กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำ กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ทรัพยากรป่าไม้นับว่าเป็นทรัพยากรหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากเป็นแหล่งธรรมชาติที่สร้างอากาศบริสุทธิ์ เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ของสัตว์ป่า และเป็นแหล่งที่ทำให้ระบบนิเวศสมดุล แต่ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาจนถึง ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการลดลงของจำนวนป่าไม้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็น ได้จากเมื่อปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง ๓๑.๕๗ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งลดลงจากปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๐.๐๒ เปอร์เซ็นต์ สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเกิดไฟป่าและการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น ซึ่งนับว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากได้รับการป้องกันและแก้ไข อย่างแท้จริง และแนวทางหนึ่งที่จะสามารถนำมาแก้ไขกับปัญหานี้ได้ ก็คือการจัดตั้งกองทุน รักษาป่าต้นน้ำ โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อทำหน้าที่ในการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ในการทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์ ดูแล รักษา และการพัฒนาป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญของประเทศให้คงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งหากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งและดำเนินการเป็นรูปธรรมขึ้นมา จะส่งผลให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั้งประเทศต่อไป ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการ จัดตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวทางในการดำเนินการต่าง ๆ ที่ชัดเจนเพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ในประเทศให้มีความอุดม สมบูรณ์และยั่งยืน ผมจึงขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำตามข้อบังคับการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร ปี ๒๕๖๒ ข้อ ๑๙ และข้อ ๕๐ มีรายละเอียดดังนี้
พวกเราคงต้องยอมรับว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม น้ำเพื่อเชิงพาณิชย์ หรือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือน้ำเพื่อการอื่นใด แต่เราก็มาดูว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำ เรามีกฎหมายที่เกี่ยวกับ คณะกรรมการกองทุนที่ดูแลลุ่มน้ำทั้ง ๒๒ ลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการมาดูแล แต่ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาในระยะหลังกองทุนนี้ก็เหมือนเสือกระดาษ เหมือนอย่างเมื่อ ๒-๓ อาทิตย์ก่อน ผมไปกับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับเรื่องของสภา ไปดูเรื่องทะเลสาบสงขลา ซึ่งชาวบ้านเขาก็มาบอกว่าแต่ก่อนคณะกรรมการกองทุนนี้ ก็เข้มแข็ง สมัยท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ แต่ตอนหลังมาก็ไม่ค่อยมีบทบาทอะไร ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นก็เลยเห็นว่าส่วนใหญ่มันเป็นเสือกระดาษ เพราะฉะนั้นกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะได้มีการปรับปรุง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อน El Nino ก็ทำให้สภาวะน้ำลด แล้วส่วนหนึ่งที่น้ำลดก็เกิดจาก ปริมาณป่าไม้ที่ถูกบุกรุก ถูกทำลาย พื้นที่ป่าสงวนลดลง ก็เลยทำให้แหล่งผลิตน้ำ แหล่งผลิตความชุ่มชื้นของป่าไม้ต่าง ๆ ลดลง สาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาของคนที่เขาอยู่กับป่า เราก็ต้องยอมรับว่าชาวบ้านทั่วประเทศ ในหลายพื้นที่มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ เขาอยู่กับป่า มาตั้งแต่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย บางคนอยู่มาเป็น ๑๐๐ ปี แต่ พ.