พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกที่เคารพ กระผม พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในนามของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันนี้ได้มาพร้อมด้วย ท่านสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ท่านนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหาร รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาแถลงรายงานผลการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ผมขอกราบเรียนว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับความมุ่งเน้นการปฏิบัติตาม หน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยความซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังค่านิยมหลักขององค์กรที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังคงขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยในงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังคง ขับเคลื่อนนโยบายป้องนำปราบ โดยผลักดันการดำเนินการป้องกันการทุจริตในทุกมิติ ตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ ตลอดจนหมวด ๖ มาตรา ๑๒๖ จนถึงมาตรา ๑๒๙ ในการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจัง ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ Corruption Deterrence Center เพื่อเฝ้าระวังระงับยับยั้ง ป้องกันและปราบปรามเพื่อลดการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้บุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. เคร่งครัดการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยทุกภารกิจจะต้องขับเคลื่อน การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความคาดหวัง ของประชาชน และสังคม ควบคู่กับการรักษามาตรฐานการดำเนินงาน และคำนึงถึงการให้ ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ท่านประธานครับ ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ สำนักงาน ป.ป.ช. มีบุคลากรรวมทั้งหมดจำนวน ๒,๕๖๒ คน เป็นบุคลากรส่วนกลาง ๑,๑๙๐ คน ส่วนภูมิภาคจำนวน ๑,๓๗๒ คน เช่นเดียวกันในปีดังกล่าวสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับจัดสรร งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น ๒,๖๒๑ ล้านบาทเศษ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๘๒ งบประมาณ ๒,๖๒๑ ล้านบาท ดังกล่าวเป็นงบบุคลากร ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นงบดำเนินงาน ๒๑.๗ เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างซึ่งเรากำลังสร้างสำนักงานในภูมิภาค ตามจังหวัดต่าง ๆ รวมเป็นเงิน ๕๐๗ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ เราได้ตรวจรับคำกล่าวหา ทั้งสิ้น ๙,๗๖๒ เรื่อง คำกล่าวหาในปีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๑๖.๔๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑,๓๘๑ เรื่อง ในปี ๒๕๖๕ มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสมจากปีงบประมาณ ๒๕๖๔ และเรื่องที่รับใหม่ รวมทั้งสิ้น ๑๗,๓๘๘ เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๕,๙๘๗ เรื่อง ซึ่งจำแนกเป็นเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้น ๕,๓๔๖ เรื่อง ในชั้นไต่สวน จำนวน ๖๔๑ เรื่อง โดยเป็นเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล ความผิด จำนวน ๕๐๔ เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ ๑๐,๒๘๗ ล้านบาท นอกจากงานด้านตรวจสอบไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังมีหน้าที่และอำนาจ ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปีดังกล่าว รวมทั้งสิ้น ๔๓,๙๗๐ บัญชี มีเรื่องไต่สวน ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน ๑๘๖ เรื่อง นอกจากนั้นงานในภารกิจที่สำคัญที่ผมได้นำเรียนว่า ป้องนำปราบก็จะเป็นงานเรื่องการป้องกัน ซึ่งเราก็ดำเนินการทั้งในเรื่องหลักสูตร การต้านทุจริตศึกษา ดำเนินการในเรื่องสำรวจ มีการเกี่ยวกับเรื่อง ITA รายละเอียดต่าง ๆ ได้มีการดำเนินการ ได้รายงานอยู่ในเอกสารซึ่งท่านประธานได้นำเรียนท่านแล้ว วันนี้ กระผมและคณะรู้สึกยินดีที่ได้จะมีโอกาสมารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ปีนี้ก็เป็นปีที่ ๘ ซึ่งกระผมเองก็โชคดีได้มีโอกาส มารายงานนะครับ ในช่วง ๓ ปีแรกก็ได้รายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วง ๕ ปี ที่ผ่านมาก็รายงานทั้งวุฒิสภา แล้วสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ปีนี้เป็นปีที่ ๕ ครับ ผมและคณะ พร้อมที่จะรับฟังข้อแนะนำ ข้อติชมทั้งสิ้นครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรนะครับ ก่อนอื่นผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ ท่านที่ได้กรุณา มีคำถาม ให้ข้อแนะนำ ให้ข้อความเห็น ผมจะขออนุญาตลองลำดับชี้แจงสิ่งที่ท่านได้ให้ คำแนะนำนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านนิพนธ์ คนขยัน ได้พูดถึงเรื่องสถิติเปรียบเทียบที่เพิ่มขึ้น การดำเนิน คดีอาญา แล้วก็มาตรา ๙๘ ก็ต้องกราบเรียนอย่างนี้ว่าประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้ให้อำนาจว่า ถ้าหากมีการชี้มูลแล้วนี่นะครับ ชี้มูลความผิด อาญาแล้วก็ให้ดำเนินการชี้มูลทางวินัยไปด้วยมันก็อยู่ในมาตรา ๙๑ ทางอาญาก็เป็น มาตรา ๙๑ (๑) มาตรา ๙๑ (๒) เป็นเรื่องของวินัย เราก็ดำเนินการไป แล้วก็จะวิ่งไปสู่ มาตรา ๙๘ แล้วก็ให้ผู้บังคับบัญชานั้นถือว่าถ้าเป็นสำนวนทางวินัยไม่ต้องไปตั้ง คณะกรรมการทางวินัย แต่ในขณะเดียวกันให้ดำเนินการลงโทษภายใน ๓๐ วัน อะไร อย่างนี้นะครับ ในขณะเดียวกันกฎหมายมาตรา ๙๙ ก็ยังให้โอกาสที่ผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ถูก ชี้มูลสามารถที่จะนำเสนอพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นอาจจะพิจารณาวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ กระบวนการตรงนี้ก็เลยทำให้กระบวนการ ลงโทษอาจจะช้าไปบ้าง อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อมีการยื่นมาตามมาตรา ๙๙ เราก็ต้องรีบพิจารณา ถ้าไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่เราก็ไม่รับขึ้นพิจารณา เราก็จะยืนยัน กลับไปให้เขาดำเนินการตามมาตรา ๙๘ ทีนี้มันก็เป็นอย่างที่ท่านนิพนธ์ได้กรุณากล่าว คือว่าก็มีหลายหน่วยงานก็อาจจะไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบที่กฎหมายที่กำหนด ป.ป.ช. เอง ก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำก็พยายามประสาน เพราะจริง ๆ แล้วถ้าเขาไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๘ มันก็จะวิ่งเข้าไปสู่มาตรา ๑๐๐ ซึ่งมาตรา ๑๐๐ ได้บอกว่า ถ้าผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจ แต่งตั้งถอดถอนผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๘ โดยไม่มีเหตุอันสมควรนี้ ให้ถือว่า ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย หรือกระทำ ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง คือผู้บังคับบัญชาเองจะโดนวินัยร้ายแรง อาจจะละเว้นด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีหลายกรณี ซึ่ง ป.ป.ช. ถ้าเห็นว่ามันเป็นการล่าช้ามานานแล้วทำให้ กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพเราก็จะแจ้งไปว่ามิเช่นนั้นท่านจะโดนไปตามมาตรา ๑๐๐ เราก็พยายามดำเนินการทำ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังมีสิทธิตามกฎหมายที่เขาจะไปร้องต่อ ศาลปกครองกรณีที่มีการลงโทษ แล้วเขาเห็นว่าโทษปลดออก ไล่ออกนั้นไม่ถูกต้อง ก็ไปร้องศาลปกครองก็ไปอยู่ในกระบวนการศาลปกครองอีก ซึ่งก็มีกรณีที่ ป.ป.ช. และศาลปกครองก็ยังมีกรณีที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ยืนยัน ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ แล้วก็ ถ้าพอชี้มูลแล้วเขาต้องดำเนินการทางวินัย ถ้าไม่ดำเนินการทางวินัยนี่ผู้บังคับบัญชานั้น อาจจะต้องรับผิดทางวินัยเสียเอง เพราะฉะนั้นแล้วก็มีกฎหมายอยู่แล้วครับ ขณะนี้เราก็ ยืนยันว่าเราพยายามจะใช้กฎหมายตัวนี้ให้มีประสิทธิภาพนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของการยุติปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม เมื่อชี้มูลไปแล้วก็ยื่นศาลก็มีกฎหมาย มาตรา ๙๑ บวกมาตรา ๙๓ นั้น ขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นดุลยพินิจของ ศาลอีกนะครับ เราเคยมีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครอยู่ที่สมุทรปราการคงจะเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง กระทำความผิดหลายกรณี เราชี้มูลหลายกรณี เราก็ยื่นศาล ศาลท่านก็ไม่ได้ให้ข้อยุติ การปฏิบัติหน้าที่ ศาลก็บอกว่ามันไม่มีเหตุให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นดุลยพินิจของศาล ที่ศาลจะสั่ง แต่เราก็เห็นว่ากฎหมายมีอยู่เราก็ยังยืนยัน เรื่องที่ ๒ เราชี้อีกเราก็ยืนยันไปอีก ว่ายื่นขอให้อัยการหรือกรณีที่เราฟ้องเองขอให้ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังเป็นดุลยพินิจ ของศาล ศาลเขาก็ไม่สั่งอีกครับ ก็ถือว่าเป็นดุลยพินิจของศาล แต่ก็มีหลายกรณีที่ศาลท่านสั่ง หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกส่วนเหมือนกับที่เราบอกว่าถ้าเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ Tone from the top เหมือนอย่างประเทศจีนประธานาธิบดีลงมานี่เขาชัดเจนในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริต ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานตรงไหนในองคาพยพของการเป็นรัฐไทย ได้ถือเป็น นโยบายสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายก็จะมีประสิทธิภาพมันจะเสื่อมประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องท่านณัฏฐ์ชนนในกรณีที่ท่านได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง ป.ป.ช. เอง ก็จะเป็นอย่างที่ท่านกล่าวครับ มีคนที่ไม่ค่อยชอบ ป.ป.ช. หรอกครับ แต่ขณะเดียวกัน ก็มาร้อง ป.ป.ช. เพื่อจะไปให้ดำเนินการกับบุคคลอื่น ขณะที่วิพากษ์ ป.ป.ช. แต่ก็มา ให้ ป.ป.ช. ไปดำเนินการกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เราต้องตระหนักใหญ่ว่าการดำเนินการ ของเรานั้นจะต้องเที่ยงธรรม ให้ความเป็นธรรม เที่ยงธรรมนะครับ เพราะฉะนั้นขอยืนยัน ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ท่านณัฏฐ์ชนนอาจจะถูกร้องเรียน กล่าวหาอะไรต่าง ๆ นี่ครับ อยู่ในกระบวนการ และกระบวนการของการตรวจสอบไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการ ที่ละเอียดอ่อน แล้วก็ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ เมื่อมาร้องเรียนกล่าวหา เรามีกระบวนการเรียกว่าตรวจรับคำกล่าวหา ถ้าไม่มีมูลเราก็ไม่รับ ถ้ามีมูลชัดเจน มีพฤติกรรมชัดเจน ผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งหน้าที่ชัดเจนเราก็จะรับ แม้เป็นบัตรสนเท่ห์ ถ้าชี้ชัดเจนว่าบัตรสนเท่ห์กล่าวหาเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่อย่างไรที่เราสามารถดำเนินการ ต่อได้เราก็รับ พอเรารับตรวจสอบเบื้องต้นไปแล้วถ้ามันมีมูลพอเราก็จะไปไต่สวน

    อ่านในการประชุม

  • จริง ๆ เรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ๑๐๐ เรื่อง เรารับ ไต่สวนประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เองครับ อีก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ นี้ไม่รับว่าไม่มีพยานหลักฐาน ที่ดำเนินการต่อไปได้ แต่เรื่องที่เราตั้งไต่สวน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูสถิติเราชี้มูลถึง ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับ แต่ระหว่างกระบวนการไต่สวนเราจะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ในการที่จะนำพยานหลักฐานเข้ามาสู่การไต่สวนของ ป.ป.ช. อย่างเสมอ แม้กระทั่งเมื่อแจ้ง ข้อกล่าวหาแล้ว หรือแม้กรรมการจะกำลังพิจารณาสำนวนแล้วเขาก็สามารถจะทำ พยานหลักฐานเข้ามาสู่เรา เพราะฉะนั้นกระบวนการ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการไต่สวน ไม่ใช่กระบวนการสอบสวนกล่าวหาเหมือนกับทางพนักงานสอบสวนของตำรวจตาม ป.วิ.อาญา เพราะฉะนั้นเราจะให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างมากเลยครับ เพราะฉะนั้น มันใช้เวลามากครับ แจ้งข้อกล่าวหาเราบอกกฎ ระเบียบเรา เราให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ชี้แจง ข้อกล่าวหาใน ๓๐ วัน แต่เวลาขอทบทวนมานี่ครับ บางทีเราขยายให้ไป ๒-๓ ครั้ง ๓ เดือน ๔ เดือน แล้วก็ให้ ถ้าเกิดว่าเขายังมีประเด็นที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะฉะนั้น ก็จะมีเรื่องความล่าช้า แล้วก็ขอยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ล่าใครทั้งสิ้น เพราะถ้าเราทำอย่างนั้น วันหนึ่งก็จะย้อนกลับมาที่เราเอง เรามีหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อเรื่องกล่าวหามาถึงเรา เราก็ต้องทำ ยืนยันครับ เราน้อมรับ ไม่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรเราก็น้อมรับนะครับ เพราะฉะนั้นยืนยันว่าในทุกเรื่องที่ท่านณัฏฐ์ชนนพูดเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ จะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ครับ แล้วก็จะให้โอกาสในการชี้แจง และเมื่อถึงเวลาแล้ว คำวินิจฉัยนั้นก็จะต้องตอบได้ว่า ทำไม ป.ป.ช. ชี้อย่างไร หรือไม่ชี้อย่างไรนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านที่ ๓ ท่านปิยรัฐ จงเทพ เรื่องมาตรการการปกปิดข้อมูล ยืนยันครับ เราเพิ่มค่านิยมองค์กรจากซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ เป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่อย่างไร ก็ตามเราก็ต้องยอมรับว่าในกระบวนการไต่สวนคดีอาญามันเป็นเรื่องที่กระทบสิทธินะครับ มันกระทบสิทธิ ผมเห็นด้วยว่าแค่ถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบก็เดือดร้อนแล้ว แม้วันนี้ถ้าถูก ป.ป.ช. ไต่สวนก็จะเดือดร้อนไปถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่เขาจะพึงมีพึงได้ ไม่ว่าเป็นเรื่อง ของความภาคภูมิใจในการรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพราะฉะนั้นยิ่งมันไปผูก เข้ากับตรงนี้ยิ่งทำให้คน ป.ป.ช. นั้น ต้องตระหนักว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมนะครับ แต่ความล่าช้านี้เป็นสิ่งที่เราน้อมรับนะครับ เราน้อมรับ เรามีเรื่องล่าช้า ผมยอมรับว่า เราพยายามทำงานหนักมากเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้า มันก็ยังล่าช้าอยู่ เอาเป็นว่า ยกตัวอย่างง่าย ๆ ปีหนึ่งเราไต่สวนเสร็จ อย่างปีที่แล้วเราไต่สวนเสร็จสิ้นปี ๒๕๖๕ ๖๔๑ เรื่อง แต่เรื่องที่เราตั้งใหม่ ๑,๔๒๖ เรื่อง ถ้าทำธุรกิจก็ขาดทุนแล้วครับ งานเข้างานออก มันไม่สมดุลกัน เรื่องตรวจรับคำกล่าวหาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ว่ารัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ป.ป.ช. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ป.ป.ช. เป็นหน่วยตรวจรับ คำกล่าวหา เป็นหน่วยเดียวที่ตรวจรับคำกล่าวหา และกฎหมายบัญญัติว่าถ้าเป็นเรื่องร้ายแรง ให้ ป.ป.ช. ทำ ถ้าไม่ร้ายแรงก็สามารถมอบให้หน่วยอื่นได้ ซึ่งเดี๋ยวจะโยงไปถึงเรื่องที่ ท่าน สส. ได้ถามผมในประเด็นเรื่องความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วย เราเรียนท่านเลยว่า นโยบาย ป.ป.ช. ตอนนี้อย่างที่ผมต้องกราบเรียนท่านตอนต้น คือ ป้องนำปราบ ถ้าเราไม่ป้อง เราจะคิดว่าเราเป็นมือปราบเราจะไม่มีวันสำเร็จ วันนี้เราเอาป้องนำปราบ เพราะฉะนั้น ในเรื่องโครงการต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงเรื่องการทุจริตศึกษา การนำหลักธรรมคำสอน ในพุทธศาสนามาใช้ไปเผยแพร่ต่อเด็กและเยาวชนเพื่อปลุกและปลูกจิตสำนึกของคนให้มี วัฒนธรรมในการสุจริต ให้มีวัฒนธรรมในการที่จะต้านทุจริตต่าง ๆ มันก็เป็นองค์ประกอบ ที่เราจะพยายามทำเรื่องป้อง ตอนนี้เรามอบนโยบายไปว่าต่อไปนี้เรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งไม่มีอยู่ในกฎหมายนะครับ ไม่มีอยู่ในกฎหมายว่าต้องใช้เวลาเท่าไร มีอยู่ในกฎหมาย มาตรา ๔๘ ในเรื่องของการไต่สวน ซึ่งมีท่าน สส. ได้ถามถึงว่ามันมีกำหนดระยะเวลาไว้ไหม มันมีอยู่ในมาตรา ๔๘ และขอกราบเรียนเลยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษ ทางอาญา กำหนดกรอบระยะเวลา ฉบับแรกมีกรอบพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลา ในกระบวนการยุติธรรมอีก และกำหนดไว้เลยว่าการไต่สวนของ ป.ป.ช. นั้นให้ไม่เกิน ๒ ปี ถ้าจะขยายก็ได้อีก ๑ ปี ถ้าเกินกว่านั้นก็ให้ผู้บังคับบัญชาคือท่านเลขาธิการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นไปตรวจสอบดูว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของเราได้ละเว้นละเลย หรือเปล่า ถ้าละเว้นละเลยก็ให้ดำเนินการทางวินัย แต่ขณะเดียวกันกฎหมายก็ไม่ได้บอกว่า ถ้าเกินระยะเวลาแล้วยังไต่สวนไม่ได้ เพราะกฎหมายก็ตระหนักดี ผู้ร่างกฎหมายก็ตระหนัก ดีว่าคดีทุจริตไม่ใช่คดีที่มันจะสามารถทำได้ง่าย ผู้ทุจริตคือผู้ที่มีอำนาจ คนที่ใหญ่ที่สุด ในองค์กร คนที่คนอื่นต้องเกรงกลัวแม้กระทั่งไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องกลัวผู้มีอำนาจ คนที่เป็นผู้นำในทุก ๆ ระบบ ในทุก ๆ ระดับของการบริหารราชการแผ่นดิน คือคนที่อาจจะ มีส่วนในการทุจริต เพราะฉะนั้นกระบวนการมันก็เลยค่อนข้างยาก สมัยผมมาใหม่ ๆ เมื่อปี ๒๕๕๙ ป.ป.ช. เพิ่งเป็นปีแรกที่ได้พนักงานไต่สวนเพิ่มขึ้นมา ๓๐๐-๔๐๐ คน เพราะรัฐบาลให้มา แต่ก่อนเรามีคนน้อยมากครับ วันนี้เราใช้เวลาจนถึงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ เด็กที่รับใหม่เริ่มมีประสบการณ์ที่จะไปไต่สวนได้แล้วครับ วันนี้เราได้กำหนดนโยบาย ว่าตรวจสอบให้ ๑ ปี ไต่สวนก็อยู่ในกรอบระยะเวลา ถ้าไม่ใช่เรื่องระหว่างประเทศนี่มันก็อยู่ ในกรอบระยะเวลา พยายามเอาตรงนี้มาเป็นตัวชี้วัด กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน

    อ่านในการประชุม

  • ด้วยจุดนี้ละครับ เรามีจุดอ่อน พนักงานไต่สวนของเราวันนี้มีประมาณ ๘๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรีประมาณ ๖๐-๖๕ เปอร์เซ็นต์ จังหวัดหนึ่งเรามี ๓ คนเองครับ เวลาจะไปไต่สวนในพื้นที่ลงพื้นที่ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะคนที่เราจะไปไต่สวน ไปสอบปากคำนี้ยาก ก็เป็นที่มาของการที่ไปเจรจากับสำนักงบประมาณ ผมต้อง ขอความกรุณาท่านสมาชิกสภาแห่งนี้ว่าในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี ๒๕๖๗ นี้นะครับ เขาได้เสนอมาว่าจะให้ ป.ป.ช. ได้เจ้าหน้าที่สืบสวน ๑๘๓ อัตรา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า รัฐบาลได้ตั้งขึ้นแล้วได้มีการเสนอร่างกฎหมายมา ผมขอความอนุเคราะห์ท่าน สส. ได้ช่วย ผ่านกฎหมายตรงนี้เพื่อให้ ป.ป.ช. ได้เจ้าพนักงานสืบสวน ๑๘๓ คน ๑๘๓ คนนี่จะไปอยู่ตาม จังหวัดต่าง ๆ จังหวัดละ ๓ คนครับ เขาจะไป Support พนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หญิง เขาจะไป Support เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งก็เป็นผู้หญิงยิ่งมาก ยิ่งขึ้นใหญ่แล้วเป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิงในการลงพื้นที่เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ในการทำงาน ถ้าเราตรวจสอบ ๑ ปี แล้วที่ผมบอกตรวจสอบแล้ว ๒๐ เปอร์เซ็นต์ มีมูลไต่สวนต่อไป ถ้าไม่มีมูล ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ตกไป คนที่เขาไม่มีพยานหลักฐานเขาจะได้ เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นวันนี้เราชัดเจนในเรื่องทิศทางการทำงาน แล้วป้องนำปราบครับ สมัยตอนผมมาใหม่ ๆ ป.ป.ท. คืออันดับหนึ่ง แต่วันนี้เราทำเร็วขึ้นนะครับ เราทำ ๒ Track ของเก่าก็ต้องทำไป ของใหม่ถ้าเป็นคดีสำคัญ เป็นคดีที่ประชาชนสนใจเรารีบทำ แล้วเรา แถลงผล เราไปศาล เราติดตาม เรายื่นไปให้อัยการสูงสุด ถ้าท่านอัยการสูงสุดตั้งข้อ ไม่สมบูรณ์เราก็รีบตั้งเจ้าหน้าที่ของเราไปประกบเพื่อจะดำเนินการให้สมบูรณ์ แต่ยังหา ข้อตกลงไม่ได้ ป.ป.ช. ก็ฟ้องเองครับ แล้วเรียนว่าเรื่องที่ ป.ป.ช. ฟ้องเองวันนี้เราเก็บสถิติ หมดนะครับ ความจริงเรื่องที่ ป.ป.ช. ฟ้องเองเราน่าจะชนะแค่สักไม่เกิน ๑ ใน ๔ เพราะว่า มันผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยที่มีประสบการณ์ทางกฎหมายมาแล้ว เขาบอกไม่มีมูล พอที่จะฟ้อง แต่เราไปฟ้องเองวันนี้เรื่องที่ ป.ป.ช. ฟ้องเอง ศาลลงโทษตามเรามากกว่า ๗๒ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อมั่นในสิ่งที่เราไต่สวนเพราะว่าเราดำเนินการ ด้วยความรอบคอบ เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนการความล่าช้า หรืออะไรต่าง ๆ ทีนี้ท่านปิยรัฐพูดเรื่องการปกปิดข้อมูล จริง ๆ เราอยากโปร่งใส แต่มาตรา ๓๖ มันอยู่ใน กฎหมายด้วย มันอยู่ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๓๖ ของเรานี้ครับ จะระบุว่า เมื่อเราวินิจฉัยแล้วนี้ให้เปิดเผย แต่สิ่งที่สำคัญคือว่าเราไม่สามารถจะเปิดเผยรายละเอียด ของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส พยาน หรือกระทำการอันใดจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ บุคคลดังกล่าว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญ ทีนี้ที่ท่านสมาชิกบอกว่าการเปิดเผยนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามมันจะเป็นอันตรายครับ มันจะเป็นอันตรายต่อพยาน ของเรา มีพยานของเราหลายรายเขาทราบว่าใครมากล่าวหาเขา เขาไปฟ้อง เขาทราบ เขาไปฟ้องนะครับ เขาอาจจะฟ้องในเรื่องของไปเปิดเผยข้อมูลเขาหมิ่นประมาทนะครับ ซึ่งดูเหมือนเป็นโทษไม่ร้ายแรง แต่คนที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท แล้วก็ไปฟ้องทางแพ่ง เรียกค่าชดเชยเสียหายแพง ๆ เขาก็หวั่นไหว วันนี้เราก็เลยร่างกฎหมายที่เขาเรียกว่า Anti-SLAPP Law หรือฟ้องปิดปากครับ ถ้าใครมาเป็นพยานเรา แล้วถูกผู้ถูกกล่าวหา ไปฟ้องแล้วเกี่ยวโยงกับการมาเป็นพยานเรา ป.ป.ช. จะเข้าไปดูแล จะเข้าไปดูแลในเรื่อง การสู้คดีกับเขาโดยใช้เงินของรัฐ เขาเรียกว่า Anti-SLAPP Law หรือการฟ้องปิดปาก นี่ทำไม เราถึงต้องมีกฎหมาย Anti-SLAPP Law ซึ่งเป็นกฎหมายที่ในประเทศอื่นเขาก็ใช้ เพราะเขา จะไม่เปิดเผยพยาน ขออนุญาตที่ท่านพูดชื่อเขาไปท่านวีระ สมความคิด ที่เอาไปฟ้อง ศาลสูงสุดให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลในเรื่องคดี ๆ หนึ่งซึ่งเราตัดสินเสร็จแล้ว เราไม่ได้ ขัดข้องเลยในการที่จะเปิดเผยตามกฎหมายมาตรา ๓๖ กฎหมายมาตรา ๓๖ ให้เปิดเผย แต่ขอให้ปิดชื่อพยานบุคคลที่ผมได้อ่านให้ท่านฟังนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่สิ่งหนึ่งที่คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่กำหนดมาในข้อ ๒ ให้เปิดเผยความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เสนอความเห็น ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าท่านลองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่คนนั้นซึ่งเสนอความเห็นว่านาย ก ควรจะถูกชี้มูล ร่ำรวยด้วยเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอาจจะไม่กล้ามาข่มขู่ พลตำรวจเอก วัชรพล ประธาน ป.ป.ช. เพราะมันแก่แล้ว แล้วก็อาจจะอยู่ในราชการมายาวนาน แต่ถ้าเป็น นางสาว ก ซึ่งเป็นพนักงานไต่สวน ระดับต้น ระดับกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน เสนอความเห็นนี้ แล้วเขาขอไปดูได้ว่าให้ความเห็นอย่างไร คดีนี้มันอาจจะสิ้นสุดแล้วนะครับ แต่ถ้าคดีนี้ถูกยืน ถูกศาลวินิจฉัยไว้แล้วให้เปิดได้ ต่อไปเขาจะไม่ขอเมื่อคดีสิ้นสุดครับ เขาจะอ้างว่าเป็นสิทธิที่เขาจะรับรู้ เขาจะไปขอในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการ แล้วต่อไปจะมีเจ้าพนักงานของ ป.ป.ช. คนไหนกล้ามีความเห็นในทางที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อผู้ถูกกล่าวหาล่ะครับ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับประทานพลังอะไรมาจากไหน ในการที่ไปคัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เราก็กลัวครับ แต่เพราะว่า สิ่งที่คำวินิจฉัยนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่าคลาดเคลื่อนยังไม่ครบถ้วน ก็ทำให้ เราจะต้องขอให้ศาลได้พิจารณาใหม่ในประเด็นเหล่านี้นะครับ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่ให้ ความร่วมมือ ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส ยิ่งโปร่งใสเท่าไรยิ่งดี แต่ว่าเราต้องคุ้มครองคนที่เป็น พยาน เขาให้ถือเป็นความลับ ผู้กล่าวหาให้ปิดชื่อ ให้ถือเป็นความลับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปเปิดเผยมีความผิดต้องโทษ เพราะฉะนั้นยืนยันนะครับ ต้องขอบคุณที่ถามทำให้ผมมี โอกาสตอบในสภาเพราะว่าผมให้ท่านเลขาธิการที่เป็นโฆษกนี่พูดต่อสื่อมวลชนไปจำนวน หลายครั้งแล้ว แต่ก็เหมือนกับว่าเสียงคนที่ต้องการอยากจะสื่อเรื่องนี้มันดังกว่าเสียงคำชี้แจง ผมก็ถือโอกาสชี้แจงว่าเราพร้อมปฏิบัติครับ แต่อะไรถ้ามันจะกระทบ แล้วก็ปกติความเห็น ของหน่วยงานภายในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารเขาก็คุ้มครอง ทั้งนั้นนะครับ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เลยขอให้ศาลได้วินิจฉัยกรณีนี้ให้ชัดเจนเพราะมัน จะเป็นบรรทัดฐานนะครับ เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ป.ป.ช. กลัวอะไร ป.ป.ช. กลัวว่าลูกน้อง จะไม่กล้าทำงานให้ครับ อีกหน่อยจะไม่มีใครกล้ามาเป็น ป.ป.ช. ครับ เพราะเขาจะถูกข่มขู่ แล้วเขาก็จะถูกฟ้อง เหมือนเรามีพยานของเราซึ่งเป็นเจ้าพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง เราดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องทุจริตอยู่เรื่องหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องร่ำรวย เจ้าพนักงานธนาคาร แห่งหนึ่งเขาก็มาให้ข้อมูลกับเรา เขาถูกฟ้องครับวันนี้ เขาถูกฟ้องแต่เรายังไม่มีกฎหมาย Anti-SLAPP Law เลยนะครับ แต่ถ้าเรามีเมื่อไรเราจะกระโดดเข้าไปปกป้องเขา แล้วก็ ช่วยเหลือเขาในทางคดีนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ จากชัยภูมิ ท่านพูดเรื่องค้างสะสม ผมได้กล่าวแล้ว ผมยอมรับว่ามันล่าช้า ส่วนเรื่อง อปท. ผมคิดว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะน้อยลง เพราะว่า เราเห็นว่าถ้าเราทำได้รวดเร็วเมื่อไรมันก็สามารถที่จะเป็นการป้องปราม เราเอาป้องนำปราบ ผมจะยกตัวอย่างว่านโยบาย เมื่อสักครู่มีท่าน สส. บางท่านได้พูดถึงเรื่องคดีขุดลอก ซึ่งเกิดเมื่อปี ๒๕๕๘ เรื่องส่งมาที่เรา บางทีมาจาก สตง. สตง. เข้าไปตรวจ มันไม่ได้ไปตรวจ ตอนปี ๒๕๕๘ แต่อาจจะไปตรวจปี ๒๕๕๙ ปี ๒๕๖๐ กว่าจะสรุปส่งมาที่ ป.ป.ช. ปี ๒๕๖๒ ป.ป.ช. ก็มาช้า มาตั้งไต่สวนปี ๒๕๖๓ อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าปี ๒๕๕๘ กับปี ๒๕๖๓ มันต่าง กันมา ๕ ปี เพราะฉะนั้นเรื่องขุดลอกพยานหลักฐานที่สำคัญ คืออะไรครับ ดินที่ขุดมาครับ ดินที่ขุดมาไปทิ้งที่ไหน เอาไปวางไว้ริมตลิ่งมันละลายหายไปแล้วมันตรวจสอบก็ยาก เพราะฉะนั้นนโยบายของ ป.ป.ช. วันนี้เราป้องปรามหมดแล้ว ขุดลอกวันนี้นโยบาย ป.ป.ช. บอกเลยว่าปีนี้เราประกาศไปสั่งเป็นทางการแล้วว่า ถ้ามีขุดลอกที่ไหน ป.ป.ช. มีทุกจังหวัด แล้วให้เข้าไปดู ให้เข้าไปดูเลย แล้วไปแนะนำกับเขาขอให้ทำให้ถูกต้องเสีย ถ้าไม่ถูกต้อง เราก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบไต่สวนต่อไป แล้วจะทำเร็ว ผมเชื่อว่าตรงนี้จะเป็น มาตรการการป้องปราม แล้ววันนี้เราได้พูดกับ สตง. แล้ว สตง. ซึ่งมาชี้แจงก่อนผม ๒ คณะนี้ ได้ชี้แจงไว้แล้ว สตง. มีหน้าที่ตรวจการใช้จ่ายเงิน วันนี้เราอาจจะคุยกับ สตง. เราจับมือกัน จับมือด้วยกันเลยไปด้วยกันถ้ามันมีกรณีอย่างนี้เราไปด้วยกัน แล้ว สตง. ก็เขาเป็น Expert ในเรื่องการดูเรื่องการใช้จ่ายเงิน แต่ถ้ามันมีเงื่อนไขทุจริตมันมาที่เรา เพราะฉะนั้นวันนี้ ถ้า สตง. แจ้งมาที่เราว่ามีส่อว่าทุจริตในการใช้จ่ายเงิน เราตั้งไต่สวนทันทีเลยครับ เราจะ ไม่มาตรวจสอบแล้ว เราจะตั้งไต่สวนทันที แล้วไต่สวนอย่างเร็ว เพราะถ้าไต่สวนเร็วเท่าไร พยานหลักฐานมันจะครบถ้วน เราเชื่อว่ากระบวนการตรงนี้มันจะรวดเร็ว เช่นเดียวกันอีก ตัวอย่างที่ผมจะเรียนท่านเราเคยมีคดีที่ท่านอาจจะได้ยินท่านผู้แทนที่มาจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คดีเขาเรียกว่าภัยพืช คดีภัยพืชมันไม่ได้เกิดภัยพืชจริง มันเป็นภัยที่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติของพืชที่ปลูกตามฤดูกาล แต่มีการอุปโลกน์มาว่าเป็นภัยพืชเพื่อจะใช้ เงินทดรองราชการไปซื้อน้ำยาเคมี มันทำที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จังหวัดใหญ่นะครับ จากจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานทำไปทั่วเกือบทุกจังหวัดในภาคอีสาน แต่ ป.ป.ช. ไปไต่สวน กว่าจะเข้ากระบวนการวันนี้มันเกือบ ๑๐ ปีแล้ว พยานหลักฐานต่าง ๆ อะไร แต่อย่างไร ก็ตามเราก็ส่งสำนวนไปให้อัยการหลายสำนวนแล้วครับ แล้วก็ชี้มูลอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อะไรต่าง ๆ ไปจำนวนมากเลย แม้กระทั่งคดี Futsal ซึ่งเราก็กำลังทำอยู่แล้วก็ชี้มูลอยู่ แต่วันนี้นโยบาย ป.ป.ช. ก็คือว่าไม่ต้องรอ สตง. ส่งมา ถ้าจังหวัดไหนประกาศภัยพิบัติ ให้เจ้าพนักงานป้องกันของ ป.ป.ช. ลงไปดูเลยว่าประกาศภัยชอบหรือเปล่า ถ้าประกาศภัย ชอบก็ไปดูว่ากระบวนการจัดหาการแก้ไขภัยพิบัตินั้นมันชอบหรือเปล่า ป้องปรามครับ แล้วตรงนี้มันเป็นประโยชน์ตรงที่ว่าเขาจะระงับยับยั้งไม่กล้ากระทำผิด อะไรที่เป็นของหวาน มันก็จะไม่เป็นของหวานอีกต่อไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ ฉะนั้นถ้าให้คนผม มากขึ้นผมก็สามารถจะไปป้องปรามมากขึ้น แต่ไม่ได้เอาไปปราบปรามนะครับ ลงพื้นที่ คราวนี้เหมือนกับท่านพูดเรื่องว่า STRONG มีประโยชน์หรือเปล่า STRONG นี่คือ พี่น้องประชาชนที่เราได้ทำขึ้นตามมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๓๓ ของกฎหมาย ป.ป.ช. การมีส่วนร่วมของประชาชน เรา Create เราขอความร่วมมือเขามาเป็นกลุ่ม STRONG เราก็จิตพอเพียง จิตพอเพียง จิตพอเพียง STRONG นี่คือ Watch & Voice ในพื้นที่ ถ้าเขาเห็นมีปัญหาอะไรเขาส่งข้อมูลมาให้เรา เราจะได้ลงพื้นที่ไปเข้าระงับ เหตุการณ์ได้รวดเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น STRONG ก็มีประโยชน์ แต่เราก็ระวัง เราไม่อยากให้ STRONG เป็นกลุ่มที่กลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล หรือไป Abuse อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมันมีทั้งดี และอาจจะมีทั้งจุดด้อยเพราะฉะนั้นต้องระวัง เพราะฉะนั้น STRONG มีประโยชน์ แล้วเราเองก็ไม่ได้ตั้ง STRONG มากมาย เราพยายามจำกัดจำนวน STRONG เพื่อให้เราสามารถจะควบคุมได้ อันนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเร่งรัด ก็เรียนว่านโยบายชัดเจนครับ ต่อไปนี้ตรวจสอบ ๑ ปี เป้าหมายเลยครับ ถ้าทำได้ปี ๒๕๖๗ เราตั้งเป้าว่าต่อไปตรวจสอบ ๑ ปี ถ้าคุณตรวจสอบไม่ได้ ๑ ปี ก็ต้องชี้แจงว่าทำไม แล้วถ้าเราได้พนักงานสืบสวนมา ทุกจังหวัดเขาจะลงพื้นที่ แต่ก่อนเขาไม่ลงเขาก็ขอเอกสาร เขาก็ขอเอกสาร รอเอกสารมา เตือนครั้งที่ ๑ เตือนครั้งที่ ๒ ต่อไปนี้มีนโยบายชัดเจนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ท่านก็พูดเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เรื่อง File Digital อะไรนี้ เดี๋ยวเราจะไปดูสิว่ามันจะเป็นประเด็นที่จะทำอย่างไร ผมไม่ขัดข้องนะครับ เพราะว่า วันนี้บัญชีทรัพย์สินสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องเปิดเผย เราก็จะเปิดเผยติดไว้ที่ ห้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ๓๐ วัน หลังจากนั้นเราจะขึ้น Website ให้ ๑๘๐ วัน ทำไม เร็วขึ้นแค่ ๑๘๐ วัน เพราะว่าในการเสนอกฎหมายก็มีกรรมาธิการบอกว่ามันอาจจะไป ละเมิดสิทธิ เพราะว่าคนมีทั้งดีและไม่ดี คนจะเข้ามาตรวจสอบไม่ใช่คนดีเสมอไป บางที จะไปใช้ไม่ถูกต้อง ทำไมเราต้องปิดบางเรื่อง ก็เพราะว่าถ้าบอกหมด เลขประจำตัวประชาชน โฉนดที่ดิน เดี๋ยวอาจจะเป็นผลร้ายกับคนบริสุทธิ์อีกมากมาย เพราะฉะนั้นเราก็พยายามที่จะ คุ้มครองคนดีด้วย คนที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วย ส่วนคนที่จะตรวจสอบ นั่นคือสิ่งที่เป็นไปตาม กฎหมายเขาถึงให้ไปเปิดเผยนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องของการ Balance กัน ความสมดุล ระหว่างการทำงานในมิติผู้ถูกตรวจสอบกับผู้ที่จะไปตรวจสอบ ซึ่งมันจะต้องคำนึงถึงสิทธิ ของทุก ๆ คน ทุก ๆ ภาคส่วนด้วยกัน แล้วผมก็ยืนยันทุกอย่างเราพยายาม สมัยก่อน เราให้ยื่นบัญชีภายใน ๓๐ วัน กฎหมายใหม่เราให้ ๖๐ วัน ๖๐ วันไม่เสร็จ ท่านเลขาธิการ ขยายได้อีก ๓๐ วัน เราพยายามสนับสนุนให้ทุกคนได้ยื่นบัญชีอย่างถูกต้อง แล้วอีกไม่นาน เราประกาศแล้วว่าในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ คนที่ยื่นบัญชีตามมาตรา ๑๐๒ ยกเว้น (๙) (๙) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเขาอาจจะไม่มีองค์ความรู้ที่จะยื่นบัญชีทาง อิเล็กทรอนิกส์ จะต้องยื่นวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้มีคำถามอยู่ท่านหนึ่งถามว่า ป.ป.ช. ยื่นหรือเปล่า ป.ป.ช. ยื่นครับ ป.ป.ช. ยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน ยื่นมานานแล้ว ที่ท่านวิทยา ได้กรุณาถาม เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ยื่นตามมาตรา ๑๕๘ คนที่ยื่น คือพนักงานไต่สวนทุกคนครับ ไม่ว่าจะเป็นต้น กลาง สูง เชี่ยวชาญ พนักงานตรวจสอบทรัพย์สินทุกคน ต้น กลาง สูง แล้วคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ สำหรับกลุ่มนี้ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ตรวจสอบเองครับ เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เราใช้ยื่นอิเล็กทรอนิกส์ด้วย แล้วเราก็ตรวจสอบ แล้วให้แก้ไข ให้ชี้แจง เหมือนกับที่เราตรวจสอบคนอื่นเช่นกัน อันนี้ยืนยัน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกเรื่องคือมาตรา ๑๓๐ ที่มีการพูดถึง ถ้าท่านดูกฎหมายมาตรา ๑๓๐ นี้กำหนดไว้ว่าให้ไปออกพระราชกฤษฎีกา นโยบายคือให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนยื่นบัญชี ทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชา ป.