เรียนท่านประธานสภา ตลอดจนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผม นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ให้มาตอบกระทู้ถามในวันนี้ ต้องขอขอบคุณครับท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ได้ตั้งกระทู้ถามถึงราคาข้าวโพดตกต่ำ ด้วยความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมกราบเรียนอย่างนี้ว่าหน้าที่ ของกระทรวงพาณิชย์นั้นภาระหนึ่งก็คือทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรนั้นมีราคาสูงขึ้น ให้พี่น้อง เกษตรกรนั้นสามารถอยู่ได้ในราคาที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องดูว่าสินค้าเกษตรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์ซึ่งต้องใช้อาหารสัตว์เป็นต้นทุนการผลิตถึง ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ มีราคาไม่สูงจนเกินไปที่ทำให้ต้นทุนของการเพาะเลี้ยงสัตว์นั้นสูงขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาวะของการขาดทุน และทำให้พี่น้องประชาชนนั้นอาจจะต้องบริโภค เนื้อสัตว์ที่มีราคาสูงกระทบต่อค่าครองชีพ และมีผลกระทบต่อการแข่งขันในภาคการส่งออก ของเนื้อสัตว์ ผมเรียนอย่างนี้ว่าในภาพรวมนั้นในการดูแลสินค้าเกษตรในส่วนของพืชไร่ไม่ให้ตกต่ำ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการในการดูแลก็คือ ในช่วงที่ผลผลิตพืชไร่ออกสู่ท้องตลาด เราจะมี มาตรการส่งเสริมในการเก็บ Stock ของสินค้าส่วนเกินเพื่อไม่ให้ระบายลงสู่ตลาด และทำให้ มีปัญหาสินค้าพืชไร่นั้นราคาตกต่ำ ซึ่งปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด โดยพยายามที่จะหลีกเลี่ยง การใช้มาตรการจำนำ และหลีกเลี่ยงในการประกันราคา เพราะเชื่อว่าการแทรกแซงลงไป ส่งเสริมในการเก็บ Stock สินค้าพืชไร่นั้นเป็นมาตรการที่ใช้เงินน้อยและทำให้กลไกตลาดนั้น เดินไปได้อย่างปกติ ในอดีตที่ผ่านมานั้นเราใช้มาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรเก็บ Stock พืชไร่ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนให้สถาบันการเกษตรนั้น ช่วยเก็บ Stock โดยรัฐนั้นก็จะช่วยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หรือช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในการเก็บ เช่น ถ้าเป็นข้าวก็ค่าฝากเก็บยุ้งฉาง ตันหนึ่งประมาณ ๑,๕๐๐ บาท แล้วก็ช่วย เรื่องของเมื่อรัฐไปตรวจในการเก็บ ก็เอาหลักฐานในการเก็บนั้นมากู้เงินกับ ธ.ก.ส. ได้ราคา ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของราคา ณ ขณะนั้น นี่คือมาตรการข้อที่ ๑
มาตรการข้อที่ ๒ ก็คือทำอย่างไรให้ผู้รวบรวม ถ้าเป็นข้าวอาจจะเป็นโรงสี หรือผู้ส่งออก ถ้าเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็คงจะเป็นผู้รวบรวม ถ้าเป็นมันสำปะหลังก็คือลานมัน ให้เก็บ Stock ในช่วงฤดูที่สินค้านั้นออกมาโดยรัฐช่วยเสริมเรื่องแหล่งเงินทุน โดยให้ สถาบันการเงินนั้นปล่อยเงินกู้ และรัฐช่วยเรื่องอัตราดอกเบี้ย ในอดีตนั้นช่วยอยู่ประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่สินค้านั้นผลผลิตนั้นออกสู่ท้องตลาด มันสำปะหลังก็ให้เวลา ในการเก็บ Stock ๒-๖ เดือน ส่วนข้าวโพดนั้นให้เวลา ๒-๔ เดือน ในการเก็บ Stock แล้วก็ช่วยเรื่องอัตราดอกเบี้ย ๓ เปอร์เซ็นต์ ผมกราบเรียนอย่างนี้ครับว่าในส่วนของข้าวโพด เลี้ยงสัตว์นั้นปีหนึ่งเราใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ประมาณ ๘ ล้านตัน ในขณะที่ในประเทศนั้น เราผลิตได้อยู่ประมาณ ๔.๘-๕ ล้านตัน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ประมาณ ๓ ล้านตัน นี่คือข้อมูลซึ่งตรงกับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ต้นทุนการผลิตของข้าวโพดนั้นอยู่กิโลกรัมละ ๗.๕๘ บาท นี่คือต้นทุนของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งต่อไร่นั้นจะมีผลผลิตออกมาเฉลี่ยอยู่ประมาณ ๗๐๐-๗๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ และในอดีตเราเคยใช้วิธีการประกันราคาอยู่ตรง ๘.๕๐ บาท ซึ่งถือได้ว่าเกษตรกรนั้นพอจะอยู่ได้ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้สอบถามว่าราคาข้าวโพด ที่เพิ่มขึ้นมาถึง ๑๓ บาท แล้วก็ลดลงมาเหลือเพียง ๑๐ บาท ในช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์ทราบหรือไม่ และมีมาตรการอย่างไร ผมเรียนอย่างนี้ว่ากระทรวงพาณิชย์ ติดตาม Monitor อยู่ตลอดเวลา สาเหตุที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นขึ้นมาถึง ๑๓ บาทในช่วง เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนั้นมาจาก ๒ สาเหตุใหญ่ด้วยกัน สาเหตุแรกก็มาจาก ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดทำให้ราคา ของข้าวโพดนั้นขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นั้นเพิ่มมากขึ้น ปรากฏว่า ในปี ๒๕๖๕ นั้นผู้เลี้ยงสุกรเจอปัญหาโรค ASF ปริมาณสุกรนั้นลดลงประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในอดีตที่มีถึง ๑ ล้านตัว ลดลงมาเหลือเพียง ๕๐๐,๐๐๐ ตัว แต่ในปี ๒๕๖๖ นั้น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้นเพิ่มขึ้นมา ณ ปัจจุบันนี้อยู่ประมาณ ๙๔๐,๐๐๐ ตัว สามารถผลิตหมูขุน สุกรขุน สู่ท้องตลาดได้ประมาณ ๑๘-๑๙ ล้านตัวต่อปี นี่คือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคา ข้าวโพดในต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมนั้นพุ่งขึ้นมาถึง ๑๓ บาท และอีกสาเหตุหนึ่งครับ ธัญพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์ ซึ่งใช้ทดแทนข้าวโพดได้บางส่วน ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากประเทศยูเครนนั้นเกิดสงครามไม่สามารถส่งออกธัญพืชได้ และใน ๒ เดือนที่ผ่านมาเราก็ Monitor ตลอด จะราคาข้าวโพดใน ๒ เดือนลดลงมาจาก ๑๓ บาท เหลือ ๑๐ บาท ก็ด้วยสาเหตุที่เกี่ยวพันกันครับ ประการแรก ก็คือสินค้าเกษตรของประเทศไทยอยู่ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวมีผลผลิตออกมา มากขึ้น และในขณะเดียวกันธัญพืชที่ใช้ทดแทนข้าวโพดได้บางส่วนนั้นประเทศยูเครน สามารถเริ่มส่งออกได้ ทำให้ราคาข้าวโพดนั้นลดลงมาเหลืออยู่ประมาณ ๑๐ บาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กระทรวงพาณิชย์ติดตามมาโดยตลอด ท่านถามว่ากระทรวงพาณิชย์มีมาตรการอย่างไร และมีความพร้อมอย่างไร ผมเรียนอย่างนี้ว่ากระทรวงพาณิชย์นั้นมีมาตรการในการที่จะเก็บ Stock ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนเกินเราพร้อม แต่ความพร้อมนั้นต้องดูสถานการณ์ช่วงจังหวะ โอกาสที่เหมาะสม เราทำได้ครับถ้าเราส่งเสริมมาตรการเก็บ Stock เร็ว แต่ก็จะทำให้ราคา ข้าวโพดนั้นอาจขยับและตรึงราคาสูงขึ้นอยู่ประมาณ ๑๑-๑๒ บาท แต่เราต้องมีมุมมอง อีกมุมมองหนึ่งว่า ในมิติอีกมิติหนึ่งคือการเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่มันสูงเกินไปทำให้ ผู้เลี้ยงสุกรก็ดี ผู้เลี้ยงไก่ก็ดีอยู่ในภาวะของการขาดทุน และอาจจะทำให้พี่น้องประชาชน ต้องบริโภคอาหารโปรตีนนี้แพง และลดการแข่งขันในตลาดโลกเพราะต้นทุนของเหล่านั้น แพงขึ้น เพราะฉะนั้นมาตรการต่าง ๆ ถามว่าเราพร้อมไหม พร้อมแล้วแต่จะใช้เมื่อไร กระทรวงพาณิชย์มองครับว่าราคาข้าวโพดที่เหมาะสมนั้นในอดีตประกันอยู่ ๘.๕๐ บาท กระทรวงพาณิชย์มองว่าราคาที่เหมาะสมของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น มันควรจะอยู่ตรง ๘.๕๐-๙ บาทเศษ ๆ เป็นราคาที่เหมาะสม เป็นราคาที่สมดุลระหว่าง เกษตรกรกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในขณะนี้เรียนว่ากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการไว้ ดังนี้ว่า ในประการแรกเราให้สถาบันการเกษตรที่เก็บ Stock ข้าวโพดนั้นสามารถเก็บ ข้าวโพดได้โดยรัฐนั้นช่วยเรื่องของเงินทุน สถาบันการเกษตรนั้นต้องเสียดอกเบี้ยอยู่ ๔.๘๕ บาท ในการเก็บ Stock ข้าวโพดในช่วงที่สินค้าออกมา Over Supply หรือล้นตลาด โดยรัฐนั้นช่วยดอกเบี้ย ๓.