กราบเรียนท่านประธานครับ ผม พลโท นาวิน ๑๐๙ ก็มีข้อสงสัยอยู่นิดหนึ่งนะครับ เพราะว่าในที่วิปชั่วคราวเสนอมามันมี ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่ง ก็คือ ๑๕ บวก ๕ หรือเรากำลังจะดูว่าคือ ๒๐ ๐ แต่อีกอันหนึ่งในนั้นก็คือที่มาของ ๑๕ ที่กำหนดไว้ในวรรคสองนะครับว่า ๑๕ คนเลือกมาก่อน แล้วก็หาคนเพิ่มเติม แล้วก็มาเลือก กันใหม่ภายในสภาตรงนี้ ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญเช่นกันนะครับ ก็ขออนุญาต คิดว่าคงจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราจะต้องลงคะแนนความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ตามการแบ่งด้าน ตามเจตนารมณ์นี่นะครับ เรามี ๑๑ ด้านอยู่แล้ว แล้วเรามีสิ่งที่มีความจำเป็นก็คือ ความเชื่อมโยง เชื่อมโยงระหว่างประชาชนมาสู่ สปช. เชื่อมโยงระหว่าง สปช. ไปสู่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนะครับ เพราะฉะนั้นในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็น ๑ คนที่มีกระบอกเสียงจาก ๑๑ ด้าน และ ๔ พื้นที่ ๑๕ คน ผมยังขออยากจะให้ ชัดเจนนะครับว่า ๑๕ คนที่เลือกมาแล้วจาก ๑๑ ด้าน กับอีก ๔ พื้นที่เป็นตัวล็อก (Lock) ไปเลยจบ ไม่มีการย้ายออกนะครับ ลงตัวไปแล้ว ๑๕ แล้วถ้าจะแข่งใหม่ก็คือแข่งอีก ๕ เท่านั้น ซึ่ง ๕ เท่านั้นอาจจะมาจากด้านอื่น ๆ หรือด้านที่มีผู้ประสงค์จะเข้าร่วม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า ๑ จากด้านนั้น ๆ หรืออาจจะมาจาก วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นกรรมาธิการที่ตั้งใหม่ หรืออะไรอื่น ๆ นะครับ แต่ประเด็นผม ก็คือ ๑๕ จบไปเลย และอีก ๕ ว่ากันอีกทีครับ
กราบเรียนท่านประธานและสมาชิกทุกท่าน ผม พลโท นาวิน ดำริกาญจน์ ยังเป็นทหารอยู่ ใช้ชีวิตในต่างประเทศมาประมาณ ๒๒ ปี ผมโตที่ประเทศอังกฤษจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วก็เข้าเรียนที่เตรียมทหารโรงเรียน นายร้อย จปร. ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไรซ์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เพ็นซิลวาเนีย แล้วก็ที่นอร์ธ เวสเทิร์น ยูนิเวอร์ซิตี้ ด้านเคมีคอล เอ็นจิเนียร์ (Chemical Engineer) ทั้งหมด ได้มาเป็นอาจารย์โรงเรียน นายร้อย จปร. ได้กลับไปประเทศสหรัฐอเมริกาไปเป็นรองผู้ช่วยทูตที่วอชิงตัน ดี.ซี. แล้วก็ เป็นทูตทหารที่ปักกิ่ง ก็ได้ใช้ชีวิตและได้สั่งสมประสบการณ์จากต่างประเทศมาพอสมควร สำหรับชีวิตนายพล ส่วนมากผมก็ใช้อยู่กับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่ประมาณ ๕ ปี ได้ไปเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี แล้วก็รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม แล้วก็ เป็นอนุกรรมการในเรื่องการปรับปรุงระบบราชการของ ก.พ.ร. ด้านความมั่นคงด้วย ก็คงจะเรียนว่า ในเรื่องของรัฐธรรมนูญก็คงคิดไม่ต่างกันว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือรัฐธรรมนูญที่จะมอบให้กับ ลูกหลาน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่จะแก้ปัญหาชั่วคราวใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องมีวิสัยทัศน์ว่า อีก ๒๐ ปีจะส่งประเทศไทยรูปแบบไหนให้กับลูกหลานครับ คงไม่แตกต่างไปกว่าท่านอื่น ๆ ในเรื่องว่าเราจะต้องเข้าไปแก้ ลดความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชันนะครับ สร้างความเป็นธรรม สร้างความเสมอภาค แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือว่า ความมั่นคงและความมั่งคั่ง ต้องไปด้วยกันนะครับ เมื่อเราต้องการอย่างนี้เราจะต้องวางแผนระยะยาว อยากเห็นว่า รัฐธรรมนูญเรานี้จะมีกลไกใดสักกลไกหนึ่งที่จะสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ของชาติ ระยะยาวให้ได้แล้วก็ยั่งยืนครับ ไม่ใช่เปลี่ยนทุกรัฐบาล ขอบคุณมากครับ