ข้อมูลการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ปี 2557
ครั้งที่ 3/2557 วันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2557 เวลา 14.15 - 16.14 น.
เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกที่เคารพครับ บัดนี้มีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขณะนี้ จำนวน ๒๐๖ ท่าน ครบองค์ประชุมแล้ว ผมขอดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ไม่มี
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ รับรองรายงานการประชุม ยังไม่มีนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องกระทู้ถาม ไม่มี
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ครับผม
ท่านประธานครับ ผม ชูชาติ อินสว่าง สมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ๖๗ จากจังหวัดสุพรรณบุรีครับ ผมขออนุญาตเรียนหารือท่านประธาน ด้วยความเคารพนะครับ เนื่องจากว่าเราเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติใหม่กันหลายท่านนะครับ ผมเป็นห่วงเรื่องเวลาการเข้าประชุม วันแรกเมื่อวันที่ ๒๑ เรานัดประชุม ๐๙.๓๐ นาฬิกา กว่าจะเริ่มได้ก็ ๑๐.๐๐ นาฬิกากว่า วันที่ ๒ นัด ๑๐.๐๐ นาฬิกา กว่าจะเริ่มได้ ๑๑.๐๕ นาฬิกา วันนี้นัดประชุมเวลาบ่ายโมงเลื่อนเป็นบ่ายสองโมง กว่าจะประชุมได้ บ่าย ๒ โมง ๑๒ นาที เวลารับประทานอาหาร เวลากดกริ่งเรียกไม่เป็นไปตามเวลานัดหมาย ผมเกรงว่าเวลาจะเป็นตัวชี้นำในเรื่องของการปฏิรูปอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกันครับ อย่าให้เป็น แบบเดิม ๆ เลยครับ ขอบพระคุณอย่างสูงครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เราจะดำเนินการนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะพิจารณาที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เชิญครับท่านชาลี
กราบเรียนท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เคารพ กระผม นายชาลี เจริญสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าโรงเรียน เบญจมราชรังสฤษฎิ์ รุ่น ๘๙ จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ผมกราบเรียนท่านประธานในเรื่องของ อยากจะยื่นเสนอเรื่องกระทู้ถามสด เพราะว่าวันนี้เรากำลังทำหน้าที่ใหญ่ในเรื่องของการที่จะ ร่างรัฐธรรมนูญในการที่จะหาตัวกรรมาธิการ ฉะนั้นพี่น้องประชาชนก็กำลังติดตามพวกเรา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งผมในฐานะที่เป็น สปช. จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อเช้าผมได้ไป ติดต่อฝ่ายกฎหมายว่าผมจะขอยื่นกระทู้ถามสดได้ไหม เพราะมีเรื่องเร่งด่วนที่เราจะรอ เรื่องของการปฏิรูปคงจะไม่ทันกาล ฉะนั้นอาศัยตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๔๘ มาตรา ก็มีเปิดโอกาสให้ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติของเราได้เสนอเรื่องราวที่เป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่แล้ว ผมก็เลยขออนุญาตท่านประธานที่เคารพครับ เสนอเรื่องเร่งด่วนครับ เรื่องเกี่ยวกับการขาย ลอตเตอรี่ ในขณะนี้พี่น้องประชาชนแล้วรวมทั้งผมด้วย ผมมีหลักฐานไว้ด้วยนะครับ ผมซื้อ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
อย่าเพิ่งเสนอได้ไหมครับ เอาประเด็นเสียก่อน
ประเด็นก็คือ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ว่ากระทู้ถามสด
กระทู้ถามสดเรื่องการขาย
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขณะนี้จะรับแล้ว ควรจะนำมาสู่การพิจารณาหรือไม่เสียก่อน
ประเด็นก็คือว่าการขายลอตเตอรี่เกินราคาทั้งประเทศ อยากจะนำเสนอว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในเรื่องของการบริหาร ราชการแผ่นดินว่ารัฐบาลเรานี่
ครับ ก็ด้วยความเคารพท่านประธานครับ ถ้าติดขัด เรื่องของเงื่อนไขในเรื่องของเวลานะครับ ในเรื่องของการหาตัวกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ผมเองเมื่อวานนี้ได้ทราบจากท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านหนึ่งพูดว่าพี่น้องประชาชนกำลังเฝ้าติดตามเรา แต่ว่าผมได้มีโอกาสขึ้นมาพูดผมก็ อยากจะเรียนท่านประธานผ่านไปยังพี่น้องประชาชนว่าต้องใจเย็น ๆ นิดหนึ่งครับ เพราะว่า ในช่วงนี้เป็นการที่เราจะสรรหาคนที่จะมาทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของการเขียนรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นอยู่ปุบปับพี่น้องประชาชนกำลังเฝ้ามองว่าจะเขียนอะไรในรัฐธรรมนูญ กำลังลุ้นว่าสิ่งที่ เขาต้องการจะถูกเสนอหรือไม่ ฉะนั้นเปรียบเสมือนว่าวันนี้เรากำลังทำหน้าที่ใหญ่คือ พุท เดอะ ไรท์ แมน ออน เดอะ ไรท์ จ็อบ (Put the right man on the right job) ก็คือ หาบุคคลที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ตรงนี้ แต่พี่น้องประชาชนก็ใจร้อนก็เลยมี กระแสกลับมานะครับ ฉะนั้นก็ขออนุญาตว่าถ้าวันนี้ยังไม่สามารถยื่นกระทู้ถามสดได้ ผมก็ขออนุญาตถอนแล้วก็จะได้ดำเนินการประชุมต่อไป ขอบคุณท่านประธานที่เคารพครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ แล้วเราค่อยพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีหนึ่งนะครับ ฉะนั้นขอไปตามวาระที่จัดไว้ว่าเราจะดูเรื่อง รายงานความคืบหน้าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ เราได้พิจารณาแนวทางการสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คน เมื่อเลขานุการของคณะกรรมาธิการแถลงรายงาน แล้วสมาชิกได้อภิปราย กรรมาธิการตอบข้อชี้แจงพอได้เวลาอันสมควรแล้ว ที่ประชุมเมื่อวานนี้ ได้มีมติเห็นชอบให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อจากนั้นที่ประชุมก็ได้พิจารณาถึงที่มาของแนวทางการสรรหาของกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวางมาก และในที่สุดที่ประชุม ก็มอบหมายให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ไปหาแนวทาง การคัดเลือกแล้วนำกลับมาพิจารณาในวันนี้ ดังนั้นผมขออนุญาตดำเนินการต่อจาก เมื่อวานนี้เลยนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ฉะนั้นในชั้นต้นขออนุญาตเรียนเชิญคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เข้าประจำที่ด้วยครับ เชิญท่านกรรมาธิการครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ท่านกรรมาธิการได้เข้า ประจำที่แล้ว ขออนุญาตที่ประชุมให้กรรมาธิการได้แถลงความเห็นของกรรมาธิการครับ เชิญท่านเลขานุการคณะกรรมาธิการครับ
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ใคร่ขอโอกาสนี้รายงานถึง ผลของการประชุมของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ครั้งที่ ๒ ดังต่อไปนี้ ในการประชุมครั้งที่ ๒ เมื่อเช้าวันนี้คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญในสัดส่วนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๒๐ คน ดังนี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
๑. บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็น ผู้มีความสามารถ มีความเหมาะสม มีความสมัครใจ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยต้องกรอก ใบสมัครด้วยตัวเอง
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
๒. สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละด้านทั้ง ๑๑ ด้าน และแต่ละภาค ทั้ง ๔ ภาค อาจพิจารณาเสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามด้านละ ๑ คน หรือมากกว่า ๑ คน หรืออาจไม่เสนอชื่อสมาชิกท่านใดเลยก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีความประสงค์จะสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับ การเสนอชื่อจากด้านต่าง ๆ สามารถสมัครขอรับการเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เอง โดยต้องดำเนินการสมัครให้แล้วเสร็จภายในวันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา โดยยื่นใบสมัครที่หน้าห้องประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
๓. ให้ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเลือกบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ หรือสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐ คน จากรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ หรือสมัคร โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสามารถเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ไม่เกิน ๒๐ คน และสมาชิกผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่ ๑-๒๐ จะเป็นผู้ได้รับการสรรหา จากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีการลงคะแนนเลือก มากกว่า ๒๐ คน ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
๔. ในบัตรลงคะแนนให้ระบุรายชื่อสมาชิกผู้กรอกใบสมัคร พร้อมระบุที่มา (ด้านหรือภาค) ของสมาชิกผู้นั้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะดำรงตำแหน่ง เป็นกรรมาธิการในคณะอื่นใดของสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกไม่ได้ จนกว่าการดำเนินการยกร่าง รัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว และเพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน ๒ ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผมจะเปิดให้สมาชิก อภิปรายแสดงความเห็นนะครับ แล้วเดี๋ยวกรรมาธิการอาจจะได้ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติม ผมมีลำดับชื่ออยู่ตรงนี้ด้วย เพราะมีกลุ่มและภาคส่งรายชื่อเป็นคิวเข้ามาก่อน แต่ว่าเดี๋ยวผม เห็นท่านยกมือ ท่านยกมือใช่ไหมครับ ท่านไพโรจน์ พรหมสาส์น เชิญครับ
ท่านประธานและท่านสมาชิกทุกท่านครับ กระผม ไพโรจน์ พรหมสาส์น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่นนะครับ ก่อนที่เราจะพิจารณาข้อพิจารณาของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) กระผมขอกราบเรียนเบื้องต้นว่า โดยที่กระผมเองนั้นเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ แล้วก็เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยนะครับ ก็อยากจะกราบเรียนว่า สิ่งที่เรากำลังจะปฏิบัติจัดทำร่วมกันนี้เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดนะครับ ที่ว่าเราจะต้องทำ ให้สำเร็จตามเป้าหมายหรือตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยลักษณะโครงสร้างของรัฐธรรมนูญนั้น เขาจะมีประเด็นหลัก ๆ ที่จะต้องเอาไปเขียนหรือไปพูดไปทำกันในคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งหมดนะครับ เรื่องหลัก ๆ ก็คือในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทย เรื่องรูปแบบของรัฐสภา เรื่องของคณะรัฐมนตรี แล้วก็กระบวนการยุติธรรม แถมท้ายอาจจะเป็นการปกครองท้องถิ่น เพราะฉะนั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๓๖ คนนี้ เวลาเราประชุมกันเราจะแบ่งกันเป็นอนุกรรมาธิการหรือกรอบด้านต่าง ๆ ก่อนที่ผมจะไปถึงสิ่งที่ท่านกรรมาธิการเสนอนะครับ เพื่อที่เราจะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น เราควรจะได้รู้เสียก่อนว่าจะไปทำอะไรนะครับ ซึ่งบางท่านก็อาจจะรู้ว่าอยู่ในนี้ประมาณ ๑๐ คนนะครับ ก็คงจะกรอบด้านต่าง ๆ คราวที่แล้วมีเพียง ๓ กรอบนะครับ คือ สิทธิเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทย แล้วก็เรื่องการเมืองการปกครอง แล้วก็กระบวนการยุติธรรม แต่คราวนี้ เนื่องจากเวลาจำกัดมากนะครับ เราต้องร่างให้เสร็จภายใน ๑๒๐ วัน เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องมีอย่างน้อย ๔-๕ กรอบ เพราะฉะนั้นท่านที่ไม่สามารถจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของเรา ๒๐ คน ก็ยังจะไปอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการแต่ละด้าน เพื่อที่จะช่วยกันทำงานเชื่อมโยงกับทางสภาและคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของเราที่จะส่ง ความคิดเห็นไป ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องหลัก ๆ นะครับ เพราะฉะนั้นก็อยากจะกราบเรียนว่า สิ่งที่เราต้องทำโดยเร่งด่วนนั้น ก็คือการที่จะทำอย่างไรนอกเหนือจากเราเลือกสรร กรรมาธิการในสัดส่วนของเรา ๒๐ คนที่จะไปอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็คือจะต้องหาทางที่จะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จากทุกภาคส่วนให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้ นั่นคือต้องตั้งคณะกรรมาธิการฝ่ายรับฟังความคิดเห็นขึ้นมาทันทีเลยครับ คงรอนานไม่ได้พร้อมคณะอื่น เพื่อที่จะรับฟังในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อที่จะได้ ทำงานนั้นเลย เพราะว่าเรามีเวลาเพียง ๖๐ วัน ไม่ถึงด้วยซ้ำไปที่จะต้องเสนอแนะสิ่งที่จะไป บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นภายในวันที่ ๑๙ ธันวาคม เดือนเศษ ๆ เท่านั้นเองนะครับ อันนี้เป็นประการแรกที่ผมอยากจะนำเรียนที่ประชุม เพราะฉะนั้นวันนี้เราน่าที่จะได้ตกลงกัน ว่าน่าจะได้สมาชิกจากสัดส่วนของเราทั้ง ๒๐ คน ตามที่คณะกรรมาธิการประสานงานได้ไปทำการบ้าน และเสนอเรามานั้น ส่วนใหญ่ผมก็เห็นด้วยนะครับว่าเมื่อวานเราตกลงกันแล้วว่าไม่เสนอ เป็นภาค เป็นแต่ละด้าน แต่ว่ายังให้เสนอหรือจะเสนอก็ได้นะครับ แล้วเราในแต่ละกลุ่ม เมื่อตอนบ่ายโมงเราก็ไปประชุมกันแล้วก็มีเสนอบ้างไม่เสนอบ้างก็สุดแล้วแต่ แต่ว่าให้ สามารถแสดงความจำนงที่จะสมัครตรงได้ ก็มีอยู่ประเด็นเดียวว่าเมื่อสมัครไปแล้ว ทำบัญชี รายชื่อแล้ว ตอนก่อนที่จะโหวตกันลงคะแนน ในนี้อาจจะไม่ได้เขียนไว้เพิ่มเติม ผมก็อยากจะ เพิ่มเติมว่าน่าจะเปิดโอกาสให้แสดงตนนะครับ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เป็นใครมาจากไหน เห็นรูปร่างหน้าตาหน่อย ก่อนที่เราจะเลือกจากที่สมัคร ๓๐-๔๐ คน เหลือเพียง ๒๐ คนนะครับ
อีกประการหนึ่ง ก็คือที่บอกว่าไม่ให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกไปเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสังกัดไปอยู่ในคณะกรรมาธิการคณะอื่น ผมว่าออกจะแข็งไป นิดหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะขอไว้สักหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็จากด้านที่เขา อย่างผมอยู่ การปกครองท้องถิ่นถ้าสมมุติผมได้เป็นผมจะได้มาเชื่อมโยงกับคณะกรรมาธิการทางด้าน ท้องถิ่น หรือด้านเศรษฐกิจ หรือด้านไหนก็แล้วแต่ ก็คงไม่เสียหายอะไรนะครับ นี่เป็น ความคิดเห็นที่ว่าส่วนใหญ่เราก็เห็นด้วยกับท่านกรรมาธิการ มี ๒ ประเด็นที่อยากเพิ่มเติมคือ ๑. ให้แสดงตัวก่อนที่จะเลือกตั้ง ๒. ไม่ถึงกับเป็นกติกาหรือกฎเหล็กว่าไม่ให้สังกัดอะไรเลย อยากจะขอไว้สักหนึ่งคณะอย่างน้อยนะครับ ขอบคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เชิญ ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ ครับ
ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช. จังหวัดเพชรบุรี ต้องกราบขอบพระคุณ ทางกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ที่ได้กรุณาไปทำการบ้านมา แล้วก็มาเสนอความเห็นต่อสภาแห่งนี้ กระผมอยากจะใคร่ทบทวนว่าจริง ๆ แล้วเราพยายาม ที่จะกระจายสิ่งต่าง ๆ ออกไปถึง ๑๑ ด้าน บวกกับอีก ๔ ภาค แล้วก็ในส่วนของ ๔ ภาคนั้น ในวันนี้ที่มีการประชุมตั้งแต่บ่ายโมงในภาคกลางของผมก็ได้มีการพูดคุยกัน แล้วก็ได้มี การนำเสนอว่าน่าจะมีสำนักงานเลขานุการในการที่จะประสานความคิดเห็นของประชาชน ในระดับล่างขึ้นมายังสภาแห่งนี้ ก็มีความเห็นว่าสำนักงาน กกต. จังหวัดแต่ละแห่ง มีความเหมาะสมนะครับ ก็ได้มีการโทรศัพท์ถามไปยัง ๕ เสือ กกต. ก็บังเอิญได้คุยโทรศัพท์ กับท่านประธาน กกต. ใหญ่ ขออนุญาตที่ต้องอ้างอิงตำแหน่งของท่านนะครับ บังเอิญ เขาประชุมกันอยู่ใน กกต. ๕ เสือ ท่านยินดีครับ และอาจจะมีงบประมาณในการสนับสนุนด้วย อันนี้ต้องกราบขอบพระคุณ แต่ว่าทางเราคงต้องทำหนังสือขึ้นไป อันนี้ที่ยกตัวนี้ขึ้นมา ก็เพราะเหตุว่าเรามีเวลาจำกัดครับ เรามีเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนสิ้นปีใหม่นี้จะต้องมีสิ่งต่าง ๆ ที่ออกแบบออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานที่ค่อนข้างจะจำกัดอย่างนี้จำเป็นที่จะต้อง สื่อความหมายจากข้างบนไปสู่ข้างล่าง จากข้างล่างขึ้นมาสู่ข้างบน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ในส่วนของ ๔ ภาคนั้นยังมีความจำเป็นที่ยังจะต้องใช้บริการของเขาอยู่ เพราะฉะนั้นในส่วนของ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นผมยังคิดว่าตัวแทนของภาคต่าง ๆ ซึ่งตามที่ทางกรรมาธิการ ได้ไปทำงานมานั้นไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า แล้วก็ไม่ใช่เป็นการบล็อกนะครับ เพราะว่า การที่เราไปเรียกกันว่าล็อกโหวต หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นสิ่งที่เรียกกันไป มันเป็น กระบวนการในการทำงานที่ทำอย่างไรถึงจะให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาใหม่นี้ถูกออกแบบ มาเพื่อประชาชนแล้วทำให้อยู่ยั้งยืนยงไปข้างหน้าด้วย แล้วก็ช่วยเหลือประชาชน ของเราให้มีอันจะกิน เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่ากระบวนการได้มานั้นกรรมาธิการหรือวิป (Whip) สภานี่ละเป็นผู้ที่จริง ๆ แล้วต้องไปตกลงกันมาให้จบเรียบร้อย แล้วก็หารือคุยกับ ส่วนเกินต่าง ๆ ว่าสามารถที่จำกัดตรงนี้ได้ไหม เหมือนกับกรรมาธิการทั่ว ๆ ไปในแต่ละคณะ ซึ่งผมเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอยู่ครั้งหนึ่งเราก็ทำงานกันแบบนี้ มาถึงก็อ่านรายชื่อ ตกลงกัน วิปก็ไปทำงาน ทำงานแล้วก็มาเสนอต่อสภาคุยกันให้จบเรื่องก็ไม่ยาว เพราะฉะนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าเราพยายามทำเรื่องง่ายเป็นเรื่องยากอย่างที่อาจารย์วิริยะได้กรุณาพูดถึง ขออนุญาตที่เอ่ยนามนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำตรงนี้ได้ครบถ้วนผมคิดว่าวัตถุประสงค์ ต้องการกระจาย ในกรณีที่ด้านใดด้านหนึ่งเขาไม่มีคนก็ไม่เป็นไรก็ตั้งกันไป หรืออีก ๕ คนนั้น ทางด้านกฎหมายหรือด้านการเมืองการปกครองเห็นว่ามีความสำคัญก็อาจจะขอในส่วนนั้นไป ผมก็คิดว่ามันน่าจะทำงานกันไปได้ เพราะว่าการยกร่างที่ผ่านมานั้นสาระสำคัญต่าง ๆ ที่เรา จะเอามาแปลเป็นตัวบทกฎหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราแปลเป็นตัวบทกฎหมาย แล้วไม่มีใครปฏิบัติตามหรือไม่มีใครเคารพรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็คือกระดาษเปื้อนหมึกใช่ไหมครับ ไม่มีบทบาทอะไรต่ออะไรในการที่เราจะยึดถือเลย เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญ ที่มีคำพูดง่าย ๆ ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจไม่ต้องไปแปล ไม่ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือใครก็ได้ที่ตีความ ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญอย่างนั้นจริง ๆ นะครับ มันจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ก็อยู่ที่สภาแห่งนี้ในการที่จะกำหนดบุคลากรที่จะขึ้นไปว่าจะไปอยู่ใน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นทำอย่างไร รัฐธรรมนูญของเราอาจจะไม่อ่านยาก เหมือนเก่า ตาสีตาสาก็อ่านได้ อ่านแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้นการที่เราพยายามที่ไปกำหนด สิ่งต่าง ๆ ตามที่ได้มานั้นไม่ใช่ว่าพวกเราทุกคนเป็นซูเปอร์แมน ไม่ใช่พวกเราเป็นผู้วิเศษอะไร ที่สามารถกำหนดอะไรได้หมดทุกอย่าง ต้องอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของประชาชน ในระดับล่าง เพราะฉะนั้นกระบวนการในการออกแบบกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้นะครับ ก็คือต้องทำให้ ในความคิดเห็นของผมผมคิดว่าต้องกระจายให้มากที่สุด แล้วยึดหลักเครื่องมือในการที่ทำงานไปสู่เบื้องล่างได้ โดยเฉพาะใน ๔ ภาค ซึ่งมาจาก ๗๗ จังหวัด ไม่ใช่พวกเราเห็นว่า ๗๗ จังหวัดมีความสำคัญนะครับ แต่กระบวนการในการ ทำงานตรงนี้มันจะถึงระดับล่างได้อย่างง่ายดายโดยมีสำนักงานเลขานุการซึ่งทางภาค ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ประสานงานเอาไว้แล้วก็จะทำให้การทำงานนั้นแน่นอนยิ่งขึ้นนะครับ แต่ว่าสิ่งที่กรรมาธิการได้เสนอมานั้น ยังไม่มีหลักประกันแน่นอนว่าตัวจักรต่าง ๆ เครื่องมือ ต่าง ๆ ที่เรากำลังออกแบบเพื่อให้การทำงานของเราง่ายขึ้นนั้นจะได้รับการเข้าไปอยู่ในจุด ที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นผมก็ฝากที่ประชุมแห่งนี้ว่าช่วยกันดูในตัวนี้ว่าทำอย่างไรเราถึงจะ ออกแบบตรงนี้ให้มันชัดเจนและเป็นไปตามที่เราต้องการ ขณะเดียวกันสามารถ ร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่ง่าย ๆ มีความต้องการตรงกับที่พี่น้องประชาชนต้องการ ขณะเดียวกันขจัดเรื่องความขัดแย้งต่าง ๆ ส่วนในเรื่องของผู้ที่อยากเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่านตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นอีกกี่คณะก็ได้นะครับ บุคคลภายนอก เชิญเข้ามาก็ได้ไม่จำเป็นที่จะต้องมาอยู่ในคณะกรรมาธิการที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญโดยตรงอันนี้ ผมก็คิดว่าคณะอนุกรรมาธิการต่าง ๆ ซึ่งผมมีประสบการณ์ในการที่เคย เข้าไปอยู่ในคณะต่าง ๆ นั้น ทำงานคู่ขนานไปได้ ตรงนี้ก็น่าจะทำให้สภาแห่งนี้ไม่ต้องมาเสียเวลา ในการที่เราจะต้องมาโหวตมาอะไรกันนะครับ แล้วก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญต้องการคือกระจาย ให้มากที่สุด ถึงพี่น้องประชาชนข้างล่างมากที่สุด สามารถเอาความต้องการของเขา กลับมาบอกสภาแห่งนี้ ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแห่งนี้ต่อไป เราถือหลักของเราว่าเห็นต่างได้แต่หัวใจตรงกัน คือให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศ และประเทศรุดหน้าไปข้างหน้าขจัดความขัดแย้งต่าง ๆ นะครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญคุณประสาร มฤคพิทักษ์ ครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ประสาร มฤคพิทักษ์ ผมอยากจะขอความกรุณานะครับ กระบวนการเรื่องสำนักงาน เรื่องฟัง ความเห็น เรื่องอะไรต่อมิอะไรเป็นขั้นต่อไป ขณะนี้สิ่งที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้นำเสนอคือผลสรุปการประชุม วันนี้เอาเรื่องนี้ก่อนครับ ถ้าเผื่อ ไปอภิปรายอะไรที่เป็นวันข้างหน้าคงจะจบไม่ได้วันนี้ ขอความกรุณาครับ ให้พิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับสิ่งที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้นำเสนอ สำหรับผมเองผมเห็นด้วยและขอให้เดินตามนี้ ขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เชิญครับ ประทานโทษ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ชาลี เอียดสกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากจังหวัดพัทลุง หมายเลขลำดับที่ ๖๐ ท่านประธานครับ กระผมใคร่ขอเรียนท่านประธานว่าขอให้ได้ดำเนินการประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากว่าวันนี้บรรดาท่านสมาชิกหลายท่านต้องการอภิปรายมากมาย แล้วก็อย่างเมื่อวาน หลายท่านเข้าชื่อไว้แล้วไม่ได้อภิปรายเนื่องจากไม่ได้กำหนดกรอบของเวลา หรือท่านสมาชิก แต่ละท่านนั้นได้พูดไปแล้วกี่ครั้งอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้บรรดาสมาชิกได้อภิปรายกัน หลาย ๆ ท่าน แต่ว่าก็ขอให้กระชับ เพราะฉะนั้นจึงขอเรียนว่าขอได้กำหนดกรอบเงื่อนไขของ การอภิปราย จึงขอเรียนให้ท่านประธานได้วินิจฉัยครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ในชั้นต้นผมยังไม่อยาก กำหนดเวลา แต่คิดว่าสมาชิกทุกท่านทราบว่าเวลากระชั้น เพราะฉะนั้นขอให้อภิปราย และให้ความเห็นในประเด็นที่กระชับและตรงประเด็นดีไหมครับ อย่าเพิ่งกำหนดเวลาเลย ท่านเสรีครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กราบเรียนท่านประธานอย่างนี้ได้ไหมครับ เพื่อให้เราทำงานเร็วขึ้น ก็ขอหารือท่านสมาชิกผ่านท่านประธาน แต่ก่อนที่จะถึงตรงนั้น นิดเดียวครับ เพราะเกรงว่าเดี๋ยวท่านสมาชิกจะเข้าใจผิด เหมือนกับไปปิดกั้นแนวคิด หรือข้อคิดเห็นของท่าน เพราะว่ามีการเสนอ พอเริ่มมาก็มีการเสนอว่าให้เห็นความสำคัญ ของจังหวัดกับภาคต่าง ๆ ต้องเรียนว่าสิ่งที่กรรมาธิการท่านเสนอมาผมอ่านแล้วนะครับ แล้วก็เห็นว่าความสำคัญของจังหวัดกับภาคนั้นยังคงมีอยู่นะครับ แล้วในการทำงานนั้น เดี๋ยวจะไปคุยอีกทีหนึ่งตอนที่มีการพิจารณาข้อบังคับการประชุม ซึ่งจะมีเรื่องของอำนาจ หน้าที่กรรมการจากจังหวัด หรือจากภาคอะไรต่าง ๆ นะครับ ตรงนี้ก็เรียนเพื่อความสบายใจว่ายังเห็นความสำคัญของภาคอยู่ เพียงแต่ว่าอยากจะหารือ ท่านประธานว่าเราจะพิจารณากันสัก ๑๕ นาทีดีไหม วันนี้ครับ สิ่งที่ผมกราบเรียนตรงนี้ ก็เพราะว่าไม่ได้ไปปิดกั้นความคิดท่านสมาชิกนะครับ สิ่งที่กรรมาธิการท่านได้กรุณาสรุป แนวทางมาให้นี่นะครับ สมาชิกเรามีใครไม่เห็นด้วยไหม ถ้าหากว่าเห็นด้วยนี่นะครับ เพื่อเป็นการ แก้ปัญหาจากเมื่อวานที่เราได้คุยกันมาทั้งวัน ตรงนี้มันเป็นทางออกว่าในการจะเลือก กรรมาธิการ ๒๐ คนนี้ เขาให้แต่ละด้านที่มีที่มาเดิมอยู่แล้วนั้นไปช่วยกันหาคนมาเป็นตัวแทน คณะละกี่คนก็ได้ อย่างคณะกระบวนการยุติธรรมผมมี ๔ คนครับ แต่บางคณะผมฟังมาแล้ว ไม่มีก็มี เพราะฉะนั้นเอาจำนวนนี่นะครับ มันน่าจะตกผลึกแล้วว่าเอาคนที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่ละคณะพรุ่งนี้ให้มายื่นก่อนเที่ยงแล้วก็ให้ที่ประชุมนี้พิจารณา จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ ว่าผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คน มันก็จะเป็นกระบวนการที่ผ่าน การได้มาจากแต่ละกลุ่มแต่ละด้าน ตรงนี้มันจะลดข้อขัดแย้งไปได้ ซึ่งกรรมาธิการท่านทำมา นี่ผมว่ามันยุติปัญหาที่เราจะต้องมานั่งพูดกันต่อไป เพราะพูดไปมันก็คืออย่างนี้ ใช้เวลาอีกมัน ก็อย่างนี้ ผมว่าเราก็มาทำให้เสร็จสัก ๑๕ นาที แล้วก็มาวาระต่อไป มันง่ายแล้วตอนนี้ครับ มันตกผลึกแล้ว ก็เลยกราบเรียนท่านประธานว่าอยากให้มันเร็ว แล้วก็ให้ความสำคัญ แต่ละด้านนี่อยู่ตรงไหน แต่ละด้าน แต่ละจังหวัด ประทานโทษ แต่ละภาคอะไรนี่นะครับ เดี๋ยวเข้าใจว่ากรรมาธิการท่านจะไปทำเป็นใบสมัคร ตอนลงคะแนนก็จะระบุว่ามาจาก ภาคไหน ด้านไหนนะครับ แล้วท่านก็ให้ที่ประชุมนี้ตัดสินกันว่าควรจะมาจากภาคไหม ภาคไหนกี่จังหวัด อันนี้คือให้ความสำคัญอยู่แล้วนะครับ แล้วก็เรียนสุดท้ายว่าทุกอย่าง มันคงไม่ได้อย่างที่เราต้องการได้ทุกเรื่องหรอกนะครับ ตอนนี้เราก็มาตกผลึก ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ทุกเรื่อง แต่มันก็ได้อยู่ระดับหนึ่ง แล้วก็น่าจะดีที่สุดกับสภาเราอยู่แล้วนะครับ ส่วนท่านที่ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการท่านจะอภิปรายผมก็ว่าไม่ขัดข้อง แต่ถ้าหากว่า ท่านเห็นด้วยแล้วนี่นะครับ เราก็น่าจะยืนตามคณะกรรมาธิการ แล้วไม่ต้องพูดสนับสนุนแล้ว เพราะอย่างไรมันก็อย่างนี้อยู่แล้ว ก็จะเร็วขึ้นนะครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
พยายามจะให้อยู่ใน ๑๕ นาที แต่ขณะนี้มีผู้เข้าชื่อจะขออภิปรายอีก ๗ คน ๘ คนแล้วครับ ผมยังคิดว่าอยากให้อภิปราย ให้กว้าง เจ้าหน้าที่บันทึกผู้ที่ยกมือนะครับ เพราะว่าผมจะตามไม่ทัน เชิญคุณชาลี เจริญสุข
กราบเรียนท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เคารพ กระผม นายชาลี เจริญสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะที่อยู่ ต่างจังหวัด ผมเองก็ได้รับทราบข้อมูลเมื่อวานนี้อย่างมากมายหลากหลาย แล้วก็เห็นว่า ในส่วนที่เราได้ลงมติว่าในส่วนของคนนอกนั้นไม่มี อันนี้ก็ต้องยอมรับมติที่ประชุมว่า ต้องอยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งนี้ ๒๐ ท่าน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ๑๑ ด้านซึ่งเราเสนอไว้ หรือว่าที่เราเคยมีกรอบในการที่จะนำเข้ามาสู่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเนื่องจากว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งนี้มีมวลสมาชิกถึง ๒๕๐ ท่านด้วยกัน ถ้าหากเราไม่กำหนดด้านที่ชัดเจนไว้ อย่าง ๑๑ ด้านนี้ ด้านละ ๑ คน และภาคต่าง ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทราของเรามี ๗๗ จังหวัด ถ้าหากเราบอกว่าแล้วแต่สมัครกัน แล้วแต่ความประสงค์โดยไม่มีการพูดคุยกันในคณะเล็กก่อน ผมว่ามันก็จะเป็นการที่เรียกว่า ๗๗ จังหวัดจะเกิดขาดความมั่นใจว่าสิ่งที่สมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติจังหวัดต่าง ๆ เขาได้ไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนไว้ เขาจะนำเข้ามาสู่ใน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือในการเขียนกฎหมายใหญ่ของประเทศได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องของความมั่นใจครับ และเป็นการยึดโยงตามกรอบของแนวทางการปฏิรูป ๑๑ ด้านที่ผมได้รับเอกสารไปแล้ว สิ่งแรกที่ผมต้องอ่านก็คือต้องอ่านการบ้าน ต้องทำการบ้าน ผมสนใจเรื่องการเมืองผมก็อ่านเรื่องการเมือง ทีนี้ในส่วนนี้ละครับเป็นแนวทางในการปฏิรูป ถ้าใน ๑๑ เล่ม ๑๑ ด้านที่เราอ่านแล้วมันยังขาดอะไรเราสามารถจะเติมได้ นี่ละครับความคิด ของ สปช. ๗๗ จังหวัดของเราพร้อมที่จะเติมสิ่งที่ขาดหายในหนังสือปฏิรูป ๑๑ ด้านซึ่งเป็น ไกด์ไลน์ (Guideline) ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำมาจากการระดมความคิดเห็นของท่านประธาน คสช. ซึ่งได้ทำไว้ในช่วงที่เข้ามาดูแลรักษาความสงบประเทศชาติของเราจนขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ท่านทำการบ้านมาตลอดอยู่แล้วนะครับ แต่ตอนนี้ความคิดเห็นที่จะเข้าสู่ คณะกรรมาธิการเป็นเรื่องที่พวกเรากังวลครับ พวกเราเป็นห่วงเป็นใย เราอยากจะมีส่วนร่วม แต่ขอเป็นส่วนร่วมแบบว่ามีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน อย่าให้เป็นแบบประเภทบอกว่า เสนอใครก็ได้ ผมขอสนับสนุนว่า ๑๑ ด้าน ด้านละ ๑ คน ภาค ๔ ภาค ภาคละ ๑ คน ให้ภาคต่าง ๆ ได้หาข้อสรุปหรือมีการเสนอกันเอง ส่วนอีก ๕ ท่าน ผมก็มองว่าอยู่ที่ใน สภาปฏิรูปแห่งชาติที่นี่ละครับที่จะเสนอให้เป็นฟรีโหวต หรือเสนอกันเอง หรือเป็น ช่วงที่ ๒ ที่จะเสนอว่าจะเป็นใคร ตรงนี้มันจะได้ชัดเจนครับ ก็กราบเรียนท่านประธาน สภาปฏิรูปแห่งชาติครับว่า ผมก็อยากจะนำเสนออย่างนี้ว่าวันนี้เราพูดคุยกันมาถึง ๒ วัน แต่ขั้นตอนต่อไปสิครับว่าเราจะให้เขาสมัครเขียนใบสมัครจนถึงวันที่ ๒๙ ตุลาคมใช่ไหมครับ แต่วันนี้ผมยังไม่มีแนวทางหรือไม่ได้เห็นเลยครับว่าจะมีใครไปสมัครบ้างหรือยังที่จะมาเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมว่าคณะต่าง ๆ เขาเตรียมการกันแล้วครับ เขาคิดกันแล้ว เขามีตัวแทนแล้ว คือตัวแทนในมติที่ประชุมเล็ก ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ ผมมองว่าอย่างนี้ครับ เพราะไม่ได้คิดบุคคลคนเดียว แต่เขาคิดเป็นคณะเล็ก แล้วก็เข้ามาสู่คณะใหญ่ในสภาปฏิรูป แห่งชาติ ฉะนั้นหลักการทำงานนี่ถ้าเราทำงานในสภาใหญ่ความคิดย่อมหลากหลาย เรามีการย่อยกันก่อนในกลุ่มเล็ก กลุ่มด้านที่ ๑-๑๑ ด้าน ภาคต่าง ๆ ๔ ภาคเสร็จแล้วก็ นำเสนอเข้ามาสู่ส่วนกลาง โดยก็อยากจะกราบเรียนท่านประธานครับว่าผมอยากเห็น ความคืบหน้าครับ ท่านประธานครับ ผมอยากเห็นว่ามีคนมาแจ้งความประสงค์หรือยัง ๑๑ ด้าน ภาคต่าง ๆ มีหรือยัง เราจะได้เห็นกรอบที่ชัดเจนแล้วจะได้มาอภิปรายเพิ่มเติมว่า อีก ๕ คนจะเป็นใคร ผมขออภิปรายสนับสนุนในการมีส่วนร่วมยึดโยงตามกรอบของ การปฏิรูปประเทศนะครับ ๑๑ ด้าน และ ๔ ภาค เพื่อยึดโยงสู่ประชาชนครับ ขอบคุณ ท่านประธานที่ให้เวลาผมครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ตอบคุณชาลีว่ายังไม่มี ผู้สมัคร ยังไม่มีข้อมูล เพราะรอผลการประชุมวันนี้นะครับ ผมคิดว่าเรายังดำเนินการอะไร ไม่ได้ ผมต้องหารืออีก ขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงอภิปรายมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์คล้าย เมื่อวาน คงต้องเริ่มจำกัดเวลาเหลือไม่เกินท่านละ ๕ นาที จริง ๆ แล้วทุกท่านต้องช่วยกัน รับผิดชอบนะครับ ท่านเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ครับ
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด ในนาม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ผมนำเรียน ด้วยความเคารพ ก่อนอื่นผมจะถามนิดหนึ่งครับว่าสิ่งที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เสนอมานั้น อยู่ที่ที่ประชุมใช่ไหมครับว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นี่คือเรื่องที่ ๑ จริง ๆ แล้วการทำงานเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องยาก ถ้ารวบรวมความคิดเห็นจากเมื่อวานจนวันนี้ แล้ววิป คำว่า วิป หรือคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นั้น มันก็ต้อง ทำงานนอกรอบบ้าง ไม่ใช่ไปประชุมกันแล้วสรุปเอาแค่นี้ เมื่อบ่ายก็ให้เราประชุมเลือกคนมา แต่ถ้าเลือกคนมาแล้วที่ประชุมไม่เห็นด้วยละครับ ก็จบเหมือนเดิมเหมือนเมื่อวานเด๊ะเลย ท่านประธานครับ นำเรียนด้วยความเคารพครับว่าสิ่งที่พวกเรามองอยู่นั้นว่าการร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นต้องรอบคอบ อย่าเร่งรีบ ให้ได้รัฐธรรมนูญที่เขาไม่มอง ว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปฆ่าใคร ไปทำอะไรกับใคร เรายื่นความจำนงเมื่อวานนี้ เราก็อภิปรายกันมากมายครับ ผมอยากจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่มีส่วนร่วม มากที่สุดของทุกจังหวัดทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อวานนี้ผมได้อภิปราย เรื่องว่า คสช. นั้นเขาเป็นคนพิจารณาว่าความรู้ความสามารถที่สมัครเข้ามาแต่ละด้าน ๗,๓๐๐ กว่าคนมีใครบ้าง เขาแบ่งแยกเป็นด้าน ๆ มาแล้วครับ ท่านประธานครับ เมื่อเขา แบ่งแยกเป็นด้าน ๆ มาแล้วนั่นหมายความว่าคนเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถด้านนี้ มีความสามารถด้านอื่นเป็นด้านรอง เพราะฉะนั้นการที่จะได้กรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญนั้นมันต้องมีคนที่มีความสามารถเฉพาะด้านเข้าไปร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมคำนึง ณ วันนี้ถ้าเป็นอย่างที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) วิปนำเสนอวันนี้มันจะมีการบล็อกโหวตหรือไม่ ได้คนที่ไม่มีความรู้บางด้านเข้าไปนั่ง ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ท่านประธานครับ สิ่งที่สมาชิกหลายคนเขาพูดเขาอยากให้ด้านละ ๑ คน เพียงแต่ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นมันไม่สามารถเสนอเป็นด้าน ๆ ได้ มันต้อง เสนอเป็นภาพรวม แต่ท่านประธานครับ เรามีวิธีการ มีวิธีการทำงานมากกว่านี้โดยการประชุม นอกรอบเหมือนที่เราประชุมไป เสนอมาแล้วก็นำชื่อมาให้วิป วิปเป็นคนไปบอกแต่ละคณะ ว่าเอาอย่างนี้นะ แต่ถ้าคณะใดอยากเกิน ๑ คนนะครับ ก็เสนอที่ประชุมเข้ามา อันนี้เป็นการ ประชุมนอกรอบ ประชุมเข้ามา แล้วสมมุติว่า ๓๐ คน ๒๐ คน ก็ให้เขาเหล่านั้นไปคุยกัน ตกลงกันว่าได้ไหม ขอคนนี้ได้ไหม ได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็โหวตกันใน ๓๐ คน ขอให้ทุกคนที่เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมีกฎ กติกา มีมารยาทว่าต้องเอาเสียงส่วนใหญ่นะ ๕ คนที่ได้ เท่านั้นเองครับ เอา ๕ คนนั้นกับ ๑๔ บวก ๑ มารวมกัน แล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่เป็นวาระ เสนอ ๒๐ ชื่อเข้ามา แต่วิปต้องทำงานมากกว่านี้ ที่ผมอยากจะนำเสนอท่านประธานครับ ผมเกรงว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญแบบรวบรัด แบบเร่งรีบ หลายพรรคการเมืองเขาไม่ได้มีส่วนร่วม เดี๋ยวจะมาตำหนิติเตียนพวกเราอีก แล้วอีกอย่างหนึ่งครับ อย่างที่ผมเข้าใจเจตนาของสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติภาคต่าง ๆ นั้นที่เขาลุกขึ้นพูด เพียงแต่ว่าเขาอยากให้ที่ประชุมแห่งนี้ เห็นความสำคัญเขาว่าเขาเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะ เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ทั้งหมดนั้นเข้าใจตรงกันว่านี่ไม่ใช่สภาการเมือง นี่คือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอันทรงเกียรติ ที่เราจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์สุขของปวงประชาชนทั้ง ๖๗ ล้านคน เพราะฉะนั้น ผมอยากนำเสนอทางท่านกรรมาธิการนะครับว่า สิ่งที่ผมนำเสนอนั้นท่านลองทบทวนใหม่ ก็ได้ว่าสิ่งที่ท่านเสนอมาอาจจะดีอยู่แล้ว แต่ถ้าทำแบบที่ผมนำเสนอไปนั้นมันน่าจะพอใจ หรือไม่ หรือขอมติที่ประชุมได้หรือไม่ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ผมไม่ทราบว่าใครกด แต่ว่ามันเลย ๕ นาทีมาเยอะเลย อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ครับ
นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) เสนอ เพราะเมื่อวานนี้ผมฟังแล้วเสียงส่วนใหญ่ก็อยากให้กระจาย ว่าแต่ละด้านก็ควรจะมีตัวแทนตนเองสัก ๑ คน ๑๑ ด้าน แล้วก็บวก ๔ ภาค ก็ ๑๕ คน แล้วที่เหลือก็จะไปเน้นทางการเมืองหรือใครเพิ่มเข้ามา อันนั้นผมก็เห็นด้วย เมื่อวานนี้ ก็พูดกันเยอะเราก็เน้นไปทางนี้ แต่เวลาสรุปมาท่านก็เอาเหมือนเดิม ท่านก็เอาอย่างที่ท่าน อยากได้ ก็คือสมัครแล้วก็เลือกเป็นรายคน ผมไม่รู้เลยว่าคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) ฟังเราหรือเอาแต่ใจท่านผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้มีแต่ตัวแทนแต่ละด้านเข้ามา แล้วก็มีที่เหลือพ่วงเข้ามาด้วยผมก็ยินดี เพราะว่ามันควรจะ กระจายครับ คนที่จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่างกลุ่มผมด้านสังคม ก็เสนอชื่อกัน ๔ ท่าน เพราะท่านบอกว่าจะไปเลือกกันเองเหลือ ๑ คน แล้วมาเสนอแล้วให้ ที่นี่เห็นชอบไม่ได้ ต้องเสนอมาให้เลือกใหม่หมด แล้วมันจะไปต่างอะไรกับปล่อยให้สมัครกัน ใช่ไหมครับ หรือไม่ก็ต้องให้เราล็อบบี้ (Lobby) กันอีก ในที่สุดเดี๋ยวเราก็ต้องล็อบบี้กันอีก ว่าด้านคุณ คุณเสนอใคร ด้านผม ผมเสนอใคร คุณอย่าลืมนะเลือกผม ผมเลือกคุณ ทำไม ต้องให้เราต้องเอ็กเซอร์ไซส์ (Exercise) ออกกำลังอีกใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ก็เกิด กระบวนการแล้ว ด้านผมผมอยากได้คนนี้ ด้านคุณอยากได้ใครบอกมาหน่อย ก็ต้องไปพูดกัน ข้างหลังใช่ไหมครับ เพราะท่านไม่ยอมให้พูดข้างบน แล้วพอพูดข้างหลังก็บอกว่าพวกคุณ ไม่เหมาะสม ปฏิรูปทั้งทียังปฏิรูปหมก ๆ เหมือนเดิม แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะใช่ไหมครับ ก็ทุกคนอยากเห็นว่าตัวแทนแต่ละด้านเข้ามาเพื่อกระจาย เมื่อท่านบอกว่าแต่ละด้านจะไป เลือกแล้วมาเสนอไม่ได้ก็ต้องมาแบบนี้ มาแบบนี้ทุกคนก็ต้องคุยกัน แน่นอนอย่างไรผมก็เลือก แต่ละด้าน ถึงท่านจะเอาอย่างที่ท่านได้โหวตแพ้ก็ไม่เป็นไรผมก็ยังจะเลือกแต่ละด้านของผม แล้วผมก็พูดอย่างเปิดเผย ด้านไหนอยากให้ผมเลือกใครบอกมาผมจะเลือกให้ ผมไม่หมก ใต้โต๊ะ แล้วถ้าผมกระซิบว่าด้านผมจะเลือกใครก็อย่าลืมเลือกด้วยก็แล้วกัน เพราะว่าเขา ไม่ยอมให้เราทำตรง ๆ เขาอยากให้เราออกกำลังบ้าง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องออกกำลังกันบ้าง เพราะฉะนั้นแต่ละด้านก็คุย ๆ กันก็แล้วกัน ด้านท่านต้องการใคร ด้านเราต้องการใคร ส่งไลน์ (Line) บอกกันก็ได้เรามีกรุ๊ป (Group) ไลน์อยู่แล้ว ก็เลือกตามจิตวิญญาณของเรา ก็แล้วกัน ถึงคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เขาไม่สนใจใยดีอยากจะ ฟังสิ่งที่เราต้องการโดยตรง เขียนอ้อม ๆ แอ้ม ๆ และในที่สุดก็คือต้องเลือกทุกคนเราก็ต้อง คุยกันเองจิตวิญญาณที่เราต้องการกระจายแต่ละกลุ่มเราก็ต้องรักษาไว้ แล้วเราก็คุยกันเองว่า แต่ละด้านต้องการใครบ้าง แล้วจากนั้นเราก็เลือกของเราไป เบี้ยวลายลักษณ์อักษรได้ แต่เบี้ยวจิตวิญญาณเราไม่ได้ ขอบคุณมากครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับอาจารย์วิริยะ ผมพยายามจะดูนาฬิกาที่จับ พอมันไป ๒ นาที มันกลับไป ๐ ใหม่อีก ตกลงมันไม่มีทางรู้เลย มันเสียหรือเปล่าครับ ไม่เป็นไรครับ คือพยายามจะขอให้ลิมิต (Limit) เวลานิดหนึ่งรายชื่ออภิปรายยาวเหยียดเลย ผมอยากให้กรรมาธิการได้อธิบาย เพราะว่าขณะนี้มันไม่ใช่ประเด็นที่ผมคิดว่ากรรมาธิการไป นั่งเทียนหรือคิดเอาเอง ท่านกรรมาธิการจะให้เหตุผลหรือข้ออภิปรายในส่วนที่เป็นที่มาของ มติของเราก่อนไหมครับ เชิญครับ เชิญหมออำพล
นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม อำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการครับ ผมจะลองขออนุญาตอาจจะเป็นตัวแทน กรรมาธิการนะครับ แต่ก็เพื่อจะอธิบายความว่าที่กรรมาธิการได้เสนอวันนี้มันอยู่บนหลัก อะไรบ้างนะครับ
นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
หลักอันที่ ๑ ก็คือว่าถ้าท่านดูจากที่มีมติออกมานี่นะครับ เป็นการเสนอ หลักที่ ๑ คือหลักของการที่สมัครใจนะครับ ยังมีอยู่
นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
หลักที่ ๒ ก็คือหลักของการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
หลักที่ ๓ ก็คือยังมีหลักของการที่ให้ ๑๑ บวก ๔ นะครับ มีสิทธิกลั่นกรอง มีสิทธิพิจารณา และมีสิทธิเสนอนะครับ
นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
หลักถัดมา สำคัญก็คือว่าเป็นหลักที่ไม่ได้ไปตัดสิทธิของสมาชิกในการเลือก ตัวแทน ๒๐ คนในการที่จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมย้ำตรงนี้ นะครับ หลักนี้ไม่ได้ตัดสิทธิในการเลือก ๒๐ คน เพราะเราต้องเสนอไป ๒๐ คน ซึ่งหลักนี้ จะตรงกันข้ามกับหลักที่แบ่งโควตาให้กับ ๑๑ บวก ๔ ไปเบ็ดเสร็จ เพราะหลักนั้นหมายความว่า เราได้มอบให้คน ๑๐ กว่าคนไปเลือก ๑ คนแทนเรา แล้วเอาเข้ามาเพื่อให้ที่นี่รับรองเท่านั้น เพราะฉะนั้นหลักตรงนี้จะแตกต่างกันนะครับ ซึ่งมีหลายคนพูดถึงว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ สปช. ของสมาชิกเราที่จะต้องมีสิทธิแต่ละคนเลือกผู้แทนได้ ๒๐ คนนะครับ ไม่ได้มีผู้แทน ของเราอีกทีหนึ่ง คือประมาณ ๑๐ กว่าคนในแต่ละด้านไปเลือกมาแล้วก็ได้ไปเลยนะครับ ในขณะเดียวกันนั้นกรรมาธิการก็ได้พยายามที่จะยืดหยุ่นแล้วก็พบกันครึ่งทาง ในระหว่างของ การที่ ๑๑ บวก ๔ ท่านก็ยังต้องการที่จะมีการเสนอแล้วก็มองคนที่เหมาะสมในด้านของท่าน เพราะฉะนั้นการออกแบบของวิธีการถึงมีการออกแบบว่าเมื่อเสนอและสมัครแล้ว สมัครและเสนอนี่นะครับ จะระบุด้านไว้ข้างท้ายนะครับ แล้วการพูดคุยกันของพวกเรา เราย่อมจะรู้ว่าในด้านนั้น ๆ ท่านใดเป็นคนถูกเสนอมาในด้านของท่าน แล้วก็เป็นดุลยพินิจ ของพวกเราซึ่งมีเอกสิทธิ์ในการเลือก ๒๐ คนเป็นคนพิจารณา ด้วยหลักการตรงนี้เราคาดว่า สมาชิกของเรานี้ก็จะเลือกแบบกระจายเพื่อให้ความสำคัญกับด้านและกลุ่ม ๑๑ บวก ๔ ด้วย แต่ในขณะเดียวก็ไม่ได้ไปตัดสิทธิบังคับว่าเขาจะต้องเลือกตามนั้น ซึ่งหลักแรกที่ผมเรียนแล้ว หลักที่เรายึดโยงว่าจะต้องให้มีโควตาคือเลือกมาแล้วได้เลยนี่ มันเป็นการไปตัดสิทธิที่เราจะมี สิทธิเลือกใน ๒๐ คนนะครับ อันนี้ผมอยากจะเป็นการอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่ผมได้อยู่ ในคณะกรรมาธิการนะครับ แล้วก็อาจจะอธิบายได้ไม่ครบถ้วน แต่ผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ รอมชอมที่สุดครับ ท่านยังมีสิทธิที่จะเสนอสมัครและเสนอในด้านของท่านนะครับ และเรามี การพูดคุยกันนอกรอบก็ได้ครับว่าในด้านต่าง ๆ ของท่านนั้นท่านเสนอใคร ซึ่งอันนี้เป็น การทำงานแบบร่วมกัน แต่จะไปผูกมัดให้ว่าที่ท่านเสนอแล้วต้องได้เลย มันกลายเป็นการตัดสิทธิ ในการที่สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเลือก ๒๐ คน ก็จะกลายเป็นแต่ละคนเหลือสิทธิในการเลือก เพียง ๕ คน และอีก ๑๕ คนนั้นถูกเลือกโดยคนเพียง ๑๐ กว่าคนในแต่ละกลุ่มด้านครับ อันนี้ ก็คือเหตุผลที่เราหาทางออกร่วมกัน แต่สิ่งที่เราอยากจะได้ผมคิดว่าเราจะได้ไม่แตกต่างกัน กับในแนวทางที่เรายังเห็นไม่ตรงกันอยู่ตั้งแต่เมื่อวานครับ อันนี้ก็ขออนุญาตลองพยายาม อธิบายในส่วนที่ผมในฐานะกรรมาธิการแล้วก็เข้าใจในส่วนที่เราพยายามหาทางออกร่วมกัน ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญ อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ครับ ประทานโทษท่านจะเสนอชื่ออภิปรายใช่ไหมครับ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะได้บันทึกไว้ต่อท้าย
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านประธานครับ ผมสนับสนุนภาพรวมที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป แห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้ไปทำมา ผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ว่าบุคคลที่จะไปเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นบุคคลที่รอบรู้ ควรจะเป็นบุคคลที่รู้หลาย ๆ ด้าน สามารถจะผสมผสานความรู้ความเข้าใจสังคมไทยได้ ถ้าเราจะสร้างบ้านสักบ้านหนึ่ง แล้วเรา ก็จะมีด้านหน้าต่าง ด้านประตู ด้านหลังคา แต่เรามีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านแล้วเอามาผสมกัน บ้านมันคงดูไม่ค่อยดีเท่าไรนะครับ แต่ถ้าเราเห็นภาพทุกส่วนร่วมกันให้มันเข้ากัน เพราะฉะนั้นคุณสมบัติของคนที่ไปสมควรที่จะเป็นบุคคลที่รู้ด้านหนึ่งด้านใดก็จริง แต่จะต้อง เป็นคนที่รอบรู้หลาย ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นในหลักการแล้วผมก็ไม่ค่อยติดใจเท่าไร และผมเอง เห็นใจท่านสมาชิกที่มาจากต่างจังหวัด ผมคิดว่าในอนาคตตอนที่มามันเป็นเพียงแค่ประตู ที่มาเท่านั้นเอง แต่ว่าทุกท่านที่เป็นสมาชิกจาก ๗๗ จังหวัด ต่างมีความรู้ความสามารถทั้งสิ้น สามารถที่จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการในด้านหนึ่งด้านใดได้ทั้งสิ้น ผมคิดว่าท่านควรจะต้อง สลายตัวและเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการด้านหนึ่งด้านใดเพื่อมาช่วยกันปฏิรูปบ้านเมือง ขณะเดียวกันท่านจะเป็นหลักอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงกับประชาชนในต่างจังหวัด เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราแบ่งการรับฟังความเห็นประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเขตอย่าเป็นจังหวัด ถ้าเป็น ๗๗ จังหวัดท่านแต่ละคนทำงาน โดดเดี่ยวเขตหนึ่งจะสัก ๓-๔ จังหวัด เป็น ๑ เขต ทั้งหมดอาจจะมี ๑๓ เขต แล้วท่านเป็น กรรมาธิการวิสามัญท่านเป็นหลัก ๓-๔ คนเป็นหลัก แล้วก็มีคนนอกที่มีภูมิความรู้ในเขตของ ท่านมาร่วมกันเป็นกรรมาธิการรับฟังความเห็น พร้อมทั้งมีกรรมาธิการการมีส่วนร่วมที่ช่วยดู ว่าเราจะไปหยิบประเด็นใดไปรับฟังความเห็นด้วยวิธีการใด ผมคิดว่าท่าน สปช. ที่มาจาก ต่างจังหวัดจะเป็นหลักสำคัญในการที่จะเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ท่านประธานครับ มีประเด็นเดียวที่ผมต้องตั้งคำถามกับกรรมาธิการก็คือในวรรคสุดท้ายที่ท่านเขียน นอกเหนือจาก ๑ ๒ ๓ ๔ ท่านเขียนว่า ทั้งนี้ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญจะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการในคณะอื่นใดของสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกไม่ได้ จนกว่าการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว ผมเข้าใจว่าท่านเข้าใจดี และผมก็เข้าใจดีว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี่งานหนัก ทำงาน หามรุ่งหามค่ำเป็นเวลา ๔-๖ เดือน ผมเข้าใจตรงนี้ดี แต่ผมคิดว่ามันอาจจะทำให้เรา ผิดหลักการแล้วก็จะทำให้เราถูกโจมตี เหตุหนึ่งที่เราไม่อยากได้คนนอกที่พวกเราจะเลือกไป เป็นตัวแทนหรือพวกเราจะเลือกไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะว่าเราอยากจะได้ คนที่จะยึดโยง ที่จะฟังข้อมูลจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ถ้าบุคคลผู้นี้ได้รับการเลือกจาก พวกเราไปแล้วก็ไปทำงานหายไปเลย แม้กระทั่งเป็นกรรมาธิการในด้านหนึ่งด้านใดก็ไม่ได้ ผมคิดว่าอันนี้อาจจะไม่ค่อยดีนัก เพียงแค่ว่าถ้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมาเป็น ประธานกรรมาธิการไม่ได้นี่ผมเห็นด้วย แต่น่าที่จะให้เขาได้มีโอกาสถ้าเขาพอจะมีเวลา เขายังอยู่ในคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการแต่ละด้านก็ควรจะเข้าใจว่าเขางานเยอะ เขาเข้ามาฝากประเด็น เขาเข้ามาถาม เพราะคณะกรรมาธิการแต่ละด้านจะต้องยึดโยงกับประชาชน แล้วก็ได้ข้อมูลจากประชาชนมาก็ส่งผ่าน ด้านต่าง ๆ ก็ส่งผ่านให้กรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญท่านนี้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญได้ตรงกับที่ประชาชนให้ความเห็นไว้ ผมว่าถ้าเป็น อย่างนั้นน่าจะดี ก็เลยอยากจะตั้งคำถามกับคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ว่าติ่งมันไม่ได้อยู่ใน ๑ ใน ๔ แต่ถ้าจะใส่ไว้ในวรรคสุดท้ายมันมีความหมายว่าอะไร และมันควรจะตัดทิ้งหรือเปล่า หรือว่าจะเอาไว้อย่างนี้ ผมเรียนตรง ๆ ว่าหลายคนพอเห็น ตรงนี้ก็รู้สึกว่าถ้าอย่างนี้เราถูกเลือกมาที่จะมาเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่กลายเป็นว่าเราจะ กลายเป็นแปลงร่างไปอยู่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็เปลี่ยนร่างไป ๔-๖ เดือน มันดูแล้วมันแปลก ๆ อันนี้ก็ต้องเรียนคำถามด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เดี๋ยวจะ ให้กรรมาธิการให้ความเห็นตอบตรงนี้ หรือจะตอบเลยครับ ก็เอาให้กระจ่างไปก่อน เชิญครับ
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ กิจการ สปช. (ชั่วคราว) ใคร่ถือโอกาสตอบประเด็นที่ท่านสมาชิกได้ยกขึ้นซึ่งเป็นประเด็น ที่แตกต่างและยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ในสภาแห่งนี้ สำหรับวรรคสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการ ในคณะอื่นใดของสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกไม่ได้จนกว่าจะดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ เสร็จสิ้นแล้วนั้น ในส่วนนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึง การยึดโยงการทำหน้าที่ระหว่างสมาชิก สปช. ที่รัฐแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่าภารกิจหน้าที่ในการทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นภาระที่หนักหน่วง เป็นเวลาอย่างน้อยอย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้กล่าวถึง ๔-๖ เดือน ขณะเดียวกันการยึดโยงดังกล่าวจะขาดตอนกันมิได้ ดังนั้นในกรณีดังกล่าวนั้น ก็ได้พิจารณาว่าการยึดโยงยังสามารถดำเนินการได้ในหลายลักษณะ
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสมาชิก สปช. ยังต้องมา ประชุม สปช. ทุกสัปดาห์
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการในการ ประสานงานระหว่าง สปช. กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ มีสมาชิกได้เสนอความเห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดการขาดตอนในสิทธิ ของการเป็นกรรมาธิการคณะต่าง ๆ จะเป็นสามัญหรือวิสามัญก็แล้วแต่เมื่อข้อบังคับ การประชุมของ สปช. เสร็จสิ้นในสัปดาห์หน้านั้น ก็อาจจะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เพราะถ้าเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการนั้นยังมีสถานะเป็นกรรมาธิการ ไม่มาประชุมก็คือ ขาดการประชุม แต่ว่าเพื่อให้มีการยึดโยง แต่นั่นก็เป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งนะครับ คงต้อง พิจารณากันต่อไป แต่ทั้งนี้เพียงเรียนในเบื้องต้นว่าคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (ชั่วคราว) นั้น ได้พิจารณาในประเด็นที่ท่านได้ตั้งคำถามแล้วก็เป็นข้อกังวลตรงกันครับ จึงเรียนชี้แจง ในเบื้องต้นต่อท่านประธานไปถึงท่านสมาชิกครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญคุณวิบูลย์ คูหิรัญ ครับ ท่านสมาชิกที่อภิปรายยกมือเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะบันทึกไว้นะครับ จะได้รายชื่อ ขึ้นมานะครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน เท่าที่ทางวิปของชั่วคราวที่ได้ออกมติมา กระผม คิดว่าทางวิปคงจะมีความตั้งใจอยู่ตามที่ได้อภิปรายกันแล้วนี่นะครับ แล้วก็ที่กล่าวแล้วว่า คงจะต้องการให้มี ๑๑ ด้าน แล้วก็ ๔ ภาคเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าในการเขียนอาจจะมีวิธีการ เขียนคนละแบบนะครับ ในตอนที่การเลือกจริง ๆ อาจจะต้องมีการพูดกันให้เข้าใจว่าควรจะ ทำอย่างไรในการเลือก เพราะฉะนั้นอันนี้ผมก็คงเห็นด้วยที่จะดำเนินการตามที่ท่านได้เสนอแนะมา แต่เพียงแต่ว่า ที่ผมยังมีความกังวลอยู่ก็เช่นเดียวกับที่อาจารย์เจิมศักดิ์ได้เรียนเมื่อสักครู่ว่าในพารากราฟ (Paragraph) สุดท้ายที่ท่านไปเขียนเกี่ยวกับว่าทางด้านผู้ที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถที่จะไปเป็นกรรมาธิการชุดอื่น ๆ ได้ในช่วงเวลา ๔ เดือนหรือประมาณนั้น เพราะฉะนั้นอันนี้ผมยังคิดว่ามันก็จะทำให้การหมายถึงว่าเชื่อมโยงกันระหว่างด้านต่าง ๆ กับตัวกรรมาธิการจะหลุดไปในช่วงนั้นพอดีด้วย ในช่วงที่จำเป็นจริง ๆ ในช่วงที่กำลังมี การยกร่างมันควรจะต้องมีการที่จะประสานกันให้มีความเหนียวแน่นว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ เป็นไปตามที่ผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ได้ช่วยกันในการที่จะช่วย ไม่ใช่เฉพาะมาฟัง ในที่ประชุมใหญ่ ในที่ประชุมใหญ่ของ สปช. ครั้งนี้มันก็ผู้คนมาก เพราะฉะนั้นในการที่จะคิดเห็น มันก็อาจจะมีประเด็นที่จะขาดตกบกพร่องไป ผมคิดว่ามันน่าจะต้องพยายามทำอย่างไร ที่จะให้ตัวกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อยู่ในคณะกรรมาธิการแต่ละด้านด้วยครับ ผมก็มีแค่นี้ครับ ขอขอบพระคุณมากครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เชิญคุณคณิศรครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คณิศร ขุริรัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากจังหวัดหนองบัวลำภูครับ ผมคงไม่โต้แย้งกับสรุปผล การประชุมของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) นั่นก็คือรับสมัครผู้ที่ ต้องการเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง ๒๐ คนจากสภาแห่งนี้ แต่ที่ผมกังวล นั่นก็คือ ในแต่ละ ๑๑ ด้าน ๑๑ คน ๑๑ ท่าน และในแต่ละภูมิภาค ๔ คน ๔ ท่านนั้น หากว่าเกิด อุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยทั้ง ๑๑ ท่าน และ ๔ คน รวม ๑๕ ท่านนั้นไม่ได้มีชื่อปรากฏ ในวันเลือกตั้ง นั่นก็คือสิ่งที่เรากังวล เพราะฉะนั้นผมขึ้นมาในครั้งนี้คงต้องกราบวิงวอน เพื่อนสมาชิกขอความเห็นใจ ขอความกรุณาได้โปรดกรุณาเลือกทั้ง ๑๑ คน ๑๑ ด้าน แล้วอีก ๔ คน ๔ ท่านในภูมิภาค แล้วอีก ๕ ท่านนั้นท่านจะเลือกผู้รู้ ผู้มีความสามารถตามที่ ท่านคิดท่านเห็นผมก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างไร ทั้งนี้ในภูมิภาคนั้นต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องยึดโยงกับ ประชาชนและสภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งนี้นะครับ ผมเพียงเข้ามากราบวิงวอนเท่านั้นครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาและเพื่อนสมาชิกครับ ผม วสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หมายเลข ๑๗๘ ด้านสื่อสารมวลชนนะครับ อยากกราบเรียนที่ประชุมดังนี้ครับว่า ผมคิดว่าในที่ประชุมก็คงเห็นคล้ายกันว่าอยากเห็น ความหลากหลายของที่มาของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนะครับ แต่ว่านอกจาก ความหลากหลายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องความสมัครใจแล้วก็คุณสมบัติความรู้ ความสามารถนะครับ เห็นด้วยครับที่กลุ่มแล้วก็ด้านต่าง ๆ จะเสนอผู้สมัครเพื่อที่จะมาเป็น กรรมาธิการ อย่างไรก็ตามจะต้องไม่ตัดสิทธิของผู้อื่นที่ประสงค์จะสมัครโดยตรงนะครับ หรือว่าถ้าหากกลุ่มจะเสนอมากกว่า ๑ คนก็สามารถจะทำได้
– ๑๕/๑ ที่สำคัญก็คือต้องไม่ตัดสิทธิของสมาชิกทั้งสภาในการที่จะเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๒๐ คนนะครับ เพราะว่าถ้าหากว่าเราไปกำหนดเป็นโควตากำหนดไปว่าแต่ละด้านต้องการันตี ๑ คนนะครับ แต่ละภาคต้องการันตี ๑ คน ก็เท่ากับว่าเราจะไปตัดสิทธิของสมาชิกทั้งหมด ที่จะเลือก ๒๐ คน ซึ่งก็เสี่ยงต่อการที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญนะครับ ผมคิดว่าการแยกออกไป เป็นด้านต่าง ๆ นั้นนะครับ เราแยกกันเพราะว่าเป็นที่มาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในระยะเริ่มต้นก็เป็นขั้นตอนเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกัน แต่การทำงานของเรา จะต้องทำงานในภาพรวมของสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้งหมดนะครับ เมื่อมีการสมัครมาในแต่ละด้าน ถ้าหากว่าเราไปล็อกไปเลือกเป็นด้าน ๆ ไป เราก็จะมีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ๒ ประเภท ๒ ชั้น คือเหมือนกับพลเมืองชั้นหนึ่งนะครับ ที่ผ่านการเลือกแล้วก็ที่นั่นการันตี ตำแหน่งมา ในขณะที่มีชั้นสองคือเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ แล้วก็มีอยู่แค่ ๕ คน ดังนั้นผมคิดว่า ควรจะเป็นที่ชัดเจนนะครับว่าสภาแห่งนี้ควรจะเลือกทั้ง ๒๐ คน แล้วก็ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด อันดับ ๑-๒๐ ก็คือผู้ที่สมควรจะเป็นกรรมาธิการ เป็นตัวแทนของพวกเราทั้งหมดที่จะ เสียสละไปยกร่างรัฐธรรมนูญนะครับ ในขณะที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้งหมดก็ยัง สามารถที่จะแบ่งงานกันได้ไปทำงานในด้านกรรมาธิการด้านต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการสามัญหรือกรรมาธิการวิสามัญนะครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างของ ด้านสื่อสารมวลชนนะครับ เราคุยกันในกลุ่มเราเห็นว่าควรจะมีตัวแทนทางด้าน สื่อสารมวลชนเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ที่เหมาะสมอย่างเช่น อาจารย์มานิจ สุขสมจิตร นะครับ แต่เราคิดว่าไม่ควรที่จะไปล็อกเป็นโควตาเอาไว้ เราก็เสนอ แล้วก็เห็นว่าท่านเหมาะสมก็หวังว่าที่ประชุมนี้จะเลือกท่านเข้าไปนะครับ แต่ว่าเวลา ท่านทำงานก็คงไม่ได้ทำงานเฉพาะด้าน ก็คงทำงานในแง่ของภาพรวม สุดท้ายนะครับ ผมคิดว่า คือการทำงานเราก็คงอยากจะเห็นตัวแทนจากทางด้านภูมิภาค แล้วก็ตัวแทนจากผู้หญิงเข้ามาเป็น กรรมาธิการอยู่ด้วยนะครับ ดังนั้นตอนเลือกก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ คือผมคิดว่าตอนเลือก หวังว่าเราจะเลือกให้มีความหลากหลาย แต่ว่าต้องไม่ขัดกับหลักการที่ว่าที่ประชุมนี้จะต้อง เลือกทั้ง ๒๐ คน แล้วก็ไม่มีการล็อกโควตาไม่มีการบล็อกโหวตครับ ขอบคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เชิญคุณธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ครับ
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมมีประเด็นสั้น ๆ ครับ ท่านประธานครับ คงไม่ใช้ เวลามาก
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ เรามีความกังวลกันว่าขณะนี้เราอาจจะไม่มีตัวแทนที่มาจาก กลุ่มใน ๑๑ ด้าน ๔ ภาค
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เรามีประเด็นในเรื่องของผู้ที่ได้รับการปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนต่าง ๆ ผมอาจจะมีข้อเสนอนิดหนึ่งนะครับว่า ประเด็นที่เรากังวลจริง ๆ แล้วเมื่อวานมีการพูดกันมาก แต่ว่าคณะกรรมาธิการกิจการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ก็มีแนวทางที่ออกมาเป็นคนละทิศทางกัน สิ่งที่ผมอยากเป็น ข้อเสนอเล็ก ๆ นะครับ เป็นข้อเสนอที่ทุกคนอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ผมคิดว่าน่าจะมีตัวแทน ทั้ง ๑๑ กลุ่ม ๔ ภาค เป็นไปได้ไหมครับ ที่เราจะมีตัวแทนไปคุยนอกรอบกันให้มีความชัดเจน อะไรในลักษณะของจุดอ่อนที่เรากลัวเกรงว่าจะไม่มีความเชื่อมโยง แต่ในส่วนที่ ๒ เป็นข้อเสนอที่ผมมองว่าไม่ควรปิดกั้นในเรื่องของเมื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะไปเป็นกรรมาธิการด้านอื่น ๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนะครับ เพราะประเด็นตรงนี้จะเป็น ความเชื่อมโยงของข้อมูลที่จะเอาเข้ามาสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นประเด็นตรงนี้ อยากจะฝากไว้พิจารณานะครับ ก็คงขออนุญาตนำเรียนไว้เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวันชัย สอนศิริ ครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ท่านประธานครับ ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่า จากการประชุมของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ในวันนี้ หลังจากที่เรา ได้มีการประชุมกันแล้ว ได้ขอให้ตัวแทนในคณะกรรมาธิการแต่ละท่านไปประชุมแต่ละด้าน แต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของกระผมคือด้านกฎหมาย ได้มีการประชุมและชี้แจง ทำความเข้าใจเป็นที่ชัดเจนแล้ว โดยบอกว่าคณะกรรมาธิการเมื่อวานนี้ได้ประมวลความคิด ของท่านสมาชิกทุกท่านแล้วมารวมเป็นข้อเสนอในวันนี้ ก็คือให้แต่ละด้าน แต่ละกลุ่ม จะเสนอ ๑ ท่าน ๒ ท่าน ๓ ท่าน หรือท่านใดไม่เสนอก็ได้ เป็นความเห็นว่าในที่สุด เราจะเลือกกันได้ ๒๐ คน ซึ่งอันนี้เป็นอิสระ เป็นความเสรีของท่านสมาชิกตามที่ ท่านต้องการ ๒๐ ท่าน เมื่อวานนี้ในส่วนของด้านกฎหมายได้ประชุมและชี้แจงแล้ว ทุกท่านเห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) และพวกเราเองยังได้ทำงานต่อไปด้วย โดยถามว่าแต่ละท่านมีท่านใดสมัครใจที่จะเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบ้าง ปรากฏว่าด้านกฎหมายได้ ๔ ท่านครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นทางด้านกฎหมายก็จะส่งเสนอมา ๔ ท่านในวันพรุ่งนี้ก่อนเที่ยง เสร็จสิ้นครับ ท่านประธาน และในที่สุดที่ประชุมก็จะเลือก จะเลือกด้านกฎหมายทั้ง ๔ ท่านก็ไม่ว่า หรือไม่เลือกเลยก็เป็นสิทธิของท่านสมาชิก ผมว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปทั้งความอิสระ ของท่านสมาชิก เพราะฉะนั้นด้วยความเคารพต่อท่านประธานและท่านสมาชิกครับ ถ้าท่านสมาชิกทุกท่านได้เข้าประชุมกลุ่มและประชุมด้านของท่านในวันนี้ในตอน ๑๓.