ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ หลังจากที่ได้ยิน ท่านประธานคณะกรรมาธิการได้พูดไปแล้วถึงเรื่องความจำเป็นในการเพิ่มบำนาญพื้นฐาน ไปให้กับประชาชน ดิฉันจะเข้าสู่เนื้อหาว่าทำไมเราถึงต้องเพิ่ม แล้วเราจะเพิ่มอย่างไรนะคะ ไปดูวิวัฒนาการของบำนาญเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย ถ้าเทียบกับเส้นห่าง ความยากจนที่เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จนปีนี้เกือบจะแตะที่ ๓,๐๐๐ อยู่แล้ว หลังจากที่ท่านประธาน ไล่มาว่าเราได้เพิ่มขึ้นไปขนาดไหน
ว่าเราปรับอย่างไร หลังจากที่เรา มีบำนาญหลักร้อย ในปี ๒๕๓๕ ผ่านมา ๓๒ ปี ทุกวันนี้ก็ยังกินบำนาญที่หลักร้อยอยู่ ท่านประธาน ได้แตะไปแล้วว่าในแต่ละยุคแต่ละสมัยเราเพิ่มบำนาญเป็น Step เท่าไร เพิ่มจาก ๒๐๐ บาท ๒๐,๐๐๐ คน แล้วก็ปรับมาเป็น ๕๐๐ บาทถ้วนหน้า จนปัจจุบันอยู่ที่ ๖๐๐-๗๐๐ บาท จนถึง ๑,๐๐๐ บาท ตามอายุมาจนถึงปัจจุบัน และที่น่าเสียใจที่สุดก็คือ ในช่วงที่ พลเอก ประยุทธ์ รักษาการแทน ได้มีระเบียบออกมาว่าให้เฉพาะต้องเป็นผู้ที่ไม่มี รายได้และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยให้คณะกรรมการออกระเบียบ และจน ปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่เห็นหน้าตาระเบียบว่าออกมาเป็นลักษณะไหน จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการ ของการจ่ายบำนาญของประเทศไทยนิ่งอยู่กับที่ ในขณะเส้นความเหลื่อมล้ำความยากจน พุ่งขึ้น พุ่งขึ้น ทีนี้เรามาดูงบประมาณในการจัดสรรของประเทศไทยกันว่าเรามีงบประมาณ กันอยู่ที่เท่าไรในการจัดสรรบำนาญทั้งหมดก้อนใหญ่ ๆ ในประเทศ บำนาญทั้งหมด ที่งบประมาณแผ่นดินจัดสรรอยู่ อยู่ที่ประมาณ ๔๑๐,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็นอย่างนี้ค่ะ ท่านประธาน แบ่งเป็นเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ อันนี้เป็นงบประมาณ จากปี ๒๕๖๖ นะคะ เพราะปี ๒๕๖๗ ยังไม่ผ่านการอนุมัติ ๘๗,๐๐๐ ล้านบาท กี่คนทราบไหมคะ ๑๑.๓ ล้านคน ที่ได้รับบำนาญ ในขณะเดียวกันก้อนที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นบำนาญของข้าราชการ ก็คือ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ที่อยู่ในงบกลางนี้ละค่ะ บำนาญข้าราชการ ประมาณ ๘๗๐,๐๐๐ คน จะเห็นได้ว่าความต่างอยู่ที่เกือบ ๆ ๕๐ เท่าของภาคประชาชน และของ บำนาญ ที่พูดนี้ไม่ได้จะลดบำนาญของข้าราชการนะ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่ามันมีความเหลื่อมล้ำ กันเกือบ ๕๐ เท่าในการจัดสรรงบประมาณ ทีนี้ผลการพิจารณารายงานศึกษาว่า จะทำอย่างไร ก็คือเราก็เลยอยากปรับให้เป็นบำนาญพื้นฐานประชาชนแบบถ้วนหน้า แล้วก็ เพิ่มบำนาญผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันได้แล้ว อย่างที่ท่านประธาน คณะกรรมาธิการณัฐชาได้พูดไปว่าเราควรแตะหลักพันได้แล้วในยุคสมัยของพวกเรานะคะ แล้วทีนี้ถ้าจะปรับขึ้นเป็น ๑,๒๐๐ บาท เราต้องใช้งบประมาณเท่าไร มาดูกันในหน้าถัดไป งบประมาณของเดิมที่เรามีอยู่แล้ว ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ตั้งงบไว้ที่ ๙๓,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ ประมาณ ๑๑.