นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล อำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน ในพื้นที่ตำบลสระพัฒนา และตำบลห้วยม่วงครับ ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาของพ่อแม่ พี่น้องชาวจังหวัดนครปฐมทั้งหมด ๕ เรื่องนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ฝากเร่งรัดการดำเนินการแผนขยายถนนทางหลวงหมายเลข ๓๒๙๖ นะครับ ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอบางเลนและอำเภอดอนตูม โดยพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้มีรถสัญจรเป็น จำนวนมาก บวกกับถนนเพียง ๒ เลน ไม่สามารถรองรับการจราจรได้เพียงพอนะครับ และไฟฟ้าที่ดับสนิทเป็นระยะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการหลบรถอยู่บ่อยครั้งนะครับ และขณะที่ผมลงพื้นที่ผมก็ได้พบเห็นอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิงวัย ๒ ขวบ ที่เดินทางมากับครอบครัวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผมสลดใจเป็นอย่างยิ่งครับ จึงเรียน ท่านประธานสภาผ่านไปยังอธิบดีกรมทางหลวงและแขวงทางหลวงนครปฐมให้ทบทวน แผนการขยายถนนขึ้นมาพิจารณาโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการสัญจร ไปมาของพี่น้องทุก ๆ คนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ พี่น้องชาวบางเลนแจ้งผมเข้ามาเรื่องปัญหาหลุมริมถนนทางหลวง หมายเลข ๓๔๖ ๒ จุดนะครับ ก็คือจุดที่ ๑ บริเวณหน้าทางเข้าโรงเรียนวัดรางกำหยาด จุดที่ ๒ คือบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ สาขาทางเข้าบ้านพระมอพิสัย โดยทั้ง ๒ จุดพบหลุม ขนาดใหญ่หลายหลุมนะครับ ที่ทำให้การสัญจรไปมาเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงขอเรียน ท่านประธานสภาผ่านไปยังแขวงทางหลวงนครปฐมให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วนเพื่อ ความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้อง นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านทุก ๆ คนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ครับ ผมได้รับแจ้งจากชาวบ้านและชุมชนเกี่ยวกับปัญหาสี่แยก อันตราย ๒ จุดนะครับ จุดที่ ๑ แยกทางหลวงหมายเลข ๓๒๓๒ ตัดกับถนนทางหลวงชนบท หมายเลข ๔๐๕๘ ที่ไม่มีสัญญาณไฟแจ้งเตือน และไม่มีไฟสว่าง จากภาพนะครับจะเห็นว่า มีชาวบ้านเอายันต์กันอุบัติเหตุมาติดบริเวณแยกดังกล่าวนะครับ เนื่องจาก ๑ ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากแยกนี้มากกว่า ๒๐ ราย จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังแขวงทางหลวง นครปฐมให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนนะครับ ต่อมาจุดที่ ๒ รูปเดิมครับ เป็นแยกบ้านสระ ตำบลสระพัฒนาเป็นสี่แยกที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลสระพัฒนาและตำบลสระสี่มุม เป็นใจกลางชุมชนที่มีรถสัญจรไปมาจำนวนมากแต่กลับไม่มีสัญญาณไฟจราจรสี่แยก จึงเรียน ท่านประธานฝากไปยังแขวงทางหลวงนครปฐมให้พิจารณาดำเนินการสร้างไฟจราจร ของสี่แยกนี้โดยด่วน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ มีชาวบ้านแจ้งมาเกี่ยวกับปัญหารถบรรทุกขนดิน ที่ขนดินในบ่อดิน หมายเลข ๓๒๓๓ นะครับ โดยรถบรรทุกก่อให้เกิดปัญหาถนนพัง สร้างมลภาวะฝุ่น และกีดขวางการจราจรกับบุคคลผ่านไปผ่านมานะครับ ซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งอำเภอ จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังตำรวจทางหลวงนครปฐมให้กวดขันเรื่องนี้ อย่างจริงจังเป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่เพียงชั่วคราวนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ เรื่องแหล่งน้ำนะครับ ในการทำการเกษตรเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางเลนและอำเภอดอนตูม ทางด้านอุทกภัยตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมามีน้ำท่วมทุก ๆ ปี เพราะปัจจุบันแม่น้ำท่าจีนกลายเป็นแม่น้ำสายหลักในการ ผันน้ำลงสู่อ่าวไทยบ่อยครั้ง เช่นปีนี้ก็จะเกิดขึ้น จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำเนินการทำแผนรับมือเพื่อ ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากเสียหายกับพี่น้องชาวนครปฐมเหมือนทุกปีครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล วันนี้กระผมจะร่วมอภิปรายในญัตติราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยประเด็นที่ผม จะนำเสนออภิปรายในวันนี้เป็นประเด็นของราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มตกต่ำ ขึ้น Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ราคาตกต่ำเนื่องจากมีการลักลอบ นำเข้าหมูกล่องหรือหมูเถื่อน สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ทั้งที่จริงแล้ว ในช่วงเวลานี้ควรเป็นเวลาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูควรฟื้นตัวต่อวิกฤติโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๖๔ แต่กลับมาเจอวิกฤติการลักลอบนำเข้าหมูกล่อง ทำให้เกิดราคาเนื้อหมูที่ตกต่ำสวนทางกับ ต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ในส่วนของเนื้อหมูกล่องหรือหมูเถื่อน นั่นก็คือหมูแช่แข็งที่บรรจุในกล่อง และลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย ผ่านท่าเรือ โดยสำแดงพิกัดภาษีศุลกากรเป็นเท็จ เป็นการสำแดงเป็นเนื้อปลาแช่แข็งก่อนที่จะกระจาย ไปยังห้องเย็นต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากข้อสังเกตมีตัวเลขตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ มีการนำเข้า เนื้อปลาแช่แข็งเข้าประเทศเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องและเป็น ที่น่าสังเกตว่ากลับเป็นการนำเข้าเพิ่มจากประเทศผู้ส่งออกหมูไม่ใช่ปลา อย่างเช่น ประเทศ สเปน และประเทศบราซิลอย่างชัดเจน จึงขอเรียนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกร ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนมากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่มีถึง ๙๐-๙๖ บาทต่อกิโลกรัม แต่กลับขายหน้าฟาร์มในราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ราคาเพียง ๖๐-๗๐ บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหลายรายต้องออกจากธุรกิจไป ต่อมาโดยการคาดว่า มีการลักลอบนำเข้าหมูมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ในเหตุการณ์ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทำให้ผลผลิตหมูลดลงไป ๓๐ เปอร์เซ็นต์ จากที่ผลิตได้วันละ ๕๐,๐๐๐ ตัว เหลือเพียง ๓๕,๐๐๐ ตัว ทำให้ในเวลาดังกล่าวขาดเนื้อหมู ทำให้เกิดปัจจัยการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเพื่อรักษาโควตาการจำหน่ายเดิมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาในปี ๒๕๖๕ มีพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลาย ๆ ท่าน เริ่มมีการสังเกต ว่ามีเนื้อหมูแช่แข็งขายทาง Online และช่องทางต่าง ๆ ที่ต่ำกว่าราคาหมูทั่วไปในประเทศ ที่ถูกก็เพราะว่าหมูในต่างประเทศมีต้นทุนทางโปรตีน ต้นทุนทางอาหารถูก และปัจจัย การควบคุมอื่น ๆ ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาในปลายปี ๒๕๖๕ นะครับ มีการตรวจพบว่ามีการลักลอบนำเข้า เนื้อหมูเข้าห้องเย็นหลายแห่ง แล้วก็มีการดำเนินคดีอยู่ในปัจจุบัน จากการคาดการณ์มีข้อมูล ว่ามีการลักลอบนำเข้ามากว่า ๑๕,๐๐๐ ตู้ หรือมากกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ตัน มูลค่ามากมาย มากกว่าถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหมูในตลาดเลยทีเดียวครับ เท่านั้นยังไม่พอการนำเข้า เนื้อหมูอาจจะไม่ได้นำเข้าเพียงท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น แต่ยังมีการนำเข้าจากท่าเรือ อื่น ๆ ด้วย ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศอย่างมากมายมหาศาลครับ นอกจากราคาเนื้อหมูจะตกต่ำแล้ว เนื้อหมูเถื่อนยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน อีกหลาย ๆ มาตรฐาน นั่นอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้บริโภคหมูที่อาจจะ เป็นโรค รวมถึงมีสารเร่งเนื้อแดงที่เมื่อบริโภคมากก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายแล้วนะครับ เราจะควบคุมราคาหมูกล่องเพื่อแก้ไขราคาหมูตกต่ำ ได้อย่างไร ผมขอเรียนท่านประธานไปยังกรมปศุสัตว์ และกระทรวงพาณิชย์ ให้มีมาตรการ การดำเนินการใน ๔ ส่วนดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ ให้เร่งติดตามการดำเนินคดีและขยายผลดำเนินคดีอย่างจริงจัง กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู หมูกล่อง ทุกฝ่ายทั้งผู้นำเข้า Shipping ห้องเย็น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้หน่วยงานเปิดเผยความคืบหน้าหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่เป็นผลเสียต่อรูปคดีให้สาธารณะได้รับทราบเป็นระยะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ควรเข้มงวดกับการตรวจสอบตู้ Container ที่นำเข้าอาหารแช่แข็ง และห้องเย็นต่าง ๆ ที่เก็บเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาเพิ่มเติม

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๓ ควรติดตามและตรวจสอบการขายเนื้อหมูที่ราคาต่ำกว่าตลาด ผิดปกติ โดยควรตรวจสอบว่าเนื้อหมูมีที่มาอย่างไร มาจากการลักลอบนำเข้าหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๔ เราจำเป็นต้องสื่อสารถึงผู้บริโภคถึงอันตรายของเนื้อหมูเถื่อน และเปิดช่องทางการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนได้แจ้งเข้ามาเพื่อนำไปสู่การจับกุมต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรหลาย ๆ ท่านทั่วประเทศบอกกับผมว่า เรามีเวลาไม่มากแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหานี้ ไม่อย่างนั้นระบบการเกษตรจะล้มเป็น Domino Effect ทั้งปศุสัตว์และอาหารครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมขอฝากในฐานะที่ผมอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีการเลี้ยงกุ้งขาว ในพื้นที่ ทั้งอำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม และอำเภอกำแพงแสนในตำบลสระพัฒนา และตำบลห้วยม่วง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของผมครับ ผมจึงขอเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยแก้ปัญหาของพ่อแม่พี่น้อง ผู้เลี้ยงกุ้งอย่างจริงจัง ทั้งในด้านต้นทุนการผลิตไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือไฟฟ้า ที่ท่าน สส. ของพรรคก้าวไกลจะอภิปรายในลำดับถัดไปด้วยครับ ขอขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล วันนี้มีเรื่องจะปรึกษาหารือท่านประธานทั้งหมด ๔ เรื่อง เป็นความเดือดร้อนของพ่อแม่ พี่น้องชาวจังหวัดนครปฐมครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เรื่องไฟถนนดับกระจายทั่วทุกพื้นที่ในอำเภอบางเลน อำเภอ ดอนตูม แล้วก็อำเภอกำแพงแสนในพื้นที่ตำบลสระพัฒนาและตำบลห้วยม่วง ก็เป็นของ ขึ้นชื่อที่ชาวบ้านไม่ต้องการ แต่หลาย ๆ คนที่ผ่านมาก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ถนนเส้น ๓๔๖ ตั้งแต่ตำบลไผ่หูช้างจรดตำบลบางภาษี แล้วก็เส้น ๓๗๕ ตั้งแต่โรงงานวราฟู้ด ถึงวัดเลาเต่า เส้น ๓๓๕๑ ตั้งแต่ถนนเทศบาลบางเลนมุ่งหน้าตำบลหินมูลก็ไม่มีไฟถนน รวมถึงถนนเส้น ๓๒๙๖ ที่ผมเคยพูดไปเป็นเส้นเกาะแรด แล้วก็เส้น ๓๒๙๗ ตั้งแต่สามง่าม ถึงลำเหยมีไฟติด ๆ ดับ ๆ เป็นระยะตลอดทาง แล้วก็อยากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้รีบแก้ไขปัญหานี้โดยด่วนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ขอให้มีการสร้างประตูน้ำที่ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน เพราะว่ามีพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นพี่น้องหมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๙ ตำบลห้วยม่วง ช่วงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ ช่วงหน้าฝนน้ำก็ท่วม อยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการเร่งสร้างประตูน้ำ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตพื้นฐานของบุคลากรทางด้าน การเกษตร เพราะว่าจากที่ผมได้ไปติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอดอนตูม หลังคารั่ว แล้วก็ มีงบประมาณในการดำเนินงาน แม้กระทั่งการลงพื้นที่มีค่าน้ำมันเพียง ๘๐๐ บาทต่อเดือน เท่านั้น ไม่สามารถดูแลเกษตรกรได้ จึงขอเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พัฒนา รวมถึง การปรับปรุงอาคารของสำนักงานเกษตรอำเภอดอนตูม

    อ่านในการประชุม

  • ที่สำคัญสุดท้ายผมขอฝากครับ เป็นเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในแม่น้ำท่าจีน ที่อำเภอบางเลน ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งไปดำเนินการเยียวยาชดเชย ให้พ่อแม่พี่น้องผู้ที่อยู่ในบริเวณแม่น้ำท่าจีนให้ได้รับการเยียวยาโดยด่วนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล วันนี้จะร่วมอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทาง การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ และป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ รวมถึงเป็นธรรมกับประชาชน ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายในส่วนของการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์จาก รถบรรทุก หรือเรียกว่าส่วยรถบรรทุกนั่นเอง ซึ่งมี ๒ หน่วยงาน ที่มีอำนาจตรงในการจัดการ ตรวจจับเรื่องน้ำหนักบรรทุก ก็คือขนส่งทางบกและตำรวจทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มี บุคลากรที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ในประเทศไทยทั่วประเทศ แต่ในกรณีจังหวัดนครปฐมทั้ง ๒ หน่วยงาน ทั้งขนส่งและตำรวจทางหลวงกลับอยู่ห่างจาก พื้นที่ที่เป็นสถานประกอบการที่เป็นต้นเหตุของรถบรรทุกขนดินขนทรายเหล่านี้ ก็คือบ่อดิน ซึ่งเป็นต้นเหตุในการสร้างมลภาวะให้พ่อแม่พี่น้อง รวมถึงการที่รถบรรทุกเหล่านั้นหลีกเลี่ยง เส้นทางด่านชั่งของทางหลวง โดยใช้เส้นทางก็คือใช้เส้นทางรองในการวิ่งผ่านชุมชน ซึ่งเป็น พื้นที่ของผมทั้งอำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม และอำเภอกำแพงแสน ในพื้นที่ตำบลสระพัฒนา และตำบลห้วยม่วง ที่มีรถบรรทุกที่ผิดกฎหมายบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งผ่านชุมชน รวมถึง สร้างความอันตรายให้กับผู้ที่สัญจรไปมาดังภาพนี้เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งถนนก็พัง มีมลภาวะมลพิษ เกิดจากในส่วนนี้โดยเฉพาะเลยครับ ดังนั้นผมจึงขอฝากอีก ๑ ข้อเสนอนะครับ สนับสนุนให้มี การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เพื่ออยากให้หน่วยงานเกี่ยวกับ อปท. เริ่มตั้งแต่ระดับตำบล ให้มีอำนาจในการกวดขันจับกุมรถบรรทุกที่กระทำผิดได้ เมื่อเราได้หน่วยงานเพิ่มผมก็คิดว่า การที่ผู้ประกอบการจะกระทำผิดนั้นย่อมยากกว่า เพราะว่าการจ่ายสินบนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามยังมีอีก ๑ วิธีที่ทุก อปท. น่าจะรับทราบและอาจจะหลงลืมไปว่ายังมีกฎหมายอีก ๑ ฉบับ ที่สามารถใช้อำนาจได้ก็คือ พ.ร.บ. สาธารณสุข ในหมวด ๕ ก็คือเหตุเดือดร้อนรำคาญ มาตรา ๒๕ (๔) ที่ว่าด้วยการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน ใด ๆ ก็ตาม สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่น ๆ จนเป็นเหตุ ให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในมาตรา ๒๖ ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือหรือระงับ กำจัด และควบคุมเหตุรำคาญต่าง ๆ เหล่านั้นได้ แต่ถึงแม้จะมีกฎหมายที่จะใช้ได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นเราควรศึกษาเพื่อแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขนส่งทางบกทั้งหมด หรือแม้กระทั่งธุรกิจบ่อดินเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ขุดดิน ถมดินก็ตาม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสิบล้อขนดินแบกน้ำหนักที่เกิดขึ้น ในทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดของผมจังหวัดนครปฐม ทำให้ถนนทรุด ถนนพัง อปท. กลับทำได้เพียงจับเหตุเดือดร้อนรำคาญเท่านั้น ดังนั้นผมจึงขอตั้งคำถามว่าเราควรมีการทบทวน เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ขุดดิน ถมดินแล้วหรือยัง ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้กฎหมาย เกี่ยวกับการขนส่งทางบกเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเรื่องของขนส่งทางบกนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยง หลาย ๆ กฎหมายเข้าด้วยกัน และจำเป็นต้องศึกษาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา ดังกล่าวทั้งหมด

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้าย ท่านประธานครับ ไม่ว่าจะมีการตั้ง กมธ. วิสามัญชุดนี้หรือไม่ ทุก ๆ ท่านทราบกันดีครับ ข่าวดังในจังหวัดนครปฐมที่ผ่านมาสามารถเชื่อมโยงเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงที่เสียชีวิตจากช่องว่างทางกฎหมายของกรมการขนส่งทางบกที่เปิดช่อง ให้ผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ได้ ท่านประธานครับ เราต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขนส่งทางบกมีปัญหาจริง ๆ ครับ ผมจึงสนับสนุน ให้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาเหล่านี้และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม อำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน ตำบลสระพัฒนา และตำบลห้วยม่วง พรรคก้าวไกลครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ก็ขอปรึกษาหารือ ท่านประธานเกี่ยวกับความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดนครปฐมครับ ก็เป็นการติดตาม จากเรื่องที่เคยหารือไปแล้วทั้งหมด ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เรื่องถนนเส้น ๓๒๙๖ ที่ผมเคยได้ปรึกษาหารือไปเมื่อหลายเดือนก่อน ปัจจุบันนี้ก็มีรายการดังไปถ่ายทำ แล้วก็เรียกว่า โค้งอาถรรพ์ โค้งอันตราย ซึ่งเป็นแค่เพียง ๑ จุด ก็อยากฝากเรียนท่านประธานไปถึงอธิบดีกรมทางหลวงให้แก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การดึงแผนเพื่อมาขยับขยายถนนให้สมบูรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหารวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะ จุดที่ควรจะเร่งดำเนินการนะครับ เพราะว่าพ่อแม่พี่น้องได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาให้พ่อแม่พี่น้องใช้ถนนอย่างปลอดภัย ทั้งชาวบางเลนและชาวดอนตูม

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ก็เป็นเรื่องของถนนเช่นกันนะครับ เช่น เป็นถนนไฟทางหลวง เส้น ๓๔๖ ก็ดับตลอดทั้งเส้นตั้งแต่ช่วงบางเลนถึงแยกนพวงศ์เลยนะครับ ก็ ๙ กิโลเมตร ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะมีการประชุมกันจากหลายภาคส่วนแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ จากการลักลอบขโมยสายไฟก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็มีการแก้ไขบางส่วนแล้วครับ แต่ยังไม่ได้แก้ไข อย่างยั่งยืนก็มีการดับอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเส้นนี้เป็นเส้นที่พี่น้องสัญจรไปมาเป็น จำนวนมาก ทั้งมีผู้ที่ต้องเดินทางผ่านจังหวัดนครปฐมก็ต้องผ่านเส้นนี้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขอขอบคุณนะครับ ครั้งที่ผ่านมาทางแขวงทางหลวงนครปฐมก็ได้แก้ไขปัญหาในโซนที่เป็น ตำบลบางเลนมุ่งหน้าที่ตำบลไผ่หูช้าง บางส่วนได้แก้ไขแล้วนะครับ ก็เรียนท่านประธานไปยัง อธิบดีกรมทางหลวงให้แก้ไขปัญหาเพื่อพ่อแม่พี่น้องชาวนครปฐมได้ใช้ถนนที่ดี แล้วก็มีไฟ ที่สว่าง ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล หลาย ๆ คนคงยังไม่ทราบว่านครปฐมก็อยู่ติดกรุงเทพฯ นี่เอง แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำประปา บาดาลเหมือนกัน ก็เลยร่วมอภิปรายในญัตติน้ำบาดาลและปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพต่ำ สนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะว่า จากการลงพื้นที่ครับ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ที่เป็นปัญหาสำหรับการขุดบ่อ บาดาลและตั้งหอถังสำหรับในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ผมและผู้ช่วยลงพื้นที่ เราก็ได้รับข้อมูล ว่าเรามีปัญหาอยู่ ๒ กรณี ดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • กรณีแรก เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ พื้นที่ในจังหวัดนครปฐม มีหลาย อปท. ที่มีการทำระบบน้ำประปาบาดาล แต่กลับถูกตีความว่าเป็นการจัดหารายได้ จึงทำให้ อปท. ต่าง ๆ มีการถูกเรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลังหลายเดือน เดือนละหลายหมื่นบาท อันนี้ ก็เป็นต้นทุนที่ทาง อปท. ต้องแบกรับไว้ ทั้งที่ความเป็นจริงการทำน้ำประปาบาดาลควรเป็น การบริการพื้นฐานของประชาชน โดยมีการเก็บค่าน้ำเพียง ๔-๕ บาทต่อหน่วย แต่ก็มี การขาดทุนตลอด แต่อย่างไรก็ตามมันเป็นผลประโยชน์กับประชาชนก็ควรทำ ถึงแม้ว่ายังมี การเก็บค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเช่นนี้ ก็จะทำให้เพิ่มต้นทุนภาระที่สูงขึ้นให้กับหน่วยงาน อปท. มากขึ้น แล้วก็อาจจะเพิ่มค่าน้ำต่อหน่วยที่จะสูงมากขึ้นเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • อีกกรณีหนึ่งเป็นกรณี Case ที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งมี ทั้งหมด ๓ อำเภอ เป็นพื้นที่ของผมทุกอำเภอเลย ตัวอย่าง เช่น ในพื้นที่ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในบางหมู่บ้านยังคงเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งหมู่บ้านอยู่ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัด ไม่สามารถทำระบบน้ำประปาบาดาลได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ ในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร แต่จากข่าวเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา ทาง ส.ป.ก. ก็ขานรับนโยบายดับภัยแล้งของรัฐบาล แต่นโยบายนี้ก็ไม่สามารถตอบสนอง ในการครอบคลุมการขุดบ่อเพื่อทำหอถังน้ำ แล้วประปาบาดาลเพื่ออุปโภคก็ยังทำไม่ได้ เพราะว่าผิดวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในที่ดิน ส.ป.ก. ดังนั้นเช่นนี้ก็กลายเป็นว่าประชาชนที่อาศัย อยู่ในเขตหมู่บ้านที่เป็นที่ดินของ ส.ป.ก. ต้องกลายเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการใช้น้ำ ระบบประปาบาดาลไปเสียอย่างนั้น ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดของ อปท. ต่าง ๆ ในพื้นที่ในการจัดการทำระบบประปาบาดาลไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นผมจึงเห็นว่าเราควรจะมี การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขและศึกษาระเบียบต่าง ๆ และแก้ไขโครงสร้างที่เป็น ปัญหาในการพัฒนาโครงการเหล่านี้

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นที่อยากจะสะท้อน ก็คือประเด็นคุณภาพน้ำประปาบาดาลที่ไม่ได้ มาตรฐาน ที่เกิดจากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ของระบบ แม้กระทั่งในภาพเป็นตำบล บางภาษี อำเภอบางเลน เป็นหมู่บ้านจัดสรร ก็มีปัญหาน้ำขุ่นแล้วก็มีกลิ่นด้วย รวมถึงน้ำร้อน หมู่บ้านสิวารัตน์ ผมก็ลงพื้นที่แล้วก็ตรวจสอบ ก็ได้รับข้อมูล ได้รับเรื่องร้องเรียนมา มีหลายเรื่องซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ตัวผมเองอยู่ในคณะกรรมาธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เช่นกัน แต่ผมคิดว่าคณะกรรมาธิการนั้นเราจะดูแลน้ำทั้งระบบ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ครอบคลุมที่มาจัดการเรื่องของประปาบาดาลหรือผิวดินที่เป็นน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาแล้วก็ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญชุดนี้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลรวมถึงน้ำประปาผิวดินที่เป็นปัญหาอยู่ทั่วประเทศ แล้วพี่น้องชาวจังหวัดนครปฐมก็ฝากมาว่าตอนนี้น้ำประปาตอนนี้ก็เป็นสีโอวัลตินกัน ทั้งอำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม แล้วก็อำเภอกำแพงแสน ในพื้นที่ตำบลสระพัฒนา และตำบลห้วยม่วงด้วย ประสบปัญหาอย่างมาก อยากให้ทางผู้แทนราษฎรรวมถึงรัฐสภา แห่งนี้ช่วยกันแก้ปัญหา แล้วก็ฝากไปยังรัฐบาล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่เรา จำเป็นต้องแก้ไขปัญหา รวมถึงศึกษาร่วมกันและหาทางออกเพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ หลักการและเหตุผล ของ สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมของพระราชบัญญัติ การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ก่อนอื่นผมขอเกริ่นในประเด็นที่ผมจะอภิปรายเป็นต้นตอของ ปัญหาที่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน คือเรื่องของโครงสร้างของโครงการ โดยปกติการทำพื้นที่การจัดสรรเพื่อการทำหมู่บ้านจะมีถนนที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ที่ใช้ร่วมกันกับคนในหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าของโครงการและผู้รับเหมาจะมีการทำแบบขออนุญาตสร้าง ส่งไปที่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาลก็ตาม โดยในแบบต้องมีขนาดตามกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเราจะเห็นว่าแบบก่อสร้างถึงแม้จะมี มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมไว้แล้ว แต่ในความจริงเลย การทำหมู่บ้านจัดสรรในกรณีที่ เจ้าของลงทุนเองเป็นส่วนใหญ่ ก็เมื่อทำการก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่สามารถขายได้หรือโครงการ ที่เหมือนจะขาดทุนนะครับ ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนของเจ้าของโครงการ จึงมีการ ก่อสร้างที่ไม่ได้เป็นตามรูปแบบที่กำหนด ลด Spec ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้น ความหนาของ ถนน เพราะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบในระยะยาว ทั้งนี้ปัญหานี้ก็นับว่าเป็นปัญหา หนึ่งในความเดือดร้อนที่จะตกกับลูกบ้านที่เป็นพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเป็นพื้นที่ภาคเอกชนนะครับ ไม่ใช่พื้นที่ สาธารณะที่ท้องถิ่นจะเข้าไปดูแลได้ แต่ในมุมมองของผู้บริโภคก็มองว่าท้องถิ่นอาจจะต้องเข้า ไปควบคุมดูแลตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามแบบก่อสร้างหรือไม่นะครับ เพื่อลดความ เดือดร้อนในอนาคตที่จะเกิดขึ้นและโดยตรง โดยส่วนใหญ่เลยโครงการเหล่านี้ครับเมื่อผ่านไป เวลาสัก ๓ ปีก็จะมีการยกพื้นที่ส่วนนี้ให้ท้องถิ่นหรือยกเป็นสาธารณะ

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งนี้ผมขอกล่าวเล่ายกตัวอย่าง ทำให้มีกรณีหมู่บ้านหลาย ๆ หมู่บ้านที่อาจจะเป็นหมู่บ้าน ๖-๗ หลังที่ไม่เข้าข่ายการจัดสรร ที่ดินตรงนี้ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ครับท่านประธาน เพราะถึงจะเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่ก็มีความ จำเป็นที่ใช้ถนนสัญจรเข้าออกไปมาเช่นกัน ผู้ประกอบการหรือโครงการต่าง ๆ ก็มักจะ แก้ปัญหาในการลด Spec แล้วก็รีบยกให้กับท้องถิ่น หรือยกให้สาธารณะ หลังจากเสร็จสิ้น โครงการหรือขายหมด ท้องถิ่นก็รับมาโดยไม่ทราบว่าถนนที่ได้รับมานี้มีมาตรฐานแบบใด ทำให้กลายเป็นปัญหาของท้องถิ่นในอนาคตที่ต้องใช้งบประมาณตรงนี้ในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว ผมขอยกตัวอย่างในอีกโครงการที่เกิดปัญหาในการขออนุญาตใช้ทางสาธารณูปโภค ในพื้นที่จัดสรรที่ดิน ในตำบลนาราภิรมย์ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผม เป็นผู้แทนราษฎร มีการจัดสรรที่ดินแบ่งขายล็อก และมีถนนทางเข้าโครงการที่มีระยะทาง กว่า ๒ กิโลเมตร แต่พื้นที่ส่วนกลางนั้นก็ยังไม่ได้ยกเป็นสาธารณะ เพราะเจ้าของมีโครงการ แล้วก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ถนนเส้นนี้ผ่านเข้าออก ดังนั้นถนนเข้าหมู่บ้านจึงถูกใช้ ร่วมกับถนนรถสิบล้อขนดิน ซึ่งผ่านเข้าโครงการตลอดไปมา มีทั้งฝุ่นแล้วก็เศษดินตกลง ถนนมากมาย ทำให้เกิดถนนทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว เพราะว่าถนนที่ทำมานั้นรับรองเพียงรถ ขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ได้รองรับรถบรรทุกที่วิ่งขนดินวิ่งเข้าออกไปมาสร้างความเดือดร้อนที่ตก กับพี่น้องประชาชนที่อยู่บ้านการจัดสรรแห่งนี้ โดยไม่สามารถกระทำใด ๆ เลย เนื่องจาก ที่ดินนั้นก็เป็นถนนอีก ๑ แปลงที่อยู่ในการครอบครองของโครงการหมู่บ้านเช่นกัน อีกประเด็นครับท่านประธาน ระบบน้ำประปาเข้ากับการจัดสรรที่ดินในพื้นที่ต่างจังหวัด ท่านประธานครับ ผมคิดว่าปัญหานี้อาจจะไม่ได้เกิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่มัน เกิดในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นที่ทราบกันดีครับว่าระบบน้ำประปาในต่างจังหวัดนั้นส่วนหนึ่ง จะเป็นระบบน้ำประปาบาดาล ซึ่งในพื้นที่การทำน้ำประปาบาดาลของหมู่บ้านนั้น เจ้าของ โครงการจะขุดเจาะน้ำบาดาลเอง ซึ่งแน่นอนก็จะสามารถลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก โดยอาจจะไม่คำนึงว่าการทำน้ำประปานั้นจะต้องมีแหล่งน้ำที่มีปริมาณเพียงพอใช้ไปได้ อีกกี่ปี หรือระยะความลึกที่จะไปจะตื้นลึกแค่ไหนจะมีการปนเปื้อนของน้ำผิวดินหรือไม่ เพราะเน้นราคาที่ถูก