ข้อมูลการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ปี 2557

ครั้งที่ 2/2557 วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม 2557 เวลา 10.28 - 16.16 น.

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เคารพ กระผม นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขณะนี้มีสมาชิก ลงชื่อมาประชุมจำนวน ๒๒๕ ท่าน เป็นองค์ประชุมได้แล้ว ตามข้อบังคับ ข้อ ๒๐ วรรคสองครับ ผมขออนุญาตกราบเรียนว่าเนื่องจากมีภารกิจเร่งด่วนนะครับ ประกอบกับได้มีรายงาน ของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้เสนอรายงานต่อสภาปฏิรูป แห่งชาติ ผมจึงได้ขออนุญาตมีหนังสือเชิญท่านสมาชิกมาประชุมเป็นครั้งที่ ๒ นะครับ ครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ วันจันทร์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ นะครับ ก่อนที่จะ ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระการประชุม ผมขออนุญาตเรียนต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาปฏิรูป แห่งชาติ ผมจึงต้องขออนุญาตดำเนินการโดยเชิญผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดนะครับ คือขออนุญาต เรียนเชิญท่านพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราว เพื่อดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวนะครับ ผมขออนุญาตให้ท่านรองเลขาธิการ ไปเรียนเชิญท่านพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

สวัสดีครับ ท่านสมาชิกทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานชั่วคราวในวันนี้อีกวาระหนึ่ง ต่อไปผมขอดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ผมขอปรึกษาที่ประชุมเพื่อของดใช้ข้อบังคับ ข้อ ๒๒ ในการเลือกประธานเฉพาะคราว ซึ่งจะทำหน้าที่ในการประชุมครั้งนี้และครั้งต่อไปจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในการเลือกถ้ามีผู้เสนอชื่อเกิน ๒ คน จะใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ถ้าไม่มี ผมขอดำเนินการตามที่ปรึกษานะครับ ก่อนที่ผมจะขอมติที่ประชุมว่าจะอนุมัติให้งดใช้ ข้อบังคับ ข้อ ๒๒ หรือไม่ ผมขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนนะครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ขอเชิญท่านสมาชิกใช้ สิทธิแสดงตน โปรดเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนด้วยครับ

นายวันชัย สอนศิริ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม วันชัย สอนศิริ ครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายวันชัย สอนศิริ ต้นฉบับ

ขอแสดงตนด้วยครับ พอดีบัตรอยู่ในระหว่าง ดำเนินการอยู่ครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

เจ้าหน้าที่กรุณาส่งผล ให้ผมด้วยครับ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมขณะนี้ครับ

นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ผมลืมบัตรไว้วันก่อนเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะเอามาให้ครับ ขออนุญาตแสดงตนครับ ๑๐๓ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ครับ ขอบพระคุณครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ขณะนี้สรุปได้ว่า มีจำนวนสมาชิกผู้เข้าประชุม ๒๒๑ คนแล้วนะครับ ยังมีใครตกหล่นอีกบ้างไหมครับ ๒๒๒ คนแล้วนะครับ ยังมีอีกไหมครับ มีข้างหน้า ๒๒๓ คน มีอีกไหมครับ ไม่มีท่านผู้ใด ยกมือแล้วนะครับ ผมมองไป ๓ รอบแล้วนะครับ ไม่เห็นมีใครยกมือนะครับ มีอีก ๒๒๔ คนครับ ถ้าใครยังเสียบบัตรไม่ได้กรุณายกมือขึ้นด้วยนะครับ มียกมือทางโน้น อีกแล้วครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ ๒๒๖ คนแล้วครับ มีอีกแล้วทางนี้ ๒๒๗ คนแล้วครับ เชิญครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ขออนุญาต ท่านประธานครับ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ ขอกราบเรียนท่านประธานว่าท่านที่ยกมือเพิ่ม กรุณาขานชื่อด้วย เพราะเจ้าหน้าที่เขาบันทึกไม่ถูกว่าใคร มีแต่จำนวนเดี๋ยวไม่มีชื่อท่าน นะครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตอย่างนี้ นะครับ เพื่อให้สะดวกในการนับ ขอล้างเครื่องแล้วเสียบบัตรใหม่ครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ถ้าท่านใดเสียบบัตร แล้วเครื่องไม่ทำงานกรุณายกมือขึ้นด้วยนะครับ เชิญครับทางนี้ ท่านชิงชัยเสียบบัตรแล้ว เครื่องไม่ขึ้น มีท่านอื่นอีกไหมครับ เสียบได้ไหมครับ ไม่ได้ อย่างนั้นท่านชิงชัยยืนขึ้นเสนอชื่อ ตนเองด้วยครับ

นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ต้นฉบับ

หมายเลข ๖๔ ต้องขอประทานโทษด้วยครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ชื่อครับ

นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ต้นฉบับ

ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ หมายเลข ๖๔ ครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

มีท่านอื่นอีกไหมครับ ไม่มีนะครับ ลงคะแนนครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

๒๓๐ คนนะครับ ที่มาประชุมในวันนี้ครบองค์ประชุมแล้ว เป็นอันว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมแล้ว นะครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ต่อไปผมจะขอมติจากที่ประชุมว่าจะอนุมัติให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ ๒๒ หรือไม่ครับ ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดเห็นควรงดใช้ข้อบังคับ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าไม่ควรงดใช้ข้อบังคับ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่า ควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียงด้วยครับ เชิญครับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ต้นฉบับ

สืบเนื่องจากท่านสมาชิกหลายท่านนะครับ อาจจะยังใช้วิธีการกดปุ่มไม่เข้าใจ เพราะว่าเป็นช่วงแรก ๆ นะครับ อยากให้ท่านเลขาธิการ ได้ย้ำอีกครั้งหนึ่ง คือต้องกดแสดงตนหลังจากนั้นไฟกระพริบ ปุ่มที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือไม่แสดงความคิดเห็นก็จะกระพริบขึ้นมาก็จะกดครั้งที่ ๒ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ผมขอย้ำอีกทีนะครับ ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดเห็นควรงดใช้ข้อบังคับ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าไม่ควรงดใช้ข้อบังคับ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่า ควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง มีสมาชิกท่านใดยังหาปุ่มไม่เจอมีบ้างไหมครับ ไม่มีนะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๒๓๑ คน เห็นด้วย ๒๓๐ คน ไม่เห็นด้วย ไม่มีนะครับ งดออกเสียง ๑ คน แสดงว่า เห็นด้วย เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยว่า จะงดใช้ข้อบังคับ ข้อ ๒๒ นะครับ และผมขอให้ประธานเฉพาะคราวทำหน้าที่ครั้งต่อไปด้วย นะครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นการเลือกประธานเฉพาะคราว ขอเชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อครับ เชิญครับ

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมือง ขออนุญาตเสนอ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานที่ประชุมชั่วคราว ขอผู้รับรอง ด้วยครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

มีผู้รับรองครบถ้วน นะครับ มีสมาชิกท่านใดจะเสนอท่านอื่นขึ้นมาอีกไหมครับ ท่านเสรีเชิญครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เท่าที่ดูแล้วคงไม่เห็นมีท่านใดจะเสนอท่านอื่นอีก แต่ผมต้องกราบเรียนท่านประธานครับว่า ท่านสมาชิกที่เสนอท่านว่าที่ท่านประธาน อาจารย์เทียนฉายนั้น ผมคิดว่าในช่วงเวลานี้นะครับยังไม่ควรเสนอให้ท่านมาทำหน้าที่ ชั่วคราวในขณะนี้ เพราะท่านเป็นบุคคลซึ่งสภาแห่งนี้ได้มีมติให้ท่านเป็นประธานสภาปฏิรูป แห่งชาติ ซึ่งจะต้องมีพิธีการที่จะต้องเข้ารับสนองพระบรมราชโองการ ถ้าหากว่ายังไม่มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่าน หากท่านมาทำหน้าที่ในขณะนี้ก็เกรงว่า จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจหรือความเห็นที่จะกลายเป็นเรื่องของการไม่บังควร หรือการไม่เหมาะสม ผมกราบเรียนเพื่อที่จะได้ให้ท่านพิจารณา มิได้รังเกียจ มิได้ไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าเราควรต้องระมัดระวัง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่บอบบาง กระทบต่อความเห็น ความรู้สึกได้โดยง่าย แล้วก็จะมีผลถึงการทำหน้าที่ในโอกาสต่อไป ถ้าหากว่าจะให้เสนอชื่อ ผมก็จะเสนอชื่อท่านประธานพารณทำหน้าที่ต่อไปในขณะนี้ก่อนนะครับ ก็สุดแล้วแต่นะครับ ขอบพระคุณครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

เชิญท่านอมรครับ

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผม อมร วาณิชวิวัฒน์ ต้องขอทำความเข้าใจนิดหนึ่งนะครับว่า ที่ได้นำเสนอท่านศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เทียนฉาย กีระนันทน์ นั้นคงมิได้หมายความว่า ผมไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับประเพณีอะไรต่าง ๆ แต่ต้องขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่า ในที่ประชุมนั้นได้มีการงดเว้นข้อบังคับการประชุม และที่สำคัญก็คือการทำหน้าที่ตรงนี้ ทุกคนทราบดีครับว่า ท่านศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เทียนฉายยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่ว่าในส่วนข้อเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้นำเรียนนั้นก็เป็นไปตามมติของที่ประชุม ซึ่งให้การรับรองครับ แต่ถ้าหากที่ประชุมจะเห็นเป็นอย่างอื่น จะเห็นเหมือนท่านอาจารย์เสรี หรือท่านจะมีความเห็นอื่นอย่างใดก็ไม่ขัดข้องครับ ขอบพระคุณครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ท่านสมาชิก ที่เคารพครับ ผมขอถอนตัวครับ เพราะว่าเป็นผู้สูงวัยนะครับ ความว่องไวลดน้อยลง ขอให้เสนอคนที่มีคุณภาพและวัยวุฒิน้อยกว่ามาเป็นเถอะครับ อย่าเอาผมเป็นเลยครับ ท่านประสารครับ เชิญครับ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ด้านการเมือง ขอเรียนยืนยันเห็นด้วยกับข้อเสนอศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานเฉพาะคราว เป็นที่รับรู้ เป็นที่เปิดเผย ไม่มีอะไร ปิดบังเลยครับ ขอยืนยันตามนี้ครับ ขอบพระคุณครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

ขอความเห็นสมาชิก ท่านอื่นครับ เชิญครับ

นายณรงค์ พุทธิชีวิน ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ณรงค์ พุทธิชีวิน สปช. ด้านการศึกษาครับ ถ้าเรามีความคิดว่าต้องโปรดเกล้าฯ ก่อนแล้วก็ทำหน้าที่ นั่นเป็นเรื่อง ปกติครับ แต่ตอนนี้พวกเรายกเว้นข้อบังคับ ข้อ ๒๒ แล้ว นั่นประเด็นที่ ๑

นายณรงค์ พุทธิชีวิน ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในข้อเท็จจริงก็คือขณะนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ปกติ มีหลายส่วนที่ทำหน้าที่ก่อนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทั้งหัวหน้า คสช. เอง ก็โปรดเกล้าฯ ทีหลัง มีหลายส่วนในส่วนราชการที่คนที่จะต้องรอพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ก็ทำหน้าที่ชั่วคราวไปก่อน อธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายที่ครับต้องโปรดเกล้าฯ เหมือนกัน แต่เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็มีที่ประชุมในสภานั้นโหวต (Vote) ให้ช่วยทำหน้าที่ไปก่อนก็สามารถดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นโดยเหตุโดยผล และโดยความเหมาะสมของสภาแห่งนี้ ผมยืนยันว่าท่านเทียนฉายควรจะทำหน้าที่ตามที่ ที่ประชุมนี้รับรองครับท่านประธานครับ ด้วยความขอบคุณครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

สมาชิกท่านอื่น มีความเห็นอย่างไรครับ เชิญครับ

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม สยุมพร ลิ่มไทย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการปกครองท้องถิ่นครับ คือกระผมเห็นว่าขณะนี้ก็ได้มี ญัตติซึ่งยื่นเข้ามาแล้วก็มีผู้รับรองถูกต้องแล้วนะครับ แล้วก็ไม่มีญัตติเป็นอย่างอื่นนะครับ มีผู้เสนอให้ท่านประธานพารณได้ทำหน้าที่ด้วย ซึ่งท่านก็ขอถอนตัวแล้วนะครับ ก็แสดงว่า ไม่มีญัตติอื่นที่จะมาพิจารณาคู่กันไป เพราะฉะนั้นผมขอเรียนให้ท่านประธานได้ช่วยกรุณา ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานชั่วคราว ต้นฉบับ

อย่างนั้นผมขอสรุปว่า ท่านสมาชิกได้เสนอชื่อ ดอกเตอร์เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานเฉพาะคราว เพียงชื่อเดียว จึงถือว่าอาจารย์เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นประธานเฉพาะคราว ตามเสียงส่วนใหญ่นะครับ ผมจะขอให้เลขาธิการไปเรียนเชิญอาจารย์เทียนฉายเพื่อทำหน้าที่ ประธานเฉพาะคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปนะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขออนุญาตเริ่ม ดำเนินการตามระเบียบวาระและพิธีการนะครับ ในการประชุมคราวที่แล้วยังมีสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมและวันนี้มาร่วมประชุมแล้ว ผมขอเรียนว่า ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับกำหนดไว้เกี่ยวกับการปฏิญาณตน ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ว่าเพื่อรักษาแบบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ก่อนเข้า ปฏิบัติหน้าที่ควรได้กล่าวคำปฏิญาณตนก่อน ผมจึงขอเชิญท่านสมาชิกโปรดยืนขึ้น เพื่อกล่าวปฏิญาณตน โดยผมจะกล่าวนำและท่านโปรดระบุชื่อของท่านในตอนต้น เข้าใจว่า จะมีท่านจุรี วิจิตรวาทการ ท่านมีชัย วีระไวทยะ ท่านเปรื่อง จันดา และท่านเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครับ กรุณาได้กล่าวตามแล้วก็ระบุชื่อของท่านนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ”

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญนั่งครับ ถัดไปการรับรองรายงานการประชุมยังไม่มีนะครับ เรื่องกระทู้ถามยังไม่มี จะเป็นการ ดำเนินการตามระเบียบวาระที่จัดไว้ต่อไปนี้ ก่อนอื่นผมขอขอบคุณท่านสมาชิกที่มอบหมาย ให้ผมทำหน้าที่เป็นประธานเฉพาะคราวของที่ประชุมวันนี้ ก็ขออนุญาตดำเนินการตาม ระเบียบวาระการประชุมที่มีอยู่นะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม ก็ได้ดำเนินการแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่ได้กล่าวปฏิญาณตน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ ที่ผมเรียนแล้วเมื่อสักครู่ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๓ กระทู้ถาม ไม่มี

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๔ เชิญครับท่านสมาชิกครับ

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม สยุมพร ลิ่มไทย สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่นครับ ผมต้องขออภัยที่ลุกขึ้นมาเพื่อใช้เวลาเล็กน้อย ก่อนที่ท่านประธานจะดำเนินการในระเบียบวาระที่ ๔ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ที่จะต้องพูดนะครับ เพราะว่าในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคมที่ผ่านมานะครับ ผมคิดว่ามีบางเรื่องที่ท่านสมาชิกจำนวนไม่น้อยอยากจะพูดแต่ว่าไม่มีโอกาสได้พูด แล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการดำเนินการประชุมในครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไปด้วยนะครับ ผมจะขอใช้เวลาให้สั้นที่สุดครับ จะไม่รบกวนเวลาให้มากนัก

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือความรู้สึกแล้วก็ความคาดหวังของประชาชนนะครับ จากการที่ได้รับฟังการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งนี้ โดยผมได้ประเมินจากการประชุม เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นผมได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งผมเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่นั่น ได้พบคนจำนวนมากครับ คนที่ได้รับฟังการประชุมเขาสะท้อนความคิดเห็นที่ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันนะครับ ก็คือมีความรู้สึกค่อนข้างผิดหวังในการที่ได้รับฟังในวันนั้น เพราะว่าเขาคาดว่าจะได้รับฟัง การประชุมที่แตกต่างไปจากสภาการเมือง เขาคาดว่าจะได้รับฟังการประชุมที่เป็นสภา ของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาดหวังที่จะเห็นสภา ใช้เวลาส่วนใหญ่ให้คุ้มค่าเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปนะครับ อันนี้เป็นเรื่องแรกที่ผม ขอกราบเรียนนะครับ

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ในวันนั้นต้องยอมรับว่าใช้เวลา ๗ ชั่วโมงครึ่งนะครับ เวลาส่วนใหญ่ ถูกใช้ไปในปัญหาข้อบังคับแล้วก็การตีความนะครับ ซึ่งแม้ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ผมคิดว่า เราได้ใช้เวลาที่ติดลมอยู่ในเรื่องของข้อบังคับและระเบียบ แทนที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ กำหนดแนวทางในการที่จะเดินหน้าต่อไปนะครับ ผมขอเรียกร้องให้ท่าน สปช. ท่านที่มี ความเชี่ยวชาญในเรื่องข้อบังคับได้ช่วยกรุณานำพาพวกเราอย่าให้ใช้เวลามากนักกับเรื่องของ ข้อบังคับ แล้วก็ผมยังคาดหวังอยากให้ท่านเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ช่วยพวกเรา อย่างเต็มที่ในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ได้เห็นการประชุมสภามาอย่างยาวนาน รู้ว่ามีแบบธรรมเนียมที่ควรจะต้องปฏิบัติอย่างไร ผมคิดว่าเวลาส่วนใหญ่ที่จะใช้ในการประชุม ต่อจากนี้ควรจะมีอยู่ในกรอบ ๓ เรื่องที่สำคัญนะครับ

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

เรื่องแรก ก็คือการจัดองค์กรและกลไกต่าง ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือในการทำงาน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งสภาก็ได้มีการแต่งตั้งกรรมการบางชุดไปแล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมอยากจะขอให้มีการเร่งรัดจัดบุคลากรหรือผู้แทน สปช. จากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เข้าไป อยู่ใน สปช. ทั้ง ๑๑ ด้านให้ครบถ้วนโดยเร็ว เพื่อที่แต่ละด้านจะได้เริ่มทำงานอย่างจริงจัง แล้วก็จะได้มีภาพที่เป็นหนึ่งเดียวนะครับว่า สปช. หลังจากนี้มีเพียงสถานภาพเดียวก็คือ สปช. ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้น ไม่แบ่งเป็น สปช. จากที่โน่นที่นี่ตามที่ สื่อบางสาขาได้พยายามจะมีการวิเคราะห์

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นก็คือการที่จะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเวทีเพื่อให้ประชาชนทุกจังหวัดได้แสดงความคิดเห็น เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ รวมทั้งการที่ควรจะต้องเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นของสภาปฏิรูป แห่งชาติขึ้นโดยเร็ว ซึ่งท่านอาจจะมอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานชั่วคราวหรือใคร หรือคณะใดเป็นผู้ดำเนินการก็ได้นะครับ

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้มากที่สุดก็คือ การที่ สปช. แต่ละด้านได้ไปใช้เวลาในการศึกษาแล้วก็นำเสนอความเห็นในด้านต่าง ๆ เข้ามาสู่ สปช. เพื่อที่จะเป็นกรอบแนวความคิดหลักในการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

นายสยุมพร ลิ่มไทย ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายในการประชุมสภา ผมคิดว่าคงจะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่สุดท้ายแล้วก็คงจะมีความเห็นเพียง ๒ ฝ่าย ก็คือฝ่ายเสียงข้างน้อยแล้วก็ฝ่ายเสียงข้างมาก ผมก็เรียกร้องให้มีการรับฟังความเห็นของเสียงข้างน้อย โดยท่านประธานก็คงจะรับฟังให้ทั่วถึง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อได้มีมติซึ่งเป็นความเห็นของเสียงส่วนใหญ่แล้ว ก็ควรจะต้องมีการเคารพ ต่อมติของเสียงส่วนใหญ่ด้วย ผมก็ขอให้ท่านประธานได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง แล้วอาจจะ เด็ดขาดและเข้มแข็งในบางเรื่องเพื่อให้เป็นไปตามหลักการนี้นะครับ ขอขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านสยุมพร ขอโทษที่ต้องเอ่ยชื่อ อันที่จริงผมก็เตรียมว่าจะพูดอย่างที่ท่านพูด แต่ว่ารอให้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เรียบร้อย วาระวันนี้เป็นวาระชั่วคราว ดังนั้น ผมขออนุญาตดำเนินการตามวาระให้เสร็จสิ้น เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วโดยกรอบ รัฐธรรมนูญกำหนดก็คือเรื่องที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้รับมอบหมายจากสภาปฏิรูปแห่งชาตินี้ให้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มา ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะฉะนั้นก่อนจะพิจารณาเรื่องนี้ ผมขออนุญาตได้เรียนเชิญคณะกรรมาธิการกิจการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้กรุณาเข้าประจำที่นั่งของคณะกรรมาธิการ เพื่อช่วยกัน อธิบายในเรื่องเหล่านี้ด้วยครับ เชิญครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขออนุญาต และขอประทานโทษท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้วยความใหม่และใช้เวลานิดหนึ่ง ในการเข้าประจำที่ และบัดนี้คณะกรรมาธิการได้เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องที่จะ รายงานที่ประชุมนั้นคงมีเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นเรื่องแนวทางการสรรหากรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญจากผู้ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คน และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กำหนดวันและเวลาการประชุมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติได้พิจารณา แล้วให้ความเห็นชอบหรือให้ข้อยุติในทั้ง ๒ ประเด็น เนื่องจากผมเองได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ให้ทำหน้าที่ประธานในชุดนั้น และบัดนี้ผมต้องทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นการเฉพาะคราวนี้ ก็ขออนุญาตว่าให้ท่านเลขานุการของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ท่านอลงกรณ์ พลบุตร ได้กรุณานำเสนอในส่วนแรกเสียก่อนนะครับ แนวทางการสรรหา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจากผู้ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คน เรียนเชิญครับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ในที่ประชุม ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ โดยที่ประชุมได้มีมติตั้ง คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการ ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ โดยได้มีการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

๑. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการได้มีมติเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานกรรมาธิการ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นางสาวทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน คณะกรรมาธิการ คนที่สอง นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ พลโท ฐิติวัจน์ กำลังเอก เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ นายวันชัย สอนศิริ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล เป็นผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการ โดยได้มีการพิจารณาสาระสำคัญหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมไปถึงที่ท่านประธานชั่วคราวในที่ประชุมจะได้ให้กระผมได้นำเสนอมติของที่ประชุม ของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวนี้ โดยในที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาในเรื่องการนับ ระยะเวลาเริ่มต้นการสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจาก ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ทั้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แนวปฏิบัติในเรื่องของการตราพระราชกฤษฎีกาย้อนหลังและจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึง การแถลงข่าวของคณะรัฐมนตรีในเรื่องการจะดำเนินการสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควร เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ซึ่งเห็นเป็นแนวทางเดียวกัน คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) จึงมีความเห็นเป็นที่ยุติว่าให้นับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นวันเริ่มต้น ของการนับระยะเวลาในการสรรหาบุคคลเข้าเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือจะต้อง แล้วเสร็จภายในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ สำหรับข้อพิจารณาในแนวทางการสรรหา ผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คนนั้น ที่ประชุม คณะกรรมาธิการได้พิจารณากำหนดแนวทางในการสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควร เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คน โดยมีข้อสรุป ดังนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

๑. คุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ขัดกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

๒. ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องสมัครใจในการได้รับการเสนอชื่อนั้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

๓. กำหนดแนวทางการได้มาซึ่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คน โดยมีสัดส่วนจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๑๕ คน และจาก บุคคลภายนอก จำนวน ๕ คน สำหรับแนวทางการสรรหา มีดังนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

๑. การสรรหาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๑๕ คน โดยการเสนอชื่อ ผู้ที่มีความเหมาะสมและไม่มีลักษณะต้องห้ามจากกลุ่มต่าง ๆ ๑๑ ด้าน ด้านละ ๑ คน และการเสนอชื่อจาก ๔ ภาค ภาคละ ๑ คน รวมเป็นทั้งสิ้น ๑๕ คน โดยกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง ๑๑ ด้าน และ ๔ ภาค อาจไม่เสนอชื่อสมาชิกท่านใดเลยก็ได้ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีความประสงค์จะสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและไม่รับการสรรหา จากกลุ่มต่าง ๆ สามารถสมัครขอรับการสรรหาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ และหากมีผู้ได้รับการสรรหามากกว่า ๑๕ คน ให้ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติเลือก ให้เหลือจำนวน ๑๕ คน

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

๒. การสรรหาจากบุคคลภายนอก ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและไม่มีลักษณะ ต้องห้าม จำนวน ๕ คน ทั้งนี้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เป็นผู้สรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและไม่มีลักษณะต้องห้าม และเสนอให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

นอกจากนั้น ขออนุญาตท่านประธานนะครับ ได้เสนอรายงานอีก ๑ ข้อ ก็คือ ว่าที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบวันและเวลาประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกวันจันทร์ และวันอังคารของสัปดาห์ ดังนั้นจึงได้มีการเสนอให้มีการประชุมวันจันทร์ที่ ๒๗ ตุลาคม และวันอังคารที่ ๒๘ ตุลาคม เพื่อดำเนินการภารกิจต่อไปครับ ขอบพระคุณท่านประธาน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านอลงกรณ์ เชิญท่านกรรมาธิการ

นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิก สปช. เป็นกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นะครับ ผมขออนุญาตที่ประชุมได้เรียนเพิ่มเติมจากที่ท่านเลขานุการได้รายงานไปแล้วนะครับ เพื่อว่าในส่วนการพิจารณาถัดจากนี้ไปก็อาจจะได้ ทำให้ได้ประหยัดเวลาแล้วก็รวดเร็วมากขึ้น นะครับ ท่านสมาชิกครับ ผมอยากเรียนอย่างนี้ว่า เมื่อสักครู่เราได้ยินท่านสยุมพรได้พูดไปแล้ว เราก็กำลังอยู่ในบรรยากาศในการเข้ามาทำงานกันใหม่ในเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งก็ไม่เคยมีมาก่อน แล้วก็เรากำลังดำเนินการทำงานกันนะครับ ผมอยากจะกราบเรียนว่า ผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้ประสาน ไม่ได้เป็นตัวแทน เป็นผู้ประสานของกลุ่มทางด้านสังคม เพื่อเข้าไปทำงานในกรรมาธิการชั่วคราวตรงนี้ กราบเรียนท่านสมาชิกเพื่อน ๆ ครับว่า วันประชุมวันนั้นบรรยากาศดีมากนะครับ เป็นลักษณะที่เราไม่ได้เอากรอบการทำงาน แบบสภาการเมืองมาใช้ ได้มีการปรึกษาหารือกันในเรื่องของการทำงานนะครับ จริง ๆ แล้ว ประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการจะพิจารณาหรือจะคุยกัน คือเรื่องของเราจะทำงานให้ประสบ ความสำเร็จได้อย่างไรตามภารกิจที่เราจะต้องทำนะครับ แต่เนื่องจากมีเรื่องเร่งด่วนเรื่องนี้ ก็เลยได้มีการต้องรีบปรึกษาเรื่องนี้กันนะครับ เราได้คุยกันว่าเราอาจจะต้องพยายาม ลดลักษณะของกรอบ วิธี และวัฒนธรรมในเรื่องของสภาการเมืองลง ซึ่งสอดคล้องกับ ที่ท่านสยุมพรพูดเมื่อเช้านะครับ เราคุยกันเช่น วันนั้นเราคุยกันว่าท่านประธานก็ไม่ต้องบอกว่า ท่านประธานที่เคารพ ท่านบอกไม่ต้องก็ได้นะครับ มันจะประหยัดเวลาขึ้นมา หรือแม้แต่ การแนะนำตัวนะครับ เมื่อสักครู่ผมก็พยายามจะแนะนำตัวชื่อผมเฉย ๆ และบอกเป็นสมาชิก ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปบอกว่าสายไหน มาจากไหน อะไร อย่างไร อันนั้นเป็นที่มาของพวกเรา แล้วเราก็พูดสั้น เขาบอกวัตถุประสงค์ในการพูดตรงนี้ก็เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่จดบันทึก ได้ถูกต้องว่าใครเป็นคนพูดนะครับ บางทีเวลาพูดถึงชื่อใครเราก็จะมีว่า ขออภัยที่เอ่ยนาม เราก็คุยกันว่าแบบนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นนะครับ เพราะว่าเราพูดเพื่ออ้างอิงแล้วก็พูดสืบเนื่องไป แล้วก็เราคุยกันว่าเวลาประชุมเสร็จแล้วก็จะเน้นการบันทึกสาระสำคัญการประชุมแทนที่ จะไปเน้นรายละเอียดเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยนะครับ ผมกราบเรียนตรงนี้ก็เพื่อจะให้เห็น บรรยากาศว่าสิ่งเหล่านี้สภาเราเพิ่งประชุมใหญ่วันที่ ๒ เองนะครับ เราจะช่วยกันสร้าง วัฒนธรรมในการที่เราไปสู่เนื้อหากันได้อย่างไร ก็กราบเรียนว่าในกรรมาธิการกิจการสภา ปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้มีการพูดคุยกัน ที่ผมขออนุญาตตัดสินใจเรียนตรงนี้เพราะว่า ในระบบการรายงานสิ่งเหล่านี้ยังไม่มี แล้วก็เป็นการเริ่มต้นตรงนี้ ถ้าเราได้คุยกันนะครับ มันก็จะทำให้เราทำงานได้ไปในทิศทางที่ผมคิดว่าสมาชิกเห็นตรงกันแล้วก็อยากจะให้ ไปทางนี้นะครับ

นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ กราบเรียนคือว่ากรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) วันนั้นเราก็คุยกันเร็วมากในกลุ่มต่าง ๆ แล้วก็ส่งผู้แทนเข้าไปนะครับ เราตระหนักว่า ผู้ที่เข้าไปไม่ได้เป็นผู้แทนที่จะมีอำนาจเต็มในการไปทำอะไร แต่เราย่อส่วนเพื่อจะให้ไป คุยกันในวงเล็กขึ้น เพื่อที่จะให้มีข้อเสนอต่าง ๆ ซึ่งระบบตรงนี้ก็จะต้องกลับมารายงานแบบนี้ เพื่อให้สภาใหญ่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญนะครับ เพราะฉะนั้นประเด็นตรงนี้ก็เป็นประเด็น วิธีการทำงานให้ราบรื่นมากขึ้น เหมือนกับเมื่อเช้าที่เราแยกกลุ่มกันไปก็จะทำให้เราได้เข้าใจ ในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้คุยเรื่องสำคัญ ๆ ก็จะทำให้การทำงานสภาใหญ่มันเร็วขึ้นนะครับ ผมกราบเรียนอย่างนี้ครับว่าพอเราพูดถึงเรื่องด่วนก็คือที่ท่านเลขานุการได้รายงานไปแล้ว เรื่องของ ๒๐ คนที่เราต้องส่งเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องตรงนี้จริง ๆ แล้ว มี ๒ ประเด็น ประเด็นที่ ๑ ก็คือว่าจะเป็นจำนวนเท่าไร จริง ๆ ตอนนี้ก็ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา คือ ๑๕ บวก ๕ ที่ทางกรรมาธิการได้เสนอมา และประเด็นที่ ๒ คือเรื่องวิธีการที่ได้มานะครับ อันนี้รายละเอียดผมจะขออนุญาตไม่ลง เดี๋ยวก็ได้คุยกันต่อไป คราวนี้ผมอยากกราบเรียน ประเด็นเรื่อง ๑๕ ๕ หรือ ๒๐ ๐ ผมกราบเรียนว่าในกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้รายงานมาเรื่องของ ๑๕ ๕ ก็คือคนนอก ๕ คน เหตุผลต่าง ๆ มีอยู่ว่ากัน อันนี้ ก็เป็นเรื่องการอภิปรายกันไป แล้วก็มีมตินะครับ ผมอยากกราบเรียนว่าไม่ว่าเสนอประเด็นอะไรมา ไม่ได้หมายความว่าประเด็นอื่นเช่น ประเด็น ๒๐ ๐ จะหายไป เพราะในการพิจารณาของเรา ในวันนั้นเราก็มีเสียงที่ใกล้เคียงกัน มันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ เรื่องแพ้หรือชนะ ที่ผมกราบเรียนตรงนี้เพราะว่าพอหลังจากนั้นบรรยากาศออกไปสู่สังคม มันจะเริ่มมีคำที่ใช้ นะครับว่า จ่อดึงคนนอกนะครับ หรือดึงคนนอก แล้วมันไปไกลกว่านั้นคือล้มมติกรรมาธิการ หรือคว่ำ หรือหัก ซึ่งผมคิดว่าบรรยากาศแบบนี้มันจะพาให้สภาของเรา บรรยากาศในการ ทำงานเข้าไปสู่ความขัดแย้งในประเด็นคล้าย ๆ แบบการเมือง ที่ผมเรียนตรงนี้เพราะผมคิดว่า ในการเสนอของกรรมาธิการมาก็อาจจะมีทางเลือกหนึ่งทางเลือกนั้นก็มีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผมไม่ลงรายละเอียดนะครับ ในขณะเดียวกัน ทางเลือกที่ไม่ได้เสนอก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเราเห็นแบบนี้เวลาเราเข้ามาในสภาใหญ่ ถ้ามีอะไรที่ความเห็นแตกต่างกันเราก็ไม่ได้ เอาชนะคะคานกัน เราก็ไม่ได้มีใครแพ้ใครชนะ แต่เรามาตัดสินใจเพื่อจะเลือกทางเลือกที่ดี ถ้าที่ประชุมใหญ่เห็นกับที่ทางกรรมาธิการเสนอไว้แล้วก็เลือก มันก็ไปได้ แต่ถ้าไม่เห็น และมีการเสนอญัตติที่เลือกเป็นอย่างอื่น มันก็เป็นวิถีที่ควรจะเป็น ผมเองผมรู้สึกว่า เราไม่ควรจะมีประเด็นคำว่า หัก คำว่า แพ้ คำว่า ชนะ คำว่า คว่ำ ซึ่งอันนี้แน่นอนครับ เราไปกำกับสังคมทั้งสังคมไม่ได้ แต่ในบรรยากาศของพวกเราที่เป็นสมาชิกอยู่ในนี้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ตรงกันนะครับเรื่องเหล่านี้ก็จะไม่เป็นเรื่องที่จะไปทำให้บานปลายไป แล้วเราจะได้มีเวลาที่จะมาพิจารณาในเนื้อหาสาระต่อไป ผมขอประทานโทษ ที่ใช้เวลาตรงนี้ กราบเรียนให้เห็นว่า ๑. บรรยากาศในการที่เราจะทำงาน ซึ่งเราคงต้องช่วยกัน เพื่อจะ ขับเคลื่อนให้ไปเป็นวัฒนธรรม ในอันหนึ่งนะครับ ประเด็นที่ ๒ ที่กราบเรียนแล้วว่าอาจจะ ทำให้เราพยายามที่จะทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งนะครับ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแพ้เรื่องชนะ ขอกราบขอบพระคุณที่ประชุมครับ กราบขอบคุณท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ท่านอำพล ผมเข้าใจว่าตอนนี้จะเป็นเรื่องการเปิดอภิปรายแล้วนะครับ ที่จะมีความเห็น เกี่ยวกับข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้นำเสนอมา เรื่องที่ ๒ เรื่อง วัน เวลาประชุม เราจะรอไว้ก่อนนะครับ เอาเรื่องการได้มาซึ่ง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอภิปรายกันเสียก่อนให้ได้ข้อยุติ ขออนุญาตให้ เจ้าหน้าที่บันทึกมือที่ยกด้วยนะครับ ขณะนี้เข้าใจว่าท่านเสรียกเป็นท่านแรก แล้วตามด้วย ท่านไพบูลย์ นิติตะวัน ขอตรงนี้ก่อน แล้วเดี๋ยวท่านอื่นที่ยกเดี๋ยวเราไล่ตามมานะครับ เชิญท่านเสรีครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผมก็คง ต้องเรียกท่านประธานที่เคารพ ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยที่ท่านมาทำหน้าที่ชั่วคราว แต่คำว่า ประธานที่เคารพ มันเป็นประเพณีอันดีงาม ไม่ว่าจะสภาไหนก็ตามควรที่จะต้องใช้ ไม่ใช่ว่าเราจำกัดเวลาเสียจนอะไร ๆ ก็ตัดเสียหมด ประเพณีอันดีงาม วัฒนธรรมที่ดีงาม ในการประชุมร่วมกัน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะรักษา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ปฏิรูป ต้องเข้าใจกันให้ชัด สิ่งที่พูดในสภา ผมเชื่อว่าทุกท่านพูดด้วยสาระ มีเหตุผล แต่การที่ใช้เวลามากมันก็อยู่ที่ เนื้อหา มันไม่ได้อยู่ที่ว่าประชาชนเห็นเราพูด ๗ ชั่วโมง แล้วก็บอกว่าน่าผิดหวัง ผมว่าอาจจะ เข้าใจผิดในการทำงานในสภา ในสภาเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกัน ผมถึงกราบเรียนท่านประธานครับ ถ้าสื่อมวลชนเขาจะไปเขียนข้อความอะไร โดยสรุปอย่างไร ต้องปล่อยเขา มันเป็นธรรมชาติ ของเขา เพียงแต่เราไม่ได้เป็นคนสรุปเอง หรือใช้ถ้อยคำดังกล่าวเสียเอง ท่านอย่าไปกังวล ผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในสภาแห่งนี้ เข้ามาด้วยความตั้งใจอันดีที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ ไม่ได้เข้ามาเล่นการเมือง ผมก็เช่นเดียวกันครับท่านประธาน แต่สิ่งที่ผมพูดในที่ประชุม ผมคิดว่าผมมีความรับผิดชอบต่อการทำงานร่วมกัน และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ กับการที่ท่านสมาชิก ถ้าหากไม่พูด แต่อาจไปคิด เพราะการตัดสินในสภานั้นขึ้นอยู่กับเสียง ที่จะลงคะแนน ผมถึงกราบเรียนครับว่าถ้าเกิดเราจะบอกว่าประชาชนคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ไปฟังมาครับ ประชาชนเขาบอกวันแรกที่เราประชุมนั้นนะครับ สมาชิกใช้เวลาเยอะ แต่ก็ตั้งใจทำงาน ขยันจริง ๆ วันแรก ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะฉะนั้น การเริ่มต้นการทำงานนั้นอย่าเริ่มตำหนิติติง อย่าเริ่มที่จะใช้ความคิดครอบงำคนอื่นตั้งแต่ เริ่มแรก มิฉะนั้นแล้วนี่นะครับเราทำงานเราจะขาดอิสระครับ สมาชิกทุกคนต้องมีอิสระ สมาชิกต้องทำงานด้วยเหตุผล เรามีข้อมูลจากข้างนอกเยอะครับ ที่เราจะต้องพิจารณาแล้ว นำมาวิเคราะห์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ให้อำนาจหน้าที่เราไว้อย่างนี้ ผมไม่อยากเห็นสภา แห่งนี้ทำงานแล้วไปหาผลสรุปข้างนอกมาตัดสินปัญหาในนี้ มันจะกลายเป็นทำงานแบบ ลอกการบ้าน มันไม่ได้ทำงานแบบให้เรามาทำหน้าที่แทนประชาชนแล้ววิเคราะห์เสนอแนะ นี่คือภาระหน้าที่สำคัญ ท่านประธานครับ ผมอยากจะตัดปัญหาเรื่องวันนับเวลา ท่านประธานบอกว่าจะพิจารณา ๒ เรื่อง ผมก็สบายใจว่า ๒ เรื่อง ก็เริ่มจากกรรมาธิการว่า จะเอากี่คน วันประชุมจะเอากี่วัน พอกรรมาธิการท่านให้ความกรุณาในการที่จะอธิบายว่า ประชุมอะไรบ้างนี่นะครับ มันก็ไปติดหล่มตรงนี้อีก แต่ผมใช้เวลานิดเดียวจริง ๆ ผมอ่านรายงานของกรรมาธิการผมกราบเรียนเลยผมไม่เห็นด้วย ที่ท่านนับเวลา ทั้ง ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตราติด ๆ กันเขียนไม่เหมือนกัน แต่ท่านสรุปว่าเป็นวันเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไปดูพระราชกฤษฎีกาที่ท่านยกมานี่ครับ ผมก็ไปดูอีกหลายฉบับ พอดีการเปิดประชุมของเรานี่นะครับ มันไม่มีพระราชกฤษฎีกา เปิดประชุม พอท่านไปเทียบเคียงตรงนี้มาผมก็ต้องไปดู พอไปดูแล้วเข้าใจได้ว่า การเปิดประชุมนั้นตามพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นเรื่องของการกำหนดวันจะประชุมว่า จะเริ่มประชุมในสมัยประชุมวันไหน เขาก็เลยนับวันแรกในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ส่วนวันที่พระองค์ท่านกำหนดวันให้ไว้ ณ วันที่เท่าไรนั้น ในพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับ นั่นละครับคือวันเรียกประชุม แต่ถ้าไม่สบายใจ ท่านไปดูข้อบังคับของการประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาตินะครับ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ก็เขียนไว้ว่าให้ประธานเรียกประชุมอย่างไร เพราะฉะนั้นวันเรียกประชุมกับวันนัดประชุม กับวันที่ประชุมวันแรก อย่างไรมันก็คนละวัน แต่ผมไม่อยากมาเถียงนะครับ ถ้าหากว่าท่านจะไปสรุปอย่างนี้ก็ฝากท่านที่จะเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไปนี่นะครับ ถ้าหากว่าท่านต้องการจะให้นับวันไหนก็เขียนให้เหมือนกันเสีย ก็ฝากไว้ตรงนี้ มิฉะนั้นแล้ว พอเขียนไม่ตรงกันเราก็มาหาทางแปลความกัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่ข้อยุติครับ และผมก็ไม่อยากให้ สิ่งเหล่านี้มันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ คนต่อไปเขาต้องมาเปิดอ่านแล้วก็บอกว่าวันที่ เรียกประชุมก็คือวันแรกที่มีการประชุม ผมก็ไม่อยากให้มีความหมายอย่างนั้น มิฉะนั้นแล้ว มันก็ขาดเหตุผลว่าวันเรียกประชุมวันหนึ่ง ถ้าวันนั้นไม่ได้ประชุมวันแรกก็ต้องเลื่อนประชุม แล้ววันแรกที่ประชุมจริง ๆ มันเป็นวันไหนอีกนะครับ มันก็ไม่ตรงกันอยู่แล้วนะครับ ก็คงไม่ อยากใช้เวลาเยอะนะครับ เพียงแต่บันทึกเอาไว้ แล้วก็ขอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องไปทำหน้าที่ในการยกร่างต่อไป กรุณาช่วยใช้ถ้อยคำ ถ้าจะนับวันเดียวกันขอให้ใช้ ถ้อยคำเหมือนกันนะครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องที่กรรมาธิการท่านได้กรุณาประชุมกัน แล้วก็ไปกำหนดจำนวนคนที่จะเป็นกรรมาธิการ ให้เป็นสัดส่วนของสมาชิก ๑๕ คน คนที่ไม่ได้ เป็นสมาชิก ๕ คน ผมไม่อยากใช้คำว่า คนนอก ท่านประธาน ถ้าใช้คนนอกมันก็เหมือน คนนอก คนใน เหมือนกับคนในเก่งอย่างไร คนในวิเศษกว่าคนข้างนอกอย่างไร คนใน เป็นเทวดาอย่างที่ท่านประธานเคยพูดหรือ ไม่ใช่เลยนะครับ ผมว่าเราต้องมาพูดกันด้วย เหตุผลว่าการที่เรากำหนดคนจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ ก็ได้บัญญัติเอาไว้ว่า คนที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มาจากบุคคล ๒ ส่วนใหญ่ ๆ ก็คือมาจาก สนช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๕ คน คสช. ๕ คน คณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ๕ คน รวมแล้ว ๑๕ คน ไม่ต้องรวมประธาน เพราะประธานเป็นที่คาดหวังว่า จะเป็นทั้งคนนอก คนใน ส่วนคนนอก ๑๕ คนนั้นมีสัดส่วนชัดเจนว่าไม่ใช่มาจากสมาชิก ส่วนที่บัญญัติไว้ให้สมาชิก ๒๐ คนนั้นต้องมาพิจารณาว่ามันมีเหตุผลอะไร แล้วทำไมถึงมา บัญญัติ ไม่ระบุไปเสียเลยว่าให้เป็นสมาชิกสัก ๒๐ คนเลย ผมเข้าใจว่าสิ่งที่บัญญัติไว้นี่นะครับ ก็ไม่อยากให้เกิดเดดล็อก (Deadlock) ครับ เจตนาจริง ๆ ก็อยากให้มาจากสมาชิกนั่นละครับ ๒๐ คน แต่ที่ต้องเขียนเปิดเอาไว้นี่นะครับ เพราะว่าคนจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นสมาชิกได้นี่มันมีคุณสมบัติต้องห้ามอยู่ อย่างเช่น ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ถ้าเป็นกรรมาธิการแล้วต้องถูกตัดสิทธิ ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ๒ ปี ตรงนี้แหละครับมันอาจจะเป็นเงื่อนไขว่าอาจจะทำให้ สมาชิกครบหรือไม่ครบจำนวนได้ ส่วนผมที่กราบเรียนท่านประธานตรงนี้นี่นะครับ ผมเรียนว่า ผมไม่มีส่วนได้เสียนะครับ เพราะอย่างไรผมก็เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องพูดกันให้เข้าใจ เพราะมีคนถามเยอะ สื่อมวลชนก็มาถามบอกว่าผมจะเข้าไปเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไหม ผมบอกผมเข้าไปไม่ได้เพราะคุณสมบัติผมนี่ครับ ออกจากสมาชิกพรรคการเมืองมา ๒ ปี ๘ เดือน ไม่ถึง ๓ ปี เขาห้ามไว้ แต่ผมก็จะต้องทำ หน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการยกร่าง รัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญนี่นะครับให้ความสำคัญสมาชิกตรงไหนครับ ตรงที่ว่า นับแต่วันที่มีการประชุมวันแรกนี่นะครับ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเสนอแนะต่าง ๆ ไปให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๖๐ วันครับ ๖๐ วันนี่ทำไมไม่ให้กรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญไปยกร่างเสียเลย มาฟังสมาชิกทำไม ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้อยู่ในความรับผิดชอบ อยู่ในการทำหน้าที่ที่จะต้องจัดทำ ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สำเร็จ เพราะกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญนี่นะครับ มีตั้งแต่รับฟังความคิดเห็น ประทานโทษครับ มีตั้งแต่ให้เสนอความคิดเห็น ๖๐ วันแรกหลังจากที่กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ฟังความคิดเห็นจากสมาชิกแล้ว ก็ให้เป็นความเห็นของสภาไปแล้ว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปทำการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน ๑๒๐ วัน เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี่นะครับ ท่านอย่าเข้าใจผิดนะครับ วันนั้นผมฟังท่านว่าที่รองประธานพูด ท่านบอกว่ามันเป็นอิสระ จริง ๆ แล้วมันเป็นอิสระ จริง ๆ ในการเขียน แต่การจะเขียนอย่างไรนั้นต้องให้ความสำคัญไปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติว่า สภาเขามีความคิดเห็นอย่างไร พิจารณาแล้วเสนออะไรมา มิฉะนั้นรัฐธรรมนูญเขาจะไม่เขียนว่า กรรมาธิการจะต้องไปฟังช่วงแรกก่อน ๖๐ วันแล้วไปเริ่มเขียน นี่คือความสำคัญครับ หลังจากที่ท่านเขียน ๑๒๐ วันเสร็จแล้วนะครับ รัฐธรรมนูญบัญญัติว่ากรรมาธิการต้องส่งร่างนี้ กลับสู่สภาให้พิจารณาอีก ๑๐ วันครับ พอพิจารณา ๑๐ วันแล้วทำอย่างไรครับ บอกว่า ให้สมาชิกรวมถึงองค์กรข้างนอกด้วยแต่ผมจะไม่พูดถึง ให้สมาชิกสามารถจะแก้ไข ถ้าตามหลักที่ทำงานในสภาเขาเรียกว่าแปรญัตติ ให้แก้ไขได้ภายในอีก ๓๐ วันครับ ท่านแก้ไขครับ พอแก้ไขเสร็จแล้วนะครับ ส่งไปให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา ต่ออีก ๖๐ วัน เห็นไหมครับ มันเป็นกระบวนการครับท่านประธาน แล้วหลังจากนั้น นี่นะครับ พอท่านแก้ไขเสร็จแล้วท่านต้องกลับมาขอความเห็นชอบในสภาว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบภายใน ๑๕ วันนับตั้งแต่ที่ส่งร่างกลับมา เพราะฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้ มันเป็นกระบวนการที่เป็นความสำคัญยิ่งของสภาแห่งนี้ ที่จะต้องรับผิดชอบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จโดยความเห็นพ้องต้องกัน ผมก็จะกลับมาสู่ที่ว่า สิ่งที่ผม ได้กราบเรียนท่านประธานไปเป็นกระบวนการในการที่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมานี่นะครับ นั่นหมายความว่าเขาให้เสียงของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๒๐ คน เพราะ ๒๐ คนนี้ จะสะท้อนความต้องการ ความคิดเห็น หรือข้อมูลไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่า ๒๐ คนนี้ซึ่งเป็นสมาชิกนี่นะครับ ท่านจำกัดเพียง ๑๕ คน แล้วที่ส่งมาจาก องค์กรข้างนอก ๑๕ คนนี่ครับ เอาส่วนคนที่ ๑๕ ที่เราจะตั้งกลับกลายไปตั้งคนอื่นซึ่งไม่ใช่ สมาชิก คน ๕ คนนี้ก็จะไปรวมกับ ๑๕ คนที่ถูกส่งเข้ามามันก็จะกลายเป็นเสียง ๒๐ คนนี่ ไม่ใช่สมาชิก ไม่ใช่มาจากสภาโดยตรง สภาก็จะเหลือ ๑๕ คน คนที่ไม่ใช่สมาชิกกลายเป็น ๒๐ คน ไม่รวมประธานนะครับ เพราะประธานอย่างไรก็ได้มา ๒ ทางอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่สะท้อนนี่นะครับ ถ้าเกิดเสียงในสภาเหลือแค่ ๑๕ คน ท่านจะพิจารณาไปใย พิจารณา ไปทำไม เพราะเสียงมันไปอยู่ข้างนอกสภาหมดแล้ว ท่านพูดให้หนักหนาสาหัสอย่างไรนี่นะครับ โอกาสที่มันจะไม่เป็นไปตามความคิดเห็นของสภานี่มันเกิดขึ้นได้สูงมาก เพราะฉะนั้น เสียง ๑๕ คนในสภามันก็จะทำให้เกิดมีปัญหา หลังจากนั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปร่างอะไรมาตามแต่คนอีก ๒๐ คนจะคิด เสียง ๑๕ คนจากสภาเกิดจะคิดไปเช่นเดียวกับสภา ในที่สุดร่างนี้ก็จะกลับคืนมาสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้งหนึ่งในช่วงสุดท้าย เป็นการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เมื่อนั้นละครับจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก เพราะว่าคนที่ไปร่างนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับสภาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับสภา จะคิดอะไร ก็ตามแต่อยากจะคิดก็ว่ากันไป แล้วเมื่อร่างกลับมาแล้วมันไม่ตรงกับแนวคิดในสภาครับ สภาจะไปลงมติอย่างไร จะเห็นด้วยกับที่ยกร่างมาหรือครับ เพราะมันคนละทางกันเสียแล้ว ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นว่าเมื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นสำคัญ ๆ ไม่ตรงกันนี่ นะครับ ท่านอย่าคิดนะครับว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อทำหน้าที่แล้ว อยากจะต้องอยู่ต่อโดยเห็นชอบไปเสีย ไม่ใช่ครับ ผมว่าทุกคนมีความรับผิดชอบ ถ้าเกิด ร่างรัฐธรรมนูญร่างมาแล้วมันไม่ตรงกัน ประเด็นสำคัญดูแล้วมันอาจจะไม่ใช่ปฏิรูปจริง มันเห็นคนละอย่างกัน เขาก็ลงมติไม่เห็นชอบได้ ถ้าร่างนี้กลับมาที่สภาผมกราบเรียนท่านเลยครับ ถ้าหากว่ามันดูแล้วไม่เข้าท่าเข้าทาง มันไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศ แต่มันไปรองรับแนวคิด ทางการเมืองของคนบางกลุ่มซึ่งจะหาผลประโยชน์อยู่ อาจจะสร้างปัญหาในเรื่องของการซื้อสิทธิ ขายเสียงไม่ได้ ผมไม่รับครับ ถึงแม้ว่าจะตายตกไปตามกันนี่นะครับ ทั้งสภา ทั้งกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ามันไม่ผ่านแล้วก็ตกก็ต้องยอมครับ แต่ผมก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นท่านต้องให้ความสำคัญเสียงของสมาชิกในสภาครับ เพราะเสียง ของสมาชิกในสภานั้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเยอะมาก แค่คณะผมคณะเดียว ปาไปตั้ง ๔-๕ คนแล้ว ไม่รวมผมนะครับ แล้วท่านก็กำหนดว่าให้มาแต่ละคณะ คณะละ ๑ คน ไม่ตัดสิทธิที่จะให้มาสมัครอีกได้ อะไรอย่างนี้นะครับ แต่ในที่สุดแล้วก็ไปสรุปว่าไม่เกิน ๑๕ คน มันเป็นปัญหาครับท่านประธาน ที่ผมกราบเรียนมาตรงนี้นะครับไม่ใช่เรื่องคนในคนนอก ไม่ใช่เรื่องสมาชิกจะเก่งกว่าคนอื่น ไม่ใช่เรื่องที่สมาชิกมีคุณสมบัติไม่พอ ไม่ใช่สมาชิก เป็นเทวดา ไม่ใช่เลยนะครับ แต่เป็นด้วยเหตุด้วยผลครับ ก็สุดแต่ที่ประชุมจะตัดสินนะครับ ผมให้เหตุผลโดยทำหน้าที่อันสมบูรณ์อันควรจะทำ และคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ กับสภาแห่งนี้ ดีกว่าที่เราพูดกันไป อภิปรายกันไป เสนอความเห็นกันไป พอถึงเวลายกร่าง เป็นคนอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาเขาก็คิดอย่างอื่น ไม่มีประโยชน์เลยครับ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้มีสมาชิกเพียง ๑๕ คน แล้วคนที่ไม่ใช่สมาชิกอีก ๕ คน ผมเห็นควรให้มีสมาชิกทั้งหมด ๒๐ คนเพื่อสะท้อนแนวคิด ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นนำไปพิจารณา ขอบพระคุณครับท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านเสรี ท่านไพบูลย์ นิติตะวัน นะครับ แล้วต่อไปเป็นท่านทวีกิจ ท่านนิรันดร์ ท่านอมร และ ท่านอนันตชัย เดี๋ยวถ้าท่านยกมืออีกเดี๋ยวรายชื่อเพิ่มเติมไว้นะครับ ขอให้ท่านไพบูลย์ นิติตะวัน ก่อนครับ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมือง ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมก็ต้องขออนุญาตว่าที่ผมอภิปรายนี้ไม่ใช่ด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคณะกรรมาธิการ กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นั้น แต่ที่จริงแล้วผมเข้าใจนะครับ เข้าใจที่ใน คณะกรรมาธิการที่ท่านมีข้อเสนอให้ที่ประชุมแห่งนี้พิจารณา ผมเข้าใจว่าเป็นเจตนาดีร่วมกัน ที่อยากจะให้ภาพพจน์ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่อยากจะให้รัฐธรรมนูญที่ยกร่างออกมานั้น เป็นประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงแค่ว่าสิ่งที่ผมต้องการอภิปรายก็ด้วย เหตุผลว่า ในความคิดบางแง่บางมุมนั้นอาจจะเป็นประเด็นที่จะมีผลในทางตรงข้าม ก็จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอรบกวนเวลาสภาแห่งนี้ ท่านประธานครับ ประเด็นที่ผมอยากจะอภิปรายไม่เห็นด้วยนั้นก็คือ ในสัดส่วนของ สปช. ที่เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เสนอได้ ๒๐ คน แต่คณะกรรมาธิการได้มีความเห็นว่าควรจะจำกัดให้เหลือเพียง ๑๕ คน การที่คณะกรรมาธิการมองว่าควรเหลือ ๑๕ คนนั้นมีเหตุผลหลาย ๆ ประการ ซึ่งท่าน ก็ได้กล่าวกันไปแล้ว แต่ในส่วนผมผมอยากจะเรียนว่าผมไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัด เหลือเพียง ๑๕ คน ด้วยเหตุใหญ่ ๆ อยู่ ๓ ประการครับท่านประธาน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ เป็นเรื่องของภาระหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งพวกเรา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้อาสามา เพื่อที่จะมาทำหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจ ปฏิรูปแห่งชาติให้ประสบความสำเร็จ ให้ลุล่วงได้อย่างเป็นรูปธรรม แล้วก็ต้องการที่จะ กระทำให้การปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีผลโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ที่เรียกร้องกัน แต่ว่าประเด็นสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นก็คือ เราจะต้องพิจารณาในที่ประชุมแห่งนี้ในคณะกรรมาธิการ เพื่อหาประเด็นของการที่จะต้อง ปฏิรูปแต่ละด้านแต่ละประเด็นทั้งหมดนั้น แน่นอนในหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องที่นำเสนอ ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีก็ไปดำเนินการแก้ไขได้ แต่ส่วนใหญ่เลยครับผมขออนุญาตกราบเรียน ว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องไปแก้ไขกฎหมาย เป็นเรื่องที่จะต้องไปบรรจุไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการที่จะให้มีผลอย่างแท้จริงแล้ว แน่นอนในรัฐธรรมนูญนั้นต้องบัญญัติไว้ในเรื่อง การปฏิรูปในประเด็นต่าง ๆ เป็นอยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และนอกจากนั้น ในความคิดส่วนตัวผมแล้วว่าเรายังจะต้องเสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบัญญัติกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปแต่ละด้านด้วย เพื่อให้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นมีผลที่นำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง อาจจะมีผลในการที่ ไปยกเลิกกฎหมาย พระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ออกก่อนหน้านั้น ที่มีผลไปขัดหรือแย้ง ต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปที่ออกไปนั้นก็ให้สิ้นผลไป ซึ่งจะทำให้ การออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปนั้นจะมีผลเป็นรูปธรรม แล้วก็มีผลที่เอาไปใช้งานได้ทันที แต่การทั้งหลายนั้นจะสำเร็จลุล่วงได้ จำเป็นอย่างยิ่งครับ ท่านประธานที่จะต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วคือ ๒๐ ท่าน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าเราไปลดสัดส่วนจำกัดอยู่เหลือเพียง ๑๕ ท่าน ก็จะทำให้เรา กลายเป็นเสียงข้างน้อย การผลักดันภารกิจที่ทุกท่านมุ่งที่จะมาดำเนินการก็คือปฏิรูปประเทศ ให้สำเร็จนั้นก็จะเป็นเรื่องซึ่งยุ่งยากขึ้นมา ดังนั้นจึงเห็นว่าสัดส่วนที่ ๒๐ คนนั้นเป็นโอกาสแล้ว ที่จะทำให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเราได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ และนอกจากนั้นครับ ท่านประธาน ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ ก็ยังบัญญัติไว้อีกครับว่า ในเมื่อมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้นั้น อย่างที่ผมเรียนไปเมื่อกี้ครับ ถ้าเรามีเสียงอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นเสียงข้างมาก เราย่อมเห็น ประโยชน์ของการปฏิรูปแห่งชาติประเด็นต่าง ๆ เป็นสำคัญ ดังนั้นเราย่อมบัญญัติได้ ในรัฐธรรมนูญว่าให้มีบทเฉพาะกาล ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปแห่งชาติ ก็จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วย ความรวดเร็ว นี่คือประเด็นที่ ๑ นะครับ ก็คือความจำเป็นที่จะต้องมีสมาชิก ๒๐ ท่าน อยู่ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน ในสภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๒๕๐ ท่าน ที่เข้ามาโดยกระบวนการคัดสรรกันโดยใช้มาจาก ๗,๐๐๐ กว่าคนที่อาสาเข้ามา เราได้ ๒๕๐ ท่านนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิ และมีความหลากหลายอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว แล้วก็ผ่านกระบวนการสรรหามาด้วยการใช้ เวลาถึง ๒ เดือน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็ได้รับการกลั่นกรอง ได้รับการตรวจสอบ จากประชาชนในสังคมทั้งหมดอยู่แล้ว และบุคคลดังกล่าวนั้นถ้าหากไปเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีข้อครหาใด ๆ เพราะเป็นการที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่ง ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ผ่านกระบวนการ มีขั้นมีตอน แล้วก็รวมทั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็มีความหลากหลายครบถ้วน จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะไปเป็นกรรมาธิการ ทั้ง ๒๐ ท่าน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้นฉบับ

และในประการสุดท้าย ท่านประธานครับ ถ้าหากเราจำกัดสมาชิก ๑๕ ท่าน เท่านั้นที่ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ แล้วอีก ๕ ท่านเราเสนอให้ไปสรรหา จากบุคคลภายนอกโดยคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นั้น ผมเกรงว่า การที่ไปมีมติอย่างนั้นจะสร้างปัญหาให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) อย่างหนักเลย ในเรื่องจะถูกครหาทุกประการ ในเรื่องจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขึ้นอย่างมากมาย เพราะด้วยเหตุผลสั้น ๆ ก็คือ ท่านประธานครับ เงื่อนไขเวลา เงื่อนไขเวลา เรามีเงื่อนไขเพียงสั้น ๆ เท่านั้นเองไม่กี่วันที่จะทำเรื่องนี้ให้เสร็จตามรัฐธรรมนูญจำกัดเวลาไว้ ก็คือจากวันนี้ไปไม่น่าจะเกิน ๗ วันเท่านั้นเอง ดังนั้นหากดำเนินการเพื่อให้ได้มาโดย คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ภายใน ๗ วันนั้น เงื่อนไขต่าง ๆ ผมเชื่อว่า ครหา คำที่บอกว่าเอื้อประโยชน์พรรคพวกหรือเปล่า คำที่บอกว่าทำไมไปเลือกคนโน้น ทำไมไปเลือกคนนี้ เสียงทักท้วงจะเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นด้วยความเป็นห่วงครับท่านประธาน จึงไม่เห็นด้วยในส่วนนี้ แล้วก็รวมทั้งท่านประธานครับ บุคคลถ้ามาจากภายนอกที่เสนอไว้นั้น มีข้อจำกัดเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย เพราะบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ครับ กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ๆ มาไม่น้อยกว่า ๓ ปี ถ้าเราจะเอาคู่ขัดแย้งทั้งหลายมาซึ่งเป็นพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีชื่อปรากฏอยู่นั้น เป็นพรรคใหญ่ แล้วก็รวมทั้งกลุ่มประชาชนต่าง ๆ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก พรรคการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นโดยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญนั้นก็จำกัดไว้ แต่ถ้าบอกว่า ก็ไปหาผู้ทรงคุณวุฒิข้างนอก ก็ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอยู่ในนี้แล้วตั้ง ๒๕๐ ท่านทำไมไม่เอา ก็จะเกิดคำถามขึ้น

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้นฉบับ

และประการสุดท้ายครับท่านประธาน ถ้ามีการคัดเลือกไม่ว่าเอาจาก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก็ตาม ผลก็คือประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็จะไม่เห็นด้วย เขาก็จะ วิพากษ์วิจารณ์จะทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ แทนที่เราจะได้ปฏิรูปประเทศตามความที่เราตั้งใจอาสากันมา เราก็มัวแต่จะต้อง ไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นที่ต้องตอบคำถามของสังคมไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ด้วยความเป็นห่วงก็จึงต้องขออนุญาตทักท้วงในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับสัดส่วน ๒๐ คน ของสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นให้ลดจำนวนลง จำกัดสิทธิของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เหลือเพียง ๑๕ คนนั้น ผมเห็นว่าจะสร้างปัญหาให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงไม่เห็นด้วย กับในประเด็นดังกล่าว แล้วก็พร้อมกันนั้นผมยังอยากจะขอเรียนอีกต่อเหมือนตอนแรก แต่ผมเข้าใจในเจตนาดีของท่านกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นะครับ ผมคิดว่าท่านจะรับฟังข้อโต้แย้งของผม ด้วยความเคารพครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขออนุญาตแทรกตรงนี้ นิดหนึ่ง เพราะว่าท่านสมาชิกยกมือหลายท่าน เจ้าหน้าที่ช่วยบันทึกลำดับไว้ด้วยได้ไหมครับ ขอเรียนท่านทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ครับ แล้วก็ต่อไปท่านนิรันดร์นะครับ เชิญท่านทวีกิจครับ

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม ทวีกิจ จตุรเจริญคุณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติครับ ก็ใช้เวลาไม่เยอะนะครับ สิ่งหนึ่ง เพื่อนสมาชิกเมื่อกี้ก็มีกล่าวไปบ้างแล้วนะครับ ผมเชื่อว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๒๕๐ ท่าน เราถูกคัดเลือกมา คิดว่าน่าจะเป็นคนเก่งเราว่ากันง่าย ๆ ซึ่งคงไม่ต้องไปหาจาก ข้างนอกมาอีกแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งตอนที่ผมจะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมก็เข้ามายากมากนะครับ เพราะจังหวัดผมสมัคร ๕๐-๖๐ ท่าน แล้วก็คัดเหลือ ๕ ท่าน และผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เข้ามานั่งในห้องประชุมนี้ได้ เพราะฉะนั้น ๗๗ จังหวัด ผมว่าเฉพาะต่างจังหวัดอย่างเดียวนะครับ ผมว่าไม่ต่ำจาก ๔,๐๐๐ ท่าน แล้วก็ในส่วนทั้ง ๑๑ ด้าน พรรคพวกผมก็อยากจะเข้ามา เขาบอกว่า โอ้โห ยากมากเลยนี่ มีผู้สมัครเข้ามา คัดเลือกเกือบ ๘,๐๐๐ คน เยอะขนาดนั้นเลย เพราะฉะนั้นที่คัดออกมาทั้ง ๑๑ ด้าน แล้วก็ ทั้ง ๗๗ จังหวัด ผมว่าพวกเรามีความสามารถที่เราจะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนะครับ เช่น ภาคเหนือก็ถูกระบุว่าเราได้ ๑ กรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญ ตอนเช้าเราก็มีการประชุมกันว่าทำไมไม่เป็น ๒ แล้วทำไมต้องเป็นคนนอก เพราะฉะนั้นผมก็ขอกล่าวเป็นข้อสังเกตเท่านี้ละครับว่า จริง ๆ แล้วสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ ๒๕๐ ท่าน ผมว่ามีความสามารถพอนะครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ท่านนิรันดร์ พันทรกิจ เชิญครับ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ๑๑๕ ท่านประธานครับ อันที่จริงแล้วเมื่อได้ฟังท่านคณะกรรมาธิการได้นำเสนอ ผมยกมือตอนแรกก็คืออยากจะฟังว่าท่านมีเหตุผลอะไรก่อนที่ผมจะได้อภิปรายว่าท่านได้ แบ่งเป็น ๑๕ กับ ๕ ว่าคณะกรรมาธิการได้มีเหตุผลอะไรที่ได้ดึงเอาคนที่ไม่ใช่เป็นสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ว่าก็ไม่ได้ถามตรงนั้น แต่ว่าเอาละครับก็คงจะมีการชี้แจงกันในตอนหลังแน่นอน ผมคิดว่าคงจะมีเหตุผล แต่อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ผมคิดว่าผมก็มีเหตุผลที่จะเห็นต่างจากคณะกรรมาธิการบ้าง อย่างน้อยก็มีเหตุผลอยู่ ๓ ประการ แต่ก่อนที่กระผมจะได้อภิปรายถึงเหตุผล ๓ ประการ ของกระผม กระผมก็อยากจะเกริ่นอะไรบางอย่างก่อนเล็กน้อย

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ประการแรก ผมคิดว่าการปฏิรูปครั้งนี้ภารกิจหน้าที่สำคัญของสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ๑. ก็คือการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒. ก็คือการออกแบบในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศทั้ง ๑๑ ด้าน หรือมากกว่านั้นนะครับ แล้วก็การยกร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสาระหรือเป็นแกนสำคัญของการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ทั้งหมด เพราะถ้าการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ประสบความสำเร็จ ไม่บรรลุเป้าหมาย นั่นก็หมายความว่าการปฏิรูปอื่น ๆ ก็คงจะบรรลุเป้าหมายได้ยากครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการปฏิรูปครั้งนี้เรามีเดิมพันใหญ่ ๆ ๒ อย่าง ๒ เดิมพัน

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

เดิมพันอันแรก ก็คือเกียรติยศและชื่อเสียงของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง ๒๕๐ คน เพราะทั้ง ๒๕๐ คน ผมดูรายชื่อแล้วก็เป็นเกจิอาจารย์ทางด้านการเมือง การปกครอง ทางด้านกฎหมาย ทางด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีเกียรติยศทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าสมมุติว่าการปฏิรูปบ้านเมืองไม่ประสบความสำเร็จ เกียรติยศเหล่านี้ก็ได้เอาอะไรมาคลุมหัวกันบ้างละครับ ถ้ามันไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ที่ประชาชนเขาคาดหวังไว้ นั่นเดิมพันแรก ๒๕๐ คน เกียรติยศของคน ๒๕๐ คน

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

เดิมพันที่ ๒ ก็คืออนาคตของประเทศชาติเป็นเดิมพัน ถ้าสมมุติปฏิรูปไปแล้ว ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงไม่สามารถจะทำอะไรให้มันดีขึ้นมา เราก็จะถูกตำหนิติเตียนว่า เข้ามาอยู่ตั้งเป็นปี ๆ ปรากฏว่ากลับออกไปแล้วทำบ้านเมืองไม่ได้ดีขึ้นอะไรเลย เสียเวลา เปลืองข้าวสุก มันก็จะเป็นปัญหาอย่างนี้ นี่ก็คือเดิมพันที่เราทุกคนที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติจะต้องตระหนักให้มาก

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ทีนี้เหตุผลท่านประธานครับ ในการที่ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คณะกรรมาธิการ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ก็คือว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญนี่นะครับ กฎหมายเขาเขียนไว้ อย่างชัดเจนครับ ตามมาตรา ๓๒ (๒) ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมาจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ๒๐ คน ก็คือเขียนอาจจะไม่ได้ล็อกเอาไว้อย่างที่ว่าก็เป็นไปได้ครับ ท่านประธาน แต่ว่าดู ๆ แล้วมันก็มีความหมายสำคัญ เพราะอย่างน้อยที่สุดถ้าพูดถึง อัตราส่วนอย่างที่ท่านสมาชิกได้ว่าไปแล้ว ๒๐ บวก ๑๕ บวก ๑ ก็เป็น ๓๖ แปลว่าอย่างน้อย เสียงส่วนใหญ่ยังเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอยู่ แล้วก็มันมีผลอย่างสำคัญยิ่งเพราะถือว่า เป็นบุคคลที่เป็นแกนสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญ นั่นประเด็นที่ ๑ ประเด็นที่ ๒ ก็คือว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกลับออกมา ร่างเสร็จแล้ว แก้ไขแล้ว แล้วก็ได้รับความเห็นชอบ ตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง คนอื่นเขามามีส่วนร่วมอย่างเดียวครับ สนช. คสช. คณะรัฐมนตรี เขาก็ส่งตัวแทนเข้ามา แต่เวลาเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ มันเป็นความเห็นชอบและไม่เห็นชอบ ของสภานี้เท่านั้น ถ้ามันดีสภานี้ก็รับไป แต่ถ้ามันไม่ดีสภานี้ก็รับไป เพราะฉะนั้น เป็นความรับผิดชอบเต็ม ๆ ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยตรง เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบโดยตรง เพราะฉะนั้นถ้าออกมาไม่ดีหรือออกมาดีเราทุกคน ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นผมจึงมองเห็นว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่มาจาก ๒๕๐ คน ที่มาจากการคัดสรร ๗,๐๐๐ กว่าคน มาจากกลุ่มต่าง ๆ มาจากองค์กรต่าง ๆ ถือว่า เป็นตัวแทนและมีคุณภาพอยู่แล้วครับ แล้วก็มีความหลากหลายด้วย มีความหลากหลาย ในหลายแบบหลายอย่าง แล้วก็จะเป็นการระดมความคิดเห็นที่จะใช้ในการปฏิรูปต่อไป นั่นคือประเด็นที่ ๑

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ คือการเชิญคนนอกเข้ามา ไม่อยากจะใช้ คนนอกครับท่านประธาน ขออภัย การเชิญคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ มามันจะต้องตั้งคำถามต่อไปอีกครับว่า ใคร และประการที่ ๒ ก็คือแล้วใครที่ว่านั้น จะมาอย่างไรต่อไปเพราะฉะนั้นมันก็กลายเป็นปัญหาจะต้องทำโจทย์ต่อไป แล้วมันก็มีเรื่อง ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการประชุมและจะต้องมาเห็นชอบจะต้องคิดคัดสรรต่อไป อันนี้ ก็เป็นประเด็นปัญหาอยู่เหมือนกัน ที่จริงแล้วถ้าเป็นความเห็นลึก ๆ จากที่สื่อได้ออกกันมาว่า เป็นตัวแทนจากพรรคนั่นเท่านั้น พรรคนี้เท่านี้ กลุ่มนั่นเท่านั้นนั่นเท่านี้ ผมคิดว่าตอนที่เรา เปิดให้มีการสมัครเข้ามาเขาก็เปิด มันก็มีความเห็นว่าทำไมไม่สมัครเข้ามา ประเด็นที่ ๒ เขาก็มีท่าทีอยู่แล้ว อาจจะด้วยเหตุผลต่างกันที่ไม่ร่วม ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์เขาบอกว่า คนเขียนไม่ควรเล่น คนเล่นไม่ควรเขียน เขาก็เลยไม่ส่งเข้ามา ท่านอลงกรณ์ก็มาแบบไม่ใช่ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ขออภัยที่เอ่ยนาม หรือพรรคเพื่อไทยเขาบอกว่าอยากทำอะไร ทำไป ไม่เอาด้วย เป็นต้นไม้พิษ มันออกลูกเป็นพิษ สภานี้มาจากการยึดอำนาจว่าไป เขาก็ไม่เอาด้วย เขาก็มีท่าที โดยสรุปแล้วแม้จะมีเหตุผลต่างกันแต่ท่าทีมันเหมือนกันก็คือไม่ร่วม อย่างไรครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราส่งเทียบเชิญไปเขาไม่ร่วม เรายกมือไหว้ไป เขาไม่รับไหว้ ก็ว่าไป นั่นคือเหตุผล แต่ว่าถ้าเขาไม่ร่วมแล้วมันก็เสียเวลาอย่างไรครับ แล้วก็ไม่ได้หมายความ แล้วก็ด้วยข้อจำกัด ของคุณสมบัติ เขาเป็นนักการเมืองเขาก็จะให้เว้นวรรคทางการเมือง ๒ ปี เขาคงจะไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นตัวที่เป็นบุคคลสำคัญ ๆ ในพรรคการเมืองไม่มีทางที่เขาจะมา มันก็กลายเป็นว่า ตัวแทนที่เป็นนักวิชาการของพรรคอะไรของพรรคซึ่งมันไม่ใช่เป็นตัวตัดสินท่าทีของพรรคได้ อันนี้ผมคิดว่าเหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วย ประการที่ ๒

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ส่วนประการที่ ๓ ครับท่านประธาน ประการที่ ๓ ก็เรื่องของเวลา ณ วันนี้ ปัญหาก็คือนับจากนี้ ๖๐ วันเราจะต้องฟังเสียงประชาชน ตอนนี้ ๖๐ วันก็เหลือประมาณ ๕๐ กว่าวันแล้ว ๕๐ กว่าวันเราต้องการว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ร่างด้วยคน ๒๕๐ มันจะต้องร่างด้วยคนทั้งประเทศ คนที่เขาเห็นด้วย คนที่เขามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ เขาควรจะมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นอีก ๕๐ วัน ซึ่งเราจะต้องออกกันไป ช่วยกันไปอาจจะกำหนดปฏิทินงานอย่างไร ไทม์ไลน์ (Timeline) อย่างไรว่าจะทำงาน กันแบบไหนเพื่อฟังเสียงประชาชน แล้วเอาความเห็นเหล่านั้นไม่ว่าจะในแง่ของการยกร่าง รัฐธรรมนูญ หรือในแง่ของการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เราก็ไปฟังประชาชนแล้วกลับเข้ามา เพราะฉะนั้นปฏิทินงานของเรามันจำกัดเหลือเกินที่จะให้ยืดเวลาออกไปมากมายขนาดนั้น นั่นคือประเด็นที่ ๓ ทีนี้ผมเห็นอย่างนี้ครับ อาจจะยังไม่ยื่นเป็นญัตติ แต่ว่าอาจจะเป็น ความเห็นอย่างนี้ก็คือว่า ใน ๑๕ นี่ผมเห็นด้วย และก็อีก ๕ ผมเห็นด้วย ๑๕ ก็คือว่า ๑๑ บวก ๔ อันนี้เข้าใจกันชัดเจน ๑๑ บวก ๔ ก็คือจากกลุ่ม ๑๑ กลุ่ม แล้วก็จากภาคต่าง ๆ ๔ ภาคเป็น ๑๕ แต่อีก ๕ นี่ครับท่านประธาน ไม่จำเป็นจะต้องเอาคนที่ไม่ใช่เป็นสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ให้ ๕ คนนี่เลือกจากที่ประชุมแห่งนี้ใช้เวทีใหญ่นี่ อันโน้นมันลงตัว อยู่แล้ว คือมาจากส่วนต่าง ๆ จะได้สะท้อนจากการเมืองการปกครอง จากกระบวนการ ยุติธรรมจากอื่น ๆ อะไรก็ว่ากันไป ได้มา ๑๑ บวกกับ ๔ จากภาคต่าง ๆ และอีก ๕ คน เลือกจากที่ประชุมแห่งนี้ครับเสนอเข้ามา ใครอยากสมัครก็สมัครเข้ามา ๒๐ สมัคร ๕ คน ก็พอดีไม่ต้องเลือก แต่ถ้าสมัครเกินกว่า ๕ คนก็มีการเลือกเข้ามา ก็จะได้ครบ ๒๐ อันนี้ เป็นยืด อาจจะเสนอเป็นประเด็นเอาไว้ครับ แต่ว่าท่านสมาชิกจะเห็นด้วยหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่านี่เป็นการสะท้อนความเห็นของคณะกรรมาธิการก่อนครับ ขอบพระคุณท่านประธาน ครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เรียนท่านอาจารย์อมร อาจารย์อมรอยู่ไหมครับ เชิญครับอาจารย์

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณท่านประธานที่เคารพครับ ผม อมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมือง ต้องกราบขออภัยที่อาจจะ แนะนำตัวยาว แล้วก็อาจจะไม่ตรงกับความเห็นของท่านสมาชิกบางท่าน แต่ว่าก็ยังคงถือว่า เรื่องของการแนะนำตัวนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็ผมมองว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ต่อการที่เราจะพูดในเรื่องต่าง ๆ ต่อที่ประชุมสาธารณะ ผมเองกราบขออภัยด้วย จริง ๆ แล้ว มีความตั้งใจจะกล่าวถึงความไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอของกรรมาธิการชั่วคราว ที่ได้มีการประสานกิจการของสภามาแล้วก็ได้ลงความเห็นกันว่าจะเอาบุคคลภายนอกจำนวน ๕ ท่านด้วยกัน โดยเนื้อหาหลัก ๆ ที่บรรดาท่านสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้กล่าวถึงเป็นเรื่อง สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสงสัย หรือการมีธงเกี่ยวกับเรื่องของที่มาบุคคลภายนอก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดประเด็นข้อครหาต่าง ๆ นั้นผมก็เห็นด้วยนะครับ ซึ่งประเด็นดังกล่าว เมื่อสมาชิกได้มีการพูดไปแล้วก็จะไม่ซ้ำความตรงนั้น แต่จะขอถือโอกาสกระชับเวลาแล้วก็ ไม่กินเวลาบรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติมากนัก โดยจะขออนุญาตกล่าวถึงภาพรวมนะครับว่า ในการประชุมของทางด้านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมืองนั้นได้มีการหารือ กันภายใน และผมก็ขอกราบเรียนด้วยความเคารพที่จำเป็นจะต้องเอ่ยนามท่านอดีตประธาน ชัย ชิดชอบ ซึ่งได้กล่าวในที่ประชุมเป็นเรื่องที่น่ายกย่องอย่างมาก เพราะว่าท่านก็มีที่มาจาก พรรคการเมือง แต่ว่าในการประชุมครั้งหนึ่งท่านก็ได้พูดในที่ประชุมชัดเจนว่า แม้ว่าท่านจะมา จากพรรคการเมืองแล้วก็มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ทุกอย่างเพียบพร้อม แต่ว่าในเรื่องของ การเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นท่านขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ขอเข้าร่วม แต่ว่าหากจะเป็น เรื่องใดที่เป็นเรื่องที่ทางสมาชิกจะขอคำปรึกษาแนะนำนั้นก็เป็นสิ่งที่ท่านมีความยินดี ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าที่มาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่พวกเรากำลังประชุมกันอยู่นี้ มีที่มาหลากหลาย มีตัวแทนพรรคการเมืองอย่างน้อย ๆ ที่ผมพอจะมองเห็นอยู่ก็ ๔-๕ พรรค ด้วยกัน อาจจะไม่เป็นพรรคใหญ่ที่มีข่าวตามสื่อมวลชนต่าง ๆ แต่ว่าตัวแทนที่มาจาก พรรคการเมืองนั้นมีแน่นอนครับ แล้วกรอบเวลาที่บรรดาสมาชิกหลาย ๆ ท่านกังวลนั้น ก็เป็นเรื่องจริง เพราะกรอบเวลาที่เราคิดว่าจะเป็นวันที่ ๔ ซึ่งจะต้องมีกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญแน่ชัดแล้วว่าจะมีผู้ใดบ้างนั้น ถ้าหากเรายังคุยกันอยู่ไม่รู้เรื่องนี่นะครับ หรือไปตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นใคร อย่างไร แน่นอนความวุ่นวายต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น ผมคิดว่าเราไม่ได้รังเกียจคนที่เราอาจจะเรียกเขาว่าเป็นบุคคลภายนอก แต่เราคงมีความกังวล ในหลาย ๆ เรื่อง แล้วก็เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็คงจะตรงกับท่านอาจารย์เสรีที่พูดไว้ว่า การมี ๒๐ คน แล้วก็ไม่กล่าวให้แน่ชัดไปว่าทำไมจะต้องไปเอาบุคคลข้างนอกด้วยนั้น ก็คงจะเป็นเรื่องสาระสำคัญเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทางผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะมีความกังวลว่า เมื่อมีการเปิดให้มีการรับสมัครบุคคลที่เป็น สปช. มาเป็นกรรมการหรือว่ากรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่ครบตามจำนวน ด้วยเหตุหลาย ๆ ด้านด้วยกัน เพราะฉะนั้น โดยส่วนตัวของผมเองนี่จึงมองเห็นว่า ในวันนี้แม้กระทั่งเรื่องของโควตาที่มาจากสัดส่วนต่าง ๆ ของด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านการสื่อสาร ด้านสังคม ด้านอะไรก็แล้วแต่นี่นะครับ ถ้าหากจะมีการกำหนดกะเกณฑ์ไปว่าจะต้องมาด้านละกี่คนต่าง ๆ นี่มันก็คงจะเป็นเรื่องที่เถียงกัน ไม่จบ เพราะว่าที่มาของแต่ละด้านก็เหมือนอย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติเมื่อสักครู่ ได้มีการพูดถึงว่า ในด้านต่าง ๆ ที่จะมาสมัครนี่มีคู่แข่งขันมากมาย แล้วท่านทั้งหลาย ก็คงทราบว่าการแข่งขันของแต่ละด้านเรานี่ที่น่าเห็นใจที่สุด อย่างด้านการศึกษามีจำนวนมาก ถึงประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าคน หรือ ๑,๐๐๐ คน เท่าที่ผมทราบ แต่ถ้าหากจะมากำหนดจำนวน สมาชิกให้เขาได้มีผู้แข่งขันเข้ามาเพียง ๑ คน แล้วก็เท่าที่ทราบมาสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อ ที่มีการซาวเสียงเมื่อเช้ากันไปเมื่อประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา บางท่านก็ยังมีความเข้าใจผิด คิดว่าเมื่อตัวแทนที่สังกัดท่านได้เสนอชื่อท่านแล้ว ก็หมายความว่าท่านจะได้เป็นสมาชิกหรือว่า จะได้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างแน่ชัดแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง คือถ้าหากเรา เปิดกว้างนี่ผมคิดว่าท่านที่เข้าใจอย่างนั้น ท่านอาจจะได้ประมาณ ๑๕ เสียง ๑๔ เสียง ๑๓ เสียง ตามมติของสังกัดที่ท่านได้ถูกเสนอชื่อ แต่โดยส่วนตัวแล้วอยากจะให้เปิดกว้าง ส่วนกรรมวิธี ที่จะมีการคัดสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไรนั้น ก็คงจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นผมขออนุญาต ขอบพระคุณทางกรรมาธิการที่ได้มีการไปแสวงหาแนวทางต่าง ๆ มา แล้วก็แม้ว่า ๑๕ บวก ๕ ที่มีการนำเสนอมาโดยการพิจารณาจากเสียงส่วนใหญ่ที่ผมประเมินโดยคร่าว ๆ แล้วนี่อาจจะ ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ผมก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แล้วก็ต้องขอกราบขอบพระคุณผ่านท่านประธานมา ณ ที่นี้ด้วย ขอขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อาจารย์อมร ท่านที่ได้เสนอว่าจะอภิปรายหรือให้ความเห็นยังมีอีกมากเลยนะครับ แล้วผมคิดว่าเดี๋ยวคงต้องหารือท่านสมาชิกว่าเราจะขออภิปรายอย่างนี้ไปอีกสักพักหนึ่ง แล้วอาจจะต้องพักการประชุมรับประทานอาหาร แต่ว่าเพื่อให้สามารถจะรองรับความเห็น ของท่านสมาชิกทั้งหลายได้ ขอสักท่านละ ๕ นาที แล้วถ้าจะเลยไปคือถ้าประเด็น สอดคล้องกับที่อภิปรายไปแล้วก็คิดว่าน่าจะสั้นลงได้ดีไหมครับ ถ้าเอาแค่นี้ก่อนดีไหมครับ ผมจะขออนุญาตขานนะครับ ท่านอนันตชัย คุณานันทกุล ต่อนะครับ ท่านทิวา การกระสัง ท่านวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ แล้วก็ท่านเตือนใจ สินธุวณิก ต่อจากนั้นยังมีชื่ออีกนะครับ แต่ผมเอาแค่นี้ก่อน ดีไหมครับ เชิญท่านอนันตชัย คุณานันทกุล ครับ

นายอนันตชัย คุณานันทกุล ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายอนันตชัย คุณานันทกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สัดส่วนจากกฎหมาย และการยุติธรรม ผมจะขออนุญาตพูดสั้น ๆ เนื่องจากว่าหลายท่านก็ได้มีการอภิปรายไปแล้ว ก็จะได้สอดคล้องกับที่ท่านประธานได้หารือไว้ว่าขอให้สั้น ๆ ส่วนหนึ่งที่ผมอยากให้สมาชิกได้ศึกษาว่าที่มาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือที่มาของสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น เจตนารมณ์ก็มาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า จากประธานกรรมาธิการตามที่ คสช. เสนอ ๑ ท่าน จาก คสช. รัฐบาลและ สนช. อีกหน่วยละ ๕ ท่าน แล้วก็สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอีก ๒๐ ท่าน สิ่งที่ผมอยากจะเรียนท่านประธาน และท่านสมาชิกทุกท่านว่า การที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้ที่จะให้มีสัดส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ คิดถึงเหตุผลความเป็นมาที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นเรามีหน้าที่ ที่จะต้องรับผิดชอบในการที่จะก่อให้เกิดการออกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มีความสำเร็จ ผมอยากจะเรียนถึงที่มาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่าแต่ละท่านนั้นที่มานั้นไม่ใช่ สมัครกันมาเอง แต่ว่ามีสมาชิกหรือสมาคมต่าง ๆ รวมทั้งมูลนิธิ หรือหน่วยงานที่ได้เสนอให้ เข้ามาได้รับการสรรหา ฉะนั้นแต่ละท่านนั้นก็มีเบื้องหลังซึ่งมีผู้คาดหวังไว้มากมายว่าจะเข้ามา ทำหน้าที่แทนประชาชนในทุกภาคส่วน ที่สำคัญเหตุผลต่าง ๆ ที่ท่านกรรมาธิการกิจการ สปช. ที่ได้รับการเสนอไปทำหน้าที่ชั่วคราวแทนสมาชิกทั้งหลายนั้นได้มีข้อเสนอเข้ามา แต่สิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนที่ประชุมว่าน่าจะไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากว่าทางรัฐธรรมนูญ ได้ออกแบบไว้แล้วเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งนี้ที่จะต้องทำหน้าที่ ฉะนั้น การนำเอาคนนอกเข้ามานั้น โดยเฉพาะได้พูดถึงว่าจะนำเอากลุ่มผู้ขัดแย้งก็ดี กลุ่มสมาชิก พรรคการเมืองก็ดี หรือจะใช้คำว่า สมาชิกพรรคการเมือง ก็ขัดแย้งแล้วว่าขัดบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญที่จะร่างไว้นั้น ทีนี้จะไปแสวงหาจากใคร เราพูดถึงพรรคการเมืองในประเทศไทย เรามีกี่พรรค เรามี ๕ พรรคหรือเรามีเป็นร้อย แล้วคนที่ไม่ได้เข้ามาเขาจะคิดอย่างไร เราจะไป แสวงหามาจากไหน หรือถ้าพูดถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้วเอามาจากที่ไหน แล้วพวกเรา ที่ถูกนำเสนอเข้ามา ๒๕๐ ท่านนั้นไม่มีความสามารถหรืออย่างไร ฉะนั้นการที่จะมา ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นเราคาดหวังอะไร คาดหวังถึงกฎหมาย คาดหวังถึงอะไรเป็นหลัก การเมืองหรือ แน่นอนว่าการที่เรายกร่างรัฐธรรมนูญนั้นเราเป็นผู้มาร่างกติกา กติกาให้ผู้เล่น เล่นอย่างเสมอภาคกัน ไม่ใช่เอาผู้เล่นเข้ามาร่างกติกาเหล่านี้ที่เราคิดถึงว่า ถ้าผู้เล่นมาร่าง แน่นอนก็ต้องคิดถึงตัวเองเป็นหลัก เหตุผลที่ทำไมรัฐธรรมนูญถึงจะถูกฉีกแล้วฉีกเล่า นี่ฉบับที่เท่าไร ก็เพราะผู้เล่นมีส่วนร่วม และไม่ใช่ปัญหาที่มาวันนี้นั้นก็เพราะผู้เล่นลงไปเล่น จริงจังไม่ใช่หรือที่ก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งอย่างมากมาย ฉะนั้นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะดึงเอาคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาโดยตรง ฉะนั้นจุดนี้เป็นจุดสำคัญครับว่า เราจะเป็นธรรมกันได้อย่างไร สมมุติเราเห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการว่าจะมาจากไหน ก็เป็นปัญหาอีกเหมือนกันว่ามาจากไหนและใครจะเป็นคนเอามา นี่เป็นปัญหาอย่างยิ่งใหญ่ ทีเดียวครับ ฉะนั้นเราไม่เหมาะสมที่จะเอาผู้ขัดแย้งเข้ามาอย่างยิ่ง ฉะนั้นอีกประเด็นหนึ่ง ที่กรรมาธิการได้เสนอว่าให้แต่ละกลุ่มซึ่งขณะนี้มี ๑๑ กลุ่มบวกด้วยอีก ๔ ภาค รวมเป็น ๑๕ กลุ่มใหญ่ ๆ นั้นให้มาเป็นกลุ่มละ ๑ ท่าน ผมเห็นว่าก็ยังเป็นข้อขัดแย้งอยู่ดีนะครับ ซึ่งเราปิดประตูหรือปิดโอกาสสมาชิกที่อยากจะเป็นผู้มีส่วนเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฉะนั้นผมก็ขออนุญาตให้ความเห็นนิดหนึ่งว่าเราไม่ควรจะปิด แต่เราจะให้กรรมาธิการ ในแต่ละกลุ่มนั้นเป็นผู้เสนอมาเบื้องต้น หาจำนวนเข้ามา สมมุติว่าสัก ๓ ท่านต่อ ๑ กลุ่ม แล้วก็เอามาให้สภาเป็นผู้เลือก และสภาเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะเลือกคนที่เหมาะสมต่อไป ผมขออนุญาตสรุปง่าย ๆ ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอเชิญท่านทิวา การกระสัง ครับ

นายทิวา การกระสัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ คณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนะครับ กระผม ทิวา การกระสัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากจังหวัดบุรีรัมย์นะครับ ก็ขอเรียนเหมือนท่านเสรีนะครับว่า การบอกว่าตนเองมาจากไหนนั้น ก็คงไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก เพราะว่าคนเราคงจะไม่ลืมรากเหง้าของตัวเองว่ามาจากไหน นะครับ สิ่งที่ผมจะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องข้อเท็จจริงว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้กับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๕ ท่านเข้ามาเป็นนี่ผมจะไม่พูดนะครับ ผมจะกล่าวในเรื่องของเจตนาของรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากว่าเคยไปศึกษาแล้วก็เรียนเรื่อง การร่างกฎหมายมานะครับ การอ่านกฎหมายหรือการอ่านอะไรก็ตามเราจะต้องดู เจตนารมณ์นะครับ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ท่านไปดูในหน้าที่ ๒ นะครับ หน้า ๒ บรรทัดที่ ๑๕ บอกว่า รัฐธรรมนูญนี้ต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง จัดให้มีกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญกับสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นลำดับแรกนะครับ เมื่อดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้แล้วท่านก็ไปดูหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาตินะครับ การอ่านกฎหมายต้องอ่านหลาย ๆ มาตรานะครับ ดูมาตรา ๒๓ อำนาจหน้าที่มีอยู่ ๑๑ ด้าน ผมคิดว่า ๑๑ ด้านนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ความเห็นของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินี้ จะต้องเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องนำไปใช้นะครับ จากการที่รัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานี้ จึงกำหนดจำนวนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา ๓๒ ที่กำหนดให้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสามารถเสนอได้ ๒๐ คน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเจตนาแรกเลย ต้องการให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๒๐ คน ผมเสนอเพียงแค่นี้ จากการที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอบุคคลที่ไม่ได้เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๕ คนเข้ามานั้น ก็ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญนะครับ ถ้าดูแล้วไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ว่าขัดต่อเจตนาหรือไม่ ผมอยากให้ท่านสมาชิกทุกท่านนำไปพิจารณา แล้วก็ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกท่านพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ ก็ขอขอบคุณท่านประธานนะครับที่ให้โอกาส และคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญทุกท่านนำแนวคิดหรือว่าความเห็นของผมนั้นไปเพื่อใช้ในการพิจารณา คัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของที่เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วยครับ ขอขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ครับ

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นะครับ ผมสนับสนุนที่จะให้มี ๒๐ คน จาก สปช. นะครับ ด้วยเหตุผล ๓ ประการครับ

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

ประการแรก ผมว่าเราก็ไม่น่าจะทำเรื่องง่ายให้มันเป็นเรื่องยากนะครับ ถ้าเราดูตามประเพณีของ สสร. ที่กำหนดสัดส่วนว่าจาก สสร. มีกี่คนก็เทียบเท่ากับเราสมัยนี้ ก็คือสภาปฏิรูปแห่งชาตินี้ สปช. กำหนดไว้กี่คนเขาก็เลือก เขาเลือกวันเดียวสองวันเขาก็จบแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำเรื่องที่มันง่าย ๆ ให้มันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเหมือนกับที่เรากำลังจะทำกันอยู่นี่นะครับ ผมก็อยากให้เรื่องอะไรที่มันง่าย ๆ ก็ให้มันง่าย ๆ ต่อไปนะครับ ก็คือ ๒๐ คน เขาให้เราเลือก เราก็เลือกพวกเราเข้าไป ๒๐ คน มันก็จบแล้วนะครับ

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

เหตุผลที่ ๒ ผมอยากให้นโยบายต่าง ๆ จาก สปช. ของเราเข้าไปอยู่ ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยครับ ผมยิ่งกลัวมากเลยที่บอกว่าคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอิสระไม่อยากจะฟังพวกเราก็ได้ ผมว่าอันนี้มันอันตรายมาก ทีนี้ถ้าเราอยากให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ฟัง สปช. ผมคิดว่าการให้มีตัวแทน สปช. ๒๐ คนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรามีตัวแทนของ สปช. เป็นเสียงข้างมาก โอกาสที่จะให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฟังเสียงของ สปช. ก็มีมากยิ่งขึ้นนะครับ โดยเฉพาะ กระบวนการสำคัญที่เราโดยเฉพาะผมอยากให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำอย่างมากก็คือกระบวนการรับฟังเสียงประชาชนนะครับ ถ้าเรามองไปในอดีต สภาร่างรัฐธรรมนูญก็มักจะมีปัญหาการไม่รับฟังเสียงจากภาคประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงจากประชาชน ถ้าเราสภาแห่งนี้เห็นด้วยเราก็สามารถที่จะมอบหมาย ๒๐ ท่านที่เป็นตัวแทน ของเราว่า อย่าลืมไปจัดตั้งกระบวนการรับฟังเสียงประชาชนด้วย นอกเหนือจาก สปช. เราจะมีกรรมาธิการวิสามัญรับฟังเสียงจากประชาชน มีศูนย์รับฟังแล้วมันจะต้องมีตัวเชื่อม นั่นหมายความว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงประชาชนให้มาก โดยเฉพาะเสียงประชาชนที่ได้ผ่านการสังเคราะห์ วิเคราะห์แล้วจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ แห่งนี้ ผมว่าการที่อยากผลักดันให้เกิดกลไกต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติต้องการนั้น จำเป็นอย่างยิ่งนะครับที่จะต้องมีตัวแทน จากสภาปฏิรูปเป็นเสียงข้างมาก ในความเห็นของผมนะครับ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

เหตุผลที่ ๓ นะครับ อย่าลืมว่าการเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นั้นนะครับ ถูกจำกัดสิทธิไม่ให้ไปทำเรื่องการเมืองอีก ๒ ปี ก็คือจะไปลง ส.ส. ส.ว. ไม่ได้ ถ้ามีในอนาคตนะครับ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่เชื่อว่าคนที่เป็นนักการเมืองยินดีที่จะเข้ามา อยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเราจะไปเอาตัวแทนจากพรรคต่าง ๆ เพื่อเข้ามาอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ผมว่าน่าจะลำบากนะครับ ผมขออภัยนะครับที่จะเอ่ยนามท่านอลงกรณ์ แม้แต่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังท้าทายว่า ขอให้ท่านอลงกรณ์ได้ลงเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้วกันนะครับ เพราะเขาเชื่อว่า ท่านคงจะไม่อยากลงมาเพื่อถูกจำกัดสิทธิ ๒ ปีนะครับ ก็เลยเกิดการท้าทาย อันนี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าทำไมเราทำเรื่องง่าย ๆ ให้มันเป็น เรื่องยาก แล้วก็ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดสับสนในสังคม ทั้ง ๆ ที่เขากำหนดมา อยู่แล้ว ๒๐ คน เลือกปั๊บก็จบแล้ว ที่เขาทำมาในอดีตเขาก็แป๊บเดียวก็จบแล้ว ของเรา กลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากวุ่นวาย ผมก็จึงอยากให้เลือก ๒๐ คน จาก สปช. เรานะครับ ขอบคุณมากครับท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านวิริยะ อีกท่านหนึ่งนะครับ ผมยังคิดว่ามีท่านอภิปรายยาว แล้วกำลังคิดว่าจะพักการประชุม เพื่ออาหารกลางวันก่อน แล้วกลับมากรรมาธิการคงต้องช่วยสรุปคือประเด็นสำคัญ ๆ ว่าเหตุผลเป็นอย่างไร คั่นจังหวะอภิปรายต่ออีก ขณะนี้ท่านอลงกรณ์เข้าใจว่าถูกพาดพิงชื่อ เมื่อสักครู่ใช่ไหมครับ อนุโลมเรื่องพาดพิงนิดหนึ่ง เพราะปกติจากนี้ไปถ้า สปช. ทำหน้าที่ จริง ๆ แล้วเราจะไม่พูดถึงเรื่องพาดพิงอีกแล้ว เชิญท่านอลงกรณ์ครับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม อลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. ความจริงเป็นเพียงการหารือครับ เพราะว่าไม่ได้ จะใช้สิทธิพาดพิงอะไร เพียงแต่ว่าในช่วงของการนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการ กิจการ สปช. นั้น กระผมเองในฐานะเลขานุการได้นำเสนอแต่เพียงรายงาน แต่ว่ายังไม่ได้ ชี้แจงแสดงเหตุผลในนามของคณะกรรมาธิการ โดยเป็นความตั้งใจที่จะให้ท่านสมาชิก ที่มีความเห็นต่างนั้นได้เสนอความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง แต่ว่ามีกรรมาธิการบางท่านก็มีความเห็นว่า เมื่อได้มีการอภิปรายไประยะหนึ่ง ควรที่กรรมาธิการจะได้ชี้แจงในประเด็นที่เริ่มมีประเด็นที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้การประชุมเป็นไป โดยกระชับแล้วก็รวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพ ก็เลยถือโอกาสนี้นำหารือท่านประธานนะครับ เพราะว่าหันไปข้างหลังท่านรองประธานท่านก็ยกมือ หมายความว่ากรรมาธิการก็อาจจะ ชี้แจงบางประเด็นไปก่อนสั้น ๆ โดยกระชับเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะว่าเราไม่ได้ชี้แจง ถึงเหตุผลเลยครับท่านประธาน ชี้แจงแต่มติเท่านั้นเอง ก็นำกราบเรียนท่านประธาน ส่วนเรื่องที่บอกผมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเรียนว่าไม่มีคุณสมบัติครับ เพราะว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมหารือนิดหนึ่ง เพราะว่าชื่อที่อภิปรายยังยาวมากเลย แล้วกะว่าถ้าเราพักทานข้าวทานปลานี่นะครับ และเข้ามาแล้วให้ทางกรรมาธิการได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมและอภิปรายต่อจะดีไหมครับ ทีนี้เหลือท่านสุดท้ายที่ผมเอ่ยนามไว้เมื่อสักครู่นี้ ท่านเตือนใจ สินธุวณิก ขอให้ความเห็น เสียก่อน แล้วเดี๋ยวเราค่อยรับประทานอาหารกันดีไหมครับ ท่านเตือนใจอยู่ไหมครับ เชิญครับ

นางเตือนใจ สินธุวณิก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ขอขอบพระคุณ ที่ให้ดิฉันได้มีโอกาสได้ลุกขึ้นยืนพูดนะคะ เตือนใจ สินธุวณิก ค่ะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หมายเลข ๘๔ ด้านสื่อสารมวลชนค่ะ ก็ตรงกับใจของดิฉันเลยนะคะว่าอยากจะขอทราบ ตั้งแต่การเริ่มอภิปรายตั้งแต่เช้ามานั้นก็จะมีแนวโน้มว่า ทางคณะกรรมาธิการกิจการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ที่ว่าได้ไปประชุมกันนั้นนะคะ ปรากฏว่าท่านเพียงแต่ รายงานยังไม่ได้แจ้งเหตุผลเลยว่าท่านมีเหตุผลอย่างไรจึงมีการตัดสินใจว่าจะมีคนนอก หรือว่าบุคคลภายนอก ๕ คนเข้ามา ดิฉันคิดว่าเท่าที่ทราบก็คือได้มีการอภิปราย กันอย่างกว้างขวาง แล้วก็มีการลงมติด้วย ด้วย ๘ ต่อ ๑๑ ก็แสดงว่ามีการอภิปราย ให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวาง

นางเตือนใจ สินธุวณิก ต้นฉบับ

ข้อแรกก็คือ ดิฉันอยากจะขออนุญาตเรียนถามว่าท่านมีเหตุผลอะไรที่สำคัญ จึงได้มีมติเช่นนั้น

นางเตือนใจ สินธุวณิก ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ก็คือ จากการได้อ่านจากข่าวคราวต่าง ๆ นั้นก็บอกว่า ท่านมีความเห็นว่า อยากจะให้ผู้แทนจากคู่ขัดแย้งได้มีโอกาสที่จะเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย ด้วยเหตุผล ดังกล่าวนั้น ดิฉันก็ขออนุญาตเรียนถามว่าทางท่านเองทางคณะกรรมาธิการหรือว่า ทางวิป (Whip) ชั่วคราวนี่นะคะ ท่านได้อภิปรายหรือว่าได้คิดหรือไม่ว่า ในการที่ท่านจะไปคัดเลือก ผู้ที่เป็นคู่ขัดแย้งต่าง ๆ ให้ได้มีส่วนเข้ามาร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะยืนยัน ได้อย่างไรว่าคนที่ท่านไปเลือกมานั้นได้รับการยอมรับจากกลุ่มขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านั้นว่า เขาเป็นตัวแทนที่แท้จริงค่ะ อันนี้ก็เพื่อที่จะป้องกันการไปพูดทีหลังว่าคนที่เข้ามายกร่างนั้น ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของเขานะคะ

นางเตือนใจ สินธุวณิก ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ก็คือ ท่านได้คิดถึงหลักเกณฑ์ในการที่จะไปคัดเลือกหรือไม่ เพราะว่ามีการกำหนดว่าจะต้องมอบให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้ไปคัดเลือกมา ท่านได้ตั้งกฎเกณฑ์ตรงนี้หรือไม่

นางเตือนใจ สินธุวณิก ต้นฉบับ

ประการสุดท้ายที่ขออนุญาตกราบเรียนถามนะคะ ก็คือเรื่องของระยะเวลาค่ะ เพราะว่าเราทราบกันดีว่านับจากวันนี้จะเหลือเวลาเพียง ๘ วันเท่านั้น จนถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายนที่เราจะต้องมีรายชื่อหรือคณะกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติของเรานี้จะต้องมี รายชื่อของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะไปรวมกับส่วนของส่วนอื่น ๆ ทั้ง สนช. ครม. และ คสช. นะคะ ขออนุญาตกราบเรียนถามค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมจับจังหวะไม่ทัน ไปนิดหนึ่ง เอาเป็นว่าเราพักการประชุมเพื่ออาหารกลางวันก่อน เดี๋ยวกลับเข้ามาแล้ว จะขอให้ทางกรรมาธิการหลายท่านจะมีความเห็น ให้เหตุผลตอบคำถามของท่านอาจารย์ด้วย แล้วก็ท่านอื่น ๆ ด้วย แล้วก็มีผู้อภิปรายเข้าชื่อไว้ จะเข้าชื่อต่อจากนี้ก็แจ้งที่เจ้าหน้าที่นะครับ คงจะยาวพอสมควร ขณะนี้ ๑๒.๓๐ นาฬิกา นาฬิกาสองฟากใช้ไม่ได้จากพลังฟ้าเมื่อวานนี้ เพราะฉะนั้นเหลืออันนี้ที่ตรงเวลา เราขอกลับเข้ามาสักประมาณ ๑๓.๓๐ นาฬิกา ได้ไหมครับ ๑ ชั่วโมง ขอบพระคุณนะครับ ขอพักการประชุมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

พักประชุมเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๓.๕๐ นาฬิกา

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ท่านสมาชิกครับ ขออนุญาตดำเนินการต่อเพื่อให้เราได้ผลสรุป อย่างที่เรียนไว้ว่าหลังจากพัก เราจะขอให้ทางกรรมาธิการที่ไปพิจารณาเรื่องนี้ได้แสดงความเห็น ได้ให้ความเห็นที่เรา อภิปรายกันในส่วนกรรมาธิการว่า ทำไมถึงออกมาเป็น ๑๕ ๕ แล้วหลังจากนั้นอาจจะมี ท่านสมาชิกที่ได้แสดงความจำนงไว้อภิปรายต่อ เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมขออนุญาตใช้เวลา ให้กรรมาธิการได้ให้เหตุและผลของการให้ได้มาจากข้อเสนอ ๑๕ ๕ สักนิดหนึ่ง ทีนี้กรอบเวลาของเราถ้าประมวลจากที่ผ่าน ๆ มาเมื่อเช้านี้จะพบว่าเราอาจจะทะลุไปถึงเย็น หรือค่ำ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะลองดูว่าจะหาทางให้การประชุมนี้มีประสิทธิภาพขึ้นนะครับ ในชั้นนี้ขอเชิญท่านกรรมาธิการก่อนได้ไหมครับ ท่านใดที่จะให้เหตุผลครับ เชิญครับ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมาธิการ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ กระผม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมาธิการ ขออนุญาตชี้แจงในนามคณะกรรมาธิการว่า เหตุที่ คณะกรรมาธิการมีดำริให้เสนอต่อสภาแห่งนี้ เพื่อที่จะให้มีท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้านต่าง ๆ ด้านละ ๑ ท่าน เป็น ๑๑ ท่าน แล้วก็ ๔ ภาค ภาคละ ๑ ท่าน เป็น ๑๕ ท่าน ส่วนอีก ๕ คนที่เหลือนั้น คณะกรรมาธิการเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ปี ๒๕๔๙ มาจนถึงวันนี้เกือบ ๑๐ ปีแล้ว มีคู่กรณีมากมาย มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วก็รัฐธรรมนูญนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นกติกา ของผู้ชนะที่เขียนขึ้นเพื่อเล่นงานผู้แพ้ จะจริงหรือไม่จริงกระผมไม่ขอออกความเห็น ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่จะสิ้นสุดหรือไม่ก็อยู่ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญและ การกระทำการปฏิรูปครั้งนี้ครับ ท่านประธานครับ ท่านสมาชิกทุกท่านมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว อยู่ในมือ ถ้าท่านจะเปิดดูในคำปรารภหลายที่พูดถึงการที่จะต้องฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคีและความเป็นธรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จัดตั้งสภาปฏิรูป แห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ ในหน้า ๘ พูดไว้ชัดครับว่า จำเป็นต้องใช้เวลาสร้างบรรยากาศ แห่งความสงบเรียบร้อยและปรองดอง เพื่อนำความสุขที่สูญหายไปกลับคืนสู่ประชาชนและ ปฏิรูปกฎเกณฑ์บางเรื่องที่เคยเป็นชนวนความขัดแย้ง ไม่ชัดเจน ไร้ทางออกในยามวิกฤติ ขาดประสิทธิภาพหรือไม่เป็นธรรม ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการชนในชาติ ตรงนี้เองคือการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของการยึดอำนาจของการมีสภาปฏิรูป แห่งชาติ แล้วก็ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่นี้ต้องการที่จะให้ยุติปัญหา ของบ้านเมืองที่เรื้อรังมาเป็นเวลา ๑๐ ปี มีคู่ขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ไม่ยาก คณะกรรมาธิการ กิจการ สปช. (ชั่วคราว) จึงมีความเห็นว่า ถ้าไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเอกสาร ที่ถูกตราว่าเป็นกติกาของผู้ชนะ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยซ้ำไป ก็มีทางเดียวเท่านั้นละครับท่านประธานครับ คือต้องเปิดโอกาสให้ผู้ขัดแย้งเข้ามาเป็นผู้ร่วม ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียด้วย แต่การเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องไม่มาเป็นเสียงข้างมาก การร่วม มันร่วมได้หลายระดับครับท่านประธานครับ ร่วมระดับง่ายที่สุดก็คือไปรับฟังความเห็นของ พรรคการเมือง ๓ พรรคที่ไม่ได้เข้ามาร่วม วันนี้พรรคอื่น พรรคเพื่อแผ่นดินก็มีคนเข้ามา พรรคภูมิใจไทยก็มีคนเข้ามา หลายพรรคก็มีเข้ามา แต่ว่า ๓ พรรคใหญ่ที่ไม่เข้ามาคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา จะละเลยไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลในอดีตคือกลุ่ม กปปส. ก็เป็นคู่ขัดแย้ง นปช. ก็เป็นคู่ขัดแย้ง ถ้าเราจะทำ ให้รัฐธรรมนูญนี้มีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ระดับเพียงรับฟัง ก็คือต้องยื่นมือไปให้ เขาเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่ส่วนร่วมในฐานะเสียงข้างมากที่จะครอบงำนำชัก การร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่เป็นส่วนร่วมที่เขาจะปฏิเสธไม่ได้ว่าบัดนี้สภาแห่งนี้เป็นสภาที่ไม่มี พรรคการเมืองหนุนหลังอยู่ เป็นสภาที่ไม่มีพวก เป็นสภาที่ต้องการระงับความขัดแย้ง ต้องการสร้างข้อยุติให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ได้ยื่นมือไปขอให้เขาส่งมา ท่านสมาชิกถามว่า แล้วไปขอใครให้ส่งมา กรรมาธิการก็บอกว่าต้องขอไปที่หัวหน้าเขาครับ เราจะไปเที่ยวขอคน ที่หัวหน้าเขาไม่ส่งมาไม่ได้ ถ้าจะขอคนก็ต้องขอไปที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้า พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ประธานของกลุ่ม กปปส. ประธานของกลุ่ม นปช. ส่วนเมื่อเรายื่นมือไปแล้วขอสัมผัสมือ ท่านไม่รับสัมผัสท่านชักมือกลับ เรายกมือไหว้แล้ว ท่านไม่รับไหว้ ไม่เป็นไรครับ นั่นคือการแสดงน้ำใจไมตรีแล้วว่าสภาแห่งนี้ไม่ต้องการ เขียนกติกาของผู้ชนะไปเล่นงานผู้แพ้ สภาแห่งนี้ต้องการความปรองดอง ความสมานฉันท์ และใจกว้างพอที่จะให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนร่วมที่สำคัญในการตัดสินใจ แต่ไม่ใช่ ส่วนร่วมที่ครอบงำนำชัก คือเป็น ๕ เสียงใน ๓๖ เสียงเท่านั้น และกระผมจะขอกราบเรียน ท่านประธานที่เคารพนะครับว่า ถ้าดูในอดีตเมื่อปี ๒๕๔๙ รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นกรรมาธิการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำร่างเสร็จต้องมาเสนอสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิก ๑๐๐ คน มีสิทธิแปรญัตติได้ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เขาไม่ได้ออกแบบให้กรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญเป็นกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเขาไม่ได้ออกแบบให้สภาปฏิรูป แห่งชาติเท่านั้นที่จะเป็นผู้ลิขิตว่ารัฐธรรมนูญควรจะมีเนื้อความอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เขาให้โอกาส สภาแห่งนี้ส่งคนที่สภาเห็นสมควรจะเป็นสมาชิกหรือไม่ใช่สมาชิกก็ได้เข้าไป ๒๐ คน แต่เขาก็ให้ ครม. ส่งมา ๕ คน เขาก็ให้ สนช. ส่งมา ๕ คน เขาก็ให้ คสช. ส่งมา ๕ คน พร้อมทั้งประธาน อีก ๑ คน และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเขาไม่ได้บอกนะครับว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องฟังแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ถ้าเปิดรัฐธรรมนูญดูในมาตรา ๓๔ วรรคสอง ท่านสมาชิก เมตตาช่วยเปิดตามด้วยนะครับ เขาบอกว่าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๓๑ (๒) ความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และความเห็นของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย ก็แปลว่าเขาให้ความสำคัญกับ สปช. ในฐานะที่จะเป็นคนให้ข้อคิดชั้นต้น ๖๐ วัน แล้วก็พอร่างเสร็จให้มาเสนอ สปช. แต่ท้ายที่สุดเขาก็บอกว่า คนทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่มีแต่สมาชิก สปช. นะครับ ท่านเปิดไปดูมาตรา ๓๖ วรรคสาม สิครับ เขาบอกว่า ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย และคณะรัฐมนตรี หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเป็นอันว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว เขาต้องการระดมทุกภาคส่วนในสังคม ทุกองค์กรในสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุดังนี้ท่านประธานที่เคารพครับ กรรมาธิการด้วยคะแนนเสียง ข้างมาก ๑๑ ต่อ ๘ จึงเห็นว่าการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเปิดใจกว้างนำคู่ขัดแย้งเข้ามาสู่ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ไม่ใช่ผู้รับเหมามาเขียนสเปก (Spec) ในลักษณะ ที่ไม่ใช่เอาคนเหล่านั้นมาครอบงำกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเพราะเข้ามาแค่ ๕ มันจะทำให้เกิดการยอมรับกันขึ้น เมื่อเกิดการยอมรับกันขึ้นแล้วมันก็จะเป็นประโยชน์ ต่อการปรองดอง ในทางกลับกันท่านประธานครับ ถ้า ๕ กลุ่มนั้นเขาไม่ยอมเข้ามา ในโอกาส ต่อไปที่เขาจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเขียนโดยผู้ชนะ ไม่เปิดโอกาสให้เขา เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ประชาชนก็จะได้เห็นข้อเท็จจริงว่าอะไรคืออะไร ด้วยเหตุดังนี้ครับ คณะกรรมาธิการจึงเสนอมาให้สภาแห่งนี้วินิจฉัย ขออนุญาตกราบเรียนนะครับว่า คณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) ทราบดีว่าพวกเราเป็นคณะทำงานของท่าน ท่านตัดสินใจอย่างไรเราทำตามท่านครับ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านได้ทราบเหตุผลดังที่ผมได้ ประทานกราบเรียนไปแล้ว ท่านจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) รับได้ทั้งสิ้น เพราะเราเป็นคณะทำงานของท่านครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อาจารย์บวรศักดิ์ มีท่านอื่นจะให้ความเห็นเพิ่มเติม ท่านอลงกรณ์ครับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผมในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) ใคร่ขอถือโอกาสได้กราบเรียนเพิ่มเติมจากที่ท่านรองประธานดอกเตอร์บวรศักดิ์ได้ชี้แจง แนวคิดหลักของการพิจารณาในการนำเสนอแนวทางการสรรหาที่มีสัดส่วนเป็นสมาชิก สปช. ๑๕ ท่าน และบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีก ๕ ท่าน ซึ่งนั่นคือหัวใจสำคัญของการพิจารณา และเป็นมติของคณะกรรมาธิการชุดของเรา ท่านสมาชิกหลายท่านได้มีการอภิปราย แสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นปกติและเป็นความงดงามของการทำหน้าที่สมาชิก สปช. ที่มีความเห็นที่แตกต่างและใช้เหตุใช้ผล แต่หัวใจสำคัญที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณานั้น โดยเล็งเห็นว่า ไม่ว่าเราจะจัดทำรัฐธรรมนูญสมบูรณ์แบบอย่างไร ไม่ว่าเราจะจัดทำพิมพ์เขียว ปฏิรูปประเทศหรือแผนแม่บทปฏิรูปประเทศได้ดีอย่างไร แต่เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นเข้าสู่ภาวะปกติ เข้าสู่การคืนประชาธิปไตยไปสู่ประชาชน ไปสู่การเลือกตั้ง สิ่งที่เรากังวลและไม่มีใคร ให้หลักประกันและให้คำตอบได้ก็คือว่า ถ้าพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่กรณี คู่ขัดแย้งจนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในระยะหลายปีที่ผ่านมายังเป็นอยู่เช่นเดิม และด้วยคำกล่าวสั้น ๆ เพียงว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและพิมพ์เขียวนั้นเป็นผลพวง ของการรัฐประหาร เป็นผลพวงผลไม้พิษ ทั้งรัฐธรรมนูญและพิมพ์เขียวก็เป็นเพียง กระดาษ ๒ แผ่นเท่านั้นเอง ความทุ่มเทพยายามของพวกเราไม่ว่าจะเป็น สปช. ๒๕๐ ท่าน หรือ สนช. ที่เข้ามาที่ในฐานะของสภานิติบัญญัติ หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๓๖ ท่าน ก็จะเป็นการสูญเปล่า แต่เหนือกว่านั้นก็คือว่าประเทศชาติจะเสียโอกาส เสียเวลา แล้วก็จะเข้าสู่การเริ่มต้น ความขัดแย้งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นโดยคำปรารภและเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากภาวะทางตันของวิกฤติ ของประเทศชาติก็ดี ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ไม่ใช่ปัญหาศักยภาพ ของประเทศนี้ แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง เราไม่อาจละเลยมองข้าม สิ่งเหล่านี้ได้ คณะกรรมาธิการได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการพิจารณาไตร่ตรองดูกันอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ ดูกันถึงเรื่องของการตอบรับ และปฏิเสธหรือท่าทีของพรรคการเมืองก็ดี กลุ่มการเมืองก็ดี แต่ท้ายที่สุดแล้วเราคิดว่า เราควรจะเสนอสิ่งที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศนี้ ให้กับท่านสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ ท่านสมาชิกได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของประเด็นคุณสมบัติและคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าท่านสมาชิกจะได้กรุณาติดตามที่กระผมได้นำเสนอ ในมาตรา ๓๓ ซึ่งก็ได้แจกให้กับท่านสมาชิก บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกนั้น จะส่งรายชื่อมาจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา ๓๓ ถามผมว่ากลุ่มการเมือง ๒ กลุ่ม ที่เป็นคู่ขัดแย้งและมีความเห็นต่างกันไม่ใช่ความผิดในความเห็นที่แตกต่าง แต่ประเทศของเรา ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งได้อย่างสันติวิธี แต่ช่วงของการเว้นวรรค ประชาธิปไตย เว้นวรรคให้ประเทศนี้ได้หายใจ ด้วยการเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอดีต และอนาคต จะต้องเป็นสะพานเชื่อมโยงที่ไม่ใช่นำไปสู่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยของความขัดแย้ง แตกแยกอีกต่อไป ดังนั้นไม่ว่าจะมีกติกา กฎเกณฑ์อะไรก็แล้วแต่ จะต้องไม่เหนือกว่าความมุ่งมั่น ของพวกเราที่จะต้องทำให้การปฏิรูปนี้สำเร็จ เพราะฉะนั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ จึงพิจารณาในประเด็นว่า นอกจากผลงานแล้วต้องดูผลลัพธ์ด้วย ก็คือตัวเอาท์คัม (Outcome) เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว เรามีพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ พ้นมือจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันนำรัฐธรรมนูญ แล้วก็พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศนั้นนำไปสร้างความเป็นรูปธรรมเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ ครั้งใหญ่ แต่ถ้าหากว่าไม่มีการดำเนินการดังกล่าวนั้นเราก็จะได้แต่เพียงรัฐธรรมนูญ ได้แต่เพียงพิมพ์เขียว หลังจากนั้นก็ไม่เกิดผลลัพธ์ เพราะฉะนั้นการพิจารณาจึงพิจารณา ทั้งต้นทาง ปลายทาง แล้วก็ข้อกังวลหลายประการ เช่นเดียวกับกรณีของคุณสมบัติ ผมก็ต้องเรียนว่าในแง่ของคุณสมบัตินั้น จริงอยู่ว่าในมาตรา ๓๓ มีคุณสมบัติ และที่เป็นคุณสมบัติข้อห้าม เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกเว้นผู้ดำรงตำแหน่ง ใน คสช. สนช. และ สปช. หรือข้อห้ามที่ว่า เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่รับแต่งตั้ง ท่านรองประธานได้ชี้แจง ในประเด็นที่ว่า ถ้าหากที่ประชุมเห็นด้วยว่าจะเป็น ๑๕ บวก ๕ นั่นหมายความว่า จะต้องมีการติดต่ออย่างเป็นทางการจาก สปช. ลงนามโดยท่านประธาน ส่งไปถึง หัวหน้าพรรค ๓ พรรคดังกล่าว และอีก ๒ กลุ่มการเมือง เป็นหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว ที่จะต้องส่งผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติข้อห้ามเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องคุณสมบัติของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระผมเรียนในข้อเท็จจริงก็คือว่า ใน ๓ พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ดังกล่าว ตัวอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ก็ดี พรรคเพื่อไทยก็ดี พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกที่ลงทะเบียนปรากฏในทะเบียนของนายทะเบียนพรรคการเมือง คือ สำนักงาน กกต. ไม่ถึง ๓,๐๐๐,๐๐๐ คนครับ แต่สมาชิกจริงมีอยู่ ๑๐ ล้านคน พรรคเพื่อไทยก็เช่นเดียวกัน ทุกพรรคการเมืองจะมีสมาชิกที่ลงทะเบียนและต้องจ่ายค่าบำรุงอาจจะไม่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด แต่เมื่อมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองก็จะปรากฏแสดงตนขึ้นมา เพราะฉะนั้นข้อกังวลที่ว่าพรรคการเมืองไม่สามารถหาตัวแทนมาเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นนี้ผมเชื่อว่าทำได้ถ้าตั้งใจและเต็มใจที่จะทำ แต่ความหมาย ของความเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองสำคัญมากครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรค ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการบริหารพรรค ใครก็ได้ที่องค์กรนั้นยอมรับให้เป็นตัวแทน อย่างเป็นทางการ แล้วก็ส่งเข้ามาที่ สปช. ตรงนี้เองคือสิ่งที่ผมคิดว่าเราได้พยายามที่จะเสนอ ทางออก ทางเลือก แล้วก็ต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจของ สปช. ทั้ง ๒๕๐ คน ไม่ต้องการ ถูกมองว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราจะถูกตราหน้าว่าเป็นเครื่องมือของผลพวงผลไม้พิษ การรัฐประหาร และที่สำคัญเหนือกว่านั้นก็คือถ้าเราจะเริ่มปฏิรูปประเทศนี้ มันต้องเริ่มด้วยการแก้ปัญหาใหญ่ที่สุดคือแก้ปัญหาความแตกแยก แบ่งสี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จึงไม่ควรที่จะกีดกัน ไม่ควรที่จะเป็นแบ่งฝ่าย เราต้องเริ่มด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่เรียกว่าคอนฟิเดนซ์ บิลดิ้ง (Confidence building) ในทุกความขัดแย้งของทุกประเทศ เราได้เห็นตัวอย่างว่ามีหนทางเดียวคือแนวทางสันติวิธี มีเวทีเปิดให้ และวันนี้ถามบอกว่า เรามีเวทีที่ไหนบ้างครับ ไม่เหลือเวทีอะไรแม้แต่วันสุดท้ายของเวทีที่จะเจรจากันได้ เมื่อตกลงไม่ได้การรัฐประหารก็เกิดขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อประเทศไปถึงหนทางตันมันก็เกิดขึ้น วันนี้เรามีโอกาสที่ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาครับว่า ถ้าเราสามารถที่จะเริ่มต้นด้วยหลักความปรองดอง สมานฉันท์ และนี่คือจุดก้าวแรก ของการปฏิรูปประเทศที่ภารกิจของพวกเรานั้นแบกรับอยู่ทุกคน และกรรมาธิการนั้น ไม่สงสัยในความรู้ความสามารถของทุกท่านครับ ๒๕๐ ท่าน ไม่ว่าจะมาจาก ๑๑ สาขา หรือมาจาก ๗๗ จังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพที่จะเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทุกคน เพียงแต่ว่าเมื่อได้รับมอบหมายจากท่านทั้งหลาย ให้ไปพิจารณาในชุดเล็กคือกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) เราก็พิจารณาในส่วนนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

ประเด็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นมีการยกกันมาก มีการอภิปรายเรื่องนี้พอสมควร ทั้งในสภา สปช. แล้วก็นอกสภา ผมอยากเรียนอย่างนี้ครับว่า ๑๙ ฉบับของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ๘๒ ปีแล้ว ฉบับที่ไม่ใช่ชั่วคราว ฉบับที่เป็นฉบับถาวรนั้น ล้วนแล้วแต่มีทั้งที่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็อยู่หลายฉบับ ฉบับที่กล่าวได้ว่าเป็นฉบับที่ได้รับการยอมรับว่าทันสมัย ก้าวหน้า มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ก็มีการมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง บางฉบับก็ห้าม บางฉบับก็เปิดโอกาส จึงไม่ใช่หลักเกณฑ์ทั่วไปที่เป็นสากลในการที่จะมากำหนดในเรื่องของความมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ในสถานการณ์ที่กรรมาธิการได้พิจารณาว่า วันนี้บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติครับ วันนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เราต้องพยายามที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง และทำตน ให้เป็นตัวอย่างของความสมานฉันท์ปรองดองและยึดหลักนี้ให้มั่น วันหน้าประเทศ จะเดินหน้าไปได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมเท่านั้นในการหันหน้า เข้าหากัน และหาข้อยุติ ดังสันติวิธีอย่างมีเหตุมีผล แต่ถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาในยามที่เรา มีโอกาสที่จะให้ได้เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ

นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ

ประเด็นเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีของคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมทราบดีเช่นเดียวกันว่าบุคคลที่จะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญก็คือประธานของเราครับ แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๒ ได้บัญญัติไว้ชัดเจน เขาไม่ได้ใช้คำว่า ให้กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากสมาชิก สนช. มาจาก ครม. มาจากสมาชิก คสช. หรือมาจาก สมาชิก สปช. เขาเขียนเหมือนกันคือเขียนว่า เสนอโดย นั่นแสดงว่ามีนัยสำคัญที่ไม่ได้จำกัด บทบาทหน้าที่ว่าจะต้องมาจากสมาชิกของเราทั้งหมด เช่นเดียวกับไม่ได้มาจากคณะรัฐมนตรี คสช. หรือว่า สนช. ตรงนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อยากจะให้เห็นว่าเรามีความยืดหยุ่น เป็นหลักความยืดหยุ่นของการที่เราจะนำเสนอในวิถีทางที่ สปช. เห็นว่าควรและเหมาะสม ที่สุด ดังนั้นก็ใคร่ขอถือโอกาสนี้กราบเรียนเพิ่มเติมนะครับ ท่านรองประธานก็ได้ชี้แจง ได้สมบูรณ์แล้ว ผมก็ขออนุญาตเพิ่มเติมบางประเด็น ขอกราบเรียนท่านประธาน ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ มีท่านอื่นอีกไหมครับ ผมจะขอไปถึงท่านสมาชิกที่แสดงความจำนงอภิปรายไว้นะครับ ท่านจิตร์ ศิรธรานนท์ ครับ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม คำนูณ ผมขออนุญาตแทรก นิดหนึ่งได้ไหมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ต้นฉบับ

ท่านประธาน ผม คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมยังไม่ขออภิปรายในชั้นนี้ อันที่จริงก็มีสมาชิกอภิปรายมามากนะครับ แต่ผมขออนุญาตตั้งคำถามคณะกรรมาธิการประสานงานชั่วคราวสักนิดได้ไหมครับ เพราะว่า ที่อภิปรายกันมาตั้งแต่เช้า ความจริงถ้าเผื่อว่าสมาชิกจะได้ฟังเหตุผลที่แท้จริงเรื่องที่ต้องการ ที่จะให้ ๕ คนเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้ง ประเด็นการอภิปรายก็จะมีมุมมองที่กระชับและ ชัดเจนตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งกระผมอาจจะขอใช้สิทธิต่อไป แต่ในชั้นนี้กระผมก็อยากจะทราบ ในเชิงเทคนิคว่า สมมุติว่าที่ประชุมมีมติรับตามแนวทางของคณะกรรมาธิการประสานงาน ชั่วคราว และสมมุติว่าถ้าเผื่อว่าทางท่านประธานเชิญไปยังคู่ขัดแย้ง แล้วคู่ขัดแย้งเขาไม่มา ตัวแทนในจำนวน ๕ คนที่จะไม่ใช่สมาชิก สปช. ท่านจะดำเนินการต่อไปอย่างไรครับ เพราะว่าตอนนี้กระผมค่อนข้างมั่นใจเกือบ ๆ จะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่า คู่ขัดแย้งส่วนหนึ่งหรือ ทุกส่วนเราต้องเคารพเขา ส่วนหนึ่งก็คือว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่นะครับเขาไม่เห็นด้วย กับการรัฐประหาร และเขาถือว่าถ้าเขามาร่วมส่วนกับแม่น้ำสายใดสายหนึ่งที่เกิดจากยอดเขา ของการรัฐประหารก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับการรัฐประหารนั้น เพราะฉะนั้นคู่ขัดแย้ง ส่วนนี้ท่านไม่มา มีปรากฏชัดเจนจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคลหลายคน คู่ขัดแย้งส่วนที่ ๒ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน ต้องกราบขออภัย พลันที่ท่านกรรมาธิการชั่วคราว ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ไปในเชิงนี้ ท่านก็สวนออกมาทันทีว่าท่านไม่เห็นด้วย แต่ด้วยเหตุผล ที่ต่างกันออกไป คือท่านไม่เห็นด้วยว่าท่านซึ่งจะต้องเป็นผู้เล่นในกติกาที่จะเขียนขึ้นใหม่ โดยรัฐธรรมนูญไม่ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนกติกาอันนี้ อันนี้คือขั้วขัดแย้ง ๒ ขั้วใหญ่ ที่เป็นพรรคการเมือง แล้วก็เป็นทั้งกลุ่มมวลชนด้วย มีแนวโน้มสูงอย่างยิ่งที่จะไม่มา แล้วถ้าจะพูดถึงคู่ขัดแย้งที่เป็นมวลชนนะครับ ส่วนหนึ่งเขาก็จะยืนอยู่ในทางพรรคการเมือง ก็มีแนวโน้มที่จะไม่มา แล้วสมมุติว่าในคำเชิญที่เชิญไป ได้คู่ขัดแย้งที่เป็นมวลชนส่วนหนึ่ง ท่านตอบรับมา ท่านจะตัดสินอย่างไรครับ ก็กลายเป็นว่าเอาคู่ขัดแย้งที่ท่านตอบรับมาเข้ามา สปช. ๓๓/๒๕๕๗ ศิริพร ๓๓/๑ แต่คำถามของกระผมก็คือ อยากให้ทางกรรมาธิการตอบให้สิ้นกระแสความว่าถ้าเผื่อเชิญแล้ว ไม่มา ท่านจะดำเนินการอย่างไรกับจำนวน ๕ ท่านที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สปช. ท่านจะกลับ เข้ามาเพื่อหาจากสมาชิก สปช. เป็นอีก หรือท่านจะไปหาเอาจากผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นซึ่งเขาก็ ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการ ๗,๐๐๐ คนตั้งแต่ต้น แล้วท่านจะมีหลักในการคัดเลือกอย่างไร หรือว่าท่านจะขอสิทธิจากที่ประชุมแห่งนี้ ขอสิทธิในการไปตัดสินใจที่จะดำเนินการอย่างไร ก็เลือกให้ได้มา กระผมขออนุญาต คือถ้าท่านสามารถที่จะให้คำตอบที่สิ้นกระแสความไปได้ บางทีการอภิปรายต่อไปมันจะได้มีความชัดเจนตรงเป้าตรงประเด็นยิ่งขึ้นครับ ด้วยความเคารพ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ท่านคำนูณได้อภิปราย ในการตั้งคำถามไปเรียบร้อย ผมคิดว่ายังไม่อยากให้กรรมาธิการได้ตอบ เพราะว่ามันจะมี ประเด็นที่จะโยงในการอภิปรายต่อไป บางคำถามมันอาจจะไม่ได้ตอบโดยตัวของมันเอง เพราะว่าที่ท่านคำนูณตั้งเข้าใจว่าจะมีหลายคำถามอยู่ด้วยกัน ผมอยากจะขออนุญาตไปที่ ท่านผู้ได้เข้าแสดงความจำนงอภิปรายไว้ก่อนแล้วเดี๋ยวอาจจะกลับมาอีกทีหนึ่ง เชิญท่านจิตร์ ครับ

ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช. จังหวัดเพชรบุรี ขอกราบขอบพระคุณ ทางกรรมาธิการที่ได้แสดงเจตนาให้พวกเราทราบว่าท่านคิดอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมุติว่าการตั้งกรรมาธิการที่เพิ่มไป ๑๕ บวก ๕ ในวันนี้ทำให้ข้อขัดแย้งต่าง ๆ มันจบลง ผมยินดียกมือเลย แต่มันไม่มีข้อยืนยันครับ มันไม่มีข้อยืนยันว่าถ้าเราตั้งกรรมาธิการจากซีก ของเราแล้ว จากบุคคลภายนอก ซึ่งอาจจะมาจากนักการเมือง จะมาจากไหนก็แล้วแต่ เป็นการแสดงความใจกว้างของเราแล้วเรื่องทั้งหมดมันจะยุติลง ก็ต้องถามกลับไปว่า เรื่องที่มันเกิดขึ้นมานี้มันเกิดจากการเมือง มันเกิดจากการที่เราอยากได้ทรัพย์สิน อะไรมากขึ้นหรือเปล่า เป็นเรื่องที่มีฮิดเดน อะเจนดา (Hidden agenda) อยู่หรือเปล่า มันไม่เหมือนกับ สปช. เรานะครับ ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจว่าพวกเราเห็นต่างได้แต่หัวใจเดียวกัน คือต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าครับ เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่าผมมี ๒ ประเด็นสั้น ๆ ไม่อยากไปรบกวนในที่ประชุมนี้มาก

ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็คือรัฐธรรมนูญ ให้ตั้ง ๒๐ คน ให้ สปช. เสนอ แต่ก็ไม่ได้บอกนะครับ มีการชี้แจงกันว่ากลัวจะไม่ได้ครบจำนวน ๒๐ คน อันนี้เอาเป็นว่าประนีประนอมระหว่างสภากับทางกรรมาธิการได้ไหมครับว่า ในกรณีที่เปิด รับสมัครไปแล้ว หรือว่าทางกลุ่มต่าง ๆ เสนอมา เรามีผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเกินกว่า ๒๓๐ คน ท่านไปตั้งที่อื่นมาเลย แต่ถ้ามันมีคุณสมบัติครบถ้วน มีคนที่เขาอยากจะเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก สปช. กรุณาตั้งจากที่นี่ก่อนได้ไหม ผมมาจาก หอการค้าไทยแล้วก็มาจากหอการค้าจากจังหวัดเพชรบุรี เขาให้สิทธิองค์กรพวกเรา สมมุติจะตั้งอะไรก็แล้วแต่เราต้องคิดจากสมาชิกของเราก่อน ไม่ใช่คิดจากคนข้างนอก แต่ถ้าหาไม่ได้ก็เหมือนมีมาตรา ๔ ของประมวลกฎหมายแพ่ง ให้ใช้วิธีอย่างอื่น อันนี้ก็ว่ากันไป แต่ในกรณีที่มีคนครบ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะไปเอาคนนอกมาทำไม แต่เหตุผล หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงก็ฟังขึ้นว่าเพื่อประนีประนอม แต่ถ้าเอามาจากสายการเมือง ผมต้องบอกว่าสิ่งที่อยู่ในใจของเขานั้นอะไรกันแน่ เขาต้องการมาร่วมปฏิรูปประเทศ กับเราหรือเปล่า ถ้าเขาต้องการร่วมปฏิรูปประเทศของเรา แล้วการตั้งกรรมาธิการที่มาจาก คนนอกในสายของ สปช. ๕ คน เหตุการณ์มันสรุปลงยุติลงประเทศรักกันดีเลย โอเคครับ เรายินดีเสียสละ แต่มีอะไรยืนยันล่ะ อย่างที่ท่านคำนูณได้ยกขึ้นมา ขออนุญาตที่เอ่ยนามนะครับ อันนี้คือเรื่องที่ ๑ ว่าลองไปดูก่อนไหม มีคนสมัครไหม มีคุณสมบัติที่ขาดหรือเปล่า ถ้ามันขาดแล้วเราหา ๒๐ คนไม่ได้ หาได้แค่ ๑๕ อีก ๕ ไปหาข้างนอกมา อันนี้ เพื่อประนีประนอมในประเด็นที่ ๑

ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๒ ครับ อยู่ที่กระบวนการทำงาน การทำงานของเราเรามี สปช. สาย ๗๗ จังหวัด เขาไม่ได้เป็นคนที่ได้รับเลือกมาจากคนในจังหวัดก็จริง แต่เขาสามารถ ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ อย่างที่จังหวัดเพชรบุรีทำงานแล้วครับ ทำงานกันแล้ว มีสภาพลเมืองขึ้นมาแล้ว เสนออะไรขึ้นมาเยอะแยะเลย นี่คือการทำงานของเรา ถ้าสามารถว่า สปช. สาย ๗๗ จังหวัดที่เขารวมตัวกันไม่ได้เพื่อจะมาแบ่งแยกหรอกครับ มันมาเพื่อประสานงานกัน อย่าลืมนะครับว่าใน ๑๐ ด้าน กับอีก ๑ ด้าน ด้านอื่น ๆ บางด้าน ถ้าท่านเอาของท่านอย่างเดียวแล้วมันไปสร้างปัญหาให้กับด้านอื่นเขา มันต้องมีคอนเน็กชัน (Connection) ในการเชื่อมโยงกันครับ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาของเราให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไปเกิดปัญหาอื่น ๆ มา เรื่องอำนาจไปเจอเรื่องคอร์รัปชันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ มันจะต้องมีสายสัมพันธ์ต่าง ๆ ถ้าเราอาศัย ๗๗ จังหวัด ที่เรามี สปช. อยู่แล้วนี่นะครับ เป็นเหมือนม้าด่วนที่วิ่งไปบอกกับคนข้างล่างว่าท่านต้องการอะไร มีการศึกษามาแล้วครับ เพราะเรามีสภาพัฒนาการเมืองที่รองรับทำกันมานานแล้ว ถามความเห็นเขา เอาความเห็น ของประชาชนในระดับล่างขึ้นมาบอกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่าข้างล่างต้องการอย่างนี้ ๆ นะ สภาเห็นเป็นอย่างไร สภาบอกไม่ได้คุณจะเอาอย่างนี้ไปทั้งหมดไม่ได้กลับไปบอกใหม่ สภาเขาเห็นอย่างนี้เห็นด้วยไหม ถ้าไม่เห็นด้วย มีข้ออะไรนะครับ ทั้งหลายทั้งปวงถ้าทำกันได้ ทั้ง ๗๗ จังหวัดนี้ ต่อให้มีนักการเมืองที่ออกมาโวยวายว่าอันนี้ออกมาโดยอะไร เป็นผลพวง ของผลไม้พิษ ท่านไม่ต้องไปฟัง มันยิ่งกว่าทำประชามติอีก เพราะมันเกิดขึ้นมาจากระดับล่าง ขึ้นมาระดับบน ทั้งนี้และทั้งนั้นอยู่ที่กระบวนการในข้อที่ ๒ ที่ผมอยากเสนอว่ากระบวนการ ของเรามีม้าใช้อยู่แล้วในการที่จะเดินไปถึงข้างล่าง ท่านใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์นะครับ เราจะมีกรรมาธิการในการที่จะประสานงานรับฟังความคิดเห็นข้างล่างหรือไม่ในอนาคต เป็นเรื่องที่ว่ากันต่อไป แต่ม้าใช้เหล่านี้นะครับ ซึ่ง สปช. เหล่านี้เขาจะทำงานให้ท่านแล้ว ทำงานตั้งแต่วันแรกแล้วด้วย หลายที่มีผลลัพธ์ออกมาแล้วเป็นเปเปอร์ (Paper) เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นหลักประกันยืนยันอย่างดีว่ารัฐธรรมนูญที่เรามีหน้าที่ ของ สปช. นี้ ผมแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ เรื่องที่ ๑ ก็คือการศึกษา วิเคราะห์ แล้วก็ สังเคราะห์ว่าจะปฏิรูปในเรื่องอะไร แล้วเอาสิ่งที่เราได้สังเคราะห์นี้ไปบอกกับกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะชี้จะมีบทนี้ไหม ผมยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ นี่นะครับ ในเรื่องของกิจการค้าหรือการทำธุรกิจมีเขียนอยู่ว่า รัฐต้องส่งเสริมการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ตอนนี้อาจจะต้องเพิ่มไปอีกไหม อีกประโยคหนึ่งว่าต้องมีการกระจายรายได้ด้วย ไม่ใช่ ไปส่งเสริมการค้าเสรีแล้วรวยอยู่กระจุกเดียว ยกตัวอย่างอย่างนี้เป็นต้นจะต้องมีหรือไม่ อันนี้ อาจจะต้องทำความเห็นจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระดับล่างรวมทั้งประชาชน แล้วส่งกลับ ขึ้นมายังสภาบนก็จะเกิดเป็นมรรคเป็นผลนะครับ เพราะฉะนั้นโดยสรุปในนี้ไม่อยากใช้เวลา ของสภามาก ในประเด็นที่ ๑ หาตัวกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของเรานะครับ จากสมาชิกของเราก่อนดีไหม ๒๐ คน ถ้าคุณสมบัติไม่ครบ ไม่ต้องการที่จะเป็น เวลาไม่มี แล้วต้องการจะสมัคร ส.ส. ส.ว. ต่อ จบครับ ไปหาคนข้างนอกมาอีก ๕ คนนะครับ แล้วก็ กระบวนการในการทำงานกรุณาใช้ สปช. ที่มาจากจังหวัด เขาไม่ต้องการไปรวมกลุ่มกัน เพื่อแบ่งแยกว่านี่เป็นกลุ่มจังหวัดกลุ่มอะไรหรอกครับ แต่ต้องการมีคอนเน็กชันกันว่าจังหวัด ของคุณได้เลือกมาอย่างนี้มันตรงกันไหม มาประมวลกันแล้วมันควรจะมีทางออกอย่างไร อย่างนี้ละครับ มันจะขึ้นมาจากประชาชนในระดับรากหญ้า มันไม่เป็นการประนีประนอม ดีกว่าการที่เราจะไปเชิญใครต่อใครก็ไม่รู้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าหลักประกันตัวจริงที่เขาทะเลาะกันอยู่นี่ เขาจะเข้ามาหรือเปล่า เขาอาจจะอยากสมัคร ส.ส. ต่อ เขาอาจจะสมัคร ส.ว. ต่อ ไปส่งใคร ก็ไม่รู้เข้ามานะครับ ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ต้องวิ่งกลับไปถาม แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร แล้วมันจะเกิดการประนีประนอมอะไร เพราะฉะนั้นด้วย ๒ ประการนี้ ก็ฝากในที่ประชุมนี้ ให้ช่วยคิดด้วยครับ ผมยังเห็นด้วยกับการที่เป็น ๒๐ ต่อ ๐ ครับ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

อาจารย์ณรงค์ พุทธิชีวิน ครับ

นายณรงค์ พุทธิชีวิน ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ณรงค์ พุทธิชีวิน สปช. ด้านการศึกษาครับ ท่านประธานครับ ผมออกจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการในประเด็น ที่ให้มีส่วนร่วม แต่สิ่งที่คาอยู่ในใจก็คือถ้าเราเอาคู่ขัดแย้งและเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม กรรมาธิการมันก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้นแหละครับ อย่างน้อยเขาก็บอกว่าเสียงข้างน้อย ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราต้องการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนเขามีส่วนร่วม น่าจะต้องมีเหตุผลอื่นที่มากกว่านี้ กระผมมีเหตุผลครับ ท่านประธานครับ

นายณรงค์ พุทธิชีวิน ต้นฉบับ

อย่างแรกเลยก็คือ กฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดว่า ๒๐ คนนี้ต้องมาจาก สปช. นะครับ แต่ สปช. เป็นผู้เสนอ เพราะฉะนั้นจะเสนอทั้งหมดหรือเสนอบางส่วนก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้

นายณรงค์ พุทธิชีวิน ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ก็คือ เรามีความเชื่อกันไหมครับว่าคนที่มีความรู้ความสามารถ ในที่ประชุมแห่งนี้พอแล้ว ผมก็เข้าใจว่าที่ประชุมแห่งนี้ ๒๕๐ คน ก็เป็นจำนวนที่มีความ เหมาะสม แต่คำถามก็คือที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมนี้แล้วก็ไม่ได้เป็น สปช. ก็ไม่ได้แปลว่า เขาไม่มีความสามารถ

นายณรงค์ พุทธิชีวิน ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ก็คือถ้าเรากังวลว่าเอาพวกเราทั้งหมดหรือเอาคนนอกมาด้วย แล้วจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ วันนี้ต้องยอมรับว่าไม่ว่าไปทางไหนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปฏิเสธ ไม่ได้เลยมันมีอยู่แล้วละครับ เพราะฉะนั้นเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์เก็บไว้เถอะ เรามาดู สิ่งที่ควรจะเป็นกันน่าจะดีกว่า ผมไม่เห็นด้วยกับที่จะต้องมีมติว่า ๑๕ ต่อ ๕ หรือ ๒๐ ต่อ ๐ แต่ผมมีข้อเสนอใหม่ครับท่านประธาน ข้อเสนอใหม่ของผมก็คือ เมื่อตอนเช้านี้เราก็กำหนด ให้ฝ่ายต่าง ๆ เขาเสนอชื่อคนมาแล้วฝ่ายละ ๑ คนหรือ ๒ คนก็สุดแท้แต่ ผมอยากให้เอาเรื่อง เอาชื่อคนเหล่านี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอชื่อจาก สปช. และด้วยฐานคิดจาก ด้านทั้งหมด ๑๑ ด้าน แล้วก็ภาคทั้งหมดอีก ๔ ภาค ก็เป็น ๑๕ คน เสนอชื่อตรงนี้ตั้งไว้ก่อน แล้ว ๕ คนนี้ก็เสนอต่อไป จะเป็นคนในหรือเป็นคนนอกให้มันเป็นกระบวนการเถอะครับ แล้วถ้าโหวต ๕ คนหลังนี้ได้เป็นคนในทั้งหมด ผมก็ว่าเป็นเรื่องที่ชอบแล้ว หรือได้คนนอก บางส่วนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หรือได้คนนอก ๕ คนทั้งหมดจาก ๕ คนนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นมติ ที่เราต้องยอมรับ ท่านประธานครับ ข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้ เสนออย่างนี้ครับ ด้วยความขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณนะครับ ผมไม่ทราบท่านสมาชิกข้างหลังยกมือจะอภิปรายหรือเปล่าครับ

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมนั่งฟังมา ๔-๕ ชั่วโมง แล้วครับ ผมคิดว่าน่าจะปิดอภิปรายได้แล้ว แล้วเท่าที่ฟังมายังไม่มีใครเห็นด้วยกับข้อเสนอ ของกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เลยนะครับ แล้วก็วิธีปฏิบัติจะทำ อย่างไรดีครับ จะถอนข้อเสนอนี้ไปหรือว่าจะให้โหวต ผมไม่อยากให้เราคุยกันยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ นะครับ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มีท่านจะเสนอเป็นญัตติ หรือเปล่าครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ต้องนับไหม อาจจะนับ ฝ่ายที่ไม่รับรองง่ายกว่าหรือเปล่า มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหม โอเคขอบคุณ ท่านเลขาธิการ มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ตกลงมี ๓-๔ ท่าน ผมคิดว่าคงต้องใช้ เดี๋ยวก่อนกี่ท่าน ๕ ๖ ๗ ๘ อย่างนั้นผมคิดว่าคงต้องใช้เสียงข้างมากแล้ว เป็นอันว่าคงต้องขอ ลงมติในประเด็นที่กรรมาธิการเสนอว่า กรรมาธิการมีความเห็นว่ากรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญนั้นมาจากสมาชิก สปช. ๑๕ ท่าน แล้วน่าจะเชิญคนที่ ขอประทานโทษ ลงมติว่า เห็นควรให้ปิดอภิปรายหรือไม่เสียก่อนนะครับ จากเสียงที่รับรองเมื่อสักครู่ ผมขานอย่างนี้ ได้ไหมครับว่า ให้ท่านกด เห็นด้วย ถ้าเห็นควรให้ปิดการอภิปรายได้ แล้วกด ไม่เห็นด้วย ถ้ายังไม่เห็นควรปิดอภิปราย ถูกไหมครับ ให้สมาชิกกดบัตรแสดงตนด้วยนะครับ ผมขาน อีกครั้งหนึ่ง ท่านบอกว่าให้กดอันนี้ก่อน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ให้สมาชิกกดบัตรแสดงตน แล้วก็กด เห็นด้วย ถ้าท่านเห็นควรปิดอภิปราย กดไม่เห็นด้วย ถ้ายังเห็นควรให้อภิปราย ต่อไป เชิญครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ผม เสรี สุวรรณภานนท์ ผมกราบเรียน ท่านประธานถามให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ไหมครับ ขออนุญาตเป็นว่า ถ้าใครเห็นควรให้ปิด อภิปรายให้กด เห็นด้วย ถ้าใครเห็นว่าไม่ควรให้ปิดอภิปรายให้กด ไม่เห็นด้วย นะครับ มันจะได้กดง่ายครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับ ถูกต้องครับ ขอบคุณครับ กดเลยนะครับ สมาชิกต้องกดแสดงตนก่อนนะครับ

นายชาลี เจริญสุข ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตเรียนถามท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับ

นายชาลี เจริญสุข ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ชาลี เจริญสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดฉะเชิงเทราครับ เมื่อสักครู่ท่านประธานได้บอกไว้แล้วว่า ถ้าเห็นด้วยก็หมายความว่าปิดการอภิปราย ทีนี้เมื่อสักครู่ท่านสมาชิกเสนอใหม่ ผมอยาก เรียนท่านประธานให้ย้ำอีกครั้ง เพราะว่าเดี๋ยวสมาชิกจะงงครับ ขอให้ท่านประธานได้ย้ำ อีกครั้งครับว่าเอาอย่างไรแน่ครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

กดแสดงตนนะครับ แล้วถ้าเห็นควรให้ปิดอภิปรายกดว่า เห็นด้วย แสดงตนแล้วต้องนับจำนวนก่อน ขอประทานโทษ ตอนนี้ต้องนับจำนวนก่อนนะครับ เชิญครับคุณกอบกุล

นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติค่ะ ตอนนี้เรากดไปแล้วค่ะ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นสงสัยต้องล้างใหม่ทั้งหมดก่อนค่ะแล้วถึงจะกดแสดงตน ขอบพระคุณค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เจ้าหน้าที่ต้องขอ ล้างใหม่เอาเริ่มใหม่ ล้างแล้วนะครับ คราวนี้ขอแสดงตนก่อนนะครับ เชิญครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ตัวเลขยังไม่นิ่งเลย ส่งผลนะครับ มีท่านใดยังไม่ได้แสดงตนไหมครับ มีท่านใดยังไม่ได้แสดงตนไหมครับ ขานชื่อด้วยครับ

พันเอก สิรวิชญ์ นาคทอง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม พันเอก สิรวิชญ์ นาคทอง ครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญครับ

นางฑิฆัมพร กองสอน ต้นฉบับ

ท่านประธาน ฑิฆัมพร กองสอน ค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม วิวัฒน์ ศัลยกำธร ครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประชาด้วยหรือเปล่า

นายประชา เตรัตน์ ต้นฉบับ

กระผม ประชา เตรัตน์ ครับ ขอแสดงตนครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ท่านประดิษฐ์ล่ะ

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ต้นฉบับ

ผม ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ แสดงตนครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มีท่านใดอีกไหมครับ เชิญครับ

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ อมร วาณิชวิวัฒน์ ครับ แสดงตนครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มีอีกไหมครับ แสดงตนครับ มีไหมครับ เป็นอันครบนะครับ ๒๑๙ นะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้นคราวนี้ ก็เป็นการลงมติแล้วนะครับ ก็จะขอสัญญาณเรียกลงมตินะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ถ้าท่านใดเห็นด้วย ให้ปิดอภิปรายกด เห็นด้วย ถ้าเห็นว่ายังไม่ควรปิดอภิปรายกด ไม่เห็นด้วย เชิญครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เจ้าหน้าที่ส่งผลนะครับ ผู้เข้าประชุม ๒๑๙ คน มีเห็นด้วย ๑๙๘ คน ไม่เห็นด้วย ๒๐ คน แล้วงดออกเสียง ๑ คน เป็นอันว่าปิดอภิปรายนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เมื่อปิดอภิปรายแล้ว คงต้องขอมติจากที่ประชุมว่า จะรับข้อเสนอของกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ที่จะเสนอกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเอง ๑๕ คน จากผู้ไม่ใช่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๕ คน หรือจะเป็นความเห็นที่ให้มีกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้ง ๒๐ คน เอาญัตตินี้เลยได้ไหมครับ หรือต้องเอาทีละตอน เอาอย่างนี้เลยนะครับ ๑๕ ๕ หรือ ๒๐ ๐ ได้ไหมครับ เชิญครับ

พลโท นาวิน ดำริกาญจน์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม พลโท นาวิน ๑๐๙ ก็มีข้อสงสัยอยู่นิดหนึ่งนะครับ เพราะว่าในที่วิปชั่วคราวเสนอมามันมี ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่ง ก็คือ ๑๕ บวก ๕ หรือเรากำลังจะดูว่าคือ ๒๐ ๐ แต่อีกอันหนึ่งในนั้นก็คือที่มาของ ๑๕ ที่กำหนดไว้ในวรรคสองนะครับว่า ๑๕ คนเลือกมาก่อน แล้วก็หาคนเพิ่มเติม แล้วก็มาเลือก กันใหม่ภายในสภาตรงนี้ ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญเช่นกันนะครับ ก็ขออนุญาต คิดว่าคงจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราจะต้องลงคะแนนความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ตามการแบ่งด้าน ตามเจตนารมณ์นี่นะครับ เรามี ๑๑ ด้านอยู่แล้ว แล้วเรามีสิ่งที่มีความจำเป็นก็คือ ความเชื่อมโยง เชื่อมโยงระหว่างประชาชนมาสู่ สปช. เชื่อมโยงระหว่าง สปช. ไปสู่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนะครับ เพราะฉะนั้นในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็น ๑ คนที่มีกระบอกเสียงจาก ๑๑ ด้าน และ ๔ พื้นที่ ๑๕ คน ผมยังขออยากจะให้ ชัดเจนนะครับว่า ๑๕ คนที่เลือกมาแล้วจาก ๑๑ ด้าน กับอีก ๔ พื้นที่เป็นตัวล็อก (Lock) ไปเลยจบ ไม่มีการย้ายออกนะครับ ลงตัวไปแล้ว ๑๕ แล้วถ้าจะแข่งใหม่ก็คือแข่งอีก ๕ เท่านั้น ซึ่ง ๕ เท่านั้นอาจจะมาจากด้านอื่น ๆ หรือด้านที่มีผู้ประสงค์จะเข้าร่วม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า ๑ จากด้านนั้น ๆ หรืออาจจะมาจาก วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นกรรมาธิการที่ตั้งใหม่ หรืออะไรอื่น ๆ นะครับ แต่ประเด็นผม ก็คือ ๑๕ จบไปเลย และอีก ๕ ว่ากันอีกทีครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขออนุญาตเอาญัตติแรก ๑๕ ๕ หรือ ๒๐ ๐ เสียก่อน เพราะถ้าความเห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว ๑๕ ๕ อาจจะไม่ต้อง พูดกัน ดังนั้นขออนุญาต เชิญครับท่านสมาชิก

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม นายแพทย์ชูศิลป์ คุณาไทย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมนะครับ ผมได้ยกมือขอแสดงความเห็นหรือข้อเสนอแนะตั้งแต่เช้านะครับ แล้วก็ยังข้ามไปข้ามมา ไม่มีโอกาสได้พูดนะครับ ความจริงแล้วผมอยากจะเสนอแนวทางการสรรหากรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นทางสายกลางที่ใช้เหตุใช้ผล ไม่มีใครแพ้ ใครชนะ แล้วก็ทำให้วิน (Win) ได้ทั้งสองฝ่ายนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขออนุญาตผมนิด ได้ไหมครับ ญัตตินี้เราลงมติไปแล้วว่าปิดอภิปรายครับ

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

แล้วผมก็เรียนให้ท่านทราบว่าไม่มีโอกาสได้มา แสดงในทางสายกลางนี้ครับ ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ผมขออนุญาตสรุปนิดเดียว นะครับว่า

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่ ๑ ก็คือการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน ๑๕ คน ซึ่งจะเป็นจากด้านต่าง ๆ ที่ท่านว่านี่นะครับ รวมแล้ว ๑๕ คน ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติ รับรองเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่ ๒ ก็คือคัดเลือกจาก สปช. ที่เหลือ ๒๓๕ คน จำนวน ๕ คน ให้ สปช. ที่ประชุมเห็นชอบเท่านั้น

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่ ๓ คัดเลือกจากบุคคลภายนอกไม่เกิน ๕ คน ให้ที่ประชุม สภาปฏิรูปแห่งชาติเห็นชอบ และ

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่ ๔ ก็คือนำรายชื่อบุคคลขั้นตอนที่ ๒ และขั้นตอนที่ ๓ รวม ๑๐ คนนี้ มาเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติเลือก ๕ คน เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ สำรองไว้ ๕ คน ซึ่งอันนี้ก็จะแก้ปัญหาที่ว่าเขาจะมาหรือไม่มา หรืออะไรต่าง ๆ นี่นะครับ ก็จะมีคนสำรอง ซึ่งอันนี้เป็นข้อคิดเห็นผมที่เป็นทางสายกลางนะครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ต้องขอประทานโทษด้วย เพราะว่ามีอีกหลายท่านที่เข้าชื่อ แต่เผอิญถ้ามีการ

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ

ท่านประธานขออนุญาตนิดเดียวครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ

ผม ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ครับ สมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ คือประเด็นจริง ๆ เราจบไปหมดแล้วนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ใช่ครับ

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ

ขั้นตอนตรงนี้เป็นขั้นตอนที่เราจะขอมติว่าเราจะ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการหรือเปล่า ผมคิดว่าประเด็น ๒๐ ๐ ก็คงไม่ต้อง ถามหรอกครับ ถามเพียงแค่ว่าประเด็นเราเห็นด้วยในหลักการที่เสนอ ๑๕ ต่อ ๕ หรือเปล่า แค่นั้นครับ ขอบคุณครับ

นายสุชาติ นวกวงษ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายสุชาติ นวกวงษ์ ต้นฉบับ

กระผม นายสุชาติ นวกวงษ์ สมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ ๒๑๘ นะครับ ประเด็นมันคือว่าท่านประธานต้องทำให้ชัดเจนนะครับ ระหว่าง ๒๐ หรือระหว่างคนภายในกับคนภายนอก ขณะนี้เราชัดเจนอยู่แล้วนะครับ เพื่อจะลงมติว่า จะเอาแบบไหน ผมว่าท่านประธานดำเนินการได้แล้วครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รอท่านจบ นี่ละครับ ขออนุญาตดำเนินการขอมตินะครับ ขอลงมตินะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ถ้าท่านใดเห็นด้วย ตามที่กรรมาธิการเสนอ คือเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช. ๑๕ คน จากผู้ไม่ใช่ สปช. ๕ คน กรุณากด เห็นด้วย ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะเป็นการเลือกจาก สปช. ทั้งหมด ๒๐ คน กด ไม่เห็นด้วย เชิญครับ

นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ อยากให้ท่านประธานพูดซ้ำ อีกครั้งหนึ่งครับ เพราะผมว่าหลาย ๆ ท่านยังไม่เข้าใจนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มตินะครับ ท่านใด เห็นด้วยตามที่กรรมาธิการเสนอ เอาย่อ ๆ นะครับ ๑๕ ๕ กด เห็นด้วย ท่านใดเห็นว่า ควรเป็นการเลือกจาก สปช. ทั้งหมด ๒๐ ท่านเลย กด ไม่เห็นด้วย

พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมกราบขออนุญาตครับท่าน คือประเด็นนี้แค่ว่าใครเห็นด้วยกับกรรมาธิการชั่วคราวว่า ๑๕ ๕ กดแค่เห็นด้วยพอแล้ว ที่เหลือก็คือไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะท่านประธานพูดอย่างนี้จะสับสน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมพยายามฝึกวิธี อย่างนั้นอยู่แล้ว เราฝึกหัดกันใหม่หมดเลย

นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม สมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติจากจังหวัดสิงห์บุรีนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ท่านชื่ออะไรครับ

นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ ต้นฉบับ

ชาลี ตั้งจีรวงษ์ ผมว่าท่านประธานช่วยกรุณาแยกเป็น ๒ ประเด็นได้ไหมครับ ประเด็นที่ ๑ ก็คือเสียงอภิปรายนี่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงว่าเห็นด้วยกับ ต้องมีเพียง ๒๐ เสียง แล้วเสียงส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับมี ๑๕ บวก ๕ เอาเห็นด้วยนี่เป็น ๒๐ ได้ไหมครับ ผมว่าไม่สับสนครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมคิดว่าขณะนี้ทุกคน ไม่สับสนแล้ว แล้วก็โหวตลงมติไปเรียบร้อย ขอบคุณมากเลยครับที่ทำให้ไม่สับสน เอาละครับ นับคะแนนครับ มีท่านใดอีกหรือเปล่า ขอผลด้วยครับ ผู้เข้าประชุม ๒๑๙ ท่าน เห็นด้วย ๓๙ ท่าน ไม่เห็นด้วย ๑๗๕ ท่าน งดออกเสียง ๕ ท่าน ไม่ลงคะแนน ๐ ก็เป็น อันชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ ๑๗๕ เสียงเห็นว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะเสนอนั้น ๒๐ ท่านมาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้งหมด ตรงนะครับ ขอบคุณมากเลยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ทีนี้คำถามถัดไป ๒๐ คนนี้มาอย่างไร ข้อเสนอของกรรมาธิการเดิมนี่ จริง ๆ แล้วเป็นประเด็นที่ค้างมาจาก ๑๕ ๕ ก็บอกว่าแต่ละกลุ่ม แล้วก็แต่ละภาคช่วยไป พิจารณาเสนอมา ๑ ชื่อ ถ้ามี ขณะเดียวกันไม่ปิดโอกาสที่สมาชิกท่านใดประสงค์จะเสนอ ตัวเองเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ผมอยากให้มีการอภิปราย สั้น ๆ สักนิดหนึ่ง แล้วให้ได้ข้อยุติว่าเราจะทำอย่างไรกันต่อครับ เชิญครับ ท่านต่อนะครับ ขอตรงนั้นอาจารย์ดุสิตก่อนนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน วสันต์ ภัยหลีกลี้ นะครับ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หมายเลข ๑๗๘ ครับ จะขออนุญาตแสดงความเห็นนิดหนึ่งครับว่า การได้มาของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่อยากให้มาในลักษณะที่เป็นโควตาครับ คืออยากให้ดูคุณสมบัติเป็นหลัก คือถ้าเราจะให้ทางด้านต่าง ๆ หรือว่าภาคต่าง ๆ เสนอชื่อก็ได้ หรือว่าสมาชิกจะสมัครใจเสนอตัวก็ได้นะครับ ไม่ควรจะไปจำกัดว่าในแต่ละด้าน ในแต่ละกลุ่มนี่เสนอได้แค่ ๑ คน แม้กรรมาธิการจะบอกว่าไม่ตัดสิทธิของคนอื่นที่จะสมัคร แต่จริง ๆ ก็คือว่าแนวคิดพื้นฐานผมคิดว่าควรจะใช้คุณสมบัติ ความเหมาะสม ความรู้ ความสามารถเป็นหลัก มากกว่าที่จะไปแบ่งว่ามาจากกลุ่มนี้ ๑ กลุ่มนั้น ๑ แล้วก็ ภาคนั้น ๑ ภาคนี้ ๑ อยากให้เป็นโดยสมัครใจ แล้วก็มีคุณสมบัติ เสนอตัว แล้วก็อาจจะ มีการอภิปรายสั้น ๆ หลังจากนั้นก็ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นคนคัดเลือก ๒๐ คนที่ได้คะแนนสูงสุดครับ ท่านประธานครับ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอาจารย์ดุสิต ขอโทษอาจารย์ดุสิตด้วย เชิญครับ เดี๋ยวต่อนะครับ ต่อจาก อาจารย์ดุสิตครับ

นายดุสิต เครืองาม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม ดุสิต เครืองาม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อเช้าที่มีการประชุมกลุ่มด้านพลังงานผมได้รับมอบหมายจาก กลุ่มด้านพลังงานให้นำข้อคิดเห็น ข้อเสนอจากกลุ่มพลังงานมาเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ เพื่อรับไว้พิจารณา ประเด็นที่กลุ่มได้มีมติอยากจะให้เสนอก็คือว่า ในจำนวน ๑๕ คนแรกนั้น อยากจะขอยืนพื้นว่า อยากจะให้มีตัวแทนของแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ ๑ คน คือด้านละ ๑ คน จำนวน ๑๑ ด้าน บวกกับตัวแทนของภาค ภาคละ ๑ คน ก็รวมเป็น ๑๕ คน ให้ตรงนี้เป็นจุดยืนพื้น เหตุผล ที่มีแนวความคิดเช่นนี้จะเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๕ ครับท่านประธาน ที่เขียนไว้ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ ซึ่งทั้งหมดมีถึง ๑๐ เรื่องด้วยกัน มีกลไกต่าง ๆ เยอะแยะเต็มไปหมด แล้วก็ถ้าอ่านดูแล้ว ในบรรดา ๑๐ เรื่องหรือกลไกตรงนั้นค่อนข้างจะชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับด้านแต่ละด้าน ที่มีอยู่แล้ว ยิ่งดูในกลไกข้อที่ ๑๐ แล้วจะบอกว่า ให้มีกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูป เรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป ขีดเส้นใต้คำว่า ให้สมบูรณ์ต่อไป ก็ในเมื่อเรามีด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว แล้วก็ยังมีตัวแทนจาก ๗๗ จังหวัด ซึ่งแบ่งออกเป็นภาคต่าง ๆ เพราะฉะนั้นกลุ่ม ด้านพลังงานเราจึงเห็นว่าอยากจะเสนอให้ ๑๕ คนแรกนั้นเป็นตัวยืนพื้นนะครับว่า ให้แต่ละกลุ่ม เสนอมากลุ่มละ ๑ คน แล้วก็ให้แต่ละ ๑ คนนั้นถือว่าได้สิทธิเริ่มแรกเลยในการที่จะเข้ามา เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนสำหรับอีก ๕ คนที่เหลือนั้นซึ่งต้องรอมติในที่ประชุม บ่ายวันนี้นะครับ ทางกลุ่มเรายังไม่ได้ลงลึกไปถึงตรงนั้นว่า ๕ คนนั้นจะมาจากที่ใด จึงขออนุญาตกราบเรียนเบื้องต้นเท่านี้ครับ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญท่านโกวิทครับ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม นิรันดร์

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตนะครับ ผมผลัดท่านโกวิทไว้ ๒ รอบแล้ว แล้วเดี๋ยวท่านนะครับ

นายโกวิท ศรีไพโรจน์ ต้นฉบับ

กราบขอบคุณท่านประธานครับ กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ผม โกวิท ศรีไพโรจน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หมายเลข ๑๙ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีครับท่านครับ ผมขอกราบเรียนเสนอญัตติอย่างนี้ครับเป็นญัตติเลย ว่าให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากแต่ละกลุ่ม ทั้งหมด ๑๑ กลุ่ม แล้วก็แต่ละภาค ๔ ภาค เป็น ๑๕ ท่าน อีก ๕ ท่านนั้นสุดแต่สภานี้จะเลือกจากผู้ที่อาสาจะมาทำหน้าที่นะครับ เหตุผลที่ผมนำเสนอญัตติในลักษณะนี้เนื่องจากว่า ถึงแม้ความขัดแย้งของประชาชน ซึ่งนำมาสู่การทำรัฐประหารและก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้ มีการสลายผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้สลายกลุ่มขัดแย้งนั้นก็คือว่า ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมาจากตัวแทนของภาคประชาชนทั้งหมด ๒๕๐ คน ตัวแทนจากภาคประชาชนนั้น มาทั้งจากกลุ่มผู้ขัดแย้งเองหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้ด้วย กลุ่มที่สนใจในการปฏิรูปก็จะได้ส่งตัวแทนเข้ามา ก็คือท่านทั้งหลายที่เป็นตัวแทนองค์กร แต่ละองค์กร ท่านทั้งหลายที่เป็นตัวแทนองค์กรแต่ละองค์กรนั้นท่านถือว่าเป็นผู้แทน ของประชาชนในกลุ่มของท่าน ส่วนตัวแทนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นก็คือตัวแทนจากกลุ่มจังหวัด ตรงนี้จะเป็นผู้รับฟังเสียงประชาชนจากกลุ่มจังหวัด ถ้าผมอ่านรัฐธรรมนูญและผมแปล รัฐธรรมนูญไม่ผิด ผมก็จะแปลเช่นนี้ ซึ่งหมายความว่าวันนี้สีเสื้อหรือความขัดแย้งนั้น ถูกสลายไปโดยการจัดแบ่งกลุ่มแห่งผลประโยชน์ใหม่แล้วนะครับ นี่คือประการที่ ๑ เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๗ นี้ได้เห็นแล้วว่าประเทศไทย บอบช้ำมาในหลายด้านและเกิดปัญหาอย่างน้อย ๆ ก็คือ ๑๑ ด้าน ก็จึงได้ตั้งเป็นตุ๊กตาไว้ว่า ขอให้ผู้ที่ไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้นหาทางแก้ไขเยียวยา ป้องกัน และสามารถ จะพัฒนาประเทศในปัญหาทั้ง ๑๑ ด้านนี้ได้อย่างเร่งด่วน สมบูรณ์และยั่งยืน ในขณะเดียวกันการทำรัฐธรรมนูญนี้เป็นการสะท้อนเสียงประชาชน ๑. ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ๒. จากประชาชนทุกจังหวัดนะครับ เพราะฉะนั้นการที่ทุกกลุ่มสาขาอาชีพได้แยกกัน เข้ามาแล้วก็เป็นกลุ่มต่าง ๆ จำนวน ๑๑ กลุ่ม นั่นก็หมายความว่าทั้ง ๑๑ กลุ่มนี้เป็นตัวแทน กลุ่มสาขาอาชีพของประเทศไทยอยู่แล้ว และเมื่อแต่ละกลุ่มสามารถเข้าไปเป็นหนึ่ง ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ ก็หมายถึงว่าเป็นหลักประกันว่าสมาชิกในกลุ่ม หรือผู้ที่สนใจ หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียในปัญหาแต่ละด้านนั้นได้มีตัวแทนของเขาในการทำหน้าที่ ยกร่างนี้อย่างแท้จริง ส่วนอีก ๔ ภาคนั้น เนื่องจาก ๗๗ จังหวัดคงเข้าไปไม่ได้ พวกเราก็เห็นด้วยละครับว่าเป็น ๔ กลุ่มภาค เนื่องจากวัฒนธรรมภาคเหนือกับภาคใต้ ก็ไม่เหมือนกัน แต่ว่าในฐานะการทำหน้าที่ของตัวแทนซึ่งเป็นประชาชนแต่ละจังหวัดนั้น ต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนแต่ละจังหวัดให้เข้ามาสู่คณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญนี้ให้ได้เช่นเดียวกัน อย่างน้อย ๆ การที่มีตัวแทนภาคในแต่ละภาคซึ่งมีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่คล้ายกันนั้นได้เป็นหลักประกันว่า ได้มีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งซึ่งจะนำเข้าไปสู่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี้นะครับ ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญผมเอง ผมกราบเรียนท่านประธานฝากถึงเพื่อนสมาชิกว่า การทำรัฐธรรมนูญนั้นจริงอยู่อาจจะต้อง ใช้นักกฎหมายบ้าง แต่ว่าสำคัญกว่านักกฎหมายคือข้อมูลที่จะนำไปให้นักกฎหมายยกร่าง รัฐธรรมนูญ ท่านที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายครับ เพียงแต่ว่าท่านได้ข้อมูลจากประชาชนในจังหวัดของท่าน ในกลุ่มภาคของท่าน หรือในกลุ่ม อาชีพ วิชาชีพที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ท่านอยู่สามารถนำเข้าไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ อย่างน้อย ๆ ก็เป็นหลักประกันว่า ๑๑ ด้าน และอีก ๔ ภาคส่วน ของประเทศไทยนั้นสามารถที่จะส่งตัวแทนเข้าไปมีปากมีเสียงในคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญให้เสียงร้องของเขาได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ส่วนอีก ๕ ท่านนั้นผมไม่ขัดข้อง ครับว่าจะเป็นใครในพวกเรา พวกเรานั้นมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถอีกมากครับ ตรงนี้ ผมเชื่อว่าการเลือกอีก ๕ ท่านนั้นให้ท่านเสนอตัวออกมาแล้วพวกเราพิจารณาเลือกเป็นไปได้ครับ ท่านครับ ผมเสนอเป็นญัตติเช่นนี้ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญครับ แล้วคุณเสรีนะครับ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม นิรันดร์ พันทรกิจ ๑๑๕ นะครับ ผมคิดว่าหลังจากได้ฟังการอภิปรายตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายก็คงจะสรุปประเด็น ได้แล้วครับว่า เราเห็นด้วยว่าให้มี ๒๐ คนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้งหมด ปัญหามีอยู่ ๒ ความเห็นครับ ใน ๒๐ คนนี้มันมาอย่างไร ความเห็นหนึ่งก็คือ ๑๕ บวก ๕ ๑๕ ก็คือ มาจากกลุ่มต่าง ๆ ๑๑ บวกกับ ๔ ภาค ก็เป็น ๑๕ อีกความเห็นหนึ่งบอกว่า ๒๐ นี้มาจาก การเลือกทั้งหมดในที่ประชุมแห่งนี้ ก็แค่นั้นแหละครับ ผมคิดว่าอภิปรายก็คงจะวนอยู่แถวนี้ แหละครับ เพราะฉะนั้นผมขอเสนอเป็นญัตติเลยว่าจะเอาแบบไหน เอาแบบ ๑๑ บวก ๔ แล้วก็บวก ๕ หรือว่าทีเดียว ๒๐ คนเลือกกันในที่ประชุมแห่งนี้เลย เอาอย่างไรแน่ แค่นั้นแหละครับ จะได้ดำเนินการไปได้ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ คุณเสรีครับ เดี๋ยวตรงนี้แป๊บหนึ่งนะครับ เอาลำดับมานะครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กราบเรียนท่านประธานหารือท่านสมาชิก ผ่านท่านประธานลักษณะอย่างนี้ได้ไหมครับ จริง ๆ ญัตติเราก็อยู่ในญัตติเดิมนี่แหละครับ ไม่ได้ไปเพิ่มญัตติอะไร เพียงแต่ว่าเรากำลังหาคนที่จะมาเป็นกรรมาธิการ ซึ่งจริง ๆ เราได้ตกผลึกพอสมควรกับการที่เราได้ไปแบ่งสมาชิกไปอยู่ด้านต่าง ๆ ซึ่งก็น่าจะให้โอกาสนี้ ละครับเอามาบริหารจัดการ แล้วมันก็เดินไปตามที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้กำหนดไว้ มันจะได้ไม่แตกต่าง ก็คือให้แต่ละด้านนี่นะครับ เสนอด้านละ ๑ คน อันนี้เป็นไปตาม กิจการสภานะครับ ส่วนอีก ๕ คนนั้นก็ใช้หลักของกรรมาธิการนั้นแหละครับ แทนที่จะไป พิจารณาจากคนนอกก็ให้กรรมาธิการมาพิจารณาคนในเสียในคุณสมบัติที่ท่านต้องการ อย่างเช่น มาจากหลายด้าน หลายฝ่ายในนี้ก็มีทั้งนั้นแหละครับ กปปส. เสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้ออะไรเยอะแยะไปหมดนะครับ ท่านไม่ต้องไปหาข้างนอกเอาในนี้ถ้าเขาสมัครใจนะครับ ถ้าเขาสมัครใจ แต่ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งนี่นะครับ ผมคิดว่าน่าจะคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ อย่างเช่น เป็นศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมเห็น มีหลายท่านแล้วก็พร้อมจะเป็น เราก็เอาคุณสมบัติท่านเหล่านี้ละครับ ให้สมาชิกแต่ละด้าน นั้นไปประชุมกัน คณะกรรมาธิการในด้านของผมนะครับ กระบวนการยุติธรรมต้อง กราบเรียนเลยครับ ยังไม่ได้เลือกใครเลยครับท่าน ไปประชุมกันจริงครับ เวลาประมาณ ครึ่งชั่วโมงเศษ ๆ ที่ได้คุยกันก็ยังหาแนวทางที่ชัดเจนไม่ได้ ก็เลยมีมติว่าให้มาฟังที่ประชุม แห่งนี้ว่าจะเอาอย่างไร จะได้ไปเดินให้มันถูกทางนะครับ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวชุดผม ผมก็คงจะหารือเป็นตัวอย่างว่าให้ไปเลือก ๑ คน แล้วอีกคนอื่นในแต่ละคณะนี่นะครับ อย่าไปให้ท่านเสนอตัวเองเลยบางทีมันก็อายครับ มันก็เหนียมกับการที่จะเสนอตัวเอง ก็ให้แต่ละด้านคุยกันแล้วก็บอกว่า ให้แต่ละด้านเสนอมานะครับเพื่อจะมาเลือก ๕ คน แต่คนหนึ่งมาจากแต่ละด้านแน่นอนแล้ว มันก็จะได้ ๑๕ คนไป ส่วนอีก ๕ คนที่มีคุณสมบัติ เหมาะสมเป็นศาสตราจารย์ เป็นดอกเตอร์ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นคนฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เอาในสภาเราแห่งนี้ละครับ มันก็ไม่ได้ขัดกับเจตนาอะไร หลักการที่กรรมาธิการกิจการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ท่านได้ตั้งหลักการไว้นะครับ ผมคิดว่าก็ให้ที่ประชุมนี้ แล้วก็แต่ละด้านช่วยเสนอคนที่เหมาะสม แล้วก็มาให้สภาพิจารณาอีกทีหนึ่ง ข้อสำคัญ ให้เขายินยอมด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อาจารย์อมรครับ

นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม สืบพงศ์ ธรรมชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เผอิญลุกพร้อมกัน ๒ คน แล้วพูด ๒ คนพร้อมกัน

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้นฉบับ

ขอประทานโทษครับ ท่านชี้ผมก่อน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอโทษโอเค

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านอาจารย์นะครับ ขอบพระคุณ ท่านประธานที่เคารพครับ ผม อมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมือง ผมเองไม่ได้ขัดข้องนะครับ ไม่ว่ามติของที่ประชุมจะออกมาในแนวไหนที่ได้มีการอภิปรายกัน เพราะว่าในมาตรา ๓๒ (๒) นั้นก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าที่ประชุมหรือว่าสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น จะเป็นผู้เสนอจำนวน ๒๐ คน เพราะฉะนั้นก็คงจะเป็นหน้าที่ของพวกเราทั้งหมดที่จะลงมติ ต่อไป แต่ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ เพื่อให้ข้อคิดเห็นกับท่านทั้งหลายนิดหนึ่งนะครับว่า การปฏิรูปในครั้งนี้ถ้าเราไม่ต้องไปนึกโพล (Poll) อะไรต่าง ๆ ที่ออกมา แต่ก็ต้องเรียน ตามตรงนะครับว่ามีการจัดลำดับความสำคัญ คือเราคงไม่สามารถที่จะรุกรบ ๓๖๐ องศา รอบตัวเราได้ทุกเรื่องนะครับ แล้วสาเหตุที่ทางท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้หยิบยกประเด็น ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์อะไรขึ้นมาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย แล้วถ้าท่านจะมาจำกัดด้วย โควตาของสัดส่วนฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มาจำนวน ๑ ท่าน แล้วเหลือ ๕ ท่าน ผมคิดว่าศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ในห้องนี้น่าจะมีเกินนะครับ เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ผมเองก็อยากจะกราบเรียนให้ท่านสมาชิกได้ใช้วิจารณญาณนะครับว่า ในเมื่อมีการเสนอ เรื่องคุณสมบัติ ได้มีการเสนอเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ แล้วก็ได้เปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง เพราะว่าถ้าท่านบอกว่าแต่ละด้านมาแล้วก็ไม่ได้จำกัดว่าเสนอมาแล้วต้องได้ ยังเปิดโอกาส ให้มีการแข่งขันกันเข้ามาอีกนี่นะครับ ผมก็คิดว่ามันก็ไม่ได้ต่างกับการเปิดโอกาสเปิดกว้าง ซึ่งการเปิดกว้างนี่ละครับเราจะทำให้ได้บุคคลที่เราคิดว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม เพราะผม ทราบมาว่าทางเจ้าหน้าที่สภาภายหลังการอภิปรายของพวกเราแล้วจะมีการให้ใบสมัคร กับผู้ที่มีเวลา มีคุณสมบัติพร้อม แล้วก็ด้วยจิตอาสาที่จะมาทำงานตรงนี้ด้วยคุณสมบัติที่ไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เลยขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม เสรี ครับท่านประธานต่อเนื่องนิดเดียว ขออนุญาตเสียมารยาทต่อเนื่องจะได้ตรงกันครับ ขออภัยท่านสมาชิกนะครับ คือที่ผมเรียนเมื่อสักครู่นี้ผมเสนอชัดเจนเลยครับท่านประธานว่า ให้แต่ละด้านเสนอมาเลยไม่ต้องให้ท่านมาเลือกในนี้อีกนะครับ เหตุผลสำคัญก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญมันต้องมีหลายมิติ เพราะฉะนั้นแต่ละด้านนั้นมันก็ครอบคลุมที่จะให้ ตัวแทนแต่ละด้านนั้นมีส่วนร่วมนำความเห็นต่าง ๆ เข้าไปปรึกษาหารือกันในการยกร่าง รัฐธรรมนูญนะครับ อันนี้ขอให้ชัดเจนตรงนี้นะครับ ไม่ได้ให้ท่านมาแข่งมาเลือกครับ เลือกก็คือแค่ ๕ คนเท่านั้นครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมยืนหลายรอบแล้วครับ เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ที่จริงผมยกมืออภิปรายไว้ด้วยแต่ว่ามติลงไปแล้ว ปิดไปแล้ว ไม่ต้องอภิปรายนะครับ แต่ว่าทางภาคใต้มอบหมายให้ผมเป็นคนสรุปมติ เมื่อเช้าที่แยก ไปประชุมกลุ่มนะครับของภาคใต้ ๑๕ คนเอาในสภาโดยแยกเป็นสาขาทั้งหมดครับ สาขาที่ว่านั้นก็คือ ๑๑ บวก ๔ ยืนยันเพราะว่าดังที่หลายท่านอภิปรายว่ามันครอบคลุม แล้วก็กระจายดีครับ เพราะฉะนั้นการกระจายไปแต่ละภาคทั้ง ๔ ภาคนั้นถือว่าเป็นตัวแทน ของภาคอยู่แล้ว และ ๑๑ ที่ว่านั้นก็เป็นตัวแทนของแต่ละอาชีพแต่ละฝ่าย เหมือนกับ ท่านเสรีว่าละครับเสื้อสีอะไรก็มีหมดแล้วในนั้นนะครับ เพราะฉะนั้นผมว่า ๑๕ นี้คงไว้ ส่วนอีก ๕ นั้นมาจากที่ประชุมนี้นะครับ เหตุผลเป็นเพราะว่าบุคคลในที่ประชุมนี้เป็นคน ที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณวุฒิ อย่างที่ท่านบอกว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ก็มี ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ก็เยอะ เพราะจาก ๕ ท่านนี้ผมว่าให้สมัครดีที่สุดครับ แต่ถ้าไม่ครบตามนั้นก็ให้มีการเสนอ และในระหว่างที่จะตัดสินหรือลงมติออกมาให้มี การแสดงวิสัยทัศน์สัก ๕ นาทีว่าเป็นใคร มาจากไหน อย่างไร มีผลงานอะไรอยู่บ้างนะครับ ตรงนี้จะทำให้รู้จักมากขึ้น ถ้าไปเลือกกันโดยที่ไม่ได้แสดงอะไรสักนิดสักหน่อยเราก็ไม่รู้ว่า ใครเป็นใคร ผมเสนออย่างนี้แล้วจะเร็วครับ ท่านประธานครับ ก็ขอเสนอ ผมได้รับมอบหมาย จากภาคใต้ให้แสดงอย่างนี้ครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญคุณอรพินท์ครับ เจ้าหน้าที่ต้องช่วยผมแล้ว ยกมือ ๗-๘ คนพร้อม ๆ กันผมดูไม่ทันว่า ใครก่อนใครหลังช่วยจดชื่อท่านครับ

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ผมยกตั้งแต่ ๓ คนแรก ผมอยากให้ท่านประธานเอียงโต๊ะ มาทางนี้สักนิดหนึ่งได้ไหมครับเวลานั่ง

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

โอเคครับ

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ต้นฉบับ

คือมองไม่เห็นพวกเรา เมื่อกี้คุณหมอ ก็ยกตั้งหลายรอบตอนอภิปรายท่านก็มองไม่เห็นนะครับ ท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เดี๋ยวผมขอให้เจ้าหน้าที่ ช่วยแล้ว

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ต้นฉบับ

ท่านถามเจ้าหน้าที่ได้เลยว่าผมยกตั้งแต่ ๓-๔ คนแรกท่านประธานก็ไม่ยอมเปิดโอกาส

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอประทานโทษครับ

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ต้นฉบับ

บางทีผมอาจจะชื่อเกรียงไกร ไม่ใช่ชื่อเสรี หรือชัยวัฒน์อะไรต่าง ๆ ขอโทษด้วยครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมจะทำหน้าที่ให้ดีขึ้นครับ เชิญอาจารย์อรพินท์ครับ

นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย ต้นฉบับ

ขอประทานโทษนะคะ เมื่อกี้ท่านประธาน เรียกดิฉันนะคะ กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน อรพินท์ สพโชคชัย สปช. ๒๓๖ นะคะ ดิฉันขอสนับสนุนในการให้มีตัวแทนจากชุดต่าง ๆ ดิฉันคิดว่ามันมีเหตุผลสำคัญในการที่จะมี กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากกลุ่มต่าง ๆ เพราะว่ากลุ่มต่าง ๆ หรือว่าภาคต่าง ๆ จะประชุมต่อเนื่องกัน แล้วเราจะมีการคุยในเรื่องของการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ผู้แทนของกลุ่มนี้ จะเป็นคนที่เชื่อมโยงกับงานที่เราจะทำต่อไปในอนาคต บางส่วนอาจจะต้องเข้าไปอยู่ ในรัฐธรรมนูญ แล้วก็ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นดิฉันคิดว่าสมาชิกด้านต่าง ๆ ที่อยู่ ทั้ง ๑๑ ด้านแล้วก็ ๔ ภาคนี้จะสามารถพูดคุยกับผู้แทนของกลุ่มได้ เพราะฉะนั้นดิฉัน ขอสนับสนุนว่าให้มีการเสนอชื่อสมาชิก ๑ ท่านนะคะ ทั้งหมด ๑๕ ท่านจากด้านต่าง ๆ แล้วก็ ๔ ภาคนะคะ ส่วนอีก ๕ ท่านนั้นดิฉันคิดว่าหลังจากที่ได้ ๑๕ ท่านที่มาเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วอาจจะต้องมาพิจารณาอีกทีว่า ใน ๑๕ ท่านนั้น เราอาจจะขาดบางกลุ่ม บางสาขาหรือว่าบางศาสตร์วิชาที่เราคิดว่ามีความจำเป็น ดิฉันคิดว่า ๕ ท่านนั้นอาจจะกำหนดเป็นเงื่อนไขไหมคะว่า ๕ ท่านนั้นอาจจะมี อย่างเช่น อาจจะขาดนักกฎหมายหรืออาจจะขาดนักสังคม ขาดนักวิทยาศาสตร์อะไรต่าง ๆ อาจจะมาพิจารณาด้านนั้นอีกนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อันนี้ เจ้าหน้าที่เขาช่วยแล้ว ลิสต์ (List) อยู่ตรงนี้ คุณกอบกุลแล้วคุณเกรียงไกรนะครับ เดี๋ยวผม เอาตรงนี้ คุณกอบกุลก่อน

นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล สมาชิก สปช. ๐๐๗ จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาค่ะ ดิฉัน ก็ขอเรียนนำเสนอจากที่ประชุมกลุ่มของภาคกลางและภาคตะวันออกที่เราได้คุยกันเมื่อเช้านี้ เพื่อเรียนให้ที่ประชุมทราบโดยผ่านทางท่านประธานนะคะว่า ทางกลุ่มภาคกลางและ ภาคตะวันออกก็มีความเห็นเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ท่านที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า อยากจะ ขอให้มีตัวแทนจาก ๑๑ ด้าน และ ๔ ภาค เพื่อว่าทำให้เกิดความเชื่อมโยง ที่เราพูดกัน ในเรื่องที่เป็นผู้แทนนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงว่า ระหว่างที่มีกระบวนการการร่าง รัฐธรรมนูญการยกร่างนี้จะได้มีการนำเอาความก้าวหน้าหรือความคืบหน้ากลับมาที่กลุ่ม และถ้ากลุ่มมีอะไรที่จะเสนอเข้าไปก็จะได้มีช่องทาง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็อยากให้ยืนตามนั้น และก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใน (๑๐) ของมาตรา ๓๕ ที่ว่า กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูป เรื่องสำคัญต่าง ๆ มันต้องมีกลไก เพราะฉะนั้นกลไกก็จะต้องผ่านทางผู้แทน เพราะฉะนั้น ตอนนี้เรื่องสำคัญต่าง ๆ ถึงแม้ต่อไปเราต้องเข้าไปอยู่ในแต่ละด้าน แต่ตอนนี้กลุ่มเล็กมีการ คุยกันเป็นกลุ่ม ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะทำให้ง่ายและสะดวกในการที่จะนำข้อมูลส่งผ่าน ข้อมูลกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นในเรื่องของ ๑๑ บวก ๔ และรายชื่อ ๑๕ ท่านที่เสนอมาจาก กลุ่มนี้ก็จะขอให้มาให้ความเห็นชอบในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเลยโดยไม่ต้องมีการ ลงมติ ไม่มีการโหวตเลือกนะคะ ส่วนอีก ๕ ท่านนั้นทางกลุ่มก็ได้มองมาว่าเพื่อให้เกิดเป็น ความอิสระเราก็น่าจะเปิดให้เป็นผู้ที่ครบคุณสมบัติ ผู้ที่เต็มใจ มีความสมัครใจและมีเวลา ที่สำคัญคือต้องมีเวลาใน ๖ เดือนนี้ที่จะต้องหามรุ่งหามค่ำในการประชุม ให้เขาสมัคร ด้วยตัวเอง จำนวนเท่าไรก็ไม่เป็นไร แล้วก็มาโหวตกันหรือมาลงมติเลือกให้เหลือ ๕ คน ในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เหลือเพียง ๕ คน โดยนับตามลำดับคะแนนเสียง ผลสุดท้ายเขาจะไปพร้อมกับด้านไหนอะไรก็ไม่เป็นไร เพราะเราจะต้องลงมติตามความเห็น โดยใช้วิจารณญาณของแต่ละท่าน แต่เมื่อสักครู่มีท่านที่เสนอว่าถ้ามีการแสดงวิสัยทัศน์สั้น ๆ สักท่านละ ๕ นาที ก็อาจจะทำให้เรารู้ตัวตนของผู้ที่เสนอตัวเข้ามาดีขึ้น อันนั้นก็น่าจะเป็น แนวทางหรือช่องทางในการที่จะได้มาซึ่ง ๕ คนสุดท้ายนะคะ ขอกราบเรียนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ คุณเกรียงไกรครับ

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธานที่เคารพ ผม เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อาจจะเป็นนายกบ้านนอกนะครับ ท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ ที่จริงแล้วนำเรียนด้วยความเคารพครับว่า ผู้ช่วยเลขาธิการน่าจะช่วยท่านประธานมากกว่านี้สักนิดหนึ่งนะครับ ควรจะเรียงลำดับ ให้ทราบว่าใครมาก่อนมาหลังนะครับ อันนี้ผมขอนำเสนอ ในสิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ ท่านประธานครับ มันก็ไม่แตกต่างจากพี่ ๆ หลายคนที่พูด เพราะก่อนที่เราจะเข้ามานั้น เราสมัครมาในด้านความชำนาญ ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ๑๑ คณะ มันมาแล้ว และถ้าไป เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา ๓๕ ตรงนี้นี่เองครับผมอยากให้เพื่อน ๆ มองว่า พวกเราเองนั้นมีความรู้ความสามารถแต่ละด้าน ผมอยากให้ว่าพิจารณาตามที่วิปเขาเสนอ เบื้องต้นว่า ให้ด้านหนึ่งไปคัดเลือกกันเองมาก่อนด้านละ ๑ คน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง ด้านการเมือง แสดงว่าเขาเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญใช่ไหมครับ ได้มาก่อน ๑๑ คณะ ก็ ๑๑ คน แล้วขณะนี้ สปช. ต่างจังหวัดเขาแบ่งกลุ่มเป็น ๔ ภาค ก็ตัวแทนภาคละ ๑ เขาก็พอใจในจุดยืนตรงนี้อยู่แล้วในส่วนหนึ่ง นำเรียนด้วยความเคารพว่าถ้าเราโหวตทั้ง ๒๐ คน อาจจะได้ผู้เชี่ยวชาญ เหมือนผมด้านปกครองท้องถิ่น เกิดอยู่ได้ศาสตราจารย์อะไร จะรู้ความดีของชาวบ้านไหม จะรู้อะไรไหม ไม่รู้ครับ ท่านประธานครับ นี่คือความที่ผม อยากจะนำเสนอว่า ๑๑ ด้าน ๑๑ คนเสียก่อน แล้วจะเสนอมาเพิ่มแต่ละด้าน เอาส่วนเพิ่มนั้นมาโหวตกันในที่ประชุม ๑๑ บวก ๔ ก็เท่ากับ ๑๕ เหลืออยู่ ๕ ก็หมายความว่าเอาแต่ละด้านที่นำเสนอมานั้นน่ะมาโหวตในที่ประชุม ผมอยากให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เป็น สปช. นำเรียนว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องคนมีความรู้ ความสามารถ คนที่รู้ทั้งความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ว่า รู้ด้านกฎหมายแล้วจะไปร่างรัฐธรรมนูญด้านการปกครองท้องถิ่นอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นผมอยากจะนำเสนอว่าเราน่าจะคัดจาก ๑๑ ด้านให้ยืนพื้นก่อน ก็คือว่าด้านละ ๑ คน เป็น ๑๑ คน บวก ๔ ภาค ก็ ๔ คน เป็น ๑๕ ก็เหลืออีก ๕ เราขอผู้ที่สมัครใจ ผู้ที่อยู่ในคุณสมบัติที่กำหนดไว้แล้ว แล้วมาโหวตกันในที่ประชุมว่าอีก ๕ คนนั้นเป็นใคร ผมอยากกราบเรียนนำเรียนที่ประชุมและท่านประธานตรงนี้ครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณนะครับ รายชื่อ เจ้าหน้าที่เขาจัดไว้ให้บนหน้าจอนี้แล้ว ทีนี้ถ้าผมใช้วิธีดูท่านยกมือผมก็จะมีปัญหาอีก ผมดูตรงนี้ ไม่ได้ดูตรงนี้นะ ขออนุญาตให้ไปตามนี้ได้ไหมครับ

พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับท่านประธาน พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ไม่ทราบท่านประธานมองมาถึงตรงนี้หรือเปล่าครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

โอเคครับ ท่านเอกชัยครับ

พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ต้นฉบับ

เพราะผมอยู่แถวหลังสุดครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ใช่ครับ ความจริงตรงนี้ น่าจะเห็นชัดกว่าเพื่อนนะครับ อย่างนี้ครับเนื่องจากผู้ที่จะขอแสดงความเห็นไว้ อยากอภิปรายเยอะมากเลย แล้วความเห็นตอนนี้ใกล้เคียงกันมากเลย ผมยังคิดว่า ถ้ามีความเห็นใกล้เคียงกันมาก ๆ ลองประมวลให้กระชับขึ้นได้ไหมครับ ผมตีกรอบแค่นี้ก่อน ชื่อที่ปรากฏตอนนี้เป็นคุณวันชัย สอนศิริ อาจารย์เตือนใจ สินธุวณิก ๒ ท่านก่อน ประเด็นไหนครับ เชิญครับ ท่านกำลังแสดงความเห็นครั้งที่ ๒

นายโกวิท ศรีไพโรจน์ ต้นฉบับ

ไม่ใช่ครับ ท่านประธานครับ ขอความกรุณา นิดเดียวครับท่านครับ ผม โกวิท ศรีไพโรจน์ ครับ เมื่อกี้ผมเองผมเรียนท่านประธานว่า ผมขอเสนอเป็นญัตติ แต่ผมก็อภิปรายไปแล้วก็ยังไม่ได้ขอผู้รับรองครับ ขออนุญาต ขอผู้รับรองญัตติที่ผมบอกว่าขอเป็น ๑๕ ท่านตามที่กรรมาธิการวางไว้ก่อน เพราะเป็น หลักประกันว่าประชาชนกลุ่มอาชีพก็มีหลักประกันว่าจะเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็ประชาชนในแต่ละภาคก็จะมีหลักประกันว่ามีตัวแทนของเขา อยู่ในแต่ละภาค นี่คือ ๑๕ ท่าน ส่วนอีก ๕ ท่านให้เลือกจากผู้ที่สมัครใจแสดงตน แล้วก็มีความเสียสละที่จะมาทำหน้าที่แล้วพวกเราก็เลือก ที่ผมเสนอเป็นญัตติเมื่อกี้ ผมยังไม่ได้ขอผู้สนับสนุนครับ ขอให้เป็นญัตติตรงนี้เลยครับ จะได้อภิปรายต่อไปครับท่านครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมยังคิดว่าขณะนี้ เรากำลังอภิปรายความเห็นที่กว้างกว่านั้นมากเลย ดังนั้นขอให้อภิปรายกันอีกนิดได้ไหมครับ อย่าเพิ่งไปเป็นญัตติแล้วปิดนะครับ เชิญอาจารย์วันชัยอยู่ไหม เพราะท่านไม่อยู่ใน กรรมาธิการตรงนี้แล้ว

นายวันชัย สอนศิริ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอโทษครับ เชิญครับ

นายวันชัย สอนศิริ ต้นฉบับ

กระผม วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ท่านประธานที่เคารพครับ ความเห็นตอนนี้ค่อนข้างจะตรงกัน แล้วผมก็กราบเรียน ท่านประธานและที่ประชุมว่าอาจมิต้องใช้เวลามากเกินไปกว่านี้แล้ว แม้แต่ผมขึ้นมาอภิปรายนี้ ก็ค่อนข้างจะไม่มีความเห็นขัดแย้งกับท่านอื่น ๆ เป็นที่แน่นอนชัดเจนว่าเราเอาจากสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ๒๐ ท่าน ๑๕ ท่านเดิมทีเดียว ผมคิดว่า ๒๐ ท่านน่าจะสมัครทั้งหมด แล้วพวกเราเลือก แต่มันก็มีปัญหาว่าเราเองมากันเพิ่งเจอกันประมาณสัก ๒ ครั้ง รู้จักกันน้อยเกินไปนัก เพราะฉะนั้นถ้าให้ท่านทั้งหลายสมัครแล้วเราเลือกเราอาจไม่รู้จักกันหมด นั่นเป็นประการที่ ๑

นายวันชัย สอนศิริ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ถ้าสมัครแล้วเกิดได้ ผมก็มีความคิดว่าอาจจะเป็นการ ร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากปัจเจก คือเป็นความคิดส่วนตนมิได้ยึดโยงกับด้านใดหรือกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านสมาชิกที่อภิปรายมาแล้ว หลายท่าน และผมเชื่อว่าหลายท่านนี้ที่ฟัง ๆ ซุ่มเสียงดูแล้วเห็นว่าวิธีที่เรากำลังพูดนั้น ดีที่สุด คือมีการยึดโยงแต่ละด้าน แต่ละด้าน แต่ละด้าน อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดกลไกและวิธีการแก้ปัญหาของประเทศครอบคลุมทุกด้าน ดังนั้น คนที่จะไปร่างรัฐธรรมนูญควรมาจากทั้งหมด ๑๑ ด้าน บวกจังหวัด จึงได้ ๑๕ ซึ่งเหมาะสม แล้วมีความยึดโยง อันนี้ก็เป็นไปตามกรอบที่คณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) ได้วางไว้ในระดับหนึ่ง

นายวันชัย สอนศิริ ต้นฉบับ

ประการต่อมา ก็มีว่าอีก ๕ ท่านจะมาจากไหน น่าคิดครับ ท่านประธานครับ เพราะบางกลุ่มบางด้านนั้นเท่าที่ทราบมีสมัครถึง ๕ คน เพราะบางด้านนั้นบอกว่า ด้านผมทะเลาะกันวงแตกแน่ แต่ถ้าแต่ละด้าน ๆ สมัครกัน ๑ คน ๑ คน แล้วสมัครใจ ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นจากการคะยั้นคะยอ ซึ่งท่านประธานเองได้พูดในวันที่ประชุม ของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) แล้ว อยากให้เกิดขึ้น จากการสมัครใจและเต็มใจ อยากทำภารกิจนี้ และพวกเราแต่ละด้านเห็นว่าท่านนั้น เหมาะสม และท่านมีใจอยากทำด้วย นี่คือเรื่องสำคัญ ทีนี้ถ้าแต่ละด้าน แต่ละด้าน มีคนสมัครเกินกว่า ๒ คน ๓ คน ๕ คน ท่านจะโหวตกันหรือ ถ้าโหวตก็แปลว่าด้านของท่าน อาจมีปัญหา ท่านอาจจะไม่ปรองดองกันเสียตั้งแต่ก่อนร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะฉะนั้น จะเป็นไปได้ไหม ก็ขอหารือต่อท่านประธานว่าถ้าด้านใดมีผู้สมัครเกินกว่า ๑ คน คือถ้า ๑ คน ไม่มีปัญหาทั้งหมด แต่ละด้าน ๆ ๑ คน ๆ แต่ถ้าด้านนั้นเกิดมี ๕ คน เช่น ด้านการเมือง เป็นต้น เกิดมีผู้สมัคร ๕ คน ผมก็คิดว่าน่าจะให้เขาสมัครทั้ง ๕ คน และไม่ควรเป็นการส่งของด้านนั้น และส่วนด้านอื่น ๆ ถ้าเกิดได้ ๑๔ ด้าน หรือได้แค่ ๑๒ ด้าน ด้านอื่นให้สมัครทั้งหมด นั่นส่วนหนึ่งก็แปลว่าจะมีผู้สมัคร และในขณะเดียวกันนั้นผมว่า สมัครแล้วเมื่อกลุ่มอื่น ๆ หรือคนอื่นสมัครด้วย การสมัครนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากตัวเองสมัคร ใจเพราะไม่ได้ในกลุ่มแล้ว แล้วก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะมีหลายท่านบอกว่าจะสมัครเอง ก็กระดากอายหรือไม่อยาก ก็ขอให้สมาชิกได้ประสานกับท่านแล้วเสนอแทนท่าน อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะทำให้เราได้จำนวนทั้งหมดครบโดยการปรองดองสมานฉันท์ คือถ้าได้ ๑๕ ตกลงกันได้ ๑๕ เอา ๑๕ เหลือนอกนั้นให้มาสมัคร หรือจะสมัคร ๑๐ ๒๐ ก็ได้ แล้วคัดให้เหลือ ๕ ผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่น่าจะเป็นไปได้ดีที่สุด และน่าจะดำเนินการ ตามวิธีนี้เสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยน่าจะไม่เกิน ๔ โมงเย็นครับ ท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

อาจารย์เตือนใจ อีกท่านหนึ่งครับ

นางเตือนใจ สินธุวณิก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน เตือนใจ สินธุวณิก สปช. หมายเลข ๘๔ ค่ะ ขออนุญาตกราบเรียนว่าดิฉันเห็นด้วยกับผู้ให้ความเห็น ส่วนใหญ่ว่าเราน่าจะยึดโยงกับคณะต่าง ๆ ๑๑ ด้าน บวกด้วยทางส่วนภูมิภาคอีก ๔ ด้าน อันนั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทุกท่านเห็นด้วยแล้วนะคะ ส่วนอีก ๕ ท่านนี้ดิฉันขออนุญาตเสนอ อย่างนี้ว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับบางคณะซึ่งอาจจะมีปัญหาที่ว่าไม่สามารถจะคัดเลือกให้ได้ ๑ คน อย่างที่ท่านอาจารย์ ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านอาจารย์วันชัยบอกว่าอาจจะเกิด การขัดแย้งกันเองนั้น ดิฉันคิดว่าเราอยู่กันด้วยระบอบประชาธิปไตยค่ะ ดังนั้นในกลุ่มของท่าน ก็เห็นควรที่จะต้องมีการลงมติกันว่าท่านเลือกใครเป็น ๑ คน ที่เป็นทางการที่จะมา ได้รับการคัดเลือกในที่ประชุมนี้ ส่วนอีก ๕ ท่าน ดิฉันขอเสนอว่าขอให้เปิดกว้างสำหรับ ผู้สนใจทุกท่านจากทุกด้านทุกภาคที่จะสามารถสมัครเข้ามาได้ เพราะว่าท่านจะต้องเสียสละ มุ่งมั่น แล้วก็สมัครใจที่จะมาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนะคะ จากนั้นเมื่อสมัคร มาแล้วก็ให้ที่ประชุมใหญ่นี้ได้ลงคะแนนเสียงเลือกท่านค่ะ โดยเหมือนเลือกตั้งคือ คณะกรรมการแต่ละท่านเลือกได้เพียง ๑ เสียง ดังนั้นใครที่มีคะแนนสูงสูด ๕ อันดับแรก ก็ถือว่าเป็นผู้แทนของ สปช. ในส่วนโควตาอีก ๕ ท่านค่ะ ขออนุญาตกราบเรียนเสนอค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านกูไซหม๊ะครับ

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ผม ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือผมมีประเด็นอยากจะนำเสนอว่ากรอบที่ท่าน ได้กำหนดใน ๑๕ ท่าน เป็นความสำคัญที่จะมีความเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากว่าสาระสำคัญใน ๑๕ กลุ่มนะครับ จะไปเชื่อมโยงในพันธกิจที่ยึดโยงต่อรัฐธรรมนูญ ประการที่ ๒ ยังเห็นด้วยกับหลาย ๆ ท่าน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เดี๋ยวประทานโทษนะครับ เมื่อกี้ผมเชิญท่านกูไซหม๊ะ ทีนี้บังเอิญท่านอาจจะเข้าใจผิด

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ไม่เป็นไร ต่อให้จบสั้น ๆ แล้วกัน ขอโทษนะครับ

นายธีรศักดิ์ พาณิชวิทย์ ต้นฉบับ

นิดเดียว เสร็จแล้วครับ

นายธีรศักดิ์ พาณิชวิทย์ ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๒ ผมยังเชื่อว่ากลุ่มจังหวัดยังมีความสำคัญนะครับ ในเรื่องของ การนำข้อมูล แล้วก็ส่วนที่เหลือ ๕ คนเลือกโดยรวม ท่านไม่ต้องไปกังวลครับว่าคนไหนที่ยัง ไม่สามารถที่จะต้องไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ากระบวนการการมีส่วนร่วม การนำข้อมูลมาเสนอต่อสภาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้เราต้องรู้หน้าที่ว่าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องรวบรวมข้อมูลมา เพราะฉะนั้นขออนุญาตนำเรียนเป็นประเด็นเพื่อนำเสนอครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานและท่านสมาชิก ผู้มีเกียรติทุกท่านนะคะ ดิฉันยกมือตั้งแต่ภาคเช้า แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ ดิฉันดีใจด้วยนะคะ ที่มีโอกาส ดิฉันชื่อ นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี จากจังหวัดยะลา ด้านสังคม อันดับ ๑๓ ค่ะ ซึ่งมาจากสถาบันการศึกษาสถาบันปอเนาะ ชื่อว่า ซูบูลุสลาม แปลว่า ประตูแห่งสันติสุข และดิฉันได้รับคัดเลือกตรงนี้เพราะจะเป็นการสันติสุขในอนาคต ในภาคใต้นะคะ เพราะเป็นจังหวัดที่ใต้ที่สุดค่ะ ก่อนอื่นดิฉันภูมิใจจากที่ดิฉันได้สมัคร เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทางไปรษณีย์นะคะ ๗,๓๖๒ คน วันนั้นดิฉันสมัครวันสุดท้ายแล้ว นั่งมอเตอร์ไซค์ไปสมัคร เพราะอยากจะเป็นคนแก้ปัญหาให้กับประเทศไทยคนหนึ่งที่นับถือ ศาสนาอิสลามนะคะ ดิฉันภูมิใจที่คณะกรรมการเห็นตำแหน่งน้อย ๆ ของดิฉันซึ่งเป็นผู้หญิง ที่ได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอิสลามคนเดียวในประเทศไทยค่ะ ดิฉันภูมิใจ ที่มีเกียรติอันสูงสุดทั้งครอบครัวและก็วงศ์ตระกูลนะคะ ก่อนอื่นทุกท่านอาจจะไม่รู้จักดิฉันนะคะ ดิฉันก็ขอแนะนำให้รู้จักนะคะ ดิฉันอดีตเป็นพยาบาลแล้วก็เป็นอนามัยแล้วก็ลาออก จากราชการมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. หญิงคนแรก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มี ในจังหวัดยะลานะคะ แล้วก็ไม่นานต้นปีดิฉันสมัครสมาชิกพรรคชาติพัฒนา แต่ตอนนี้ดิฉัน ก็ยังไม่ได้ลาออก ดิฉันมาในสถาบันปอเนาะ ซึ่งเป็นสถาบันเล็ก ๆ เพื่อจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็ ๕ จังหวัดชายแดน แต่ตอนนี้จะต้องเป็นตัวแทนของอิสลามทั้งประเทศแล้วค่ะ ดังนั้น ดิฉันอยากจะให้ในสภาของเรานี้ เพราะว่าประเทศของเราเป็นประเทศที่อยากจะให้ต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ทุก ๆ ศาสนาเป็นเพื่อนกัน ดังนั้นดิฉัน อยากจะเสนอใน ๕ คนให้เป็นตัวแทนของศาสนานะคะ เพราะว่าแต่ละคนใน ๑๕ คนนั้น เป็นตัวแทนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว แต่อีก ๕ คนนี้อยากจะให้เป็นตัวแทน ของศาสนาแต่ละศาสนา เพราะแต่ละคนจะรู้ลึกซึ้งศาสนาไม่เทียบกับผู้ที่นับถือค่ะ แล้วก็จะได้เป็นกรรมาธิการเพื่อจะให้เกิดความปรองดองกัน ดิฉันอยากเห็นอำนาจ ของประชาชนมีมากขึ้น และให้รักสามัคคี ทุก ๆ ศาสนาเป็นเพื่อนกันในการดูแลรักษา และแก้ปัญหาฟื้นฟูพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไปค่ะ ขอสวัสดีค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณนะครับ คุณวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ทางนี้ครับ ผมบุญเลิศครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับท่านบุญเลิศ

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ต้นฉบับ

ผม บุญเลิศ คชายุทธเดช นะครับ ผมเห็นว่า ความเห็นของท่าน สปช. หลายท่านตรงกันในประเด็นที่ว่า ๑๕ คนมาจากกลุ่มอาชีพ ๑๑ คน แล้วอีก ๔ คนมาจากกลุ่มภาค ปัญหาก็คือว่า ๕ คนนี้เราจะมีวิธีการเลือกอย่างไร ซึ่งความเห็นก็เสนอกันไปนะครับ ผมขออนุญาตที่จะเสนอสั้น ๆ ครับ เพื่อที่จะได้ช่วยกัน พิจารณาแล้วหาข้อยุติในประเด็นนี้ เพื่อเราจะได้พิจารณากันเรื่องอื่นต่อไปนะครับ สำหรับ ความเห็นผม ๕ คนจะมาอย่างไรนั้นก็ตรงกับหลายท่านเช่นเดียวกัน นั่นคือเปิดให้ผู้ที่ มีความประสงค์อยากจะเข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างนี่สมัคร ให้ที่ประชุมใหญ่ของ สปช. แห่งนี้ลงคะแนนเสียงเลือก ทั้งนี้ผมมีความเห็นเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาก่อน ที่จะเลือกก็คือ ให้ ๑๕ ท่านจาก ๑๑ กลุ่มและ ๔ ภาค ได้ยืนขึ้นแนะนำตัวแล้วก็พูดถึง ความตั้งใจในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่คนละ ๔-๕ นาที รวมแล้วก็ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ๆ ให้เราได้รู้จักได้เห็นภาพ ว่าขณะนี้จำนวน ๒๐ คนนี้ รูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถ เป็นดอกเตอร์มาจากนายกตุ้ยอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ จากนั้นให้ผู้ที่ลงสมัครซึ่งยังไม่ทราบว่า เป็นใครบ้างและจำนวนกี่ท่าน มาจากกลุ่มหรือภาคไหนอย่างไรยังไม่ทราบ ให้ได้ยืนขึ้นแนะนำตัวแล้วก็พูดในลักษณะเดียวกันนะครับ ใช้เวลาอีกคนละ ๔-๕ นาที แล้วลงคะแนนเสียงเลือก ผมคิดว่าถ้าสมัคร ๑๕ คน เราก็ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ๆ ดังนั้น ๒ ชั่วโมงกว่า ๆ กับการจับจ้องของสื่อสารมวลชนและพี่น้องประชาชนที่จะได้รู้จักว่า ๒๐ คนของ สปช. มีความรู้ความสามารถเป็นใครอย่างไร รู้ทั้งแนวความคิด ผมว่ามันเป็นเวที ประชาธิปไตยที่สังคมเข้าถึงตัวตนและความคิดอ่านของ ๒๐ คนที่เราได้คัดเลือกอย่างดีที่สุด แล้วนะครับ ถ้าจะให้ผู้ที่มาสมัครแสดงวิสัยทัศน์กันแล้วอีก ๑๕ คนนั่งอยู่เฉย ๆ อย่างนี้ ผมคิดว่ามันก็กระไร ๆ อยู่ มันทะแม่ง ๆ เพราะฉะนั้นผมก็ขอความกรุณาที่จะอภิปราย เป็นคนท้าย ๆ แล้วก็ให้ท่านประธานได้กรุณาสรุป เพื่อที่เราจะหาข้อยุติในการหา ๒๐ คน ของเราแล้วเราจะได้มาพิจารณาว่าเราจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป และรวมทั้งการที่เรา จะกำหนดวันประชุมด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมกำลังคิดว่าขณะนี้ หารือสมาชิกก่อน ผมขอหารือก่อนได้ไหมครับ

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมจะขออนุญาตนำเรียน ท่านประธานว่าจะขอเสนอเป็นญัตตินะครับท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คณิศร ขุริรัง จากจังหวัดหนองบัวลำภูนะครับ ที่ฟังท่านสมาชิกได้อภิปรายมา ทุกคนก็เห็นว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจาก ๑๑ คนจาก ๑๑ คณะ แล้วอีก ๔ คน จาก ๔ ภาค แล้วอีก ๕ คน ๕ ท่านให้มาจากที่ประชุมใหญ่ของสภา เพราะฉะนั้นผมจึงจะเสนอญัตตินะครับว่า ให้ที่ประชุมลงมติว่าเห็นด้วยกับญัตติที่ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจาก ๑๑ ด้าน ๑๑ คน และ ๔ คน ๔ ภาค แล้วก็อีก ๕ ท่านมาจากที่ประชุมใหญ่เป็นผู้คัดเลือกครับ ขอผู้รับรองครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

คุณคณิศรกำลังเสนอ ญัตติแรกว่าอภิปรายพอแล้ว

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตครับ ผมรู้สึกผมถูกปิดปากนะครับ ผม วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการเมืองนะครับ คือผมยกมาที่ท่านบอกว่าใครมีความเห็นคล้องขอให้สรุป ๆ ผมมี ความเห็นต่างนะครับ แล้วผมยกมาตลอดนะครับ ไม่ทราบ ผมก็โทษเจ้าหน้าที่แล้วกันนะครับ ที่มองไม่เห็นผม ผมคิดว่าการเสนอรูปแบบ ๑๕ บวก ๕ หรืออะไรก็แล้วแต่นี่เป็นการบล็อกโหวต (Block vote) ตัดสิทธิผม ผมควรจะมีสิทธิในการเลือกได้ทุกคน ๒๐ คนนะครับ แล้วก็ยิ่งรัฐธรรมนูญเขียนว่ากรรมาธิการ ๒๐ คนนี้ เสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไม่ใช่แค่ ๑๐ กว่าคนในกลุ่มแต่ละกลุ่ม เมื่อมีการแบ่งเป็นกลุ่มอย่างนี้ก็จะทำให้ ถ้าเกิดผมเห็นว่า ในกลุ่ม ก ผมเห็นคนที่ ๑ ดี แต่คนที่ ๑ ไม่ถูกเลือกครับ ในกลุ่มนั้นไปเลือกคนที่ ๕ มา ผมจะใช้สิทธิเลือกคนที่ ๑ อย่างไรครับ วิธีนี้ช่วยตอบผมนิดหนึ่งนะครับ ถ้าตอบผมได้ ผมก็จะคล้อยตามนะครับ

นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ นะครับ การพูดว่าเลือกกรรมาธิการมาแต่ละกลุ่ม ๆ แล้ว มีความสำคัญต้องครอบคลุม พอฟังแล้วนี่นะครับผมก็รู้สึกว่ากรรมาธิการที่จะไปมีสิทธิขาด ใครอยู่กลุ่มไหนก็กลายเป็นตัวแทนกลุ่มนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่เราจะต้องฟังความเห็นจากสภา กรรมาธิการแค่เป็นตัวแทนเอาความเห็นของสภาแต่ละด้านไปเขียนไปเรียบเรียงไปร้อยเรียง ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ลงตัว แต่ฟังไปฟังมาก็เหมือนกับว่าถ้ากรรมาธิการเข้าไปแล้ว ตามด้านต่าง ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ต้องพูดอีกนะครับ จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ผมคิดว่าอยากจะให้เปิดเสรีหรือให้สิทธิกับพวกผม กับผมไม่ต้องพวกผม ผมคนเดียวนี่แหละครับ ผมก็มีสิทธิ ๑ สิทธิได้เลือก แล้วก็คนที่นั่งอยู่ที่นี่เป็นท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ทุกท่านก็ควร จะมีสิทธิถูกเลือกเท่า ๆ กัน แล้วทุกท่านก็มีเกียรติประวัติมาดี ๆ ทั้งนั้นนะครับ ผมว่าเรารู้กัน อยู่แล้วว่าใครเป็นใคร ถ้าเปิดโอกาสให้เลือกได้ผมว่าก็จะเป็นนิมิตหมายของรัฐธรรมนูญนี้ครับ เริ่มต้นก็เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ถูกผูกขาดครับ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมหารือเพราะว่า สมาชิกได้เสนอญัตติว่าปิดอภิปราย มีการรับรองโดยถูกต้องไปแล้ว ถูกไหมครับเมื่อสักครู่นี้ รับรองกี่เสียงครับเจ้าหน้าที่ ท่านเลขาธิการ ครบนะครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าจะยุติ อภิปรายขณะนี้มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ เชิญท่านประสารครับ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ด้านการเมืองนะครับ ผมคิดว่าน่าคิดที่ว่า ๑๕ คน เป็นคนเลือก ๑ คน แล้ว ๑ คนก็ได้เป็น ในขณะที่มาตรา ๓๒ (๒) บอกว่า ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวนยี่สิบคน ใช่หรือไม่ว่า ๑๕ คนหรือ ๑๖ คนในแต่ละด้านมาจำกัดสิทธิบุคคลอื่น ที่จะเลือก ผมยกตัวอย่างด้านการเมืองมีผู้สนใจ ๗ คนด้วยกันนะครับ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นราชบัณฑิต เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๑๗ และต่อเนื่อง มาอีกหลายฉบับ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นรองประธาน สสร. ปี ๒๕๕๐ คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ก็เป็นคนที่สนใจแล้วก็มีความมุ่งมั่น แล้วก็มีข้อคิดดี ๆ ดอกเตอร์อมร วาณิชวิวัฒน์ ผมเรียนว่าผมรักพี่เสียดายน้องครับ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ผมขออนุญาต เอาละ แต่ละด้านนี่ไม่ว่ากัน แต่ว่าแต่ละด้านไม่ใช่เสนอเพียง ๑ สามารถเสนอได้มากกว่า ๑ จะ ๕ คน ๗ คน ๑๐ คนก็ได้ แล้วก็ใช้วินิจฉัยของทั่วทั้งที่ประชุมเป็นผู้เลือก แต่ในการที่จะ เลือกก็ขึ้นชื่อไว้บนจอนี้ครับ ว่าการเมืองมีเท่าไร กฎหมายยุติธรรมมีเท่าไร การศึกษา มีเท่าไรก็ว่ากันไป แล้วก็ใช้วิจารณญาณของแต่ละคนเลือกเอาเองว่ามาจากแต่ละด้าน ให้ครบด้านก็แล้วกัน แล้วก็ลงคะแนนกันโดย ๑ เลือกได้ ๒๐ อาจจะใช้เวลาในการ นับคะแนนยาวหน่อยนะครับ แต่ทางเทคนิคทำได้ในการกระจายการนับคะแนนเป็นกลุ่ม ผมว่าด้วยวิธีเช่นนี้มันจะเท่ากับว่า สปช. ทั้งหมดเป็นผู้ลงมติ หรือวินิจฉัยในการเลือก ไม่ใช่ให้ ๑๕ คนมาเลือก ถ้าเผื่ออย่างนี้ก็ขอเสนอเป็นญัตติด้วยว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะเลือก และผมคิดว่าเป็นวิธีที่เป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง และต้อนรับบุคคลได้มากกว่า เพื่อมิให้ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญ มีความหมาย มีความรู้ความสามารถหลุดออกไปตั้งแต่วงแรกเลย ถ้าเผื่อใช้ด้านละ ๑ คน ก็แปลว่าอีก ๔-๕ คนที่เขามีความสามารถเขากระเด็นออกไป ทันทีทันใด โดยไม่ได้ให้ที่ประชุมทั้งหมดได้วินิจฉัย ขอเรียนเสนอเป็นญัตติด้วยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมขออนุญาต ก่อนที่ท่านประสารจะสรุปว่าเป็นญัตติ เพราะว่าขณะนี้มันจะเป็นประเด็นที่แตกออกไป มากเลย มันไม่ใช่แค่ ๑๑ ๔ แล้วก็อีก ๕ เท่านั้นนะครับ แล้วผมก็เป็นห่วงว่ามีท่านได้เสนอ อภิปราย ยุติอภิปราย แล้วก็มีท่านที่รับรองครบถ้วนแล้วด้วย ข้อนี้ผมคิดว่าเพื่อให้รอบคอบ ได้ไหม เราจะพักไว้เท่านี้ แล้วขอกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นี่ละ ไปคิดสูตร หรือคิดกระบวนการตรงนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อคิดขั้นต้นมันเป็น ๑๕ ๕ จาก สปช. และอีก ๕ จากผู้ที่ไม่ใช่ สปช. บัดนี้เมื่อเราลงมติหลักการนี้แล้ว เราขอให้ กรรมาธิการนั้นไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งให้รอบคอบ แล้วหารือให้รอบด้าน แล้วนำมาเสนอ อีกครั้งดีไหมครับ เชิญครับ

นายกิตติ โกสินสกุล ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขอความกรุณาครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผม กิตติ โกสินสกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดตราด ต้องขออนุญาตกราบเรียนนะครับ ผมฟังมานานมาก ถ้าจะต้องกลับไปพูดถึง เรื่องของสิ่งที่กรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้ทำมาแล้ว ผมว่ามันก็คงจะ ใช้เวลายาวนานเกินไป ในเมื่อมีผู้ที่เสนอญัตติให้ปิดอภิปรายไปแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งผมกำลัง มองว่าหากเราอยู่ในที่เดียวกัน เราก็ควรที่จะให้เกียรติซึ่งกันและกัน วันนี้คณะกรรมาธิการ กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้ทำหน้าที่เรียบร้อยแล้ว และจะย้อนกลับไปกลับมา ทำไมนะครับ ผมก็มีความเห็นเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญท่านเสรีครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องขออนุญาตท่านเกรียงไกรด้วยนะครับ อันดับแรกที่ท่านประธานเรียกผมตั้งแต่แรก ต้องให้ทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ว่าท่านประธาน รู้จักกับผม พิศวาสผม หรือเรียกผมเพราะอยากจะให้พูด ไม่ใช่ ผมยกมือคนแรกนะครับ มิฉะนั้นเดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าท่านประธานอะไรก็เรียกผม ไม่ใช่ สิ่งที่ท่านประธานได้กรุณา พูดถึงสักครู่นี้นะครับ ถ้าจะให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ไปพิจารณาจริง ๆ ผมก็ไม่อยาก ขัดข้อง แต่ไป ๆ มา ๆ ไปอีกเดี๋ยวมันก็จะมีปัญหากลับมาสภาไม่เห็นด้วยอีก มันก็จะ กลายเป็นปัญหา สิ่งที่สมาชิกได้เสนอสักครู่นี้นะครับ จริง ๆ มันก็มายุติตรงนี้แล้วละครับว่า จะมาจากแต่ละด้านกับ ๔ ภาค กับมีท่านสมาชิกบางท่าน ท่านสองท่านเสนอว่าให้เลือก ให้ที่ประชุมนี้ลงคะแนนเลือกทั้งหมด ผมว่าตอนนี้มีอยู่ ๒ ประเด็น ๒ ประเด็นนี้ ถ้าจะขอความกรุณาหารือท่านประธานนี่นะครับ ก็ให้สภาตัดสินใจลงมติไปเลยว่า ตกลงแล้วนี่นะครับ เห็นด้วยที่จะให้เอา ๑๕ คน มาแต่ละด้าน กับ ๔ ภาค กับมาลงคะแนน ทั้งสภา นี่ข้อที่ ๑

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ เรียนไปเลยครับ ก็ไม่อยากจะลุกขึ้นพูดอีก ก็คือวิธีการนี่นะครับ ถ้าได้ ๑๕ คนไปแล้ว ๕ คนหลังนี้แทนที่เราจะให้สภามาลงมติ ผมเสนอทางออก ให้อีกด้านหนึ่งครับ ก็คือนอกจากได้ชื่อชัดเจนแต่ละด้านแล้วนี่นะครับ จะสมัครเอง หรือกรรมาธิการเสนอมามากกว่า ๑ นั้นนะครับ ให้เอารายชื่อที่ท่านทำใบสมัครอะไรไว้ หรือว่าเสนอชื่อมานี่ ให้คนเหล่านี้ช่วยให้กรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นัดประชุมเฉพาะคนเหล่านี้ แล้วท่านเหล่านี้นี่นะครับ ลองไปตกลงกันเองก่อนว่าที่เสนอชื่อ มาหลายท่านนี่นะครับ ท่านสามารถจะตกลงกันเองว่าให้เหลือ ๕ ท่าน หรือจะลงคะแนน กันเองให้เหลือ ๕ ท่าน หรือจะจับฉลากให้เหลือกันเอง ๕ ท่าน มันก็ไม่ต้องมาเป็นภาระ กับสภา พอได้ชื่อมาแล้วจึงให้สภาเห็นชอบ มันก็คือจากสภาเสนอนี่แหละนะครับ นี่คือกระบวนการขั้นตอน มันไม่ต้องให้มาแข่งกันในนี้อีก ให้ไปตกลงกันเองก่อน มันตกลง กันได้ครับ อย่างเคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเยอะแยะไปหมดเลยครับ ในรัฐธรรมนูญเขาเขียนว่า ให้ไปเลือกกันเอง อันนี้ก็คือเสนอแนวทางนะครับ จะได้ง่ายขึ้น กระชับขึ้น ตอนนี้ถ้าจะกรุณา ก็ลงแค่ ๒ มติ มติหนึ่งก็คือที่ท่านคณิศรเสนอไว้ว่าจะเอา ๑๑ ด้าน ๔ ภาค กับท่านอาจารย์ ประสารเสนอไว้ว่าให้ลงคะแนนเลือกทั้งสภา เอารายชื่อทั้งหมดมาให้ลงคะแนนเลือกนะครับ อันนี้ก็จะตัดปัญหาไปได้ทั้งหมดครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมคิดว่าต้องขออนุญาตว่า ถ้าอภิปรายจะวนอย่างนี้อีกแล้ว แล้วผมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จริง ๆ ได้มีการเสนอ ปิดอภิปรายแล้ว แล้วก็ได้รับรองความเห็นนั้นไปแล้วด้วย บังเอิญความเห็นที่อภิปรายกันมานี้ มันไม่ได้เป็น ๒ ทาง มันมีรายละเอียดของมันเองค่อนข้างจะปลีกย่อยอยู่ ผมจึงได้หารือว่า ถ้าจะลงมติ เดี๋ยวก็ต้องขานมติให้ชัดทีละอัน หรือจะให้กรรมาธิการเขาไปศึกษาแล้วก็ ประมวลทั้งหมดเอามาดำเนินการอีกทีหนึ่งซึ่งน่าจะทำให้กระชับขึ้น ผมคิดว่าเดี๋ยวหารือ ตรงนี้ เชิญท่านเกริกไกรครับ ขอตรงนี้ก่อน อย่ากลับไปอภิปรายอีกเลยนะครับ

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม เกริกไกร จีระแพทย์ หมายเลข ๑๔ ผมพยายามที่จะศึกษาศิลปะการพูดซ้ำให้แตกต่าง แล้วก็หวังว่า ท่านประธานคงจะมีศิลปะในการฟังที่เป็นสุขนะครับ ผมต้องการจะรื้อฟื้นทั้งหมดนะครับ เพียงแต่ก่อนที่ท่านประธานจะให้มีมตินั้น

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ต้นฉบับ

ผมขอเรียนประการที่ ๑ ว่า สภานี้ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งสิ้น ถ้าเราไม่เริ่มจากตรงนั้นกระบวนการที่คัดเรามาเสียหายหมดนะครับ

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ผมว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้สะท้อนทุกมติในสังคม เศรษฐกิจ เข้าไปในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าไปเลือกคนบางคนอาจจะทิ้งกลุ่มบางกลุ่ม จะทำให้ การร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความสมบูรณ์น้อยลง

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ผมได้ยินแต่ตัวเลข ๑๕ ๕ ผมไม่เคยเห็นมีตัวเลข ๑๔ กับ ๖ เพราะฉะนั้นก่อนที่ท่านจะไปลงมติ ท่านอาจจะต้องคำนึงถึงประเด็นที่ว่าบางคณะบางกลุ่ม อาจจะไม่มีผู้สมัคร เพราะฉะนั้นอย่าผูกเพียงแต่ตัวเลข ๑๕ หรือ ๑๑ บวก ๔ บวก ๕ ขอให้พิจารณาว่ามันมาจากสาขา และมาจากภาค และมาจากอื่น ๆ นะครับ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เชิญครับ หมออำพล

นายอำพล จินดาวัฒนะ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม อำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการนะครับ ผมขออนุญาตคงไม่อภิปรายเรื่องตัวเนื้อ แต่ผมอยากจะลองเคลียร์ (Clear) ประเด็น ผมคิดว่าประเด็นมันมีชัดเจนและมีเพียงแค่ ๒ เท่านั้น ซึ่งเราน่าจะไปลงมติ หรืออะไรกันก็ว่าไป ผมอยากกราบเรียนกลับมาที่งานของกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) ซึ่งกรรมาธิการกิจการนี้เสนอ ๒ เรื่อง คือเรื่องคนในคนนอกซึ่งจบไปแล้ว คือเป็น ๒๐ กับ ๐ แต่ตอนเสนอไว้นี่เป็นเสนอ ๑๕ กับ ๕ แล้วเราได้เสนอเรื่องที่ ๒ ไว้นะครับ คือเรื่องที่มาสำหรับ ๑๕ ของคนใน สปช. ที่มา ๑๕ ตรงนี้ก็คือพูดชัดเจนอยู่ในรายงาน การประชุมหน้า ๒ นะครับ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ใช้สำหรับ ๑๕ ก็เป็นการใช้สำหรับ ๒๐ ไม่ใช่ ๑๕ แล้วนะครับ ซึ่งในนี้เขียนไว้ชัดเจนนะครับ ข้อเสนอคือสรรหาจากสมาชิกสภา เพียงแต่ว่า ๑๕ คนนี้ก็คือ ๒๐ คน โดยเสนอชื่อผู้เหมาะสมและไม่มีลักษณะต้องห้ามจาก กลุ่มต่าง ๆ ๑๑ ด้าน ด้านละ ๑ คน เสนอจากภาค ๔ ภาค ภาคละ ๑ คน ก็เป็น ๑๕ คน โดยกลุ่มต่าง ๆ ๑๑ ด้าน และ ๔ ภาคอาจไม่เสนอชื่อสมาชิกท่านใดเลยก็ได้ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีความประสงค์จะสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับการสรรหาชื่อ คือเสนอชื่อจากกลุ่มนะครับสามารถสมัครได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่จะเกิดก็คือใน ๑๑ บวก ๔ นี้นะครับ ต้องเสนอได้ไม่เกิน ๑ คน แต่เสนอของกรรมาธิการ กิจการก็คือไม่ใช่โควตานะครับ เป็นสิทธิเสนอ แล้วก็มีคนสมัครได้มากกว่านั้นอีก ซึ่งเราก็เชื่อว่า สมัครได้เกิน ๒๐ คนแน่นอน รวมทั้ง ๑๑ บวก ๔ และที่สมัครนะครับ แล้วที่เสนอไว้นี้ก็คือ มาให้ที่ประชุมนี้เป็นคนเลือกครับ ผมคิดว่าอันนี้ชัดเจน เป็นมติ เป็นญัตติหนึ่งที่ชัดเจนเสนออยู่ คราวนี้ที่ท่านสมาชิกเสนอนี้เป็นอีกแบบหนึ่งคือ ๑๑ บวก ๔ นี้ขอเป็นโควตาที่แน่นอน ส่วนอีก ๕ อาจจะไม่ครบก็ได้นะครับโควตา เพราะเมื่อกี้มีเรียนว่าบางด้านอาจจะไม่เสนอ ก็อาจจะไม่ครบ ๑๕ แล้วก็มีสมัครได้อีก แล้วที่ประชุมสภามาเลือกเฉพาะที่สมัครนะครับ ซึ่งผมพยายามจะแยกออกเป็น ๒ ส่วนเท่านั้น ซึ่งมันก็ง่ายครับ หรือถ้าเกิดตามกรรมาธิการ เสนอนี้ก็คือหมายความว่าทุกคนไม่ใช่เป็นโควตามาจาก ๑๑ บวก ๔ มีแต่ได้รับการเสนอมา แล้วที่ประชุมเลือกเหมือนญัตติของคุณประสาร คราวนี้ก็มีอันเดียวคือว่าขอเป็นโควตาเลย ๑๑ บวก ๔ แล้วที่เหลือสมัครแล้วมาเลือกกันตรงนี้ ซึ่งตรงนี้อาจจะมีรายละเอียดอีกนิดหนึ่ง ว่าวิธีการจะว่าอย่างไร ซึ่งเป็นรายละเอียดย่อยไป ผมยังคิดว่าข้อวินิจฉัยมี ๒ ข้อใหญ่ เท่านั้นเองครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เดี๋ยวผมต้องเรียน อย่างนี้นะครับ มีโน้ตบอกว่าท่านสมาชิกบางคนค่อนข้างเคืองเพราะว่ายกมือนานแล้ว ในลิสท์นี้มันยาวมากเลยนะ ทีนี้บังเอิญมีท่านเสนออภิปรายตัดไปเรียบร้อย บัดนี้ กำลังอภิปรายต่อจากที่ปิดไปแล้วด้วยนะ ผมคิดว่าบังเอิญผมมาหารือว่าเราจะวินิจฉัยกันเลย จากญัตตินี้ แล้วเดี๋ยวเราก็จะพิจารณาญัตติให้แคบลงเพื่อขอความเห็นเลย หรือจะให้กรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เขาไปประมวลให้ทั้งหมด รอบคอบอีกครั้งหนึ่งนำมาเสนอ ความจริงที่หมออำพลพูดการเสนอของเขาในครั้งแรก มันชัดเจน แต่เวลานี้ที่อภิปรายไปแล้วมีลูกเล็ก ๆ แตกมาจากตัวนั้น ประทานโทษ ผมอาจจะพูดไม่เพราะนะครับ ลูกเล็ก ๆ แตกไปจากตรงนั้นอีกหลายประเด็น เพราะฉะนั้น เอาทีละประเด็นให้แคบลง แล้วเพื่อเราจะได้ขอความเห็นจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเลย ได้ไหมครับ ท่านสมาชิกยกมืออีกแล้วนะครับ ในชื่อนี้ก็ยังยาวอยู่นะครับ ผมจะตัดคิว ให้ท่านนิดหนึ่ง เป็นเรื่องที่ผมกำลังหารือนี้ไหมครับ เชิญครับ

นางทิชา ณ นคร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน ดิฉัน ทิชา ณ นคร จากด้านการศึกษาค่ะ จริง ๆ แล้วอาจจะนอกคิวนิดหนึ่ง ขอบพระคุณมาก แต่ว่าดิฉัน ตั้งใจจะไม่อภิปรายอะไรเลยนะคะวันนี้เพราะรู้ว่าเราจะต้องใช้เวลา แต่ว่าพอหลังจาก ที่พูดกันไปเยอะนี่ดิฉันกลัวว่าประเด็นที่ห่วงใยจะหายไปก็คือ ไม่ว่าเราจะใช้เทคนิคแบบไหนก็ตามนะคะ แต่ดิฉันอยากให้สภานี้อย่าลืมนะคะว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีสตรีร่วมร่างด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่วาทกรรมนะคะ แต่มันเป็น อุดมการณ์ทางประชาธิปไตย แล้วขณะนี้มีผู้หญิงอยู่ในที่แห่งนี้ประมาณ ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูแล้วก็ยังน้อยอยู่ และถ้าถูกนำออกไปด้วยเหตุผลใดก็ตามนะคะมันก็จะขาดความสมดุล ดังนั้นขอฝากประเด็นนี้ไว้ด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผมคิดว่า คงต้องยืนหลักการที่เราทำงาน และอันนี้คงต้องเป็นต้นแบบ เพราะว่าเมื่อมีท่านเสนอปิดแล้ว ท่านรับรองแล้วนี่การอภิปรายต้องยุติ แล้วที่ถือว่าผ่านมาตรงนี้ให้เป็นโบนัส (Bonus) สำหรับวันนี้นะครับ ขออนุญาตที่ผมจะถามความเห็นท่านได้ไหมครับ เพราะว่าการอภิปราย ตอนนี้มันก็ได้ประเด็นที่อยู่ในกรอบที่เข้าใจว่าน่าจะไม่ต่างจากเดิมมากนัก ผมจะทำอย่างไรดี ผมจะขานมติหรือขอมติ อาจารย์วิริยะครับ ผมก็รู้ว่าท่านตัดพ้อท่านยกมือหลายครั้งมาก

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับท่านประธานครับ กราบเรียนท่านประธานครับ ผม วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ก็เมื่อเสนอปิดอภิปราย แล้วก็มีแค่ ๒ ญัตติ ผมก็อยากให้ท่านประธานดำเนินการไปตามระเบียบที่อนุโลมมานะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

ถ้าปิดแล้วก็เหลือแค่ ๒ ญัตติ ๒ ญัตติ ก็มีญัตติหนึ่งก็ตามที่ทางฝ่ายประสานงานได้เสนอมานะครับ กรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) แล้วก็อีกญัตติหนึ่งก็ในที่ประชุมนี้เสนอก็คือโควตา ๑๕ คน แล้วเหลือก็เลือก ผมว่าถ้าเราไปตามญัตติมันก็จะจบเร็วครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เพราะฉะนั้นผมจะขอความเห็นว่า คุณหมอชูชัยครับ เป็นเรื่องที่ลงมติไหม หมอชูชัยครับ

นายชูชัย ศุภวงศ์ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับท่านประธาน ผมเกรงว่าญัตติ มันจะขัดกับรัฐธรรมนูญครับ ด้วยเหตุนี้ก็เลยยกมือหลายครั้ง แล้วก็เห็นด้วย กับท่านประธานว่าคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) น่าจะกลับไป ทบทวน ด้วยเหตุที่ว่าถ้าเราไปล็อกโควตาในแต่ละด้าน เราจะไปตัดสิทธิคนอื่นที่เขา อยากจะสมัครด้วย

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ใช่ครับ

นายชูชัย ศุภวงศ์ ต้นฉบับ

แล้วการไปตัดสิทธินี่ก็เท่ากับว่าในแต่ละด้าน ๑๕ ท่านนี้ เป็นคนเลือกแทนที่จะเป็น สปช. ทั้งสภา ตรงนั้นเป็นปัญหาเรื่องอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็อยากให้ที่ประชุมพิจารณาประเด็นนี้ครับ ผมเป็นห่วงว่าเดี๋ยวจะมีใครไปยื่น แล้วก็จะทำให้สภาปั่นป่วนครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับ ประเด็นนี้ มีผู้อภิปรายไปเรียบร้อย เพราะฉะนั้นสมาชิกคงต้องใช้วิจารณญาณและวินิจฉัย ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ครับ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานครับ กระผม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะกรรมาธิการ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ กำหนดให้ท่านประธานสภาแต่งตั้งผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คน แปลว่า โควตามีไม่ได้ครับ ท่านประธานครับ จะอย่างไรเสียสภาแห่งนี้ต้องลงมติเสนอครับ เพียงแต่ว่าอาจจะเติมนิดหน่อยเท่านั้นว่า โดยคำนึงถึงว่าด้านต่าง ๆ เขามีฉันทามติอย่างนี้ แล้วก็กราบเรียนท่านประธานครับว่าได้เถียงกันแล้วในกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) ว่า จะไปตัดสิทธิสมาชิกเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นกระผมเองว่าถ้าเราถือเป็นโควตาเด็ดขาดเลย จะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างที่คุณหมอชูชัยท่านพูดนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เอานะครับ ผมคิดว่า จะขอมติจากท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้หรือยังครับ เอาหลักเสียก่อน ท่านยกมืออีกครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ ที่ยกมือคือจะช่วยที่ประชุมนะครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับ ขอบคุณครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

คือกราบเรียนท่านอย่างนี้ครับ พอดีมีคนเสนอ ญัตตินี่นะครับ จริง ๆ ท่านประธานคงต้องถาม แต่ท่านกรรมาธิการเสนอว่ามันอาจจะขัดกับ รัฐธรรมนูญหรือไม่นะครับ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงก็ขอให้ผู้เสนอญัตติถอนญัตติเสีย ถ้าท่านถอนมันก็จบตรงนี้ ส่วนกรรมาธิการบอกว่าจะรับไปจัดการผมก็ไม่ขัดข้อง เพียงแต่ว่า ก็ฝากกรรมาธิการว่าสิ่งที่พูดใช้เวลามาตั้งยาวนานว่ามาจากแต่ละส่วน แต่ละภาคนี่ อันนี้ มันเป็นกระบวนการ แต่การที่จะทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็คือหลังจากได้ชื่อ แล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับบุคคลดังกล่าวนั้นมันก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ผมไม่อยากที่จะให้มันเป็นประเด็น มาไกลถึงขนาดนี้แล้วถ้ากรรมาธิการจะไปจัดการ แต่มันก็ชัดเจนแล้วมาจาก ๒๐ คน ในสภานี้ก็ไม่ขัดข้องนะครับ เราก็ต้องยอมกันบ้างนะครับ เดี๋ยวกรรมาธิการแพ้ทุกเรื่องมันจะยุ่งเหมือนกัน คราวหน้าทำงานลำบาก ก็เอาเป็นขอเสนอ ตามกรรมาธิการก็แล้วกันว่าให้ท่านที่เสนอญัตติกรุณาช่วยถอนเสีย แล้วกรรมาธิการ ท่านก็รับไปช่วยจัดการให้หน่อย ให้ได้ ๒๐ คนมาก็แล้วกันนะครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

จริง ๆ แล้วผมไม่คิดว่า ประเด็นนี้ ต้องขออนุญาตให้ผมทำหน้าที่ประธานสักนิดหนึ่ง ผมไม่คิดว่ามีเรื่องแพ้ชนะ แล้วกรรมาธิการไปทำการบ้านตุ๊กตามา ที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติครับ ผมคิดว่าวิธีทำงานของเราเข้าใจ ขออนุญาตท่านเสรีนิดหนึ่ง ท่านคณิศรครับ

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม คณิศร ขุริรัง จากจังหวัดหนองบัวลำภู ผมขออนุญาตถอนญัตติครับ ขอบคุณครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

หมายความว่าอภิปรายต่อ ใช่ไหมครับ ท่านถอนญัตติที่จะขอให้ยุติการอภิปรายถูกไหมครับ

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ขออนุญาตถอนญัตติ ที่เสนอให้เลือกคณะกรรมาธิการจาก ๑๑ ด้าน ๑๑ คน แล้วก็ ๔ คนจากภูมิภาค แล้วก็อีก ๕ ท่านจากที่ประชุมใหญ่ครับ ขออนุญาตถอนญัตตินี้ครับ ขอบคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ที่ต้อง ขยายความเพราะท่านเสนอญัตติปิดด้วย

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

ถอนญัตติปิดด้วยก็ได้ครับเพื่อความสบายใจ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เราต้องเปิดอภิปรายใหม่ ใช่ไหมครับ ผมคิดว่าเอาอย่างนี้ท่านถอนไปแล้วนี่ แล้วมีใครรับรองญัตติเรื่องปิดอภิปราย ที่ท่านถอนไปนี้

นายคณิศร ขุริรัง ต้นฉบับ

ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

แปลว่าเปิดอภิปรายใหม่ อย่างนั้นหรือครับ เชิญครับ

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็เสนอญัตติให้กรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ไปพิจารณาใหม่ แล้วก็กลับเข้ามาเสนอพวกเราอีกครั้งหนึ่งได้ไหมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ได้ครับ ผมได้ให้ ความเห็นไว้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าท่านใดมีความเห็นรับรองญัตตินี้ยกมือได้ไหมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มีสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติท่านใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมคิดว่าถ้าอย่างนั้นแล้วนี่ ผมทราบครับ แต่เป็นเสียงข้างน้อยไปแล้วครับ เสียงส่วนใหญ่ก็คิดว่าจบแล้ว เพราะฉะนั้น จะขออนุญาตว่ากรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ทำการบ้านต่อ ขออนุญาต ให้กรรมาธิการทำงานพรุ่งนี้เช้า ขอนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกครั้งพรุ่งนี้ ๑๓.๐๐ นาฬิกา

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตประท้วง ท่านประธาน ประท้วงคนแรก คืออย่างนี้ครับ ขออภัยที่ใช้คำนี้ครับ อาจจะไม่เหมาะสม เพียงแต่ว่าเดี๋ยวกลัวธรรมเนียมประเพณีมันจะผิดพลาด สมาชิกเขาเสนอแล้วเขาแค่ยกมือ รับรองญัตติ ถ้าท่านอื่นไม่เห็นด้วยก็ยกมือแล้วก็รับรองญัตติ ท่านต้องให้ลงคะแนนว่า จะให้เป็นแบบไหน ไม่ใช่รับรองญัตติแล้วท่านสรุปว่าส่วนใหญ่เห็นอย่างนี้ มันจะผิดพลาดได้ ขอบพระคุณครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ถ้าอย่างนั้นย้อนไปนิดหนึ่ง ขออนุญาตให้ลงมติ เชิญท่านครับ ขอสั้นเลยนะครับ เพราะต้องลงมติแล้วครับ

นายโกวิท ศรีไพโรจน์ ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานสั้น ๆ นิดเดียวครับ ผมเอง โกวิท ศรีไพโรจน์ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขออนุญาตอย่างนี้ครับ ก็คือว่าผมก็ฟัง ท่านสมาชิกอภิปราย ผมเองก็เสนอญัตติไปตั้งแต่ทีแรก แต่ก็โอเค ท่านประธานบอกว่า ขอให้ฟังกันก่อน คราวนี้ผมเชื่อว่าที่อภิปรายไปค่อนข้างที่จะชัดเจนพอสมควร ผมฝากคณะกรรมาธิการประสานงานชั่วคราว ถ้าหากจะดำเนินการขอให้อยู่ในกรอบนี้ ถ้าอยู่ในกรอบนี้ก็โอเคครับ ต่อไปก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เขาต้องรับในกรอบนี้แน่ ที่เราอภิปรายไป ออกนอกกรอบนี้ไม่ได้แน่นอนครับ โอเคครับ เพราะฉะนั้นขอมติว่า รับรองญัตติเมื่อสักครู่นี้ใช่ไหมครับท่านเสรี ถูกไหมครับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับ เมื่อกี้ ท่านอาจารย์เอนกกรุณาเสนอว่าให้กรรมาธิการรับเรื่องช่วยไปทำ แล้วยังไม่ชัดเจนเท่าไรว่า สมาชิกท่านอื่นมีใครขัดข้องไม่เห็นด้วยไหมนะครับ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ถือว่าเป็นมติที่สภามอบให้ กรรมาธิการไปดำเนินการ แต่ถ้าหากว่าสมาชิกท่านใดมีมติแล้วก็ขอที่ไม่เห็นด้วย ท่านอาจารย์เอนกก็ยกมือนะครับ แล้วก็ให้สมาชิกรับรอง ถ้ามันเห็นไม่ตรงกันก็ค่อยลงมติ ถ้าในเบื้องต้นขณะนี้นี่นะครับ ท่านอาจารย์เอนกเสนอแล้วนะครับ ไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น ก็คงให้กรรมาธิการไปดำเนินการครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับ ผมเข้าใจไปว่า เมื่อกี้ยกมือสนับสนุนอาจารย์เอนกไปเรียบร้อยแล้ว โอเค เอาใหม่นะครับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นมติว่าท่านอาจารย์เอนกจะกรุณาเสนออีกครั้งหนึ่งไหมครับ ช่วยผมนิดเถอะ แล้วเดี๋ยวได้สรุปให้ได้

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ

เสนออีกครั้งหนึ่งไม่ทราบว่าจะเหมือนเดิม หรือเปล่า

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

นั่นละปัญหาครับ

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ

มันเครียดเหลือเกินประชุม ผมก็เลยขอพูดเล่น สักนิดหนึ่งครับ ก็เสนอว่าเป็นญัตติให้กรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) รับเอา ความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เราได้เสนอในวันนี้จากทุก ๆ ฝ่ายเอาไปพิจารณาเพิ่มเติม แล้วก็นำเสนอให้พวกเราอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไปครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มีท่านใดรับรองมตินี้ ไหมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

โอเค ทีนี้ก็ขอมติว่า ท่านใดที่เห็นด้วยกับท่านอาจารย์เอนกที่เสนอ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ขออภัยท่านประธานครับ ผมเสรีนะครับ เพียงแต่ว่าผมไม่ได้มาแนะนำอะไรท่านประธาน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ช่วยแนะนำดีแล้วครับ เพราะผมไม่คุ้นกับมันอย่างนี้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้นฉบับ

ครับ เพียงแต่เมื่อท่านเอนกเสนอแล้วนี่นะครับ มีสมาชิกท่านอื่นไม่เห็นด้วยมีไหม ถ้าไม่มีท่านใดไม่เห็นด้วยนะครับ ก็ถือว่าที่ประชุมมีมติให้ กรรมาธิการรับไปดำเนินการก็ไม่ต้องลงมติอะไรครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ผมขานไปแล้วนะเมื่อกี้นี้ ว่ามีท่านใดไม่เห็นด้วยไหม ไม่มีนะครับ ท่านอาจารย์วิริยะครับ

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านประธาน ก็ถามไปแล้วก็มีคนไม่เห็นด้วย แล้วท่านประธานก็บอกว่าไม่เห็นด้วยยกมือ ไม่มากใช่ไหมครับ ทีนี้ก็ขอให้ลงมติเท่านั้นเองท่านประธาน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้น มันก็เป็นมติไปแล้วนี่ครับอาจารย์

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยครับ เพราะว่า ผมก็ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปให้กรรมาธิการไปศึกษาอีก มันก็เสียเวลาครับ เพราะว่าการที่ให้ ๑๕ กลุ่มมันก็เหมือนเลือกตั้งเขตนะครับ แล้วก็มาทั้งหมด มันก็เหมือนเลือกตั้งปาร์ตี้ ลิสต์ (Party list) ครับ มันก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้วก็ต้องให้สภานี่เห็นชอบทั้งหมด ๒๐ คน มันก็คือบุคคลที่สภาเสนอ ๒๐ คนนี้ มันก็เหมือนเราเลือกกรรมาธิการอื่น ๆ ครับ ก็บอกแต่ละกลุ่มไปเสนอมาคนละ ๑ คนละ ๒ แล้วจากนั้นใส่ชื่อเสร็จก็อ่านให้สภาเห็นชอบ อีกครั้ง เพราะฉะนั้นกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ที่ไปทำ มันก็ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญอีกสิครับ มันก็เสนอแต่ละด้านไปครับ ฝ่ายกฎหมายที่ผมไป ก็แต่ละด้านเสนอไป แล้วก็ให้สภานี้รับรองครั้งสุดท้ายก็ไม่เห็นใครโต้เถียงว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตรงไหน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ขอมติว่ามอบให้ กรรมาธิการไปศึกษานะครับ ท่านใดเห็นด้วยช่วยยกมือด้วยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

มีท่านใดไม่เห็นด้วย ไหมครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

บันทึกไว้ด้วยนะครับ ขอบคุณนะครับ เป็นอันว่าเราประชุมกรรมาธิการพรุ่งนี้เช้า อาจจะสักเวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ครับ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ขอให้ข้อสังเกตกับคณะกรรมาธิการนิดหนึ่งครับ ในประเด็นที่ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ได้นำเสนอเรื่องของว่า ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คนนี้ ถ้าเราใช้กระบวนการ ๑๑ บวก ๔ นี่นะครับ มันจะเป็นกระบวนการ ที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมว่าอันนี้อาจจะคงต้องขอเห็นต่างนิดหน่อย กระผมมีความรู้สึกว่า

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เอาอย่างนี้สิครับ เราฝากเขาไว้

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

ฝากไว้ครับ ฝากท่านประธานไป

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

เราฝากแล้ว และให้เขา ไปศึกษาด้วยแล้วพรุ่งนี้มารายงานเรา ดีไหมครับ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ ต้นฉบับ

บอกว่ากระบวนการอย่างนี้มันเป็นกระบวนการ มันไม่ใช่มติ มติมาเมื่อได้ชื่อครบแล้ว ๒๐ คนถึงจะเป็นความเห็นชอบของสภา ฉะนั้นกระบวนการมันเป็นรายละเอียดของการได้ชื่อมา ขอเห็นต่างนิดหน่อยครับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ

ฉะนั้นขอเราเจออีกครั้ง พรุ่งนี้ ๑๓.๐๐ นาฬิกานะครับ ขอบคุณ ขออนุญาตปิดประชุมครับ