กราบเรียน ท่านประธาน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ดิฉัน มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายงาน กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ในส่วนที่ได้มีข้อซักถามตั้งแต่เช้าในเรื่องของโทรทัศน์ Digital ว่า ในด้านของ กสทช. เองเราได้มีการดำเนินการอย่างไร หรือไม่ ที่เกี่ยวข้องกับ การประมูลคลื่นความถี่ จากการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดของ กสทช. ก่อนที่จะ ทำการประมูลคลื่นความถี่ เราได้มีการศึกษาในเรื่องของมูลค่าคลื่นความถี่ รวมถึง ในเรื่องของกรณีของกลุ่มตลาดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานคลื่นความถี่เหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งในสภาวการณ์ในขณะนั้นเองเป็นยุคของการตื่นตัวของกลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่อยู่ในกลุ่มภาคพื้นดิน ที่มีอยู่จำนวนน้อยราย แล้วก็มีกลุ่มที่อยู่บน Platform ดาวเทียมหรือเคเบิลเองก็ตาม ต้องการที่จะเข้ามาสู่ตลาด ในเรื่องของกิจการโทรทัศน์ที่เป็นระดับชาติ ฉะนั้นในกลุ่มของความต้องการหรือความต้องการ ของกลุ่มตลาดจึงมีความต้องการที่สูงมาก จากข้อมูลที่เห็นนะคะ เป็นข้อมูลที่ปรากฏ ในสื่อสาธารณะอยู่แล้วว่าเรามีการเปิดประมูลคลื่นความถี่อยู่ ๒๔ คลื่นความถี่ แต่มีผู้เข้าร่วม แข่งขันถึง ๔๙ ราย ฉะนั้นจึงเห็นถึงความต้องการในตลาดนะคะ และการประมูลคลื่นความถี่ หรือมูลค่าของการประมูลคลื่นความถี่เราคำนวณจากมูลค่าคลื่นความถี่ในราคาที่ต่ำที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าในเชิงของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เป็นมูลค่าในเชิง สังคม การประมูลคลื่นความถี่จึงถือเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดเพื่อให้ผู้ให้บริการรายใหม่สามารถ เข้าสู่ตลาดได้ค่ะ นี่ก็จะเป็นคำตอบคำถามแรกที่ได้มีคำถามว่าเราได้มีการศึกษาเรื่องนี้หรือไม่
ส่วนคำถามที่ ๒ ที่สอบถามว่าเราได้มีการประเมินหรือไม่ ในเรื่องของ การดำเนินการของการประมูลคลื่นความถี่ หรือภายหลังจากที่เราได้มีการดำเนินการมาแล้ว จากการดำเนินการของเราทั้งหมดเราได้มีการศึกษาแล้วก็มีการประเมินรายงานผลการศึกษา ปรากฏอยู่ใน Website ของสำนักงาน กสทช. ค่ะ จากรายงานดังกล่าวปรากฏว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เองเราสามารถที่จะเพิ่มในเรื่องของมูลค่ามวลรวม ของตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเฉพาะกิจการโทรทัศน์ได้ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ทั้งนี้เป็นกรณีของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการเกิดการผลิต มูลค่ามวลรวมในอุตสาหกรรมในเรื่องของการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แล้วก็ได้มีการลดทอนในกรณีที่เราได้มีการคืนคลื่นความถี่ ภายใต้มาตรา ๔๔ ไปแล้วเรียบร้อย เอกสารข้อมูลต่าง ๆ สามารถที่จะดูได้ใน Website ของสำนักงาน กสทช. ค่ะ
ต่อไปก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้มีการประเมินกันว่าภายหลังจากที่ได้มี การประมูลคลื่นความถี่ในระบบ Digital แล้ว มีการ Disrupt ในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามา ในช่วง ๔-๕ ปีหลังนี้มา กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจค่ะ เราได้มีการศึกษาในเรื่องนี้ และในเรื่องนี้เอง ก็อยู่ในการศึกษาว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเรื่องของการใช้งานคลื่นความถี่ ในอีก ๕ ปีต่อไป นั่นหมายความว่าคลื่นความถี่ใน ๕ ปีต่อไป หากจะต้องมีการนำไปใช้ ในกิจการอื่นที่เป็นกิจการที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับชมในประเทศไทยเราเอง ในปัจจุบันนี้เอง เป็นกลุ่มที่ยังอยู่ใน Generation ที่รับชมโทรทัศน์ พฤติกรรมผ่านทาง โทรทัศน์ภาคพื้นดินอยู่ในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ ๕๐ ก็เป็นกลุ่มตั้งแต่ ๔๕ บวกขึ้นไป นั่นหมายถึงอายุนะคะ ดังนั้นในกรณีนี้กิจการคลื่นความถี่ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นและใช้ สำหรับกิจการบริการสาธารณะอยู่ แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของการที่จะนำไปสู่ในเทคโนโลยีใหม่ หรือ New เทคโนโลยีในเรื่องของ Digital เอง ก็มีกลุ่มใหม่ที่เป็นกลุ่มที่เรียกว่าอายุต่ำกว่า ๔๑ ปี เป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ค่าตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพูดไม่ได้ผิดค่ะว่าค่าทางการตลาดกลุ่มเหล่านี้ได้มีการเพิ่ม ตัวขึ้นและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความจริงค่ะ และในกรณีนี้เอง กสทช. ก็ได้เข้าไปได้ ดูในเรื่องของมูลค่าโฆษณาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็เข้าไปศึกษาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตจะต้องทำอย่างไร ในการศึกษาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เองก็นำมาสู่ในเรื่องของ การศึกษาฉากทัศน์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคใหม่ ในเรื่องของการดำเนินการในกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ทีนี้ก็จะข้ามต่อไปถึงในเรื่องของท่านสมาชิกท่านหนึ่งที่ได้มีการสอบถาม ในเรื่องของ Over-The-Top หรือ OTT ที่มีความเชื่อมโยงกัน ในส่วนนี้เองจะนำเรียนว่า มีความเชื่อมโยงกัน และ กสทช. ก็ได้มีการดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วในเรื่องของการมีมติ ในครั้งที่ผ่านมาว่าให้สำนักงาน กสทช. ไปประสานงานร่วมกันกับ ETDA หรือว่า DE ในเรื่อง ของการดำเนินการเกี่ยวกับกลุ่มผู้ให้บริการโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการสื่อภาพและเสียง ผ่านทาง Over-The-Top ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีแนวทางหรือกลไกในเรื่องเกี่ยวกับ การกำกับดูแลในเรื่องของ Over-The-Top TV นะคะ ทั้งนี้ก็จะมีแนวทางที่สำนักงานจะได้มี การนำเสนอเรื่องของการ Deregulate หรือในเรื่องของการลดทอนภาระการกำกับดูแล ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากว่า เราไม่สามารถที่จะสกัดกั้นการหลั่งไหลเข้ามาของสื่อต่างชาติได้ และรวมถึงต้องมีการสร้าง ให้เกิดศักยภาพที่เข้มแข็งของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยค่ะ
ประเด็นที่ ๓ เป็นประเด็นที่สอบถามกันมากในเรื่องของกฎ Must Have Must Carry ค่ะ จะขออนุญาตทำความเข้าใจกับท่านสมาชิกว่าในเรื่องของกฎ Must Have Must Carry เอง เกิดขึ้นมาในช่วงยุคของการเกิดขึ้นของ TV Digital ในช่วงของ ๕-๑๐ ปี ที่ผ่านมา ในช่วงนั้นเองการรับชมของประชาชนชาวไทยจะเป็นการรับชมผ่านทาง เสาก้างปลา ส่วนหนึ่งประมาณสัก ๔๙ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นการรับชมผ่านทางดาวเทียม และเคเบิล ดังนั้นเอง กฎ Must Have Must Carry จะเป็นจุดที่เข้าไปเติมเต็มทำให้ ประชาชนสามารถเข้าถึง Content ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการพื้นฐานได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ กสทช. ในยุคนั้นได้วางกรอบแนวทางหรือนโยบายขึ้นมา
ถัดไปก็คือว่าเมื่อมีการผ่านมาในระยะหนึ่ง ก็จะมีกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ การบริหารจัดการการใช้สิทธิในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ Event โดยเฉพาะฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่เกิดขึ้น ถามว่าในขณะนั้นการดำเนินการในเรื่องนั้น ในยุคต้น ๆ มีผู้ที่จะเข้าไปแข่งขันในเรื่องของการซื้อลิขสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร กลไก ในตลาดในวันนั้นยังมีน้อยรายที่เข้าไป แต่เมื่อกลไกตลาดของ Digital TV ได้มีการเติบโตขึ้น ผู้ให้บริการมีศักยภาพมากขึ้นในการที่ จะเข้าไปสู่ตลาดได้ การเปลี่ยนแปลงในการรับชมผ่านทางโลก Internet มากขึ้น ในกรณีดังกล่าวนี้เอง กสทช. ท่านเองก็ได้ให้แนวทางสำนักงาน กสทช. มาให้พิจารณา การปรับเปลี่ยนบริบทในเรื่องของการเข้าแทรกแซงตลาดด้วยกฎ Must Have Must Carry ด้วยเช่นเดียวกันนะคะว่าเรื่องเหล่านี้เรายังคงต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบันนี้เองเราได้มีการพูดคุยกับกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว ก็มีแนวทางที่จะมีการนำเสนอว่า ๑. อาจจะต้องขอให้มีการตัดรายการฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายออกหรือไม่ ในกรณีนี้เองในอุตสาหกรรมก็มีข้อคิดเห็นว่ายังคงเป็นประโยชน์อยู่ แต่ขอให้ กสทช. ได้ช่วยพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับสิทธิหรือลิขสิทธิ์มา สามารถบริหารจัดการสิทธิได้ และกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนสามารถที่จะเข้ารับชม รายการที่มีความสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ได้ไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นในกรณีนี้เอง กสทช. เราได้ รับฟังภาคอุตสาหกรรม แล้วก็จะมาประมวลผลใน ๓ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก ยังคงรักษารายการที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการไว้ เพื่อให้ผู้พิการ สามารถเข้ารับชมได้
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของรายการที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ประเด็นนี้เอง เราได้มีการศึกษาเพิ่มเติมว่าท้ายที่สุดหากเรายังคงในเรื่องของรายการนี้ไว้อยู่ แต่อาจจะต้อง มีการนำเสนอเพื่อกำหนดมาตรการบางอย่างบางประการให้ประชาชนสามารถเข้ารับชมได้ เช่น รายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมีอยู่ ๑๕ หรือหลายสิบ Match แต่อาจจะกำหนด Match สุดท้ายที่เป็น Match แข่งขันรอบสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าร่วม รับชมพร้อมกันได้ เป็นต้น ก็เป็นแนวทางที่สำนักงานทำการศึกษา และจะนำเสนอต่อ กสทช. เพื่อให้ได้รับกรอบแนวนโยบายต่อไป ก็ถือว่าเป็นการตอบคำถามของท่านสมาชิกที่ถาม ในคำถามสุดท้ายแล้วด้วยนะคะ
ส่วนประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือไม่ ต้องนำเรียนท่านค่ะว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำวินิจฉัยออกมา แล้วว่ากฎ Must Have หรือ Must Carry นี้เองเป็นกฎที่เกี่ยวข้องกับกฎเฉพาะในเรื่องของ การส่งสัญญาณผ่านทางโทรทัศน์ในประเทศไทย ฉะนั้นผู้ที่รับสิทธิมาตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการภายใต้กฎ Must Have Must Carry กฎทั้ง ๒ เรื่อง ทั้งเรื่องของ ลิขสิทธิ์ และ Must Have Must Carry ไม่มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นข้อกฎหมาย
และในประเด็นของกิจการกระจายเสียง ที่ท่านสมาชิกได้มีการสอบถามว่า ทาง กสทช. เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคตสำหรับกลุ่มผู้ประกอบกิจการ กระจายเสียง ขอนำเรียนว่า กสทช. ชุดปัจจุบันท่านเข้ามา และท่านตระหนักถึง ความเดือดร้อนของพี่น้องวิทยุชุมชน และพี่น้องวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ ท่านได้ พยายามเข้ามาแก้ไขในเรื่องของสภาพปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น ดูกลไกต่าง ๆ รวมถึงกำหนดมาตรการ ซึ่งในปี ๒๕๖๗ นี้เองท่านจะได้มีการดำเนินการในเรื่องของ ความชัดเจน การอนุญาตเกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจายเสียง และรวมถึงนำไปสู่ในเรื่องของ การนำเอาระบบ Digital เข้ามาเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบกิจการในอนาคต นอกจากนี้ในเรื่องของการทำวิทยุ Online ก็เป็นอีก ส่วนหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกันค่ะ ขอบพระคุณค่ะ