ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 9 วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 11.00 - 17.38 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมรายงานการประชุมสรุปการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ผมจะอนุญาตให้ท่านสมาชิกได้ ปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๒๔ นะครับ ผมจะ หารือตามลำดับรายชื่อที่ท่านสมาชิกได้แจ้งไว้แล้วนะครับ ๒ ท่านแรก ให้เตรียมตัวและจะได้ หารือเลยนะครับ ท่านแรกคุณอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ นะครับ ท่านที่ ๒ ให้เตรียมตัวไว้ก่อน ท่านปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ครับ เอา ๒ ท่านแรกก่อนครับ เชิญคุณอัครแสนคีรีครับ

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่านครับ กระผม นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๗ พรรคพลังประชารัฐ ท่านประธานครับ วันนี้ ผมมีข้อหารือหลักๆ ๒ เรื่องครับ

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรื่องแรกครับ ท่านประธานครับ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโครงการขุดลอกเขื่อนลำปะทาวและขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปด้วยครับ ท่านประธานครับ ปัจจุบันเขื่อนลำปะทาวซึ่งเป็น เขื่อนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนนะครับ สังกัดกระทรวง พลังงาน ปัจจุบันนี้เขื่อนลำปะทาวประกอบไปด้วยเขื่อนบน แล้วก็เขื่อนล่างตั้งอยู่บนเขา ภูแลนคาของจังหวัดชัยภูมินะครับ ในส่วนของรูปภาพที่อยู่ด้านบน เขื่อนบนกับเขื่อนล่าง จะอยู่ทางซ้าย ส่วนทางด้านขวานี่จะเป็นตัวเครื่อง GEN นะครับ หรือตัวเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องที่ตั้งอยู่ตรงตีนเขาของเขาภูแลนคา เพื่อให้กรณีเวลาผลิตไฟฟ้าจะต้องปล่อยน้ำ ลงมาจากบนเขา ส่งไปที่ตัวเครื่อง GEN เพื่อผลิตไฟนะครับ แล้วก็ป้อนไฟเข้าระบบ ในส่วน ของเครื่อง GEN เองนี่จะอยู่ตรงตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอแก้งคร้อ ซึ่งหลังจากที่มี การก่อสร้างเขื่อนนี้นะครับ แล้วก็มีการผลิตไฟฟ้า มีการปล่อยน้ำลงมานี่ก็จะได้ประโยชน์ ๒ เรื่องหลัก ๆ นะครับ เรื่องแรก คือเรื่องไฟฟ้าที่ได้ใช้นะครับ เรื่องที่ ๒ คือเกษตรกรที่อยู่ ในบริเวณตำบลนาหนองทุ่มก็จะได้ใช้น้ำจากการปล่อยน้ำลงมาผลิตกระแสไฟฟ้านะครับ

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ ท่านประธานครับ ขณะนี้เขื่อนลำปะทาวกำลังพบเจอ ปัญหาวิกฤติหลัก ๆ นะครับ คือเรื่องของการที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำในเขื่อนได้นะครับ ปัจจุบันนี้เขื่อนลำปะทาวเขื่อนบนสามารถกักเก็บน้ำได้ ๔๔ ล้านลูกบาศก์เมตรนะครับ ส่วนเขื่อนล่างกักเก็บน้ำได้ประมาณ ๑๔ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันท่านประธานครับ หลังจากมีการสร้างเป็นระยะเวลายาวนานยังไม่เคยมีการขุดลอกในเขื่อนนะครับ ทำให้เกิด ปัญหาตามที่อยู่บนหน้าจอ ก็คือมีตะกอนดินสะสมอย่างมหาศาล จากการสำรวจพบว่า มีอยู่หลายล้านคิวนะครับ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม หรือเกิดช่วงพายุเข้ามานี่ ก็จะทำให้น้ำที่ อยู่ในเขื่อนนี่ไหลทะลักนะครับ ไหลทะลักก็จะเห็นว่าจะเข้ามาท่วมในจังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเทศบาลเมือง ดังที่เห็นในรูปขวามือนะครับ ฝนถล่มสะสมน้ำล้นเขื่อน ผู้ว่าชัยภูมิเตือน ๗ อำเภอเสี่ยงท่วม ซึ่งปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดชัยภูมิมีมาอย่างยาวนาน ๒ ปีติดต่อกันนะครับ ดังนั้นนี่ผมมีข้อเสนอ ๒ ข้อ

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปด้วยครับ ข้อแรกนะครับ อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการขุดลอกเขื่อนลำปะทาวทั้งเขื่อนบนและเขื่อนล่าง ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับ ก็คือ ๑. กำจัดตะกอนดิน เพิ่มความจุในเขื่อน ๒. สามารถขยายกำลังผลิตไฟฟ้าได้หลังจาก เรากักเก็บน้ำได้มากขึ้นนะครับ ๓. ป้องกันปัญหาน้ำท่วม เมื่อเราเก็บน้ำได้มากขึ้น แล้วปัญหาน้ำที่จะเอ่อล้นไปทั่วเมืองก็จะน้อยลงนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จบ ๓ นาทีแล้ว

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ครับ ๓ นาทีนะครับ เชิญครับ

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๑ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือทั้งหมด ๓ ประเด็นครับ

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ครับ เป็นเรื่องการจัดการถังดับเพลิงในพื้นที่ กทม. ก่อนอื่น ผมต้องขอแสดงความเสียใจต่อญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิด ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทาง กทม. ได้เข้ามาเก็บถังดับเพลิง ที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว แต่ไม่ได้นำถังใหม่ที่ใช้การได้มาเปลี่ยนให้ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิด เหตุไฟไหม้หลายครั้งในพื้นที่ กทม. เขต ๑ ซึ่งประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านเห็นไฟไหม้ต่อหน้า ต่อตา แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ผมจึงไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว จึงฝากผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการนำถังดับเพลิงใหม่ที่ใช้ การได้เข้ามาทดแทนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ในอนาคต

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ท่านประธาน การจัดเก็บตู้ Container ผมได้รับเรื่องร้องเรียน มาจากประชาชนในพื้นที่ว่ามีตู้ Container จำนวนมากวางไว้บนพื้นที่สาธารณะก่อให้เกิด ปัญหาทั้งหมด ๓ ประเด็น ทั้งหมด ๒ จุด จุดแรกถนนนครปฐม จุดที่ ๒ ถนนพิษณุโลก ประเด็นที่ ๑ กีดขวางการจราจรทำให้การสัญจรเป็นไปได้ยาก ประเด็นที่ ๒ บดบังทัศนียภาพ ในพื้นที่ท่องเที่ยวใจกลางกรุงเทพฯ ประเด็นที่ ๓ ก่อให้เกิดมุมอับซึ่งเสี่ยงให้เกิดเหตุ อาชญากรรมได้ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการจัดเก็บ ตู้ Container ไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายและเป็นประเด็นระดับชาติ เป็นเรื่องของทุนต่างชาติเข้ามา รุกล้ำในย่านเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพฯ อย่างโจ๋งครึ่ม ผมได้รับเรื่องร้องเรียนมาและได้ลงไป ตรวจสอบด้วยตนเองว่าพื้นที่ กทม. เขต ๑ มีทุนต่างชาติเข้ามารุกล้ำพื้นที่ทำกินย่านการค้า เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างพื้นที่ที่ถูกทุนต่างชาติเข้ามารุกล้ำ จะมีสำเพ็ง ปากคลองตลาด เสือป่า และคลองถม ล้วนเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ เขต ๑ ข้อสังเกตและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการที่ทุนต่างชาติเข้ามารุกล้ำมีทั้งหมด ๔ ข้อ ข้อ ๑ ทุนต่างชาติจำนวนมากได้ใช้ Nominee คนไทยในการจดจัดตั้งบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายใช่หรือไม่ ข้อ ๒ ทุนต่างชาติเหล่านี้มีการจ่ายภาษีอย่างถูกกฎหมายหรือเปล่า ข้อ ๓ ทุนต่างชาติเหล่านี้เข้ามา ปั่นราคาค่าเช่าต่าง ๆ ในพื้นที่จนผู้ประกอบการคนไทยสู้ราคาไม่ไหวจนต้องย้ายออกไป จากพื้นที่ ทำการค้ามาหลายสิบปีโดนทุนต่างชาติใช้เวลาไม่กี่ปีเข้ามารุกล้ำจนต้องออกไป ช่วงก่อนโควิดตึกแถวสำเพ็งค่าเช่าโดยประมาณ ๗๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน หลังจากทุนต่างชาติเหล่านี้เข้ามาค่าเช่าสูงถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน และได้ข่าวมาว่า แถวปากคลองตลาดตึกหัวมุมซื้อขายในราคา ๑๕๐ ล้านบาทเป็นเงินสด ผมขอฝาก ท่านประธาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยเสียประโยชน์ทั้งประเทศจากการที่ ทุนต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในประเทศไทยโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐน้ำดีที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรง และตรงไปตรงมา แต่ทราบมาว่าทุนต่างชาติเหล่านี้ได้ใช้อิทธิพลแทรกแซงในการปฏิบัติ หน้าที่ จึงฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปตรวจสอบและจัดการแก้ไข ปัญหาโดยด่วน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ มีเรื่องอยากจะแจ้งต่อเนื่องนิดหนึ่ง เรื่องตู้ Container ที่อยู่รอบบริเวณสภานะครับ ผมได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าภายใน ๔ ทุ่มคืนนี้ก็จะเอาออกให้หมด ขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่และขอบคุณพวกเราด้วยนะครับ ท่านที่ ๓ ท่านโสภณ ซารัมย์ แล้วก็เตรียมตัว ท่านที่ ๔ ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู เชิญคุณโสภณครับ

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม โสภณ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอนำ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอพุทไธสง อำเภอคูเมือง อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอหนองหงส์ ที่อยู่ในภาวะประสบภัยแล้งอยู่ในขณะนี้อย่างแสนสาหัส จากการลงพื้นที่จะได้ทราบว่า เดี๋ยวนี้ความเสียหายทางข้าวไปแล้วประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อาจจะถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขอ Clip ชุดที่ ๑ นะครับ

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ขอให้เปิด Clip ชุดที่ ๑ ให้ด้วย ขอ Clip ชุดที่ ๑ ที่มีเสียงครับ อันนี้คือห้วยแอกอยู่ในลำห้วยแท้ ๆ แต่ว่าไม่สามารถที่จะเอาน้ำ มาใช้ได้ แล้วก็ไม่ว่าฤดูแล้ง หรือไม่ว่าฤดูฝน สภาพก็เหมือนกัน อันนี้ชาวบ้านเขาขอ เขื่อนกั้นน้ำฝายน้ำล้นแล้วก็ขอขุดลอก ชาวบ้านที่จะได้ประโยชน์ก็คือตำบลหนองเยือง และตำบลดอนกอก ขอภาพชุดที่ ๒

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

อันนี้เป็นลำคลองก็คือลำพังชู ลำพังชูนี้เป็น ลำห้วยกั้นระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดมหาสารคามตรงอำเภอยางสีสุราช อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อยู่ใน ๒ เขต คือ เขตตัวกระผมและเขตของท่าน สส. ลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร ตรงนี้แล้งซ้ำซากครับ อย่างที่ท่านเห็นคลองด่านตั้งแต่สร้างมาน้ำยังไม่ได้ใช้เลย คลองเส้นนี้ ฉะนั้นชาวบ้านที่อำเภอบ้านนาโพธิ์ โดยเฉพาะตำบลบ้านดู่ ภาพขอให้เลื่อนไป เรื่อย ๆ ครับ นี่ข้าวที่ติดคลองก็จะสภาพเป็นแบบนี้ นี่น้ำที่คลองนะครับ คลองนี้ ถ้าเราได้รับการพัฒนาแล้วจะได้ใช้เลี้ยงพี่น้องประชาชน ๒ จังหวัด ขอภาพชุดที่ ๓ อำเภอ พุทไธสง คลองนี้มีฝายน้ำล้นแล้ว แต่ว่าไม่ได้ใช้เลย ขอชุดที่ ๔ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอ ลำปลายมาศต้องการพัฒนาลำน้ำมาศ สร้างฝายน้ำล้น อำเภอคูเมืองต้องการเขื่อนกั้นน้ำลำน้ำมูล ฉะนั้นในเวลาอันจำกัดนี้กระผมขอยื่นเป็นเอกสารที่จะกราบเรียนท่านประธานใน รายละเอียดต่อไป กราบขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านโสภณมากครับ ต่อไปขอเชิญ ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์วรวิทย์ บารู ครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร เขต ๑ จังหวัดปัตตานี พรรคประชาชาติ วันนี้ผมมีประเด็นเรื่องการสัญจรไปมา ของประชาชนในเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำบลรูสะมิแล ตำบลปะกาฮะรัง แล้วก็ตำบลบาราเฮาะ อันเป็นเขตที่ตั้งของถนนหนทางที่กำลังก่อสร้าง มี ๒ ประเด็น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ก็คือในเรื่องของการก่อสร้างสะพานเลี่ยงเมืองปัตตานี ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าเขาต่อเวลาขยายเวลาสำหรับการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ไปสอบถามจังหวัด ใช้เวลาอีกประมาณ ๔-๕ เดือน ก็คงจะปลายปี ประชาชนก็เดือดร้อนทางด้านฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำ อันนี้แม่น้ำปัตตานี ส่วนทางด้านตะวันออกก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ถนนก็ยัง ใช้ไม่ได้ อุบัติเหตุเกิดขึ้น อันนั้นเกิดจากการเลี้ยงสัตว์พวกวัวควายถูกรถชน แล้วก็ทำให้ ทรัพย์สินเสียหาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่สำคัญก็คือการสัญจรไปมาของประชาชน ไม่ใช่เพราะถนนไม่ดี ถนนเล็ก ถนนแคบ แต่ว่าที่มีถนนอยู่แต่ว่าถูกปิดการสัญจรไปมา เชื่อมต่อระหว่างตำบล ถูกปิดอันเนื่องมาจากป้องกัน ผมไม่ทราบว่าป้องกันจากความมั่นคงหรือว่าทางด้านอะไร ไม่ทราบ แต่ปิดไปหลายปีเกือบ ๑๐ ปีแล้ว มันเชื่อมต่อระหว่างตำบลบาราเฮาะกับตำบล ปะกาฮะรัง บนสะพานที่เชื่อมข้ามแม่น้ำปัตตานี ตรงนี้ประชาชนเดือดร้อนมากน่าสงสาร ประชาชนซึ่งจะต้องอ้อมไปไกลมาก แล้วก็ในบริเวณบ้านกัณรี ตำบลรูสะมิแลถูกปิด เช่นเดียวกัน การสัญจรของประชาชนต้องอ้อมไปไกลมาก ตรงนี้เราจะเห็นว่าพี่น้อง ประชาชนเดือดร้อน เราจะเห็นว่ามันมียาม มันมีป้อม มันมีชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ตำบล เยอะแยะไป แต่ว่าการปิดทางสัญจรไปมาของประชาชนซึ่งสร้างความยากลำบากในการ สัญจรไปมาต้องเสียเวลา สำหรับประชาชนที่จะใช้ถนนหนทางใช้ระยะเวลายาวนานมากที่ปิด ถนน ซึ่งน่าที่จะมีหนทางในการแก้ไขปัญหา ถ้าหากว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการจะเกิด ความรุนแรงก็น่าที่จะแก้ไขด้วยวิธีอื่น เพราะว่าห่างไปนิดหนึ่งก็มีป้อม มีจุดตรวจของชุด ความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายปกครองหรือว่าฝ่ายทหาร ผมเห็นว่าควรจะแก้ไขประเด็น เหล่านี้ เพราะว่าสร้างความยากลำบากในการสัญจรไปมาของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำบลปะกาฮะรังกับตำบลบาราเฮาะสะพานที่ข้ามแม่น้ำปัตตานี ขอขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปผมจะเรียกไว้ ๒ ท่าน คุณวรโชติ สุคนธ์ขจร แล้วก็คุณวิลดา อินฉัตร ท่านแรกขอเชิญ ท่านวรโชติ สุคนธ์ขจรครับ

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วรโชติ สุคนธ์ขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต ๔ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมขออนุญาตหารือท่านประธานสภา ๔ เรื่องด้วยกัน ขอ Slide แรกนะครับ

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องถนนของเส้น โรงเรียนดงขุยวิทยาคมไปบ้านหนองกุ่ม จากตำบลดงขุยไปตำบลศาลาลาย ถนนเส้นนี้ได้รับ การถ่ายโอนมาจากกรมทางหลวงชนบทระยะทาง ๘ กิโลเมตร ท่านประธานครับ ปัจจุบันไม่มี งบประมาณในการพัฒนาเลย ประชาชนเดือดร้อนมากครับ ถนนเส้นนี้นักเรียน นักศึกษาที่ใช้ โรงเรียนดงขุยวิทยาคมไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ฝากท่านประธานสภาไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องของบประมาณในการดูแลถนนเส้นนี้ด้วย โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นนะครับ

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ท่านประธานสภาครับ เป็นเรื่องถนนจากหน้าอำเภอวังโป่ง ไปโรงพยาบาลวังโป่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วถนนเส้นนี้จะได้รับงบประมาณประมาณปี ๒๕๖๗ แต่ด้วยสถานการณ์ของสภาวันนี้ล่าช้า กลัวงบประมาณจะไม่ทันการณ์ ฝากท่านประธานด้วย ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือกระทรวงคมนาคมช่วยจัดสรรงบประมาณเส้นนี้ด้วย เพราะว่า พี่น้องประชาชนเดือดร้อนนะครับ โดยการสัญจรที่จะเข้าไปโรงพยาบาลไม่ได้รับความสะดวก เท่าที่ควร

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ Slide ต่อไปเลย เรื่องถนนเส้น ๑๓๐๑ เป็นถนนสายหลักของ ๓ จังหวัดด้วยกันก็คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิจิตร แล้วก็จังหวัดพิษณุโลก ถนนเส้นนี้ ๑. ไฟส่องทางไม่มี ๒. ระยะทาง ๑๙ กิโลเมตรกว่า ๆ ถนนไม่ดี ฝากท่านประธาน ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจัดสรรไฟส่องทาง แล้วก็งบพัฒนาถนนเส้นนี้ด้วยนะครับ

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลยของจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ ตอนนี้ ภัยแล้งครับ ท่านประธานสภาที่เคารพครับ จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่ทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด แล้วก็ผลไม้ต่าง ๆ วันนี้ฝนไม่ตก ของบประมาณไปยังฝนหลวงที่นครสวรรค์ ได้รับข่าวดีมาว่าไม่มีงบประมาณ วันนี้ต้องฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าเป็นไปได้ช่วยจัดสรรงบประมาณ ดูแลเรื่องทำฝนเทียมหรือว่าฝนหลวง ให้กับพี่น้อง ทั้ง ๑๑ อำเภอ ๙๘ ตำบล พื้นที่ได้รับความเสียหาย ๕๑๐,๐๐๐ กว่าไร่ ท่านประธานครับ เมื่อเช้านี้มีพี่น้องแล้วก็ผู้นำจากท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งโทรถามผมว่าเราจะได้รับงบ ทำฝนเทียมไหม ฝนหลวงไหม วันนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำหนังสือไปแล้วถึงอธิบดี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ได้รับคำตอบอย่างนี้ผมได้นำเรียนท่านประธานสภา อย่างไรเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เราได้นายกรัฐมนตรีแล้ว อยากได้เรื่องนี้โดยเร่งด่วน เพราะว่าข้าว ข้าวโพด แล้วก็พืชผลทางการเกษตรของพี่น้องจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับ ความเสียหายอย่างมาก ๕๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ สส. เพชรบูรณ์ทั้ง ๖ เขต ฝากเรื่องนี้กับ ท่านประธานสภาด้วยความเคารพครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณวิลดา อินฉัตร ครับ

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ ๗ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณพี่น้องในอำเภอปรางค์กู่ อำเภอวังหิน อำเภอพยุห์ และอำเภอไพรบึง ที่ได้เลือกดิฉันเป็นผู้แทนในครั้งนี้ วันนี้ดิฉันมีประเด็น ที่จะหารือกับท่านประธาน ๓ ประเด็น

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ได้รับการร้องเรียนจากนายสุพรรณ ปุญญา ผู้ใหญ่บ้าน สำโรงปราสาท หมู่ที่ ๒ อำเภอปรางค์กู่ เรื่องขอให้ซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหาย อันเนื่องมาจากอุทกภัยน้ำท่วม จากพายุโซนร้อนโนรูตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ถนนได้รับความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องสัญจรไปมา การขนส่งสินค้าเกษตร นักเรียนที่ต้องไปโรงเรียน ทุกวันได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่งนะคะ มี ๓ สายด้วยกันคือ ถนนสายบ้านสำโรงปราสาท ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านไพรพะยอม ตำบลกล้วยกว้าง อำเภอห้วยทับทัน ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ถนนสายที่ ๒ บ้านสำโรงปราสาท ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านแดงใหญ่ ตำบลกล้วยกว้าง อำเภอห้วยทับทัน ระยะทาง ๒ กิโลเมตร ถนนสายที่ ๓ บ้านสำโรงปราสาท ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านหนองผึ้ง ตำบลสำโรง ปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ซึ่งถนนดังกล่าวเป็นโครงการที่เกินศักยภาพของ อบต. ในพื้นที่ และ อบต. ได้ส่งเอกสาร ขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงขอหารือ ท่านประธานประสานจัดสรรงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางสายนี้ให้ด้วยนะคะ

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจาก นางสาวภัทรวี ชานนท์ ผู้ใหญ่บ้าน ไฮเลิง หมู่ที่ ๓ อำเภอปรางค์กู่ ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางสัญจรไปมาของ ประชาชนในหมู่บ้านออกสู่เส้นทางหลัก ระหว่างหมู่บ้านเชื่อมต่อไปสู่อำเภอ คือเส้นทาง จากบ้านไฮเลิง หมู่ที่ ๓ อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านไพรพะยอม ห้วยทับทัน ระยะทาง ๒ กิโลเมตร ซึ่งมีประชาชนใช้เส้นทางนี้สัญจรไปมาเป็นอย่างมากนะคะ จึงขอหารือ ต่อท่านประธานค่ะ

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนบ้านขนวน หมู่ที่ ๒ ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ขอให้ขุดลอกห้วยกุดจงตอนล่าง ซึ่งลำห้วยดังกล่าว ตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ ทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกพริก ตลอดจนเลี้ยงสัตว์ แต่ได้รับความเดือดร้อนทุกปีเพราะมีน้ำไม่เพียงพอ ต่อการอุปโภคบริโภคและปศุสัตว์ ซึ่งการขุดลอกคลองห้วยกุดจงตอนล่างนี้จะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนอย่างมาก จึงขอหารือท่านประธานดำเนินการให้ด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปผมจะเรียก ๓ ชื่อเพื่อเตรียมไว้ครับ ๑. คุณสุขสมรวย วันทนียกุล ๒. คุณกิตติภณ ปานพรหมมาศ ๓. คุณสุธรรม จริตงาม เชิญคุณสุขสมรวยครับ

นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสุขสมรวย วันทนียกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเมืองและอำเภอหัวตะพาน พรรคภูมิใจไทยค่ะ อันดับแรก ดิฉันต้องขอขอบพระคุณ ทุกคะแนนเสียงจากไทอำนาจเจริญที่ได้เลือกดิฉันเข้ามาเป็นตัวแทนในการนำปัญหาของ ชาวอำนาจเจริญเข้ามาหารือ ณ สภาแห่งนี้ค่ะ

นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ที่จังหวัดอำนาจเจริญทุกวันนี้ประชาชนให้ความสนใจ ในการออกกำลังกายและมีความชื่นชอบในด้านกีฬาทุกเพศทุกวัย ดิฉันได้รับ การประสานงานจาก นางสาวณิชชา พันธุ์วรรณ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอำนาจเจริญ เราได้ร่วมกันลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อน รับฟังปัญหาจากลูกหลานชาวอำนาจเจริญค่ะ เราพบว่าสนามกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญมีปัญหาความทรุดโทรมค่ะ ท่านจะได้เห็นในภาพ ต่อไปค่ะ

นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ สนามกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญตั้งอยู่ที่ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ประกอบด้วย สนามฟุตบอล สนามกีฬาอเนกประสงค์ ๑,๐๐๐ ที่นั่ง สนามเทนนิส อาคาร บริการ สระว่ายน้ำขนาด ๕๐ เมตร อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ อัฒจันทร์ ระบบสาธารณูปโภค และวัสดุครุภัณฑ์ รวมงบประมาณก่อสร้าง ๑๗๐ ล้านบาทค่ะ แต่ด้วยระยะเวลาผ่านมา ๑๒ ปี ทำให้สภาพของสนามกีฬาแห่งนี้ทรุดโทรมค่ะ เช่น สระว่ายน้ำ ปั๊มน้ำพัง ระบบ ประปามีปัญหา ฝ้าหลังคาหลุดร่วง โรงยิม อาคารหรือเราเรียกว่าอาคารกีฬาอเนกประสงค์ พบว่าพื้นผุพังเป็นอันตรายอย่างมากค่ะ สนามฟุตบอลก็มีความทรุดโทรม ทั้งรั้วรอบสนาม ห้องน้ำ อัฒจันทร์ รวมถึงอาคารสำนักงาน พร้อมกับระบบไฟฟ้ามีปัญหาค่ะ ดิฉันในฐานะ ตัวแทนชาวอำนาจเจริญที่อยากสนับสนุนให้ลูกหลานและประชาชนได้ออกกำลังกาย แต่สภาพสนามไม่มีความพร้อม จึงขอฝากข้อมูลผ่านท่านประธานไปยังการกีฬาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดงบประมาณ จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการปรับปรุง ต่อเติม ซ่อมแซม และจัดซื้อวัสดุให้สนามแห่งนี้ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้จังหวัดอำนาจเจริญมีสนามกีฬาที่มีมาตรฐาน รองรับการเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน เป็นการสร้างมูลค่าให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำค่ะ รวมทั้งดิฉันอยากให้สนาม แห่งนี้เป็นสนามของชาวจังหวัดอำนาจเจริญที่จะได้ใช้ในการออกกำลังกายและจัดกิจกรรม ร่วมกันค่ะ ดิฉันในฐานะตัวแทนจังหวัดอำนาจเจริญมีความฝันที่อยากให้ลูกหลานชาวอำนาจเจริญของ เราได้มีโอกาสโดดเด่นในระดับประเทศและในระดับโลก ขอฝากความหวังนี้ผ่านไปยัง ท่านประธานค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานมากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญ คุณกิตติภณ ปานพรหมมาศ ครับ

นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ นครปฐม ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล อำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน ในพื้นที่ตำบลสระพัฒนา และตำบลห้วยม่วงครับ ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาของพ่อแม่ พี่น้องชาวจังหวัดนครปฐมทั้งหมด ๕ เรื่องนะครับ

นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ นครปฐม ต้นฉบับ

เรื่องแรก ฝากเร่งรัดการดำเนินการแผนขยายถนนทางหลวงหมายเลข ๓๒๙๖ นะครับ ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอบางเลนและอำเภอดอนตูม โดยพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้มีรถสัญจรเป็น จำนวนมาก บวกกับถนนเพียง ๒ เลน ไม่สามารถรองรับการจราจรได้เพียงพอนะครับ และไฟฟ้าที่ดับสนิทเป็นระยะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการหลบรถอยู่บ่อยครั้งนะครับ และขณะที่ผมลงพื้นที่ผมก็ได้พบเห็นอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิงวัย ๒ ขวบ ที่เดินทางมากับครอบครัวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผมสลดใจเป็นอย่างยิ่งครับ จึงเรียน ท่านประธานสภาผ่านไปยังอธิบดีกรมทางหลวงและแขวงทางหลวงนครปฐมให้ทบทวน แผนการขยายถนนขึ้นมาพิจารณาโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการสัญจร ไปมาของพี่น้องทุก ๆ คนนะครับ

นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ นครปฐม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ พี่น้องชาวบางเลนแจ้งผมเข้ามาเรื่องปัญหาหลุมริมถนนทางหลวง หมายเลข ๓๔๖ ๒ จุดนะครับ ก็คือจุดที่ ๑ บริเวณหน้าทางเข้าโรงเรียนวัดรางกำหยาด จุดที่ ๒ คือบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ สาขาทางเข้าบ้านพระมอพิสัย โดยทั้ง ๒ จุดพบหลุม ขนาดใหญ่หลายหลุมนะครับ ที่ทำให้การสัญจรไปมาเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงขอเรียน ท่านประธานสภาผ่านไปยังแขวงทางหลวงนครปฐมให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วนเพื่อ ความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้อง นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านทุก ๆ คนนะครับ

นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ นครปฐม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ครับ ผมได้รับแจ้งจากชาวบ้านและชุมชนเกี่ยวกับปัญหาสี่แยก อันตราย ๒ จุดนะครับ จุดที่ ๑ แยกทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๒ ตัดกับถนนทางหลวงชนบท หมายเลข ๔๐๕๘ ที่ไม่มีสัญญาณไฟแจ้งเตือน และไม่มีไฟสว่าง จากภาพนะครับจะเห็นว่า มีชาวบ้านเอายันต์กันอุบัติเหตุมาติดบริเวณแยกดังกล่าวนะครับ เนื่องจาก ๑ ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากแยกนี้มากกว่า ๒๐ ราย จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังแขวงทางหลวง นครปฐมให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนนะครับ ต่อมาจุดที่ ๒ รูปเดิมครับ เป็นแยกบ้านสระ ตำบลสระพัฒนาเป็นสี่แยกที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลสระพัฒนาและตำบลสระสี่มุม เป็นใจกลางชุมชนที่มีรถสัญจรไปมาจำนวนมากแต่กลับไม่มีสัญญาณไฟจราจรสี่แยก จึงเรียน ท่านประธานฝากไปยังแขวงทางหลวงนครปฐมให้พิจารณาดำเนินการสร้างไฟจราจร ของสี่แยกนี้โดยด่วน

นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ นครปฐม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ มีชาวบ้านแจ้งมาเกี่ยวกับปัญหารถบรรทุกขนดิน ที่ขนดินในบ่อดิน หมายเลข ๓๒๓๓ นะครับ โดยรถบรรทุกก่อให้เกิดปัญหาถนนพัง สร้างมลภาวะฝุ่น และกีดขวางการจราจรกับบุคคลผ่านไปผ่านมานะครับ ซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งอำเภอ จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังตำรวจทางหลวงนครปฐมให้กวดขันเรื่องนี้ อย่างจริงจังเป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่เพียงชั่วคราวนะครับ

นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ นครปฐม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ เรื่องแหล่งน้ำนะครับ ในการทำการเกษตรเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางเลนและอำเภอดอนตูม ทางด้านอุทกภัยตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมามีน้ำท่วมทุก ๆ ปี เพราะปัจจุบันแม่น้ำท่าจีนกลายเป็นแม่น้ำสายหลักในการ ผันน้ำลงสู่อ่าวไทยบ่อยครั้ง เช่นปีนี้ก็จะเกิดขึ้น จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำเนินการทำแผนรับมือเพื่อ ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากเสียหายกับพี่น้องชาวนครปฐมเหมือนทุกปีครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปคุณสุธรรม จริตงาม ครับ

นายสุธรรม จริตงาม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ขอโทษครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุธรรม จริตงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๖ อำเภอทุ่งสง พรรคพลังประชารัฐ ก่อนอื่นผมใคร่ขออนุญาต ท่านประธานขอขอบพระคุณไปยังพี่น้องชาวอำเภอทุ่งสงทุกท่าน ที่ได้มอบความไว้วางใจ ให้ผมได้เป็นผู้แทนของพี่น้องชาวอำเภอทุ่งสง ผมจะขอปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งในสภาแห่งนี้ และนอกสภาครับ ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอำเภอทุ่งสง ๒ เรื่องด้วยกันครับ ขอ Slide ด้วยครับ

นายสุธรรม จริตงาม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือเรื่องขอติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณสามแยกจุดกลับรถ ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๓ ซึ่งเป็น เส้นทางสายหลัก เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดตรัง เส้นทางสายนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแขวงทางหลวงนครศรีธรรมราชที่ ๒ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ท่านประธานครับ สามแยกจุดกลับรถแห่งนี้มีการจราจร คับคั่งตลอดทั้งวัน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบกับใกล้ ๆ สามแยกนี้ เป็นที่ตั้งของโรงงานปูนซีเมนต์ไทยสาขาภาคใต้ ส่งผลให้มีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งสัญจรไปมา ตลอดทั้งวัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีทั้งตลาดนัด จุดกลับรถ คนข้ามถนน และรถบรรทุก ขนาดใหญ่ ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ณ ตำบลที่วังแห่งนี้อยู่ ๒ โรงงาน และไม่มีไฟสัญญาณจราจร สภาพดังกล่าวจึงเอื้อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้นครับ ส่งผลกระทบ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงมีเหตุจำเป็นที่จะต้องติดตั้ง สัญญาณไฟจราจรที่บริเวณสามแยกจุดกลับรถแห่งนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกัน อุบัติเหตุ เพื่อเป็นการดูแลทรัพย์สินและชีวิตของพี่น้องประชาชนครับ

นายสุธรรม จริตงาม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการปรึกษาหารือจากนายเดชภณ แก้วคุ้มภัย นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลนาไม้ไผ่ อำเภอทุ่งสง ถึงปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่บริเวณสี่แยก วังขรี ซึ่งเป็นแนวเขตเชื่อมต่อระหว่างตำบลนาไม้ไผ่กับตำบลควนกรด เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๑๑๖ ช่วงควนกรด-บ้านบ่อน้ำร้อน กิโลเมตรที่ ๒+๒๙๖ ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักมุ่งหน้าสู่ อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อมุ่งเดินหน้าต่อไปยังจังหวัดกระบี่ เส้นทางสายนี้มี พี่น้องใช้สัญจรเป็นจำนวนมากครับ มีทั้งโรงเรียนวัดวังขรี วัดวังขรี และร้านสะดวกซื้อ ประกอบกับในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมามีหมู่บ้านจัดสรรทยอยขึ้นบริเวณแห่งนี้เป็นจำนวน หลายโครงการทำให้มีการจราจรคับคั่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมจึงขอใคร่เรียนท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือแขวงทางหลวงนครศรีธรรมราชที่ ๒ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งรัดให้มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณ ๒ จุดแห่งนี้อย่างเร่งด่วน ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ขอเรียกให้เตรียมตัว ๓ ท่านครับ คุณนิกร โสมกลาง คุณประภา เฮงไพบูลย์ คุณรักชนก ศรีนอก ขอเชิญคุณนิกร โสมกลาง ครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิกร โสมกลาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๘ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้ผมจะขออนุญาตหารือท่านประธานปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอำเภอพิมาย และอำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ๒ เรื่องครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ คือปัญหาการระบายน้ำของอำเภอพิมายในช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำเยอะท่านประธานครับ ขอ Slide ที่ ๑ ครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

อำเภอพิมายจากสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นเมืองที่รวมแม่น้ำหลายสายเข้าด้วยกันครับ เช่น ลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำมูล และลำจักราช เข้าสู่ตัวอำเภอเป็นแม่น้ำมูลแล้วก็ไหลต่อไปที่อำเภอชุมพวงครับ ที่ผ่านมาประสบปัญหา ทั้งน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยที่จากการลงพื้นที่ได้มีโอกาสได้ไปพบกับท่าน ผอ. สำนักงานโครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ครับ ท่านให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายเรื่องโดยหนึ่ง ในสาเหตุหลักก็คือแม่น้ำมูลหลังจากที่ได้รับมวลน้ำรวมกันแล้วส่งต่อไปที่อำเภอชุมพวง ระหว่างทางที่บริเวณบ้านจารย์ตำรา ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย มีการสร้างฝายหินทิ้งมา นานแล้วครับ แล้วหลังจากนั้นก็มีพี่น้องประชาชนได้ไปก่อสร้างทางข้ามชั่วคราวทำให้เกิด การไหลที่ไม่คล่องนะครับ ผมเลยอยากจะขอท่านประธานฝากไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยเร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อที่จะปรับปรุงจุดตรงนี้ครับ จะเป็นประตูระบายน้ำ หรือเป็นฝายที่สามารถปรับอัตราการไหลของน้ำได้จะดีครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับ ขอ Slide ถัดไปครับ ท่านประธานครับ อำเภอพิมายเป็น เมืองท่องเที่ยวทุกปีจะมีการจัดงานเทศกาลเที่ยวพิมายทุก ๆ สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน พฤศจิกายน โดยในงานจะมีกิจกรรมหลักอยู่ ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ ก็คือการแข่งขันเรือยาว ประเพณีชิงถ้วยพระราชทาน กิจกรรมที่ ๒ คือการแสดงแสงเสียงในอุทยานประวัติศาสตร์ หินพิมายครับ โดยปีนี้ท่านประธานครับมันมีความกังวลของพี่น้องชาวอำเภอพิมายคือว่า งบประมาณ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๗ อาจจะล่าช้า ซึ่งก็จะกระทบกับ การท่องเที่ยวของอำเภอครับ เพราะไม่ใช่แค่คนพิมายที่ตั้งตารอที่จะมางานนี้ คนทั้งประเทศ พี่น้องชาวไทยทั้งประเทศแล้วชาวต่างชาติก็อยากจะมาเที่ยวงานเทศกาลที่พิมาย ซึ่งทุกคน รู้ว่าสัปดาห์ที่ ๒ จะเป็นการจัดงานครับ ผมอยากขอท่านประธานฝากไปยังกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา แล้วก็ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี การจัดงานเทศกาลเที่ยวพิมายปีนี้ให้เป็นไปตามกำหนดการเดิมด้วย ท่านประธานครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

สุดท้ายผมจะขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนท่านประธานและเพื่อนสมาชิกพี่น้อง ชาวไทยทุกคนไปเที่ยวงานเทศกาลที่พิมาย ปี ๒๕๖๖ ในช่วงสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน พฤศจิกายน การแข่งขันเรือยาวมันสุดมันครับ การแสดงแสงเสียงสุดอลังการ รับรอง ไม่ผิดหวังแน่นอน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปคุณประภา เฮงไพบูลย์ เชิญครับ

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย ก่อนอื่นดิฉันขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องที่ท่านได้ให้ โอกาสดิฉันได้นำปัญหาความเดือดร้อนของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ เขตอำเภอสมเด็จ อำเภอคำม่วง อำเภอสามชัย และอำเภอสหัสขันธ์ มาเป็นข้อหารือ กับท่านประธาน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่จะนำปัญหาไปแก้ไข โดยเร่งด่วนต่อไป

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก คือปัญหาความไม่สะดวกในการใช้ถนนหนทางในพื้นที่ ลำดับที่ ๑ ทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๑ ช่วงอำเภอสมเด็จถึงปากทางสร้างเสี้ยว และต่อด้วยไปเชื่อมกับ ทางหลวงหมายเลข ๒๒๗ จากปากทางสร้างเสี้ยวถึงอำเภอคำม่วงและสามชัย โดยสภาพ ถนน ๒ เส้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นลูกเนิน มี ๒ ช่องจราจร จราจรแต่ละช่วงแคบเพียงแค่ ๓.๕ เมตร ไม่มีไหล่ทางและคันทางค่อนข้างสูง เส้นทางดังกล่าวผ่านชุมชนหนาแน่น และเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแป้งมันถึง ๒ โรง แล้วก็มี โรงน้ำตาลอีก ๑ แห่ง ซึ่งในทุกปีจะมีอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้งมาก ซึ่งแต่ละครั้ง จะสร้างความสูญเสียและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างล่าสุดก็เกิด รถโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ในอำเภอสมเด็จประสบอุบัติเหตุกับรถพ่วงที่ขนพืชผล ทางการเกษตรตาม Slide ในรูปนะคะท่านประธาน

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๒ ทางหลวงหมายเลข ๑๒ ตรงบริเวณตลาดสี่แยกสมเด็จ ซึ่งไม่มีจุดระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกจะทำให้น้ำในบริเวณพื้นที่ ชุมชนไม่สามารถระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติได้ทัน ทำให้บ้านเรือน ๒ ข้างทาง มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ ตามรูปเลยค่ะท่านประธาน ลำดับที่ ๓ โครงการก่อสร้างสะพาน อ่างเก็บน้ำลำปาว เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อระหว่างอำเภอสามชัยและอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งจะสามารถลดระยะทางในการค้าขายระหว่าง ๒ อำเภอ ได้ถึง ๔๐ กิโลเมตรค่ะ

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ คือปัญหาภัยแล้ง เหมือนกับที่ชาวบ้านทั่วไปชอบพูดวันที่ดิฉัน ลงหาเสียงเลือกตั้งแรก ๆ นะคะ ชาวบ้านบอกว่าน้ำกินน้ำใช้ไม่มี น้ำการเกษตรไม่ต้องพูดถึง ซึ่งในเขตอำเภอที่ดิฉันรับผิดชอบจะเป็นลักษณะปัญหาการขาดแคลนน้ำเหมือนกัน คือใกล้แหล่งน้ำก็จริงไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำลำพันชาด เขื่อนลำปาว แต่ประชาชนไม่สามารถ ที่จะดึงน้ำที่อยู่ใกล้เอาขึ้นมาใช้ได้ ดิฉันจึงเห็นว่าทางกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมทรัพยากรน้ำ ควรจะสนับสนุนงบประมาณจัดทำระบบท่อส่งน้ำตามวัตถุประสงค์ และตามพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งน้ำได้ ดิฉันในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ขอฝากท่านประธานประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดปัญหาซึ่งหมักหมมต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานมาก และหาก ประเด็นปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ดิฉันเชื่อว่าจะสามารถยกระดับการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของจังหวัดกาฬสินธุ์ และนำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ ของการบูรณาการในกลุ่มจังหวัดด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเชิญคุณรักชนก ศรีนอก

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ผู้แทนของชาวบางบอน จอมทอง หนองแขม ขอปรึกษาหารือ ท่านประธาน

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. ปัญหาเรื่องกล้องวงจรปิดเสียมีประชาชนในเขตถูกรถชนเสียชีวิต ที่สี่แยกหนองแขม ปรากฏว่ากล้องมี ๗ ตัว แต่ว่าใช้ได้เพียง ๒ ตัวเท่านั้น ดิฉันจะไม่บอกว่า จุดไหนนะคะ แต่จะขอให้ท่านประธานประสานงานไปยังสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดทั้งหมด ในการดูแลว่ามีตัวใดที่ชำรุดและซ่อมโดยด่วนค่ะ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกับการดำเนินคดี

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. ปัญหารถสาธารณะในพื้นที่เขตหนองแขม เส้นเลียบคลองภาษีเจริญ ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ ไม่มีรถเมล์ผ่านสักสายค่ะ ทั้ง ๆ ที่ประชากรมีจำนวนหนาแน่น ขอให้ท่านประธานประสานไปยังกรมการขนส่งทางบก และพิจารณาเพิ่มสายรถเมล์ ประจำทางบรรเทาปัญหาค่าเดินทางให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. ถนนกำนันแม้นมีหลายจุดที่ชำรุดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีฝาท่อระบายน้ำ อยู่ตรงกลาง Lane เลยค่ะท่านประธาน ขอให้ท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อปรับผิวถนนให้เรียบสม่ำเสมอกันเพื่อลดอุบัติเหตุให้พ่อแม่พี่น้องประชาชน

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๔. ปัญหาเรื่องสายสื่อสารรุงรังในพื้นที่บางบอน จอมทอง และหนองแขมค่ะ หลายจุดย้อยลงมาจนจะพันคอประชาชนตายค่ะท่านประธาน ขอปรึกษาหารือให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหรือ กสทช. มาดูแลนะคะให้เรียบกริ๊บเนียนกริ๊บให้เหมือนแถว ๆ พระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังอยากทราบว่าคิวในการเอาสายสื่อสารลงดินของเขตดิฉัน บางบอน จอมทอง หนองแขมจะมาถึงเมื่อไร

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๕. ข้อเสนอในการอยากจะให้มีบทเรียนเรื่อง CPR ในการปั๊มหัวใจใส่เข้าไป ในหลักสูตรของการศึกษาค่ะ อาจจะเข้าไปอยู่ในวิชาสุขศึกษา หรือว่าพลศึกษา หรือว่าจะเอา แทนวิชาลูกเสือไปเลยที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยก็ได้ค่ะ เพราะว่าทุกวันนี้อย่างเช่นเมื่อวาน เกิดเหตุนี้ขึ้นในสภา ท่านประธานคิดดูว่าถ้าเกิดเหตุนี้ในพื้นที่อื่นประชาชนจะเดือดร้อน ขนาดไหนนะคะ แล้วก็จะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุนี้

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๖. ปัญหาเรื่องไฟส่องสว่างในพื้นที่เอกชัย-บางบอน ตั้งแต่ซอยเอกชัย ๑ ยาวไปจนถึงโรงเรียนศึกษานารี มีไฟดับหลายจุด ดิฉันแจ้งไปหลายครั้งแล้วนะคะ ก็ซ่อมบ้าง ไม่ซ่อมบ้าง อย่างไรอยากจะฝากประสานผ่านทางท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๗. เนื่องจากปัญหาการจราจรที่ติดขัดค่ะ อยากจะให้ท่านประธานประสาน ไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้พิจารณาสร้างทางลอดอุโมงค์ที่แยกบางบอน ๕ ติดแบบ นรกแตกเลยค่ะท่านประธาน

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๘. ปัญหาในพื้นที่บางบอน ไม่มีโรงพยาบาลของภาครัฐในพื้นที่ ชาวบ้าน ต้องเดินทางไกลนะคะ เพื่อไปโรงพยาบาลในเมืองหรือว่าต้องใช้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ขอให้ท่านประธานประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขนะคะ เพื่อพิจารณา สร้างโรงพยาบาลในเขตพื้นที่บางบอนของดิฉันค่ะ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายค่ะ ดิฉันไม่ได้กวนประสาทนะคะท่านประธาน ไม่อยากมีปัญหา ท่านประธานด้วย แต่ว่าประชาชนในเขตของดิฉันฝากถามมาจริง ๆ ว่า ถามเรื่องการทำงาน ที่เป็นกลางของท่านประธาน ดิฉันเข้าใจดีว่าท่านประธานต้องดำรงความเป็นกลางในรัฐสภา อยู่แล้ว แต่ว่าประชาชนดิฉันก็อยากจะฝากเน้นย้ำเรื่องนี้มาค่ะท่านประธาน อย่าโกรธกันนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญผมจะเรียก ๓ ท่านนะครับ คุณสุภาพร กำเนิดผล ๒. คุณรัฐ คลังแสง ๓. ษฐา ขาวขำ เชิญคุณสุภาพรครับ

นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องสำคัญหารือท่านประธาน ๒ เรื่องค่ะ

นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สงขลา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ในพื้นที่ของดิฉันมีอ่างเก็บน้ำคลองสะเดา อำเภอสะเดา และอ่างเก็บน้ำคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง ซึ่งดิฉันเห็นว่าสามารถพัฒนาเป็นแหล่งผลิต พลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งวางแผง Solar Cell บนผิวน้ำไว้สำหรับสำรองไฟฟ้า การติดตั้ง วางแผง Solar Cell ดังกล่าวจะช่วยประหยัดต้นทุนในการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจาก ต่างประเทศ ลดค่า Ft ลดมลพิษ ลดการระเหยของน้ำในอ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน พลังงาน และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ฉะนั้นดิฉันจึง ขอหารือท่านประธานผ่านไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้สำรวจและเข้าแผนงาน โครงการติดตั้งวางแผง Solar Cell บนผิวน้ำผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งอำเภอสะเดา และอำเภอคลองหอยโข่ง ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าการติดตั้งวางแผง Solar Cell จะทำให้เกิด ประโยชน์สูงสุดด้านพลังงานต่อประเทศต่อไป

นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สงขลา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ สืบเนื่องจากจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเป็นศูนย์กลาง การค้า การเชื่อมโยงการค้าการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ โดยเฉพาะทางราง การขนส่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดิฉันจึงเห็นว่าเราควรส่งเสริมให้มีการขนส่งทางรางเพื่อขับเคลื่อน ประเทศ พื้นที่ของดิฉันนิคมอุตสาหกรรมสงขลา อำเภอสะเดา ยังไม่มีระบบการขนส่งทางรางเชื่อมต่อ ทำให้การขนส่งสินค้ามีความล่าช้า ไม่สะดวก ดิฉันคิดว่าเราควรจะส่งเสริมให้มีการขนส่ง ทางรางเชื่อมเส้นทางระหว่างสถานีปาดังเบซาร์กับนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ฉะนั้นดิฉัน ขอกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เพื่อช่วย สำรวจเส้นทางระบบรางเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมสงขลา เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง สินค้าออกไปยังส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก ดิฉันเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอนค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณรัฐ คลังแสง ครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง จากจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ รบกวนขอ Slide ด้วยครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

ขออนุญาตปรึกษาหารือท่านประธาน ถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอชื่นชม โดยแบ่งเป็น ๓ เรื่องหลัก ๆ ครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องของถนนและสะพาน ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล หรือว่า อบจ. นะครับ ซึ่งขาดแคลน งบประมาณในการดูแล ฝากไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นช่วยจัดสรรงบประมาณ ในการซ่อมแซมด้วยครับ ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๑ ครับ เป็นถนน อบจ. ระหว่างบ้านน้ำเที่ยงถึงบ้านหนองหว้า ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย ถัดไปครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๒ เส้นระหว่างบ้านมะกอกถึงบ้านหนองแข้ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ซึ่งรับทราบว่าได้มีการจัดสรรงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างได้ ฝาก อบจ. มหาสารคามช่วยเร่งรัดดำเนินการด้วยครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๓ นะครับ เป็นถนน อบจ. ระหว่างบ้านหนองมันปลา ตำบลกู่ทอง ถึงบ้านนาทอง ตำบลนาทอง ระยะทางรวม ๘ กิโลเมตรถัดไปครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๔ ครับ เป็นถนน อบจ. ระหว่างบ้านโนนเสียวถึงบ้านคุยเพ็ก ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย ระยะทางรวม ๕ กิโลเมตร

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๕ นะครับ ถนนเทศบาลตำบลโพนทอง ระหว่างบ้านสีดาถึงบ้านโพน ตำบลโพนทอง ระยะทาง ๑.๕ กิโลเมตร

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๖ ครับ เป็นสะพานข้ามลำห้วยกุดจอก บ้านโพน ซึ่งมีอายุกว่า ๓๐ ปี เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับผู้สัญจรไปมา ฝากเทศบาลตำบลโพนทอง หน่วยงานต้นสังกัด ช่วยจัดสรรงบประมาณด้วยครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

ถัดไปเป็นเรื่องที่ ๒ ครับ เป็นเรื่องของการขาดแคลนไฟส่องสว่างถนน บนทางหลวงนะครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๑ ทางหลวงแผ่นดินเลขที่ ๒๒๖๘ ช่วงที่ ๑ ระหว่างบ้านนาเจริญ ถึงบ้านนาสมบูรณ์ ช่วงที่ ๒ บริเวณบ้านโนนทัน ตำบลกุดปลาดุก อำเภอชื่นชม

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๒ ทางหลวงชนบท ๔๐๒๕ ระหว่างโรงเรียนชุมชนบ้านกุดปลาดุก ถึงสะพานข้ามลำห้วยอีเฒ่า ขาดแคลนไฟส่องสว่าง

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เส้นที่ ๓ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๓๒๒ ระหว่างบ้านโคกสูง ตำบล เชียงยืน ถึงบ้านขี ตำบลหนองซอน อำเภอเชียงยืน ขาดแคลนไฟส่องสว่างครับ ฝากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทช่วยจัดสรรงบประมาณด้วยครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องความต้องการเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันภัยน้ำท่วม บริเวณชายฝั่งแม่น้ำชี บ้านกุดหัวช้าง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ฝากกรมโยธาธิการ และผังเมือง ช่วยจัดสรรงบประมาณดูแลพี่น้องประชาชนด้วยครับ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม ผมจะได้นำเรียนเป็นเอกสารส่งท่านประธานอีกครั้งหนึ่งครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณษฐา ขาวขำ ครับ

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายษฐา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตอำเภอถ้ำพรรณรา ทุ่งใหญ่ บางขัน และตำบลเขาขาว อำเภอทุ่งสง พรรคภูมิใจไทย ขอปรึกษาหารือท่านประธานเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อแจ้งให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการจำนวน ๓ เรื่องดังนี้ครับ

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ การต่อใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของ ศูนย์ราชการอำเภอถ้ำพรรณรา กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้อำเภอถ้ำพรรณราเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพรรณรา หมู่ที่ ๒ ตำบลถ้ำพรรณรา อำเภอถ้ำพรรณรา เพื่อเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ราชการอำเภอ จำนวน ๑๐๕ ไร่ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นเวลา ๓๐ ปี เมื่อครบกำหนดอำเภอได้ขอต่ออนุญาตถูกต้อง บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาเป็นเวลา ๒ ปี ๕ เดือน ก็ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากกรมป่าไม้แต่อย่างใด ทำให้ไม่สามารถ ดำเนินงานตามแผนพัฒนาอำเภอได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงสนามกีฬาอำเภอ เพื่อที่จะเป็นสถานที่ออกกำลังกายของเด็กและเยาวชน

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การก่อสร้างอาคารผู้ป่วยของโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ โรงพยาบาล ทุ่งใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาด ๖๐ เตียง ต้องรองรับประชาชนในพื้นที่ของอำเภอทุ่งใหญ่ และอำเภอข้างเคียง ประมาณ ๙๐,๐๐๐ คน อาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่เพียงพอ ต่อมาได้มี การจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก โดยทำสัญญากับผู้รับจ้างในวงเงิน ๗๘ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๕ สิ้นสุดวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เป็นเวลา ๖๕๐ วัน บัดนี้เวลาล่วงเลยมา ๓๓๔ วัน มีเพียงร่องรอยของการปรับพื้นที่เท่านั้น เหลือเวลา อีก ๓๑๖ วัน จึงต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชนอย่างแท้จริง

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ การขอขยายช่องทางจราจรและติดตั้งไฟสว่าง ถนนสาย บ่อล้อ-ลำทับ ถนนสายบ่อล้อ-ลำทับ ทล.๔๑๕๑ เป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่าง จังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นถนนสายหลักในพื้นที่ของอำเภอบางขัน มีประชาชนใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากถนนมีสภาพชำรุดและคับแคบ ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจึงขอให้ มีการขยายช่องทางจราจรจากบ้านป่าแพรกถึงบ้านหนองแสง ตำบลบางขัน พร้อมติดตั้ง ไฟส่องสว่างบริเวณจุดเสี่ยงด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปผมจะเรียกไว้ให้เตรียมตัว ๓ ท่าน คุณสุรวาท ทองบุ คุณศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง คุณปิยะนุช ยินดีสุข ครับ ขอเชิญคุณสุรวาทครับ

นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญ ชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธานเพื่อทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการตรวจสอบความถูกต้องและเป็นธรรมในการดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคล เข้ารับราชการครูผู้ช่วยในรอบทั่วไปที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขต ตรวจราชการ ซึ่งได้ทำการจัดจ้างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคในการจัดทำข้อสอบวางระบบ การทดสอบในภาค ก และภาค ข ท่านประธานครับ จากการดำเนินการที่ผ่านมานั้น มีการประกาศผลการสอบภาค ก และภาค ข มีผู้สอบผ่านน้อยมาก ตกจำนวนมาก ผ่านเพียง ประมาณ ๓-๑๐ เปอร์เซ็นต์ จากการเปรียบเทียบกับเขตพื้นที่ที่จ้างมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง จะมีผู้สอบผ่านถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ จากการประกาศผลอย่างนั้นทำให้สังคมตราหน้าว่า ผู้เข้าสอบไม่เก่ง และข้อสอบยาก ผมได้รับการร้องเรียนจากผู้เข้าสอบทั้งหมดที่สอบไม่ผ่าน ได้ทราบว่าข้อสอบไม่ได้ยาก และผู้เข้าสอบก็เตรียมตัวมาอย่างดี มีผลการเรียนเป็นเกียรตินิยม อันดับ ๑ อันดับ ๒ หลายคนก็ตก ผมได้ลงพื้นที่โดยเฉพะในเขตตรวจราชการที่ ๑๐ และ ๑๔ ได้ทราบข้อมูล และพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีความผิดพลาดอย่างแน่นอนหลายประการนะครับ เช่น ได้ทราบว่าการบรรจุข้อสอบไม่ตรงตามสาขาที่สมัครไว้ เรียกว่าข้อสอบไม่ตรงปกนะครับ ผู้เข้าสอบมีการทักท้วงแต่ก็จำยอมที่จะต้องสอบ และบางกลุ่ม บางห้องต้องเลื่อนการสอบ ออกไป มีการบรรจุกระดาษคำตอบที่เรียกว่าเป็นชุด A ชุด B สับสน ไม่ตรงกับข้อสอบที่ ได้รับ มีการขีดฆ่า มีการบังคับให้จำยอมต้องฝนให้เป็นไปตามที่เลขประจำตัวสอบในขณะที่ข้อสอบไม่ตรงกับ กระดาษคำถาม กระดาษคำตอบ ไม่ตรงกับผู้เข้าสอบ มีข้อสอบที่ไม่ครบถ้วน กระดาษคำตอบไม่เพียงพอต่อจำนวนข้อของกระดาษคำถาม คำถามมี ๑๐๐ ข้อ กระดาษคำตอบมี ๘๐ ข้อ ให้กาใส่และไม่ให้เขียนใส่ด้านหลังบันทึกเพิ่มเติม หรือบางห้อง ให้กาในกระดาษคำถาม นี่คือสิ่งที่ผู้เข้าสอบคับแค้นใจอย่างยิ่ง จึงขอให้ท่านประธานได้ทำ หนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเปิดเผยคะแนนการสอบ และให้เขต พื้นที่และมหาวิทยาลัยที่รับจ้างตรวจพิสูจน์ก่อนว่ากระดาษคำตอบเขาเป็นชุดไหน ได้ทำ ข้อสอบชุดไหนแน่ เป็นชุด A หรือชุด B ก่อนนะครับ จับแยกก่อนจึงทำการตรวจเฉลยใหม่ และประกาศผลใหม่ และโดยเฉพาะระยะยาวให้ปรับเกณฑ์และระบบการสอบให้มีมาตรฐาน ยิ่งขึ้นกว่านี้ให้เป็นมาตรฐานเดียว ซึ่งอาจจะมีสำนักทดสอบเกิดขึ้นเพื่อทำงานนี้ เป็นการเฉพาะนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

หมดเวลานะครับ คุณสุรวาทครับ

นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

และที่ร้ายแรงมากในพฤติการณ์ ที่ผมไปจะพบว่ามีคะแนนที่บางเขตพื้นที่ให้ดูคะแนน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ครับ กรุณาจบ ได้แล้วครับ

นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เพราะว่ามีคะแนนเป็น ๐ คะแนน เป็นจำนวนมาก หลายคน หลายวิชา อย่างเป็นระบบเหมือนกัน จึงเชื่อว่ามีความผิดพลาด ที่ระบบการจัดการสอบแน่นอนครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ครับ

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๙ จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ผมขอหารือต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อท่านประธานไปยัง หน่วยงานรับผิดชอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องได้รับ ผลประโยชน์มากที่สุด

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

เรื่องแรกครับท่านประธาน เป็นเรื่องของ การจราจรซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อหรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นทางเลี่ยงเมืองสำคัญอีกเส้นทางหนึ่ง ของเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นย่านธุรกิจที่มีนักธุรกิจทั้งในและนอกประเทศมาลงทุน เป็นจำนวนมาก เส้นทางนี้มีความสำคัญอย่างมากครับท่านประธาน เป็นทั้งขาเข้า และขาออกของเมืองหาดใหญ่ เส้นทางดังกล่าวตั้งอยู่ในตำบลคลองแห บนถนนสาย บ้านคลองแห บ้านคลองเตย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระยะทางของถนนเส้นนี้ มีความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ถนนเส้นนี้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสงขลา เป็นถนนที่มีช่องการจราจรที่คับแคบ ผิวจราจรมีความขรุขระ มีน้ำท่วมขัง ไม่มีไฟส่องแสงสว่างเพียงพอ แม้แต่เส้นจราจรก็ยังไม่มีครับท่านประธาน แถมจุดปลายทาง เป็นจุดเชื่อมกับทางตำบลหาดใหญ่ยังเป็นเนินยกระดับสูงกว่าถนนและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนินถนนนี้ก็เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กระผมจึงขอหารือต่อท่านประธาน ผ่านไปยังสำนักงบประมาณและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณลงไป สร้างถนนเส้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในทางเลี่ยงเมือง ที่สำคัญ และลดการจราจรแออัดของหาดใหญ่ได้ครับท่านประธาน

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องในพื้นที่อีกเช่นกันครับท่านประธาน เป็นปัญหาที่มี ความเดือดร้อนมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับการจราจรบริเวณจุดข้ามแยกที่มีความแออัด เป็นอย่างมากครับ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาอยู่บริเวณทางหลวง แผ่นดินที่ ๔๑๔ ถนนลพบุรีราเมศวร์ อยู่ในความควบคุมของแขวงทางหลวงที่ ๑ สงขลา สังกัดสำนักงานทางหลวงที่ ๑๘ สงขลา ขึ้นตรงต่อกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และเป็นส่วนของทางข้ามแยกไฟแดงคลองแห แยกไฟแดงบิ๊กซี แยกไฟแดงโคกเมา และท่าท้อนครับท่านประธาน ทั้งนี้จุดแยกไฟแดงดังกล่าวเป็นแยกทางหลักและแยกสำคัญ เป็นทั้งทางขาเข้า ขาออกจากตัวเมืองหาดใหญ่ เป็นย่านธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นเมืองธุรกิจ ของจังหวัดสงขลา เป็นหน้าด่านการลงทุน ด้วยจำนวนการสัญจรไปมาและรถยนต์ที่เพิ่ม มากขึ้นทำให้แยกไฟแดงดังกล่าวเกิดปัญหารถติดสะสม การจราจรแออัดทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต่อพี่น้องประชาชนบ่อยครั้ง บ้างก็ขนาดเล็ก บ้างก็สูญเสียถึงขั้นชีวิต การปรับปรุง เป็นทางแยกต่างระดับจะทำให้ปริมาณรถลื่นไหลและคล่องตัวได้มากขึ้น ผมจึงขอหารือ ต่อท่านประธานแจ้งสภาพปัญหาไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าไปสำรวจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จะได้นำไปสู่การแก้ไขในโอกาสต่อไป กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณปิยะนุช ยินดีสุข ครับ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่อำเภอ ประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง และอำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา มีเรื่องเร่งด่วนทั้งสิ้น ๕ ประเด็นค่ะ ประเด็นที่ ๑ ขอ Slide ค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

นี่คือสะพานข้ามลำสะแทด บ้านวังม่วง หมู่ที่ ๑ ตำบลทุ่งสว่าง อำเภอประทายเชื่อมบ้านกระเบื้อง หมู่ที่ ๔ ตำบลกระชอน อำเภอพิมาย ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ได้เกิดการชำรุดเสียหาย ใกล้ถล่มแล้วนะคะ และถูกน้ำกัดเซาะริมตลิ่งบริเวณคอสะพานซึ่งทางนายก อบต. ทุ่งสว่าง นายอัครชัย อมัติรัตนะ ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ดิฉันจึงขอฝาก ท่านประธานไปยังสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมาให้รีบจัดสรรงบประมาณ โดยเร็วค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ขอ Slide ถัดไปนะคะ นี่คืออ่างเก็บน้ำบึงกระโตน ตำบล ประทายที่มีสภาพตื้นเขินมาก กักเก็บน้ำไม่ได้บวกกับคันคูรอบบึงสูงเกินไป ประตูระบายน้ำ ใช้การไม่ได้ค่ะ น้ำจึงระบายเข้าสู่บึงไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาล ดิฉัน จึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทานให้รีบแก้ไข และดิฉันอยากให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อนการดำเนินการค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ขอ Slide ถัดไปนะคะ นี่คือฝายน้ำล้นบ้านหนองจานใต้ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลช่องแมว อำเภอลำทะเมนชัย ที่เกิดการชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดนพายุ NORU ถล่ม เมื่อปี ๒๕๖๕ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ มีประชากร ทั้งสิ้น ๘๐๐ คน ๔๐๐ กว่าครัวเรือนค่ะท่านประธาน ได้รับผลกระทบจากฝายน้ำนี้ ดิฉัน จึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทานให้เร่งจัดสรรงบประมาณสร้างและซ่อมแซมค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ ขอ Slide ถัดไปด้วยนะคะ เป็นเรื่องของถนนหนทาง ชำรุดทรุดโทรมทำให้การจราจรสัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะ ถนนเส้นขุนละคร-บุ่งเบา เชื่อมระหว่างอำเภอชุมพวง อำเภอเมืองยางไปจนถึงบ้านบุ่งเบา อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง ๒๖ กิโลเมตร ยิ่งโดยเฉพาะนะคะ ขอ Slide ถัดไป ช่วงจากบ้านกระเบื้องนอกไปจนถึงบ้านบุ่งเบาเป็นถนนตัดผ่านลำสะแทด ทำให้ช่วงหน้าฝน น้ำท่วมทุกปีเลยค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอถ่ายโอนถนนเส้นนี้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงหน่วยงานเดียวทั้งเส้น พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณแก้ไขโดยด่วนค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ ขอ Slide สุดท้ายค่ะ เชื่อไหมคะท่านประธานในประเทศไทย เรายังมีคุ้มโนนทอง หมู่ที่ ๑๕ ตำบลช่องแมว อำเภอลำทะเมนชัย ไม่เคยมีน้ำประปาใช้มา มากกว่า ๔๐ ปีแล้วค่ะ ซึ่งมีประชากรกว่า ๒๐๐ คนได้รับผลกระทบ ทุกวันนี้ต้องพึ่ง ทางนายกเทศบาลตำบลช่องแมวใช้รถขนน้ำไปส่งให้ใช้ทุกวันค่ะ ซึ่งทางอดีต สจ. ชยกฤต ยินดีสุข เคยให้ อบจ. มาขุดน้ำบาดาลถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่พบแหล่งน้ำเลยสักครั้ง และทางดิฉันเองได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาถึง ๔ ท่าน ๔ สมัยค่ะ แต่ก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้รีบลงมือจัดสรรงบประมาณแก้ไขโดยเร็วค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ขณะนี้ยาเสพติดระบาดหนักในพื้นที่ของดิฉันค่ะ เม็ดหนึ่งราคา ๗ บาท ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ป.ป.ส. และสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติลงมือปราบปรามแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อความเป็นอยู่และชีวิตที่ดีขึ้น ของพี่น้องประชาชนค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปผมจะเรียกว่าให้เตรียมตัว ๓ ท่านนะครับ คุณวิชัย สุดสวาสดิ์ คุณวุฒิพงศ์ ทองเหลา คุณสันต์ แซ่ตั้ง เชิญคุณวิชัยครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมได้ขออนุญาตหารือท่านประธานสัก ๓ เรื่องนะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องแรก ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านไชยา อนุตธโต สมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัดชุมพร ท่านพงศ์ศิริ นาคทองรูป สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งคา ในเรื่องของน้ำตื้นเขินในคลองทุ่งคา พี่น้องชาวประมงได้รับความเดือดร้อนนะครับ ในเรื่องของการขนถ่ายสินค้า ในเรื่องของการประมง โดยเฉพาะหอยแมลงภู่ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมเจ้าท่าโดยไปศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับ พี่น้องชาวตำบลทุ่งคาที่ใช้สัญจรไปมาในคลองนี้ด้วย

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

และอีกเรื่องหนึ่ง ก็เป็นเรื่องคลองตื้นเขินเหมือนกันนะครับ ได้รับ เรื่องร้องเรียนจากท่านมโน สว่างศรี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ในเรื่อง ของการขุดลอกคลองอีเล็ต ตำบลท่ายาง หมู่ที่ ๒ ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นคลองที่ตื้นเขินนะครับเป็นคลองที่ตื้นเขิน ใช้สัญจรไปมาด้วยความลำบากเหมือนกัน โดยเฉพาะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ซึ่งเป็นอุทยานที่ได้รับในเรื่องของการ ท่องเที่ยวนะครับ เพราะฉะนั้นแล้วขอนำเรียนท่านประธานฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไป ดูแลและแก้ไขปัญหาให้อย่างเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องของการท่องเที่ยวของ จังหวัดชุมพรนะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ นะครับ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านสมชาย แซ่ลิ้ม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลหาดทรายรี ในเรื่องของการขุดคลองท่าจระเข้ ซึ่งเป็นน้ำตื้นเขิน เหมือนกันอยู่ในหมู่เกาะชุมพรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วนำเรียนท่านประธานด้วย ความเคารพว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องที่ใช้สัญจรไปมาในคลองแห่งนี้นะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ท่านประธานครับ ในเรื่องของการร้องเรียนของท่านสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ท่านสุชีพ ดำสุทธิ์ ท่านสัมฤทธิ์ ออตเล่ง นะครับ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร เรื่องของการก่อสร้างถนนหมายเลข ๔๐๐๖ สายตำบลราชกรูด อำเภอหลังสวน ตอนบ้านหาดยาย-วังตะกอ เส้นทางยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งในระยะเวลา การก่อสร้างนี้จะได้เห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในการที่ ผู้ที่ประกอบอาชีพในเรื่องของการก่อสร้างถนนนะครับ ระยะเวลานานพอสมควรแล้วที่ทำให้ พี่น้องสัญจรไปมาระหว่างอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ แล้วต่อไปถึงจังหวัดระนองนะครับ เพราะฉะนั้นแล้วก็ขอนำเรียนด้วยความเคารพ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งครับ ท่านประธานครับ ได้รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะถนนทาง หลวงท้องถิ่น ชพ.ถ.๗๒๐๑๒ นะครับ สายพะงุ้น-เขาน้อย ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตรนะครับ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านกมล นุ้ยสุข แล้วก็ ท่านธวัชชัย ซื่อสัตย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวี ถนนเป็นหลุมเป็นบ่ออย่างหนัก เพราะฉะนั้นขอนำเรียนท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบแก้ไขโดยด่วนนะครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณวุฒิพงศ์ ทองเหลา ครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม วุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีประเด็นความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีจะนำหารือท่านประธาน ๔ ประเด็น ดังต่อไปนี้ครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณ ศาลปู่โทน ศาลปู่โทนเป็น ๑ ใน ๕ จุดที่เกิดอุบัติเหตุเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทยครับ บนทางหลวง ๓๐๔ หลักกิโลเมตรที่ ๒๑๐-๒๑๔ ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัด ปราจีนบุรี เส้นทางนี้เป็นประตูเชื่อมไปยังภาคอีสานครับท่านประธาน ระยะทางยาวลงเขา เกือบ ๔ กิโลเมตร ความชัน ๗ เปอร์เซ็นต์ ทางโค้ง ๗ เปอร์เซ็นต์ รถบรรทุกต้องเบรก ตลอดเวลาครับ จนผ้าเบรกไหม้และ Brake ไม่อยู่ ส่งผลให้ Brake แตกในที่สุด การแก้ไข สภาพถนนทำได้ยาก เนื่องจากทั้งซ้ายและขวาเป็นอุทยานแห่งชาติครับ จากสถิติจะพบ การเกิดอุบัติเหตุ ๔ ครั้งต่อเดือน และปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณศาลปู่โทนนี้แต่ละครั้ง การกู้รถที่พลิกคว่ำใช้ระยะเวลานานตั้งแต่ ๓ จนถึง ๑๒ ชั่วโมง ประชาชนที่สัญจรบน เส้นทางนี้ก็ต่างหวาดกลัวครับ และกล่าวขานว่าเป็นโค้งที่มีความอันตรายและเป็นอาถรรพ์ แต่ผมไม่เชื่อครับท่านประธาน เพราะว่าจากสถิติที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๖ อุบัติเหตุนั้นลดลง ๒๕ เปอร์เซ็นต์นะครับ จากเรื่องดังกล่าวนี้เกิดจากการที่กรมทางหลวงออกคำสั่งให้รถพ่วง เข้าจอดพร้อมกันได้ในบริเวณ โดยมีการลงทะเบียนให้รถบัส แล้วก็รถบรรทุกเข้าจอดเพื่อ บันทึกเวลา เหมือนว่าจะดีแล้วแต่ยังพบปัญหาเรื่องในจุดพักรถที่มีข้อจำกัดที่สามารถเข้าจอด ได้น้อย โดยรถพ่วงได้เข้าจอดพร้อมกันเพียง ๖๗ คันเท่านั้น ทำให้รถที่เข้าจอดคิวบันทึกเวลา ต้องล้นออกไปเป็นทางยาวครับ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมตาม Slide นี้ครับ จุดที่ เป็นจุด A นะครับ ผมได้หารือกับแขวงทางหลวงปราจีนบุรี ท่านอนุชาได้รับทราบข้อมูล เพิ่มเติมว่า ถ้าหากเราเพิ่มจุดจอดรถในจุด A ตามภาพก่อนถึงจุด B เราจะสามารถรองรับรถ ที่เข้าจอดได้ถึง ๓๐ คัน มีห้องน้ำให้บริการและเป็นแรงจูงใจให้รถที่เดินทางไกลอยากจอดพัก เพื่อลดอุบัติเหตุในช่องทางดังกล่าว

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมาครับ ประเด็นเรื่องนี้ยังอยู่ที่อำเภอนาดีครับท่านประธาน บริเวณช่วงทางหลวง ๓๒๙๐ หลักกิโลเมตรที่ ๖-๗ หน้าโรงพยาบาลนาดี ถึงหน้าโรงเรียน มณีเสวตรอุปถัมภ์มีการก่อสร้างถนนในเส้นทางตั้งแต่ต้นปีนะครับ จากภาพมุมมองของแผนที่จะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนและมีการก่อสร้างเป็น โรงพยาบาลและโรงเรียนที่ควรเร่งทำ แต่ว่าที่ผ่านมาการก่อสร้างมีการเปิดผิวการจราจร ซึ่งเป็นภาระในชุมชนและเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ที่อื่นที่กินเวลานาน ผมสงสารเด็กนักเรียน กว่าพันชีวิตที่เสี่ยงอันตรายหลังเลิกเรียนมายืนรอผู้ปกครองตลอดแนวถนนก็เกรงเหลือเกิน ว่าจะเกิดอุบัติเหตุครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา มาที่อำเภอศรีมหาโพธิ สามแยกบ้านเอื้ออาทร ชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณท่าตูม สามแยกบ้านเอื้ออาทร ต้องการให้มีไฟแดงหรือไฟสัญญาณ จราจร ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรายวัน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็น เขตนิคม ๓๐๔

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับ ท่านประธาน เนื่องจากประเด็นนี้เป็นความเดือดร้อน เร่งด่วนที่มีผลต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ ผมจึงขอความกรุณาท่านประธานเพิ่มเวลา หารือสัก ๓๐ วินาที ขออธิบายสั้น ๆ ในประเด็นนี้ดังนี้ เรื่องมีอยู่ว่าโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ มีการจ้างวานโรงงานแห่งหนึ่งเช่นกันเพื่อขนย้าย กากอุตสาหกรรมโดยไม่ได้มีใบ Manifest หรือการได้รับการอนุญาตการขนย้าย กากอุตสาหกรรมออกไปนอกพื้นที่ ส่งผลให้ในพื้นที่บ้านสามขา-บ้านหว้าเอน ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกองฝุ่นสีเทา กากอุตสาหกรรมขนาดเท่าภูเขาประมาณสายตา น่าจะขนมาทิ้งเป็นจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตัน ส่งผลเสียกลิ่นเหม็นต่อชุมชนและโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่ห่างออกไป เพียงไม่ถึง ๔๐๐ เมตร

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

หมดเวลาแล้วครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ในเรื่องนี้ผมต้องกราบเรียน ท่านประธาน แล้วก็ฝากวิงวอนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากชาวบ้านเดินทางไปใน ทุกพื้นที่แล้วก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปผมจะเรียก ๓ ท่าน เตรียมตัวนะครับ ท่านแรก ท่านสรวงศ์ เทียนทอง ท่านที่ ๒ ท่านยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ท่านที่ ๓ นางสาวการณิก จันทดา เชิญคุณสรวงศ์ครับ

นายสันต์ แซ่ตั้ง ชุมพร ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ท่านประธานครับ สันต์ แซ่ตั้ง ก่อนใช่ไหมครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอประทานโทษ คุณสรวงศ์ คุณสันต์ แซ่ตั้ง ด้วยครับ ผมลืมเรียกชื่อไปครับ ขอเชิญคุณสันต์ แซ่ตั้ง ก่อนครับ ขออภัยด้วยครับ

นายสันต์ แซ่ตั้ง ชุมพร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม สันต์ แซ่ตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติครับ ก็จะขอหารือ ท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุข แล้วก็สาธารณสุขจังหวัดชุมพร สาธารณสุข อำเภอท่าแซะ ตอนนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาดไข้เลือดออกกำลังระบาดอย่างหนักในพื้นที่ อำเภอท่าแซะ แล้วก็ผมเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนก็ได้เข้าไปดูที่โรงพยาบาล ท่าแซะ โรงพยาบาลมาบอำมฤต ก็ได้เห็นมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ก็ได้รับ เรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนก็ได้เข้าไปดูในพื้นที่ ส่วนมากก็จะอยู่ในตำบลสองพี่น้อง ก็ได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล ก็ได้ไปพูดคุยกันได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาโรคระบาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็บอกว่าตอนนี้ยังขาดงบประมาณเกี่ยวกับ ซื้อทราย Abate แล้วก็ซื้อเครื่องพ่นยา แล้วก็ไม่มีคนที่จะมาช่วยพ่นยา ผมเองก็ได้ไปพูดคุยกัน แล้วก็ได้ถามเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าได้ทำหนังสือขอไปยังสาธารณสุขจังหวัด แล้วก็สาธารณสุขอำเภอท่าแซะ สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ก็ได้คำตอบมาว่าตอนนี้ ยังไม่สามารถมีงบประมาณได้ ก็ขาดงบประมาณ ผมเองคิดว่าโรคระบาดไข้เลือดออกตอนนี้ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เมื่อคืนเองก็ยังมีผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกประสานมายังผมว่าไม่มี โรงพยาบาลรับเพียงพอแล้ว แล้วก็ฝากไปถึงสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัดให้ลงไป ในพื้นที่ให้ไปช่วยดูแลพี่น้องประชาชนหน่อย เพราะว่าโรคไข้เลือดออกถ้ายุค ๔๐ ปีที่แล้ว มันเป็นเรื่องที่ดูแลยาก รักษายาก แต่ ณ วันนี้มันน่าจะดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีกว่านี้นะครับ ฝากไปถึงสาธารณสุขจังหวัดครับ คุณหมออนุ ทองแดง เพราะว่าผมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าคุณหมอก็ไม่ค่อยได้ สนใจเรื่องไข้เลือดออกเท่าไร แต่ว่ามีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ตอนนี้ ระบาดเกือบทั้งจังหวัดชุมพรแล้ว เพราะว่าผมเองได้พูดคุยกับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยกันทุกคนก็บอกว่าตอนนี้ทุกพื้นที่กำลังมีโรคระบาด แต่ยังไม่มีผู้ที่เสียชีวิต ก็ฝาก ท่านประธานผ่านไปถึงสาธารณสุขจังหวัดชุมพรด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณสรวงศ์ เทียนทอง ครับ

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ ขออนุญาตใช้เวลาสภาหารือความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนในตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ๓ เรื่อง

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

ผมได้รับการร้องเรียนจากท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทัพไทย ท่านอนันชัย พูพิลึก และท่านสุชาติ สำราญใจ กำนันตำบลทัพไทย ถึงความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของการสัญจรไปมา ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

ทางหลวงท้องถิ่นหมายเลข สก.๓๐๘๒ ท่านประธานครับ มีระยะทางประมาณ ๒,๔๐๐ เมตร ก็คือ ๒.๔ กิโลเมตร จากบ้านกะสังไป บ้านรัตนะ บ้านน้ำเงิน บ้านแสนสุข ประชากรประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าคน ๘๐๐ กว่าครัวเรือน ต้องการความดูแลในเรื่องของการสัญจรไปมา กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องด้วยครับ

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของบ้านทัพไทย หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายสงบ พลารัมย์ แล้วก็นายวสันต์ สุขบุญช่วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑ บ้านทัพไทย และหมู่ที่ ๒ บ้านโคกตาด้วง ในเรื่องของความเดือดร้อนในเรื่องของน้ำ ที่ท่านประธานเห็น ขอ Slide กลับไปอันหนึ่ง นี่คือบ้านทัพไทยหมู่บ้านที่ได้รับการขนานนามว่ามีผังเมืองที่สวยที่สุดในประเทศไทย ท่านประธานครับ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ บ้านทัพไทยและบ้านโคกตาด้วง ในกรอบสีเหลือง จะเป็นแหล่งน้ำที่พี่น้องประชาชนใช้อยู่ในปัจจุบัน ในกรอบสีแดงจะเป็นที่พี่น้องประชาชน ต้องการที่จะขยายบ่อน้ำแห่งนี้ ท่านประธานครับ น้ำที่ท่านประธานเห็นอยู่นี้เป็นน้ำที่พี่น้อง ประชาชนชาวบ้านทัพไทยหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ใช้บริโภคมาเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อวาน ผมเอาเข้ามาเจ้าหน้าที่ รปภ. บอกว่าห้ามนำของมึนเมาเข้ามาในสภา นึกว่าเป็นน้ำกระท่อม ท่านประธาน วันนี้หมู่บ้านทัพไทยทั้ง ๒ หมู่ ได้เสนอโครงการวางท่อน้ำจากบ่อน้ำ UN มายังบ่อน้ำสาธารณะบ้านทัพไทย Slide ต่อไปเลยครับ บ่อน้ำ UN เป็นบ่อน้ำที่องค์การ สหประชาชาติสร้างมาตอนที่เขมรแตกมีความจุ ๑๘๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร อยู่ที่สูง สามารถวางท่อลงมายังบ้านทัพไทยได้เลย ระยะทางประมาณ ๗,๕๐๐ เมตร ใช้งบประมาณ ไม่เยอะ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องสุดท้าย เป็นการของบประมาณในการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำรัตนโกสินทร์ ในตำบลทัพไทย น้ำเยอะครับท่านประธาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือสันเขื่อน สันเขื่อน ทำมาจากดินซึ่งเป็นดินทรายหรือที่เรียกว่าดินละลุสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง ประชาชนเวลาฝนตกไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในจำนวนที่พอเหมาะ ก็ฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณมายังพี่น้องประชาชนด้วยครับ กราบขอบพระคุณ อย่างสูงครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปคุณยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ อำเภอท่ามะกา อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องติดตาม ๒ เรื่องด้วยกัน ที่ใช้คำว่า ติดตาม เพราะว่า ๒ เรื่องนี้ได้หารือไปแล้ว ๒ ปีที่ผ่านมาหรือว่าสมัยที่ผ่านมา ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ ๓ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรกผมได้รับการร้องเรียนจากพ่อแม่พี่น้องชาวตำบลรางหวาย หมู่ที่ ๑๒ บ้านวังกาบก็คือท่านผู้ใหญ่เจษฎา สระทองพรม แล้วก็อีกอำเภอหนึ่งก็คือท่านนายกธนิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา ซึ่งนายกท่านนี้ไม่ได้อยู่ในเขต ของผมครับ แต่เรื่องนี้ก็คือเรื่องของสะพานข้ามคลอง ซึ่งเป็นสะพานที่พี่น้องประชาชนทั้ง ๒ อำเภอได้ใช้สัญจรมาตลอด แล้วก็มันชำรุด ไม่อยากใช้คำว่าชำรุด มันจะพังแล้วครับดู Clip Video ครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

ดูนะครับ โค้งงอ อันนี้ไม่ได้ จัดฉาก เขาสัญจรกันทั้งวันจริง ๆ แล้วขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ก็มีฝนตก น้ำเกือบจะท่วม สะพานดูด้านล่างจากคลองของสะพานได้ และมันไม่ได้ชำรุดธรรมดา พื้นชำรุดเป็นรูแล้ว ขอรูปภาพด้วย รูปที่ผมไปลงพื้นที่ด้วยตัวเองมาเพราะฉะนั้นอันนี้คือเรื่องจริงครับ วันนี้ผู้นำ ท้องที่ท้องถิ่น ชาวบ้านก็ได้ใช้ปูนโบกลดความเป็นรูในการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น เพราะฉะนั้นอย่าให้รอจนกระทั่งมีผู้ที่ประสบภัย สะพานพังเลย ฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รอบที่ ๓ ครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็เป็นเรื่องของถนน เป็นประตูสู่เมืองกาญจน์ ก็คือถนนสาย ตลาดเขตถึงหนองขาวซึ่งเป็นประตูสู่เมืองกาญจน์ถ้ามาจากทางจังหวัดสุพรรณบุรี วันนี้ มีการขยายถนนเสร็จสิ้นจาก ๒ เลน เป็น ๔ เลน แล้วก็มีขยายไหล่ถนนอีกน่าจะประมาณสัก ๖ เลนได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมต้องกราบขอบพระคุณกระทรวงคมนาคมในสมัยที่ผ่านมา แต่วันนี้ที่ผมต้องการเพิ่มเติมนั่นก็คือไฟส่องสว่างครับ ถามว่าทำไมต้องการเพิ่มเติม เพราะว่า Social เมืองกาญจน์ตลอดระยะเวลาที่ทำถนนผ่านมานั้นมีอุบัติเหตุบนถนนเส้นนี้อยู่ตลอด และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีชนกันจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตถึง ๔ ราย บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ผมได้ข้อมูลนี้จาก Facebook Page ของสำนักข่าวกาญจน์ เพราะฉะนั้นฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

และเรื่องสุดท้าย ผมก็ขออนุญาตอีกเรื่องหนึ่งก็คือผมได้รับการร้องเรียน จากท่านศึกษา บุญประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตลาดเขต นั่นก็คือปัญหา น้ำท่วมบนถนนทางหลวง สายหน้าเทศบาลเลยเป็นน้ำท่วมที่กินไปมากกว่าเกิน Lane ครับ เพราะฉะนั้นทำให้เกิดอุบัติเหตุมาโดยตลอดสะสมมานานกว่า ๒๐ ปี ร้องเรียนกับผมมา ผมพูดในสภาแห่งนี้มาแล้ว ๓ ครั้งด้วยกัน เพราะฉะนั้นอย่าต้องรอให้มีคนตาย อย่าให้เป็น ถนน ๑๐๐ ศพเลย ฝากท่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณการณิก จันทดา ครับ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกันนะคะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เนื่องด้วยกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท ของพื้นที่บางส่วนในท้องที่ ตำบลหนองหอย ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ และตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี ที่จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๘ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

กฎกระทรวงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่โบราณสถานเวียงกุมกาม แต่ว่าในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน สภาพบริบทพื้นที่โดยรอบได้เปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากขึ้น กลายเป็นจำกัดพื้นที่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หลายพื้นที่ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ กับโบราณสถานในระยะ ๑๐๐ เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้เพื่อประกอบธุรกิจอย่างอื่น ทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีค่ะ วันนี้ดิฉันจึงอยากจะขอหารือผ่าน ท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าพอจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ หากพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นเฉพาะที่หรือเฉพาะส่วนในพื้นที่ ๓ หมู่บ้านของเขต เทศบาลตำบลหนองหอย ให้คงไว้เฉพาะการควบคุมอาคารในช่วงรัศมี ๑๐๐ เมตรของพื้นที่ รอบนอกแนวเขตโบราณสถานค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องถัดมา ท่านประธานเห็นอะไรในภาพไหมคะ ถ้าไม่เห็นก็คงไม่แปลก เพราะว่ามันมืดมากจริง ๆ นี่คือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๔๗ ช่วงบริเวณบ้านป่าไผ่ ถึงบ้านดอยยาว ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง ซึ่งมีระยะทางกว่า ๔.๓ กิโลเมตร เส้นทางนี้ ประชาชนเขาใช้สัญจรไปยังน้ำพุร้อนสันกำแพง แล้วก็สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และยังเป็น ทางเชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำพูนค่ะ หลายชีวิตต้องประสบอุบัติเหตุ สูญเสียคนที่รักไปจากความมืดบนท้องถนนเส้นนี้ค่ะ ไม่ใช่แค่คนนะคะ วัวควาย ก็โดนความมืดนี้พรากชีวิตไปเช่นเดียวกันค่ะ ดิฉันจึงอยากจะขอฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงคมนาคม ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาเพื่อให้แขวงทางหลวงเชียงใหม่ได้ดำเนินการ ติดตั้งไฟส่องสว่างในเส้นทางนี้ค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จะหารือในวันนี้นะคะ นี่คือสวนสาธารณะบนพื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ถูกปล่อยรกร้างขาดการดูแล จากการที่ดิฉันได้เข้าไปพูดคุย กับประชาชนที่เข้ามาใช้ในพื้นที่นี้สำหรับออกกำลังกาย แล้วก็ทำกิจกรรมต่าง ๆ นะคะ ก็ได้รับเสียงสะท้อนมาว่าอยากให้พื้นที่นี้ได้ถูกกลับมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกครั้งหนึ่ง จึงอยากจะขอหารือผ่านท่านประธานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย สังกัด กระทรวงคมนาคม ขอความอนุเคราะห์ช่วยเข้ามาตรวจสอบและจัดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้กลับมาดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการตั้งเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองต่อไป ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปผมจะเรียกอีก ๓ ท่านเตรียมตัวนะครับ คุณปรเมษฐ์ จินา คุณอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ คุณสรชัด สุจิตต์ เชิญคุณปรเมษฐ์ครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ปรเมษฐ์ จินา รวมไทยสร้างชาติ สุราษฎร์ธานีนะครับ มีประเด็นที่หารือในส่วนของปัญหา ข้อร้องเรียนของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่นะครับ ขอ Slide ด้วยครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรกก็คงจะเป็นเรื่องของ ถนนสาย ๔๐๐๙ นะครับ สืบเนื่องจากว่าผมดูข้อมูลของหลายท่านที่เสนอแล้ว มันค่อนข้าง ที่จะมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องของชีวิตในส่วนของพื้นที่ผมเยอะนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่อำเภอพระแสง จากสะพานข้ามแม่น้ำตาปีถึงถนนเซาเทิร์น สาย ๔๔ จนชาวบ้าน เขาเรียกว่าถนนสาย ๓ ค นะครับ นั่นก็คือโค้งตลอดสาย พอหมดโค้งก็ลงควน ทางใต้ เขาเรียกควนก็คือเนินนะครับ แล้วก็ตลอดเส้นจะแคบ และที่สำคัญเพิ่มมาอีก ๑ ค ณ วันนี้ ก็คือคร่าชีวิตผู้คนด้วยนะครับ ทุกสัปดาห์จะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากว่าผมต้องไปร่วมพิธีงานศพ ชาวบ้านก็ฝากว่าถ้าผมเข้ามาเป็น สส. วาระนี้ ถ้าไม่ได้ถนนสายนี้ผมก็คงจะไม่ได้มาอยู่เป็น เพื่อนท่านประธานในโอกาสต่อไปนะครับ ก็ขอฝากให้ความสำคัญเส้นนี้เป็นเส้นหลักด้วย

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

แล้วก็เส้นที่ ๒ เป็นสาย ๔๐๑ ครับ จากที่ว่าการอำเภอพนมถึงอุทยาน แห่งชาติเขาสก เนื่องจากว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอันดามันกับอ่าวไทยนะครับ แล้วก็มีรายได้ทางเศรษฐกิจเข้ามาสู่ประเทศชาติปีละไม่น้อยกว่าพันล้านบาทนะครับ เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝาก ๒ เส้นนี้ไว้ในส่วนของถนนหนทาง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิ ทำกิน อันนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากว่าสมาชิกหลายท่าน ไม่ว่าจะปลูกสินทรัพย์หรือว่ามี ผลอาสิน มียางพาราที่หมดอายุแล้วไม่สามารถโค่นได้อันนี้ก็เป็นปัญหาในเรื่องของอุทยาน ก็อยากจะนำเรียนทางท่านประธานช่วยผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วน ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลเรื่องของที่ดินหมดสัมปทานของรัฐนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถามว่าเป็นไปได้ไหม หลายปีที่ชาวบ้านเขาดิ้นรนมาแล้วก็ไม่สามารถจะมีใครแก้ไขได้นะครับ ผมก็ต้องขอขอบคุณ ท่านนายกประยุทธ์ แล้วก็ท่านพีระพันธุ์นะครับ เนื่องจากว่าท่านลงไปดู แล้วก็ในวันที่ ๖ กันยายนที่จะถึงนี้อำเภอชัยบุรีเขาจะเป็นพื้นที่นำร่องในการที่จะมอบเอกสารสิทธิที่ดิน แล้วก็ ให้ชาวบ้านเข้าไปทำที่ดินทำกินในพื้นที่ที่เป็นสัมปทาน แล้วก็ในส่วนของที่อุทยาน แล้วก็ รวมทั้งที่สงวนถ่านหิน ในเขตพื้นที่อำเภอเคียนซา ก็มีหลาย ๆ แบบพื้นที่ของทางราชการ ก็อยากจะให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาที่ดินของรัฐ โดยเฉพาะให้ชาวบ้านพึ่งพาได้

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

แล้วก็ประเด็นสุดท้ายนะครับ อันนี้ท้องถิ่นทุกแห่งเขาฝากมาว่าถ้ามีโอกาส ให้ไปรื้อระบบในส่วนของการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากว่าพอมาอุทธรณ์ช่วงนี้ ท่านประธานก็จะเห็นว่าพอถึงเดือนกันยายนเขาก็จะพับงบไป เป็นไปได้ที่จะต้องมีการ Guarantee ว่าถ้าอุทธรณ์แล้วผลยังเหมือนเดิม คนอุทธรณ์จะต้องมีค่าปรับครับ อันนี้ก็ฝาก ท่านประธานไปยังกรมบัญชีกลาง แล้วก็ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยช่วยรื้อระบบตรงนี้ ให้ด้วย ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ครับ

นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ อุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย ประกอบด้วยอำเภอวังสามหมอ อำเภอศรีธาตุ อำเภอไชยวาน และอำเภอกู่แก้ว ๒ ตำบล ท่านประธานครับ พี่น้องในเขตเลือกตั้งผมมีปัญหาหลายเรื่อง วันนี้ผมขออนุญาตนำเรียน ท่านประธานอยู่ ๓ เรื่องครับ

นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ในเขตเลือกตั้งเขต ๖ อุดรธานีมีถนนสายหลักอยู่ทั้งหมด ๔ เส้นครับ ๑. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๗ จากช่วงอำเภอวังสามหมอไปถึงทางแยกบ้านสมสวัสดิ์ ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ และเส้นที่ ๒ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒๓ จากอำเภอศรีธาตุไปอำเภอวังสามหมอ และถนนเส้นที่ ๓ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๓๙ จากอำเภอศรีธาตุไปอำเภอวังสามหมอ และถนนเส้นที่ ๔ เป็นถนนทางหลวงชนบทจากอำเภอไชยวานไปอำเภอกู่แก้ว ซึ่งปัจจุบัน เป็นถนน ๒ ช่องทาง ถนนเป็นเส้นทางที่คับแคบไม่มีไหล่ทาง ทำให้การสัญจรไปมา เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง และมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ซึ่งขนสินค้าการเกษตร เป็นรถพ่วง วิ่งสัญจรไปมาอยู่เป็นประจำ จึงนำเรียนท่านประธานไปถึงทางกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งดำเนินการแก้ไขครับ ขยายผิวจราจรให้เป็น ๔ ช่องทาง หรือถนน ๔ เลน ถ้าเป็นไปได้ยังแก้ไขไม่ได้ ก็ให้เป็นขยายไหล่ทาง ให้ถนนกว้างขึ้นกว่านี้ครับ

นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องเส้นทางขนถ่ายสินค้าการเกษตรของพี่น้องในเขตเลือกตั้ง เขต ๖ ซึ่งเป็นถนนลูกรังในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาท่านประธานครับ ได้มีฝนตกชุกหลายวันทำให้ ถนนที่เป็นลูกรังขาดและชำรุดเป็นอย่างมากครับ ผมจึงนำเรียนไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้นำงบประมาณที่เร่งด่วน ถ่ายผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานในจังหวัดได้เร่ง ดำเนินการให้กับพี่น้องประชาชน เพราะว่างบประมาณของ อปท. ได้มีจำนวนจำกัด

นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นถนนเส้นกลางเมืองอำเภอศรีธาตุครับ ซึ่งพี่น้องชาวอำเภอศรีธาตุ ได้รอคอยมาแสนนานครับจากงบประมาณดังกล่าว หลายต่อหลายคนขึ้นมาอยู่ในสภาแห่งนี้ เพื่อที่จะพยายามผลักดันให้ถนนเส้นนี้เกิดขึ้น เพราะถนนกลางเมืองอำเภอศรีธาตุเป็นถนน ที่คับแคบ การสัญจรไปมาติดขัด และมีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งสัญจรไปมา ซึ่งทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้งมากครับท่านประธาน

นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ผมขอนำเรียนท่านประธานว่าทุกท่านที่ขึ้นมาหารือตรงนี้ครับ มีปัญหาเรื่องถนนหนทางเป็นเรื่องส่วนใหญ่ วันนี้ผมอยากฝากท่านประธานไปถึงกระทรวง คมนาคมให้ชะลอหรือหยุดโครงการใหญ่ ๆ ดังกล่าว เพื่อที่จะนำงบประมาณลงไป กระจายเพื่อปรับปรุงแก้ไขถนนหนทางที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านได้นำเรียนมา ในหลาย ๆ วันครับท่านประธาน จึงขอนำเรียนท่านประธานฝากไปยังกระทรวงคมนาคมด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไป เชิญคุณสรชัด สุจิตต์ ครับ

นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา วันนี้ผมมีเรื่องมาหารือในสภาแห่งนี้ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๓ เรื่อง

นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือเป็นเรื่องของถนนสัญจรสำคัญก็คือถนนกรุงเทพฯ-ชัยนาท หรือถนน ๓๔๐ นะครับ ใน Clip นะครับ

นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

ก็จะเป็นจุดเกาะ U-turn นะครับ หน้าห้างโลตัส ซึ่งเป็นทิศทางเหนือที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสุพรรณบุรีจะต้องมากลับรถ U-turn ที่หน้าห้างโลตัสแห่งนี้ค่อนข้างจะเยอะนะครับ และในจุดที่ ๒ ก็จะเป็นจุด U-turn ที่หน้าวัด ลาวทอง ซึ่งในจุดแห่งนี้เองก็จะเป็นจุดที่จะมีรถที่มาจากตัวเมืองสุพรรณบุรี แล้วก็ U-turn ไปยัง กรุงเทพมหานครในเส้นตรงนี้ ใน กม. ที่ ๗๖+๖๗๐ มีปริมาณค่อนข้างจะมากนะครับ ซึ่งผม ก็เรียนว่าในถนน ๓๔๐ ซึ่งเป็นถนนสัญจรอันสำคัญที่มีผู้ใช้สัญจรมากกว่า ๒๐,๔๖๐ คัน ต่อวัน และมีรถขนส่งผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นถึง ๓,๐๐๐ กว่าคันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อพี่น้องประชาชนในระหว่างเกาะ U-turn แห่งนี้อย่างมากมายในทุก ๆ ปีเป็นประจำ จะมีอุบัติเหตุเกือบทุกเดือนเลยครับ ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตและการสูญเสีย แล้วก็บาดเจ็บกันอย่างมากมาย ก็ฝากเรื่องตรงนี้ ไปยังกรมทางหลวงได้ช่วยพิจารณางบประมาณในการดำเนินการจุดกลับ U-turn หรือทำ สะพานข้ามแยกเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนนะครับ

นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

สำหรับเรื่องที่ ๒ เป็นการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง หมายเลข ๓๒๖๐ ซึ่งเป็นถนนที่เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคตะวันตกกับภาคใต้ไปยังภาคตะวันออก หรือภาคเหนือ ซึ่งเส้นนี้เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างอำเภอสองพี่น้อง แล้วก็มาที่อำเภอเมือง สุพรรณบุรี ในระยะทางเส้นตรงนี้จากเดิมทีเป็นถนน ๒ เลน ตอนนี้ได้ขยายเป็นถนน ๔ เลน โดยใช้คันคลองของกรมชลประทานเป็นการสัญจร ซึ่งปัจจุบันนี้การก่อสร้างในช่วง ตอนของในส่วนแรกถึงมะขามล้มเป็นการก่อสร้างเสร็จแล้ว ๘๙ เปอร์เซ็นต์ แต่ติดถนน ยังใช้ไม่ได้ครับ เพราะว่าจุดเชื่อมที่จะต้องตัดกับทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น เป็นจุดเชื่อมนี่ยังไม่ได้รับอนุญาต แล้วก็การก่อสร้างนี่เป็นระยะเวลาที่มา ๒ ปีแล้วที่ติดค้าง อยู่ตรงนี้ ซึ่งการขออนุญาตต่าง ๆ อย่างนี้ยังติดอยู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เร่งรัดในการดำเนินการ

นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ก็คือเป็นเรื่องน้ำประปาของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีอยู่ ๑๐ กว่า หลังคาเรือนหลังโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัยนะครับ ซึ่งเรื่องตรงนี้เขายังไม่มีน้ำประปาใช้ ในเขตอำเภอเมืองเลย และอยู่ในตลาดเทศบาลเมืองด้วยนะครับ ก็อยากให้การประปาได้ ขยายเขตช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณชริน วงศ์พันธ์เที่ยง ๓ ท่าน ผมจะเรียก ๓ ท่านสุดท้ายแล้วนะครับ ท่านต่อไปก็คือ คุณแนน บุณย์ธิดา สมชัย เดี๋ยวผมอ่าน ๓ ชื่อนี้ คุณชริน วงศ์พันธ์เที่ยง ต่อไปคุณแนน บุณย์ธิดา สมชัย แล้วก็ท่านสุดท้ายคุณนพพล เหลืองทองนารา เชิญคุณชรินนะครับ

นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม ชริน วงศ์พันธ์เที่ยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล อยุธยา เขต ๒ อำเภอนครหลวง อำเภอท่าเรือ อำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช และอำเภอบ้านแพรก วันนี้ผมมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาหารือกับท่านประธาน ๕ ประเด็นด้วยกันครับ จริง ๆ แล้วมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่องเลย แต่เวลามีน้อยครับ

นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ขอให้กรมชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรที่ประตูน้ำ คลองหนองสรวง และจุดเชื่อมต่อกับคลองระพีพัฒน์ บริเวณทางหลวงหมายเลข อย.๓๐๓๙ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ เพื่อใช้สูบน้ำเข้าออกในช่วงฤดูฝน ฤดูแล้ง และจะได้แก้ปัญหา น้ำท่วม และทำให้ไม่เกิดปัญหากับการเพาะปลูก

นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ขอให้ซ่อมแซมถนนเลียบคลองหนองสรวงทั้ง ๒ ฝั่ง ในพื้นที่ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ เนื่องจากถนนมีสภาพเสื่อมโทรมทรุดตัวเป็นระยะทางยาว ทั้งฝั่งตำบลท่าหลวง และตำบลหนองขนาก ก่อให้เกิดความยากลำบากในการสัญจร และเป็น ปัญหาต่อการขนส่งพืชผลการเกษตรครับ

นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการซ่อมแซมถนนบนสันเขื่อนป้องกัน ตลิ่งทรุดริมแม่น้ำป่าสักบริเวณหมู่ที่ ๑ ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ เนื่องจากถนนได้รับ ความเสียหายจากน้ำกัดเซาะทรุดตัวต่ำลง ๒-๓ เมตร เป็นระยะทางยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร เริ่มจากสะพานมนตรี พงษ์พานิชย์ ไปจนถึงสะพานจักรี และยังส่งผลให้บ้านเรือน ๔๗ หลัง ได้รับความเสียหายเดือดร้อนอย่างหนักครับ

นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคขยายเขตส่งน้ำไปยังพื้นที่ตำบล บางเดื่อ อำเภอบางปะหัน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนที่นี่ใช้น้ำบาดาลที่ส่งมาจาก อบต. บางเดื่อน้ำขุ่น มีกลิ่นเหม็น ใช้ประกอบอาหารไม่ได้ และยังทำให้สุขภัณฑ์ต่าง ๆ เสียหาย บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับเอาไว้ ในบริเวณตำบลบางเดื่อแห่งนี้มีแนว ท่อส่งน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคพาดผ่านไปยังนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ซึ่งตั้งอยู่ใน อำเภอนครหลวง จึงฝากท่านประธานช่วยประสานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคให้ขยายเขต ส่งน้ำไปทดแทนระบบประปาที่พี่น้องประชาชนชาวบางเดื่อ อำเภอบางปะหันใช้อยู่ใน ปัจจุบันด้วยครับ

นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ ขอให้กรมทางหลวง สถานีตำรวจภูธรบางปะหันติดตั้งสัญญาณ ไฟแดงบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๔๖ บริเวณสี่แยกตานิม ตำบลตานิม อำเภอบางปะหัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีชุมชนมีรถสัญจรเป็นจำนวนมาก เดิมมีสัญญาณไฟเหลืองเป็นไฟกระพริบ ซึ่งใช้ Solar Cell แต่ปัจจุบันใช้การไม่ได้มานานแล้ว จึงขอให้เปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟแดงจะเหมาะสมกว่า เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สัญจร ไปมาบนถนนนี้ครับ ทั้งหมดนี้ผมจึงอยากฝากให้ท่านประธานได้ประสานไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบช่วยเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ยังมีปัญหาในอำเภอนครหลวง อำเภอมหาราช อำเภอบ้านแพรกอีกมากมายจะได้นำมาหารือกับท่านในรอบถัดไป ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกล จะเป็นฝ่ายค้าน แต่พวกเราก็จะทำงานให้คุ้มค่ากับภาษีของประชาชน ที่จ่ายไปเป็นเงินเดือน ให้กับพวกเรา ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณแนนครับ

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องที่จะมาปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ๓ ประเด็นด้วยกัน

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เป็นเรื่อง ความเสียหายของถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๗ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๓๕-๓๖ จริง ๆ เป็นช่วงที่ไกลกว่านั้น เพียงแต่ว่าช่วงนี้ที่ดิฉันเอารูปภาพขึ้นมามี ๒ รูปเท่านั้น เนื่องจากบริเวณตรงนี้เป็นที่น่าสงสัยของพี่น้องประชาชนที่สัญจรตลอดเวลา เพราะเนื่องจาก พอเข้าฤดูฝนถนนก็จะมีความเสียหายทันทีเกิดขึ้นมา แล้วก็ถนนเส้นนี้เป็นช่วงเดียวที่จะต้อง มีการปรับปรุงก่อสร้างหรือเสริมสร้างใหม่ทุก ๆ ของรอบในการที่จะทำค่ะ ซึ่งเส้นบริเวณอื่น แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางหลวงที่ดูแลตรงนี้ บอกว่าในส่วนของเส้นตรงนี้แค่ซ่อมสร้างอาจจะไม่พอ อาจจะต้องรื้อไปถึงชั้นดินข้างล่างเพื่อที่จะให้ระยะอายุของการใช้งานยาวนานกว่าเดิม

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่ดิฉันเคยปรึกษาหารือไปแล้วตั้งแต่สมัยสภาชุดที่แล้ว จริง ๆ แล้วได้รับคำตอบมาแล้วแต่เป็นคำตอบที่ดิฉันไม่สามารถจะอธิบายกับพี่น้อง ประชาชนได้เลยว่าทำไมหน่วยงานถึงไม่สามารถทำให้เขาได้ ก็คือเรื่องของสถานีสูบน้ำ ด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำของบ้านโนนข่า ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร เรื่องที่ จะต้องปรึกษาหารือนั้นเนื่องจากสถานีแห่งนี้เป็นสถานีขนาดใหญ่และท่อส่งน้ำที่มีระยะไกล ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับพี่น้องประชาชนในระยะของการใช้สูบน้ำชั่วโมงละ ๘๐๐ บาท และการที่จะขอใช้น้ำแต่ละครั้ง แน่นอนค่ะ ๑ ชั่วโมงน้ำยังไม่ถึงที่นาเขาแน่นอน ต้องใช้ ระยะเวลามากกว่า ๒-๓ ชั่วโมงกว่าน้ำจะกระจายไปทั่วถึง ซึ่งชั่วโมงละ ๘๐๐ บาทค่ะ นี่จะเป็นสถานีเดียวด้วยซ้ำที่มีราคาสูงขนาดนี้ ซึ่งสถานีสูบน้ำในบริเวณใกล้เคียงกัน ค่าไฟฟ้าหลักสิบทั้งนั้นเลยค่ะ มีสถานีนี้สถานีเดียวที่เป็นหลัก ๘๐๐ บาทต่อ ๑ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นดิฉันอยากฝากไปถึงกรมชลประทานค่ะ อยากให้เข้ามาดูแลแก้ไขในส่วนตรงนี้ ท่านจะหาทางอย่างไรที่จะช่วยในการบรรเทาเรื่องการใช้ไฟฟ้าสำหรับมาเสียค่าใช้จ่าย กับโรงไฟฟ้าโรงนี้ ท่านจะเป็นแผง Solar Cell หรือท่านจะติดตั้งเครื่องใหม่ก็ได้ค่ะ ท่านอย่าบอกเลยค่ะว่าการทำอะไรใหม่ลงไปแล้วมันขาดทุน มันแพง มันอะไรก็ตามแต่ เพราะว่างบประมาณของรัฐไม่มีคำว่าขาดทุนหรือกำไร มันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือ พี่น้องในพื้นที่ประชาชน

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

แล้วก็เรื่องสุดท้าย เรื่องนี้ดิฉันได้รับหนังสือจากชมรมรักษ์สหกรณ์ออมทรัพย์ ครูอุบลราชธานี จำกัด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู อุบลราชธานี จำกัด ตลอดระยะเวลา ๑๐ กว่าปีผ่านมา อยากฝากไปถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์ อยากให้เข้ามาดูแลในเรื่องการดำเนินกิจการต่าง ๆ แม้กระทั่งเรื่องที่มีปัญหาต่อเนื่อง ค้างคามานานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้ได้เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งค่ะ ขอบพระคุณ ท่านประธานค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณนพพลครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ท่านครับวันนี้ผมมีเรื่องที่จะมาขอปรึกษาหารือ โดยจะขอ อาศัยบารมีของท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องแรกเกี่ยวกับเรื่องของน้ำอุปโภคและบริโภคในหมู่ที่ ๔ บ้านป่าแดง ตำบลดงประคำ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมา มีปัญหาเรื่องน้ำมาตลอด ๒ ชั่วอายุคนแล้ว ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมหน่วยงานที่ เขารับผิดชอบหรือหน่วยราชการทั้งหลายนี่นะครับ ทำไมแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านไม่ได้สักครั้ง หนึ่งนะครับ ประชากรทั้งหมด ๘๕๘ คน ๒๘๖ ครัวเรือน เขาได้รับความเดือดร้อนในทุกปี

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

และเรื่องต่อมาเป็นเรื่องทำนองเดียวกันละครับ ก็คือหมู่บ้านทั้ง ๖ หมู่บ้าน ของตำบลทับยายเชียง ซึ่งมีประชากรอยู่ ๕,๕๐๙ คน แล้วก็บ้านเรือนราษฎร อีก ๑,๙๘๑ ครัวเรือน ไม่มีน้ำ ตกอยู่สภาพเดียวกับหมู่บ้านป่าแดง หมู่ที่ ๔ ตำบลดงประคำ ผมเองก็พยายามประสานพยายามวิ่งเต้นจนได้งบมาครั้งหนึ่งของตำบลทับยายเชียง ไปอยู่ในงบของผู้ว่า CEO แต่ว่าพอเปลี่ยนผู้ว่าปั๊บงบอันนั้นถูกหายไป แล้วป่านนี้ ก็ยังไม่มา กว่าพี่น้องประชาชน กว่าท่านผู้นำทั้งหลายจะไปหางบมาได้นี่เขาก็เลือดตาแทบ กระเด็น แล้วก็น้ำถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเขามาก เพราะฉะนั้นผมเองขอเรียกร้องให้ทาง จังหวัด แล้วก็หน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ผมเชื่อว่าถ้าท่านทำเอาจริง เอาจังสติปัญญาของความเป็นข้าราชการไทยไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรอกครับที่จะช่วยหมู่บ้าน เหล่านี้ แล้วโดยเฉพาะตรงหมู่ที่ ๔ บ้านป่าแดงมีแหล่งน้ำอยู่แหล่งหนึ่ง คือห้วยข้าวเล่า ทำอะไรไม่ได้เลยเพราะติดอยู่ในเขตของป่าไม้ แก้เถอะครับ จะให้ราษฎรอดน้ำตายก่อน แล้วค่อยมาแก้หรือครับ หรือว่าอดน้ำตายแล้วก็ยังไม่แก้ ผมก็ขอดูถูกดูแคลนไว้ ณ โอกาสนี้

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

ลำดับต่อมาท่านครับ ฤดูตอนนี้สำหรับชาวนาไทย ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน ก็แล้วแต่ ตอนนี้เป็นฤดูของการทำนา ทำนาปี จริงอยู่ว่ากรมชลประทานได้ออกประชาสัมพันธ์ว่า จะขอให้ไม่มีการทำนาต่อเนื่องเพราะว่าน้ำไม่มี ท่านครับ ใช่ วันที่กรมชลประทานบอกวันนั้น ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้ง คือฝนไม่ตกเลยไม่ว่าจะภาคไหน แต่ว่า ณ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคมที่ผ่านมามีฝนตกลงมา โดยเฉพาะในเขื่อนสิริกิติ์ จากเดิมถ้าไม่มีฝนตกลงมา น้ำก็จะเหลืออยู่แค่ ๔๐๐-๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ ณ วันนี้เมื่อ ๖ โมงเช้า น้ำอยู่ที่ ๑,๕๕๗ ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นแล้วท่านครับนานทีปีหน ๑๖ ปีกว่าเกษตรกรจะได้ ราคาข้าวขนาดนี้ ถ้าเขาจะปลูกข้าวนาปีในรอบที่ ๒ บ้าง ท่านครับอย่างอื่นเราหลับหูหลับตาได้ แต่ทำไมอย่างนี้เราช่วยไม่ได้หรือครับ เพราะฉะนั้นผมขอเรียกร้องไปยังกรมชลประทาน ได้เห็นใจพี่น้องเกษตรกร แต่ที่สำคัญที่สุดในข้าวนาปีรอบแรกห้ามให้เกษตรกรนั้นได้เสียหาย เพราะขาดน้ำเด็ดขาดนะครับ ส่วนในนาปีรอบที่ ๒ นี่เห็นใจเขาเถอะครับเขาจะได้มีเงินไปใช้หนี้ ขอบพระคุณมาก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ การหารือของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓๐ ท่าน ก็จบไปแล้วครับ ผมอยากจะเรียน ด้วยความยินดีว่าข้อหารือของท่านคือท่านเตรียมตัวมาดีมากครับ แล้วก็ท่านได้มีภาพ Slide สถานการณ์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่ดีมากครับ ก็อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรุณารับไปดำเนินการ แล้วก็ถ้ามีปัญหาประการใดได้กรุณาชี้แจงให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรที่เขาเอาความเดือดร้อนของประชาชนนั้นให้เขาทราบโดยเร็วด้วยเพื่อเขาจะได้ไป ชี้แจงกับประชาชนที่เขารับผิดชอบมาด้วยครับ อันนี้ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าการหารือของ สภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ใช่เป็นพิธีกรรมหรือพิธีการนะครับ เป็นเรื่องความเดือดร้อนของ ประชาชนที่ทุกคนควรจะได้เอาใจใส่และแก้ไขนะครับ มีอยู่เรื่องหนึ่งเมื่อสักครู่ตอนที่หารือ มีท่านได้พูดถึงประธานซึ่งผมอยากจะชี้แจงสั้น ๆ เดี๋ยวเกรงว่าให้ส่วนอื่นได้ชี้แจงในส่วนที่ เกี่ยวกับการไม่ได้ชี้แจงอะไร ที่ท่านพูดถึงเรื่องการวางตัวเป็นกลางของประธาน ผมอยากจะ เรียนว่าความเห็นอาจจะแตกต่างกันได้ แต่ผมในฐานะประธานขอยืนยันว่าผมจะต้องปฏิบัติ หน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่เพียงแต่วาจา จิตใจด้วย ต้องวางไปตรงกลาง เพราะเป็นเรื่อง ของคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมนับถือศาสนา มีศาสนาด้วย ศาสนาได้พูดชัดเจน ศาสนาผมพูดชัดเจน ว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะการเป็นประธานนั้นต้องปฏิบัติตัวอย่างเป็นกลาง ถ้าหากว่า ไม่ปฏิบัติตัวเป็นกลางไม่ใช่รับผิดชอบต่อตัวเองและคนอื่น ต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าด้วยครับ ผมไม่อยากติดบาปที่จะต้องไปตอบต่อพระเจ้าเมื่อผมจากไปแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นขอ ยืนยันนะครับด้วยความสัตย์จริง ด้วยความจริงใจ ผมจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่มี ประโยชน์อะไรนะครับ ที่จะไปเป็นเครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่ง ผมต้องเป็นเครื่องมือของ ประชาชนและของสภาครับ โปรดไว้วางใจ และขอให้ประชาชนได้เข้าใจ ถ้ามีปัญหาอะไร ผมก็ยินดีที่จะชี้แจงได้นะครับ ด้วยความขอบพระคุณทุกท่านนะครับ มีสมาชิกอยากจะขอ หารือก่อนเข้าระเบียบวาระ ๒ ท่านคือ คุณปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล กับคุณนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ซึ่งผมอนุญาตให้ทั้ง ๒ ท่านครับ เชิญครับ คุณปกรณ์วุฒิก่อนครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธาน ก่อนที่จะเข้า ระเบียบวาระ ผมมีเรื่องที่จะหารือท่านประธานนะครับ เกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุม ของสภาผู้แทนราษฎรของเรา ๒ เรื่อง ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลได้เคย หารือไปก่อนหน้านี้แล้วในสภานะครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรกสั้น ๆ นะครับ ก็คือผมขอความกรุณาให้ท่านประธานบรรจุวาระ กระทู้ถามสดด้วยวาจาในสัปดาห์หน้านะครับ แม้ว่าจะยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ก็ตาม ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใด พรรคการเมืองใดก็ตาม มีเรื่องที่จะถามคำถาม ต่อท่านรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจบางอย่างที่กระทบต่อสังคมจะได้มีโอกาสนั้น ก่อนที่จะ Form รัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นนะครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับ หลังจากที่ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ได้หารือเรื่องการตั้ง คณะกรรมาธิการมาแล้ว ๒ ครั้งนะครับ แล้วก็ในการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองครั้งที่แล้ว หลังจากที่จบการประชุม Whip ๓ ฝ่ายนะครับ ตัวแทนพรรคการเมืองได้นั่งพูดคุยกัน แล้วก็ผมได้รับคำยืนยันจากตัวแทนพรรคการเมืองนะครับว่าเราจะมาคุยเรื่องการตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญหลังเสร็จสิ้นการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้เสร็จสิ้นไปเมื่อวานแล้ว เพื่อให้การทำงานร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เราสามารถ เดินหน้าตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง ๓๕ คณะได้อย่างรวดเร็วครับท่านประธานเพราะเรา ต้องยอมรับว่าในบางขั้นตอนนี่แต่ละพรรคการเมืองอาจจะต้องใช้เวลาในการตกลงกันภายใน อยู่พอสมควร ผมขอยืนยันตรงนี้ก่อนที่จะพูดต่ออีกครั้งหนึ่งนะครับว่าไม่ได้เป็นการกดดัน ใด ๆ ทั้งสิ้นนะครับ แต่ผมคิดว่าเป็นการแสดงความร่วมมือกันในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านว่าเราพร้อมที่จะเดินหน้าทำงานในสภานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากภายในสัปดาห์นี้ทุกพรรคการเมืองสามารถมาตกลงกันเรื่องประธานคณะกรรมาธิการ ทั้งหมดได้ เพื่อให้ทุกพรรคมีเวลาอย่างน้อย ๔-๕ วันในการจัดสรรว่าสมาชิกภายในพรรค ของตนเองแต่ละท่านจะไปนั่งในคณะกรรมาธิการใดบ้าง และสัปดาห์หน้าเราอาจจะสามารถ มาแต่งตั้งกรรมาธิการทั้ง ๕๒๕ ตำแหน่งใน ๓๕ คณะได้ในสภาแห่งนี้ภายในวันพฤหัสบดีหน้า และเรียกประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรกในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน หากท่านประธาน จะกรุณาเรียกเชิญประชุมตัวแทนพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยระบุวัน เวลา ที่ ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือเป็นวันศุกร์ทางพรรคก้าวไกลก็ไม่ขัดข้องครับ ผมขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณ คุณปกรณ์วุฒิมากครับ เรื่องนี้ผมได้มอบให้รองประธาน คนที่สอง คือคุณพิเชษฐ์รับไป ดำเนินการ ได้รับแจ้งว่าคุณพิเชษฐ์ได้เริ่มต้นหารือกับสำนักกรรมาธิการ ๓ สำนัก ซึ่งเกี่ยวกับ กรรมาธิการแล้วไม่ได้มีปัญหาครับ แต่ว่าอยากจะทำอะไรให้สมบูรณ์ คือบังเอิญเรื่อง กรรมาธิการของสมาชิกแต่ละคนที่เป็นสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมาธิการใดนั้นไม่ได้มีปัญหา อะไร แต่จะเป็นปัญหาที่การจะเลือกประธานคณะกรรมาธิการนะครับ เพราะว่าประธาน คณะกรรมาธิการนั้นเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน ที่เราปฏิบัติกันมาก็คือว่าฝ่ายรัฐบาลซึ่งได้กี่ท่าน ฝ่ายค้านได้กี่ท่าน ทางคณะกรรมาธิการที่ผ่านมานั้นเขาอยากให้มีความเหมาะสมต่อ การปฏิบัติงาน เช่นฝ่ายค้านอยากจะได้คณะกรรมาธิการนี้ ฝ่ายนี้จะให้ไหม ฝ่ายรัฐบาล อยากจะได้คณะกรรมาธิการด้วยเหตุผล เมื่อหารือกันได้ตัวประธานคณะกรรมาธิการของ พรรคใดแล้วแต่ละพรรคจะได้จัดคน เพราะว่าไม่อย่างนั้นพรรคก็จะได้รู้ว่าไปใน คณะกรรมาธิการชุดนั้นต้องไปเป็นประธาน ก็จะได้เลือกคนที่เหมาะสมที่จะเป็นประธานตาม ความเห็นของพรรค แต่ถ้าไม่ได้ระบุว่าพรรคนั้นได้ประธานคณะกรรมาธิการชุดใดเวลาจัดไปแล้วก็จะหาตัว ประธานที่เหมาะสมไม่ได้ก็ต้องขอเปลี่ยน อันนี้คิดว่าสัปดาห์นี้คงเรียบร้อยนะครับ คุณปกรณ์วุฒิ พวกเราคงเรียบร้อยนะครับในเรื่องกรรมาธิการ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปัญหาก็คือว่าเรื่อง ตัวประธานซึ่งจะต้องมีความเหมาะสมด้วยนะครับ เชิญครับ

นางมนพร เจริญศรี นครพนม ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย จากประเด็นของ ท่านปกรณ์วุฒิที่ได้หารือท่านประธานสักครู่นี้นะคะ เดิมทีเราได้มีการคุยกันว่าหลังจากโปรด เกล้าฯ ทางนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ววันนี้เราได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดิฉัน คิดว่าในห้วงเวลา ๒-๓ วันนี้นะคะ นอกจากท่านประธานได้มอบหมายให้ท่าน รองประธานสภาท่านที่ ๒ แล้ว ดิฉันคิดว่าถ้าเรามีการได้รับโปรดเกล้าฯ ทางนายกรัฐมนตรีแล้ว รอให้ทางท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดเกล้าฯ ครม. ชุดใหม่ เพื่อจะได้รู้ว่าสัดส่วนของ กรรมาธิการสามัญแต่ละคณะนั้นใครที่จะดูแล และไปนั่งเป็นประธานกรรมาธิการแต่ละคณะ เพื่อให้การทำงานราบรื่น ถ้าเราจะรอไปอีกนิดหนึ่ง ซึ่งวันนี้เรามีวาระรับทราบเพียงแค่ ๒ วัน ถ้าเราจะมีการคุยกันอาทิตย์หน้าก็ยังไม่สายนะคะ จึงนำเรียนท่านประธานเพื่อพิจารณา อีกทางหนึ่งค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ คิดว่าเรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้าคงเรียบร้อยนะครับ คุณปกรณ์วุฒิเชิญครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมเข้าใจดีนะครับในการที่จะจัดสรรเกี่ยวกับโควตาประธานคณะกรรมาธิการว่าอยากเป็น กรรมธิการคณะไหน เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง ทีนี้ผมขออย่างเดียวครับ ผมขอยืนยันในวันที่ชัดเจนว่าสัปดาห์หน้าหมายถึงวันไหน แล้วขอให้ไม่มีการเลื่อนอีกแล้ว ที่ผมต้องลุกขึ้นพูดในสภาเพื่อที่จะให้ประชาชนรับทราบครับ ว่ามีการรับปากกันว่าจะคุยเรื่องนี้กันวันไหนอย่างแน่นอน และจะไม่มีการเลื่อนอีกแล้วครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ อันนี้ก็เพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติงานของทุกพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมอยากจะขอให้ท่านรองพิเชษฐ์นะครับ สัปดาห์หน้าปัญหามีอยู่นิดเดียวอย่างที่ผมว่า เมื่อรู้ ว่าใครเป็นรัฐบาลถ้าจะตั้งกันเลยก็ได้ แต่ว่าเดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องประธาน เพราะสมมุติว่า พรรคก้าวไกลได้กรรมาธิการนั้นท่านก็ต้องเลือกว่า ตอนนี้เราเป็นประธานนะ ท่านต้องหาคน ที่เหมาะสมจะไปเป็นประธาน เดี๋ยวไม่เหมาะสมก็จะเป็นความขัดข้องในการปฏิบัติงาน ตลอดระยะเวลาของกรรมาธิการชุดนั้น อันนี้ ๑ สัปดาห์นะครับทางพรรคเพื่อไทย ขอบคุณ มากนะครับ อีกท่านหนึ่งนะครับ คุณนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ เชิญครับ

นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี ขออนุญาตเรียนท่านประธานหารือสั้น ๆ ถึงเหตุการณ์ เมื่อวานที่เกิดขึ้นกับเพื่อนสมาชิกที่เกิดเหตุหมดสติ หัวใจหยุดเต้น และได้รับการดูแล ที่ทันท่วงทีจากเจ้าหน้าที่สภาจนเพื่อนสมาชิกปลอดภัย ทั้งนี้อยากให้ท่านประธานทบทวน มาตรการการเข้าช่วยเหลือให้มีความคล่องตัวมากกว่าเมื่อวาน พร้อมทั้งเรื่องมาตรการ การบันทึกภาพขณะเกิดเหตุ เนื่องจากมีภาพระหว่างการช่วยเหลือฉุกเฉินในการถ่ายทอดสด ออกไปต่อสาธารณะนะครับ และอยากสอบถามท่านประธานนะครับว่าหากเกิดเหตุการณ์ ซ้ำซ้อนในกรณีมีเพื่อนสมาชิกหมดสติอีกท่านหนึ่งจะยังมีเจ้าหน้าที่ และมีเครื่องมือที่จะ ช่วยเหลือในลำดับต่อไปไหมในการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก ทั้งนี้ผมอยากฝากไปยังรัฐบาล ชุดใหม่ในเรื่องของการซ่อมบำรุง และจัดหาเครื่อง AED ให้กับ รพ.สต. ทั่วประเทศ รวมถึง ชุมชนที่ห่างไกล เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรค ที่อยู่ ๑ ใน ๓ ในการคร่าชีวิต และทำให้ทุพพลภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทย ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณ คุณนนท์มากครับ เรื่องนี้เมื่อวานผมได้เชิญเลขาธิการไปพบและชี้แจงผมเรื่องมาตรการ การป้องกันเหตุเกิดขึ้นเมื่อวาน เราเสียใจจริง ๆ นะครับ แต่ว่าก็จะพยายามแก้ไข ซึ่งท่านเลขาธิการบอกมาตรการต่าง ๆ ไว้แล้วนะครับ ก็คงจะต้องมีการแก้ไข เพราะว่า เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเหตุการณ์ในทำนองเมื่อวานนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรนะครับ เพียงแต่ ขอให้สมาชิกทุกท่านได้ช่วยตรวจสุขภาพของท่านเองด้วย ถ้าท่านรู้สึกไม่ค่อยสบายนะครับ ทางเรามีหมอมาเตรียมตลอดเวลาแต่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่าง เหตุการณ์เมื่อวาน อันนี้เป็นความใส่ใจของพวกเราจริง ๆ นะครับ เดี๋ยวผมก็จะไปเยี่ยม อาการเช่นเดียวกันครับ หมดเรื่องหารือแล้วนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๙ คน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

บัดนี้สมาชิกได้ เข้ามาลงชื่อประชุมครบองค์ประชุมแล้วนะครับ ต้องขอขอบคุณทุกท่านครับ ผมขอ ดำเนินการตามระเบียบวาระต่อไปนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒.๑ รับทราบการพิจารณารายงานของวุฒิสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งว่าในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๘ เมื่อวันอังคารที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ประชุมของวุฒิสภาได้พิจารณารับทราบ รายงาน จำนวน ๒ เรื่อง คือ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑) รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปราม ยาเสพติดประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒) รายงานประจำปี ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ ของกองทุนการออมแห่งชาติ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นการเข้าสู่ระเบียบการพิจารณาเรื่องที่ประธานจะแจ้งที่ประชุม ให้ทราบตามระเบียบวาระต่อไปนี้นะครับ ซึ่งก็อย่างที่สมาชิกได้แจ้งว่าอยากจะให้ทราบ ล่วงหน้า แต่ว่าเนื่องจากทางสำนักงานก็พยายามที่จะได้ติดต่อประสานงาน แต่เนื่องจากว่า บางครั้งก็เป็นเรื่องที่สุดวิสัยของการประสานงานนะครับ เราไม่อยากให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องมารอโดยไม่จำเป็น เสียเวลาการปฏิบัติงานในหน่วยงานของเขา ก็พยายามที่จะ ให้หน่วยงานที่ประสานงานชัดเจนแล้วก็มาแจ้งให้ที่ประชุมของพวกเราได้รับทราบตามลำดับ ที่สามารถจะกระทำได้นะครับ วันนี้ก็มีเรื่องที่จะรับทราบรายงานของการปฏิบัติของ หน่วยงาน ๓ หน่วยงาน ผมแจ้งไว้เลยนะครับ เพราะท่านจะได้ไปเตรียมตัวว่าจะอภิปราย ในเรื่องใดบ้าง วันนี้มี ๓ เรื่องนะครับ นอกนั้นก็จะเป็นการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ และในสัปดาห์ต่อไปนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ตามระเบียบวาระ ซึ่งมีอยู่ใน ๒.๔ ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามระเบียบวาระที่ปรากฏอยู่ใน ๒.๗ ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ตามระเบียบวาระ ๒.๑๑ นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปนี้เป็นการรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินครับ ผมอนุญาตให้ผู้ที่จะเข้ามาชี้แจงได้เข้ามาในที่ประชุมนี้นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. คุณประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. ท่านธีรยุทธ วัฒนะธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน ยุทธศาสตร์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๔. นางสาวอโนทัย นิยมรัตน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๕. นางสาวนิภาพร ลือราช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ เมื่อที่ประชุมพร้อมแล้วนะครับ ท่านประธานกรรมการตรวจเงิน แผ่นดินจะขอชี้แจงแถลงก่อนที่สมาชิกจะได้ซักถามครับ เชิญท่านประธานกรรมการตรวจเงิน แผ่นดินครับ

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียนท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๗ ได้บัญญัติให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๒๑๐ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ผม พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดิน พร้อมคณะ ขอสรุปรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนี้

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ข้อ ๑ การกำกับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายการตรวจเงิน แผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ และแจ้งสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ แล้ว

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ข้อ ๒ สรุปผลเรื่องสำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการเสนอแนะ เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพดังนี้

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

การตรวจสอบระบบสารสนเทศว่ามีการควบคุมเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ มาตรฐานการควบคุมเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้สภาวะแวดล้อมของระบบที่ใช้ และเสนอแนะให้ควบคุมทั่วไป และการควบคุมเฉพาะระบบ จำนวน ๓ หน่วยงาน และศึกษาโครงการวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลแบบ Visualization ๒ โครงการ ๒ หน่วยงานซึ่งการเก็บรายได้ และการวิเคราะห์ข้อมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ รายงานการเงินแผ่นดินที่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญของ การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นกลไกสำคัญ ประการหนึ่งในการส่งเสริมการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ การตรวจสอบบัญชี ทุนสำรองเงินตราประจำปีซึ่งจัดทำ ๓ บัญชี คือบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีสำรองพิเศษ และบัญชีผลประโยชน์ประจำปี การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายโดยการตรวจสอบ รายจ่ายในภาพรวม ประเด็นต่าง ๆ คือการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 การตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน นอกงบประมาณของหน่วยรับตรวจ การตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน การฝึกอบรม สัมมนา ดูงาน บุคคลภายนอก การตรวจสอบกรณีพบข้อบกพร่องในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติทางราชการที่ต่อเนื่องจาก การตรวจสอบรายงานการเงิน และการตรวจสอบการเงินอื่นจากการประเมินความเสี่ยงของ หน่วยรับตรวจ ทั้งนี้เป้าหมายผลผลิต จำนวน ๘๑๑ รายงานดำเนินการเสร็จเป็นผลผลิต จำนวน ๑,๘๐๒ รายงาน รวมทั้งหมด ๑,๖๓๙ หน่วยงานโดยตรวจสอบพบข้อสังเกต จำนวน ๑,๕๗๘ รายงาน รวม ๑,๔๖๔ หน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบรายได้การจัดให้มี ที่มาของทรัพย์สิน และการบริหารทรัพย์สินของรัฐ การตรวจสอบข้อเท็จจริง การตรวจสอบ กรณีพิเศษ การตรวจสอบเชิงป้องกันและการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพ การดำเนินงานในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ข้อ ๓ การดำเนินการด้านความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยติดตาม และประสานการปฏิบัติตามคำสั่งวินิจฉัยลงโทษทางปกครอง ๓๑ ราย ปรับทางปกครอง รวมทั้งสิ้น ๗.๓๒ ล้านบาท ลงโทษปรับปกครอง ๕ ราย จำนวน ๐.๙๘ ล้านบาท