ร.บ. ป่าสงวน เพิ่งออกมา เมื่อ ๖๐ กว่าปีนี้ พอออกมาปุ๊บ คนที่อยู่โดยชอบด้วยกฎหมายมันก็ไม่ชอบด้วยทันที ซึ่งเขาอยู่กันมา แล้วมันเกิดอะไรขึ้น พอเขาเกิดไม่ชอบขึ้นมา ด้วยกฎหมายเขาก็ต้องอยู่กับ ภาครัฐ แล้วรัฐเองก็ไม่สามารถที่จะดูแลความเสมอภาคของเขาได้ บางทีเขาเข้าไปเก็บ อาหารป่า เก็บเห็ด ผิด ถูกจับ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่เราได้รับรู้รับทราบ เพราะฉะนั้นเราจะ ทำอย่างไรให้คนต้นน้ำให้เขาหวงแหนรักษาป่า เหมือนเราทำเขื่อนอย่างนี้ คนที่มีปัญหาไม่ได้ ประโยชน์คือบริเวณที่สร้างเขื่อนหรือบริเวณเหนือเขื่อน คนที่ได้ประโยชน์คือบริเวณ ปลายเขื่อน นี่ก็เช่นกัน คนที่หวงแหนหรือดูแลป่าก็คือคนต้นน้ำ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือ ปลายน้ำ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราควรจะแก้ไขตรงนี้อย่างไร เราก็ควรจะต้องมีการจัดตั้ง หาทางตั้งกองทุนมาดูแล เมื่อมีการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ อันนี้ส่งผลมากเลยต่อ พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ปี ๒๕๕๗ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะรัฐประหาร เขามีโครงการทวงคืนผืนป่า ซึ่งที่ผ่านมานี้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในป่ายังได้รับการดูแลจาก ภาครัฐโดยเสมอภาค ถึงแม้กฎหมายจะห้ามแต่ก็พออนุโลม ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา หมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่อยู่ในเขตป่านี้เวลาจะทำโครงการ แม้แต่หน่วยงานของรัฐ มีงบประมาณมีอะไร ต้องมีเอกสารรับรองจากกรมป่าไม้มาถึงจะดำเนินการได้ มันก็เลยเกิด สภาวะ ๒ มาตรฐาน คนพื้นล่าง พื้นราบทำได้ แต่คนที่เขาอยู่ใกล้ ๆ ป่า อยู่กันมาเป็น ๑๐๐ ปี ทำไม่ได้ อย่างจังหวัดน่านบ้านผมมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่พญาขุนฟองเมื่อ ๗๐๐ กว่าปี มีเจ้าผู้ปกครองนครประมาณ ๖๔ พระองค์ และพื้นที่ป่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์นี้ เพราะฉะนั้นก็จะ เห็นว่าคนเขากระจัดกระจายอยู่เต็มที่ แค่เฉพาะสงครามที่แย่งชิงเกลือ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อน ที่บ่อเกลือก็แสดงให้เห็นว่าชุมชนนี้เขามีมาก่อน แต่เขาได้รับผลกระทบขึ้นมาจาก พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่เราจะทำให้เขาผูกพันรักษาป่า ให้เขาดูแลป่า ให้เขามีความภาคภูมิใจ เพราะถ้าเราไม่แก้ไขปัญหานี้คนกลุ่มนี้ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ป่าก็จะ ถูกทำลาย เพราะฉะนั้นผมก็จึงคิดว่าควรจะต้องมีกองทุนสักกองทุนมาดูแล มารักษา ป่าต้นน้ำ จริงอยู่มีหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงานมาดูแล เช่น การทำแนวกันไฟป่า ซึ่งผม เห็นบางปีก็มี บางปีก็ไม่มี มันไม่มีหน่วยงานหลักที่จะมาดูแล ผมก็เลยคิดว่ามันควรจะต้องมีกองทุนสักกองทุนที่จะมาดูแลพัฒนาป่าและมาอุดรอยรั่วของ ข้อกฎหมาย อย่างเช่นข้อกฎหมายที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ ปี ๒๕๕๗ ว่าเวลาเราจะทำอะไร ในพื้นที่ป่ามารับรองถึงจะจัดซื้อจัดจ้างได้ ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถ ให้กองทุนรักษาป่าต้นน้ำเขาได้ดำเนินการหรือเขามีส่วน เพราะเขาต้องดูแลป่าอยู่แล้ว เอางบของรัฐเข้ามา