ก็จะมีคำแถลง ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนะคะ เรื่องรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพนะคะ ดิฉัน นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอกราบเรียนว่าตามมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-๑๙ เพิ่มเติมนะคะ ก็ได้บัญญัติไว้ว่าในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงินและการเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้การรายงาน การกู้เงินและการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้นำความในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดกู้เงินโควิด-๑๙ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดกู้เงินโควิด-๑๙ ก็บัญญัติไว้ว่า ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังรายงานการกู้เงินตาม พระราชกำหนดที่ได้กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงาน ดังกล่าวอย่างน้อยก็ต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ กระทรวงการคลังก็ขอรายงานผลการกู้เงินตามพระราชกำหนดกู้เงินโควิด-๑๙ เพิ่มเติม ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ที่ได้ดำเนินการมาดังนี้ค่ะ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ กระทรวงการคลังก็ได้ลงนามในสัญญากู้เงิน แล้วออกตราสารหนี้จำนวนรวม ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ ของวงเงินกู้ตามพระราชกำหนด โดยเป็นการกู้เงิน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จำนวน ๑๔๔,๑๖๖.๓๕ ล้านบาท และปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จำนวน ๓๕๕,๘๓๓.๖๕ ล้านบาท และ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นสิ้นปีงบประมาณ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงาน หรือโครงการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอ จำนวน ๒,๕๓๙ โครงการ โดยมีหน่วยงานที่ขอยกเลิกโครงการจำนวน ๑๗๒ โครงการ คงเหลือโครงการทั้งสิ้น จำนวน ๒,๓๖๗ โครงการ วงเงินรวม ๔๙๙,๕๒๑ ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน ๔๗๓,๗๙๗.๙๗ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๔.๘๕ ของวงเงินอนุมัติ อย่างไรก็ดี ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ มีโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ดำเนินการ แล้วเสร็จ จำนวน ๒,๓๐๓ โครงการนะคะ และ สบน. ก็ได้ดำเนินการว่าจ้างกิจการร่วมค้า (Joint Venture) บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำกัด และมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบาย เศรษฐกิจการคลัง เรียกว่า กลุ่มที่ปรึกษา เพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการ ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจาก การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ ร่วมกับ สบน. โดยได้มี การสุ่มประเมินโครงการตามหลักทางสถิติจำนวน ๒๕๐ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๒๓ ของวงเงินอนุมัติ โดยมีผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ Grade A หรือดีมาก ๒.๖๙ คะแนน ซึ่งมีผลการประเมินแต่ละแผนงานดังนี้ค่ะ
แผนงานที่ ๑ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ มีผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ Grade A หรือดีมาก ๒.๘๘ คะแนน ซึ่งเป็นโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติ จำนวน ๔๕ โครงการ ภายใต้กรอบวงเงินกู้ประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้วจำนวน ประมาณ ๒๐๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๑.๔๐ ของวงเงินอนุมัติ โดยมีการ ดำเนินโครงการที่สำคัญ เช่น การจัดซื้อวัคซีนโควิด-๑๙ จำนวน ๘๗.๖๖ ล้านโดส การสนับสนุนค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน ๑๓๕,๕๐๐ กว่าล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ติดเชื้อที่ไร้สิทธิ จำนวน ๑,๓๔๗ ล้านบาท การสนับสนุนค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน ๙,๔๖๓ กว่าล้านบาท
