กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ นางสาวจินตนันท์ ชยาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ขอบพระคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้มีคำถามไปถึง กตป. เนื่องจากว่าเราฟังเรื่องของ กสทช. มาตั้งแต่เช้า ก็มีคำถามถามว่า กตป. จะต้องเกรงใจ กสทช. หรือเปล่า มีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไร ดิฉันก็อยากจะขอเรียน ท่านประธานผ่านไปทางท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะคะว่าจริง ๆ แล้วคณะกรรมการ กตป. ก็เข้ามาหลัง กสทช. นิดหน่อย คือเข้ามาเริ่มทำงานวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จากที่ทำงานมาเป็นระยะเวลา ๑ ปีเศษ ปัญหาและอุปสรรคก็คือว่า กตป. เป็นแค่คณะกรรมการที่ทำงานคล้ายกับนักวิชาการ คือไม่มี สถานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากว่า พ.ร.บ. กสทช. มาตรา ๗๐ ถึงมาตรา ๗๓ ได้ให้หน้าที่ และอำนาจของ กตป. เป็นแค่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ให้แต่หน้าที่และอำนาจ ให้กรรมการ ๕ ท่าน แต่ไม่ได้ให้องคาพยพ ไม่ได้ให้มือให้ไม้ในการทำงาน กตป. นะคะ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่า กสทช. ไม่กรุณาให้ Staff เรามา เราก็จะนั่งกันอยู่ ๕ คน ทำอะไรไม่ได้ แล้วในการที่เราของบประมาณ เราก็จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองของ กสทช. เมื่อผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วถึงจะไปที่คณะกรรมการ DES เพื่อที่จะอนุมัติ งบประมาณให้กับ กตป. แม้ว่ากระทั่งรายงานที่อยู่ในมือของท่านทั้งหลาย ผู้ที่ทำ TOR จัดซื้อจัดจ้าง แล้วก็ผู้อนุมัติค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็เป็นหน้าที่ของ กสทช. ไม่ใช่ของ กตป. ดังนั้น ถ้าจะถามว่าปัญหาและอุปสรรคคืออะไร ก็คือเรื่องกฎหมายค่ะ ทาง กตป. ก็ได้มีการส่ง ขอแก้ระเบียบไปที่คณะกรรมการ DES ซึ่งตอนนี้ก็รอรัฐบาลใหม่อยู่ว่าท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมาเมื่อไร ทาง กตป. ก็พร้อมที่จะไปชี้แจงทุกอย่าง เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน สมดังที่ทุกท่านหวังนะคะ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องที่ว่าถ้าไม่แก้กฎหมายเรื่องเกี่ยวกับ กตป. แล้ว เรื่องอื่น ที่อยู่ใน พ.ร.บ. กสทช. อาจจะต้องแก้เป็นระดับพระราชบัญญัติด้วย เพราะเนื่องจากว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ TV Digital ซึ่งเมื่อหมด ใบอนุญาตในปี ๒๕๗๒ แล้ว จากที่ดิฉันได้มี In-depth interview เรื่อง Focus group อะไรต่าง ๆ ผู้ผลิตโทรทัศน์ต่าง ๆ ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้สนใจเลยที่จะมา ประมูล ดังนั้นทาง กสทช. ก็คงจะต้องทำแผนเปลี่ยนผ่าน พวก Transition period ต่าง ๆ ในการทำงาน แล้วก็เรื่อง OTT เนื่องจากทุกวันนี้ทุกท่านก็ไถหน้าจอโทรศัพท์กัน ดูโทรทัศน์ ผ่าน OTT ดังนั้นคณะกรรมการที่จะมาดูแลมันไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. จะเป็นกระทรวง DE ที่คุม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กระทรวงวัฒนธรรมที่คุม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และ กสทช. ดังนั้นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้นะคะ
เรื่องสุดท้าย ก็คือว่าระยะเวลากรอบการดำเนินงานของรายงานต่าง ๆ ของ กตป. ๙๐ วัน ของ กสทช. ๑๒๐ วัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือช่วง ๑๒๐ วันเสร็จแล้วก็จะมี การชุลมุน เพราะว่าจะต้องพยายามที่จะไปเอารายงานที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยของ กสทช. มาทำเพื่อที่จะให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาต่าง ๆ อันนี้ก็ต้องขอร้องนะคะ ขอกล่าวกับ ท่านประธานผ่านไปท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะคะ ถ้ามีการแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ต่าง ๆ ขอความกรุณาช่วยพิจารณาด้วยค่ะ เดี๋ยวดิฉันให้ท่านอารีวรรณตอบคำถามที่ ๒ ขอบพระคุณมากค่ะ