แต่หากระบวนการนี้มีการโอนเข้ามาท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มอาจจะมีการเจาะ ที่เพียงพออย่างน้อยลึก ๑๖๐ เมตร ถึง ๒๐๐ เมตร เพื่อลดการปนเปื้อนจากน้ำผิวดินที่ทำให้ คุณภาพน้ำดีขึ้นได้เช่นกัน อีกครั้งในสภาพความเป็นจริงการวางท่อ Main เพื่อจ่ายไปในบ้าน ต่าง ๆ ที่จะใช้ท่อ PVC ที่มีความหดตัวได้น้อย และมีความเปราะบาง การขุดฝังท่อลักษณะนี้ เกิดการทรุดตัวได้ง่าย แต่ในโครงการรัฐก็จะมีการวางท่อ PE ที่ไม่มีเส้นรอยต่อ มีขนาดยาว ได้หลายร้อยเมตร เหมาะกับการฝังดินมากกว่า แต่แน่นอนครับอาจจะต้องแลกกับการลงทุนที่สูงขึ้น คุณภาพ เหล่านี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีระเบียบและกฎหมายที่บังคับอย่างชัดเจน สุดท้ายผมหวังว่า สภาแห่งนี้จะสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ที่กำหนดให้อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น คณะกรรมการเพื่อคุ้มครองพี่น้องประชาชนและ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรที่ดินที่ละเลยพี่น้อง ประชาชน และควรมีมาตรการแก้ไขและมุ่งไปที่การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งจะเป็น วิธีที่ทำให้ผู้ที่ซื้อที่ดินจัดสรรนั้นได้รับผลประโยชน์อย่างถึงที่สุด แล้วก็ปิดช่องทางที่จะสร้าง ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้มีเรื่องจะปรึกษาหารือ ปัญหาของพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดนครปฐม ทั้งหมด ๔ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เรื่องทางหลวง หมายเลข ๓๒๓๑ ถนนชำรุดตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ตำบลบางเลนมุ่งหน้าจนถึงวัดศิลามูล ตำบลหินมูล กระผมได้รับเรื่องก็เลยลงพื้นที่เพราะว่ามีหลายจุดมีผิวจราจรที่ชำรุดแล้วก็อาจ ก่ออุบัติเหตุได้ จึงขอฝากให้ทางหลวงเร่งปรับปรุงแก้ไข ซึ่งผมเคยปรึกษาหารือไปครั้งที่แล้ว อยากให้มีการลงมือทำแก้ไขให้เร็วที่สุดนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของแขวงทางหลวงนครปฐมและเทศบาลตำบลสามง่าม อยากให้มีการเร่งดำเนินการนำสัญญาณไฟคนข้ามถนนมาติดตั้งบริเวณหน้าโรงเรียน วัดสามง่าม ตรงทางหลวงเส้น ๓๐๓๖ ตำบลดอนตูม-ลำลูกบัว ขนาด ๔ เลน เพราะมีถนน แล้วก็มีเด็กที่ต้องข้ามถนนไปมาเกือบ ๓,๐๐๐ คน ซึ่งเส้นนี้มีรถผ่านไปมาตลอด แล้วก็อาจจะ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็ก ๆ ข้ามถนนอย่างปลอดภัยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เรื่องที่ผมได้รับแจ้งจากพี่น้องชาวนครปฐมเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง ฝุ่นละออง เศษดินที่ตกหล่นจากรถบรรทุกขนดินในพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้เกิดอันตราย แล้วก็ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นต้องที่สูดดมฝุ่นตลอด รวมถึงบางพื้นที่ที่ติดริมคลองชลประทาน อย่างเช่นตำบลห้วยม่วง อำเภอดอนตูม มีเศษดินตกหล่นไปกีดขวางช่องทางน้ำ สะสมเป็น เวลานาน ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำแผนแล้วก็แก้ไขตามอำนาจหน้าที่ แล้วจัดตารางปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทา ปัญหาที่สะสมมานานของพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดนครปฐมครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องผิวถนนเส้น ๓๒๓๑ และถนนเส้น ๓๔๖ ชำรุดจาก รถบรรทุกน้ำหนักเกิน แล้วก็วิ่งบริเวณพื้นที่บริเวณช่องทางซ้ายเป็นประจำ แล้วก็ปัจจุบันนี้ หลังจากที่ช่องทางซ้ายชำรุดก็เบี่ยงมาที่ช่องทางขวา ทำให้เกิดมีการจราจรที่ย่ำแย่ทั้ง ๒ ช่องทาง แล้วก็ทำให้กีดขวางการจราจรของรถประเภทอื่น ๆ ด้วยครับ อยากให้ตำรวจทาง หลวงเคร่งครัดแล้วก็กวดขันวินัยการจราจร ก็ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม กิตติภณ ปานพรหมมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๔ พรรคก้าวไกล ผู้แทนจากอำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน ในตำบล สระพัฒนาและตำบลห้วยม่วง จังหวัดนครปฐม ผมต้องร่วมในการศึกษาแล้วก็ตั้งข้อสังเกต ให้กับคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้เกี่ยวกับเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับ ขนส่งทางบก และป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ จังหวัดนครปฐมก็เป็น เมือง ๆ หนึ่งที่ขึ้นชื่อเลยนะครับ แล้วก็เป็นที่มาของญัตติในการตั้งคณะอนุกรรมาธิการครั้งนี้ อย่างที่ท่านประธานคณะกรรมาธิการได้เกริ่นออกมานะครับ ข้อหนึ่งเลยครับ ก็ต้องบอกว่า ผมชื่นชมว่าทางคณะอนุกรรมาธิการได้ศึกษาแล้วก็ได้เสนอข้อสังเกตหลาย ๆ ข้อ แล้วก็มี ความน่าสนใจที่จะช่วยแก้ปัญหา แต่ผมก็ยังพบว่ามีข้อเสนอแนะที่อยากจะเสนอทางคณะอนุ กรรมาธิการไปให้เพื่อทบทวนบางข้อ แล้วก็แก้ไขปรับปรุงหากทำได้นะครับ เพราะว่า หลังจากที่ได้ศึกษาแล้วมีสัก ๒ ประเด็นที่ผมจะกล่าวถึง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับปัญหาต่าง ๆ เรื่องส่วย การเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างที่บอกครับ ผมอยู่ในจังหวัด นครปฐม มีธุรกิจบ่อดิน รถบรรทุกวิ่งผ่านตั้งแต่บางเลนไปเขตเพื่อน สส. คุณเกียรติคุณ ต้นยาง ก็เหมือนกัน คุณนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ก็มีรถบรรทุกบ่อดิน บรรทุกดินผ่านไปยัง จังหวัดนนทบุรีและเข้ากรุงเทพมหานคร

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ มีข้อสังเกต ก็คือการที่เสนอให้กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง รวมถึงกรมทางหลวงชนบท แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด มีข้อกังวล แล้วก็มี ข้อเสนอแนะที่ผมเห็นว่าควรจะนำมาพูดถึงหลังจากที่ได้ศึกษาในเล่มนี้ ก็คือโทษของการเอา ผิดผู้ว่าจ้างขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่ง หรือเจ้าของรถ ทั้งนี้ผมมองว่าการจัดการในการ กำหนดโทษในลักษณะเดียวกันในกลุ่ม ๓ กลุ่มนี้ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนและอาจจะเกิด ความไม่เป็นธรรมได้ จริง ๆ แล้วผมจะพูดในส่วนของผู้ว่าจ้าง ในความจริงแล้วผู้ว่าจ้างไม่มี ทางรู้เลยว่าขนส่งจะแบกน้ำหนักมาแค่ไหนในความจริง ส่วนใหญ่ก็จะสนใจแค่ว่า Lot นี้มีค่า ขนส่งเท่าไร หรือกรณีที่ถมดินผู้ว่าจ้างก็จะสนใจเพียงว่าตกลงไว้ ๑ ไร่ราคาเท่าไร โดยไม่รู้ แล้วก็น่าจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่ารถบรรทุกเหล่านี้จะต้องวิ่งกี่เที่ยวและบรรทุกน้ำหนักเท่าไร ซึ่งในส่วนนี้ผมคิดว่ามันเป็นโทษที่อาจจะต้องแตกต่างกัน อาจจะเน้นไปตรงที่เจ้าของ รถบรรทุกหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ก็เห็นว่ามีส่วนเพิ่มเติมก็คือกรณีการมีส่วนรู้ เห็นในการกระทำผิดดังกล่าวข้างต้น อันนี้ก็ชื่นชมว่าอย่างน้อยก็มีข้อเสนอที่รัดกุมจาก คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ ต่อมาจริง ๆ หากเราจะแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างเราต้องแก้ให้ ถูกต้อง ไม่นับเรื่องของการบังคับใช้ พ.ร.บ. ขุดดินถมดินที่เป็นจุดกำเนิดของการแบกน้ำหนัก ของรถบรรทุกที่ยังมีช่องว่าง มีความล้าหลัง แล้วก็ยังมีปัญหาของการบังคับใช้ ทำให้เกิด ช่องว่างในการรับผลประโยชน์เช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อต่อมาอีกข้อเสนอหนึ่งที่ผมมองว่ามีส่วนสำคัญ ก็คือการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท กองบังคับการตำรวจทางหลวง จริง ๆ ถนนอาจจะไม่ได้มีแค่ของทางหลวงเท่านั้นนะครับ ขอชื่นชมท่านคณะอนุกรรมาธิการ ที่ให้เขาเสนอมาว่าจะมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่รักษา ถนนเส้นอื่น ๆ เส้นรองนะครับ ก็ปัจจุบันเราจะเห็นในพื้นที่จังหวัดนครปฐมเลยนะครับ รถบรรทุกก็มักใช้เส้นทางเหล่านี้ในการขนส่งเช่นกันในพื้นที่ ผมมองว่าการกระจายอำนาจ ดีครับ เป็นเรื่องที่ดีเลยและมองว่าจริง ๆ แล้ว เราควรจะให้อำนาจแก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ให้สามารถแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไรดี ผมคิดว่าควรจะมีการให้อำนาจ ในการกวดขัน รวมถึงควบคุมน้ำหนักหรือด่านตาชั่งลอย และควรเพิ่มเจ้าหน้าที่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน อีกทั้งสภาพจริง ๆ แล้วการที่มีหน่วยงานแค่กรมทางหลวง ตำรวจทางหลวง ทางหลวงชนบทแล้วอาจจะมีการตรวจจับที่ไม่เพียงพอครับ แล้วก็ได้ฟังจาก ทางประธานคณะอนุกรรมาธิการที่แจงว่าการแก้ไขเหล่านี้ก็จะมีอัตราการบรรจุพนักงาน ที่ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีการกระจายอำนาจผมคิดว่าน่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ที่สำคัญลองคิดดูว่ารถบรรทุก ๑ คัน เราได้ผ่าน อปท. อย่างน้อยในการขนส่งถึงปลายทาง ต้องผ่าน อปท. อย่างน้อย ๔-๕ อปท. ก็สามารถช่วยกันกวดขันได้มากขึ้น แบ่งเบาภาระใน อัตราเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายแล้วผมมองว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น ที่สำคัญที่ผมอยากจะย้ำสุดท้ายเลย การกวดขันอย่าง เท่าเทียมในกฎหมายฉบับเดียวกัน กฎหมายตัวเดียวกัน หากเรากวดขันกับผู้ประกอบการ อย่างไม่เท่าเทียม ไปกวดขันเฉพาะผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาดเล็กก็อาจจะเกิดผล อันตรายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นปัญหามันเกิดทั้งเล็กและใหญ่ต้องแก้ไขด้วยกัน ร่วมกัน ผมขอเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนก็สนับสนุนให้มีการแก้ไขเรื่องนี้ แล้วก็ขอบคุณทาง คณะอนุกรรมาธิการที่ช่วยศึกษาและให้แนวทางส่วนหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกรับ ประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการขนส่งทางบก ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม