กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติค่ะ ดิฉัน นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยคณะ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอสรุปรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้ค่ะ
การเสนอผลการปฏิบัติงานและรายงานการสอบบัญชีต่อสภาผู้แทนราษฎร ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ โดยในรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ หน่วยงานได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี งบเงินอุดหนุน จำนวน ๓๖๑,๑๓๖,๗๐๐ บาท โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน ๑๗๘,๐๕๖,๗๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน ๗๖,๓๔๔,๙๐๐ บาท และค่าครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง จำนวน ๑๐๖,๗๓๕,๑๐๐ บาท เพื่อใช้จ่ายในแผนงาน บุคลากรภาครัฐ และแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ภาครัฐ ทั้งนี้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีงบค้างเบิก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน ๑๘๕,๔๔๑,๕๙๔.๘๙ บาท มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน ๑๓๓,๐๐๐,๔๘๒ บาทเศษ คิดเป็นร้อยละ ๗๑.๙๘ เปอร์เซ็นต์ คงเหลือเป็นร้อยละประมาณ ๒๘ เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ผลการดำเนินงานคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในปี ๒๕๖๕ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ มีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
มีคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๔ เรื่อง แยกเป็นคดีที่ค้างพิจารณามาจากปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๒๑ เรื่อง และเป็นคดี ที่มีการยื่นในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๑๐๓ เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดีแล้วเสร็จรวมจำนวน ๑๐๔ เรื่อง แยกเป็นคดีที่มีคำวินิจฉัยในระหว่าง ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๒๔ เรื่อง และเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ไม่รับคำร้อง จำหน่ายคดี ยกคำร้องในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๘๐ เรื่อง และมีคดีที่ยังคงค้างพิจารณาเพื่อยกไปดำเนินการต่อในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ จำนวน ๒๐ เรื่อง สำหรับผลการดำเนินงานในเรื่องของสิ่งพิมพ์และสื่อประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญ ประกอบด้วยหลายโครงการนะคะ อันได้แก่ โครงการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้ ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในยุค Digital โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญสำหรับผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางหู การจัดพิมพ์เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้สู่ประชาชนนะคะ และกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
สำหรับผลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยี Digital ประกอบด้วย โครงการ พัฒนาระบบศูนย์รวมคำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก โครงการพัฒนาระบบ ตอบคำถามอัตโนมัติอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และบริการ ศาลรัฐธรรมนูญอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีโครงการในเรื่องของการจัดหาระบบศูนย์สำรอง สารสนเทศ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาความปลอดภัยในการให้บริการระบบ เครือข่ายสารสนเทศสู่ยุค Digital ของศาลรัฐธรรมนูญ โครงการปรับปรุงห้อง ศูนย์คอมพิวเตอร์แม่ข่ายและระบบเครือข่ายเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการระบบ สารสนเทศและศูนย์ข้อมูล Digital ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีผลงาน การดำเนินการทางด้านวิจัยนะคะ โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดทำด้านวิจัย ๕ เรื่อง อันได้แก่
โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง ข้อยกเว้นเรื่องการกระทำที่ไม่อยู่ในอำนาจ พิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑
โครงการที่ ๒ คือศึกษาวิจัย เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๓ ในกรณีการละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือเสียหายทางจิตใจ
โครงการศึกษาวิจัยเรื่องที่ ๓ เรื่อง ผลผูกพันของคำตัดสินของ ศาลรัฐธรรมนูญ
โครงการศึกษาวิจัยเรื่องที่ ๔ เรื่อง กระบวนการและรูปแบบการจัดทำ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
โครงการศึกษาวิจัยเรื่องที่ ๕ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เรายังมีโครงการให้ทุนสนับสนุนการจัดทำ วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ ได้มี การจัดทุนวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน ๕ ทุน
ผลงานในด้านอื่นก็คือผลงานในเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยในการดำเนินการ สำนักงานได้จัดตามโครงการตามกลุ่มเป้าหมายที่เราจะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้
กลุ่มแรก คือผู้นำองค์กรนะคะ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีโครงการ อบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย นธป. รุ่นที่ ๑๐
สำหรับกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีโครงการส่งเสริม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นิสิตนักศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำโครงการบูรณาการเสริมสร้างความรู้สู่ประชาชนในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ โครงการเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมาย วันรพี ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยตามหลักนิติธรรม โครงการพัฒนายุวชนศาลรัฐธรรมนูญ รุ่นที่ ๗
สำหรับกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มี โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการอำนวยความยุติธรรมของ ศาลรัฐธรรมนูญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕
กลุ่มเป้าหมายผู้พิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีโครงการ ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญสำหรับผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางหูค่ะ ขออนุญาตจบสรุปรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังนี้
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ดิฉันขอตอบคำชี้แจง
ท่านแรก คือท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ นะคะ ในส่วนของหลักสูตร นธป. หรือหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยตามที่ท่านได้พูดถึงค่ะ ในช่วงของรุ่นที่ ๑ ถึงรุ่นที่ ๕ ที่ท่านบอกว่ามีตุลาการเข้าไปเป็นนักศึกษาด้วย ในส่วนของตรงนี้ทางผู้เข้ารับการศึกษา อบรมนี่ ในขณะที่ท่านเข้ารับการศึกษาอบรมไม่ได้มีสถานะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ว่าหลังจากนั้นท่านได้มีการเข้ามาสู่จากการดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในภายหลัง เพราะว่าตัววัตถุประสงค์ของการจัดหลักสูตรตัวคุณสมบัติก็คือไม่ได้มีบุคคล ที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นนักศึกษา
ในส่วนของที่ท่านบอกว่ามีการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตั๋วเครื่องบิน หรือว่าอะไรก็ดีนี้ มีนอกไปจากระเบียบทางราชการหรือไม่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอเรียนชี้แจงว่าในส่วนของการเบิกจ่ายนี้ค่ะ จากเงินงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว แล้วก็อัตราการเบิกจ่ายนี้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรม โดยที่ทางสำนักงบประมาณก็ได้มีหลักเกณฑ์ในการจัดเรื่องของ ตั๋วการเดินทางนี้ให้เดินทางโดยชั้นประหยัด ส่วนถ้านักศึกษาท่านใดที่จะ Upgrade อันนั้น ออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นเรื่องของบุคคลไปนะคะ ในส่วนโดยภาพรวมของการจัดหลักสูตร อันนี้การเบิกค่าใช้จ่ายก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ แล้วก็ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรม ทั้งนี้เมื่อมีการสิ้นสุดในแต่ละปีแล้ว ทาง สตง. สำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินก็จะเข้ามาตรวจสอบในเรื่องตรงนี้ด้วยนะคะ
ในส่วนที่ท่านถามถึงในรุ่นของ นธป. ๑๑ ว่ามีการเดินทางไปศึกษาดูงาน ที่ไหนบ้าง ในของรุ่น ๑๑ การที่เราเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศนี้ค่ะ เราจะไปดูงาน ศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ หรือองค์กรที่เทียบเท่าเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศ ที่ทำ MOU กับเราเพื่อเราไปมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยเราทำหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรของผู้นำองค์กรระดับประเทศ เราก็จะพาไปศึกษาดูงานและมีการแลกเปลี่ยน ทางวิชาการ แล้วกลับมาก็จะมีการทำรายงานการศึกษาดูงานเผยแพร่ค่ะ ท่านสามารถดูได้ ผ่านทาง Website ที่เรามีการเผยแพร่ แล้วก็ห้องสมุดของเราก็จะมีการเผยแพร่ในเรื่อง รูปแบบของเอกสารนะคะ ทั้งนี้ในรุ่น นธป. ๑๑ เดินทางไปเมื่อช่วงวันที่ ๒๐-๒๗ พฤษภาคมนี้ค่ะ ก็ไปศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมนะคะ แล้วก็ไปดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ลักเซมเบิร์ก แล้วก็ได้ไปดูศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ๓ ที่ค่ะ
สำหรับที่ท่านเอ่ยถึงอีกรุ่นหนึ่ง คือรุ่น นธป. ๑๐ ก็ไปดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุรกี แล้วก็ศึกษาดูงานที่รัฐสภาฮังการี แล้วก็ศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญฮังการีเช่นเดียวกัน
ในส่วนของท่านชุติพงศ์ก็น่าจะครบแล้วนะคะ ถ้าเกิดอย่างไรตกหล่น คืออย่างที่นำเรียนค่ะ ถ้ามีข้อกังวลเรื่องความเป็นกลาง ดิฉันก็ได้นำเรียนไปแล้วว่าในส่วน ของตัวตุลาการนี้ท่านศึกษาอบรมในฐานะตอนนั้นยังไม่ได้เป็นตุลาการค่ะ ยังเป็นสถานะ ตามตำแหน่งอื่นนะคะ แต่ต่อมาภายหลังท่านได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญค่ะ
ในส่วนของท่านที่ ๒ คือ ท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ขออนุญาตพอดีมีบางเรื่อง ที่คล้าย ๆ กับท่านที่ ๓ ขออนุญาตตอบไปในคราวเดียวกัน คือท่านได้เน้นเรื่องของ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในเรื่องของมาตรา ๒๑๓ แล้วก็ ท่านก็ได้กรุณา ให้ข้อแนะนำในเรื่องของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอุปสรรค ก็ให้มีการเสนอแก้ไขแล้วก็ให้มีการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ในส่วนตรงนี้จะขออนุญาตชี้แจง ว่าในส่วนของการประชาสัมพันธ์ ทางสำนักงานตั้งแต่มีมาตรา ๒๑๓ ซึ่งสมัยก่อนรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ อยู่ในมาตรา ๒๑๒ ทางสำนักงานได้เล็งเห็นความสำคัญของในเรื่อง การให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการยื่นฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด เราได้มีการจัดทำโครงการเผยแพร่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ แม้กระทั่ง ต่อมาได้มีบทบัญญัติมาตรา ๒๑๓ ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ จะเห็นได้ว่า ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการจัดโครงการอันเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทั้งในรูปแบบทั้ง Online Onsite แล้วก็จัดสัมมนาทางวิชาการ อย่างเช่น มีโครงการ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่ความรู้นี้ โครงการความร่วมมือด้านการเผยแพร่ให้ความรู้ ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๓ อันนี้เราก็จะมีการจัดทั้งในกรุงเทพมหานคร แล้วก็ การเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึงนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นการเผยแพร่ช่องทาง ที่เขาจะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยการใช้สิทธิยื่นคำร้อง โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่างที่ท่านกรุณาแนะนำค่ะ ด้วยเหตุที่ทางพระราชบัญญัติ ประกอบอาจจะมีบทบัญญัติในลักษณะที่ทำให้มีขั้นตอนในการใช้สิทธิได้ จนทำให้ทาง ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องไว้ ดังปรากฏที่ท่านได้กรุณาพูดถึงสถิติว่า เป็นจำนวนมาก แต่ว่าเมื่อผ่านเข้ามาในบางคำร้องแล้วทางศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัย ในลักษณะการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้ได้หลายคำวินิจฉัยค่ะ
สำหรับในส่วนเรื่องของประเด็นความประเมินความพึงพอใจของประชาชน ในการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขออนุญาตว่าทางสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญได้เล็งเห็นในเรื่องของความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดเราได้พยายาม ลักษณะแรก ๆ เราก็จะทำ กันเองในสำนักงาน ต่อมาก็ได้รับคำแนะนำจากทางสภาผู้แทนราษฎร และทางวุฒิสภา ถึงความเป็นมาตรฐานของการที่จะวัดความเชื่อมั่นตรงนี้ ในปี ๒๕๖๕ เราก็ได้มีโครงการ สำรวจความเชื่อมั่นที่มีต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็สำรวจ ประชาชนทุกภาค จำนวน ๒,๓๐๐ คน ใน ๑๒ จังหวัด ผลสรุปโดยรวมประชาชน มีความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ หากอยู่ในระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ ๖๐ เปอร์เซ็นต์เศษ และในปี ๒๕๖๖ เราก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เราก็จะมี การพัฒนาตามลำดับโดยจะเห็นจากตัวเลขเราก็จะเอามาปรับปรุงว่าเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบกระบวนการยุติธรรมค่ะ
อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านพูดถึง ก็คือระบบ GES ว่าเป็นลักษณะการประเมิน ความพึงพอใจ อันนี้ก็อยู่ในเรื่องของการเชื่อมั่นเหมือนกันอย่างที่ดิฉันได้นำเรียน แล้วก็จากรายงานเล่มนี้จะเป็นรายงานที่ทางวุฒิสภาได้ตั้งข้อ Comment ไว้ว่า ให้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญลองไปทำโดยใช้ระบบ GES นี้เข้ามาเป็นลักษณะ การประเมินความพึงพอใจ ซึ่งก็เป็นปีแรกที่ทางเราได้ทำโดยใช้เกณฑ์การวัดความพึงพอใจ ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดอยู่ในคู่มือของ ก.พ.ร. แล้วก็มาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นปีแรก ก็อาจจะต้องมีการพัฒนาในส่วนตรงนี้ต่อไป
ขออนุญาตไปท่านที่ ๔ ท่านปิยรัฐ จงเทพ ท่านสอบถามเรื่องค่าตอบแทน คณะตุลาการผู้สนับสนุนที่มีการเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ ๒๕๖๔ โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จำนวนมากขึ้นก็เป็นไปตามที่มีการแต่งตั้งผู้สนับสนุน ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบสืบเนื่องจาก ปี ๒๕๖๔ มีการแต่งตั้งผู้สนับสนุนไม่ครบตามจำนวนกรอบ แต่ทั้งนี้ตามกรอบอัตรา เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็เลยสูงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวน ของค่าตอบแทน
แล้วก็ท่านถามถึงในส่วนของเรื่องการที่ตุลาการบางท่านได้ไปสอนหนังสือ ตามมหาวิทยาลัย หรือว่าบรรยายตามมหาวิทยาลัย อันนี้สืบเนื่องจากว่าในส่วนของ การสอนหนังสือนี้เป็นการให้ความรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งตัวคุณสมบัติของท่านที่มาเป็นตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งการเผยแพร่ หรือการเป็นลักษณะของการให้ความรู้ทางวิชาการเป็นการถ่ายทอด อันนี้ก็น่าจะเป็น คุณประโยชน์แก่สังคมโดยผ่านทางการสอนก็เป็นการสอนหนังสือของตามมหาวิทยาลัย
ขออนุญาตไปท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ ท่านได้สอบถามถึงหลายเรื่อง ก็ขอบพระคุณท่านมากเลย ท่านได้ตั้งประเด็นในเรื่องที่ทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีโอกาสได้ชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจ ทำไมว่าต้องมีพิพิธภัณฑ์ศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขอนำเรียนว่าเดิมพิพิธภัณฑ์ศาลรัฐธรรมนูญตรงนั้นเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในช่วงหนึ่ง ต่อมาด้วยเหตุที่ว่าสถานที่คับแคบ บุคลากรเราก็มีจำนวนมากขึ้น ก็เลยมีการย้ายสถานที่ทำการมาที่อาคาร A ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะปัจจุบัน แต่ในอาคาร บ้านเจ้าพระยายังเป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาและทางสำนักงานก็เล็งเห็นคุณค่าของความเป็นอาคารโบราณสถาน แล้วก็ เล็งเห็นว่าหน้าที่อย่างหนึ่งของสำนักงานในการที่จะอนุรักษ์ แล้วก็เผยแพร่ความรู้เพื่อเป็น ประวัติศาสตร์ทางด้านของศาลรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความจำเป็น เพราะว่าในสังคมเรา เราก็ จะต้องรู้รากฐานความเป็นประชาธิปไตยของเราด้วย ก็มีดำริกันว่าจะทำขึ้นพัฒนาโดย ปรับปรุงอาคารหลังนั้นซึ่งมีพื้นที่ไม่ได้ใหญ่โต เป็นอาคารอนุรักษ์ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่สำคัญให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านรัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรม การเมืองการปกครอง เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ศึกษาเรียนรู้ เข้าใจภารกิจศาลรัฐธรรมนูญผ่านพิพิธภัณฑ์อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งนี้เราได้มีการร่วมลง MOU กับ ๖ หน่วยงานในละแวกคุ้งน้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เกิด ความร่วมมือในการเผยแพร่ภูมิปัญญาอันเป็นดั้งเดิมว่าประวัติศาสตร์ความเป็นคนไทย เรามีมาอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้า นครหลวง โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ทั้งนี้ประชาชนนี้สามารถเข้าถึงได้ทั้ง Online และ Onsite โดยพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันนี้เราไม่จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ ขอบพระคุณท่าน ที่ท่านห่วงใยว่ามีบุคลากรแค่ ๕ คนเราจะทำงานกันได้ไหม พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มีทั้ง Online และ Onsite แล้วก็ในระบบพิพิธภัณฑ์ท่านสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้กด Link เข้าไป แล้วก็ ไปเยี่ยมชม ทั้งนี้ในส่วนของความห่างไกลไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเผยแพร่ ก็ขอบพระคุณ ท่านมากในส่วนที่ห่วงใยในเรื่องตรงนี้ค่ะ ท่านพูดถึงว่าระยะเวลาในการพิจารณา ท่านเคยมี สถิติไหมอันนี้เราเก็บสถิติ ก็ขอบพระคุณท่านที่ให้โอกาสในการชี้แจง สืบเนื่องจากตั้งแต่ พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ เริ่มใช้บังคับ ทางศาลรัฐธรรมนูญได้มีประกาศ ศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยให้คดีนี้ พิจารณากำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้อง เว้นแต่กรณีไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญอาจกำหนดระยะเวลาใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ โดยเร็วที่สุดก็ได้ และทางสำนักงานก็ได้มีการจัดเก็บสถิติ กล่าวได้ว่าในส่วนของ ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ที่เราพูดถึงอันนี้ คดีที่มีกระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จมากกว่า ๙๐ วัน มีจำนวน ๑๖ คดี แล้วก็ในคดีที่มีน้อยกว่า ๙๐ วัน ๘๐ คดี แล้วคดีที่ใช้เวลาน้อยกว่า ๖๐ วัน ๒๑ คดี อันนี้ในปี ๒๕๖๕ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานได้จัดเก็บตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ จนถึง ปี ๒๕๖๖ ถ้าอย่างไรอาจจะขออนุญาตส่งเป็นข้อมูลให้ภายหลัง นับตั้งแต่กฎหมายกำหนด ให้เราดำเนินการ ทางศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อให้เป็นไปตาม ที่กฎหมายกำหนดค่ะ
ของท่านอดิศร เพียงเกษ พอดีท่านพูดถึงคำวินิจฉัยในยุคสมัย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นคำวินิจฉัยในปี ๒๕๕๐ ในประเด็นที่ท่านพูดถึงนี้มีอยู่ใน เนื้อหาของคำวินิจฉัยว่าท่านกระทำในพระปรมาภิไธยหรือไม่อะไรอย่างนี้ค่ะ อันนี้ดิฉัน ในนามสำนักงานก็มิอาจก้าวล่วง เพราะว่าก็เป็นไปตามที่ทางคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาวินิจฉัยปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยแล้ว ก็เช่นเดียวกันกับอีกคำวินิจฉัยหนึ่ง ที่ท่านพูดถึงว่า และ หรือ มีความหมายอย่างไร อันนี้ก็เป็นไปตามที่ทางคณะตุลาการ หรือศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยไปแล้วค่ะ
อีกท่านหนึ่ง คือท่านรังสิมันต์ โรม ท่านได้พูดถึงว่าทำไมสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญถึงได้เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาระบบ IT อันนี้ก็เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ว่ามุ่งให้เป็นไทยแลนด์ ๔.๐ แล้วก็เป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ของโลกว่าทางระบบ การทำงานเราควรจะใช้ระบบ Digital เป็นหลักเพื่อให้การเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิก็ดี ของประชาชนก็ดี หรือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของศาล หรือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เป็นไปอย่างโดยสะดวก รวดเร็ว แล้วก็เป็นธรรม ทั้งนี้ทางสำนักงานก็ได้มีการพัฒนาระบบ โดยมุ่งที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบ e-Court ซึ่งในระบบ e-Court นี้ก็ประกอบไปด้วย หลายระบบ แต่ระบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทางประชาชนผู้ใช้สิทธิ ก็คือระบบการยื่นคำร้องทาง อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปัจจุบันมีการใช้แล้ว แล้วก็มีผู้ร้อง มีพรรคการเมือง หรือโดยพรรคการเมือง ประชาชน แล้วก็หน่วยงานของรัฐ ที่มีสถานะผู้ร้องได้มีการยื่นผ่านระบบอันนี้มีการพัฒนา มาโดยตลอด ถ้าท่านใช้ผ่าน Website นี้ก็จะมีหลายระบบ ที่จะให้สืบค้น ระบบติดตาม ระบบสืบค้น รวมถึงระบบที่มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้รัฐธรรมนูญทั่วโลก อันนี้เราก็มีการพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นย้ำว่าให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ ๔.๐
ส่วนที่ท่านถามถึงการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยนะคะ อันนี้ก็เป็นโครงการ ที่ทางสำนักงานเห็นว่าเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยตรง เราก็จะมีการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัย ซึ่งในชุดแรก หรือ Series แรกได้มีการรวบรวม แล้วก็เผยแพร่แล้วเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ ๒๕ ปี ถ้าท่านสนใจเราก็มี QR Code ให้ดู แล้วในลำดับต่อไปก็จะมี Series 2 Series 3 ต่อเนื่องกันมาค่ะ
สำหรับที่ท่านก็กรุณานะคะ มีการคำนวณ Cost-benefit ของการปฏิบัติ หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขอนำเรียนว่าตัวเลขของคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าทำไมน้อย ถ้าเทียบกับศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ก็ขอนำเรียนชี้แจงตรงนี้ว่าการเข้าถึงการอำนวย ความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญของประชาชน หรือว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเองคดีทางศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับได้ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่เป็นไปตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็จะแตกต่างจากศาลอื่น แต่เมื่อคำนวณจากตัวเลขมาแล้ว ๓.๔ ล้านที่ท่านกรุณาหารเฉลี่ยมาให้ ถ้าเทียบกับบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน หรือว่าการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง หรือว่าตามบทบัญญัติอำนาจหน้าที่ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นไปตามที่คุ้มค่า เพราะว่าในสังคมประชาธิปไตย อย่างประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรเช่นศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ พิทักษ์รัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนะคะ
สำหรับที่ท่านพูดถึงโครงการสัมมนาบุคลากรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง ทำไมมาทำตรงช่วงท้ายของปีงบประมาณ ก็ขออนุญาตชี้แจงท่านค่ะว่า บางโครงการนี้มีการเลื่อน เพราะว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด แล้วก็การที่จะพาบุคลากร ไปพัฒนาข้าราชการนี้ก็จำนวนเยอะ การที่จะไปทำในช่วงสถานการณ์โควิดก็ค่อนข้างจะเสี่ยง ต่อการทั้งรับเชื้อแล้วก็การเผยแพร่เชื้อ เราก็มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณให้เป็นไปตาม งบประมาณที่ขอค่ะ ก็เห็นว่าช่วงที่ระยะไปค่อนข้างจะมีการผ่อนปรนแล้วก็เลยเดินทางไป แล้วเราก็เลือกสถานที่ที่ไม่ไกลมาก เพราะว่าอย่างน้อยในเรื่องของการเดินทางโดยหมู่คณะ เยอะ ๆ ก็จะลำบาก โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยจะมีการสัมมนา ระดมความคิดเห็น ๒ เรื่องนะคะ ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้ ข้าราชการเราตระหนักถึงการใช้จ่ายงบประมาณว่าให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เนื่องจากมาจาก อย่างที่ท่านกล่าวถึงเป็นภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นเองเราก็ตระหนักตรงนี้ก็ได้มีการไปทำ ความเข้าใจเพื่อให้ข้าราชการ แล้วก็บุคลากรของสำนักงานมีความตระหนักในส่วนของ การใช้จ่ายตรงนี้ แล้วก็มีการประเมินเรื่อง ITA ซึ่งผลจากการประเมิน ITA การทำ ความเข้าใจในครั้งนั้นก็ส่งผลมาในการประเมินผล ITA ปัจจุบัน ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการประเมินสูงเป็นอันดับ ๒ เมื่อเทียบกับอีกทั้ง ๓ สำนักงาน ในส่วนตรงนี้ดิฉันก็สรุป มาได้ประมาณนี้นะคะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ในข้อสังเกตที่ของท่านรังสิมันต์ โรม ในเรื่องของชื่อโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันนี้ ก็ขอรับไปเป็นข้อสังเกต แล้วก็ไปปรับปรุงกันนะคะ แต่ว่าอย่างไรก็ตามมันก็ต้องเป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของโครงการด้วยว่าชื่อโครงการก็ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ นั้นด้วย สำหรับในเรื่องของที่ท่านพูดถึงเรื่องว่ามีการแจกโทรศัพท์นะคะ อันนี้ก็ขออนุญาต นำเรียนว่าโทรศัพท์ทั้งในส่วนของตุลาการ แล้วก็ของข้าราชการ รวมถึงบุคคลที่จะมีสิทธิใช้ ก็จะเป็นระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงินให้ออกเกณฑ์การจัดหาโทรศัพท์ให้กับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ในอัตราเดียวกับผู้บริหาร ของส่วนราชการอื่น ๆ อันนี้หลักเกณฑ์เดียวกัน ไม่ได้แตกต่างเลยนะคะ
ในส่วนที่ทางท่านชุติพงศ์ ก็อย่างที่เมื่อสักครู่นำเรียนแล้วว่ามีการไปดูงาน ใน ๓ ที่ ส่วนระยะเวลา ๗ วันมันมีลักษณะของการเดินทางด้วยนะคะ เดินทางระหว่างจาก ประเทศไทยไปต่างประเทศ แล้วก็แต่ละประเทศอย่างที่ดิฉันบอกว่ามีทั้งเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก อันนี้เราก็มีลักษณะการเดินทาง กำหนดการที่ท่านได้กรุณานำขึ้นอาจจะ เป็นกำหนดการแรกนะคะ ส่วนรายละเอียดตรงนี้เดี๋ยวจะนำรายละเอียดไปคุยกันกับ สำนักงานว่าจะเผยแพร่อยู่ในช่องทางไหนเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบได้อย่างชัดเจน มากขึ้นนะคะ ก็ขออนุญาตนำข้อสังเกตของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ทั้งหลายไปปรับปรุงในรายงานประจำปีในครั้งต่อไป กราบขอบพระคุณค่ะ