เขาดูแลให้ ถ้าไม่มีการบุกรุก ไม่มีการทำลายป่าเพิ่มขึ้น เช่น ทำถนน ทับถนนเดิม หรือทำโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน อันนี้ก็จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ ในการที่จะรักษาป่า ที่ผมเสนอการตั้งกองทุนป่านี้มันไม่ใช่แต่ดูแลป่าอย่างเดียว เราดูแลคน แล้วก็ดูแลชุมชน หมู่บ้านที่เขาอยู่รอบ ๆ ป่า รวมทั้งสัตว์ที่เขาอยู่ในป่า อย่างเช่นจังหวัด พะเยาก็มีนกยูงอยู่เยอะ หลายพื้นที่เราจะต้องอนุรักษ์ไว้ หรือเราสามารถจะไปทำระบบนิเวศ ทำฝายแกนดินซีเมนต์ก็สามารถสร้างความชุ่มชื้นในป่าได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือคณะกรรมการ กองทุนจะต้องได้มากำหนดการ มากำหนดว่านโยบายอยากจะทำอะไรที่เราจะดูแลป่า ทีนี้คนก็สงสัยว่ากองทุนต่าง ๆ นี้เราจะเอาเงินมาจากไหน ผมก็ไปศึกษาดูว่ากองทุน ในประเทศมีแหล่งรายได้มาจากไหนบ้าง มีประเภทใดบ้าง กองทุนแรกก็คือกองทุนที่ได้รับ งบประมาณจากรัฐโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นตาม พ.ร.บ. ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี ๒๕๓๕ ก็ดูเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสีย อันนี้ ได้งบประมาณจากรัฐโดยตรง กองทุนประเภทที่ ๒ คือกองทุนที่ได้รับเงินจากเครือข่าย ทวิภาคีและพหุภาคี องค์กรหลักซึ่งดำเนินการโดยรัฐ เช่น กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ FCPF ก็จะดูแลในเรื่องของสภาวะก๊าซเรือนกระจก แล้วก็การทำลายป่า กองทุนที่ ๓ ก็คือ กองทุนที่รับเงินจากภาคเอกชน เช่น กองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืนตาม ศาสตร์พระราชา ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง แล้วก็กองทุนอีกอันหนึ่งที่ผม ยกตัวอย่างผมเห็นของภาคเอกชนที่เข้ามานี้ดีอยู่อย่างหนึ่ง ผมเห็น SCG เขาทำ แต่ไม่ได้ทำที่ จังหวัดน่าน ผมเห็นภาคเอกชนเข้าไป คือเวลารัฐเข้าไปปลูกป่า ผมอยู่จังหวัดน่าน เห็นหน่วยงานรัฐเข้าไปปลูกป่าปีนี้ปลูกดอยนั้น อีกปีปลูกดอยนี้ พอ ๓-๔ ปีก็กลับมาถ่ายรูป ปลูกอยู่ดอยเดิมนี่ละครับ งบดูแลป่าไม่มี มีแต่งบปลูกป่า เงินทองไม่รู้เท่าไร ปลูกวันนี้เสร็จ พอกลับไปไม่มีงบดูแลป่า ชาวบ้านก็ถอนปลูกข้าวโพด เพราะฉะนั้นผมถึงว่ามันต้องมีงบที่จะ รักษาดูแล ที่ผมยกตัวอย่าง SCG นี้ผมได้ข่าวว่าบางจังหวัดเขามีพื้นที่ไปให้หมู่บ้าน ชุมชน ที่เขารักษาป่า มีงบไปให้เขาดูแล ถ้าป่ายังคงอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้จะทำให้เขาภาคภูมิใจ ในการที่จะดูแลป่าเพราะฉะนั้นภาคเอกชนเขาก็พร้อมที่จะดูแล อันที่ ๔ กองทุนประเภท ที่เราจะเอาเงินจากปลายเหตุมาดูแลต้นเหตุ ผมยกตัวอย่างเช่น กองทุน สสส. ส่งเสริม สุขภาพ เราเอาเงินภาษีบาปจากภาษีเหล้า ภาษีบุหรี่เอามาดูแลนะครับ ตั้งโครงการมี คณะกรรมการคือระดับจังหวัด ระดับประเทศ ทำโครงการที่จะพัฒนาสุขภาพชีวิตของคน หรือกองทุนผู้ประสบภัยจากรถที่เราประมูลป้ายทะเบียน ก็มาดูแลคนที่มีปัญหาจาก ผู้ประสบภัยจากรถ หรือประเภทที่ ๖ ก็คือกองทุนประเภทผสมผสานจากทุก ๆ ฝ่ายเข้า ด้วยกัน ซึ่งจริง ๆ ผมก็อยากใช้กองทุนที่ผมนำเสนออยู่คือต้องรักษาป่าต้นน้ำนี้มาจาก การผสมผสาน ผสมผสานจากไหนบ้าง จากภาครัฐ คือรัฐอาจจะให้เงินสนับสนุน ที่ผมบอกว่า กองทุนนี้อยากจะให้อุดช่องว่างของข้อกฎหมายที่รัฐไม่สามารถจะไปดูแลพี่น้องประชาชน ที่อยู่ในเขตป่าได้โดยเสมอภาคกัน ให้เขาสามารถไปดูแลทำงบประมาณที่ไม่ได้บุกรุกป่า เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นโครงการทำถนนลาดยางทับที่เดิม ทำโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านที่ ไม่ไปบุกรุกป่าเพิ่ม