๘ ล้านคน เพราะฉะนั้นถ้าอยากเพิ่มเป็น ๑,๒๐๐ บาท เราจะ หางบเพิ่มอีกประมาณ ๘๓,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งงบที่เพิ่มขึ้นนี้ถ้าจะเป็นระยะแรกเริ่ม แล้วรัฐบาลจะปรับอีก ๒,๐๐๐ บาท จนถึง ๓,๐๐๐ บาท โดยที่ไม่ให้ห่างจากเส้นห่าง ความยากจนก็สามารถทำได้ ทำได้โดยวิธีการแบบนี้ค่ะท่านประธาน ระยะเริ่มแรกนะคะ เท่าที่ดิฉันเรียกหน่วยงานต่าง ๆ แล้วมีอยู่ในรายงานฉบับนี้แล้วว่าสามารถที่จะทำได้โดยการ แก้ระเบียบงบกลางแล้วลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อน ทุกวันนี้เราใช้งบกลางกันอย่างซ้ำซ้อน เพราะว่าเป็นงบที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เป็นงบที่เกี่ยวกับงบรายกระทรวงที่มีอยู่แล้ว แล้วมา เบิกงบกลางใหม่ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่หน่วยงานก็เลยแนะนำว่าถ้าเราปรับตรงนี้ได้นะคะ เราสามารถที่จะลดงบกลางได้ถึง ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท นี่ไม่รวมงบประมาณที่ซ้ำซ้อนนะคะ เห็นไหมคะ ว่าเราเริ่มเห็นแสงสว่างแล้วว่า ๑,๒๐๐ บาท เป็นไปได้ในขั้นแรกเริ่ม ระยะต่อมา เราสามารถที่จะปฏิรูปในภาษีที่มีอยู่ รวมถึงภาษีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่เกี่ยวกับ ความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้น รวมถึงภาษีบำรุงอื่น ๆ แม้แต่ภาษีที่เกี่ยวกับ Entertainment Complex ที่สภาเราอาจจะผ่านก็ได้ ที่จะสามารถเป็นแหล่งเงินที่เราได้อีก เดี๋ยวจะมีเพื่อน อนุกรรมาธิการของดิฉันขึ้นมาพูดในเรื่องแหล่งเงินได้ต่าง ๆ โดยละเอียดกว่านี้นะคะ เพราะฉะนั้นข้อเสนอของกรรมาธิการก็คือนอกเหนือจากที่เราจะจัดหาเรื่องการจัดสรร งบประมาณแล้วยังขอแก้ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ด้วย ในมาตรา ๑๑ (๑๑) แก้นิดเดียว ท่านประธาน จากเดิมที่ว่าให้จ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เราแก้ ให้เป็นการจ่ายบำนาญพื้นฐานเพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า เส้นห่างความยากจนจากสภาพัฒน์นั่นเอง เพราะฉะนั้นอย่างไรในกรรมาธิการคณะนี้ได้แนบ ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าไปด้วย และเป็นร่างการเงิน ก็หวังว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จะเซ็นรับรองเพื่อให้สภาแห่งนี้ได้กลับมาถกเถียงกันว่าควรปรับขึ้นเป็นเท่าไร อะไรอย่างไร เพราะฉะนั้นหลังจากนี้เดี๋ยวจะให้เพื่อนอนุกรรมาธิการของดิฉันได้พูดคุยถึงตัวเลขแหล่งที่มา ของงบประมาณโดยละเอียดว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป ขอบคุณค่ะท่านประธาน
ขอบคุณค่ะท่านประธาน วรรณวิภา ไม้สน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ ดิฉันขอตอบข้อซักถามของท่าน สมาชิกในทั้งหมดน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทำไมไม่ปรับเป็น ๑,๒๐๐ บาท เป็น ๓,๐๐๐ บาทเลย โดยเฉพาะท่านเอกราช อุดมอำนวย แล้วก็ท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ จะเห็นได้ว่าในรายงาน ฉบับนี้โดยเฉพาะหน้า ๖๙ คณะกรรมาธิการได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าในแต่ละปีของเราต้องใช้ งบประมาณเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นปีแรกที่เป็นข้อเสนอที่เราตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาเราสามารถจะ อธิบายให้ท่านสมาชิกได้เข้าใจว่าเราสามารถที่จะทำบำนาญได้ทันทีในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ โดยจากที่หลายท่านนำเสนอมาว่าเริ่มจากการรีดไขมันก่อน นั่นก็คืออาจจะเป็นด้านงบกลาง หรืองบประมาณที่ซ้ำซ้อนที่เราเสนอไปในขั้นแรก และในเมื่อเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะหน่วยงานสำนักงบประมาณของรัฐสภาบอกว่าถ้าเรา แก้ระเบียบตรงนี้แล้วจะสามารถลดงบประมาณ แล้วก็เพิ่มงบได้ประมาณ ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ล้านบาทเลยทีเดียว เราก็เลยนำมาเสนอเลยว่าปีแรกเราควรปรับเป็นเท่านี้ก่อนไหม แล้วปี ต่อไปนี้ก็มีตารางอีกว่า ถ้าปรับเป็นอีก ๒,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๖๙ จนไปถึง ๓,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๗๐ นี้ก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่ามีงบประมาณมากพอ ๕๔๐,๐๐๐ ล้านบาท กับประชาชน ๑๒ ล้านคนในผู้สูงอายุสามารถทำได้ทันที ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้สูงอายุของเรา ก็ไม่ได้คัดค้านอะไรถ้ารัฐบาลจะทำ
อีกอย่างหนึ่งเราถึงได้แก้กฎหมายแล้วแนบท้ายไปด้วย อย่างที่ท่านประธาน ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่นี้ในข้อสุดท้ายว่า จากการที่เราควรจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุให้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ก็คือเปลี่ยนให้เป็นจ่ายไม่ต่ำกว่าเส้นห่างความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีก่อนจ่ายนะคะ เราได้ระบุในการแก้กฎหมายฉบับนี้ด้วย เพราะฉะนั้นการจะปรับเพิ่มบำนาญในแต่ละครั้ง รัฐบาลก็จะอิงตามระเบียบข้อบังคับนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ก็สามารถที่จะปรับตามเส้นห่าง ความยากจนได้ ซึ่งปีนี้อยู่ที่ ๒,๙๙๗ บาท อย่างไรก็ขอบคุณนะคะ ท้ายที่สุดนี้ต้องขอบคุณ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่อย่างน้อยเห็นกับความเหลื่อมล้ำ แล้วก็คิดว่าสังคมสูงวัยเราควรจะ นับ ๑ ในยุคสมัยของสภาชุดที่ ๒๖ ของเราให้ผ่านกฎหมาย แล้วก็สภาพความเป็นอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอยู่ปัจจุบันนี้ให้มีอนาคตที่ดียิ่งขึ้น ท้ายที่สุดเดี๋ยวทางด้านภาษี AI แล้วก็ทางด้าน UBI จะให้อาจารย์เป็นผู้ตอบต่อไป ขอบคุณค่ะท่านประธาน