะคะ เราก็สามารถที่จะใช้นวัตกรรมของ พรรคเพื่อไทยไปรักษาให้กลับคืนมา กลับมาให้น้ำยางได้ค่ะ ในเวลานั้นเราไม่ได้เป็นรัฐบาล เราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องราคาได้ แต่เราทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่ม ผลผลิตค่ะ เมื่อเกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ๑-๒ เท่า นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ๑-๒ เท่าเช่นกันก็ทำให้เขาอยู่ได้ค่ะ ท่านประธานลองคิดดูว่าหากเรานำเอานวัตกรรมนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างสวนยางทั่วประเทศ ๒๘ ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตให้ได้ ๒ เท่า ประกอบกับ การเจรจาด้านการตลาด เพิ่มราคา หาช่องตลาดใหม่ แปรรูปเพิ่มมูลค่า ถ้าเราทำได้แบบนี้ GDP ภาคการเกษตรของประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้น และเกษตรกรก็จะหายจนแน่นอนค่ะ
นอกจากเรื่องการขาดนวัตกรรม เรายังมีปัญหาเรื่องกฎ ระเบียบที่เป็น อุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศไทย ดิฉันขอยกตัวอย่าง กรณีถั่วเหลือง ถั่วเหลืองเป็นพืชโปรตีนสูง แล้วก็มีความสำคัญในวงการอาหารสัตว์ วันนี้ทั้งที่ประเทศไทยเราก็สามารถที่จะปลูกถั่วเหลืองได้ดี แต่ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลือง ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เราสามารถปลูกได้แต่เราไม่ปลูก คำถามว่าทำไมเราไม่ปลูกเอง คำตอบ ก็คือว่าสายพันธุ์ถั่วเหลืองที่ใช้ในประเทศเราเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำค่ะ เนื่องจากว่า วันนี้ประเทศเรามีกฎหมายห้ามปลูกพืชถั่วเหลือง หรือพืชที่ตัดต่อพันธุกรรม หรือเรียกว่า พืช GMP ค่ะ แต่มันก็เป็นที่น่าแปลกใจนะคะ ประเทศห้ามปลูกแต่สามารถนำเข้าได้ ดังนั้นในประเทศเรา ก็นำเข้าถั่วเหลือง GMP จากต่างประเทศมากมาย เมื่อถั่วเหลืองราคาถูก คุณภาพดี ทะลักเข้ามาในประเทศก็ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองเราไม่สามารถอยู่ได้ค่ะ นอกจาก ถั่วเหลืองก็ยังมีเรื่องข้าว ก็เช่นเดียวกันเรามีสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและให้คุณภาพดี มากมาย แต่วันนี้เกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ ก็เพียงเพราะว่ากรมวิชาการเกษตร หรือว่า กรมการข้าวไม่รับรองสายพันธุ์นั้น เกษตรกรก็ไม่สามารถปลูกได้
นอกจากนั้นยังมีปัญหาในเรื่องของภาคปฏิบัติค่ะ การทำผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบการนำเข้าหมูเถื่อน นำเข้าวัวเถื่อน ล้วนกระทบต่อเกษตรกรในกลุ่มปศุสัตว์ เรื่องเหล่านี้เกี่ยวพันกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพลจำนวนมากซึ่งปัญหา หมูเถื่อน วัวเถื่อน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความอยู่รอดของเกษตรกรค่ะ วันนี้เมื่อเราพูดถึง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ นั่นก็คือเรากำลังพูดถึงปัญหารายได้ของเกษตรกร เมื่อพูดถึงรายได้ แน่นอนที่สุดมันไม่ได้หมายถึงเรื่องราคาอย่างเดียว วันนี้ภาคการผลิตเรามีปัญหาถึงขั้นวิกฤติ คุณภาพและผลผลิตต่อไร่เราต่ำกว่าทุกประเทศรวมพม่า ลาว และกัมพูชา ดิฉันสอบถาม เกษตรกรชาวนาที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในรอบเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาตัวเลขเพียง ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า เรียกว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แบบนี้ต่อให้เราเพิ่มราคาถึง ๒ เท่า เกษตรกรก็ยังคงไม่หายจนค่ะ เมื่อมีปัญหาภาคการผลิต ก็ต้องแก้ที่การผลิต การสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยให้สูงขึ้นต้องเริ่มด้วยการจัดการ กับคุณภาพผลผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างมูลค่าใหม่ การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ทุกกระทรวงต้องร่วมทำงานกัน หากภาควิจัยไม่ส่งนวัตกรรมให้ถึงมือเกษตรกร เราจะมีผลผลิต ภาคการเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างไร หากเกษตรกรทำผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว แต่รัฐไม่รับรองมาตรฐานให้กับผลผลิตแล้วผลผลิตนั้นจะไปต่ออย่างไร หากเรามีผลผลิต ที่มีคุณภาพมาตรฐาน แต่กลับปล่อยให้ของเถื่อนคุณภาพต่ำเข้ามาเบียดสินค้าที่มีคุณภาพ ของเรา เกษตรกรของเราจะอยู่ได้อย่างไร รัฐบาลที่จะแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ ต้องเป็นรัฐบาลที่มองภาพแก้ปัญหาแบบองค์รวมค่ะ เข้าใจปัญหา มองเห็นสาเหตุ รู้วิธีแก้ไข ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานมุ่งสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจึงจะสามารถ แก้ปัญหาให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สกุณา สาระนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันได้นำความเดือดร้อนของประชาชนมาหารือต่อท่านประธานใน ๓ เรื่องดังต่อไปนี้
เรื่องแรก เป็นเรื่องขอขยายช่องทางจราจรถนนสาย ๒๒๒ จาก ๒ เลน เป็น ๔ เลนตลอดสาย ถนนสาย ๒๒๒ เป็นถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดสกลนคร และจังหวัดบึงกาฬ ขณะนี้ที่บึงกาฬกำลังมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๗ แล้วต่อจากนี้ถนนสาย ๒๒๒ ก็จะเป็นถนนเส้นทางสำคัญที่จะเชื่อม จากไทยไปลาว ไปเวียดนาม แล้วรวมถึงไปที่จีน ขณะนี้ถนนสายนี้ก็ได้ขยายช่องทาง ๔ เลน ไปบางส่วนแล้ว จากความยาวทั้งหมด ๑๒๘ กิโลเมตร ได้ขยายไปแล้วประมาณ ๖๐ กิโลเมตร เหลือ ๗๐.๗ กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ดิฉันจึงนำ ข้อร้องเรียนของประชาชนชาวอำเภอวานรนิวาส หารือผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทาน ให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการขยายช่องทางจราจรถนนสาย ๒๒๒ ตามเหตุผล ที่อธิบายข้างต้น
เรื่องที่ ๒ การเพิ่มศักยภาพหนองทุ่งมน หนองทุ่งมนเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อ การอุปโภคบริโภค รวมถึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต แต่ปัจจุบัน หนองทุ่งมนมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำไม่เพียงพอ สาเหตุหลักก็คือว่าแหล่งน้ำต้นทางก็คือ อ่างวังกอไผ่มีสภาพตื้นเขิน และคลองส่งน้ำที่เชื่อมระหว่างอ่างวังกอไผ่กับหนองทุ่งมน มีสภาพชำรุด ขาดการดูแล ท่านนายกเทศมนตรีอำเภอเจริญศิลป์ นายเสาร์ วงศ์กระจ่าง จึงได้ยื่นข้อร้องเรียนให้ดิฉันส่งเรื่องผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทานเพื่อศึกษาแนวทาง แก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
เรื่องที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมในลุ่มน้ำยามและห้วยลำปะหัง ลำน้ำยามและห้วยลำปะหังเป็นลำน้ำที่มี ความสำคัญต่อชาวอำเภอวานรนิวาส และชาวอำเภอพังโคนเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงฤดูฝน ก็จะมีน้ำไหลหลากท่วมบ้านเรือนไร่นา แต่ในฤดูแล้งกลับมีสภาพแห้งขอด ปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร พี่น้องชาวตำบลต้นผึ้งนำทีมโดยนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลต้นผึ้ง นายจุลลา มาตะรักษ์ จึงเข้าพบดิฉันและหารือเพื่อขอให้กรมชลประทาน ได้ลงไปศึกษาแนวทางชะลอและกักเก็บน้ำในลำน้ำยามและห้วยลำปะหังให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกการทำประตูระบายน้ำ ฝายกั้นน้ำตามความเหมาะสม และพิจารณาจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