ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนี ไชยรส

  • ขอกราบเรียนประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุนี ไชยรส จากบริบทสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ขออนุญาตที่จะนำเสนอให้ชัดเจนว่า ทำไมจึงต้องเข้าชื่อกันเพื่อร่างกฎหมายเสนอในนาม ของภาคประชาชนให้มีกฎหมายฉบับนี้ จริง ๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ต้องการลักษณะ เขาเรียกว่า ต้องการอภิสิทธิ์พิเศษใด ๆ ให้กับชนเผ่าพื้นเมือง แต่ว่าเนื่องจากมีลักษณะที่จำเพาะออกมา ว่ามีทั้งในเชิงบวกของการที่ได้มีวัฒนธรรม ประเพณี ที่จำเป็นต้องสืบสานอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะที่อาจจะถูกกลืนหรือกระทั่งถูกคุกคาม ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนาหลายอย่างที่สำคัญ ๑. คือว่าชนเผ่าพื้นเมืองก็เป็นพลเมือง ของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะพลเมือง ๒. คือว่า วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย เป็นที่ยอมรับของ ประชาชนทั้งประเทศไทยและทั่วโลก เป็นแหล่งที่ผู้คนมาศึกษาเรียนรู้ เป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่ควรจะได้รับการสืบทอดต่อเนื่องทั้งในเชิงภาษา ที่สำคัญมีศักยภาพ ที่จะสามารถดำรงความเป็นชนเผ่า สร้างอัตลักษณ์ของตัวเองในความหลากหลายนี้ได้ อย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเองก็มีมาตราที่ชัดเจนที่จะรับรอง ส่งเสริม คุ้มครอง ให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมของตัวเอง รักษาวิถีชีวิตของตัวเอง อัตลักษณ์ของตัวเอง รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๓ และมาตรา ๗๐ จึงเป็นที่มาของการ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ๓. คือว่าประเทศไทยเองอยู่ในมิติที่สหประชาชาติให้การรับรองปฏิญญา ของสิทธิปวงชนพื้นเมืองมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แล้วก็มีกติการะหว่างประเทศอีกหลายฉบับ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรับรองภาวะของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตเสนออีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าประเทศชาติของเรา ประเทศไทย และกลุ่มชนเผ่าจะได้รับประโยชน์อะไรจากกฎหมายฉบับนี้ ข้อแรกคือทำให้ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศนี้ได้รับการรับรองสิทธิและความเสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มรดกวัฒนธรรมเองก็ได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองต่อเนื่อง มีความมั่นคงในวิถีชีวิตในพื้นที่ ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐได้อย่างเสมอภาค ที่สำคัญ จะเป็นกลไก การมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นกลไกที่ประสานงานทั้งในส่วนของชนเผ่า ทั้งในส่วนภาคเอกชนและภาครัฐที่จะช่วยกันดำเนินงานให้ไปสู่การกำหนดการพัฒนา ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง รัฐบาลไทยเองก็จะถูกยอมรับจากอารยประเทศ จากสหประชาชาติว่าได้ให้การยอมรับที่จะส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง อย่างสง่างาม ขอให้นึกถึงภาพว่าการมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองคือกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การที่ ร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งในส่วนของพี่น้องชนเผ่าแล้วก็ในส่วนของภาครัฐ โดยสรุปหลักการสำคัญของร่างกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองฉบับเข้าชื่อนี้ สะท้อนให้เห็นชัด ว่าปัญหาของพี่น้องชนเผ่านั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงกฎหมาย และนโยบายที่จำเป็น จะต้องมีกฎหมายขึ้นมารับรองอย่างถูกต้อง มีมาตรการเฉพาะที่เหมาะสม ช่วยลดความ เหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม นี่เป็นที่มาของการที่จำเป็นต้องมีร่างกฎหมาย สภาชนเผ่าพื้นเมือง ขอบพระคุณค่ะ ขอเชิญคุณเกรียงไกร ชีช่วง นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • สุนี ไชยรส ค่ะ มีความรู้สึกว่าพี่น้องชนเผ่าที่กำลังฟังอยู่ทั่วประเทศน่าจะภาคภูมิใจอย่างสูง เพราะว่าท่านสมาชิกผู้มีเกียรติได้แสดงตัวตน ได้แสดงอัตลักษณ์ ของความเป็นชนเผ่า หรือเชื้อชาติของท่านออกมา นั่นคือความภาคภูมิใจที่มีนัยสำคัญอย่างสูง เพราะว่าจะทำให้ สิ่งที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องการก็คือการยืนยันตัวตน ความภาคภูมิใจ ในตัวตน แล้วก็หวังว่าประสบการณ์ที่ท่านมีหลากหลายทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงบวก คือการส่งเสริมและการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพหลาย ๆ เรื่องจะช่วยมาเติมเต็มร่างกฎหมาย ฉบับนี้ ขออนุญาตนะคะ ขอพาดพิงไปถึงท่านชูศักดิ์ ศิรินิล หวังว่าท่านจะยังอยู่ที่นี่ พาดพิง ในทางดีค่ะ ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ท่านตั้งประเด็นข้อสังเกตในฐานะนักกฎหมาย เป็นเรื่องที่ ขอแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนนะคะ ทำไมจึงไม่มีจุดเกาะเกี่ยว แท้ที่จริงมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างมาก เนื่องจากว่ากฎหมายสภาชนเผ่าของนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ สำนักนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้ประสานงานที่จะคอยจัดการเรื่องต่าง ๆ ขณะเดียวกัน สิ่งที่คุณศักดิ์ดาได้พยายามชี้แจงก็คือว่า ทำไมจึงไม่ใช้งบประมาณของรัฐ อยากใช้มากเลยค่ะ เพียงแต่ว่าพยายามหาเอง ด้วยการพยายามระดมทุนจากการบริจาคหรือการหาเองของ สภาชนเผ่าพื้นเมือง และหวังว่าเมื่อมันมีตัวตนขึ้นมา หน่วยงานรัฐซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรี ร่วมอยู่ด้วย จะช่วยกรุณาสนับสนุนกิจกรรม โครงการ นโยบายต่าง ๆ ซึ่งนั่นจะเป็นเรื่องของ งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสภาชนเผ่าไม่อาจไปก้าวล่วงได้ เป็นเรื่องการตัดสินใจของรัฐ แต่ว่าทางสภาชนเผ่าร่างกฎหมายด้วยความหวังว่า เราจะพยายามหาเงินทุนมาสนับสนุน ลดงบประมาณของรัฐ อีกจุดหนึ่งที่อยากจะเรียนท่านก็คือว่ามีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทำไมจึงมีสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ อยู่ในกองทุนที่แม้จะไม่ใช่เงินของรัฐโดยตรง แต่ว่าก็อยากต้องการพิสูจน์ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่สภาชนเผ่าหรือกรรมการบริหาร ดำเนินงานมานั้นมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่แพ้เงินของราชการ ก็จะทำให้สามารถ ที่จะมีการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แล้วก็มีสำนักงบประมาณ มีสำนัก นายกรัฐมนตรี ร่วมอยู่ด้วย ขณะที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแน่นอนว่าเป็นผู้รักษาการ แต่ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ต้องมาทำตามคำสั่งของสภานะคะ ดิฉันคิดว่าจุดเกาะเกี่ยวเหล่านี้ มีอยู่ และหวังว่าประสบการณ์ของท่านสมาชิกทุกท่านจะช่วยนำพาให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ นำไปสู่สิ่งที่มันยังบกพร่อง ยังมีจุดอ่อน แล้วก็นำไปสู่การแก้ไขที่สมบูรณ์ ขอความกรุณาว่า ขอโอกาสให้กฎหมายเข้าชื่อของประชาชนฉบับนี้ เป็นฉบับแรกของสภาผู้แทนราษฎรตอนนี้ แล้วก็นำไปสู่การรับหลักการที่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ การเข้าชื่อของ ภาคประชาชน ก็ด้วยความหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมอภิปราย ร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมหารือ ในการเป็นกรรมาธิการวิสามัญของการพิจารณาร่างกฎหมายด้วย ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม