ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.31 - 13.02 นาฬิกา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิก ขณะนี้มีผู้ลงชื่อเข้าประชุมจำนวน ๓๒๐ ท่าน ครบองค์ประชุมแล้วนะครับ ผมขออนุญาต เปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม วันนี้ไม่มีนะครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม นายอดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น กระผมเป็น สส. ใหม่ ขออนุญาตปรึกษาท่านกรณีกระทู้ถามผมทราบว่าไม่มี แต่สภาผู้แทนราษฎรเราต้องเป็น ที่แก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ผมขออนุญาตปรึกษาท่านประธานว่ากรณีที่เกิดขึ้นที่ลาดกระบัง ที่สะพานล่มพังลงมาเราจะหาโอกาสที่ไหน วันนี้ได้พูดเรื่องราวนี้เอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็น ปัจจุบันมาพูดในสภา ทราบว่าวันนี้ไม่มีวาระ แต่สะพานมันล่มไปแล้ว พังไปแล้ว ใครต่อใคร ก็วิ่งไปแก้ไขปัญหา ผมอยากให้สภาแห่งนี้เป็นที่แก้ปัญหา ท่านประธานสภาทั้ง ๓ ท่าน เป็นประธานใหม่กรุณาหาทางออกให้แก่พี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ ๑๗ ปีไม่ได้พูด มีความสุขแล้วครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณมากครับ ท่านอดิศรที่มีความห่วงใยต่อประชาชน แต่เนื่องจากวันนี้เรายังไม่มีผู้รับผิดชอบคนใหม่ แต่คนเก่าเขาต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ทั้งผู้ว่า กทม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาล แต่เนื่องจากวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก แล้วก็ไม่ได้แจ้งให้รัฐบาลทราบว่าเราจะมี กระทู้ถาม ผมต้องขอไปตามนี้ก่อนนะครับ วันนี้เราได้ทราบความห่วงใยของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่เกิดสะพานล้มลงมา ซึ่งจากการติดตามข่าวผู้เกี่ยวข้องเขาก็ติดตาม จะแก้ปัญหาอยู่แล้ว ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๑ รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมจึงขอเชิญท่านสมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการ และขอเชิญเลขาธิการสภาอ่านพระบรมราชโองการครับ
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
“พระบรมราชโองการ
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ประกาศ
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
------------------------------
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวิชราลงกรณ
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวิชราลงกรณ พระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา ๑๑๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ประกาศ ณ วันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญนั่งครับ ต่อไปจะเป็นเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุมทราบ ซึ่งมีจำนวน ๓ เรื่อง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๒ รับทราบการสิ้นสุดสมาชิกภาพ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป จึงเป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ตามมาตรา ๑๐๑ (๓) ของรัฐธรรมนูญ จึงเรียนแจ้งให้ท่านสมาชิกเพื่อทราบครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๓ รับทราบประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้ที่มีชื่อในลำดับถัดไป ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตามที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้มี หนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๒ ท่านสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๓) ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ และวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ตามลำดับครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๔ กรณีที่ศาลอาญามีนบุรีได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ ๑๘๒๔/๒๕๖๖ และคดีหมายเลขแดง ที่ อ ๑๙๘๙/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ พิพากษา ให้จำคุกและปรับนางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ และคดีได้ถึงที่สุดแล้ว เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สิ้นสุดลง ตามมาตรา ๑๐๑ (๑๓) ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ นั้น ต่อมา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีประกาศสภาผู้แทนราษฎรและได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้ที่มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้ ๑. นายอนุชา บูรพชัยศรี ลำดับที่ ๑๔ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ แทน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ๒. นายสุเทพ อู่อ้น ลำดับที่ ๔๐ พรรคก้าวไกล แทน นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ๓. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลำดับที่ ๒ พรรคไทยสร้างไทย แทน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จึงแจ้งให้ที่ประชุมทราบครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๕ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา ๑๑๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๑๕ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนสังกัดก่อนเข้า รับหน้าที่ และเนื่องจากมีสมาชิกอีก ๑ ท่านที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่คือ ท่านสะถิระ เผือกประพันธุ์ เนื่องจากวันที่ปฏิญาณตนในวันก่อนนั้นท่านไม่สบายไม่อาจจะ มาได้ วันนี้ท่านมาแล้วก็จะได้ปฏิญาณตนพร้อมกับ ๓ ท่าน ที่ผมได้อ่านชื่อในตอนแรกคือ ท่านอนุชา บูรพชัยศรี ท่านสุเทพ อู่อ้น และท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ซึ่งทั้ง ๔ ท่านอยู่ใน ห้องประชุมนี้แล้ว จึงขอเชิญสมาชิกทั้ง ๔ ท่าน กรุณายืนขึ้นเพื่อกล่าวปฏิญาณตน โดยผม จะกล่าวนำเป็นวรรค ๆ ไม่ต้องอ่านทีเดียวหมด คำปฏิญาณน่าจะอยู่ที่โต๊ะท่านแล้วนะครับ ผมจะกล่าวเป็นวรรค ๆ แต่ในวรรคที่ว่าหลังจากข้าพเจ้าแล้ว ชื่อผู้ปฏิญาณทั้ง ๔ ท่าน ต้องออกชื่อของท่านเองนะครับ แล้วก็หยุดแค่นั้น ผมจะกล่าววรรคต่อไปเป็นวรรค ๆ เพื่อไม่ให้สับสน เพราะเราจำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและครบถ้วนครับ ทั้ง ๔ ท่านยืนแล้ว ขอเชิญนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
“ข้าพเจ้า (ผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติ ตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญนั่งลงได้ครับ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราก็ครบ ๕๐๐ คน ที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ องค์ประชุมในขณะนี้กึ่งหนึ่งเท่ากับ ๒๕๐ นะครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ กรณีที่ท่านประธานอ่าน การพ้นจากตำแหน่งของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล คุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ในหลักกฎหมายเป็นไปตามนั้นครับ แต่ผมคิดว่าเพื่อความเป็นธรรม แล้วก็การยืนยันข้อเท็จจริงให้กับคุณณธีภัสร์ อยากจะนำเรียนต่อท่านประธาน แล้วก็ อยากจะนำเรียนต่อเพื่อนสมาชิก แล้วก็อยากจะนำเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่าคุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ได้แสดงเจตจำนงตั้งแต่แรกว่าประสงค์ที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร และได้ยืนยันเจตจำนงนั้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาของคดี ถึงที่สุดครับ หามิใช่เป็นกรณีของการพ้นจากตำแหน่งโดยคำพิพากษาของศาล แต่เป็น เจตจำนงที่เจ้าตัวยืนยันตั้งแต่ต้นเพื่อยืนยันหลักการแล้วก็สิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พึงปฏิบัติ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานเพื่อบันทึกไว้ครับ แล้วก็นำเรียนไปยัง เพื่อนสมาชิกทุกท่านเพื่อทราบเพื่อเป็นบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านณัฐวุฒิมากครับ ทีนี้เนื่องจากว่าวันนี้ผมและรองประธานสภาทั้งสองได้ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก ก็ขอเรียนสั้น ๆ กับสมาชิกทุกท่านว่าผมและรองประธานสภาทั้งสองเราจะปฏิบัติหน้าที่ ท่ามกลางความเป็นกลางทางการเมือง และจะปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถเพื่อประโยชน์ ของประชาชน เกียรติ และศักดิ์ศรีของรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด แต่ทั้งนี้ พวกผมทั้งสามจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพของการประชุมนั้น กระผมต้องขอกราบเรียนด้วยความเคารพต่อสมาชิกทุกท่านว่าผมต้องขอความร่วมมือ และสนับสนุนของพวกเราทุกคนครับ อันนี้เพื่อประชาชนและประเทศชาติของเรา ก็อยากจะ เรียนไว้เท่านั้นก่อนในเบื้องต้นที่ประชุม แล้วสำหรับผมและรองประธานทั้ง ๒ ท่านก็พร้อม ที่จะรับคำติชมจากสมาชิกทุกท่าน เพราะว่าเราไม่มีมนุษย์ปุถุชนคนใดที่จะมีความสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านจะตำหนิติชมผมได้ทั้งในห้องประชุมหรือท่านจะเสนอแนะด้วยวิธีใด ห้องของผมและรองประธานทั้งสองพร้อมที่จะเปิดกว้างสำหรับสมาชิกตลอดเวลาที่เรามา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันนะครับ หน้าที่ความเป็นประธานและรองประธานสภานั้นเป็นหน้าที่ ที่กำหนดเท่านั้น แต่ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้แทนของปวงชนนั้นเรามีเท่า ๆ กัน ทุกคนครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๖ รับทราบการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๘ วรรคสอง กำหนดให้ ประธานสภาจะต้องจัดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่ประชาชนสามารถจะรับได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ ประธานสภาจึงอนุญาตให้สถานีวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาในฐานะสื่อของฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการถ่ายทอดสด การประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดวาระของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ และอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์นำสัญญาณการออกอากาศดังกล่าวไปเผยแพร่ ผ่านช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์ทุกครั้งที่มีการประชุมครั้งที่สำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจาก การถ่ายทอดสดก็อยากจะเรียนให้ท่านสมาชิกได้มีความระมัดระวังในการอภิปราย เพราะหาก ถ้อยคำที่กล่าวนั้นไปปรากฏข้างนอก เนื่องจากจะมีการกระจายทางโทรทัศน์และกระจายเสียง ออกไปบริเวณข้างนอกด้วย การกล่าวถ้อยคำนั้นถ้าเป็นลักษณะของการผิดทางอาญา หรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เป็นสมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเอกสิทธิ์นั้น จะไม่คุ้มครอง เพราะฉะนั้นก็เพียงแต่ว่าอยากให้ท่านได้ระมัดระวังนะครับ จึงเรียนมา เพื่อทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๖ เรื่องที่เสนอใหม่ ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๗.๑ กำหนดวันและเวลาการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เนื่องจากว่าข้อบังคับ ข้อ ๑๙ วรรคสอง ได้กำหนดให้ที่ประชุมของ สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นผู้กำหนดเวลาการประชุม ให้กำหนดตามรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดไว้ว่า ในปีหนึ่งต้องมีสมัยประชุม ๒ สมัย สมัยละ ๑๒๐ วัน แต่ในข้อบังคับกำหนดว่า ๑๒๐ วันนั้น จะกำหนดประชุมสัปดาห์ละกี่วันและวันใดบ้างนั้นเป็นเรื่องที่สภาจะเป็นคนกำหนดนะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะเสนอปรึกษาหารือกับท่านสมาชิกว่าในสมัยประชุมนี้ซึ่งได้เปิด สมัยประชุมตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคมแล้ว แล้วก็จะสิ้นสุด ๑๒๐ วัน คือวันที่ ๓๐ ตุลาคมนั้น เราจะประชุมสัปดาห์ละกี่วัน เอาประเด็นแรกก่อนสัปดาห์ละกี่วัน แล้วก็เวลาเท่าไรเอาไว้เป็น ญัตติที่ ๒ เชิญท่านสมาชิกครับ จะมีผู้เสนอให้มีการประชุมสัปดาห์ละกี่วัน ผมให้ข้อมูล เบื้องต้นเพราะว่าเป็นที่ทราบดีอยู่แล้ว แต่มีสมาชิกใหม่ก็หลายท่าน ว่าเดิมเราได้กำหนดไว้ ให้ประชุมสัปดาห์ละ ๒ วัน คือวันพุธและวันพฤหัสบดี แต่ถ้ามีวาระพิเศษประธานก็จะ กำหนดเพิ่มขึ้นได้ ก็ประกอบกับข้อมูลเบื้องต้นว่าจะได้อภิปรายสั้นลงนะครับ ทำไมจึง ๒ วัน อันนี้เนื่องจากว่าสภาเดิมของเรามีห้องประชุมเพียงห้องเดียวต้องใช้ทั้งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องใช้เวลาประชุมร่วมกัน ในสัปดาห์หนึ่งถ้าวุฒิสภาประชุม สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ประชุม วันไหนที่สภาผู้แทนราษฎรประชุม วุฒิสภาก็ต้องงดประชุม ก็ไปประชุมคณะกรรมาธิการแทน ยกเว้นว่าการประชุมร่วมกัน อันนี้เป็นข้อมูลเท่านั้นครับ ก็เชิญท่านเสนอได้นะครับ ท่านสุธรรม แสงประทุม เชิญครับ
นายสุธรรม แสงประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายสุธรรม แสงประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่น ขอแสดงความยินดีกับท่านประธานและรองประธานทั้งสองที่ได้รับเกียรติจากสมาชิกให้เข้ามา เป็นตัวแทนอันทรงเกียรติของพวกเรา ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองซึ่งมีความหมาย และมีความสำคัญยิ่งที่ประชาชนทั้งหลายได้มอบหมายไว้วางใจให้มีการเปลี่ยนผ่านบ้านเมือง อย่างสงบสันติ ตั้งแต่ท่านประธานได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนว่าบ้านเมืองเรา มีความจำเป็นอย่างไร ตอนมีการรวมกันของพรรคฝ่ายค้าน ๘ พรรควันนั้นแล้ว ผมเห็นว่า ท่านประธานเป็นคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำพาสภาของเราในวันนี้
นายสุธรรม แสงประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ สืบเนื่องจากบ้านเมืองเราได้สะสมปัญหาไว้ มากมายในช่วง ๘-๙ ปีที่ผ่านมา แล้ววิกฤติต่าง ๆ นั้นทับถมประชาชนในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ประชาชนได้แสดงประชามติ ผ่านการเลือกตั้งที่รุนแรงตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นเป็นภาระของพวกเราที่เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ ที่จะนำเอาภารกิจนั้นมาขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จ ให้คุ้มกับที่ประชาชนลงทุน ไม่รับเงิน ไม่กลัวอิทธิพล เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ เพราะฉะนั้นผมอยากเสนอให้มีการประชุมสภาอาทิตย์ละ ๓ วัน โดยการคำนึงถึงว่าผู้แทนราษฎรเราวันเสาร์ วันอาทิตย์ก็ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ไปพบปะรับฟังทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน วันจันทร์เย็นก็น่าจะได้กลับมาเตรียมการ เพื่อเอาภาระ เอาความเดือดร้อน เอาปัญหาต่าง ๆ มาขับเคลื่อนผ่านสภาผู้แทนราษฎร ในรูปของกระทู้ ญัตติ หรือเสนอผ่านการแก้ไขกฎหมาย ทั้ง ๓ ประการนี้ล้วนต้องใช้เวลา และท่ามกลางวิกฤติอย่างนี้ผมจึงอยากให้เราได้ใช้เวลาวันอังคารอีก ๑ วัน เพราะท่านประธาน บอกว่าเราอุตส่าห์ลงทุนสร้างรัฐสภาแห่งนี้ ทั้งในเรื่องโครงสร้าง อาคาร วัตถุ และทุ่มเท ทรัพยากรทุกอย่างเพื่อให้สภาเป็นทางออกของปัญหาของประเทศและเป็นสถาบันหลัก ผมถึงอยากให้พี่น้องประชาชนได้อุ่นใจว่าสภาของเรารับรู้ทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน
นายสุธรรม แสงประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ สถานการณ์โลกวันนี้มีความสับสนวุ่นวายอย่างยิ่ง ท่านประธานเอง นอกจากจะรับรู้ความรู้สึกทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นตัวแทนของสถาบันหลัก ของเมืองเราที่จะถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ไปนานาชาติหรือไปสู่เวทีสากล แล้วเวทีสากล วันนี้ก็มีทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งสงครามที่กำลังรอมร่ออยู่ และในบ้านเราเองทุกข์สุขต่าง ๆ ท่านก็รับรู้ แล้วเมื่อวานท่านอดีตนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศชัดเจนที่จะวางมือ เปิดช่อง ให้ฝ่ายประชาธิปไตย ให้ตัวแทนประชาชนได้มาทำหน้าที่แทนอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ผมว่าสัญญาณเหล่านี้ได้ส่งผลให้พี่น้องประชาชนได้เห็นถึงทิศทางของบ้านเมืองที่ไปสู่ทาง ที่คลี่คลายในการแก้ปัญหา และคิดว่ากลไกต่าง ๆ ที่เคยวางไว้เพื่อจะรักษาอำนาจอะไรก็ดี ก็คงจะได้เข้าใจเจตจำนงของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ขอแสดงความชื่นชมไว้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ ผมถึงอยากเสนอให้มีการประชุม ๓ วัน ส่วนเวลานั้นอยากให้ ที่ประชุมได้ช่วยกันพิจารณาครับ เพราะเราทุกคนต่างแบกรับภาระมาคนละมุม และต้องใช้ สภานี้ให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อให้สมตามเจตจำนงของประชาชน ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ ท่านสุธรรมมากครับ โดยสรุปท่านเสนอการประชุมเป็น ๓ วันนะครับ เนื่องจากว่ามีท่านสมาชิก อยากจะเสนอและแสดงความคิดเห็นในเรื่องจำนวนวันประชุมนี้หลายท่าน ผมก็ต้อง ขอความกรุณาว่าขอให้อยู่ในประเด็นนี้ แต่ว่าเนื่องจากวันนี้เราไม่มีวาระอะไรมากนัก เราก็คงไม่กำหนดว่าจะต้องอภิปรายกันกี่นาที ขอให้ท่านพูดอยู่ในวาระก็แล้วกันนะครับ ขณะนี้มีผู้ที่ขอเสนออภิปรายเพิ่มเติมอีก ๕ ท่าน ผมอ่านชื่อไว้ก่อนเผื่อท่านจะได้เตรียมตัว ท่านต่อไปก็เป็นคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แล้วต่อไปท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ท่านต่อไป ก็เป็นท่านอนันต์ ผลอำนวย แล้วก็ตอนนี้ชื่อสุดท้ายอยู่ที่ผมก็คือท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร ก็เป็นไปตามลำดับนี้ ต่อไปขอเชิญท่านณัฐพงษ์ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
รบกวนฝ่ายโสตได้เตรียม Slide ประกอบการนำเสนอ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ซึ่งผมจะรบกวนเวลา ประชุมไม่นานนะครับ นำเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อ ท่านประธานครับ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านสุธรรมที่เสนอให้มีการกำหนดวันประชุม ๓ วันต่อสัปดาห์ ประกอบไปด้วยวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี ด้วยเหตุผลที่ว่าในสภาชุดที่แล้ว เราได้มีวาระค้างพิจารณารวมถึงกฎหมายที่เสนอมาจากภาคประชาชนและ สส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ก็คิดว่า สมัยประชุมนี้ แล้วก็สภาชุดนี้เราจะได้ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ครับ ทั้งนี้ผมจะขออนุญาต ท่านประธานใช้เวลาสภาสั้น ๆ นำเสนอ Slide ที่ฝ่ายโสตนำขึ้นได้เลยประกอบการตัดสินใจ ของเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ซึ่งผมคิดว่าวันนี้เป็นญัตติที่พวกเราต้องการทำหน้าที่ในฐานะ ตัวแทนปวงชนชาวไทยกันอย่างเต็มที่ คิดว่าเราน่าจะได้ข้อสรุปกันโดยไม่ต้องใช้การลงมติ ก็อาจจะใช้วิธีการที่ใช้ตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ไปได้เลย ท่านประธานครับ Slide ๕ หน้าวันนี้ ที่ผมเตรียมมาอยากจะนำเสนอผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกทุกท่านก็คือผลงาน ของรัฐสภาเราในชุดที่ผ่านมา ซึ่งผมอยากจะเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องของกระบวนการในฝ่ายนิติบัญญัติ พยายามจะ Point ไปที่เรื่องของกระบวนการ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
Slide หน้าแรก ๔ ปีที่ผ่านมามีกฎหมายที่ถูกแท้งถึง ๓๔๙ ฉบับครับ ท่านประธาน มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภาทั้งหมด ๔๒๗ ฉบับ ผ่านสภาเราไปแค่ ๗๘ ฉบับ เท่านั้น หักลบในส่วนที่นายกรัฐมนตรีปัดตกเนื่องจากเป็นร่างการเงินไป ๕๙ ฉบับ หักลบส่วนที่ตกในสภา หักลบส่วนอื่น ๆ ออกไปนี่กฎหมายแท้งถึง ๓๔๙ ฉบับนะครับ ผมมีเชิงอรรถเล็กน้อยส่วนที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีปัดตกในฐานะ เป็นร่างการเงิน ๕๙ ฉบับเลย และมากสุดในประวัติการณ์ในช่วงตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา แต่อันนั้นไม่เป็นอะไรครับ วันนี้ผมต้องการอภิปรายในเรื่องของกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอ Slide หน้า ๒ ครับ Slide หน้า ๒ เราจะเห็นได้ว่าก้อนสีเขียว ๆ ครับ ท่านประธาน ก้อนสีเขียว ๆ นั่นคือก้อนที่กฎหมายผ่านสภาออกไป จะเห็นว่าสูงสุดในแท่งแรก ก็คือเป็นกฎหมายที่เสนอมาจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น มีบางส่วน ๔ ฉบับเป็นกฎหมายที่เสนอ มาจาก สส. ฝ่ายรัฐบาลที่สามารถผ่านสภาไปได้ แต่กฎหมายที่เสนอมาจาก สส. พรรคฝ่ายค้าน ก็คือพวกผมในปัจจุบันที่นั่งอยู่ฝั่งนี้ แต่เราสลับฝั่งกันในสมัยประชุมนี้นะครับ กับกฎหมาย ที่เสนอโดยภาคประชาชนไม่มีผ่านสภาไปเลย ย้ำอีกครั้งนะครับ ๔ ปีที่ผ่านมากฎหมายที่เสนอ มาจากประชาชนและตัวแทนประชาชน ไม่ว่าจะเป็นค้านหรือรัฐบาล แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามาจากพรรคฝ่ายค้านไม่เคยผ่านสภาเราไปเลย
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอ Slide ที่ ๓ ไม่เพียงเท่านั้นครับ กระบวนการที่ล่าช้าในการพิจารณา พระราชบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติเราทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วใช้อำนาจผิด ๆ ถูก ๆ ในการตรา เป็นพระราชกำหนด เห็นชัดที่สุดกฎหมาย พ.ร.ก. อุ้มหายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่าไม่ได้เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนนะครับ เราจะเห็นว่า จากตัวเลขสถิติซึ่งเป็นข้อเท็จจริง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการตรา พ.ร.ก. มากสุดในรอบ ๒๐ ปี ถึง ๑๓ ฉบับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอ Slide ถัดไปครับ นอกจากนี้ผมอยากจะบอกเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ที่วันนี้เรานั่งสลับฝั่งกันในสภานะครับ พวกผมเองพร้อมยินดีเป็นอย่างยิ่งและผมก็เชื่อว่า เพื่อนสมาชิกทุกคนในสภาพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะโหวตกฎหมายทุกอย่างไม่ว่าจะเสนอมา จากฝ่ายใด ถ้าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนเราพร้อมที่จะลงมติให้ครับ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และอีกหลาย ๆ ฉบับที่อยู่ใน Slide หน้านี้ ผมไม่ขออ่านทั้งหมด เดี๋ยวจะเสียเวลา ทุกท่านจะเห็นได้ว่าโดยหลักสถิติที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้าน สส. ที่นั่งอยู่ใน สภาชุดนี้ในสภาชุดที่แล้วเราก็ลงมติโหวตผ่านให้ถ้าเป็นกฎหมายที่เป็นเพื่อผลประโยชน์ ประชาชน
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอ Slide หน้าสุดท้ายครับ สุดท้ายเรายังมีกฎหมายค้างท่อที่ผมได้นำเรียน ท่านประธานครับอยู่ในสภาชุดที่แล้วอีก ๑๘๐ ฉบับ ซึ่งแท่งที่สูงที่สุดคือกฎหมายที่เสนอมา จากภาคประชาชน ๕๔ ฉบับ ทุกท่านลองคิดว่าถ้าวันนี้บอกว่าเราจะนำกฎหมายที่ค้างท่อ จากสภาชุดที่แล้วใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีหยิบมาพิจารณาใหม่ แปลว่าเรามีอีก ๑๘๐ ฉบับ ที่ยังไม่ต้องเสนอเพิ่มอยู่ในวาระการพิจารณาอยู่แล้วนะครับ แล้วทุกท่านคิดว่าถ้าเรายังใช้ จำนวนวันประชุมแบบเดิมสภาผู้แทนราษฎรเราจะสามารถผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนได้ทันหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นข้อมูลการประกอบการตัดสินใจของ เพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับ ฝ่ายโสตนำ Slide ลงได้แล้วนะครับ ซึ่งผมเห็นว่า โดยหลักเหตุและผลบนข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้พวกเราพร้อมทำหน้าที่เต็มที่ แล้วก็คิดว่า ไม่ว่าจะมาจาก สส. ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเราพร้อมที่จะผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชน แล้ววันนี้คิดว่าไม่น่าจะต้องมีการลงมติครับ ด้วยความเคารพ เพื่อนสมาชิกทุกท่าน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณณัฐพงษ์มากครับ ก็เสนอคล้าย ๆ กับคุณสุธรรมเป็นการประชุมสัปดาห์ละ ๓ วันครับ ขอเชิญท่านต่อไป ท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ผู้แทนจากเมืองสุรินทร์ โดยความบังเอิญผมนึกว่าท่านประธานจะเรียกผม เป็นคนแรก ท่านได้กรุณาเรียกท่านสุธรรมซึ่งอยู่พรรคเดียวกัน แต่ผมยังไม่ได้ตัดสินใจนะครับ ขอฟังเหตุผลจากพรรคอื่น ๆ ก่อน ผมขอสงวนไว้สักนิดหนึ่ง เพราะว่าถ้าลุกขึ้นมา ๓ คน เป็นเพื่อพรรคไทย ๒ คนเลยมันดูกระไร ๆ อยู่ครับ ผมขออนุญาตยังไม่แสดงเหตุผล ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ ท่านคุณครูมานิตย์ครับ ท่านไม่แสดงเหตุผลตอนนี้ แต่ถ้าท่านเห็นจะแสดงภายหลังได้ แต่ท่านไม่แสดงเลยก็ได้ครับ ไม่เป็นอะไร ถ้าตรงกับความคิดของท่านแล้ว ต่อไปครับ ท่านอนันต์ ผลอำนวย ซึ่งความจริงท่านเคยเป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการกิจการ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการที่จะดูแลกิจการของสภาของพวกเราครับ ผมขอเชิญท่านอนันต์ ผลอำนวย ครับ
นายอนันต์ ผลอำนวย กำแพงเพชร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายอนันต์ ผลอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ต่อข้อหารือที่ท่านประธานให้สมาชิกได้หารือว่าจะประชุมสัปดาห์ละกี่วัน ในแต่ละสมัยประชุมนั้น ผมขอให้กระชับเวลาแล้วก็ขอให้ความเห็นสั้น ๆ อย่างนี้ว่า ผมเห็นสมควรที่จะใช้ตามประเพณีเดิม ๆ ที่เราได้ทำกันมา ไม่ได้แปลว่าของเดิม เปลี่ยนไม่ได้นะครับ คือใช้วันประชุมเพียง ๒ วัน เหตุผลผมอยากกราบเรียนท่านประธาน และท่านสมาชิกว่าในการประชุม ๒ วันหรือ ๓ วันไม่สำคัญเท่ากับการควบคุมกำกับดูแล การประชุมนั้นให้เต็มประสิทธิภาพที่ที่ประชุมจะทำได้ ถ้าประชุม ๓ วันที่ประชุมควบคุมดูแล การประชุมไม่เต็มประสิทธิภาพมันก็ไม่ได้มีค่าอะไร
นายอนันต์ ผลอำนวย กำแพงเพชร ต้นฉบับ
ในประการถัดมา ตามข้อบังคับการประชุมก็ให้อำนาจท่านประธานสภา สามารถเรียกประชุมเพิ่มเติมถ้ามีเหตุความจำเป็นและเร่งด่วนได้ ผมว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ มันขึ้นอยู่กับถ้าในที่ประชุมพูดวนไปวนมา ในที่ประชุมพูดซ้ำซาก ในที่ประชุมอย่างที่เรา เห็นปัญหาในอดีต ๔ ปีที่ผ่านมานี้ ประชุมสัปดาห์ละ ๔ วันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้า ๒ วัน เราเริ่ม ๐๙.๓๐ นาฬิกา จะไปเลิก ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม แล้วเต็มวันทั้ง ๒ วันขอให้เต็ม แล้วก็ขอให้เป็น เนื้อหาสาระจริง ๆ ไม่เอาประเด็นอื่น ๆ มาพูดอ้อมไปอ้อมมา ผมคิดว่ามันก็จะเกิดประโยชน์ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๕๐๐ ท่านในห้องประชุมแห่งนี้ครับ ขอบพระคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ ท่านอนันต์ ผลอำนวย ครับ ท่านเสนอคือเหมือนเดิม ๒ วัน แต่ถ้ามีวาระพิเศษเพิ่มเติม ก็ให้ประธานกำหนดเพิ่มได้ อันนี้โดยสรุปผมฟังจากท่านนะครับ ท่านต่อไปก็ท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร แต่มีผู้เสนอเพิ่มเติมจะขออภิปรายนะครับ มีท่านสุรินทร์ ปาลาเร่ อีก ๑ ท่าน ก็เตรียมตัวไว้ หลังจากท่านอรรถกรก็จะเป็นท่านสุรินทร์ต่อไปครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ต่อข้อหารือที่ท่านประธานได้กรุณากำหนดในระเบียบวาระการประชุม ในวันนี้ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องที่เราประชุมอยู่ ณ ขณะนี้จะเป็นการวางกรอบแนวทาง การทำงานของพวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปนะครับ ผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ว่า ผมเคารพในความเห็นของเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านเมื่อสักครู่นี้ที่ได้เสนอการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ๓ วันบ้าง ๒ วันบ้าง แต่ในความคิดเห็นของผม ท่านประธานครับ และในความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐซึ่งเราได้มี การประชุมกันในวันอังคารที่ผ่านมา เราเห็นว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเราควรจะคง การประชุมไว้ที่ ๒ วัน เหตุผลต่าง ๆ มีดังนี้ครับ การประชุม ๒ วันไม่ได้ทำให้การพิจารณา กฎหมายล่าช้าแต่อย่างใด แต่ท่านประธานครับถ้าเราลองมองไปที่รายละเอียดในการประชุม สภาผู้แทนราษฎรในขวบ ๔ ปีที่ผ่านมาหรือว่าในสภาชุดที่แล้วชุดที่ ๒๕ นั้นมีการใช้เวลา ในเรื่องของการอภิปรายข้อกฎหมาย มีการใช้เวลาในการอภิปรายในเรื่องของรายงาน มีการใช้เวลาอภิปรายในเรื่องของญัตติเป็นจำนวนมาก จนทำให้การพิจารณากฎหมาย จนทำให้การพิจารณารายงาน จนทำให้การพิจารณาญัตติต่าง ๆ เกิดความล่าช้า ซึ่งผมก็ไม่ได้ บอกว่าเป็นความผิดของใคร เพราะพวกเราทุกคนมีเอกสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ดีความล่าช้าตรงนั้น นำไปสู่การหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในการประชุม Whip ทั้ง ๓ ฝ่าย ซึ่งผมเข้าประชุมอยู่เป็น ประจำมีการขอความร่วมมือหลายครั้งหลายคราวว่าเพื่อนสมาชิกจากพรรคการเมืองหนึ่ง ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนามนะครับ ได้ใช้เวลาเยอะทำให้เกิดการล่าช้าในการพิจารณากฎหมาย ต่าง ๆ แต่อย่างที่ผมเรียนต่อท่านประธานไปว่าการใช้เวลาเยอะไม่ใช่เรื่องที่ผิดนะครับ แต่ถ้าเราอยากที่จะทำการประชุมให้มีประสิทธิภาพ ถ้าเราอยากจะใช้เวทีของการประชุมนี้ ให้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้บรรลุตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้นี่เราก็มาบริหารเวลากัน ต้องขอบพระคุณนะครับท่านประธาน เมื่อสักครู่นี้ที่ท่านกรุณาบอกพวกเราทุก ๆ คนว่า ห้องประชุมของท่านประธานก็ดี ห้องประชุมของท่านรองทั้ง ๒ ท่านก็ดีจะเปิดกว้างสำหรับ เราทุกเมื่อ นี่คือโอกาส ดังนั้นเองผมมองว่าถ้าช่วงไหนเราพิจารณากฎหมายล่าช้า เราก็ส่ง ตัวแทนของพรรคการเมือง เราก็ส่งตัวแทนที่เป็น Whip เข้าไปขอท่านประธานว่าเราขอ ประชุมเพิ่ม อาจจะเพิ่มมาวันอังคารก็ได้ อาจจะเพิ่มมาในวันศุกร์ก็ได้ ผมเชื่อว่าท่านประธาน และท่านรองประธานทั้ง ๒ ท่านก็ยินดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ครับท่านประธานด้วยความเคารพ ผมเคยเป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่อ รอบนี้ผมเข้าสภามาในฐานะ สส. ที่ลงเลือกตั้งแบบเขต เลือกตั้ง ผมเข้าใจภารกิจของ สส. ทั้ง ๒ แบบเป็นอย่างดี และผมเห็นใจเพื่อน ๆ สมาชิก ที่ลงเลือกตั้งแบบเขต ที่เป็น สส. แบบเขต ท่านพิเชษฐ์ท่านรองหนึ่งด้วย ท่านก็ต้องใช้เวลา ส่วนหนึ่งกลับไปเพื่อไปร่วมงานประเพณีกับพี่น้องประชาชน เพื่ออะไรครับ ในเมื่อเราไป ร่วมงานกับพี่น้องประชาชนเราก็สามารถรับฟังปัญหาจากปากของพี่น้องประชาชน แล้วเรา ก็นำปัญหาที่เราเจอในพื้นที่มาแก้ไขกันในสภาแห่งนี้ ดังนั้นเองผมจึงเรียนท่านประธานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ๒ วันเป็นการกำหนดเวลาที่มีความเหมาะสมแล้ว ผมจึง ขออนุญาตนำเสนอท่านประธานและที่ประชุมให้ประชุม ๒ วันในวันพุธและวันพฤหัสบดี กราบขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ ท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร มากครับ ก็เสนอให้เป็น ๒ วัน แต่ถ้ามีกรณีพิเศษประธาน สามารถจะนัดเพิ่มได้ ก็คล้าย ๆ กับท่านอนันต์ครับ ต่อไปเชิญท่านสุรินทร์ ปาลาเร่ ครับ
พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในการหารือกันในเรื่องที่ประชุม ๒ วันหรือ ๓ วันนี้ผมไม่ติดใจนะครับ แต่ผมติดใจว่าขอความกรุณาอย่าประชุมวันศุกร์ เพราะวันศุกร์นี้เป็นวันทำพิธีทางศาสนา พวก สส. ของเราเองและการรวมกลุ่มของประชาชนที่จะต้องไปละหมาดวันศุกร์ ตามหลักการของศาสนา ก็ขอความกรุณานะครับ แต่ความเห็นส่วนตัวว่าเราน่าจะประชุม ๒ วันอาทิตย์หนึ่ง ๓ วันอาทิตย์ เว้นอาทิตย์ เป็นลักษณะอย่างนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จะ พบกันครึ่งทาง แต่อย่างไรก็แล้วแต่วันศุกร์ขอความกรุณาครับ ขอขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณสุรินทร์ ปาลาเร่ มากครับ ต่อไปขอเชิญคุณชัยชนะ เดชเดโช แล้วต่อไปส่งรายชื่อมาแล้ว ก็เตรียมตัวท่านทศพร เสรีรักษ์ ครับ
นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ นครศรีธรรมราช ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับท่านประธานสภาและท่านรองประธานสภา ทั้ง ๒ ท่านนะครับ ผมต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกในสภาทรงเกียรติแห่งนี้ที่ได้เสนอความเห็นกัน หลากหลายในการกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ในส่วนตัวผมและพรรคประชาธิปัตย์ เรามีความเห็นว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาเรายึดหลักปฏิบัติว่าเราประชุม สัปดาห์ละ ๒ วันคือวันพุธกับวันพฤหัสบดี ส่วนเรื่องเวลาว่าจะเริ่มวันพุธเช้าหรือวันพุธบ่าย นั่นเราค่อยมาหารือกำหนดอีกทีหนึ่ง ผมเรียนอย่างนี้ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วยกับ ความเห็นของท่านอำนวย ถ้าสัปดาห์ไหนที่เราต้องประชุม ๓ วันก็กำหนดเป็นวาระพิเศษ ผมทราบดีว่าสภาแห่งนี้ต้องพิจารณากฎหมายหลายฉบับ และสมัยที่ผ่านมาสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ เราก็ทำงานอย่างมุ่งหมาย แต่บางครั้งเราเจอด่านบางด่าน เกมการเมืองบางเกม ก็ทำให้กฎหมายล่าช้าไป ผมต้องขอชื่นชมการทำงานของประธานสภา ที่ผ่านมาคือท่านชวน หลีกภัย ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาและทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ผมขอเสนอว่า ๒ วัน ถ้ามีสัปดาห์ไหนเป็นพิเศษก็เสนอไปครับ ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณชัยชนะครับ ต่อไปเชิญคุณทศพรครับ ก็มีอีกท่านหนึ่งส่งรายชื่อมาแล้วเตรียมตัวได้ คุณปรเมษฐ์ จินา ครับ
นายทศพร เสรีรักษ์ แพร่ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ถ้าท่านประธานยังพอจะจำได้ เมื่อปี ๒๕๓๙ ในวันที่ท่านประธานเป็นประธานครั้งแรกวันนั้นผมก็เคยลุกขึ้นเสนอว่าควรจะ ประชุมสัปดาห์ละ ๓ วัน แต่ก็ไม่สำเร็จ วันนี้ผมไม่ได้ติดใจว่าจะ ๒ หรือ ๓ วัน แต่ผมสนใจว่า การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรทำอย่างไรจะมีประสิทธิภาพที่สุด ผมไม่อยากเห็นสภาพที่ สส. ต้องวิ่งจากห้องประชุมกรรมาธิการมาตามเสียงออดเพื่อมาโหวตในห้องประชุมใหญ่ แล้วก็วิ่งกลับไปประชุมกรรมาธิการ แล้วประชาชนเขาก็นินทากันว่า สส. วิ่งประชุมห้องโน้น ห้องนี้เพื่อรับเบี้ยเลี้ยง รับเบี้ยประชุมกัน ตรงนี้ผมก็อยากฝากไว้ให้ท่านประธานได้พิจารณา หาทางแก้ไขด้วย ส่วนจะเรื่อง ๒ วันหรือ ๓ วันก็ขออนุญาตรับฟังเสียงในที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณปรเมษฐ์ จินา ผมคิดว่าเราได้ฟังสรุปอยู่ ๒ ประเด็นคือว่า ๓ วันกับ ๒ วัน ถ้าเห็นว่ามีวาระจำเป็น เร่งด่วนท่านประธานสภาก็จะกำหนดเพิ่มเติมได้ มันก็อยู่ในประเด็นนี้ละครับ ต่อไปท่านปรเมษฐ์ จินา ครับ ตอนแรกก็ท่านอดิศรได้พูด แล้วท่านจุลพันธ์ก็เสนอต่อ ผมอยากเป็นข้อสรุป ก็แล้วกัน จากท่านอดิศร แล้วท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นท่านสุดท้ายได้ไหมครับ เชิญท่านปรเมษฐ์ จินา ครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาแล้วก็ ผู้ทรงเกียรติที่เคารพรักทุกท่านครับ ปรเมษฐ์ จินา รวมไทยสร้างชาติ สุราษฎร์ธานี ผมก็ขออนุญาตร่วมด้วย เนื่องจากว่าในส่วนของการประชุมสมัยที่ผ่านมามองว่าจริง ๆ ถ้าเราควบคุมประสิทธิภาพในเรื่องของการประชุมให้มันได้ผล แล้วก็ในส่วนของกฎหมาย สามารถประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษานั่นก็คือผลลัพธ์ แต่ว่าเราทำอย่างไรให้กระบวนการ ประชุมมีประสิทธิภาพ คงจะไม่ใช่ผลสำเร็จอยู่ที่จำนวนวัน เพราะฉะนั้นมองว่าในส่วนของ การประชุมวันพุธ วันพฤหัสบดีก็เหมาะสมนะครับ แล้วก็ที่ทางบ้านเขาฝากมาว่าก่อนที่ จะนำกฎหมายเข้ามาพิจารณาในสภาน่าจะมีการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและได้ ประชาพิจารณ์ด้วย ผมมองว่าถ้าเวลาที่เหลือยกตัวอย่างว่าวันอังคารพรรคพวกของเรา ส่วนหนึ่งก็อาจจะต้องไปเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็จะต้องมีผู้ช่วยหรือว่ามีผู้ติดตามต่าง ๆ มากมาย เพราะฉะนั้นก็ต้อง Save วันอังคารให้กับการประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วก็ส่วนหนึ่งวันจันทร์ กับวันศุกร์ นอกจากพิธีทางศาสนา แล้วก็เราจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการด้วยนะครับ ก็จะ Save วันตรงนั้น เราไม่ได้มีการประชุมแค่ ๒ วัน เพราะฉะนั้นในส่วนของทั้ง ๕ วันแล้ว เราก็ใช้ให้มีประสิทธิภาพ แล้วก็ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการประชุมร่วมกันแบบนี้ถ้าข้อมูล รายละเอียดไม่มีการทำการบ้านให้มีการตกผลึกให้มากที่สุดมันก็จะเสียเวลา เพราะฉะนั้น ชุดย่อย ๆ กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายตัวนั้น ๆ ท่านไปทำการบ้าน แล้วก็ลงไปทำ ประชาพิจารณ์กับพี่น้องประชาชน แล้วก็ที่เหลือต้องขออนุญาตด้วยเพราะว่าบางท่านที่เป็น สส. บัญชีรายชื่ออาจจะไม่ได้ลงพื้นที่เหมือนกับตัวแทนเขต ตัวแทนเขตนอกจากจะต้องไป ร่วมงานพิธีต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่เราลงไปก็จะเป็นปัญหาที่ชาวบ้านฝากให้เรามาแก้ในระดับประเทศ เพราะว่าในจังหวัดหรือว่าในเขตเขาไม่สามารถแก้ได้แล้ว มันเหนือกว่าความสามารถของเขาแล้ว ก็จะฝากเรามา เพราะถ้าเราลงไปในพื้นที่ปัญหาก็จะได้เข้ามาที่สภาโดยตรงครับ ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอท่านอดิศร เชิญครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายอดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น กรณีกำหนด วันประชุมนี้จะเป็นที่ถกเถียงกันทุกสมัย มีเหตุมีผลกันทุกสมัยได้ถกเถียงกันมา เพราะสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรไปอาสามาจนได้รับเลือกตั้ง ไม่ว่าระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อก็คือ สส. ความเป็นจริงหน้าที่ของท่านต้องประชุมวันจันทร์ถึงวันศุกร์เลยนะครับเขาให้มาประชุม แต่ระบอบประชาธิปไตยของเรามันเกี่ยวพันกันเยอะ มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ มีวุฒิสมาชิกด้วย ประเพณีที่ผ่านมาทุกสมัยเขาถึงกำหนดให้ประชุมอาทิตย์ละ ๒ วัน โดยคำนึงถึงฝ่ายบริหาร ฝ่ายคณะรัฐมนตรี โดยคำนึงถึงวุฒิสมาชิก แต่ก็ไม่ปิดกั้นที่ทาง สภาจะเปิดให้ประชุมรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีกรณีสำคัญ ๆ ผมเห็นด้วยกับ ท่านสุธรรม แสงประทุม เพื่อนผมซึ่งไม่ได้เข้าสภามานาน คงจะมีความขยันขันแข็งเป็นพิเศษ อยากจะประชุม ๓ วันหรือ ๗ วัน ก็เป็นภาระหน้าที่ของท่าน แต่เมื่อผมคำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณีของเราที่ได้เดินกันมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าประธานจะไม่ต้องถามมติก็ได้ ให้เป็น ๒ วัน และ ๓ วันก็แล้วแต่ท่านประธานหรือการประชุมรัฐสภาต่อไป ก็จะได้ดำเนินการต่อไป ผมจะได้ดูฝีมือของท่านรองหนึ่ง รองสองด้วย วันนี้ยังไม่เห็นฝีมือทั้ง ๒ ท่าน เห็นเฉพาะ ฝีมือของท่านประธานครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ ท่านอดิศรมากครับ ต่อไปผมก็จะให้ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้สรุป แต่มีผู้ขออีก ๑ ท่าน ผมคิดว่าน่าจะเป็นคนสุดท้าย ขออนุญาตจริง ๆ เพราะว่าประเด็นมันจะซ้ำ ๆ แล้วก็คือ คุณณัฐวุฒิ บัวประทุม ก็ขอให้คุณณัฐวุฒิ บัวประทุม เป็นคนสุดท้ายนะครับ เพราะว่า เราได้ข้อมูลค่อนข้างจะครบถ้วนแล้ว ส่วนจะต้องลงมติหรือไม่ลงมติก็หารืออีกครั้งหนึ่งครับ เชิญท่านจุลพันธ์ครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยครับ ต่อเรื่องของการประชุมของพวกเรานี้เราก็ถกเถียงกันมาทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มี ข้อเสนอมากมาย จริง ๆ แล้วมีแค่ ๒ กลุ่ม หลัก ๆ ก็คือจำนวนวันประชุมจะเป็น ๓ วัน หรือเป็น ๒ วัน ซึ่งผู้เสนอจากฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยแล้วก็พรรคก้าวไกลซึ่งก็เป็น ๘ พรรค ซึ่งมีการเจรจาในเรื่องของการร่วมรัฐบาลกันอยู่นี้ได้เสนอ ๓ วัน แต่แน่นอน มีความเห็นต่างซึ่งพวกเรายอมรับฟังครับ ท่านประธานครับ ประเด็นสำคัญกว่าในเรื่องของวัน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ประเด็นแรกที่อยากจะเรียนต่อท่านประธานคือเรื่องของเนื้อหาในแต่ละ การประชุม ซึ่งท่านรองประธาน คนที่สอง ท่านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ต้องขอบคุณท่านนะครับ ท่านเป็นผู้ที่เสนอในเรื่องความสำคัญของการหารือในแต่ละวัน ซึ่งเพื่อนสมาชิก จากการพูดคุยกันในวงกว้างเห็นด้วยในเรื่องของการเพิ่มเวลาแล้วก็เพิ่มจำนวนของการหารือ เพราะว่านี่เป็นกลไกเดียวของสภาที่เราจะสามารถยิงตรงไปยังหน่วยงานของภาครัฐ แล้วก็ได้รับการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพราะด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ พวกเราถูกมัดมือมัดเท้าไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้ ต้องขอบพระคุณในดำรินี้ แล้วก็ขอท่านประธานครับ พวกเราขอเสนอรับฟังข้อเสนอ ของท่านและขอเสนอในกรอบเรื่องของการหารือก่อนว่า ในแต่ละวันที่เราประชุมอยากจะให้ มีการหารือ ๓๐ คนเป็นอย่างน้อย และเพิ่มเวลาเป็นท่านละ ๒ นาที ๓๐ วินาที จะตกราว ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาทีในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้นอย่างมหาศาล ในประเด็นแรกก่อน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เรื่องของการถกเถียงในเรื่องของกรอบวันการประชุม เรียนต่อ ท่านประธานครับ เราคงไม่อยากจะมาลงมติในวันแรกที่เราประชุมสภาผู้แทนราษฎรกัน ในเรื่องนี้ มันหารือกันได้ ท่านได้เสนอในเรื่องของกรอบวันมาที่ ๒ วัน พวกผม ๓ วัน พวกเรามีใจอยากทำงานให้ประชาชนทุกคนครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องของข้อเสนอนี้ จากการพูดคุย ต้องกราบขอบพระคุณท่านสุธรรม แสงประทุม ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่ได้เสนอเรื่องของกรอบเวลาที่ ๓ วัน และยอมที่จะเข้าใจว่าเราต้องพยายามบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งในเรื่องของ กรอบเวลานั้นผมต้องเรียนต่อท่านประธานครับ อยากจะให้ท่านประธานได้รับทราบในมุมมอง ของพวกเราว่า ๑. คือเราอยากจะให้งานสภามันเดินหน้าแล้วก็บรรลุผลตามที่พวกเรา ได้รับปากกับพี่น้องประชาชนก่อนที่เราจะเข้ามานั่งกันอยู่ในที่นี้ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะมีการประชุมแทนที่จะเป็น ๓ วัน เหลือเพียง ๒ วัน เหมือนที่เราได้เคยทำมาในอดีต ก็อยากจะให้ยึดแนวทางที่เราได้เคยทำมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรใน ๔ ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือเมื่อมีกฎหมายที่สำคัญ เมื่อมีวาระหมุดหมายที่เรามีความจำเป็นจะต้องดำเนินการ ให้แล้วเสร็จ ในแต่ละสัปดาห์เราอาจจะเพิ่มวันประชุมเป็น ๓ วันได้โดยขึ้นกับดำริของ ท่านประธานและการหารือร่วมกันระหว่างท่านประธานและ Whip ทั้ง ๒ ฝ่าย ข้อสรุปนี้ ก็คือหมายความว่าการประชุมเรากำหนดที่ ๒ วันไว้ก่อน และบวก ๑ เมื่อมีความจำเป็น อันนี้เป็นข้อเสนอที่น่าจะยอมรับและไปด้วยกันได้ทุกฝ่ายนะครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ในส่วนของการหารือนั้น ผมขอย้อนกลับไปประเด็นเรื่องของการหารือสักครู่ครับ มีเพื่อนสมาชิกได้มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ การหารือในช่วงเช้าในแต่ละวันที่พวกเราได้ทำกัน มานั้นมันเกิดประโยชน์ มีการถามตอบ มีการติดตามจากหน่วยงานของรัฐสภา ซึ่งเป็นประโยชน์ กับประชาชน เป็นประโยชน์กับเพื่อนสมาชิกเป็นอย่างมาก แต่ความล่าช้าของมันเกิดขึ้นมา ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าท่านประธานจะสามารถดำริแล้วก็ประสานงานฝ่ายบริหารเพื่อให้ส่ง ตัวแทนของกระทรวง ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นคณะรัฐมนตรีนะครับ ตัวแทนของกระทรวง เจ้าหน้าที่กระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องหลาย ๆ กระทรวงมากระทรวงละคนสองคนก็พอ เพื่อมารับในช่วงเช้า เพราะเพื่อนสมาชิกมีการหารือกว้างขวาง หลากหลาย แล้วก็เข้าถึง หน่วยงานมากมาย ถ้าเขามารับฟังเราที่นี่ในช่วงเช้าก็เป็นการรับปัญหาโดยตรงเพื่อที่จะเร่งรัด กระบวนการในการแก้ไขปัญหา อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากท่านประธาน เพราะฉะนั้นผมได้เรียนท่านประธาน ๒ ประเด็นนะครับ ๑. คือการหารือ ๒. คือเรื่องของ วันประชุมที่กำหนดให้เป็น ๒ และบวก ๑ ในกรณีจำเป็น ก็ขอท่านประธานได้โปรดพิจารณาครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียนท่านจุลพันธ์ครับ ในเรื่องของการหารือก็รับว่าเป็นข้อเสนอของท่าน ผมจะนำไปหารือกับรองประธานทั้งสอง กับ Whip ที่เราจะมีต่อไปว่าเวลาจะเอาอย่างเดิมหรือเพิ่ม อันนี้เป็นการกำหนดภายใน ส่วนที่จะแจ้งให้รัฐบาลนั้นเดี๋ยวจะดำเนินการตามที่ท่านเสนอ เพราะฉะนั้นก็อยู่ในช่วงของ การหารือเรื่องจำนวนวันต่อสัปดาห์ก่อนนะครับ ต่อไปขอเชิญท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาต ที่จะเอ่ยคำว่าคนจังหวัดอ่างทองเป็นครั้งแรกในการประชุมสภาในชุดนี้ครับ ท่านประธานครับ ต้องขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกหลายท่านครับ ผมคิดว่าเราได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียงกัน ในเชิงหลักการว่าการประชุมนั้นจะเกิดขึ้นในกี่วันต่อสัปดาห์ แต่ผมอยากจะย้ำและขอใช้สิทธิ พาดพิงที่คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้รวมชื่อผมกับคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นชื่อเดียวกัน ในฐานะที่คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เองก็เป็นคนเสนอประเด็นว่าอยากจะให้มีการประชุม ๓ วัน ที่จำเป็นต้องพูดรวมแบบนั้นเพราะผมคิดว่าประเด็นสำคัญ เพื่อนสมาชิกเห็นตรงกันว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่คุณณัฐพงษ์ได้นำเสนอว่าในช่วง ๔ ปี ของ สส. ในชุดที่ ๒๕ นั้นมีประเด็นใด ๆ ที่ค้างการพิจารณา ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือกฎหมาย หลายฉบับที่ยังไม่ได้ถือว่าตกไปนะครับ เพียงแต่ว่าค้างการพิจารณาบางประเด็นสำคัญ เช่นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องสมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้ตกไป ยังค้างการพิจารณา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็น่าจะหยิบยก กฎหมายเหล่านี้เข้ามาพิจารณา นี่เป็นข้อมูลสำคัญที่สภาแห่งนี้ต้องบันทึกไว้ แล้วก็เป็น เรื่องจริงที่ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกก็จะหยิบยกข้อมูลตรงนี้ที่จะมาใช้ประกอบการพิจารณาว่า วันประชุมนั้นควรจะมีระยะเวลาเป็นกี่วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามมีบางประเด็นที่ เพื่อนสมาชิกได้พูดถึงและผมคิดว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า ๓ วันในตอนแรกนั้นเราไม่ได้หมายถึงว่ากรณีที่จะประชุมในวันอังคารจะเริ่ม ตั้งแต่เวลาเช้า เพราะว่าเพื่อนสมาชิกบางท่านก็กังวลว่าในเช้าวันอังคารนั้นมักจะเป็นกรณี ของการประชุมคณะรัฐมนตรี บางพรรคอาจจะมีการประชุม สส. ในช่วงเวลาบ่าย ถ้าพวกผม เป็นรัฐบาลหรือท่านที่เคยเป็นรัฐบาลท่านก็ทราบดีว่าปกติจะมีการประชุม Whip วันจันทร์ ในส่วนของรัฐบาล ท่านก็เกรงว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท่านอาจจะไม่มีเวลา ที่พิจารณา แต่ข้อเสนอแรกของเราในการประชุมที่เพิ่ม ๓ วัน เพิ่มเป็นวันอังคารนั้นยืนบน พื้นฐานที่วันอังคารเราจะไม่ไปแตะครับ ไม่ให้กระทบต่อการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็คือ การเริ่มการประชุมในช่วงบ่ายเป็นต้นไป แน่นอนเราอาจจะเลิกกันค่ำนิดหนึ่ง แต่ผมเชื่อมั่น ว่าวิสัยทัศน์ของท่านประธานและท่านรองประธานทั้ง ๒ ท่านก็พูดชัดเจนในการแสดง วิสัยทัศน์หรือข้อหารือที่มีปรากฏต่อสาธารณะว่าเราจะไม่ให้การประชุมนั้นเยิ่นเย้อ จนข้ามคืนต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลกระทบก็เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน นั่นคือสิ่งที่ อยากจะชี้แจงครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะชี้แจงและจำเป็นต้องอธิบายต่อเพื่อนสมาชิก ในอดีต ที่ผ่านมาเราเข้าใจว่ามีการเสนอรายงานจากหน่วยราชการต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่ต้อง เสนอตามกฎหมาย มีรายงานของคณะกรรมาธิการที่ค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมาก ที่ไม่อาจดำเนินการได้แล้วเสร็จและทัน แน่นอนท่านไม่ได้เอ่ยโดยตรงว่าเป็นพรรคการเมืองใดที่ใช้ เวลาในการอภิปรายเป็นจำนวนมากขนาดนั้น แต่ความจริงท่านน่าจะเอ่ยอีกสักนิดหนึ่งว่า อาจจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งในวันนี้ที่ใช้เวลาอภิปรายจำนวนมากขนาดนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นไม่ใช่ความเป็นจริงครับ ความเป็นจริงผมเชื่อมั่นว่าสภาชุดที่ผ่านมาสมาชิกทุกคน ได้แสดงให้เห็นว่ารายงานของคณะกรรมาธิการมีความสำคัญและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ผมยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียวนะครับ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไข ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศนำไปสู่การที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกเป็นแผนปฏิบัติการแล้วก็เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งเหล่านี้จะบอกว่าไม่สำคัญ ไม่ได้ครับ แต่เพื่อการเดินหน้าการทำหน้าที่ของพวกเรา ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการที่เรา แบ่งเวลาออกเป็น ๓ วันนั้นเพราะเราต้องการกำหนดให้ชัดเจนว่าวันใดควรจะต้องพิจารณา เป็นเรื่องได้ เช่นกรณีของวันพุธควรจะต้องเป็นการพิจารณาเรื่องกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล หรือไม่ และท่านจะเห็นได้ว่าในสมัยประชุมที่ผ่าน ๆ มาสมาชิกของทุกพรรคก็ช่วยกัน ในการรักษาองค์ประชุมเป็นอย่างดี อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะ สส. พวกผมก็เพิ่งเข้ามา แค่สมัยที่ ๒ ชื่นชมต่อสมาชิกทุกท่าน วันพฤหัสบดีก็ชัดเจนว่าจะมีวาระใด แต่สิ่งที่ขาด หายไปและบางครั้งมันตอบกับพี่น้องประชาชน มันตอบจากพวกเราเองกันไม่ได้นะครับ เช่นกรณีการเสนอกฎหมายของเพื่อนสมาชิกที่เข้าชื่อกันอย่างน้อย ๒๐ คน เสนอเป็น กฎหมายหรือกรณีที่ภาคประชาชนซึ่งยากเย็นนะครับ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเข้าชื่อเสนอ กฎหมายจะใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น บางครั้งเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ใส่รหัสประชาชน เลขประจำตัวประชาชนก็สามารถเสนอกฎหมายได้ แต่การจะรวมสัก ๑๐,๐๐๐ ชื่อในการเสนอไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับท่านประธาน ฉะนั้นปรากฏว่าพอสภา ไม่สามารถพิจารณาได้ทันเป็นอันตกไป สิ่งที่ภาคประชาชนรวมเข้ามา เสนอกันมา กว่าจะ เดินมาถึงสภาทางลาดเอียงยังไม่ค่อยมีเลย นี่ตัวแทนคนพิการสากลบอกกับผม ซึ่งต้องฝาก ท่านประธานในการปรับแก้ด้วยความเคารพ พี่น้องประชาชนมาร้องเรียนจากจังหวัดชัยภูมิ บอกกับผมว่าเจ้าหน้าที่ห้ามคนที่ใส่รองเท้าแตะเข้าสภา สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขครับ แต่ไม่เป็นไร เรามีวาระที่จะพูดกันในอนาคต ผมคิดว่าเพื่อการเดินหน้าการทำหน้าที่ของพวกเราข้อสรุป ที่น่าจะตรงกันวันนี้ก็คืออย่างน้อยที่สุดรักษากติกาเดิม เพิ่มเติมคือการรักษาองค์ประชุมว่า ๒ วันต่อสัปดาห์น่าจะเป็นข้อเสนอที่เราเห็นตรงกันมากที่สุด และทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ใน ๒ วันดังกล่าว แบบนี้พรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยครับ แล้วก็เป็นข้อเสนอร่วมกันกรณีของ ๘ พรรคร่วมที่เราเดินหน้ากำลังจะจัดตั้งรัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย โดยคุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเพื่อนอีก ๖ พรรคที่เหลือเห็นตรงกันว่าอย่างน้อย ๒ วัน ต่อสัปดาห์น่าจะลงตัวที่สุด แต่อย่างไรก็ตามอย่างที่ผมได้เน้นย้ำว่าในกรณีที่จะเพิ่มเป็น วันพิเศษนั้นเป็นไปได้ไหมว่าขอเป็นพันธสัญญาร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราต้องช่วยกันครับ และท้ายที่สุดอยู่ที่ท่านประธานจะวินิจฉัยหรือตัดสินใจ ก็คือว่าขอพันธสัญญาร่วมกันว่า เมื่อใดก็แล้วแต่ที่มีกฎหมายที่เสนอโดยตัวแทนของพวกเรา สส. ซึ่งอาจจะข้ามพรรคก็ได้ รอบที่แล้วผมก็เสนอร่าง พ.ร.บ. ศาลจราจรกับคุณนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา นี่ก็เสียดายที่ยังไม่ได้ถูกพิจารณา ขอเป็นพันธสัญญาร่วมกันและขอเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่า เมื่อใดที่มีกฎหมายที่เสนอจากพี่น้องประชาชนค้างวาระเมื่อไร เราจะเพิ่มวันประชุมตรงนั้นทันที แน่นอนผมไม่กล้าจะไปบอกว่าท่านประธานวินิจฉัยแบบนั้นนะครับ แต่ผมเชื่อมั่นว่า เพื่อนสมาชิก เห็นตรงกัน และจะเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่า ๒ วันนั้นคือ Fight บังคับ คือสิ่งที่เราจะเดินหน้า แต่ขอเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่าเมื่อใดที่มีกฎหมายของพี่น้อง ประชาชน เมื่อใดที่มีกฎหมายของเพื่อนสมาชิกค้าง เราจะเพิ่มวันคล้าย ๆ กับว่าเป็นไป โดยอัตโนมัติหรือโดยทันทีในการประชุมต่อสัปดาห์ นี่ยังไม่พูดถึงการประชุมร่วมซึ่งอาจจะมี การนัดเป็นระยะ ผมคิดว่าแบบนี้ทางพวกเราพรรคก้าวไกลเองก็เห็นชอบ แล้วก็จะเดินหน้า ร่วมกันไปครับ ซึ่งในท้ายที่สุดนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ประชาชนที่เลือกพวกเราเข้ามาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ก็ขอนำเรียนขอถอนข้อเสนอ ในส่วนของการประชุม ๓ วันต่อสัปดาห์ เป็น ๒ วันต่อสัปดาห์ บวกกับเงื่อนไขว่าหากมี กฎหมายที่ค้างการพิจารณาเมื่อใดก็ขอให้มีการนัดประชุมเป็นพิเศษ ซึ่งแน่นอนอาจจะ หมายรวมถึงกรณีที่มีวาระจำเป็นอื่น ๆ ด้วย คิดว่าแบบนี้การทำหน้าที่ของพวกเราในสมัยนี้ ก็น่าจะเดินหน้าไปด้วยกันดีครับ และผมเชื่อมั่นว่าองค์ประชุมไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่องค์ประชุมเป็นเรื่องของตัวแทนประชาชนทุกคน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณคุณณัฐวุฒิ เป็นอย่างมาก ก็คือตอนนี้เราเหลือเพียงข้อเสนอเดียวคือประชุมสัปดาห์ละ ๒ วัน แต่ประธาน หรือสมาชิกเห็นว่ามีเรื่องที่จำเป็นจะต้องประชุมเพิ่ม ก็ขอให้ประธานกำหนดเป็นการประชุม ผมขอเพิ่มเติมตรงนี้ว่าสิ่งที่พวกเราพูดวันนี้ก็เป็นประโยชน์มาก ผมยินดีที่จะปฏิบัติตาม ในเรื่องที่ว่าเราจะไม่ให้การประชุมของเราเยิ่นเย้อ แต่สาระมันน้อย เราจะพยายามเน้นว่า การประชุมนั้นจะต้องมีสาระมากที่สุดเพื่อประสิทธิภาพ แล้วจะพยายามให้การประชุมนั้น เกิดประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของประชาชนนะครับ แล้วก็ต้องขอความร่วมมืออย่างที่ พวกเราพูดก็คือว่าวันของการประชุมจะไม่สำคัญเท่ากับความร่วมมือของการประชุม ที่พร้อมเพรียงกัน แล้วร่วมมือกันอภิปรายอยู่ในประเด็น ผมคิดว่าบางครั้ง ๒ วันอาจจะได้ ประโยชน์มากกว่า ๓ วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการในเรื่องนี้ ผมกับรองประธานทั้งสอง เราจะได้หารือกัน แล้วก็อาจจะต้องเชิญ Whip เพื่อทำให้การประชุมของเราสมาชิกสภาชุดที่ ๒๖ นี้ มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็อยากให้พวกเราเข้าใจ ที่เราอภิปรายไม่ใช่ว่าเราอยากจะมา ประชุมน้อยหรือมาก แต่เราต้องการที่จะทำภารกิจนั้นในทุกอย่างที่เรามี ซึ่งมีเรื่องกรรมาธิการ มีอะไร ซึ่งจะต้องพยายามให้มันมีคุณภาพ คุ้มค่ากับเวลาที่เรามาอยู่ในสภานี้ ถ้าอย่างนั้น ผมคงจะไม่ต้องโหวตกันว่าจะเป็น ๒ วัน หรือ ๓ วัน เพราะได้ถอนแล้ว ก็ถือเอาประเด็นว่า เราจะมีการประชุมสัปดาห์ละ ๒ วัน แต่ก็จะเพิ่มได้ตามความจำเป็น ความเร่งด่วนจาก ประธานก็ได้ สมาชิกเสนอมาก็ได้ว่าควรจะเพิ่มครับ ก็ขอบคุณท่านสมาชิกที่เราได้อภิปราย แล้วไม่ต้องโหวตกัน ถือว่าเป็นนิมิตหมายของความร่วมมือที่ดีมากครับ ต่อไปก็จะเป็น การเสนอ คงจะไม่ต้องพูดวันไหนบ้าง เพราะว่าไม่มีผู้พูดว่าเป็นอย่างอื่น เท่าที่ฟังเมื่อสักครู่ว่า เสนอเป็นวันพุธกับวันพฤหัสบดีก็มีเหตุผลแล้ว ผมคิดว่าถ้าเอาตามนี้ก็ไม่ต้องอภิปรายกัน ในเรื่องวัน เอาตามนี้นะครับ ประชุมสัปดาห์ละ ๒ วัน คือวันพุธกับวันพฤหัสบดี ส่วนการหารือ จะใช้เวลากี่นาทีผมว่าเราพูดตอนนี้เลย
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผม อดิศร เพียงเกษ ขออนุญาต นิดหนึ่งครับ ถ้าวันพุธ วันพฤหัสบดีที่สัปดาห์ละ ๒ วันตรงกับวันหยุดราชการจะเหลือวันเดียว เราจะเพิ่มอีกในสัปดาห์นั้นเป็น ๒ วันได้ไหมครับ หรืออย่างไร
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อันนี้ที่เรา ปฏิบัติกันมานะครับ เป็นวันหยุดราชการเราก็จะไม่มีการประชุมนอกจากเป็นเรื่อง ของการต่อเนื่อง ก็ขอความร่วมมือสมาชิก ผมเข้าใจครับ วันหยุดราชการบางวันสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของเราต้องไปร่วมพิธี ถ้าเป็นวันหยุดที่เกี่ยวกับพิธี เช่นวันเฉลิมหรือวัน ในต่างจังหวัดวันสงกรานต์อะไรพวกเราต้องไปร่วมพิธี เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเพิ่มในวันหยุด โดยที่ไม่จำเป็นแก่การต่อเนื่องการลงมติก็คิดว่าคงไม่ คุณอดิศรครับ ก็ยังบอกว่าถ้าจำเป็น เพิ่มได้ ถ้าไม่จำเป็นก็เอา ๒ วัน วันพุธกับวันพฤหัสบดีครับ ทีนี้ก็มีเรื่องหนึ่งที่ต้องหารือ เช่นเดียวกันก็คือว่าเราจะเริ่มเวลาใด เช่นว่าคราวที่แล้ว ผมก็ต้องพูดเรื่องคราวที่แล้ว เข้าใจว่าทุกคนก็ส่วนใหญ่คือเริ่ม ๐๙.๓๐ นาฬิกา ส่วนเรื่องการหารือเดี๋ยวพูดอีกที เพราะได้เวลาแล้ว คุณจุลพันธ์ครับ จะหารือเพิ่มเวลาอีกนิดหน่อยอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวค่อย เข้ามาอีกตอนหนึ่ง เอาเรื่องว่าเวลาเริ่มครับ เวลาเริ่มเอาอย่างเดิมใช่ไหมครับ มีผู้จะอภิปราย เชิญท่านรังสิมันต์ โรม ก่อน แล้วก็ท่านสุธรรมขอพูดด้วย ก็เห็นใจท่านไม่ได้เข้ามาหลายปี เห็นใจ ไม่เป็นอะไร ขอพูดสั้น ๆ ก็แล้วกันครับ ท่านรังสิมันต์ โรม เชิญครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ขออนุญาตท่านประธาน เพื่อความชัดเจนนะครับ แล้วก็รวมถึงจากที่มีการหารือกัน สำหรับวันพุธและวันพฤหัสบดี ขอให้เป็นการเริ่มการประชุมเวลา ๙ โมงตรงเป็นต้นไป ในส่วนของการหารือขอเป็น ๓๐ คน ต่อวัน แล้วก็เพิ่มเวลาเป็นคนละ ๒ นาที ๓๐ วินาที เพื่อให้ประเด็นการหารือที่เป็นปัญหา ของพี่น้องประชาชนสามารถหารือได้เพิ่มขึ้นเพื่อจะได้นำสู่การแก้ปัญหาต่อไป ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณรังสิมันต์มากครับ ก็ว่าไปพร้อมเลยวันพุธ วันพฤหัสบดีเริ่ม ๐๙.๐๐ นาฬิกากับเรื่องหารือ เหมือนกับคุณจุลพันธ์คือขอเพิ่มจาก ๒ นาที เป็น ๒ นาทีครึ่ง แล้วก็วันละ ๓๐ คน เดี๋ยวอันนี้ ต้องดูเวลาอีกที เดิมวันละกี่คนครับ เดิมก็ ๓๐ คนอยู่แล้วนะครับ แต่เพิ่มเวลาเป็น ๒ นาที ๓๐ วินาที เชิญท่านสุธรรมครับ
นายสุธรรม แสงประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุธรรม แสงประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็ขอขอบคุณ เพื่อนสมาชิกและสภาแห่งนี้ที่เอาความห่วงใยของพี่น้องประชาชนมาผลักดันขับเคลื่อน แต่อยากทำความเข้าใจว่านอกจากจะประชุม ๓ วันประชุมใหญ่อย่างนี้แล้ว เรายังมีสภาเล็ก ก็คือคณะกรรมาธิการทุกคณะที่จะประชุมควบคู่กันไปนะครับ สภานั้นจะเป็นตัวแทนของ พรรคการเมืองทุกพรรคมารวมเป็นคณะกรรมาธิการสามัญซึ่งมันสามารถวิเคราะห์ได้เชิงลึก และขับเคลื่อนได้ เพราะฉะนั้นผมไม่ขัดข้องครับ ถ้าเราต้องการให้ประสิทธิภาพของ การทำงานและการกำหนดเวลาที่มีคุณภาพก็ขอ ๒ วัน แต่อยากให้ประธานได้กำกับให้ คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นสภาเล็กสามารถเคลื่อนในเชิงลึกและมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ ต่อชาติบ้านเมืองด้วย ทราบว่ามีอยู่ ๓๕ คณะด้วยกัน และยังมีคณะกรรมาธิการวิสามัญอีก ให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจภาพรวมว่าสภาใหญ่และย่อส่วนมาเป็นสภาเล็กในการทำงาน เชิงลึกยังมีอีก ขอขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านสุธรรมครับ ก็มีคุณรังสิมันต์เสนอให้เริ่มประชุม ๐๙.๐๐ นาฬิกา แล้วก็มีการหารือก่อนเข้าระเบียบวาระ วันละ ๓๐ คน เพิ่มเป็นเวลา ๒ นาที ๓๐ วินาที เชิญครับ ท่านใดที่เสนอในเรื่องเริ่มเวลา เชิญข้างหลังได้เลยครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ สส. เชียงราย เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมเป็น สส. หน้าใหม่ ของสภาแห่งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมได้ไปพบปะกับพี่น้องประชาชนและสิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากเห็น ก็คือการทำหน้าที่ของ สส. ในสภาผู้แทนราษฎรในการทำหน้าที่นิติบัญญัติครับ การประชุม ๒ วันที่ลงมติไปแล้วผมก็ถือว่ายังน้อยไปสำหรับการที่จะต้องมาทำกฎหมายเพื่อประชาชน ที่จะทำหน้าที่ออกกฎหมายอีกหลายฉบับและยังค้างคาอยู่ อันนั้นก็ไม่เป็นไร เรียบร้อยไปครับ ท่านประธานครับ การที่เราจะทำเรื่องหารือแล้วก็ทำเรื่องเวลาเพิ่มขึ้น ถ้าเราจะให้เวลาแค่ ๒ นาที ๓๐ วินาทีนั้น มันเพิ่มขึ้นมา ๓๐ วินาทีผมไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยนะครับ เพราะฉะนั้นการที่เพิ่มเวลามันก็ต้องเพิ่มเวลาให้เหมาะสมกับข้อหารือต่าง ๆ ที่ทางผู้แทน ของพี่น้องราษฎรจะได้นำเสนอต่อสภาแห่งนี้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้นเงื่อนเวลา ๒ นาที ๓๐ วินาทีมันไม่เพียงพอ การเพิ่ม ๓๐ วินาทีไม่มีประโยชน์ อะไรเลยครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเห็นก็คือเวลาที่เพิ่มขึ้นของ สส. ที่ทำหน้าที่ในสภา ไม่ว่าจะเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่ก็ตาม เพราะฉะนั้น ๒ วันของการประชุมในเรื่องของวัน ส่วนเวลานั้นถ้าเราเพิ่มเวลาควรจะเพิ่มเวลาไป ๓ นาที ให้เหมาะกับการที่จะนำข้อปัญหา ต่าง ๆ ให้กับทางสภาได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาตรงนี้ ให้เหมาะสมกับการดำเนินการของพวกเรา ในการเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน อันนี้สิ่งที่พี่น้องอยากเห็นครับ ท่านประธานครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ มีสุภาพสตรียกมือขึ้นมา ขอประทานโทษ ผมมองหน้าไม่ชัด สุภาพสตรีเชิญครับ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านคะ อยากจะปรึกษา เรื่องหารือหน่อยนะคะ ดิฉันเองร้างราจากสภาไปนานถึง ๑๒ ปี แต่พอมาเป็น สส. ก่อนจะ เข้ามาในสภานี้เรื่องที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมันเยอะเหลือเกิน ตอนนี้เกือบ ๑๐ เรื่องแล้ว ที่ต้องการที่จะหารือ ยังไม่เข้าใจว่าท่านจะเริ่มเวลาไหน อย่างไร ถ้าเกิดว่าคำนวณตามที่ ท่านจุลพันธ์พูดว่าคนละ ๒ นาที ๓๐ วินาที ถ้า ๓๐ คนมันเข้าไปเป็นชั่วโมง แล้วก็ท่านจะ เริ่มการประชุมสมมุติว่าเริ่มที่ ๐๙.๓๐ นาฬิกา แล้วหารือมันจะเริ่มกันตอนไหน และประชุม จริง ๆ มันจะเริ่มตอนไหน อยากได้ความชัดเจนมากขึ้นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ที่ทำกันผ่านมา เมื่อถึงเวลาที่กำหนดประชุมผู้ที่อยากจะถามปัญหาก็พร้อมในห้องประชุมแล้วเราก็จะเริ่ม ทันที ทั้ง ๆ ที่องค์ประชุมอาจจะยังไม่ครบ ลงชื่อยังไม่ครบ แต่ก็จะเริ่มเรื่องของการหารือ ได้เลยนะครับ ครั้งก่อนก็ ๒ นาที คราวนี้ก็มีการเสนอกันขอเป็น ๒ นาที ๓๐ วินาที ส่วนจะเป็น มากกว่านั้นก็เดี๋ยวดูอีกทีครับ ในเรื่องนี้ผมเห็นที่ผ่านมาทุกคนพูดในเวลา ๒ นาทีก็รู้สึกว่า ได้เนื้อหาสาระพอ แต่บางอย่างก็ยังรู้สึกว่าเร่งมากไป ก็อยากให้มันสบาย ๆ ในการเสนอ เนื้อหาแล้วก็ได้ประโยชน์มาก ผมทราบจาก สส. ว่าเรื่องที่หารือนี่เป็นหลักเป็นฐานที่ทำให้ ประชาชนได้ผลงานไป คือหมายความว่าหารือด้วยปากเปล่าทางสภาก็จะทำหนังสือสิ่งที่ ท่านหารือไปโดยตรงที่หน่วยงานนั้น แล้วเขาก็จะตอบไปยังผู้หารือ ท่านจะได้แจ้งประชาชนได้ และอีกอันหนึ่งบางทีหนังสือของสภายังไม่ได้ไปถึง แต่เจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ที่เขามานั่งอยู่เขาก็จะรีบไปดำเนินการในส่วนนั้นนะครับ เพราะเขาก็รู้ว่าถ้าพูดในตอนหารือ ประชาชนติดตามแล้วเขาก็จะต้องทำ มีปัญหาอุปสรรคเขาก็จะได้แจ้งให้ผู้หารือได้ทราบ อันนี้ได้ประโยชน์ครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องเวลาเดิม ๒ นาที ถ้าเราเอา ๒ นาที ๓๐ วินาที ไปก่อน แล้วถ้าเห็นจำเป็น เพราะอันนี้เราปรับได้ ผมกับท่านรองซึ่งพิจารณาเรื่องนี้ปรับได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดก็คือได้งานของประชาชนนะครับ อันนี้ท่านอดิศรขอพูดอีกทีได้ครับ เชิญครับ
นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม อดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เราต้องให้เกียรติประธานเดิมที่เปิด ช่องหายใจให้มีการหารือคือ ฯพณฯ อุทัย พิมพ์ใจชน แห่งพรรคไทยรักไทย ผมติดตามสภา ชุดที่แล้วก็ขยันขันแข็ง มีประโยชน์อย่างที่ท่านประธานกราบเรียน แต่ผมอยากให้ที่ประชุม แห่งนี้ยึดกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผมเล่น TikTok ทุกวันนะครับ TikTok เขาจะให้เวลา ๓ นาที พอดี ๆ จบสิ้นกระแสความ ไม่เชื่อท่านประธานพรุ่งนี้เช้าเจอผมที่ TikTok ก็ ๓ นาที ก็อยากให้ หารือที่ประชุมตรงนี้ใช้เทคโนโลยีที่เป็นสากลทั้งหมด เริ่มต้น จบสิ้นกระแสความ ๓ นาที ต่อรองจาก ๒ นาทีครึ่งเป็น ๓ นาที ไม่เสียหายครับ เวลาประชาชนที่มาถกเถียงกันตรงนี้ มีประโยชน์มาก ถ้าเพิ่มอีกสัก ๑๕ นาทีหรือ ๓๐ นาที ขออนุญาตเอา TikTok เป็นบรรทัดฐานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณนิคม บุญวิเศษ ครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อเนื่องจากการหารือเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดของ พี่น้องประชาชน ผมเห็นว่าการที่จะเพิ่มเวลาจาก ๒ นาที เป็น ๒ นาทีครึ่ง หรือเป็น ๓ นาที ก็ตามนะครับ ผมคิดว่าการเพิ่มจำนวนคนจาก ๑๕ คน เป็น ๒๐ คนต่อฝ่ายมันจะมี ประสิทธิภาพมากกว่า เราอาจจะใช้เวลา ๒ นาทีก็ได้ เพราะเราสามารถพูดย่อได้ และในรายละเอียดต่าง ๆ เราก็สามารถส่งท่านประธานได้ แต่ถ้าจะเพิ่มเวลา ผมคิดว่า เพิ่มจำนวนสมาชิกจากการหารือฝ่ายละ ๑๕ คน เป็นฝ่ายละ ๒๐ คน ในเวลา ๒ นาที ถ้าเราเทียบกันแล้วผมคิดว่าการหารือจาก ๑๕ คน เป็น ๒๐ คนจะได้ประโยชน์สูงกว่าครับ กราบขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณนิคมครับ ของคุณนิคมก็ประเด็นว่าเอา ๒ นาทีเท่าเดิม แต่ว่าเพิ่มเป็นจำนวนผู้ที่จะมา ขอหารือ ผมขอย้ำอีกครั้งตอนหารือปีที่แล้ววันละ ๑๕ คนใช่ไหมครับ แล้วก็ ๒ วัน ๓๐ คน วันละ ๓๐ เลยใช่ไหมครับ ฝ่ายละ ๑๕ คน ขอประทานโทษครับ ผมไม่ได้นั่งอยู่ในสภา ตอนหารือ คราวที่แล้วก็ตก ๒ นาทีที่ผ่านมา แต่หารือวันละ ๓๐ คน โดยแบ่งเป็นฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาลฝ่ายละ ๑๕ คน แต่คราวนี้ก็จะตรงกันว่า ๓๐ คน ที่มีความไม่ตรงกันก็คือ เรื่องเวลา ๒ นาที ๓๐ วินาที กับ ๓ นาที อันนี้พอที่จะประนีประนอมโดยไม่ต้องโหวต ได้ไหมครับ ผมชอบเดินทางสายกลาง ถ้ากลาง ๆ คือมี ๒ นาทีของคุณนิคมท่านสุดท้าย คนนี่ก็นั่นอยู่แล้วครับ กับเสนอเป็นส่วนใหญ่ก็คือ ๒ นาทีครึ่ง กับมีบางท่านเสนอ ๓ นาที เชิญท่านจุลพันธ์ครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต่อข้อเสนอในเรื่องของ กรอบเวลาการประชุมในแต่ละวันนะครับ ระหว่างที่ท่านประธานได้หารือเพื่อนสมาชิก ผมเองก็ได้เดินปรึกษาหารือกับหลาย ๆ ฝ่าย รวมถึงผู้เสนอหลายท่าน ขณะนี้ค่อนข้าง จะได้เป็นข้อสรุปที่พอจะนำเสนอเป็นญัตติต่อท่านประธานได้ นั่นก็คือให้เรามีการหารือ ในทุกเช้าที่ประชุมเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง ๓๐ ท่าน ท่านละ ๓ นาที เป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง แล้วเราก็จะเริ่มเข้าสู่ระเบียบวาระหลังจากนั้น โดยเราจะเริ่มประชุมในแต่ละวันเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกาตรง เราจะได้เริ่มเข้าระเบียบวาระเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกาเหมือนเช่นที่เรา ได้เคยทำมา จะเป็นเวลาเดิมที่เราได้เริ่ม เมื่อก่อนเราเริ่ม ๙ โมงครึ่ง หารือ ๑ ชั่วโมง เข้าระเบียบวาระ ๑๐ โมงครึ่ง ครั้งนี้เราจะเริ่ม ๐๙.๐๐ นาฬิกา หารือ ๑ ชั่วโมงครึ่ง เข้าระเบียบวาระเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา ก็ขอเสนอท่านประธานและขอผู้รับรองครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ไม่ต้องเสนอ เป็นญัตติ หารือกันอยู่ เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที ก็ตกลงเป็น ๓ นาที แต่เวลาเริ่ม ๙ โมง แต่ถ้าเรา ดำเนินการเห็นว่ามันยืดออกไปมากผมอาจจะต้องหารือ เพราะว่าเวลาหารือนี่ผู้หารือก็มา เวลาเปี๊ยบ ถ้าเห็นว่ามันจะกินเวลาการประชุมมากไป ผมอาจจะมาตกลงกับผู้ที่จะหารือว่า เริ่มสัก ๐๘.๔๕ นาฬิกาได้ไหม เอาก่อนสัก ๑๕ นาที เพราะเราจะเริ่มช้ากว่านั้นก็เกรงว่า การจราจรอาจจะติดขัด ท่านอยากจะมาเร็ว แต่ปัญหาเรื่องการจราจร คือถ้า ๓ นาที ไม่ได้กินเวลา แต่เราจะเริ่มก่อนสัก ๑๕ นาที เพราะว่าถ้าแจ้งทางผู้หารือไม่ขัดข้องก็จะได้ ดำเนินการตามนี้ ก็น่าจะได้ข้อสรุปที่จะไม่ต้องโหวตกันนะครับ แต่ท่าน สส. ใหม่ท่านหนึ่ง ที่เข้ามาปฏิญาณตนวันนี้ท่านเป็นคนทำงานมาเยอะ ท่านอนุชา บูรพชัยศรี จะขอแสดง ความคิดเห็นในประเด็นนี้ ขอเชิญท่านอนุชาครับ
นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติครับ ท่านประธานครับ ผมได้มีโอกาสไปทำงานปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วก็ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้กรุณาให้กำกับดูแลหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือเรื่องการหารือของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชุดที่แล้วนะครับ ซึ่งเอกสารที่ท่านสมาชิกได้ดำเนินการไม่ว่า จะเป็นด้วยลายลักษณ์อักษรหรือว่าการที่จะลุกขึ้นเพื่อหารือในที่ประชุมแห่งนี้ ผมอยากจะ กราบเรียนว่าทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นผมถึงได้เข้าใจถึงความสำคัญ ของการปรึกษาหารือ เพราะบางครั้งแม้จะมีการหารือแค่เพียง ๒ นาที แต่ได้มีการพูดถึง เรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของหลายหน่วยงานแล้วก็หลายกระทรวงด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ สำคัญก็คืออยากที่จะให้ทุกท่านได้เข้าใจ แล้วก็ให้ท่านประธานได้ทราบถึงความสำคัญ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าในอนาคตก็จะเป็นเรื่องที่เช่นเดียวกันในการปฏิบัติ ถ้าเราจะมีการดำเนินการในการปรึกษาหารือ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเสนอท่านประธาน ก็คือว่าอาจจะเป็นเรื่องของการดำเนินการที่ต้องมีความรวดเร็วในเรื่องของการที่จะเสนอ ไปทางรัฐบาลหรือหน่วยงาน เพราะบางครั้งการหารือของท่านสมาชิกที่ลุกขึ้นหารือ ในที่ประชุมแห่งนี้ปรากฏว่าเรื่องกว่าจะไปถึงรัฐบาลอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าบ้างนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องของความเร่งด่วน เรื่องของความสำคัญในการที่หารืออาจจะไม่เหมือนกับ ที่ท่านสมาชิกได้ลุกขึ้นหารือในช่วงขณะนั้น ผมยกตัวอย่างเช่นเรื่องของปัญหาอาจจะมี อุทกภัยในพื้นที่ น้ำท่วม น้ำแล้ง แต่กว่าที่จะดำเนินการในเรื่องของเอกสารต่าง ๆ ก็คือว่า กว่าจะไปถึงหน่วยงานอาจจะผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาอาจจะไม่ได้เต็มที่ ก็ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของระยะเวลาในการที่หารือว่าจะเป็นกี่นาทีหรือว่าจำนวนกี่คนกี่ท่าน แต่ว่าในเรื่องของ Back Office ที่อาจจะต้องมีการปรึกษาหารือเพิ่มเติมทั้งในส่วนของ สภาผู้แทนราษฎรเอง แล้วก็ในส่วนของที่เกี่ยวข้องกับทางรัฐบาล เพื่อที่จะได้ร่นระยะเวลา ในการที่จะต้องทำเอกสารต่าง ๆ เพื่อที่จะตอบกลับมาให้กับทางด้านสมาชิกเพื่อให้สมาชิก ได้กลับไปแจ้งให้กับทางด้านพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญ อีกส่วนหนึ่งที่เราคงจะต้องมามองด้วยนะครับ นอกเหนือจากการที่เราประชุมเพื่อหารือ ในสภาแห่งนี้แห่งเดียว แต่ว่าเรื่องอื่น ๆ ในเรื่องของเอกสารที่จะต้องดำเนินการไปที่ หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำเนียบ ไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีแต่ละท่านด้วยครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณคุณอนุชา มากครับ ต่อไปผมอยากจะให้เชิญคุณรังสิมันต์ โรม ได้สรุปเพราะท่านเป็นคนเสนอคนแรก ในเรื่องที่เราได้หารือไป เชิญคุณรังสิมันต์ครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ต้องเรียนท่านประธานอย่างนี้ เดิมที่ผมเสนอไปนะครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการแรก ก็คือว่าเวลาในการเริ่มประชุมคือ ๐๙.๐๐ นาฬิกา ซึ่งเรื่องนี้ เท่าที่รับฟังเพื่อนสมาชิกก็น่าจะไม่มีประเด็นปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้งในเรื่องเวลาเริ่มต้น
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในส่วนที่ ๒ ที่ผมเสนอก็คือจะเป็นในเรื่องของการหารือที่เดิมทีผมเสนอ ๓๐ คน เป็นคนละ ๒ นาที ๓๐ วินาที ซึ่งจริง ๆ ต้องเรียนท่านประธานแล้วก็ขอชี้แจงนิดเดียว ในส่วนประเด็นนี้ว่าสาเหตุที่มีการเสนอในลักษณะนี้ พอดีเมื่อวานได้มีการประชุมกันแล้วก็ได้ ข้อสรุปเป็นแบบนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตอนต้นผมเองถึงเสนอ ๓๐ คน คนละ ๒ นาที ๓๐ วินาที แต่เมื่อเสนอไปแล้วเพื่อนสมาชิกทั้งหลายมีความเห็นว่า ๒ นาที ๓๐ วินาที มันไม่เพียงพอ อยากจะขยายเวลาเป็น ๓ นาที ด้วยเหตุผลว่าอยากจะนำเสนอประเด็น ปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาในสภาต่อไป ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหารือก็ดี การเข้าสู่ระเบียบวาระต่าง ๆ ความจริงแล้วมันก็เป็นการทำงาน เพื่อประเทศชาติทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราอยากจะให้น้ำหนักในเรื่องของการหารือที่เพิ่มขึ้นมาอีก ๓๐ วินาที จากที่ทางผมได้เสนอไปทางพรรคก้าวไกลเราก็ยินดีนะครับ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็น ๓๐ คน ของวันพุธและของวันพฤหัสบดีคนละ ๓ นาที รวมเวลาถ้าเราเริ่มต้น ๐๙.๐๐ นาฬิกา เราก็จะเสร็จในช่วงของการหารือคือ ๑๐ โมงครึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้ก็คิดว่าน่าจะเดินต่อกันได้ แล้วก็จะได้มีเวลา มีพื้นที่ในการหารือต่อไปนะครับ ก็เรียนท่านประธานครับ ขอบคุณครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ต่อไปก็คือจะเป็นการกำหนดวันที่เปิดสมัยประชุม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้นกำหนดเป็น ๒ สมัยประชุม สมัยประชุมละ ๑๒๐ วัน ก็ประมาณ ๔ เดือน ทีนี้สำหรับสมัยประชุมของสภาของพวกเราชุดที่ ๒๖ นี้ สมัยแรกได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาแล้วนะครับ คือวันที่เปิดประชุมวันแรกที่มี พระราชกฤษฎีกาคือวันที่ ๓ กรกฎาคม วันที่ ๓ กรกฎาคมก็เปิดเป็นวันแรก จะสิ้นสุดลง ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ก็ ๑๒๐ วันพอดี ทีนี้เราจะมาหารือกันว่าสมัยที่สองนี้ซึ่งต้องใช้เวลา ๑๒๐ วันเช่นเดียวกันนั้นเราจะเริ่มวันไหนดี เพราะว่าท่านอาจจะนึกตารางวันที่ยังไม่ออกดี ผมขอนำตุ๊กตาก่อน แต่ไม่จำเป็นต้องเอาตามนี้ เราเปิดประชุมวันที่ ๓ กรกฎาคม ครบที่ต้อง ปิดสมัยประชุมวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ ก็จะมีเวลาภายในปีนี้นะครับ แล้วก็ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม อันนี้ทางฝ่ายสำนักงานก็เสนอมาหลายวัน แต่ผมจะลองดูว่าท่านจะ เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าสมัยที่สองเราเริ่มวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ มันจะครบ ๑๒๐ วัน คือวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ที่เป็นวันที่ ๑๕ มกราคมที่เราไม่เริ่มก่อน ความจริงเริ่มก่อนก็ได้ เพราะว่าต้องได้เวลาประชุม ๘ เดือนเท่านั้นนะครับ ทีนี้สำหรับเราจะหยุดกี่วันนั้นก็เป็นเรื่อง จังหวะของเรา ถ้าเอาวันที่ ๑๕ มกราคมนั้นเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงว่าอย่างไร ๆ ปีใหม่ วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓ วันที่ ๔ มันก็เป็นวันหยุด แล้วเราก็อยากจะใช้เวลากับประชาชนมาก ถ้าเป็น วันที่ ๑๕ มกราคมมันก็จะเลยวันปีใหม่ และอีกวันหนึ่งพวกเรามักจะขาดประชุมไปก็คือ วันเด็ก วันเด็กน่าจะอยู่ในช่วงวันเสาร์แรกหรือวันเสาร์ที่สอง วันเด็กพวกเราก็ต้องไปร่วมงาน กับเขาบางทีนะครับ แล้วก็จะมาครบเอาวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ มีเวลาที่พักประชุม ๕๐ วันใช่ไหมครับ อันนี้เป็น Choice ที่เสนอในกระดานแล้ว เสนอใน Board แล้วมีทั้งหมด ๕ ตารางเวลา ท่านจะเลือกเสนอได้ตามความเหมาะสม ต้องขออภัยด้วย ผมเสนอเอาสุดท้าย ขึ้นมาก่อนที่ว่าสมัยที่สองเริ่มวันที่ ๑๕ มกราคม แต่ท่านจะไปเริ่มวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน วันที่ ๑ ธันวาคม วันที่ ๑๕ ธันวาคม วันที่ ๑ มกราคม ก็ได้ทั้งนั้นครับ เราหารือจากเหตุผล ของท่าน เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ท่านประธาน อนุญาตไหมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ครับ เชิญเลยครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ต้องขอบพระคุณที่ทางเจ้าหน้าที่ทางสำนักงาน แล้วก็ท่านประธานได้กรุณามีดำริ แล้วก็เสนอเป็นตารางเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ของพวกเราว่าวันที่จะเป็นวันเริ่มสมัยประชุม สมัยประจำปีครั้งที่สองนั้นควรจะเป็นวันใด แล้วก็ข้อเสนอหนึ่งของท่านประธานนั้นก็คือในรูปแบบที่ ๔ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามท่านประธานครับผมคิดว่าทางพรรค ๘ พรรคเอง แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางพรรคก้าวไกลเองนั้นเห็นว่ากรณีที่จะพิจารณาเงื่อนไข การประชุมนั้นควรจะต้องมีบนพื้นฐานอยู่สัก ๒-๓ ประการด้วยกันครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ก็คือว่าเราจำเป็นต้องมีวันเว้นวรรค วันที่เป็นช่วงเวลาการทำงาน ของคณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นทั้งสามัญหรือวิสามัญ หลายครั้งเป็นเรื่องการลงพื้นที่ รับฟังปัญหา หลายครั้งเป็นเรื่องของการศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ หลายครั้งเป็น เรื่องของการประชุมในระดับระหว่างประเทศ ฉะนั้นหากจะมีการพักในระยะเวลาสั้นเกินไปนั้น ก็จะไม่ค่อยตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของระยะเวลาที่สั้นซึ่งเกิดขึ้น ในรูปแบบที่ ๑ ที่มีช่วงเวลาปิดสมัยประชุมอยู่เพียงแค่ ๓๑ วัน นั่นเป็นข้อพิจารณาที่ ๑ ที่เรา อยากเห็นระยะเวลาการพัก Break นั้นเป็นอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งครับ แต่อย่างไรก็ตามกรณี ของการใช้ระยะเวลาการเว้นวรรคมากจนเกินไปในช่วงปิดสมัยประชุมนั้นก็จะมีผลกระทบ ที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการพิจารณาเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่ เช่นหากเป็น กรณีตามแบบที่ ๔ ที่จะต้องมีวันค้างการพิจารณาถึง ๗๐ กว่าวันนั้น ร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่อาจจะมีการพิจารณาแล้วเสร็จ พิจารณาค้างอยู่ในวาระที่สองถึงมาตรานั้นมาตรานี้ก็จะถูก ชะลอออกไปอีกเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เดือน เราเองก็เกรงว่าตรงนั้นจะมีผลกระทบ เช่นเดียวกันครับ ฉะนั้นผมคิดว่าหลักคิดนั้นเป็นหลักคิดที่ต้องสมดุลกันในระหว่าง ๒ อย่าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแบบที่ ๑ กับแบบที่ ๒ นั้นเป็นระยะเวลา ที่น่าสนใจครับ แต่สิ่งที่ประกอบการพิจารณาที่สำคัญก็คือว่าในแบบที่ ๑ นั้นก็จะไปติด ในช่วงของวันสำคัญในช่วงต้นเดือนธันวาคมหลายวันด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วันที่ ๕ ธันวาคมและวันที่ ๑๐ ธันวาคมซึ่งพวกเราเองก็ทราบกันดีว่าเป็นวันกำเนิดรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทยครับ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีระยะเวลาช่วงที่ ๒ แบบที่ ๒ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ ๑๕ ธันวาคมและจะไปสิ้นสุด ๑๒ เมษายนนั้น ถึงแม้พวกเรา จะทำงานกันทุกวัน สส. เราคงไม่เอาวันหยุดมาเป็นตัวอ้างอิงใด ๆ หลายครั้งที่มี วันหยุดสำคัญหรือช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวเราก็มาประชุมกัน แต่ว่าช่วง ๑๒ เมษายน ทุกท่านก็ทราบดีว่าจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นเทศกาลที่พี่น้องประชาชนจะเดินทาง กลับต่างจังหวัด แล้วก็ประเพณีสงกรานต์ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ในภาคเหนือ มันจะมีวันเน่า วันอะไรต่าง ๆ วันปี๋ใหม่เมืองต่าง ๆ ซึ่งระยะเวลาก็จะไม่ตรงกันกับระยะเวลา ในภาคอื่น ๆ เช่นเดียวกันครับ ฉะนั้นผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ว่าระยะเวลาที่ควรจะเกิดขึ้นนั้น ควรจะอยู่ในระหว่างแบบที่ ๑ กับแบบที่ ๒ ๑. ก็คือเพื่อหลบวันหยุดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วง ต้นเดือนธันวาคม ๒. ก็คือให้ตอนท้ายในระยะเวลา ๑๒๐ วันไม่ไปชนกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพี่น้องประชาชนจะเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก เป็นไปได้หรือไม่ท่านประธานครับ ว่าผมขอเสนอให้เริ่มวันประชุมในสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ถ้าเริ่ม ๑๒ ก็จะใกล้เคียงกับแบบที่ ๒ มากที่สุด ระยะเวลาพักก็จะเป็นระยะเวลา พอสมควร ระยะเวลาที่จะประชุมไป ๑๒๐ วันก็จะไม่ไปชนกับกรณีของเทศกาล เราก็จะ ทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่ครับ ก็เลยขอเสนอเป็นช่วงเปิดสมัยประชุม สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ขออนุญาตนำเรียนเพื่อให้ ท่านประธานได้กรุณาพิจารณาครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณณัฐวุฒิมากครับ ก็เสนอเอาแบบในตารางที่ ๒ แต่เปลี่ยนวันที่ ๑๕ เป็นวันที่ ๑๒ ตามเหตุผลที่อภิปรายไปแล้วครับ เชิญท่านอื่นครับ ถ้าไม่มีผู้ใดเสนอเป็นอย่างอื่นสมัยที่สอง เราจะเริ่มตามที่ผู้อภิปรายที่ผ่านมาคุณณัฐวุฒิ ก็เริ่มวันที่ ๑๒ ธันวาคม แล้วก็ไปครบ ๑๒๐ วัน วันที่ ๙ เมษายน ตกลงว่าสมัยที่สองเราจะเริ่มวันที่ ๑๒ ธันวาคม กำหนดการประชุมก็เป็นไป ตามนี้นะครับ ท่านสมาชิกทุก ๆ ท่านครับ วันนี้ถือว่าเป็นการประชุมในวันแรกของ สภาผู้แทนราษฎรก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง อันนี้ก็ต้องขอขอบคุณครับ มีผู้ยกมือ เชิญครับ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ ท่านประธานนัดหมายมาเพื่อกำหนดเรื่องของวันประชุมซึ่งเป็นประโยชน์แล้วเราก็ดำเนินการ จบสิ้นแล้ว แต่เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้มันมีเหตุการณ์ที่เกิดจำเพาะหน้า โดยเฉพาะ เหตุการณ์สะพานถล่มที่พื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งเพื่อนสมาชิกมีความเป็นห่วงแล้วก็เกรงว่า หากเราเนิ่นช้าไปในเรื่องของการประชุมและในการนำเสนอเพื่อมาอภิปรายในสภาจะเป็น ความล่าช้าที่จะเกิดผลกระทบในทางลบกับพี่น้องประชาชน จึงอยากจะใช้เวลานี้ที่เรามี เหลืออยู่ในช่วงวันนี้ในการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ใช้ข้อบังคับ ข้อ ๕๔ วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคห้าเสนอต่อท่านประธาน โดยผู้เสนอคือท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคเพื่อไทย ขอผู้รับรองครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
มีผู้รับรอง ถูกต้องครับ ผมขอเวลานิดเดียวก็จะเข้าวาระเรื่องด่วน เพราะมีผู้รับรองที่ถูกต้องแล้วนะครับ ก็เป็นอย่างที่ท่านจุลพันธ์ได้เสนอ แต่วันนี้ผมขอพูดนิดหนึ่งก่อนปิดประชุมนะครับ เพราะว่า เราจะต้องใช้เวลาในการอภิปรายเรื่องนี้พอสมควร ก็ต้องขอบคุณครับ วันนี้เป็นการประชุม วันแรกเราประชุมเรื่องต่าง ๆ ๒-๓ เรื่อง แต่ที่ประชุมสามารถจะเข้าใจแล้วก็เห็นใกล้เคียงกัน และตรงกันเป็นส่วนใหญ่ ก็ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาในการที่จะอภิปรายมากแล้วก็ลงคะแนนเสียง ผมต้องขอบคุณท่านสมาชิกมากจริง ๆ ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปเนื่องจากว่า คุณธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดกระบังในพื้นที่ที่เกิดเหตุที่ท่านอดิศรได้พูดตอนเช้า แล้วก็เสนอเป็นเรื่องด่วน มีผู้รับรองถูกต้อง ผมก็อนุญาตให้เป็นญัตติด่วนได้นะครับ เชิญครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันจะไม่รบกวนเวลาของสภามาก แต่อยากที่จะนำเสนอ ในเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนในขณะนี้ค่ะ สืบเนื่องจากวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคมที่ผ่านมา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยว ขออภัยนิดหนึ่ง คุณธีรรัตน์ครับ ต้องขออภัยนิดหนึ่ง บังเอิญว่ามีผู้ที่จะเสนอญัตติเดียวกัน ท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ขอเสนอเป็นญัตติด่วนเดียวกัน มีผู้รับรองถูกต้องไหมครับ จะได้อภิปรายด้วยกัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ผมจึงขออนุญาตที่ประชุมว่าขอให้ญัตติด่วนนี้เป็นญัตติเดียวกันมารวมกันพิจารณา แล้วผม จะให้ผู้ที่ต้องการอภิปรายเรื่องนี้ลงชื่อ แล้วผมก็จะเรียกตามลำดับครับ เชิญคุณธีรรัตน์ครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ด้วยความยินดีนะคะ ท่านประธาน ก็เป็นที่เห็นตรงกันว่าเรื่องที่ดิฉันกำลังจะอภิปรายแล้วก็ได้นำเสนอเป็นญัตติด่วน ด้วยวาจานี้อยู่ในความสนใจของเพื่อนสมาชิกที่ไม่เพียงกระทบกับประชาชนในพื้นที่ เขตลาดกระบังเท่านั้น แต่นี่หมายถึงพี่น้องประชาชนทั้ง ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานคร รวมถึง การที่เราจะสร้างความตระหนักถึงจุดที่มีการก่อสร้างในโครงการใหญ่ ๆ ทั่วประเทศด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของญัตติดิฉันที่ขอเสนอด้วยวาจา เรื่องสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถล่ม เพื่อที่จะนำผลในการอภิปรายเนื้อหาสาระส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่ให้ รัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนี้ได้ให้ความสำคัญในการที่จะระดมกำลังความช่วยเหลือ ลงไปสู่พื้นที่ ดิฉันทราบดีจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาดกระบังนี้ทางกรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ลงไปในพื้นที่พร้อมกับดิฉัน ในคืนที่เกิดเหตุวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ที่ดิฉันได้รับเรื่องตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๗.๕๐ นาฬิกา จากประชาชนที่อยู่อาคารพาณิชย์ในจุดที่เกิดเหตุเลยค่ะ เห็นต่อหน้าต่อตาที่เหตุการณ์ ได้เกิดขึ้นแล้วก็ได้โทรมาแจ้งให้ดิฉันได้ทราบ ดิฉันได้ทำการประสานในส่วนของสำนักงาน เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร รวมถึงโรงพยาบาลใกล้เคียงที่จะรองรับกับผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้เสียชีวิตได้ ฉะนั้นการทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องนะคะ จนคืนนั้นเมื่อช่วงค่ำใน วันที่ ๑๐ ทุกหน่วยงานได้ลงไปประจำในพื้นที่ ได้มีความกังวลใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะในเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้นรายงาน ๒ รายด้วยกัน และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า ๑๐ กว่าราย ซึ่งก็ยังดูอาการอยู่มีทั้งประเภทสีแดง สีเขียว สีเหลืองปะปนกัน เราเองก็ต้อง ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตทุก ๆ ท่านด้วยนะคะ รวมถึงเป็นกำลังใจ ให้กับผู้ที่บาดเจ็บให้มีอาการหายเป็นปกติโดยเร็วที่สุด กลับมาที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะคะ ท่านประธาน ในขณะนี้ผู้สื่อข่าวมีการรายงานอย่างหลากหลายมากมายในส่วนของสาเหตุ ที่เกิดขึ้น ยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดว่าสาเหตุจริง ๆ เกิดจากอะไร แต่จากการคาดการณ์ค่ะ เราคาดว่าเนื่องจากตัวโครงสร้างอาคารที่มีการรับน้ำหนักไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดการถล่มขึ้นมา
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ดิฉันขออนุญาต กลับไปที่ Slide แรกก่อนนะคะ Slide แรกจะเป็นส่วนสีเขียว ป้ายสีเขียวที่จะเป็น รายละเอียดของโครงการ มีหลายท่านถกเถียงกันอยู่ใน Social ว่าโครงการนี้เกิดขึ้น ในสมัยใด มีที่มาที่ไปอย่างไร ดิฉันก็จะขอใช้พื้นที่นี้ในการที่จะให้พี่น้องประชาชนได้เกิด ความเข้าใจตรงกันว่าโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังนี้เป็นการดูแล ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มีการเริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แล้วก็มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง ๑.๖ พันล้านกว่าบาท ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณจำนวนก้อนใหญ่มาก ๆ ใช้เวลาในการก่อสร้าง จากที่สัญญากำหนดไว้ ๙๐๐ วัน และเนื้องานเป็นการสร้างทางยกระดับขนาด ๔ ช่องจราจร ความยาวประมาณ ๓.๓ กิโลเมตร และปรับปรุงสะพานข้ามคลองหนองปรือ ซึ่งรายละเอียด อยู่ตามกระดานที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้ว มีผู้รับจ้างใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา วิศวกรผู้รับจ้างชื่อ นายพสิษฐ์ เอี่ยมชินวุฒิ ดิฉันต้องขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ เพราะว่า เป็นข้อมูลที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากว่าที่มาของโครงการนี้เกิดขึ้นได้ อย่างไร ดิฉันเองอยู่ในพื้นที่ลาดกระบังค่ะ ก่อนที่จะมีโครงการเกิดขึ้นมีการสำรวจความคิดเห็น ของพี่น้องประชาชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องรถติด แต่จากปัญหานี้ทำให้เกิดผลกระทบ กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ด้านรอบอาคารพาณิชย์ข้าง ๆ ถนนเส้นที่ทำการก่อสร้างนี้ว่าจะเป็น การใช้งบประมาณที่มากเกินไปและไม่คุ้มกับผลที่จะได้รับ เพราะในความเป็นจริงแล้วการแก้ไขปัญหาจราจรยังมีวิธีอื่นที่สามารถแก้ไขได้ผลดีกว่า การใช้งบประมาณถึง ๑,๖๐๐ ล้านบาท และยังต้องทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นสูญเสียไปด้วย ในเบื้องต้นพี่น้องประชาชนที่ร้องเรียนมาทางดิฉันในช่วงก่อนการสร้างโครงการได้ทำ การคัดค้านไปทางกรุงเทพมหานครหลายต่อหลายครั้งค่ะ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนเกิด เหตุการณ์ในวันนี้ขึ้น ซึ่งเราเองไม่สบายใจว่ามันจะไม่เป็นเพียงโครงการสุดท้าย แต่จะมี เหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อีกหรือไม่ ดิฉันเองมีความกังวลใจจึงอยากที่จะให้ ทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรุงเทพมหานครหรือสภาวิศวกร ได้ร่วมกันเข้ามาระดมความคิดเห็นเพื่อที่จะหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกค่ะ ในส่วน ของผู้รับเหมามีความกังวลใจเป็นอย่างมากว่าเป็นผู้รับเหมาที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ เพราะดิฉันก็ทราบจากข่าวว่าสาเหตุที่ทางผู้รับเหมาบริษัทนี้ได้รับการอนุมัติให้เป็น ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นเพียงเพราะเสนอราคาต่ำไป ๔๐๐,๐๐๐ บาทจากราคาที่กำหนดไว้ ตรงนี้ค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันคิดว่านอกจากการที่ดูในเรื่องของหน้างานส่วนของวิศวกรรม ต่าง ๆ ยังต้องไปดูในส่วนของขั้นตอนการได้มาซึ่งผู้รับเหมาด้วยว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่ ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ มันควรที่จะยกเลิกไปหรือไม่ในการที่จะจัดสรรงบประมาณลงไป ในโครงการใหญ่ ๆ แต่ว่ามีการจำกัดในเรื่องของการที่จะให้ผู้รับเหมานั้นได้เข้ามาได้รับงาน แต่ละชิ้น ๆ ไป ตรงนี้ต้องให้ทุกหน่วยงานมาร่วมมือกันทำงานอย่างบูรณาการ เพราะดิฉัน ว่าจุดสาเหตุของวันนี้มันมีมาตั้งแต่วันที่เริ่มต้นในการยื่นซองประกวดงานเลย เราต้องไป ค้นหาความจริงกัน ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าเพียงดูหน้างานเท่านั้น อย่าเพียงดูแค่ ปัญหาที่ผิวเผินเท่านั้น แต่เราจะต้องลงลึกไปถึงต้นตอของปัญหาให้ได้อย่างแท้จริงค่ะ ท่านประธานคะ ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาไม่เฉพาะในพื้นที่ลาดกระบัง อย่างเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมหลาย ๆ ครั้งที่เกิดมาในกรุงเทพมหานครที่มีโครงการ ใหญ่ ๆ ดิฉันขออนุญาตยกตัวอย่างอย่างที่ทุกคนทราบกันดีคือถนนเส้นพระราม ๒ ที่มี รถขับไปแล้วก็วันดีคืนดีก็มีเศษวัสดุหล่นลงมา เศษวัสดุหล่นลงมาครั้งนี้ใหญ่มากนะคะ หล่นลงมาทั้งสะพานเลย ก็จะเห็นนี่คือ Video ที่มีประชาชนบันทึกภาพแล้วก็ Post ลงมา ในสื่อสาร Online ช่องทางต่าง ๆ สร้างความตระหนกตกใจให้กับพี่น้องประชาชน เป็นอย่างมากค่ะ และผลที่ตามมาก็คือพี่น้องประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการที่จะใช้ เส้นทางสัญจรในพื้นที่ต่าง ๆ นี้ให้ได้อย่างปลอดภัยอีก หรือแม้แต่ประชาชนที่อยู่บริเวณ รอบ ๆ พื้นที่ที่เกิดเหตุนี้วันนี้ก็ยังอยู่กันด้วยความตระหนกตกใจว่าคานที่เห็นอยู่ ตั้ง ๆ อยู่ จะล้มลงมาวันไหนอีกหรือเปล่า ซึ่งดิฉันคิดว่าตรงนี้ต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุย แล้วก็ ให้ความรู้ รวมถึงสร้างความเข้าใจในด้านจิตใจให้กับพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาอยู่ ในขณะนี้ ในจุดเกิดเหตุมีตึกแถวอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหาย มีคานเหล็กหล่นไปพาด ที่ตึกเอาไว้ คนในบ้านอยู่กันมากกว่า ๑๐ กว่าคนวันนี้ก็ยังไม่เห็นแนวทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือ หรือเยียวยาเขา ดิฉันจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปเยียวยาอย่างสมเหตุสมผลนะคะ อาการหนึ่งที่ไม่สบายใจคือบอกว่าเดี๋ยวจะให้ค่าเช่าบ้าน ๓,๕๐๐ บาท ให้ออกจากบ้านไปก่อน อันนี้ดิฉันไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าจริงเท็จอย่างไร แต่ถ้าเป็นเงินจำนวนนี้ดิฉันว่าไม่สามารถ ที่จะชดเชยในสิ่งที่พี่น้องประชาชนสูญเสียไปได้ จาก Slide ที่โชว์อยู่ในขณะนี้ภาพแรกคือ จุดที่เกิดเหตุ หลังคืนเกิดเหตุแล้วจะเห็นว่าตัวเสาที่ตั้งอยู่มีลักษณะเอียงแล้วก็พร้อมที่จะถล่ม และล้มลงมาได้อีกครั้งหนึ่งนะคะ ตรงนี้เราเองทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้กันผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่แล้ว แต่ดิฉันไม่แน่ใจ ว่าในความปลอดภัยของประชาชนที่อาจจะไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปเอาทรัพย์สินในบ้านที่อยู่ ใกล้ ๆ กับจุดเกิดเหตุที่เป็นอาคารพาณิชย์นี้จะปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ก็ขอให้ได้ ให้ความสำคัญกับส่วนที่จะดูแลพี่น้องประชาชนในส่วนนี้ด้วยนะคะ ที่ดิฉันกล่าวไปว่า ทั้ง ๕๐ เขตตอนนี้มีโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคาร ที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เราเองก็ได้ยินในเรื่องของตึกถล่มมีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายราย ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี ๒๕๖๕ ก็มีอาคารถล่มอีก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายครั้ง และแต่ละครั้งก็จะเป็นในรูปแบบของวัวหายแล้วล้อมคอก คือค่อยมาดูกันว่ามีอะไรที่ต้อง ไปทำ แต่ทำไมเราถึงไม่ป้องกันก่อนที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น ดิฉันไม่สบายใจกับคุณภาพชีวิต ที่พี่น้องประชาชนจะต้องประสบอยู่ในขณะนี้ ก้าวเท้าออกจากบ้านจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง ลูก ๆ ไปอยู่ที่โรงเรียน อาคารที่โรงเรียนจะปลอดภัยหรือไม่ อาคารสูงส่วนต่าง ๆ แม้จะ ไม่ได้อยู่ในตึกนั้น แต่ถ้าถล่มลงมาพื้นที่โดยรอบก็ได้รับอันตรายและอาจจะถึงชีวิตได้ เราอย่าปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ เลยค่ะ หยุด พอได้แล้วกับสิ่งที่พี่น้อง ประชาชนกังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคอร์รัปชันที่อาจจะเกี่ยวข้องในการที่ทำให้ โครงการ ๆ ต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วยถึงมือพี่น้องประชาชนจริง ๆ หยุดได้แล้วกับการมีระบบใต้โต๊ะ มีระบบจ่ายเงิน นอกรอบ มีระบบจ่ายเงินที่ไม่ได้ตรงไปตรงมา เราต้องเปลี่ยน แล้วไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นอีกค่ะ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ก่อนที่ดิฉันจะจบในส่วนของการยื่นญัตติด่วนในครั้งนี้ค่ะ สิ่งที่จะเป็นข้อแนะนำถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหนึ่งที่ดิฉันได้กล่าว ก็คือวันนี้ในส่วนของ โรงเรียนที่พี่น้องประชาชนส่งบุตรหลานไปโรงเรียนนั้นมันมีส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไปจาก พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ทำให้อาจจะไม่ได้รับมาตรฐานที่ดีที่จะสร้างความปลอดภัย ให้กับเด็ก ๆ นักเรียน ถ้าหากเป็นไปได้วันนี้เราตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งดิฉัน จะขอเรียนว่าวันนี้ทาง กทม. ที่สภากรุงเทพมหานคร โดย ส.ก. สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา เป็น ส.ก. เขตลาดกระบัง ได้ยื่นญัตติในเรื่องนี้แล้วก็ขอให้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ในเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Megaproject ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แล้วก็การตรวจสอบ ผู้รับเหมาที่จะเข้ามารับงานกับทางกรุงเทพมหานคร แต่นอกเหนือไปจากนั้นที่ดิฉัน ขอนำเรียนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ก็คือ นอกจากพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วเรายังต้อง ไปดูแลความปลอดภัยของอาคารเรียน ของนักเรียนทั่วประเทศ ต้องเข้าไปดู มีทีมงาน ที่เข้าไปตรวจสอบว่าอาคารเหล่านั้นมีความปลอดภัย ได้รับความไว้วางใจ การมั่นใจที่จะใช้ อาคารเหล่านั้นจากผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมถึงคณะอาจารย์หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจว่า คณะทำงานที่มีอยู่ในขณะนี้จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่อยากจะให้เราได้มีใบที่ประกาศ ออกมาเลยว่าตึกนี้ได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยในการใช้แน่นอน เหมือนกับที่เรามี มาตรฐาน มอก. มาตรฐานในเรื่องของอาหารต่าง ๆ เราก็ควรที่จะมีมาตรฐานในเรื่องของ อาคารสูงที่มีอายุการใช้งานมาเป็นเวลานานแล้วว่ายังปลอดภัยสำหรับลูกหลานของเรา อยู่หรือเปล่า อันนี้คือสิ่งที่ดิฉันได้นำเสนอ แล้วก็อยากที่จะฝากให้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลองคิด แล้วก็ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ให้ได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นค่ะ ดิฉันได้รับการประสานจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุสิต สุขสวัสดิ์ จาก สจล. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ว่าในส่วนที่ สจล. ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็ยังพบว่ามีอีกหลายอาคาร อีกหลายสถานที่ที่ยังรอการตรวจสอบอยู่ ยังไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงยังไม่สามารถที่จะสร้าง ความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนได้ วันนี้แม้แต่ตัวสะพานยกระดับตัวนี้ที่มีอุบัติเหตุ พี่น้องประชาชนก็ยังหวั่นใจว่าถ้าสร้างต่อ หรือสร้างเสร็จแล้วเขาจะกล้าใช้กันไหม เขาจะสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า ตรงนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนให้ได้นะคะ ไม่อย่างนั้นชีวิต พี่น้องประชาชนก็จะอยู่ในคุณภาพที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทั้งทางด้านของจิตใจแล้วก็สภาพร่างกาย ทางกายภาพต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ชีวิตในทุก ๆ วันค่ะ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ดิฉันขอให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาดกระบังเป็นครั้งสุดท้าย ที่จะสร้างความสูญเสียให้กับพี่น้องประชาชน ขอให้ทุกหน่วยงานได้เร่งให้ความสำคัญ และทำงานกันอย่างเต็มกำลังก่อนที่จะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และขอขอบคุณ พี่น้องสมาชิกทุกคนที่ได้กรุณารับรองและเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุบัติเหตุในทุก ๆ วัน ที่เราต้องได้รับเพื่อที่จะให้หมดไปให้ได้ค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณคุณธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ มากครับ ต่อไปขอเชิญคุณสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมเสนอญัตติด่วนในเรื่องคล้ายคลึงกันตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ ในญัตติด่วน ด้วยวาจาเรื่องสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาสะพานถล่ม กรณีสะพานยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการ ก็ก่อนอื่นเลยขอแสดงความเสียใจ กับญาติผู้เสียชีวิตทั้ง ๒ ท่าน รวมกับมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากในกรณีนี้นะครับ อันนี้ เป็นประเด็นสำคัญในวงการของวิศวกรรมโยธาถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ที่ปล่อยให้มีอุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น ถ้าทุกอย่างทำตามหลักการ กระบวนการทางวิชาการ มันจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้แน่ ๆ ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาเร่งรัดดำเนินการให้เกิด การตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วก็ขยายผลเพื่อไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการ ก่อสร้างในโครงการอื่น ๆ ด้วยนะครับ อย่างไรก็ตามด้วยเวลาที่จำกัดผมจะพยายามอยู่ใน ประเด็นของโครงการนี้ที่กรณีของสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง มาดู Timeline กัน เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ มีการประกวดราคาด้วยวิธี e-Bidding แต่ราคาก็สังเกตได้ว่า ไม่ต่างจากราคากลางนักในโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ ก็มีการประกาศผู้ชนะการประมูลก็คือกิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา ราคาที่ชนะการประมูลจริง ๆ แล้วคือ ๑,๙๓๘,๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่ง เป็นงาน ๒ ส่วน งานใน Contract ของ กทม. ๑,๖๖๔,๕๕๐,๐๐๐ บาท ก็คือพูดง่าย ๆ ประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท ในส่วนของ กทม. โดยสำนักการโยธา แล้วก็จะมีงานอีกส่วนหนึ่ง สำหรับการไฟฟ้านครหลวงอีกประมาณสัก ๒๗๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท ลักษณะของงาน โดยภาพรวมก็เป็นทางยกระดับก็คือพูดง่าย ๆ เป็นสะพานยาวประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร ขนาด ๔ ช่องจราจร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วก็มีงานอื่น ๆ อย่างเช่น งานปรับปรุง สะพานข้ามคลองหนองปรือ มีงานก่อสร้างระบบระบายน้ำ มีงานก่อสร้างระบบไฟฟ้า แล้วก็แสงสว่าง โดยมีเจ้าของโครงการก็คือทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร สัญญา ที่เซ็นไปลงชื่อสัญญา สนย ๑๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้เวลา ๙๐๐ วัน เริ่มจากวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๔ ถึง ๑๑ สิงหาคม ปี ๒๕๖๖ วันนี้วันที่เท่าไรแล้วครับ ท่านประธาน วันนี้วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นี่ครับถึงพยายามเร่ง แต่เดี๋ยวเรามาดู รายละเอียดกัน จริง ๆ ช่วงที่เร่งมันกลับไม่ควรเร่ง แต่มันเร่งช่วงที่มันไม่ควรเร่งคือในทาง วิศวกรรมไปเร่งมากแล้วมันพัง เดี๋ยวผมจะขยายความให้ฟังของการพังในกรณีนี้ ระยะเวลา สัญญาอย่างที่บอก ๙๐๐ วัน แต่ผมให้ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งนะครับ มีการแก้ไขสัญญา ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๒ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ โดยรวมแล้ว มีความช้าอยู่ ช้ากว่าแผนงานปัจจุบัน ๑๐.๘ เปอร์เซ็นต์
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นต่อมาที่อยากให้ดูกันนะครับ คือโครงการนี้จริง ๆ ตั้งงบไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ ๒๓๙ ล้านบาท งบประมาณปี ๒๕๖๕ ไม่ตั้งเลย คือมีปัญหาเริ่มไม่ได้ ยังมีปัญหาอะไรอยู่ จะมีการหา Subcontractor จะมีการเปลี่ยนแบบกลางอากาศอะไร ต่าง ๆ ก็มีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ที่จะต้องไปตรวจสอบกันนะครับ ปี ๒๕๖๖ ตั้งงบไว้ ๕๐๐ ล้านบาท แล้วก็งบปี ๒๕๖๗ ที่จะผูกพันไปอีก ๙๒๐ ล้านบาท ตอนนี้เบิกเงินไปแล้ว ๙ ครั้ง คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้นที่เบิกไปแล้ว ๓๓๗ ล้านบาท จากข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างนั้น ผมเอามาวิเคราะห์ให้ฟังนะครับ แบ่งเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งคือเรื่องของการตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุกับอีกส่วนหนึ่งคือส่วนข้อเสนอแนะ ซึ่งผมจะมีด้วยกัน ๔ ประการ มาเริ่มกัน จากเรื่องของสาเหตุก่อน รบกวนทางโสตเอาภาพขึ้นด้วยครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ตอนนี้ถ้าเราติดตาม ข่าวสารก็จะมีการวิเคราะห์ถึงทฤษฎีการพังทลายหลาย ๆ แบบ อะไรพังก่อน เสาพังก่อน อาคารพังก่อน Jack พังก่อน โน่นนี่นั่น แต่เอามาบวก ลบ คูณ หาร กันแล้วนี่ แล้วก็ถาม ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญประกอบกับการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงดูรูปต่าง ๆ นะครับ แล้วก็มี ทีมงานไปที่ Site ก่อสร้าง แล้วก็มีคลิป Video เป็นหลักฐาน ผมเชื่อในทฤษฎีที่เรียกว่า Wet Joint Wet Joint คืออะไรครับ Wet Joint คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพนะครับ ภาพบน คือภาพตอนที่ยังไม่พัง ภาพล่างคือภาพที่มันพังแล้ว ส่วนสีแดง ๆ ที่เป็นก้อนสีแดง ๆ อันนี้ เขาเรียกว่า Wet Joint การที่เราจะเข้าใจการพังทลาย ผมขออธิบายสั้น ๆ ว่าจริง ๆ แล้ว ตัวสะพานถ้าย้อนกลับไปดูมันเป็นลักษณะที่เรียกว่า Box Girder เป็นการเอากล่องมาต่อ ๆ กัน วางพาดอยู่บนเสาคอนกรีตนะครับ ตัวสะพานนี่เป็นคานยาวเขาเรียกว่า Continuous Span ซึ่งต่างจากพวกเวลาเราไปก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือทางด่วนซึ่งเป็น Simple Span ก็คือมี Span เดียวระหว่าง ๒ เสา แต่อันนี้มันยาว แล้วก็ในการก่อสร้างเขาก็จะเอา Segment ที่หล่อจากโรงงานเอามาต่อ ๆ กัน เคลื่อนย้ายโดยรถบรรทุกเอามาต่อ ๆ กันไว้ที่บนหัวเสา แล้วจากนั้นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Launcher แล้วก็ดึงลวดเพื่อให้มันรับน้ำหนักได้ แต่ระหว่าง แต่ละ Span มันก็จะมีช่องว่าง ๆ ประมาณสัก ๑๕-๒๐ เซนติเมตรที่โชว์เป็นกล่องสีแดง ๆ ในภาพตรงนี้เขาเรียกว่า Wet Joint คำว่า Wet Joint ก็คือหล่อเปียก เอามาหล่อในที่ คราวนี้ถ้างานเร่งมาก ๆ แล้วปูนมันไม่ได้แห้งเต็มที่ หมายความว่ามันอาจจะดูแห้งแล้ว แต่กำลังยังไม่ได้มันก็อาจจะเกิดการ Failed ขึ้น อันนี้ก็คือเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งในหลาย ๆ ทฤษฎี ซึ่งตรงนี้ผมอยากให้ดู Clip กัน เปิด Clip ที่ ๑ ประมาณวินาทีที่ ๒๕ ข้ามไป ตรงนั้นเลยก็ได้ จะได้เห็นว่าเวลาแตกนี่มันแตกจากตรง Wet Joint ครับ ข้ามไปที่ประมาณ วินาทีที่ ๒๕ ดูด้านขวาบริเวณทางยกระดับกำลังจะเริ่มพังนะครับ ท่านเห็นไหมที่เริ่มพัง มันเริ่มพังตรงนี้ สิ่งตรงนี้ละที่เขาเรียกว่า Wet Joint ซึ่ง Wet Joint ถ้ากำลังมันไม่ได้เต็มที่ คอนกรีตตอนแรก ๆ มันยังไม่มีกำลัง มันต้องทิ้งไว้ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดทิ้งไว้ใน ระยะเวลาที่ไม่เพียงพอ เพราะมัวแต่ไปเร่ง ๆ มันจะเกิดการพังอย่างนี้ขึ้น แต่ว่าโครงการนี้ มันช้าจริง ๆ นะครับ แต่กระบวนการที่มันช้าเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแบบ แบบที่ก่อสร้างไม่ตรงปกกับที่ประมูลกัน ไปหา Subcontractor อะไรต่าง ๆ พวกนี้ทำให้ช้า แต่ว่าเวลาเขาเริ่มสร้างแล้วไปเร่ง ๆ นี่มันก็พังได้นะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นทฤษฎี ที่เรียกว่าพังจาก Wet Joint ดูภาพที่ ๒ พอ Wet Joint พังนี่ตำแหน่งอื่นมันก็จะพังไป รวมถึงส่วนที่เป็น Box Girder แล้วก็ตัว Launcher ที่เป็นโครง Truss ก็หล่นตามลงมา เดี๋ยวขอเปิดคลิปที่ ๒ ให้ดูนะครับ หลังจาก Wet Joint พังแล้วว่าการพังทลายมันหน้าตา ประมาณไหน อันนี้เรากำลังวิ่งมา ท่านเห็นการพังใช่ไหมครับ อันนี้เขาก็หยุดดูการพังทลาย แล้วเดี๋ยวรถคันนี้ก็จะขับไปข้างหน้า การพังทลายแบบนี้ก็คืออันนี้มองย้อนกลับไปจากจุดที่ Wet Joint พัง แล้วเราก็จะเห็นว่ามันมีการพังทลายของส่วนที่เรียกว่า Box Girder แล้วก็ ตัว Launcher ถล่มตามลงมา ฉะนั้นการที่ Wet Joint มันพังนะครับ มันพังเพราะว่าแรงอัด จากลวดสปริงเวลาดึง เพราะว่าตัว Wet Joint ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ เพราะว่าภายหลัง การหล่อคอนกรีตกำลังวัสดุก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พอผ่านไปหลาย ๆ วันกำลังถึงจะสูงเพียงพอ ที่จะรับตัวดึงลวดความดันสูงเข้าไปได้ ฉะนั้นคำถามที่สำคัญนะครับ คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมผู้รับเหมาจึงดำเนินการดึงลวด Sling โดยที่ Wet Joint ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ คือถ้า การพังอย่างนี้มันสามารถสรุปได้ว่า Wet Joint ไม่แข็งแรงเพียงพอ ก็จะมองกลับไปได้ว่า อาจจะมีการประมาทเกิดขึ้น หรือมีการผิดพลาดเกิดขึ้น หรือมีการเร่งการทำงานนะครับ เรื่องนี้จะต้องไปสอบสวนกันโดยข้อเท็จจริงต่อไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ว่าข้อสันนิษฐาน Wet Joint จะถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้ก็จะต้องไปพิสูจน์กัน แล้วก็หาเหตุผลที่แท้จริง แล้วป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคล้าย ๆ กันอีกในอนาคตนะครับ นอกจากในส่วนของ Wet Joint แล้ว อีกคำถามที่สำคัญก็คือแล้ววิศวกรคุมงาน ซึ่งงานนี้วิศวกรคุมงานก็คือทางสำนัก การโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ทำหน้าที่ควบคุมแล้วก็ตรวจสอบผู้รับเหมาดีพอหรือยัง ทำตามขั้นตอนหรือไม่ อันนี้ก็ต้องไปตรวจสอบกันนะครับ เพราะว่าการสอบสวนเป็น เรื่องที่สำคัญที่เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ในอนาคต อันนี้ก็ฝากไว้เลยนะครับ ฉะนั้นอันนี้เราจะต้องไปดูกันว่าข้อสันนิษฐานถ้ามันเป็น ในลักษณะ Wet Joint มันก็จะเป็นอย่างที่ผมพยายามอธิบายไป แต่ถ้าไม่เป็นแบบ Wet Joint เป็นเพราะเหตุผลอื่น ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุการพังทลายที่แท้จริง เราต้องไปตาม เอาหลักฐานมาตรวจสอบกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเขาเรียกว่า Method Statement for Guarder Elections นะครับ คือปกติผู้รับเหมาก็จะต้องเอาเอกสารมาแสดงว่าขั้นตอน ในการก่อสร้างเป็นอย่างไร ปูนเท่าไรถึงจะดึงลวดได้ ต้องไปดูรายการคำนวณว่าที่เขา คำนวณถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่ว่าไปหยิบแบบจากเจ้าหนึ่งมา แล้วเอามาเปลี่ยนแปลงหน้างานอีก เปลี่ยนแปลงขั้นตอนก่อสร้าง เดิมจะวิ่งคานจากซ้ายไปขวา เปลี่ยนมาวิ่งจากขวาไปซ้าย แต่ทำอะไรรายการคำนวณถูกต้องหรือยัง รวมถึงต้องไปดูบันทึกการทดสอบลูกปูน คือลูกปูน ก้อนที่เทวันนั้นเขาก็จะมีการเก็บ Sample ไว้ ถ้าไม่มีก็คือการตรวจสอบถือว่ามีปัญหา อย่างยิ่งนะครับ เพราะในงานก่อสร้างผู้รับเหมาก็จะต้องมีการเสนอวิธีการติดตั้งคานสะพาน แล้วก็แสดงขั้นตอนอย่างละเอียด รวมถึงต้องนำส่งรายงานการคำนวณเพื่อพิสูจน์ว่า การก่อสร้างมีความปลอดภัยเพียงพอ ในที่นี้ก็คือคำนวณหาตัวที่เขาเรียกว่า Straight ที่เกิด ขึ้นกับบริเวณ Wet Joint แล้วก็หาว่า Wet Joint จะต้องมีกำลังเท่าไรจึงสามารถดึงลวดได้ ต้องรอครับ พูดง่าย ๆ ต้องรอให้มันหาย Wet ก่อน รอปูนให้มันหายเปียกก่อน ให้มีกำลัง เพียงพอ ไม่ใช่ว่าไปเร่ง ๆ แล้วไปดึงมันก็จะพังอันนี้ก็ต้องไปดูกัน แต่ความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือความสูญเสียครับ ความสูญเสียต่อชีวิตแล้วก็ทรัพย์สินของประชาชน ฉะนั้นการที่ สะพานถล่มครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะว่าเกิดความผิดพลาด ไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลัก วิศวกรรมแน่ ๆ ไม่ใช่ว่าเป็นอุบัติเหตุแบบว่ามันเกิดขึ้นได้เสมอ มันไม่มีใครผิด ไม่ใช่ครับ เรื่องนี้ต้องมีคนผิด ต้องมีคนรับผิดชอบ และเราต้องเรียนรู้จากมันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในอนาคต จากสาเหตุที่พูดไปนะครับ การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเดินไป ข้อเสนอแนะ ที่เป็นรูปธรรมที่จะฝากไว้ในสภาแห่งนี้ส่งไปให้รัฐบาลดำเนินการ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะที่ ๑ ก็คือให้ กทม. แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปเก็บ รวบรวมหลักฐาน ไปถ่ายรูป เก็บตัวอย่าง เก็บก้อนปูน เก็บเอกสารก่อนที่หน้างานจะเกิด Big Cleaning Day อันนี้สำคัญนะครับ ถ้ามี Big Cleaning Day เอกสารหลักฐานอะไร ต่าง ๆ ไม่รู้มันจะหายไปไหน Sample ปูนจะเอาไปอย่างไร ตกอะไร ทับอยู่อะไร ต้องรีบไป เก็บเลย แล้วก็ทำการพิสูจน์ให้มันรู้ข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องไปเก็บก่อน เพราะว่า ถ้าเกิดไม่เก็บแล้วเราจะไปพิสูจน์ทราบในภายหลังมันทำได้ยากยิ่ง แล้วมันก็จะไม่มีหลักฐาน ที่เป็นรูปธรรม แล้วสุดท้ายก็จะไม่มีใครผิด เรื่องนี้สำคัญนะครับ ฝากไว้เลยนะครับ ก่อนที่ จะทำ Big Cleaning Day ไปเก็บรวบรวมหลักฐานให้เรียบร้อยเสียก่อน
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะที่ ๒ ให้ กทม. ไปตรวจสอบเรื่องการใช้ Subcontractor พูดเป็นภาษาบ้าน ๆ ง่าย ๆ คือผู้รับเหมาไม่ตรงปก เวลาประมูลงานเจ้าหนึ่งไปประมูล เขาก็จะมี Qualification ว่าคนที่เข้ามาประมูลได้ต้องมีผลงานอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมี ความน่าเชื่อถือพอ ต้องมีฝีมือพอ ต้องมีวิศวกรพอ ต้องมีทุนทรัพย์พอ แล้วผมไม่เชื่อว่า สัญญาฉบับไหนจะเขียนบอกว่าไป Sub Sub ต่อเป็นทอดได้ โดยให้คนที่ได้งานมาก่อนก็กิน หัวคิวแล้วก็ Sub ไปให้เจ้าต่อ ๆ ไปทำ อันนี้ต้องไปดูเลยนะครับ เพราะว่าไม่อย่างนั้นเราก็จะ ได้ผู้รับเหมาไม่ตรงปก ได้ผู้มีคุณสมบัติไม่เพียงพอมาทำงานก่อสร้าง ซึ่งก็แน่นอนพอเกิด การตัดหัวคิวได้คนไม่มีคุณสมบัติมาทำงานคุณภาพก็จะลดลง โอกาสทางพังทลายก็จะสูงขึ้น นั่นคือข้อเสนอแนะที่ ๒ นะครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะที่ ๓ ให้ กทม. ชี้แจงเรื่องการเปลี่ยนแบบหลังการประมูล พูดง่าย ๆ มีการก่อสร้างไม่ตรงปก เรื่องนี้มีการเปลี่ยนแบบจากเดิม ตอนเอาไปประมูลกัน เป็นคอนกรีตแบบหล่อในที่ แต่ตอนนี้ที่สร้างกันก็คือหล่อจากโรงงานแล้วยกมาติดตั้ง แล้วมีการดึงลวดกันหน้างานแล้วเกิดการพังทลาย ผมไม่ได้บอกว่าวิธีนี้ไม่ดีนะครับ แต่เมื่อ มันดี คุณบอกว่ามันดีทำไมคุณไม่ออกแบบไว้อย่างนั้น ทำไมตอนประมูลไม่ใช้วิธีนั้น ทำไม ประมูลวิธีหนึ่ง แบบเป็นแบบหนึ่งแล้วก็ไปประมูล เสร็จแล้วถึงเวลาจริง ๆ ไม่ใช้ มาเปลี่ยน หน้างาน มาเปลี่ยนในภายหลัง อันนี้ต้องไปดูเลยว่ามีการก่อสร้างไม่ตรงปก คือแบบที่ใช้ใน การก่อสร้างจริงหน้างานทุกวันนี้ที่เกิดการพังทลายมาไม่ใช่แบบที่ใช้ประมูลกันเมื่อวันก่อนโน้น แต่เป็นการถูกขออนุมัติใหม่เพื่อแก้ไขหน้างาน
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ ๔ ที่อยากฝากไว้นะครับ ก็จะต้องให้ทาง กทม. ชี้แจงเรื่องของความเข้มงวดในการควบคุมงานก่อสร้าง อย่างเมื่อสักครู่ที่ผมเล่ามันต้องมี การเก็บ Sample ปูน มันจะต้องมี Method Statement ว่าขั้นตอนการก่อสร้างอะไร ต่าง ๆ นี้เป็นอย่างไร แล้วก็มีคนไปควบคุมว่าผู้รับเหมาทำตามสิ่งที่เขาเสนอไว้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าหน้างานก็ลุยไปมันก็จะพังอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นอย่างที่ผมบอกให้ไป ตรวจสอบ ถ้ามันมีการใช้ผู้รับเหมาไม่ตรงปก ถ้ามันมีการก่อสร้างไม่ตรงปก ถ้ามันไม่มี การควบคุมหน้างานที่ดีมันก็เกิดการพังทลายเช่นนี้ ในทางวิศวกรรมยอมไม่ได้นะครับ อันนี้อันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และที่สำคัญนอกจากข้อเสนอ ๔ ข้อแล้ว เราต้องรู้ว่าโครงการที่เราพูดถึงนี้ นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุครั้งแรกนะครับ แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างใหญ่ ๆ เกิดขึ้นหลายครั้งมาก ๆ เอาครั้งหลัก ๆ ที่เป็นข่าวดัง ๆ อย่างเช่นกรณีพระราม ๒ กรณีโน่นนี่นั่น พี่น้องก็คงคุ้นหูว่ารอบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุใหญ่ ๆ ที่มันสูญเสียต่อชีวิตประชาชน แล้วประชาชนนี่คือซวยขับรถมาดี ๆ เจอคานหล่นใส่อย่างนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการก่อสร้างไทยครับ ฉะนั้นพรรคก้าวไกลเราจะร่วมหาข้อเท็จจริง แล้วก็จะลดโอกาสการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้อีกเสมอ ๆ ในอนาคต ถ้าไม่มาร่วมมือกันแก้ไข ปัญหาอย่างจริงจัง ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สำหรับผู้เสนอญัตติทั้ง ๒ ท่านก็ได้เสนอแล้วนะครับ แล้วก็ตอนนี้มีผู้เข้าชื่อ อภิปรายทั้งหมด ๕ ท่าน เนื่องจากเราไม่ได้กำหนดเวลาการประชุมว่าเราจะเลิกในช่วงเย็น เพราะฉะนั้นผมขอกำหนดการให้ผู้อภิปรายได้อภิปรายท่านละ ๗ นาที ส่วนสมาชิก ที่อยากจะอภิปรายเพิ่มเติมก็ขอเชิญเข้าชื่อที่หน้าบัลลังก์นะครับ ขอเชิญท่านที่ ๑ ท่านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แล้วก็ต่อด้วยท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ครับ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ในวันที่เกิดเหตุท่านประธานครับผมได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจกับประชาชนร่วมกัน กับคุณชุมพล หลักคำ ก็เป็นทีมงานของพรรคก้าวไกลแล้วก็เป็นอดีตผู้สมัคร สส. ของเรา ที่เขตลาดกระบัง สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าตอนนี้คงมีหลายท่านแล้วพูดถึงเรื่องของการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริงทางวิศวกรรม แล้วก็ผมเข้าใจว่าทางสำนักการโยธาของกรุงเทพมหานคร ก็มีการร่วมมือกันกับทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รวมทั้งสภาวิศวกรในการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยกับทางท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ว่าจะต้องมีการเก็บ รวบรวมหลักฐานเอาไว้ก่อนที่จะมีการ Clear พื้นที่ ซึ่งเข้าใจว่าจะมีคำสั่งในการ Clear พื้นที่ ให้เสร็จภายใน ๓ วันนี้ ซึ่งผมก็เข้าใจอีกว่าก็คงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบพื้นที่ แล้วก็ต้องดำเนินการก่อสร้างต่อ เพราะมิฉะนั้นพื้นที่ตรงนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด แต่อย่างไรการเก็บหลักฐาน เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงก็มีความจำเป็นอย่างมากนะครับ แต่สิ่งที่ผมอยากจะใช้เวลาสั้น ๆ ในการอภิปรายไม่เกิน ๗ นาทีก็คือเรื่องของการชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตทั้ง ๒ ท่าน แล้วก็ ผู้บาดเจ็บอีก ๑๐ กว่าท่าน เบื้องต้นทราบว่า ๑๒-๑๓ ท่าน คืออย่างนี้ครับ ตอนนี้การเยียวยา ผมติดตามข่าวและติดตามสถานการณ์ เข้าใจว่าทางผู้รับเหมามีการทำประกันเอาไว้โดยมี วงเงินอยู่ที่ ๕๐ ล้านบาท ก็มีบริษัทที่รับประกันอยู่ ๒ ราย คือกรุงเทพประกันภัยรับไป ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ทิพยประกันภัยในอีก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจดีในการชดเชยเยียวยา คงจะต้องมีกระบวนการในการรวบรวมเอกสารแล้วก็เก็บรายละเอียดต่าง ๆ แต่ท่านประธานครับ การเยียวยาชดเชยที่ล่าช้าก็ยังมีความไม่เป็นธรรมให้กับผู้สูญเสียเช่นกัน ดังนั้นผมจึงขอใช้ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ส่งความคิดเห็นเชิงบวกไปยังกรุงเทพมหานครในการเร่งรัดกับ บริษัทประกันภัยแล้วก็ผู้รับเหมาในการเร่งจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ผมรู้ดีว่าเงินเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะชดเชยกับชีวิตที่เสียไปได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ดีกว่าการที่ปล่อยให้เวลา ล่วงเลยไป แล้วก็ตัวเงิน ณ ที่ควรจะเป็นเงินเยียวยากลับตกไม่ถึงมือผู้สูญเสียเสียที แล้วจนต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกัน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องต่อมา เป็นเรื่องที่ทางกรุงเทพมหานครจะต้องเข้าไปรับผิดชอบตรง ๆ ก็คือว่าโดยปกติแล้วการก่อสร้างจะมีการทั้งจ้างผู้รับเหมา แล้วก็จ้างวิศวกรผู้ควบคุมงาน ในกรณีนี้ครับ ท่านประธานครับ เข้าใจว่าผู้ควบคุมงานนี้เป็นการควบคุมงานโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครเอง ไม่ได้มีการจัดจ้างผู้ควบคุมงาน ดังนั้นสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงต้องเป็นผู้ให้คำตอบว่าการควบคุมงานนั้นเป็นอย่างไร และมีความปลอดภัย มั่นคง เพียงพอหรือไม่ จึงอนุญาตให้มีการก่อสร้างในลักษณะนี้
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ผมคิดว่าตอนนี้ประชาชนก็มีความตื่นตระหนกอยู่พอสมควร เนื่องจากทราบข้อมูลว่ามีการขอให้เปลี่ยนวิธีการก่อสร้างจากเดิมเป็นการก่อสร้างแบบ หล่อคอนกรีตแล้วก็เทในพื้นที่ Site งานเลย แล้วก็มีการขอให้เปลี่ยนนะครับ ทางผู้รับเหมา ขอเปลี่ยนให้เป็นระบบแบบที่เรียกว่าหล่อเสร็จจากโรงงานแล้วก็เอามาติดตั้งโดยใช้ตัว แขวนคาน แล้วก็วางตัวสะพานที่หล่อเสร็จจากโรงงานมาติดตั้ง ซึ่งจริง ๆ แล้วการเปลี่ยน แบบตรงนี้ทั้ง ๒ แบบนี้มีความปลอดภัยทั้งสิ้นถ้าดำเนินการตามหลักวิศวกรรม ดังนั้นไม่ได้ หมายความว่าแบบ ๒ หรือแบบ ๑ อะไรปลอดภัยกว่ากัน คือมันปลอดภัยทั้งคู่ถ้าดำเนินการ ตามหลักวิศวกรรม ดังนั้นแต่อยู่ดี ๆ ครับ ท่านประธานครับ ผมไม่ชอบคำนี้คำว่าอยู่ดี ๆ มันก็ร่วงลงมา อยู่ดี ๆ มันก็หล่นลงมา ถ้าอยู่ดี ๆ มันไม่หล่นลงมาละครับ มันต้องมีเหตุ ที่ทำให้มันต้องหล่นลงมา แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ผมคงต้องพูดในสภาว่าทั้ง ๒ แบบ มีความปลอดภัย แต่ต้องมีการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผิดหลักวิศวกรรมจนทำให้ระบบ ที่หล่อคอนกรีตที่เสร็จจากโรงงานแล้วเอามาติดตั้งที่ Site งานมีปัญหาแบบนี้ ซึ่งก็คงต้อง ตรวจสอบนะครับ แต่อย่างไรก็ตามทั้ง ๒ แบบก็มีความปลอดภัยทั้งสิ้นถ้าทำอย่างถูกต้อง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ ในเวลาอีก ๒ นาที จากเหตุการณ์พระราม ๒ ก็ดี จนมาถึง ที่ลาดกระบังก็ดี เรารู้สึกไหมว่าการก่อสร้างที่มีปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ได้ประสบ อุบัติเหตุ แล้วก็เกิดความหวาดหวั่นว่าการก่อสร้างจะมีความปลอดภัยหรือไม่ ทั้งหมด ทั้งมวลมาจากการเร่งรัดการก่อสร้างหลังจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั้งสิ้น ผมว่าการขยายสัญญาให้มีการยืดอายุสัญญาออกไปเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะระหว่างที่ โควิดระบาด Site ก่อสร้างต่าง ๆ ที่อาจจะเชื่อว่าเป็นแหล่งการระบาดของ COVID-19 ก็ถูกปิดไป หลาย Site หยุด หลาย Site ชะลอการก่อสร้าง ก็เป็นเหตุที่เข้าใจได้ที่ต้องมี การยืดอายุสัญญาออกไป แต่หลังจากที่การระบาดสิ้นสุดหรืออยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ แล้วการก่อสร้างกลับมาก่อสร้างใหม่ ซึ่งการก่อสร้างในลักษณะนี้มีทั่วประเทศนะครับ ไม่ใช่ จำเพาะเจาะจงเฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ก็ต้องถามว่าทั้งกรุงเทพมหานครก็ดี ทั้งจังหวัดต่าง ๆ ก็ดี กรมทางหลวงก็ดี กระทรวงมหาดไทยก็ดี หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในเรื่องของการก่อสร้างก็ดี ได้มีการออกหนังสือกำชับให้ผู้รับเหมาแล้วก็ผู้ควบคุมงานได้ตรวจสอบความพร้อมที่จะ ก่อสร้างต่อหรือไม่ มีการตรวจสอบมาตรการหรือมาตรฐานในการดำเนินการให้มี ความปลอดภัยในการก่อสร้างต่อเรียบร้อย รอบคอบดีพอหรือยัง หรืออยู่ดี ๆ โรคระบาด หมดปั๊บก็ก่อสร้างต่อเลย มันเป็นอย่างไรก็ก่อกันไปอย่างนั้น มันเป็นอย่างไรก็สร้างต่อกันไป อย่างนั้น ถ้ายังไม่มีมาตรการในการกำชับ Site ก่อสร้างต่าง ๆ ทั่วประเทศให้ตรวจสอบ ความพร้อม ให้ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างรัดกุม ผมก็กังวลว่า ความเสียหายในลักษณะนี้ที่ประชาชนต้องมาหวาดหวั่นและได้รับผลกระทบก็จะเกิดขึ้นอีก และนี่น่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จึงเรียนผ่านทางท่านประธานไปยังรัฐบาลแล้วก็หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่ากรุณาเถอะครับ ตรวจสอบกำชับเพื่อให้การก่อสร้างต่อมีความรอบคอบ รัดกุม แล้วก็มีความปลอดภัยสำหรับพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต ท่านประธาน ผม อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ปกติ โดยข้อบังคับจะต้องมีการอภิปรายกันเว้น ตอนนี้ท่านประธานมีการแบ่งอย่างนี้ครับ ฝั่งฝ่ายรัฐบาลกับฝั่งฝ่ายค้าน เลยขออนุญาตหารือท่านประธานครับ เพราะว่าเมื่อสักครู่นี้ ไปลงชื่อมีผมคนเดียวอยู่ฝั่งนี้ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตอนนี้มีทั้งหมด ๓ พรรคที่ลงชื่อเข้ามานะครับ มีท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ จากพรรครวมไทยสร้างชาตินะครับ แล้วก็มีท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยความเคารพนะครับท่าน เราก็ยังไม่รู้ว่าใครจะอยู่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผมก็เลยคิดว่า ญัตติวันนี้เอาเป็นการเรียงลำดับการลงชื่อดีกว่าครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ได้ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเท่าพิภพครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ กระผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒๔ ธนบุรี คลองสาน บางปะกอก พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ก็ขออนุญาตอภิปราย เพื่อเสนอแนวทางให้กับรัฐบาลไม่ว่าพรุ่งนี้จะเป็นรัฐบาลใหม่หรือไม่นะครับ แล้วก็ขอเน้นย้ำ อีกครั้งเพราะเรื่องนี้ผมก็เคยพูดในสภาไปแล้ว เคยตั้งกระทู้ถามรัฐบาลที่จะหมดวาระ ในพรุ่งนี้ไปแล้วนะครับว่ามันมีปัญหาในข้อของกฎหมายการบังคับต่าง ๆ แต่ก่อนอื่นเลยครับ ท่านประธาน ในฐานะผู้แทนราษฎรต้องขอบ่นหน่อยครับ เดือนก่อนชาวบ้านก็มาบอกว่า สส. เท่ามาเอาถังดับเพลิงจากที่บ้านไปหน่อย ผมก็เอามาไว้บ้านตัวเองนะครับ สัปดาห์ก่อนไปที่ ห้างใหญ่ในเขตคลองสานของผม ไปเจอชาวบ้านเขาก็บอกว่า สส. เท่าช่วยจับจูงมือผมโดย การขึ้นบันไดเลื่อนหน่อย ล่าสุดครับท่านประธาน ก่อนที่ผมจะมาสภานี้ผมก็ไปร่วมงานใน เขตมาก่อนจะมาสภา ไปเจอชาวบ้านในตลาดบริเวณที่มีการสร้างรถใต้ดินอยู่บอกว่า สส. เท่าช่วยขนดินมาถมรถไฟฟ้าให้หน่อย ผมก็บอกว่าอันนี้มันก็จะเกินไป ซึ่งอันนี้ก็แสดงให้เห็น สะท้อนให้เห็นว่าความกังวลของชาวบ้านและประชาชนคนไทย ในความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินมีอยู่มาก สิ่งที่เพื่อนสมาชิกได้พูดไปหลายท่านแล้ว เรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างต่าง ๆ ผมไม่ขอจะพูดในเรื่องของทางวิศวกรรมเพราะไม่ได้จบ วิศวกรรมมา แต่ผมจะพูดในฐานะนักกฎหมายที่ได้ตามประเด็นเกี่ยวกับประกาศของ กรมบัญชีกลาง เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการของรัฐ หรือถ้าผมเรียกเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ก็คือตั๋วก่อสร้างรับเหมานั่นเอง ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ครับ ท่านประธาน ตั้งแต่ขั้น ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ไปจนถึงชั้นพิเศษเลย ซึ่งอันนี้ครับ ถามว่าจะขึ้นขั้นอย่างไร เหมือนเล่นเกม ROV เหมือนเล่น Ragnarok เลย ก็คือค่อย ๆ เก็บ Level ไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น ขั้น ๖ รับงานได้ไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท จะรับงานขั้น ๕ จะเลื่อนเป็นขั้น ๕ ก็ต้องทำงาน ๕ ล้านบาทก่อนก็คือครึ่งหนึ่งของมูลค่างานสูงสุดที่รับได้ ดังนั้นครับ ไปอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่ ๑ พอขั้นที่ ๑ มีความไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่งครับ ขั้นที่ ๑ ผู้รับเหมาชั้นที่ ๑ เขารับงานได้สูงสุด ๕๐๐ ล้านบาท แต่การจะขึ้นเป็นชั้นพิเศษได้ ต้องทำงานมูลค่า ๔๕๐ ล้านบาทครับท่านประธาน ซึ่งถามว่ามันก็ได้นี่ รับได้ ๕๐๐ ล้านบาท ทำงาน ๔๕๐ ล้านบาท แต่อันนี้เป็น ๙๐ เปอร์เซ็นต์เลยนะครับ ถึงจะขึ้นชั้นพิเศษที่รับงาน ไม่จำกัดได้ และทีนี้ความไม่ชอบมาพากลนี้ผมไปดูสถิติการประมูลงานย้อนหลังมาพบว่าการ ประมูลงานของชั้น ๑ ที่มีผู้เล่นหลายรายมาก ๆ มีการประมูลแล้วพบว่าราคาลดต่ำกว่าราคา กลางประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ดูสถิติเฉลี่ยมา ๕ ปีย้อนหลังนะครับ แล้วก็พบว่าปีล่าสุด ที่เราตั้งรัฐบาลเก่าอันใหม่นี่นะครับ กลับกลายเป็นว่างานของชั้น ๑ นี่มีน้อยมาก เหมือนบอกว่าจะไม่มีงานที่มีมูลค่า ๔๕๐ ล้านบาท หรือ ๕๐๐ ล้านบาท ให้ได้ประมูลเพื่อชั้น ๑ จะได้ขึ้นชั้นไม่ได้ ด้วยเหตุผลนี้ครับ ในประเทศนี้ผู้รับเหมาชั้นพิเศษที่รับงาน ตั้งแต่ ๕๐๐ ล้านบาทขึ้นไปได้อย่างไม่จำกัดมีนับสิบรายได้ เป็นหลักสิบครับ ดังนั้น เกิดการฮั้วประมูลกันอย่างหนักครับ ถ้าผมดูสถิติเทียบว่าชั้น ๑ ลดลง ๑๕ เปอร์เซ็นต์แล้ว ชั้นพิเศษไปดูครับ อย่างงานล่าสุดผมเอาง่าย ๆ เลย ๑,๙๐๐ กว่าล้านบาท ท่านประธาน รู้ไหมครับประมูลก่อสร้างเก่งอย่างเดียวไม่พอนะครับ บริษัท ๒ บริษัทนี้ ประมูลเก่งด้วย งาน ๑,๙๐๐ เกือบ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ประมูลต่ำกว่าราคากลาง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๕๐๐,๐๐๐ บาท เก่งเหลือเกิน ดังนั้นถ้ามาดูสถิติ การประมูลจากผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ที่มีหลักสิบในประเทศนี้กลายเป็นว่าทำให้ตัวเลขจากราคากลางลดลงคิดเป็น ๐.๐๐๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ผมคิดว่าถ้าเราแก้ระเบียบตรงนี้ ถ้ารัฐบาลใหม่แก้ระเบียบตรงนี้ได้ เปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น เปิดให้มีงาน มีการขยับชั้นมากขึ้น ๑. รัฐจะสามารถประหยัด ภาษีได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข งบ ๓๐ บาท บัตรทองที่ถูกตัดไปของ กทม. ที่ชาวบ้านชอบมาบ่นกับผมว่าโดนย้ายโรงพยาบาลบ้าง โรงพยาบาลไม่รับบัตรทองบ้าง แทนที่จะเข้าไปสู่กระเป๋าของผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ซึ่งผมขอเปลี่ยนชื่อเป็นชั้นอภิสิทธิ์ ไม่ใช่ชื่อบุคคลนะครับ แต่เป็นอภิสิทธิ์ชน ซึ่งหลาย ๆ คน ก็อาจจะอยู่ในนี้ก็ได้ ซ่อนตัวอยู่ในพวกเรา มีอาชีพหนึ่ง หน้าหนึ่งเป็นนักการเมือง มีอาชีพหนึ่ง ก็อาจจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างก็ได้ กฎเลยออกมาเป็นอย่างนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ของตัวเอง เพื่อนำเงินสกปรกเหล่านี้ที่มาจากความสูญเสียไม่รู้กี่ชีวิตแล้วจากการรับเหมา ที่ฮั้วประมูลกันแล้วก็ตัดซอยให้ผู้รับเหมาชั้นหนึ่งเป็นเศษขนมปัง โดนบีบให้ทำงาน ไม่มีคุณภาพ โดนบีบให้เร่งเวลาแล้วเก็บหัวคิวอย่างที่ท่าน สส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ได้บอก สุดท้ายครับ มันคือการทุจริตเชิงนโยบายที่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว ก็ต้องฝากนะครับ รัฐบาลใหม่เรามาหยุดวงจรนี้ให้ถาวรด้วยกันและสภาแห่งนี้ช่วยตรวจสอบ จับตาการฮั้วประมูลและประกาศต่าง ๆ ที่ทางราชการต่าง ๆ ได้ออกมาในระยะเวลา ๙ ปีนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ครับ ท่านณัฐชาอยู่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นผมไปที่ ท่านไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ครับ
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ขออภัย สส. ป้ายแดงมือใหม่ครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ปูอัด ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตจอมทอง ยกเว้นแขวงขุนเทียน และเขตบางขุนเทียน เฉพาะแขวงท่าข้าม ท่านประธานที่เคารพครับ จากเหตุการณ์สะพานถล่มที่ลาดกระบังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วผมคงจะขอมาพูดถึงเรื่องของการเยียวยาครับ ท่านประธาน ที่เคารพครับ ถ้าเราโยงไปเมื่อปีที่แล้วเหตุการณ์นี้คล้ายคลึงกันมากเกิดขึ้นกับคนจอมทอง ที่มีเกือกม้าถล่ม พี่น้องประชาชนถ้าเราย้อนไปดูข่าวจะทราบกันดีเมื่อ ๑ สิงหาคมปีที่แล้ว มีเหตุการณ์เกือกม้าถล่มและคนที่เสียชีวิตนั้นคือประชาชนในเขตจอมทองของผม ท่านประธานครับ เมื่อปีที่แล้วนั้นผมยังไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมพยายาม สุดความสามารถที่จะพยายามหาความยุติธรรมเท่าที่จะทำได้ให้กับพี่น้องประชาชน ในเขตผมนี้ ผมเลยอยากจะมาพูดถึง Detail จากประสบการณ์โดยตรงว่ากระบวนการต่าง ๆ เหล่านั้นในการที่จะขอความเยียวยานั้นมันเกิดความผิดพลาดหลาย ๆ อย่าง และประชาชน ก็ไม่ได้มีองค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านประธานที่เคารพครับ ปีที่แล้วหลังจากวันสุดท้าย ในงานศพเสร็จ พอวันเผาเสร็จปุ๊บกระบวนการจากภาครัฐที่มาแสดงความเสียใจ กับพี่น้องประชาชนที่เสียชีวิตนั้น เมื่อผ่านจากเหตุการณ์วันเผานั้นก็กลับตาลปัตรครับ การที่พี่น้องประชาชนนั้นพยายามจะทวงถามสิทธิในการเยียวยานั้นเริ่มยากขึ้น สิ่งที่ผม พบเจอที่เป็นปัญหานะครับ
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
อย่างที่ ๑ คือประชาชนเขาไม่ทราบว่ากระบวนการต่อไปต้องทำอย่างไรบ้าง
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
อย่างที่ ๒ คือปฏิเสธไม่ได้ ท่านประธานครับ ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่เขาจะรู้ ในข้อกฎหมาย
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
อย่างที่ ๓ คือกระบวนการระยะเวลาการรอคอยในการเยียวยานั้น ใครที่ เป็นคนให้คำปรึกษากับพวกเขา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ Detail ที่เกิดขึ้นจริงกับมนุษย์ และครอบครัวของคน ๆ นี้ที่เสียชีวิตไปเขาไม่ทราบสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เลยครับ สิ่งที่ผมได้รับ กลับมาคือเขามาบอกว่า ปูอัด นี่คือสิ่งที่ภาครัฐมอบความยุติธรรมให้กับพวกเขาหรือ นี่คือ คำที่ผมจำได้ติดใจเลยวันนั้นจนมาถึงวันนี้ว่าเหตุการณ์ที่ลาดกระบังครั้งนี้ควรจะสร้างโครงสร้าง ที่ดีขึ้นมาในอนาคตในการเยียวยา ท่านประธานที่เคารพครับ ผมจะยกตัวอย่างให้ดูว่า การเยียวยามันมีปัญหาอย่างไรบ้าง ในถนนพระราม ๒ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เกิดเหตุการณ์ที่ศาลเจ้าแม่งู ถนนพระราม ๒ ฝั่งขาออก แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เกิดเหตุการณ์คานปูนตกทับคนงานเสียชีวิต เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะกลางถนนเป็นโครงการ ทางด่วนถนนพระราม ๒ บ้านแพ้ว คานปูนขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ตกลงมาทับร่าง นายวรวุฒิ ขอไม่เอ่ยนามสกุลนะครับ อายุ ๕๔ ปี เป็นคนหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นคนงาน เสียชีวิต แต่การเยียวยาก็เยียวยาตามระเบียบราชการ คนที่ใช้รถก็ถูกฟ้องในศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย ๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ท่านประธานเชื่อไหมครับว่ากระบวนการเยียวยานั้น คือเอาค่าเยียวยาคำนวณรายได้บวกกับอายุขัย ถ้าท่านคำนวณดี ๆ บาง Case ที่เกิดภัยพิบัติ จากภาครัฐนี่ประชาชนผู้เสียภาษีในประเทศนี้อาจมีค่าไม่ถึงล้าน อันนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น มาแล้ว แล้วเป็นโครงสร้างที่เรายังไม่เคยถูกการแก้ไขมาก่อน เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ นี่เป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้นที่ผมมาพูดกับท่านประธานว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ และเกิดขึ้น กับคนจอมทอง และคาบเกี่ยวเดียวกันกับพี่น้องลาดกระบังที่เกิดเหตุการณ์สะพานถล่มตรงนี้ ผมหมายมั่นว่าต่อไปนี้พวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพวกเราจะร่วมกันสร้างโครงสร้าง ที่ส่งต่อความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนผู้เสียชีวิตอย่างสุดความสามารถ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากภาครัฐหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติในอนาคตพวกเขา ควรจะได้ความยุติธรรมและสะดวกสบายมากกว่านี้ครับ
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท้ายที่สุดท่านประธานครับ ผมขอฝากท่านประธานส่งต่อไปยังกรุงเทพมหานคร ในการให้ความยุติธรรม และความเป็นธรรม และอำนวยความสะดวกทุกทางให้แก่ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพานถล่มลาดกระบังในครั้งนี้ ขอแสดงความเสียใจและขอบคุณ ท่านประธานมากครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ครับ
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ จากพรรคก้าวไกล จากเหตุการณ์สะพานถล่มของโครงการสะพาน ยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ผมขออธิบาย Background ของโครงการนี้คร่าว ๆ เพื่อประโยชน์ของเพื่อนสมาชิกและพี่น้องประชาชนทางบ้าน สำหรับท่านที่อาจจะยังเข้าใจ ไม่ครบถ้วนนะครับ โครงการสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง เจ้าของโครงการคือ กรุงเทพมหานคร เป็นสะพานรูปแบบ Segmental Box Girder Box Girder คืออะไรครับ คือรูปแบบ Design แบบกล่อง Segmental แปลว่ามาจากชิ้น ๆ เป็นช่วง ๆ มันคือ สะพานคอนกรีตที่เป็นช่วง ๆ รูปแบบกล่องนำมาอัดร่วมกันร้อยด้วยลวด รูปแบบนี้ เป็นโครงการรูปแบบที่สร้างอย่างสากลทั่วไปในการสร้างสะพานที่เราจะเห็นอยู่ตาม กรุงเทพมหานครทั่วไป ทั้งสะพานข้ามแยกต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าก็ใช้กลุ่มเทคโนโลยี วิธีการสร้างคล้ายคลึงกันมาก ส่วนของสะพานมี ๒ ส่วนครับ เสากับคาน ง่าย ๆ ครับ เสาแนวตั้ง คานแนวนอน วิธีการสร้างมีหลายท่านอาจจะพูดถึงว่าเป็นสาเหตุของปัญหา หรือเปล่า จาก TOR เดิมของกรุงเทพมหานครกำหนดไว้ว่าวิธีการก่อสร้างแบบนี้ให้ใช้วิธีการ เทหล่อกับที่ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม วิธีนี้ก็คือเราต้องตั้งนั่งร้านที่พื้นขึ้นไปแล้วก็หล่อสะพาน ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ช้า ซึ่งอาจจะเหมาะกับการทำถนนที่ตัดใหม่โดยที่ไม่มีพี่น้องประชาชน สัญจร แต่บริเวณดังกล่าวมีการจราจรติดขัดเกิดความล่าช้า แล้วยิ่งต้องมาช้าจากโควิดด้วย จึงทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นรูปแบบ Segmental Box Girder โดยการใช้ Launching Truss หรือบางท่านอาจจะเรียกว่า Girder Launcher Girder Launcher คืออะไรครับ คือโครงเหล็กที่ตั้งลอยอยู่บนเหนือสะพาน ถ้าพูดง่าย ๆ มันก็คือนั่งร้านลอยฟ้านี่เองครับ Concept ของเขาคือการดึงช่วงสะพานกับตัว Box Girder ที่เป็นกล่อง ๆ ขึ้นไปทีละชิ้น ๆ แล้วร้อยด้วยลวด เมื่อร้อยเสร็จปุ๊บเราก็จะอัดแรงทำให้แต่ละชิ้นชิดกันแล้วอยู่เป็นสะพานได้ วิธีการนี้ก็ต้องบอกว่าใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ถนนที่มีพื้นที่น้อย จำเป็นต้องปิดถนนได้น้อยที่สุด แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการข้ามแยกต่าง ๆ ข้ามสะพานต่าง ๆ ซึ่งผมคิดว่าการแก้ไขวิธีการก่อสร้างอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ต้องสังเกต ว่าทำไม TOR ออกมาประมูลอย่างหนึ่ง แล้วต้องมาแก้แบบอีกแบบหนึ่ง ทั้งที่วิธีนี้ เป็นการก่อสร้างที่ใช้กันทั่วกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว วิธีใหม่แบบใช้ Launching Truss ตัวนี้ เป็นวิธีการที่สร้างอยู่แล้ว และทางกรุงเทพมหานครผู้ออกแบบเองก็ควรต้องทราบอยู่แล้ว แต่กลับให้มีการประมูลโดยใช้วิธีแบบเทหล่อกับที่ หมายความว่าอาจจะมีเรื่องของมูลค่า ของโครงการที่แตกต่างกันหรือไม่ หรืออาจจะมีความง่ายสำหรับการที่เราจะสามารถจ้าง Sub ไปตัดงานบางส่วนกินเปอร์เซ็นต์แล้วจบงานกัน ทีนี้ถ้าเกิดมามองเรื่องของสาเหตุว่า น่าจะเกิดจากอะไร ปกติแล้วสาเหตุการถล่มของการก่อสร้างแยกง่าย ๆ มีอยู่ ๓ ประเภท ๑. ก็คือระหว่างการก่อสร้าง ๒. คือมาจากเครื่องจักร ๓. คือมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อาทิแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วม ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเราควรตัดทิ้งนะครับ ถ้าเกิดมองในส่วนของ ระหว่างการก่อสร้างอาจจะแยกได้ ๒ ส่วน ๑. มาจากช่วงเสาก็คือแนวตั้ง หรือว่า ๒. มาจาก ระหว่างการสร้างคานคือแนวนอน ระหว่างช่วงการที่สร้างเสานี่ผมคิดว่าเราน่าจะตัดทฤษฎีนี้ ออกจากภาพ Video ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามหน้าข่าว คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเสา แต่อาจจะเป็นเรื่องของระหว่างการสร้างคานด้วยตัว Launching Truss นี้เอง จาก Video เราจะเห็นว่าคานร่วงลงมาเกือบทั้ง Slab แปลว่าต้องอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมใกล้จะเสร็จแล้ว เนื่องจากว่าต้องมีลวดอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ตามที่ สส. สุรเชษฐ์กล่าวไว้คือ ด้วยทฤษฎี Wet Joint นั่นเอง อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ายังไม่มีใครพูดก็คือเรื่องของ ปัญหาที่มาจากอุปกรณ์ ก็คือตัวเครื่องจักรมีการตรวจสอบหรือไม่ เครื่องจักรเก่าหรือไม่ ตัว Launching Truss มีการดัดแปลงหรือไม่ มีการตรวจ Check สภาพหรือเปล่า ทั้ง ๓ Scenario นี้ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบแน่นอน แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีใคร อยากให้เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะปล่อยให้เป็นการวัวหายล้อมคอกนะครับ ผมอยากเสนอท่านว่า สภาแห่งนี้เราควรมาสร้างมาตรฐานระหว่างการก่อสร้างกันให้มากและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยที่ว่าหนึ่งในนั้นก็คือการ Update ขั้นตอนการก่อสร้าง Online ทุกเดือน และมีเจ้าหน้าที่ ที่มีความรู้ มีประสบการณ์มากพอ มี Qualification ที่ชัดเจนในการที่จะเข้าควบคุมงาน อย่างตลอดเวลา ในส่วนของอุปกรณ์เราต้องมีกฎหมายและมาตรการในการตรวจสอบ คุณภาพที่ชัดเจนและดีกว่านี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตรวจสอบว่าอุปกรณ์นี้ มีการดัดแปลงมาแล้วหรือไม่
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สำหรับพี่น้องผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตเราควรชดเชยอย่างเร่งด่วน และมีมูลค่าที่เหมาะสม และสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานท่านจะสังเกตได้ตามหน้าข่าวว่าทุกคน ไม่มีใครที่จะใส่ Safety เลย ไม่มี Safety Helmet ไม่มีเสื้อ ไม่มีถุงมือ ไม่มีรองเท้า สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นสิ่งที่ต้องถูกบังคับลงไปในกฎหมายเพื่อความปลอดภัยและเป็นสากล ของผู้ใช้แรงงาน ของเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมของโครงการก่อสร้าง
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท้ายนี้ผมอยากเรียกร้องไปยังกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา วิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ให้รีบตรวจสอบสาเหตุของปัญหาเหล่านี้และวางมาตรการในการป้องกัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคต เพื่อสวัสดิการของประชาชนและสวัสดิภาพของผู้ใช้ แรงงานในโครงการก่อสร้างครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ นะครับ แล้วก็ต่อด้วยท่านสิริลภัส กองตระการ ครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับ ท่านประธานที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ก็ขอแสดงความยินดีกับท่านด้วยนะครับ ผมขออภิปรายในญัตติในส่วนที่มีผู้ยื่นญัตติด่วน เรื่องของเหตุการณ์สะพานถล่มที่ลาดกระบัง ซึ่งผมเองในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่เสียชีวิต แล้วก็ผู้บาดเจ็บ แล้วก็ขอแสดงความห่วงใยกับ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้ในการที่จะกอบกู้สถานการณ์ แล้วก็ขอให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้เร่งไปดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับการบาดเจ็บ แล้วก็ไปเยียวยาสมาชิกครอบครัว ผู้สูญเสียชีวิตด้วย อันนี้ก็คือสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นห่วงนะครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน ก็ขอให้ผู้ว่า กทม. ได้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุ ที่เกิดเหตุการณ์นี้ ในขณะที่สะพานได้มีการพังทลายเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง ก็ขอให้ ท่านผู้ว่า กทม. ได้มีการขยายผลการตรวจสอบไปยังสะพานอื่น ๆ ด้วยในกรุงเทพมหานคร ที่มีการก่อสร้าง แล้วก็หลาย ๆ สะพานมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เพื่อป้องกันเหตุสะพาน พังถล่ม อันนี้คือสิ่งที่อยากจะให้ทางท่านประธานได้ส่งเรื่องไปให้ทางผู้ว่า กทม. ได้เร่ง ดำเนินการ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เมื่อเร่งหาสาเหตุได้แล้วว่าสะพานที่พังถล่มลงมานี่มีสาเหตุ มาจากอะไร ก็ขอให้สรุปสาเหตุนี้ แล้วก็มาขยายผลไปให้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการส่งหาสาเหตุนี้ ไปให้หน่วยงานที่มีการก่อสร้างสะพานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศที่มีหลายหน่วยงาน ท่านประธานก็จะเห็นว่าหน่วยงานที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ใช่มีเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่ดูแล กรมทางหลวงหรือกรมทางหลวงชนบทอย่างเดียว เราเองในฐานะผู้แทนเวลาไปลงพื้นที่ เราก็ทราบว่าการก่อสร้างสะพานเป็นภารกิจหลายหน่วยงาน นอกจากจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทอย่างที่เรียนท่านประธานแล้ว ก็มีกรมโยธาธิการและผังเมือง นอกจากนี้ ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ กทม. ได้สาเหตุแล้วก็อยากให้ทางรัฐบาล ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมที่มีหน่วยงาน ในการสร้างสะพานเอาสาเหตุนั้นมาสรุปแล้วก็บูรณาการในการแก้ไขปัญหา ในการป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหานี้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจะสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งจะเกิดแบบนี้อีกไม่ได้ ในเมื่อเราเกิดเหตุนี้แล้วก็ขอให้ใช้เหตุการณ์นี้ มาเป็นบทเรียน แล้วหามาตรการป้องกัน
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ พื้นที่ที่ผมได้ดูแลพี่น้องประชาชนก็คือที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ครับท่านประธาน ตอนนี้ก็มีความเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะว่าผมเองเมื่อเป็น สส. สมัยที่แล้วก็ได้มีการผลักดันโครงการหนึ่งก็คือโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ขยายช่องจราจรจาก ๒ ช่องจราจร เป็น ๔ ช่องจราจร เพราะว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นที่มี การจราจรแออัด ก็ได้ใช้กลไกสภา ไม่ว่าจะเป็นข้อหารือ ไม่ว่าจะเป็นกระทู้ในการผลักดัน ให้เกิดโครงการนี้ในการขยายถนน ๔ Lane ในการข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองที่สี่แยกไฟแดง ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แล้วก็ขยายถนนจากตำบลเบิกไพรไปจนถึงตำบลหนองปลาหมอ ซึ่งเส้นนี้การจราจรมาก ท่านประธานปัญหามันเป็นอย่างนี้ครับ เมื่อมีการขยายสะพาน ถ้าเราทุกสะพานเดิมนี่พี่น้องประชาชนก็จะไม่มีสะพานใช้ ที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมเองก็ได้ส่งตัวแทนเข้าไปประชุมด้วยเนื่องจากติดประชุมสภา ก็เลยได้ข้อสรุปว่าเราจะทำสะพานไปด้วยแล้วก็ใช้สะพานเก่าไปด้วย หลังจากที่เรา ต่อปีกเสร็จเราก็จะทุบสะพานเก่าไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คืออะไร ท่านประธานครับ ที่ผมยกมาอภิปรายในวันนี้ก็คือการก่อสร้างไปด้วยแล้วก็ใช้ไปด้วย ขณะที่ลาดกระบังนี่ เราสร้างอย่างเดียวยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีของผมกำลังสร้าง สะพานอยู่นี่สร้างไปด้วยใช้ไปด้วย เพราะถ้าทุบแล้วสร้างอย่างเดียวพี่น้องประชาชนต้องไปใช้ สะพานข้างเคียงซึ่งก็จะเกิดความไม่สะดวก ฉะนั้นอันนี้ก็ขอให้ทางรัฐบาลได้ลงไปกำชับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้กับพี่น้องประชาชนอีกนะครับ ก็เลยขออนุญาตใช้เวทีนี้ได้เสนอมาตรการเพื่อให้ท่านประธานได้ส่งให้ทางรัฐบาลได้กำชับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ แล้วก็ขอแสดงความเสียใจและความห่วงใยมาถึง พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสิริลภัส กองตระการ แล้วก็อีกท่านหนึ่งที่ลงชื่อเป็นท่านสุดท้ายคือ ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ มีท่านใดต้องการอภิปรายอีกไหมครับ ผมขอเป็นท่านสุดท้ายนะครับ มีท่านสุเทพ อู่อ้น อีกท่านหนึ่งนะครับ แล้วก็ท่านณัฐชา
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เมื่อสักครู่ผมได้แจ้ง ความประสงค์ที่หน้าบัลลังก์ไปแล้วครับ ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านสิริลภัส กองตระการ แล้วก็ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ แล้วก็ท่านที่เหลือก็ลงชื่อตามนี้ เลยนะครับ ขอบคุณครับ
นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สวัสดีค่ะ ท่านประธาน ที่เคารพคะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๔ จากพรรคก้าวไกล มีเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านที่ได้อภิปรายในเรื่องของปัญหาการศึกษา หาข้อเท็จจริงไปแล้ว แต่ว่ายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากจะใช้พื้นที่และเวลาเล็ก ๆ นี้ แต่ขอให้เป็นพื้นที่และเวลานี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการส่งเสียงและเป็นกระบอกเสียง ในเรื่องของการเยียวยาเรื่องของสุขภาพจิตของคนที่ประสบภัยในเหตุการณ์สะพานถล่ม ในครั้งนี้นะคะ หลาย ๆ ท่านได้พูดไปแล้วเรื่องของการเยียวยาในด้านต่าง ๆ แต่ว่าดิฉัน คิดว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่หลายหน่วยงาน หลายฝ่าย หรือว่าสังคมไทยยังมองข้ามไป นั่นก็คือเรื่องของสุขภาพจิต ยังไม่ได้มีการตั้งคำถามเลยว่าครอบครัวผู้สูญเสียได้มีภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ หรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์สะพานถล่มวันนั้นจะมีภาวะเสี่ยง ในการเป็นโรค PTSD หรือไม่ PTSD ก็คือโรค Post-Traumatic Stress Disorder หรือว่า โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งโรคนี้หลาย ๆ คนถ้าเผชิญกับภาวะนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกต่อไป ดิฉันเลยอยากจะขอใช้เวลาเล็ก ๆ และพื้นที่ เล็ก ๆ นี้ในพื้นที่สภานี้ในการที่จะเป็นกระบอกเสียงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมาเยียวยา นอกเหนือจากเรื่องของการเยียวยาในด้านเงินหรือด้านต่าง ๆ แล้ว การเยียวยา เรื่องสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ อันนี้คือเรื่องของระยะสั้น ในเรื่องของระยะกลาง และระยะยาวก็อยากจะผลักดันให้สุขภาพกายกับสุขภาพใจได้รับการเข้าถึงและการรักษา ไม่แพ้กัน ก็อยากจะฝากพื้นที่ตรงนี้ในการ Raise ประเด็น Awareness ตรงนี้ไว้ให้ด้วยค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ลำดับแรก ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตนะครับ เบื้องต้น ๒ รายคือนายอรัญ สังข์รักษ์ และนายฉัตรชัย ประเสริฐ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ สะพานถล่มลาดกระบัง ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคมที่ผ่านมาหนึ่งในผู้เสียชีวิต นายฉัตรชัย ประเสริฐ เป็นวิศวกรโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ท่านนี้เป็น คนพัทลุง เป็นคนบ้านเดียวกับผม และคนพัทลุงอีกหลาย ๆ คนได้เข้ามาทำงาน รับราชการ มาอยู่อาศัย มาทำงานในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากครับ การจากบ้านมา เพื่อทำงานดูแลครอบครัวและรับใช้สังคม การสูญเสียในครั้งนี้จึงเป็นการสูญเสียของ วิศกรมือดีในแวดวงก่อสร้าง เป็นการสูญเสียบุคคลที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ที่ต้องรับผิดชอบทั้งลูก ภรรยา และครอบครัว ในนามของตัวแทนของคนจังหวัดพัทลุง ผมขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียครั้งนี้ครับ และนอกจากนี้ผมขอแสดงความเห็นใจ ไปถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ท่านประธานครับ เหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัย ต่อประชาชนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพมหานครและอีกหลาย ๆ แห่ง ทั่วประเทศไทย ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา ท่านประธานครับ เกิดอุบัติเหตุการก่อสร้าง เป็นข่าวใหญ่ ๆ แล้วอย่างน้อย ๕ ครั้ง เหตุหลัก ๆ ที่เป็นข่าวดัง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ใน ถนนพระราม ๒ นอกจากเหตุที่ลาดกระบังแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เกิดเหตุจุดสร้างทางด่วนตรงข้ามศาลเจ้าแม่งู ถนนพระราม ๒ เขตบางขุนเทียน เกิดเหตุคานปูนตกทับคนงานเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เกิดเหตุแผ่นปูน สะพานกลับรถที่อยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุงหล่นลงมาทับรถยนต์หลายคันบนถนนพระราม ๒ ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑ ราย และอีกหลาย ๆ รายเหตุการณ์ ท่านประธานครับ จากกรณีนี้ผมขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลของ ท่านดอกเตอร์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งท่านเป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ท่านได้ตั้งคำถามและเสนอแนะ ผ่านช่องทาง Social Media และช่องทางสื่อถึงการวิบัติของโครงการก่อสร้างทางยกระดับ อ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยตั้งคำถามในการหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าต้องพิสูจน์ด้วยหลักวิศวกรรม อย่างแรกคือต้องหาสาเหตุว่าคานร่วงหล่นมาได้อย่างไร อาจจะเกิดจากอุปกรณ์ หรือกระบวนการทำงานที่ผิดพลาดหรือไม่ ด้านที่ ๒ ทำไมเสาตอม่อถึงขาดสะบั้น อาจจะ เกิดจากเหล็กเสริมเพียงพอหรือไม่ หรือคอนกรีตรับน้ำหนักกำลังได้หรือไม่ ๓. เสาเข็ม ทรุดตัวหรือไม่ อาจจะเกิดจากเสาเข็มมีความบกพร่องรับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบหรือไม่ และก่อนหน้านี้นะครับ คุณสุชัชวีร์ก็ได้แสดงความเห็น ความห่วงใยจากโครงสร้างโครงการ สร้างสะพานข้ามถนนอ่อนนุช เขตลาดกระบัง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เห็นหลายปัญหาชัดเจน จากโครงการนี้นะครับ ๑. ก็คือมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานในพื้นที่ อาจจะไม่มีแนวป้องกัน ที่เพียงพอที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของหล่น ทำให้ประชาชนเดือดร้อนถึงชีวิต ๒. อาจจะเห็นปัญหาของถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ๓. เป็นปัญหาที่ทำให้รถติดสาหัส เพราะการก่อสร้างในพื้นที่บางช่วง ก่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องคืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้ นอกจากนี้คุณสุชัชวีร์จากที่ลงพื้นที่ ตรวจสอบการวิบัติของหลาย ๆ โครงสร้างสะพานก็มักจะเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานกรณี ดังนี้นะครับ ๑. นั่งร้านคนงานพัง เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือไม่ได้ค้ำยัน กับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง ๒. ไม้แบบรองรับ การเทคอนกรีตเสาและคานพังเพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือเทผิดจังหวะ ทำให้ไม้แบบเอียงพังหรือเสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกินก็สามารถพังลงมาได้ ๓. คานหล่น อาจจะเกิดเหตุคานหล่นขณะติดตั้ง เนื่องจาก Crane ยกหรือหล่นขณะวางพาด บนเสาหลายครั้งหล่นลงมาใส่รถที่สัญจรอยู่ข้างล่าง ๔. Crane ล้ม อาจจะเกิดบางกรณีที่ใช้ Crane ไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก บ่อยครั้งพลิกคว่ำเป็นอันตราย ทั้งคนขับ Crane และคนงานในพื้นที่ ท่านประธานครับ เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง สะพานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย ผมจึงมีข้อเสนอแนะ ๓ ข้อเสนอแนะครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
อันดับแรก ผมขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับฟังข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ของท่านดอกเตอร์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งท่านเป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เกี่ยวกับวิบัติการของโครงสร้าง ทางยกระดับอ่อนนุชและลาดกระบังในครั้งนี้
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ผมขอให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครคำนึงว่าในการทำงานก่อสร้าง สะพานต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ต้องทำงานตามมาตรฐานและความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องยากนะครับ ที่เราจะต้องป้องกันอุบัติเหตุ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นนะครับดีกว่ามาแก้ทีหลัง หลายอย่างไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะ เรื่องชีวิตของประชาชน รวมไปถึงอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้นะครับ ขออนุญาตท่านประธานอีกนิดเดียวครับใกล้เสร็จแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้าง ถนนพัง ถังดับเพลิงระเบิด ทางเลื่อนที่ชำรุด และอุบัติเหตุสะพานล่มในครั้งนี้
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายในทรัพย์สินอย่างเต็มที่ ทราบว่านายฉัตรชัย ประเสริฐ เป็นวิศวกรของโครงการ เป็นคนพัทลุงและเป็นเสาหลักของครอบครัวที่มีบุตรชาย ๒ คน วัย ๖ ปี และ ๑๓ ปี ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครับ เชิญท่านสุเทพ อู่อ้น แล้วก็ตามด้วยท่านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ครับ
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนใช้แรงงาน ท่านประธานครับ หลายครั้งหลายหนที่เกิดปัญหาอุบัติเหตุที่ทำให้ คนใช้แรงงานต้องรับผลกรรมที่เกิดขึ้นจากการผิดพลาดจากกระบวนการต่าง ๆ ชัดเจนครับ แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นคนที่รับผิดชอบความเสียหายก็คือคนใช้แรงงาน คนใช้แรงงาน ไม่ว่าระดับวิศวกร ระดับคนงานเขาก็มีครอบครัวที่จะต้องดูแล ดังนั้นครั้งนี้ครับ ท่านประธาน อยากจะให้เป็นครั้งสุดท้ายของการเกิดอุบัติเหตุและไม่มีระบบในการรองรับดูแล เมื่อประมาณหลายสิบปีที่แล้วได้เกิดเพลิงไหม้ที่โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ขบวนการแรงงาน ออกมาผลักดันให้มีกฎหมายด้านความปลอดภัยก็ได้มีกฎหมายเกิดขึ้น แต่กฎหมายนั้น ที่ผ่านมาในขณะนี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดเหตุที ก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปดู ไปตรวจสอบ ไปหาข้อมูล ร้ายสุดก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมเองเป็น คนใช้แรงงานพยายามผลักดันเรื่องนี้โดยตลอด ดังนั้นการที่เกิดเหตุครั้งนี้ผมเองต้องออกมา อภิปรายและอยากจะให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจังจากการนำเสนอท่านประธานในครั้งนี้ โดยเฉพาะความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น หลายท่านพูดถึงครอบครัวครับ มีสามี ภรรยา บุตร โดยเฉพาะบุตรที่จะต้องอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ศึกษา เพราะว่าที่ผ่านมาระบบการเยียวยา น้อยและน้อยมากจึงทำให้เกิดปัญหาสำหรับครอบครัวที่จะต้องวางรากฐานชีวิตในการดูแล มีมุมต่างกันเลยนะครับ ถ้าเกิดเป็นข้าราชการบางหน่วยงานเสียชีวิตในการประกอบอาชีพ หรือเรียกว่าเสียชีวิตในหน้าที่การงานได้รับการปูนบำเหน็จอย่างทำให้ครอบครัวนั้น มีความมั่นคงได้ ดังนั้นผมเองอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๑. โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ นั่นก็คือผู้ที่ถือกฎหมาย ดูแลเรื่องความปลอดภัยจะต้องรับผิดชอบด้วย หลายครั้งที่ผ่านมาไม่เคยเห็นหน่วยงาน ราชการหรือคนที่ถือกฎหมายอยู่ในมือต้องรับผิดชอบอะไรเลย ลอยตัวกันทั้งหมด
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๒. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัท สถานประกอบการจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ถ้าไม่พร้อมไม่ควรที่จะมาประกอบกิจการต่อไป เพราะท้ายสุดการสูญเสียครั้งนี้ คือคนใช้แรงงานอย่างพวกผม นี่คือสิ่งที่อยากสะท้อนผ่านไปยังสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ผ่านไปยังท่านประธานว่า พี่น้องประชาชนฝากมาว่าถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นยังมีซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ประชาชนจะไปพึ่งใครได้
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท้ายที่สุดเรื่องของเงินเยียวยาอยากจะให้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของ เงินเยียวยาที่สามารถจะทำให้ครอบครัวนั้นมีความมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อสักครู่ยกตัวอย่าง วิศวกรมีบุตรอยู่ ๒ คน ต่อไปเมื่อขาดผู้นำครอบครัวจะอยู่อย่างไร เงินเยียวยาเพียงเล็กน้อย ที่มีปัจจุบันจะได้หรือไม่ เดี๋ยวผมจะต้องไปตามดู แต่ได้มาก็ยังถือว่าน้อย เพราะว่าเรื่องของ การเรียนการศึกษาแต่ละคนมีต้นทุนที่สูงอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ควรจะต้องมีโทษ หรือข้อกำหนดที่รุนแรงและเอาจริงเอาจัง มิฉะนั้นก็จะเกิดเหตุอย่างนี้ต่อไป ๆ ต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องเหล่านี้หลายท่านได้อภิปรายมาค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ดีต่อจากนั้นไปคือการนำไปสู่ การปฏิบัติบังคับและบังคับใช้ ผมจึงขอวิงวอนท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ท่านว่าเรื่องนี้ควรเป็นครั้งสุดท้ายของการเกิดการสูญเสียและขาดระบบการดูแล ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐชา แล้วก็ต่อด้วยท่านสะถิระ เผือกประพันธุ์ นะครับ
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่เคารพ ผม ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จากพี่น้องชาวบางขุนเทียน บางบอน สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปพอสมควรแล้วนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น บ่อยครั้ง ผู้เสนอญัตติท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ได้บอกถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ ครั้งนี้ และแน่นอนเมื่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญสังคมก็ตั้งคำถาม แล้วก็มีการหยิบยก มาพูดคุยกันในสภาแห่งนี้
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องที่ยังดำเนินกิจการที่มีการก่อสร้างโครงการในหน่วยงานทางภาครัฐต่าง ๆ ผมเองเป็นผู้แทนพระราม ๒ ครับ ถนนพระราม ๒ ชื่อจริงถนนเจ็ดชั่วโคตร ชื่อเล่น ถนนพระราม ๒ ชื่อรอง ธนบุรี-ปากท่อ มีหลายชื่อมาก แต่ชื่อที่พี่น้องประชาชน จดจำนั่นก็คือถนนเจ็ดชั่วโคตร ที่มีเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่านับไม่ถ้วนครับ เมื่อสักครู่ท่านผู้แทนร่มธรรมได้ขึ้นมาหยิบยกตัวอย่างอุบัติเหตุหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้น บนถนนพระราม ๒ และครั้งนี้ไปเกิดขึ้นในเขตลาดกระบัง พี่น้องประชาชนหลาย ๆ ท่าน เมื่อพบเจอประสบพบเหตุก็แน่นอนตื่นเต้นตกใจหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาพูดคุย แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป การเยียวยาช่วยเหลือตั้งแต่เหตุพระราม ๒ จนมาถึง เหตุปัจจุบัน ผู้แทนหลาย ๆ ท่านบอกว่าต้องไปติดตามเรื่องของเงินเยียวยาบ้างละ เรื่องของ การช่วยเหลือบ้างละ เรื่องของมาตรการบ้างละ ผมอยากจะถามไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จริง ๆ ว่าเราต้องมาตั้งคำถามในสภาแห่งนี้อีกกี่ครั้ง กี่หน เหตุการณ์มันต้องดังระดับไหน มันต้องรุนแรงขนาดไหน ท่านถึงจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้หยิบยกเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมาพูดคุย มันยังมีอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ครับท่านประธาน เรื่องของเหล็กหล่นบางชิ้น เรื่องของสีหล่น เรื่องของเทปูน แล้วสะเก็ดปูนหล่นสู่รถที่สัญจรผ่านไปผ่านมาด้านล่าง เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เป็นข่าวครับ เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุให้หยิบยกมาอภิปรายในสภาแห่งนี้ แต่เรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคนไทยที่สัญจรผ่านไปผ่านมาภายใต้โครงการการก่อสร้างของ หน่วยงานทางภาครัฐที่ใช้เงินภาษีของพี่น้องประชาชนไปดำเนินโครงการต่าง ๆ สุดท้าย เงินของประชาชนสร้างโครงการของประชาชน และประชาชนต้องรับความเสี่ยงโดยไม่รู้เลย ว่าถ้าเกิดเหตุขึ้นแล้วจะหันไปทางไหน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ปกป้องหน่วยงานตัวเอง ไล่ Timeline มาว่าตัวเองนั้นถูกต้องอย่างไร ผู้ที่ควบคุมงานก็ไล่ลำดับเหตุการณ์ว่า ทำอย่างไรลำดับเหตุการณ์ตนเองถึงจะไม่ผิด แล้วถามว่าประชาชนล่ะครับ ผมคิดว่า เรื่องราวเหล่านี้ควรที่จะแก้ไขเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรการการก่อสร้าง ท่านประธานครับ ผมเองอยู่ในวงการการก่อสร้าง เพื่อนสมาชิก สส. กทม. หลาย ๆ ท่าน อยู่ในวงการการก่อสร้างก่อนมาเป็นผู้แทน ถ้าหน่วยงานเอกชนมาตรฐานทางงาน Safety มีมาตรฐานกว่านี้ พี่น้องประชาชนขับรถผ่านไปผ่านมาหน่วยงานทางภาครัฐก่อสร้าง อะไรต่าง ๆ เห็นคนงานปีนป่ายกัน Safety belt อะไรก็ไม่ได้ใส่ ร่วงมาทีเป็นข่าวที ร่วงมาที ท่านสุเทพลุกขึ้นพูดเรื่องแรงงานทีหนึ่ง แต่ถามว่าทำไมเราไม่ไปวางกรอบกติกาของโครงการ ทางภาครัฐว่าต้องมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องคือบุคคลที่สามที่อาจจะ ประสบเหตุจากเหตุการณ์การก่อสร้างของคุณ หรือบุคคลที่หนึ่งคือผู้ที่กำลังก่อสร้างงาน ผู้ที่ปฏิบัติงาน มีมาตรฐานอย่างไร รัฐควรจะไปมีกรอบกติกาตรงนั้น แล้วเมื่อมีกรอบกติกา บีบอยู่ มาตรฐานการก่อสร้างได้คุณภาพ มันมีขั้นตอน Timeline ที่ชัดเจนว่าทำอย่างไร ถึงจะปลอดภัย ทำอย่างไรถึงจะไม่ปลอดภัย อย่างนี้พี่น้องประชาชนถึงจะมั่นใจครับ ผมเชื่อว่าวันนี้เหตุการณ์ไล่เรียงจากพระราม ๒ ถึงลาดกระบัง มีพี่น้องประชาชนคนไทย หลายคนไม่กล้าขับรถใต้สะพานที่กำลังก่อสร้าง ท่านประธาน แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรครับ เป็นปัญหาอื่น ๆ ตามมาเลย เพราะว่าจะต้องไปวิ่งกันตามตรอก ซอก ซอยกันหมดเลย เพราะว่ามันก่อสร้างกันเยอะมาก บ้านเรากำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นผมอยากให้ท่านประธาน ช่วยมองภาพที่ใหญ่ขึ้นแล้วนำเสนอไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง จะได้ไม่มี การหยิบยก Case นั้น Case นี้ขึ้นมาพูดในสภาแห่งนี้ แน่นอนครับพูดเป็นสิ่งที่ดี หยิบยกมา อภิปรายในสภาแห่งนี้เพื่อให้หน่วยงานนั้นรับไปในสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดีกว่าควรแก้ไขและไม่ให้ เกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นอีก นี่คือสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ผมต้องลุกขึ้นมาพูดวันนี้ เพราะเหตุการณ์ มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนต้องทำให้พี่น้องประชาชนนั้นคุ้นชินไปเองหรือว่าอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านประธานครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานครเองก็ดี หรือถนนหนทางที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม หรือกรมทางหลวงเองก็ดี ควรวางรูปแบบ ใหม่แล้ว Set มาตรฐานงานก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐใหม่ให้มีระบบความปลอดภัยขั้นสูง เพราะคุณกำลังทำงานให้กับพี่น้องประชาชน และพี่น้องประชาชนต้องอยู่ร่วมในโครงการ การก่อสร้างของคุณ ไม่ว่าเหตุการณ์ที่จะผิดพลาดเล็ก ผิดพลาดน้อย ผิดพลาดในขั้นตอนใด ก็แล้วแต่ ความสูญเสียนั้นรุนแรงและประเมินมูลค่าไม่ได้ ท่านประธานครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสะถิระครับ
นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม สะถิระ เผือกประพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ท่านประธานครับ วันนี้ก่อนอื่น ที่ผมจะได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของโศกนาฏกรรมสะพานอ่อนนุช-ลาดกระบัง ก็ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องประชาชนและครอบครัว รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ท่านประธานครับ ทำไมผมถึงต้องลุกขึ้นพูดในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพมหานครที่เดียว ท่านประธานครับ อำเภอสัตหีบของผม จังหวัดชลบุรี หรือแม้กระทั่งจังหวัดชลบุรีทั้งจังหวัด ยกตัวอย่างเช่นขณะนี้อำเภอสัตหีบของผมมีการก่อสร้างสะพานใหญ่ ๆ อยู่ ๓ สะพาน อาจจะเรียกว่าสะพานแยก กม. ๑๐ สะพานแยกเจ หรือว่าสะพานแยกเกษมพล แล้วยังมี สะพานบก สะพานกลับรถอีกประมาณ ๒๐ กว่าสะพานครับท่านประธาน ขณะนี้กำลัง ก่อสร้างอยู่ ท่านประธานครับ นี่คือสิ่งที่ผมต้องลุกขึ้นมาพูดเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีของผมอีกเช่นกัน คำถามมีอยู่ว่า เพื่อนสมาชิกทุกท่านพูดถึงเรื่องความปลอดภัย ท่านประธานครับ เรื่องสะพานถล่ม มันเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น มันเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ แต่ท่านประธานครับ เชื่อไหมครับ ที่สัตหีบบ้านผมแค่เรื่องฝุ่นเรื่องเดียวก็ทำให้พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ผมเสียชีวิตได้จากการก่อสร้างสะพานนี่ละครับ ท่านประธานครับ แค่เรื่องฝุ่นนะครับ ถามว่า เพราะอะไร การก่อสร้างสะพานหน้าหนาวฝุ่นเยอะไหมครับ ท่านประธานครับ หน้าฝน ท่อระบายน้ำไม่ไหล และที่สำคัญที่ทำให้พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบของผมเสียชีวิต ๕ ราย ไม่เกิน ๑๐ ราย คือ Barrier ในเวลากลางคืนไม่มีสัญญาณไฟส่องสว่าง ไม่มีสัญญาณจราจร อันนี้คือสิ่งที่ผมจะบอกท่านประธานว่าอย่าว่าแต่สะพานถล่มเลย อยากให้หน่วยงานของรัฐ ที่มีมาตรการต่าง ๆ ในการก่อสร้างสะพาน ก่อสร้างถนนให้คำนึงแม้กระทั่งเรื่องฝุ่น และ Barrier หรือแม้กระทั่งไฟส่องสว่าง อันนี้คือจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้พี่น้องประชาชน เสียชีวิตนะครับ ท่านประธาน อันนี้คือเรื่องแรกที่ผมจะนำเรียนท่านประธานเกี่ยวกับ เรื่องของความปลอดภัย เพราะขณะนี้อำเภอสัตหีบผมแม้กระทั่งเสาที่ก่อสร้างยังมีเสาเหล็ก ประมาณพัน ๆ โผล่ขึ้นมาทำให้พี่น้องประชาชนถ้ามอเตอร์ไซค์ล้มไปนี่ใครจะรับผิดชอบ ทีนี้พูดถึงใครจะรับผิดชอบ พูดถึงการเยียวยาครับท่านประธาน ผมถามว่าใครเยียวยา ผู้รับเหมาหรือภาครัฐ รัฐจำเป็นไหมที่จะต้องไปเสียภาษีกับพี่น้องประชาชนตอบแทนเยียวยา ของรัฐ ควรจะต้องเป็นผู้รับเหมาหรือเปล่า ท่านประธานครับ คำถามมีอยู่ว่าผู้รับเหมา ไปเยียวยาพี่น้องประชาชนและครอบครัวอย่างไร พี่น้องประชาชนเองไหมที่จะต้องไป ฟ้องร้องหรือรัฐจะต้องควรฟ้องร้องแทนให้พี่น้องประชาชน เพราะความลำบากมันตกอยู่กับ พี่น้องประชาชนนะครับท่านประธาน ตรงนี้ฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ท่านประธานครับ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ผมประสบปัญหามาโดยตลอดในอำเภอสัตหีบของเรา โดยเฉพาะเรื่องของเยียวยา เพราะผมดูมา พ.ร.บ. การเยียวยาหรือการทดรองราชการ ค่ารักษาพยาบาลแค่ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยรัฐนะครับ นี่ไม่รวมของผู้รับเหมา ผู้รับเหมานี่ ถ้าประชาชนต้องไปฟ้องร้องกับผู้รับเหมาเองมันใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องไปฟ้องร้องไหม ท่านประธานครับ อันนี้ฝากท่านประธานผ่านไปถึงทางหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย และที่สำคัญ ท่านประธานครับ ในการก่อสร้างสะพานแต่ละที่ การก่อสร้างถนนแต่ละที่ มันไม่ใช่มีแค่งบประมาณก่อสร้างนะครับ มันมีงบประมาณออกแบบตามหลักวิศวกรรมด้วย ตรงนี้ก็คือภาษีของประชาชนนะครับท่านประธาน และผมก็เชื่อว่าไม่ต่ำกว่าหลัก ๑๐ ล้านบาท แน่นอนสำหรับในการจ้างที่ปรึกษาออกแบบหลักวิศวกรรมตรงนี้ท่านออกแบบอย่างไร ท่านออกแบบคำนึงความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร แล้วหลังจากออกแบบเสร็จมีอย่างนี้ ท่านประธานครับ การทำประชาพิจารณ์ ผมเชื่อว่าพี่น้องที่อยู่อ่อนนุชหรือลาดกระบัง ต้องผ่านเรื่องการทำประชาพิจารณ์ว่าตรงนี้ควรสร้างอย่างไร แบบไหน ตามความเห็น ของพี่น้องประชาชน ที่สัตหีบก็มีครับ แต่การทำประชาพิจารณ์ของหน่วยงานของรัฐนี่ พี่น้องประชาชนไม่ทราบ ประชากรมี ๑๗๐,๐๐๐ ทราบไม่ถึง ๑,๐๐๐ ตรงนี้ ฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นผมฝากท่านประธาน ไปถึงเรื่องความปลอดภัย อย่างคำนึงถึงเรื่องใหญ่ ๆ แม้กระทั่งเรื่องฝุ่น ผู้รับเหมา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องคำนึงแล้วครับ ผม ดอกเตอร์สะถิระ สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรอำเภอสัตหีบ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากนะครับ สมาชิกที่ลงชื่ออภิปรายก็ได้อภิปรายจนครบถ้วนแล้วนะครับ ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ ผู้เสนอญัตติมีสิทธิในการอภิปรายสรุปอีกครั้งนะครับ ใช้สิทธิไหมครับ ก็ท่านธีรรัตน์นะครับ แล้วก็ท่านสุรเชษฐ์อยู่ไหมครับ เนื่องจาก เป็นการอภิปรายสรุป ผมขอไม่เกินท่านละ ๕ นาทีนะครับ เชิญท่านธีรรัตน์ก่อนครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออนุญาต ใช้เวลาที่มีอยู่สรุปญัตติด่วนที่ดิฉันได้เสนอไปในเรื่องของการเร่งหาสาเหตุและเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่มที่พี่น้องสมาชิก ได้อภิปรายกันอย่างหลากหลาย ดิฉันถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของการเร่งที่จะค้นหาสาเหตุนะคะ การที่จะต้องประเมินถึงคุณภาพของผู้รับเหมา และรวมถึงขั้นตอน วิธีการในการที่จะได้เป็นผู้รับผิดชอบในงานที่มีมูลค่ามหาศาล แล้วก็เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนในเรื่องของการดำเนินชีวิตการเป็นอยู่ ซึ่งดิฉันเห็นว่า ทุกส่วนทุกประเด็นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรวบรวมและนำมาพิจารณาร่วมกัน วันนี้ถ้าหากว่าพี่น้องรวมถึงท่านประชาชนทางบ้านได้ฟังอยู่จะเห็นว่าเรื่องของการเยียวยา ดิฉันต้องขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งค่ะ เมื่อสักครู่มีโทรศัพท์เข้ามาบอกว่ารถยนต์ของเขา ได้รับผลกระทบก็คือเสียหายจากที่มีตัว Crane ตัวคานเหล็ก ตัวปูนถล่มลงมา แต่ว่าโทรไป ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับเรื่อง บอกว่าเดี๋ยวต้องรอ รอ ซึ่งประชาชนก็หวั่นใจว่า รอถึงเมื่อไร แล้วจะมีใครติดต่อกลับมาไหม ดิฉันก็บอกว่าอย่างนั้นเดี๋ยวดิฉันขออนุญาต ประสานงานเบื้องต้น ซึ่งดิฉันทราบจากทางกรุงเทพมหานครรวมถึงสำนักงานเขตลาดกระบัง บอกว่าตอนนี้ถ้าใครได้รับผลกระทบโทรเข้ามาได้ที่สายด่วน ๑๙๙ เพื่อที่จะแจ้งถึงปัญหา ที่เกิดขึ้นที่เราไม่รู้เลยว่าวันนี้แต่ละท่านที่ผ่านไปตรงนั้นพอดี แล้วกลับไปบ้านแล้ว แล้วมันเกิดเหตุการณ์อะไรตามขึ้นมาหรือเปล่า สามารถที่จะโทรเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องได้ ในส่วนของภาพรวมทั้งหมดค่ะ นอกจากในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งประเทศที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกอภิปรายว่ามีของ กระทรวงคมนาคมที่ก่อสร้างสะพานโครงการ Megaproject ขนาดใหญ่ เราก็ต้องไปดูว่า ตรวจสอบให้ถูกต้องไหม และที่ดิฉันได้ฝากไปในส่วนของการเยียวยาทั้งเรื่องของจิตใจ เรื่องของร่างกาย สภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของพวกเขาต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงไปให้ได้ อย่างเร็วที่สุด และที่ดิฉันฝากนิดหนึ่งเพิ่มเติมเข้าไปก็คือส่วนของอาคารสถานที่ที่กำลัง ก่อสร้างในขณะนี้ด้วยต้องให้ได้มาตรฐาน ต้องปลอดภัยทั้งผู้ที่อยู่ในหน้างาน รวมถึง พี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบและในอนาคตค่ะ ในส่วนของอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่มีอายุการใช้งานมานานแล้วก็ต้องมีหน่วยงานที่ลงไปตรวจสอบถึงความปลอดภัย ในเรื่องของโครงสร้าง เพื่อที่จะไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต ดิฉันต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิก ทุกท่านที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายในประเด็นที่สะพานยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง บริเวณหลวงแพ่งได้ถล่มลงมา แล้วก็ขอให้เจ้าหน้าที่เร่งทำงาน อย่างเร็ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้างานด้วย รวมถึงความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชนที่อยู่โดยรอบด้วย แล้วก็ได้สรุปสาเหตุที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด ไม่ใช่เกิดจากการคาดการณ์ของแต่ละฝ่ายให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบค่ะ ขอบพระคุณ ท่านประธานค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ขอขอบคุณท่านประธานแล้วก็เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้อภิปรายนะครับ เท่าที่ผมได้นั่งฟังแล้วก็คิดว่าทุกคนก็น่าจะไม่ปฏิเสธว่าเรื่องนี้ควรจะให้ความใส่ใจ แล้วก็เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรจะไปสอบสวนหาสาเหตุแล้วก็หาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะเราไม่อยากให้ปัญหาแบบนี้มันเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนก็ตาม โดยสรุปอย่างที่ผมได้อภิปราย ไปนะครับ ผมว่าอันนี้คือความผิดพลาด ความล้มเหลวในเชิงวิศวกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา คนตายครั้งนี้ มันเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการก่อสร้าง โดยสาเหตุ เมื่อประมวลถึงแนวทางต่าง ๆ เรายังเชื่อว่าน่าจะเป็นเกิดจาก Wet Joint Failure ส่วนจะวิเคราะห์หาสาเหตุอื่น ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็ต้องมีกระบวนการตามกระบวนการ ที่เขาไปสืบสวนโดยผู้เชี่ยวชาญอะไรต่าง ๆ มาร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะไม่ว่าสาเหตุจำเป็นอะไร จะเป็น ๑ ๒ ๓ ๔ จะเป็น Wet Joint Failure หรือว่าจะเป็นตัว Launcher มันพังลงมาก่อน หรือว่าจะเป็น Girder พังลงมาก่อน มันเป็นแค่รายละเอียดที่จะต้องไปตรวจสอบกันก็คือกระบวนการขั้นตอน ๑ ๒ ๓ ๔ ทำถูกต้องไหม อย่าให้เกิดการทำลายหลักฐาน โดยอย่างที่ผมบอกเรื่องของหน้างานในวันนี้ ลูกปูนที่ใช้เป็นการเก็บตัวอย่างที่เกิดขึ้นวันนั้นอย่าให้มันหายไป อย่าให้มันเกิด การ Big cleaning ก่อนโดยที่ถึงเวลาไปสอบสวนแล้วสุดท้ายมันไม่มีใครผิด แล้วเราก็ไม่ได้ เรียนรู้ แล้วมันก็เกิดอุบัติเหตุซ้ำซากอย่างนี้ในหลาย ๆ ที่ เพราะฉะนั้นในส่วนของสาเหตุ ก็อย่างที่ผมได้เรียนไปก็ต้องไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงกัน ไปเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นไป ส่วนในข้อเสนอแนะก็คือโดยสรุปผมให้ข้อเสนอแนะเป็น ๔ ข้อ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะที่ ๑ ก็คือให้ทาง กทม. แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเก็บรวบรวม หลักฐานก่อนที่หน้างานจะเกิด Big cleaning day จนทำให้การพิสูจน์ภายหลังทำได้ยากยิ่ง
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะที่ ๒ ก็คือให้ทาง กทม. ตรวจสอบเรื่องของการใช้ Sub-contractor ที่ผมเรียกว่าเป็นปัญหาผู้รับเหมาไม่ตรงปก เจ้าที่ประมูลกับเจ้าที่ทำจริงคนละเจ้ากัน
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะที่ ๓ ก็คือให้ กทม. ชี้แจงเรื่องของการเปลี่ยนแบบหลังการประมูล คือวันที่ประมูลใช้แบบแบบหนึ่งเป็นการก่อสร้างในที่ แล้วเวลาไปก่อสร้างจริงก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ผ่านการอนุมัติ แต่ว่ามันไม่ตรงปกกับสิ่งที่ประมูล เพราะฉะนั้นผมไม่ได้บอกว่าที่เขาทำ มันเป็นแบบที่ไม่ดี อาจจะเป็นแบบที่ดีกว่าก็ได้ แต่ว่าทำไมไม่เอาแบบนั้นไปใช้การประมูลกัน
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนข้อเสนอแนะสุดท้าย ก็ให้ทาง กทม. ชี้แจงเรื่องของความเข้มงวด ในการคุมงานก่อสร้าง ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธา ก็ขอขอบคุณ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้ร่วมกันอภิปราย แล้วก็หวังว่าทุกท่านจะใส่ใจกับงานก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิต และทรัพย์สินประชาชน แล้วเราก็เห็นอยู่เสมอ ๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณนะครับ ผู้เสนอญัตติก็ได้อภิปรายสรุปครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับเรียบร้อย ก็ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่เสนอญัตตินี้ทั้ง ๒ ท่าน แล้วก็ผู้ที่อภิปรายที่เราได้ความเห็น ที่มีประโยชน์แล้วก็ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากที่มี การอภิปรายแล้วก็เห็นชอบไปในทางเดียวกันและไม่มีผู้คัดค้านนะครับ เพราะฉะนั้น ผมขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ แล้วก็ถามมติว่าจะส่งญัตติด่วนทั้ง ๒ เรื่องไปให้ รัฐบาลพิจารณา ท่านสมาชิกเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ เห็นไปในทางเดียวกัน อย่างนั้น ขอเป็นมตินะครับ ท่านสมาชิกครับ วันนี้ระเบียบวาระมีเพียงเท่านี้ ผมอยากจะขอขอบพระคุณ สำหรับการประชุมครั้งแรกที่เราประชุมกันได้อย่างเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่เตรียมการกัน อย่างหนัก สื่อมวลชนแล้วก็ล่ามภาษามือด้วย สำหรับวันนี้มีเพียงเท่านี้ครับ ขอปิดการประชุม ขอบคุณครับ