รวมทั้งทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาป่าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นแนวกันไฟ รักษาสภาพความชุ่มชื้นของน้ำ หรือรักษาสัตว์ เพราะฉะนั้นนี่คือในส่วนที่ว่าจากภาครัฐ โดยตรง อันที่ ๒ นอกจากของภาครัฐโดยตรงนี้ก็อาจจะมาจากภาคองค์กรรัฐวิสาหกิจ เพราะ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งเขาก็มีนโยบายที่จะดูแลรักษาป่า ธรรมดาเขาก็ทำของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจัดตั้งกองทุนนี้เขาก็สามารถบริจาคเข้ามาได้ และอันที่ ๓ ก็คือภาคเอกชน เพราะผมเชื่อว่าภาคเอกชนเขาพร้อมที่จะสนับสนุน เขาจะดูแล เพราะผมเชื่อว่าทั่วประเทศ ใครก็อยากรักษาป่า ถ้าเราดูโฆษณาทีวีจะมีโฆษณาเกี่ยวกับเรื่องป่า เรื่องการอนุรักษ์มากขึ้น จริง ๆ จังหวัดน่านของผมเองก็มีมูลนิธิรักษ์ป่าต้นน้ำ มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธาน และมีคุณบัณฑูร ล่ำซำ และคณะกรรมการเขาดูแลป่า ดูแลทั้งป่า ดูแลทั้งคนที่อยู่กับป่า ดูแลทั้งหมู่บ้านที่อยู่กับป่า และไม่แค่นั้นยังดูแลจังหวัดน่านซึ่งมีเขตป่า แต่กองทุนมูลนิธินี้ดูแลแต่จังหวัดน่าน ผมอยาก ให้มีกองทุนลักษณะคล้ายอย่างนี้มาดูแลผืนป่าทั่วประเทศทั้ง ๒๒ ลุ่มน้ำ ประเทศเราจะได้ มีป่ามากมาย คราวนี้บางคนก็อาจจะสงสัยว่ามันจะไปซ้ำซ้อนกับกองทุนที่มีอยู่เดิมหรือเปล่า ผมก็ไปดูว่า กองทุนที่มันมีอยู่เดิมมันมีกองทุนอะไรบ้าง เช่น กองทุนคาร์บอนป่าไม้ กองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ ป่าและอาหารยั่งยืน หรือกองทุนอื่น ๆ อันนี้ผมคงจะไม่ก้าวล่วง แต่กองทุนที่ผมอยากจะ ตั้งขึ้นมานี้เป็นกองทุนที่จะอุดรอยรั่วของข้อกฎหมายที่ทำให้คนที่เขาอยู่กับป่านี้เขามีปัญหา แล้วก็ดูแลชุมชนให้มีสภาพดีขึ้น เขาจะได้มีความหวงแหนป่า รักษาป่า แล้วก็ดูแลป่าได้อย่าง เต็มที่ คราวนี้คนก็ถามว่าเราจะเอาเงินจากตรงไหน นอกจากภาครัฐที่จะอุดหนุน ภาคเอกชน ที่อุดหนุนแล้ว ส่วนหนึ่งที่ผมอยากให้คนรักษาน้ำ คือเอาเงินจากปลายน้ำมาดูแลต้นน้ำ เงินจากปลายน้ำเอามาจากไหน คือเราคงไม่ไปกระทบจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ผู้อุปโภคบริโภค คงไม่ใช่ แต่ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชย์ที่ใช้น้ำในปริมาณมาก ๆ เราอาจจะมีการออก กฎหมายคำนวณ ไม่ต้องเยอะครับ เก็บเป็นรายสตางค์ต่อกี่หน่วยก็ว่ามา แล้วก็ส่งเข้ากองทุน เพื่ออะไร เพื่อให้น้ำที่เขาดูแลนี้เขาจะได้ใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้น้ำอย่างระมัดระวังและ อย่างมีคุณค่า ไม่ใช่เอาเข้าไปแล้วก็ปล่อยน้ำเสียออกมาหรือใช้น้ำปริมาณมาก อย่างน้อย เราต้องให้คนที่ปลายทางที่เขาใช้น้ำมาดูแลต้นน้ำบ้าง มันจะได้สมบูรณ์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ว่าไม่อยากจะให้ไปเอาพวกเกษตรกรที่มีรายได้น้อย อันนี้ก็คือแนวทางที่ผม จะนำเสนอในการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะมีวิถีทางอีกหลายอย่าง ที่เพื่อนสมาชิกอาจจะเห็น ผมคิดว่าถ้าเราตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เราจะได้มาคิดดูว่า ถ้าเราจะมีกองทุนรักษาป่าต้นน้ำเราจะเอาเงินมาจากหน่วยไหนบ้าง แล้วก็จะให้ คณะกรรมการกองทุนรักษาป่าต้นน้ำเขาทำอะไรบ้าง ผมก็อยากจะล้อเหมือนกองทุน สสส. มีเป็นคณะกรรมการระดับประเทศ ระดับจังหวัด โครงการต่าง ๆ เข้าไปสู่จังหวัด แล้วก็มาสู่ ระดับประเทศ แล้วก็จัดงบไปดูแล เพราะฉะนั้นผมจึงขอเสนอกองทุนรักษาป่าต้นน้ำนี้เข้าสู่ สภาเพื่อให้ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณากำหนดแนวทาง วัตถุประสงค์ นโยบายในการตั้ง ข้อกฎหมายต่าง ๆ ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ ก็ฝากให้ที่ประชุมได้พิจารณา ขอบคุณครับ