นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ผมได้รับมอบให้มากล่าวสรุปแล้วก็ผลลัพธ์จากการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน ในการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งจะขอนำเสนอ ๒ ส่วน ผมนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการ แล้วก็เป็นสัดส่วนจากภาคประชาสังคมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๑ บำนาญพื้นฐาน ประชาชนจะเพิ่มหลักประกันรายได้รายเดือนให้กับ ผู้สูงอายุ ประมาณการว่าในปี ๒๕๗๓ ผู้สูงอายุจะมี ๑๗,๖๐๐,๐๐๐ คน ผู้สูงอายุในส่วนนี้ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนทันที เมื่อระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาตินั้นสามารถ ที่จะดำเนินการได้ ข้อมูลที่เรามี ในปี ๒๕๖๕ ผู้สูงอายุที่มีความยากจนอยู่ในเส้นความยากจน ปัจจุบันคือ ๒,๙๙๗ บาทนั้น จะมีอยู่ประมาณ ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน จากข้อมูลของสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้สูงอายุจำนวนนี้ก็จะค่อย ๆ พ้นจากความยากจนทันที เหมือนกัน จากระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๒ บำนาญพื้นฐานประชาชนนั้น ในปีแรกเราจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แบบขั้นบันได นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุปัจจุบันที่ได้รับเบี้ยยังชีพแล้ว ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖-๒๕๖๗ ต่อเนื่องมา ก็จะได้รับเงินในส่วนนี้เป็นรายได้รายเดือน ซึ่งก็จะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และไม่มีการปรับอัตราเบี้ยยังชีพมากว่า ๑๓ ปี นับตั้งแต่ สมัยรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ บำนาญพื้นฐานประชาชนนั้น จะเพิ่มเวลาให้กับครอบครัวไทย ของเรา เนื่องจากว่าเมื่อผู้สูงอายุมีรายได้มากขึ้น ภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุของประชากร วัยแรงงาน ๑๐๐ คน ก็จะมีภาวะภาระที่เลี้ยงดูลดลง และในขณะเดียวกันก็จะทำให้คุณภาพ ชีวิตสังคมดีขึ้น เพิ่มเวลาให้กับครอบครัวไทย วัยเด็ก วัยแรงงาน และผู้สูงอายุ ก็จะมีเวลา มากขึ้น วัยแรงงานกว่า ๔๐ ล้านคน ก็จะลดการทำงานหนักตรากตรำลง

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๔ บำนาญพื้นฐานจะเพิ่มสัดส่วนงบประมาณสวัสดิการประชาชน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรสวัสดิการ ท่านประธานกรรมาธิการได้พูด ไปแล้วในเรื่องนี้ โดยภาพรวมก็คือว่าเมื่อมีการเพิ่มบำนาญพื้นฐานประชาชน งบประมาณ สวัสดิการในส่วนนี้ก็จะทำให้เกลี่ยลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรสวัสดิการมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนต่อมา บำนาญพื้นฐานประชาชนนั้น จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการ ขับเคลื่อนสังคมไทย ๔ ประการด้วยกัน ทั้งในระดับมหภาค คือเศรษฐกิจโดยภาพรวม และระดับจุลภาคใน ๔ ด้าน ๔ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก บำนาญพื้นฐานประชาชนนั้น จะช่วยป้องกันวิกฤติสังคม ในความยากจนของผู้สูงอายุ บทเรียนของประเทศต่าง ๆ ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศเรา ที่มีวิกฤติการณ์ของผู้สูงอายุนั้น เมื่อเรามีบำนาญพื้นฐานก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกหลาน ของเราทุกคนจะต้องเติบโตมาในสังคมที่มีวิกฤตการณ์ความยากจนของผู้สูงอายุ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ บำนาญพื้นฐานประชาชนจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริม ให้สังคมมีความปรองดอง เนื่องจากบำนาญพื้นฐานประชาชนจะเป็นการพัฒนาระบบ รัฐสวัสดิการสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และเป็นเส้นทางแห่งการพัฒนา ที่ปรองดองและยั่งยืน ในทางกลับกันประเทศเราที่ติดอันดับประเทศความเหลื่อมล้ำมาก ๆ รวมทั้งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำก็มีความขัดแย้ง มีความรุนแรงทางสังคมและเศรษฐกิจ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ บำนาญพื้นฐานประชาชนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านเครื่องมือทางการคลัง อย่างที่ได้เรียนไปการปฏิรูประบบภาษีอัตราก้าวหน้า การปฏิรูป ระบบงบประมาณ ตามข้อเสนอต่าง ๆ นั้น จะช่วยให้งบประมาณภาครัฐ มีงบประมาณ ในการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น แล้วก็นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถทำให้เศรษฐกิจมีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะความเหลื่อมล้ำที่ลดลง

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย บำนาญพื้นฐานประชาชนนั้น จะช่วยรักษาเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจ ผลของตัวทวีคูณทางการคลังนั้นส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมขอหยิบยกงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่แสดงให้เห็นว่า กองทุนบำนาญพื้นฐานของประชาชนที่จัดสรรให้อัตราเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท จะช่วยรักษา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยทำให้ GDP นั้น สามารถเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑.๕ นะครับ ที่ได้กล่าวมาก็คือผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ แล้วก็เราคิดว่าพวกเรามุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะทำให้บำนาญพื้นฐานของประชาชนนั้นเป็นทั้งตาข่ายรองรับวิกฤตการณ์ทางสังคม และในขณะเดียวกันก็เป็นกันชนสำหรับวิกฤตการณ์ทางสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมไทย ของเรา ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม