ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช. จังหวัดเพชรบุรี ขอกราบขอบพระคุณ ทางกรรมาธิการที่ได้แสดงเจตนาให้พวกเราทราบว่าท่านคิดอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมุติว่าการตั้งกรรมาธิการที่เพิ่มไป ๑๕ บวก ๕ ในวันนี้ทำให้ข้อขัดแย้งต่าง ๆ มันจบลง ผมยินดียกมือเลย แต่มันไม่มีข้อยืนยันครับ มันไม่มีข้อยืนยันว่าถ้าเราตั้งกรรมาธิการจากซีก ของเราแล้ว จากบุคคลภายนอก ซึ่งอาจจะมาจากนักการเมือง จะมาจากไหนก็แล้วแต่ เป็นการแสดงความใจกว้างของเราแล้วเรื่องทั้งหมดมันจะยุติลง ก็ต้องถามกลับไปว่า เรื่องที่มันเกิดขึ้นมานี้มันเกิดจากการเมือง มันเกิดจากการที่เราอยากได้ทรัพย์สิน อะไรมากขึ้นหรือเปล่า เป็นเรื่องที่มีฮิดเดน อะเจนดา (Hidden agenda) อยู่หรือเปล่า มันไม่เหมือนกับ สปช. เรานะครับ ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจว่าพวกเราเห็นต่างได้แต่หัวใจเดียวกัน คือต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าครับ เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่าผมมี ๒ ประเด็นสั้น ๆ ไม่อยากไปรบกวนในที่ประชุมนี้มาก

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ก็คือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็คือรัฐธรรมนูญ ให้ตั้ง ๒๐ คน ให้ สปช. เสนอ แต่ก็ไม่ได้บอกนะครับ มีการชี้แจงกันว่ากลัวจะไม่ได้ครบจำนวน ๒๐ คน อันนี้เอาเป็นว่าประนีประนอมระหว่างสภากับทางกรรมาธิการได้ไหมครับว่า ในกรณีที่เปิด รับสมัครไปแล้ว หรือว่าทางกลุ่มต่าง ๆ เสนอมา เรามีผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเกินกว่า ๒๓๐ คน ท่านไปตั้งที่อื่นมาเลย แต่ถ้ามันมีคุณสมบัติครบถ้วน มีคนที่เขาอยากจะเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก สปช. กรุณาตั้งจากที่นี่ก่อนได้ไหม ผมมาจาก หอการค้าไทยแล้วก็มาจากหอการค้าจากจังหวัดเพชรบุรี เขาให้สิทธิองค์กรพวกเรา สมมุติจะตั้งอะไรก็แล้วแต่เราต้องคิดจากสมาชิกของเราก่อน ไม่ใช่คิดจากคนข้างนอก แต่ถ้าหาไม่ได้ก็เหมือนมีมาตรา ๔ ของประมวลกฎหมายแพ่ง ให้ใช้วิธีอย่างอื่น อันนี้ก็ว่ากันไป แต่ในกรณีที่มีคนครบ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะไปเอาคนนอกมาทำไม แต่เหตุผล หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงก็ฟังขึ้นว่าเพื่อประนีประนอม แต่ถ้าเอามาจากสายการเมือง ผมต้องบอกว่าสิ่งที่อยู่ในใจของเขานั้นอะไรกันแน่ เขาต้องการมาร่วมปฏิรูปประเทศ กับเราหรือเปล่า ถ้าเขาต้องการร่วมปฏิรูปประเทศของเรา แล้วการตั้งกรรมาธิการที่มาจาก คนนอกในสายของ สปช. ๕ คน เหตุการณ์มันสรุปลงยุติลงประเทศรักกันดีเลย โอเคครับ เรายินดีเสียสละ แต่มีอะไรยืนยันล่ะ อย่างที่ท่านคำนูณได้ยกขึ้นมา ขออนุญาตที่เอ่ยนามนะครับ อันนี้คือเรื่องที่ ๑ ว่าลองไปดูก่อนไหม มีคนสมัครไหม มีคุณสมบัติที่ขาดหรือเปล่า ถ้ามันขาดแล้วเราหา ๒๐ คนไม่ได้ หาได้แค่ ๑๕ อีก ๕ ไปหาข้างนอกมา อันนี้ เพื่อประนีประนอมในประเด็นที่ ๑

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ ครับ อยู่ที่กระบวนการทำงาน การทำงานของเราเรามี สปช. สาย ๗๗ จังหวัด เขาไม่ได้เป็นคนที่ได้รับเลือกมาจากคนในจังหวัดก็จริง แต่เขาสามารถ ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ อย่างที่จังหวัดเพชรบุรีทำงานแล้วครับ ทำงานกันแล้ว มีสภาพลเมืองขึ้นมาแล้ว เสนออะไรขึ้นมาเยอะแยะเลย นี่คือการทำงานของเรา ถ้าสามารถว่า สปช. สาย ๗๗ จังหวัดที่เขารวมตัวกันไม่ได้เพื่อจะมาแบ่งแยกหรอกครับ มันมาเพื่อประสานงานกัน อย่าลืมนะครับว่าใน ๑๐ ด้าน กับอีก ๑ ด้าน ด้านอื่น ๆ บางด้าน ถ้าท่านเอาของท่านอย่างเดียวแล้วมันไปสร้างปัญหาให้กับด้านอื่นเขา มันต้องมีคอนเน็กชัน (Connection) ในการเชื่อมโยงกันครับ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาของเราให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไปเกิดปัญหาอื่น ๆ มา เรื่องอำนาจไปเจอเรื่องคอร์รัปชันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ มันจะต้องมีสายสัมพันธ์ต่าง ๆ ถ้าเราอาศัย ๗๗ จังหวัด ที่เรามี สปช. อยู่แล้วนี่นะครับ เป็นเหมือนม้าด่วนที่วิ่งไปบอกกับคนข้างล่างว่าท่านต้องการอะไร มีการศึกษามาแล้วครับ เพราะเรามีสภาพัฒนาการเมืองที่รองรับทำกันมานานแล้ว ถามความเห็นเขา เอาความเห็น ของประชาชนในระดับล่างขึ้นมาบอกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่าข้างล่างต้องการอย่างนี้ ๆ นะ สภาเห็นเป็นอย่างไร สภาบอกไม่ได้คุณจะเอาอย่างนี้ไปทั้งหมดไม่ได้กลับไปบอกใหม่ สภาเขาเห็นอย่างนี้เห็นด้วยไหม ถ้าไม่เห็นด้วย มีข้ออะไรนะครับ ทั้งหลายทั้งปวงถ้าทำกันได้ ทั้ง ๗๗ จังหวัดนี้ ต่อให้มีนักการเมืองที่ออกมาโวยวายว่าอันนี้ออกมาโดยอะไร เป็นผลพวง ของผลไม้พิษ ท่านไม่ต้องไปฟัง มันยิ่งกว่าทำประชามติอีก เพราะมันเกิดขึ้นมาจากระดับล่าง ขึ้นมาระดับบน ทั้งนี้และทั้งนั้นอยู่ที่กระบวนการในข้อที่ ๒ ที่ผมอยากเสนอว่ากระบวนการ ของเรามีม้าใช้อยู่แล้วในการที่จะเดินไปถึงข้างล่าง ท่านใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์นะครับ เราจะมีกรรมาธิการในการที่จะประสานงานรับฟังความคิดเห็นข้างล่างหรือไม่ในอนาคต เป็นเรื่องที่ว่ากันต่อไป แต่ม้าใช้เหล่านี้นะครับ ซึ่ง สปช. เหล่านี้เขาจะทำงานให้ท่านแล้ว ทำงานตั้งแต่วันแรกแล้วด้วย หลายที่มีผลลัพธ์ออกมาแล้วเป็นเปเปอร์ (Paper) เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นหลักประกันยืนยันอย่างดีว่ารัฐธรรมนูญที่เรามีหน้าที่ ของ สปช. นี้ ผมแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ เรื่องที่ ๑ ก็คือการศึกษา วิเคราะห์ แล้วก็ สังเคราะห์ว่าจะปฏิรูปในเรื่องอะไร แล้วเอาสิ่งที่เราได้สังเคราะห์นี้ไปบอกกับกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะชี้จะมีบทนี้ไหม ผมยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ นี่นะครับ ในเรื่องของกิจการค้าหรือการทำธุรกิจมีเขียนอยู่ว่า รัฐต้องส่งเสริมการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ตอนนี้อาจจะต้องเพิ่มไปอีกไหม อีกประโยคหนึ่งว่าต้องมีการกระจายรายได้ด้วย ไม่ใช่ ไปส่งเสริมการค้าเสรีแล้วรวยอยู่กระจุกเดียว ยกตัวอย่างอย่างนี้เป็นต้นจะต้องมีหรือไม่ อันนี้ อาจจะต้องทำความเห็นจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระดับล่างรวมทั้งประชาชน แล้วส่งกลับ ขึ้นมายังสภาบนก็จะเกิดเป็นมรรคเป็นผลนะครับ เพราะฉะนั้นโดยสรุปในนี้ไม่อยากใช้เวลา ของสภามาก ในประเด็นที่ ๑ หาตัวกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของเรานะครับ จากสมาชิกของเราก่อนดีไหม ๒๐ คน ถ้าคุณสมบัติไม่ครบ ไม่ต้องการที่จะเป็น เวลาไม่มี แล้วต้องการจะสมัคร ส.ส. ส.ว. ต่อ จบครับ ไปหาคนข้างนอกมาอีก ๕ คนนะครับ แล้วก็ กระบวนการในการทำงานกรุณาใช้ สปช. ที่มาจากจังหวัด เขาไม่ต้องการไปรวมกลุ่มกัน เพื่อแบ่งแยกว่านี่เป็นกลุ่มจังหวัดกลุ่มอะไรหรอกครับ แต่ต้องการมีคอนเน็กชันกันว่าจังหวัด ของคุณได้เลือกมาอย่างนี้มันตรงกันไหม มาประมวลกันแล้วมันควรจะมีทางออกอย่างไร อย่างนี้ละครับ มันจะขึ้นมาจากประชาชนในระดับรากหญ้า มันไม่เป็นการประนีประนอม ดีกว่าการที่เราจะไปเชิญใครต่อใครก็ไม่รู้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าหลักประกันตัวจริงที่เขาทะเลาะกันอยู่นี่ เขาจะเข้ามาหรือเปล่า เขาอาจจะอยากสมัคร ส.ส. ต่อ เขาอาจจะสมัคร ส.ว. ต่อ ไปส่งใคร ก็ไม่รู้เข้ามานะครับ ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ต้องวิ่งกลับไปถาม แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร แล้วมันจะเกิดการประนีประนอมอะไร เพราะฉะนั้นด้วย ๒ ประการนี้ ก็ฝากในที่ประชุมนี้ ให้ช่วยคิดด้วยครับ ผมยังเห็นด้วยกับการที่เป็น ๒๐ ต่อ ๐ ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช. จังหวัดเพชรบุรี ต้องกราบขอบพระคุณ ทางกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ที่ได้กรุณาไปทำการบ้านมา แล้วก็มาเสนอความเห็นต่อสภาแห่งนี้ กระผมอยากจะใคร่ทบทวนว่าจริง ๆ แล้วเราพยายาม ที่จะกระจายสิ่งต่าง ๆ ออกไปถึง ๑๑ ด้าน บวกกับอีก ๔ ภาค แล้วก็ในส่วนของ ๔ ภาคนั้น ในวันนี้ที่มีการประชุมตั้งแต่บ่ายโมงในภาคกลางของผมก็ได้มีการพูดคุยกัน แล้วก็ได้มี การนำเสนอว่าน่าจะมีสำนักงานเลขานุการในการที่จะประสานความคิดเห็นของประชาชน ในระดับล่างขึ้นมายังสภาแห่งนี้ ก็มีความเห็นว่าสำนักงาน กกต. จังหวัดแต่ละแห่ง มีความเหมาะสมนะครับ ก็ได้มีการโทรศัพท์ถามไปยัง ๕ เสือ กกต. ก็บังเอิญได้คุยโทรศัพท์ กับท่านประธาน กกต. ใหญ่ ขออนุญาตที่ต้องอ้างอิงตำแหน่งของท่านนะครับ บังเอิญ เขาประชุมกันอยู่ใน กกต. ๕ เสือ ท่านยินดีครับ และอาจจะมีงบประมาณในการสนับสนุนด้วย อันนี้ต้องกราบขอบพระคุณ แต่ว่าทางเราคงต้องทำหนังสือขึ้นไป อันนี้ที่ยกตัวนี้ขึ้นมา ก็เพราะเหตุว่าเรามีเวลาจำกัดครับ เรามีเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนสิ้นปีใหม่นี้จะต้องมีสิ่งต่าง ๆ ที่ออกแบบออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานที่ค่อนข้างจะจำกัดอย่างนี้จำเป็นที่จะต้อง สื่อความหมายจากข้างบนไปสู่ข้างล่าง จากข้างล่างขึ้นมาสู่ข้างบน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ในส่วนของ ๔ ภาคนั้นยังมีความจำเป็นที่ยังจะต้องใช้บริการของเขาอยู่ เพราะฉะนั้นในส่วนของ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นผมยังคิดว่าตัวแทนของภาคต่าง ๆ ซึ่งตามที่ทางกรรมาธิการ ได้ไปทำงานมานั้นไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า แล้วก็ไม่ใช่เป็นการบล็อกนะครับ เพราะว่า การที่เราไปเรียกกันว่าล็อกโหวต หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นสิ่งที่เรียกกันไป มันเป็น กระบวนการในการทำงานที่ทำอย่างไรถึงจะให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาใหม่นี้ถูกออกแบบ มาเพื่อประชาชนแล้วทำให้อยู่ยั้งยืนยงไปข้างหน้าด้วย แล้วก็ช่วยเหลือประชาชน ของเราให้มีอันจะกิน เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่ากระบวนการได้มานั้นกรรมาธิการหรือวิป (Whip) สภานี่ละเป็นผู้ที่จริง ๆ แล้วต้องไปตกลงกันมาให้จบเรียบร้อย แล้วก็หารือคุยกับ ส่วนเกินต่าง ๆ ว่าสามารถที่จำกัดตรงนี้ได้ไหม เหมือนกับกรรมาธิการทั่ว ๆ ไปในแต่ละคณะ ซึ่งผมเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอยู่ครั้งหนึ่งเราก็ทำงานกันแบบนี้ มาถึงก็อ่านรายชื่อ ตกลงกัน วิปก็ไปทำงาน ทำงานแล้วก็มาเสนอต่อสภาคุยกันให้จบเรื่องก็ไม่ยาว เพราะฉะนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าเราพยายามทำเรื่องง่ายเป็นเรื่องยากอย่างที่อาจารย์วิริยะได้กรุณาพูดถึง ขออนุญาตที่เอ่ยนามนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำตรงนี้ได้ครบถ้วนผมคิดว่าวัตถุประสงค์ ต้องการกระจาย ในกรณีที่ด้านใดด้านหนึ่งเขาไม่มีคนก็ไม่เป็นไรก็ตั้งกันไป หรืออีก ๕ คนนั้น ทางด้านกฎหมายหรือด้านการเมืองการปกครองเห็นว่ามีความสำคัญก็อาจจะขอในส่วนนั้นไป ผมก็คิดว่ามันน่าจะทำงานกันไปได้ เพราะว่าการยกร่างที่ผ่านมานั้นสาระสำคัญต่าง ๆ ที่เรา จะเอามาแปลเป็นตัวบทกฎหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราแปลเป็นตัวบทกฎหมาย แล้วไม่มีใครปฏิบัติตามหรือไม่มีใครเคารพรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็คือกระดาษเปื้อนหมึกใช่ไหมครับ ไม่มีบทบาทอะไรต่ออะไรในการที่เราจะยึดถือเลย เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญ ที่มีคำพูดง่าย ๆ ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจไม่ต้องไปแปล ไม่ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือใครก็ได้ที่ตีความ ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญอย่างนั้นจริง ๆ นะครับ มันจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ก็อยู่ที่สภาแห่งนี้ในการที่จะกำหนดบุคลากรที่จะขึ้นไปว่าจะไปอยู่ใน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นทำอย่างไร รัฐธรรมนูญของเราอาจจะไม่อ่านยาก เหมือนเก่า ตาสีตาสาก็อ่านได้ อ่านแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้นการที่เราพยายามที่ไปกำหนด สิ่งต่าง ๆ ตามที่ได้มานั้นไม่ใช่ว่าพวกเราทุกคนเป็นซูเปอร์แมน ไม่ใช่พวกเราเป็นผู้วิเศษอะไร ที่สามารถกำหนดอะไรได้หมดทุกอย่าง ต้องอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของประชาชน ในระดับล่าง เพราะฉะนั้นกระบวนการในการออกแบบกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้นะครับ ก็คือต้องทำให้ ในความคิดเห็นของผมผมคิดว่าต้องกระจายให้มากที่สุด แล้วยึดหลักเครื่องมือในการที่ทำงานไปสู่เบื้องล่างได้ โดยเฉพาะใน ๔ ภาค ซึ่งมาจาก ๗๗ จังหวัด ไม่ใช่พวกเราเห็นว่า ๗๗ จังหวัดมีความสำคัญนะครับ แต่กระบวนการในการ ทำงานตรงนี้มันจะถึงระดับล่างได้อย่างง่ายดายโดยมีสำนักงานเลขานุการซึ่งทางภาค ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ประสานงานเอาไว้แล้วก็จะทำให้การทำงานนั้นแน่นอนยิ่งขึ้นนะครับ แต่ว่าสิ่งที่กรรมาธิการได้เสนอมานั้น ยังไม่มีหลักประกันแน่นอนว่าตัวจักรต่าง ๆ เครื่องมือ ต่าง ๆ ที่เรากำลังออกแบบเพื่อให้การทำงานของเราง่ายขึ้นนั้นจะได้รับการเข้าไปอยู่ในจุด ที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นผมก็ฝากที่ประชุมแห่งนี้ว่าช่วยกันดูในตัวนี้ว่าทำอย่างไรเราถึงจะ ออกแบบตรงนี้ให้มันชัดเจนและเป็นไปตามที่เราต้องการ ขณะเดียวกันสามารถ ร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่ง่าย ๆ มีความต้องการตรงกับที่พี่น้องประชาชนต้องการ ขณะเดียวกันขจัดเรื่องความขัดแย้งต่าง ๆ ส่วนในเรื่องของผู้ที่อยากเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่านตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นอีกกี่คณะก็ได้นะครับ บุคคลภายนอก เชิญเข้ามาก็ได้ไม่จำเป็นที่จะต้องมาอยู่ในคณะกรรมาธิการที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญโดยตรงอันนี้ ผมก็คิดว่าคณะอนุกรรมาธิการต่าง ๆ ซึ่งผมมีประสบการณ์ในการที่เคย เข้าไปอยู่ในคณะต่าง ๆ นั้น ทำงานคู่ขนานไปได้ ตรงนี้ก็น่าจะทำให้สภาแห่งนี้ไม่ต้องมาเสียเวลา ในการที่เราจะต้องมาโหวตมาอะไรกันนะครับ แล้วก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญต้องการคือกระจาย ให้มากที่สุด ถึงพี่น้องประชาชนข้างล่างมากที่สุด สามารถเอาความต้องการของเขา กลับมาบอกสภาแห่งนี้ ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแห่งนี้ต่อไป เราถือหลักของเราว่าเห็นต่างได้แต่หัวใจตรงกัน คือให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศ และประเทศรุดหน้าไปข้างหน้าขจัดความขัดแย้งต่าง ๆ นะครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับทางกรรมาธิการนะครับ โดยเฉพาะทางท่านอาจารย์เสรี ขออภัยที่เอ่ยนามนะครับ เพราะว่าเปลี่ยนจากคัดค้าน เป็นไม่เห็นด้วย ผมกราบเรียนอย่างนี้ครับว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งมีบางท่านอาจจะให้ ความเห็นว่าเป็นสภาวิชาการ อันนี้ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไรว่าที่ผ่านมานั้น วิชาการอย่าลืมนะครับรัฐธรรมนูญ ๑๘ ฉบับแล้ว มีอีก ๑ ฉบับที่เราใช้อยู่ กำลังจะมี ฉบับที่ ๒๐ ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เขียนง่าย ๆ เพราะฉะนั้นสภาปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ไม่พ้นคำว่า สภาการเมือง ไปได้ แต่ลีลาในการปฏิบัติของเรานั้นไม่ควรไปใช้ลีลาของ ความเป็นการเมือง ควรจะเปิดบรรยากาศแบบสบาย ๆ อย่าลืมนะครับโลกใบนี้ ในทางวิชาการเองเขาก็บอกไว้ว่ามันมี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งคือทาซิท (Tacit) ด้านหนึ่งคือ เอ็กซ์พลีซิท (Explicit) เรื่องของความรู้กับเรื่องประสบการณ์ ผมไม่ใช่นักวิชาการครับ ผมมาจากบ้านนอก เพราะฉะนั้นผมมีประสบการณ์ สิ่งที่บางครั้งวิชาการไปไม่ถึง วิชาการออกแบบไว้อีกอย่างหนึ่ง แต่ทางปฏิบัติมีอีกแบบหนึ่ง บริบทของวิชาการส่วนใหญ่ เรารับจากตะวันตก แต่ของเราเป็นตะวันออก มันมีสิ่งที่ไม่รู้อีกเยอะครับ เพราะฉะนั้น สภา ๒ สภานี้ต้องเชื่อมกัน เพราะฉะนั้นมันจะมีทั้งเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ความเห็นด้วย ก็ว่ากันไป ความไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป อันนี้จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดีสำหรับข้อนี้ด้วยซ้ำไปว่า เปิดช่องให้ท่านประธานของผมทำงานง่ายขึ้น เพราะว่าท่านจะชี้ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยขึ้นมาพูด มันมีข้อบังคับรองรับ แต่ถ้ามันไม่มีข้อบังคับรองรับการชี้ไปนั้นอาจจะถูกตีความไปว่า เล่นพวกหรือเปล่า ไปเข้าข้างตรงนั้นตรงนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นตรงนี้วิธีการต่าง ๆ ในการที่จะหาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมเชื่อมั่นในความสามารถของท่านประธานที่จะหา ตรงนี้ออกมาได้ เพราะฉะนั้นเพื่อจะเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าด้วยกัน ๒ สภานี้เชื่อมกัน มันจำเป็นต้องมีข้อนี้ครับ ถึงแม้ว่าเราจะบัญญัติไว้เราต้องการความเรียบร้อยในสภาก็ตาม ผมคิดว่าไม่ถึงกับหักหาญกันเหมือนกับในภาพที่เราเคยเห็นของการประชุม ส.ส. หรือ ส.ว. เพราะฉะนั้นการประชุมสภาปฏิรูปเป็นเรื่องที่ต้องมีความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่แน่นอน แต่ทำอย่างไรจึงจะเป็นการบริหารจัดการ จริง ๆ แล้วในทางธุรกิจผม ผมไม่ต้องการเห็น ข้อบังคับต่าง ๆ ต้องการให้เป็นไปตามธรรมชาติดีที่สุด แต่มันเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะมนุษย์ มันมีกิเลสมีอะไรอยู่ในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นการมีข้อบังคับเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การกำหนดข้อบังคับตรงนี้ไว้ผมคิดว่าช่วยท่านประธานของผมได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ผมยังคิดว่าคงต้องดำรงไว้ในข้อ ๕๔ นี้นะครับ แต่แก้ไขอย่างที่อาจารย์เสรีได้กรุณาแก้ไขว่า เปลี่ยนจาก คัดค้าน เพราะมันแข็งเกิน เป็น ไม่เห็นด้วย และฝ่ายสนับสนุนครับ เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งพวกเราเองโดยเฉพาะในต่างจังหวัดผมไม่อยากใช้คำว่า ต่างจังหวัด มากนัก เพราะมีความรู้สึกกับพวกเราหลายท่านที่มองไปไม่ดีว่ามันจะเป็นการจังหวัดลิซึ่ม หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่จริง ๆ เรามีความจริงใจในตรงนี้ว่าเราจะนำความรู้ ตาสีตาสาบ้านนอก มาคุยกันในสภาว่ามันมีองค์ความรู้จากประสบการณ์ ซึ่งทางวิชาการอาจจะไปไม่ถึง เอามาพูดกันแล้วเกลี่ยกันตรงนี้ให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศนี้ เพราะฉะนั้นผมยืนยัน สนับสนุนในข้อ ๕๔ โดยแก้เป็น ไม่เห็นด้วย ตรงนี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมมี ๒ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ผมอยากจะให้ขอแก้ไขในข้อ ๘๐ วรรคสาม บรรทัดที่ ๓ หน้า ๑๕ เป็นข้อความดังต่อไปนี้นะครับ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติเป็นผู้เสนอเอง หรือจากคำแนะนำของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยพิจารณาจาก รายชื่อผู้สมัครหรือรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอการสรรหาเข้าเป็นสภาปฏิรูปนะครับ จากนั้นก็ต่อ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ เหตุผลก็คือว่าในข้อนี้เมื่อเปิดกว้างแล้วอย่าลืมนะครับ ถ้าเราดูจาก ๗,๐๐๐ กว่ารายที่สมัครเข้ามาหรือว่าได้รับการสรรหาเข้ามานั้นนะครับ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกเยอะนะครับ หรือในซีกของการเมืองซึ่งไม่ได้สมัครเข้ามา ขณะนี้ก็มีเสียงร่ำลือต่าง ๆ ออกมาว่า รัฐธรรมนูญออกมาเมื่อไรก็จะออกมาตามถนนอีกแล้ว เพราะว่าเขาไม่ได้รับการเข้าไปร่วมด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้ที่เสนอตรงนี้ก็เพื่อว่าเปิดทาง สำหรับกรรมาธิการที่มาจากบุคคลภายนอกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากแค่ผู้ได้รับการเสนอชื่อ หรือว่าสมัครเข้ามาเท่านั้น เพียงแต่ว่าเราพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก ๆ นะครับ ถ้าเปิดช่อง เอาไว้สำหรับว่าเสนอจากบุคคลที่อาจจะเกี่ยวกับการเมืองแต่ไม่ได้สมัครเข้ามา ไม่ได้รับ การเสนอชื่อสรรหาเข้ามาได้มีโอกาสเข้ามาในกรรมาธิการ ซึ่งเราไม่ได้ใช้ชื่อ วิสามัญแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นประเด็นตรงนี้ก็จะทำให้ ถ้าเขายังไม่เข้ามาอีกก็เป็นเรื่องที่ ช่วยไม่ได้แล้วนะครับ เพราะฉะนั้นก็ขอเสนอไปในประเด็นที่ ๑ ตามนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ผมติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ เดิมทีนั้นกรรมาธิการวิสามัญตอนนั้นเรียกวิสามัญ ในคณะที่ ๑๖ ใช้ชื่อว่า คณะกรรมาธิการ วิสามัญปฏิรูปการขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาได้แก้ไขคือตัดทิ้งไปเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการกีฬาและการท่องเที่ยว และหลังจากนั้นก็รู้สึกจะ ท่องเที่ยว หายไป เป็น การกีฬา ผมขอเรียกร้องให้เอากลับมาครับ เพราะว่ากรรมาธิการนั้น วิสามัญเราตัดไปแล้ว ปฏิรูปในเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น เป็นเรื่องสำคัญและเป็น ๑ ใน ๑๐ ด้าน เป็นด้านที่ ๑๐ ของ คสช. ซึ่งประกาศเป็นนโยบาย ออกมาแต่หลังจากนั้นแล้วหายไป เมื่อหายไปแล้วอย่าลืมนะครับความเหลื่อมล้ำเป็นต้นเหตุ ของปัญหาการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ มีการวิจัยเอาไว้เมื่อปี ๒๕๒๙ ความเหลื่อมล้ำ ๑๐ เปอร์เซ็นต์รวยสุด กับ ๑๐ เปอร์เซ็นต์จนสุด ล่าสุดนี่นะครับ ความเหลื่อมล้ำทางด้าน รายได้ คือความเหลื่อมล้ำมีหลายด้าน ความเหลื่อมล้ำในด้านสิทธิ ในเรื่องของการเข้าสู่ อำนาจ หรือการใช้อำนาจอะไรต่าง ๆ มีอีกเยอะแยะ แต่ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ ปี ๒๕๒๙ ต่างกันอยู่ ๒๐ เท่า ปี ๒๕๕๔ เขาวิจัยใหม่ ความเหลื่อมล้ำ ๑๐ เปอร์เซ็นต์บน กับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ล่าง ห่างกันเพิ่มเป็น ๒๑ เท่า มันหมายความว่าอย่างไรครับ หมายความว่าการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของเรานี้มันผิดพลาด หรือเปล่า มันมีปัญหาหรือเปล่า ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงในปัจจุบันนี้ไม่ได้รับการแก้ไข เราจะชี้นิ้วไปที่ผู้ที่ขายเสียงว่าคุณนี่ไม่รักชาติเลย คุณขายเสียงคุณทำไม เลือกนักการเมือง อะไรก็ไม่รู้เข้ามาอยู่ในสภาแล้วก็เกิดปัญหานะครับ แต่เขายังยากจนอยู่เขาไม่มีจะกิน บ้านเขามีอยู่ ๖ คน ๖ ๕ ๓๐ ก็คือ ๓,๐๐๐ มันอยู่ไม่ได้เป็นเดือนละครับ เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอของสิ่งที่เราจะต้องปฏิรูป ท่านไปออกกฎหมายดี ๆ ท่านไปมี อุตสาหกรรมที่ดี เกษตรที่ดีอะไรก็แล้วแต่ แต่รายได้ของคนระดับล่างยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ ปัญหาการเมืองก็ยังอยู่ครับ ยังวนอยู่แค่นี้ อนาคตข้างหน้าอีกไม่กี่ปีก็อาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้ ขึ้นมาอีก แต่คนที่จะมานั่งในสภานี้อาจจะไม่ใช่พวกเราก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องของ การปฏิรูปเป็นเรื่องของสิ่งที่มันผิดปกติ สภาของเราเป็นสภาที่มีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เราต้องทำหน้าที่ก่อน ผมเข้าใจครับทุกด้าน ผมอยู่ในภาคธุรกิจ ปัญหาในเรื่องของ การท่องเที่ยวเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่สภานี้จะต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เรามีเวลาแค่ ๓๑๙ วัน ตอนนี้หักไปไม่รู้กี่วันแล้วลดลงไปเรื่อย ๆ เราไม่ใช่เข้ามา เพื่อบริหารประเทศชาติ เราไม่ได้เข้ามาเพื่อจะแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดภายในปีเดียว มันเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำในขณะนี้คืออะไรสำคัญก่อนหลัง ความเหลื่อมล้ำนั้นมันมีหลายเรื่องครับ ความเหลื่อมล้ำในขณะนี้มันมียุทธศาสตร์ชาวนา ที่เกิดขึ้นมาจากภาคเอกชนจากภาคต่าง ๆ เพราะอะไร เพราะ ๓.๗ ล้านครัวเรือนตอนนี้เป็น หนังตัวอย่างที่ดีที่สุด ถ้าใน ๓.๗ ล้านครัวเรือน คนประมาณ ๑๗ ล้านคน ๑๒ ล้านคนยังจนอยู่ นอกเหนือจากนั้นอาจจะกลาง ๆ แล้วก็รวยนะครับ ถ้าเราทำให้คน ๑๒ ล้านคนจากจนเป็น ฐานะปานกลางเท่านั้นเอง สิ่งต่าง ๆ ที่เราจะปฏิรูปในด้านต่าง ๆ มันเริ่มเป็นเหตุเป็นผลแล้วครับ เพราะฉะนั้นผมยังเห็นความสำคัญของกรรมาธิการลดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ และสังคม ยังอยากให้คงอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ท่านจะไปคิดเรื่องการกีฬาสำคัญไหม สำคัญครับ เรื่องท่องเที่ยวสำคัญไหม สำคัญครับ รายได้เป็นอันดับ ๒ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า เราอยากจะทำให้รายได้ในส่วนของข้างบนเพิ่มขึ้นหรือครับ ในขณะที่รายได้ของคนส่วนล่าง ยังแย่อยู่ แล้วอย่างนี้เราจะใช้คำว่า สมาชิกสภาปฏิรูป ได้เต็มรูปแบบหรือครับ ขออนุญาตฝากไว้ ๒ ประเด็นครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม