กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เคารพทุกท่านครับ กระผม นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขออนุญาตนำเรียนชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๗ เพื่อกรุณาทราบ กระผมจะขออนุญาตท่านประธานนำเสนอเป็น PowerPoint ประกอบการชี้แจงครับ
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นปัญหา ที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาขออนุญาตกราบเรียนครับว่าได้มีการตรากฎหมาย เป็นการเฉพาะคือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้เพื่อเป็นกรอบทิศทางหลักการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนเพื่อนำเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้นให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อทราบตามลำดับ ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนด ให้มีการทบทวนนโยบายทุก ๓ ปี หรือตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร ที่ผ่านมาครับ สมช. ได้จัดทำนโยบายดังกล่าวมาแล้ว ๒ ฉบับ ซึ่งปรากฏผลสัมฤทธิ์ในการลดระดับความรุนแรง ในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ และจากบริบทดังกล่าวได้นำมาสู่การเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่กลไกปกติของทางราชการ ทั้งการปรับลดพื้นที่การใช้กฎหมายพิเศษ และการถ่ายโอน ภารกิจบางส่วนกลับไปสู่ความรับผิดชอบของหน่วยงานปกติ ในขณะเดียวกันเรื่องของภาพรวม เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการหดตัวและขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปี พบว่าในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี ๒๕๖๐ อีกทั้งที่ผ่านมาศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้มีการเร่งรัดแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งในห้วง ๒ ปี ที่ผ่านมาก็สามารถผลักดันให้ ๔,๔๘๖ ครัวเรือนหลุดพ้นจากเส้นความยากจน โดยในปี ๒๕๖๕ สามารถหลุดพ้นเส้นความยากจนไปได้ ๓๓๗ ครัวเรือน และปี ๒๕๕๖ ได้ ๔,๑๔๙ ครัวเรือน และกราบเรียนว่าในระยะต่อไปมุ่งลดจำนวนครัวเรือนยากจนเพิ่มเติมอย่างน้อย ๑,๐๐๐ ครัวเรือนต่อปี ภาครัฐยังได้พยายามลดเงื่อนไขของปัญหาโดยให้ความช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึง ๓,๑๖๐ ราย รายละเอียดตาม ภาพฉายนะครับ พร้อมทั้งยังได้ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม จนทำให้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อการปฏิบัติงานของภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปี นับตั้งแต่เริ่มการจัดเก็บในปี ๒๕๖๔ เป็นต้นมา รายละเอียดปรากฏตามภาพฉายครับ
นโยบายปัจจุบันได้ผ่านกระบวนการทบทวนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วนมากกว่า ๕๐ เวทีตั้งแต่ก่อนและหลังการจัดทำ ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลายกลุ่มครับ เช่น ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ กลุ่มนักกิจกรรมและคนรุ่นใหม่ กลุ่มสตรี เด็ก และเยาวชน ทำให้มั่นใจได้ว่านโยบายฉบับนี้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ยังได้พิจารณาข้อมูลงานด้านการข่าว และงานวิชาการควบคู่กับการถ่ายทอดเป้าหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติบรรจุในนโยบาย ฉบับนี้ด้วย นโยบายฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี มาแล้วตามลำดับ คือเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ แล้วก็เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖ ตามลำดับ ผมขอเรียนครับว่านโยบายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อคลี่คลายเงื่อนไขของปัญหา โดยกำหนดเป้าหมายในการยุติเหตุรุนแรงอย่างสมบูรณ์ ภายในปี ๒๕๗๐ ควบคู่กับการลด เงื่อนไขของปัญหา นโยบายฉบับนี้ยังยึดมั่นกรอบแนวคิดที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่นโยบายฉบับแรก ได้แก่การน้อมนำหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระราชปณิธาน ของในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ รวมทั้งได้เน้นการแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธีและหลัก สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และบริหารจัดการบนพื้นฐานของสังคม พหุวัฒนธรรม ตลอดจนเน้นการบูรณาการการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างมีเอกภาพ นโยบาย ฉบับนี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ความว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยและมีสันติสุข บนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการบรรลุผล ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ข้างต้นได้กำหนดวัตถุประสงค์รวม ๖ ข้อ มีแนวนโยบายรองรับ ๒๗ ประเด็น ดังนี้
๑. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความสงบสันติโดยปราศจาก เงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในพื้นที่ ประกอบด้วย ๕ แนวนโยบาย รายละเอียดตามภาพฉายครับ
๒. เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยอันเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้มีความต่อเนื่อง และเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อ กระบวนการพูดคุยบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ๓ แนวนโยบาย
๓. เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมและเยียวยาให้เป็นธรรมทั่วถึง และขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม รวมทั้งลดความหวาดระแวงทุกรูปแบบ และฟื้นคืน ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มีแนวนโยบาย ๖ แนว
๔. เพื่อยกระดับการพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โดยมุ่งพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชน ในพื้นที่อย่างแท้จริง ประกอบด้วย ๔ แนวนโยบาย
๕. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของชุมชนให้เกื้อหนุนต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ๕ แนวนโยบาย
๖. เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ๔ แนวนโยบาย
ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้มีการกำหนดกลไกทั้งในระดับ นโยบาย ระดับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ระดับปฏิบัติในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญ กับการเชื่อมโยงการทำงานของกลไกต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ สมช. ยังได้ร่วมกับ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ในฐานะเจ้าภาพมิติงานด้านความมั่นคงและด้านพัฒนาในการจัดทำแผน ปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๕ และมาตรา ๙ (๒) ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดและแผนรองรับรวม ๘ แผนงาน พร้อมทั้งกำหนดหน่วยเจ้าภาพรองรับแต่ละแผนงานอย่างชัดเจนเพื่อนำนโยบายไปสู่ การปฏิบัติ นอกจากนี้ สมช. ยังใช้เครื่องมือทางด้านงบประมาณในเชิงบูรณาการภายใต้ชื่อ แผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. .... เพื่อจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนงานตามที่แผนบูรณาการกำหนด
ขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมว่าในระยะตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ เป็นต้นมา งบประมาณด้านการพัฒนามีสัดส่วนมากกว่างบประมาณด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง เมื่อนโยบายฉบับนี้ผ่านการรับทราบของรัฐสภาแล้วจะได้มีการชี้แจงให้กับหน่วยงาน ภาครัฐเพื่อนำนโยบายฉบับนี้ไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการ โดยจะนำไปสู่การจัดทำ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โครงการ กิจกรรม และงบประมาณ ของหน่วยงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันการประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายอย่างเหมาะสม
ผมขอเรียนเพื่อสร้างความมั่นใจกับทุกท่านว่า นโยบายฉบับนี้ได้ผ่าน กระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและมุ่งหวังให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการร่วมมือ ในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ ทั้งนี้ สมช. และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายฉบับนี้ โดยจะมีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล ขับเคลื่อนนโยบายเป็นระยะ ๆ เพื่ออำนวยการให้เกิดการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ประสาน สอดคล้อง และบรรลุผลสัมฤทธิ์ของนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สุดท้าย สมช. ขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และ สมช. มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะรับประเด็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ทรงคุณค่า ของทุกท่านในวันนี้นำไปขยายผล นำนโยบายฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดภาพตามที่มุ่งหวังไว้ ในวิสัยทัศน์ของนโยบายต่อไป ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นต่าง ๆ ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องที่ทุกท่านได้กรุณาให้ในวันนี้ทาง สมช. ก็จะรับไปประกอบการ พิจารณา อย่างไรก็ตามผมจะขออนุญาตตอบคำถามในส่วนที่รวบรวมได้ แต่ถ้าไม่ครบอย่างไร ก็จะขออนุญาตเพิ่มเติมในโอกาสต่อไปนะครับ
