กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพและสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ก็ขอบคุณมากครับ สำหรับคำถาม ที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ถามมา ในเรื่องของการส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศ อิสราเอลนะครับ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมา แรงงานไทย ที่ไปทำงานในอิสราเอลก็ประมาณ ๒๙,๙๐๐ คน และมีเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยแล้ว ๙,๖๕๘ คน แล้วยังไม่ได้เดินทางกลับ ก็คือถึงขณะนี้ที่ยังไม่ยอมเดินทางกลับก็ประมาณ ๒๐,๒๔๒ คน เรามีความเสียหายจากการที่แรงงานของคนไทยหรือเพื่อน ๆ คนไทยเสียชีวิตไป ๓๙ คน ถูกจับเป็นตัวประกันทั้งหมด ๓๑ คน ก็ได้เดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยแล้ว ๒๓ คน ขาดอีก ๘ คน ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ส่วนมีการบาดเจ็บทั้งหมด ๑๘ คน เดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว ๑๕ คน ยังรักษาพยาบาลอยู่ที่ประเทศอิสราเอลอีก ๓ คน ส่วนที่เสียชีวิตไปแล้ว ๓๙ คน ได้ส่งเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยครบแล้วทุก ๆ คน ซึ่งการดูแลของรัฐบาลก็ด้วยความกรุณาของท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน กรุณาอนุมัติงบกลางให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยทุกคน คนละ ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วก็มีการดูแลเรื่องของหนี้สิน หากเพื่อน ๆ แรงงานที่ไปทำงาน ในประเทศอิสราเอลเป็นหนี้สินในวงเงินไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ก็สามารถพักต้นพักดอก และถ้าหากว่าเป็นหนี้สินนอกระบบ ก็ขอให้สัญญากับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์หรือธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ก็สามารถโอนย้ายมาที่ธนาคารของรัฐได้ ในวงเงินไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พักต้นพักดอกเป็นระยะเวลา ๓ ปี ส่วนแรงงานไทย ที่ไม่ได้เดินทางกลับมาก็ต้องขอแจ้งให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติได้รับทราบนะครับว่าโดยส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดกรณีพิพาทหรือเกิดสงคราม ก็จะเป็นทางตอนส่วนเหนือหรือตอนใต้ จากทางฉนวนกาซาลงไปอีกประมาณสัก ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ตรงนั้นไม่มีการเกิด สงครามหรือการสู้รบกัน เพราะฉะนั้นเพื่อน ๆ ที่ทำงานในประเทศอิสราเอลก็ไม่มีความจำนง ที่จะขอเดินทางกลับ ส่วนที่มีความเป็นห่วงนะครับว่าแล้วเมื่อไรที่ทางรัฐบาลไทยหรือทาง รัฐบาลอิสราเอลจะรับแรงงานเพื่อน ๆ ของเรากลับไปทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ขอเรียนให้ เพื่อน ๆ สมาชิกผู้ทรงเกียรติได้รับทราบว่า ขณะนี้ก็อย่างที่ท่านได้กล่าวแล้วครับ มีเพื่อน ๆ คนไทยเราเดินทางกลับไปทำงานในประเทศอิสราเอลบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วทางรัฐบาลไทย ยังไม่ได้อนุญาตให้เดินทางกลับไปทำงานในประเทศอิสราเอล แต่ในขณะนี้ตัวผมเอง ก็ได้หารือกับทางกระทรวงแรงงานอิสราเอล แล้วโดยเฉพาะท่านเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทยเขาพร้อมที่จะรับคนไทยที่เดินทางกลับมาสู่ประเทศไทย กลับไปทำงาน ในประเทศอิสราเอลเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นความพร้อมตรงนี้เมื่อทางรัฐบาลหรือ การต่อสู้หรือความไม่สงบในประเทศอิสราเอลเรียบร้อย แรงงานไทยทุกคนที่เดินทางกลับมา สู่ประเทศไทยก็สามารถเดินทางกลับไปทำงานในประเทศอิสราเอลต่อไปได้ ขอบคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ จากคำถามที่ ๒ ก็คือแรงงาน ที่ไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ จริง ๆ ขณะนี้เรามีแรงงานที่ไปทำงานอย่างถูกต้องใน ประเทศเกาหลีใต้จำนวน ๑๘,๙๖๒ คน แล้วในประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๘,๕๗๐ คน ก็ไม่เถียง นะครับว่าเรามีแรงงานที่ไปทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่าที่ทราบในขณะนี้ตัวเลข ไม่เป็นทางการก็น่าจะมีตัวเลขเป็นหลักประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คนเศษนะครับ ทั้งในประเทศ เกาหลีใต้และในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานเราพยายาม ทุกวิถีทางที่จะนำเพื่อน ๆ คนงานที่ไปอย่างไม่ถูกต้องและมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเหมือนกับ ที่ขณะนี้ประเทศไทยเราพยายามเอาแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ซึ่งในสิ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ทางกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ไปทำการลงนาม ใน MOU เพิ่มขึ้นนะครับ แต่ปัญหาที่สำคัญก็อย่างที่ท่านกล่าวว่าไม่ได้ผิด ก็ถูกต้องนะครับ ก็คือปัญหาการทดสอบเรื่องภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาเกาหลีใต้หรือภาษาญี่ปุ่น ขณะก่อนที่จะ ไปทำงานเมื่อทดสอบภาษาไม่ผ่านก็จะไม่ได้รับการส่งอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็มีบริษัท จัดหางานซึ่งจะมาทำการติดต่อและนำคนไทยเหล่านี้ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งพวกเรา ก็จะเห็นในหน้าสื่อทั่ว ๆ ไป เห็นได้บ่อย ๆ นะครับ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานเราได้มี การทำเรื่องของการประชาสัมพันธ์ในการที่จะจัดอบรมในเรื่องของการฝึกภาษา โดยเฉพาะ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลีใต้ ภาษาญี่ปุ่น ใน ๔ ภาษานี้เป็นภาษาหลักที่กระทรวง แรงงานกำลังจะจัดให้มีการอบรมนะครับ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการทำเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ก่อนหน้านี้เราก็มีการจัดอบรมเป็น Course สั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับแรงงานของคนไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ และขณะนี้เราก็มีแรงงานที่มีเซ็น MOU กับประเทศเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของช่างเชื่อมเรามี MOU และขณะนี้เราก็มี การส่งแรงงานไปบ้างแล้ว นอกเหนือจากที่เป็นช่างเชื่อม เรายังมีการประสานเรื่องเกี่ยวกับ แรงงานของเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่องของการเก็บพืชผักผลไม้ตามฤดูกาลใช้เวลา ประมาณ ๖-๘ เดือน แล้วประเด็นสำคัญต่อมาในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทำ MOU ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรได้มีความร่วมมือกัน โดยกรมการจัดหางานและ กรมประมง เราได้ทำการฝึกอบรมผู้ที่จะไปทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น เลี้ยงปลาไหลญี่ปุ่น เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอยเป๋าฮื้อและอีกหลาย ๆ ชนิด ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็อยู่ในช่วงเหมือนกับ เป็นการฝึกอบรม เมื่อเราอบรมเสร็จแล้วคาดว่าหลังฤดูหนาวในปีหน้าก็คือหลังจาก เดือนมีนาคมเป็นต้นไป เราก็สามารถที่จะส่งเพื่อน ๆ แรงงานเหล่านี้อีกประมาณสักใกล้เคียง ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งนอกเหนือจากประเทศเกาหลีใต้แล้ว ก็ยังมีประเทศญี่ปุ่น ประเทศออสเตรเลีย แล้วก็มีประเทศไต้หวัน ประเทศฮ่องกง ประเทศ สิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงแรงงานเรามีทูตแรงงานอยู่ใน ๑๑ ประเทศ ๑๒ สาขา ซึ่งทั้ง ๑๑ ประเทศ ๑๒ สาขาเรามีความพยายามที่จะต่อยอดไปในประเทศอื่น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ขอแจ้งให้เพื่อน ๆ ที่เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติ แล้วก็ให้พี่น้อง คนไทยทุก ๆ คนได้รับทราบว่าหากใครมีความประสงค์ที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งเพื่อน ๆ ที่กลับมาจากประเทศอิสราเอล และไม่อยากกลับไปประเทศอิสราเอลต้องการไปทำงาน ในประเทศอื่น ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานเราได้เตรียมความพร้อมสำหรับการไปทำงาน ในประเทศอื่นในเรื่องภาคเกษตรกรรม เช่น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตัวผมเองก็คงจะเดินทาง ไปลงนามใน MOU เดือนมกราคม ปี ๒๕๖๗ ส่วนในประเทศอย่างอื่นตรงนี้ก็ขอแจ้งไว้ ให้ทราบ
ส่วนกรณีนี้ผมก็ขอรายงานเพื่อความเข้าใจนะครับ ตัวผมเองได้เดินทางไป ประเทศซาอุดีอาระเบียทำการประชุมกับรัฐมนตรีแรงงานของ ๒๐ ประเทศที่เมืองริยาด ซึ่งตรงนี้จากการประชุมประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศในตะวันออกกลางมีความต้องการ แรงงานไทยมากพอสมควร ซึ่งแรงงานที่ไปนี้ก็ต้องขอเรียนให้เพื่อน ๆ สมาชิกผู้ทรงเกียรติ และเพื่อน ๆ คนไทยให้รับทราบว่าแรงงานที่ไปขอให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นแรงงานระดับล่างเราไม่สามารถไปสู้แรงงานของเอเชียใต้ ก็คือประเทศอินเดีย ประเทศบังกลาเทศ และประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นค่าแรงเท่า ๆ กับประเทศไทย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีทักษะฝีมือเราก็ควรจะแจ้งความจำนงที่กรมการจัดหางาน ซึ่งก็ขอให้ทราบและ ขอแจ้งเพื่อทราบสำหรับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ขอบคุณมากครับ
กราบขอบพระคุณมากครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพและ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ จากนโยบายที่ผมเข้าทำงานในกระทรวงแรงงานวันแรก ผมได้ประกาศว่าจะขยายแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ ในปี ๒๕๖๗ ไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ อัตรา ซึ่งจากการที่เรามีการประกาศและเป็นนโยบายตรงนี้ ตัวผมเองก็ได้ทำ การบ้านมาพอสมควรนะครับ เพราะฉะนั้นจากการที่ได้ทำงานมาประมาณ ๓ เดือน ตัวผมเองก็ได้เดินทางไปมาแล้ว ๓-๔ ประเทศ ซึ่งประเทศอย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ได้กล่าว ก็คือผมไปในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก็ต้องขอเรียนนะครับ ขอให้พวกเราไปใน เรื่องของค่าแรงที่ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำต้องมีทักษะ ซึ่งถ้ามีทักษะก็ต้องเรียนได้เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นช่างเชื่อม ช่างฉาบ แล้วก็ที่สำคัญคือช่างติดตั้งกระจก แล้วก็ประเด็นสำคัญ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ หมอนวดแพทย์แผนไทยและพนักงาน Chef หรือพนักงานเสิร์ฟ ในร้านอาหาร ซึ่งตัวผมเองก็ได้มีการไปคุยในร้านอาหารบางส่วน
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นในประเทศ UAE ก็มีความต้องการเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศ ในตะวันออกกลางขณะนี้มีการก่อสร้าง มีการขยายความเจริญมาก เพราะฉะนั้นการต้องการ แรงงานไทยก็ขอให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางานที่จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็ขออนุญาตอธิบายเล็กน้อยสำหรับเพื่อน ๆ ที่จะไปทำงานในตะวันออกกลาง ทางกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานไม่สามารถที่จะเป็นการส่งโดยตรงระหว่าง รัฐต่อรัฐ ซึ่งประเทศในภาคตะวันออกกลางนี้ก็ขอให้จัดส่งผ่านบริษัทตัวกลาง เพราะฉะนั้น ประเทศในตะวันออกกลางก็ขอแจ้งให้ทราบว่าต้องผ่านบริษัทเท่านั้น ส่วนในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ทางกรมการจัดหางานเราได้มีการลงนามใน MOU และเป็นการส่งแรงงานของเราออกไปใน ระบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งการส่งระบบรัฐต่อรัฐเราไม่มีหัวคิวเราจะมีค่าเฉพาะการตรวจร่างกาย นะครับ การซื้อบัตรโดยสาร การขอ VISA แล้วก็ที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อคุณไปถึงประเทศ ในแต่ละประเทศ เราต้องไปเหมือนลักษณะไปเข้าสู่ประกันสังคมในแต่ละประเทศ ตรงนั้น ก็อาจจะต้องเสียเงินในบางส่วน อย่างกรณีประเทศอิสราเอลคุณต้องเตรียมเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท เมื่อไปถึงประเทศอิสราเอลคุณต้องวางประกันหรือไปจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้กับกระทรวง แรงงานของประเทศอิสราเอล ๔๐,๐๐๐ บาท ตรงนั้นเป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งไม่ใช่บริษัท หรือกรมการจัดหางานของกระทรวงแรงงานเป็นผู้เก็บ แต่รัฐบาลอิสราเอลเป็นผู้เก็บ เพราะฉะนั้นเบี้ยบ้ายรายทาง หรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ หรือค่า Fee ต่าง ๆ ถ้าเป็นเรื่องของ กรมการจัดหางาน ตรงนี้เราไม่มีการบวกเข้าไปในตรงนั้น ส่วนการที่จะผ่านบริษัทจัดหางาน แน่นอนครับ ในตะวันออกกลางเขาก็ยังเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทจัดหางาน ซึ่งตรงนี้อาจจะ มีการบวก ซึ่งการเจรจาต่อรองโดยกระทรวงแรงงานกรมการจัดหางานเราจะพยายามต่อรอง ให้ดีที่สุดนะครับ
ส่วนในประเด็นที่ ๑๐๐,๐๐๐ อัตราตรงนี้ก็ไม่ใช่ประเทศที่เรามีอยู่ ๑๑ ประเทศ คงจะต้องมีการขยายประเทศไปมากกว่าที่เรามีตัวแทนเอกอัครราชทูตแรงงาน ประจำประเทศ ๑๑ ประเทศ เราคงจะต้องขยายไปให้ได้ไม่น้อยกว่า ๓๐-๔๐ ประเทศ เพราะฉะนั้นอัตรา ๑๐๐,๐๐๐ อัตรา เราคงส่งไปไม่ครบ เพราะฉะนั้นก็ขอเรียนให้กับสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้รับทราบและกราบเรียนท่านประธานสภารับทราบ ขอบคุณมากครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ตัวผมเองก็ขอตอบคำถาม ในส่วนแรกแทนท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายให้ตัวผมมาตอบคำถามท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรตินะครับ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เรามีมาตรการ ที่จะดูแลคนไทยในต่างแดน โดยเฉพาะปัจจุบันนี้พวกเราก็คงจะทราบดี ซึ่งตัวผมเองก็ยอมรับ ว่าเรามีคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศมากมาย และไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะ ในเอเชียหรือใน ASEAN ของเรา เราไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งแน่นอนกระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องมีมาตรการในการที่จะดูแลคนไทยในต่างแดน ซึ่งการที่จะมอบหมายให้ดูแลคนไทย ในต่างแดนก็เป็นหน้าที่ของเอกอัครราชทูตในประเทศนั้น ๆ หรือถ้าไม่มีระดับเอกอัครราชทูต เราก็คงจะต้องให้กงสุลใหญ่ในประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ช่วยดูแล ซึ่งในช่องทางต่าง ๆ สำหรับใน แต่ละประเทศที่มีกงสุลใหญ่และระดับเอกอัครราชทูต เรามีช่องทางในการติดต่อไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram หรือช่องทางการสื่อสาร และโดยเฉพาะช่องทางที่เป็น การเฉพาะของแต่ละสถานทูตสำหรับให้คนไทยสามารถติดต่อได้ ส่วนมาตรการต่าง ๆ ที่จะเป็นการรณรงค์ให้คนไทยว่าการที่เราจะไปประเทศไหน มีความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งต้องบอก ได้ว่าคนไทยที่ไปอยู่ในต่างประเทศหรืออยู่ในต่างแดนเราไปทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูก กฎหมาย แต่ที่มีปัญหาโดยส่วนใหญ่เราไปอย่างไม่ค่อยจะถูกกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างกรณี ของที่ทางสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในกรณีของเล่าก์ก่าย ซึ่งผมคิดว่าคนไทยเหล่านี้ไปในลักษณะ ที่ไม่ได้ถูกกฎหมาย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าเราถูกหลอกลวงไป แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผมคิดว่ากระบวนการสอบสวน เมื่อคนไทยเหล่านั้นกลับมาสู่ประเทศไทย ทางเจ้าหน้าที่ ตำรวจมีการทำการสอบสวนเราก็คงจะต้องทราบผลข้อสรุปที่ออกมาว่าการที่พวกคุณไป พวกคุณรู้หรือไม่ว่าพวกคุณทำงานอะไร แล้วพวกคุณมีความเสี่ยงภัยหรือไม่ ขนาดไหน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ก็มีความเป็นห่วงและเป็น กังวลมาก แต่อย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องขอยอมรับในอีกลักษณะหนึ่งว่าวันนี้คนไทยเราก็มักจะ หลงเชื่อ ในสิ่งที่ไม่เป็นจริงหรือเขาอาจจะเรียกว่าเป็นลักษณะของ Fake News การเชิญชวน ไปทำงานในลักษณะที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งตัวผู้ไปทำงานเองอาจจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ เรามีหน้าที่ที่จะประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้กับคนไทยได้รับรู้ว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังจะเดินทางไป พวกท่านตรวจสอบดีแล้ว หรือยัง ประสานทางสถานทูตไทย ประสานทางกระทรวงการต่างประเทศหรือถ้าคุณจะไป ทำงาน คุณประสานทางกระทรวงแรงงานแล้วหรือไม่ว่ามีการประกาศให้ออกไปทำงาน อย่างถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะประชาสัมพันธ์ว่าการที่เพื่อน ๆ คนไทย ที่จะออกไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปทำงานในลักษณะไหนก็แล้วแต่ ก็ขอให้พวกท่านได้กรุณา สอบถาม โดยเฉพาะกรมการจัดหางานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งในช่วงต้นผมขอตอบเพียง เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ก็ต้องขอขอบคุณ สำหรับข้อแนะนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องของการเตือนภัยให้คนไทยทุกคน ๆ ได้รับทราบ การจัดทำ Zoning ต่าง ๆ ในการประสานงานแบบเผชิญเหตุ แล้วก็ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย อันนี้สำหรับข้อแนะนำของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผมก็จะนำไปทำ การหารือแล้วก็ทำตามที่ท่านแนะนำเอาไว้นะครับ
ส่วนกรณีที่เป็นคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้แรงงานที่ไปทำงานใน ต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็อย่างที่ท่านพูด ผมก็ไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงนะครับ ก็เป็นความจริง ในระดับหนึ่งที่มีแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเป็นหลักแสน ๆ คน ซึ่งไม่ว่าจะเป็น ประเทศมาเลเซีย ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ ในโลกนี้ซึ่งผมคิดว่า มีมากกว่า ๑๐ ประเทศ แต่กรณีที่เรามีตัวเลขอย่างที่กระทรวงแรงงานตอนนี้เราก็มีตัวแทน ของกระทรวงแรงงานอยู่ใน ๑๑ ประเทศ ๑๒ สำนักงาน ซึ่งใน ๑๑ ประเทศ ๑๒ สำนักงาน ก็ครอบคลุม จริง ๆ แล้วก็อยู่ในเอเชียของเรา เพราะอาจจะมีไปที่ตะวันออกกลางใน ๒ ประเทศคือประเทศซาอุดีอาระเบีย และ UAE ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็คาดว่าน่าจะมีการไป เปิดสาขาอีกสาขาหนึ่งก็คือที่ประเทศออสเตรเลีย แต่โอเคไม่เป็นอะไรครับ ถึงแม้ว่าเราจะ ไม่มีเอกอัครราชทูตแรงงานประจำประเทศไทยนั้น ๆ เราก็คงจะต้องฝากการดูแลแรงงาน ของไทยให้กับสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้น ๆ หรือสถานกงสุลใหญ่ในประเทศนั้น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญว่าขณะนี้เรามีแรงงานที่ไปทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมายหรือเรียกว่า ผีน้อย ในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งก็อย่างที่ท่านได้กล่าว ผมก็คิดว่าน่าจะมีคนที่ไปทำงานที่ไม่ถูกต้องตาม กฎหมายในเกาหลีใต้ก็น่าจะมีไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งถามว่าทางกระทรวงแรงงานเรา อยากจะนำแรงงานเหล่านี้เข้ามาทำให้ถูกกฎหมายหรือไม่ แน่นอนครับ ตัวผมเองหลังจาก ที่เข้ามาสู่กระทรวงแรงงานสิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรให้มีการลงทะเบียน แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศทุกประเทศในโลกนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด แต่เงื่อนไขมีว่าในแต่ละประเทศเขาก็มีโควตาของเขาว่าสามารถที่จะรับแรงงานจากประเทศ ไทยไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้สักกี่คน แน่นอนครับ ผมไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการที่จะไปเจรจาและลง MOU ในการขอเพิ่มปริมาณแรงงานของคนไทยที่จะไปทำงานในประเทศต่าง ๆ เช่น อย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเรามีโควตาไม่มาก เราก็จะไปขออนุญาตว่าเป็นไปได้ไหม ขอเพิ่มสาขาอาชีพในแต่ละอาชีพ จากที่เรามีอัตราส่วนนี้สัก ๑๐,๐๐๐ คน หรือ ๒๐,๐๐๐ คน จะเพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐ คน ๔๐,๐๐๐ คน ๕๐,๐๐๐ คนได้หรือไม่ หรือโดยเฉพาะในประเทศ เกาหลีใต้ปัจจุบันนี้เรามีแรงงานที่ลงทะเบียนจริง ๆ ประมาณเกือบ ๆ ๒๐,๐๐๐ คน แต่เรามี แรงงานที่เป็นผีน้อยอีกประมาณแสนคน ก็ประมาณสัก ๔๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งตรงนี้ในสิ่งที่ไป แบบไม่ถูกกฎหมาย ๑. คือปัญหาเรื่องของนายจ้างที่ไม่สามารถที่จะขอทำ Work Permit ให้กับแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศของเขาเองได้
ส่วนที่ ๒ ก็อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ก็คือโควตาแรงงานของประเทศไทย เรายังไม่มีจำนวนพอสำหรับคนงานไทยที่จะไปทำงาน เพราะฉะนั้นตรงนี้การเจรจา เพิ่มปริมาณหรือเพิ่มโควตาของแรงงานในแต่ละประเทศก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องทำกันต่อไป แต่ที่สำคัญเราคงจะต้องให้ความรู้สำหรับแรงงานที่จะไปทำงาน ในต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษามลายู สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมคิดว่าเราต้องมีการจัดอบรม ซึ่งขณะนี้ กระทรวงแรงงานเราได้เริ่มมีการจัดทำการอบรมในภาษาเฉพาะทางที่สำหรับแรงงาน ที่เราจะออกไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของเราไม่สามารถที่เข้าไปทำ ถูกต้อง เพราะเราพูดภาษาของเขาไม่ได้ อันนี้ก็ยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของกระทรวงแรงงานเรา ซึ่งตรงนี้ผมก็จะพยายามพัฒนาเพื่อให้จากจุดอ่อนเป็นจุดที่มันไม่อ่อน ซึ่งตรงนี้ก็ต้อง ขอเวลาสักนิดนะครับ ตัวผมเองก็เข้ามาทำงานได้ประมาณสัก ๓ เดือนก็พยายามจะทำ แล้วเร่งให้ได้เร็วที่สุด แล้วโดยเฉพาะในปีหน้า ปี ๒๕๖๗ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าผมจะส่ง แรงงานไทยไปสู่ต่างประเทศ ๑๐๐,๐๐๐ อัตรา การที่จะพัฒนาให้ ๑๐๐,๐๐๐ อัตรา เราต้อง พัฒนาในเรื่องภาษาที่ประเทศที่จะไปทำงานด้วย ซึ่งตรงนี้เรากำลังมีการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัด Course อบรมภาษาเฉพาะประเทศ แต่ละประเทศว่าในแต่ละ Course เราจะรับมาจำนวนเท่าไร อย่างน้อยที่สุดการรู้ภาษา เบื้องต้น การสื่อสารเบื้องต้นเราต้องได้ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ เราก็ไม่สามารถส่งอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นเพื่อน ๆ ก็จะไปทำงานอย่างผิดกฎหมายอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ขอรับไว้ นะครับว่าเป็นความยังไม่แข็งแรง ไม่เข้มแข็งของเรื่องภาษา เพราะฉะนั้นตัวผมเองในฐานะ ที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มาดูแลกระทรวงแรงงาน ก็พยายาม จะปิดจุดอ่อนของคนไทยให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้นำไปสู่เป้าหมาย และนำแรงงานเพื่อน ๆ ที่ไปทำงานในต่างประเทศที่ไม่ถูกต้องกลับมาให้ถูกต้องให้ได้มากที่สุด เปรียบเสมือนกับ ขณะนี้ที่ตัวผมเองได้พยายามทำแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้กลับมาถูกต้อง ตามกฎหมายให้ได้มากที่สุด