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ข้อ ๔ ด้านการต่างประเทศ ทำหน้าที่คณะมนตรีองค์กรตรวจสอบสูงสุด ระหว่างประเทศ หรือ INTOPSAI Governing Board เข้าร่วมประชุมคณะมนตรี INTOPSAI ASOSAI และ ASEANSAI และทำหน้าที่ในการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายนอกองค์กร ระหว่างประเทศ External Auditor รวมทั้งการแพร่ผลงานของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินในเวทีระดับนานาชาติ การร่วมเสวนาอภิปรายและการเผยแพร่บทความ แบ่งปัน ความรู้เป็นการยกระดับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินของไทยสู่เวทีสากล และเป็นประธาน ASOSAI ดำรงตำแหน่งวาระ ๒๕๖๔-๒๕๖๗ เพื่อขับเคลื่อนปฏิญญากรุงเทพ ๒๕๖๔

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ข้อ ๕ การเปิดเผยการใช้จ่ายทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐให้สื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๕ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ พบว่า รัฐวิสาหกิจได้ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชน มากที่สุดจำนวน ๘,๐๐๒ โครงการ หรือสัญญา จำนวน ๒,๖๔๖.๑๙ ล้านบาท จำแนกตาม ลักษณะกิจกรรมประเภทสื่อผลิต ๒,๔๕๒.๔๘ ล้านบาท ป้าย ๘๙.๘๗ ล้านบาท สนับสนุน ๗๘.๘๘ ล้านบาท และรับรองสื่อ ๒๔.๙๖ ล้านบาท การใช้จ่ายเงินตามแผนงานหรือโครงการ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐ รวมจำนวน ๕ ยุทธศาสตร์ ๑๙ โครงการ เพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผล ติดตามการตรวจสอบ ความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารเงินแผ่นดิน ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจำนวน ๖ โครงการ

พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

สำหรับการปฏิบัติงานของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินประจำปี ๒๕๖๕ เป็นไป ตามนโยบายได้หลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่คณะกรรมการได้วางไว้อย่าง ครอบคลุม ครบทุกด้าน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมที่จะตอบข้อซักถามของท่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ให้ที่ประชุมทราบต่อไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ท่านประธานนะครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิกนะครับ เนื่องจากเรายังไม่สามารถเรียกสลับฝั่งของค้าน รัฐบาลได้นะครับ วันนี้ก็จะเป็นการเรียกให้ อภิปรายตามลำดับการลงชื่อครับ ท่านที่ ๑ นะครับ ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน หมูกระทะ ประธานสภาที่เคารพนะครับ วันนี้ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรปทุมธานี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ก็ขอขอบคุณ สตง. นะครับ ที่ได้ทำงาน อย่างหนัก ตรวจสอบรายงานกว่า ๘,๐๐๐ รายงาน แล้วก็ป้องกันความเสียหายได้ถึง ๒๓,๐๐๐ ล้านบาท อันนี้ต้องขอชมเชยในการทำงานหนักแล้วก็งานตรวจสอบทางการบัญชี อย่างเข้มข้นนะครับ ขอ Slide ด้วยครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

หน้าต่อไปนะครับ ผมก็ทราบ มาว่ารายงานอันนี้มีประมาณ ๓๐๐ กว่าหน้า แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมคือเรื่องของ พ.ร.ก. เงินกู้โควิดนะครับ ซึ่งเราก็ได้ทราบอยู่แล้วว่าปัญหาของโควิดคราวที่แล้วนี่ มีเยอะมาก ๆ เลยนะครับ บางช่วงบางตอนนี่ประเทศไทยเราถึงติดอันดับ Top Ten นะครับ จำนวนผู้ติดโควิดมากที่สุด ผู้ป่วยมากที่สุดนะครับ แล้วปัญหาของเราคืออะไร การจัดซื้อ วัคซีนโควิดที่ล่าช้านะครับ การให้เงินอุดหนุนกับบางบริษัทซึ่งทำให้เราไม่เข้าร่วมโครงการ โคแวกซ์นะครับ โคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลกนะครับ มี ๑๘๐ กว่าประเทศที่เข้าร่วม แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น อันนี้คือปัญหาของประเทศไทยในช่วงนั้นแล้วทำให้คน เสียชีวิตจำนวนมาก อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ผมจึงต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้นะครับ แล้วท่านก็ได้บอกแล้วว่าวัตถุประสงค์ของ โครงการนี้คือการแก้ปัญหาการระบาด การช่วยเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แล้วท่านก็จะมีการชดเชยภาคประชาชน เกษตรกร แล้วก็ผู้ประกอบการ ซึ่งวงเงินตรงนี้ ทั้งหมดคือ ๑ ล้านล้านบาทนะครับเงินกู้ตรงนี้ ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียวนะครับ ถ้าเอา แบงก์พันมาต่อกันนะครับจะเรียงได้ ๔ รอบโลกเลยนะครับ เห็นว่าเป็นเงินมหาศาลมาก ๆ ในที่นี้นะครับ สตง. ก็ได้ตรวจสอบ ๓ โครงการดังต่อไปนี้นะครับ ก็คือมีการแพทย์ และสาธารณสุข เรื่องที่ ๒ การช่วยเหลือเยียวยาและชดเชย เรื่องที่ ๓ คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

Slide ต่อไป ปรากฏว่าสิ่งที่ท่านตรวจเจอคืออะไรบ้าง ด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินกู้ปรากฏว่าไม่ผ่านนะครับ พบว่าล่าช้า ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไป ตามที่กำหนด ด้านการจัดหาก็เช่นกัน การทำ TOR ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เอกสาร จัดซื้อจัดจ้างก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และการตรวจรับก็ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายอีกนะครับ ด้านการเบิกจ่ายก็เช่นกันไม่เป็นไปตามกฎหมายเช่นกันนะครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

Slide ต่อไปนะครับ เรื่องตรวจสอบเรื่องที่ ๒ ก็คือการช่วยเหลือเยียวยา งบประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เยอะมากเลยนะครับ ท่านตรวจไป ๓ โครงการ จากทั้งหมด ๕ โครงการ ก็ไม่ผ่านอีกนะครับ พบว่ามีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้มีสิทธิจริง ๆ ก็ไม่ได้รับสิทธิ ไม่ได้รับเงินชดเชย แล้วก็ตรงกันข้ามคือผู้ไม่มีสิทธิกลับได้รับ เงินชดเชยนะครับ ทำให้การเยียวยาไม่ครอบคลุม เกิดความไม่เป็นธรรมในการให้เงินเยียวยา รัฐก็เสียโอกาสด้วยนะครับ เงินที่ใช้ไปนี่แทนที่จะเอาไปใช้อย่างอื่นก็เสียโอกาสตรงนี้ ส่วนบางโครงการที่บอกว่าถูกก็ไม่รู้ว่าจะมีบางส่วนที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหนนะครับ ผมจึงใส่ Question mark ไว้เมื่อสักครู่นะครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

อันที่ ๓ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมนะครับ ตรงนี้ก็คือว่าปัญหาเหมือนกัน ไม่มีอะไรผ่านเลย ก็คือไม่ครบถ้วน ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ล่าช้านะครับ ด้านการจัดหา สัญญาข้อตกลงก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย การกำหนดราคากลางไม่เป็นไปตามกฎหมาย การตรวจรับก็ไม่เป็นไปตามกฎหมายนะครับ ไม่มีอะไรถูกต้องเลย ด้านการบริหารพัสดุชำรุด บกพร่อง ไม่มีผู้รับผิดชอบ ไม่จัดทำบัญชีวัสดุ ครุภัณฑ์นะครับ ด้านการเบิกจ่ายก็ไม่เป็นไป ตามกฎหมาย แล้วเงินคงเหลือก็ยังไม่ส่งคืนคลังอีก

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ปัญหาต่อไปนะครับ ก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การจ้างงาน การใช้ที่ดิน ของประชากรก็ขาดการกำกับควบคุม การเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง ไม่จัดทำหนังสือยินยอมใช้ที่ดิน ปัญหาเต็มไปหมด

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

Slide ต่อไปได้เลยนะครับ ท่านวิเคราะห์มาว่าสาเหตุคือเจ้าหน้าที่ และประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ต่อไปนะครับ ขาดการควบคุมดูแล การจัดสรรเงินล่าช้า หน่วยงาน ไม่เตรียมพร้อม ดำเนินการไม่ครบถ้วน ขาดฐานข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจอย่างมี ประสิทธิภาพ โครงการ ๑ ล้านล้านบาท ท่านเขียนรายงานมา ๖ หน้า หน้า ๑๓๘-๑๔๓ แค่ ๖ หน้าเท่านั้น ซึ่งอันนี้ผมก็เข้าใจในการทำงานของท่านว่าท่านทำงานหนัก แต่รายงาน ที่ท่านออกมามันน้อยมากเลยครับ มันไม่ค่อยจะวิเคราะห์อะไรได้มากเท่าไรนะครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

หน้าต่อไปนะครับ และอย่างปัญหาที่ผมเห็นก็คือว่าท่านจะเขียนว่า หน่วยงานแห่งหนึ่งนะครับ หน่วยงานแห่งหนึ่งมีปัญหาโน่น นี่ นั่นซึ่งทำให้สภาไม่สามารถ ที่จะไปตรวจสอบต่อได้ อย่างเช่น สำนักปลัดกระทรวงแห่งหนึ่ง หน่วยงานแห่งหนึ่งนะครับ ตรงนี้ผมก็เลยจะมีข้อเสนอแนะให้ท่านว่าอยากจะให้ท่านระบุหน่วยงานที่มีปัญหา มีปัญหา ทางด้านนี้นะครับ เราจะได้ตามไปตรวจสอบต่อได้ โทรศัพท์ไปพูดคุย สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ก็คือว่าจำนวนโครงการที่มีปัญหา ท่านบอกแต่มีปัญหา มีปัญหา แต่ท่านไม่บอกว่าตรงไหนไม่มีปัญหาบ้าง ทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าหน่วยงานนี้ มีประสิทธิภาพแค่ไหน สมมุติท่านบอกมีปัญหา ๑๐ อย่าง เขาอาจจะทำดี ๑๐๐ อย่างก็ได้ แต่เราก็จะไปมองว่าเขาทำไม่ดี อันนี้อยากให้ระบุมาด้วยนะครับว่าโครงการที่ไม่มีปัญหา มีเยอะแค่ไหนเปรียบเทียบกัน เราจะได้เห็นภาพรวมโดยชัดเจน

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ก็คือว่าท่านตรวจพบเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่น การทำ TOR ไม่มี ประสิทธิภาพอย่างนี้ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย การไม่คืนเงินท่านมีการดำเนินคดีหรือว่า มีการฟ้องร้องอะไรบ้างหรือเปล่า มีการยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ท่านไม่ได้บอกมานะครับ เราอยากจะให้ท่านบอกข้อมูลตรงนี้แล้วก็ติดตามความคืบหน้า ของคดีด้วยนะครับ แล้วก็ในรายงานนี้ท่านมีแต่เสนอแนะ ๆ แล้วก็เสนอแนะ โดยที่ไม่ได้บอกว่าถ้าเขาไม่ทำตามจะ เกิดอะไรขึ้น แล้วก็อยากให้ติดตามผลด้วยว่าหน่วยงานไหน ขอสักนิดหนึ่งนะครับ ใกล้จบแล้ว แล้วก็หน่วยงานไหนที่ทำตามแล้ว หรือยังไม่ปฏิบัติตาม แล้วท่านมีบทลงโทษอย่างไร

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อ ๕ คืออยากให้ระบุจำนวนเงินความเสียหายในแต่ละประเด็นด้วย อย่างท่านบอกมาว่าจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้อง ก็อยากทราบว่าโครงการนี้เป็นมูลค่าเท่าไร ถ้าโครงการมันแค่ล้านเดียวอย่างนี้อาจจะไม่สำคัญมาก แต่ถ้าเกิดมันเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน อย่างนี้มันต่างกันเยอะเลย ทำให้เราเข้าใจรายงานอันนี้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อ ๖ ก็คือการตรวจสอบของท่านนี่ หลายหน่วยงานบอกว่าเข้มข้นมาก จนทำอะไรไม่ได้ สร้างความยุ่งยาก ท่านมีความคิดที่จะแก้ไขระเบียบบ้างหรือเปล่า แล้วก็หน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาบ่นมาเขาเคยเสนอแก้ไขหรือเปล่า อยากให้ท่านได้ตอบ ตรงนี้ด้วยนะครับ และปัญหาก็คือว่าถึงแม้ท่านจะทำงานเข้มข้น แต่ก็ยังมีการละเลย ละเลยอะไร เท่าที่เราดูมันยังมีปัญหาเรื่องการ Lock Spec การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับ มีปัญหาตลอดเวลาทุกหน่วยงานเลย ก็แสดงว่ามันยังมีการละเลย ถ้าไม่ละเลยหน่วยงาน เหล่านั้นจะไม่กล้าทำแบบนั้น จะต้องทำงานให้ตรงตาม Spec ผมก็เลยแนะนำว่าอาจจะเปิด ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสดีไหม เปิดสายด่วนให้ประชาชนแจ้งเบาะแสหรือว่าแจ้งเบาะแส แบบว่าไม่เปิดเผยตัวตน เราจะได้มีข้อมูลมากขึ้น ท่านจะได้ตรวจสอบได้เยอะขึ้น แล้วก็ตรงเป้า ตรงประเด็น ก็ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่กล้า Lock Spec ไม่กล้าฮั้วประมูล

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายก็จะเป็นคำถามว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทาง กทม. ตีว่าเป็น แปลงเกษตร แต่ท่านบอกว่าเป็นที่ดินรกร้างมีปัญหากันเยอะแค่ไหน แล้วก็มีการแก้ไข อย่างไร อยากได้ความชัดเจนตรงนี้ด้วย พอดีมาเห็นพอดีก็ขอบคุณมาก ๆ เลยสำหรับเวลา ของท่านที่มาตรงนี้ ขอบคุณมากครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอประท้วงครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ผมขอประท้วงครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ผมขอประท้วงท่านประธานผ่านไปยังผู้กำลังอภิปรายเมื่อสักครู่นี้ไม่เคารพท่านประธาน ข้อบังคับ ข้อ ๙ ข้อความที่ว่า ท่านประธานหมูกระทะ ตรงนี้คือประธานสภาผู้แทนราษฎร พวกผมเคารพท่านประธานด้วยความสัตย์จริง เพราะท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ มา เช่นเดียวกันท่านเป็นรองประธานท่านกำลังทำหน้าที่อยู่ตรงจุดนี้ ถ้าเป็นประธานหมูกระทะ ก็ต้องไปที่ร้านหมูกระทะไปพูดที่ตรงนั้น สภาตรงนี้คือสภาอันศักดิ์สิทธิ์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิต อยู่ตรงนี้มานานแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ถอนคำพูด ผมฝากให้ท่านเมื่อสักครู่นี้ถอนคำพูด สภานี้ไม่ได้เป็นของเล่นครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน เพื่อให้ สภาเดินหน้าต่อได้นะครับ ผม ประสิทธิ์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต้องอนุญาตให้พูดก่อนนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมคิดว่าประเด็นของการประท้วงก็ครบถ้วนแล้ว ของท่านอดิศรเป็นเรื่องอะไรครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศร เพียงเกษ เป็นเรื่องเดียวกันที่คุณธีระชัย แสนแก้ว เราห่วงสภานะครับ เพราะว่าวัฒนธรรม ประเพณีของเรามีกฎข้อบังคับ อยู่ตรงนั้นต้องเคารพนะครับ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องขออนุญาต ท่านอภิปรายดีในเนื้อหา แต่อย่างไรเราควรจะรักษาภาพลักษณ์คนที่เป็น ประธาน เป็นที่เคารพของสมาชิกทุกท่าน ด้วยความเกรงใจอย่างยิ่ง ท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประสิทธิ์ครับ มีผู้ประท้วงให้มีการถอนคำพูดนะครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๗ ต้องขออภัยท่านประธานเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็ขออภัยผู้ร่วมสภาด้วยนะครับ ขอถอนคำพูดครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านที่ประท้วงนะครับ ท่านใดอยากทานกับผมก็เข้าชื่อได้นะครับ ขอเชิญท่านต่อไป ท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๓ อำเภอถลาง ตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ปกป้อง เงินแผ่นดินได้ถึง ๒๓,๐๐๐ ล้านบาท แต่ผมมีข้อสงสัยนิดหนึ่งว่าเงินจำนวนนี้เป็นจำนวนเงินที่ทุจริตจริงหรือเป็นเพียง ความผิดพลาดทางบัญชี และทาง สตง. เองได้มีการคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก ที่โครงการไม่สามารถดำเนินงานได้เพียงเพราะว่าไม่คุ้มค่าหรือเปล่าครับ ยกตัวอย่างเช่น การวางท่อประปาเข้าชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตเองการประปาส่วนภูมิภาคจะเดิน ท่อประปาหลักในสายถนนหลัก เช่นถนนเทพกระษัตรีเป็นต้น แต่ในชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องใช้ งบประมาณของ อบต. ในการต่อท่อประปาเข้าพื้นที่ บางครั้งบางคราวทาง สตง. ก็ติงว่าเป็น การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าเพียงเพราะที่ดินเหล่านั้นเป็นสวนยาง เป็นการเกษตรที่ไม่มีบ้าน ประชาชนอาศัยอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ทราบว่าทาง สตง. เองได้เคยคิดคำนวณมูลค่าความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่มีโครงการดังกล่าวหรือเปล่า

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา เรื่องการจัดเก็บรายได้ของบางหน่วยงาน เช่นกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ยังจัดเก็บเป็นเงินสดอยู่ ท่านมีแนวทางการตรวจสอบ อย่างไรบ้าง เพราะรายได้ที่จัดเก็บกับจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นบางครั้ง ไม่สอดคล้องกัน บางครั้งที่ผมได้ยินมามีการเหมาจ่ายในอุทยานแห่งชาติบางแห่ง เหตุการณ์ เหล่านี้ท่านมีการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา ผลสัมฤทธิ์ต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บางโครงการทิ้งร้าง บางโครงการล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่นการก่อสร้างการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต ที่ล่าช้ามาเป็นปีแล้วครับ เสียหายทั้งผู้ปฏิบัติงานและประชาชน โครงการเหล่านี้ไม่ทราบว่ามีความคืบหน้าในการตรวจสอบอย่างไรบ้าง และที่สำคัญที่สุด การตรวจสอบต่าง ๆ อยากให้ทาง สตง. มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่านี้ว่า ได้ตรวจสอบหน่วยงานไหนบ้าง ดำเนินการไปถึงไหนบ้าง ผิดพลาดประการใดบ้าง ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ และที่สำคัญบางโครงการไม่ได้ดำเนินไปตามวิสัยทัศน์ ที่ได้ของบประมาณไว้ เช่นงบประมาณในกลุ่มจังหวัดอันดามันของจังหวัดภูเก็ต ที่มีวิสัยทัศน์ ว่าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมการบริการในระดับมาตรฐานนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มีข้อสังเกตว่าด้วยงบประมาณ ๑๔๐ ล้านบาทที่เป็นงบจังหวัดนั้น กลับนำไปสร้างเขื่อนนะครับ ไปรื้อถอนเขื่อนเดิมเพื่อก่อสร้างเขื่อนใหม่ เพื่อเสริม คอนกรีตใหม่ เป็นต้น ซึ่งโครงการที่ดำเนินการกับงบที่การของบประมาณแผ่นดินนั้น ไม่สอดคล้องถูกต้องตรงกัน

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง การอบรมสัมมนาต่าง ๆ การเดินทางไปดูงาน ในต่างประเทศมีผลสัมฤทธิ์เชิงรูปธรรมบ้างหรือไม่ อยากให้ทาง สตง. มีความเข้มข้น ในการตรวจสอบมากกว่านี้ แล้วก็มีการตรวจสอบเป็นทุก ๆ ปีว่าบางโครงการที่ได้ขอ งบประมาณก่อสร้างไป ดำเนินการไปได้มีผลสัมฤทธิ์มากขนาดไหน ถนนบางเส้น ในจังหวัดภูเก็ตไม่เสีย ไม่ชำรุด ลาดยางแล้วลาดยางอีกนะครับ แต่บางเส้นที่ชำรุดทรุดโทรม ทั้งประชาชนร้องเรียน ทั้งฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งหลายครา แต่ก็ กลับยังไม่มีการดำเนินการ เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ทราบว่าทาง สตง. มีแนวทาง ในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง ก็ฝาก สตง. ตอบคำถามด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน ขออนุญาตท่านประธานได้ฝากข้อรับทราบที่ทางท่าน สตง. ได้ส่งมาให้ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนได้รับทราบ ผมได้ดูเป็นบางประเด็นและฟังเพื่อนสมาชิกพูดแล้วว่า วันนี้ต้องขอบคุณท่าน สตง. ที่ได้ตรวจสอบ ติดตาม เพื่อให้การทำงานของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่ไม่หวังดีต่อบ้านต่อเมือง ดังที่รายงานว่ามีการได้เงินคืนเป็นตัวเลขหลายหมื่นล้าน ก็ขอบคุณชื่นชม แต่เป็นไปได้ไม่อยากให้มีตัวเลขนี้ เพราะถ้าไม่มีตัวเลขก็แสดงว่าไม่มี การทำผิดระเบียบ กติกาของการปฏิบัติงานของราชการ แต่วันนี้อยากฝากประเด็นให้ท่านประธานผ่านไปยังท่าน สตง. ครับ ทุกอย่างวันนี้ ที่ในรายงานดี ข้อผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะผมคิดว่าวันนี้งานที่ท่านทำนั้นเหน็ดเหนื่อย แต่สิ่งสำคัญจะฝากผ่านท่านประธานไปยังท่าน สตง. ว่า มันมีประเด็นหนึ่งซึ่งชาวบ้าน ร้องเรียนว่าบางหน่วยงานของทางราชการไปทำงานในพื้นที่ มองดูแล้วว่าด้วยสายตาไม่น่าจะ เป็นไปตามโครงการที่หน่วยงานนั้นได้มาดำเนินการ ได้มีการร้องเรียนไปยัง สตง. ท่านประธานครับ ชาวบ้านมาบ่นกับผมว่าเมื่อท่านได้เป็นผู้แทนแล้ว ช่วยฝากท่านประธาน ผ่านไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ ผม นิพนธ์ คนขยัน ผู้แทนบึงกาฬ เขต ๓ ครับ พรรคเพื่อไทย อยากฝากท่านประธานไปถึงท่าน สตง. ว่าถ้ามีพี่น้องประชาชนไม่เฉพาะบึงกาฬครับ ในประเทศไทย ได้ร้องเรียนผ่านไปยังท่าน สตง. ขอความกรุณาท่านได้ลงไปพื้นที่ และได้ ติดตามตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด ชาวบ้านเขาจะได้หายแคลงใจครับ หรือท่าน มีปัญหา ผมคิดนะครับ ผมก็บอกชาวบ้านว่า สตง. มีปัญหาเรื่องบุคลากร เจ้าหน้าที่หรือเปล่า หรือมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอหรือเปล่า ดังนั้นวันนี้ในฐานะที่มาเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมที่จะสนับสนุนหากท่านติดขัดเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ในการไปตรวจสอบ หรือกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ผมเชื่อมั่นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกท่านคงจะคิดเหมือนกันว่าท่านเป็นหน่วยงานทำงานก็ต้องได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อหา แนวทางแก้ไขที่มีปัญหา ดังนั้นวันนี้ที่ผมนำเรียนผ่านท่านประธานก็ขอชื่นชม ขอบคุณที่ท่าน ทำงานมาอย่างดีเยี่ยมนะครับ ที่ผ่านมาถ้าไม่มีท่านในการตรวจสอบ ก็อย่างที่เห็นครับ ขนาดตรวจสอบแล้วยังมีการกระทำผิดตามที่ท่านรายงานก็มากมาย ดังนั้นฝากประเด็นนี้ไว้ เพื่อพี่น้องประชาชนจะได้หายแคลงใจว่า ต่อไปนี้เมื่อมีผู้ร้องเป็นปากเป็นเสียงร้องเรียน ท่าน สตง. ไปแล้ว ท่านก็ได้ไปถามผู้ร้องตามที่ประชาชนร้องเรียนประชาชนก็จะอุ่นใจ ขอฝากท่านประธานผ่านไปยัง สตง. กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิยม วิวรรธนดิฐกุล ครับ

นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล แพร่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพนะครับ ผม นิยม วิวรรธนดิฐกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย วันนี้ก็ต้องขอบคุณทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะครับ จากรายงาน ที่ท่านส่งมาในฉบับนี้นะครับ ในหน้า ๒๖๐-๒๖๙ ซึ่งเป็นผลการตรวจสอบที่สำคัญ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นี่นะครับ พอดีเมื่อสักครู่มีเพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายไปแล้วส่วนหนึ่งนะครับ ซึ่งจะเป็นเรื่องของโครงการหรือแผนงาน เรื่องของวัคซีน ของ อปท. หรือการช่วยเหลือเยียวยานะครับ แต่จริง ๆ แล้วมันมีอยู่ประเด็นที่สำคัญนะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็คือเรื่องของการจัดหาวัคซีน เดี๋ยวเราพูดถึงวัคซีนก่อนก็แล้วกันนะครับ ในเรื่อง ของวัคซีนที่ป้องกันโควิด โดยทั่วไปปกติช่วงที่เราระบาด เราก็จะมีอยู่ ๓ ประเภทก็คือ ชนิดเชื้อตายเช่น Sinovac ของจีน ชนิดไวรัสเป็นพาหะ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Viral Vector นะครับ เช่นของ AstraZeneca ซึ่งช่วงนั้นจะผลิตในไทย แล้วก็อันที่ ๓ ชนิด mRNA เช่น Pfizer Moderna นะครับ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนในช่วงที่โควิดระบาดนะครับ ซึ่งเราดูจากในรายงานนี้แล้วนะครับ เรื่องของ Sinovac ที่ราคาแพงกว่าปกติอันนี้ไม่เห็นในรายงานของทางสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินที่เข้าไปตรวจสอบ มันเป็นประเด็นที่เราคลางแคลงใจมาตลอดนะครับ จริง ๆ เรื่องนี้ ท่าน สส. จิราพร สินธุไพร ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ ได้เคยอภิปราย ไม่ไว้วางใจในช่วงสมัยของการประชุมสภาชุดที่แล้ว ซึ่งดูจากความคลางแคลงใจจนเดี๋ยวนี้เรา ก็ยังตอบประชาชนไม่ได้ แม้แต่ สตง. เองก็ไม่เห็นจะมีรายงานที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ประเด็นก็คือเขาก็บอกว่าจะเป็นจริงหรือเปล่า ก็คือบอกว่าประเทศไทยเรา ตอนนั้นเราซื้อ Sinovac ค่อนข้างเยอะนะครับ ประเทศไทยนี่จะใช้ Sinovac เป็นวัคซีนแก้ขัดนะครับ แต่ว่าแก้ขัดนานไปหน่อย เพราะเรารอ AstraZeneca ไม่มาสักทีนะครับ แก้ขัดแต่ละครั้งก็ซื้อ ค่อนข้างจะเยอะ อย่างเช่นบางครั้งจะซื้อถึง ๑๐ กว่าล้านโดส เป็นเงินถึง ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่ก็เป็นที่สงสัยกันว่ามีความโปร่งใสหรือไม่นะครับ ก็คือ Sinovac ที่ซื้อมาราคาจะสูงกว่า ประเทศเพื่อนบ้านประมาณ ๑๐๐ บาท อันนี้เท็จจริงหรือไม่ เช่นฟิลิปปินส์ซื้อ ๔๒๖ บาทต่อโดส อินโดนีเซีย ๔๔๐ บาทต่อโดส แต่ไทยซื้อ ๕๔๒ บาทต่อโดส เพราะฉะนั้นมันก็จะแพงกว่า ประเทศอื่น ๆ ไปประมาณถึง ๑๐๐ บาทต่อโดส อันนี้จริงหรือไม่ สตง. ได้เข้าไปตรวจสอบ เรื่องนี้ไหม มันจึงเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชน จนเดี๋ยวนี้ปริมาณที่ซื้อจากจีนเราก็ทราบ ดีว่าทยอยมาเรื่อย ๆ นะครับ หรือแม้แต่บางครั้งมีวัคซีนอื่นมาช่วยก็ยังซื้อ Sinovac ต่ออีก เดี๋ยวนี้มันจึงเป็นที่สงสัยว่ามีความโปร่งใสหรืออย่างไร หรือไม่นะครับ จริง ๆ แล้วในการใช้ Sinovac เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นวัคซีนเชื้อตาย ประสิทธิภาพการป้องกันโรคมันค่อนข้าง สั้นและน้อย จนสุดท้ายเชื้อที่รุนแรงกว่าที่มาก็คือ สายพันธุ์ Delta Sinovac เอาไม่อยู่ถึงต้อง เลิกใช้ แล้วก็มาใช้ mRNA แล้วก็พวก AstraZeneca ซึ่งเป็น Viral Vector ต่อไปนะครับ

นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล แพร่ ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ที่ซื้อมาทั้งหมด มันเหลือและหมดอายุไปเท่าไรที่ต้องทิ้ง อันนี้คงต้องฝาก ทาง สตง. เข้าไปตรวจสอบนะครับ เพราะหน่วยงานที่ท่านตรวจสอบมันมี ค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานที่เล็ก ๆ ก็เยอะกว่า ๙,๐๐๐ กว่าหน่วยงาน ที่ท่านตรวจสอบ ท่านตรวจสอบไม่หมดหรอกนะครับ เพราะท่านตรวจสอบหลายด้านไม่ว่า ทางด้านการเงิน ทางด้านการปฏิบัติงานผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งความผิดวินัยการเงินการคลังอะไร ต่าง ๆ ก็น่าเห็นใจนะครับ เพราะฉะนั้นฝากตรวจสอบในหน่วยงานใหญ่ ๆ ในระดับกระทรวง ด้วยนะครับ เพราะว่างบประมาณที่ใช้ค่อนข้างจะเยอะมาก อันนี้ก็ฝากแล้วก็หากท่านมี รายงานหรือว่าเคยตรวจสอบแล้ว ก็ขอกรุณาได้รายงานให้พี่น้องประชาชนได้ทราบเพื่อจะได้ หายคลางแคลงใจว่าการจัดซื้อวัคซีน Sinovac เป็นการจัดซื้อที่ราคาแพงกว่าปกติหรือไม่ มีความโปร่งใสหรือไม่ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพัฒนา สัพโส ครับ

นายพัฒนา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม พัฒนา สัพโส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขอบคุณ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะครับที่มารายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน ซึ่งผมก็ได้ดูในรายงานก็ชื่นชมการทำงานของ สตง. ในภาพรวม แต่มีประเด็นอยู่ ๒ ประเด็นที่ผมอยากจะฝากทาง สตง. ถ้าตอบวันนี้ได้ก็จะยิ่งเป็นการดี หรือว่าถ้าตอบไม่ได้ก็อยากให้ไปทบทวน แล้วก็เป็นแนวทางในการที่จะปฏิบัติกับส่วนราชการ ที่จัดซื้อจัดจ้างต่อไป

นายพัฒนา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรก มีการประชุมสันนิบาตเทศบาลที่จังหวัดสกลนคร แล้วมีเจ้าหน้าที่ ของ สตง. เองได้ไปแนะนำทางผู้บริหาร ข้าราชการ ในที่ประชุมบอกว่าในการจัดซื้อจัดจ้าง งานถนนพร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง สตง. ได้แนะนำบอกว่าสามารถแบ่งซื้อแบ่งจ้างได้ ตรงนี้ ผมตกใจนะครับท่านประธาน พระราชบัญญัติระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างนี่ ผมนี่พูดอยู่ตลอด ในสภาแห่งนี้ว่าการแบ่งซื้อแบ่งจ้างนี่มันเป็นเรื่องที่มันไม่ถูกต้อง แต่ยิ่งได้ยินคำแนะนำจาก ตัวแทนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินน่าจะเป็นภาค ๖ อุดรธานี ผมฝากทาง สตง. ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข้อมูลที่ผู้บริหารท้องถิ่นนี่แจ้งเข้ามานี่อาจจะผิดพลาด ผมยังไม่เชื่อ ว่าจะเป็นคำพูดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่บอกว่าสามารถแบ่งซื้อ แบ่งจ้างได้ รหัส ๑ งบประมาณตามคำขอที่ออกโดยสภาผู้แทน พระราชบัญญัติมันเป็น กฎหมายนะครับ ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะแบ่งซื้อแบ่งจ้างได้ ผมเชื่อว่ากรมบัญชีกลางเรื่องนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมบัญชีกลางเขา สตง. เป็นคนตรวจสอบ ผมเข้าใจได้ว่าทั้ง ๒ หน่วยงานนี่มันคาบเกี่ยวกันระหว่างกรมบัญชีกลางกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็คือรักษาผลประโยชน์ของชาติในการตรวจการใช้เงินของภาครัฐ แต่ว่าระเบียบการจัดซื้อ จัดจ้างนี่ผมว่าเป็นหน้าที่กรมบัญชีกลางที่จะชี้แล้วก็ข้อเสนอแนะหน่วยงานภาครัฐว่า ๑ ๒ ๓ ๔ ผมว่าไม่น่าจะใช่คำแนะนำของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องนี้ ประเด็นนี้สำคัญ ผมอยากจะให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนี่ช่วยตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด และยิ่งรายงานมายังสภาได้ยิ่งเป็นการดี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ

นายพัฒนา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เรื่องเดิมซึ่งขออนุญาตเอ่ยนาม เพราะไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าผม จำไม่ผิดท่านรองผู้ว่าสุทธิพงษ์เคยเข้ามาประชุมกับคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ซึ่งผมร่วมอยู่ในที่ประชุมด้วย คือปัญหาในการตรวจรับงานที่ สตง. ท้วงติงกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะท้องถิ่น คือผลทดสอบกำลังอัดของคอนกรีต ผมกราบเรียนท่านประธานอย่างนี้ว่า ตามระเบียบนี่ในรูปแบบและรายการก่อสร้างเขาจะเขียนกำลังอัดคอนกรีตไว้จะเป็น Strength คือกำลังอัดนี่ ๒๔๐ ๓๐๐ ก็ว่าไป ที่ ๒๘ วัน สตง. ฟังให้ดีเรื่องนี้ พอที่ ๒๘ วันนี่ ก็มีคำถามขึ้นมากมายว่ายกตัวอย่างถ้าเป็นงานเล็ก ๆ สมมุติว่าท้องถิ่นมีงาน ๗๐,๐๐๐ บาท ใช้ระยะเวลาแค่ ๒ วันแค่นั้นเขาดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ว่าบางหน่วยงานกองช่าง คณะกรรมการตรวจการจ้างนี่ก็ไปยึดที่ ๒๘ วัน ความหมายคือจริง ๆ แล้ว ๒๘ วันนี่ ท่านประธาน มันคือสมมุติว่าในสัญญาระบุว่ากำลังอัดที่ ๒๔๐ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ถ้าสมมุติว่าเขาเทไปได้ ๗ วัน ๑๔ วัน แล้วกำลังอัดมันขึ้นถึงตามที่ระบุในแบบของสัญญา นี่มันก็สามารถเบิกจ่ายได้ นี่คือในที่ประชุมวันนั้นท่านรองสุทธิพงษ์ ขอเอ่ยอ้างนะครับ เราคุย กันแล้วก็มีทางออกร่วมกัน วันนั้นน่าจะมีทั้งกรมบัญชีกลางละครับ แล้วก็รองอธิบดี กรมทางหลวงชนบท อธิบดีกรมส่งเสริม วันนั้นมาอยู่ในที่ประชุม แล้วผมนี่เป็นคนเสนอ ในที่ประชุมว่าให้มีหน่วยงานหนึ่งทำเป็นหนังสือเวียนไปส่วนราชการทั่วประเทศให้เป็น แนวทางในการเบิกจ่าย แต่สิ่งที่ผมกำลังกราบเรียนท่านประธานนะครับว่า การเบิกจ่ายมันเบิกไม่ได้เพราะ คณะกรรมการตรวจการจ้างบอกว่าต้องครบ ๒๘ วันถึงจะเบิกได้ ทีนี้เกิดปัญหาสิครับ จริง ๆ แล้วมันควรจะถูกต้องตามรูปแบบในสัญญาก็คือ สมมุติว่าเขาเทกำลังอัดที่ ๒๔๐ แต่เขาใช้ขนาดปูนที่สูงเพื่อที่จะต้องการเบิกจ่ายให้ได้เร็วเขาก็สมควรเบิกได้ ตรงนี้ผมอยากให้ สตง. เป็นเจ้าภาพในการประสานส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง ทั้งกรม ทางหลวง ทางหลวงชนบท กรมส่งเสริม ในการที่จะกำหนดรูปแบบและการเบิกจ่าย ไม่ใช่ สตง. เข้าไปบางครั้งก็ให้ผ่าน บางครั้งก็ไม่ให้ผ่านบอกว่าต้องครบ ๒๘ วัน ตรงนี้เกิดปัญหา เป็นเรื่องใหญ่นะครับ ๒ ประเด็นนี้ ผมอยากฝาก สตง. แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในรายงานผมขอ ชื่นชมทาง สตง. นะครับ เป็นหน่วยงานที่ดูแลงบประมาณแผ่นดิน ตรงนี้ขอชื่นชมจริง ๆ แต่ ๒ ประเด็นที่เป็นทั้งข้อสังเกต เป็นทั้งข้อแนะนำ เป็นทั้งคำถามอยากให้ท่านนะครับ ถ้าตอบได้วันนี้ตอบ ตอบไม่ได้วันนี้ไปประชุมหน่วยงานต่าง ๆ แล้วก็มีแนวทางส่งไปยัง ส่วนราชการที่จัดซื้อจัดจ้างทั่วประเทศนะครับ ผมกราบขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในวาระ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๖๕ ก่อนอื่นดิฉันต้องขอชื่นชมกับรายงานเล่มนี้นะคะ ทำได้ละเอียดมาก ดิฉันได้อ่านรายงาน ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดนี้คงไม่ครบทุกหน้านะคะ ก็ได้บางประเด็นค่ะ ดิฉันได้พบว่า ผลการตรวจเงินแผ่นดินในภาพรวมของปี ๒๕๖๕ ก็ยังมีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ กองทุนหมุนเวียน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้จัดทำรายการการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีของภาครัฐ แล้วก็นโยบายบัญชี รับรองทั่วไป ตามรายละเอียดปรากฏในหน้า ๑ และหน้า ๒ ของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินที่ได้แจ้งข้อบกพร่องไป พร้อมทั้งข้อเสนอแนะให้แก้ไขแล้วก็ควบคุมกำกับเพื่อไม่ให้ เกิดขึ้นอีก อันนี้ดิฉันเห็นด้วย ขอชื่นชมนะคะ แล้วดิฉันเองก็ได้รับเสียงสะท้อนจาก ส่วนราชการว่าขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือส่วนราชการจะเรียกว่า สตง. บางคนเขาบอกว่าจะกลัว สตง. ถ้า สตง. เข้าส่วนราชการจะมีความรู้สึกกลัว แต่เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ปัจจุบันนี้เขาทำหน้าที่เชิงรุกแบบใหม่ เป็นการให้ความรู้ ตรวจสอบโดยการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ไม่ได้ เข้าไปตรวจส่วนราชการเพื่อการจับผิดนะคะ อันนี้ดิฉันต้องขอชื่นชมที่ท่านทำแนวทาง การปฏิบัติช่วยเหลือขององค์กรส่วนราชการได้ดีตามรายงานในหน้า ๑๕๗ และหน้า ๑๕๘ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่วางแผน วางนโยบายในการตรวจเงินให้ประสบ ผลสำเร็จให้เป็นแนวการปฏิบัติในการทำงานเป็นไปตามกฎหมายของหน่วยงาน แล้วดิฉัน ก็พบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ก็มีหน่วยงานที่ตรวจรับการใช้บริการแล้ว ๙๙ เรื่อง มันน้อยไปไหมคะ ก็อยากจะเสนอให้ท่านได้ประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ผู้รับการตรวจสอบ ๙,๔๗๑ หน่วยงาน ให้ทราบ เพื่อลดข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องในการรักษาเงินของแผ่นดินเป็นอย่างดีนะคะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ซึ่งอีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการให้ความรู้นะคะ เป็นโครงการของ สตง. ในการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ดังปรากฏในรายงานหน้า ๕ และหน้า ๑๕๑-๑๖๓ เช่น โครงการสัมมนา เรื่อง เปิดใจ ไขปัญหา ท้องถิ่นถามมา สตง. ตอบไป วินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นการเสวนา Online ค่ะท่านประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ๓,๑๕๗ คน และอีกโครงการ ๑ โครงการสัมมนา เชิงวิชาการ เรื่อง ดำเนินการเกี่ยวกับความผิดวินัยการเงินและการคลัง เรื่อง การดำเนินการ เกี่ยวกับความผิดวินัยการเงินและการคลังนี้เป็นเรื่องใหม่ใกล้ตัวผู้บริหารนะคะ แล้วก็บอกว่า เป็นโครงการที่ฟังไว้ห่างไกลความผิดซึ่งจัดทำสัมมนาสำหรับผู้บริหารเข้าร่วม ๔,๐๘๗ คน ตลอดปี ๒๕๖๕ จะเห็นได้ว่าทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้จัดสัมมนา เพียง ๒ ครั้ง แล้วมีคนสนใจ ๗,๐๐๐ กว่าคนนะคะ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมเขาอยากมีความรู้ อยากพัฒนาตัวเองสำหรับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบนี่ เขาก็อยากทำให้ถูกต้อง ไม่อยากให้มี ข้อผิดพลาด ดิฉันจึงขอเสนอให้ สตง. จัดอบรมจะโดยวิธีไหนก็ได้ค่ะ จะจัดอบรมตามภาค ของ สตง. หรือจะอบรม Online หรือ Video Conference อยากจะขอให้จัดบ่อย ๆ ทบทวนบ่อย ๆ เพราะว่าระเบียบ กฎหมาย กติกา แนวการปฏิบัติจะมีเป็นระเบียบข้อปฏิบัติ เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาค่ะท่าน ดิฉันก็ขอฝากทางหน่วยงาน สตง. เพิ่มการจัดอบรมสัมมนา กับหน่วยงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นมาก ๆ นะคะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งค่ะ เป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน จะดูแลพี่น้องประชาชน น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ถนนไม่ดี ขรุขระก็อยู่ที่ท้องถิ่นซึ่งดูแลพี่น้อง ประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นอำนาจในการเบิกจ่ายเงินของภารกิจขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในเรื่องของการบริการสาธารณะนั้น มักจะถูกปัญหาท้วงติงจาก สตง. จนทำให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ค่อยกล้าจัดการบริการสาธารณะ ซึ่งไม่กล้าตัดสินใจที่จะทำ อะไรออกไป แก้ปัญหากับพี่น้องประชาชนนะคะ ดังนั้นดิฉันคิดว่าเรื่องให้มันสอดคล้องกับ ภารกิจของ สตง. ก็ควรจะจัดอบรมให้มากเกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของทาง ราชการนะคะ มันจะได้ทันท่วงที

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งค่ะ ปัญหาเรื่องการท้วงติง เรื่องการเบิกจ่าย เรื่องอำนาจ หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดิฉันขออนุญาตเสนอแนะท่านประธานผ่านไปยัง ผู้ที่ชี้แจง แล้วก็ สตง. นะคะ อยากให้ สตง. เร่งรัดทำบัญชีรายการที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ทำได้หรือทำไม่ได้ให้มันชัดเจนให้ทุกกิจกรรม เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติจะได้ปฏิบัติ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องเสนอตีความให้มันเสียเวลาค่ะ มันเกิดการสับสนในเรื่องของ การบริการสาธารณะ ดังนั้นเพื่อดูแลให้กับพี่น้องประชาชนได้ดี ทันเหตุการณ์ แล้วก็ดูแล พี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพ ก็ฝากท่าน สตง. ได้พิจารณาเรื่องอำนาจ บทบาทหน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยนะคะ ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการ หรือสำนักงาน สตง. ที่ท่านจะต้องมารับผิดชอบดูแลงบประมาณส่วนราชการจำนวนมากค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ หลังจากที่ท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ได้อภิปรายจบแล้ว ผมจะขอปิด การลงชื่อเพื่ออภิปรายนะครับ เชิญท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานที่เคารพ กระผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ ผมเองนั้นใคร่ขอชื่นชมนะครับ โดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ท่านเป็นผู้ เฝ้าระวังในเรื่องของการใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณของแผ่นดินนะครับ และในส่วนของ การรายงานผลวันนี้ที่ผมได้เห็นแล้วจากองค์ประกอบที่ได้ขึ้นมาให้พวกเราได้รับทราบ แล้วก็ รับรู้ข้อมูลทั้งหมดในการจัดการ และในการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือที่เรียกกันว่า สตง. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ท้องถิ่นหรือว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด กลัวเป็นอย่างมากพอ สตง. เข้า ลุกลี้ลุกลนกันทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน เพราะฉะนั้นแล้วก็ ขอชื่นชมท่านนะครับที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเม็ดเงินงบประมาณของแผ่นดินนะครับ เป็นภาษี อากรของพี่น้องประชาชน วันนี้ผมเองได้ทราบเรื่องการตรวจสอบรายได้ของการตรวจสอบ การจัดเก็บรังนก สัมปทานรังนกอีแอ่นที่เอามาเข้ารายงานด้วย ผมเองนั้นอยู่ในพื้นที่ของ จังหวัดชุมพรผมก็ใคร่ขอนำเรียนท่านประธานนะครับ ฝากถึงท่านผู้ตรวจนิดหนึ่ง แล้วก็เป็น ข้อเสนอแนะไปปลาย ๆ นิดหนึ่งว่าปัจจุบันนี้รังนกอีแอ่นเป็นรังนก เป็นเกาะที่ค่อนข้างที่จะ ลำบากในเรื่องของหาผู้สัมปทานนะครับ ผลประโยชน์ที่จะตกเป็นเงินของท้องถิ่น เงินของ จังหวัด ผมอยากให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับทราบเป็นแนวทางนิดหนึ่งว่า ตอนนี้นั้นหาผู้สัมปทานไม่ได้นะครับ ด้วยสืบเนื่องจากนกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น โดยเฉพาะ ในเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เรื่องอากาศ เรื่องของความร้อนที่เพิ่มขึ้นในพื้นผิวโลก ของพวกเรานะครับ เพราะฉะนั้นแล้วนกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านที่พี่น้องได้ทำให้ เป็นบ้านรังนกกันนะครับ ในพื้นที่จังหวัดชุมพรผมขอนำเรียนอ้างนิดหนึ่งว่ารายได้ทั้งหมด เราก็มีส่วนหนึ่งที่จะเอาไปจัดสรรให้กับท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดชุมพร ที่ผมพูดอย่างนี้เพื่อ ตั้งใจที่จะให้ท่านประธานได้ติดตามนิดหนึ่งว่า เงินของแผ่นดินที่เป็นเงินอากรรังนกอีแอ่น เอามาแจกจ่ายให้กับ หรือว่าเอามากระจายให้กับท้องถิ่นที่มีรังนกและท้องถิ่นที่ไม่มีรังนก ในเขตจังหวัดชุมพรตามอัตราส่วนทุก ๆ พื้นที่ แต่ ณ ปัจจุบันนี้เกิดภาวะช่องว่างของผู้ให้ การสัมปทานนะครับ แล้วก็เกิดในสภาวะของกฎหมาย ในสภาวะของพระราชบัญญัติอากร รังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการโดยเฉพาะในช่วงนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่ดูแล มีหน้าที่ที่จะหาผู้สัมปทานด้วยความยุ่งยากแล้วก็ด้วย ความลำบากมาตลอดนะครับ เพราะฉะนั้นแล้วผมเองก็ใคร่ขอนำเรียนท่านประธานฝากถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนิดหนึ่งว่าเราต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของ การให้อำนาจกับคณะกรรมการในรูปแบบการจัดการในเรื่องของรังนกอีแอ่น ในเรื่องของ การเก็บภาษีและในการสัมปทาน ให้ได้มีแนวทางในเรื่องการแก้ไขปัญหาในเรื่องของ สัมปทานให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยเขียนไว้ในมาตรา ๗ (๔) (๕) มาตรา ๗ ให้อำนาจเพิกถอนสัมปทานรังนกอีแอ่นให้กับ คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่นนะครับ (๓) ให้คำแนะนำแก่ผู้สัมปทานเกี่ยวข้อง กับรังนกอีแอ่น (๔) เสนอยกเว้นหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ ที่กำหนดไว้ โดยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตรงนี้ผมเองอยากจะนำเรียนท่านประธาน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในเรื่องต่อไปข้างหน้าด้วย ในเรื่องการแก้ไขปัญหาตรงนี้ เพราะตอนนี้จังหวัดชุมพรโดยเกาะที่มีรังนกนี่ต่อไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเกาะร้างทั้งหมดเลย เพราะนกย้ายถิ่นฐานและยังมีผู้ที่ไปเฝ้าเกาะรังนก โดยใช้เอา อส. ทางจังหวัดบ้าง แล้วก็เกี่ยวก้อยไปถึงตำรวจบ้าง ไปเฝ้าเกาะรังนก เพราะผู้อื่น ไม่มีอำนาจที่จะไปดูแล ไม่มีอำนาจที่จะบังคับใช้ใน Zone ของเกาะรังนก ทีนี้ไปเฝ้าเกาะ ท่านเองก็ด้วยความลำบาก ไม่มีเงินตอบแทน แล้วก็ต้องหาสิ่งที่จะไปอุปโภคบริโภคเอง ทั้งหมดเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นข้าว เป็นอาหาร เป็นอาหารกระป๋อง เพราะฉะนั้นก็ฝาก นำเรียนท่านประธานถึงหน่วยงานนิดหนึ่งนะครับ แล้วก็โดยเฉพาะท่าน สตง. ท่านไปแล้ว ถูกแล้วครับ แล้วก็ท่านจะได้รู้ว่าคณะกรรมการจัดเก็บรังนกอีแอ่นทุกจังหวัดทำหน้าที่กันด้วย ความยากลำบาก โดยกรอบกฎหมายที่ไปรัดตัวเขาไม่เปิดกรอบให้เขาได้ไปจัดสรรหรือดูแล และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพราะฉะนั้นแล้วทางจังหวัดชุมพรเรามีในเรื่องของการเสนอ การแก้ไขพระราชบัญญัติรังนกอีแอ่น ปี ๒๕๔๐ เพื่อตั้งใจที่จะให้เปิดเป็นช่องว่างให้กับ ผู้สัมปทาน หรือให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเองต่อไปข้างหน้า โดยแก้ไขใน (๔) ให้ยกเว้น หลักเกณฑ์การปฏิบัตินอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ได้รับการอนุมัติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (๕) ให้กำกับดูแลการเก็บรังนกอีแอ่น ผู้ได้รับสัมปทาน ให้เป็นไปตามสัมปทาน หรือหลักเกณฑ์ปฏิบัติการของคณะกรรมการที่เห็นชอบ (๖) กรณี ไม่สามารถที่จะดำเนินการตาม (๑) (๔) ได้ ก็คือหมายความว่าให้เราได้ไปจัดสรรดูแลมอบให้ ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการดูแล เพราะฉะนั้นสืบเนื่องตรงนี้ผมนำเรียนถึงคณะกรรมการตรวจเงิน แผ่นดินว่าด้วยความยุ่งยากในการดูแล ในการแก้ไขปัญหา ในการที่จะควบคุม และหาผู้มา สัมปทานรังนกนั้นเปิดช่องว่างให้คนอื่น บุคคลอื่นเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ของเขตรังนก เป็นการลักลอบ ผมขอนำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพฝากถึงผู้ที่มีอำนาจ และมีส่วน เกี่ยวข้อง ขอกราบขอบคุณท่านประธานนะครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนพพล เหลืองทองนารา ครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ท่านครับ ในวาระของการรับทราบรายงานการปฏิบัติงานของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งจริง ๆ แล้วหน่วยงานนี้ถือว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการ ที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ พิทักษ์เงินภาษีของพี่น้องราษฎรให้มีการนำเอาไปใช้ที่เต็มเม็ด เต็มหน่วยที่ให้ได้เกิดประโยชน์มากที่สุดนะครับ แต่ว่าระยะเวลาที่ผ่านมามีบางอย่าง ผมขออนุญาตใช้คำว่า มีบางอย่าง เท่านั้นนะครับ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วก็ถือว่าท่านทำงาน อย่างตั้งใจ แล้วก็เป็นประโยชน์จริง ๆ แต่ว่ามีบางอย่างโดยเฉพาะสิ่งที่เกิดกับ อปท. ทั้งหลายคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อบต. ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล เป็น อบจ. ก็ตาม ในเรื่องของการเบิกจ่ายในส่วนที่เป็นงบประเพณีเสียส่วนใหญ่ เพราะว่า เท่าที่ผ่านมาผมเองก็ได้รับการบอกกล่าวจากผู้บริหารบ้าง จากฝ่ายข้าราชการบ้าง นั่นก็คือว่า อย่างการเข้ามาตรวจนี่นะครับ มาตรฐานนี่นะครับ มาตรฐานตรงนี้ก็คือในลักษณะว่า มันเหมือนใช้ดุลยพินิจของตัวเอง กรรมการชุดนี้เข้ามาตรวจบอกอย่างนี้ทำได้ ๑ ๒ ๓ ๔ แต่พอเปลี่ยนไปอีกชุดหนึ่งในเนื้อหาที่เหมือนกัน ตรวจอย่างเดียวกัน แต่ไม่ได้ ทำให้ผู้บริหาร ท้องถิ่น แล้วก็ข้าราชการที่ท้องถิ่นก็เกิดความระแวง ทีนี้ระแวงบางอย่างทำได้ก็กล้า ๆ กลัว ๆ ก็ไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ผมถือว่ามันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญนะครับ เพราะว่าทำให้เจ้าหน้าที่ แล้วก็ผู้บริหารไม่กล้าที่จะทำอะไร ทำให้คนที่ขาดประโยชน์ก็คือ ประชาชน ก็อยากให้ท่านได้มีความชัดเจนตรงนี้นะครับ แล้วบางอย่างนี่นะครับ อย่างเช่นเวลาตอนที่ นายก อบต. นายกเทศบาลเขาได้รับเลือกตั้งมานี่ เขาเองจะต้องมีการแถลงสิ่งที่จะต้องทำต่อ สภา ๑ ๒ ๓ ๔ ว่าไป ซึ่งเขามีกรอบตรงนั้นอยู่ แต่ทีนี้พอถึงเวลาปฏิบัติจริง ๆ มันมีระเบียบ อะไรมากมายที่ต้องขออนุญาตบอกตามตรงว่ามันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ท่านครับ ตรงนี้ทำอย่างไรที่ทาง สตง. เองจะได้ดูนะครับ เพราะผมเองเป็นห่วงแล้วก็สงสารทาง ผู้บริหารท้องถิ่นทุก ๆ แห่งมากนะครับ แล้วก็ข้าราชการผมเป็นห่วงเขามากนะครับ เพราะว่า ตรงนี้คือสิ่งที่เขามาแถลงต่อสภาเขาก็จำเป็นจะต้องทำ แต่ว่าพอจะทำเข้าจริง ๆ กฎ ระเบียบ ของ สตง. กับไม่เปิดกว้างให้เขา หรือบางอย่างกว้างก็กว้างจนเกินไป กว้างจนทางผู้บริหาร อบต. หรือข้าราชการนี่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน นั่นก็เป็นปัญหาเช่นกันนะครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

แล้วก็อีกประการหนึ่งนะครับที่แม้แต่ตัวผมเองผมก็อยากจะรู้ว่าทาง สตง. เมื่อไรจะมีบทสรุป นั่นหมายความว่าในบางครั้งมันมีความจำเป็น สมมุติการสร้างถนน มันจะต้องผ่านที่วัด ที่เอกชน อะไรพวกนี้นะครับ ซึ่งมันจำเป็นจริง ๆ แล้วทีนี้ทาง สตง. บอก ทำไม่ได้ ไปผ่านไม่ได้มันเป็นที่เอกชน ทางโน้นเขายังไม่ยกให้ ทางนี้ยังไม่ยกให้นี่นะครับ แล้ว ชาวบ้านที่อยู่ด้านหลังที่แปลงนั้นอีกหลายสิบครอบครัว อีกหลายร้อยชีวิตเขา ก็ต้องเดือดร้อนเพราะว่าในกฎ ระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งปัญหาตรงนี้ ผมก็อยากจะฝากทาง สตง. ให้ช่วยดูด้วยนะครับ เพราะมิฉะนั้นแล้วแรงกดดันก็จะไปอยู่ที่ ผู้บริหารแล้วก็ข้าราชการ แต่ว่าคนที่จะต้องรับกรรมสุดท้ายก็คือพี่น้องประชาชนนะครับ ท่านประธานครับ ผมเองก็อยากที่จะบอกทาง สตง. ว่าสิ่งที่ท่านทำมาแล้วก็ในรายงานของ ท่านที่ผมเปิดดูแม้ว่าอาจจะไม่ละเอียดนี่ แต่อย่างน้อยก็เกือบจะทั้งเล่มนะครับ ว่าในสิ่งที่ ท่านทำมานี่ดูแล้วนี่ท่านตั้งใจที่จะทำให้ทุกอย่างให้สมเม็ดเงินที่เป็นภาษีของราษฎร ผมเอง ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งก็ต้องกราบขอบพระคุณในความตั้งอกตั้งใจของท่าน ไว้ด้วยนะครับ ก็สุดท้ายนี้ผมขอฝากเถอะนะครับ ขอให้ท่านได้หาหลักเกณฑ์หลักการที่จะ ทำให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล อบจ. อะไรก็แล้วแต่ รวมทั้งข้าราชการด้วยนะครับ เขาได้มีหลักเกณฑ์ที่เขาเวลามาปฏิบัติแล้วมีความสบายใจ ผมเองขอฝากประเด็นตรงนี้ไว้ด้วยนะครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายฐากร ตันฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานครับ ก่อนอื่นต้องขออนุญาต ชื่นชมรายงานผลการดำเนินงานปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในครั้งนี้ ผมต้องถือว่าทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการปรับตัวเอง ก็คือจากที่เคยตรวจสอบ ในการจับผิดหน่วยงานต่าง ๆ บัดนี้ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองมาตรวจในเชิงรุก มากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญนะครับ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านนะครับว่าเงินแผ่นดิน คงประกอบด้วย ๒ ส่วน ก็คือเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เงินนอกงบประมาณครับ เงินงบประมาณนี่มันอยู่ในรายการที่สำนักงบประมาณเองหรือว่า งบประมาณกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกำลังดำเนินการตรวจ ที่ต้องมีความเข้มข้นต่าง ๆ ก็คือเงินนอกงบประมาณต่าง ๆ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะต้องให้ความสำคัญ และให้ความสนใจมาก เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่ได้ปรากฏในเอกสาร งบประมาณในการดำเนินการ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานว่าการตรวจของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน ผมเข้าใจว่าจะมีการเน้นอยู่ ๓-๔ ส่วน นะครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนแรก ก็คือการตรวจสอบงบการเงินที่เราเรียกกันว่า Financial Audit

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ก็คือการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเราเรียกกันว่า Compliance Audit นะครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ก็คือการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน ก็คือ Performance Audit นะครับ ซึ่งใน ๒ ส่วนผมเรียนท่านว่าการตรวจสอบงบการเงิน อันนี้ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทางสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินเอง หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเองก็คงต้องมีการตรวจสอบงบการเงินที่เกิดขึ้นนะครับ ก็ขออนุญาตชื่นชมท่านในการที่ตรวจ เพียงแต่ว่ามีหลายสิ่งก็คือหลายองค์กรต่าง ๆ อย่าง ท่านที่ปรากฏออกมา ก็คือการตรวจสอบงบการเงินต่าง ๆ อยากจะให้เร่งรัดในหน่วยงาน ต่าง ๆ เพื่อที่จะให้เสร็จให้ทันระยะเวลา เนื่องจากว่าการตรวจสอบงบการเงินของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานอิสระต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหน่วยงานอิสระนั้น ๆ จะได้นำเสนอรายงานของ ตัวเองเข้ามาในสภาเพื่อที่จะให้คู่ขนานกันในการที่สภาจะได้ซักถาม หรือทราบคำตอบของ หน่วยงานนั้น ๆ พร้อมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ครับ ผมขออนุญาตนำเรียน ท่านประธานนะครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๒ ที่อยากจะกราบเรียน ก็คือเรื่องการตรวจสอบการปฏิบัติตาม กฎหมาย ก็คือการตรวจสอบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Compliance Audit ผมอยากจะ เรียนเน้นว่าหน่วยงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับ หลายคน กลัว สตง. มากครับ จริง ๆ ผมต้องเรียนตามตรงว่าเมื่อ สตง. เข้าไปนี่กลัวมากกว่าตำรวจ อีกครับ เพราะว่าทุกคนรู้ว่า สตง. เข้าไปถือว่ามีความผิด วันนี้ สตง. มีการปรับตัว ปรับตัวเอง ผมอยากให้มีการทำงานเชิงรุกครับ ที่ สตง. เขียนไว้นี่ เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ที่เราเรียกกันว่าการตรวจสอบเชิงป้องกันอยู่ในตรงนี้เลยครับที่ สตง. เน้น ตรวจสอบ เชิงป้องกันก่อนที่หน่วยงาน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้มีการกระทำความผิด ผมเรียนท่านประธานได้เลยว่าวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผน หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดซื้อต่าง ๆ ล่าช้า เบิกจ่าย ล่าช้าครับ กลัวระเบียบ สตง. ทั้งนั้น กลัวระเบียบของส่วนราชการทั้งนั้นครับ ไม่มีใคร อยากจะกระทำความผิด ผมเรียนท่านประธานว่าตรวจสอบเชิงป้องกัน ขออนุญาต ท่านประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนะครับ ตรวจสอบเชิงป้องกันให้องค์ความรู้เขา ให้เขามีความมั่นใจครับ การเบิกจ่ายงบประมาณ การตรวจสอบต่าง ๆ จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของแผ่นดินเดินหน้าต่อไป เป็นไปตาม เป้าหมายที่เราดำเนินการในขณะนี้ได้ เพราะว่าหลายคนก็บอกว่าการตรวจสอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีการกระทำความผิด ยิ่งถ้าเราตรวจสอบออกมาแล้ว ถ้ามีการตรวจสอบเชิงป้องกัน ได้มากเท่าไร ผลการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติจะน้อยลง ตรงนั้นครับ ที่ผมอยากจะเห็น และชื่นชมหน่วยงานของสำนักงาน สตง. เป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต ข้างหน้าจะมีการตรวจสอบเหมือนกับต่างประเทศเขา ในเชิงป้องกันในเชิงรุกเพื่อที่จะไม่ให้ หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายท่านประธานครับ การตรวจสอบที่เราเรียกกันว่าการตรวจสอบ เชิงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน เรื่องนี้เป็นความสำคัญจริง ๆ ว่า เมื่อโครงการต่าง ๆ เขาได้ดำเนินการไปแล้วมันจะมีผลงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นอย่างไรเพื่อที่จะประเมินว่าในอนาคตข้างหน้าเขาควรจะทำ หรือไม่ทำอย่างไรบ้าง ต่อไป จะหยุดโครงการนี้ หรือไม่หยุดโครงการนี้ โครงการนี้สร้างประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลให้กับการดำเนินการของเราได้หรือไม่ อย่างไร ผมอยากจะนำเรียนทาง ท่าน สตง. ว่าท่านมีวิสัยทัศน์ที่ดีอยู่แล้ว แต่อยากจะเรียนเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่ในขณะนี้ ถูกต้องแล้ว เดินหน้าต่อไปครับ ตรวจสอบเชิงป้องกัน ตรวจสอบเชิงรุก ตรวจสอบในการเพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงาน สิ่งใดที่เป็นหัวข้อข่าว ถ้าท่านจะให้เหตุผลต่าง ๆ ในการทำงานว่า เบิกเงินถูกต้อง ใช้จ่ายถูกต้องหรือไม่ ผมว่าออกข่าวเถอะครับ หลาย ๆ เรื่องที่ปรากฏเป็น ข่าวผมขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อนะครับ จะได้ปรับตัวถูกว่าเบิกเงินถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เบิกเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ท่านออกมาชี้แจงเถอะครับว่าหน่วยงานนั้นเบิก ไม่ถูกต้อง หน่วยงานนี้เบิกไม่ถูกต้องเขาจะได้ป้องกันให้ถูกต้องได้นะครับ ขออนุญาต ท่าน สตง. ท่านประธาน สตง. ฝากไปยังท่านประธานว่าวันนี้ สตง. ได้ปรับเปลี่ยนบทบาท ของตัวเอง ขออนุญาตชื่นชม แล้วก็ขอให้ท่านตรวจสอบในลักษณะนี้ต่อไป ไม่ได้เป็นภาระ และไม่ได้สร้างความกลัวให้กับหน่วยงานส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป ขอให้คำเสนอแนะ และขอให้ท่านดำเนินการตามเป้าหมายของท่านบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ ท่านตั้งใจไว้ครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นต่อรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ซึ่งผลการปฏิบัติงานปี ๒๕๖๕ นี้ ท่านได้ทำงานอย่างหนักในการ ตรวจสอบการเงินกว่า ๑๕,๓๕๓ รายงาน ปกป้องเงินแผ่นดินไม่เสียหาย ๒๓,๐๐๐ ล้านบาท โดยรวมแล้วผลการปฏิบัติงานนะครับ มีทั้งส่วนที่น่าพอใจและส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเงินของแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐให้กับประชาชนผู้ซึ่งเป็น เจ้าของงบประมาณอย่างแท้จริง กระผมขออภิปรายในประเด็นการตรวจสอบรายงาน การเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะครับ โดยเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่จำนวน ๗,๘๕๐ แห่ง ทั้ง อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การ บริหารส่วนตำบล และ กทม. พัทยา สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะครับ เป็นราชการ ส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภารกิจหลักและภารกิจรองมีดังนี้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สำหรับภารกิจหลักมี ๗ ภารกิจครับ เช่น ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบ เรียบร้อย เป็นต้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สำหรับภารกิจรองมีอยู่ ๔ ด้านนะครับ เช่น ด้านการฟื้นฟูวัฒนธรรม และส่งเสริมประเพณี ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพกลุ่มอาชีพ เป็นต้น ท่านประธานที่เคารพครับ จากภารกิจดังกล่าวทั้งภารกิจหลักและภารกิจรอง เห็นได้ว่า ครอบคลุมทุกปัญหาในวิถีชีวิตของทุกคนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ใน ข้อเท็จจริงครับท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ทุกอย่างเป็นด้วยหลายสาเหตุครับ แต่หนึ่ง ในสาเหตุนั่นคือเป็นเพราะกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ สตง. กำหนดไว้ให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงิน ได้ จึงไม่สามารถแก้ไขและพัฒนาให้กับพี่น้องประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เป็นไปตามภารกิจหรือบทบาทอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ขนาดขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นก็ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการคลังเช่นกัน โดย อปท. ที่มีขนาด ใหญ่ก็มีงบประมาณมาก สามารถทำได้เกือบทุกภารกิจที่กำหนดไว้ แต่ อปท. ขนาดเล็ก ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ แต่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ก็ต้องการการแก้ไข ปัญหาพัฒนาที่เหมือนกับ อบต. ขนาดใหญ่ ทำให้การเหลื่อมล้ำทางการคลังส่งผลให้เกิด ความเหลื่อมล้ำของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ นี่เป็นอีก ๑ ประเด็นนะครับที่ผู้รับผิดชอบ ต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ท่านประธานครับ เดิมทีการจัดทำงบแสดงฐานะ ทางการเงิน การบัญชี และรายงานการเงินของ อปท. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นนั้น เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ อปท. ดำเนินการ แต่ใน ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ นะครับ ได้มีการแก้ไขให้ดำเนินการตามโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งมี หลักการบัญชีและสาระสำคัญที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้ อปท. ไม่สามารถจัดทำรายงาน การเงินได้ถูกต้อง ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนดและไม่สามารถนำส่งได้ทันตามเวลา ที่กำหนด ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่ต้องขอความเห็นใจจากทาง สตง. การเปลี่ยนแปลงโครงการใน อปท. และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ไปแล้วควรให้ทำได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากการเรียกร้องของประชาชน ที่ให้เปลี่ยนแปลงในการใช้ให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงในขณะนั้น ตรงกับปัญหา ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นกรณีของเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุงที่ได้ รวบรวมขยะ ทั้งในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง และขนถ่ายขยะไปยัง บ่อขยะของเทศบาลเมืองพัทลุง โดยต้องการเปลี่ยนเป็นโครงการกำจัดขยะเองในพื้นที่และมี ขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก และการส่งต่อมีต้นทุนที่สูงจนเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อมีปัญหา ในการดำเนินการ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมมีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต และข้อคำถาม ผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงดังนี้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ผมขอให้หน่วยงานตรวจสอบคือ สตง. ได้ดูถึงเจตนาขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยว่าจงใจ ประมาทเลินเล่อ หรือผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประกอบ การเบิกจ่ายด้วยนะครับ ไม่สมควรที่จะยึดตามระเบียบเพียงอย่างเดียว หรือขอให้ การตรวจสอบแบบต้องดูมูลค่า ดูคุณค่า ดูผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นสำคัญประกอบด้วย

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ขอเสนอให้ สตง. กรมบัญชีกลาง และกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นร่วมกัน บูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบและมาตรฐานของบัญชี ภาครัฐ ตลอดจนนโยบายการบัญชีภาครัฐให้ อปท. สามารถนำไปดำเนินการจัดทำรายงาน การเงินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับภารกิจ หน้าที่ และอำนาจของ อปท. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ ตลอดจนระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ อปท. สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการจัดทำรายงานการเงินได้อย่างสะดวกและง่าย ต่อการทำความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงาน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. นอกจากระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ของ อปท. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ควรมี การศึกษา วิจัย และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยจะต้องพัฒนา รูปแบบให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และคำนึงถึงภาระด้านความรับผิดชอบ ของบุคลากรของ อปท. ซึ่งมีไม่เพียงพอ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. สตง. ต้องพัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากรภายใน สตง. มีความเป็น มืออาชีพในการตรวจสอบ การให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อซักถามกับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนแบบแผนการปฏิบัติงานราชการ ให้ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานเพิ่มมาก ยิ่งขึ้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. ขอให้ สตง. ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติงานของ หน่วยตรวจรับอย่างเข้มแข็ง เพื่อดำเนินการให้รัดกุม ลดความเสียหาย และลดข้อบกพร่อง จากการปฏิบัติงาน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ผมขอขอบคุณทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ร่วมชี้แจงทุกท่านที่ได้ให้เกียรติต่อสภาในการมารายงานและชี้แจงผลการปฏิบัติงาน และขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกท่านในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ ในการรักษาเงินของแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐให้กับประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของงบประมาณ อย่างแท้จริง ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายที่จะอภิปรายนะครับ แล้วก็เป็นการตอบคำถาม ของผู้ชี้แจงครับ เชิญท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมขอชื่นชมไปยัง สตง. ต่อการ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แล้วก็การกำกับตรวจสอบงบประมาณต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใส แต่สำหรับวันนี้ผมมีข้อสังเกตสั้น ๆ เกี่ยวกับการทำให้รายงานฉบับนี้มีความสมบูรณ์ มากยิ่งขึ้นในครั้งถัด ๆ ไป ส่วนที่ผมจะกล่าวถึงนะครับคือเรื่องงบประมาณส่วนหนึ่งที่เรียกว่า งบรับรองที่สังคมกำลังให้ความสนใจกันอยู่ครับว่างบตัวนี้เป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายแบบใด ได้บ้าง แบบใดไม่ได้บ้าง ซึ่งเท่าที่ทราบในรายงานก็มีอยู่ในทุก ๆ หน่วยงานนะครับ โดยใน รายงานฉบับนี้เขียนถึงงบรับรองไว้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดประกอบมากนัก คืองบ รับรองสื่อมวลชนในหน้า ๑๘๔ ครับ เป็นงบที่รายงานการเงินของหน่วยงานรัฐจำนวนราว ๆ ๒๕ ล้านบาท ซึ่งอันนี้อยากให้ผู้ชี้แจงส่งมาให้สภารับทราบเพิ่มเติมว่าจากหน่วยงานใดบ้าง ใช้โดยใครบ้าง ใช้อะไร อย่างไรบ้างในการทำเป็นงบรับรอง อยู่ในหน้า ๑๘๔ ของรายงาน ฉบับนี้นะครับ กับอีกอันหนึ่งอันนี้เป็นของทาง สตง. เองนะครับในหน้า ๓๑๕ ซึ่งทาง สตง. เองก็มีงบรับรองและงบพิธีการ อันนี้ใช้แบบไหน โดยใคร กับเรื่องอะไรบ้าง เพราะเห็นว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ จากการเปรียบเทียบนี่ ทาง สตง. มีการใช้งบรับรอง เพิ่มเติมถึงประมาณ ๒ เท่า อย่างไรเรื่องนี้ทางสังคมให้ความสนใจอยู่ แล้วก็ทาง สตง. เอง ในฐานะผู้ตรวจสอบงบประมาณ ก็อยากจะให้ทำเรื่องนี้ให้โปร่งใสเป็นที่รับทราบ เป็นบรรทัดฐานกับทางสังคมด้วย อย่างไรเอกสารเรื่องนี้ผมก็ขอชี้แจงเพิ่มเติมจากทาง สตง. เหมือนกัน เพราะว่าอันนี้เห็นแค่ตัวเลขแต่ไม่เห็นเลยว่าใช้กับอะไร ตามวัตถุประสงค์อะไร อย่างไรบ้าง จะได้เป็นประโยชน์กับทั้ง สตง. และสาธารณชนเองด้วย ก็หวังว่าเอกสาร เรื่องการชี้แจงของ สตง. ในการใช้งบต่าง ๆ โดยเฉพาะงบรับรองตามที่ผมได้ตั้งคำถามไป จะได้ถูกส่งมาให้ทางสภาตรวจสอบ จะได้เป็นบรรทัดฐานในการใช้งานและพิจารณาต่อไป ในอนาคต สั้น ๆ แค่นี้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ทางสมาชิกที่ลงชื่ออภิปรายก็อภิปรายครบถ้วนแล้วนะครับ ต่อไปขอเชิญทางผู้ชี้แจงได้ตอบ ข้อซักถามกับทางสมาชิกเลยครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขออนุญาตตอบคำถามท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ให้ ข้อสังเกต ให้ข้อแนะนำ และชื่นชม รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ ข้อสังเกตต่าง ๆ ในการจัดทำ รายงานการปฏิบัติราชการของ สตง. ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดยภาพรวมของการดำเนินงาน อย่างที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายในการดำเนินการในการตรวจสอบ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สามารถที่จะดูแลป้องกันการเบิกจ่ายเงินที่อาจจะ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในวงเงินรวม ๒๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ต้องเรียนอย่างนี้คำถามที่ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ได้ให้ข้อสังเกตและให้คำแนะนำไว้ ในเบื้องต้นก็คือในข้อเท็จจริงของการตรวจสอบเรื่องของความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่ท่านมีคำถามถึงว่าเป็นเรื่องทุจริตสักเท่าไร เป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่การทุจริต หรือรวมไปถึงการดำเนินการที่อาจจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพ ในจำนวนตรงนี้ในรายงานประจำปีจะบอกไว้ ในกรณีที่เราส่งสำนักงาน ป.ป.ช. คือหมายความว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าทุจริตอยู่ในวงเงิน ๖๖๕.๑๗ ล้านบาท

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ก็เป็นส่วนที่เราไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่าปฏิบัติไม่เป็นไปตาม กฎหมาย และเกิดความเสียหาย ซึ่งตรงนี้ยังไม่ถึงขั้นทุจริต เราก็แจ้งให้หน่วยงาน ไปดำเนินการตั้งกรรมการหาผู้รับผิดชอบชดใช้ในทางละเมิด รวมไปถึงการดำเนินการทาง วินัยของข้าราชการอยู่ในวงเงิน ๓,๐๖๑.๑๖ ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ๑๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท เป็นการตรวจสอบเรื่องผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานที่พบว่ามีการดำเนินการ แล้วไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ วัสดุ รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ แล้วไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้ มีการทิ้งร้างว่างเปล่า อันนี้เราจะ คำนวณตามมูลค่าของโครงการ หรือสิ่งก่อสร้าง หรือครุภัณฑ์เหล่านั้นว่าเราได้ใช้จ่ายไป เท่าไรและไม่ได้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้รวมคำนวณถึงค่าเสียโอกาส ไม่ได้รวม ในความเสียหายอื่น ๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้วิธีการคำนวณซึ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นเราก็ จะเป็นอย่างนี้ ถ้าสิ่งก่อสร้างหรือครุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มีการใช้ประโยชน์ความเสียหายเหล่านั้น ก็จะกลับมาเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป ทีนี้กลับมาในเรื่องของ การตรวจสอบเรื่องของโครงการต่าง ๆ ที่ใช้เงินกู้ในสถานการณ์โควิด ต้องเรียนว่าในรายงาน ประจำปีฉบับนี้เป็นการสรุปผลการตรวจสอบในรายงานที่เราส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ได้มีรายละเอียดว่าเป็นหน่วยงานไหนบ้าง อะไรบ้าง แต่ว่าจะสรุป ในภาพรวม สำหรับรายละเอียดในรายงานต่าง ๆ ที่ได้ส่งให้หน่วยงานจะมีรายละเอียดในการ ตรวจสอบว่าได้ตรวจสอบมากน้อยขนาดไหน อย่างไรบ้าง ต้องเรียนในภาพรวมที่ท่านพูดถึง ว่ามีหน่วยงานใดทำถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง อะไรต่าง ๆ ในการตรวจสอบจะมีขอบเขตอยู่ เวลาเรา เข้าไปตรวจสอบถ้าพบข้อบกพร่องที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือจะเกิดความเสียหาย เราถึงจะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานได้แก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายหรือดำเนินการต่าง ๆ ให้ครบถ้วน แต่ในกรณีที่เข้าไปตรวจสอบแล้วหน่วยงานมีการดำเนินการที่ถูกต้อง ดำเนินการ เป็นไปตามแผนงานโครงการหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้แล้วเราจะไม่ได้แจ้งเพราะถือว่า ท่านได้ทำถูกต้องแล้ว สิ่งที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอยากเห็นหรือผู้ตรวจสอบ อยากเห็นก็คือหน่วยงานต่าง ๆ ได้สามารถดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย รวมไปถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผลการตรวจสอบ ที่ออกมาตรงนี้ก็จะเป็นผลส่วนที่มีข้อบกพร่อง และเราได้แจ้งให้หน่วยงานใดแก้ไขให้ถูกต้อง ในกรณีต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในภาพในรายงานประจำปีที่ท่านประสิทธิ์ได้นำเสนอมาใน PowerPoint ก็จะเห็นว่ามันจะมีความบกพร่องในกรณีต่าง ๆ ผิดระเบียบ เรื่องจัดซื้อจัดจ้าง มีความล่าช้า มีการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้อง มันก็จะเป็นผลจากการตรวจสอบที่เราแจ้งให้หน่วยงานต่าง ๆ ไป แก้ไขให้ถูกต้อง สำหรับรายละเอียดของในรายงานแต่ละเรื่องก็จะมีรายละเอียดประกอบ ตรงนั้นด้วยนะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒ ท่านฐิติกันต์ได้พูดถึงเรื่องของการตรวจสอบความคุ้มค่าต่าง ๆ อันนี้ผมได้ตอบไปเมื่อสักครู่แล้วนะครับ ทีนี้ในส่วนของเรื่องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีการจัดเก็บรายได้ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเงินสดอยู่ จริง ๆ แล้วมีประเด็นที่เป็น ข่าวทางสื่อมวลชนทาง สตง. เองก็ได้เข้าไปตรวจสอบ แล้วก็มีคำแนะนำในเรื่องของ การจัดเก็บรายได้ซึ่งให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้สามารถที่ตรวจสอบได้ แต่เดิมก็จะเป็นลักษณะของการใช้ใบเสร็จ แล้วก็รับเงินสด ออกบ้าง ไม่ออกบ้าง ซึ่งตรงนี้ เราได้ตรวจสอบแล้วก็ได้รายงานไปในแจ้งข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้วก็ได้ให้ข้อเสนอไปแล้ว กรณีผลสัมฤทธิ์ที่มีการทิ้งร้างว่างเปล่านะครับ หลายกรณีจริง ๆ ต้องเรียนอย่างนี้ว่า ในการตรวจสอบของเราอย่างที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปราย ถึงการตรวจสอบของ สตง. หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ ๓ ส่วน ก็คือเรื่องของ Financial Audit คือการตรวจรายงานการเงิน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งเราต้องตรวจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ ๒ ก็คือการตรวจสอบการปฏิบัติ ตามกฎหมายหรือ Compliance Audit อันนี้จะเป็นการตรวจสอบซึ่งเป็นลักษณะ ของการประเมินความเสี่ยง หรือประเด็นที่ทางหน่วยงานต่าง ๆ หรือประชาชนได้แจ้ง ข้อร้องเรียนมา เราก็จะไปตรวจสอบว่าถูกต้อง ไม่ถูกต้อง ต้องยอมรับว่าในส่วนนี้ เราสามารถตรวจได้ไม่ครบถ้วน ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนการตรวจสอบรายงาน การเงิน เพราะว่ามีรายการจัดซื้อจ้างจำนวนมาก ลำพังแต่ละบุคลากรของ สตง. ซึ่งมีอยู่ ๓,๐๐๐ คนเศษ ๆ ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ จึงมีการสุ่มตรวจ เพราะฉะนั้นก็คงจะมี บางส่วนที่ทาง สตง. ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบนะครับ รวมถึงการตรวจสอบประเภทที่ ๓ คือ Performance Audit หรือว่าผลสัมฤทธิ์ประสิทธิภาพการดำเนินงาน อันนี้ ต้องยอมรับว่าเราตรวจได้น้อยมากปีละ ๑๐๐ กว่าโครงการเท่านั้น ในขณะที่โครงการ ต่าง ๆ ของการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีโครงการดำเนินการค่อนข้างมากนะครับ อันนี้ก็จะมีส่วนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ เรื่องผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะดูว่าเงินงบประมาณแผ่นดินรวมไปถึงเงินนอก งบประมาณมีการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดผลสัมฤทธิ์หรือไม่ คือผลสัมฤทธิ์ต่าง ๆ ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน ก็จะทำให้มากขึ้น เรากำลังปรับโครงสร้างเพื่อที่จะทำหน้าที่ ในการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ให้มากขึ้น เพื่อที่จะตอบคำถามได้ว่าเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่นำไปใช้จ่ายนั้นได้เกิดประโยชน์มากน้อยขนาดไหน สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่ท่าน ได้แนะนำไว้ ผมรับที่จะไปดูว่าในโครงการเรามีการตรวจสอบในปีปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร แล้วผลการดำเนินการเป็นอย่างไร แต่ต้องเรียนว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเอง ทางผมเอง และทางสำนักงานก็ให้ความสำคัญในการตรวจสอบประเภทนี้มากขึ้นนะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ท่านนิพนธ์ คนขยัน ได้ฝากประเด็นเรื่องชาวบ้านร้องเรียนในพื้นที่นะครับ เมื่อร้องเรียนมาแล้วบางที สตง. ก็ลงไปตรวจสอบ บางทีก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ต้องเรียนว่า จำนวนเรื่องร้องเรียนทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเองก็เปิดรับการร้องเรียนจาก ประชาชน จากทุก ๆ ภาคส่วน ว่าถ้าพบการดำเนินการโครงการใด พบการดำเนินการของ หน่วยงานใดซึ่งอาจจะเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือว่าทำไปแล้ว ไม่เกิดประโยชน์ สามารถร้องเรียนมาที่ทาง สตง. ได้ทุกช่องทาง ทั้งโทรศัพท์ ทั้งผ่าน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถดูได้ใน Website นะครับ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็จะรับข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นมาลงไปตรวจสอบ ทีนี้บางส่วนต้องเรียนว่าถ้าร้องเรียนมาโดย ภาพรวม ๆ แล้วไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดเจน ก็อาจจะไม่ได้ลงไปตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ว่าก็จะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้หน่วยที่ตรวจสอบรายงานการเงินซึ่งต้องตรวจสอบทุกปี ประกอบการตรวจสอบนะครับ ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาเรารับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ๒,๕๐๑ เรื่อง ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องจัดสรรบุคลากรที่จะต้องเข้าไปดู พบว่าเป็นไปตาม เรื่องที่ร้องเรียนหรือไม่ หรือว่ามีการดำเนินการที่ถูกต้องแล้ว ถึงจะเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสอบไปตามหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ โดยปกติเฉลี่ยช่วงเวลาที่ผ่านมา ปี ๒๕๖๕ ต้องถือว่าน้อย อยู่ประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ เรื่องต่อปี ในการดำเนินการนะครับ อันนี้เราก็พยายามที่จะรับฟังความคิดเห็น จริง ๆ แล้ว นโยบายการทำงานของ สตง. นอกจากการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่แล้วยังมีการให้ ความรู้ความเข้าใจกับหน่วยรับตรวจเพื่อให้ทำถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นอย่างที่ท่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้อภิปรายนะครับ เราก็ยังรับฟังข้อมูลต่าง ๆ จากทุก ภาคส่วน และในทุกภาคส่วนเหล่านี้เราก็มีกิจกรรมที่จะทำความเข้าใจว่าในการส่งข้อมูลให้ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อประกอบการตรวจสอบ หรือการดูแลเงินงบประมาณ แผ่นดินที่ลงไปในพื้นที่ ซึ่ง สตง. ไม่สามารถที่จะมีเจ้าหน้าที่ไปดูแลได้ถึงพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกัน ในการที่จะดูแลเงินแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็มีช่องทางนี้อยู่นะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ท่านต่อไปครับ ท่านนิยมนะครับ ได้พูดถึงเรื่องของผลการตรวจสอบโควิด โดยประเด็นวัคซีน อันนี้ผมขออนุญาตในการตรวจสอบเรื่องของวัคซีนนี่เราตรวจ มีรายงาน เฉพาะ ผมจะส่งให้ภายหลังที่เป็นรายงาน แต่ขออนุญาตชี้แจงในประเด็นที่ท่านถามเรื่องว่า มันมีผลการตรวจสอบซึ่งระบุชัดเจนไหมว่ามันแพง อันนี้ต้องเรียนว่าเกณฑ์ในการพิจารณาว่า แพงหรือไม่แพงเราก็เป็นประเด็นซึ่งสังคมสอบถาม เราก็ให้ความสำคัญและไปตรวจสอบ แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดไปได้ถึงขนาดว่ามันแพง โดยที่มีเกณฑ์การเปรียบเทียบราคา เพราะ ในช่วงสถานการณ์ต่าง ๆ ราคามันมีความแตกต่างกันนะครับ ในรายงานก็จะเขียนช่วงเวลา ว่าช่วงนี้ราคาเท่าไร ๆ ด้วยวิธีการอะไร อย่างไรนะครับ ผมขออนุญาตที่จะส่งรายงานอันนี้มา ทางท่านประธานสภานะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

สำหรับเรื่องการฝากให้ตรวจสอบหน่วยงานขนาดใหญ่ จริง ๆ แล้วต้องเรียนว่า โครงการขนาดใหญ่บางโครงการ โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟต่าง ๆ เราก็ให้ความสำคัญ แต่เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานของโครงการเหล่านี้ใช้ระยะเวลานานมาก กว่าจะถึงขั้น การก่อสร้างแล้วเสร็จนี่นะครับ ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็เห็นว่าเรื่องนี้ ควรจะต้องมีการติดตามต่อเนื่อง การปรับโครงสร้างใหม่ที่กำลังจะทำนี่จะมีสำนัก ที่ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ จะเป็นการติดตามการทำงานตั้งแต่เริ่มต้น ตรวจสอบ ต่อเนื่องไปถึงโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้โครงการขนาดใหญ่หรือหน่วยงานขนาดใหญ่ ที่ทำโครงการเหล่านี้ได้มีการตรวจสอบในทุกขั้นตอน พอเวลาการตรวจสอบในแต่ละปี ๆ เราอาจจะตรวจสอบได้บางช่วงเวลาของโครงการเท่านั้น ช่วงเวลาของการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วงเวลาของการดำเนินการบางส่วนในกรณีล่าช้าอะไรก็ดีนะครับ อันนี้ก็กราบเรียนให้ทราบ เบื้องต้นอย่างนี้นะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ท่านพัฒนา สัพโส ซึ่งท่านได้ให้ทบทวนแนวทางในการตรวจสอบนะครับว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร ก็มีประเด็นที่สอบถาม หรือประเด็นที่อาจจะเป็นการตอบของ สตง. ในพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดในเรื่องของเรื่องการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ต้องเรียนอย่างนี้ว่า ตามหลักการที่ท่านอภิปรายนั้นถูกต้องแล้วครับ การดำเนินการต่าง ๆ ในสัญญาต่าง ๆ ในโครงการต่าง ๆ นะครับ แต่กรณีที่ไปแบ่งแล้วทำให้อำนาจการลงนามในสัญญา หรือการสั่งซื้อสั่งจ้างนี่เปลี่ยนอันนี้ถือว่าแบ่ง หรือไปดำเนินการจัดแบ่งออกมาแล้วทำให้ วิธีการเปลี่ยนอันนี้ก็ถือว่าเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างนะครับ อันนี้ก็ต้องรับข้อเสนอของท่าน เดี๋ยวผมขอตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นอีกทีว่าในข้อเท็จจริงที่ทาง สตง. ภาค ๖ ได้ตอบไปนั้น มันเป็นกรณีอย่างไรบ้าง

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

กรณีที่ ๒ ที่ท่านพูดถึงท่านรองผู้ว่าการสุทธิพงษ์ที่เข้ามาร่วมประชุมกับ คณะกรรมการกระจายอำนาจ เรื่องการตรวจรับงาน อันนี้เราได้รับทราบเหมือนกันจาก การดำเนินการของทั้งเราตรวจสอบเองทั้งหน่วยงานต่าง ๆ เอง แน่นอนครับ ตาม Spec นี่ กำลังอัดเท่าไร ถ้าตรวจวัดแล้วมันขึ้นถึงนี่จริง ๆ ในแนวทางปฏิบัตินะครับ ของเราเองในการ ตรวจสอบก็ใช้ว่าถ้ามันเป็นไปตามนั้นแล้วก็ไม่ต้องรอถึง ๒๘ วัน อันนี้ท่านรองโทรเข้ามา เมื่อสักครู่นี้ว่าได้ทำข่าว แล้วก็แจ้งประชาสัมพันธ์ผ่านไปในช่องทางต่าง ๆ แล้วให้รับรู้ รับทราบในแนวทางการตรวจสอบของ สตง. และการดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามต้องเรียน อย่างนี้ว่าระเบียบวิธีการปฏิบัติทุก ๆ เรื่องไม่ว่าการเบิกจ่ายเงิน การจัดซื้อจัดจ้างเป็นระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลัก ๆ ก็เป็น กระทรวงการคลัง เรื่องของท้องถิ่นจะเป็นส่วนของกระทรวงมหาดไทย สตง. ไม่ได้มีอำนาจ ในการออกระเบียบในการดำเนินการอย่างไร แต่ก็จะมีข้อเสนอแนะเพื่อไปยังหน่วยงานที่มี หน้าที่ในการออกกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็นประเภท ใดก็ตามได้มีการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง อย่างชัดเจน อันนี้ก็ได้มีการนำเรียนไปถึง กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด Spec เรื่องการตรวจรับงานก่อสร้างต่าง ๆ ให้ไปในแนวทางเดียวกันนะครับ รับข้อเสนอของท่าน ผมจะไปประสานต่อในหน่วยงานที่ เรื่องของการแก้ไขกฎหมายก็ดีอะไรก็ดี เพื่อที่จะให้ การทำงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์โดยตรงกับงานที่เกิดขึ้น

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ต่อไปท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ในภาพรวมของการดำเนินงาน และมีข้อเสนอแนะถึงเสียงสะท้อนของการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ต้องขอบคุณท่านที่ได้พูดถึง แนวนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการทำงานของ สตง. ในยุคปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญ ก็ในความเสียหาย ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทในแต่ละปี หรือมากกว่านั้น ทาง สตง. เองก็ไม่อยากเห็น อยากให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ถูกต้องตั้งแต่เบื้องต้นจึงได้มี โครงการที่จะไปอบรม ไปให้ความรู้ ให้ความชัดเจน รวมไปถึงตอบคำถาม โดยเฉพาะท้องถิ่น เราได้จัดโครงการเปิดใจไขปัญหาท้องถิ่นถามมา สตง. ตอบไปทุกปี รวมไปถึงย่อย ๆ ในแต่ละพื้นที่ ว่าต้องการที่จะให้เราร่วมสัมมนาและร่วมพูดคุยเพื่อให้เข้าใจในแนวทาง นอกจากนั้นต้อง เรียนว่าตอนนี้เราได้ทำเป็นแนวทาง เรียกว่าแนวทางการเสริมสร้างการรักษาวินัยการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจากภารกิจหลักๆ ของท้องถิ่นที่มีปัญหา ความไม่ชัดเจนในการเบิกจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณี งานกีฬาหรืออะไรต่าง ๆ รวมไป ถึงการดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้องเราทำเป็นเป็นขั้นตอน รวมถึงทำ Application ให้ท่าน สามารถตรวจสอบได้ว่าถ้าท่านจะทำโครงการประเภทนี้อย่างนี้ ๑ ๒ ๓ ต้องทำอย่างไร เพื่อให้คำแนะนำ อันนี้เราก็จะแจกให้ทาง อปท. และในวันที่ ๒๐ กันยายนที่จะถึงนี้เราได้ เชิญ อปท. เข้ามาร่วมที่จะทำความเข้าใจกับตัว Application ที่เราทำขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ ตรวจสอบเบื้องต้นของตัวเองว่าในการดำเนินการในแต่ละเรื่อง สามารถหรือยังขาดส่วนไหน ที่ยังไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ แต่ถ้าอะไรที่มันเป็นส่วนที่ ทำให้หน่วยงานทำ และเป็นอุปสรรคเราก็จะรับฟังข้อเสนอแนะของท้องถิ่นเพื่อที่จะนำเสนอ ไปยังกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ผมเรียน เพิ่มเติมว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ทางคณะกรรมการชุดนี้หรือผมเข้ามาในช่วงตั้งแต่ ปี ๒๕๖๑ ถึงปัจจุบันนี่ เราได้สะท้อนถึงแนวปฏิบัติจากข้อทักท้วงเดิมที่เราเคยพูดถึงว่า อปท. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ ไม่มีระเบียบให้เบิกจ่าย เราได้ประสานและแจ้ง ข้อมูลไปยังกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ออกระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนว่าอะไรเบิกได้บ้าง อะไรเบิกไม่ได้บ้างนะครับ ทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้ไป ออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เรื่องเหล่านั้น ๒๐ กว่าฉบับเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะ เรื่องของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชน อันนี้ก็จะเปิดทางที่จะ ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นได้มีการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้มากขึ้นอันนี้ก็จะมี อีกทางหนึ่งที่เราดำเนินการ ต้องเรียนว่าในการส่ง ในการจัดอบรมหรือสัมมนาอย่างที่ ท่านเทียบจุฑาได้พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ เราทำได้น้อยจริง ๆ เพราะว่าด้วยงบประมาณที่มีอยู่เรา ได้รับการจัดสรรงบประมาณในจำนวนที่ไม่มากนัก รวมกับบุคลากรของเราด้วยที่โดยภารกิจ ตรวจสอบก็ยังมีอยู่ แต่ภารกิจในการส่งเสริมเราก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นก็อาจจะทำให้ เราจะ จัดได้น้อย แต่อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาเราใช้ผ่านสื่อ Online ก็จะทำให้หน่วยงาน ต่าง ๆ เข้ามาร่วมได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในการดำเนินการไม่ว่าหน่วยงานราชการ ประเภทใดก็ตาม ถ้าจะดำเนินการแล้วอยากทราบว่าอันนี้ทำได้ ไม่ได้ หรือจะต้องทำอย่างไร ในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การตรวจเงินแผ่นดินนี่ได้ให้สอบถามได้เลย สอบถามเราต้องตอบให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน มีแนวทาง มีคำตอบว่าเรื่องนี้ทำได้หรือไม่ได้ อย่างไร หรือว่าถ้าจะทำให้ถูกต้องควรจะทำ อย่างไร และต้องตอบแบบมีคำตอบนะครับ เมื่อตอบไปแล้ววรรคสองยังบอกว่าถ้าได้ทำ ดำเนินการตามที่ สตง. ตอบไปแล้วนี่ก็ถือว่าชอบนะครับ อันนี้ก็จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาปี ๒๕๖๕ มีหน่วยงานต่าง ๆ สอบถามเข้ามา เป็นหนังสือ ๑๗๔ หน่วยงาน ๒๕๒ เรื่อง อันนี้ต้องเรียนว่าถ้าหน่วยงานต่าง ๆ ถามมาเราก็ จะตอบในคำตอบในเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่จะทำ บางทีในเรื่องเดียวกันแต่ว่าข้อเท็จจริงของ แต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันก็คำตอบอาจจะแตกต่างกันไป อันนี้ก็จะมีส่วน ที่สามารถทำให้ได้ คือตอนนี้เราก็ประชาสัมพันธ์มากขึ้นเพื่อที่จะให้หน่วยงานได้ถาม แต่ต้อง เรียนอย่างนี้ว่าจริง ๆ แล้วหน่วยงานอยากทำให้ถูก คนนี้มีความตั้งใจอยากทำให้ถูก เขาไม่ได้ ถามเป็นหนังสือ เข้ามาประชุมร่วมกันเอาข้อเท็จจริงมาเล่าให้ฟังแล้วควรจะต้องทำอย่างไรก็มี จำนวนมาก ในปีที่ผ่านมานี่เรายังไม่ได้เก็บสถิติไว้นะครับ ปีนี้เราได้ให้เก็บสถิติด้วยว่ากรณี ที่มาสอบถามอยากจะได้แนวทางเพื่อไปดำเนินการให้ถูกต้องมีกี่เรื่อง ซึ่งต้องเรียนว่ามีจำนวน มากทีเดียว อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการที่จะให้ความรู้เราก็จะทำให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการจัดทำให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตั้งแต่แรก และเกิดประสิทธิผลตามที่เราอยากเห็นว่าเงินแผ่นดินได้มีการใช้จ่ายไปอย่างถูกต้องตาม วัตถุประสงค์นะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ต่อไปท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ได้พูดถึงเรื่องการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของ สัมปทานรังนกอีแอ่นนะครับ ต้องเรียนว่าในการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้เบื้องต้นนี่คือเรา ก็ดูตามสัมปทานว่าต้องเป็นรายได้เท่าไร อย่างไร เบื้องต้นเราตรวจในลักษณะที่ได้ดำเนินการ ครบถ้วนตามกฎหมายก็คือตัวสัมปทานที่มีข้อผูกพันกันอยู่หรือไม่ อย่างไรนะครับ แต่ข้อมูล ของท่านที่ให้มาเป็นประโยชน์มากในภาพรวม สตง. ยินดีครับในการดำเนินการ ถ้าจะมี หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเรื่องของรังนกอีแอ่นให้มันเป็นรูปธรรม ให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้ ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สตง. ก็ยินดีที่จะเข้าร่วมให้ข้อมูลจากผลการตรวจสอบของ สตง. ที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วเราได้ ศึกษาในกรณีอื่น ๆ ไว้ด้วยว่าในกรณีที่นกย้ายพื้นที่แล้วเข้ามาอยู่ในเมืองนะครับ บางพื้นที่ก็มี สร้างเหมือนบ้านคล้าย ๆ บ้านนกอีแอ่นอยู่ในเมือง ซึ่งพอมาแล้วก็อาจจะทำให้เกิด ความเดือดร้อนกับประชาชนในเขตเมืองด้วย จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ สตง. ยินดีถ้าจะมีคณะกรรมาธิการหรือว่าคณะทำงานใด ๆ ที่จะเกี่ยวข้อง รวมไปถึงว่าในแนวทาง การตรวจสอบของ สตง. ด้วยในอนาคต

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ต่อไปท่านนพพลได้พูดถึงระเบียบต่าง ๆ นี่มีหลายอย่างในการเบิกจ่ายต่าง ๆ งานประเพณีต่าง ๆ ที่ผมได้เรียนเมื่อสักครู่แล้วนะครับ ถ้ามันเป็นปัญหาในการดำเนินการ จริง ๆ ผมก็ได้รับเสียงสะท้อนจาก อปท. เพิ่มเติมว่าปัจจุบันถึงแม้จะมีระเบียบที่สามารถ เบิกจ่ายได้แล้ว แต่ข้อเท็จจริงแล้วนี่มันควรจะต้องมีการปรับปรุงแล้ว เพราะว่าสภาพ เศรษฐกิจหรือในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มันเปลี่ยนไป ทาง สตง. ก็ยินดี เพียงแต่ว่าในระเบียบ ต่าง ๆ ที่กำหนดออกมาเมื่อกำหนดไปแล้วนี่เรามีหน้าที่ในการตรวจ Compliance ก็คือ เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร ในดุลยพินิจ ต่าง ๆ ที่มีการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง ต้องเรียนอย่างนี้ว่า ในข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันอย่างที่ผมเรียนว่าบางทีข้อเท็จจริงของแต่ละหน่วยงานนี่ มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีแนวทางในการดำเนินการหรือการวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามในกฎหมายหรือวิธีการปฏิบัติปัจจุบันก่อนที่เราจะแจ้งผลการตรวจสอบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ผิดอะไร มีความเสียหายอย่างไร จะมีการส่งให้หน่วยงานได้ชี้แจง แสดงหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง แต่เดิมเมื่อตรวจสอบแล้ว สตง. เห็นอย่างไรก็จะแจ้งผลไปเลย แต่ในขั้นตอนวิธีการปฏิบัติ ปัจจุบันนี้เนื่องจากเราพบว่า จริง ๆ แล้วในการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้องบางทีก็ไม่ได้มี การเจตนาที่จะดำเนินการให้ไม่ถูกต้อง เพียงแต่อาจจะไม่ทราบหรือว่าจะมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่จะ แสดงถึงเจตนา เราดูตรงนี้ด้วยนะครับ เพราะมีการให้ชี้แจงอีกทางหนึ่งอย่างที่ผมเรียนว่า ในกฎหมายปัจจุบัน หรือแนวทางการทำงานปัจจุบันแต่เดิมถ้าพบว่าการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ อันนี้ก็ถือว่าผิด และในปัจจุบัน มาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ถ้ามี ข้อบกพร่องไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ แต่ไม่เกิดความเสียหาย คือบรรลุ วัตถุประสงค์ หรือว่าได้มีการดำเนินการไปแล้วก็ต้องถือว่าเป็นข้อบกพร่องโดยเราก็จะแจ้งให้ มีการแก้ไข ถ้าแก้ไขได้ ถ้าไม่แก้ไขอันดับต่อไปจะต้องดำเนินการอย่างไรให้ถูกต้อง แต่ถ้า กรณีเสียหายก็จะเป็นอีกวรรคหนึ่งที่เราต้องแจ้งให้หน่วยงานไปพิจารณาหาผู้รับผิดชอบ ชดใช้ ถ้าใครมีการดำเนินการผิดทางวินัยก็ต้องเตรียมการทางวินัย อีก Step หนึ่งก็คือถ้ามัน มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าทุจริต แน่นอนเลยครับ ไม่ใช่หน้าที่ของ สตง. ต้องส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป กรณีเรื่องของสร้างถนนต่าง ๆ อาจจะเป็นประเด็นอย่างที่ผมเรียนว่า มีเกณฑ์ที่ผ่าน หรือไม่ผ่านอะไร อย่างไร ถ้ากระทรวงมหาดไทยเองเจ้าของระเบียบเองจะมี การกำหนดอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะเชิญทาง สตง. เข้าไปสะท้อนข้อมูลจากการตรวจสอบ เพื่อประกอบการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือกำหนดแนวทางในการปฏิบัติให้มี ความชัดเจนก็จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีความมั่นใจและทำได้ถูกต้องต่อไป

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ต้องขอบคุณท่านที่ได้ติดตามการปรับตัวการทำงานของ สตง. อย่างที่ได้นำเรียนว่าเราไม่อยากเห็นความเสียหาย อย่างปี ๒๕๖๕ นี้ ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถ้าทำถูกตั้งแต่แรก ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทอาจจะได้เกิดประโยชน์ กับประชาชนไปเต็มที่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะมีการทำงานในเชิงที่ป้องกัน ในเชิงที่จะให้ ความรู้ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้หน่วยงานได้มีความชัดเจนในการดำเนินงาน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านพูดถึงก็คือเงินงบประมาณผ่านสภานี้รู้ว่าปีละ ๓.๑-๓.๒ ล้านล้านบาท แต่เงินนอกงบประมาณนี่ดูในตัวเลขของทางสำนักงบประมาณที่ได้ พยายามประมวลว่าทุกหน่วยงานมีเงินนอกงบประมาณเท่าไร มีอยู่ ๔.๕ ล้านล้านบาท แต่ว่าในแต่ละปีหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมาใช้อยู่ประมาณ ๒ ล้านล้านบาท เราก็ให้ความสำคัญ เพราะถือว่าไม่ได้ยิ่งหย่อน ไม่ได้น้อยกว่าในส่วนของที่เป็นงบประมาณเลย ก็มีการตรวจสอบ ในส่วนที่เป็นเงินนอกงบประมาณด้วย แล้วก็จะมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มีการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง ในการตรวจสอบ สตง. อย่างที่ผมเรียนไป มี ๓ ประเภทอยู่แล้วนะครับ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ท่านได้พูดถึงได้ให้กับทาง สตง. ให้เน้น เชิงป้องกันให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และรวมไปถึงเรื่องของผลการดำเนินงาน ส่วนเรื่องของการให้ข่าวหรือชี้แจงกรณีที่เป็นประเด็นต่าง ๆ ในหลาย ๆ เรื่องทางสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินก็ให้ความสำคัญนะครับ อะไรที่อาจจะเป็นการสร้างความสับสน เพื่อให้ เกิดความชัดเจนในการทำงานของส่วนราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ผมก็ให้ข่าวนะครับ หรือว่าทำเป็นเป็น Pay Slip เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบ ยกตัวอย่างเรื่องกรณีตอนที่มีปัญหา เรื่องท้องถิ่นจะจัดซื้อวัคซีนได้หรือไม่ ซึ่งก็มีข้อถกเถียงว่าต้องแก้กฎหมายอะไร ระเบียบ เป็นอย่างไรเราก็ให้ความชัดเจนตั้งแต่ต้นเลยว่าสามารถซื้อได้ เพียงแต่ท่านใช้เงินสะสม หรือใช้เงินงบประมาณที่ตั้งไว้ วิธีการก็จะแตกต่างกันเราก็จะให้คำตอบว่าสามารถดำเนินการ ได้อย่างไรอันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ต่อไปท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ท่านได้พูดถึงเรื่องของ อปท. เรื่องของท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาสำคัญในการดำเนินการ ประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาของท้องถิ่นที่ท่าน พูดถึงเรื่องของรายงานการเงินของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งในปี ๒๕๖๔ ตามพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ จริง ๆ แล้วท้องถิ่นหน่วยงานทุกประเภทจะต้องจัดทำรายงาน การเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐที่ทางกระทรวงการคลังกำหนด แต่ว่าในบทเฉพาะกาล มาตรา ๘๔ ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ของหน่วยงานที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เวลา ๓ ปีนะครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ที่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังได้มีผลบังคับใช้นี่ครับ ท้องถิ่นก็จะ มีประเด็นปัญหาที่ต้องทำให้เสร็จภายในปี ๒๕๖๔ เพราะฉะนั้นผลการตรวจสอบใน ปี ๒๕๖๕ ที่เราตรวจรายงานการเงินปี ๒๕๖๔ จะเห็นว่า เรื่องการจัดทำรายงานการเงินของ อปท. ส่งล่าช้าบ้าง เพราะในตัว พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา ๗๑ บอกให้หน่วยงาน ต่าง ๆ ต้องจัดทำรายงานส่ง สตง. ภายใน ๙๐ วันและให้ สตง. ตรวจให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน ก็จะพบว่า อปท. ก็จะมีความไม่เข้าใจในแนวทางที่ต้องจัดทำรายงานการเงินตาม มาตรฐานบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนดนะครับ ในบทเฉพาะกาลมาตรา ๘๔ ให้ เวลาไว้ ๓ ปี มันก็ปี ๒๕๖๔ พอดี ต้องเรียนข้อมูลเพิ่มเติมว่าถึงแม้ในปี ๒๕๖๔ ที่หน่วยงาน อาจจะทำไม่ถูกต้องและส่งล่าช้า แต่พอในปีปัจจุบันปี ๒๕๖๕ ซึ่งเราตรวจในปี ๒๕๖๖ ต้องเรียนว่ามีข้อมูลซึ่งเห็นความชัดเจนได้ดีขึ้นเลยครับ สามารถส่งทัน แล้วก็ทำได้ถูกต้องด้วย นะครับ เมื่อเราตัวแล้วจะพบว่าให้ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น ก็ต้องบอกว่าทั้งส่วนทาง สตง. เราเองเราก็ให้ความสำคัญ คณะกรรมการได้ให้ความสำคัญว่าหน่วยงานที่ส่งไม่ได้นี่ ในทางปฏิบัติเขามีปัญหาอย่างไรหรือเปล่า หรือเจ้าหน้าที่ในการจัดทำบัญชี ตามมาตรา ๖๘ ของ พ.ร.บ. วินัยหรือเปล่านะครับ หรือมีปัญหาอย่างไรที่ทำไม่ได้ สตง. ต้องแนะนำนะครับ รวมไปถึงว่ากรณีที่เราตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ถูกต้อง แสดงความเห็นไม่ถูกต้องหรือมีเงื่อนไข เราพยายามให้ความรู้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เขาทำถูกแล้วเขยิบไปถึงสุดท้ายนะครับ เป้าหมายของ เราคือว่าหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ปี ๒๕๖๑ ต้องการให้เราตรวจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ เป้าหมายของเราคืออยากเห็นรายงานการเงินเมื่อเราตรวจ ตรงไปตรงมาแล้วนี่ Clean ทั้งหมด ก็คือให้ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขนะครับ ก็แสดงจะถึง ความโปร่งใสในภาพรวมของการดำเนินงานการใช้จ่ายเงินในรูปของรายงานการเงินได้ด้วย อันนี้ก็เป็นแนวทาง นอกจากเราตรวจสอบพบข้อบกพร่องแล้วนี่ เราก็จะมีข้อเสนอแนะ มีคำปรึกษาในการที่จะปรับปรุงให้ถูกต้องด้วยนะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ในส่วนของท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ นะครับ ที่พูดถึงเรื่องงบรับรองที่ท่านพูด ถึงในหน้า ๑๘๔ อันนั้นก็จะเป็นเรื่องของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการใช้จ่ายเงินเพื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้กับทางสื่อมวลชนก็จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นงบรับรองให้กับสื่อมวลชน ตรงนั้น เราจะเป็นการรายงานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๕ เพื่อที่จะให้ทราบว่าหน่วยงานต่าง ๆ มีการดำเนินการอย่างไรบ้างในการใช้งบประชาสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นงบรับรองเรื่องสื่อ อันนี้ก็จะมีข้อมูลอยู่ว่ามีหน่วยงานใดบ้างสามารถที่จะเปิดเผยได้นะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

ส่วนในเรื่องของงบรับรองของ สตง. ต้องเรียนอย่างนี้ว่าปัจจุบันนี้ สตง. เป็น Governing Board หรือเป็นคณะมนตรีขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ เป็นตัวแทน ๑ ใน ๒ ประเทศกับประเทศญี่ปุ่นของเอเชีย ไปเป็นบอร์ดบริหารหรือคณะมนตรี ในเวทีนานาชาติ คือ INTOSAI สตง. ทุก ๆ ประเทศในโลกนี้นะครับ แล้วนอกจากนั้น ท่านประธานก็เป็นประธาน ASOSAI คือประธานองค์กรตรวจเงินแผ่นดินใน Asia นะครับ แล้วก็ยังเป็นสมาชิกของ ASEANSAI เพราะฉะนั้นในภารกิจต่าง ๆ ที่ทางคณะกรรมการเอง ท่านประธานเองหรือ สตง. เองต้องทำหน้าที่ทั้ง Governing Board รวมถึงการเป็นประธาน ก็จะมีการรับรอง กรณีที่เราไปประชุมก็จะมีในฐานะประธาน ในฐานะที่ต้องมีการเลี้ยงรับรอง รวมไปถึงเราอยู่ในสถานะที่ในระดับที่เป็นสากลก็จะมีประเทศต่าง ๆ เข้ามาเยี่ยมเยียน หรือมาพูดคุยประชุมร่วมกันนะครับ ก็จะมีงบรับรองมากขึ้น ในช่วงปีก่อนที่ผ่านมา ต้องเรียนว่า ในช่วง COVID-19 นี่ก็จะเป็นการประชุมกันผ่าน Online เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ค่ารับรองอาจจะน้อยนะครับ เมื่อ COVID-19 จางลงไปก็จะมีการประชุมที่เป็น Onsite มาก ยิ่งขึ้น สำหรับรายละเอียดก็สามารถที่จะส่งให้ทางสภาได้นะครับ ก็ยินดีที่จะส่งให้ ก็จะมี กรมบัญชีกลางซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ สตง. สตง. มีหน้าที่ตรวจสอบทุกหน่วยงาน ของรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานทุกประเภท ส่วน สตง. นี่กรมบัญชีกลางจะเป็น คนตรวจ เพื่อที่จะ Check and balance กันเพื่อให้รู้ว่าในส่วนของการใช้จ่ายเงินของ สตง. เป็นอย่างไร แล้วก็รายงานนั้นก็ต้องรายงานต่อสภาด้วยนะครับ อันนี้ก็ได้ตอบคำถาม หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาจจะไม่ครบถ้วน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้คงจะต้องขอบคุณในคำชื่นชมในข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ทางสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ให้ข้อเสนอแนะเพื่อที่จะไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น สามารถที่จะดูแลเงินแผ่นดินซึ่งมีอยู่จำนวนมากให้สามารถใช้จ่ายไปอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนของทางราชการ รวมไปถึง แล้วให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขอขอบคุณ ณ ที่นี้ แล้วก็รับ ข้อเสนอแนะหรือข้อสังเกตต่าง ๆ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ทางผู้ชี้แจงท่านอื่นมีอะไรจะเสริมไหมครับ ทางสมาชิกมีข้อใดซักถามไหมครับ เชิญครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณกร ชารีพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอโทษครับ แต่ว่าจะไม่เป็นการเปิดอภิปรายแล้วนะครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ได้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

จะเป็นการซักถามนะครับ เชิญครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ณกร ชารีพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร เขต ๒ พรรคก้าวไกล ผมอยากสอบถามไปทาง สตง. อยู่ ๒ ประเด็นนะครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ผมขออธิบายคำถามผมนิดหนึ่งนะครับว่า หลังรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ มีการกระจายอำนาจ แล้วก็มีการตั้งองค์กรอิสระ ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน จากรายงานปี ๒๕๕๐-๒๕๕๘ พบว่ามีรายงานการเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชัน ๕๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เสียหายจากรัฐ ราชการส่วนกลาง ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เสียหายจากรัฐวิสาหกิจ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท และเสียหายจากองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นอยู่ที่ ๑๖๘ ล้านบาท คำถามของผมคือว่า สตง. ใช้ความเข้มข้นในการตรวจสอบ การทุจริตคอร์รัปชันในรัฐ ราชการส่วนกลาง กับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร อันนี้คือคำถามที่ ๑ นะครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

และคำถามที่ ๒ ก็คือว่า สตง. นี้อิสระจริงหรือไม่ หรือแค่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับอำนาจมาจากการเลือกตั้งของพี่น้อง ประชาชนครับ มีอยู่ ๒ คำถามครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีท่านอื่นอีกไหมครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวขอท่านณัฏฐ์ชนนนะครับ แล้วก็มาเป็นท่านฐิติกันต์ครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

เป็นข้อเสนอสั้น ๆ ครับ ท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้ง ที่ ๗ ก็เป็นข้อเสนอเมื่อสักครู่จากเพื่อนสมาชิกตั้งคำถาม ๑๐ กว่าท่าน ท่าน สตง. ได้ลุก ขึ้นมาตอบ สรุปแล้วท่านบอกว่างบประมาณในการดำเนินการน้อย เพราะฉะนั้นข้อคิดเห็น ของสมาชิกทั้งหมดครับ ท่านสามารถไปตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อขอจากรัฐบาล โดยใช้ ข้ออ้างหรือว่าข้อท้วงติงของสมาชิกว่าในการดำเนินงาน และข้อที่สำคัญที่สุดนะครับ การให้ ความรู้กับหน่วยงานรับงบประมาณครับ เพราะว่าแต่ละปีเราใช้งบประมาณเกือบ ๓ ล้านล้านบาท การให้ความรู้ แล้วก็การให้ข้อมูลต่าง ๆ กับหน่วยรับงบประมาณถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เรา ฟังมาทั้งหมด เพราะฉะนั้นการที่เราจะให้ความรู้มันมีผลมากกว่าการดำเนินคดี เพราะเรา ไม่อยากเห็นการให้คนทำงานโดนคดี ติดคุก เสียประวัติ เพราะฉะนั้นอยากให้ สตง. ให้ความรู้กับหน่วยรับงบประมาณให้มาก ๆ งบประมาณไม่พอ ท่านของบประมาณเพิ่มจาก รัฐบาล ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุดท้ายนะครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล จังหวัดภูเก็ต เขต ๓ จะขอสอบถาม สตง. แล้วก็ตั้งข้อสังเกตนิดหนึ่งนะครับว่า การที่บุคลากรหน่วยงานของท่านมีประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าคน จะดีกว่าไหมครับที่เอาเวลานั้น ไปตรวจสอบกระทรวง ทบวง กรมใหญ่ ๆ แล้วก็ลดการตรวจสอบในเรื่องของหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะว่ามูลค่างานที่ท่านตรวจสอบได้นี่มันไม่คุ้มค่า กับความเสียเวลาที่จะไม่ได้มีเวลาไปตรวจสอบกระทรวงใหญ่ ๆ อย่างเช่น กระทรวงกลาโหม เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถนนที่ท่านตรวจสอบบางครั้งได้งบประมาณ กลับคืนมา ๙๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ๑ ล้านกว่าบาท แต่ประชาชนไม่ได้มีถนนใช้ มันกระทบผล ต่อภาพรวมมากกว่า อยากจะรบกวนทาง สตง. ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญทาง สตง. นะครับ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขออนุญาตตอบคำถาม ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้นะครับ ท่านณกรได้พูดถึง เรื่องของภาพรวมของการทุจริต ซึ่งมีข้อมูล ๕๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ออกมาเป็นตัวเลขนะครับ จริง ๆ แล้วในเรื่องการทำงานของ สตง. หลังจากที่ปี ๒๕๔๐ ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการทำงานทั้ง สตง. ป.ป.ช. หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบรวมถึง ป.ป.ท. อะไรต่าง ๆ ด้วยได้กำหนดหน้าที่ ต่าง ๆ เดิมในการทำงาน สตง. จะมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบในเรื่องของทุจริตมากกว่า ปัจจุบัน แต่เนื่องจากในบทบาทหน้าที่ที่อาจจะซ้ำซ้อนกันระหว่าง สตง. กับ ป.ป.ช. ในกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ปี ๒๕๖๑ ปัจจุบันกับกฎหมายของ ป.ป.ช. รวมถึงหน่วยงานอิสระจะเขียนเรื่องมาตรา ๖ ที่ชัดเจน เรื่องของอำนาจหน้าที่ในการที่จะไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องทุจริตจะไปอยู่ที่ ป.ป.ช. เมื่อพบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าทุจริตก็ต้องส่งต่อให้ ป.ป.ช. สำหรับความเข้มข้นในการ ตรวจสอบหน่วยงานส่วนกลางหรือท้องถิ่น หรือหน่วยงานประเภทใดก็ตามผมขออนุญาต ยืนยันอย่างนี้ครับว่าเราให้ความสำคัญพอ ๆ กัน สุดท้ายที่ท่านฐิติกันต์ได้พูดถึงว่ามาให้ ความสำคัญกับหน่วยงานขนาดใหญ่ดีกว่าไหมกับท้องถิ่นนะครับ ในส่วนของโครงการขนาด ใหญ่หรือหน่วยงานขนาดใหญ่ในส่วนกลางเราก็ให้ความสำคัญ แต่ว่าในการตรวจสอบเรื่อง Compliance Audit หรือว่า Performance Audit สำหรับการตรวจสอบรายงานการเงิน ของ อปท. ทั้งหมดอันนี้เป็นกฎหมายพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง เดิม อปท. มี ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง เราไม่ได้จัดสรรบุคลากรลงไปตรวจสอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราตรวจอยู่ ประมาณ ๕ ปี ครบ ๑ รอบ ก็คือปีหนึ่งประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. วินัย การเงินการคลังบังคับให้เราตรวจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่า เราต้องตรวจให้อัตรากำลังไปตรวจสอบตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังให้ครบถ้วน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภายใน ๑๘๐ วัน ต้องเรียนว่ากรอบอัตรากำลังที่มีอยู่เดิมมันจึงเทไปที่ การตรวจสอบท้องถิ่นทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการตรวจสอบ รายงานการเงินครบถ้วนอันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรามีความเห็นในการที่จะเสนอแก้ไข กฎหมายเหมือนกันในเรื่องของการตรวจสอบรายงานการเงินไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ ครบถ้วนตามที่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังกำหนดทำให้อัตรากำลังส่วนหนึ่งเราต้องใช้ไป ในส่วนนั้นนะครับ แต่ว่าอย่างไรก็ตามโครงการขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานขนาดใหญ่ ในส่วนกลางเราก็ให้ความสำคัญต้องเรียนอย่างนั้น เพียงแต่ว่าอาจจะมีงบประมาณจำนวนมาก สัดส่วนที่เราตรวจสอบเมื่อเทียบกับงบประมาณแล้วอาจจะน้อยนะครับ และท่านณัฏฐ์ชนน พูดถึงเรื่องของงบประมาณ ต้องเรียนว่าเราได้ของบประมาณแต่ละปีลำดับการตรวจสอบ หรือการส่งเสริมให้ความรู้ต่าง ๆ ปีละ ๓,๕๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อดำเนินการ เราจะถูกตัดอยู่ ประมาณปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาทได้ประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านบาท ก็จะประมาณนี้ทุก ๆ ปี ถ้าดู งบประมาณในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ผมเองก็ได้ชี้แจงนะครับว่าในแต่ละปี ๆ จะมีงบประมาณอยู่ประมาณนี้เท่านั้นเอง อันนี้ก็จะ เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้จัดทำตรงนี้ไป แล้วก็ให้ความสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้ความรู้อย่างที่ ท่านได้นำเรียนว่าคนทำงานจริง ๆ แล้วมีความตั้งใจ อาจจะมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง บ้างก็ไม่อยากเห็นเขาถูกดำเนินคดี สำนักงานเองปัจจุบันนี้ไม่มีการดำเนินคดีกับใครทั้งสิ้น ถ้าพบแล้วก็ต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ถ้าทุจริตก็ไปเรื่อง ป.ป.ช. ถ้าต้องหา ผู้รับผิดชอบชดใช้ก็ส่งให้หน่วยงาน หรือดำเนินการทางวินัยก็ส่งให้หน่วยงานดำเนินการ อันนี้ก็ต้องเรียนในภาพรวมอย่างนี้ครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอบคุณทาง สตง. ที่ชี้แจงอย่างละเอียด รอบคอบ แล้วก็ตอบทุกท่านเลย เป็นประโยชน์มาก ๆ นะครับ สมาชิกครับ เราได้ฟังการรายงานเรียบร้อยแล้ว สมาชิกได้ อภิปรายครบถ้วนแล้วก็ถือว่าสมาชิกได้รับทราบรายงานประจำปีของทาง สตง. กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้เกียรติสภานะครับ ผมขอเข้าสู่วาระต่อไปนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๗ รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ศาลรัฐธรรมนูญ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อทางสภานะครับ ก็ขอเชิญผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุมครับ ท่านพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ท่านสุทธิรักษ์ ทรงศิวิไล รองเลขาธิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ท่านบุญเสริม นาคสาร รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ท่านอดิเทพ อุยยะพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคดี ท่านพรพิมล นิลทจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหาร ท่านสิวะพร เฉลิมวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ และท่านธรรมรงค์ จันทร์ดำ ผู้อำนวยการ สำนักมาตรฐานคดีรัฐธรรมนูญ ท่านสมาชิกที่จะอภิปรายนะครับตอนนี้มีทั้งหมด ๙ ท่าน ท่านที่สนใจจะอภิปรายเพิ่มเติมก็สามารถลงชื่อได้ที่หน้าบัลลังก์ครับ ถ้าผู้ชี้แจงพร้อมแล้ว เชิญแถลงต่อสภาได้เลยครับ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติค่ะ ดิฉัน นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยคณะ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอสรุปรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้ค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

การเสนอผลการปฏิบัติงานและรายงานการสอบบัญชีต่อสภาผู้แทนราษฎร ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ โดยในรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ หน่วยงานได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี งบเงินอุดหนุน จำนวน ๓๖๑,๑๓๖,๗๐๐ บาท โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน ๑๗๘,๐๕๖,๗๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน ๗๖,๓๔๔,๙๐๐ บาท และค่าครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง จำนวน ๑๐๖,๗๓๕,๑๐๐ บาท เพื่อใช้จ่ายในแผนงาน บุคลากรภาครัฐ และแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ภาครัฐ ทั้งนี้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีงบค้างเบิก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน ๑๘๕,๔๔๑,๕๙๔.๘๙ บาท มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน ๑๓๓,๐๐๐,๔๘๒ บาทเศษ คิดเป็นร้อยละ ๗๑.๙๘ เปอร์เซ็นต์ คงเหลือเป็นร้อยละประมาณ ๒๘ เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ผลการดำเนินงานคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในปี ๒๕๖๕ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ มีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

มีคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๔ เรื่อง แยกเป็นคดีที่ค้างพิจารณามาจากปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๒๑ เรื่อง และเป็นคดี ที่มีการยื่นในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๑๐๓ เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดีแล้วเสร็จรวมจำนวน ๑๐๔ เรื่อง แยกเป็นคดีที่มีคำวินิจฉัยในระหว่าง ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๒๔ เรื่อง และเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ไม่รับคำร้อง จำหน่ายคดี ยกคำร้องในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๘๐ เรื่อง และมีคดีที่ยังคงค้างพิจารณาเพื่อยกไปดำเนินการต่อในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ จำนวน ๒๐ เรื่อง สำหรับผลการดำเนินงานในเรื่องของสิ่งพิมพ์และสื่อประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญ ประกอบด้วยหลายโครงการนะคะ อันได้แก่ โครงการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้ ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในยุค Digital โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญสำหรับผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางหู การจัดพิมพ์เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้สู่ประชาชนนะคะ และกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับผลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยี Digital ประกอบด้วย โครงการ พัฒนาระบบศูนย์รวมคำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก โครงการพัฒนาระบบ ตอบคำถามอัตโนมัติอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และบริการ ศาลรัฐธรรมนูญอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีโครงการในเรื่องของการจัดหาระบบศูนย์สำรอง สารสนเทศ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาความปลอดภัยในการให้บริการระบบ เครือข่ายสารสนเทศสู่ยุค Digital ของศาลรัฐธรรมนูญ โครงการปรับปรุงห้อง ศูนย์คอมพิวเตอร์แม่ข่ายและระบบเครือข่ายเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการระบบ สารสนเทศและศูนย์ข้อมูล Digital ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีผลงาน การดำเนินการทางด้านวิจัยนะคะ โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดทำด้านวิจัย ๕ เรื่อง อันได้แก่

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง ข้อยกเว้นเรื่องการกระทำที่ไม่อยู่ในอำนาจ พิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

โครงการที่ ๒ คือศึกษาวิจัย เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๓ ในกรณีการละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือเสียหายทางจิตใจ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

โครงการศึกษาวิจัยเรื่องที่ ๓ เรื่อง ผลผูกพันของคำตัดสินของ ศาลรัฐธรรมนูญ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

โครงการศึกษาวิจัยเรื่องที่ ๔ เรื่อง กระบวนการและรูปแบบการจัดทำ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

โครงการศึกษาวิจัยเรื่องที่ ๕ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เรายังมีโครงการให้ทุนสนับสนุนการจัดทำ วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ ได้มี การจัดทุนวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน ๕ ทุน

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ผลงานในด้านอื่นก็คือผลงานในเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยในการดำเนินการ สำนักงานได้จัดตามโครงการตามกลุ่มเป้าหมายที่เราจะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

กลุ่มแรก คือผู้นำองค์กรนะคะ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีโครงการ อบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย นธป. รุ่นที่ ๑๐

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีโครงการส่งเสริม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นิสิตนักศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำโครงการบูรณาการเสริมสร้างความรู้สู่ประชาชนในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ โครงการเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมาย วันรพี ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยตามหลักนิติธรรม โครงการพัฒนายุวชนศาลรัฐธรรมนูญ รุ่นที่ ๗

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มี โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการอำนวยความยุติธรรมของ ศาลรัฐธรรมนูญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

กลุ่มเป้าหมายผู้พิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีโครงการ ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญสำหรับผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางหูค่ะ ขออนุญาตจบสรุปรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังนี้

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณมากครับ ต่อไปเป็นการอภิปรายซักถามของทางเพื่อนสมาชิกนะครับ เชิญท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ขออภิปรายรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่ผมขอตั้งข้อสังเกตต่อรายงาน คือเรื่องหลักสูตรการอบรม โดยวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชื่อว่าหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย หรือ นธป. ที่ปัจจุบันเปิดมาได้ ๑๑ รุ่นแล้ว ซึ่งว่ากันตรง ๆ หลักสูตรที่เปิดขึ้นมาโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ผูกพันในการวินิจฉัยไปยังทุกองค์กรในประเทศไทย ซึ่งก็หลักสูตร ที่ลงข่าวอยู่อย่างต่อเนื่องว่าเป็นหลักสูตรที่มี Concept ว่าสร้างความรู้คู่ Connection อันนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่ OK ไหมกับองค์กรที่ควรจะวางตัวเป็นกลาง แต่สร้างหลักสูตร สร้าง Connection ขึ้นมา ที่หนักเลยคือในหลักสูตรนี้แรก ๆ ท่าน สส. รังสิมันต์ โรม ได้อภิปรายไว้ตอนปี ๒๕๖๒ ของรายงานว่าได้มีการจัดเอาข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ มาร่วมรุ่นเรียนหลักสูตรเดียวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปใน ๓ รุ่นแรก จนอาจจะเกิด ข้อกังขาใดว่าเมื่อมีหลักสูตรที่ได้ไปเรียน ไปอบรม ไปดูงานอะไรต่าง ๆ ร่วมกันแบบนี้ จะส่งผลต่อการที่จะวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รุ่นหลัง ๆ มาผมพบว่าไม่ได้มีการเอาตุลาการศาลรัฐธรรมมนูญท่านอื่น ๆ มานั่งด้วยกันอีก ก็คิดว่าคงมีการปรับปรุงแล้ว น่าจะเบาใจได้มากขึ้น แต่พอดีว่าผมเป็นคนที่ชอบสืบค้นหา อะไรที่น่าสนใจ พอผมอ่านรายงานฉบับนี้เกี่ยวกับเรื่องหลักสูตร นธป. รุ่นที่ ๑๐ ก็มีคนดัง ๆ มารวมเรียนกันมากนะครับ เป็นหลักสูตรที่เชิดหน้าชูตาอย่างที่บอก กลับมีในรายงานนี้น้อย มากครับ มีหน้าเดียว ก็เลยไปพยายามสืบหาต่อในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีรายงานการไปดูงานที่น่าสนใจมาก ๆ คือต้องมีการไปดูงาน ๒ ครั้งในหลักสูตร ผมขอ ยกกรณีการไปศึกษาดูงานที่ประเทศฮังการีในวันที่ ๑-๘ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ท่านประธานครับ ผมขอให้ดูใน Slide นะครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ใน TOR การกำหนดการของการดูงาน จะพบว่าในหลาย ๆ วัน หลาย ๆ ช่วงเวลาขาดหายไป คือมันขาดได้ละครับ เพราะว่าเอาเข้า จริง ๆ การดูงานตามหลักสูตร ดูแค่ ๖ ชั่วโมงก็จะครบถ้วนตามหลักสูตร แต่ทีนี้ไปดูกัน ๗ วันครับ ดูงาน ๖ ชั่วโมง แต่ไปกัน ๗ วัน ผมก็เลยลองหารายละเอียดดูก็พบว่า ช่วงบ่าย ตั้งแต่อาหารเที่ยงถึงอาหารเย็นนี่ ถ้าเกิดไม่มีการเดินทางหายไปหมดเลยครับในช่วงตาราง การเดินทางไปศึกษาดูงาน หายไปเลยไม่แน่ว่าหายไปไหน หายไปทำอะไร และอันนี้เป็น การไปดูงานที่เท่าที่ผมดูก็มีงบหลวงนะครับ นี่คือผมขอตั้งข้อสังเกตแรกว่ามีการตั้งงบหลวง เอาผู้ที่เข้าอบรมหลักสูตร ไปเที่ยวกันหรือเปล่าครับ ผมลองหาเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ดูว่า การดูงานแบบเดียวกันที่ต้องไปยุโรปเหมือนกันก็พบว่าใน นธป. รุ่น ๑๑ ก็มีคนดัง ๆ เพียบ เหมือนกันอันนี้ที่ดังมาก ๆ ก็น่าจะเป็นท่านว่าที่ ผบ.ตร. นะครับ กับนายแพทย์อีกท่านที่เรา เห็นหน้าบ่อย ๆ ตอนช่วงโควิด ก็ดีครับยังไม่มีท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมอยู่ในนี้ เขาไปไหนกันบ้าง ก็พบว่าในรายงานของรุ่น ๑๑ ที่ไปมาก็เบลเยียมกับลักเซมเบิร์กนะครับ เรื่องนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินเลยนะครับ ในกำหนดการ Highlight ที่เขียน ไว้ว่าขึ้นเครื่องที่ Counter A อันนี้เฉพาะ First Class กับ Business Class ใช่ไหมครับ ในงบดูงาน ๒ ล้านกว่าบาท ตามยอดผู้ไปดูงานตกหัวละไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท แปลก ๆ นะครับ Business Class First Class นี่น่าจะ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าบาทต่อท่านนะครับ แล้วกำหนดการ ก็เอาอีกแล้วครับ ไปดูนิดหน่อย ดูนิดเดียว บางช่วงบางวันนี่เขียนเลยนะครับ กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วไปกินข้าวเย็นต่อเลย ช่วงบ่ายหายไปหมดเลย ผมก็ไม่ทราบว่าไปที่ไหนกันนะครับ ก็เลยลองพยายามดูว่านอกจากผู้ที่ไปร่วมหลักสูตรมีใครไปบ้าง ท่านเลขาก็ไป ผมเห็นชื่อ เหมือนกัน ท่านเลขามาชี้แจงวันนี้ด้วยมีชื่ออยู่ แล้วก็มีรุ่นพี่ นธป. ไปกับ Trip นี้ด้วยครับ นั่นก็คือท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญครับ ท่านตุลาการศาลรัฐธรรมมนูญครับ นำ Trip ไปเองเลยนะครับ อยู่ด้วยกัน ๗ วัน ด้วยงบหลวงที่ยุโรป คราวแรกที่ไปเรียนด้วยกันแล้วพอ โดนตั้งข้อสงสัยก็เลยเปลี่ยนจากไปเรียนด้วยกันเป็นไป Tour ด้วยกันหรือครับ ผมก็อุตส่าห์ ดีใจว่าพอท่านไม่ลงเรียนแล้วก็จะได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางอย่างแท้จริง ที่ไหนได้ก็ยังอยู่ใน Trip เดียวกันไปยุโรปด้วยกัน ๗ วันด้วยกัน อย่างไรผมฝากท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงด้วยว่า งบที่ไปเป็นงบหลวงทั้งหมด หรือมีงบอะไรอีก ใช้งบรับรองหรือไม่ ใช้จากส่วนใด ท่านชี้แจง ไว้ตรงนี้ก็ดี เพราะ Trip หน้าวันที่จะไปเกาหลีกันนี่ตามหลักสูตร วันอาทิตย์นี้บินแล้วนี่ครับ เดี๋ยวก็ต้องโดนถามอีกนะครับว่า ตกลงนี่งบหลวงเอามาสร้างหลักสูตรทำ Connection ทำ Tour ให้คนสงสัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอางบมาทำแบบนี้จะหาความเป็นกลาง และความโปร่งใสได้อย่างไร ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ในการรับทราบรายงานนี้ขอให้เราซักถามด้วยความเคารพผู้ที่มา ชี้แจงด้วยนะครับ ต้องระมัดระวังการเสียดสี ไปที่ประเด็นเลยนะครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน สาทร และราชเทวีค่ะ วันนี้ดิฉันจะมาอภิปรายเกี่ยวกับรายงานของการปฏิบัติงานและงบประมาณ ศาลรัฐธรรมนูญค่ะขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปเลยค่ะ ในประเด็นแรกนะคะ ดิฉันอยากอภิปรายเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ของศาลรัฐธรรมนูญค่ะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่อยู่หลายประการ โดยหนึ่งในอำนาจของ ศาลรัฐธรรมนูญคือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย การคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชนบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ที่บัญญัติว่าผู้ซึ่งถูกละเมิด สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี คำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติใน พ.ร.ป. หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จากรายงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่านับตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ เรื่องที่ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดคือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ค่ะท่านประธาน โดยในปี ๒๕๖๕ มีคำร้องเกี่ยวกับมาตรา ๒๑๓ มากกว่า ๗๐ คำร้องค่ะ แต่ก็เป็นที่ น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งนะคะที่การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ นั้นโดยส่วนใหญ่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องและจำหน่ายคดีค่ะท่านประธาน โดยมิได้พิจารณาลงไปในเนื้อหาสาระว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ไว้หรือไม่ เหตุผลที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องและจำหน่ายคดีเกิดจากการไม่ได้ปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับที่ผู้ร้องจะต้องส่งเรื่องให้ ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสียก่อน

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในปี ๒๕๖๕ ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่จำหน่ายคดีสูงถึง ๗๐ คดี หรือให้พูดง่าย ๆ คือเกือบทุกคดีค่ะท่านประธานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนคนไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องและจำหน่ายคดีปัญหานี้ เป็นปัญหาเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนดำเนินการก่อนที่ประชาชนจะยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันเห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก อำนวยความยุติธรรมให้กับ ประชาชนคนไทย ให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แต่ในความเป็นจริงนั้น ณ ขณะนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคค่ะ ดิฉันขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ค่ะท่านประธาน ด้วยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือแนวทางการดำเนินการที่ถูกต้องให้กับประชาชนค่ะ และในกรณีที่เห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณำ ของศาลรัฐธรรมนูญนี้สร้างภาระเกินสมควรแก่ประชาชนก็ควรจะเสนอแก้ไขข้อบัญญัติ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคนี้ให้สมกับค่านิยมของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่ายึดหลักนิติธรรม ค้ำจุน ประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในประเด็นถัดไปนะคะ ดิฉันจะอภิปรายถึงการประเมินความพึงพอใจ ของประชาชน โดยขอกล่าวถึงบทวิเคราะห์รายงานการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ หรือ Government Evaluation System GES ค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนมิติภายนอก การประเมินคุณภาพความพึงพอใจและความรู้ความเข้าใจ ของประชาชนที่มีต่อการบริการและภารกิจของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตามรายงาน ประจำปี สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้มี ส่วนได้ส่วนเสียเพื่อได้นำมาปรับปรุงคุณภาพในการบริการและการดำเนินภารกิจเป็นประจำ ทุกปี มีการดำเนินโครงการสำคัญดังนี้

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. โครงการการพัฒนาเผยแพร่ความรู้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญในยุค Digital

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับระบบ การปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ดิฉันเห็นว่าในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ผลของคำวินิจฉัยย่อมส่งผลกระทบ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อมกับประชาชนทุกคน ประชาชนทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับ การศึกษาวิจัยของศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ โดยศาสตราจารย์ Albert H. Chen อธิการบดีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง พบว่าหนึ่งในตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็น ถึงความสำเร็จของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศต่าง ๆ คือความเชื่อมั่น ความพึงพอใจ ของประชาชนโดยทั่วไป การทำหน้าที่และวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอความเห็นผ่านท่านประธานไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญว่าควรมีการเพิ่มการประเมินความเชื่อมั่น และความพึงพอใจในการปฏิบัติ หน้าที่ และการทำคำวินิจฉัยในคดีสำคัญ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วม นำความคิดเห็นเหล่านั้นไปเป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขอยกกรณีตัวอย่างในปี ๒๕๖๕ ที่มีคดี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีมาครบ ๘ ปีแล้ว หากได้มีความประเมินความเชื่อมั่นและความพึงพอใจ ในการปฏิบัติหน้าที่และผลของคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ดิฉันเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับ ทราบความเห็นของประชาชนโดยทั่วไป ว่ามีความเชื่อมั่นและความพึงพอใจต่อการปฏิบัติ หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับผลของคำวินิจฉัยนี้ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลความเห็นของประชาชนเหล่านี้ไปปรับปรุงแก้ไขพัฒนาองค์กรต่อไป ใกล้จะจบแล้วค่ะท่านประธาน ขออภัยด้วยค่ะ เนื่องด้วยเวลานี้ได้มีกระแสสังคม วิพากษ์วิจารณ์และนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรคในการขอแก้ไขจัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่ ดิฉันจึงขอโอกาสนี้ในการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องสักเล็กน้อย ที่ได้คำเสนอแนะมาจากศาสตราจารย์ Albert H. Chen ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ดิฉัน ได้กล่าวก่อนหน้านี้ งานวิจัยฉบับนี้ได้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญของ ๗ ประเทศในเอเชีย ประกอบไปด้วย ไต้หวัน เกาหลี มองโกเลีย กัมพูชา ไทย อินโดนีเซีย และเมียนมา และได้ข้อสรุปว่าประเทศที่ศาลรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จที่สุด คือเกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เป็นห่วงเพราะมีขอบเขต อำนาจที่กว้างมาก มีการตุลาการภิวัตน์ที่ค่อนข้างสูง หรือการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดี และไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตที่ประเทศไทยเป็นเช่นนี้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลทางการเมือง โดยมีปัจจัยพิจารณา คือ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. ขอบเขตอำนาจ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. ตุลาการภิวัตน์ หรือที่เรียกว่า Judicial Activism

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. ความเป็นอิสระ หรือ Judicial independence

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๔. ความเกี่ยวพันกับการเมืองระดับมหภาค หรือ Involvement in Mega Politics

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๕. ความคาดหวังต่อประชาชนในหลักนิติธรรม หรือที่เรียกว่า Rules of Law

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๖. การพิจารณาคดีในการประกอบการยุติธรรม หรือเรียกว่า Supply of Judicialization

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๗. ความเชื่อมั่นของประชาชน หรือ Public Confidence

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

งานวิจัยดังกล่าวได้ข้อสรุปเป็นตารางดังต่อไปนี้ ตารางเปรียบเทียบที่ ๑ แกนนอน คือการแสดงถึงขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แกนตั้ง คือการแสดงให้เห็นถึง ตุลาการภิวัตน์ หรือการใช้ดุลยพินิจของศาลในการตัดสินคดีนอกเหนือตัวบทกฎหมายของ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไทยอยู่ตำแหน่งขวาบน ถ้าท่านเห็นบน Slide ของดิฉัน คือมีขอบเขตอำนาจที่กว้างมาก ตัดสินคดีเยอะแยะไปหมด และมีลักษณะของตุลาการภิวัตน์ ที่สูง คือใช้ดุลยพินิจที่อยู่นอกเหนือตัวบทกฎหมายสูงมาก ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ในขณะที่ไต้หวัน เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย มีอำนาจที่กว้าง และมี ตุลาการภิวัตน์ในระดับปานกลาง ซึ่งอยู่ในจุดกึ่งกลางของความสมดุล จากที่ศาสตราจารย์ Albert H. Chen นักวิจัยเขาได้ยกตัวอย่างมานะคะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปค่ะ จะจบแล้วนะคะ แกนนอน ความเกี่ยวพันกับการเมือง ระดับมหภาค และแกนตั้งความเป็นอิสระของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญไทยก็ได้รับ การวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ในระดับตำแหน่งขวาล่าง คือมีความเกี่ยวพันกับการเมืองระดับ มหภาค ระดับสูงค่ะ และกระบวนการพิจารณามีข้อสงสัย หรือข้อครหาถึงความเป็นอิสระ เลือกฝักเลือกฝ่ายทางการเมืองของฝั่งตุลาการ ซึ่งต่างจากไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองระดับมหภาคสูงเช่นเดียวกันนะคะ แต่มี ความเป็นอิสระที่สูงเช่นเดียวกัน หรือสถิติในการตัดสินคดีไม่ได้เลือกข้าง ไม่ได้เข้าข้าง ฝักฝ่ายการเมืองฝั่งใดทั้งนั้น แกนนอน คือการตอบสนองต่อการพิจารณาคดีที่มีปริมาณ มากหรือน้อย แกนตั้งคือความคาดหวังต่อประชาชนในหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law นั่นเอง ศาลรัฐธรรมนูญไทยอยู่ในตำแหน่งขวาล่าง ก็คือต่ำสุดเช่นเดิม ประชาชน ขาดความหวังต่อหลักนิติธรรม หมดหวังมีอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย กลับสนองตอบต่อการดำเนินการในระดับสูงกว่าที่ประชาชนคาดหวัง ก็คือพิจารณาคดี เยอะมาก ซึ่งต่างจากไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ที่ความคาดหวังของประชาชน ต่อหลักนิติธรรมอยู่ในระดับสูง แล้วก็มีการพิจารณาคดีที่สูงด้วยเช่นกันนะคะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

Slide ที่ ๔ Slide สุดท้ายแล้วค่ะ แกนนอนระดับตุลาการภิวัตน์ หรือการใช้ ดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดี และแกนตั้ง คือความเชื่อมั่น ของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญไทยอยู่ตำแหน่งขวาล่าง ความเชื่อมั่นในระดับต่ำ ลักษณะ ตุลาการภิวัตน์ ระดับสูงค่ะ และนอกจากนั้นรายงานผลการดำเนินงานประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในการเข้าร่วมโครงการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ หรือที่เรียกว่า ITA หรือว่า Integrity and Transparency Assessment ในปี ๒๕๖๕ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งไว้ในรายงาน ฉบับนี้ ว่ามีความโปร่งใสถึง ๘๙.๑๒ เปอร์เซ็นต์ ในระดับ Grade A เลย ดิฉันจะอภิปราย เกี่ยวกับข้อบกพร่องและประเด็นปัญหาของระบบการประเมินความโปร่งใส หรือที่เรียกว่า ITA ของ ป.ป.ช. ถัดไปในการอภิปราย ป.ป.ช. นะคะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

โดยสรุปได้จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะขอบเขตอำนาจที่กว้างมาก มีลักษณะตุลาการภิวัตน์ในระดับสูง มีปัญหาเรื่องความอิสระของตุลาการยึดโยงกับ ฝ่ายการเมืองใดการเมืองหนึ่ง มีการตอบสนองต่อหลักนิติธรรมสูงยิ่งกว่าความต้องการ ของประชาชน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่ในระดับต่ำค่ะ ซึ่งหากต้องการ นำข้อมูลนี้มาปรับปรุงแก้ไขโดยการลดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มความอิสระ ไม่ยึดโยงกับฝ่ายการเมือง ลดการเป็นตุลาการภิวัตน์ และตอบสนองความต้องการของ พี่น้องประชาชนในด้านหลักนิติรัฐ นิติธรรมให้สมสัดส่วน ดิฉันเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไทย จะได้รับความเคารพนับถือ มีความเชื่อมั่นจากสายตาประชาคมโลก และประชาชนไทย ให้สมกับเป็นองค์กรผู้พิทักษ์หลักการและค่านิยมตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความสงบ และระงับข้อพิพาททางการเมือง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยด้วยความชอบ ด้วยกฎหมายบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ตามที่ประชาชนและสังคม คาดหวัง ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณนะครับ เรียนท่านธิษะณาแล้วก็สมาชิกท่านใดต้องการเวลาอภิปรายเพิ่ม ก็สามารถมาแจ้งได้นะครับ ไม่ได้ Serious ว่าต้อง ๗ นาที ถ้าท่านคิดว่ามีเนื้อหาที่จำเป็น ต้องนำเสนอ แล้วก็ยังไม่ได้มีอะไรที่วนเวียน ก็สามารถใช้เวลาได้มากกว่า ๗ นาที เชิญท่านทรงยศ รามสูต ครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขออภิปรายรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงจะขอฝาก ข้อสังเกต แล้วก็สะท้อนสิ่งที่ได้รับรู้รับฟังจากพี่น้องประชาชนไปยังท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ซึ่งบางครั้งอาจจะนอกเหนือจากรายงานนี้ ไปบ้าง แต่อย่างน้อยท่านเลขาธิการก็มาแล้วอันไหนดีก็นำไปประกอบนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๑ คือในเรื่องของแผนปฏิบัติงานราชการ ๕ ปี ที่รายงานมา เป็นระยะแรก ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ซึ่งก็มีงบคงค้างอีก ๕๑ กว่าล้านบาท น่าจะเป็น ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๗ ซึ่งจะไปทำในการจัดฐานข้อมูลองค์ความรู้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายมหาชนเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการพิจารณา

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

และอันที่ ๒ โครงการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ๖ ล้านบาท อันนี้จริง ๆ น่าจะได้เยอะกว่านี้นะครับ ซึ่งเดี๋ยวผมจะอภิปรายว่าทำไมถึงต้อง ควรจะเยอะกว่านี้นะครับ ในส่วนของพันธกิจ ในส่วนที่ ๑ เขาบอกว่าจะคุ้มครองความเป็น กฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าประสงค์ คือยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน การพิจารณาคดีสู่สากล อันนี้ผมเชื่อนะครับ เพราะว่าในส่วนที่ ๓ นี้เองก็มียุทธศาสตร์ถึง ๔ ส่วนที่จะยกระดับตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ในเรื่องของการยกระดับมาตรฐานคดี งานคดี การให้ทุนไปบูรณาการ การเสริมสร้างเทคโนโลยีเหมือนอย่างที่ท่านเลขาธิการ ได้อภิปรายหลายต่อหลายอย่างนะครับ มีการพัฒนาบุคลากร มีการพัฒนาเครือข่าย มีการให้ เสริมสร้างความรู้ และพัฒนายุวชนศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ ๕ ปี แล้วก็ แผนปฏิรูปรวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ มีบางเรื่องนะครับ อย่างเช่นเมื่อสักครู่มันอาจจะซ้ำประเด็นเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วในเรื่องของงบอบรม คงจะไม่อภิปรายอีก แต่ก็ฝากไว้นิดหนึ่งว่าดัชนีความคุ้มค่าของการอบรมต่องบประมาณ ที่ลงไปได้มีการสืบหรือว่าพิจารณาแค่ไหน เพียงไรนะครับ อันนี้ก็ฝากไว้ แต่ส่วนที่ ผมอยากจะฝากข้อสังเกตก็คือ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ในส่วนของส่วนที่ ๑ ในเป้าประสงค์ที่ ๔ คือทำอย่างไรให้ประชาชน มีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับในองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ศรัทธาต่อนิติบัญญัติกับบริหารอาจจะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามดัชนีประชาธิปไตยครึ่งใบ ค่อนใบ แต่ระดับของศาลต้องยอมรับว่าช่วงหลังดัชนีความศรัทธาเชื่อมั่นเริ่มลดลงเราก็ต้อง มาดูว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไรนะครับ เรามีองค์กรอิสระเกิดขึ้นมากมายเพื่อแบ่งเบาภาระ ของศาล แล้วก็ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น แต่ทำไมพี่น้องประชาชนถึงเกิด เสื่อมศรัทธาในระบบศาล ผมมาดูแล้วสาเหตุใหญ่ก็เกิดจากว่าในกระบวนการตัดสิน หลายต่อหลายครั้ง ผมเชื่อในการตัดสินใจของแต่ละท่าน ถูกต้อง แต่มันอาจจะไม่ถูกใจ พี่น้องประชาชน ปัญหาอยู่ตรงนี้ เวลาไม่ถูกใจต้องยอมรับว่าบางครั้งบางคราในศาล หรือในองค์คณะทั้ง ๙ ของท่าน หรือทุกที่ก็มีความเห็นแย้ง ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ทำอย่างไรที่ท่านทั้งหลายจะทำบรรทัดฐานลงไป ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบ และบังเอิญที่ผ่าน ๆ มาในบรรดากระบวนการตัดสินทั้งหลาย รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย เวลาพิจารณามันมักจะเป็นคุณให้กับฝ่ายหนึ่ง และมักจะเป็น โทษให้อีกฝ่ายหนึ่ง มันถึงนำไปสู่คำว่าสองมาตรฐาน มันถึงทำให้บ้านเมืองมันมีปัญหานะครับ หลายเรื่องข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน แต่ผลการพิจารณาแตกต่างกัน แค่คนละช่วงเวลา เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมก็อยากจะฝากให้พิจารณา เมื่อสักครู่ท่านบอกว่าเรื่องคำวินิจฉัย แล้วก็ คำสั่งในเรื่องของบรรทัดฐาน คำวินิจฉัยและบรรทัดฐานของคำสั่ง ผมอยากจะให้เพิ่มนะครับ ตรงไหนที่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ท่านบรรยาย หรืออธิบายให้คนได้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เพราะเหตุอะไร ตรงนี้ ๆ มันถึงตัดสินที่แตกต่างกันนะครับ ผมไม่ก้าวล่วงถึงผลของ การวินิจฉัย แต่บรรทัดฐานที่จะอธิบายให้พี่น้องประชาชนได้ทราบ ขนาดคนเรียนกฎหมาย มายังสงสัยเลย และนับประสาอะไรกับพี่น้องประชาชนนะครับ ผมอยากจะฝากไว้ตรงนี้ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ สมัยนั้น สมัยยุบพรรคไทยรักไทยตอนนั้นเรื่องยุบพรรคอยู่ที่ศาล พอเกิดปฏิวัติรัฐประหาร ธรรมนูญศาล กระบวนการรัฐธรรมนูญก็ตั้งขึ้นมาว่าถ้ายุบพรรค ให้ตัดสิทธิกรรมการบริหาร ทั้ง ๆ ที่โทษนี่เพิ่งมาเขียนเอาไว้ทีหลังนะครับ ซึ่งตามหลัก กฎหมายผมเรียนมากฎหมายก็ไม่มีผลย้อนหลังยกเว้นเป็นคุณ อันนี้โทษมาเขียนทีหลัง ก็ยังไปบังคับใช้คนก็เลยสับสน เพราะฉะนั้นไม่ใช่แต่ Case นี้ Case เดียว มีอีกหลายกรณี ที่พี่น้องประชาชนสงสัย เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะฝากท่านทั้งหลายได้พิจารณาในการบรรยาย ในส่วนของบรรทัดฐานของคำวินิจฉัย หรือบรรทัดฐานของคำสั่งลงรายละเอียดนะครับ โดยเฉพาะตรงไหนนี่ท่านคงจะรู้อยู่แล้วว่าความรู้สึกของพี่น้องประชาชนเรื่องนี้ เขาติดตาม เรื่องนี้เขาสงสัย ท่านต้องอธิบายให้โดยละเอียด เสริมงบประมาณไปตรงนี้ ในการประชาสัมพันธ์เขาจะได้มั่นใจนะครับ ผมอยากให้ศรัทธาของระบบศาลกลับคืนมา เพราะไม่อย่างนั้นเราอุตส่าห์มีองค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญมาแบ่งเบาภาระ ของศาลนะครับ แต่ปรากฏว่าจากคำตัดสินหลาย ๆ องค์กรที่ผ่านมามันย้อนแย้ง เหมือนอย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายคนว่ามันเหมือนมีการเข้าไปแทรกแซง แต่ผมก็เชื่อว่า ไม่มีใครแทรกแซงท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้ แต่ถ้าเกิดคำตัดสินมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันถึงเวลาไหมครับ บางครั้งบางคราอาจจะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนะครับ เขาบอกว่า ในการตัดสินขององค์กรอิสระทั้งหลาย ห้ามอุทธรณ์ ฎีกา ให้ยุติแค่นั้น ถ้าถึงเวลาจริง ๆ เพราะยังมีปัญหาอยู่นี่ผมว่าอาจจะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าให้เราสามารถฎีกา ให้ยุติในข้อกฎหมายที่องค์กรอิสระ แต่สามารถฎีกาให้ยุติในข้อเท็จจริงที่องค์กรอิสระ แต่สามารถฎีกาในข้อกฎหมายได้ เพราะผมเชื่อในคำพิพากษาของศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ ผมเรียนกฎหมายมานี่ เอามาใช้เป็นบรรทัดฐานใช้ได้อย่างเต็มที่นะครับ แต่ว่าในส่วน คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระต่าง ๆ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ จับหลักไม่ถูกนะครับ สงสารเด็กที่ เรียนกฎหมาย สงสารคนทั่ว ๆ ไป เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะฝากตรงนี้เพื่อสร้างเป็น บรรทัดฐานเพื่อที่ว่าศรัทธาของกระบวนการยุติธรรมจะได้กลับคืนมา นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็หวังว่าข้อเสนอของผมคงจะมีโอกาสที่นำให้ท่านไปพิจารณานะครับ ขอขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปิยรัฐ จงเทพ ครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระโขนง เขตบางนา กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลครับ ขออนุญาตท่านผู้ชี้แจง ขออนุญาตตั้งคำถามผ่านท่านประธานสภาไปยัง ผู้ชี้แจงนะครับ ขออนุญาตขึ้น Slide ครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

วันนี้ผมมีคำถามต่อเรื่องของ รายงานของศาลธรรมนูญ เกี่ยวกับค่าตอบแทนตุลาการศาลธรรมนูญ ผมคิดว่า ตามแผนของสำนักงานนั้น ค่าตอบแทนของตุลาการ และคณะปฏิบัติงาน รวมถึง การดำเนินงานอาจจะไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพ ตามรายงานของทางสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญ หน้า ๖๔ จะเห็นการเปรียบเทียบงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ เป็นค่าตอบแทนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะสนับสนุน การปฏิบัติงานของคณะตุลาการ รวมกันในปี ๒๕๖๔ นี้ ๕๕ ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๕ นี้ ๕๗ ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นก็เกือบ ๒-๓ ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้พูดแบบนี้ก็อาจจะไม่ยุติธรรมกับ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าเราต้องไปดูผลงาน หรือแผนงานที่ได้ดำเนินการตลอด ปี ๒๕๖๕ เทียบกับปี ๒๕๖๔ ด้วยครับ หน้าต่อไปครับ งานที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการเสนอไปยังคณะตุลาการตลอดปี ๒๕๖๔ นั้น มี ๕๑ เรื่องที่มีการพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วนปี ๒๕๖๕ นั้นมี ๘๐ เรื่อง เมื่อเป็นเรื่องที่พิจารณาแล้วเสร็จ ผลงาน หรืองานที่คณะตุลาการ ได้พิจารณาแล้วเสร็จนั้น ๘๐ เรื่อง ซึ่งแน่นอนครับมากกว่าปี ๒๕๖๔ จึงต้องใช้งบประมาณ มากขึ้นใช่หรือไม่ อันนี้คือคำถามที่ ๑ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการตั้งงบประมาณที่ว่าด้วย เรื่องค่าตอบแทนนั้นจะเป็นงบที่มอบให้กับทางตุลาการเป็นทั้งเงินเดือน แล้วก็ค่า ดำรงตำแหน่ง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการ ซึ่งแน่นอนสูงพอสมควรสำหรับความเห็น ของผม ซึ่งมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็มากกว่าผู้ชำนาญการ หรือผู้เชี่ยวชาญ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยในอัตราเมื่อเปรียบเทียบ แต่งานนั้นก็ได้มีการเพิ่มขึ้น ไม่มากนักเมื่อเทียบกัน สำหรับปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ ครับ ค่าตอบแทนที่ให้ตุลาการ เดือนละ ๑๓๐,๐๐๐ กว่าบาทนี้นะครับ ประธานคณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ได้ประมาณ ๑๓๘,๐๐๐ บาท ส่วนองค์คณะได้ท่านละ ๑๓๑,๐๐๐ บาทโดยประมาณ ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ราว ๆ ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท ฉะนั้นแล้วนี่ถือว่าเป็นค่าตอบแทน ที่สูงนะครับ แต่เหตุใดคำถามของผมถึงถามว่าไม่พอเพียงกับการดำรงชีพของ คณะตุลาการ เนื่องจากว่าเราปรากฏหลายครั้งหลายคราวครับ เกี่ยวกับกรณีที่ตุลาการ บางท่านตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ มาแล้วจนถึงปัจจุบันที่ไปรับงานพิเศษเพิ่มเติมกรณีเป็นอาจารย์ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ตั้งแต่เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่า คือฉบับปี ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีคำถามและข้อครหานี้ กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุด สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เร็ว ๆ นี้เองได้ทำ หนังสือเปิดผนึก อันนี้สภานักศึกษาของทางธรรมศาสตร์ได้ทำหนังสือถึงคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ทบทวนเพื่อให้ยุติการเชิญตุลาการบางท่านมาปฏิบัติหน้าที่เป็น อาจารย์พิเศษ เรื่องนี้ที่ต้องตั้งคำถามแบบนี้เพราะเราเป็นห่วง แต่ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจต่อ ตุลาการนะครับ เพราะว่าผมเองก็เคยร่ำเรียนกับอาจารย์หลายท่านในนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์มา หลายท่านก็เป็นอาจารย์ของผม ฉะนั้นในวันที่เราร่ำเรียนนั้นเราก็ยังตั้ง คำถามเรื่องนี้ว่าตุลาการท่านต้องการมาสั่งสอน อบรมให้กับนักศึกษาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็จริงครับ แต่ว่าผมกังวลเรื่องข้อครหาครับ ครหาที่ว่าก็คือมันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๒ หรือเปล่านะครับ เพราะกรณีนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๒ โดยเฉพาะ (๗) ระบุไว้ ชัดเจนเลยว่าเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐไม่ได้ขัดต่อคุณสมบัติของการเป็น ตุลาการนะครับ ท่านก็จะบอกว่าเคยมีคำวินิจฉัยหรือความเห็นของตุลาการแล้วว่าการเป็น ลูกจ้างนั้นเป็นการไปสอนพิเศษ หรือการไปสอนหนังสือเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่นั่นก็ยังไม่พ้นข้อครหาท่านประธานครับ เนื่องจากว่าสิ่งนี้เองก็ยัง ขัดต่อคำวินิจฉัยของท่านเอง

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

Slide สุดท้ายครับ ที่ท่านเคยวินิจฉัยให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ โดยท่านเปิดถึงพจนานุกรม ปี ๒๕๔๒ มาตีความหมายคำว่า ลูกจ้างว่า ไม่ว่าจะเป็นสัญญาหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะได้รับค่าจ้างเป็นสิ่งตอบแทน ไม่จำเป็น ต้องเป็นสินไหม เป็นเงินเป็นทองนะครับ ฉะนั้นก็ถือว่าเป็นลูกจ้าง เรื่องนี้จึงต้องตั้งคำถาม กันอย่างตรงไปตรงมาว่าเงินค่าตอบแทนของตุลาการนั้นไม่เพียงพอใช่หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ฝากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งงบประมาณเสนอ ครม. เพิ่มเงินเดือนให้กับตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นทางดีที่สุด แต่ถ้าคิดว่าไม่เหมาะสมผมคิดว่าท่านก็ทำหลักสูตรขึ้นมา อบรมให้กับนักศึกษาโดยใช้งบประมาณของทางสำนักงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะดีกว่า ดีกว่าให้ท่านตุลาการไปรับงาน หรือไปรับเชิญ แล้วรับค่าตอบแทนจากทางหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ทางอื่นซึ่งจะถูกครหานินทาในทางต่อไปได้นะครับ ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องที่ต้อง ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ฝากท่านผู้ชี้แจงผ่านท่านประธานสภาได้ชี้แจงเรื่องนี้ ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวีรนันท์ ฮวดศรี ครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขตเลือกตั้งที่ ๑ ขอนแก่น วันนี้ผมจะมาอภิปรายเรื่องรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของศาลธรรมนูญนะครับ ก่อนอื่นต้องชื่นชมที่ศาลธรรมนูญมาชี้แจง ส่งทางท่านเลขามาชี้แจงด้วยตัวเองนะครับ ประเด็นที่ผมมีข้อห่วงกังวลฝากผ่านทางท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง ก็คือรายงานฉบับนี้ ในหน้า ๕๗ ในเรื่องแผนปฏิบัติราชการ ๕ ปีของศาลธรรมนูญ ก็คือเป้าประสงค์ในหัวข้อที่ ๔ ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลธรรมนูญ คำถามของผม ก็คือว่าประชาชน จะมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร อันนี้คือคำถามนะครับ ทีนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นประชาชน เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยเรื่องความเป็นกลางก็ดีนะครับ รวมถึงเรื่องจำพวกว่าซ้ำร้าย ยังถูกกล่าวหาจากพี่น้องประชาชน หรือว่าจากหลาย ๆ ภาคส่วน ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลรัฐธรรมนูญเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองหรือเปล่านะครับ เรื่องความเคลือบแคลงสงสัยมีข้อห่วงกังวลอยู่ ๓ ประเด็น

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือเรื่องที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในมาตรา ๒๐๐ เรื่องความยึดโยงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับประชาชน

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมาเรื่องของการทำคำวินิจฉัย แล้วก็การตรวจสอบดุลยพินิจ เรื่องการทำคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เลยก็คือ ถือเสียงข้างมากของคณะตุลาการ คำถามอยู่ที่ว่าการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของ ท่านตุลาการ แล้วก็เปิดโอกาสในการทำคำวินิจฉัยมีการโต้แย้ง หรือว่าการทำคำวินิจฉัย อย่างไร หรือว่ามีหน่วยงานใดในการตรวจสอบ และประชาชนจะไว้วางใจการตรวจสอบ ดุลยพินิจของท่านตุลาการได้อย่างไร ในเมื่อท่านเป็นองค์กรที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น ๆ แต่ว่าหน่วยงานอื่น ๆ หรือว่าประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมากในการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ ของทางศาลธรรมนูญ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ประการต่อมา ในเรื่องตามรายงาน ข้อ ๒.๒ หน้าที่และอำนาจของ ศาลรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อที่ ๑ การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยธรรมนูญของร่างกฎหมายก็ดี ของพระราชบัญญัติก็ดี ที่ทางสภาผู้แทนราษฎร หรือว่าทางฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำการตราขึ้นมา ทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ตามมาตรา ๑๓๒ ประกอบมาตรา ๑๔๘ ก็ดี แต่ว่ามันมีคำถามที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง ในเรื่องของท่านเป็นผู้ตรวจสอบองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐสภาที่มาจากพี่น้องประชาชน แต่ตัวท่านเอง ตัวศาลธรรมนูญ ด้วยความเคารพนะครับท่านประธาน ฝากไปยังผู้ชี้แจงว่า ตัวศาลรัฐธรรมนูญเองที่มามีความยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก ผมไม่ได้ติดใจเรื่องของ การตรวจสอบ หรือว่าการถ่วงดุล แต่ที่ผมมีความห่วงกังวล ก็คือว่าการตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายสภา ของศาลธรรมนูญไม่ได้เชื่อมโยง หรือไม่ได้ยึดโยงกับพี่น้องประชาชน แล้วจะตอบคำถามของเป้าวัตถุประสงค์ในข้อ ๔ ได้อย่างไร ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ประการต่อมา ตามรายงานแผนยุทธศาสตร์ในหน้า ๕๘ ของรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์นั้นไม่ได้นำไปสู่เป้าประสงค์ที่ให้ประชาชน มีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลธรรมนูญเพิ่มขึ้นเลยครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ประการสุดท้าย มีข้อเสนอต่อทางผู้มาชี้แจงท่านประธานครับ ในเรื่องที่ ผมอยากเห็นในรายงานฉบับหน้า ในเวลาต่อไปนี้เราจะมีเรื่องของวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่จะถือว่าเป็นวาระหลัก ผมอยากเห็นในเรื่องของข้อเสนอแนะ หรือโครงการวิจัย งานชี้แจงที่มาของตุลาการศาลธรรมนูญจะยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร เรื่องความได้ สัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นองค์คณะของตุลาการศาลธรรมนูญ หรือเรื่องของโครงการ ทำวิจัย การตรวจสอบดุลยพินิจ หรือคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญว่าจะมีองค์กร หรือว่า หน่วยงานที่ตรวจสอบ หรือว่าการถ่วงดุลของทางศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร สุดท้าย เมื่อที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับพี่น้องประชาชนแล้ว เรื่องข้อครหา เรื่องคำวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การทำคำวินิจฉัยต่าง ๆ ว่าถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ หรือว่าข้อครหาอื่น ๆ จะลดลงไปนะครับ และความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญของพี่น้องประชาชนจะมาเอง ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านต่อไปนะครับ ท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ เชิญครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานของศาลรัฐธรรมนูญ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งดิฉันขอตั้งชื่อว่าแผนปฏิบัติราชการ Jigsaw แห่งความล้มเหลว ท่านประธานคะ ก่อนอื่น ดิฉันขออนุญาตชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่านเปิดไปดูรายงานฉบับนี้ในหน้า ๕๗ ซึ่งเราจะเห็น แผนผังการปฏิบัติราชการที่เป็นรูป Jigsaw ๕ ชิ้นแบบนี้ที่ถูกวาดฝันไว้อย่างสวยงาม แต่ในภาพความเป็นจริงที่ปรากฏต่อสายตาดิฉัน และพ่อแม่พี่น้องประชาชนกลับไม่ได้เป็น เช่นนั้น ในการอภิปรายครั้งนี้ดิฉันจะพูดถึง Jigsaw ๓ ชิ้นสำคัญ คือวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

Jigsaw ชิ้นที่ ๑ คือวิสัยทัศน์ของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวไว้ว่าจะเป็นสถาบัน ที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญในระดับสากล ประเด็นนี้ดิฉันอยากจะฝากท่านประธานตั้งคำถามผ่านไป ยังศาลธรรมนูญว่าท่านจะเป็นองค์กรที่เทียบเท่า หรือแม้แต่เฉียดเข้าไปใกล้ในระดับสากล ได้อย่างไร ในเมื่อที่มาของท่านนั้นแตกต่างกับที่มาของศาลรัฐธรรมนูญในนานาอารยประเทศ อย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของ สภาผู้แทนราษฎร ตุลาการอีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกของวุฒิสภา โดยที่ทั้งสองสภานี้ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หันกลับมามองที่ศาลธรรมนูญของประเทศไทย มาจาก การเลือกตั้งของวุฒิสภาเท่านั้น ซึ่งเราก็ทราบกันเป็นอย่างดีว่าในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ นี้ วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มามีความเกี่ยวข้องยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น แค่ประเด็นในเรื่องที่มาท่านก็ไม่เป็นสากลแล้วค่ะ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มี ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหาที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และขาดความเป็นสากล อย่างชัดเจนอีกนะคะ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

Jigsaw ชิ้นที่ ๒ คือพันธกิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะคุ้มครอง ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยยึดหลักนิติธรรม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สำหรับพันธกิจการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น ด้วยความสัตย์จริงค่ะ ดิฉันคิดว่าท่านล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากจะยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนดิฉันต้อง ขออนุญาตยกตัวอย่าง กรณีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญว่าด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่ให้สิทธิการสมรสเฉพาะหญิงและชายเท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิสมรสแก่บุคคล ต่อบุคคลนะคะ แน่นอนค่ะกฎหมายข้อนี้ลิดรอนสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ที่ควรจะได้รับสิทธิอย่างเสมอภาค เท่าเทียมต่อหน้ากฎหมายเดียวกัน โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศมากำหนด แต่เมื่อได้ทำคำร้อง ไปยังศาลธรรมนูญศาลกลับมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายมาตรานี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ เมื่อดิฉันเปิดอ่านรายงานฉบับนี้นะคะ ก็พบว่ามีการจัดอบรมให้ความรู้บุคลากรหลายต่อหลาย หน่วยงาน หลายโครงการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ดิฉันจึงมีข้อสงสัย ฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงนะคะ ถึงความจริงจัง และจริงใจ ว่าท่านมีมากแค่ไหน ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชน

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

Jigsaw ชิ้นที่ ๓ เป้าประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรายงานฉบับนี้มีอยู่ ๔ ข้อ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ข้อแรก คือการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการพิจารณาคดี ในส่วนนี้ ดิฉันอยากจะกล่าวถึงผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๕ ที่มีคดีค้าง การพิจารณาจากปีก่อนหน้านี้ ๒๑ คดี และในปี ๒๕๖๕ ก็มีคดีค้างอีก ๒๐ คดีมาพิจารณา ปี ๒๕๖๖ ตามรายงานฉบับนี้เราจะเห็นเพียงสถิติเท่านั้นนะคะ แต่สิ่งที่ดิฉันอยากจะเห็น ในรายงานในปีต่อ ๆ ไป ก็คือปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้มีคดีค้างการพิจารณา ข้ามปีงบประมาณแบบนี้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ระยะเวลาเฉลี่ยที่จะทำคำวินิจฉัยสำเร็จนี่ ทำเสร็จภายในกรอบเวลาเท่าไร กี่เดือน หรือการยกคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญสามารถ จำแนกได้หรือไม่ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ซึ่งจะสามารถยกระดับการทำงาน และมาตรฐานการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการตรวจสอบด้วย

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ เป้าประสงค์ของการเสริมสร้างการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ องค์กรให้มีความเข้มแข็ง ในข้อนี้ดิฉันคิดว่าพื้นฐานของการบริหารจัดการองค์กรอย่างมี คุณภาพนั้นต้องมีจุดเริ่มต้นจากการจัดสรรงบประมาณอย่างสมเหตุสมผลและตรงจุด แต่จากรายงานฉบับนี้เห็นว่าการใช้จ่ายงบประมาณยังมีหลายจุดที่ดิฉันตั้งข้อสงสัย ค่ะท่านประธาน หนึ่งในนั้นคือค่าใช้จ่ายด้านที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่า ๔๔ ล้านบาท ดิฉันสงสัยมาก เพราะว่าศาลธรรมนูญและสำนักงานศาลธรรมนูญตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และไม่มีสำนักงานอยู่ที่ต่างจังหวัด จังหวัดอื่น ๆ ก็ไม่ได้เห็นว่ามีความจำเป็น จะต้องมีโครงการการก่อสร้างอะไรมากมายนะคะ เหตุใดถึงมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ดิฉันก็ไปค้นพบ ข้อมูลที่ว่าค่าใช้จ่ายนี้เกี่ยวกับการปรับปรุงบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่เขตพระนคร ใกล้ ๆ นี้นะคะ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของศาลธรรมนูญ โดยที่ทางสำนักงานตั้งใจว่าจะบูรณะให้เป็น พิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางพรรคก้าวไกลเคยให้ความเห็นไว้ถึงความจำเป็นและการถือครองทรัพย์สิน ชิ้นนี้ เพราะว่ามันจำเป็นแค่ไหน และมันไม่ได้มีภารกิจโดยตรงของสำนักงานศาลธรรมนูญเลย จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ก็อยู่ไกลจากศาลมาก บุคลากรที่ทางสำนักงานจัดสรรไว้ดูแลก็มีเพียง ๕ คน เหตุใดต้องมาตั้งงบประมาณมากถึงขนาดนี้เพื่อปรับปรุงอาคาร ดิฉันจึงอยากจะ ฝากท่านประธานอีก ๑ ข้อผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าท่านมีแนวทางในการทบทวนหรือไม่ ว่าจะคืนทรัพย์สินนี้ให้เป็นของแผ่นดิน เพื่อให้หน่วยงานที่มีความสามารถเข้ามาดูแล

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เป้าประสงค์ข้อที่ ๓ เรื่องบุคลากรจะมีความสามารถควบคู่คุณธรรม และจริยธรรม ในข้อนี้ดิฉันไม่ได้มีความกังขาใด ๆ ในความสามารถของบุคลากรในองค์กร ของท่าน แต่ดิฉันมีความกังวลต่อประเด็นความเป็นอิสระ และความเป็นกลางขององค์กร ทั้งเรื่องที่เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลได้อภิปราย แล้วก็เรื่องที่สามารถมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ เป็นข้าราชการระดับสูงที่อยู่ในสังกัดองค์กรอื่น ๆ ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่องค์กรศาลอื่น ๆ อย่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองไม่มี

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เป้าประสงค์ข้อที่ ๔ ข้อสุดท้าย คือเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธา ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนอื่นต้องบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วกันว่า เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตุลาการ และคำวินิจฉัยนี้ผูกพันกับองค์กรของรัฐ ทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา ฝ่ายบริหาร และศาลอื่น ๆ หากแต่ไม่มีองค์กรใดสามารถเข้ามา ตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ดิฉันจึงอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยัง ผู้ชี้แจงว่าท่านจำเป็นจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคม รับฟังประชาชนว่าประชาชน พูดอะไรบ้าง หากท่านไม่ฟังเลยองค์กรจะเกิดวิกฤติศรัทธามากขึ้นไปเรื่อย ๆ ท่านต้อง พิจารณาทบทวนตัวเองบ้างว่าคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นหรือไม่ ทำไมยิ่งนานวันยิ่งมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ จากตุลาการภิวัตน์ในวันนั้น มาจนถึงนิติสงคราม ในวันนี้ แน่นอนค่ะประชาชนควรมีสิทธิคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมที่สมเหตุสมผล ถ้าคนทั้งแผ่นดินบอกว่าดูอย่างไรก็ไม่เป็นธรรม ท่านก็ต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ท่านได้ใช้อำนาจวินิจฉัยตามหลักนิติธรรมและอำนาจที่ได้รับมอบมาจากประชาชนหรือไม่ เพราะสุดท้ายศาลต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน ศาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ศาลไม่สามารถอ้างอิงอำนาจอธิปไตยจากแหล่งอื่นได้เลย เพราะประชาธิปไตยมาจาก ประชาชนและตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชนค่ะ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ดิฉันมีคำแนะนำด้วยความปรารถนาดีที่อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยัง ผู้ชี้แจงว่า ท่านควรที่จะรีบเรียกคืนความเชื่อมั่นและกู้ศรัทธาประชาชนกลับคืนมา ไม่ใช่เพียง เพื่อองค์กรของท่านเท่านั้น แต่หมายถึงต่อระบบกฎหมายทั้งหมดของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนยังคงมองเห็นแสงสว่างแห่งความหวังและเชื่อว่าสังคมนี้ยังมีความยุติธรรม อยู่บ้างไม่มากก็น้อย จากแผนปฏิบัติการ Jigsaw แห่งความล้มเหลวที่ดิฉันได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีในด้านที่ ๖ ซึ่งคือการพัฒนาระบบการบริหาร จัดการภาครัฐ โดยที่ท่านตั้งเป้าหมายไว้ว่าหน่วยงานของท่านจะมีการทำงานที่มุ่งไปที่ ผลสัมฤทธิ์ และผลประโยชน์ส่วนรวม และตอบสนองความต้องการของประชาชน

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สุดท้ายดิฉันอยากจะให้ท่าน Highlight ประโยคเมื่อสักครู่นี้แล้วลองอ่าน ทบทวนซ้ำ ๆ แล้วลองนึกดูดี ๆ ว่านับเฉพาะแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ท่านทำลายความหวัง และความฝันของประชาชนไปมากขนาดไหนแล้ว หากในรายงานฉบับนี้ท่านตั้งเป้าหมายไว้ว่า ท่านจะไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ดิฉันคงใช้เวลา ๗ นาทีนี้ในการกล่าว สรรเสริญและชื่นชมผลงานที่ท่านได้ทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรังสิมันต์ โรม ครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ผม รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ สิ่งที่เราคาดหวังจาก ศาลรัฐธรรมนูญ คือศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นองค์กรที่คอยพิทักษ์รักษาหลักการ ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพอันถูกรับรองและคุ้มครองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงผลงานในการยุบพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ถอดถอนนักการเมือง ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การกระทำดังกล่าวล้วนถูกตั้งคำถามในสังคมว่า เป็นการใช้อำนาจที่เป็นการสนองต่อวาระ ของผู้มีอำนาจที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับพี่น้องประชาชนและผู้แทนของประชาชน ไม่ได้ เป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่เป็นการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปกป้องสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ แม้กระทั่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตามรายงานฉบับนี้ ผมขอยก ๒ คำวินิจฉัย แรกสุดครับ คำวินิจฉัยที่ ๖/๒๕๖๕ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ให้ อำนาจรัฐบาลออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุม หรือสั่งห้ามการกระทำใด ๆ เพื่อรักษา ความมั่นคงของรัฐนั้น ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในส่วนของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ในขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้น คือรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ปราบปราม ผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ โดยเฉพาะเป็นการประกาศขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบ หรือทัดทานได้เลย ซึ่งขณะนั้นมีเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร ไม่มีใครตรวจสอบได้ ปรากฏต่อไปว่ามีการระดมสรรพกำลัง อาวุธ แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง ทั้งหมดนี้กระหน่ำใส่พี่น้องประชาชน นี่คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายล้าง ผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีส่วนในการรับรองการกระทำนี้ของ รัฐบาลด้วย ไม่ทราบว่าสอดคล้องอย่างไรกับค่านิยมของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุเอาไว้ว่า ยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชี้แจงหน่อยสิครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ที่เป็นคำวินิจฉัย คือคำวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๖๔ ทำให้การชุมนุมของ ประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ธำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ยั่งยืนสถาพร กลับกลายเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองเป็นผู้ผูกขาด ทั้งประวัติศาสตร์และหลักการปกครอง ซึ่งสมควรที่จะถูกถกเถียงและทบทวนได้ แล้วนำสิ่งที่ ตนผูกขาดนั้นกลับมากดทับความสามารถในการแสดงเจตจำนงของประชาชนให้ ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำให้เรื่องทางการเมืองที่ควรเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และปรับปรุง ให้เหมาะสมต่อกาลสมัยที่แปรเปลี่ยน กลายเป็นแดนต้องห้ามที่ซุกซ่อนปัญหาสำคัญเอาไว้ ใต้พรมและซ่องสุมพวกเหลือบไรที่จ้องจะสูบกินจากปัญหาเหล่านี้ และยินดีปรีดาที่ปัญหา เหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป ถามกันตรง ๆ ศาลรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติทั้งหลายสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นสถาบันที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญในระดับสากลอย่างไร คำวินิจฉัยแบบนี้มันสากลอย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ นอกจากประเด็น ที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าแม้กระทั่งปัญหาเรื่องของ งบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับในปี ๒๕๖๕ ซึ่งมีกว่า ๓๖๑ ล้านบาท ปรากฏว่า ตลอดปี ๒๕๖๕ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถมีคำวินิจฉัยออกมา ๒๔ เรื่อง เป็นคำสั่ง ๘๐ เรื่อง รวมแล้ว ๑๐๔ เรื่อง หมายความว่างบประมาณถัวเฉลี่ยทั้งหมดคิดทุกอย่างเป็นต้นทุน คำวินิจฉัย คำสั่งก็แล้วแต่จะเรียกประเภทอะไร ๑ เรื่องคิดออกมาเป็นเงิน ๓.๔ ล้านบาท ดังนั้นทุกครั้งที่มีอะไรออกมาจากศาลสักเรื่องหนึ่งเราต้องตระหนักว่าเงินภาษีของ พี่น้องประชาชนถูกใช้ไปแล้ว ๓.๔ ล้านบาท วินิจฉัยเรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่นำไปสู่การใช้กำลัง ปราบปรามพี่น้องประชาชน คำวินิจฉัยนั้นราคา ๓.๔ ล้านบาท วินิจฉัยเรื่องล้มล้าง การปกครองราคา ๓.๔ ล้านบาท มันคุ้มค่ากับภาษีประชาชนหรือครับ แล้วผมมีคำถาม อย่างนี้ครับท่านประธาน ท่านได้มีการใช้เงินงบประมาณ ๕.๗ ล้านบาท ไปกับโครงการจัดทำ ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน ถามกันตรง ๆ ครับ ทำอะไร ชี้แจงหน่อยให้ตัวแทนของประชาชนได้ทราบ หรือโครงการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาล รัฐธรรมนูญ เงิน ๖ ล้านบาท ท่านทำอะไร โปร่งใสหน่อย หรือท่านชอบเหลือเกิน กับเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ใช้งบรวมกันเกือบ ๗๕ ล้านบาท กับครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ท่านทำอะไรนักหนา ผมจำได้ว่าตอนที่ท่านเคยมาชี้แจง ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ ประมาณนี้ก็ยุ่งอยู่กับเรื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้ ทำอะไร ซื้อ iPhone แจกกันหรือเปล่า เล่าให้พวกเราตัวแทนประชาชนฟังหน่อย

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

และสุดท้ายท่านประธานอันนี้เป็นข้อเสนอ เพราะมิเช่นนั้นสังคมเขาจะ เข้าใจผิดว่าศาลรัฐธรรมนูญงานการไม่ทำดีแต่ผลาญงบ เพราะอย่างโครงการสัมมนาพัฒนา บุคลากรศาลรัฐธรรมนูญตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เอาว่าผมไม่ต้องพูดยาวหมด ไปกันตอนช่วงใกล้หมดปีงบประมาณในรายงานเล่มนี้บอกว่า เป็นการส่งเสริมให้บุคลากรศาลรัฐธรรมนูญมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติราชการ อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญน้อมนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำรงชีวิต และสร้างความเป็นธรรมสู่ประชาชน ทำอะไรท่านประธานครับ ปลูกป่าครับ ปล่อยพันธุ์ปลาครับ ท่านประธาน ดูงาน ทำเกษตร ทั้งหมดนี้ผมไม่ทราบว่าท่านใช้งบไปเท่าไร แต่มันใกล้หมด ปีงบประมาณเลยต้องใช้หรือเปล่าไม่รู้ แล้วจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องไปน้อม นำกันที่กาญจนบุรีท่านประธาน ไปกัน ๓ วัน ๒ คืน เผลอ ๆ นี่ไม่รู้ว่าไปล่องแพ กันด้วยไหม ทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีบุคลากร ๒๒๓ คน ไปกันทั้งสิ้น ๒๒๒ คน ๑ คนไม่ได้ไป น่าสงสารเขานะครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ท่านประธาน สังคมไทยเรานี่เราไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากกว่า การที่เราจะมีศาลดี ๆ สักศาลหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจที่ลุแก่อำนาจ หรือใช้อำนาจนั้น เพื่อทำลายตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่เขาไว้ใจ มิเช่นนั้นประชาชนเขาจะว่าได้ ว่าเราจะมีศาลรัฐธรรมนูญไปทำไม ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านรังสิมันต์ โรม ต่อไปท่านอดิศร เพียงเกษ ครับ ท่านสุดท้ายครับ ขอบคุณครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น ผมไม่ได้เข้าสภามานานนะครับ เข้ามาแล้วผมตั้งใจอยากจะพูด อยากจะถามศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพ ที่ไม่ได้เข้าสภามานานนี่ก็เพราะถูกรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ คณะรัฐประหารตั้งองค์กรอันหนึ่งขึ้นมาเรียกว่าตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ทำเรื่องยุบ พรรคไทยรักไทยนี่ละครับ ไม่ใช่พูดความหลังนะครับ แต่ว่าอยากจะพูดเพราะหาโอกาส พูดอย่างนี้ไม่ได้ ไทยรักไทย ๑๑๑ คนของกรรมการบริหาร ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยุบและตัดสิทธิทางการเมือง ๕ ปี ก็ว่ากันไปนะครับ แต่ว่าผมเรียนกฎหมายมาบ้าง การพิจารณาต้องเปิดเผย ไม่ลับหลัง ต้องได้รับคำฟ้อง คำร้อง ผมเป็น ๑ ใน ๑๑๑ คน ไม่ได้รับสำเนาคำฟ้องที่จะยุบพรรคไทยรักไทยในฐานะที่เป็นผู้ถูกร้อง หรือผู้ถูกกล่าวหา จนป่านนี้ตุลาการรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ใส่เสื้อครุยอะไรครับ เป็นองค์กรเถื่อนที่มายุบพรรค แล้วเตะตัดขานักการเมืองมา เรื่องอย่างนี้อยู่และเกี่ยวเนื่องกับศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันหรือไม่ จะตอบต่อสังคมอย่างไร ว่ากระบวนการที่มาจากรัฐประหารมาทำลาย เรื่องประชาธิปไตย เรื่องพรรคการเมืองของเขานี่ โดยอ้างว่าเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ผมอยากถามทางผู้ชี้แจงครับ ตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ผมก็จะถามอยู่อย่างนี้ทุกปี

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง มีกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา ๖๘ ของ พ.ร.บ. ไหนผมจำไม่ได้ ว่าผู้ใดจะล้มล้างการปกครองต้องไปร้อง ต่ออัยการเสียก่อน อัยการวินิจฉัยอย่างไรแล้วถึงจะมาศาลรัฐธรรมนูญ แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้นบอกว่าไม่ต้องไปอัยการก็ได้มาที่ศาลเลย มาใช้บริการที่ศาลเลย และ กับ หรือ นี่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนั้นวินิจฉัยเหมือนกันครับ ว่าคำว่า และ กับ หรือ มีความหมาย เหมือนกัน ผมเรียนกฎหมายอยู่ท่าพระจันทร์ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์หยุด แสงอุทัย ท่านสอนเรื่อง และ กับ หรือ ให้ผม ผมบอกอาจารย์ไปสอนอะไรกันหนา และ กับ หรือ ลูกเอ๊ยมันมีปัญหาสำคัญนะ และ กับ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญชุดนั้นทำให้ผมเรียนหนังสือ จากอาจารย์หยุดผิดหมดเลยครับ ท่านอาจารย์หยุดบอกว่า และ ๒ อย่างมันต้องไปด้วยกัน หรือนี่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผมก็เรียนกฎหมายเบื้องต้น ผมสอบได้ถึง ๘๖ เต็ม ๑๐๐ เพราะเชื่ออย่างนั้น พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า และ กับ หรือ เหมือนกัน แหม ผมอยาก ไปหาอาจารย์นี่อาจารย์ก็เสียไปแล้วครับ อันนั้นมันผูกพันกฎหมายมันกระทบต่อการตีความ เขามองว่าศาลรัฐธรรมนูญนี่ถ้าวินิจฉัยตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้าจะไม่มีใครพูด จะไม่ได้ มีใครกล่าวหาอะไร มีคนกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญบางช่วงบางยุคนี่เป็นไปตามกระแส ของการเมืองหรือไม่ ตอบให้ผมทราบหน่อยนะครับ และ กับ หรือ ถ้าเหมือนกันผมเอาไปคืน จริง ๆ ใบปริญญาผมนี่ครับ ขอโทษนะครับถามแบบตรงไปตรงมาด้วยไม่เกรงใจกันละ ๒ เรื่อง ไม่ให้โอกาสคู่ความไปชี้แจงที่ศาล วินิจฉัยลับหลังตัดสินไปเลย แล้ว และ กับ หรือ ทำลายความหมายเบื้องต้น ต้องกลับไปเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ใหม่ครับ แล้วท่านมี ความภูมิใจหรือครับ และ กับ หรือ เหมือนกัน ต้องผ่านอัยการก่อนถึงจะมาศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่ต้อง กวักมือมาที่ผมเองนี่ ความเสียหายของการเรียนนิติศาสตร์ การตีความมันมีผลผูกพันกับนักนิติศาสตร์ ผลผูกพันกับประชาชน ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านอดิศร เพียงเกษ นะครับ ต่อไปเชิญผู้ชี้แจงนะครับ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ดิฉันขอตอบคำชี้แจง

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ท่านแรก คือท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ นะคะ ในส่วนของหลักสูตร นธป. หรือหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยตามที่ท่านได้พูดถึงค่ะ ในช่วงของรุ่นที่ ๑ ถึงรุ่นที่ ๕ ที่ท่านบอกว่ามีตุลาการเข้าไปเป็นนักศึกษาด้วย ในส่วนของตรงนี้ทางผู้เข้ารับการศึกษา อบรมนี่ ในขณะที่ท่านเข้ารับการศึกษาอบรมไม่ได้มีสถานะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ว่าหลังจากนั้นท่านได้มีการเข้ามาสู่จากการดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในภายหลัง เพราะว่าตัววัตถุประสงค์ของการจัดหลักสูตรตัวคุณสมบัติก็คือไม่ได้มีบุคคล ที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นนักศึกษา

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ในส่วนของที่ท่านบอกว่ามีการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตั๋วเครื่องบิน หรือว่าอะไรก็ดีนี้ มีนอกไปจากระเบียบทางราชการหรือไม่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอเรียนชี้แจงว่าในส่วนของการเบิกจ่ายนี้ค่ะ จากเงินงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว แล้วก็อัตราการเบิกจ่ายนี้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรม โดยที่ทางสำนักงบประมาณก็ได้มีหลักเกณฑ์ในการจัดเรื่องของ ตั๋วการเดินทางนี้ให้เดินทางโดยชั้นประหยัด ส่วนถ้านักศึกษาท่านใดที่จะ Upgrade อันนั้น ออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นเรื่องของบุคคลไปนะคะ ในส่วนโดยภาพรวมของการจัดหลักสูตร อันนี้การเบิกค่าใช้จ่ายก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ แล้วก็ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรม ทั้งนี้เมื่อมีการสิ้นสุดในแต่ละปีแล้ว ทาง สตง. สำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินก็จะเข้ามาตรวจสอบในเรื่องตรงนี้ด้วยนะคะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ในส่วนที่ท่านถามถึงในรุ่นของ นธป. ๑๑ ว่ามีการเดินทางไปศึกษาดูงาน ที่ไหนบ้าง ในของรุ่น ๑๑ การที่เราเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศนี้ค่ะ เราจะไปดูงาน ศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ หรือองค์กรที่เทียบเท่าเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศ ที่ทำ MOU กับเราเพื่อเราไปมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยเราทำหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรของผู้นำองค์กรระดับประเทศ เราก็จะพาไปศึกษาดูงานและมีการแลกเปลี่ยน ทางวิชาการ แล้วกลับมาก็จะมีการทำรายงานการศึกษาดูงานเผยแพร่ค่ะ ท่านสามารถดูได้ ผ่านทาง Website ที่เรามีการเผยแพร่ แล้วก็ห้องสมุดของเราก็จะมีการเผยแพร่ในเรื่อง รูปแบบของเอกสารนะคะ ทั้งนี้ในรุ่น นธป. ๑๑ เดินทางไปเมื่อช่วงวันที่ ๒๐-๒๗ พฤษภาคมนี้ค่ะ ก็ไปศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมนะคะ แล้วก็ไปดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ลักเซมเบิร์ก แล้วก็ได้ไปดูศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ๓ ที่ค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับที่ท่านเอ่ยถึงอีกรุ่นหนึ่ง คือรุ่น นธป. ๑๐ ก็ไปดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุรกี แล้วก็ศึกษาดูงานที่รัฐสภาฮังการี แล้วก็ศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญฮังการีเช่นเดียวกัน

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ในส่วนของท่านชุติพงศ์ก็น่าจะครบแล้วนะคะ ถ้าเกิดอย่างไรตกหล่น คืออย่างที่นำเรียนค่ะ ถ้ามีข้อกังวลเรื่องความเป็นกลาง ดิฉันก็ได้นำเรียนไปแล้วว่าในส่วน ของตัวตุลาการนี้ท่านศึกษาอบรมในฐานะตอนนั้นยังไม่ได้เป็นตุลาการค่ะ ยังเป็นสถานะ ตามตำแหน่งอื่นนะคะ แต่ต่อมาภายหลังท่านได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ในส่วนของท่านที่ ๒ คือ ท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ขออนุญาตพอดีมีบางเรื่อง ที่คล้าย ๆ กับท่านที่ ๓ ขออนุญาตตอบไปในคราวเดียวกัน คือท่านได้เน้นเรื่องของ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในเรื่องของมาตรา ๒๑๓ แล้วก็ ท่านก็ได้กรุณา ให้ข้อแนะนำในเรื่องของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอุปสรรค ก็ให้มีการเสนอแก้ไขแล้วก็ให้มีการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ในส่วนตรงนี้จะขออนุญาตชี้แจง ว่าในส่วนของการประชาสัมพันธ์ ทางสำนักงานตั้งแต่มีมาตรา ๒๑๓ ซึ่งสมัยก่อนรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ อยู่ในมาตรา ๒๑๒ ทางสำนักงานได้เล็งเห็นความสำคัญของในเรื่อง การให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการยื่นฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด เราได้มีการจัดทำโครงการเผยแพร่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ แม้กระทั่ง ต่อมาได้มีบทบัญญัติมาตรา ๒๑๓ ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ จะเห็นได้ว่า ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการจัดโครงการอันเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทั้งในรูปแบบทั้ง Online Onsite แล้วก็จัดสัมมนาทางวิชาการ อย่างเช่น มีโครงการ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่ความรู้นี้ โครงการความร่วมมือด้านการเผยแพร่ให้ความรู้ ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๓ อันนี้เราก็จะมีการจัดทั้งในกรุงเทพมหานคร แล้วก็ การเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึงนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นการเผยแพร่ช่องทาง ที่เขาจะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยการใช้สิทธิยื่นคำร้อง โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่างที่ท่านกรุณาแนะนำค่ะ ด้วยเหตุที่ทางพระราชบัญญัติ ประกอบอาจจะมีบทบัญญัติในลักษณะที่ทำให้มีขั้นตอนในการใช้สิทธิได้ จนทำให้ทาง ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องไว้ ดังปรากฏที่ท่านได้กรุณาพูดถึงสถิติว่า เป็นจำนวนมาก แต่ว่าเมื่อผ่านเข้ามาในบางคำร้องแล้วทางศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัย ในลักษณะการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้ได้หลายคำวินิจฉัยค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับในส่วนเรื่องของประเด็นความประเมินความพึงพอใจของประชาชน ในการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขออนุญาตว่าทางสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญได้เล็งเห็นในเรื่องของความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดเราได้พยายาม ลักษณะแรก ๆ เราก็จะทำ กันเองในสำนักงาน ต่อมาก็ได้รับคำแนะนำจากทางสภาผู้แทนราษฎร และทางวุฒิสภา ถึงความเป็นมาตรฐานของการที่จะวัดความเชื่อมั่นตรงนี้ ในปี ๒๕๖๕ เราก็ได้มีโครงการ สำรวจความเชื่อมั่นที่มีต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็สำรวจ ประชาชนทุกภาค จำนวน ๒,๓๐๐ คน ใน ๑๒ จังหวัด ผลสรุปโดยรวมประชาชน มีความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ หากอยู่ในระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ ๖๐ เปอร์เซ็นต์เศษ และในปี ๒๕๖๖ เราก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เราก็จะมี การพัฒนาตามลำดับโดยจะเห็นจากตัวเลขเราก็จะเอามาปรับปรุงว่าเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบกระบวนการยุติธรรมค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านพูดถึง ก็คือระบบ GES ว่าเป็นลักษณะการประเมิน ความพึงพอใจ อันนี้ก็อยู่ในเรื่องของการเชื่อมั่นเหมือนกันอย่างที่ดิฉันได้นำเรียน แล้วก็จากรายงานเล่มนี้จะเป็นรายงานที่ทางวุฒิสภาได้ตั้งข้อ Comment ไว้ว่า ให้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญลองไปทำโดยใช้ระบบ GES นี้เข้ามาเป็นลักษณะ การประเมินความพึงพอใจ ซึ่งก็เป็นปีแรกที่ทางเราได้ทำโดยใช้เกณฑ์การวัดความพึงพอใจ ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดอยู่ในคู่มือของ ก.พ.ร. แล้วก็มาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นปีแรก ก็อาจจะต้องมีการพัฒนาในส่วนตรงนี้ต่อไป

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ขออนุญาตไปท่านที่ ๔ ท่านปิยรัฐ จงเทพ ท่านสอบถามเรื่องค่าตอบแทน คณะตุลาการผู้สนับสนุนที่มีการเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ ๒๕๖๔ โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จำนวนมากขึ้นก็เป็นไปตามที่มีการแต่งตั้งผู้สนับสนุน ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบสืบเนื่องจาก ปี ๒๕๖๔ มีการแต่งตั้งผู้สนับสนุนไม่ครบตามจำนวนกรอบ แต่ทั้งนี้ตามกรอบอัตรา เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็เลยสูงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวน ของค่าตอบแทน

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

แล้วก็ท่านถามถึงในส่วนของเรื่องการที่ตุลาการบางท่านได้ไปสอนหนังสือ ตามมหาวิทยาลัย หรือว่าบรรยายตามมหาวิทยาลัย อันนี้สืบเนื่องจากว่าในส่วนของ การสอนหนังสือนี้เป็นการให้ความรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งตัวคุณสมบัติของท่านที่มาเป็นตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งการเผยแพร่ หรือการเป็นลักษณะของการให้ความรู้ทางวิชาการเป็นการถ่ายทอด อันนี้ก็น่าจะเป็น คุณประโยชน์แก่สังคมโดยผ่านทางการสอนก็เป็นการสอนหนังสือของตามมหาวิทยาลัย

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ขออนุญาตไปท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ ท่านได้สอบถามถึงหลายเรื่อง ก็ขอบพระคุณท่านมากเลย ท่านได้ตั้งประเด็นในเรื่องที่ทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีโอกาสได้ชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจ ทำไมว่าต้องมีพิพิธภัณฑ์ศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขอนำเรียนว่าเดิมพิพิธภัณฑ์ศาลรัฐธรรมนูญตรงนั้นเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในช่วงหนึ่ง ต่อมาด้วยเหตุที่ว่าสถานที่คับแคบ บุคลากรเราก็มีจำนวนมากขึ้น ก็เลยมีการย้ายสถานที่ทำการมาที่อาคาร A ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะปัจจุบัน แต่ในอาคาร บ้านเจ้าพระยายังเป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาและทางสำนักงานก็เล็งเห็นคุณค่าของความเป็นอาคารโบราณสถาน แล้วก็ เล็งเห็นว่าหน้าที่อย่างหนึ่งของสำนักงานในการที่จะอนุรักษ์ แล้วก็เผยแพร่ความรู้เพื่อเป็น ประวัติศาสตร์ทางด้านของศาลรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความจำเป็น เพราะว่าในสังคมเรา เราก็ จะต้องรู้รากฐานความเป็นประชาธิปไตยของเราด้วย ก็มีดำริกันว่าจะทำขึ้นพัฒนาโดย ปรับปรุงอาคารหลังนั้นซึ่งมีพื้นที่ไม่ได้ใหญ่โต เป็นอาคารอนุรักษ์ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่สำคัญให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านรัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรม การเมืองการปกครอง เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ศึกษาเรียนรู้ เข้าใจภารกิจศาลรัฐธรรมนูญผ่านพิพิธภัณฑ์อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งนี้เราได้มีการร่วมลง MOU กับ ๖ หน่วยงานในละแวกคุ้งน้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เกิด ความร่วมมือในการเผยแพร่ภูมิปัญญาอันเป็นดั้งเดิมว่าประวัติศาสตร์ความเป็นคนไทย เรามีมาอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้า นครหลวง โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ทั้งนี้ประชาชนนี้สามารถเข้าถึงได้ทั้ง Online และ Onsite โดยพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันนี้เราไม่จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ ขอบพระคุณท่าน ที่ท่านห่วงใยว่ามีบุคลากรแค่ ๕ คนเราจะทำงานกันได้ไหม พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มีทั้ง Online และ Onsite แล้วก็ในระบบพิพิธภัณฑ์ท่านสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้กด Link เข้าไป แล้วก็ ไปเยี่ยมชม ทั้งนี้ในส่วนของความห่างไกลไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเผยแพร่ ก็ขอบพระคุณ ท่านมากในส่วนที่ห่วงใยในเรื่องตรงนี้ค่ะ ท่านพูดถึงว่าระยะเวลาในการพิจารณา ท่านเคยมี สถิติไหมอันนี้เราเก็บสถิติ ก็ขอบพระคุณท่านที่ให้โอกาสในการชี้แจง สืบเนื่องจากตั้งแต่ พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ เริ่มใช้บังคับ ทางศาลรัฐธรรมนูญได้มีประกาศ ศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยให้คดีนี้ พิจารณากำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้อง เว้นแต่กรณีไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญอาจกำหนดระยะเวลาใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ โดยเร็วที่สุดก็ได้ และทางสำนักงานก็ได้มีการจัดเก็บสถิติ กล่าวได้ว่าในส่วนของ ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ที่เราพูดถึงอันนี้ คดีที่มีกระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จมากกว่า ๙๐ วัน มีจำนวน ๑๖ คดี แล้วก็ในคดีที่มีน้อยกว่า ๙๐ วัน ๘๐ คดี แล้วคดีที่ใช้เวลาน้อยกว่า ๖๐ วัน ๒๑ คดี อันนี้ในปี ๒๕๖๕ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานได้จัดเก็บตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ จนถึง ปี ๒๕๖๖ ถ้าอย่างไรอาจจะขออนุญาตส่งเป็นข้อมูลให้ภายหลัง นับตั้งแต่กฎหมายกำหนด ให้เราดำเนินการ ทางศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อให้เป็นไปตาม ที่กฎหมายกำหนดค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ของท่านอดิศร เพียงเกษ พอดีท่านพูดถึงคำวินิจฉัยในยุคสมัย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นคำวินิจฉัยในปี ๒๕๕๐ ในประเด็นที่ท่านพูดถึงนี้มีอยู่ใน เนื้อหาของคำวินิจฉัยว่าท่านกระทำในพระปรมาภิไธยหรือไม่อะไรอย่างนี้ค่ะ อันนี้ดิฉัน ในนามสำนักงานก็มิอาจก้าวล่วง เพราะว่าก็เป็นไปตามที่ทางคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาวินิจฉัยปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยแล้ว ก็เช่นเดียวกันกับอีกคำวินิจฉัยหนึ่ง ที่ท่านพูดถึงว่า และ หรือ มีความหมายอย่างไร อันนี้ก็เป็นไปตามที่ทางคณะตุลาการ หรือศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยไปแล้วค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

อีกท่านหนึ่ง คือท่านรังสิมันต์ โรม ท่านได้พูดถึงว่าทำไมสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญถึงได้เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาระบบ IT อันนี้ก็เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ว่ามุ่งให้เป็นไทยแลนด์ ๔.๐ แล้วก็เป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ของโลกว่าทางระบบ การทำงานเราควรจะใช้ระบบ Digital เป็นหลักเพื่อให้การเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิก็ดี ของประชาชนก็ดี หรือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของศาล หรือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เป็นไปอย่างโดยสะดวก รวดเร็ว แล้วก็เป็นธรรม ทั้งนี้ทางสำนักงานก็ได้มีการพัฒนาระบบ โดยมุ่งที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบ e-Court ซึ่งในระบบ e-Court นี้ก็ประกอบไปด้วย หลายระบบ แต่ระบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทางประชาชนผู้ใช้สิทธิ ก็คือระบบการยื่นคำร้องทาง อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปัจจุบันมีการใช้แล้ว แล้วก็มีผู้ร้อง มีพรรคการเมือง หรือโดยพรรคการเมือง ประชาชน แล้วก็หน่วยงานของรัฐ ที่มีสถานะผู้ร้องได้มีการยื่นผ่านระบบอันนี้มีการพัฒนา มาโดยตลอด ถ้าท่านใช้ผ่าน Website นี้ก็จะมีหลายระบบ ที่จะให้สืบค้น ระบบติดตาม ระบบสืบค้น รวมถึงระบบที่มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้รัฐธรรมนูญทั่วโลก อันนี้เราก็มีการพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นย้ำว่าให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ ๔.๐

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ส่วนที่ท่านถามถึงการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยนะคะ อันนี้ก็เป็นโครงการ ที่ทางสำนักงานเห็นว่าเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยตรง เราก็จะมีการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัย ซึ่งในชุดแรก หรือ Series แรกได้มีการรวบรวม แล้วก็เผยแพร่แล้วเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ ๒๕ ปี ถ้าท่านสนใจเราก็มี QR Code ให้ดู แล้วในลำดับต่อไปก็จะมี Series 2 Series 3 ต่อเนื่องกันมาค่ะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับที่ท่านก็กรุณานะคะ มีการคำนวณ Cost-benefit ของการปฏิบัติ หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขอนำเรียนว่าตัวเลขของคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าทำไมน้อย ถ้าเทียบกับศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ก็ขอนำเรียนชี้แจงตรงนี้ว่าการเข้าถึงการอำนวย ความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญของประชาชน หรือว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเองคดีทางศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับได้ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่เป็นไปตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็จะแตกต่างจากศาลอื่น แต่เมื่อคำนวณจากตัวเลขมาแล้ว ๓.๔ ล้านที่ท่านกรุณาหารเฉลี่ยมาให้ ถ้าเทียบกับบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน หรือว่าการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง หรือว่าตามบทบัญญัติอำนาจหน้าที่ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นไปตามที่คุ้มค่า เพราะว่าในสังคมประชาธิปไตย อย่างประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรเช่นศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ พิทักษ์รัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนะคะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

สำหรับที่ท่านพูดถึงโครงการสัมมนาบุคลากรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง ทำไมมาทำตรงช่วงท้ายของปีงบประมาณ ก็ขออนุญาตชี้แจงท่านค่ะว่า บางโครงการนี้มีการเลื่อน เพราะว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด แล้วก็การที่จะพาบุคลากร ไปพัฒนาข้าราชการนี้ก็จำนวนเยอะ การที่จะไปทำในช่วงสถานการณ์โควิดก็ค่อนข้างจะเสี่ยง ต่อการทั้งรับเชื้อแล้วก็การเผยแพร่เชื้อ เราก็มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณให้เป็นไปตาม งบประมาณที่ขอค่ะ ก็เห็นว่าช่วงที่ระยะไปค่อนข้างจะมีการผ่อนปรนแล้วก็เลยเดินทางไป แล้วเราก็เลือกสถานที่ที่ไม่ไกลมาก เพราะว่าอย่างน้อยในเรื่องของการเดินทางโดยหมู่คณะ เยอะ ๆ ก็จะลำบาก โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยจะมีการสัมมนา ระดมความคิดเห็น ๒ เรื่องนะคะ ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้ ข้าราชการเราตระหนักถึงการใช้จ่ายงบประมาณว่าให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เนื่องจากมาจาก อย่างที่ท่านกล่าวถึงเป็นภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นเองเราก็ตระหนักตรงนี้ก็ได้มีการไปทำ ความเข้าใจเพื่อให้ข้าราชการ แล้วก็บุคลากรของสำนักงานมีความตระหนักในส่วนของ การใช้จ่ายตรงนี้ แล้วก็มีการประเมินเรื่อง ITA ซึ่งผลจากการประเมิน ITA การทำ ความเข้าใจในครั้งนั้นก็ส่งผลมาในการประเมินผล ITA ปัจจุบัน ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการประเมินสูงเป็นอันดับ ๒ เมื่อเทียบกับอีกทั้ง ๓ สำนักงาน ในส่วนตรงนี้ดิฉันก็สรุป มาได้ประมาณนี้นะคะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณผู้ชี้แจงนะครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านรังสิมันต์ โรม เชิญครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอใช้เวลาสั้น ๆ นิดเดียวครับ เพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นประโยชน์สูงสุดในการที่เราจะได้อภิปราย และพูดคุยกันนะครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก ในเรื่องของระบบ IT นะครับ ผมทราบครับว่าศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบ IT แต่อยากจะลงรายละเอียดนิดเดียว มีการแจกโทรศัพท์ ให้กับตุลาการทุกท่านไหมครับ แล้วก็รวมไปถึงผู้บริหารของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันนี้ขอตอบสั้น ๆ นะครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ในเรื่องของโครงการจัดทำฐานข้อมูลที่ใช้งบประมาณ ๕.๗ ล้านบาท อยากให้ท่านลงรายละเอียดนิดหนึ่งว่า ใครได้โครงการนี้ไปนะครับ เป็นบริษัท ชื่อว่าบริษัทอะไร แล้วก็รวมไปถึงการทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ใครได้โครงการนี้ไป คือด้วยศาลธรรมนูญปกติแล้วมีคำวินิจฉัยไม่เยอะครับ ท่านประธาน การที่มีคำวินิจฉัยไม่เยอะ แต่ใช้งบประมาณถึง ๖ ล้านบาท ประชาชนสงสัยอยู่ แล้วครับ ผมอยากให้ท่านใช้โอกาสนี้ในการสร้างความกระจ่างให้กับพี่น้องประชาชน

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แล้วก็ในเรื่องของ Cost หรือต้นทุนของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็น คำวินิจฉัยแต่ละครั้งอยู่ที่ ๓.๔ ล้านบาท คือมันอาจจะคุ้มค่าก็ได้ครับ แต่เอาเป็นว่าผมไม่เอา ในเรื่องของวิพากษ์วิจารณ์ แต่ท่านสามารถทำให้ต้นทุนตรงนี้มันถูกลงได้ แน่นอนนะครับ สภาของเรานี่เราอนุมัติงบประมาณไป แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วถ้าเกิดว่าท่านขอมาน้อยลง เรามีปัญหาตลอดครับในการที่จะไปตัดลดงบประมาณของบรรดาองค์กรอิสระ หรือรวมไปถึง ศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ซึ่งมันก็มีข้อจำกัดเรื่องธรรมนูญอยู่ ดังนั้นอยากให้ท่านทำให้ต้นทุน ของศาลรัฐธรรมนูญมันน้อยลง

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แล้วก็สุดท้ายครับ เรื่องสัมมนา สัมมนามี ๒ ประเด็นนะครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างแรกเลย ผมอยากจะฝากไปถึงท่านว่าอย่าใช้ชื่อนี้เลยครับ คือใช้ชื่อนี้ไป ถึงที่สุดถ้ามันไปทำอะไรที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ดีมันจะทำให้ส่งผลเสีย ดังนั้นถ้าเกิดว่าท่านจะไป สัมมนา ไปอะไรต่าง ๆ เรื่องหนึ่งก็เข้าใจ แต่อย่าใช้ชื่อเรื่องพอเพียง เรื่องอะไรแบบนี้เลย มันไม่ควรครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แล้วก็ประเด็นที่ ๒ คือถ้าเกิดว่าท่านอยากจะสนับสนุนในเรื่องของปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ท่านอย่าทำโครงการนี้ เพราะว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำโครงการ แบบนี้มันไม่พอเพียงครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีกท่านหนึ่งที่ยังสงสัยอยู่เชิญครับ เดี๋ยวจะได้ตอบทีเดียวครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง ผมมีส่วนที่ติดใจจากส่วนที่ทางผู้ชี้แจงได้ชี้แจงตอบนะครับ เรื่องการไปดูงานของ นธป. ก็ตามที่ท่านชี้แจงเลยว่ามีไปดูงาน ๓ ที่ ในเวลา ๗ วันตามหลักสูตรครับ ก็ที่บอกว่ามีรายงาน อะไรเรียบร้อย ถ้าเกิดดู ๓ ที่จริง ๆ การดูงาน ๗ วันนี่ค่อนข้างไม่สมเหตุสมผล นั่นข้อที่ ๑ แล้วก็ที่ท่านบอกว่าในส่วนของรุ่นที่ ๑๐ ที่จะให้ผมมาดูใน Website จริง ๆ ผมดูหมด แล้วครับ ถ้าผมต้องไปสืบค้นถึงกระทั่งดูเรื่องของการทำ e-Bidding ดูของกรมบัญชีกลาง เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในการไป ผมดูไปจนถึงว่าของที่ระลึกที่เอาไปเป็นอะไรเรียบร้อย แล้วครับ มาจากหน่วยงานไหน ผมดูครบหมดแล้วครับ แต่ใน Website ของศาลรัฐธรรมนูญ ของรุ่นที่ ๑๐ ไม่มีนะครับ ผมดูหมดแล้วครับ พยายามจะดูจนหมดก่อนเพื่อจะเอาส่วนที่ ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้มาถาม อันนี้ก็คือ Website ของศาลรัฐธรรมนูญเลยครับที่ผมเปิด อยู่ตรงนี้เลยครับ อย่างไรก็ถ้าเกิดจะให้ผมสามารถดูข้อมูล หรือให้ประชาชนดูข้อมูลทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมตั้งข้อสงสัย ผมก็อยากจะให้ทาง Website ของศาลรัฐธรรมนูญ ทำการ Upload เรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ผมสามารถสืบค้นได้ เพราะว่าเท่าที่มีคือทั้งหมด ที่มีเผยแพร่แล้วครับ แล้วก็กำหนดการอย่างที่ผมแจ้งไว้ว่าโปร่งใสไปดูที่ไหนบ้าง บางอันที่อยู่ ในรายงานก็ไม่ได้อยู่ในกำหนดการ ส่วนที่มีในกำหนดการก็คือไม่มีอะไรเลยว่าไปที่ไหน ผมก็เลยตั้งข้อสงสัยเพื่อสอบถามหาความโปร่งใสของการใช้งบประมาณในการจัดอบรม หลักสูตรความรู้คู่ Connection ของทางศาลรัฐธรรมนูญ นธป. นี้ละครับ จริง ๆ ท่านไม่น่าจะตอบยาก เพราะก็อย่างที่แจ้งไปว่าผมเห็นรายชื่อผู้ไปทั้งหมดแล้วครับ แล้วทางท่านผู้ชี้แจงก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ไปด้วย แล้วท่านเองก็มีรายชื่อผู้สมัครเป็นว่าที่ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญท่านต่อไปด้วยเช่นกัน อย่างไรผมว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะตอบยาก อย่างไรรบกวน ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านจะตอบก็ได้ ไม่ตอบก็ได้นะครับ ก็ตอบสั้น ๆ ก็ได้ครับ เชิญครับ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ในข้อสังเกตที่ของท่านรังสิมันต์ โรม ในเรื่องของชื่อโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันนี้ ก็ขอรับไปเป็นข้อสังเกต แล้วก็ไปปรับปรุงกันนะคะ แต่ว่าอย่างไรก็ตามมันก็ต้องเป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของโครงการด้วยว่าชื่อโครงการก็ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ นั้นด้วย สำหรับในเรื่องของที่ท่านพูดถึงเรื่องว่ามีการแจกโทรศัพท์นะคะ อันนี้ก็ขออนุญาต นำเรียนว่าโทรศัพท์ทั้งในส่วนของตุลาการ แล้วก็ของข้าราชการ รวมถึงบุคคลที่จะมีสิทธิใช้ ก็จะเป็นระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงินให้ออกเกณฑ์การจัดหาโทรศัพท์ให้กับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ในอัตราเดียวกับผู้บริหาร ของส่วนราชการอื่น ๆ อันนี้หลักเกณฑ์เดียวกัน ไม่ได้แตกต่างเลยนะคะ

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้นฉบับ

ในส่วนที่ทางท่านชุติพงศ์ ก็อย่างที่เมื่อสักครู่นำเรียนแล้วว่ามีการไปดูงาน ใน ๓ ที่ ส่วนระยะเวลา ๗ วันมันมีลักษณะของการเดินทางด้วยนะคะ เดินทางระหว่างจาก ประเทศไทยไปต่างประเทศ แล้วก็แต่ละประเทศอย่างที่ดิฉันบอกว่ามีทั้งเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก อันนี้เราก็มีลักษณะการเดินทาง กำหนดการที่ท่านได้กรุณานำขึ้นอาจจะ เป็นกำหนดการแรกนะคะ ส่วนรายละเอียดตรงนี้เดี๋ยวจะนำรายละเอียดไปคุยกันกับ สำนักงานว่าจะเผยแพร่อยู่ในช่องทางไหนเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบได้อย่างชัดเจน มากขึ้นนะคะ ก็ขออนุญาตนำข้อสังเกตของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ทั้งหลายไปปรับปรุงในรายงานประจำปีในครั้งต่อไป กราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ พอแล้วนะครับ พอสมควรนะครับ ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของศาลรัฐธรรมนูญแล้วนะครับ ขอบคุณท่านผู้ชี้แจงครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไป ๒.๑๑ รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

รายชื่อคณะชี้แจงต่อที่ประชุม ท่านที่ ๑ ท่าน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๒ ท่านสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๓ ท่านนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๔ ท่านอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๕ ท่านสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๖ ท่าน พลตำรวจตรี อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๗ ท่านสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๘ ท่าน พันตำรวจตรี ชัชนพ ผดุงกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๙ ท่านนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๑๐ ท่านภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๑๑ ท่านจันทิรา จิตรชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านที่ ๑๒ ท่านประสพสุข ทรงผาสุก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ต้องขอบคุณที่ท่านได้ให้เกียรติกับสภาผู้แทนราษฎร ได้มาชี้แจงนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอผลงานการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ รายละเอียดปรากฏตามเอกสาร ที่ได้จัดวางไว้ให้ท่านสมาชิกแล้วนะครับ ก็มีท่านสมาชิกที่มีความสนใจที่จะอภิปราย ก็มีพรรคเพื่อไทย ๑ ท่าน พรรคก้าวไกล ๘ ท่าน แล้วก็พรรคภูมิใจไทย ๒ ท่าน เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ก่อนนะครับ เชิญครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านนิพนธ์ครับ ขอโทษนะครับ ขออนุญาตสักครู่หนึ่ง เดี๋ยวทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขออนุญาตนำเสนอวีดิทัศน์หน่อยสัก ๕ นาที ทางโสตทัศนูปกรณ์พร้อมไหมครับ เชิญครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกที่เคารพ กระผม พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในนามของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันนี้ได้มาพร้อมด้วย ท่านสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ท่านนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหาร รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาแถลงรายงานผลการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ผมขอกราบเรียนว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับความมุ่งเน้นการปฏิบัติตาม หน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยความซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังค่านิยมหลักขององค์กรที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังคงขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยในงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังคง ขับเคลื่อนนโยบายป้องนำปราบ โดยผลักดันการดำเนินการป้องกันการทุจริตในทุกมิติ ตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ ตลอดจนหมวด ๖ มาตรา ๑๒๖ จนถึงมาตรา ๑๒๙ ในการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจัง ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ Corruption Deterrence Center เพื่อเฝ้าระวังระงับยับยั้ง ป้องกันและปราบปรามเพื่อลดการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้บุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. เคร่งครัดการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยทุกภารกิจจะต้องขับเคลื่อน การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความคาดหวัง ของประชาชน และสังคม ควบคู่กับการรักษามาตรฐานการดำเนินงาน และคำนึงถึงการให้ ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ท่านประธานครับ ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ สำนักงาน ป.ป.ช. มีบุคลากรรวมทั้งหมดจำนวน ๒,๕๖๒ คน เป็นบุคลากรส่วนกลาง ๑,๑๙๐ คน ส่วนภูมิภาคจำนวน ๑,๓๗๒ คน เช่นเดียวกันในปีดังกล่าวสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับจัดสรร งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น ๒,๖๒๑ ล้านบาทเศษ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๘๒ งบประมาณ ๒,๖๒๑ ล้านบาท ดังกล่าวเป็นงบบุคลากร ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นงบดำเนินงาน ๒๑.๗ เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างซึ่งเรากำลังสร้างสำนักงานในภูมิภาค ตามจังหวัดต่าง ๆ รวมเป็นเงิน ๕๐๗ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ เราได้ตรวจรับคำกล่าวหา ทั้งสิ้น ๙,๗๖๒ เรื่อง คำกล่าวหาในปีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๑๖.๔๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑,๓๘๑ เรื่อง ในปี ๒๕๖๕ มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสมจากปีงบประมาณ ๒๕๖๔ และเรื่องที่รับใหม่ รวมทั้งสิ้น ๑๗,๓๘๘ เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๕,๙๘๗ เรื่อง ซึ่งจำแนกเป็นเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้น ๕,๓๔๖ เรื่อง ในชั้นไต่สวน จำนวน ๖๔๑ เรื่อง โดยเป็นเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล ความผิด จำนวน ๕๐๔ เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ ๑๐,๒๘๗ ล้านบาท นอกจากงานด้านตรวจสอบไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังมีหน้าที่และอำนาจ ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปีดังกล่าว รวมทั้งสิ้น ๔๓,๙๗๐ บัญชี มีเรื่องไต่สวน ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน ๑๘๖ เรื่อง นอกจากนั้นงานในภารกิจที่สำคัญที่ผมได้นำเรียนว่า ป้องนำปราบก็จะเป็นงานเรื่องการป้องกัน ซึ่งเราก็ดำเนินการทั้งในเรื่องหลักสูตร การต้านทุจริตศึกษา ดำเนินการในเรื่องสำรวจ มีการเกี่ยวกับเรื่อง ITA รายละเอียดต่าง ๆ ได้มีการดำเนินการ ได้รายงานอยู่ในเอกสารซึ่งท่านประธานได้นำเรียนท่านแล้ว วันนี้ กระผมและคณะรู้สึกยินดีที่ได้จะมีโอกาสมารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ปีนี้ก็เป็นปีที่ ๘ ซึ่งกระผมเองก็โชคดีได้มีโอกาส มารายงานนะครับ ในช่วง ๓ ปีแรกก็ได้รายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วง ๕ ปี ที่ผ่านมาก็รายงานทั้งวุฒิสภา แล้วสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ปีนี้เป็นปีที่ ๕ ครับ ผมและคณะ พร้อมที่จะรับฟังข้อแนะนำ ข้อติชมทั้งสิ้นครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปนะครับ เชิญท่านสมาชิกนะครับ ท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้สถิติเปรียบเทียบการรับร้องเรียนของ ป.ป.ช. ซึ่งมีมากมายก็ไม่ขอลง รายละเอียด ตรวจทุกปีเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าท่านไม่ตรวจยิ่งจะหนักกว่านี้ ขอชื่นชมและชมเชย หากท่านตรวจสอบไม่มีผู้กระทำผิดได้ยิ่งดีมาก แต่ฟังท่านพูดเมื่อสักครู่นี้ว่างบประมาณ ก็มีน้อย บุคลากรก็น้อยน่าเห็นใจ ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถ้าจะเพิ่มตรงนี้ ให้ไปในการตรวจสอบเพื่อให้ป้องกันงบประมาณที่จะถูกคนคิดร้ายเอางบประมาณไปผลาญ จะเป็นสิ่งที่ดีครับ ขออนุญาตสั้น ๆ ครับท่านประธาน ผมเห็นข่าวของ ป.ป.ช. ออกมาว่า ได้มีการสั่งดำเนินคดีอาญาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พูดผิดครับ ขอถอนคำพูด อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดนะครับ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัด ออกโฉนดทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ ชื่นชมครับ ขนาดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดไปออกโฉนดทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป.ป.ช. สั่งตรวจสอบผิดแล้ว ชี้มูลความผิดโทษจำคุก ชื่นชมครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

และอยากฝากอีกประเด็นหนึ่งที่มีข่าวคราวตลอด ท่านประธานครับ ประเด็นที่ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๙๘ ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งถอดถอน คือท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หลายจังหวัดครับ เพิกเฉย ป.ป.ช. ทำงานมาหนักแล้ว สุดท้าย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ปฏิบัติตาม ผมใช้คำนี้ เพราะในการดำเนินการทางวินัย จนศาลอาญาคดีทุจริตประทับรับฟ้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ตามผลกฎหมาย ตามมาตรา ๘๑ ประกอบมาตรา ๙๓ หลายจังหวัดอย่างที่ผมกราบเรียนเพิกเฉยประเด็นนี้ ดังนั้นท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้เพื่อให้ประเทศชาติเราเดินได้ เพื่อให้บุคคลที่ไม่หวังดี ต่อประเทศชาติอย่าได้อยู่ในประเทศ ต้องไปอยู่ในที่อันน่าอยู่ของเขาที่กระทำครับ ดังนั้นวันนี้กราบเรียนท่านประธานว่าฝากท่านประธานได้รับทราบแจ้งไปผู้มีอำนาจอย่างที่ ผมกราบเรียนว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายครับ ฉะนั้นวันนี้ขอบคุณท่าน ป.ป.ช. ครับ หากท่านไม่ตรวจสอบ หากท่านไม่ได้ดำเนินการคนที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองจะมา ผลาญงบประมาณของแผ่นดินไปมากกว่านี้ อย่างที่ท่านรายงานว่าบุคลากรก็น้อย เจ้าหน้าที่น้อย ไม่ใช่บุคลากร งบประมาณก็น้อย เห็นใจครับ วันนี้เพื่อนสมาชิกสภาครับ เห็นไหมครับหลายหมื่น เป็นหมื่น ๆ ล้านบาทที่งบเสียหาย ถ้ามีการป้องกันปราบปราม งบพวกเหล่านี้ก็จะไม่ได้เสียหาย ท้ายที่สุดนี้ก็จะไปพัฒนาบ้านเมืองเรา

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ท้ายที่สุดนี้ ก็ให้กำลังใจท่าน ป.ป.ช. ฝากท่านประธานอย่างที่ผมเรียน เมื่อสักครู่นี้ว่า ผู้มีอำนาจถอดถอน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ปล่อยปละละเลย ขออนุญาต ใช้คำนี้ครับ ท่านต้องไปพิจารณาครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพลของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ มีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่อยากอภิปราย ป.ป.ช. เพราะไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยาก โดนตรวจสอบ ไม่อยากมีเรื่องกับ ป.ป.ช. ท่านประธานครับ วันนี้ผมเองอยากจะถามว่า การอภิปรายนี่หลังจากเราอภิปรายเราจะโดนเล่นงานไหมครับ ท่านตอบให้ชัด เพราะสมาชิก รัฐสภาหลายคนบอกผมไม่อยากยุ่ง ไม่อยากอภิปราย เพราะฉะนั้นจะเป็นการเปิดจาก ท่านประธานว่าอภิปรายได้ นี่ก็คือสิ่งที่อยากจะให้สมาชิกได้สะท้อนให้กับ ป.ป.ช. ในอนาคต ท่านประธานครับ ผมเป็น สส. สมัยแรกได้ลุกขึ้นอภิปรายรายงานประจำปีของ ป.ป.ช. ทุกปีครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ท่านประธาน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ท่านสุภา ปิยะจิตติ เลขาธิการนิวัติไชย เกษมมงคล และคณะ ได้มารับฟังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากรายงานฉบับนี้ข้อกล่าวหาทั้งหมด ๙,๗๖๒ เรื่อง ในปี ๒๕๖๕ เป็นเรื่องร้องเรียนผ่านหนังสือ ๗,๐๐๐ กว่าเรื่อง และร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ หรือ Website ๒,๐๐๐ กว่าเรื่อง นี่ไม่ใช่เนื้อหาสาระที่สำคัญ ท่านประธานครับ สิ่งที่ ผมอยากเล่าให้ท่านประธานผ่านไปยังคณะ ป.ป.ช. ทั้งคณะ ว่าผมประสบกับอะไรมาบ้าง ในการเป็น สส. ๔ ปี ท่านประธานครับ ผมเองโดนคู่ขัดแย้งทางการเมืองใช้ ป.ป.ช. เป็นเครื่องมือในการเล่นงานผม ผมเองเป็น สส. ปี ๒๕๖๒ โชคร้ายครับท่านประธาน วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ผมต้องรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพญาไท นอน ๒๗ เดือน ท่านประธานรู้ไหมครับ ในการนอนโรงพยาบาลของผมนี่เป็นตายเท่ากัน ค่าใช้จ่ายล้านกว่าบาทครับ แต่บังเอิญผมออกจากโรงพยาบาลมีคู่แข่งทางการเมืองที่สอบตก ๒ สมัยไปร้องกับท่าน ว่าใครไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผม ๙๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ผมเองตกใจครับ มีหนังสือมา บอกว่าต้องไปชี้แจง ป.ป.ช. ว่าใครจ่ายให้ ท่านประธานครับ ผมเป็น สส. ได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช. ก่อนรับตำแหน่งว่าผมมีเงินสดในมือ ผมก็เอาเงินสดไปใช้ครับท่านประธาน ถึงผมไม่มีเงินสด ญาติผม แม่ผม ภรรยาผมไม่ปล่อยให้ผมนอนเหม็นอยู่ที่โรงพยาบาลหรอกครับ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นครับ วันนี้ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ อยากให้ท่านให้ความเป็นธรรม มนุษยธรรมให้กับผมอีกรอบ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ท่านประธาน ผมเองเป็น สส. อภิปรายใช้กระดาษแบบนี้ตลอดชีวิต เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลใช้ iPad ลูกน้องหวังดี วันเกิดผม ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ๒ ปีที่แล้วมันเก็บรวบรวมเงินซื้อให้ผมครับ มามอบที่ไหนครับท่านประธาน ห้องพรรคภูมิใจไทย ที่นี่ครับ ผมรับไหมครับ ผมรับ แล้วก็บอกว่าผมรับไม่ได้ เพราะมันเกิน ๓,๐๐๐ บาท เพราะผมเล่น iPad ไม่เป็น ก็คืนเขาไป คนเดิมไปร้อง ป.ป.ช. หาว่าผมรับเกิน ๓,๐๐๐ บาท ครับ ท่านประธาน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตผม จะเล่าให้กับเพื่อนสมาชิก น้อง ๆ ที่กำลัง เข้ามาจะโดนเล่นงานโดยใช้องค์กร ป.ป.ช. มาตรวจสอบ ผมได้ชี้แจงไป ๒ ฉบับ และหลังจากนี้ ๒ เรื่องนี้ผมจะมอบเอกสารให้กับท่านประธาน ท่านประธานครับ นอกจากนั้นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ท่านพิเชษฐ์ท่านประธานครับ วันนี้ ป.ป.ช. รู้ไหมครับว่า สส. นี่ ก่อนที่จะมาประชุมมีการปรึกษาหารือ ไฟฟ้า ประปา ทุกเรื่องครับ ผมเองก็เป็น สส. บ้านนอก จังหวัดสงขลาผมก็มีปัญหาเยอะครับ ขอถนนหนทาง สนามกีฬา ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผมอยากถามท่านพิเชษฐ์ว่าผมอภิปรายของบประมาณผ่านสภาแห่งนี้ โดน ป.ป.ช. ตรวจสอบไหมครับ ผมโดนครับ ผมโดน ป.ป.ช. ตรวจสอบ มีนักการเมือง ที่แพ้ผม ๒ สมัยไปร้องเรียนว่าผมใช้อำนาจ มาตรา ๑๔๔ ของบประมาณจากสภา ผมไม่ได้ เป็นกรรมาธิการไม่สามารถแทรกแซงได้ ไปตรวจสอบลูกหลาน ญาติมิตรผมหมดทุกบัญชี นี่คือความที่เจ็บปวดเกิดขึ้นกับผม เพราะฉะนั้นอนาคตผมไม่อยากเห็นเพื่อนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรโดนร้องเรียนจากคู่แข่งในการทำหน้าที่ในสภา ท่านประธานครับ นี่ก็คือ สิ่งที่ผมเจ็บปวดที่สุด การเป็นผู้แทนมา ๑ สมัย ผมเองมีความตั้งใจตั้งแต่แรก ครับท่านประธาน อยากเป็นนักการเมืองน้ำดีเหมือนท่านประธาน อยากเป็นนักการเมือง น้ำดีให้กับประเทศไทย แต่สิ่งที่ผมได้รับ ณ ทุกวันนี้ เช้าถึง เย็นถึง จดหมายจาก ป.ป.ช. ครอบครัวผม ลูกผมจะอยู่อย่างไร นี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ คน ท่านประธานครับ ผมเลยฝากว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ ผมมั่นใจ ผมกล้าพูดกับท่าน และผมไม่เคยใส่ร้าย ในการทำหน้าที่ของท่าน แต่ผมขอความเรียกร้องทุกครั้งว่า อย่าทำร้ายผมเลย อย่าทำร้าย คนทำงาน อย่าทำร้ายสมาชิกเลย เพราะพวกเขาโดนปิดปาก ไม่กล้าลุกขึ้นพูดครับ เพราะฉะนั้นครับท่านประธานผมเองนะครับวันนี้คงไม่มีอะไรมาก

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ฝากท่านประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอนุกรรมการทุกคณะ ท่านอย่าไล่ล่าพวกผมเลยครับ ท่านอย่าไล่ล่าครอบครัวผม ท่านอย่าไล่ล่าคนใกล้ชิดผม โดยเอาประเด็นเหล่านี้เป็นตัวไล่ล่า สิ่งที่สำคัญนะครับ ผมเองยังมีความตั้งใจทำเพื่อ ประโยชน์กับประเทศชาติให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นฝากท่านประธานปกป้องสมาชิก อย่าให้ใครมารังแกพวกเราในอนาคตอีกครับ ขอบคุณมากครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ พรรคก้าวไกล ขอใช้สิทธิพาดพิงครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงตามข้อบังคับการประชุม ข้อ ๗๑ ด้วยความเคารพ ต่อท่านผู้อภิปรายครับ คงไม่เอ่ยชื่อท่านซ้ำครับ แต่ว่าประเด็นที่ท่านอภิปรายมีประเด็นหนึ่ง ที่พูดพาดพิงถึงว่าเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ใช้ iPad ในการอภิปราย ผมคิดว่าเพื่อสื่อสาร ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพี่น้องประชาชนครับว่า ในพรรคก้าวไกลนั้นมีการนำเสนอ การอภิปรายหลากหลายครับ ไม่ได้ใช้เรื่องอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tablet อย่างเดียว ยังมีกระดาษ ยังมีสมุด ยังมี Short note ยังมีอื่น ๆ อีก นั่นเป็นประการที่ ๑ ที่อยากจะทำ ความเข้าใจที่ถูกต้อง

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ก็คือว่า เพื่อนสมาชิกได้เอ่ยชื่อยี่ห้อ รุ่นของ Tablet รุ่นหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่หมายถึงว่าสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ใช้รุ่นนั้นแต่เพียงอย่างเดียวครับ เดี๋ยวเกรงว่าจะส่งผลกระทบบวกลบต่อความเข้าใจว่าสมาชิกได้รับการสนับสนุนยี่ห้อนั้น มาจากที่ใด ประการใด ก็ขออนุญาตทำความเข้าใจเรียนท่านประธานครับว่าการใช้ Tablet มีหลายรุ่น มีหลายยี่ห้อ ไม่ใช่ว่าเป็นยี่ห้อที่ท่านสมาชิกได้เอ่ยแต่เพียงอย่างเดียวครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เดี๋ยวขอถอน คำพูดนะครับ ว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้ iPad นะครับ เดี๋ยวจะโดนตรวจสอบ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เข้าใจกันแล้วนะครับ ต่อไปท่านปิยรัฐ จงเทพ เชิญครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระโขนง เขตบางนา กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ ขออนุญาตเรียนถามชี้แจงไปทาง ท่านประธาน ป.ป.ช. นะครับ วันนี้ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านประธาน ป.ป.ช. ที่ได้เดินทาง มาชี้แจงด้วยตนเองนะครับ ตลอดเกือบ ๒ เดือนที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงานมาชี้แจง แต่ว่าไม่ได้มีท่านประธานมาตอบเอง วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านประธาน ป.ป.ช. นะครับ ขอขึ้น Slide เลยครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

วันนี้มีคำถามถึงสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ต่อคำถาม ถึงมาตรการการปกปิดข้อมูลการสอบสวนของ ป.ป.ช. ในหน้า ๑ เลยครับ ในรายงาน ของท่านเอง ในรายงานการปฏิบัติงานของท่าน ปี ๒๕๖๕ นี้ ท่านมีค่านิยมหลักขององค์กร ของท่านว่า “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ขีดเส้นใต้ตัวแดง ๆ ไว้เลยครับ “โปร่งใส ตรวจสอบได้” สิ่งนี้เองที่ผมมาตั้งคำถามในวันนี้ เพราะว่า ในการดำเนินการตรวจสอบของ ป.ป.ช. นั้นมีหลายครั้งหลายคราที่มีการปัดตก หรือไม่รับ พิจารณาในการดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปยัง ป.ป.ช. จะเห็นว่าในเรื่องของอำนาจ หน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการปราบปรามการทุจริตอ้างอิงจากรายงานของท่านเองฉบับเดียวกัน นี้ในหน้า ๖๘ ได้มีการทำสถิติไว้ว่าเรื่องร้องเรียนตลอดปี ๒๕๖๕ นี้ ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาเอง ทั้งหมด ๔,๒๓๔ เรื่อง ซึ่งแน่นอนครับ เป็นเรื่องที่มาจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การร้องเรียนไปตาม ป.ป.ช. จังหวัด และร้องเรียนไปตาม ป.ป.ช. สำนักงานใหญ่ที่นนทบุรี และทางช่องทางอื่น ๆ แต่แล้วมีเรื่องที่ท่านรับพิจารณา เป็นเรื่องที่พิจารณาในชั้นไต่สวน ข้อเท็จจริงเป็นกระบวนการต่อไปหลังจากที่รับเรื่องมาจะเป็นกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น และการไต่สวนข้อเท็จจริงนี้มีการดำเนินการเรื่องดังกล่าวไปแล้วในปี ๒๕๖๕ นี้ ๖๔๑ เรื่อง นี่ก็อ้างอิงจากรายงานของท่าน ในหน้า ๗๑ หน้านี้ได้มีการพูดถึงเรื่องทั้ง ๖๔๑ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง ๒ เรื่องแรกที่ผม Highlight หรือขีดเส้นไว้อาจจะตัวเล็กนิดหนึ่ง เนื่องจากว่า อ้างอิงจากเอกสารของท่าน ในข้อ ๒.๑ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกยกมาพิจารณา คือขาดอายุความ ไปแล้ว ๘ เรื่อง

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และเรื่องที่ ๒.๒ ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ท่านก็ปัดตกไป ๗๖ เรื่อง ตัวนี้ละครับที่ผมสงสัย เพราะว่ามันมีประเด็นเกิดขึ้นล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งกัน ระหว่างหน่วยงานอิสระ อย่าง ป.ป.ช. กับศาลปกครองสูงสุด ขออนุญาต Slide ถัดไปครับ ขออนุญาตเอ่ยนามไม่เสียหายครับ คุณวีระ สมความคิด เป็นผู้ร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. นั้นได้เปิดเผยข้อมูลการไต่สวนกรณีคำร้องที่มีต่อ ป.ป.ช. กรณีของนาฬิกาหรู และแหวนเพชรของนักการเมืองท่านหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าวันนี้อยู่ในที่ประชุมหรือไม่นะครับ ซึ่งเรื่องนั้นได้มีการปัดตกไปในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งแน่นอนครับ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอ เอกสาร คำไต่สวน หรือข้อเท็จจริง เหตุผลที่ท่านปัดตก หรือไม่รับพิจารณา หรืออะไร ก็แล้วแต่ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการชี้มูลความผิด โดย ป.ป.ช. คุณวีระได้ทำเรื่องนี้ต่อสู้ ขั้นตอนนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ในชั้นตั้งแต่ชั้นกรรมการเปิดเผยข้อมูลจนมาถึงศาลปกครองกลาง และสู้มาจนถึงศาลปกครองสูงสุด นั่นคือที่สุดของคำสั่ง เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๖ ปีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๒๒๔/๒๕๖๖ ให้ ป.ป.ช. เปิดเผย เอกสารการไต่สวนที่ผู้ร้องได้ขอไปทาง ป.ป.ช. ทุกฉบับ ทั้ง ๓ ฉบับ ซึ่งแน่นอนครับ ศาลปกครองมีคำสั่งแล้วให้ทางผู้ร้องไปยื่นคำสั่งนี้กับสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อท่านผู้ร้องไปยื่น สิ่งที่ทาง ป.ป.ช. ให้กลับมายังผู้ร้องกลับเป็นเอกสาร จำนวน ๒ ชุด และไม่ให้คืนมาอีก ๑ ชุด ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด แต่เอกสาร ๒ ชุดที่ได้มานั้น ชุดหนึ่งหน้าส่วนใหญ่ที่ได้มา คือกระดาษเปล่าครับ กระดาษเปล่าล้วน ๆ เลยครับ แล้วก็ประทับตราไว้ว่า ลับ ลับในที่นี้คือ ลับ ครับ และอีกหน้าหนึ่ง อีกชุดหนึ่งถมดำในสาระสำคัญ อ่านไม่ได้ครับ ไม่รู้เรื่องครับ และเอกสารฉบับที่ไม่ยอมเปิดเผยตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้นกลับเป็นเอกสารภายใน ของ ป.ป.ช. เอง คือคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งเป็นผู้ทำความเห็นว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สั่งฟ้อง หรือไม่ส่งต่อในการดำเนินคดี ท่านให้เหตุผลว่า ที่ทราบจากสื่อมวลชนและรายงานของ ท่านเองนะครับ ท่านแจ้งไว้ว่าเป็นเพื่อการปกปิดคุ้มครองพยาน หรือเพื่อเป็นการรักษา ซึ่งการคุ้มครองให้การดำเนินการของท่านนั้นเป็นไปตามกระบวนการ ตามระเบียบของ ป.ป.ช. เอง หรือข้อบังคับของ ป.ป.ช. ผมก็เลยสงสัยว่าระเบียบ ข้อบังคับของ ป.ป.ช. นั้น สามารถขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่ อันนี้คือคำถามที่ ๑ นะครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่วนคำถามต่อมา Slide หน้าสุดท้ายครับ ข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ที่ไม่ยอม เปิดเผย เอกสารตามคำสั่งของศาลนั้น โดยแถลงว่ากังวลถึงผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่ทำความเห็นเกี่ยวกับคำร้องของผู้ฟ้องนั้น ท่านกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพล ฉะนั้นผมถามว่า ป.ป.ช. กลัวอะไร ในเมื่อหน้าที่ของท่านนั้นจะต้องเป็นผู้ดำรงไว้ ซึ่งการแสวงหาข้อเท็จจริง และกระบวนการยุติธรรมที่กระทำผิด หรือทุจริตต่อหน้าที่ ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ขอฝากท่านประธานสภาผ่านไปทางท่านประธาน ป.ป.ช. ได้ตอบคำถาม ด้วยว่าท่านกลัวอะไร หรือท่านมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขออนุญาตท่านพริษฐ์นะครับ ขออนุญาตไปที่พรรคภูมิใจไทยก่อน ขอสลับ ๑ ท่านนะครับ จากนั้นก็เป็นก้าวไกลล้วนเลยนะครับ เชิญท่านสัมฤทธิ์ครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมต้องขอบคุณนะครับ ที่ได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานผลการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ผมต้องขอขอบคุณ ท่าน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้เดินทางมาชี้แจงข้อมูลด้วยตัวท่านเอง ในวันนี้นะครับ ท่านประธานครับผมจะขออภิปรายในประเด็นเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม ในสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีมากถึงกว่า ๑๒,๐๐๐ เรื่อง ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ จากตารางแสดงสถิติเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘-๒๕๖๕ จะพบว่ามีเรื่องกล่าวหาสะสมคงค้างสูงถึง ๑๒,๗๙๒ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ๙,๒๘๓ เรื่อง และเรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงอีก ๓,๕๐๙ เรื่อง ท่านประธานครับ ในปี ๒๕๖๕ มีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่ ป.ป.ช. มากถึง ๙,๗๖๒ เรื่อง เป็นเรื่อง ที่ทาง ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาเอง ๔,๒๓๔ เรื่อง จากการดำเนินการตามขั้นตอน ตามกระบวนการต่าง ๆ ด้วยความเร่งด่วนของ ป.ป.ช. เองนะครับ แต่ก็ยังพบว่ามีเรื่อง กล่าวหาคงค้างเพิ่มเติมในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นอีก ๔๘๐ เรื่อง ทำให้เรื่อง คงค้างสะสมสูงถึง ๑๒,๗๙๒ เรื่อง ตามที่ผมได้กล่าวไปครับ ท่านประธานครับในเรื่อง ร้องเรียนปี ๒๕๖๕ เป็นคำกล่าวหาในหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สูงถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องกล่าวหาในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สัดส่วน ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเทียบ ๒ หน่วยงานนี้ครับ สูงถึง ๕๒ เปอร์เซ็นต์ มากกว่าครึ่งหนึ่ง ของจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่ ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ผมไม่ได้กล่าวว่า ๒ หน่วยงานนี้มีการทุจริตมากกว่าหน่วยงานอื่นนะครับ เพียงแต่ว่า ๒ หน่วยงานนี้มีบทบาท หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชน ต้องสัมผัสกับประชาชนครับ แน่นอนครับ การทำงานมีทั้งคนชอบ คนชัง การปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายก็มีทั้งคนรัก คนเกลียดครับ ใครชอบ ใครชังก็แอบชื่นชมกันในใจครับ ใครเกลียด ใครชังก็ร้องเรียน ถูกบ้าง ผิดบ้าง กลั่นแกล้งบ้าง ก็ร้องเรียนกันไปก็ถือเป็นความโชคไม่ดีของ ๒ หน่วยงาน ที่มีบทบาทหน้าที่เช่นนี้ ท่านประธานครับ ผมเคยเป็นนายกเทศมนตรีมา ๔ สมัย ๑๖ ปี และรักษาราชการในช่วงการทำรัฐประหารครั้งนี้ผ่านมาอีก ๒ ปี รวม ๑๘ ปี ผมมีคนรู้จัก ที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นหลายร้อยคนครับ ผมอยากนำเรียนว่ามีหลายสิบคนครับ ที่ถูกร้องเรียนเรื่องโรงเรียนอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แล้วก็มีหลายสิบคนครับ ที่เขาเป็น ผู้บริหารท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เขามีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ก็ถูกร้องเรียน วันนี้เขาไม่ประสงค์ที่จะ เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เขาไม่เสนอตัวที่จะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีก เพราะว่า เรื่องร้องเรียนที่มาสู่ ป.ป.ช. ไม่มีความคืบหน้าครับ ๒ ปี ไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมให้กับ พวกเขา ๔ ปีก็ยังเงียบครับ ๖ ปีก็ยังไม่มีการสืบสวน ไต่สวน บางคน ๘ ปีเพิ่งเริ่มครับ บางคน ๑๐ ปีถูกชี้มูลความผิด ทำให้เขาไม่ต้องการที่จะเข้ามายุ่งในการที่จะพัฒนา บ้านเกิดเมืองนอนของเขานะครับ ผมนำเรียนว่าหลายท้องถิ่นที่คนอยากจะเข้ามา เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เขาไม่กล้าครับ ทำให้หลายท้องถิ่นมีคนเสนอตัวเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม แล้วก็มีหลายท้องถิ่นที่ผู้เสนอตนเป็นผู้บริหาร ท้องถิ่นมีแต่คนวัยชราครับ คนแก่ครับ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าคนแก่ หรือคนวัยชรา จะทำงานเป็นผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้ เพราะว่าผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องยก ไม่ต้องหาม ไม่ต้องแบก สามารถทำได้ครับ แต่คนมีทั้งดีและไม่ดี คนแก่ก็มีทั้งดีและไม่ดีครับ ท้องถิ่นไหนได้ผู้สูงวัยที่เป็นแบบร่มโพธิ์ร่มไทรก็เป็นที่รัก ที่ชื่นชมของพี่น้องประชาชน คนรุ่นใหม่ ท้องถิ่นไหนโชคร้ายได้ผู้บริหารท้องถิ่นคนแก่แบบแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะ อยู่นาน ก็มีอายุมากแต่ไม่มีประโยชน์ครับ อันนี้ความหมายตามพจนานุกรมนะครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนเรื่องหนึ่งครับ ในการเลือกตั้งองค์การ บริหารส่วนจังหวัดที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปร่วมงานแสดงความยินดีกับผู้บริหารท่านหนึ่ง ซึ่งอายุท่านมากกว่า ๗๐ ปี ผมไปแผล็บเดียวครับท่านประธาน ในวงสนทนาแผล็บเดียว ผมต้องขอตัวออกมา เพราะว่าได้รับฟังนโยบายของท่านผู้บริหารท่านนั้น หลังจากท่านได้ ดื่มไวน์ไป ๒-๔ แก้วครับ ท่านบอกว่าท่านมีโครงการนั้นโครงการนี้ ผมฟังดูผมก็มี ประสบการณ์เป็นนายกเทศมนตรีมา ๑๘ ปีครับ ผมฟังดูโครงการนั้นโครงการนี้ที่ท่านพูด มันสื่อมันส่อไปทางทุจริตทั้งหมด ผมก็เผลอไปตั้งคำถามที่ไม่เหมาะสมเท่าไร ถามว่า ถ้าทำโครงการนั้นโครงการนี้แล้ว จะไม่ถูกร้องเรียนไป ป.ป.ช. หรือครับ คำตอบกลับมา ตกใจครับ เขาบอกผมว่าเขาไม่เคยกลัว ป.ป.ช. เลยครับ เขาไม่กังวลเลยครับ เพราะอะไร รู้ไหมครับ เขาบอกเขาอายุ ๗๐ กว่าปีแล้ว ป.ป.ช. มีเรื่องตกค้างเป็นหมื่นครับ กว่าจะ พิจารณาแต่ละเรื่องครับ ๘ ปี ๑๐ ปีหยิบมาพิจารณา กว่าพิจารณาเขาก็ ๘๐ กว่าแล้วครับ ถ้าโชคร้ายถูกชี้มูลความผิดเขาก็ยื่นอุทธรณ์ต่อ ถ้าอีกสัก ๑๐ ปี ๙๐ กว่าปี เกือบ ๑๐๐ ปี เขาตายก่อนครับ วันนี้เขาไม่กลัวครับ เพราะฉะนั้นในประเด็นที่อยากจะฝากท่านประธาน ท่านคณะกรรมการครับ ขอเวลานิดเดียวครับ ขอสอบถามทางสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า มีนโยบายที่จะเร่งรัดในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหา ตกค้างสะสมจำนวนกว่า ๑๒,๐๐๐ เรื่องนี้หรือไม่ อย่างไรนะครับ มีการกำหนดเวลาไหมว่าจะใช้เวลาอีกกี่เดือน กี่ปี เพื่อทำให้เรื่องนี้เรียบร้อยครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ เชิญครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล จะขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือว่า ป.ป.ช.

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมคิดว่า หาก ป.ป.ช. ต้องการจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กระทำโดยหน่วยงานต่าง ๆ ผมคิดว่า ป.ป.ช. นั้นจำเป็นที่จะต้องติดกระดุมเม็ดแรก โดยการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ให้หน่วยงานอื่นนั้นได้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่จากการวิเคราะห์รายงานประจำปีที่อยู่ข้างหน้าผม ตรงนี้ ผมมีความกังวลครับว่าการทำงานของ ป.ป.ช. นั้นยังมีหลายส่วนที่ไม่เป็นไปตาม มาตรฐานเรื่องความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลที่ผมเชื่อว่า ป.ป.ช. นั้นคงคาดหวังจะเห็น จากหน่วยงานอื่น ข้อมูลของผมแบ่งออกเป็นทั้งหมด ๓ ประการครับท่านประธาน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อกังวลประการที่ ๑ ผมเชื่อว่า ป.ป.ช. นั้นคงคาดหวังให้หน่วยงานอื่น มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส แต่ ป.ป.ช. เองครับ กลับไม่เปิดเผยข้อมูลที่ตนเอง รับผิดชอบตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น หากเราไปดูตัวอย่างของข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ใน Slide ถัดไปนะครับ จริงอยู่ครับว่าท่านมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบน Website แต่ท่านก็ไม่ได้เปิดเผย ในรูปแบบที่สามารถวิเคราะห์ต่อได้ตามมาตรฐานสากล เพราะท่านเลือกที่จะเปิดข้อมูล ในรูปแบบเอกสารที่เป็นการ Scan ภาพ แทนที่จะเปิดเป็น File Digital ที่สามารถคัดลอก ข้อความไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย และยิ่งไปกว่านั้นครับ ท่านก็ยังห้ามไม่มีการ Download หรือ Save file ดังกล่าวไว้เพื่อเก็บไปวิเคราะห์ต่อ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการที่ ป.ป.ช. นั้นไม่เข้าใจว่ารูปแบบของข้อมูล ที่ถูกเปิดเผยนั้นมีความสำคัญอย่างไร มันมีส่วนสำคัญครับที่ทำให้เครื่องมือ ITA ที่ ป.ป.ช. ออกแบบมาเพื่อใช้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานอื่น ๆ นั้นจึงมีปัญหาตามมา ถ้าหากเราไป Slide ถัดไปครับ เราจะเห็นว่าเกณฑ์ด้าน OIT เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลใน ITA นั้น กลายเป็นเพียงการ Check ครับ ว่าหน่วยงานนั้นเผยแพร่ชุดข้อมูลอะไรบ้าง โดยไม่สนใจเลย ว่าข้อมูลที่เผยแพร่นั้นเผยแพร่ในรูปแบบใด แล้วก็ไม่ต้องแปลกใจว่าพอ ITA ถูกออกแบบ มาเป็นเช่นนี้ ถ้าเราไปที่ Slide ถัดไปเราจะเห็นว่าผลการประเมิน ITA กำลังบอกเรา ว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศเราดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสวนทางครับ กับทั้งผลลัพธ์จากการประเมิน CPI ขององค์กรสากล Transparency International และความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่สัมผัสได้ว่าปัญหาการทุจริตในประเทศเรานั้นไม่ได้ดีขึ้น กว่าเดิม มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าในวันที่ประชาชนมีความตื่นตัวขึ้นอย่างมาก ในการต่อต้านการทุจริตตามที่รายงานของท่านเองก็กล่าวถึง แต่ท่านกลับไม่ช่วยติดอาวุธ ให้ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลสำคัญในรูปแบบที่พวกเขานั้นสามารถนำไปใช้ต่อได้ง่าย ในการตรวจสอบการทุจริต

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อกังวลประการที่ ๒ ที่ผมมี คือ ป.ป.ช. นั้นคาดหวังครับให้หน่วยงานอื่น ใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม แต่ ป.ป.ช. เองครับ กลับยังมีการใช้งบประมาณบางส่วน ที่น่าสงสัย หากเราไปใน Slide ถัดไปครับ แล้วไปดูที่รายงานการเงิน เราจะค้นพบว่า ค่าฝึกอบรมและค่าเดินทางนั้นเพิ่มขึ้นกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ผมเดาทางออกครับ ว่าท่านคงให้เหตุผลเรื่องโควิด แต่คำถามที่ผมมีคืองบเหล่านี้ถูกใช้ไปกับการดูงานต่างประเทศ มากแค่ไหน และในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ที่ผมต้องถามแบบนี้ครับท่านประธาน เพราะว่า ๑ กิจกรรมที่ ป.ป.ช. ดำเนินการทุกปี คือหลักสูตรที่มีชื่อว่านักบริหารยุทธศาสตร์ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส. ผมตั้งคำถาม ๒ ส่วนครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๑ ผมตั้งคำถามครับ ว่ามันเหมาะสมแล้วหรือไม่ในเชิงหลักการ ที่ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระเลือกที่จะจัดหลักสูตรที่เป็นเสมือน Platform ให้ผู้นำ และผู้มีอิทธิพลเกือบ ๑๐๐ คนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมืองนั้นมาสร้าง Connection และขยายเครือข่ายส่วนตัว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แล้วผมอยากจะตั้งข้อคำถามต่อไปอีกครับ ในส่วนที่ ๒ ว่าการที่หลักสูตรนี้ มีการพาผู้เรียนไป Tour ต่างประเทศด้วยงบประมาณหลักล้านบาทจากภาษีพี่น้องประชาชน ตามหลักฐานที่ปรากฏใน Slide นั้นเป็นการใช้งบที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการแก้ไขปัญหา การทุจริตแล้วหรือไม่ ความจริงต้องบอกว่าคำถามนี้ที่ผมถามอยู่นั้นก็สอดคล้องกับข้อสังเกต จากนักวิชาการท่านหนึ่งครับ ที่เคยแชร์ว่าในระหว่างที่ไปร่วมเวทีสัมมนาระดับโลกเกี่ยวกับ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีผู้บริหารสูงสุดขององค์กรด้านธรรมาภิบาลที่มีชื่อเสียง แห่งหนึ่งที่ยุโรปครับได้มาเล่าให้ฟังว่าองค์กรเหล่านั้นเคยต้องปฏิเสธคำขอดูงานของ หน่วยงานต่อต้านการทุจริตแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีการแจ้งว่าจะมีการพาคน เดินทางมาดูงานเกือบ ๑๐๐ คน ซึ่งสูงเกินกว่าที่เขาคิดว่าจำเป็นต่อการที่ประชาชนจะได้ ประโยชน์จากการศึกษาดูงานดังกล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานในเรื่องนี้จะไม่ใช่ ป.ป.ช. เพราะหาก ป.ป.ช. ยังไม่สามารถควบคุมงบดูงานต่างประเทศของตัวเองให้อยู่ในระดับ ที่เหมาะสมได้ แล้วเราจะคาดหวังให้ ป.ป.ช. ไปกำกับดูแลการใช้งบประมาณของหน่วยงาน อื่นให้เหมาะสมได้อย่างไร

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

มาสู่ข้อกังวลประการที่ ๓ ผมเชื่อว่า ป.ป.ช. คงคาดหวังให้หน่วยงานอื่นนั้น ไม่วางโครงสร้างองค์กรที่นำไปสู่ปัญหาของผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ ป.ป.ช. เองครับ กลับกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ถ้าเราย้อนไปดูครับเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๕ ที่ประชุม ของวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ว่างลง โดยสื่อมีการรายงาน ว่าเป็นเพราะศาสตราจารย์อารยะนั้นมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม แม้ผมเข้าใจครับว่าท่านคงยืนยันเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วผมก็เข้าใจว่าท่านเองก็ไม่ได้เป็นคนเขียน กติกาเช่นนี้ แต่ผมอยากจะถามความเห็นของท่านครับ ในฐานะองค์กรที่ทำงาน ด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าการที่เรามีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่วันนี้ได้กลายมาเป็น นักการเมืองในพรรคการเมืองต่าง ๆ มีอำนาจในการแต่งตั้ง สว. ๒๕๐ คนที่มีอำนาจ มาชี้ขาดว่าใครจะมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมือง จากพรรคการเมืองต่าง ๆ กลไกแบบนี้เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. นิยามว่าเป็นกลไกที่มีผลประโยชน์ ทับซ้อนหรือไม่ ผมเห็นจากรายงานที่ท่านเขียนไว้ตรงนี้ว่าท่านเองก็อยากให้ประชาชนนั้น เชื่อมั่นในการที่ทำงานของ ป.ป.ช. แต่ผมเรียนด้วยความเคารพครับว่าตราบใด ที่กระบวนการสรรหาและรับรองกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และยังถูกผูกขาดไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง ไม่ว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของท่านได้อยู่ดี ดังนั้นผมจึงหวังว่า ในวันที่เรากำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่านจะมาร่วมยืนยันว่าประเทศเรา ควรต้องมีการปฏิรูปองค์กรอิสระให้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และเป็นที่ยอมรับของ ทุกฝ่ายเพื่อให้หน่วยงานของท่าน อย่าง ป.ป.ช. มีอิสรภาพเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ทุกฝ่าย และผู้มีอำนาจทุกคนตามที่ประชาชนคาดหวัง ด้วยเหตุผล ๓ ประการนี้ ท่านประธานผมจึงมีความกังวลครับว่าหากเราดำเนินการต่อแบบเดิม ป.ป.ช. จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการกำชับหน่วยงานอื่นให้ปฏิบัติตน ด้วยความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เรื้อรังมายาวนาน เพราะการทำงานของหน่วยงานท่าน ณ ปัจจุบันยังมีหลายส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลที่ท่านคงคาดหวังจากหน่วยงานอื่นครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขออนุญาตปิดรับรายชื่อท่านผู้ขออภิปรายนะครับ ต่อไปท่านปรีติ เจริญศิลป์ เชิญครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ วันนี้ต้องขอบคุณทาง ป.ป.ช. ที่ทางท่านเลขาได้มาเองครับ วันนี้ผมจะมีข้อมูลที่จะเสนอแนะให้กับท่านเพื่อให้ปิดช่องโหว่ ในการบริหารงานครับ ในรายละเอียดในสิ่งที่ท่านอาจจะมองไม่เห็น ขอเปิด Slide เลยครับ เรื่องหลัก ๆ จะมี ๒ เรื่อง

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ก็คือเรื่องเกี่ยวกับความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ เรียนท่านประธาน ห้อง Slide ไม่ได้เปิด Slide ครับ ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมขอเล่าไปเลยแล้วกันนะครับ อย่างแรกเรื่องความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ครับ ปัจจุบันความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ ของ ป.ป.ช. ตามกฎหมายมีหน่วยงาน ๓ หน่วย ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต อย่างแรกคือ ป.ป.ช. อย่างที่ ๒ คือ ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม ข้อ ๓ ปปป. กองบังคับการป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

๓ หน่วยงานนี้มีอำนาจในการสอบสวน เหมือนกัน เปลี่ยน Slide หน้าถัดไปเลยครับ มี ๓ หน่วยงานครับ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญมีอำนาจในการที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ปราบปรามการทุจริตแทนได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือทาง ปปป. และ ป.ป.ท. ไม่ได้เป็น หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับ ป.ป.ช. จึงทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น กรณีที่ ป.ป.ท. ได้มีการสอบสวน หรือ ปปป. สอบสวนข้อมูลการทุจริตมาแล้วส่งให้ ป.ป.ช. ป.ป.ช. สามารถ ที่จะทบทวน หรือไม่รับสำนวนการสอบสวนได้ และนำข้อมูลมาสอบสวนเองทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ครับ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ทั้ง ป.ป.ท. และ ปปป. หมดกำลังใจ ในการทำงานสอบสวน อันนี้คือข้อเรียกร้องที่ผมได้รับเรื่องต่อมานะครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ตอนนี้เราขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่าองค์กรใดจะเป็นผู้มีความรับผิดชอบ ในการสอบสวน เราจะไม่มีองค์กรกลางเหมือนศาลที่จะมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจ ระหว่างศาลที่จะคอยชี้ขาดว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจในศาลใด ผลคือทำให้เกิดความล่าช้า ในการพิจารณาการสอบสวน หรืออาจต้องพิจารณาคดีด้วยความรีบร้อน ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกอันหนึ่ง อาจทำให้เกิดปัญหากรณีที่ ป.ป.ช. อาจจะหยิบยกบางคดีที่ตนเองต้องการ มาพิจารณา ทั้งที่เนื้อหา หรือฐานะของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แตกต่างไปจากคดีประเภท เดียวกันเลย หรือเรียกว่าอาจจะเกิดการล็อกผลคดีได้ครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ในทางปฏิบัติเดิม ป.ป.ช. จะสอบสวนข้าราชการระดับ ซี ๙ ซี ๑๐ และซี ๑๑ และ ป.ป.ท. สอบสวนข้าราชการระดับซี ๑ ถึงซี ๘ แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ท่านมีการแบ่งใหม่ครับ ในทางปฏิบัติคือ ป.ป.ช. จะสอบสวนข้าราชการระดับอำนวยการ และบริหาร ส่วน ป.ป.ท. จะสอบสวนหน่วยงานด้านวิชาการ และทั่วไป ซึ่งจริง ๆ แล้ว ข้าราชการในระดับที่ปรึกษาที่เป็นซี ๑๐ ที่เขาดูแลด้านวิชาการ เขาไม่ได้ถูก ป.ป.ช. สอบสวน แต่เป็น ป.ป.ท. ที่เข้ามาสอบสวนแทนครับ นั่นหมายความว่าหลักเกณฑ์อาจจะ ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ป.ป.ช. ควรต้องสอบสวนข้าราชการระดับสูงเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มันมีช่องโหว่อยู่ ก็อยากจะให้ท่านช่วยไปพิจารณา แก้ไขปรับปรุงครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ หน้าถัดไป เรื่องการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะครับ ปัจจุบัน บัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ ของข้าราชการและนักการเมืองทาง ป.ป.ช. มีเปิดให้ดูได้ครับ ผมเอง เป็นคนหนึ่งในฐานะประชาชนธรรมดา ก่อนหน้านี้เมื่อ ๓-๔ เดือนก่อนผมเองได้เคยเข้าไป ป.ป.ช. ที่สนามบินน้ำเพื่อขอดูข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองที่เปิดเผย แต่ปรากฏว่า เมื่อผมเข้าไปถึงผมไม่สามารถเข้าไปขอดูได้โดยง่าย ใน ป.ป.ช. ชั้น ๑ ถ้าท่านทราบดีจะมี ห้องประตูไม้ห้องหนึ่งผมพยายามขอเข้าไป วันที่ผมเข้าไปในฐานะประชาชนห้องล็อกอยู่ ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าผมสามารถขอดูบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองได้ไหม ที่ท่านปิดไว้ที่ Board เขาไม่ได้เปิดให้ผมดูครับ เขาถามผมว่าท่านจะดูของใคร แล้วก็ถามว่า มีบัตรประชาชนไหม วันนั้นผมก็ตัดสินใจกลับบ้านเลย เพราะว่ามันไม่มีความเป็นส่วนตัว แทนที่จะเปิดเผยให้ประชาชนสามารถดูได้ทั่วไปครับ อีกเรื่องหนึ่ง ข้อมูล ป.ป.ช. ที่เปิดเผย ทาง Website ซึ่งผมลองไปเปิดดูแล้วมีแต่หน้าปก ในรายละเอียดต่าง ๆ จะถูกปิดบังอยู่ อย่างเช่นเลขโฉนดที่ดินอย่างนี้ครับ ผมเชื่อว่าบางรายการควรเปิดเผย บางรายการไม่ควร เปิดเผย อย่างบ้านเลขที่นี้ครับผมไม่แน่ใจว่าควรเปิดเผยหรือไม่ แต่ผมคิดว่าถ้าหากต้องการ ให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบท่านควรต้องเปิดเผย อย่างผมเห็นนักการเมืองบางคน มีบ้านหลังในตำบลเดียวกัน ท่านปิดเลขบัญชี ผมไม่รู้หรอก ผมไปช่วยท่านตรวจสอบไม่ได้ จริง ๆ ถ้าหากเขามีบ้าน ๒ หลังในตำบลเดียวกันผมจะรู้ได้อย่างไรครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อสุดท้าย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในเรื่องการชี้มูลความผิด ของนักการเมือง หรือข้าราชการท้องถิ่นครับ ปัจจุบันท่านอาจจะเห็นว่ามีการเปิดเผย ออกข่าว ออกสื่อเป็นแค่บางคน ผมมาดูในรายงานของท่าน อย่างรายงานท่านในการชี้มูล ความผิดของข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีที่ผ่านมา ๒๖๗ ราย รายการเหล่านี้ ท่านไม่ได้เปิดเผย ผลก็คือข้าราชการบางหน่วยที่ผมทราบ คือปกติแล้วมีการชี้มูลความผิด ถือว่าเป็นการผิดวินัยร้ายแรงตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องให้ปลดออกครับ แต่ผมเห็นบางส่วนก็ยังอยู่ได้ ผมไม่เข้าใจว่าเกิดเหตุผลอะไร หากท่านไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนทราบ เราไม่สามารถช่วยท่านตรวจสอบได้เลย หรืออาจจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ ป.ป.ช. มีส่วนในการทุจริตได้เองครับ สิ่งเหล่านี้ ที่ผมกล่าวไปอยากให้ท่านช่วยนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ เกิดความโปร่งใส เพราะผมเชื่อว่างานท่านมีมาก ถ้าหากให้พวกเราช่วยกันดู ช่วยกัน ตรวจสอบ หรือประชาชนคนธรรมดาสามารถรับทราบข้อมูล ผมว่าจะส่งข้อมูลที่เป็น ประโยชน์ให้กับท่านในการพิจารณาได้แน่นอนครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธิษะณา ชุณหะวัณ เชิญครับ ทีนี้เดี๋ยวขออนุญาตชี้แจง ท่าน ส.ส. ธิษะณาหน่อยนะครับ เรื่องเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ เรื่องรายงานของ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๖๔ ที่ท่านได้เสนอ Clip ที่จะประกอบ การอภิปราย บังเอิญว่าท่านได้ส่ง Clip มาก่อนเวลา ๑๐ นาที ธรรมดานี้จะต้องให้ข้อมูล ต่อฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ประมาณ ๑ ชั่วโมง แต่ถ้า ๓๐ นาทีนี้ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ก็จะทำให้อยู่ เพราะฉะนั้นต้องขอโทษท่านด้วยนะครับ เพราะว่าท่านส่งช้าไป ท่านสมาชิกอย่างไรถ้าจะมี Clip ประกอบก็ขอให้สัก ๑ ชั่วโมง หรือเร่งด่วนจริง ๆ ๓๐ นาที หรือไม่ก็ ๒๐ นาทีก็ยังดี เพราะว่าทางฝ่ายตรวจสอบต้องใช้เวลานิดหนึ่ง ต้องขอโทษด้วยนะครับ ขอบคุณครับ เชิญครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณท่านประธาน สำหรับคำชี้แจงนะคะ กราบเรียนท่านประธานที่เคารพนะคะ วันนี้ดิฉันมาอภิปราย เรื่องรับทราบรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานนะคะ วันนี้ดิฉันจะขออภิปรายถึงรายงานประจำปีงบประมาณของ ป.ป.ช. โดยเน้นไปที่การจัดทำ ดัชนีความโปร่งใสของรัฐไทยค่ะ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินเชิงบวก เพื่อเป็นมาตรการป้องกันทุจริตและเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐ มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยใช้ชื่อว่าการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือว่า ITA ซึ่งจากรายงาน ITA ล่าสุดในปี ๒๕๖๕ มีคะแนนให้ ๘๐ คะแนน เต็ม ๑๐๐ คะแนน แต่ทว่าหากเปรียบเทียบ กับคะแนนของการจัดทำดัชนีคอร์รัปชันที่จัดทำโดยระบบของสากลหรือระบบของ ต่างประเทศ กลับพบจุดบกพร่องหลายประการดังต่อไปนี้

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

จุดบกพร่องที่ ๑ คะแนนที่สวนทางกันระหว่างการจัดทำของรัฐไทย หรือ ป.ป.ช. กับสากล โดยคะแนนที่ออกมาดังที่ปรากฏบน Slide คะแนน ITA ของไทย ได้ ๘๗.๕๗ เต็ม ๑๐๐ คะแนน หมายถึงผลการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่เกิดความตระหนักและมีความพยายามที่จะ พัฒนามากขึ้นในผู้รับบริการมากขึ้น ตลอดจนความพยายามที่ให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของ หน่วยงานได้รับการเผยแพร่ใน Website ของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้าติดตามหรือตรวจสอบได้ อ้างอิงจากรายงาน ITA ปี ๒๕๖๕ ในขณะที่คะแนนของ CPI ซึ่งวัดระดับดัชนีทุจริตคอร์รัปชันหรือความโปร่งใสไทย ได้คะแนนเพียง ๓๖ คะแนน เต็ม ๑๐๐ คะแนน เพียงเท่านั้นนะคะท่านประธาน ซึ่งหมายถึงการรับรู้คอร์รัปชันที่ต่ำมาก นั่นหมายถึงมีอัตราการคอร์รัปชันที่สูงหรือไม่ค่ะ และมีการจัดทำอันดับคือประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น ๓๖ คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ ๑๐๑ ของโลก ดีขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ที่ได้ ๓๕ คะแนน แต่เมื่อเทียบจากระดับโลกแล้ว ไทยอยู่อันดับที่ ๑๐๑ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบ กับประเทศกลุ่มสมาชิก ASEAN หรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยอยู่ในอันดับ ๔ ขณะที่ประเทศได้คะแนนสูงสุด คือประเทศสิงคโปร์ได้ ๘๓ คะแนน และจัดอยู่อันดับ ๔ ของโลก อันดับ ๒ และอันดับ ๓ คือประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม โดยได้คะแนน ๔๗ คะแนน และ ๔๒ คะแนนตามลำดับค่ะ สิ่งนี้บ่งบอกว่าการทุจริตคอร์รัปชันของไทยเรา ดีขึ้นหรือยังคะ ดิฉันว่าไม่ค่ะ ซึ่งหากตั้งคำถามว่าเหตุใดการชี้วัดระหว่างคะแนนของไทย กับสากลถึงได้สวนทางกัน ดิฉันจึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาดูเกณฑ์ในการวัด ซึ่งเราจะดูถึง หัวข้อในเรื่องบกพร่องเกี่ยวกับปัจจัยข้อคำถาม มาตราวัดที่ถูกนำมาพิจารณาเพื่อรวบรวม การวัดคะแนนของทั้ง ๒ หน่วยงานค่ะ เมื่อพิจารณาคะแนนที่สวนทางกัน จากรายงานที่ทำ โดยหน่วยงานรัฐไทยและสากล หากพิจารณาตามปัจจัยข้อคำถามมาตรฐาน มาตราวัด ที่ถูกนำมาพิจารณาจะพบช่องโหว่ หรือข้อบกพร่องในตัวปัจจัยคำถามอย่างมากดังต่อไปนี้ ปัจจัยที่ CPI เอามาวิเคราะห์ หรือของสากลนะคะ นำมารายงานองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีความน่าเชื่อถือ อันประกอบไปด้วยหลายองค์กรที่โชว์ใน Slide ที่ประกอบนะคะ เมื่อพิจารณาดูคำถามตัวชี้วัด หรือมาตรฐานการวัดจะประกอบไปด้วย ๑. การวัดด้วย ความหลากหลายของประชาธิปไตย ๒. การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ๓. การทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่าย ตุลาการ ๔. กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบ ตลาดเสรี หรือที่เรียกว่า Liberal Democracy นั่นเอง ๕. การวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับ ความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะต้องเผชิญ อาทิความโปร่งใสในการจัดสรร และใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง การมีหน่วยงานอิสระ ในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณและด้านยุติธรรมค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อไปการประเมินคอร์รัปชันในระบบการเมืองที่มีนักธุรกิจมักพบได้โดยตรง และบ่อยครั้ง อาทิการเรียกรับเงินหรือจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต ในเรื่องนี้ เรามักจะเห็นข่าวการรับส่วย และติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่ความลับอะไร หรือหลักวัดนิติรัฐและนิติธรรม หรือเรียก Rule of Law โดยมีเกณฑ์การวัด ๘ เกณฑ์ อาทิเช่น ๑. ขีดจำกัดของอำนาจรัฐบาล หรือ Constraints on Government Powers ๒. ปราศจากคอร์รัปชัน ๓. เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หรือว่า Open Government นั่นเอง ๔. สิทธิขั้นพื้นฐาน หรือเรียกว่า Fundamental Rights กระบวนการยุติธรรม Civil Justice และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือ Criminal Justice ค่ะ ในขณะที่ปัจจัยคำถาม หรือ Survey ของรัฐไทย ที่ ป.ป.ช. ทำ หรือตัวชี้วัดของ ITA ไทย ประกอบไปด้วยข้อมูลแค่ ๓ ส่วนเท่านั้น ๑. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือแบบของ Internal Integrity and Transparency Assessment ITA และ ๒. แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายนอก หรือที่เรียกว่า External Integrity and Transparency Assessment ๓. แบบวัด การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data Integrity and Transparency Assessment แบบวัดหรือมาตรฐานการวัดเหล่านี้ประกอบไปด้วยการทำแบบสอบถามในเรื่องเกี่ยวกับ ทำงานของหน่วยรัฐ อาทิเช่น ตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบทำงานว่าปฏิบัติ ตามมาตรฐานหรือไม่ ตัวชี้วัดการใช้จ่ายงบประมาณว่ามีความโปร่งใสในกระบวนการจัดทำ งบประมาณ ลักษณะการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปได้อย่างคุ้มค่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่เอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้องหรือไม่ ๓. การชี้วัดการใช้อำนาจรัฐ โดยสอบถาม ถึงการมอบหมายการประเมินผลการปฏิบัติการ การคัดเลือกบุคลากรเพื่อให้สิทธิประโยชน์ ต่าง ๆ ซึ่งต้องเป็นไปตามความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และตัวชี้วัดในการใช้ทรัพย์สินของ ข้าราชการ สอบถามเรื่องความรู้ความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและทรัพย์สินของรัฐ ตัวชี้วัด ในการแก้ไขปัญหาทุจริต ตัวชี้วัดคุณภาพการดำเนินการ ตัวชี้วัดในประสิทธิภาพการสื่อสาร และตัวชี้วัดการปรับปรุงระบบการทำงาน Slide หน้าเดิมนะคะ คำถามในแบบสอบถามกับ คำถามของไทยที่มีความผิวเผิน จับต้องได้ไม่ได้มีการทำการวิเคราะห์เชิงลึก เชิงนามธรรม ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิความเห็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและการเปิดเสรี หรือที่ เรียกว่า Democratization and Liberalization หรือไม่ได้มีการวัดการตรวจสอบถ่วงดุล ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ไม่มีดัชนีชี้วัดหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือ Rule of Law หรือไม่มีหลักชี้วัดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ของประชาชนที่ได้รับการเคารพหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดของ ITA รวมไปถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ทางอาญา แล้วก็มาตรฐานของ World Justice Protect ด้วยค่ะ แต่กลับเป็นเพียงการหยิบ เอาปัจจัยมาพิจารณาแบบผิวเผิน ไม่มีสาระสำคัญ ไม่ได้สะท้อนคุณค่า ความโปร่งใสของ หน่วยงานอย่างแท้จริง เมื่อนำมาตรฐานมาวัด เช่น คำถามที่เกี่ยวกับ Routine ของภาครัฐ หรือมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เน้นท่องจำ แต่ปฏิบัติไม่ได้จริงค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกตัวอย่างก็คือโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ในส่วนนี้ดิฉัน ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการมีจิตพอเพียงกับการต่อต้านทุจริต กลับกันเรากลับเห็นว่า ข่าวผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ กระชับหน่อยนะครับ เลยเวลา

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กับโครงการนี้ มีความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอร์รัปชันมากมาย หรือโครงการส่งเสริมความมีส่วนร่วม ทางศาสนาเพื่อสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต สิ่งนี้จะเป็นรูปธรรมหรือไม่ หากเราสร้างระบบที่ดี กฎหมายที่รัดกุม มีการตรวจสอบถ่วงดุล มิใช่การหวังพึ่งหลักการนามธรรมอย่างหลักศาสนา เพียงอย่างเดียว หากสอบถามว่าเหตุใดปัจจัยวิเคราะห์เชิงการเมือง เชิงประชาธิปไตย อย่างดิฉันกล่าวมาจึงต้องถูกนำมาพิจารณามาตรฐานความโปร่งใส คำตอบคือรัฐราชการไทย เป็นรัฐที่คลุมเครือ ขาดการตรวจสอบการมีส่วนร่วมของประชาชน การแก้ไขปัญหา หน่วยงานรัฐและราชการประเภทดังกล่าวต้องเริ่มจากโครงสร้างการเมือง การปกครองที่มี ประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมของประชาชน การมีระบบที่ถูกตรวจสอบได้ภายใต้มาตรฐาน ที่เสรีและยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้มีการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ไม่มีระบบนิติรัฐ นิติธรรม ความเท่าเทียมทางกฎหมาย หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบ ประชาธิปไตยที่แท้จริง กราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล เชิญครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาผู้แทนที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมใช้เวลาไม่มากขอถามคำถาม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาตินะครับ ผมพบว่าในรายงาน การดำเนินงานรายงานประจำปีของงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ถ้าเราดูตั้งแต่ประมาณ หน้า ๕๓ เป็นต้นไป ไปจนถึงประมาณ ๑๐๐ กว่าหน้าก็จะมีผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องเรียนทั้งการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริต เรื่องร้องเรียน การยื่นทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นร้องเรียนความร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่ง มีการแบ่งประเภทหลาย ๆ แบบ อย่างอันหนึ่งที่ผมดูในหน้า ๗๓ ผมก็ตกใจนิดหน่อยนะครับ เพราะว่าจำนวนเรื่องที่กล่าวหา และจำนวนเรื่องคงค้าง จากปี ๒๕๕๘ มีเรื่องรับใหม่อยู่ ๓,๐๐๐ เรื่อง สรุปสิ้นปีแล้วมีคงค้างอยู่ ๑๐,๙๐๐ เรื่อง พอมาถึงปี ๒๕๖๕ จำนวนเรื่อง คงค้างจาก ๑๐,๙๐๐ เรื่อง เพิ่มเป็น ๑๒,๗๙๒ เรื่อง แต่ละปีนี่บางปีพิจารณาได้ ไม่เท่ากับเรื่องที่รับใหม่ในปีนั้น ๆ ด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมจะถามก็คือที่ผมไม่เจอเลยในการประเมินผล ในการดำเนินงาน ก็คือมีการวัดผลหรือไม่ว่าโดยเฉลี่ยแล้วทางหน่วยงานใช้เวลา การดำเนินงานในแต่ละเรื่องยาวนานเท่าไรนับตั้งแต่วันที่รับเรื่องไปจนถึงวันที่มีการชี้มูล ความผิดหรือมีการยกคำร้อง โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน ให้ความสำคัญ กับกรอบเวลาในการพิจารณาเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานอย่างไรบ้าง ผมเข้าใจดีว่าความซับซ้อนของเรื่องร้องเรียนแต่ละเรื่องนี่มันอาจจะไม่เท่ากัน บางเรื่องนี่มันก็ อาจจะซับซ้อนมาก บางเรื่องก็อาจจะซับซ้อนน้อย ไม่ได้จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานสักเท่าไร แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญก็คือผู้ร้องเรียนเองหรือว่าประชาชนทั่วไปเองเขาก็ติดตามว่าเรื่องที่ เป็นที่สนใจของสังคมนี่มันดำเนินงานไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ถ้าผมจะอ้างอิงจาก พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีผลบังคับใช้ ไปแล้ว ผมก็มีคำถามต่อไปที่จะถามว่าทางหน่วยงานเองนี่ได้มีการออกระเบียบมาหรือยังว่า การร้องเรียนในประเภทต่าง ๆ นั้นทางหน่วยงานได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้กี่วัน กี่เดือน ในเรื่องต่าง ๆ และมีการแจ้งความคืบหน้าต่อผู้ร้อง หรือว่าต่อสาธารณะอย่างไรบ้างว่า แต่ละเรื่องอาจจะผ่านไป ๖๐ วันแล้ว ๙๐ วันก็แล้ว ๑๒๐ วันก็แล้ว แต่มีความซับซ้อน ผมก็อยากให้มีการแจ้งอย่างน้อย ๆ แจ้งไปที่ผู้ร้อง หรือแจ้งผ่านทาง Website ก็ได้ ทางสาธารณะว่ากรณีนี้มันต้องใช้เวลาต่อไปอีกเพราะมีความซับซ้อน มีการประชุมกัน เพื่อพูดคุยเรื่องนี้กันกี่ครั้งแล้ว และมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง เพราะหลาย ๆ เรื่อง ผมก็ต้องพูดตามตรงว่าผมก็ยื่นร้องไปแล้วด้วยตนเอง แล้วผมก็ยังไม่ทราบเลยจนถึงว่า ทุกวันนี้เรื่องนี้ได้มีการหยิบขึ้นมาพิจารณาบ้างหรือยัง OK ในเรื่องของที่ผมอยากจะทราบ จากหน่วยงานเองก็มีเท่านี้นะครับ แต่ว่ามีเพื่อนสมาชิกที่ไม่อยากจะเสียเวลาในสภาแห่งนี้ ก็ฝากผมมาถามคำถามอีก ๒ คำถามสั้น ๆ นะครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามแรก ในฐานะที่ทางหน่วยงานเองนี่เป็นเจ้าภาพในแผนงานบูรณาการ ด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเพื่อนสมาชิกตั้งข้อสังเกตมาว่ามีความแปลกอยู่ นิดหนึ่งว่าแผนงานบูรณาการนี้ไม่มีกรมบัญชีกลางอยู่ด้วย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วกรมบัญชีกลาง เป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ผมคิดว่า ถ้าเราใช้เทคโนโลยีหรือว่า อาศัยการทำงานของกรมบัญชีกลางที่มีประสิทธิภาพจะสามารถตรวจจับการทุจริตได้อีก เป็นจำนวนมาก และน่าจะอำนวยความสะดวกให้ทาง ป.ป.ช. เองสามารถทำงานได้สะดวก ยิ่งขึ้น ผมก็ขอเสนอแนะจากเพื่อนสมาชิกท่านอื่นผ่านไปยังท่านประธานไปยังหน่วยงานนะครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งที่มีเพื่อนสมาชิกฝากถามมาเข้าใจว่ามีการก่อสร้างอาคารใหม่อีก ๒ หลังของสำนักงาน ป.ป.ช. และมีประชาชนเขาก็ฝากร้องมาว่าพบว่ามีการตั้งงบ ติดกล้องวงจรปิด ๑๐๐ กว่าตัว ผมก็ต้องถามตรงนี้ว่ามีเรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นประการใด และคิดว่าจำนวนเท่านี้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เท่านี้ท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านปกรณ์วุฒิครับ ต่อไปท่าน เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข เชิญครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน กระผม เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมขอชื่นชมจากผลการดำเนินงานที่เขียนมา อย่างสวยหรู และรูปเล่มที่สวยงามของ ป.ป.ช. ที่นำเสนอต่อสภาแห่งนี้มันดูเหมือนจะทำได้ ดีเยี่ยมตามเนื้อความและบางวรรคตอน แต่ตามเนื้อความแล้วมันสวนทางกับความเป็นจริง จากการที่ผมได้ลงพื้นที่มา และสอบถามจากพี่น้องประชาชนที่เคยร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. สิ่งที่ทราบมาเหมือนกับเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไว้ คือการดำเนินงานที่ล่าช้า และไม่สามารถติดตามได้ง่ายดาย

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ล่าสุดเลยครับท่านประธาน ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนทหาร สังกัด กรมพระธรรมนูญ ศาลทหาร ถึงกรณีอดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญศาลทหาร พลเอก ป มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตจัดสร้างพระผงศาสดา เอกสารอยู่ในมือผมนี่ ทราบมาว่า อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. และสำนักงานพระธรรมนูญ ได้นำ เรื่องกลับไปที่ ป.ป.ช. แล้ว แต่การดำเนินการล่าช้าจนเป็นข้อกังวลให้กับเพื่อนทหาร และพี่น้องประชาชน ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการจัดสร้างพระผงศาสดานี้ ทุกข์ใจ กลัวว่าเรื่องจะเงียบกริบเหมือนหลาย ๆ เรื่องที่เป็นมา นี่คือตัวอย่างที่ ๑ ครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ตัวอย่างที่ ๒ คือเรื่องร้องเรียนของรักษาการเลขาธิการ กสทช. ต ผมทราบ จากเพื่อนภาคเอกชนว่าได้ร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. เช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถติดตามเรื่อง ได้โดยง่าย

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และเรื่องที่ ๓ จากเพื่อน สส. พนิดา สมุทรปราการ ฝากถามมาว่าเสาไฟกินรี ที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบชี้มูลอยู่ทำไมถึงล่าช้า

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และเรื่องสุดท้าย คือเรื่องที่ ๔ เรื่องที่กระผมเองเคยยื่นกับ ป.ป.ช. ทิ้งเอาไว้ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ข้าราชการส่อไปในทางทุจริตกรณีใช้เครื่องบิน F-16 ไปในภารกิจลอยอังคารบิดาของตนเอง

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นี่คือ ๔ เรื่องตัวอย่างที่ยกมาให้ท่านประธานเห็น และผ่านไปยัง ป.ป.ช. ให้ช่วยตรวจสอบดูถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นเหตุอันใด นี่แค่ ๔ เรื่องที่ยกตัวอย่าง ยังมีอีกหลายเรื่องที่ประชาชนยังไม่ได้พูดถึง หรือยังไม่มีโอกาสฝากมา ประเด็นนี้ครับ ผมอยากจะฝากท่านประธานไปยัง ป.ป.ช. ครับ จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเกิด ป.ป.ช. จะช่วย วางระบบการติดตามตรวจสอบเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่เวลาไปร้องเรียนแล้ว สามารถติดตามได้โดยง่ายดาย ทุกข์ของประชาชนนี่ละครับ แค่เขารู้ว่าเรื่องของเขา ดำเนินการไปถึงไหนแล้วเขาก็อุ่นใจ ดีกว่าให้ทุกเรื่องที่ร้องเรียนไปแล้วมันเงียบ เขาก็ได้แต่ กังวลใจว่ามีใครไปวิ่งคดีหรือเปล่า มีใครไปวิ่งตรงโน้นตรงนี้ให้เรื่องมันหายหรือเปล่า ซึ่งผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าหน่วยงาน ป.ป.ช. แห่งนี้ดำรงอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรม ไม่มีการเรียกรับใด ๆ แน่นอน อย่าให้ข้อครหาเหล่านี้ต้องเป็นข้อกังวลใจของ พี่น้องประชาชนหรือผู้เดือดร้อนที่ไปร้องเรียนยัง ป.ป.ช. ขอฝากเรื่องนี้ผ่านท่านประธาน ไปยัง ป.ป.ช. ช่วยพัฒนาระบบและให้ประชาชนติดตามได้โดยง่ายดาย วันนี้ผมมีเรื่องสั้น ๆ เพียงแค่นี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการผู้มาชี้แจง ถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเอกราช อุดมอำนวย นะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนดอนเมือง พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายเรื่องประสิทธิภาพในการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้ ในรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ส่งมาต่อสภาแห่งนี้ก็ยังมีเรื่องค้าง ๒๖,๓๑๒ บัญชี ก็คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๔๔ แล้วก็ท่านตรวจเสร็จไปแล้วประมาณ ๔๓,๙๗๐ บัญชี โดยการตรวจสอบปกติและเชิงลึก อย่างเรื่องของการตรวจสอบการมีอยู่จริงและบัญชี ยอมรับนับถือจริง ๆ ว่าคณะ ป.ป.ช. เก่ง เอาผิดนักการเมือง ข้าราชการทุจริตได้อย่างมาก แต่ว่าบางเรื่องก็เหมือนถูกละเว้น จากการตรวจสอบทรัพย์สินบัญชีที่เพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ มีการฟ้องสู่ศาล แต่ว่าน่าเสียดายในรายงานของท่านน่าจะสรุปเรื่องของคดีลงไป ในรายงานด้วย รายงาน ๒ แผ่นนี้ผมโหลดมาจาก Website ของ ป.ป.ช. แต่ไม่อยู่ในรายงาน ประจำปี ก็เสนอแนะท่านเพื่อที่จะให้ได้สภาแห่งนี้ได้เห็นว่า การที่ท่านนำคดีขึ้นสู่ศาล มีรายละเอียดการพิจารณาอย่างไรบ้าง และผลของการดำเนินคดีเป็นอย่างไรบ้างนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นี่ มีมติชี้มูล ซึ่งอันดับแรก เป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างมันลดลงจากปี ๒๕๖๔ อย่างมาก อันนี้ผมก็สงสัยว่าคนทุจริต น้อยลงหรือครับ หรือท่านปราบปรามมากขึ้น อันนี้ก็เป็นคำถามข้อสังเกต

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นอกจากนี้ผมกลับมาที่เรื่องของการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ผมอยาก สอบถามว่าบรรดาผู้ตรวจ เจ้าหน้าที่มีการฝึกอบรมเรื่องคุณวุฒิอื่นหรือเปล่า เพราะว่า นอกจากบัญชีมีหลายประเภท มันไม่ใช่มีแค่นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นักบริหาร ที่จะตรวจสอบได้ มันมีเรื่องพระเครื่อง นาฬิกา ก็เลยอยากจะสอบถามว่าเกณฑ์ ในการตรวจสอบหรือประเมินทรัพย์สินเหล่านี้ ท่านฝึกอบรมหรือใช้หลักเกณฑ์อย่างไร

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง ในเรื่องของการส่งบัญชีทรัพย์สินที่ต้องอาศัยเอกสาร ประกอบ บางอย่างก็ไม่ต้องควรมีการให้ยื่นซ้ำซ้อน อย่าง ภ.ง.ด. มันไม่สามารถสะท้อนการมี อยู่จริงของบัญชีได้ มันคือการยื่นรายได้และแสดงรายได้ของกรมสรรพากร มันไม่ใช่ภารกิจ ของหน่วยงานท่านนะครับ แต่ถ้าท่านพบว่ามันมีการยื่นไม่ตรงกับบัญชีรายได้ที่ท่านให้แสดงนี่ ก็ท่านอาจจะแค่ส่งข้อมูลให้สรรพากรเขาดำเนินการ ทุกคนเป็นนักการเมืองย่อมพร้อม ที่จะตรวจสอบ แต่เครื่องมือบางอย่างนี่ก็อยากจะให้เชื่อมโยงกับข้อมูลภาครัฐอย่างมี ประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารสำเนาจำนวนมาก บางอย่างนี้ท่านเก่งล้ำหน้าไปเลย แต่บางหน่วยงานอาจจะไม่เดินตามท่าน อาจจะต้องมีเครื่องมือ หรือหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม ผมอาจจะเสนอแนะตรงนี้ อย่างเช่น กรมที่ดินในรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลมันแตกต่าง จากหน่วยงานของท่านแน่นอน กรมที่ดินก็ยังคงต้องทำเป็นหนังสือมีโฉนด แล้วก็ไม่สามารถ ตรวจสอบการซื้อการขายได้ราคาประเมินแบบอัตโนมัติทันท่วงที ต้องใช้ระยะเวลานะครับ ท่านอาจจะต้องระบุหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น ที่ดินท่านอาจจะต้องกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า จะเอาตัวเลขไหน จะเอาราคาประเมินภาครัฐ จะเอาราคาตลาด หรือราคาซื้อขาย เพื่อไม่ให้ เป็นช่องว่าง เป็นหอกที่เอามาทิ่มแทงกันในภายหลังของบรรดาผู้ที่ยื่น เพราะบางคน หน่วยงานบางท่านก็อาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการประเมิน หรือการจัดการ ทรัพย์สินเหล่านี้ ดังนั้นในเรื่องต่าง ๆ นี้ท่านอาจจะต้องเสนอสภาแห่งนี้มาเลยครับ ว่ามันมี กฎหมายที่มันปรับปรุงได้ไหม หรือการตรวจสอบความถูกต้อง และมีอยู่จริงของบัญชี ทรัพย์สินจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ จัดกลุ่มความสำคัญและความเสี่ยง และท่านควรจะ มีตัวชี้วัดเพื่อพิจารณาระบบฐานข้อมูลที่เน้นสัมฤทธิผล เพราะบางอย่างมันก็ไม่สะท้อนตัวเลข ราคาประเมินต่าง ๆ ผมคิดว่ายังคงจะต้องหาตัวชี้วัดที่เหมาะสมมากกว่าในแบบฟอร์ม ที่ท่านให้ทุกคนได้ยื่น เจ้าหน้าที่ของรัฐต่าง ๆ ผมก็คิดว่าควรจะมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน โดยอาจจะพิจารณาเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลกลาง หรือว่าหน่วยงานต้นสังกัด อาจจะไม่ต้องยื่นต่อท่านก็ได้ แต่ว่าเผื่อท่านได้ใช้ในอนาคต กรณีที่ข้าราชการเหล่านั้น เป็นใหญ่เป็นโต หรือว่าเติบโตขึ้นมาในสายงานที่ถึงตามที่กฎหมายระบุไว้ให้ต้องยื่น แล้วก็ ผมอยากเห็นท่านทำงานใหญ่ ๆ ให้สัมฤทธิผล คือการจับช้าง ไม่ใช่จับตั๊กแตน เมื่อพิจารณา คดี Size XL ที่ท่านเขียนไว้ มันมีเพียงแค่ ๑๔๖ เรื่อง จาก ๑,๐๐๐ กว่าเรื่อง ทำไมหลัง ๆ นี่ ที่ท่านมี พ.ร.ป. จำนวนคดีมันถึงลดลง อันนี้ผมก็อยากฝากตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายผมอยากเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องมาจากภาคประชาชนด้วย อันนี้ก็ฝากผ่านไปยังท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกด้วยกันว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่เขียนเอาไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นอดีต ข้าราชการ มีตำแหน่งอธิบดีไม่น้อยกว่า ๕ ปี ไม่มีสัดส่วนของภาคประชาชนเลย และไม่มี ที่มาขององค์กรวิชาชีพที่กำหนดให้เห็นว่ามีความสามารถ หรือคุณสมบัติที่เกี่ยวกับ ความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน การสรรหาก็มีที่มาจากประธาน ศาลฎีกา OK ครับ เป็นตัวแทนของศาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร OK เป็นตัวแทนจากการเลือกตั้ง แต่ศาลปกครองสูงสุด หรือตัวแทน จากศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็คิดว่าตรงนี้ไม่ยึดโยงกับประชาชน

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายก็ยังฝากท่านในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในการจัดข้อมูลเพื่อให้ ประชาชนมีการตรวจสอบ และระยะเวลาที่เพื่อนสมาชิกได้บอกไปแล้วว่าในการดำเนินคดี ผมไป Load มาดูคดีหนึ่งนี้เป็นคดีทุจริตโครงการจ้างเหมาขุดลอกคลองสระน้ำในปี ๒๕๔๘ ตั้งเรื่องในปี ๒๕๖๒ มาเสร็จเอาปี ๒๕๖๕ แบบนี้ผมก็คิดว่าท่านจะต้องมีกรอบระยะเวลา การทำงานที่เหมาะสมนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายในรายงานนี้ผมอยากเห็นในปีถัด ๆ ไปในเรื่องของศูนย์ TACC ศูนย์ความร่วมมือกับต่างประเทศตามมาตรา ๑๓๘ ไม่มีเขียนไว้เลยว่าท่านดำเนินงาน เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง ขออีกสักครู่นะครับท่านประธาน

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นอกจากนี้ในหมวด ๑๐ เรื่องของกองทุน ป.ป.ช. ที่สนับสนุนเรื่องของ การเผยแพร่การป้องกันการทุจริต ซึ่งให้สำนักงานมีอำนาจในการให้เอกชนเผยแพร่ รณรงค์ เกี่ยวกับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ค่าตอบแทน เงินรางวัล หรือการประชาสัมพันธ์ ผมไม่เห็น ว่าในการดำเนินงานส่วนนี้เป็นอย่างไรบ้าง อยากให้ท่านรายงานลงไปในรายงานครับ เพราะว่ามันเป็นงบประมาณของแผ่นดินที่ท่านไม่ต้องนำส่งคลัง แต่อยากให้พี่น้องประชาชน ได้เห็นว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ได้ใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ ตรงตามกฎหมาย และท่านได้ ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุดท้ายนะครับ ท่านวิทยา แก้วภราดัย เชิญครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย พรรครวมไทยสร้างชาติ ขออนุญาตใช้เวลาไม่นานครับ ต้องขอบคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้ให้เกียรติต่อสภาเดินทางมา เต็มคณะชุดใหญ่เลยครับ ถือว่าเป็นคณะแรก ๆ ที่เข้ามาชี้แจงอย่างพร้อมเพรียง ท่านประธานครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมมีเรื่องเดียวครับ ที่จะได้หารือและฝากข้อสังเกตไปกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ กฎหมาย ได้ให้อำนาจหน้าที่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการที่จะกำหนดประเภทบุคคลที่จะต้อง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ปรากฏว่าในรอบปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ท่านได้ออกคำสั่ง ทั้งหมด ๕ คำสั่ง ๕ ฉบับ จำนวน ๑๘ ตำแหน่ง ๓๕๐ บัญชี ประกาศรายชื่อบุคคลที่จะต้อง แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปัญหาก็คือบางเรื่องผมก็ยังติดใจ กรณีการประกาศฉบับแรก ตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผมเรียน ถามนิดหนึ่งว่า อธิการบดีทั่วประเทศเรามีอยู่หลายสิบอธิการบดี ผมว่าเกือบร้อยอธิการบดี ไม่ทราบอยู่ในบัญชีที่เราแจ้งไปหรือยัง นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งบางตำแหน่งที่ประกาศ ขึ้นมาใหม่ แล้วก็บางตำแหน่งผมคิดว่าไม่น่าจะถึงขั้นประกาศเราก็ประกาศ เช่น ระดับผู้อำนวยการสถานกักกัน บางตำแหน่งเราประกาศเสียจนสูงมาก เช่นของตำรวจเราจะ เอาผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รองผู้บัญชาการตำรวจ รองผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจ ระดับพวกนี้เราถึงประกาศ แต่ท่านคงจำได้หลาย เรื่องที่เราเห็นพันตำรวจเอกโดนยึดทรัพย์ทีเป็นพันล้านบาท ทีนี้ผมอยากเรียนถาม แล้วก็ ช่วยหาหลักเกณฑ์ด้วยว่าประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติที่ออกมาเพื่อควบคุมกำกับข้าราชการที่มีตำแหน่งทั้งหมด เราเอาหลักเกณฑ์อะไรมา วัดที่จะประกาศตำแหน่งใดที่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หรือไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าผมต้องยอมรับว่า ป.ป.ช. ภาระงานหนักมาก แล้วก็ มีเรื่องค้างจริง ๆ ซึ่งเรื่องมันเยอะ ระบบการตรวจสอบมันเยอะ แต่ว่าสังคมไทยก็ให้ ความเชื่อมั่นกับองค์กร ป.ป.ช. ครับ ใครโดน ป.ป.ช. สอบนี่ก็หนาวกันทั้งตระกูลเลยครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเห็น ก็คือในเรื่องของการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผมขออนุญาตเรียนถามว่าเรามีเกณฑ์สำหรับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เราไหม ว่าตั้งแต่ประธาน ไปจนถึงล่างสุดข้างล่างเราประกาศไปถึงขั้นไหน ใจผมเคยเสนอตอนเขาปฏิรูปประเทศ ว่าที่จริงแล้วถ้าเราไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ นี่การเมืองเราประกาศหมดแล้วถึง อบต. แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว แต่ประเทศเรายังติดอันดับต้น ๆ ของการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ลดลงเลย คราวนี้ถ้าหันมาระบบราชการเป็นไปได้ไหมท่านว่าประธานตั้งแต่วันแรก ที่รับราชการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้เลย แล้วก็เปิดเผยสาธารณะ ผมคิดว่าคนที่ ไต่จากระดับซี ๓ ซี ๔ ซี ๕ ซี ๖ ซี ๗ ถ้าทุกคนถูกแจ้งบัญชีทรัพย์สินแล้วก็อยู่ในชนบท อยู่ในต่างจังหวัดแบบพวกผมนี่ครับมองเห็นกันหมด พอถึงเวลาจากร้อยเอกจะขึ้นเป็น สารวัตรมันก็แทงกันตายไปครึ่ง ผมเห็นอยู่ว่ารถ Benz กี่คัน รถเก๋งกี่คัน อันนั่นรวยเท่าไร ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้ระบบเราน่าจะสะดวกขึ้นในการที่แจ้งให้หมดเสียเลย ผมเลยมีข้อเสนอแนะ ๒ เรื่อง

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือเราจะปราบทุจริตในวงการราชการก็ทุกคนที่เข้าระบบราชการ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเลย และต้องแจ้งทบทวนทุก ๕ ปี จนกว่าจะเกษียณ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ใน ป.ป.ช. เราเองซึ่งเป็นองค์กรที่แสดงของความซื่อสัตย์สุจริต เราทำให้หมดเลยทั้งองค์กร ๒,๐๐๐ กว่าท่านที่ท่านเรียนมา ผมคิดว่าน่าจะเป็นรูปแบบ และตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น นอกนั้นก็ขอให้กำลังใจครับ และถ้ามีปัญหาเรื่องกิจการ ที่ท่านติดขัดอย่างไรผมว่าท่านแจ้งในที่ประชุมนี้ได้ หลายท่านจะต้องไปพิจารณาเรื่อง งบประมาณในการดูแล เราอยากได้องค์กรเข้มแข็งแบบ ป.ป.ช. มาเพื่อปราบปรามการทุจริต ขอเป็นกำลังใจกับทุกท่านครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านวิทยา แก้วภราดัย ผู้อภิปรายท่านสุดท้าย เชิญทางท่านผู้ชี้แจง เชิญครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรนะครับ ก่อนอื่นผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ ท่านที่ได้กรุณา มีคำถาม ให้ข้อแนะนำ ให้ข้อความเห็น ผมจะขออนุญาตลองลำดับชี้แจงสิ่งที่ท่านได้ให้ คำแนะนำนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านนิพนธ์ คนขยัน ได้พูดถึงเรื่องสถิติเปรียบเทียบที่เพิ่มขึ้น การดำเนิน คดีอาญา แล้วก็มาตรา ๙๘ ก็ต้องกราบเรียนอย่างนี้ว่าประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้ให้อำนาจว่า ถ้าหากมีการชี้มูลแล้วนี่นะครับ ชี้มูลความผิด อาญาแล้วก็ให้ดำเนินการชี้มูลทางวินัยไปด้วยมันก็อยู่ในมาตรา ๙๑ ทางอาญาก็เป็น มาตรา ๙๑ (๑) มาตรา ๙๑ (๒) เป็นเรื่องของวินัย เราก็ดำเนินการไป แล้วก็จะวิ่งไปสู่ มาตรา ๙๘ แล้วก็ให้ผู้บังคับบัญชานั้นถือว่าถ้าเป็นสำนวนทางวินัยไม่ต้องไปตั้ง คณะกรรมการทางวินัย แต่ในขณะเดียวกันให้ดำเนินการลงโทษภายใน ๓๐ วัน อะไร อย่างนี้นะครับ ในขณะเดียวกันกฎหมายมาตรา ๙๙ ก็ยังให้โอกาสที่ผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ถูก ชี้มูลสามารถที่จะนำเสนอพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นอาจจะพิจารณาวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ กระบวนการตรงนี้ก็เลยทำให้กระบวนการ ลงโทษอาจจะช้าไปบ้าง อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อมีการยื่นมาตามมาตรา ๙๙ เราก็ต้องรีบพิจารณา ถ้าไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่เราก็ไม่รับขึ้นพิจารณา เราก็จะยืนยัน กลับไปให้เขาดำเนินการตามมาตรา ๙๘ ทีนี้มันก็เป็นอย่างที่ท่านนิพนธ์ได้กรุณากล่าว คือว่าก็มีหลายหน่วยงานก็อาจจะไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบที่กฎหมายที่กำหนด ป.ป.ช. เอง ก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำก็พยายามประสาน เพราะจริง ๆ แล้วถ้าเขาไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๘ มันก็จะวิ่งเข้าไปสู่มาตรา ๑๐๐ ซึ่งมาตรา ๑๐๐ ได้บอกว่า ถ้าผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจ แต่งตั้งถอดถอนผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๘ โดยไม่มีเหตุอันสมควรนี้ ให้ถือว่า ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย หรือกระทำ ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง คือผู้บังคับบัญชาเองจะโดนวินัยร้ายแรง อาจจะละเว้นด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีหลายกรณี ซึ่ง ป.ป.ช. ถ้าเห็นว่ามันเป็นการล่าช้ามานานแล้วทำให้ กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพเราก็จะแจ้งไปว่ามิเช่นนั้นท่านจะโดนไปตามมาตรา ๑๐๐ เราก็พยายามดำเนินการทำ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังมีสิทธิตามกฎหมายที่เขาจะไปร้องต่อ ศาลปกครองกรณีที่มีการลงโทษ แล้วเขาเห็นว่าโทษปลดออก ไล่ออกนั้นไม่ถูกต้อง ก็ไปร้องศาลปกครองก็ไปอยู่ในกระบวนการศาลปกครองอีก ซึ่งก็มีกรณีที่ ป.ป.ช. และศาลปกครองก็ยังมีกรณีที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ยืนยัน ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ แล้วก็ ถ้าพอชี้มูลแล้วเขาต้องดำเนินการทางวินัย ถ้าไม่ดำเนินการทางวินัยนี่ผู้บังคับบัญชานั้น อาจจะต้องรับผิดทางวินัยเสียเอง เพราะฉะนั้นแล้วก็มีกฎหมายอยู่แล้วครับ ขณะนี้เราก็ ยืนยันว่าเราพยายามจะใช้กฎหมายตัวนี้ให้มีประสิทธิภาพนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องของการยุติปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม เมื่อชี้มูลไปแล้วก็ยื่นศาลก็มีกฎหมาย มาตรา ๙๑ บวกมาตรา ๙๓ นั้น ขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นดุลยพินิจของ ศาลอีกนะครับ เราเคยมีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครอยู่ที่สมุทรปราการคงจะเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง กระทำความผิดหลายกรณี เราชี้มูลหลายกรณี เราก็ยื่นศาล ศาลท่านก็ไม่ได้ให้ข้อยุติ การปฏิบัติหน้าที่ ศาลก็บอกว่ามันไม่มีเหตุให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นดุลยพินิจของศาล ที่ศาลจะสั่ง แต่เราก็เห็นว่ากฎหมายมีอยู่เราก็ยังยืนยัน เรื่องที่ ๒ เราชี้อีกเราก็ยืนยันไปอีก ว่ายื่นขอให้อัยการหรือกรณีที่เราฟ้องเองขอให้ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังเป็นดุลยพินิจ ของศาล ศาลเขาก็ไม่สั่งอีกครับ ก็ถือว่าเป็นดุลยพินิจของศาล แต่ก็มีหลายกรณีที่ศาลท่านสั่ง หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกส่วนเหมือนกับที่เราบอกว่าถ้าเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ Tone from the top เหมือนอย่างประเทศจีนประธานาธิบดีลงมานี่เขาชัดเจนในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริต ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานตรงไหนในองคาพยพของการเป็นรัฐไทย ได้ถือเป็น นโยบายสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายก็จะมีประสิทธิภาพมันจะเสื่อมประสิทธิภาพ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องท่านณัฏฐ์ชนนในกรณีที่ท่านได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง ป.ป.ช. เอง ก็จะเป็นอย่างที่ท่านกล่าวครับ มีคนที่ไม่ค่อยชอบ ป.ป.ช. หรอกครับ แต่ขณะเดียวกัน ก็มาร้อง ป.ป.ช. เพื่อจะไปให้ดำเนินการกับบุคคลอื่น ขณะที่วิพากษ์ ป.ป.ช. แต่ก็มา ให้ ป.ป.ช. ไปดำเนินการกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เราต้องตระหนักใหญ่ว่าการดำเนินการ ของเรานั้นจะต้องเที่ยงธรรม ให้ความเป็นธรรม เที่ยงธรรมนะครับ เพราะฉะนั้นขอยืนยัน ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ท่านณัฏฐ์ชนนอาจจะถูกร้องเรียน กล่าวหาอะไรต่าง ๆ นี่ครับ อยู่ในกระบวนการ และกระบวนการของการตรวจสอบไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการ ที่ละเอียดอ่อน แล้วก็ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ เมื่อมาร้องเรียนกล่าวหา เรามีกระบวนการเรียกว่าตรวจรับคำกล่าวหา ถ้าไม่มีมูลเราก็ไม่รับ ถ้ามีมูลชัดเจน มีพฤติกรรมชัดเจน ผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งหน้าที่ชัดเจนเราก็จะรับ แม้เป็นบัตรสนเท่ห์ ถ้าชี้ชัดเจนว่าบัตรสนเท่ห์กล่าวหาเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่อย่างไรที่เราสามารถดำเนินการ ต่อได้เราก็รับ พอเรารับตรวจสอบเบื้องต้นไปแล้วถ้ามันมีมูลพอเราก็จะไปไต่สวน

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

จริง ๆ เรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ๑๐๐ เรื่อง เรารับ ไต่สวนประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เองครับ อีก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ นี้ไม่รับว่าไม่มีพยานหลักฐาน ที่ดำเนินการต่อไปได้ แต่เรื่องที่เราตั้งไต่สวน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูสถิติเราชี้มูลถึง ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับ แต่ระหว่างกระบวนการไต่สวนเราจะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ในการที่จะนำพยานหลักฐานเข้ามาสู่การไต่สวนของ ป.ป.ช. อย่างเสมอ แม้กระทั่งเมื่อแจ้ง ข้อกล่าวหาแล้ว หรือแม้กรรมการจะกำลังพิจารณาสำนวนแล้วเขาก็สามารถจะทำ พยานหลักฐานเข้ามาสู่เรา เพราะฉะนั้นกระบวนการ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการไต่สวน ไม่ใช่กระบวนการสอบสวนกล่าวหาเหมือนกับทางพนักงานสอบสวนของตำรวจตาม ป.วิ.อาญา เพราะฉะนั้นเราจะให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างมากเลยครับ เพราะฉะนั้น มันใช้เวลามากครับ แจ้งข้อกล่าวหาเราบอกกฎ ระเบียบเรา เราให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ชี้แจง ข้อกล่าวหาใน ๓๐ วัน แต่เวลาขอทบทวนมานี่ครับ บางทีเราขยายให้ไป ๒-๓ ครั้ง ๓ เดือน ๔ เดือน แล้วก็ให้ ถ้าเกิดว่าเขายังมีประเด็นที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะฉะนั้น ก็จะมีเรื่องความล่าช้า แล้วก็ขอยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ล่าใครทั้งสิ้น เพราะถ้าเราทำอย่างนั้น วันหนึ่งก็จะย้อนกลับมาที่เราเอง เรามีหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อเรื่องกล่าวหามาถึงเรา เราก็ต้องทำ ยืนยันครับ เราน้อมรับ ไม่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรเราก็น้อมรับนะครับ เพราะฉะนั้นยืนยันว่าในทุกเรื่องที่ท่านณัฏฐ์ชนนพูดเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ จะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ครับ แล้วก็จะให้โอกาสในการชี้แจง และเมื่อถึงเวลาแล้ว คำวินิจฉัยนั้นก็จะต้องตอบได้ว่า ทำไม ป.ป.ช. ชี้อย่างไร หรือไม่ชี้อย่างไรนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านที่ ๓ ท่านปิยรัฐ จงเทพ เรื่องมาตรการการปกปิดข้อมูล ยืนยันครับ เราเพิ่มค่านิยมองค์กรจากซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ เป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่อย่างไร ก็ตามเราก็ต้องยอมรับว่าในกระบวนการไต่สวนคดีอาญามันเป็นเรื่องที่กระทบสิทธินะครับ มันกระทบสิทธิ ผมเห็นด้วยว่าแค่ถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบก็เดือดร้อนแล้ว แม้วันนี้ถ้าถูก ป.ป.ช. ไต่สวนก็จะเดือดร้อนไปถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่เขาจะพึงมีพึงได้ ไม่ว่าเป็นเรื่อง ของความภาคภูมิใจในการรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพราะฉะนั้นยิ่งมันไปผูก เข้ากับตรงนี้ยิ่งทำให้คน ป.ป.ช. นั้น ต้องตระหนักว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมนะครับ แต่ความล่าช้านี้เป็นสิ่งที่เราน้อมรับนะครับ เราน้อมรับ เรามีเรื่องล่าช้า ผมยอมรับว่า เราพยายามทำงานหนักมากเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้า มันก็ยังล่าช้าอยู่ เอาเป็นว่า ยกตัวอย่างง่าย ๆ ปีหนึ่งเราไต่สวนเสร็จ อย่างปีที่แล้วเราไต่สวนเสร็จสิ้นปี ๒๕๖๕ ๖๔๑ เรื่อง แต่เรื่องที่เราตั้งใหม่ ๑,๔๒๖ เรื่อง ถ้าทำธุรกิจก็ขาดทุนแล้วครับ งานเข้างานออก มันไม่สมดุลกัน เรื่องตรวจรับคำกล่าวหาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ว่ารัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ป.ป.ช. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ป.ป.ช. เป็นหน่วยตรวจรับ คำกล่าวหา เป็นหน่วยเดียวที่ตรวจรับคำกล่าวหา และกฎหมายบัญญัติว่าถ้าเป็นเรื่องร้ายแรง ให้ ป.ป.ช. ทำ ถ้าไม่ร้ายแรงก็สามารถมอบให้หน่วยอื่นได้ ซึ่งเดี๋ยวจะโยงไปถึงเรื่องที่ ท่าน สส. ได้ถามผมในประเด็นเรื่องความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วย เราเรียนท่านเลยว่า นโยบาย ป.ป.ช. ตอนนี้อย่างที่ผมต้องกราบเรียนท่านตอนต้น คือ ป้องนำปราบ ถ้าเราไม่ป้อง เราจะคิดว่าเราเป็นมือปราบเราจะไม่มีวันสำเร็จ วันนี้เราเอาป้องนำปราบ เพราะฉะนั้น ในเรื่องโครงการต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงเรื่องการทุจริตศึกษา การนำหลักธรรมคำสอน ในพุทธศาสนามาใช้ไปเผยแพร่ต่อเด็กและเยาวชนเพื่อปลุกและปลูกจิตสำนึกของคนให้มี วัฒนธรรมในการสุจริต ให้มีวัฒนธรรมในการที่จะต้านทุจริตต่าง ๆ มันก็เป็นองค์ประกอบ ที่เราจะพยายามทำเรื่องป้อง ตอนนี้เรามอบนโยบายไปว่าต่อไปนี้เรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งไม่มีอยู่ในกฎหมายนะครับ ไม่มีอยู่ในกฎหมายว่าต้องใช้เวลาเท่าไร มีอยู่ในกฎหมาย มาตรา ๔๘ ในเรื่องของการไต่สวน ซึ่งมีท่าน สส. ได้ถามถึงว่ามันมีกำหนดระยะเวลาไว้ไหม มันมีอยู่ในมาตรา ๔๘ และขอกราบเรียนเลยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษ ทางอาญา กำหนดกรอบระยะเวลา ฉบับแรกมีกรอบพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลา ในกระบวนการยุติธรรมอีก และกำหนดไว้เลยว่าการไต่สวนของ ป.ป.ช. นั้นให้ไม่เกิน ๒ ปี ถ้าจะขยายก็ได้อีก ๑ ปี ถ้าเกินกว่านั้นก็ให้ผู้บังคับบัญชาคือท่านเลขาธิการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นไปตรวจสอบดูว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของเราได้ละเว้นละเลย หรือเปล่า ถ้าละเว้นละเลยก็ให้ดำเนินการทางวินัย แต่ขณะเดียวกันกฎหมายก็ไม่ได้บอกว่า ถ้าเกินระยะเวลาแล้วยังไต่สวนไม่ได้ เพราะกฎหมายก็ตระหนักดี ผู้ร่างกฎหมายก็ตระหนัก ดีว่าคดีทุจริตไม่ใช่คดีที่มันจะสามารถทำได้ง่าย ผู้ทุจริตคือผู้ที่มีอำนาจ คนที่ใหญ่ที่สุด ในองค์กร คนที่คนอื่นต้องเกรงกลัวแม้กระทั่งไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องกลัวผู้มีอำนาจ คนที่เป็นผู้นำในทุก ๆ ระบบ ในทุก ๆ ระดับของการบริหารราชการแผ่นดิน คือคนที่อาจจะ มีส่วนในการทุจริต เพราะฉะนั้นกระบวนการมันก็เลยค่อนข้างยาก สมัยผมมาใหม่ ๆ เมื่อปี ๒๕๕๙ ป.ป.ช. เพิ่งเป็นปีแรกที่ได้พนักงานไต่สวนเพิ่มขึ้นมา ๓๐๐-๔๐๐ คน เพราะรัฐบาลให้มา แต่ก่อนเรามีคนน้อยมากครับ วันนี้เราใช้เวลาจนถึงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ เด็กที่รับใหม่เริ่มมีประสบการณ์ที่จะไปไต่สวนได้แล้วครับ วันนี้เราได้กำหนดนโยบาย ว่าตรวจสอบให้ ๑ ปี ไต่สวนก็อยู่ในกรอบระยะเวลา ถ้าไม่ใช่เรื่องระหว่างประเทศนี่มันก็อยู่ ในกรอบระยะเวลา พยายามเอาตรงนี้มาเป็นตัวชี้วัด กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ด้วยจุดนี้ละครับ เรามีจุดอ่อน พนักงานไต่สวนของเราวันนี้มีประมาณ ๘๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรีประมาณ ๖๐-๖๕ เปอร์เซ็นต์ จังหวัดหนึ่งเรามี ๓ คนเองครับ เวลาจะไปไต่สวนในพื้นที่ลงพื้นที่ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะคนที่เราจะไปไต่สวน ไปสอบปากคำนี้ยาก ก็เป็นที่มาของการที่ไปเจรจากับสำนักงบประมาณ ผมต้อง ขอความกรุณาท่านสมาชิกสภาแห่งนี้ว่าในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี ๒๕๖๗ นี้นะครับ เขาได้เสนอมาว่าจะให้ ป.ป.ช. ได้เจ้าหน้าที่สืบสวน ๑๘๓ อัตรา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า รัฐบาลได้ตั้งขึ้นแล้วได้มีการเสนอร่างกฎหมายมา ผมขอความอนุเคราะห์ท่าน สส. ได้ช่วย ผ่านกฎหมายตรงนี้เพื่อให้ ป.ป.ช. ได้เจ้าพนักงานสืบสวน ๑๘๓ คน ๑๘๓ คนนี่จะไปอยู่ตาม จังหวัดต่าง ๆ จังหวัดละ ๓ คนครับ เขาจะไป Support พนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หญิง เขาจะไป Support เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งก็เป็นผู้หญิงยิ่งมาก ยิ่งขึ้นใหญ่แล้วเป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิงในการลงพื้นที่เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ในการทำงาน ถ้าเราตรวจสอบ ๑ ปี แล้วที่ผมบอกตรวจสอบแล้ว ๒๐ เปอร์เซ็นต์ มีมูลไต่สวนต่อไป ถ้าไม่มีมูล ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ตกไป คนที่เขาไม่มีพยานหลักฐานเขาจะได้ เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นวันนี้เราชัดเจนในเรื่องทิศทางการทำงาน แล้วป้องนำปราบครับ สมัยตอนผมมาใหม่ ๆ ป.ป.ท. คืออันดับหนึ่ง แต่วันนี้เราทำเร็วขึ้นนะครับ เราทำ ๒ Track ของเก่าก็ต้องทำไป ของใหม่ถ้าเป็นคดีสำคัญ เป็นคดีที่ประชาชนสนใจเรารีบทำ แล้วเรา แถลงผล เราไปศาล เราติดตาม เรายื่นไปให้อัยการสูงสุด ถ้าท่านอัยการสูงสุดตั้งข้อ ไม่สมบูรณ์เราก็รีบตั้งเจ้าหน้าที่ของเราไปประกบเพื่อจะดำเนินการให้สมบูรณ์ แต่ยังหา ข้อตกลงไม่ได้ ป.ป.ช. ก็ฟ้องเองครับ แล้วเรียนว่าเรื่องที่ ป.ป.ช. ฟ้องเองวันนี้เราเก็บสถิติ หมดนะครับ ความจริงเรื่องที่ ป.ป.ช. ฟ้องเองเราน่าจะชนะแค่สักไม่เกิน ๑ ใน ๔ เพราะว่า มันผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยที่มีประสบการณ์ทางกฎหมายมาแล้ว เขาบอกไม่มีมูล พอที่จะฟ้อง แต่เราไปฟ้องเองวันนี้เรื่องที่ ป.ป.ช. ฟ้องเอง ศาลลงโทษตามเรามากกว่า ๗๒ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อมั่นในสิ่งที่เราไต่สวนเพราะว่าเราดำเนินการ ด้วยความรอบคอบ เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนการความล่าช้า หรืออะไรต่าง ๆ ทีนี้ท่านปิยรัฐพูดเรื่องการปกปิดข้อมูล จริง ๆ เราอยากโปร่งใส แต่มาตรา ๓๖ มันอยู่ใน กฎหมายด้วย มันอยู่ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๓๖ ของเรานี้ครับ จะระบุว่า เมื่อเราวินิจฉัยแล้วนี้ให้เปิดเผย แต่สิ่งที่สำคัญคือว่าเราไม่สามารถจะเปิดเผยรายละเอียด ของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส พยาน หรือกระทำการอันใดจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ บุคคลดังกล่าว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญ ทีนี้ที่ท่านสมาชิกบอกว่าการเปิดเผยนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามมันจะเป็นอันตรายครับ มันจะเป็นอันตรายต่อพยาน ของเรา มีพยานของเราหลายรายเขาทราบว่าใครมากล่าวหาเขา เขาไปฟ้อง เขาทราบ เขาไปฟ้องนะครับ เขาอาจจะฟ้องในเรื่องของไปเปิดเผยข้อมูลเขาหมิ่นประมาทนะครับ ซึ่งดูเหมือนเป็นโทษไม่ร้ายแรง แต่คนที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท แล้วก็ไปฟ้องทางแพ่ง เรียกค่าชดเชยเสียหายแพง ๆ เขาก็หวั่นไหว วันนี้เราก็เลยร่างกฎหมายที่เขาเรียกว่า Anti-SLAPP Law หรือฟ้องปิดปากครับ ถ้าใครมาเป็นพยานเรา แล้วถูกผู้ถูกกล่าวหา ไปฟ้องแล้วเกี่ยวโยงกับการมาเป็นพยานเรา ป.ป.ช. จะเข้าไปดูแล จะเข้าไปดูแลในเรื่อง การสู้คดีกับเขาโดยใช้เงินของรัฐ เขาเรียกว่า Anti-SLAPP Law หรือการฟ้องปิดปาก นี่ทำไม เราถึงต้องมีกฎหมาย Anti-SLAPP Law ซึ่งเป็นกฎหมายที่ในประเทศอื่นเขาก็ใช้ เพราะเขา จะไม่เปิดเผยพยาน ขออนุญาตที่ท่านพูดชื่อเขาไปท่านวีระ สมความคิด ที่เอาไปฟ้อง ศาลสูงสุดให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลในเรื่องคดี ๆ หนึ่งซึ่งเราตัดสินเสร็จแล้ว เราไม่ได้ ขัดข้องเลยในการที่จะเปิดเผยตามกฎหมายมาตรา ๓๖ กฎหมายมาตรา ๓๖ ให้เปิดเผย แต่ขอให้ปิดชื่อพยานบุคคลที่ผมได้อ่านให้ท่านฟังนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

