กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรที่เคารพทุกท่าน กระผม ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอเรียนนำเสนอผลการดำเนินงานของ สวทช. ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะขออนุญาตใช้สไลด์ประกอบการ นำเสนอครับ
สำหรับผลงานที่จะนำเสนอในครั้งนี้เป็นผลงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ต้องเรียนท่านสมาชิกว่าผมมารับตำแหน่งอยู่คาบเกี่ยวระหว่าง ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ ดังนั้นจะขออนุญาตนำเสนอผลงานทั้งในส่วนของ สวทช. ที่ดำเนินการมาก่อนที่ผมจะเป็นผู้อำนวยการไล่จนกระทั่งถึงในช่วงที่เป็นผู้อำนวยการ โดยเป็นเนื้อเดียว สำหรับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมหลัก สวทช. เป็นขุมพลังหลักของ ประเทศในการใช้ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือตัวย่อคือ วทน. ของภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและ นวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญนำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นในส่วนของการ ที่จะดำเนินการตรงนี้ให้สำเร็จจะมองความร่วมมือในภาคฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐเอง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคชุมชน โดย สวทช. จะเป็น Key ของการเอาความรู้ทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปให้เกิดมรรคเกิดผลในทุกภาค ในภาพใหญ่ของ สวทช. มีบุคลากรอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๖๕ มีอยู่ ๓,๐๔๗ คน ปัจจุบันมีอยู่ ๒,๙๓๐ คน โดยที่ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นบุคลากรวิจัย หลาย ๆ คนเป็นนักวิจัยที่ลูกหลานคนไทยที่ส่งไป เรียนต่างประเทศด้วยทุนภาครัฐ หรือบางทีก็ไปเรียนด้วยทุนส่วนตัวแล้วกลับมาเป็นนักวิจัย ดังนั้นนักวิจัยที่จบจากมหาวิทยาลัยหลักของประเทศจะมีความเชื่อมโยง ไม่ว่าจะจาก MIT จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากออกซฟอร์ด ถ้าท่าน Name มหาวิทยาลัยที่ท่านรู้จักในต่างประเทศที่อยู่ใน Ivy League จะอยู่ที่ สวทช. เกือบทั้งหมด ดังนั้นส่วนหนึ่งของนักวิจัยก็จะทำงานวิจัยเชิงลึกแล้วก็เชื่อมกับเครือข่ายต่างประเทศ เป็นข้อดีของประเทศนะครับ การที่จะมีนักวิจัยอย่างนี้จะทำให้เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยี AI เทคโนโลยี EV และเทคโนโลยีต่าง ๆ สวทช. จะเป็นด่านหน้าในการที่จะเชื่อม เอาความรู้เหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ สำหรับโครงสร้างการบริหาร สวทช. จะตั้งศูนย์แห่งชาติ ตามเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ศูนย์แห่งชาตินั้นถนัด มีเรื่องของ Biotech ซึ่งดูแลเรื่อง Biotechnology เรื่องของ MTEC ซึ่งดูแลด้านวัสดุ เรื่องของ NECTEC คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันขยายไปจนถึง Big Data แล้วก็ AI NANOTEC ซึ่งดูแลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านขนาดเล็ก ๆ ของวัสดุขนาดเล็ก ๆ คือ Nano แล้วก็เห็น ENTECH คือดูแลเรื่องของพลังงานโดยเฉพาะ นอกจากนั้นการบริหารจัดการให้มีการทำงาน ร่วมกันก็จะแบ่งเครือข่ายออกเป็นการดูแลการวิจัย ดูแลเรื่องของการเชื่อมกับอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีโครงการใหญ่ของภาครัฐที่ สวทช. รับผิดชอบอยู่ ก็คือการเป็นหน่วยวิจัยให้กับ EEC คือโครงการ EECi ที่ตั้งอยู่ที่วังจันทร์วัลเลย์ที่จังหวัดระยอง
สรุปผลการดำเนินงานของ สวทช. ในปี ๒๕๕๕ เราจะชี้วัดความสำเร็จของ การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ผ่านผลกระทบที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ โดยที่ในปี ๒๕๖๕ ได้มี การประเมินแล้วก็คำนวณว่าแต่ละบาทของเงินลงทุนที่ภาครัฐลงให้ไปสร้างผลกระทบ ทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า ๑๐ เท่า ดังนั้นถ้าเป็นตัวเลขของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ก็คือประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท นอกจากนั้นเงินลงทุนภาครัฐในด้านการวิจัยก็ไปดึงเอาเงินลงทุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชน ให้ลงทุนในกิจกรรมเสริมที่ภาครัฐได้ลงทุนไปแล้ว โดยผลักดันให้เกิดการลงทุนเฉพาะ ปี ๒๕๖๕ อีก ๑๔,๒๐๐ กว่าล้านบาท สำหรับความ Excellence แล้วก็ Relevance ก็คือ งานวิจัยมีผลลัพธ์ที่อยู่ในแนวหน้าของโลกอย่างไรบ้าง บทความที่ สวทช. ตีพิมพ์ในปี ๒๕๖๕ อยู่ ๗๐๐ กว่าเรื่อง แล้วก็คำยื่นขอทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร อยู่ที่ ๓๙๕ คำขอ เยอะเป็นอันดับที่ ๑ ของประเทศ นอกจากนั้นก็เอาความรู้ไปถ่ายทอด ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งบริษัท แล้วก็ทางภาคชุมชนครับ
นอกจากนั้น สวทช. เองได้ขับเคลื่อน BCG ของประเทศ โดย สวทช. เป็น ฝ่ายเลขานุการของกรรมการ BCG ซึ่งหัวใจหลักของ BCG คือเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันนี้แปรรูปมาเป็น ESG แปรรูปมาเป็น SDGs ที่ประเทศเราก็เริ่มให้ความสำคัญมาก ขึ้นกับ SDGs Goal คือของสหประชาชาติ เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากซึ่งทาง รัฐบาลทุกยุคให้ความสำคัญ ดังนั้นเรื่องของ BCG จะพยายามให้รากหญ้าได้มีโอกาส มีการ หารายได้ที่มากขึ้นบนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เราจะสร้างความสามารถ ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก อันนี้คือการพึ่งพาตัวเองได้ แล้วก็จะยกระดับ อุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อด้านพลังงานสีเขียว หรืออุตสาหกรรมที่ลดการใช้วัสดุที่สิ้นเปลือง สวทช. เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยสนับสนุน ให้ข้อมูลในการที่ประเทศเราประกาศ Bangkok Goals ตามแนวคิด BCG ในที่ประชุม APEC 2022 อันนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้นพอดี
นอกจากนั้นหลายท่านได้ยินเรื่อง AI มาเยอะ ในปี ๒๕๖๕ AI เริ่มเป็น Onset ของการขยายผลการใช้งาน สวทช. ได้นำเสนอในการที่จะตั้งแผนปฏิบัติการ ด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนปี ๒๕๖๕-๒๕๗๐ ปัจจุบัน AI แทรกเข้ามา เยอะมาก หลายท่านยังใช้ Chat GPT เริ่มใช้ AI ในการวาดรูปบนมือถือแล้ว แต่ว่า สวทช. ในปี ๒๕๖๕ ได้นำเสนอเรื่องนี้ ซึ่งมี ๕๙ ประเทศเท่านั้นในโลกที่มีแผน AI เป็นเรื่องเป็นราว และเราเป็นหนึ่งในนั้น ส่งผลก็คือทำให้ประเทศเราขยับอันดับดัชนีจากอันดับที่ ๕๙ เป็น อันดับที่ ๓๑ ทันทีที่ประเทศไทยเรามีแผน AI เป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเรามี แผน AI ต่อไปการพัฒนากำลังคน การสนับสนุนการใช้ AI ในภาคธุรกิจก็จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในเรื่องของ EECi ที่เกริ่นไปเมื่อสักครู่ สวทช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนหน่วยที่จะ เป็นรอยต่อระหว่างภาคการทดลองไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้มีการสร้างโรงงานต้นแบบต่าง ๆ ในภาพนี้ได้เป็นการเปิดในส่วนของศูนย์ BIOPOLIS ที่จังหวัดระยอง
ผลงานวิจัยในช่วงปี ๒๕๖๕ เราได้เน้นเรื่องของ BCG Quick Win จะมีทั้ง ด้านเกษตรและอาหาร ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านพลังงานและวัสดุเคมีชีวภาพ ด้าน Digital และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเอกสารมีรายละเอียดเยอะ ผมขออนุญาตไม่ลง รายละเอียด แต่ว่าจะขอให้ท่านกรรมาธิการเห็นว่าในภาพรวมนี้เรามีครอบคลุมทุกด้านตาม ความเชี่ยวชาญของนักวิจัย สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องเฉพาะนี้ขออนุญาตตอบเป็นคำถาม ภายหลัง นอกจากนั้นก็มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อุตสาหกรรมและชุมชน โดยที่เรามองว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ คนไทยต้องได้ใช้ ชุมชนต้องได้ใช้ แล้วก็มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ไม่ใช่ เทคโนโลยีที่ซับซ้อน น่าที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับชุมชนได้ใช้ได้ทันที ขณะเดียวกันก็จะเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตแล้วก็ลดค่าใช้จ่ายของชาวบ้าน เรามีการทำงานร่วมกับ ๔๔ จังหวัด ๓๗๗ ชุมชน แล้วก็บุคลากรในช่วงปี ๒๕๖๕ ได้เข้าถึง ชุมชน อบรมเกษตรกร อบรมผู้เกี่ยวข้องร่วมหมื่นคน นอกจากนั้น สวทช. ก็ได้สร้าง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ก็คือเรามองว่า SMEs ต่าง ๆ ถ้ามีความเข้มแข็ง ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น มีกำไร ที่มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องของความยั่งยืนซึ่งกำลังกระทบทุกภาคอุตสาหกรรม อยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Circular Index ซึ่งประเทศมหาอำนาจก็จะตั้งเป็นกำแพงในการที่เราจะผลิตสินค้าแล้วส่งไปก็จะโดนค่าปรับ จะโดนค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อันนี้จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการที่จะตรวจสอบ แล้วก็ Check ให้มั่นใจได้ว่าเราเองก็ Conform กับกฎกติกา แล้วก็ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาก็จะกล่าวหาเราว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ว่าเราจะต้องมีการเก็บข้อมูล ทำฐานข้อมูลที่ดี เราก็เป็นที่ปรึกษาให้กับอุตสาหกรรมในการทำข้อมูลเหล่านี้ให้ครบถ้วน สวทช. จะมี ศูนย์ TIIS ซึ่งดูแลด้านนี้อยู่ แล้วก็ทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของต่างประเทศในการ ตรวจวัดสิ่งเหล่านี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับรายงานสถานะทางการเงินของ สวทช. ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ สินทรัพย์รวมของ สวทช. มีอยู่ที่ ๑๐,๓๘๗ ล้านบาท หนี้สินรวม ๑,๔๓๔ ล้านบาท แล้วก็ทุน รวม ๘,๙๕๓ ล้านบาท สำหรับงบแสดงผลการดำเนินการทางการเงินซึ่งได้รับการรับรองจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อย รวมรายได้ในปี ๒๕๖๕ สวทช. มีอยู่ที่ ๖,๙๔๒ ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ ๖,๖๘๖ ล้านบาท มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย ๒๕๕ ล้านบาท ในส่วนนี้มี Star ไว้นิดหนึ่งว่ายังมีภาระผูกพันโครงการวิจัยแล้วก็โครงการต่อเนื่องอยู่เกือบ ๆ หมื่นล้านบาท นำเสนอที่ประชุมเพื่อโปรดทราบ ขอบพระคุณมากครับ
ขอบพระคุณครับ เรียนท่านประธานและท่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่านครับ ผมขออนุญาตขอบคุณก่อนสำหรับ Constructive Comment ที่ทุกท่านมี แล้วก็จะขออนุญาตนำไปถ่ายทอดให้กับพนักงาน สวทช. ในการที่จะเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินการต่อไป
สำหรับท่านประเสริฐพงษ์ที่ได้กรุณาชี้แนะในการที่จะทำงานร่วมกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น อันนี้ตรงใจมาก ๆ เลยครับ ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งก็ได้ใจเดียวกัน ผมคนศรีสะเกษครับ ก็อยากที่จะให้การเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปถึงประชาชน จริง ๆ ซึ่งการจะไขก๊อกตรงนั้นต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะรับ โจทย์จากเขา เพื่อที่จะทำงานร่วมกัน ดังนั้นจะขยับนิดหนึ่งว่าในส่วนของผลกระทบของ สวทช. ที่ท่านจะเห็นปีหน้าอาจจะไม่ทัน ปีถัดไปท่านจะเริ่มเห็นว่าเราจะวัดผลกระทบที่เกิด กับประชาชนไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่จะเป็นประชาชนได้ประโยชน์ ในหลักล้านคนแต่ละโครงการที่เราเริ่มทำ ในส่วนของการสื่อสาร อันนี้เป็นอะไรที่น้อมรับว่า จะต้องไปทำ เรื่องของการสื่อสารผ่านสื่อใหม่ ผ่าน TikTok ผ่าน Facebook ในรูปแบบที่ เข้าใจได้ง่าย ซึ่ง สวทช. เองก็จะมีหน่วยที่ทำสื่อ Media เหล่านี้อยู่
สำหรับท่านสิทธิพล เช่นเดียวกันครับ อันนี้เรารายงานสำหรับปี ๒๕๖๕ ซึ่ง AI ยังไม่ค่อยคืบคลานเข้ามาเท่าไรเลย แต่ผมถึงนำเรียนว่าจริง ๆ มันเป็น Onset แต่ว่า ณ วันนี้เข้ามาอยู่ในมือถือเรา เห็นรูปไม่รู้ว่าเป็นรูป AI หรือเปล่า คำตอบที่ตอบแล้วดีมาก ๆ นักเรียนใช้ AI ทำหรือเปล่า อาจารย์ใช้ AI ในการเตรียม PowerPoint ในการสอนหรือเปล่า รูปประกอบ PowerPoint Presentation ใช้ AI ทำได้หมด คุยกับเพื่อน ๆ ที่ทำใน Sector ต่าง ๆ แม้แต่เรื่องของการทำ Branding หรือว่าเรื่องของการสร้างกลยุทธ์องค์กร ท่านเชื่อ ไหมครับว่า AI ทำได้ครอบคลุมกว่าเรา แต่ต้องใช้มืออาชีพในการไปปรับแต่งสุดท้าย ดังนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญกับ AI มาก ๆ เห็นด้วยกับท่านว่าตอนที่เราสร้าง แผนยุทธศาสตร์ทำไมถึงใส่ตั้งหลายกลุ่มเป้าหมาย เราไม่ได้ทำคนเดียวครับ ก็จะเป็น ธรรมชาติของการที่เวลาทำแผนยุทธศาสตร์ AI ทุกภาคฝ่ายก็จะบอกว่าเรื่องที่ตัวเองกำลัง เกี่ยวข้องอยู่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นทำได้ดีที่สุดก็คือจัด Priority ของโครงการ ที่จะเกิดก่อน เรื่องของการแพทย์มาแน่ก็จะโฟกัสไว้ก่อน อันนี้จะตอบไปพร้อมกันเลย กับเรื่องของ Regulation หรือว่ากฎหมาย หลายท่านไปเข้าใจว่ากฎหมายจะยับยั้งการพัฒนา จริง ๆ มันกลับกันครับ หลายอย่างไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมันพัฒนาไม่ได้ หลายอย่างไม่มี มาตรฐานที่เกี่ยวข้องมาควบคุมมันขายไม่ได้ เช่น เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น เราคงได้ตามข่าว กันว่า AI สามารถที่จะดูภาพเอ็กซเรย์ปอดแล้วบอกโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดได้แม่นยำ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ก่อนหมอที่เชี่ยวชาญ ๑ ปี ความหมายก็คือภาพเอ็กซเรย์ปอด AI บอกว่า น่าจะมีโอกาสเป็นมะเร็งถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หมอผู้เชี่ยวชาญเห็นภาพเอ็กซเรย์ปอด ณ ขณะนั้นยังไม่รู้เลย ต้องรออีกปีหนึ่งถึงจะรู้ว่ามันลุกลามมาถึงขั้นที่หมอจะบอกได้ แต่ถ้า จะเอามาใช้จะต้องมีมาตรฐานการตรวจของ AI ก่อนถึงจะเอาไปใช้ในโรงพยาบาลถึงจะเริ่ม เก็บเงินคนไข้ได้อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการตั้งมาตรฐาน ตั้งกฎที่เกี่ยวข้อง น้อมรับครับว่า สวทช. จะไปทบทวนเทคโนโลยีกลุ่มเป้าหมายของ AI แล้วก็สอดรับอย่างเหมือนกับท่าน มานั่งอยู่ใน กวทช. ซึ่งดูแล สวทช. Comment หนึ่งก็คือ สวทช. จากกำลังคนที่เรามีอยู่ จากงบประมาณที่เรามีอยู่ เรา Spread to Thin ความหมายก็คือพยายามจะทำหลายเรื่อง เกินไป เราจะต้องลงโฟกัสในเรื่องที่เราทำได้และให้ความสำคัญเป็นเรื่องก่อน
สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำเราก็พยายามมองหา เพราะว่าเป็นหนึ่งใน เป้าหมายหลักของเราว่าการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ใช่เพิ่มแต่ตัวเลข แต่จะลด ความเหลื่อมล้ำแล้วก็ไปเพิ่มในกลุ่มฐานก็คือกลุ่มรากหญ้าก่อน ดังนั้น AI จะต้องช่วยให้ตรงนี้ ทั้งในส่วนของการเป็นเครื่องมือให้กลุ่มรากหญ้าได้มีโอกาสหารายได้ที่ดีขึ้น ปรับปรุงกลไก Logistics ปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูล ปรับปรุงการใช้ประโยชน์ในเรื่องของการตลาดของ สินค้าผลิตภัณฑ์ที่เขามี Shortcut Chain เขาเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นเรื่องของ การให้ความรู้ก็จะทำขนานกันไปครับ
สำหรับท่านเอกราช ต้องขอบพระคุณมากที่ท่าน Recap แล้วก็จริง ๆ อยากที่จะได้ท่านไปช่วยชี้แจงก่อนตอนชี้แจงงบประมาณปีนี้ซึ่งกำลังจะถึงเวทีที่จะต้อง ชี้แจงกับอนุกรรมาธิการงบประมาณ ในส่วนที่ท่านนำเสนอดีกว่าที่ผมนำเสนอไปทั้งหมด ต้องขอบคุณที่ท่านช่วยขยายเวลาและลงลึกในแต่ละเรื่องที่กรุณาสรุปมาให้ เรื่องของ Pain Point ของการลดลงของงบประมาณเป็นเรื่องจริงครับ แต่ผมให้ความเป็นธรรมกับ ทั้งสภา ทั้งสำนักงบประมาณ แล้วก็ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าผลงานของทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอาจจะทำให้เห็นได้ไม่ชัดเจนเพียงพอว่าเป็นตัวที่สำคัญอย่างยิ่งในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นเราถึงอยากที่จะทำตรงนี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แล้วก็ อยากที่จะขยับ Trend Line ต้องขอการสนับสนุนจากท่านสมาชิกทุกท่านด้วยว่าถ้าเราให้ ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเราจะให้ความสำคัญกับ ๒ อย่างครับ อันที่ ๑ ก็คือตัวเนื้อของงบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ไว้ใจพวกผมในการที่จะทำตรงนี้ ให้เต็มที่ อันที่ ๒ ก็คือเรื่องของรายละเอียดของการใช้งบประมาณให้ไปสู่จุดที่เราต้องการ ซึ่งตรงนี้หลายท่านช่วยให้ข้อคิดเห็น ซึ่ง สวทช. จะน้อมนำไปปฏิบัติในการเข้าถึงรากหญ้า ในการเข้าถึงจุดที่ท่านให้ความสำคัญกับประเทศไทย ขณะเดียวกัน OECD การลงทุน R&D ที่ท่านกรุณาสรุปว่าของไทยอยู่ที่ ๑.๓๑ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ ๔-๕ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังมีตัวที่ซ่อนอยู่ในนี้ แม้แต่ ๑.๓ เปอร์เซ็นต์ ของ GDP เป็นเอกชน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นของภาครัฐที่ลงไปเป็นตัวเงินน้อยกว่านั้นอีก ซึ่งไม่ได้บอกว่าถ้าวันนี้เราขยับขึ้นมาเป็น ๔ เปอร์เซ็นต์ได้แล้วประเทศจะพัฒนาทันที มันจะต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป แล้วผมดีใจและขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ให้ การสนับสนุนวันนี้ จะใช้ตรงนี้ในการที่จะเป็นฐานแล้วก็ทำงานร่วมกันในการทำให้เห็นว่า ทุกบาทที่ขยับขึ้นเราจะทำให้มันดีขึ้นด้วยกันนะครับ
สำหรับท่านฐากรซึ่งท่านเสริมเรื่อง AI แล้วก็ EV กระทรวง อว. เป็นกระทรวง ที่สำคัญต่อการรับเทคโนโลยีด้าน EV แล้วก็มาแน่ครับ ดังนั้นประมาณครึ่งหนึ่งของรถภายใน อีก ๕-๖ ปีข้างหน้าจะถูกเปลี่ยนเป็น EV แล้วก็ภายใน ๑๐ ปีเราจะเห็นยานยนต์ไร้คนขับ ที่ขับไปขับมาอยู่ในท้องถนน ดังนั้นเราต้องมีการเตรียมความพร้อม ต้องมีการสร้าง อุตสาหกรรมด้านนี้ ไม่เช่นนั้นเรา Import อย่างเดียวเลยครับ ดังนั้นตอนนี้ สวทช. เองก็ ร่วมกับสมาคมเอาผู้ประกอบการ EV ในการที่จะเตรียมการเทคโนโลยีที่เรารับได้ ที่เราทำเองได้ แล้วก็ทำให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้เยอะที่สุด และผันอุตสาหกรรมที่กำลัง เกี่ยวข้อง กับสันดาปไปเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ผลิต EV ได้มากขึ้น
สำหรับท่านจุลพงศ์ ต้องขอเรียนว่าในส่วนของสิทธิบัตร สวทช. มีจำนวน สิทธิบัตรเยอะที่สุด แต่คำถามของท่านคงไม่ใช่แค่ว่าจำนวนสิทธิบัตรจดแล้วไปไหน จดแล้ว ไปเก็บไว้เฉย ๆ หรือไม่ การไปใช้ประโยชน์ เราคำนวณผลกระทบว่าเวลาไปใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดการใช้งานในอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดมูลค่าที่ Circulate อันนี้ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ผมนำเรียนว่า Project แล้วได้ประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านในช่วง ปีที่ผ่านมา โดยที่สิทธิบัตรต่าง ๆ ที่เราถูกนำไปใช้ ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณ ตัวเลขนั้น อย่างไรก็ตามจะต้องมีการเน้น ๒ ด้าน ๑. คือการทำวิจัยที่ตรงกับเรื่องที่จะถูกนำ สิทธิบัตรไปใช้ ไม่ใช่สิทธิบัตรอะไรก็ได้ ซึ่งอันนี้ผมให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ แล้วก็ขยับ กลุ่มวิจัย การสนับสนุนงานวิจัยภายใน สวทช. ให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น อันที่ ๒ ตัวผลงานที่มีอยู่จะต้องหาผู้ประกอบการให้เจอในการที่จะเอาสิทธิบัตรที่เก็บไว้อยู่ ไปใช้ให้เร็วที่สุด เวลาก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญ เพราะว่าทิ้งไว้อีกปี ๒ ปีก็จะไม่มีคนต้องการ สิทธิบัตรนั้นแล้วเช่นเดียวกัน สำหรับแผนปี ๒๕๖๕-๒๕๗๐ ท่านเข้าใจถูกต้องแล้วครับ ก็คือ อาจจะมีกรรมการ AI แห่งชาติในการทบทวนเป็นระยะ แต่เขียนแผนยาวเอาไว้เพื่อที่จะให้ เห็นภาพรวมของทั้งหมด
ต้องขอบคุณท่านชุติมาสำหรับการชื่นชม Software Park ซึ่งมีมาตั้งแต่ ระยะแรกที่เรื่องของ Software เริ่มมี ตอนนี้ สวทช. จะต้องเริ่มขยับในเรื่องของ AI และ Big Data ให้เหมือนกับตอนที่ สวทช. เริ่มก่อตั้ง Software Park เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ดังนั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี แล้วก็ตัว Software Park เอง ก็ต้อง Upgrade ตัวเองจากการที่เคยเป็นหน่วยพื้นที่สำหรับให้ผู้ประกอบการมาอยู่ แล้วก็ Develop Software ปัจจุบันเมื่อเคลื่อนเร็วมาอยู่บน Cloud เมื่อมีการอบรมบุคลากร ที่แทรก AI เข้าไป Software Park ก็จะเริ่มเดินขยับตาม สำหรับบัญชีนวัตกรรมกำลัง เปลี่ยนแปลงครับ จัดโครงสร้างใหม่ในองค์กรเพื่อที่จะให้ดูแลเรื่องบัญชีนวัตกรรมได้เป็น รูปธรรมมากขึ้น เหมาะกับการ Urgency ของแต่ละเรื่องมากขึ้น ที่ขนานกันไปคือค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการ Over Flow ของรายการบัญชีนวัตกรรมที่ไม่จำเป็นที่เข้ามา ดังนั้น บัญชีนวัตกรรมส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายชัดเจนอย่างที่ท่านชุติมาว่า จะมีบางบัญชีนวัตกรรม ที่ขอไว้ก่อน แต่ขอไว้ก่อนใช้พลังงานของเราเท่ากัน ดังนั้นการเริ่มมี Barrier เตี้ย ๆ ขึ้นมา ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายแพงเพราะว่า สวทช. ไม่แสวงหาผลกำไรอยู่แล้ว ก็คือคิดค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อที่จะเป็นกำแพงเตี้ย ๆ ให้คนที่จะต้องใช้จริง ๆ เท่านั้นที่เข้ามา แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของทุจริตมีในทุกองค์กร หมายถึงเวลาที่จะเอาไปใช้ แต่ละองค์กร ที่เป็นภาครัฐอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่เราต้องแยกเรื่องของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ออกจากคุณภาพของบัญชีนวัตกรรมไทย เราเองพยายามทำให้บัญชีนวัตกรรมไทยดีที่สุด มีคุณภาพดีที่สุดตามเป้าหมายของการใช้งาน แต่เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วทาง สวทช. ก็ไม่ได้ ทอดทิ้ง กำลังทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณกรมบัญชีกลางในการดูว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้ มากขึ้นของการเป็นบัญชีนวัตกรรมไปเอื้อต่อการทุจริตที่ทำให้เกิดได้ง่ายขึ้นหรือไม่ แล้วจะป้องกันสิ่งเหล่านี้อย่างไร รวมทั้งบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงก็คือเรื่องของราคา ที่ตอนเริ่มต้นบัญชีนวัตกรรมจะเปิดให้ราคาแข่งขันได้ ก็คือราคาค่อนข้างดีกับผู้ประกอบการ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถ้าราคาน้ำมันลดลงตัวบัญชีนวัตกรรมก็ควรที่จะมีการปรับราคา ที่ประกาศตามระยะเวลา ก็น้อมรับข้อคิดความเห็นและขอบพระคุณท่านสมาชิกทุกท่าน อีกครั้งครับ