๐๐ นาฬิกา มีการชี้แจงกันในลักษณะดังที่ผมกราบเรียนนี้ เชื่อเหลือเกินว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะตอนนี้ด้านกฎหมาย ๔ ท่านเขียนใบสมัครเสร็จแล้ว ยื่นแล้ว แล้วเจ้าหน้าที่รับไปเรียบร้อยแล้วครับ เพราะฉะนั้นแต่ละด้านถ้าทำเช่นนี้ไม่มีปัญหา อะไรเลยครับท่านประธาน และถ้าเกิดไม่มีด้านของท่านเสนอตัวท่านเอง ใจดำเหลือเกิน ด้านของท่าน ท่านก็สมัครได้ด้วยตัวเอง ง่ายมากเลยครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ประเด็นที่เรากำลังถกแถลงกันนั้น ถ้าท่านประธานและท่านสมาชิกนั้นเห็นเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากนี้ ผมว่านอกเหนือจากนี้ก็ค่อนข้างจะลำบากครับท่านประธาน เพราะนี่ถือว่า เป็นการเปิดฟรีตามที่ท่านสมาชิกต้องการ เพียงแต่ให้ด้านเสนอเท่านั้นเอง ยังเสนอตัวเอง ได้อีกครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นกราบเรียนว่าถ้าท่านประธานจะกรุณาว่าขมวดปมให้สั้น กระชับ และถ้าวันนี้มีมติก่อนสี่โมงเย็น ท่านยังไปประชุมกลุ่มและด้านได้อีก แต่ด้านกฎหมาย กราบเรียนท่านประธานว่าไม่ประชุมแล้วครับ ๔ คนเรียบร้อยแล้วครับท่าน ถ้าทำแบบนี้ ไม่เห็นน่าจะมีปัญหาประการใดเลยครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อาจารย์วันชัย จะมีปัญหาเจ้าหน้าที่รับใบสมัครเร็วเกินไป
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ประทานโทษผมเห็นไม่ถนัด เชิญท่านที่ยกมืออยู่ครับ
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ
ผม เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หมายเลขสุดท้ายครับ ๒๕๐ ผมคิดว่าเราคุยกันมาเยอะแล้วนะครับ แล้วก็ได้เห็นทั้งข้อดีข้ออ่อนของข้อเสนอของ คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ไปแล้วนะครับ แล้วผมคิดว่าคุยกันต่อไป ก็คงวนแล้วครับ จะดีไหมครับถ้าเราจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) กันเลยครับ ผมขอเสนอเป็นญัตติ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผู้รับรองครับ
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้นฉบับ
ขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานครับ ผมว่าอย่าเพิ่งปิด ผมมีเรื่องที่จะ อภิปรายอยู่อาจจะเห็นต่างบ้างครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
มีใครเสนอขอเปิดไหมครับ มีผู้รับรองไหมครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผมคิดว่าคงต้องขอมติแล้ว ละครับ เมื่อสักครู่ถามแล้วว่าจะมีผู้เสนอขอเปิดไหม มี แล้วยกมือรับรองเพียง ๓ ท่าน มันก็ไม่พอ ผมกำลังเรียนว่าการอภิปรายตอนนี้มันขมวดปมอย่างที่ท่านสมาชิก ขอประทานโทษ ท่านอาจารย์เอนกได้ยกแล้วว่าข้ออภิปรายส่วนหนึ่งคือเห็นด้วยกับที่คณะกรรมาธิการได้ไป เตรียมมาให้ อีกส่วนหนึ่งคือไม่เห็นด้วย แล้วไม่เห็นด้วยก็มีข้อปลีกย่อย กระผมคิดว่าสาระที่ ขอประทานโทษอีกครั้งเอ่ยนามว่าอาจารย์เจิมศักดิ์ ย่อหน้าสุดท้ายเราพักไว้ก่อนได้ไหม คือย่อหน้าสุดท้ายมันมี ๒ ท่อน ท่อนหนึ่งคือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็น กรรมาธิการอื่นใดไม่ได้เดี๋ยวมันจะปรากฏในคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับอีกที แต่เอาไว้ว่ากันอีกที แต่ส่วนเรื่องข้อห้าม ๒ ปี ทำงานการเมืองไม่ได้มันอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นวรรคสุดท้ายมันมี ๒ เรื่อง แต่ว่ายกไว้ก่อน เอาสาระข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ เสียก่อน แล้วตอนนี้ถึงเวลาที่พอจะสรุปแล้วขอความเห็นที่ประชุมรวมได้แล้วไหมครับ อภิปรายกันมา พอสมควร
ท่านประธานครับ มันมีลิสต์ (List) รายชื่ออยู่แล้ว ก็ถ้าจะปิดอภิปรายนี่ผมคิดว่าควรจะต้องให้คนที่อยู่ในรายชื่อนี่ได้อภิปรายหมดก่อนครับ ท่านเอนกมายกมือทีหลังก็ต้องเสนอทีหลังจากนั้นนะครับ ท่านประธานจะมาชี้ก่อนไม่ได้ครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
คือในรายชื่อมันปรากฏ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าเป็นรายชื่อที่ปรากฏตอนแรกผมได้ทำหน้าที่จบแล้ว แล้วมีสมาชิกเสนอปิดเรียบร้อย รับรองเรียบร้อย เพราะฉะนั้นผมก็ขออนุญาตเถอะว่า ประเด็นการอภิปรายน่าจะขมวดปมได้
ท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ครับ กำลังจะฟังอยู่ครับ
ท่านประธานครับ กระผม เชื้อ ฮั่นจินดา ครับ สมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอท่านประธานนิดเดียวว่าที่ทางคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้นำเสนอมากระผมมีความเห็นอย่างนี้ครับ ท่านประธานครับ ในวิธีการที่เสนอมา ทั้งหมดที่ให้เปิดกว้างอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะว่าอยากจะให้ทางคณะกรรมาธิการได้นำเสนอ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผมคิดว่าการอภิปราย ต้องยุติแล้วนะครับ
ผมไม่ได้อภิปรายครับท่านประธาน แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุด คืออยากให้คณะกรรมาธิการได้นำเสนอต่อเนื่องจากที่คณะกรรมาธิการได้นำเสนอไปด้วย เรื่องที่ผมกำลังนำเสนอก็คือว่าท่านกรรมาธิการต้องการให้เป็นไปตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ อย่างที่ว่า แต่ผมอยากเห็นข้อที่ ๕ และข้อที่ ๖ ครับว่าหลังจากเอาวิธีการ ที่คณะกรรมาธิการได้นำเสนอในที่ประชุมแห่งนี้แล้ว หลังจากมีผู้สมัครเสร็จอยากรู้ว่าวิธีการ หลังการรับสมัครเรียบร้อย แล้ววิธีการเอาชื่อของผู้สมัครที่คณะกรรมาธิการได้คิดเอาไว้มีการ เรียงชื่อเสนอชื่ออย่างไร เป็นไปตามกลุ่มข้อ ๒ เป็นไปตามภาคที่มีการแบ่งเอาไว้ หรือว่ามี การเรียงตามตัวอักษรเพื่อให้ที่ประชุมแห่งนี้ได้ใช้วิธีการในการคัดเลือกหรือลงคะแนนอย่างไร ฉะนั้นคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ก็ต้องชี้แจงประเด็นที่จะต้อง ต่อเนื่องจากการที่นำเสนอชื่อด้วยนะครับ เพื่อความโปร่งใส เพื่อความเข้าใจของสมาชิกทั้งสภาด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขยายความเพิ่มเติม นิดเดียว
ท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ให้ผมตอบอันนี้ก่อนนะครับ
ผมเรียนท่านประธานว่าท่านประธานมีทางเลือก ๒ ทางเท่านั้นตอนนี้ ท่านไม่ต้องตอบแล้ว ขออนุญาตครับ ท่านจะตัดสินใจให้ลงมติว่าจะปิด หรือไม่ปิดเท่านั้นครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เข้าใจครับ
ท่านไปตอบอีกมันก็ต่อกันไปอีกครับท่าน ตอนนี้ ท่านมีทางเลือกอยู่แค่นี้ครับท่านประธาน
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ผมอยากจะเคลียร์ (Clear) ตรงจุดนี้เท่านั้นเอง แล้วเดี๋ยวจะกลับมาหามติ คำตอบมันอยู่ในข้อ ๓ ข้อ ๔ เรียบร้อย การเรียงลำดับรายชื่อนั่นเป็นแค่กระบวนการ แต่ทั้งหมดนี่จะวงเล็บท้ายชื่อว่า ท่านมาจากกลุ่มไหนและภาคไหนอยู่ในนี้เรียบร้อยครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตนิดเดียวครับ ท่านประธานครับ ที่มาที่บอกว่าระบุรายชื่อด้านท้าย
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขออนุญาตจบแล้วครับ
เราเรียงตามตัวอักษรใช่ไหมครับ ตอนที่เรียงรายชื่อ เรียงตามตัวอักษร ก-ฮ หรือว่าเรียงตามกลุ่มด้านที่เสนอมาครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผมได้ตอบแล้ว เมื่อสักครู่ครับ ขออนุญาต ผมคิดว่าถึงเวลาขอมติจากที่ประชุมแล้วละครับ ผมจะขอมติ จากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการที่เสนอต่อสภาเกี่ยวกับแนวทาง การสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ ๒๐ คนหรือไม่
ท่านประธานครับ ขออนุญาตท่านประธาน มันมีญัตติที่เขาเสนอขอปิดอยู่นะครับ แล้วก็มีคนที่เขาไม่เห็นด้วยเขาขอเปิดอยู่
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผมยังไม่เห็นเลย
เมื่อครู่นี้มีครับท่าน แล้วก็มีคนยกมือ ยกมือนั้น คือเสียงรับรองนะครับ ไม่ใช่เสียงลงคะแนนนะครับ เขามีอยู่ ๒ ญัตติ ตรงนี้ขอปิด ตรงนี้ขอเปิด ท่านก็จะลงมติว่าจะเอาอย่างไรจะได้เดินต่อได้ เจ้าหน้าที่ เลขาธิการ ช่วยหน่อยสิครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ผมคิดว่าผมเรียงลำดับ เหตุการณ์ใหม่ เริ่มต้นมีผู้เสนอขอปิด และผู้รับรองจำนวนมาก ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ ไม่ได้นับว่าเท่าใด ในขณะเดียวกันก็มีผู้ยกมือว่าอยากจะขอเปิดต่อ แต่มีผู้รับรอง ๓ คน มันจบตรงที่มีการลงมติแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็จะขอขานมติว่าจะเห็นด้วยกับรายงาน หรือไม่ ขออนุญาตตรวจสอบองค์ประชุมก่อนนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
กรุณาแสดงบัตรด้วยนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่ส่งผลเลยครับ ขณะนี้มีผู้เข้าประชุม ๒๑๖ ครบองค์ประชุมนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขออนุญาตขานมติ ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ยกเว้น ส่วนย่อหน้าสุดท้ายนะครับ อันนั้นเดี๋ยวไปว่ากัน ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ถ้าเห็นด้วย กรุณากดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกรุณากดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ท่านใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกด งดออกเสียง เชิญครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ส่งผลคะแนนได้ไหมครับ ผู้เข้าประชุม ๒๒๓ เห็นด้วย ๑๖๕ ไม่เห็นด้วย ๔๗ งดออกเสียง ๑๐ ไม่ลงคะแนน ๑ เป็นอันว่าเราดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
การประชุมพิจารณาของกลุ่มและภาคเพื่อเสนอชื่อหรือพิจารณาผู้ที่ เหมาะสมดำเนินการได้หลังจากประชุมนี้ แล้วก็กรุณาให้เขียนใบสมัคร ส่วนท่านที่ประสงค์ จะเสนอบุคคล คือตัวท่านเองกรุณากรอกใบสมัครแล้วก็ยื่นก่อน ๑๒.๐๐ นาฬิกาวันพรุ่งนี้ รายละเอียดคงมีเท่านี้ก่อน ท่านยกมือ อาจารย์ดุสิต เครืองาม ก่อน ผมดูไม่ทันว่าใครยกก่อน ขอประทานโทษนะครับ
กราบเรียนท่านประธาน กระผม ดุสิต เครืองาม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อสักครู่ผมพยายามที่จะยกมือ แต่ว่าปิดการอภิปรายไปแล้ว แต่ผมขอกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาสอีกเล็กน้อยครับ นับจากวินาทีนี้ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึงพรุ่งนี้เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ซึ่งเข้าใจว่าจะมีการเรียกเชิญประชุม สปช. กันอีกครั้งหนึ่งในวันพรุ่งนี้เวลาบ่ายสองโมง ผมเชื่อว่าเป็นเวลาที่มีความสำคัญมาก และกระผมเองจะพยายามทำหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอย่างดีที่สุด เพื่อที่จะได้ไตร่ตรองแล้วก็คัดเลือกผู้สมควรที่จะได้รับการคัดเลือกสรรหามาเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมจึงใคร่ขอกราบเรียนเสนอว่าทันทีที่มีผู้ยื่นใบสมัคร เข้ารับการสรรหาแล้ว ควรที่จะเปิดเผยรายชื่อเหล่านั้นโดยทันทีมิชักช้า ซึ่งอาจจะอาศัย เว็บไซต์ (Web site) ของรัฐสภาก็ย่อมเป็นได้ ผมไม่อยากจะให้สื่อมวลชนไปลงข่าวอีนุงตุงนัง มั่วไปหมด แล้วก็ทันทีที่ได้เห็นรายชื่อปรากฏอยู่ในเว็บไซต์แล้ว คืนนี้ผมคงจะไม่ได้นอนนะครับ ก็คงจะนั่งเปิดถามอากู๋ไปเรื่อย ๆ ครับว่าท่านผู้ใด เป็นใคร มาจากไหน มีความชำนาญอะไร เป็นอย่างไรบ้างนะครับ นั่นคือข้อเสนอแนะข้อที่ ๑
ข้อที่ ๒ ครับท่านประธาน ในใบสมัครเมื่อสักครู่นี้ได้ออกไปขอทางเจ้าหน้าที่มา มีเอกสารให้กรอกเยอะมาก ผมคิดว่าใบหน้าใบแรกขอก่อนเลย เพราะว่าเป็นการบอกถึง ความจำนงในการสมัครนะครับ แล้วก็มีย่อหน้าสุดท้ายเขียนว่าประสบการณ์ที่สำคัญนะครับ ตรงนี้ก็น่าจะหมายถึงประสบการณ์และความชำนาญ ซึ่งตรงนี้ถ้าหากว่ามีข้อมูลออกจาก เว็บไซต์ของรัฐสภาได้เร็วที่สุดเท่าไรก็จะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการประกอบการตัดสินใจ นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไปครับ ขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอขยายความจาก อาจารย์ดุสิตนิดหนึ่ง ขออนุญาตในที่นี้รายละเอียดประกอบใบสมัครมันจะเยอะ แต่ว่า เป็นกระบวนการรับรองตัวเองว่าไม่ขาดคุณสมบัติและไม่เข้าข้อห้ามใด ๆ ทั้งหมดมันเยอะ มากเลย ท่านกรุณาช่วยดูด้วย เมื่อสักครู่ท่านที่ยกมือไว้ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ครับ โอเค (OK) ผมเห็นแล้วครับ เดี๋ยวนะครับ
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ใคร่ขอกราบเรียนผ่านท่านประธาน เนื่องจาก มีท่านสมาชิก ๒ ท่านที่ได้อภิปรายในส่วนที่เป็นวรรคสุดท้ายมติของที่ประชุมวิปที่เกี่ยวกับ เรื่องของการที่ไม่ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งในกรรมาธิการ ของสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ก็มีหลายท่านได้มากระซิบกับผมว่าไม่ค่อยจะเห็นด้วย รวมทั้ง ท่านที่อภิปราย คือท่านอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และท่านวิบูลย์ คูหิรัญ ขออนุญาต ที่เอ่ยนาม ผมจะขอเสนออย่างนี้นะครับ เพราะพรุ่งนี้จะมีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณารายละเอียดของข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมจะขอใส่ไปอย่างนี้ ถ้ามีท่านใดไม่เห็นด้วยก็ติดต่อมาที่ผมเพื่อที่จะได้ปรับปรุงนะครับ ให้กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ ๑ คณะ แต่จะดำรงตำแหน่งประธานหรือเลขานุการมิได้ ที่ผมใช้คำว่า วิสามัญ หลายท่าน อาจจะมีเสียงเข้ามาที่หูผมว่าผมพูดผิดหรือเปล่านะครับ ที่จริงแล้วผมพูดไม่ตรงกับที่มีการแถลงข่าวไป เวลาเราแถลงข่าวนี่เราไม่ได้หลอกสื่อมวลชน แต่เราทำงานแบบปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของท่านสมาชิกนะครับ เมื่อกลางวันนี้ ก็มีการประชุมกัน ท่านสมาชิกผมขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านบวรศักดิ์ก็บอกว่าอย่าให้เป็น สามัญ อย่าให้เป็นสามัญเพราะว่าทางนโยบายของคณะ คสช. นี่อยากให้ผู้ที่สมัครเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกนี่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับ พวกเราอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็จะเห็นว่าท่านที่จะตั้งผู้ติดตาม ผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญ ของท่านนี่ท่านก็ต้องตั้ง ๑ คนจาก ๕ คนที่มาจากผู้สมัคร กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันนะครับ เราก็จะเปิดกว้างให้คณะกรรมาธิการของเราทุกคณะซึ่งขณะนี้มี ๑๗ คณะ ที่เดิมเรียกว่า สามัญเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยจะมีคนนอกสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น กรรมาธิการวิสามัญกับเราได้ ๑ ใน ๕ ก็ประมาณ ๗ คนนะครับ อันนี้ก็จะเป็นแนวคิด ที่จะเสนอในที่ประชุมพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็ขออนุญาตกราบเรียน ถ้าไม่ขัดข้องก็จะทำตามนี้ แต่ถ้ามี ความเห็นเป็นอย่างอื่นขอเชิญท่านให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เชิญอาจารย์บวรศักดิ์ครับ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม บวรศักดิ์ ในฐานะกรรมาธิการนะครับ ต้องขอชื่นชมท่าน พลเอก เลิศรัตน์ ในฐานะ ประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมเป็นอันมากที่ใจกว้างให้ท่านสมาชิกที่ไปเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถเป็นกรรมาธิการ ๑ ชุดได้ของสภา แต่ด้วย ความเคารพต่อท่านผู้อาวุโส กระผมคิดว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องทำงาน หามรุ่งหามค่ำ อาจจะต้อง ๗ วัน ถ้าหากว่าจะเมตตาให้คนที่มาทำงานเป็นกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ แล้วเข้าประชุมได้ในบางโอกาส ก็จะเป็น พระเดชพระคุณล้นเหลือแล้วละครับ แต่ถ้าให้ไปเป็นกรรมาธิการเองจะมีปัญหาทั้ง ๒ ด้าน คือเวลาขาดจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนี่เราก็ไม่รู้ว่าไปประชุมคณะกรรมาธิการ ของสภาจริงหรือเปล่า ท่านก็อ้างว่าอย่างนั้นนะครับ แต่ขาดจากคณะกรรมาธิการของสภา เขาก็คงเดาว่าไปประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่พอถามมาที่ชุด ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มี เพราะฉะนั้นองค์ประชุมจะมีปัญหานะครับ ผมจึงกราบเรียนว่า ถ้าจะเมตตาเขียนที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่นับเป็นองค์ประชุมอย่างนี้ ถึงจะเหมาะสม แล้วก็ไปเข้าประชุมในเรื่องที่มีความจำเป็น มีความสำคัญ แล้วความจริง ท่านประธานที่เคารพก็ทราบแล้วว่าท่าน พลเอก เลิศรัตน์กำลังร่างคณะกรรมาธิการติดตาม และประสานงานการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย ชุดนั้นนะครับจะเป็นชุดใหญ่เลยที่จะคอย ประสานกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่าง กระผมจึงกราบเรียนเสนอ ให้ทบทวนเถอะครับ เพราะไม่อย่างนั้นท่านสมาชิกก็จะทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ทั้ง ๒ ด้าน ถ้าหากว่าเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ไม่นับองค์ประชุมนี่ท่านอยากไปก็ไป ไม่อย่างนั้นจะขาด ทั้ง ๒ ที่ครับ แล้วขาดทีหนึ่ง ๒๐ คนนี่มันไม่เป็นองค์ประชุมนะครับ คณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญประชุมไม่ได้นะครับ ขอบพระคุณมากครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เดี๋ยวเราคงได้ดูกันอีกที ตอนดูข้อบังคับด้วย แล้วอย่างที่ท่านเลิศรัตน์พูดก็คือให้ความเห็นเพิ่มเติม ผมมีรายชื่อ ท่านที่ยกมือก่อนหน้านะครับ ตาผมไม่ดี เชิญครับ มีคุณสุชาติ นวกวงษ์ ด้วย ท่านเสรีด้วยนะครับ
กระผม นายสุชาติ นวกวงษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมนะครับ หมายเลข ๒๑๘ ครับ ท่านประธานครับ ในกรณี ที่คณะกรรมาธิการได้นำเสนอแนวทางในการได้มาซึ่งกรรมาธิการ จำนวน ๒๐ คนนี่นะครับ อันนี้ผมไม่ติดใจครับ เพราะว่าอย่างไรก็ต้องมีข้อสรุปเพื่อเดินทางไปสู่การปฏิบัตินะครับ แต่มีประเด็นอยู่เรื่องหนึ่งนะครับ คือว่าทำไมต้องจบในพรุ่งนี้ วันนี้ไม่ได้หรือครับ ท่านประธาน อันนี้ข้อที่ ๑ นะครับ เดี๋ยวครับ ยังไม่หมดครับ ท่านประธานครับ ยังไม่หมดครับ ทำไมต้องวันพรุ่งนี้นะครับ แล้วต้องเที่ยงด้วยนะครับ วันนี้ไม่ได้หรือนะครับ ข้อที่ ๒ ครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ให้ผมตอบก่อนสั้น ๆ ก่อนได้ไหม เราคำนึงตรงนี้
เดี๋ยวท่านค่อยตอบก็ได้ครับ เดี๋ยวท่านมีเวลาตอบครับ เพราะว่าอันนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของการถามเพื่อล้างความค้างในใจว่าทำไมต้องเป็นพรุ่งนี้ ๑๒.๐๐ นาฬิกานะครับ
ข้อที่ ๒ แล้วผมจะทราบได้อย่างไรว่าผู้สมัครมีทั้งหมดกี่คนหรือว่าเสนอชื่อมากี่คน ข้อที่ ๒ นะครับ เพราะฉะนั้นควรจะต้องมีการเปิดเผยรายชื่อด้วยนะครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ใช่ครับ
ข้อที่ ๓ ครับ อันนี้เป็นคำปรารภของกระผมเองนะครับ ดังที่ผมได้เคยเรียนกับท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติตั้งแต่วันโน้นแล้วนะครับ ผมเรียน ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งครับ ผมมีแม่เป็นผู้หญิงนะครับ เพราะฉะนั้นผมยังเน้นสัดส่วนของการมี สุภาพสตรีอยู่ในคณะกรรมาธิการนะครับ ถ้าใครเห็นด้วยกรุณาหัวเราะเถอะครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ประเด็นแรก ความจริงเราจะทำเสียให้เสร็จวันนี้ แต่เกรงว่าแต่ละท่านเขียนใบสมัครไม่ทันเพราะมันยาวมากเลย แล้วเจ้าหน้าที่ต้องไปทำแบลลอท (Ballot) ซึ่งเราไม่รู้ว่ากี่คน แบลลอทนั้นนอกจากเรียงชื่อ แล้วมันจะต้องวงเล็บชื่อแล้วเตรียมทั้งหมดเลยแล้วสมาชิกกาลงคะแนน คำถามคือ ต้องพักการประชุมไปให้เจ้าหน้าที่ทำการนั้น เมื่อลงคะแนนแล้วนับต้องขอท่านเป็นกรรมการ นับคะแนน เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงในการนับ เหตุนี้ละครับที่ทำวันนี้ไม่ได้ โอเคนะครับ เพราะขณะนี้เย็นมาก
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ส่วนที่ ๒ รายละเอียดที่ท่านขอไว้เมื่อสักครู่จะเห็นรายชื่อ เห็นแน่นอน เพราะว่าต้องมีโพยทั้งหมดเลยว่าใครสมัคร แล้วมาจากกลุ่มไหน จากจังหวัดไหนตามนี้ก่อน ที่จะลงคะแนนเสียง เพราะฉะนั้นผมยังจะเรียนต่อว่าพรุ่งนี้จะมีประชุมบ่ายสองโมง แต่ว่าเผอิญยังไม่ได้ใกล้เวลาปิดประชุมขอเอาแค่ตรงนี้ก่อน คงตอบคำถามท่านจบแล้ว ท่านที่ยกมือไว้นี่มีท่านเสรี เชิญท่านเสรีก่อนครับ แล้วอาจารย์ดุสิต เครืองาม อาจารย์ดุสิต แล้วนี่ใช่ไหมครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ่งที่ผมจะกราบเรียนตรงนี้นี่นะครับ ก็อยากจะเรียน ไปยังท่านที่จะสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของการจะเข้าไป ทำหน้าที่ดังกล่าว ในส่วนที่การจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ท่านต้องมีคุณสมบัตินะครับ คุณสมบัติต่าง ๆ ที่แจกไปให้ เช่น ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่มีประวัติที่เขาต้องห้ามไว้นะครับ ถ้าหากว่าท่านเสนอแล้วนี่นะครับ เกิดไปขัด หรือด้วยความหลงลืม หรือด้วยความตั้งใจ ไม่ตั้งใจ แต่คุณสมบัติท่านเกิดขัดขึ้นมาแล้วท่านก็มาสมัคร ผลที่ตามมานี่นะครับ ท่านต้องระวังนะครับ อยู่ในมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอะไร ดังกล่าวนี่นะครับ และให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับ มาตรา ๙ นี่นะครับเป็นเรื่องสมาชิก ที่นำมาใช้ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อพ้นจากสมาชิกตามมาตรา ๑๒ (๔) มาตรา ๑๒ เขาว่าอย่างไรครับ มาตรา ๑๒ รัฐธรรมนูญบอกว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ใดกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกก็อาจจะต้องพ้นจากตำแหน่งนะครับ อาจจะต้องพ้นตามมาตรา ๙ (๔) นะครับ ก็เลยกราบเรียนท่านประธาน เป็นห่วงนะครับ เพราะบางท่านขาดคุณสมบัติแต่คิดว่าคนอื่นไม่รู้ แล้วก็เกิดไปสมัครขึ้นมาตอนหลังเกิดไปรู้ ขึ้นมาทำให้กระบวนการที่เขาจะต้องไปยกร่างมันเสียหาย เพราะฉะนั้นท่านต้องระวังตัวเอง แล้วก็มีสภาพบังคับกับการที่อาจจะต้องออกหรือพ้นจากตำแหน่งได้ ก็เลยกราบเรียนเพื่อ ทำความเข้าใจไว้ ณ ที่นี้นะครับ ขอบคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
มีผู้อภิปรายเกี่ยวกับ เรื่องนี้เพิ่มเติมอีก ๓ ท่านในขณะนี้นะครับ ท่านโกวิท ศรีไพโรจน์ เชิญก่อน อาจารย์ดุสิต เครืองาม แล้วก็คุณสืบพงศ์ ธรรมชาติ เรียงลำดับตามนี้ครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม โกวิท ศรีไพโรจน์ สมาชิกหมายเลข ๑๙ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเด็นผมไม่มีอะไรครับ นิดเดียวครับ คือตรงนี้ต้องขอกราบอภัยท่านประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ประทานโทษนิดเดียวครับ ของผมมีข้อกังวลอยู่เล็กน้อยในประเด็นนั้น ก็คือว่าตัวแทนของแต่ละภาคที่พวกเราได้ไปนั่งประชุมกันแล้วก็เห็นด้วยตามที่ท่านทางฝ่าย คณะกรรมาธิการวิสามัญประสานกันนั้นเห็นด้วยตรงกันหมดแล้วนะครับ แต่เมื่อสักครู่ เนื่องจากว่าท่านก็เสนอในที่ประชุมตรงนี้ ผมเกรงว่าเดี๋ยวจะสับสนเล็กน้อยนะครับ เนื่องจากว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมาจาก ๔ ภูมิภาค ก็จะต้องเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะ สะท้อนเสียงของประชาชนเข้าไปสู่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คราวนี้ตัวแทนของ แต่ละจังหวัดมีภารกิจสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง คือจะต้องไปรับฟังเสียงจากประชาชนในจังหวัด ของท่าน แล้วก็ที่เราเคยคิดกันไว้ก่อนแล้วน่าจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญฟังเสียงประชาชน ประจำจังหวัด แต่ตรงนี้ยังไม่ยุตินะครับ อยู่ตรงนี้ เมื่อสักครู่บังเอิญว่าท่านพูดในที่ประชุมนี้ ก็จะฝากเรียนท่านประธานถึงท่านประธานยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เล็กน้อยว่ากรุณาพิจารณาข้อเสนอตรงนี้นิดหนึ่งว่าจะเป็นปัญหา ผมเองก็เห็นด้วยกับทุกท่าน ว่าอย่าให้มีอะไรที่เป็นประโยชน์ทับซ้อนจะดีที่สุด เพราะมันจะเสียความสง่างามไป แต่เนื่องจากว่าประชาชนในจังหวัดบางทีอาจจะต้องการที่จะสะท้อนเข้ามาโดยตรงจาก ตัวแทนของเขาบ้าง ขอช่วยพิจารณาปัญหาตรงนี้ไว้ด้วยผมกราบขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อาจารย์ดุสิต เครืองาม ครับ
กราบเรียนท่านประธาน กระผม ดุสิต เครืองาม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กระผมขออนุญาตเสนอความคิดเห็นผ่านท่านประธานไปถึง คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) เพื่อให้การเสนอชื่อการสรรหา มีความราบรื่นแล้วก็มีประสิทธิภาพ ผมขออนุญาตเสนอต่อเนื่องจากเมื่อสักครู่นะครับ ฝากให้ทางคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) รีบพิจารณาว่าข้อเสนอ ของผมนั้นยอมรับได้หรือไม่ นั่นก็คือให้เปิดเผยรายชื่อทันทีที่ทางฝ่ายเลขาธิการของสภา ได้รับใบแจ้งที่จะสมัครเข้ามา นั่นคือข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ กรุณากำหนดให้ชัดเจนว่าวันนี้ จะปิดรับสมัครกี่โมง คือหมายความว่าวันนี้จะทำงานได้ถึงกี่โมง ตอนนี้ก็ ๑๖.๐๐ นาฬิกา เข้าไปแล้ว จะทำงานถึง ๒ ทุ่มหรืออย่างไร ถึงกี่ทุ่มหรืออย่างไร เพราะว่าบางท่านอาจจะส่ง แฟกซ์ (Fax) ส่งอะไรเข้ามา แล้วก็ทันทีที่ได้รับการเสนอชื่อสมัครเข้ามาแล้วอย่างน้อยที่สุด ก็ให้เป็นรายชื่อปรากฏในเว็บไซต์ในไอคอน (Icon) ของสภาปฏิรูปแห่งชาติเลยจะได้หรือไม่ เพื่อที่สมาชิกจะได้ศึกษาล่วงหน้าก่อนที่จะมาลงมติในวันพรุ่งนี้ครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเว็บไซต์ เปิดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใครสมัครตรงนี้ชื่ออยู่บนเว็บไซต์เลย เร็วขนาดนั้นนะครับ อาจารย์ดุสิต ท่านสืบพงศ์ ธรรมชาติ ครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ เรื่องการเลือก ๒๐ ท่านที่ว่านั้นนะครับ ที่ลงมติไปแล้วก็ถือว่าเป็นไปตามกระบวนการในวันพรุ่งนี้ ตอน ๑๔.๐๐ นาฬิกา เท่าที่ดูแล้วก็ให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมคือ ๒๕๐ ท่าน จริง ๆ แล้วในกลุ่มของภูมิภาค แต่ละภูมิภาคนั้นก็ได้เลือกมาแล้วละครับ ในส่วนภาคใต้ก็เลือกมาเพียง ๑ นะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อ จะให้เป็นหนึ่งเดียว หมายถึงการกระจายไปสู่ภาคนั้นเอง ทีนี้เมื่อลงมติเพื่อที่จะเลือก ครั้งเดียว ๒๐ คนรวดเดียวตรงนี้นะครับ แน่นอนที่เลือกไว้ก็มั่นใจไม่ได้ว่าจะได้ตามนั้น หรือเปล่า เพราะในความเป็นจริงท่านที่สมัครอาจจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ภาคเลือกมา ๑ ท่าน หรือ ๒ ท่านอาจจะไม่ติดเลยก็ได้ แต่เนื่องจากว่า เสียงส่วนใหญ่บอกว่าเป็นไปตามนี้ก็ต้องเป็นไปตามนี้ เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ ๑๔.๐๐ นาฬิกา ผลก็ออกมา สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือขอให้ทำประวัติอย่างย่อโดยเร็วครับ เหมือนที่ท่านดุสิตเสนอเมื่อสักครู่ นอกจากจะเป็นลงในอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่าแล้ว ในกระดาษ โดยย่อสั้น ๆ ก็จำเป็น เพราะไอแพดเพิ่งได้กันเมื่อเช้าผมก็เพิ่งได้นะครับ การใช้ก็ยังไม่คล่อง แต่พอได้แล้วนะครับ แต่เป็นกระดาษสักหน้า ๒ หน้าครับ รูปถ่ายแล้วก็สั้น ๆ ว่าท่าน ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน นิด ๆ หน่อย ๆ แล้วผลงาน ความเชี่ยวชาญ ผมว่าเป็นสิ่งที่เป็นข้อมูล ส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราได้พิจารณา ก็ขอฝากตรงนี้ครับ นอกจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว และอีกอย่างหนึ่งผมเห็นว่าแต่ละด้านที่เราเลือก ๒ ด้านที่ว่านี้นะครับ ซึ่งผมเอง ด้านการศึกษากับศิลปะและวัฒนธรรม ทีนี้ ๒ ด้านที่ว่านี้ไม่ทราบว่าวันไหน ซึ่งเข้าใจว่า คงหลังจากนี้ไม่นานนะครับ จะได้เริ่มกระบวนการเพื่อหาอีก ๕ ท่านนั้นเข้ามานะครับ แล้วก็ จำเป็นครับ เพราะการเลือกคนเข้ามานั้นคงจะต้องให้สอดคล้องกับที่ทำแต่ละด้าน อย่างด้าน การศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ผมก็คงต้องเลือกคนที่มีความรู้เรื่องนี้และมีประสบการณ์ ในเรื่องนี้ถึงจะมาทำงานไปได้ก้าวหน้า ทั้งนี้เพื่อชาติบ้านเมืองนะครับ ก็ฝากตรงนี้ว่าอย่าให้ช้าครับ ขอบคุณมากท่านประธานครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ คุณสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ แล้วก็อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ครับ
นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ครับ สปช. ด้านเศรษฐกิจนะครับ ผมมี ๒ เรื่องจะเรียน ท่านประธานครับ
นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือเห็นด้วยกับที่ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ได้กล่าวไว้ว่ากรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการคณะอื่น เพราะว่าภารกิจอื่น ของท่านนั้นหนักมากนะครับ แต่หากจะร่วมเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมาธิการ ชุดใดชุดหนึ่ง อันนี้ผมอยากจะเสนอว่าผมเห็นด้วยนะครับ
นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เราได้ลงมติไปแล้วในการปฏิบัติตามที่คณะกรรมาธิการกิจการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) ได้เสนอมาแล้วนะครับ ทีนี้ผมก็อยากจะกราบเรียน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติว่าในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน สื่อไหนก็ตาม ซึ่งผมคิดว่าวันนี้จะมีการสัมภาษณ์กันเยอะแยะ ผมอยากกราบเรียนว่าการจะ นำเสนอข้อมูลใด ๆ ความคิดเห็นใด ๆ นั้นคงต้องแสดงความคิดเห็นด้วยความระมัดระวัง เป็นอย่างยิ่งนะครับ ขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อาจารย์เจิมศักดิ์ครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านประธานครับ ข้อความในวรรคท้ายที่ผมตั้งข้อสังเกต กระผมเห็นด้วยกับประธาน กรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ คือ พลเอก เลิศรัตน์ ที่บอกว่าจะขอแก้ข้อความเป็นดังที่ท่านพูด แต่ว่าผมไม่ค่อยมั่นใจว่าผมเห็นด้วยกับอาจารย์บวรศักดิ์ คืออาจารย์บวรศักดิ์ได้เสนอทำนองว่า สมาชิกอาจจะแอบอ้างไปยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็อ้างว่าไปประชุมคณะกรรมาธิการ ไปแล้วก็ไม่ไปประชุมคณะกรรมาธิการ อ้างว่าไปยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ามันเป็นการมอง วุฒิภาวะของสมาชิกที่มีปัญหา ถ้าเราเริ่มต้นโดยการมองคนที่มันมีปัญหานี่เราก็สร้าง กฎเกณฑ์อะไรที่พัฒนาไม่ได้ แต่ถ้าเรามองว่าพวกเราตั้งใจจริงเรากำลังจะทำงานเพื่อประเทศ จะปฏิรูปประเทศชาติ โดยเฉพาะไปร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เราจะได้คนเหลวไหล อย่างนั้นหรือครับ ที่จะแอบอ้างว่าไปประชุมที่หนึ่งแล้วก็ไม่เข้าทั้งคู่ ถ้าสมมุติฐานในการ มองคนแบบนี้มันจะมีปัญหา ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานนะครับ ยิ่งมีข่าวคราวว่า อาจารย์บวรศักดิ์อาจจะไปเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย แต่ถ้ามองปัญหา มองกรรมาธิการแบบนี้มันจะมีปัญหาต่อไปหรือไม่ นี่ผมก็ต้องกราบเรียนอย่างตรงไปตรงมา จริง ๆ แล้วที่ผมกราบเรียนทั้งหมดก็เพราะเห็นว่าในวรรคท้ายมันทำให้จะถูกครหาได้ว่า มันมีคนหวังจะไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยลืมแปลงร่างจากเป็น สปช. สมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วก็แปลงไปเป็นแมลงวัน แล้วก็ลืมไปเลยแล้วก็ไม่ตัดขาด ซึ่งหลักการ ในการร่างรัฐธรรมนูญที่ดีมันจะต้องฟังสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติก็จะต้องฟัง ประชาชน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีเวลาไปฟังประชาชนด้วยตัวเองหรอกครับ ต้องหวังสภาปฏิรูปแห่งชาติที่จะยึดโยงกับประชาชน เพราะฉะนั้นผมก็เลยมองว่าไม่อยากให้ ตัดขาด แต่ว่าข้อเสนอของอาจารย์บวรศักดิ์ก็น่าฟังที่บอกว่าเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา อันนี้รับได้ แต่ว่าเวลาท่านวิเคราะห์มันทำให้ผมอยากจะต่อต้าน นี่ผมพูดตรง ๆ มันทำให้ผมอยากจะ ขอญัตติอันนี้แล้วก็โหวตสวนเลย ในฐานะที่ผมเคยร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ท่าทีอย่างนี้ ไม่ได้ครับท่านประธาน แต่เอาละผมก็จะไม่สวนหรอกครับ เอาเป็นว่าจะทำตามท่านประธาน เลิศรัตน์ที่เสนอผมก็รับได้ จะทำตามที่อาจารย์บวรศักดิ์เสนอผมก็รับได้ แต่แก้ไขในข้อนี้เสีย ผมไม่ว่าอะไร แต่ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้เท่านั้นเองนะครับ ขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
เอาแค่ผลสรุปอย่างที่ ท่านประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับได้เสนอ ความจริงเพื่อนสมาชิกครับ ขอเวลาอีกนิดเดียว มันมีเรื่องค้างตั้งแต่เมื่อวาน เรื่องกำหนดวันเวลาประชุม ผมคิดว่าขอลงมติเรื่องนี้ให้เป็น ที่ยุติเสีย คณะกรรมาธิการที่พิจารณาได้เสนอให้เรามีการประชุมทุกวันจันทร์และวันอังคาร เวลาปกติก็คงเป็น ๙ โมง ยังไม่ได้กำหนดกันชัดเจนว่า ๙ โมง หรือ ๙.๓๐ นาฬิกา เอาเป็น วันจันทร์และวันอังคาร และถ้าวันจันทร์ใดหรือวันอังคารใดไม่มีภารกิจที่จะประชุมก็จะมีการ แจ้งงดการประชุมล่วงหน้า แต่ยืนไว้ก่อน กติกาเขาบอกว่าต้องกดปุ่มอีก ผมอยากจะขอใช้วิธี ยกมือเลยได้ไหม มันจะง่ายกว่าไหม หรือต้องกดปุ่ม
ท่านประธานครับ ขอความกรุณาเสนอว่าขออนุญาต ท่านเพียงถามมีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหม ถ้าไม่มี ก็เป็นไปตามที่ท่านประธานกล่าวครับ ขอบพระคุณครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ถ้าเอาอย่างนั้นก็ง่ายขึ้น มีท่านใดที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ถ้าไม่มี ก็ถือเป็นมติ เอกฉันท์เลยนะครับ เท่าที่ขณะนี้น่าจะครบองค์ประชุมนะครับ เหมือนเดิม โอเคครับ ก็ขออนุญาตแจ้งว่าสำหรับวันนี้ขอปิดการประชุม แต่ว่าขอนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ อีกครั้งหนึ่งในวันพรุ่งนี้ ๑๔.๐๐ นาฬิกา เพื่อพิจารณาเลือกผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๐ คน แล้วขออนุญาตเรียนเชิญสมาชิกได้เข้าประชุม พร้อมเพรียงกัน วันนี้ผมขออนุญาตขอบคุณทุกท่านเลยนะครับ ด้วยความเคารพ ขอบคุณมาก ๆ ครับ ขอปิดประชุมครับ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานเฉพาะคราว ต้นฉบับ
ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ ท่านชาลี ผมขออนุญาตอยากจะหารือที่ประชุมก่อนเรื่องอย่างนี้ ขณะนี้ผมทำหน้าที่ ประธานชั่วคราว ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่เราจำเป็นต้องมีประธานชั่วคราวมาทำหน้าที่ วาระด่วนสุด คือการได้มาซึ่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มันไม่มีอะไรด่วนกว่านี้อีกแล้วตามกรอบ รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าในช่วงที่ทำหน้าที่ชั่วคราวนี้อยากดำเนินการเรื่องนี้ให้ลุล่วงแล้วรอเมื่อถึงเวลานั้น อันที่จริงแล้วกรรมาธิการชุดที่ยกร่างข้อบังคับก็คงจะกำหนดกรอบด้วยว่าเราจะดำเนินการ ให้มีกระทู้ถามสดเสมือนหนึ่งเช่นเราเป็นสภาที่ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ออกกฎหมาย หรือไม่ เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่นั้น ผมคิดว่าอยากจะขอให้ชะลอเรื่องนี้แค่นี้ก่อนได้ไหม ภาระเฉพาะหน้าตอนนี้คือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าถ้าไม่อย่างนั้นแล้วคงต้อง ขอมติที่ประชุมว่าจะให้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยหรือไม่ เอาอันนั้นเสียก่อน ผมอยากจะขอ เอาไว้ก่อนได้ไหมครับ