แต่สิ่งหนึ่งที่คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่กำหนดมาในข้อ ๒ ให้เปิดเผยความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เสนอความเห็น ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าท่านลองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่คนนั้นซึ่งเสนอความเห็นว่านาย ก ควรจะถูกชี้มูล ร่ำรวยด้วยเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอาจจะไม่กล้ามาข่มขู่ พลตำรวจเอก วัชรพล ประธาน ป.ป.ช. เพราะมันแก่แล้ว แล้วก็อาจจะอยู่ในราชการมายาวนาน แต่ถ้าเป็น นางสาว ก ซึ่งเป็นพนักงานไต่สวน ระดับต้น ระดับกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน เสนอความเห็นนี้ แล้วเขาขอไปดูได้ว่าให้ความเห็นอย่างไร คดีนี้มันอาจจะสิ้นสุดแล้วนะครับ แต่ถ้าคดีนี้ถูกยืน ถูกศาลวินิจฉัยไว้แล้วให้เปิดได้ ต่อไปเขาจะไม่ขอเมื่อคดีสิ้นสุดครับ เขาจะอ้างว่าเป็นสิทธิที่เขาจะรับรู้ เขาจะไปขอในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการ แล้วต่อไปจะมีเจ้าพนักงานของ ป.ป.ช. คนไหนกล้ามีความเห็นในทางที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อผู้ถูกกล่าวหาล่ะครับ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับประทานพลังอะไรมาจากไหน ในการที่ไปคัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เราก็กลัวครับ แต่เพราะว่า สิ่งที่คำวินิจฉัยนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่าคลาดเคลื่อนยังไม่ครบถ้วน ก็ทำให้ เราจะต้องขอให้ศาลได้พิจารณาใหม่ในประเด็นเหล่านี้นะครับ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่ให้ ความร่วมมือ ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส ยิ่งโปร่งใสเท่าไรยิ่งดี แต่ว่าเราต้องคุ้มครองคนที่เป็น พยาน เขาให้ถือเป็นความลับ ผู้กล่าวหาให้ปิดชื่อ ให้ถือเป็นความลับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปเปิดเผยมีความผิดต้องโทษ เพราะฉะนั้นยืนยันนะครับ ต้องขอบคุณที่ถามทำให้ผมมี โอกาสตอบในสภาเพราะว่าผมให้ท่านเลขาธิการที่เป็นโฆษกนี่พูดต่อสื่อมวลชนไปจำนวน หลายครั้งแล้ว แต่ก็เหมือนกับว่าเสียงคนที่ต้องการอยากจะสื่อเรื่องนี้มันดังกว่าเสียงคำชี้แจง ผมก็ถือโอกาสชี้แจงว่าเราพร้อมปฏิบัติครับ แต่อะไรถ้ามันจะกระทบ แล้วก็ปกติความเห็น ของหน่วยงานภายในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารเขาก็คุ้มครอง ทั้งนั้นนะครับ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เลยขอให้ศาลได้วินิจฉัยกรณีนี้ให้ชัดเจนเพราะมัน จะเป็นบรรทัดฐานนะครับ เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ป.ป.ช. กลัวอะไร ป.ป.ช. กลัวว่าลูกน้อง จะไม่กล้าทำงานให้ครับ อีกหน่อยจะไม่มีใครกล้ามาเป็น ป.ป.ช. ครับ เพราะเขาจะถูกข่มขู่ แล้วเขาก็จะถูกฟ้อง เหมือนเรามีพยานของเราซึ่งเป็นเจ้าพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง เราดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องทุจริตอยู่เรื่องหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องร่ำรวย เจ้าพนักงานธนาคาร แห่งหนึ่งเขาก็มาให้ข้อมูลกับเรา เขาถูกฟ้องครับวันนี้ เขาถูกฟ้องแต่เรายังไม่มีกฎหมาย Anti-SLAPP Law เลยนะครับ แต่ถ้าเรามีเมื่อไรเราจะกระโดดเข้าไปปกป้องเขา แล้วก็ ช่วยเหลือเขาในทางคดีนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ จากชัยภูมิ ท่านพูดเรื่องค้างสะสม ผมได้กล่าวแล้ว ผมยอมรับว่ามันล่าช้า ส่วนเรื่อง อปท. ผมคิดว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะน้อยลง เพราะว่า เราเห็นว่าถ้าเราทำได้รวดเร็วเมื่อไรมันก็สามารถที่จะเป็นการป้องปราม เราเอาป้องนำปราบ ผมจะยกตัวอย่างว่านโยบาย เมื่อสักครู่มีท่าน สส. บางท่านได้พูดถึงเรื่องคดีขุดลอก ซึ่งเกิดเมื่อปี ๒๕๕๘ เรื่องส่งมาที่เรา บางทีมาจาก สตง. สตง. เข้าไปตรวจ มันไม่ได้ไปตรวจ ตอนปี ๒๕๕๘ แต่อาจจะไปตรวจปี ๒๕๕๙ ปี ๒๕๖๐ กว่าจะสรุปส่งมาที่ ป.ป.ช. ปี ๒๕๖๒ ป.ป.ช. ก็มาช้า มาตั้งไต่สวนปี ๒๕๖๓ อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าปี ๒๕๕๘ กับปี ๒๕๖๓ มันต่าง กันมา ๕ ปี เพราะฉะนั้นเรื่องขุดลอกพยานหลักฐานที่สำคัญ คืออะไรครับ ดินที่ขุดมาครับ ดินที่ขุดมาไปทิ้งที่ไหน เอาไปวางไว้ริมตลิ่งมันละลายหายไปแล้วมันตรวจสอบก็ยาก เพราะฉะนั้นนโยบายของ ป.ป.ช. วันนี้เราป้องปรามหมดแล้ว ขุดลอกวันนี้นโยบาย ป.ป.ช. บอกเลยว่าปีนี้เราประกาศไปสั่งเป็นทางการแล้วว่า ถ้ามีขุดลอกที่ไหน ป.ป.ช. มีทุกจังหวัด แล้วให้เข้าไปดู ให้เข้าไปดูเลย แล้วไปแนะนำกับเขาขอให้ทำให้ถูกต้องเสีย ถ้าไม่ถูกต้อง เราก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบไต่สวนต่อไป แล้วจะทำเร็ว ผมเชื่อว่าตรงนี้จะเป็น มาตรการการป้องปราม แล้ววันนี้เราได้พูดกับ สตง. แล้ว สตง. ซึ่งมาชี้แจงก่อนผม ๒ คณะนี้ ได้ชี้แจงไว้แล้ว สตง. มีหน้าที่ตรวจการใช้จ่ายเงิน วันนี้เราอาจจะคุยกับ สตง. เราจับมือกัน จับมือด้วยกันเลยไปด้วยกันถ้ามันมีกรณีอย่างนี้เราไปด้วยกัน แล้ว สตง. ก็เขาเป็น Expert ในเรื่องการดูเรื่องการใช้จ่ายเงิน แต่ถ้ามันมีเงื่อนไขทุจริตมันมาที่เรา เพราะฉะนั้นวันนี้ ถ้า สตง. แจ้งมาที่เราว่ามีส่อว่าทุจริตในการใช้จ่ายเงิน เราตั้งไต่สวนทันทีเลยครับ เราจะ ไม่มาตรวจสอบแล้ว เราจะตั้งไต่สวนทันที แล้วไต่สวนอย่างเร็ว เพราะถ้าไต่สวนเร็วเท่าไร พยานหลักฐานมันจะครบถ้วน เราเชื่อว่ากระบวนการตรงนี้มันจะรวดเร็ว เช่นเดียวกันอีก ตัวอย่างที่ผมจะเรียนท่านเราเคยมีคดีที่ท่านอาจจะได้ยินท่านผู้แทนที่มาจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คดีเขาเรียกว่าภัยพืช คดีภัยพืชมันไม่ได้เกิดภัยพืชจริง มันเป็นภัยที่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติของพืชที่ปลูกตามฤดูกาล แต่มีการอุปโลกน์มาว่าเป็นภัยพืชเพื่อจะใช้ เงินทดรองราชการไปซื้อน้ำยาเคมี มันทำที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จังหวัดใหญ่นะครับ จากจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานทำไปทั่วเกือบทุกจังหวัดในภาคอีสาน แต่ ป.ป.ช. ไปไต่สวน กว่าจะเข้ากระบวนการวันนี้มันเกือบ ๑๐ ปีแล้ว พยานหลักฐานต่าง ๆ อะไร แต่อย่างไร ก็ตามเราก็ส่งสำนวนไปให้อัยการหลายสำนวนแล้วครับ แล้วก็ชี้มูลอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อะไรต่าง ๆ ไปจำนวนมากเลย แม้กระทั่งคดี Futsal ซึ่งเราก็กำลังทำอยู่แล้วก็ชี้มูลอยู่ แต่วันนี้นโยบาย ป.ป.ช. ก็คือว่าไม่ต้องรอ สตง. ส่งมา ถ้าจังหวัดไหนประกาศภัยพิบัติ ให้เจ้าพนักงานป้องกันของ ป.ป.ช. ลงไปดูเลยว่าประกาศภัยชอบหรือเปล่า ถ้าประกาศภัย ชอบก็ไปดูว่ากระบวนการจัดหาการแก้ไขภัยพิบัตินั้นมันชอบหรือเปล่า ป้องปรามครับ แล้วตรงนี้มันเป็นประโยชน์ตรงที่ว่าเขาจะระงับยับยั้งไม่กล้ากระทำผิด อะไรที่เป็นของหวาน มันก็จะไม่เป็นของหวานอีกต่อไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ ฉะนั้นถ้าให้คนผม มากขึ้นผมก็สามารถจะไปป้องปรามมากขึ้น แต่ไม่ได้เอาไปปราบปรามนะครับ ลงพื้นที่ คราวนี้เหมือนกับท่านพูดเรื่องว่า STRONG มีประโยชน์หรือเปล่า STRONG นี่คือ พี่น้องประชาชนที่เราได้ทำขึ้นตามมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๓๓ ของกฎหมาย ป.ป.ช. การมีส่วนร่วมของประชาชน เรา Create เราขอความร่วมมือเขามาเป็นกลุ่ม STRONG เราก็จิตพอเพียง จิตพอเพียง จิตพอเพียง STRONG นี่คือ Watch & Voice ในพื้นที่ ถ้าเขาเห็นมีปัญหาอะไรเขาส่งข้อมูลมาให้เรา เราจะได้ลงพื้นที่ไปเข้าระงับ เหตุการณ์ได้รวดเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น STRONG ก็มีประโยชน์ แต่เราก็ระวัง เราไม่อยากให้ STRONG เป็นกลุ่มที่กลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล หรือไป Abuse อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมันมีทั้งดี และอาจจะมีทั้งจุดด้อยเพราะฉะนั้นต้องระวัง เพราะฉะนั้น STRONG มีประโยชน์ แล้วเราเองก็ไม่ได้ตั้ง STRONG มากมาย เราพยายามจำกัดจำนวน STRONG เพื่อให้เราสามารถจะควบคุมได้ อันนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเร่งรัด ก็เรียนว่านโยบายชัดเจนครับ ต่อไปนี้ตรวจสอบ ๑ ปี เป้าหมายเลยครับ ถ้าทำได้ปี ๒๕๖๗ เราตั้งเป้าว่าต่อไปตรวจสอบ ๑ ปี ถ้าคุณตรวจสอบไม่ได้ ๑ ปี ก็ต้องชี้แจงว่าทำไม แล้วถ้าเราได้พนักงานสืบสวนมา ทุกจังหวัดเขาจะลงพื้นที่ แต่ก่อนเขาไม่ลงเขาก็ขอเอกสาร เขาก็ขอเอกสาร รอเอกสารมา เตือนครั้งที่ ๑ เตือนครั้งที่ ๒ ต่อไปนี้มีนโยบายชัดเจนนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ท่านก็พูดเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เรื่อง File Digital อะไรนี้ เดี๋ยวเราจะไปดูสิว่ามันจะเป็นประเด็นที่จะทำอย่างไร ผมไม่ขัดข้องนะครับ เพราะว่า วันนี้บัญชีทรัพย์สินสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องเปิดเผย เราก็จะเปิดเผยติดไว้ที่ ห้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ๓๐ วัน หลังจากนั้นเราจะขึ้น Website ให้ ๑๘๐ วัน ทำไม เร็วขึ้นแค่ ๑๘๐ วัน เพราะว่าในการเสนอกฎหมายก็มีกรรมาธิการบอกว่ามันอาจจะไป ละเมิดสิทธิ เพราะว่าคนมีทั้งดีและไม่ดี คนจะเข้ามาตรวจสอบไม่ใช่คนดีเสมอไป บางที จะไปใช้ไม่ถูกต้อง ทำไมเราต้องปิดบางเรื่อง ก็เพราะว่าถ้าบอกหมด เลขประจำตัวประชาชน โฉนดที่ดิน เดี๋ยวอาจจะเป็นผลร้ายกับคนบริสุทธิ์อีกมากมาย เพราะฉะนั้นเราก็พยายามที่จะ คุ้มครองคนดีด้วย คนที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วย ส่วนคนที่จะตรวจสอบ นั่นคือสิ่งที่เป็นไปตาม กฎหมายเขาถึงให้ไปเปิดเผยนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องของการ Balance กัน ความสมดุล ระหว่างการทำงานในมิติผู้ถูกตรวจสอบกับผู้ที่จะไปตรวจสอบ ซึ่งมันจะต้องคำนึงถึงสิทธิ ของทุก ๆ คน ทุก ๆ ภาคส่วนด้วยกัน แล้วผมก็ยืนยันทุกอย่างเราพยายาม สมัยก่อน เราให้ยื่นบัญชีภายใน ๓๐ วัน กฎหมายใหม่เราให้ ๖๐ วัน ๖๐ วันไม่เสร็จ ท่านเลขาธิการ ขยายได้อีก ๓๐ วัน เราพยายามสนับสนุนให้ทุกคนได้ยื่นบัญชีอย่างถูกต้อง แล้วอีกไม่นาน เราประกาศแล้วว่าในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ คนที่ยื่นบัญชีตามมาตรา ๑๐๒ ยกเว้น (๙) (๙) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเขาอาจจะไม่มีองค์ความรู้ที่จะยื่นบัญชีทาง อิเล็กทรอนิกส์ จะต้องยื่นวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้มีคำถามอยู่ท่านหนึ่งถามว่า ป.ป.ช. ยื่นหรือเปล่า ป.ป.ช. ยื่นครับ ป.ป.ช. ยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน ยื่นมานานแล้ว ที่ท่านวิทยา ได้กรุณาถาม เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ยื่นตามมาตรา ๑๕๘ คนที่ยื่น คือพนักงานไต่สวนทุกคนครับ ไม่ว่าจะเป็นต้น กลาง สูง เชี่ยวชาญ พนักงานตรวจสอบทรัพย์สินทุกคน ต้น กลาง สูง แล้วคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ สำหรับกลุ่มนี้ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ตรวจสอบเองครับ เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เราใช้ยื่นอิเล็กทรอนิกส์ด้วย แล้วเราก็ตรวจสอบ แล้วให้แก้ไข ให้ชี้แจง เหมือนกับที่เราตรวจสอบคนอื่นเช่นกัน อันนี้ยืนยัน

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนอีกเรื่องคือมาตรา ๑๓๐ ที่มีการพูดถึง ถ้าท่านดูกฎหมายมาตรา ๑๓๐ นี้กำหนดไว้ว่าให้ไปออกพระราชกฤษฎีกา นโยบายคือให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนยื่นบัญชี ทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชา ป.ป.ช. ก็มาวิเคราะห์ เราเชิญ ก ทุก ก มาหารือว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่จะตามมา ก็คือรัฐจะต้องลงทุนจ้างบุคลากรเพิ่ม จัดหาที่จัดเก็บ กฎหมายบอกว่า แล้วคนที่ขอดูได้คือ ป.ป.ช. แต่ถ้ากระบวนการในการจัดเก็บเป็น Paper อย่างที่ท่านว่า ๕ ปีครั้ง หรืออะไรตั้งแต่มันจะเป็นปัญหามากเลย เสียเงินเข้าไปเยอะ แล้วพอถึงเรา ก็ตรวจสอบไม่ได้ครับ วันนี้เราก็เลยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๓๐ หลังจาก ที่เราหารือกับทุกส่วนราชการ ทุก ก แล้ว เราเสนอแก้มาตรา ๑๓๐ ก็ยังยื่นอยู่นะครับ แต่ให้ ป.ป.ช. นี่ประกาศนะครับ ประกาศความพร้อมแล้วค่อย ๆ ไล่ไป เป้าหมายคือ ทุกตำแหน่งอาจจะต้องยื่น แต่ให้ยื่นเป็น Digital และยื่นวิ่งมาที่ ป.ป.ช. เลยครับ มาถังข้อมูล ป.ป.ช. เพราะถ้า ป.ป.ช. จะใช้เมื่อไร ยื่นตามแบบ Form ที่ ป.ป.ช. กำหนด เพราะฉะนั้น ถ้า ป.ป.ช. จะตรวจสอบในกรณีมีเรื่องกล่าวหาก็จะใช้ประโยชน์ได้ วันนี้ก็ต้องกราบ ขอความกรุณาท่าน ถ้ากฎหมายนี้มาผ่านสภาท่าน ช่วยกรุณาสนับสนุน เพราะว่าถ้ายังให้คง มาตรา ๑๓๐ ไปตรงนี้เราจะเสียเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ได้ขยะมาเพิ่มขึ้น วันนี้ เราต้องการทำให้มันคุ้มค่าในเรื่องของมาตรา ๑๓๐ เพราะฉะนั้นในอนาคตทุกคนต้อง แจ้งบัญชีครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

แต่มีคำถามอีกอันหนึ่งนะครับ แต่จำได้ว่าท่านบอกเราไปประกาศ มาตรา ๑๐๓ ใช่ มาตรา ๑๐๒ มันกำหนดโดยกฎหมายว่าใครมีหน้าที่ยื่นบัญชีบ้าง แต่มาตรา ๑๐๓ ก็ให้ดุลยพินิจกับ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. จะใช้อำนาจตามมาตรา ๑๐๓ เราต้องมีการศึกษาว่า ตำแหน่งไหนที่มีความเสี่ยงในการที่จะกลายเป็นไปเรียกรับทรัพย์สิน ได้ง่าย เพราะฉะนั้นตำรวจซึ่งเป็นอาชีพเก่าของผมก็จะโดนแจ้งมากขึ้น กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร หน่วยงานเหล่านี้ก็จะเป็นหน่วยงานที่อาจจะถูกยื่น มาตรา ๑๐๓ และถูกบังคับให้ยื่นบัญชีตามมาตรา ๑๓๐ ที่จะแก้ใหม่นี่มากยิ่งขึ้น ตรงไหน มีความเสี่ยงครับ แต่ว่าไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ประกาศครับ ต้องมีการ Study เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เราเลือกปฏิบัติ ไปกลั่นแกล้งตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้เพราะมันเป็นภาระนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกประการหนึ่งที่อยากกราบเรียน สมัยก่อนนั้นยอมรับว่าการตรวจสอบ บัญชีทรัพย์สินนั้นใช้เวลานานมากเพราะเรามีคนน้อยมากเลยครับ วันนี้เรามีพนักงาน ตรวจสอบทรัพย์สินทั่วประเทศ ๓๐๐ กว่าคนเองครับ ทุกจังหวัดมี ๒ คน อย่างเก่งก็ ๓ คน ถ้าจังหวัดใหญ่เราอยากจะมีมากกว่านั้น วันนี้เราให้นโยบายแล้วครับ ตรวจสอบทรัพย์สิน ในอนาคตวันนี้จะช้ากว่า ๕ ปีไม่ได้ และเมื่อ Clear บัญชี ๕ ปีไปแล้ว Step ต่อไป คือจะต้องไม่เกิน ๓ ปี Step ต่อไป ก็คือตามระเบียบซึ่งเราออกมาเมื่อปี ๒๕๖๑ หลังกฎหมายออกครับ ตรวจสอบยืนยัน ตรวจสอบเชิงลึกมันจะต้องเสร็จครับ ถ้าไม่เสร็จ ก็ต้องมีเหตุผลว่าท่านผู้นั้นก็อาจจะเป็นคนที่มีที่ดินเป็นร้อยแปลง มีทรัพย์สิน เป็นหลายพันล้านบาท อะไรอย่างนี้ครับมันก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมเจ้าหน้าที่ ตอนนี้เราก็ พยายามให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักแล้วก็ Clear ผมมั่นใจว่าตรวจสอบทรัพย์สินจะเป็น เครื่องมือที่สำคัญที่ไม่ได้ใช้ในการไปจับผิดใคร แต่ใช้ในการป้องปราม อย่างที่ท่านได้กรุณา กล่าวว่าอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนยื่นเพื่อเป็นการป้องปราม และให้เขาได้ตระหนักรู้ ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าทรัพย์สินใดที่ได้มาโดยชอบ ท่านก็ไม่ต้องกลัว ป.ป.ช. เพราะท่านชี้แจงได้ แต่ถ้าท่านได้มาและท่านชี้แจงไม่ได้ ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการแล้วก็ กลไกตรงนี้มันยิ่งกว่ามาตรา ๙๘ เรื่องวินัยครับ เพราะว่าถ้า ป.ป.ช. ไต่สวนไปว่าร่ำรวย ถ้าชี้มูลแล้วนะครับ ผู้บังคับบัญชาต้องไล่ออกภายใน ๖๐ วันเลยครับ ต้องไล่ออกภายใน ๖๐ วัน ไม่ต้องทำอะไรเลยครับ วันนี้เราเพิ่งตั้งสำนักไต่สวนคดีร่ำรวยไปได้สัก ๒-๓ ปีครับ มันมี ๒ สำนักที่ตั้งใหม่ ก็คือสำนักร่ำรวยกับสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติที่ท่านพูดถึง คดีร่ำรวยปีนี้เราก็เร่งรัดในการตรวจสอบเชิงลึกให้มีมาตรฐาน แล้วก็ตั้งร่ำรวย ปีนี้ปีเดียวนี้ ที่เราได้สถิติมาซึ่งผมมีอยู่หมดเราชี้มูลไปแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยนะครับ แล้วก็ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติสามารถที่จะยื่นอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งริบตกเป็นของ แผ่นดินมากกว่าพันล้านบาท ผมเชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะมากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท มากกว่า งบประมาณแผ่นดินที่ ป.ป.ช. ได้ แต่เราไม่ไปเทียบกับกรมสรรพากร กรมศุลกากรเลย เพราะเขาเป็นหน่วยจัดเก็บภาษี ของเรากว่าจะไปเก็บเงินเหล่านี้ได้นี่เรียกว่ายากเย็นแสนเข็ญ จะต้องไปต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเขาเองเขาก็คงไม่ค่อยมีความสุขเท่าไรนะครับ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าบัญชีทรัพย์สินก็จะมีกระบวนการที่เร็วขึ้น ผมจะรับเรื่องที่ คุณพริษฐ์ได้เสนอว่าให้ไปใช้ในเรื่อง Digital File ที่จะไปทำรายได้

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังยืนยันอยู่จุดเดิม มันมีข้อห่วงใยจากกรรมาธิการ การกฎหมายนี้ว่าเราต้องคำนึงถึงผู้ที่ถูกยื่นบัญชี ท่านเองในฐานะเป็น สส. ท่านก็ต้องยื่น บัญชีกับ ป.ป.ช. แต่ถ้าเราไม่ปิดอะไรของท่านเลยแล้ววันหนึ่งข้างหน้าคนที่เขาอยากไปดู บัญชีของท่าน แล้วเกิดบัญชีของท่านถูก Abuse วันนั้นท่านจะรู้สึกว่า ป.ป.ช. ทำถูกแล้ว ผมคิดว่าทุกอย่างมันมี ๒ ด้านเหมือนกัน เราต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในทุก ๆ ส่วน สิทธิอยากรู้ กับสิทธิที่จะคุ้มครองผู้ที่จะถูกรู้ผมว่ามันสำคัญเท่า ๆ กัน เรื่องของค่าฝึกอบรม ค่าเดินทาง ป.ป.ช. ตระหนักดี นยปส. เป็นหลักสูตรที่ว่าเหมือนกับหลักสูตรหลักของเรา เป็นหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงซึ่งเราก็เชิญทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ เชิญทั้งสมาชิกวุฒิสภาไปร่วมอบรมเพื่อจะได้เข้าใจบริบทของการทำงานของ ป.ป.ช. หลาย ๆ ท่านก็เป็นศิษย์เก่าเรา การไปศึกษาดูงานที่เราไปดูงานขณะนี้ที่จะให้ไป คือไปที่ เรียกว่า International Anti-Corruption Academy ครับ อยู่ประเทศออสเตรียครับ ให้เขาไปอบรมอยู่ที่นั่น ๓-๔ วัน เสร็จแล้วก็ในระหว่างทางอาจจะไปศึกษาดูงานในหน่วยงาน ที่เขามีมาตรฐานในเรื่องการโปร่งใสที่เราที่เขาเรียกว่าตอนนี้ ISO 37001 ในเรื่อง Anti-Corruption เพื่อจะมาเป็นบทเรียน แล้ววันนี้ผมเพิ่งได้รับหนังสือเชิญจากฮ่องกง ให้ไปประชุมเขากำลังจะตั้งฮ่องกง International Anti-Corruption Academy เราคิดว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้า นั่นคืออีกสถาบันหนึ่งที่เราอยากจะส่งคนไปอบรมเพื่อจะพัฒนา องค์ความรู้ของคนเราให้มีศักยภาพในการที่จะมาสืบสวนสอบสวนคดีทุจริตให้เก่งยิ่งขึ้น เราเองก็ได้รับความอนุเคราะห์จากสภาแห่งนี้กำลังทำอาคาร ๘ อาคาร ๙ ซึ่งเมื่อสักครู่ มีคำถามว่า ติดตั้ง CCTV เป็น ๑๐๐ จุด เดี๋ยวผมจะไปดูว่าเป็นไปตามแบบหรือเปล่า เพราะคนออกแบบนี่ คือกรมโยธาธิการและผังเมือง ป.ป.ช. ไม่ได้ออกแบบมันมาพร้อมแบบถ้ามันมี มีก็ต้องมีคำตอบว่าทำไมสถาปนิกของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะติด CCTV แต่ว่างาน ป.ป.ช. นั้นจำเป็นมากคนเข้าไปมาใน ปปช. เจ้าหน้าที่ของเราจะรับคน รับอะไรอย่างนี้ มันจะต้องถูกตรวจสอบครับ เพราะว่าเราก็เป็นห่วงมากเลยในเรื่องคนของเราในการวางตัว เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะรับไปว่าจริงหรือเปล่าว่า ๑๐๐ กว่าตัว แต่ถ้าจำเป็นก็อาจจะเป็นไปตาม TOR หรือเป็นแบบที่นั่น เพราะฉะนั้นเรื่องการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่คุณพริษฐ์ ได้พูดถึงศาสตราจารย์อารยะ โดยส่วนตัวผมกับกรรมการทุกคนยังคิดว่าเราจะได้กรรมการ ท่านอารยะซึ่งเก่งทางเศรษฐศาสตร์จะมามุมมองเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่อำนาจในการสรรหา ไม่ได้อยู่กับ ป.ป.ช. อำนาจในการจะให้ความเห็นชอบไม่ได้อยู่กับ ป.ป.ช. เราคือกองเชียร์ เราอยากได้ครับ วันนี้คนที่พ้นกรรมการไปแล้ว พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง พ้นไปกับ เราเกือบ ๒ ปีแล้วครับ สมาชิกวุฒิสภาเพิ่งให้ความเห็นชอบวันนี้กำลังอยู่ในกระบวนการ ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งถ้าได้แล้วก็ดีใจ เพราะวันนี้ผมเหลือกรรมการอยู่ ๖ คนครับ ในวันที่ ๑๓ กรรมการอีกท่านหนึ่งของผมท่านณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ท่านอายุครบ ๗๐ ปี ท่านต้องพ้นเลยครับ ผมจะเหลือกรรมการ ๕ คน กฎหมาย ป.ป.ช. บอกว่า ถ้ากรรมการ จะเป็นองค์ประชุมได้ต้องมี ๕ คน เพราะว่าองค์มีทั้งหมด ๙ คน วันนี้เราเหลือ ๖ คนครับ ป่วยไม่ได้ เจ็บไม่ได้ ลาไม่ได้ ถ้าลาเดี๋ยวองค์ประกอบไม่ได้ ๕ คน เราประชุมไม่ได้ ถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ประชุมไม่ได้ ก็คือเรื่องก็จะค้างหมดละครับ ที่ท่านบอกยิ่งช้าก็เพราะอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เลยครับ ไม่ว่าคุณสมบัติเราก็ไม่เห็นด้วย แล้วก็คิดว่าเราก็อยากจะแก้ไข เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสภาแห่งนี้น่าจะเป็นคนที่กำหนด สสร. และจะแก้รัฐธรรมนูญ มันอยู่ใน รัฐธรรมนูญเลยนะครับ คุณสมบัติที่ท่านพูดถึงมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญก็ไปลอกตามมา เพราะฉะนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญถึงจะได้องค์ประกอบ ที่ท่านอยากได้ ผมก็เชียร์ท่านนะครับเพราะผมอยากได้กรรมการมาช่วยผมทำงานนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านปรีติ เจริญศิลป์ จากนนทบุรี พูดถึงเรื่องความซ้ำซ้อน ความจริงแล้ว ไม่ใช่ท่านปรีติพูดนะครับ แม้กระทั่ง UNODC United Nations Office on Drugs and Crime ซึ่งเขาเป็นหน่วยที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การต่อต้านการทุจริต UNCAC United Nations Convention Against Corruption อันนี้ เขาก็บอกว่าเขาก็มาประเมินประเทศไทยเขาก็บอกประเทศไทยนี่มันมีหน่วยในการปราบ ทุจริตหลายหน่วยเหลือเกินทำให้กลายเป็นสับสน ตอนแรก ๆ มันก็ยังแยกกัน แต่พอ ปี ๒๕๖๑ แล้วกฎหมายบอกว่าให้ ป.ป.ช. เป็นคนที่ตรวจรับคำกล่าวหาเอง แล้วถ้าเรื่อง ไม่ร้ายแรงก็ให้มอบ ตอนนี้เราก็มอบได้ในกฎหมายคือให้มอบ ป.ป.ท. ตามมาตรา ๖๒ หรือถ้ามาจากตำรวจตามมาตรา ๖๑ และเห็นเรื่องไม่ร้ายแรงให้ส่งคืนตำรวจไปสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา หรือถ้าเป็นเรื่องกล่าวหามาที่เรา เราเห็นว่าไม่ร้ายแรง แต่เราคิดว่าเราให้ส่งตำรวจ ไปสอบสวนเราก็ส่งตามมาตรา ๖๓ นอกเหนือจากนั้นเราเห็นว่าผู้บังคับบัญชาเขาควรจะ เข้าไปตรวจสอบว่ามันมีกรณีหลีกเลี่ยง ละเลยผู้บังคับบัญชาไหม ซึ่งอาจจะมีความผิดทางวินัย นี่เราก็ส่งมาตรา ๖๔ ควบไปด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้ ป.ป.ช. ก็เลยตรวจรับคำกล่าวหาอย่างที่ ท่านบอกว่าปีหนึ่ง ๙,๐๐๐ กว่าเรื่อง แต่ ๙,๐๐๐ กว่าเรื่องนั้นเรารับไว้เองนี่ก็เป็นจำนวน อย่างปีที่แล้วเรารับตรวจสอบเพิ่มเติมรับใหม่ ปี ๒๕๖๕ ในเอกสารของผม ๕,๐๐๐ กว่าเรื่อง ปีนี้เรารับไปแล้ว ๔,๒๖๐ เรื่อง นี่คือเรื่องรับใหม่เรารับ แต่เรื่องที่เราส่งมาตรา ๖๒ ส่ง ป.ป.ท. วันนี้เราก็ทราบดีว่า ป.ป.ท. เองท่านก็งานเยอะมากค้างไม่ได้ด้อยกว่า ป.ป.ช. เลย คนก็น้อยกว่าเรา เราก็เลยส่ง ป.ป.ท. น้อยมาก ถ้าไปดูสถิติตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ มานี่เราส่ง ป.ป.ท. น้อยมาก และเราก็ได้รับการประสานจากทางหน่วยงานกลางรัฐบาลถึงประเด็น ที่ท่านได้ยกขึ้นมาถึงเรื่องความซ้ำซ้อน ป.ป.ช. พร้อม แต่ในเรื่องของ ๓ ป ของตำรวจ วันนี้ บางทีถ้าเราส่งพนักงานสอบสวนเขากล่าวหา เขาไปกล่าวหาพนักงานสอบสวนมีเรื่องทุจริต เกิดขึ้นในท้องที่เราส่งให้ตำรวจท้องที่ทำตามมาตรา ๖๑ มันอาจจะมีประเด็น เพราะว่าคนที่ เขากล่าวหา คือนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งอาจจะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่สอบสวนในท้องถิ่น เราก็เลยเห็นด้วยกับที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเขามีกองบังคับการอยู่กองบังคับการหนึ่ง คือกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่เรียกว่า ๓ ป อยู่ในกองบัญชาการ สอบสวนกลาง ซึ่งท่านจะเห็นว่า ป.ป.ช. ป.ป.ท. ๓ ป. นี่ไปจับสดมาไม่รู้กี่รายในช่วง ระยะหลังนี้นะครับ เราไปจับสดมาหลายราย เราพยายามจะส่ง ปปป. ๓ ป. เราพยายาม จะ Build เขาให้เขาเป็นหน่วยตำรวจที่มี Integrity มี Honesty และมีความพร้อม ในการทำงานเหมือนกับคนของ ป.ป.ช. เราได้เงินกองทุนมา ถ้าตำรวจทำคดีให้เราถ้าเขาไป เบิกเงินถ้าสอบสวนคดีอาญาเขาอาจจะได้ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ บาท ถ้ามาเบิกกับเราเราให้ ๔,๐๐๐ บาทเลยครับ เบิกวันนี้อีก ๓ ๔ วันรับเงินได้เลยครับ ไม่มีช้าข้ามปีครับ วันนี้ จริง ๆ ป.ป.ช. พร้อมนะครับ ถ้าหากเห็นว่าจะเกิดให้เกิดที่เรียกว่าเอกภาพในการทำงาน ผมคิดว่า ป.ป.ท. เราก็พร้อมรับ ถ้ารัฐบาลคิดว่ามันซ้ำซ้อนเราพร้อมรับคนมาทำงาน เพราะเรายังมีคนน้อยมากอยู่ในจังหวัดมันจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ซ้ำกันในเรื่องของ งานป้อง ไม่ซ้ำกันในเรื่องของงานปราบ วันนี้ ป.ป.ช. ได้ความอนุเคราะห์จากท่าน สร้างที่ทำการในทุกจังหวัด ป.ป.ท. ยังมีเขตอยู่แค่ ๙ เขต เขากำลังจะขยาย ถ้ายิ่งขยายไป ยิ่งซ้อนกันใหญ่เลย ต้องลงทุนอาคาร สถานที่ คน ก็ชัดเจน ส่วนหน่วยงาน ป.ป.ท. นั้น ผมว่ารัฐบาลก็สามารถจะไปทำในการตรวจสอบในประเด็นอื่น ๆ ได้ ผมไม่ขัดข้อง แล้ว ป.ป.ช. พร้อมรับถ้าจะให้มีเอกภาพในการทำงานเราจะได้รับผิดชอบได้เต็มที่ในทุก ๆ เรื่องครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องของความซ้ำซ้อนเอกภาพบังคับบัญชา มาตรา ๖๖ มันมีอย่างนี้ครับ เมื่อเรามอบให้เขาทำตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔ แล้ว กฎหมายต้องการให้ ป.ป.ช. ไปติดตามว่าเขาดำเนินการไปอย่างไร ไม่อย่างนั้นมันก็จะหาย ไปเลย ก็เลยบอกมาตรา ๖๕ ให้เขารายงานเรา แต่ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการถ่วงดุล เพราะบางกรณีเราก็เห็นว่ามันมีมูลชัดเจน แต่ไปส่งพนักงานสอบสวนให้ทำ พนักงาน สอบสวนในกระบวนการที่เขาไปทำตาม ป.วิ.อาญา ไปสั่งไม่ฟ้องนะครับ เราก็แปลกใจว่า เรื่องนี้พยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน แต่เนื่องจากว่ามันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแล้วก็ให้ทำ มันมีคดียกตัวอย่างได้ในคดีเงินทอนวัดในพื้นที่ภาค ๙ เราเห็นว่าเรื่องนี้ตำรวจไปร่วมจับ กับเรานะครับ เราก็ให้ตำรวจเข้าไปทำ ตำรวจเขาก็ฟ้อง อัยการไม่ฟ้อง แต่ในที่สุดตอนหลัง เมื่อไปเข้าระบบตรวจสอบ ไม่ฟ้องนะครับ เรื่องรายงานมาที่เรา เราก็เห็นว่าพยานหลักฐาน ชัดเจน เขาก็เลยเขียนมาตรา ๖๖ ไว้ให้ ป.ป.ช. ใช้ในกรณีที่คิดว่าจะเกิดความไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นธรรมครับ เราใช้น้อยมากครับ เพราะถ้าใช้บ่อย ๆ มันจะเกิดความไม่ Smooth ในการทำงานในกระบวนการยุติธรรม เราใช้น้อยมากครับ แล้วคดีที่เราเรียกที่ผมยกตัวอย่าง ในคดีภาค ๙ นั้นเราเอามาชี้มูล เรามาไต่สวนใหม่ไม่ได้เสียไปนะครับ ชี้มูลยื่นฟ้องศาล ศาลลงโทษครับ ไปดูได้เลยครับศาลลงโทษ ยืนยันว่ามาตรา ๖๖ ไม่ได้เป็นการสร้างปัญหา เราจะพยายามใช้น้อยมาก เพราะว่าเราไม่อยากมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรม วันนี้ ทุกเรื่องที่ ป.ป.ช. ชี้มูลจะส่งอัยการสูงสุด เพื่อไปตรวจสอบกลไกว่าพยานหลักฐาน ครบถ้วนไหม ถ้าท่านเห็นไม่สมบูรณ์ท่านก็ตั้งข้อไม่สมบูรณ์มาภายใน ๙๐ วันนะครับ แล้วเราก็ จะรีบตั้งเขาบอกว่าถ้าอัยการสูงสุดตั้งข้อไม่สมบูรณ์ ตั้งกรรมการมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งไปประกบภายใน ๑๕ วัน เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. ก็ประชุมกัน ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่มเป็นวาระจร เพื่อจะตั้งตัวแทน ป.ป.ช. ไปประชุมร่วมกับผู้แทนของอัยการเขาไม่สมบูรณ์ เราก็มีสถิติ หมดนะครับ เรื่องเราส่งอัยการเป็นอย่างไร หาข้อยุติไม่ได้เราก็ฟ้องเอง เราก็มีสถิติหมด วันนี้เราติดตามทุกขั้นตอนนะครับ เพราะฉะนั้นยืนยันว่าเราก็รับผิดชอบแล้วจะไม่ใช้ มาตรา ๖๖ พร่ำเพรื่อ จะใช้ต่อเมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงธรรม ไม่อย่างนั้นเราจะเกิดปัญหา ในการบริหารงานนะครับ การเปิดเผยได้พูดไปแล้วที่ท่านปรีติพูดการเปิดเผยใน Website ในปิดประกาศ การชี้มูลนักการเมืองอะไรพวกนี้เราพยายามจะเปิดเผยนะครับ วันนี้เอง ผมว่าสื่อนี้เขาติดตามมากเลยครับ เขารวดเร็วมากเลย เรียกว่าพอประชุมปุ๊บเขาจะรวดเร็ว มากเลย เขาจะรายงานเลยครับ บางทีเร็วจนเกินเหตุจนต้องท้วงติงว่าทำไมมันเร็วอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อเราวินิจฉัยแล้วบางทีเพื่อความรอบคอบเราจะต้องมีการเรียกว่ารับรองมติ ระหว่างรับรองมติบางทีผู้ถูกกล่าวหาก็อาจจะยื่นขอความเป็นธรรมขึ้นได้อีก เมื่อยื่น ขอความเป็นธรรมขึ้นมาเราต้องพิจารณานะครับ ท่านไปดูกฎหมายมาตรา ๔๖ เราปฏิเสธ ไม่รับไม่ได้ เราต้องมาดูเรื่องที่เขาขอความเป็นธรรมมา เราต้องส่งให้แล้วไปดูว่าเรื่องที่เขาขอ ความเป็นธรรมเป็นพยานหลักฐานใหม่หรือเปล่า ซึ่งจะมีผลให้เราเปลี่ยนมติ ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการของเราเป็นกระบวนการที่ถูก Design มาว่า ต้องรอบคอบรัดกุม ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอะไรที่เป็นไปตามอำเภอใจได้เลยนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านต่อไปนะครับ ท่านธิษะณาขอประทานโทษนะครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องของ ITA คือ ITA กับ CPI จะต่างกันเยอะครับ ITA วัตถุประสงค์เราต้องการจะให้หน่วย ที่ทำหน้าที่ให้บริการต่อพี่น้องประชาชนได้ตระหนักและทำหน้าที่ให้บริการนะครับ เราก็เลย ทำ ITA มาเป็นเวลา ๑๑ ปีแล้วครับ ค่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ พัฒนาเรื่อย จากเดิมที่เราจ้างเขาทำ เราจ้างที่ปรึกษาไปทำ วันนี้เราดำเนินการเองผ่านระบบเป็นระบบเรียกว่า ITAS นะครับ ITAS ผ่านระบบแล้วเราก็ทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ป.ป.ท. สคร. วันนี้เราก็มี ป.ป.ท. สคร. อะไรพวกนี้นะครับ แล้วก็มีสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้ามาช่วยเราอย่างนี้เราก็ทำ แต่ว่ามันจะมีอยู่ ๓ เครื่องมือ การมีส่วนร่วมของภายในเรียก IIT Internal Integrity and Transparency External ก็คนที่มีส่วนได้เสีย เราก็พยายาม Design ตรงนี้ให้เป็นความเห็น ของคนที่มีส่วนได้เสียจริง ๆ ส่วนอันสุดท้ายคือ OIT ครับ OIT นี้เป็นเรื่องของการเปิดเผย ข้อมูล ความจริงถ้าเขาทำให้ครบถ้วนเขาก็จะได้คะแนนเต็ม OIT แต่ว่าเราก็ยังมีปัญหา OIT อย่างเรียนท่านตรง ๆ ว่าบางหน่วยที่มาสมัครใจตรวจ วันนี้ยังมีปัญหาเรื่อง OIT ซึ่งเราก็ต้อง ไปให้ความรู้เขาว่าข้อมูลขั้นต่ำอย่างไร ที่เขาควรจะต้องมีฐานข้อมูลให้พี่น้องประชาชนเข้ามา ตรวจสอบได้ ผมเชื่อว่าถ้าเรื่องของ ITA นี่คะแนนดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ความจริงตามเกณฑ์เดิม หน่วยที่จะต้องผ่าน ๘๕ เปอร์เซ็นต์ หมายถึงคะแนนเต็ม ๑๐๐ ต้องได้ ๘๕ จะถือว่าผ่าน ตอนนี้ปรากฏว่าสภาพัฒน์ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการแผนแม่บทไป ๘๕ นี้ครับ จะต้องได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เดิมทีนี้ในปีนี้ผ่าน ๘๕ แค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๔ เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าผ่าน ปีนี้เขายกขึ้นไปเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คะแนนมันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันจะไปเทียบกับเรื่องของ CPI ซึ่งเขาใช้ ๙ ดัชนีไม่ได้เลย เพราะว่า ๙ ดัชนีมันเกี่ยวข้อง กับเรื่องของการลงทุนนะครับ ไปถามผู้ที่เขามีส่วนเป็นดัชนีทางด้านเศรษฐกิจ อะไรต่าง ๆ จะมีในเรื่องของ Demographic ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลทางการเมืองการปกครองอะไร อยู่บ้างนะครับ เพราะฉะนั้นตัว CPI มันจะเกี่ยวกับดัชนี ๙ ตัว วันนี้ ป.ป.ช. ก็ร่วมกับ ป.ป.ท. เสนอรัฐบาลว่าในดัชนี ๙ ตัวเราควรจะให้หน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ เพราะ ป.ป.ช. เราเป็นหน่วยเล็ก ๆ เราเป็นหน่วยประสาน เราไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษหน่วยที่อยู่ในสังกัด ของรัฐบาล เราก็เสนอแนะไปว่าดัชนีตัวที่ ๑ คนไหนควรจะเป็นเจ้าภาพ แล้วก็คงจะต้องมี มาตรการอย่างไรในการที่จะทำตรงนี้ให้มันได้รับการยอมรับ แล้วคะแนน CPI มันก็จะขึ้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนช่วยกัน หรืออย่างที่ ISO 37001 ถ้าหน่วยงานใหญ่ ๆ ที่เขาทำเรื่อง เกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เขาพัฒนาตัวเองได้ ISO 37001 ก็จะทำให้บริษัท ใหญ่ ๆ ของเราอย่าง ปตท. ก็ดี Italthai ที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ สามารถจะไปแข่งขัน Bidding โครงการในนานาชาติได้ ถ้าเขาได้ ISO 37001 แต่ว่า ISO 37001 อาจจะเป็น ค่าใช้จ่ายที่เยอะ วันนี้เราก็อยากจะบอกรัฐบาลว่าถ้ารัฐบาลจริงใจ ค่าใช้จ่ายในการที่จะ ประเมิน ISO 37001 เขาควรจะหักภาษีได้หมดเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เราจะทำให้ บริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ ของเราวิ่งไปสู่การประเมิน ISO 37001 แต่ถ้าเขาได้ ISO 37001 ประเทศเราก็จะน่ามาลงทุน น่าที่จะยอมรับประเทศเราให้ไปแข่งขันในประเทศอื่น คะแนน CPI มันก็จะขึ้นเองครับ มันจะต้องร่วมมือกัน มันไม่ใช่ว่า ป.ป.ช. จะมีอำนาจในการไปขับเคลื่อน ๙ ดัชนี อย่างที่ท่านได้แยกแจกแจงออกมาว่าดัชนีแต่ละตัวนั่นมันเกี่ยวกับอะไรบ้างนะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง วันนี้เราพยายามปลุกและปลูก ทำไมถึงต้องบอกว่า เรื่องหลักสูตรต้านทุจริต เพราะเราต้องการจะปลูกฝังเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ให้ค่านิยมสุจริต ให้เขาไม่ทน ไม่ทำ ไม่เฉยในสังคมไทย ไม่ทน ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉยนะครับ เรื่องของ สร้างค่านิยมในเรื่องของนักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนประชาชนในการที่จะเห็น เรื่องการป้องกันปราบปรามทุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญ Tone from the top นะครับ ถ้าสภาแห่งนี้มี Tone from the top อย่างแท้จริงในเรื่องต้านทุจริต ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกแน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้น Guideline ต่าง ๆ มันก็มีนะครับ ข้อแนะนำในเรื่องเอกชนที่มาทำงาน ถ้าบริษัทใหญ่ ๆ มีความโปร่งใส ในเรื่องการป้องกันการทุจริต องค์กรทุกองค์กร กรมทุกกรม ผู้บังคับบัญชาเน้นในเรื่อง ป้องกันปราบปรามการทุจริต ผมว่าประเทศไทยเราจะดีที่สุดในโลกอยู่แล้วครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านปกรณ์วุฒิ ท่านพูดเรื่องรายงานนะครับ โดยเฉลี่ยเราก็อยากจะคิด อย่างที่ท่านว่านะครับ วันหนึ่งถ้าเรา Clear เรื่องเก่าได้มันจะโดยเฉลี่ยมันคงจะยากอย่างที่ ท่านก็พูดเองว่าการดำเนินคดีมันมีรายละเอียด แต่ละคดีก็พยานหลักฐานก็แตกต่างกัน บางเรื่องก็ต้องขอข้อมูลระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศบางทีมันก็เรื่องของ ต่างตอบแทน คุณให้ผม ผมให้คุณ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่จะได้โดยง่าย วันพรุ่งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีนัดกับผู้บริหารสถาบันการเงินครับ เพื่อจะประชุมร่วมกันว่าเมื่อเราขอข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่องเงิน เพราะเงินมันจะโยงถึงเรื่องเจตนาทุจริต กระแสการเงินจะเป็นเส้นทางที่เราชี้มูล ทุจริตได้ ถ้าไม่มีกระแสทางการเงินนี่การชี้มูลทุจริตก็ค่อนข้างจะยาก เพราะฉะนั้นทำอย่างไร ที่เราจะได้ข้อมูลกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินแค่นั้นเองครับ ในกระบวนการเวลา เราตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ทรัพย์สินมันไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องบัญชีเงินฝากที่สถาบันการเงิน อย่างท่านพูดถึงที่ดิน ท่านพูดถึงเรื่องสิทธิและสัมปทาน แม้กระทั่งเงินประกันชีวิตอะไร พวกนี้มันเป็นรายละเอียดทั้งสิ้นที่ ป.ป.ช. จะต้องเป็นมืออาชีพ เราจะต้องขอความร่วมมือ แต่ว่าเราจะพยายามทำข้อมูลตรงนี้ให้โปร่งใส ให้ท่านรู้ว่าท่านมีหน้าที่ต้องยื่นอะไรบ้าง และท่านจะถูกตรวจสอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นมันก็คงจะต้องพยายามทำว่าให้มัน รวดเร็ว ผมเชื่อว่าถ้ามันเป็นตามที่ผม Commit และเป็นประกาศนโยบายว่าตรวจสอบ ๑ ปี ไต่สวน ๒ ปี ป้องนำปราบเข้าพื้นที่ก่อน ขณะที่เราเพิ่งมีสถานการณ์ เราจะระงับยับยั้ง เรื่องมันจะน้อยลง เอาเวลาไปทำเรื่องใหญ่ ๆ ทำเรื่องใหญ่ ๆ ให้เต็มที่มันจะเกิด การป้องปรามครับ วันข้างหน้าอาจจะยุบ ป.ป.ช. ก็ได้เพราะมันไม่มีคดี เพราะฉะนั้นเรื่อง การแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ร้องก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำครับ แต่เราจะทำอย่างไรเดี๋ยวเราคิด ว่าเรามีกระบวนการก็สอบถามมาเราก็แจ้งตอบ บางทีผมก็ได้รับจดหมายจากผู้ร้องเรียน เขาจะเขียนว่าเตือนครั้งที่ ๒๐ เตือนครั้งที่ ๒๑ มาถึงประธาน ป.ป.ช. ผมก็ตระหนักรู้แล้วว่า เขาอาจจะแจ้งดำเนินคดีกับผม เพราะว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีมติว่าให้ฟ้อง ป.ป.ช. ได้ ให้ผู้เสียหายฟ้อง ป.ป.ช. ได้ วันนี้ด้วยอานิสงส์ตรงนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถูกฟ้องไป ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ๑๖-๑๗ คดี เราก็เอาเวลาไปแก้ต่างคดีของเราเองต้องไปขอให้อัยการ มาแก้ต่างให้เรา แทนที่เราจะเอาเวลาไปเดินข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ บอกว่าถ้าจะฟ้อง ป.ป.ช. นั้นต้องมาจากท่าน สส. สว. ๑ ใน ๕ เข้าชื่อกันยื่นต่อประธานสภา และถ้ามีมูลก็ให้ประธานศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระใช่ไหมครับ ตั้งผู้ไต่สวนอิสระแล้วก็มาสอบ ระหว่างสอบพวกผมก็หยุดปฏิบัติงาน ถ้ามีมูลก็ส่งอัยการสูงสุดฟ้อง ถ้าฟ้องพวกผมก็ถูก ดำเนินคดีไปตามกฎหมายที่กระทำความผิด โทษเป็น ๒ เท่ามันมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ มันมีอยู่แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญครับ แต่วันนี้เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ให้ฟ้อง ป.ป.ช. ได้ก็มีคนไปฟ้องเราใหญ่เลยครับ ทั้งแพ่ง ทั้งอาญาครับ เราก็ น้อมรับครับ เพราะว่ามันเป็นเรื่องกลไกทางกระบวนการยุติธรรม อย่างหนึ่งก็เพื่อ ความโปร่งใส เพราะฉะนั้นเรามีหมดครับ เราทำ List ไว้หมดว่าใครฟ้องเราบ้าง ฟ้องเรื่อง อะไรมันอานิสงส์มาจากตรงนี้ วันนี้เราก็คิดว่าเราอาจจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้เกิด ความชัดเจนในกฎหมาย เพราะฉะนั้นก็ต้องขอความกรุณาท่าน สส. ซึ่งเป็นคนอนุมัติ กฎหมายได้ช่วยกรุณาด้วย ถ้าเราจะแก้กฎหมายอะไรเข้ามาเพื่อให้เกิดความชัดเจนตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็เรียนยืนยัน เรื่องแผนบูรณาการไม่มีกรมบัญชีกลาง ผมก็ยังแปลกใจนะครับ ผมคิดว่ามีนะครับเพราะกรมบัญชีกลางนี่สำคัญมากเลยครับ ราคากลาง ราคาอะไรต่าง ๆ มาจากกรมบัญชีกลางทั้งนั้น ถ้าไม่มีกรมบัญชีกลางนี่เวลาเราไปตรวจสอบ ไต่สวนว่า ราคากลางไม่เป็นไปตามที่เขาประกาศ เราจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการที่ไปไต่สวนของเรา การก่อสร้างอาคารใหม่พูดไปแล้วครับ CCTV ๑๐๐ ตัว ท่านเรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข เรื่องสร้างพระรู้สึกเขาเขียนมาให้ผมแล้วว่ามันมีเรื่องกล่าวหาอะไร มีเรื่องร้องเรียน มีเรื่องนี้ก็มีเรื่องกล่าวหา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มันละเอียดมากครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

มันจะหมดแล้วครับ พอดีผมจดท่านหมดครับ ผมก็เลยพูดไปถึงท่านเอกราช พูดเรื่องบัญชีทรัพย์สิน เครื่องมือ ประเมินราคาตลาด ราคาประเมินครับ ภ.ง.ด. อยู่ในพระราชบัญญัติมาตรา ๑๐๕ ว่า ท่านต้องยื่น ภ.ง.ด. ด้วย อยู่ในกฎหมายครับ เราไม่กล้าไปทำอะไรเกินเลยครับ อยู่ในกฎหมายนะครับ ราคาที่ดิน ถ้าท่านบอกเอาราคาตลาดยุ่งเลยครับ ไม่ต้องอะไรครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เป็นเกร็ดนะครับ พระ ผมมีพระ ผมบอกของผม ๕๐ ล้านบาท ป.ป.ช. ไม่เถียง ป.ป.ช. ขอถ่ายรูป ใช้กล้อง ถ่ายรูปมีคุณภาพถ่ายทุกด้าน ถ่ายละเอียด แล้วก็ไม่ว่าอะไร วันที่ท่านพ้น ท่านบอก พระองค์นี้ยังอยู่ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าท่านบอกขายเมื่อไรอันนี้เดือดร้อน ใครมาซื้อท่าน เอาเงินตรงไหน บัญชีไหนมาซื้อท่าน และท่านเอาเงินเข้าบัญชีไหน วันนั้นท่านเดือดร้อน เพราะฉะนั้นท่านสามารถแจ้งมาได้ครับ เราไม่ขัดข้อง ส่วนเรื่องที่ดินอะไรนี่ก็ราคาประเมิน แล้วที่สำคัญถ้าท่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ดิน เมื่อท่านเข้ามา ๔ ปี ปี ๒๕๖๖ ท่านเข้ามา ท่านมี ที่ดินราคาประเมิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่พออีก ๔ ปี ท่านพ้น ท่านไปเอาราคาตลาดมายื่น อย่างนี้ท่านจะถูกเรียกแล้วครับ แต่ท่านยื่นราคาที่ดินตามราคาประเมินเมื่อปี ๒๕๖๖ เราจะ ไม่ถามท่านเลยครับ แต่ขายเมื่อไรอันนี้จะถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเราก็จะพยายามยืน การตรวจสอบคุณสมบัติมาจากประชาชนอะไร ผมไม่ขัดข้องครับ คนเขียนกฎหมายคือ ท่านครับ ของเราคือคนที่ถูกใช้ให้ทำงาน เทคโนโลยีการตรวจสอบอันนี้ยืนยันครับ เราก็พยายามใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ให้ตรวจสอบ แล้วก็ที่ผมเรียนแล้วว่าเราก็จะไป คุยกับสถาบันการเงิน วันนี้ถ้าบัญชีเราไม่เกิน ๕ ปี สถาบันการเงินตอบเราได้เร็วมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะรวดเร็ว ขุดลอกคลองผมพูดไปแล้ว ผมเห็นด้วยเลยครับ และวันนี้ เป็นนโยบายแล้วครับ และให้รายงานด้วยว่าจังหวัดไหนที่มีขุดลอกคลองเข้าไปหรือยัง และมีทุจริตหรือเปล่า ป้องเลยครับ เขาเลิกก็ปล่อย แต่ถ้าเขายังดื้อตรวจสอบ ไต่สวน เจอกัน เลยครับ มาตรา ๑๓๘ การมีส่วนร่วมในระหว่างประเทศของเราร่วมมือเยอะมากนะครับ ความจริงมี MOU แล้วก็เราต้องอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะในเรื่องเส้นทางการเงินนี้ครับ เราอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งก็ต้องไปผ่านถ้าจะเอามาใช้ในคดีก็ต้องไปผ่าน ท่านอัยการสูงสุด เพราะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือทางอาญา เพราะฉะนั้นจะเป็น ข้อยกเว้นในมาตรา ๔๘ ว่าไม่ใช่ภายในกรอบระยะเวลา ๒ ปี มันเป็นข้อยกเว้นนะครับ กองทุน ป.ป.ช. ในปีนี้ได้มา ๑๐๐ ล้านบาท ในปีที่มารายงานท่านนี้ครับ แต่ปีใหม่นี้ ปี ๒๕๖๗ รู้สึกเราจะได้ ๒๐๐ ล้านบาท ก็ต้องขอบพระคุณนะครับ แต่ก็ต้องขอความกรุณา ท่าน สส. ด้วยช่วยสนับสนุนให้ผ่านด้วยนะครับ เพราะว่า ๒๐๐ ล้านบาทนั้นเราไปใช้ ในเรื่องของพี่น้องประชาชน ภาคประชาชน ภาคเอกชนในการที่จะเข้ามาช่วยเรา ในการสร้างจิตสำนึก ในการจะไปตรวจสอบต่าง ๆ เราใช้เงินตรงนี้เป็นภาคประชาชนเสีย ร้อยละ ๗๐ แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่เราเอามาใช้ที่ผมได้เรียนท่านว่าคดีอาญาที่เราส่งตำรวจ เราสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำคดี คดีละ ๔,๐๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นตำรวจไปเบิกเงิน ในคดีอาญาของเขาอุกฉกรรจ์เขาจะได้ ๑,๕๐๐ บาท อาจจะเบิกข้ามปีงบประมาณ แต่ของผมนี่เราประกาศไว้ว่าถ้าเขามายื่นกับเราอีก ๓-๔ วัน ให้เบิกให้เขา เพราะฉะนั้น เขาก็จะได้ไม่ต้องเป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงาน น่าจะหมดแล้วท่านประธานครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

มีท่านวิทยาพูดผมไปแล้วนะครับ ท่านถามเรื่องตรวจสอบทรัพย์สินนะครับ แล้วก็เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ครับ มีหน้าที่ยื่นเหมือนกับพวกท่าน คนที่ตรวจสอบเราคือวุฒิสภาครับ แล้วก็เป็นความโชคดีของ ป.ป.ช. ครับ เพราะว่าวุฒิสภา เขาตั้งกรรมการมา เขาตั้งรองประธานวุฒิสภามาเป็นประธานตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่ มาตรวจสอบ ที่ว่าโชคดีเพราะอะไรรู้ไหมครับ เขาตรวจเราละเอียดยิ่งกว่า ป.ป.ช. ตรวจพวกท่านอีกครับ เพราะเขาตรวจคนอยู่ ๙ คน เพราะฉะนั้นผมถูกให้ยื่นเพิ่มเติม ตัวผมยังลืมเลยครับ แต่เขาไปตรวจเจอเพราะเขาตรวจคน ๙ คน แต่ผมตรวจคนหลาย หมื่นคนครับ ป.ป.ช. ก็ยื่นนะครับ หมดแล้วนะครับท่านวิทยา กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานกรรมการ ป.ป.ช. นะครับ ท่าน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ผมคิดว่าท่านได้ชี้แจงอย่างละเอียดหมดแล้วนะครับ ขอท่านสมาชิกนะครับ ก็ต้องขอบคุณ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตจริง ๆ ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผมคิดว่าท่านตอบละเอียดแล้วนะครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ มีสิ่งที่ผมไม่สบายใจมาก ๆ ครับ ผมขออนุญาตจริง ๆ ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผมให้ ๑ ท่าน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เพราะว่าท่านตอบละเอียดมากนะครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ได้ครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตท่านประธานครับ ที่ท่านผู้ชี้แจงพูดเรื่องการถมดำ เนื่องจากกังวล ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะถูกคุกคามได้จากการตรวจสอบ ผมขอเรียนอย่างนี้นะครับ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรอย่างผมก็มีหน้าที่ตรวจสอบคล้าย ๆ กับท่าน และผมเปิดหน้าตัวเองทุกคน อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามจากการเปิดโปงการทุจริต ต่าง ๆ ทีนี้ครับถ้าท่านจะถมดำชื่อของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเอกสาร ผมตรวจสอบเอกสาร การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราครับ นอกจากชื่อ สมาชิกครับ ชื่อภรรยาสมาชิก ชื่อพ่อแม่สมาชิก ชื่อพ่อแม่ภรรยาสมาชิก รวมถึงชื่อลูก ของสมาชิก ผมเปิดดูมีบุตรของ สส. ท่านหนึ่งอายุ ๑๐ ขวบ มีทั้งชื่อ ทั้งนามสกุล มีทั้งสถานศึกษา ท่านคิดว่าข้อมูลตรงนี้เป็นข้อมูลที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว และอาจ เกิดความเสี่ยงกับครอบครัวของผู้ที่เปิดเผยทรัพย์สินหรือไม่ ท่านจะให้ความคุ้มครอง กับบุคคลเหล่านี้เท่าที่ท่านให้ความคุ้มครองกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้กับหน่วยงานของท่าน หรือไม่ อย่างไรในอนาคตครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านรับข้อเสนอนี้ไปนะครับ ดูว่าจะให้ความเป็นธรรมกันอย่างไรบ้างนะครับ เราใช้เวลาเยอะ เราใช้เวลามามากแล้วนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขอครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีกคำถามเดียวครับ เพราะว่าท่านตอบละเอียดมากครับ ต้องฟังคำตอบด้วย

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ด้วยความเคารพครับ ท่านประธาน ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านตอบไม่ละเอียดครับ เพราะว่าในกองทุน ป.ป.ช. ท่านได้เงินไปจากสภา ท่านก็พูดเอง ๑๐๐ ล้านบาท ปีหน้า ๒๐๐ ล้านบาท แต่ไม่มีรายงานผลการดำเนินงานครับ ผมไม่ได้ถามว่าท่านได้เท่าไร ทำอะไรบ้าง ผมแค่อยากจะกำชับท่านว่าปีที่ผ่านมา ที่ท่านได้ดำเนินงานไปนี่ได้สรุปไว้ที่ไหน Website หรือเพราะในเล่มนี้ไม่มี ผมจึงอยากจะ เน้นย้ำว่าผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมานี่ท่านได้ลงใน Website หรือดำเนินงานไป อย่างไรบ้าง เท่านั้นเองครับท่าน ขอบพระคุณครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตกราบเรียนอย่างนี้ครับ ผมรับนะครับ เรามีรายงานประจำปีของกองทุนทุกปีครับ ปีหน้าผมจะให้เขาพิมพ์มาแล้วแจกท่านด้วยครับ เรามีครับเรามีทุกปี เรามีผู้แทนกระทรวงการคลัง มีผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ กองทุนครับ แล้วอย่างที่กราบเรียนครับ เราเป็นหน่วยตรวจสอบ เราไม่กล้าครับ เราต้อง ระวังตัวมากเลย เพราะเรารู้ว่าเวลาเราถูกตรวจสอบมันจะแรง ปีหน้าผมรับครับ ผมจะเอาเอกสารรายงานกองทุนมาให้ท่านด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอบคุณท่านและคณะ สวัสดีครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธาน จะกรุณาให้ท่านผู้ชี้แจงตอบคำถามผมด้วยได้ไหมครับ ผมคิดว่านี้เรื่องใหญ่นะครับ เรื่องของ สิทธิของเด็กอายุ ๑๐ ขวบ ที่ถูกเปิดเผยสถานศึกษา ชื่อ นามสกุลจริงในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผมว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าท่านให้ความสำคัญ กับการคุ้มครองบุคคลที่อาจจะถูกคุกคามนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ เอาให้จบนะครับ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านประธานผมขออนุญาตให้ท่านสุภานะครับ ท่านจะเป็น Expert ในเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและให้เหตุผล เชิญครับ

นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานค่ะ แล้วก็ สส. ทุกท่านนะคะ ในเรื่องของการยื่นบัญชีทรัพย์สิน มันเป็นไปตามกฎหมาย เพราะกฎหมายเขียนว่าให้ยื่นบัญชีผู้ยื่น คู่สมรส และบุตรที่ไม่บรรลุ นิติภาวะ กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ค่ะ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องยื่นตามนั้นค่ะ ส่วนที่ เราพยายามจะปกปิด ก็คือในส่วนที่เป็นความเสี่ยงในเรื่องของตัวทรัพย์สินของผู้ยื่นเอง แล้วก็ในเรื่องของการที่ว่าข้อมูลอาจจะถูกใช้โดยไปเป็นภัยกับผู้ยื่นก็เลยจะปิดเฉพาะบางส่วน แต่ว่าบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะเป็นไปตามกฎหมาย

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตจริง ๆ ครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลครับ คืออย่างนี้ท่านปิดชื่อของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในรายงานที่เปิดเผย ต่อสาธารณะ และท่านก็บอกว่าระมัดระวังภัยในการที่จะถูกคุกคามต่าง ๆ บัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ผมทราบดีว่าบุตรผู้ไม่บรรลุนิติภาวะต้องแจ้ง แต่ท่านสามารถที่จะถมดำข้อมูล ส่วนบุคคล อย่างเช่นสถานศึกษาผมคิดว่ามันไม่ได้จำเป็นเลยที่จะต้องเปิดเผยว่า บุตรของ สส. คนนี้ชื่อจริงอะไร นามสกุลจริงอะไร และเรียนอยู่ที่ไหน ผมว่าเป็นข้อมูลที่เป็น อันตรายอย่างมาก นี่ผมเปิดดูจาก Website ของท่านเมื่อสักครู่นี้เลยนะครับ เมื่อครึ่งชั่วโมง ที่แล้วนี้เลย กดเข้าไปแล้วเจอเลยครับ ชื่อเด็กชายอะไร เด็กหญิงอะไร เรียนที่ไหน เป็นบุตร ของ สส. คนไหน ผมเข้าใจว่าต้องแสดงตามกฎหมาย แต่หลาย ๆ ข้อมูลท่านก็ปิด ปกปิด เป็นสีดำที่ไม่ให้เปิดเผยต่อสาธารณะได้ ผมคิดว่าเหตุผลเมื่อสักครู่ที่ท่านบอกว่าเป็นไปตาม กฎหมายผมว่ายังไม่ดีพอครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธาน ผม ณัฐวุฒิ ขอเสนอแนะเพิ่มเติมประเด็นนี้นิดเดียวได้ไหมครับ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิเด็กครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

นิดหนึ่ง ๆ ครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานทราบดีว่าผมเชี่ยวชาญ เรื่องสิทธิเด็กเคยเป็น Board ในระดับชาติ ผมคิดว่าลูกผม ๕ ขวบนะครับ ผมได้ยินแบบนี้ ก็ตกใจนะครับ ฉะนั้นผมเสนอแบบนี้ครับท่านประธานสั้น ๆ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ท่านต้องดูอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก มาตรา ๒๗ ท่านไปเปิดดูได้ครับ พ.ร.บ. ความรุนแรงในครอบครัว มาตรา ๙ พ.ร.บ. ศาลเยาวชน มาตราถ้าจำไม่ผิด มาตรา ๘๓ เป็นประเด็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก ทั้งหมดนี้ยังไม่พูดถึง PDPA ฉะนั้นอะไรถ้าท่านไม่มั่นใจผมเสนอแบบนี้ครับ ให้ท่านหารือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ท่านหารือคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ แล้วก็ให้ท่านหารือองค์การ UNICEF ว่าประเด็นเรื่องของการปกปิดข้อมูลโดยเฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็กในเอกสารของท่านที่ท่านอ้างว่าทำตามกฎหมายนี้ อะไรจะเป็น ประโยชน์สูงสุดของเด็ก ผมใช้คำนี้นะครับ อะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็ก ฝากท่าน แค่นี้ครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านรับไว้เป็นข้อสังเกตนะครับ อย่างไรก็ลองไปพิจารณาดูนะครับ ต้องขอบคุณครับ ขอบคุณท่านที่ให้เกียรติมาเต็มที่เลยครับ ขอบคุณครับ เราพิจารณามาพอสมควรนะครับ ขอปิดประชุมครับ