ท่านประธานครับ กระผม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมาธิการ ขออนุญาตชี้แจงในนามคณะกรรมาธิการว่า เหตุที่ คณะกรรมาธิการมีดำริให้เสนอต่อสภาแห่งนี้ เพื่อที่จะให้มีท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้านต่าง ๆ ด้านละ ๑ ท่าน เป็น ๑๑ ท่าน แล้วก็ ๔ ภาค ภาคละ ๑ ท่าน เป็น ๑๕ ท่าน ส่วนอีก ๕ คนที่เหลือนั้น คณะกรรมาธิการเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ปี ๒๕๔๙ มาจนถึงวันนี้เกือบ ๑๐ ปีแล้ว มีคู่กรณีมากมาย มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วก็รัฐธรรมนูญนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นกติกา ของผู้ชนะที่เขียนขึ้นเพื่อเล่นงานผู้แพ้ จะจริงหรือไม่จริงกระผมไม่ขอออกความเห็น ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่จะสิ้นสุดหรือไม่ก็อยู่ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญและ การกระทำการปฏิรูปครั้งนี้ครับ ท่านประธานครับ ท่านสมาชิกทุกท่านมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว อยู่ในมือ ถ้าท่านจะเปิดดูในคำปรารภหลายที่พูดถึงการที่จะต้องฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคีและความเป็นธรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จัดตั้งสภาปฏิรูป แห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ ในหน้า ๘ พูดไว้ชัดครับว่า จำเป็นต้องใช้เวลาสร้างบรรยากาศ แห่งความสงบเรียบร้อยและปรองดอง เพื่อนำความสุขที่สูญหายไปกลับคืนสู่ประชาชนและ ปฏิรูปกฎเกณฑ์บางเรื่องที่เคยเป็นชนวนความขัดแย้ง ไม่ชัดเจน ไร้ทางออกในยามวิกฤติ ขาดประสิทธิภาพหรือไม่เป็นธรรม ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการชนในชาติ ตรงนี้เองคือการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของการยึดอำนาจของการมีสภาปฏิรูป แห่งชาติ แล้วก็ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่นี้ต้องการที่จะให้ยุติปัญหา ของบ้านเมืองที่เรื้อรังมาเป็นเวลา ๑๐ ปี มีคู่ขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ไม่ยาก คณะกรรมาธิการ กิจการ สปช. (ชั่วคราว) จึงมีความเห็นว่า ถ้าไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเอกสาร ที่ถูกตราว่าเป็นกติกาของผู้ชนะ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยซ้ำไป ก็มีทางเดียวเท่านั้นละครับท่านประธานครับ คือต้องเปิดโอกาสให้ผู้ขัดแย้งเข้ามาเป็นผู้ร่วม ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียด้วย แต่การเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องไม่มาเป็นเสียงข้างมาก การร่วม มันร่วมได้หลายระดับครับท่านประธานครับ ร่วมระดับง่ายที่สุดก็คือไปรับฟังความเห็นของ พรรคการเมือง ๓ พรรคที่ไม่ได้เข้ามาร่วม วันนี้พรรคอื่น พรรคเพื่อแผ่นดินก็มีคนเข้ามา พรรคภูมิใจไทยก็มีคนเข้ามา หลายพรรคก็มีเข้ามา แต่ว่า ๓ พรรคใหญ่ที่ไม่เข้ามาคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา จะละเลยไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลในอดีตคือกลุ่ม กปปส. ก็เป็นคู่ขัดแย้ง นปช. ก็เป็นคู่ขัดแย้ง ถ้าเราจะทำ ให้รัฐธรรมนูญนี้มีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ระดับเพียงรับฟัง ก็คือต้องยื่นมือไปให้ เขาเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่ส่วนร่วมในฐานะเสียงข้างมากที่จะครอบงำนำชัก การร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่เป็นส่วนร่วมที่เขาจะปฏิเสธไม่ได้ว่าบัดนี้สภาแห่งนี้เป็นสภาที่ไม่มี พรรคการเมืองหนุนหลังอยู่ เป็นสภาที่ไม่มีพวก เป็นสภาที่ต้องการระงับความขัดแย้ง ต้องการสร้างข้อยุติให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ได้ยื่นมือไปขอให้เขาส่งมา ท่านสมาชิกถามว่า แล้วไปขอใครให้ส่งมา กรรมาธิการก็บอกว่าต้องขอไปที่หัวหน้าเขาครับ เราจะไปเที่ยวขอคน ที่หัวหน้าเขาไม่ส่งมาไม่ได้ ถ้าจะขอคนก็ต้องขอไปที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้า พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ประธานของกลุ่ม กปปส. ประธานของกลุ่ม นปช. ส่วนเมื่อเรายื่นมือไปแล้วขอสัมผัสมือ ท่านไม่รับสัมผัสท่านชักมือกลับ เรายกมือไหว้แล้ว ท่านไม่รับไหว้ ไม่เป็นไรครับ นั่นคือการแสดงน้ำใจไมตรีแล้วว่าสภาแห่งนี้ไม่ต้องการ เขียนกติกาของผู้ชนะไปเล่นงานผู้แพ้ สภาแห่งนี้ต้องการความปรองดอง ความสมานฉันท์ และใจกว้างพอที่จะให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนร่วมที่สำคัญในการตัดสินใจ แต่ไม่ใช่ ส่วนร่วมที่ครอบงำนำชัก คือเป็น ๕ เสียงใน ๓๖ เสียงเท่านั้น และกระผมจะขอกราบเรียน ท่านประธานที่เคารพนะครับว่า ถ้าดูในอดีตเมื่อปี ๒๕๔๙ รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นกรรมาธิการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำร่างเสร็จต้องมาเสนอสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิก ๑๐๐ คน มีสิทธิแปรญัตติได้ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เขาไม่ได้ออกแบบให้กรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญเป็นกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเขาไม่ได้ออกแบบให้สภาปฏิรูป แห่งชาติเท่านั้นที่จะเป็นผู้ลิขิตว่ารัฐธรรมนูญควรจะมีเนื้อความอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เขาให้โอกาส สภาแห่งนี้ส่งคนที่สภาเห็นสมควรจะเป็นสมาชิกหรือไม่ใช่สมาชิกก็ได้เข้าไป ๒๐ คน แต่เขาก็ให้ ครม. ส่งมา ๕ คน เขาก็ให้ สนช. ส่งมา ๕ คน เขาก็ให้ คสช. ส่งมา ๕ คน พร้อมทั้งประธาน อีก ๑ คน และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเขาไม่ได้บอกนะครับว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องฟังแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ถ้าเปิดรัฐธรรมนูญดูในมาตรา ๓๔ วรรคสอง ท่านสมาชิก เมตตาช่วยเปิดตามด้วยนะครับ เขาบอกว่าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๓๑ (๒) ความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และความเห็นของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย ก็แปลว่าเขาให้ความสำคัญกับ สปช. ในฐานะที่จะเป็นคนให้ข้อคิดชั้นต้น ๖๐ วัน แล้วก็พอร่างเสร็จให้มาเสนอ สปช. แต่ท้ายที่สุดเขาก็บอกว่า คนทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่มีแต่สมาชิก สปช. นะครับ ท่านเปิดไปดูมาตรา ๓๖ วรรคสาม สิครับ เขาบอกว่า ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย และคณะรัฐมนตรี หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเป็นอันว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว เขาต้องการระดมทุกภาคส่วนในสังคม ทุกองค์กรในสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุดังนี้ท่านประธานที่เคารพครับ กรรมาธิการด้วยคะแนนเสียง ข้างมาก ๑๑ ต่อ ๘ จึงเห็นว่าการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเปิดใจกว้างนำคู่ขัดแย้งเข้ามาสู่ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ไม่ใช่ผู้รับเหมามาเขียนสเปก (Spec) ในลักษณะ ที่ไม่ใช่เอาคนเหล่านั้นมาครอบงำกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเพราะเข้ามาแค่ ๕ มันจะทำให้เกิดการยอมรับกันขึ้น เมื่อเกิดการยอมรับกันขึ้นแล้วมันก็จะเป็นประโยชน์ ต่อการปรองดอง ในทางกลับกันท่านประธานครับ ถ้า ๕ กลุ่มนั้นเขาไม่ยอมเข้ามา ในโอกาส ต่อไปที่เขาจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเขียนโดยผู้ชนะ ไม่เปิดโอกาสให้เขา เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ประชาชนก็จะได้เห็นข้อเท็จจริงว่าอะไรคืออะไร ด้วยเหตุดังนี้ครับ คณะกรรมาธิการจึงเสนอมาให้สภาแห่งนี้วินิจฉัย ขออนุญาตกราบเรียนนะครับว่า คณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) ทราบดีว่าพวกเราเป็นคณะทำงานของท่าน ท่านตัดสินใจอย่างไรเราทำตามท่านครับ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านได้ทราบเหตุผลดังที่ผมได้ ประทานกราบเรียนไปแล้ว ท่านจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) รับได้ทั้งสิ้น เพราะเราเป็นคณะทำงานของท่านครับ กราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานครับ กระผม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะกรรมาธิการ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ กำหนดให้ท่านประธานสภาแต่งตั้งผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คน แปลว่า โควตามีไม่ได้ครับ ท่านประธานครับ จะอย่างไรเสียสภาแห่งนี้ต้องลงมติเสนอครับ เพียงแต่ว่าอาจจะเติมนิดหน่อยเท่านั้นว่า โดยคำนึงถึงว่าด้านต่าง ๆ เขามีฉันทามติอย่างนี้ แล้วก็กราบเรียนท่านประธานครับว่าได้เถียงกันแล้วในกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) ว่า จะไปตัดสิทธิสมาชิกเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นกระผมเองว่าถ้าเราถือเป็นโควตาเด็ดขาดเลย จะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างที่คุณหมอชูชัยท่านพูดนะครับ
กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม บวรศักดิ์ ในฐานะกรรมาธิการนะครับ ต้องขอชื่นชมท่าน พลเอก เลิศรัตน์ ในฐานะ ประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมเป็นอันมากที่ใจกว้างให้ท่านสมาชิกที่ไปเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถเป็นกรรมาธิการ ๑ ชุดได้ของสภา แต่ด้วย ความเคารพต่อท่านผู้อาวุโส กระผมคิดว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องทำงาน หามรุ่งหามค่ำ อาจจะต้อง ๗ วัน ถ้าหากว่าจะเมตตาให้คนที่มาทำงานเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ แล้วเข้าประชุมได้ในบางโอกาส ก็จะเป็น พระเดชพระคุณล้นเหลือแล้วละครับ แต่ถ้าให้ไปเป็นกรรมาธิการเองจะมีปัญหาทั้ง ๒ ด้าน คือเวลาขาดจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี่เราก็ไม่รู้ว่าไปประชุมคณะกรรมาธิการ ของสภาจริงหรือเปล่า ท่านก็อ้างว่าอย่างนั้นนะครับ แต่ขาดจากคณะกรรมาธิการของสภา เขาก็คงเดาว่าไปประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่พอถามมาที่ชุด ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มี เพราะฉะนั้นองค์ประชุมจะมีปัญหานะครับ ผมจึงกราบเรียนว่า ถ้าจะเมตตาเขียนที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่นับเป็นองค์ประชุมอย่างนี้ ถึงจะเหมาะสม แล้วก็ไปเข้าประชุมในเรื่องที่มีความจำเป็น มีความสำคัญ แล้วความจริง ท่านประธานที่เคารพก็ทราบแล้วว่าท่าน พลเอก เลิศรัตน์กำลังร่างคณะกรรมาธิการติดตาม และประสานงานการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย ชุดนั้นนะครับจะเป็นชุดใหญ่เลยที่จะคอย ประสานกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่าง กระผมจึงกราบเรียนเสนอ ให้ทบทวนเถอะครับ เพราะไม่อย่างนั้นท่านสมาชิกก็จะทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ทั้ง ๒ ด้าน ถ้าหากว่าเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ไม่นับองค์ประชุมนี่ท่านอยากไปก็ไป ไม่อย่างนั้นจะขาด ทั้ง ๒ ที่ครับ แล้วขาดทีหนึ่ง ๒๐ คนนี่มันไม่เป็นองค์ประชุมนะครับ คณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญประชุมไม่ได้นะครับ ขอบพระคุณมากครับ