ถามว่าถูกต้องตามกฎหมายได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ความกว้างความยาวของชายแดนประเทศไทยประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ กิโลเมตร ตัวผมเอง ไม่สามารถที่จะป้องกันและดูแลไม่ให้เพื่อน ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาสู่ ประเทศไทยได้ แต่เมื่อคุณเข้ามาแล้วเราก็ต้องหาวิธีทำให้คุณเข้าสู่ระบบงานอย่างถูกฎหมาย เพื่อเราจะได้สำรวจ และบันทึกประวัติเอาไว้ว่ามีประเทศไหนเข้ามาสู่ประเทศไทยกี่คน และจำนวนเท่าไร ในลักษณะเดียวกันเราก็ต้อง Record ว่ามีคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ มีจำนวนเท่าไรในแต่ละประเทศ และถูกกฎหมายเท่าไร ไม่ถูกกฎหมายเท่าไร ตรงนี้ผมก็จะ รับข้อสังเกตของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติและไปทำเป็นการบ้าน แล้วถ้าหากว่าวันไหนที่ผม มีความคืบหน้าอย่างไร ผมก็จะทำเป็นจดหมายแจ้งไปให้ทางท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ทราบ เป็นรายไตรมาสนะครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณมาก ครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ นะครับ จากคำถามที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ถามก็คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้อง กับความเป็นจริง ตัวผมเองก็คงไม่เถียงว่าวิธีการคิดกับการคำนวณในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา ๒๐-๓๐ ปีนี้เรายังใช้ข้อมูลแล้วก็ฐานเดิม ๆ ที่มีการคำนวณมาโดย ตลอดในทุก ๆ ปี ซึ่งตัวผมเองถึงขณะนี้เข้ามาก็ประมาณเกือบ ๆ ๔ เดือน ก็ต้องขออภัยที่ การประกาศค่าแรงขั้นต่ำและมีการประชุมในวันที่ ๘ ธันวาคมครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๒๐ ครั้งหนึ่ง เราไม่สามารถที่จะทำให้มีค่าแรงขั้นต่ำได้สูงกว่า แล้วก็ที่มีการประกาศไปแล้ว และมีการใช้ ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ มกราคมที่ผ่านมา และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือในกรณีที่มีปัญหาเรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นการคำนวณแบบเดิม ๆ โดยเป็นการให้อนุกรรมการไตรภาคีในแต่ละ จังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัดบวก ๑ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำเสนอเข้ามาสู่คณะกรรมการไตรภาคี ในคณะกรรมการใหญ่ที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจริง ๆ แล้วประกอบด้วย เป็นตัวแทนของนายจ้าง ๕ คน ลูกจ้าง ๕ คน และเป็นฝ่ายรัฐ ๕ คน ซึ่งก็มีการคำนวณแล้วก็ มีการประกาศ ตัวผมเองก็ได้มีการทักท้วงในการนำเข้า ครม. ในครั้งแรก ว่าตัวผมเองไม่เห็น ด้วยกับการที่ทางคณะกรรมการไตรภาคีเอาสูตรการคำนวณโดยเอาปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ มาเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งแน่นอนครับ พวกเราคงทราบกันดีว่าในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ต่อเนื่องถึงปี ๒๕๖๕ เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ ซึ่งก็เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจ ของทั้งโลกนี้ตกต่ำขั้นสุดเท่าที่พวกเราในอายุขณะนี้ได้เจอมา ก็คาดว่าประมาณสัก ๑๐๐ ปี ๑ ครั้ง ก็โอเค ในเมื่อมีการทักท้วงแล้วก็มีการประชุมในวันที่ ๒๐ สุดท้ายมติออกมา เหมือนเดิม ก็มีการออกเป็นมติเอกฉันท์ทั้ง ๓ ฝ่ายว่าให้คงตามที่มีการประชุมไปครั้งแรก แน่นอนครับ ตัวผมเองก็คงจะต้องนำเข้าให้ ครม. รับทราบ หากไม่นำเข้าก็อาจจะเป็นการละเว้น อาจจะ โดนเรื่องของมาตรา ๑๕๗ แต่หลังจากนั้นตัวผมก็ได้มีการหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทาง ครม. ว่าตัวผมเองขอเวลาอีกช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะขณะนี้เราได้มีการตั้งเป็น คณะอนุกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่เป็นผู้ตั้ง โดยประกอบด้วย มีรองปลัดกระทรวง แรงงานเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วก็มีทางสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วคณะเศรษฐศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็นักวิชาการอาวุโสนโยบายเศรษฐกิจรวมและ เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ นี่ก็คือเป็นทีมที่เป็นฝ่ายของรัฐแล้วก็ทีมนักวิชาการ ส่วนตัวแทน ฝ่ายลูกจ้างก็ยัง ๕ คนเหมือนเดิม นายจ้างก็ยัง ๕ คนเหมือนเดิม รวมทั้งหมดแล้ว คณะอนุกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด ๒๔ ท่าน ซึ่งผมขออนุญาตอ่านนะครับ คณะอนุกรรมการ มีอำนาจดังนี้นะครับ
ข้อที่ ๑ ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันเพื่อใช้ ประกอบการพิจารณาปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ข้อที่ ๒ วิเคราะห์และทบทวนตัวแปรเชิงคุณภาพที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ ในการคำนวณอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ข้อที่ ๓ จัดทำสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสนอต่อคณะกรรมการ อัตราค่าจ้าง
ข้อที่ ๔ ศึกษาความเป็นไปได้การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ ตามพื้นที่ในที่นี้ไม่ใช่เป็นพื้นที่ใหญ่เป็นจังหวัดนะครับ ผมขอให้เขามีการศึกษาลงไปในระดับ อำเภอ ระดับเทศบาล ระดับตำบล ซึ่งผมคิดว่าเราคงลงในรายละเอียดมากขึ้น เพราะว่า ในหนึ่งอำเภออาจจะมีชุมชนชนบทกับชุมชนเมือง ซึ่งผมอยากจะให้แยกจากกัน ก็คือเป็น การศึกษารายละเอียดเสียทีเดียว
ข้อที่ ๕ พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ มาตรฐาน ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคม และเศรษฐกิจตามพื้นที่ เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่
ข้อที่ ๖ พิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง
ข้อที่ ๗ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมอบหมาย ซึ่งจะมีการประชุม และแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ในวันที่ ๑๗ มกราคมที่จะถึงนี้ และผมคิดว่าการที่เราตั้ง คณะอนุกรรมการนี้ก็เป็นการตั้งเพื่อทำงานในเชิงรุกในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จากการที่ผมได้มี การให้สัมภาษณ์ แล้วก็มีการให้แจ้งในที่ประชุมแห่งนี้ว่าเราจะมีการประกาศค่าแรง ขั้นต่ำในบางสาขาอาชีพ บางพื้นที่ที่คิดว่าเราสามารถประกาศสูงกว่าที่เคยประกาศมา แล้วก็ประกาศใช้ในปัจจุบันนี้คาดว่าน่าจะเป็นของขวัญวันสงกรานต์ได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะ เป็นเพียงบางอาชีพและบางพื้นที่เท่านั้น เพราะการที่เราจะศึกษาลงรายละเอียด ทั้งประเทศ ผมคิดว่าเราคงจะต้องใช้เวลาเป็นปีแล้วก็ต้องมีข้อมูลที่มาก การที่เราศึกษา ในระยะเวลา ๒-๓ เดือน แล้วบอกว่าเราสามารถศึกษาได้ทั้งประเทศ ผมคิดว่านั่นเป็นการที่ เราพูดไม่เป็นความจริง ฉะนั้นขอเวลา ๑ ปีสำหรับการประกาศค่าแรงขั้นต่ำในปี ๒๕๖๘ แต่ก็ยังมีการประกาศในบางอาชีพ บางพื้นที่เป็นเบื้องต้นในช่วงก่อนวันปีใหม่ไทย ซึ่งผมก็ ขอเรียนชี้แจงให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้รับทราบ ขอบคุณครับ
ก็ไม่ขอ ต่อล้อต่อเถียงนะครับ ในเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งผมคิดว่าพวกท่านก็น่าจะมี ความรู้ในเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคีมากกว่าผม เพราะพวกท่านทำการบ้านในเรื่องนี้มา มากกว่าผม ตัวผมเองก็ถือว่าทำการบ้านมา แต่ก็คงไม่ได้เท่าพวกท่าน ซึ่งคณะกรรมการ ไตรภาคีที่ทางท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้กล่าวมาเมื่อสักครู่ ก็เป็นการเลือกกันเองภายใน ของฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งพวกเราที่เป็นกระทรวงแรงงานหรือทางฝ่ายภาครัฐ เราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ นั่นคือส่วนที่ ๑ เพราะฉะนั้นจากการที่ท่านถามว่ามี ๔๔ จังหวัด กับ ๓๓ จังหวัด ที่ไม่มีเรื่องของทางสหภาพใช่ไหมครับ ผมเองก็จะกลับไปถามให้ อีกครั้งหนึ่งว่าเขาเลือกกันมาอย่างไร โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการที่ตัวผมเอง ก็ต้องเรียนให้ทราบ โดยเฉพาะตัวผมเองได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน เราไม่มีสิทธิที่จะเข้าห้องประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี เพราะถือว่าถ้าเราเข้าไปร่วมเมื่อไร เราก็จะเป็นการแทรกแซงโดยภาคการเมือง เพราะฉะนั้น ตัวผมเองผมยึดถือในเรื่องของการแทรกแซงจากพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นตัวผมเอง ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ผมเข้าไปมีเพียงครั้งเดียว แนะนำว่าตัวผมเอง ขณะนี้ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง แรงงาน ก็มาขอแนะนำตัว เสร็จแล้วผมก็เดินออกจากห้องประชุม ซึ่งเขาก็กล่าวขอบคุณที่ว่า ทำไมรัฐมนตรีคนนี้ไม่มีการแทรกแซง ผมบอกว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ผมไม่มีอำนาจที่จะไป แทรกแซง เพราะฉะนั้นในสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งสิ้น ผมก็จะบอกได้เลยว่าสิ่งที่ผ่านมาก็ขอให้ มันผ่านไป ผมไม่ใช่ว่าเหมือนกับเป็นการปัดสวะ ขอโทษนะครับ ที่อาจจะใช้คำไม่สุภาพ เหมือนกับ Clear ในสิ่งที่เดิม ๆ แล้วโดยไม่รับผิดชอบ อันนี้ก็คือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ตัวผมเอง ก็คงเข้าไปแก้ไขไม่ทัน แต่หลังจากนี้ที่ตัวผมเองนั่งอยู่ตรงนี้ก็ต้องบอกว่าตัวผมเองจะขอเข้ามา นั่งดูและจะไม่เข้ามาก้าวก่ายในคณะกรรมการไตรภาคี แต่จะขอหารือกับทางประธานบอร์ด ว่าอะไรควร มิควร แล้วก็ขอหารือกับที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการที่เป็นตัวแทนมาจากมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ซึ่งเราก็คงจะหารือได้เพียงเท่านั้น เราไม่สามารถที่เข้าไปเจรจากับทางฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมก็ขอยืนยัน แล้วก็ขอแจ้งให้ที่ประชุมและท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้ทราบว่าตัวผมเองจะลงมาดูแล้วก็ให้ข้อแนะนำ แล้วก็ให้ความคิดในที่ปรึกษา ของคณะกรรมการว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แต่สิ่งที่เป็นรายละเอียดที่พวกเราจะต้องเจาะลึก ลงไปมีอะไรบ้าง และอะไรที่เป็นอาชีพหรือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทางรัฐบาลกำลังดันเพื่อให้เกิด การเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราก็จะมุ่งเป้าไปในอาชีพที่มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า ขึ้นค่าแรง ที่มากกว่า แต่อาชีพไหนที่ยังเป็นอาชีพที่ไม่ดีเราก็คงจะขึ้นไปตามอัตราส่วนหรือตามอัตภาพ และโดยจะขออนุญาตนิดหนึ่งนะครับ ตามที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้พูดถึง ๓ จังหวัดภาคใต้ การที่ค่าแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้มีผู้ไปลงทุน นักลงทุนเขามีค่าเสี่ยงภัย ซึ่งการที่พวกเราจะ เชิญชวนให้นักลงทุนไปลงทุนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าหากเราไปประกาศค่าแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้สูง ๆ เหมือนจังหวัดสงขลาหรือจังหวัดอื่น ๆ ผมคิดว่าสุดท้ายก็จะไม่มีใครไป ลงทุนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งอันนี้ก็ต้องขอความกรุณาชี้แจงเพื่อเป็นที่ทราบกันครับ ขอบคุณมากครับ
ก็ขอบคุณ ท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผมก็คงไม่เข้าเรื่องในการตอบเรื่อง คำนิยามหรือเรื่องอะไรนะครับ แต่ตรงนี้ก็ต้องขอแจ้งให้ทราบว่าจากการที่เราดูเรื่องของ ค่าแรงขั้นต่ำตามที่ผมได้เสนอไปแล้วว่าเราคงจะพิจารณาให้รอบด้านไปมากกว่านี้ ส่วนของ ที่จะมีการรณรงค์ให้แรงงานสามารถมีบุตรได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงแรงงานเรา ก็พยายามที่จะนำเสนอเข้าสู่ ครม. ในอนาคตอันใกล้ว่า สำหรับการลาคลอดบุตร เราทาง กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะนำเสนอชดเชยเงินเดือนเท่า เงินเดือน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายคือ ๔๙ วัน ส่วนอีก ๔๙ วันก็จะให้ทางประกันสังคม เป็นผู้รับผิดชอบต่อ เพราะฉะนั้นในการที่จะนำเสนอเข้าก็คือเป็นการที่ผู้ที่ใช้สิทธิในการลา คลอดบุตรจะได้รับเงินเดือน โดยไม่ต้องทำงานถือวันลา ๙๘ วัน และได้รับเงินค่าจ้างเต็ม โดยครึ่งหนึ่งจากนายจ้าง อีกครึ่งหนึ่งจากประกันสังคม ก็เรียนเพื่อให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ได้รับทราบ แล้วตัวผมเองก็คงจะนำเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป ขอบคุณมากรับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ จากการที่ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้ตั้งคำถามถึงว่ารัฐบาลมีมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมและยกระดับ ทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงหน่วยงานด้านการศึกษา ด้านแรงงาน หรือไม่ อย่างไร แล้วก็ส่วนที่ ๒ ก็คือกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีการ สนับสนุนในเรื่องของเกี่ยวกับคูปองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เป็น ๒ ส่วน ๒ ข้อ แต่ผมขอตอบรวมในทีเดียวเลยว่าในลักษณะของปัจจุบันนี้ทางกระทรวงแรงงานเรามีการ พัฒนาในเรื่องของการ Reskill Upskill และ New Skill ซึ่งก็อย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ได้กล่าวว่าวันนี้เครื่องจักร Robot หรือ AI เข้ามาทำงานทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งก็แน่นอน ส่วนใดส่วนหนึ่งตรงนั้น แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ ส่วนซึ่งเราคิดว่าแรงงานคนยังมีความจำเป็น ในการที่จะต้องมีการพัฒนาให้ได้มากยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะมีการพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ และรองรับเรื่องของ Disruptive Technology รวมถึงการดำเนินงาน Reskill ตรงนี้ ทางกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานของเรา เราได้มีการพัฒนาแล้วก็มีการ ลงนามใน MOU ในระหว่าง ๔ กระทรวงด้วยกัน ก็คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง อว. และกระทรวงแรงงาน ซึ่งตรงนี้มันก็จะเป็นการที่จะต่อยอดและให้ความรู้ กับน้อง ๆ ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ว่าในปัจจุบันนี้เราต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ แรงงานรุ่นใหม่ ๆ ที่จะออกมาสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เรามีการลงนามว่าน้อง ๆ ที่จบหรือเข้าเรียนในมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จะต้องมีการให้ครูแนะแนวตั้งแต่ ม. ๑ ม. ๒ ม. ๓ เมื่อน้อง ๆ จบม. ๓ ไปแล้ว น้องจะทราบเลยว่าน้องมีความสามารถและมีความต้องการใน เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นน้องก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะไปในสายอาชีวะหรือไปสายสามัญ หากว่าใครมีความต้องการและมีความถนัดในเรื่องของอาชีวะในวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ตรงนั้นก็สามารถไปทางสายอาชีวะโดยมีระดับตั้งแต่ ปวช. ปวส. และต่อยอดสุดท้าย คือระดับปริญญาตรี ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมคิดว่ามันก็จะเป็นการตอบโจทย์ว่าเด็กรุ่นใหม่ ที่จบระดับ ปวช. ปวส. หรือระดับปริญญาตรีจบออกมาแล้วทุกคนต้องมีงานทำ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับในส่วนหนึ่งว่าน้อง ๆ นักศึกษาที่จบปริญญาตรีเป็นกลุ่มที่ตกงานมากที่สุดใน ขณะนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานเราก็พยายามที่จะเชิญชวนน้อง ๆ ที่จบปริญญาตรีและไม่ตรงกับ สาขาที่ตัวเองอยากจะเรียนและอยากจะไปทำงาน ตรงนี้เราก็มีการเชิญน้อง ๆ มา Reskill Upskill และอบรมในวิชาชีพพี่น้องมีความสนใจ ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เราน่าจะแก้ปัญหาในระดับ หนึ่งได้นะครับ
ส่วนในเรื่องของการที่จะมีการตั้งกองทุนพัฒนาและการออกคูปองนะครับ สำหรับการฝึกอบรม เราจัดตั้งศูนย์อบรมการเชื่อมโยงการฝึกอบรม และรูปแบบธนาคาร เครดิต ก็ขอตอบรวมถึงธนาคารเครดิตไปเลยนะครับ ก็ต้องขอกราบเรียนท่านประธานสภา ไปยังท่านสมาชิกว่าเป็นเหตุบังเอิญเช้านี้กระทรวงแรงงานและกระทรวง อว. เรามีการ ลงนาม MOU ร่วมกัน ในเรื่องของธนาคารเครดิตของ ๒ กระทรวง คำว่า ธนาคารเครดิต ตรงนี้ก็คือเป็นการที่คนที่มีความสามารถและมีการทำงานมีความ เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สามารถเอาความเชี่ยวชาญตรงนั้นมาเทียบเป็นหน่วยกิตและสามารถ ไปฝาก ซึ่งทางกระทรวง อว. มีการเตรียมความพร้อม แล้วก็ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรากำลังจะทำ Platform ในเรื่องของเครดิตแบงก์ตรงนี้ ว่าใครที่อยากจะไปต่อ สมมุติว่า ผมจบ ปวส. กำลังอยากจะเข้าในหลักสูตรปริญญาตรี เราก็จะเอาความเชี่ยวชาญตรงนี้ มาเทียบเป็นหน่วยกิต และทำการศึกษาจบให้ได้ในระดับปริญญาตรี ซึ่งในส่วนตรงนี้ขณะนี้ เรามีการร่วมกับราชมงคลทั้ง ๙ แห่ง บวกอีก ๑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการทำเรื่อง เครดิตแบงก์ตรงนี้ ซึ่งจะมี ๒ สาขาด้วยกันก็คือสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งก็คงจะรวมเรื่อง Robot หรืออะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เกี่ยวกับเทคนิค แล้วอีกส่วนหนึ่งที่ร่วมกับทาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เป็นเรื่องของการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ไปจับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าหากเราทำเรื่องเครดิตแบงก์ ตรงนั้นเรียบร้อย สำหรับคนที่จะเอาความเชี่ยวชาญไปเทียบเป็นหน่วยกิต สามารถลดได้ถึง ๓๐ หน่วยกิต และประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าหน่วยกิตประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท แล้วลดระยะเวลาการศึกษาไปได้ประมาณ ๑ ปีครึ่ง ซึ่งผมคิดว่าต่างสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเป็น การตอบสนอง แล้วก็เป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่มีความรู้ มีความสามารถ และมีความ เชี่ยวชาญ สามารถไป Upskill ในวิชาชีพที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญให้ได้ถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งผมก็ขอชี้แจงท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ การที่จะมีการสร้างแรงจูงใจ ให้กับน้อง ๆ ที่จะเข้าสู่การทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา ก็อย่างที่ผมได้กล่าวเรียนไป เบื้องต้นว่าเราต้องทำความเข้าใจแล้วก็สร้างแรงจูงใจว่าน้อง ๆ ที่สำเร็จ ม. ๓ เราอยากจะ เรียนในสายวิชาชีพหรือสายสามัญ เพราะฉะนั้นการสร้างแรงจูงใจตรงนี้ก็คือหมายความว่า เมื่อคุณสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว คุณมั่นใจได้ว่าคุณมีงานทำแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่อง ของสายวิชาชีพ ในขณะนี้การผลิตของสายอาชีวะผลิตออกมาไม่พอที่จะป้อนเข้าสู่สถาน ประกอบการต่าง ๆ แล้วโดยเฉพาะสถานประกอบการในเรื่องของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ของโรงงานในเรื่องของเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถยนต์ เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ หรือเกี่ยวกับ สถานประกอบการอื่น ๆ ตรงนี้ก็ต้องขอเรียนเลยนะครับว่าวันนี้สิ่งต่าง ๆ ตรงนี้เราผลิตไม่ทัน แต่ถ้าหากว่าน้องอยากจะไปเรียนสายสามัญ น้องก็ต้องมีความมั่นใจว่าเมื่อจบออกมาแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ตามเพื่อน ตามที่พ่อแม่อยากได้ หรือจากการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อต่าง ๆ ว่า วิชาสาขานี้ดี โน้นดี นี้ดี นั่นดี นั่นหมายความว่าเราต้องรู้และมั่นใจว่าสิ่งที่เราอยากจะเรียน เราต้องเรียนให้จบ ในประเด็นที่ ๑
ประเด็นที่ ๒ ก็คือหมายความเมื่อจบแล้ว เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราสำเร็จมา เราพอใจที่จะไปทำงานในวิชาชีพที่เราสำเร็จการศึกษา เพราะฉะนั้นการแนะแนวการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง อว. ตรงนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจและเป็นการทำ ความเข้าใจให้กับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาในการที่จะเลือกสายอาชีพและวิชาที่น้อง อยากจะไปเรียน แต่ในส่วนที่ผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ก็อยากจะบอกว่าวันนี้ถึงแม้นว่า เมื่อคุณเรียนไปแล้วคุณไม่มีความต้องการอยากไปทำงานในสายอาชีพก็ไม่เป็นไรครับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานของเราพร้อมที่จะเชิญชวนให้พวกท่านมาอบรมสัมมนา ทั้งของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเองและของสถานประกอบการที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนา ฝีมือแรงงานเราได้ไป MOU อยู่ ซึ่งผมบอกได้เลย สำหรับเป้าหมายของปีนี้ของกรมพัฒนา ฝีมือแรงงานเรามีเป้าหมายการจัดฝึกอบรมประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ตำแหน่ง แต่เรามีการ MOU กับสถานประกอบการ โรงงานต่าง ๆ อีกประมาณสัก ๓,๕๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมเราก็จะมีการ Upskill Reskill ทั้งหมดนี้ใกล้เคียงเกือบ ๆ ๔ ล้าน ตำแหน่ง แต่ทั้งสิ้นทั้งปวงตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเราก็จะมีการเชิญชวนว่าคนที่ สำเร็จการศึกษาถ้ามีความรู้และทักษะในวิชาชีพโดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าเราก็ สามารถที่จะต่อยอดเพื่อส่งไปอบรมไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรามี MOU กับหลาย ๆ สถานประกอบการ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งน้อง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาไปต่อยอดที่ประเทศญี่ปุ่นเป็น ระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดถามว่าแรงจูงใจอยู่ตรงไหน แน่นอนกระทรวงแรงงานเรา ก็คงจะต้องทำการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้เด็กที่จะจบออกมาใหม่ทุกคนได้ทราบว่าสิ่งที่ ท่านเรียนจบมาท่านจะมีโอกาสก้าวไปสู่ในระดับประเทศที่เป็นวิชาชีพที่มีค่าแรงไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท สำหรับปริญญาตรีในปัจจุบันนี้ และทางนโยบายของรัฐบาลของท่านนายก เศรษฐา ทวีสิน ก็ตั้งเป้าไว้ว่าในปี ๒๕๗๐ น้อง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีควร จะมีรายได้เดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท อีกส่วนหนึ่งสำหรับการที่มีนักศึกษาหรือนักเรียนหรือ น้อง ๆ อยากจะต่อยอดไปถึงการไปฝึกอบรมในต่างประเทศ ขณะนี้กระทรวงแรงงานเรา ก็พยายามที่ประสานกับสถานประกอบการต่าง ๆ ที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศเพื่อส่งให้ น้องเหล่านี้ได้มีโอกาสไปอบรมและฝึกงานในต่างประเทศในบริษัทแม่ที่อยู่ในประเทศต้นทาง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแรงจูงใจให้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาสู่ระบบการทำงาน ในรูปแบบใหม่ คือหมายความว่ามีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนสำเร็จการศึกษาครับ