ป.ช. ก็มาวิเคราะห์ เราเชิญ ก ทุก ก มาหารือว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่จะตามมา ก็คือรัฐจะต้องลงทุนจ้างบุคลากรเพิ่ม จัดหาที่จัดเก็บ กฎหมายบอกว่า แล้วคนที่ขอดูได้คือ ป.ป.ช. แต่ถ้ากระบวนการในการจัดเก็บเป็น Paper อย่างที่ท่านว่า ๕ ปีครั้ง หรืออะไรตั้งแต่มันจะเป็นปัญหามากเลย เสียเงินเข้าไปเยอะ แล้วพอถึงเรา ก็ตรวจสอบไม่ได้ครับ วันนี้เราก็เลยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๓๐ หลังจาก ที่เราหารือกับทุกส่วนราชการ ทุก ก แล้ว เราเสนอแก้มาตรา ๑๓๐ ก็ยังยื่นอยู่นะครับ แต่ให้ ป.ป.ช. นี่ประกาศนะครับ ประกาศความพร้อมแล้วค่อย ๆ ไล่ไป เป้าหมายคือ ทุกตำแหน่งอาจจะต้องยื่น แต่ให้ยื่นเป็น Digital และยื่นวิ่งมาที่ ป.ป.ช. เลยครับ มาถังข้อมูล ป.ป.ช. เพราะถ้า ป.ป.ช. จะใช้เมื่อไร ยื่นตามแบบ Form ที่ ป.ป.ช. กำหนด เพราะฉะนั้น ถ้า ป.ป.ช. จะตรวจสอบในกรณีมีเรื่องกล่าวหาก็จะใช้ประโยชน์ได้ วันนี้ก็ต้องกราบ ขอความกรุณาท่าน ถ้ากฎหมายนี้มาผ่านสภาท่าน ช่วยกรุณาสนับสนุน เพราะว่าถ้ายังให้คง มาตรา ๑๓๐ ไปตรงนี้เราจะเสียเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ได้ขยะมาเพิ่มขึ้น วันนี้ เราต้องการทำให้มันคุ้มค่าในเรื่องของมาตรา ๑๓๐ เพราะฉะนั้นในอนาคตทุกคนต้อง แจ้งบัญชีครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่มีคำถามอีกอันหนึ่งนะครับ แต่จำได้ว่าท่านบอกเราไปประกาศ มาตรา ๑๐๓ ใช่ มาตรา ๑๐๒ มันกำหนดโดยกฎหมายว่าใครมีหน้าที่ยื่นบัญชีบ้าง แต่มาตรา ๑๐๓ ก็ให้ดุลยพินิจกับ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. จะใช้อำนาจตามมาตรา ๑๐๓ เราต้องมีการศึกษาว่า ตำแหน่งไหนที่มีความเสี่ยงในการที่จะกลายเป็นไปเรียกรับทรัพย์สิน ได้ง่าย เพราะฉะนั้นตำรวจซึ่งเป็นอาชีพเก่าของผมก็จะโดนแจ้งมากขึ้น กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร หน่วยงานเหล่านี้ก็จะเป็นหน่วยงานที่อาจจะถูกยื่น มาตรา ๑๐๓ และถูกบังคับให้ยื่นบัญชีตามมาตรา ๑๓๐ ที่จะแก้ใหม่นี่มากยิ่งขึ้น ตรงไหน มีความเสี่ยงครับ แต่ว่าไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ประกาศครับ ต้องมีการ Study เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เราเลือกปฏิบัติ ไปกลั่นแกล้งตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้เพราะมันเป็นภาระนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประการหนึ่งที่อยากกราบเรียน สมัยก่อนนั้นยอมรับว่าการตรวจสอบ บัญชีทรัพย์สินนั้นใช้เวลานานมากเพราะเรามีคนน้อยมากเลยครับ วันนี้เรามีพนักงาน ตรวจสอบทรัพย์สินทั่วประเทศ ๓๐๐ กว่าคนเองครับ ทุกจังหวัดมี ๒ คน อย่างเก่งก็ ๓ คน ถ้าจังหวัดใหญ่เราอยากจะมีมากกว่านั้น วันนี้เราให้นโยบายแล้วครับ ตรวจสอบทรัพย์สิน ในอนาคตวันนี้จะช้ากว่า ๕ ปีไม่ได้ และเมื่อ Clear บัญชี ๕ ปีไปแล้ว Step ต่อไป คือจะต้องไม่เกิน ๓ ปี Step ต่อไป ก็คือตามระเบียบซึ่งเราออกมาเมื่อปี ๒๕๖๑ หลังกฎหมายออกครับ ตรวจสอบยืนยัน ตรวจสอบเชิงลึกมันจะต้องเสร็จครับ ถ้าไม่เสร็จ ก็ต้องมีเหตุผลว่าท่านผู้นั้นก็อาจจะเป็นคนที่มีที่ดินเป็นร้อยแปลง มีทรัพย์สิน เป็นหลายพันล้านบาท อะไรอย่างนี้ครับมันก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมเจ้าหน้าที่ ตอนนี้เราก็ พยายามให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักแล้วก็ Clear ผมมั่นใจว่าตรวจสอบทรัพย์สินจะเป็น เครื่องมือที่สำคัญที่ไม่ได้ใช้ในการไปจับผิดใคร แต่ใช้ในการป้องปราม อย่างที่ท่านได้กรุณา กล่าวว่าอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนยื่นเพื่อเป็นการป้องปราม และให้เขาได้ตระหนักรู้ ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าทรัพย์สินใดที่ได้มาโดยชอบ ท่านก็ไม่ต้องกลัว ป.ป.ช. เพราะท่านชี้แจงได้ แต่ถ้าท่านได้มาและท่านชี้แจงไม่ได้ ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการแล้วก็ กลไกตรงนี้มันยิ่งกว่ามาตรา ๙๘ เรื่องวินัยครับ เพราะว่าถ้า ป.ป.ช. ไต่สวนไปว่าร่ำรวย ถ้าชี้มูลแล้วนะครับ ผู้บังคับบัญชาต้องไล่ออกภายใน ๖๐ วันเลยครับ ต้องไล่ออกภายใน ๖๐ วัน ไม่ต้องทำอะไรเลยครับ วันนี้เราเพิ่งตั้งสำนักไต่สวนคดีร่ำรวยไปได้สัก ๒-๓ ปีครับ มันมี ๒ สำนักที่ตั้งใหม่ ก็คือสำนักร่ำรวยกับสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติที่ท่านพูดถึง คดีร่ำรวยปีนี้เราก็เร่งรัดในการตรวจสอบเชิงลึกให้มีมาตรฐาน แล้วก็ตั้งร่ำรวย ปีนี้ปีเดียวนี้ ที่เราได้สถิติมาซึ่งผมมีอยู่หมดเราชี้มูลไปแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยนะครับ แล้วก็ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติสามารถที่จะยื่นอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งริบตกเป็นของ แผ่นดินมากกว่าพันล้านบาท ผมเชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะมากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท มากกว่า งบประมาณแผ่นดินที่ ป.ป.ช. ได้ แต่เราไม่ไปเทียบกับกรมสรรพากร กรมศุลกากรเลย เพราะเขาเป็นหน่วยจัดเก็บภาษี ของเรากว่าจะไปเก็บเงินเหล่านี้ได้นี่เรียกว่ายากเย็นแสนเข็ญ จะต้องไปต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเขาเองเขาก็คงไม่ค่อยมีความสุขเท่าไรนะครับ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าบัญชีทรัพย์สินก็จะมีกระบวนการที่เร็วขึ้น ผมจะรับเรื่องที่ คุณพริษฐ์ได้เสนอว่าให้ไปใช้ในเรื่อง Digital File ที่จะไปทำรายได้

    อ่านในการประชุม

  • แต่อย่างไรก็ตามก็ยังยืนยันอยู่จุดเดิม มันมีข้อห่วงใยจากกรรมาธิการ การกฎหมายนี้ว่าเราต้องคำนึงถึงผู้ที่ถูกยื่นบัญชี ท่านเองในฐานะเป็น สส. ท่านก็ต้องยื่น บัญชีกับ ป.ป.ช. แต่ถ้าเราไม่ปิดอะไรของท่านเลยแล้ววันหนึ่งข้างหน้าคนที่เขาอยากไปดู บัญชีของท่าน แล้วเกิดบัญชีของท่านถูก Abuse วันนั้นท่านจะรู้สึกว่า ป.ป.ช. ทำถูกแล้ว ผมคิดว่าทุกอย่างมันมี ๒ ด้านเหมือนกัน เราต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในทุก ๆ ส่วน สิทธิอยากรู้ กับสิทธิที่จะคุ้มครองผู้ที่จะถูกรู้ผมว่ามันสำคัญเท่า ๆ กัน เรื่องของค่าฝึกอบรม ค่าเดินทาง ป.ป.ช. ตระหนักดี นยปส. เป็นหลักสูตรที่ว่าเหมือนกับหลักสูตรหลักของเรา เป็นหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงซึ่งเราก็เชิญทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ เชิญทั้งสมาชิกวุฒิสภาไปร่วมอบรมเพื่อจะได้เข้าใจบริบทของการทำงานของ ป.ป.ช. หลาย ๆ ท่านก็เป็นศิษย์เก่าเรา การไปศึกษาดูงานที่เราไปดูงานขณะนี้ที่จะให้ไป คือไปที่ เรียกว่า International Anti-Corruption Academy ครับ อยู่ประเทศออสเตรียครับ ให้เขาไปอบรมอยู่ที่นั่น ๓-๔ วัน เสร็จแล้วก็ในระหว่างทางอาจจะไปศึกษาดูงานในหน่วยงาน ที่เขามีมาตรฐานในเรื่องการโปร่งใสที่เราที่เขาเรียกว่าตอนนี้ ISO 37001 ในเรื่อง Anti-Corruption เพื่อจะมาเป็นบทเรียน แล้ววันนี้ผมเพิ่งได้รับหนังสือเชิญจากฮ่องกง ให้ไปประชุมเขากำลังจะตั้งฮ่องกง International Anti-Corruption Academy เราคิดว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้า นั่นคืออีกสถาบันหนึ่งที่เราอยากจะส่งคนไปอบรมเพื่อจะพัฒนา องค์ความรู้ของคนเราให้มีศักยภาพในการที่จะมาสืบสวนสอบสวนคดีทุจริตให้เก่งยิ่งขึ้น เราเองก็ได้รับความอนุเคราะห์จากสภาแห่งนี้กำลังทำอาคาร ๘ อาคาร ๙ ซึ่งเมื่อสักครู่ มีคำถามว่า ติดตั้ง CCTV เป็น ๑๐๐ จุด เดี๋ยวผมจะไปดูว่าเป็นไปตามแบบหรือเปล่า เพราะคนออกแบบนี่ คือกรมโยธาธิการและผังเมือง ป.ป.ช. ไม่ได้ออกแบบมันมาพร้อมแบบถ้ามันมี มีก็ต้องมีคำตอบว่าทำไมสถาปนิกของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะติด CCTV แต่ว่างาน ป.ป.ช. นั้นจำเป็นมากคนเข้าไปมาใน ปปช. เจ้าหน้าที่ของเราจะรับคน รับอะไรอย่างนี้ มันจะต้องถูกตรวจสอบครับ เพราะว่าเราก็เป็นห่วงมากเลยในเรื่องคนของเราในการวางตัว เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะรับไปว่าจริงหรือเปล่าว่า ๑๐๐ กว่าตัว แต่ถ้าจำเป็นก็อาจจะเป็นไปตาม TOR หรือเป็นแบบที่นั่น เพราะฉะนั้นเรื่องการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่คุณพริษฐ์ ได้พูดถึงศาสตราจารย์อารยะ โดยส่วนตัวผมกับกรรมการทุกคนยังคิดว่าเราจะได้กรรมการ ท่านอารยะซึ่งเก่งทางเศรษฐศาสตร์จะมามุมมองเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่อำนาจในการสรรหา ไม่ได้อยู่กับ ป.ป.ช. อำนาจในการจะให้ความเห็นชอบไม่ได้อยู่กับ ป.ป.ช. เราคือกองเชียร์ เราอยากได้ครับ วันนี้คนที่พ้นกรรมการไปแล้ว พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง พ้นไปกับ เราเกือบ ๒ ปีแล้วครับ สมาชิกวุฒิสภาเพิ่งให้ความเห็นชอบวันนี้กำลังอยู่ในกระบวนการ ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งถ้าได้แล้วก็ดีใจ เพราะวันนี้ผมเหลือกรรมการอยู่ ๖ คนครับ ในวันที่ ๑๓ กรรมการอีกท่านหนึ่งของผมท่านณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ท่านอายุครบ ๗๐ ปี ท่านต้องพ้นเลยครับ ผมจะเหลือกรรมการ ๕ คน กฎหมาย ป.ป.ช. บอกว่า ถ้ากรรมการ จะเป็นองค์ประชุมได้ต้องมี ๕ คน เพราะว่าองค์มีทั้งหมด ๙ คน วันนี้เราเหลือ ๖ คนครับ ป่วยไม่ได้ เจ็บไม่ได้ ลาไม่ได้ ถ้าลาเดี๋ยวองค์ประกอบไม่ได้ ๕ คน เราประชุมไม่ได้ ถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ประชุมไม่ได้ ก็คือเรื่องก็จะค้างหมดละครับ ที่ท่านบอกยิ่งช้าก็เพราะอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เลยครับ ไม่ว่าคุณสมบัติเราก็ไม่เห็นด้วย แล้วก็คิดว่าเราก็อยากจะแก้ไข เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสภาแห่งนี้น่าจะเป็นคนที่กำหนด สสร. และจะแก้รัฐธรรมนูญ มันอยู่ใน รัฐธรรมนูญเลยนะครับ คุณสมบัติที่ท่านพูดถึงมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญก็ไปลอกตามมา เพราะฉะนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญถึงจะได้องค์ประกอบ ที่ท่านอยากได้ ผมก็เชียร์ท่านนะครับเพราะผมอยากได้กรรมการมาช่วยผมทำงานนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านปรีติ เจริญศิลป์ จากนนทบุรี พูดถึงเรื่องความซ้ำซ้อน ความจริงแล้ว ไม่ใช่ท่านปรีติพูดนะครับ แม้กระทั่ง UNODC United Nations Office on Drugs and Crime ซึ่งเขาเป็นหน่วยที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การต่อต้านการทุจริต UNCAC United Nations Convention Against Corruption อันนี้ เขาก็บอกว่าเขาก็มาประเมินประเทศไทยเขาก็บอกประเทศไทยนี่มันมีหน่วยในการปราบ ทุจริตหลายหน่วยเหลือเกินทำให้กลายเป็นสับสน ตอนแรก ๆ มันก็ยังแยกกัน แต่พอ ปี ๒๕๖๑ แล้วกฎหมายบอกว่าให้ ป.ป.ช. เป็นคนที่ตรวจรับคำกล่าวหาเอง แล้วถ้าเรื่อง ไม่ร้ายแรงก็ให้มอบ ตอนนี้เราก็มอบได้ในกฎหมายคือให้มอบ ป.ป.ท. ตามมาตรา ๖๒ หรือถ้ามาจากตำรวจตามมาตรา ๖๑ และเห็นเรื่องไม่ร้ายแรงให้ส่งคืนตำรวจไปสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา หรือถ้าเป็นเรื่องกล่าวหามาที่เรา เราเห็นว่าไม่ร้ายแรง แต่เราคิดว่าเราให้ส่งตำรวจ ไปสอบสวนเราก็ส่งตามมาตรา ๖๓ นอกเหนือจากนั้นเราเห็นว่าผู้บังคับบัญชาเขาควรจะ เข้าไปตรวจสอบว่ามันมีกรณีหลีกเลี่ยง ละเลยผู้บังคับบัญชาไหม ซึ่งอาจจะมีความผิดทางวินัย นี่เราก็ส่งมาตรา ๖๔ ควบไปด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้ ป.ป.ช. ก็เลยตรวจรับคำกล่าวหาอย่างที่ ท่านบอกว่าปีหนึ่ง ๙,๐๐๐ กว่าเรื่อง แต่ ๙,๐๐๐ กว่าเรื่องนั้นเรารับไว้เองนี่ก็เป็นจำนวน อย่างปีที่แล้วเรารับตรวจสอบเพิ่มเติมรับใหม่ ปี ๒๕๖๕ ในเอกสารของผม ๕,๐๐๐ กว่าเรื่อง ปีนี้เรารับไปแล้ว ๔,๒๖๐ เรื่อง นี่คือเรื่องรับใหม่เรารับ แต่เรื่องที่เราส่งมาตรา ๖๒ ส่ง ป.ป.ท. วันนี้เราก็ทราบดีว่า ป.ป.ท. เองท่านก็งานเยอะมากค้างไม่ได้ด้อยกว่า ป.ป.ช. เลย คนก็น้อยกว่าเรา เราก็เลยส่ง ป.ป.ท. น้อยมาก ถ้าไปดูสถิติตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ มานี่เราส่ง ป.ป.ท. น้อยมาก และเราก็ได้รับการประสานจากทางหน่วยงานกลางรัฐบาลถึงประเด็น ที่ท่านได้ยกขึ้นมาถึงเรื่องความซ้ำซ้อน ป.ป.ช. พร้อม แต่ในเรื่องของ ๓ ป ของตำรวจ วันนี้ บางทีถ้าเราส่งพนักงานสอบสวนเขากล่าวหา เขาไปกล่าวหาพนักงานสอบสวนมีเรื่องทุจริต เกิดขึ้นในท้องที่เราส่งให้ตำรวจท้องที่ทำตามมาตรา ๖๑ มันอาจจะมีประเด็น เพราะว่าคนที่ เขากล่าวหา คือนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งอาจจะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่สอบสวนในท้องถิ่น เราก็เลยเห็นด้วยกับที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเขามีกองบังคับการอยู่กองบังคับการหนึ่ง คือกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่เรียกว่า ๓ ป อยู่ในกองบัญชาการ สอบสวนกลาง ซึ่งท่านจะเห็นว่า ป.ป.ช. ป.ป.ท. ๓ ป. นี่ไปจับสดมาไม่รู้กี่รายในช่วง ระยะหลังนี้นะครับ เราไปจับสดมาหลายราย เราพยายามจะส่ง ปปป. ๓ ป. เราพยายาม จะ Build เขาให้เขาเป็นหน่วยตำรวจที่มี Integrity มี Honesty และมีความพร้อม ในการทำงานเหมือนกับคนของ ป.ป.ช. เราได้เงินกองทุนมา ถ้าตำรวจทำคดีให้เราถ้าเขาไป เบิกเงินถ้าสอบสวนคดีอาญาเขาอาจจะได้ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ บาท ถ้ามาเบิกกับเราเราให้ ๔,๐๐๐ บาทเลยครับ เบิกวันนี้อีก ๓ ๔ วันรับเงินได้เลยครับ ไม่มีช้าข้ามปีครับ วันนี้ จริง ๆ ป.ป.ช. พร้อมนะครับ ถ้าหากเห็นว่าจะเกิดให้เกิดที่เรียกว่าเอกภาพในการทำงาน ผมคิดว่า ป.ป.ท. เราก็พร้อมรับ ถ้ารัฐบาลคิดว่ามันซ้ำซ้อนเราพร้อมรับคนมาทำงาน เพราะเรายังมีคนน้อยมากอยู่ในจังหวัดมันจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ซ้ำกันในเรื่องของ งานป้อง ไม่ซ้ำกันในเรื่องของงานปราบ วันนี้ ป.ป.ช. ได้ความอนุเคราะห์จากท่าน สร้างที่ทำการในทุกจังหวัด ป.ป.ท. ยังมีเขตอยู่แค่ ๙ เขต เขากำลังจะขยาย ถ้ายิ่งขยายไป ยิ่งซ้อนกันใหญ่เลย ต้องลงทุนอาคาร สถานที่ คน ก็ชัดเจน ส่วนหน่วยงาน ป.ป.ท. นั้น ผมว่ารัฐบาลก็สามารถจะไปทำในการตรวจสอบในประเด็นอื่น ๆ ได้ ผมไม่ขัดข้อง แล้ว ป.ป.ช. พร้อมรับถ้าจะให้มีเอกภาพในการทำงานเราจะได้รับผิดชอบได้เต็มที่ในทุก ๆ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของความซ้ำซ้อนเอกภาพบังคับบัญชา มาตรา ๖๖ มันมีอย่างนี้ครับ เมื่อเรามอบให้เขาทำตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔ แล้ว กฎหมายต้องการให้ ป.ป.ช. ไปติดตามว่าเขาดำเนินการไปอย่างไร ไม่อย่างนั้นมันก็จะหาย ไปเลย ก็เลยบอกมาตรา ๖๕ ให้เขารายงานเรา แต่ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการถ่วงดุล เพราะบางกรณีเราก็เห็นว่ามันมีมูลชัดเจน แต่ไปส่งพนักงานสอบสวนให้ทำ พนักงาน สอบสวนในกระบวนการที่เขาไปทำตาม ป.วิ.อาญา ไปสั่งไม่ฟ้องนะครับ เราก็แปลกใจว่า เรื่องนี้พยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน แต่เนื่องจากว่ามันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแล้วก็ให้ทำ มันมีคดียกตัวอย่างได้ในคดีเงินทอนวัดในพื้นที่ภาค ๙ เราเห็นว่าเรื่องนี้ตำรวจไปร่วมจับ กับเรานะครับ เราก็ให้ตำรวจเข้าไปทำ ตำรวจเขาก็ฟ้อง อัยการไม่ฟ้อง แต่ในที่สุดตอนหลัง เมื่อไปเข้าระบบตรวจสอบ ไม่ฟ้องนะครับ เรื่องรายงานมาที่เรา เราก็เห็นว่าพยานหลักฐาน ชัดเจน เขาก็เลยเขียนมาตรา ๖๖ ไว้ให้ ป.ป.ช. ใช้ในกรณีที่คิดว่าจะเกิดความไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นธรรมครับ เราใช้น้อยมากครับ เพราะถ้าใช้บ่อย ๆ มันจะเกิดความไม่ Smooth ในการทำงานในกระบวนการยุติธรรม เราใช้น้อยมากครับ แล้วคดีที่เราเรียกที่ผมยกตัวอย่าง ในคดีภาค ๙ นั้นเราเอามาชี้มูล เรามาไต่สวนใหม่ไม่ได้เสียไปนะครับ ชี้มูลยื่นฟ้องศาล ศาลลงโทษครับ ไปดูได้เลยครับศาลลงโทษ ยืนยันว่ามาตรา ๖๖ ไม่ได้เป็นการสร้างปัญหา เราจะพยายามใช้น้อยมาก เพราะว่าเราไม่อยากมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรม วันนี้ ทุกเรื่องที่ ป.ป.ช. ชี้มูลจะส่งอัยการสูงสุด เพื่อไปตรวจสอบกลไกว่าพยานหลักฐาน ครบถ้วนไหม ถ้าท่านเห็นไม่สมบูรณ์ท่านก็ตั้งข้อไม่สมบูรณ์มาภายใน ๙๐ วันนะครับ แล้วเราก็ จะรีบตั้งเขาบอกว่าถ้าอัยการสูงสุดตั้งข้อไม่สมบูรณ์ ตั้งกรรมการมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งไปประกบภายใน ๑๕ วัน เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. ก็ประชุมกัน ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่มเป็นวาระจร เพื่อจะตั้งตัวแทน ป.ป.ช. ไปประชุมร่วมกับผู้แทนของอัยการเขาไม่สมบูรณ์ เราก็มีสถิติ หมดนะครับ เรื่องเราส่งอัยการเป็นอย่างไร หาข้อยุติไม่ได้เราก็ฟ้องเอง เราก็มีสถิติหมด วันนี้เราติดตามทุกขั้นตอนนะครับ เพราะฉะนั้นยืนยันว่าเราก็รับผิดชอบแล้วจะไม่ใช้ มาตรา ๖๖ พร่ำเพรื่อ จะใช้ต่อเมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงธรรม ไม่อย่างนั้นเราจะเกิดปัญหา ในการบริหารงานนะครับ การเปิดเผยได้พูดไปแล้วที่ท่านปรีติพูดการเปิดเผยใน Website ในปิดประกาศ การชี้มูลนักการเมืองอะไรพวกนี้เราพยายามจะเปิดเผยนะครับ วันนี้เอง ผมว่าสื่อนี้เขาติดตามมากเลยครับ เขารวดเร็วมากเลย เรียกว่าพอประชุมปุ๊บเขาจะรวดเร็ว มากเลย เขาจะรายงานเลยครับ บางทีเร็วจนเกินเหตุจนต้องท้วงติงว่าทำไมมันเร็วอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อเราวินิจฉัยแล้วบางทีเพื่อความรอบคอบเราจะต้องมีการเรียกว่ารับรองมติ ระหว่างรับรองมติบางทีผู้ถูกกล่าวหาก็อาจจะยื่นขอความเป็นธรรมขึ้นได้อีก เมื่อยื่น ขอความเป็นธรรมขึ้นมาเราต้องพิจารณานะครับ ท่านไปดูกฎหมายมาตรา ๔๖ เราปฏิเสธ ไม่รับไม่ได้ เราต้องมาดูเรื่องที่เขาขอความเป็นธรรมมา เราต้องส่งให้แล้วไปดูว่าเรื่องที่เขาขอ ความเป็นธรรมเป็นพยานหลักฐานใหม่หรือเปล่า ซึ่งจะมีผลให้เราเปลี่ยนมติ ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการของเราเป็นกระบวนการที่ถูก Design มาว่า ต้องรอบคอบรัดกุม ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอะไรที่เป็นไปตามอำเภอใจได้เลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านต่อไปนะครับ ท่านธิษะณาขอประทานโทษนะครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องของ ITA คือ ITA กับ CPI จะต่างกันเยอะครับ ITA วัตถุประสงค์เราต้องการจะให้หน่วย ที่ทำหน้าที่ให้บริการต่อพี่น้องประชาชนได้ตระหนักและทำหน้าที่ให้บริการนะครับ เราก็เลย ทำ ITA มาเป็นเวลา ๑๑ ปีแล้วครับ ค่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ พัฒนาเรื่อย จากเดิมที่เราจ้างเขาทำ เราจ้างที่ปรึกษาไปทำ วันนี้เราดำเนินการเองผ่านระบบเป็นระบบเรียกว่า ITAS นะครับ ITAS ผ่านระบบแล้วเราก็ทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ป.ป.ท. สคร. วันนี้เราก็มี ป.ป.ท. สคร. อะไรพวกนี้นะครับ แล้วก็มีสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้ามาช่วยเราอย่างนี้เราก็ทำ แต่ว่ามันจะมีอยู่ ๓ เครื่องมือ การมีส่วนร่วมของภายในเรียก IIT Internal Integrity and Transparency External ก็คนที่มีส่วนได้เสีย เราก็พยายาม Design ตรงนี้ให้เป็นความเห็น ของคนที่มีส่วนได้เสียจริง ๆ ส่วนอันสุดท้ายคือ OIT ครับ OIT นี้เป็นเรื่องของการเปิดเผย ข้อมูล ความจริงถ้าเขาทำให้ครบถ้วนเขาก็จะได้คะแนนเต็ม OIT แต่ว่าเราก็ยังมีปัญหา OIT อย่างเรียนท่านตรง ๆ ว่าบางหน่วยที่มาสมัครใจตรวจ วันนี้ยังมีปัญหาเรื่อง OIT ซึ่งเราก็ต้อง ไปให้ความรู้เขาว่าข้อมูลขั้นต่ำอย่างไร ที่เขาควรจะต้องมีฐานข้อมูลให้พี่น้องประชาชนเข้ามา ตรวจสอบได้ ผมเชื่อว่าถ้าเรื่องของ ITA นี่คะแนนดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ความจริงตามเกณฑ์เดิม หน่วยที่จะต้องผ่าน ๘๕ เปอร์เซ็นต์ หมายถึงคะแนนเต็ม ๑๐๐ ต้องได้ ๘๕ จะถือว่าผ่าน ตอนนี้ปรากฏว่าสภาพัฒน์ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการแผนแม่บทไป ๘๕ นี้ครับ จะต้องได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เดิมทีนี้ในปีนี้ผ่าน ๘๕ แค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๔ เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าผ่าน ปีนี้เขายกขึ้นไปเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คะแนนมันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันจะไปเทียบกับเรื่องของ CPI ซึ่งเขาใช้ ๙ ดัชนีไม่ได้เลย เพราะว่า ๙ ดัชนีมันเกี่ยวข้อง กับเรื่องของการลงทุนนะครับ ไปถามผู้ที่เขามีส่วนเป็นดัชนีทางด้านเศรษฐกิจ อะไรต่าง ๆ จะมีในเรื่องของ Demographic ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลทางการเมืองการปกครองอะไร อยู่บ้างนะครับ เพราะฉะนั้นตัว CPI มันจะเกี่ยวกับดัชนี ๙ ตัว วันนี้ ป.ป.ช. ก็ร่วมกับ ป.ป.ท. เสนอรัฐบาลว่าในดัชนี ๙ ตัวเราควรจะให้หน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ เพราะ ป.ป.ช. เราเป็นหน่วยเล็ก ๆ เราเป็นหน่วยประสาน เราไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษหน่วยที่อยู่ในสังกัด ของรัฐบาล เราก็เสนอแนะไปว่าดัชนีตัวที่ ๑ คนไหนควรจะเป็นเจ้าภาพ แล้วก็คงจะต้องมี มาตรการอย่างไรในการที่จะทำตรงนี้ให้มันได้รับการยอมรับ แล้วคะแนน CPI มันก็จะขึ้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนช่วยกัน หรืออย่างที่ ISO 37001 ถ้าหน่วยงานใหญ่ ๆ ที่เขาทำเรื่อง เกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เขาพัฒนาตัวเองได้ ISO 37001 ก็จะทำให้บริษัท ใหญ่ ๆ ของเราอย่าง ปตท. ก็ดี Italthai ที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ สามารถจะไปแข่งขัน Bidding โครงการในนานาชาติได้ ถ้าเขาได้ ISO 37001 แต่ว่า ISO 37001 อาจจะเป็น ค่าใช้จ่ายที่เยอะ วันนี้เราก็อยากจะบอกรัฐบาลว่าถ้ารัฐบาลจริงใจ ค่าใช้จ่ายในการที่จะ ประเมิน ISO 37001 เขาควรจะหักภาษีได้หมดเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เราจะทำให้ บริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ ของเราวิ่งไปสู่การประเมิน ISO 37001 แต่ถ้าเขาได้ ISO 37001 ประเทศเราก็จะน่ามาลงทุน น่าที่จะยอมรับประเทศเราให้ไปแข่งขันในประเทศอื่น คะแนน CPI มันก็จะขึ้นเองครับ มันจะต้องร่วมมือกัน มันไม่ใช่ว่า ป.ป.ช. จะมีอำนาจในการไปขับเคลื่อน ๙ ดัชนี อย่างที่ท่านได้แยกแจกแจงออกมาว่าดัชนีแต่ละตัวนั่นมันเกี่ยวกับอะไรบ้างนะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง วันนี้เราพยายามปลุกและปลูก ทำไมถึงต้องบอกว่า เรื่องหลักสูตรต้านทุจริต เพราะเราต้องการจะปลูกฝังเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ให้ค่านิยมสุจริต ให้เขาไม่ทน ไม่ทำ ไม่เฉยในสังคมไทย ไม่ทน ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉยนะครับ เรื่องของ สร้างค่านิยมในเรื่องของนักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนประชาชนในการที่จะเห็น เรื่องการป้องกันปราบปรามทุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญ Tone from the top นะครับ ถ้าสภาแห่งนี้มี Tone from the top อย่างแท้จริงในเรื่องต้านทุจริต ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกแน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้น Guideline ต่าง ๆ มันก็มีนะครับ ข้อแนะนำในเรื่องเอกชนที่มาทำงาน ถ้าบริษัทใหญ่ ๆ มีความโปร่งใส ในเรื่องการป้องกันการทุจริต องค์กรทุกองค์กร กรมทุกกรม ผู้บังคับบัญชาเน้นในเรื่อง ป้องกันปราบปรามการทุจริต ผมว่าประเทศไทยเราจะดีที่สุดในโลกอยู่แล้วครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านปกรณ์วุฒิ ท่านพูดเรื่องรายงานนะครับ โดยเฉลี่ยเราก็อยากจะคิด อย่างที่ท่านว่านะครับ วันหนึ่งถ้าเรา Clear เรื่องเก่าได้มันจะโดยเฉลี่ยมันคงจะยากอย่างที่ ท่านก็พูดเองว่าการดำเนินคดีมันมีรายละเอียด แต่ละคดีก็พยานหลักฐานก็แตกต่างกัน บางเรื่องก็ต้องขอข้อมูลระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศบางทีมันก็เรื่องของ ต่างตอบแทน คุณให้ผม ผมให้คุณ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่จะได้โดยง่าย วันพรุ่งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีนัดกับผู้บริหารสถาบันการเงินครับ เพื่อจะประชุมร่วมกันว่าเมื่อเราขอข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่องเงิน เพราะเงินมันจะโยงถึงเรื่องเจตนาทุจริต กระแสการเงินจะเป็นเส้นทางที่เราชี้มูล ทุจริตได้ ถ้าไม่มีกระแสทางการเงินนี่การชี้มูลทุจริตก็ค่อนข้างจะยาก เพราะฉะนั้นทำอย่างไร ที่เราจะได้ข้อมูลกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินแค่นั้นเองครับ ในกระบวนการเวลา เราตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ทรัพย์สินมันไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องบัญชีเงินฝากที่สถาบันการเงิน อย่างท่านพูดถึงที่ดิน ท่านพูดถึงเรื่องสิทธิและสัมปทาน แม้กระทั่งเงินประกันชีวิตอะไร พวกนี้มันเป็นรายละเอียดทั้งสิ้นที่ ป.ป.ช. จะต้องเป็นมืออาชีพ เราจะต้องขอความร่วมมือ แต่ว่าเราจะพยายามทำข้อมูลตรงนี้ให้โปร่งใส ให้ท่านรู้ว่าท่านมีหน้าที่ต้องยื่นอะไรบ้าง และท่านจะถูกตรวจสอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นมันก็คงจะต้องพยายามทำว่าให้มัน รวดเร็ว ผมเชื่อว่าถ้ามันเป็นตามที่ผม Commit และเป็นประกาศนโยบายว่าตรวจสอบ ๑ ปี ไต่สวน ๒ ปี ป้องนำปราบเข้าพื้นที่ก่อน ขณะที่เราเพิ่งมีสถานการณ์ เราจะระงับยับยั้ง เรื่องมันจะน้อยลง เอาเวลาไปทำเรื่องใหญ่ ๆ ทำเรื่องใหญ่ ๆ ให้เต็มที่มันจะเกิด การป้องปรามครับ วันข้างหน้าอาจจะยุบ ป.ป.ช. ก็ได้เพราะมันไม่มีคดี เพราะฉะนั้นเรื่อง การแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ร้องก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำครับ แต่เราจะทำอย่างไรเดี๋ยวเราคิด ว่าเรามีกระบวนการก็สอบถามมาเราก็แจ้งตอบ บางทีผมก็ได้รับจดหมายจากผู้ร้องเรียน เขาจะเขียนว่าเตือนครั้งที่ ๒๐ เตือนครั้งที่ ๒๑ มาถึงประธาน ป.ป.ช. ผมก็ตระหนักรู้แล้วว่า เขาอาจจะแจ้งดำเนินคดีกับผม เพราะว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีมติว่าให้ฟ้อง ป.ป.ช. ได้ ให้ผู้เสียหายฟ้อง ป.ป.ช. ได้ วันนี้ด้วยอานิสงส์ตรงนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถูกฟ้องไป ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ๑๖-๑๗ คดี เราก็เอาเวลาไปแก้ต่างคดีของเราเองต้องไปขอให้อัยการ มาแก้ต่างให้เรา แทนที่เราจะเอาเวลาไปเดินข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ บอกว่าถ้าจะฟ้อง ป.ป.ช. นั้นต้องมาจากท่าน สส. สว. ๑ ใน ๕ เข้าชื่อกันยื่นต่อประธานสภา และถ้ามีมูลก็ให้ประธานศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระใช่ไหมครับ ตั้งผู้ไต่สวนอิสระแล้วก็มาสอบ ระหว่างสอบพวกผมก็หยุดปฏิบัติงาน ถ้ามีมูลก็ส่งอัยการสูงสุดฟ้อง ถ้าฟ้องพวกผมก็ถูก ดำเนินคดีไปตามกฎหมายที่กระทำความผิด โทษเป็น ๒ เท่ามันมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ มันมีอยู่แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญครับ แต่วันนี้เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ให้ฟ้อง ป.ป.ช. ได้ก็มีคนไปฟ้องเราใหญ่เลยครับ ทั้งแพ่ง ทั้งอาญาครับ เราก็ น้อมรับครับ เพราะว่ามันเป็นเรื่องกลไกทางกระบวนการยุติธรรม อย่างหนึ่งก็เพื่อ ความโปร่งใส เพราะฉะนั้นเรามีหมดครับ เราทำ List ไว้หมดว่าใครฟ้องเราบ้าง ฟ้องเรื่อง อะไรมันอานิสงส์มาจากตรงนี้ วันนี้เราก็คิดว่าเราอาจจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้เกิด ความชัดเจนในกฎหมาย เพราะฉะนั้นก็ต้องขอความกรุณาท่าน สส. ซึ่งเป็นคนอนุมัติ กฎหมายได้ช่วยกรุณาด้วย ถ้าเราจะแก้กฎหมายอะไรเข้ามาเพื่อให้เกิดความชัดเจนตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็เรียนยืนยัน เรื่องแผนบูรณาการไม่มีกรมบัญชีกลาง ผมก็ยังแปลกใจนะครับ ผมคิดว่ามีนะครับเพราะกรมบัญชีกลางนี่สำคัญมากเลยครับ ราคากลาง ราคาอะไรต่าง ๆ มาจากกรมบัญชีกลางทั้งนั้น ถ้าไม่มีกรมบัญชีกลางนี่เวลาเราไปตรวจสอบ ไต่สวนว่า ราคากลางไม่เป็นไปตามที่เขาประกาศ เราจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการที่ไปไต่สวนของเรา การก่อสร้างอาคารใหม่พูดไปแล้วครับ CCTV ๑๐๐ ตัว ท่านเรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข เรื่องสร้างพระรู้สึกเขาเขียนมาให้ผมแล้วว่ามันมีเรื่องกล่าวหาอะไร มีเรื่องร้องเรียน มีเรื่องนี้ก็มีเรื่องกล่าวหา

    อ่านในการประชุม

  • มันจะหมดแล้วครับ พอดีผมจดท่านหมดครับ ผมก็เลยพูดไปถึงท่านเอกราช พูดเรื่องบัญชีทรัพย์สิน เครื่องมือ ประเมินราคาตลาด ราคาประเมินครับ ภ.ง.ด. อยู่ในพระราชบัญญัติมาตรา ๑๐๕ ว่า ท่านต้องยื่น ภ.ง.ด. ด้วย อยู่ในกฎหมายครับ เราไม่กล้าไปทำอะไรเกินเลยครับ อยู่ในกฎหมายนะครับ ราคาที่ดิน ถ้าท่านบอกเอาราคาตลาดยุ่งเลยครับ ไม่ต้องอะไรครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เป็นเกร็ดนะครับ พระ ผมมีพระ ผมบอกของผม ๕๐ ล้านบาท ป.ป.ช. ไม่เถียง ป.ป.ช. ขอถ่ายรูป ใช้กล้อง ถ่ายรูปมีคุณภาพถ่ายทุกด้าน ถ่ายละเอียด แล้วก็ไม่ว่าอะไร วันที่ท่านพ้น ท่านบอก พระองค์นี้ยังอยู่ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าท่านบอกขายเมื่อไรอันนี้เดือดร้อน ใครมาซื้อท่าน เอาเงินตรงไหน บัญชีไหนมาซื้อท่าน และท่านเอาเงินเข้าบัญชีไหน วันนั้นท่านเดือดร้อน เพราะฉะนั้นท่านสามารถแจ้งมาได้ครับ เราไม่ขัดข้อง ส่วนเรื่องที่ดินอะไรนี่ก็ราคาประเมิน แล้วที่สำคัญถ้าท่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ดิน เมื่อท่านเข้ามา ๔ ปี ปี ๒๕๖๖ ท่านเข้ามา ท่านมี ที่ดินราคาประเมิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่พออีก ๔ ปี ท่านพ้น ท่านไปเอาราคาตลาดมายื่น อย่างนี้ท่านจะถูกเรียกแล้วครับ แต่ท่านยื่นราคาที่ดินตามราคาประเมินเมื่อปี ๒๕๖๖ เราจะ ไม่ถามท่านเลยครับ แต่ขายเมื่อไรอันนี้จะถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเราก็จะพยายามยืน การตรวจสอบคุณสมบัติมาจากประชาชนอะไร ผมไม่ขัดข้องครับ คนเขียนกฎหมายคือ ท่านครับ ของเราคือคนที่ถูกใช้ให้ทำงาน เทคโนโลยีการตรวจสอบอันนี้ยืนยันครับ เราก็พยายามใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ให้ตรวจสอบ แล้วก็ที่ผมเรียนแล้วว่าเราก็จะไป คุยกับสถาบันการเงิน วันนี้ถ้าบัญชีเราไม่เกิน ๕ ปี สถาบันการเงินตอบเราได้เร็วมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะรวดเร็ว ขุดลอกคลองผมพูดไปแล้ว ผมเห็นด้วยเลยครับ และวันนี้ เป็นนโยบายแล้วครับ และให้รายงานด้วยว่าจังหวัดไหนที่มีขุดลอกคลองเข้าไปหรือยัง และมีทุจริตหรือเปล่า ป้องเลยครับ เขาเลิกก็ปล่อย แต่ถ้าเขายังดื้อตรวจสอบ ไต่สวน เจอกัน เลยครับ มาตรา ๑๓๘ การมีส่วนร่วมในระหว่างประเทศของเราร่วมมือเยอะมากนะครับ ความจริงมี MOU แล้วก็เราต้องอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะในเรื่องเส้นทางการเงินนี้ครับ เราอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งก็ต้องไปผ่านถ้าจะเอามาใช้ในคดีก็ต้องไปผ่าน ท่านอัยการสูงสุด เพราะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือทางอาญา เพราะฉะนั้นจะเป็น ข้อยกเว้นในมาตรา ๔๘ ว่าไม่ใช่ภายในกรอบระยะเวลา ๒ ปี มันเป็นข้อยกเว้นนะครับ กองทุน ป.ป.ช. ในปีนี้ได้มา ๑๐๐ ล้านบาท ในปีที่มารายงานท่านนี้ครับ แต่ปีใหม่นี้ ปี ๒๕๖๗ รู้สึกเราจะได้ ๒๐๐ ล้านบาท ก็ต้องขอบพระคุณนะครับ แต่ก็ต้องขอความกรุณา ท่าน สส. ด้วยช่วยสนับสนุนให้ผ่านด้วยนะครับ เพราะว่า ๒๐๐ ล้านบาทนั้นเราไปใช้ ในเรื่องของพี่น้องประชาชน ภาคประชาชน ภาคเอกชนในการที่จะเข้ามาช่วยเรา ในการสร้างจิตสำนึก ในการจะไปตรวจสอบต่าง ๆ เราใช้เงินตรงนี้เป็นภาคประชาชนเสีย ร้อยละ ๗๐ แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่เราเอามาใช้ที่ผมได้เรียนท่านว่าคดีอาญาที่เราส่งตำรวจ เราสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำคดี คดีละ ๔,๐๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นตำรวจไปเบิกเงิน ในคดีอาญาของเขาอุกฉกรรจ์เขาจะได้ ๑,๕๐๐ บาท อาจจะเบิกข้ามปีงบประมาณ แต่ของผมนี่เราประกาศไว้ว่าถ้าเขามายื่นกับเราอีก ๓-๔ วัน ให้เบิกให้เขา เพราะฉะนั้น เขาก็จะได้ไม่ต้องเป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงาน น่าจะหมดแล้วท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • มีท่านวิทยาพูดผมไปแล้วนะครับ ท่านถามเรื่องตรวจสอบทรัพย์สินนะครับ แล้วก็เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ครับ มีหน้าที่ยื่นเหมือนกับพวกท่าน คนที่ตรวจสอบเราคือวุฒิสภาครับ แล้วก็เป็นความโชคดีของ ป.ป.ช. ครับ เพราะว่าวุฒิสภา เขาตั้งกรรมการมา เขาตั้งรองประธานวุฒิสภามาเป็นประธานตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่ มาตรวจสอบ ที่ว่าโชคดีเพราะอะไรรู้ไหมครับ เขาตรวจเราละเอียดยิ่งกว่า ป.ป.ช. ตรวจพวกท่านอีกครับ เพราะเขาตรวจคนอยู่ ๙ คน เพราะฉะนั้นผมถูกให้ยื่นเพิ่มเติม ตัวผมยังลืมเลยครับ แต่เขาไปตรวจเจอเพราะเขาตรวจคน ๙ คน แต่ผมตรวจคนหลาย หมื่นคนครับ ป.ป.ช. ก็ยื่นนะครับ หมดแล้วนะครับท่านวิทยา กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขออนุญาตกราบเรียนอย่างนี้ครับ ผมรับนะครับ เรามีรายงานประจำปีของกองทุนทุกปีครับ ปีหน้าผมจะให้เขาพิมพ์มาแล้วแจกท่านด้วยครับ เรามีครับเรามีทุกปี เรามีผู้แทนกระทรวงการคลัง มีผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ กองทุนครับ แล้วอย่างที่กราบเรียนครับ เราเป็นหน่วยตรวจสอบ เราไม่กล้าครับ เราต้อง ระวังตัวมากเลย เพราะเรารู้ว่าเวลาเราถูกตรวจสอบมันจะแรง ปีหน้าผมรับครับ ผมจะเอาเอกสารรายงานกองทุนมาให้ท่านด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานผมขออนุญาตให้ท่านสุภานะครับ ท่านจะเป็น Expert ในเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและให้เหตุผล เชิญครับ

    อ่านในการประชุม