ในประเด็นแรกของท่านรอมฎอน ปันจอร์ เรื่องของนโยบายฉบับนี้ที่พูดถึงว่า ในระยะเวลา ๑๐ ปีมันมีนโยบาย ๓ ฉบับ คือปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๒ แล้วก็ ปัจจุบันก็เป็นร่างที่พิจารณาวันนี้คือ ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ กราบเรียนท่านสมาชิกว่าในช่วงที่ผ่านมา ทางรัฐบาลชุดที่แล้วได้กำหนดให้มีพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในพระราชบัญญัติ ยุทธศาสตร์ชาติก็กำหนดให้มีกระบวนการขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตัวนโยบายตรงนี้ ก็ถูกปรับเรื่องของรูปแบบการบริหารจัดการเป็นแผนระดับที่ ๓ แต่อย่างไรก็ตามก็มี ความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญที่บรรจุไว้ใน พระราชบัญญัติบริหารจังหวัดภาคใต้ก็ถือว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากัน เพียงแต่ว่า ในการบริหารจัดการก็มีกระบวนการขั้นตอนที่จะให้สอดคล้องในภาพรวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามก็ได้มีกระบวนการที่จะต้องใช้เวลาในการนำเสนอผ่านขั้นตอนของสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ทำให้ช่วงเวลาก็ไม่ตรง หรือไม่สามารถจะมีนโยบายตามห้วงเวลา ในทุก ๓ ปีตามที่กำหนดได้ แต่ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่ประเด็นปัญหาทั้งหมด เนื่องจากว่า ในการจัดทำแผนงานโครงการประจำปีก็มีการขออนุมัติใช้นโยบายฉบับก่อนหน้านี้เป็นกรอบ ไปพลางก่อน เนื่องจากว่าเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันอยู่แล้ว แล้วหลักการเนื้อหาก็มีความสอดคล้องกัน แล้วก็ได้นำประเด็นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมาประกอบด้วย อันนี้ก็ขออนุญาตเป็นประเด็นที่ ๑
ประเด็นที่ ๒ เรื่องแผนปฏิบัติการด้านการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกกำหนดขึ้นคู่ขนานกับตัวนโยบาย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ เช่นเดียวกัน กราบเรียนว่าแผนปฏิบัติการตรงนี้ก็เป็นการแปลงวัตถุประสงค์ของ ตัวนโยบายมาเป็นแผน แล้วก็เชื่อมโยงกับตัวยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดไว้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องกัน เนื้อหาก็จะเป็นไปตามหลักการของตัวนโยบายด้วย เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นคนละเรื่องกัน เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอยู่ครับ
ประเด็นถัดมา เรื่องของแนวนโยบายที่ปรากฏที่ท่านเห็นในถ้อยคำต่าง ๆ ก็ต้องกราบเรียนว่าเป็นเรื่องที่ทาง สมช. ได้ไปเปิดเวทีรับฟังอย่างที่กราบเรียนไปตอนต้น ถึง ๕๐ เวที ถ้อยคำต่าง ๆ เหล่านั้นก็มาจากพี่น้องในพื้นที่ จากภาคส่วนต่าง ๆ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันถกแถลง สมช. เมื่อได้ยกร่างนโยบายแล้ว ก็นำฉบับร่างนี้กลับไปให้พี่น้องได้ดูอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็มีการกลั่นกรองอยู่หลายครั้งหลายรอบ ก็ออกมาอย่างที่ปรากฏนะครับ และถ้อยคำต่าง ๆ ก็พยายามให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ก็ขออนุญาตรับข้อสังเกตต่าง ๆ เรื่องจุดเน้นต่าง ๆ คงจะต้องรับไปพิจารณาเกิดความชัดเจนต่อไป ส่วนหัวใจของปัญหา ผมเรียนว่านโยบาย ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ ได้กำหนดรากเหง้าของปัญหาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แล้วรากเหง้าของปัญหาตรงนั้นก็ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงนโยบายฉบับปัจจุบัน ผมขออนุญาต สรุปย่อครับ ขออนุญาตท่านประธานว่า
ประการแรก ปัญหารากเหง้าคือปัญหาเรื่องของบุคคลในพื้นที่ที่อาจจะมี ความคับแค้นจากสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานำมาซึ่งการใช้ความรุนแรง อันนี้มีความเข้าใจได้ รวมถึงเรื่องของสถานการณ์ต่าง ๆ เรื่องอาชญากรรม เรื่องภัยแทรกซ้อน ในพื้นที่ก็จะเป็นผสมผสานกัน ก็เป็นปัญหาในเชิงของบุคคลปัญหาระดับผิวหน้า
ประการที่ ๒ ปัญหารากเหง้าคือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่การปกครอง หรือการบริหารราชการในพื้นที่อาจจะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ศาสนา ของพี่น้องในพื้นที่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดจากันในการที่จะปรับแนวทางให้มีความเหมาะสม ในระยะต่อไป
ประการที่ ๓ ปัญหารากเหง้าคือความละเอียดอ่อน คือเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาอาจจะมีความไม่เข้าใจในส่วนนี้ การปฏิบัติต่าง ๆ ต่อมาก็มีการปรับปรุง แล้วก็ดำเนินการให้ตรงกับแนวทางของคน ในพื้นที่เรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา ถ้ามีความเข้าใจชัดเจนก็จะสามารถประสาน การปฏิบัติ แล้วก็ดำเนินการได้ตรงตามที่พี่น้องต้องการ
สำหรับประเด็นถัดมา เรื่องนโยบายการพูดคุยสันติสุข เดิมที่ใช้คำว่าสันติสุข พูดคุยสันติสุข จริง ๆ แล้วกราบเรียนว่าในภาษาอังกฤษก็ใช้เป็นคำเดียวกันคือ Peace Dialogue เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าในประชาคมระหว่างประเทศได้ยิน ได้ทราบในเรื่องนี้ก็ถือว่า มีความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ตามก็เป็นถ้อยคำที่ใช้ในมุมมองที่แตกต่างกันในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจจะมีถ้อยคำ แต่ในความหมายผมคิดว่าอยากจะให้ไปดูตัวกิจกรรมที่ดำเนินการว่า ดำเนินการในเรื่องอะไร ถ้อยคำนี้เป็นเพียงผิวหน้าที่จะกล่าวถึง แต่ในเนื้อในมีกิจกรรม ที่คิดว่าก็น่าจะสอดคล้องระดับหนึ่งครับ แต่อย่างไรก็ตามก็จะขออนุญาตรับความเห็นต่าง ๆ ไป ในการพูดคุยสันติภาพหลักการสำคัญตามนโยบายก็ชัดเจนว่ากรอบการพูดคุยสันติภาพ จะต้องเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญ มีเงื่อนไขสำคัญไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน อันนี้ ในนโยบายก็เขียนไว้อย่างชัดเจน ขออนุญาตกราบเรียนในส่วนนี้ครับ
ถัดมาขออนุญาตของท่านณัฏฐ์ชนน ประเด็นเรื่องของขบวนการมีจริงหรือไม่ กราบเรียนท่านว่าในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมาก็มีปรากฏสถานการณ์หลายครั้ง หลายช่วงเวลา ประกอบกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านการข่าว ด้านข้อมูลจากในพื้นที่ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งตัวกลุ่มขบวนการเองก็มีการแสดงตัวตนปรากฏที่ชัดเจน อันนี้ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่ามีกลุ่มบุคคล ซึ่งในส่วนของการทำงานเราก็ถือว่าเขาเหล่านั้น มีความเห็นที่แตกต่างจากรัฐ ก็นำไปสู่กระบวนการพูดคุย กราบเรียนว่าคำว่าผู้เห็นต่างจากรัฐ เป็นคำเรียกเพื่อสื่อสาร ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปหมิ่นหรือจะไปแยกปฏิบัติแปลกแยกนะครับ เป็นการเรียกเพื่อนำมาสู่การพูดคุยกันนะครับ ก็เรียนว่าขบวนการมีจริง มีขบวนการ แล้วก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ก็ไม่เป็นไรครับ ขบวนการเหล่านี้เราก็ต้องมี การพูดคุยกัน แล้วขบวนการนี้ก็คงจะต้องเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง จริง ๆ แล้วกราบเรียนว่า คงต้องฟังพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นหลักด้วย
ประเด็นเรื่องของเหตุรุนแรง ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มขบวนการเองก็เคยแสดง การพิสูจน์ทราบตอนที่เรามีการประสานกันให้มีการหยุดใช้ความรุนแรง ทางขบวนการ ก็มีการตอบสนอง นั่นก็สะท้อนว่าขบวนการมีตัวตนจริงที่จะมีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่ อันนี้ขออนุญาตนำเรียนเพิ่มเติมครับ
ส่วน ๔ หน่วยงานในพื้นที่ที่มีความซ้ำซ้อนกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ทาง สมช. เองก็พยายามที่จะมีการบูรณาการประสาน มีการแบ่งมอบภารกิจ ให้เกิดความชัดเจน อันนี้ก็ต้องใช้ขีดความสามารถในการบริหารเพื่อปรับระบบการบูรณาการ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างประสานสอดคล้องกันอย่างมีเอกภาพครับ ทั้งหมดนี้เรียนว่า ในแต่ละแผนงาน ในแต่ละกิจกรรมนี้ได้มีกำหนดเจ้าภาพไว้ ก็พยายามที่จะมีการกำกับติดตาม อย่างไรก็ตามผมก็ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ท่านกรุณาให้ไว้เราก็จะรับไปปรับปรุง แก้ไขให้มีความครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ส่วนประเด็นถัดมาของท่านกมลศักดิ์ ผมอาจจะไม่ครบทั้งหมด เดี๋ยวจะ พยายามให้ครอบคลุมที่สุดนะครับ ปัญหาเรื่องของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ขออนุญาต เรียนว่าตรงนี้ก็เป็นปัญหาจริง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็พยายามเน้นการกำหนดกลไกอย่างเป็นระบบ สร้างเอกภาพตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับพื้นที่ ล่าสุดได้ให้ความสำคัญกับบทบาท กระทรวงมหาดไทยกับจังหวัดที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน โดยเฉพาะกับทาง ศอ.บต. ก็มีการพยายามปรับในส่วนนี้ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เรื่องของการศึกษา อันนี้ก็มีข้อมูลที่ปรากฏอยู่หลายส่วน ต้องขออนุญาต กราบเรียนครับว่าปัจจุบันก็มีความพยายามที่จะยกระดับการศึกษา โดยมีคณะกรรมการ กลไกที่เกี่ยวข้องที่เราไม่ได้กำหนดจากภาครัฐฝ่ายเดียว เราได้เชิญผู้นำศาสนา นักวิชาการ ในพื้นที่เข้ามาร่วมพิจารณาในกลไกดังกล่าว ในการออกแบบหลักสูตรระบบการศึกษา ให้มีความเหมาะสม กราบเรียนว่าพี่น้องในพื้นที่ส่วนใหญ่จะนิยมเรียนศาสนาเป็นหลัก ก็มีความพยายามที่จะประสานสอดคล้องให้เรียนควบคู่กันทั้งสายสามัญและสายศาสนา เพื่อเพิ่มโอกาส แล้วก็เป็นการยกระดับการศึกษาให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีโอกาส ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งการศึกษานี่เองครับ ภาครัฐเองโดยนโยบายก็มีการส่งเสริม ให้น้อง ๆ นักศึกษามุสลิมไปเรียนในต่างประเทศ มีแนวทางปฏิบัติดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำที่จะให้น้อง ๆ เหล่านั้นไปเรียนได้ตรงตามเจตนารมณ์ เรียนทั้งศาสนา เรียนทั้ง สายสามัญ แล้วก็กลับมาสามารถมีงานทำได้ อันนี้ก็มีแนวทางรองรับในการดูแลในช่วง ที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นถัดมา การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขออนุญาตเรียนครับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้ว ขออนุญาตเอ่ยนิดหนึ่งครับ มีแผนที่จะปรับลดภายในปี ๒๕๗๐ จะยกเลิกทั้งหมด ปีละ ๒-๓ อำเภอ จนครบทั้งหมด ๓๓ อำเภอ แต่อย่างไรก็ตามในรัฐบาล ชุดปัจจุบันท่านก็มีนโยบายชัดเจนครับว่าจะพยายามยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ ให้มากที่สุด แล้วก็ครอบคลุมทั้งกฎอัยการศึก แล้วก็ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่จะมีเป้าหมาย ในการปรับลด ที่ผ่านมาก็มีการปรับลดล่าสุดในปี ๒๕๖๖ ถึง ๕-๖ อำเภอ ผมต้องขออภัย ในตัวเลขรายละเอียดนะครับ ถือว่าเป็นการปรับลดที่มากสุดในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามสถานการณ์ครับ โดยการปรับลดมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่สอบถามความเห็น ประชาชนประกอบกับเรื่องของจำนวนเหตุการณ์ จำนวนคดีในพื้นที่ ในการปรับลดครั้งล่าสุด กราบเรียนว่าท่านรองนายกรัฐมนตรีท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็ได้มอบทางกระทรวงมหาดไทย ประสานกับกระทรวงมหาดไทยให้ไปรับฟังความเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการระดมความเห็นกันว่าพื้นที่ไหนควรปรับลด พื้นที่ไหนควรคงไว้ อันนี้ก็พยายามใช้ ข้อมูลหลายส่วนมาประกอบกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายคือต้องการปรับลดให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น เนื่องจากกฎหมายพิเศษเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พยายามดำเนินการเฉพาะเท่าที่ จำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติ แล้วก็เน้นการยับยั้งเหตุเป็นหลัก ในการใช้กฎหมายพิเศษสิ่งที่ใช้มาก คือเรื่องของการซักถาม อันนี้ก็เลยกราบเรียนว่าในการซักถามในกระบวนการปัจจุบันเรามี ระบบตรวจสอบที่มากขึ้น โดยเฉพาะมี พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน ที่เข้ามามีส่วนในการกำกับดูแล ให้มีความรอบคอบ ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประโยชน์จากการซักถามครับ ที่ผ่านมานี้ ปรากฏผลที่สำคัญคือเรื่องของการระงับยับยั้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่จะสามารถไปยับยั้ง เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งล่าสุดศาลท่านรับฟังข้อมูลจากการซักถามที่จะประกอบการ พิจารณาเรื่องคดี และที่สำคัญสามารถนำผลจากการซักถามไปขยายผลทางคดีเพื่อหาต้นตอ ของผู้ก่อเหตุเพื่อมาดำเนินคดีตามกฎหมาย อันนี้ก็มีการดำเนินการที่เรียกว่าเป็นประโยชน์ อันดับ ๑ แต่อย่างไรก็ตามคงใช้เท่าที่จำเป็น ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่จำเป็น ไม่มีความชอบธรรม ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันนี้เป็นเงื่อนไขที่เชื่อมโยงกันครับ
สำหรับประเด็นถัดมา การพูดคุยและสันติสุข กราบเรียนว่าขอบคุณครับ ที่ให้แนวทางเรื่องของความคิดเห็นเรื่องแผนงาน ในชั้นนี้มีแผนอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะมี งบประมาณไม่มากนัก คือแผนงานการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธีที่ สมช. เป็นหน่วย รับผิดชอบอยู่ ก็ใช้งบประมาณไม่มากในการดำเนินการเรื่องกระบวนการพูดคุย ซึ่งไม่ใช่ คุยเฉพาะกลุ่มขบวนการครับ เป็นงบประมาณที่มีกิจกรรมที่ลงมาในพื้นที่ที่รับฟังความเห็น ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย อันนี้ก็มีงบประมาณจำนวนหนึ่งในการดำเนินการ เพียงแต่ว่า ขออนุญาตรับความเห็นเช่นเดียวกันครับ ถ้าตรงไหนไม่ครบจะได้ไปปรับแผนตรงนี้ให้ครอบคลุม มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปีงบประมาณ ๒๕๖๗
ต่อไปของท่านธิษะณา เงื่อนไขของชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา อัตลักษณ์ กราบเรียนครับว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ครับ ที่ท่านยกปัญหา รากเหง้าของปัญหาขึ้นมาที่นำมาสู่การบรรจุไว้ในตัวร่างนโยบาย ไม่ใช่ภาครัฐจะไปกำหนด เริ่มต้นนะครับ เรามีการหารือร่วมกันแล้วก็เปิดใจรับฟังอย่างเรียกว่าตรงไปตรงมาว่ามีปัญหา ตรงไหน อย่างไร ก็เป็นเรื่องจริงครับ อาจจะมีปัญหาเรื่องของความรู้สึกในอดีตที่ผ่านมา ความแปลกแยก เรื่องของประวัติศาสตร์ที่ยังมีความคลุมเครือ ที่มาที่ไปก็เป็นเงื่อนไข ที่นำมาสู่การขับเคลื่อนการต่อสู้ ทั้งด้านการเมือง ทั้งด้านใช้ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นศาสนาก็เช่นกัน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อนำมา แก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องศาสนา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเทศไทยก็ชัดเจนครับว่า มีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา รวมถึงเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม นโยบายฉบับนี้ ก็ให้การเคารพเป็นเรื่องอัตลักษณ์ของทุกคนในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในหลักการ เดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นการมาจากในพื้นที่ มาจากการระดมความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ
สำหรับการใช้กฎหมายพิเศษก็นำเรียนไปแล้วครับว่าใช้เท่าที่จำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติ มีประเด็นเรื่องเลือกปฏิบัติ ก็ขอเรียนว่าไม่เลือกปฏิบัติในหลักการสำคัญ ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อระงับยับยั้ง แล้วก็ถ้าเกิดเหตุการณ์สงบต้องยกเลิก อันนี้ชัดเจนมากครับ ถ้าประกาศอยู่ก็ไม่มีความชอบธรรม ก็จะเป็นนโยบายที่เห็นตรงกันในส่วนนี้ครับ
ส่วนกรณีตากใบ ก็เข้าใจครับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เรื่องนี้ ภาครัฐก็ดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งไปด้วยแล้ว รวมถึงเรื่องของคดีความ ที่เกิดขึ้นก็อยู่ในระหว่างกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดก็เป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องว่าไป ใครผิดใครถูกในตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สมช. ก็จะรับข้อสังเกตของท่านสมาชิกไป เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูจุดที่เป็นจุดอ่อนที่ยังมีปัญหาอยู่ ก็จะรับไปปรับให้เกิด ความชัดเจนยิ่งขึ้น ขออนุญาตต่อไปโดยย่อ ๆ นะครับ
ประเด็นเรื่องของการเห็นต่างจากรัฐ เมื่อสักครู่ผมนำเรียนไปแล้วครับ ที่เรียกผู้เห็นต่างจากรัฐเป็นการเลี่ยงเพื่อการสื่อสาร เราจะไม่เรียกเขาว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุ หรือเป็นกลุ่มขบวนการ พยายามใช้คำกลาง ๆ ครับ คือเพื่อจะได้มีการพูดคุยว่าเราเป็น ประชาชนคนไทยที่มีความเห็นต่างจากรัฐ ก็สามารถพูดคุยเพื่อแก้ปัญหากันได้
ประเด็นถัดมา การมองปัญหาที่แตกต่างกัน อันนี้ก็ขออนุญาตรับข้อสังเกต ของท่านไปครับ ก็พยายามจะไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายการพัฒนา ฝ่ายการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจต่าง ๆ ให้สร้างเอกภาพในการทำงานที่เชื่อมโยง สอดคล้องกัน ก็ไม่อยากให้เกิดภาพที่พัฒนาไปอย่างหนึ่ง มั่นคงไปอย่างหนึ่ง ก็พยายาม ให้หนุนเสริมกัน ขออนุญาตกราบเรียนครับ
ส่วนของท่านซาการียา เมื่อสักครู่ผมตอบเรื่องตากใบไปแล้วก็จะขออนุญาต รับข้อสังเกตของท่านไปด้วยครับ รวมถึงเรื่องของข้อจำกัดปัญหาเรื่องของการนำนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติ
สำหรับของท่านอาจารย์วรวิทย์ ขอบพระคุณท่านที่ท่านกรุณายกประเด็นนี้ ขึ้นมา เรื่องของบทบาท ศอ.บต. เรื่องของ คสช. ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกสภาที่ปรึกษา ซึ่งกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เรียนว่าปัจจุบันมี ๒ ส่วน ผมก็จะตอบ ต่อเนื่องไปด้วยครับ
ส่วนแรก เป็นเรื่องของการ Waive อำนาจบทบาทของ ศอ.บต. ที่กำหนดให้ กอ.รมน. ไปคุม ศอ.บต. ประเด็นแรกอย่างที่ผมกราบเรียนว่าในทางกฎหมายได้มีการยกเลิก ส่วนนั้นไปแล้วครับ ปัจจุบันนี้ ศอ.บต. ในเชิงการบริหารเป็นไปตามปกติในเชิงการบริหาร ของหน่วยงาน ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นกับ กอ.รมน. เหมือนเดิมตามคำสั่ง คสช. เพราะทุกอย่าง ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่ประเด็นที่ ๒ ตรงกับที่ท่านอาจารย์วรวิทย์ พูดถึงครับ ยังมีปัญหา เรื่องสภาที่ปรึกษาอยู่ มีคำสั่ง คสช. ให้ยกเลิกแล้วก็มีการตั้งเป็นกรรมการที่ปรึกษาขึ้นมา ตรงนี้สถานะล่าสุดก็อยู่ในกระบวนการยกเลิกเพื่อจะปรับคืนสู่กลไกปกติ ขั้นตอนอยู่ที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ ศอ.บต. ก็มีการนำเสนอเพื่อให้สำนักงานกฤษฎีกา นำเสนอต่อสภาแห่งนี้เพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่จะเทียบเท่ากัน เพราะคำสั่ง คสช. เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ อย่างนั้นต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ของสภาแห่งนี้ด้วย เพื่อจะได้มีการยกเลิกแล้วก็กลับคืนสภาที่ปรึกษาตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. มาใช้อย่างเต็มระบบ อันนี้ขออนุญาตกราบเรียนในส่วนนี้ครับ
อีกประเด็นเรื่องของนิคมอุตสาหกรรม ขออนุญาตรับความเห็นของท่านไป ในประเด็นที่เป็นปัญหา
ต่อมาของท่านชุติมา เรื่องของ GDP อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทางกระผม ได้รายงานไป ก็ขออนุญาตรับข้อสังเกตต่าง ๆ ไปว่ามันยังเพิ่มในสัดส่วนที่น้อยอยู่ ในภาพรวม ทั้งประเทศนี้จะเพิ่มค่อนข้างมาก ผมกราบเรียนครับว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เป็น เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นักลงทุน นักท่องเที่ยวไม่เข้าพื้นที่คือความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในต่างประเทศเองถึงขั้นประกาศไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ และระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นถ้าการก่อเหตุลดลงสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น จริง ๆ ผมกราบเรียนนะครับ ผมเองไปพัก ๓ จังหวัดบ่อย ผมว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างปกติมาก แต่ภาพลักษณ์ที่ออกไปในต่างประเทศ เป็นภาพเหมือนมีความรุนแรงแบบในตะวันออกกลางหรืออะไรอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้ว มีความสงบโดยรวมนะครับ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วถ้าเหตุการณ์มีความสงบและมีภาพ ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ออกไปอย่างเหมาะสม นักลงทุน นักท่องเที่ยวก็จะเกิดความเชื่อมั่น ที่จะเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น อันนี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญนะครับ ทั้งหมดนี้ก็จะขอรับข้อสังเกตต่าง ๆ ของท่านไป
ส่วนประเด็นถัดมา แนวทางในการกำกับการปฏิบัติ ในการขับเคลื่อนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เราพยายามใช้กลไกในระบบราชการเราโดยมี เครื่องมือเพิ่มเติม คือต้องมีเรื่องของตัวชี้วัด เป้าหมาย ค่าเป้าหมายต่าง ๆ เป็นตัวรองรับ แล้วก็มีการแบ่งมอบเจ้าภาพย่อยลงไปกำกับในแต่ละกิจกรรม ก็ต้องยอมรับว่าบางจุด ยังไม่ครบถ้วนครับ ก็ต้องขออนุญาตรับคำแนะนำของท่านไปเพื่อปรับให้ครบถ้วนสมบูรณ์ มากขึ้น
ขออนุญาตไปประเด็นต่อเนื่อง การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ก็กราบเรียนว่าตรงนี้มีความสำคัญในตัวนโยบายก็เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามศักยภาพ ของพื้นที่ อันนี้รายละเอียดทาง ศอ.บต. ก็ต้องไปพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม แต่จาก ประสบการณ์ที่ผ่านมาสิ่งสำคัญอย่างยิ่งการจะนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ ลงพื้นที่ ต้องสอบถามพี่น้องในพื้นที่ด้วย ต้องเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม หลักศาสนา มีความสำคัญที่ต้องมีความสอดคล้องกัน ก็คงจะต้องดูให้ละเอียดรอบคอบ ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น อันนี้ต้องกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ถัดมาเรื่องของท่านอับดุลอายีมีเรื่องของการศึกษา เมื่อสักครู่นี้ผมนำกราบเรียน ไปแล้วครับว่าก็พยายามในการที่จะปรับแนวทางให้มีความยกระดับมากขึ้น เรียนทั้งสายสามัญ แล้วก็สายศาสนาควบคู่กันไป ส่วนเรื่องของสภาที่ปรึกษาตอบไปแล้วนะครับ
ขออนุญาตไปที่ของท่านซูการ์โน มะทา อำนาจของ ศอ.บต. ที่ คสช. Waive ไปในช่วงที่ผ่านมาก็กราบเรียนว่าได้คืนมาแล้วในอำนาจปกติในเชิงบริหารงาน เหลือเพียงสภาที่ปรึกษาอย่างเดียวที่อยู่ในกระบวนการของกฤษฎีกาที่จะนำมาเสนอต่อสภา แห่งนี้ครับ
ส่วนประเด็นเรื่องของการชุมนุมที่สายบุรี เรื่องการชุมนุมของน้อง ๆ เยาวชน ที่ดำเนินการเรื่องอัตลักษณ์ที่เป็นสิ่งสวยงามวัฒนธรรมในพื้นที่นะครับ ก็เรียนว่าเป็นเรื่องที่ สอดคล้องกับตัวนโยบาย เพียงแต่ว่าอาจจะมีบางส่วนเท่านั้นเองที่อาจจะมีแนวทางที่แตกต่าง อาจจะมีส่วนที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทราบจาก กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้าว่าพยายามใช้กระบวนการพูดคุยกับน้อง ๆ เหล่านั้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน และนำไปสู่การจัดงานร่วมกันในปีต่อมา ส่วนการดำเนินการต่าง ๆ ก็คงมีความละเอียดอ่อน ลักษณะเป็นการพูดคุย หลีกเลี่ยงเรื่องของการดำเนินคดีมากที่สุดครับ ไม่ทำถ้าไม่มีหลักฐาน ปรากฏชัดเจนจริง ๆ อันนี้ก็อยู่ในกระบวนการของการดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายครับ แต่หลักการสำคัญในตัวนโยบายการขับเคลื่อนของภาครัฐไม่ได้ไปขัดขวางเรื่องของ การแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่สวยงามเหล่านั้น ขออนุญาตกราบเรียนว่าเป็นเรื่องที่ ส่งเสริมด้วยซ้ำในส่วนนี้ครับ
ประเด็นถัดมา เรื่องของธุรกิจสีเทา อันนี้แน่นอนคงจะต้องไปดำเนินการ ผมกราบเรียนว่าวันนั้นผมไปอำเภอตากใบไปกับท่านรองนายกสมศักดิ์ครับ พอกลับมาปุ๊บ คืนนั้นก็เกิดเหตุการณ์ มันก็มีเหตุการณ์อย่างนี้ตลอดเวลา ก็คงจะต้องตรวจสอบดูว่า เป็นเหตุการณ์ในเรื่องอาชญากรรมไหม หรือเป็นเหตุการณ์ในเรื่องของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อันนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบกันก็คงต้องไปดูให้ชัดเจนมากขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับเรื่องการศึกษา ขออนุญาตเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ เรื่องของต่ำกว่า มาตรฐาน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ มีแผนงานโครงการที่จะสร้างโรงเรียนต้นแบบที่จะเป็น ประโยชน์ต่อพี่น้องนักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ที่เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูงในการที่จะให้ เด็ก ๆ ในพื้นที่ได้เรียนในโรงเรียนแห่งนั้นก็เริ่มขับเคลื่อนแล้ว เป็นการเริ่มในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ในช่วงที่ผ่านมาก็คิดตรงนี้ค่อนข้างมากแล้วก็จะเริ่มในเรื่องนี้ด้วย
ส่วนของท่านกัณวีร์ เรื่องของร่างนโยบายก็ขออนุญาตรับความเห็นไป เน้นเรื่องของรากเหง้าให้ชัดเจนอย่างที่ผมนำเรียนไปต้องสื่อสาร เดี๋ยวผมก็จะพยายามสื่อสาร ตรงนี้ให้ชัดเจนว่าสาเหตุจริง ๆ มันคืออะไร คงไม่ใช่แก้ตรงผิวหน้าเท่านั้นครับ สำหรับข้อเสนอ เรื่องของ พ.ร.บ. สันติภาพ อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิทธิของทางกรรมาธิการที่จะนำเสนอ ก็เป็นประโยชน์ในเชิงหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพครับ
สำหรับร่างนโยบายฉบับนี้ ร่างนโยบายที่ท่านมีอยู่ในมือครับ กราบเรียนว่า เราได้พิมพ์เป็นหลายภาษาเพื่อให้ทั่วโลกได้รับทราบแนวทางของประเทศไทยครับ มีตั้งแต่ ภาษาอังกฤษ ภาษาที่ ๒ คือภาษามลายู ภาษายาวี ภาษามลายู อักษรรูมี ภาษาอาหรับ ภาษาจีน พยายามเผยแพร่ให้ทุกประเทศทั่วโลกได้เข้าใจในแนวทางของประเทศไทย อันนี้ ก็จะเป็นอันหนึ่งครับ ก็กราบเรียนสุดท้ายว่าการดำเนินการในเรื่องของการบริหารจังหวัด ชายแดนภาคใต้คงต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะจากทาง สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ก็จะต้องหนุนเสริมแล้วก็ผลักดันนะครับ ก็กราบเรียนทาง สมช. ก็พร้อมรับข้อสังเกต คำแนะนำ ข้อติติงต่าง ๆ ไปปรับแก้ไข ให้ครบถ้วนมากขึ้น ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับ กราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ขออนุญาตตอบคำถามนะครับ รายละเอียดอาจจะเพิ่มเติมภายหลังนะครับ ขออนุญาตตอบ เป็นหลักการก่อนว่าแผนปฏิบัติการด้านการแก้ปัญหา จชต. เป็นการแปลงวัตถุประสงค์ของ ตัวนโยบายมาเป็นแผน ประการที่ ๑ นะครับ แล้วการดำเนินการตรงนี้เองครับ เป็นไปตาม ที่กฎหมาย พ.ร.บ. จังหวัดชายแดนภาคใต้บังคับไว้ตามมาตรา ๕ และมาตรา ๙ (๒) ที่กำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นมา แต่บังเอิญว่าแผนปฏิบัติการตรงนี้ก็มี ความเชื่อมโยงกับตัวยุทธศาสตร์ชาติด้วย ก็เชื่อมโยงหลายส่วนนะครับ ในส่วนนี้ก็ขออนุญาตรับ ความเห็นของท่านไปก็แล้วกันครับ เดี๋ยวรายละเอียดต้องกราบขออภัย มันมีรายละเอียด อยู่เนื้อในที่มีบางส่วนที่ท่านถาม เดี๋ยวขออนุญาตเพิ่มเติมในภายหลังครับ