แผนงานที่ ๒ คือแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา มีผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับ Grade A หรือดีมาก ๒.๕๕ คะแนน โดยโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ จำนวน ๓๑ โครงการ ภายใต้กรอบ เงินกู้ ๑๕๕,๔๓๕ กว่าล้านบาท เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว ๑๕๓,๓๘๐ กว่าล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๘.๖๘ ของวงเงินอนุมัติ โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ เยียวยาผู้ประกันตน ตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ รวมทั้งสิ้น ๑๑.๙๔ ล้านราย การช่วยบรรเทา ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค จำนวน ๒๘.๒๗ ล้านราย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี จำนวน ๑๑,๒๐๑ ราย และเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน ๓๐,๔๙๑.๖๗ ล้านบาท
สำหรับแผนงานสุดท้ายนะคะ แผนงานที่ ๓ แผนงานหรือโครงการที่มี วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ มีผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับ Grade B หรือ D ๒.๕๔ คะแนน โดยโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ จำนวน ๒,๒๙๑ โครงการ ภายใต้กรอบวงเงินกู้ ๑๒๓,๙๘๙ กว่าล้านบาท เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน ๑๑๙,๒๔๐ กว่าล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๑๗ ของวงเงินอนุมัติ โดยมีนายจ้างกลุ่ม SMEs ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน ๒๔๐,๗๑๘ ราย มีการรักษาระดับการจ้างงานเดิม จำนวน ๓,๒๕๖,๑๓๘ ราย และการจ้างงานใหม่ จำนวน ๑๗๖,๙๘๗ ราย มีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีนวัตกรรมจากวัตถุท้องถิ่น ๔๕ ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ การดำเนินโครงการในพื้นที่เศรษฐกิจฐานรากสามารถขยายช่องทางการสัญจรให้ง่ายต่อการ เชื่อมต่อของผู้บริโภคด้วยค่ะ ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะนำผลสัมฤทธิ์ของโครงการดังกล่าว มาใช้ในการปรับปรุงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบค่ะ
ขอกราบขอบพระคุณ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่มีข้อสังเกต คำแนะนำ แล้วก็คำถาม เรื่องการกู้เงิน ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔
ในเรื่องของท่านแรก ท่านสิทธิพล ก็ขอขอบพระคุณท่านนะคะ มีข้อสังเกต จากท่านเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขณะนี้ปัจจุบันกรมบัญชีกลางก็ได้มีการปรับปรุง ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการเร่งกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างได้ในกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนนะคะ ตามนโยบายของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหา เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ในเรื่องนี้จะช่วยให้หน่วยงานสามารถ ดำเนินการได้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากสถานการณ์เร่งด่วน ในขณะนั้นในช่วงโควิด จึงอาจมีความล่าช้าบ้าง ซึ่งก็จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมต่อไปนะคะ นอกจากนี้ท่านยังได้ให้ข้อสังเกตในหลาย ๆ ด้านที่เป็นประโยชน์ ทางรัฐบาลโดยเฉพาะทาง สบน. ก็จะรับไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อสังเกตต่อไปนะคะ
ในส่วนของท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ซึ่งก็ได้มีข้อสังเกตในเรื่องของการยกเลิก โครงการนะคะ แล้วก็เรื่องของแผน ๒ และแผน ๓ ที่ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็น Big Data เพื่อให้ดำเนินการให้กลุ่มประชาชนได้ถูกกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น แล้วก็แผน ๓ ในเรื่องของ การวางแผนบริหารความเสี่ยง ในเรื่องของภาคการเกษตร เพื่อไม่ให้มีการซ้ำซ้อนและเกิด ประโยชน์สูงสุด ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะก็ขอรับไปดำเนินการต่อไปนะคะ
ในส่วนที่ ๓ ท่านนิพนธ์ คนขยัน ที่มีข้อสังเกตเรื่องของเงินชดเชยเจ้าหน้าที่ เรื่องตามแผน ๑ เรื่องของสาธารณสุข ก็ขอกราบเรียนว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามบัญชีแล้ว แต่อาจจะติดเรื่องกระบวนการในขั้นตอนในการตรวจสอบเอกสาร ความถูกต้องทำให้เกิด ความล่าช้าไปบ้างนะคะ
ในส่วนท่านโอชิษฐ์ก็ได้มีข้อสังเกตในเรื่องเดียวกันนะคะ ในเรื่องของ ข้อสังเกตเรื่องค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดที่นอกสังกัดของ กระทรวงสาธารณสุข อันนี้ทาง สบน. ก็เห็นควรว่าจะต้องมีการรวบรวมบูรณาการข้อมูล จัดทำฐานข้อมูลในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของสาธารณสุขตามแผน ๑ ให้เป็นระบบ เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือครอบคลุมกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วนค่ะ
ในส่วนท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ก็ขอขอบพระคุณข้อสังเกตใน ๕ ประการ ที่ท่านให้ไว้ด้วยนะคะ เช่นเดียวกับของท่านเกรียงศักดิ์ที่ให้ข้อสังเกตไว้ในหลาย ๆ เรื่อง ที่เป็นประโยชน์นะคะ
สำหรับท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ทางกระทรวงการคลังก็ขอขอบพระคุณ คำแนะนำจากท่านนะคะ เนื่องจากว่าขณะนี้เราใช้นวัตกรรมทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ โดยเฉพาะผ่าน Mobile Application แล้วก็ระบบ Marketing Application หลาย ๆ ช่องทางนะคะ กระทรวงการคลังก็จะรับไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงให้การใช้เงิน แล้วก็มีการ หมุนเวียนทางการเงินในประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของฐานภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อไปค่ะ
ในส่วนของท่านนพพล เหลืองทองนารา ก็ขอรับข้อสังเกตจากเรื่องของ การเก็บอัตราภาษีที่แตกต่างไปจากเดิม แล้วก็ในส่วนของข้อสังเกตในโครงการแผน ๓ ที่มีการเบิกจ่ายน้อย สำหรับแผนงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการเป็น โครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการที่จะจัดทำ Application เพื่อขายสินค้า การเกษตร Online แต่เนื่องจากการติดปัญหาการดำเนินการของหน่วยงานไม่สามารถ จัดหาผู้อบรมผู้ประกอบการได้ จึงขอยกเลิกโครงการในท้ายที่สุดค่ะ จึงขอกราบเรียน ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เพียงเท่านี้นะคะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ
ขอเรียนคุณหมอ โอชิษฐ์นะคะ ในเรื่องแผนงานในการสนับสนุนผู้เสี่ยงภัย ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของ โครงการแผนงานแผน ๑ ในส่วนที่นอกเหนือจากสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขนะคะ อย่างไรก็ดีก็มีบทเรียนสามารถถอดบทเรียนข้อเสนอแนะไว้ได้ว่าในระยะต่อไป หากมี เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นก็จะต้องมีการบูรณาการฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นใน Sector ไหน ก็ตามนะคะ ในเรื่องนี้ก็จะเป็นบูรณาการในเรื่องฐานข้อมูลด้านสาธารณสุขก็ควรจะ ครอบคลุมทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงสาธารณสุขก็ตามหรือว่า กระทรวงมหาดไทยก็ตาม หรือว่าสังกัดของ อว. ก็ตามหรือว่ากรุงเทพมหานครนี้ให้มี ฐานข้อมูลเดียวกัน ไม่ให้มีความเรียกว่าความไม่ครบถ้วนหรือว่าเหลื่อมล้ำของผู้ได้รับ ประโยชน์ ขอบพระคุณค่ะ
ขอขอบพระคุณ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านนะคะ ในข้อสังเกต คำแนะนำ ความเห็น ดิฉันขอเรียน ชี้แจงประเด็น ข้อสังเกตของท่านดังนี้นะคะ
สำหรับท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ที่ท่านได้มีข้อสังเกตในประเด็นเรื่อง ของการประเมินผลโครงการ ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะใช้หลักเกณฑ์การประเมินผล โครงการตามหลักสากลของ OECD โดยมีการประเมินผล ๕ ด้านด้วยกัน คือด้านของความ สอดคล้องประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการของหน่วยงาน ประสิทธิผล ผลกระทบแล้วก็ ความยั่งยืน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว ก็พบว่าอาจจะตก ในเรื่องของประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและผลกระทบจากโครงการ ซึ่งผู้ประเมิน ก็ได้ให้ข้อสังเกตว่า ภาครัฐไม่ควรใช้นโยบายเหล่านี้บ่อยครั้ง เนื่องจากจะเป็นการบิดเบือน กลไกของการตลาด แก้ไขปัญหาในระยะสั้น จึงควรเน้นให้ดำเนินนโยบายให้เกิดการพัฒนา ในระยะยาว เช่น อุดหนุนปัจจัยการผลิต นำงานวิจัยพันธุ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การขยายตลาด เป็นต้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ท่านยังมีข้อสังเกต เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สาธารณะ แล้วก็เรื่องหนี้ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะ เช่น หนี้ของ อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหนี้ ภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งดิฉันขอเรียนว่าตามมาตรา ๗๗ ของ พ.ร.บ. วินัยทางการเงินการคลัง กระทรวงการคลังก็ได้รายงานการเงินทุก ๆ สิ้นปีงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นรายงานของ รัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอคณะรัฐมนตรีหลังสิ้นปีงบประมาณ แล้วก็เปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย ในมาตรา ๗๘ ก็เช่นเดียวกันนะคะ ของพระราชบัญญัติวินัยทางการเงินการคลัง ภายในมีนาคมของทุกปีกระทรวงการคลัง ก็จะต้องจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลัง รวมทั้งผลกระทบของเศรษฐกิจเชิงมหภาค ระบบการเงิน ผลการดำเนินงานของรัฐที่อาจก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล แล้วก็ แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วยนะคะ
ในส่วนของ ท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม แล้วก็ท่านศรีโสภา โกฏคำลือ ก็ขอน้อมรับไว้นะคะ ขอขอบคุณในคำแนะนำ ข้อสังเกต โดยเฉพาะในโครงการที่มีการ ประเมินผลลักษณะของโครงการทั้งภาคการเกษตร หากมีโครงการลักษณะนี้อีกทาง สบน. แล้วก็กระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการทาง สบน. ก็จะประสานงานไป แล้วก็เพื่อให้นำบทเรียนที่ได้รับไปใช้ในการจัดทำโครงการในอนาคตนะคะ
สำหรับข้อคิดเห็นข้อสังเกตของ ท่านนิพนธ์ คนขยัน ท่านพชร จันทรรวงทอง ก็ขอรับข้อสังเกตเอาไว้นะคะ
สำหรับ ท่านฐิติมา ฉายแสง ที่ได้กรุณาพิจารณาโครงการขยายการประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค ก็ขอเรียนว่าโครงการขยายเขตการประปาของการประปา ส่วนภูมิภาคนี้ ถ้าจะขอมาเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะ คือขอกู้เงินนี้ก็จะต้องดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อย่างที่ใน พ.ร.บ. บริหาร หนี้สาธารณะ มาตรา ๙ ได้กำหนดไว้ คือหน่วยงานนี้ก็คือการประปาส่วนภูมิภาคจะต้อง เสนอโครงการ พร้อมทั้งรายละเอียดความพร้อมความจำเป็นของแผนงาน แผนเงินของ โครงการนี้ต่อหน่วยงานต้นสังกัดก่อน คือกระทรวงต้นสังกัดก่อน หลังจากนั้นกระทรวงก็จะ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะต้องไปผ่านทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติพิจารณาตามหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ ซึ่งหลัก ๆ แล้วก็คือพัฒนา ความจำเป็นและความพร้อม ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการ หลังจากนั้น ทางกระทรวงการคลังก็จะพิจารณาเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะเพื่อดำเนินการกู้เงินต่อไปค่ะ ขอกราบเรียนไว้เพียงเท่านี้นะคะ ขอขอบพระคุณค่ะ