ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติ ทุกท่าน กระผม ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ขออนุญาต ท่านประธาน นำคณะผู้บริหารสำนักงาน กสทช. เข้าแถลง หรือชี้แจงรายงานผล การปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่แก้ไขเพิ่มเติม

    อ่านในการประชุม

  • ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกที่กระผมได้เข้ามา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธาน กสทช. ร่วมกับ กสทช. ท่านอื่น เพื่อบริหารคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการ เพื่อยกระดับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการดาวเทียม สื่อสารของประเทศไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า และสามารถปรับตัวให้ทันกับบริบทที่มี การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศ โดยมีผลการปฏิบัติงาน ที่สำคัญ อาทิ ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชน และจัดให้มีการประมูลสิทธิในการเข้าวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกิจการดาวเทียม การกระจายบริการ โทรคมนาคม กระจายเสียงและโทรทัศน์ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง เท่าเทียม รวมทั้งขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การศึกษา และด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เป็นต้น และ กสทช. ในฐานะหน่วยงานอำนวยการของรัฐในการบริหารกิจการสื่อสารระหว่าง ประเทศ กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้ทุ่มเทแรงใจรณรงค์หาเสียงสนับสนุน ประเทศไทยภายใต้โครงการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร หรือ ITU Council ในวาระปีคริสต์ศักราช ๒๐๒๓-๒๐๒๖ ผ่านการประชุม และร่วมดำเนินกิจการต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๒๖ กันยายน ถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ให้ประเทศไทยเป็นสมาชิก สภาบริหารของ ITU สำหรับวาระ ๔ ปี ตั้งแต่คริสต์ศักราช ๒๐๒๓-๒๐๒๖ ในระดับที่ ๔ จาก ๑๖ ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย หรืออันดับที่ ๑๖ จาก ๑๙๓ ประเทศสมาชิกทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนคะแนนเสียงสนับสนุนที่ได้รับสูงที่สุดที่ ประเทศไทยเคยได้รับในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และประเทศไทยจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง สมาชิกสภาบริหาร ITU Council ดังกล่าวต่อไปอีก ๔ ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับ ประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ท้ายนี้กระผมขอนำเรียนเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกบุคคล เพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่แก้ไข เพิ่มเติม มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการโดยความเห็นของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. และวรรคสอง เลขาธิการ กสทช. ต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันแต่งตั้ง และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๗ รวมทั้งคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ กสทช. กำหนด ซึ่งได้นำเสนอ กสทช. กำหนด คุณสมบัติอื่นเพิ่มเติม ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๕ พุทธศักราช ๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๖ จึงได้มีประกาศประธาน กสทช. รับสมัคร และขยายเวลารับสมัคร ระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ โดยมีผู้สนใจยื่นใบสมัคร จำนวน ๙ คน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ และได้มีประกาศประธาน กสทช. กำหนดการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์บุคคล ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ มีผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ จำนวน ๘ คน ในวันดังกล่าวประธาน กสทช. และ กสทช. ทุกท่านร่วมรับฟังวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก เพื่อให้ กสทช. แต่ละท่านมีข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป ขณะนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรายชื่อ บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อขอความเห็นชอบจาก กสทช. ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ในโอกาสนี้กระผมขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ให้โอกาส กสทช. เข้าชี้แจง และนำเสนอผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ในวันนี้ สำหรับในรายละเอียดผลของ การปฏิบัติงานของ กสทช. ในปี ๒๕๖๕ นั้น กระผมขออนุญาตท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เลขาธิการ กสทช. และคณะผู้บริหาร กสทช. ได้ชี้แจงผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ แก่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ขอขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรตินะครับ ก็ขอบพระคุณสำหรับคำอภิปรายทั้งหมดทั้งหลาย ผมขอชี้แจงในส่วนของประธาน กสทช. แล้วที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของสำนักงาน กสทช.

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับเรื่องการปลดรักษาการเลขาธิการ และการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ ผมเรียนสั้น ๆ ว่าผมปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าให้ประธาน กรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. เรื่องมติของ กสทช. มติ กสทช. ยังไม่ใช่กฎหมาย มติบางอย่างของ กสทช. ถ้าไม่ชอบ ด้วยกฎหมายก็นำไปปฏิบัติหรือลงนามในคำสั่งไม่ได้ มติ กสทช. บางอย่างที่ทำไปก็ถูก ศาลปกครองตีตกมาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ คือการควบรวมธุรกิจ ผมเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ ท่านประธาน การควบรวมธุรกิจนั้นอำนาจ กสทช. ในมาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. องค์กรนั้น ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการอนุญาตการควบรวมธุรกิจ แต่ประกาศการควบรวมธุรกิจนั้น ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด เพราะฉะนั้นอำนาจ ในการอนุญาตนั้นไม่มีใน กสทช.

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องความขัดแย้งใน Board กสทช. ซึ่งมองแล้วก็เรียนให้ทราบว่า มันเป็นความเห็นไม่ตรงกันในการตีความในทางกฎหมายที่เราใช้กันใน กสทช. มากกว่า เป็นความขัดแย้งส่วนตัว เรื่อง Digital TV และแผนแม่บทในวันข้างหน้า ผมเรียนตรง ๆ ว่า Digital TV ที่ล้มเหลวมาเพราะว่าเราคาดเดาไม่ถูก แล้ว ๕ ปีข้างหน้าเทคโนโลยีเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน ไม่ใช่คิดไม่ออก คิดแล้วว่าแผน มีอะไรบ้าง ว่าจะต้องเอาคลื่นมาประมูลอย่างไร แต่ถึงเวลานั้นจริง ๆ พฤติกรรมและเทคโนโลยี เปลี่ยนไป แผนก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปอีกนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องสุดท้าย คือเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผมจะขอให้ทางฝ่าย สำนักงานและฝ่ายงบประมาณ ซึ่งดูแลภาระงานของผมในฐานะประธานในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ผ่านมาเป็นผู้ชี้แจง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีต ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ก่อนอื่น ผมขออนุญาตใช้สิทธิที่ถูกพาดพิงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของกระผม กระผมขอชี้แจงว่า ถ้าไม่นับรวมการอบรมที่สหรัฐอเมริกาในวิชาชีพผมตั้งแต่ปี ๑๙๘๔-๑๙๙๓ กระผมไม่เคย ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนอกประเทศไทย กระผมไม่เคยมีคลินิกส่วนตัวทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ สิ่งที่ปรากฏในสื่ออาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดโดยที่มีแพทย์ไทยอาวุโสที่มีชื่อ คล้ายกัน ที่มีคลินิกส่วนตัวและประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสหรัฐอเมริกา และมีคนไทยไปรับ การรักษามาก

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เรื่องค่าใช้จ่ายในการพิจารณาการควบรวม True Dtac เป็นมติ กสทช. ไม่ใช่คำสั่งของประธาน กสทช.

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องการสรรหาเลขาธิการ ผมชี้แจงไปแล้วว่าผมปฏิบัติตาม กฎหมาย ผมปฏิบัติตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

    อ่านในการประชุม

  • ในกรณีเรื่องของ ITU อันนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เราจะเป็น Council ของ ITU สำหรับเรื่องความไม่เป็น เอกภาพ ผมเรียนอีกครั้งว่าอันนี้เป็นเรื่องของความเห็นทางกฎหมายที่ต่างกัน ไม่ใช่เรื่อง ส่วนตัว แล้วบางครั้งการที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องของการกฎหมายก็ต้องขอความกระจ่าง จากที่ปรึกษากฎหมาย หรือแม้กระทั่งกฤษฎีกา ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิก ผมปฏิบัติตามกฎหมายนะครับ อำนาจหน้าที่ มาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. องค์กร ไม่ได้มีข้อไหนเลยที่มีบทบัญญัติให้อนุญาตการควบรวมธุรกิจ สำหรับว่า ใครจะมีอำนาจนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่มากไปกว่าพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ก็เรียนแค่นี้ครับ

    อ่านในการประชุม