๘๕ บาท สถาบันเกษตรกรรับผิดชอบเพียง ๑ บาทเท่านั้น และมีเวลาเก็บเกี่ยว ๒-๔ เดือน ขณะเดียวกันก็ช่วยในการเป็นผู้รวบรวมโดยให้เงินทุน ให้สถาบันการเงินปล่อยเงินทุนให้กับผู้รวบรวม โดยช่วยดอกเบี้ยร้อยละ ๔ จากอดีตเคยช่วย ๓ บาท เพิ่มเป็น ๔ บาท ซึ่งให้เวลาในการเก็บ Stock ๒-๔ เดือน ซึ่งเรื่องนี้เรียนว่าได้เสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประชุมเป็นที่ยุติแล้วในวันนี้ เห็นชอบเสร็จเมื่อตอนบ่ายโมงนี้เอง แล้วจะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีคาดว่าคงจะเป็นสัปดาห์หน้า และสามารถนำมาตรการอย่างที่ผมกล่าวมา ๒ มาตรการที่พูดเมื่อสักครู่นี้ใช้ในเดือนพฤศจิกายน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เพื่อรับซับข้าวโพดส่วนเกินไม่ให้ออกมาในท้องตลาด และทำให้ราคาข้าวโพดนั้นตกต่ำ นอกจากนี้มาตรการทางกฎหมายอีกมาตรการหนึ่งก็คือ ผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นออกมาพร้อมกันไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน เราก็มีมาตรการทางกฎหมายว่าในช่วงที่ผลผลิตของประเทศไทยออกในช่วงเดือนกันยายน ถึงมกราคมเราไม่ให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศให้เพียง อคส. คือองค์การ คลังสินค้านั้นสามารถนำเข้าได้เพียงบริษัทเดียวในช่วง ๖ เดือนนี้ โดยมีโควตาอยู่ประมาณสัก ๕๗,๐๐๐ ตันโดยประมาณ แล้วมาเก็บใน Stock ไม่ไหลออกไปสู่ท้องตลาด ในขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม ภาคเอกชนสามารถนำเข้าได้แต่ก็มีระบบภาษี ต้องเสียภาษีถึง ๗๓ เปอร์เซ็นต์ และจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ๑,๘๐๐ บาทต่อตัน เพื่อดึงราคา สินค้าเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าของประเทศไทยนั้นให้สูงขึ้น และไม่ทำให้กลไกของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศนั้นต่ำลง นี่คือมาตรการของกระทรวง พาณิชย์ ซึ่งผ่านคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันนี้แล้วจะเสนอต่อ ครม. ต่อไป และเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยพยุงราคาของข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ให้อยู่ในราคาประมาณ ๘.๕๐-๙.๕๐ บาท เป็นราคาที่เหมาะสม และเกษตรกร เชื่อว่าเป็นราคาที่พึงพอใจ และในขณะเดียวกันเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ก็เป็นราคาที่เขาพอใจ เป็นจุดสมดุลที่เหมาะสม ก็ขอกราบเรียนตอบข้อซักถามในเบื้องต้นไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา เรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ โดยเฉพาะผู้ที่ถามกระทู้ ขออนุญาต เอ่ยนามอีกครั้งหนึ่ง ท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ซึ่งท่านก็ได้ศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีตลอดจน เป็นความห่วงใยกับพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมเรียนอย่างนี้ครับว่าธัญพืช หลาย ๆ ชนิดนั้นสามารถมาใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีก็ดี ข้าวบาร์เลย์ก็ดี แต่การทดแทนนั้นก็ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ข้าวสาลีนั้นใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แทนอาหารไก่ได้อยู่ประมาณเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าการบริโภคอาหารสัตว์โดยเฉพาะไก่นั้นถ้ามีส่วนผสมของข้าวสาลีมากเกินกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ก็จะทำให้ไก่นั้นซีดไม่เหลือง ไข่ก็จะซีดเช่นเดียวกัน ทำให้ราคานั้นตกต่ำ เพราะฉะนั้นการทดแทนอยู่ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ในภาพรวม ซึ่งในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้กำหนดมาตรการในการนำเข้าของข้าวสาลี โดยกำหนดมาตรการการนำเข้านั้นคนที่ จะนำเข้าได้ต้องมีหลักฐานในการซื้อข้าวโพด ๓ ส่วน ถึงสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ ๑ ส่วน ก็คือมีหลักฐานการซื้อข้าวโพด ยกตัวอย่าง ๓ ตันก็มีสิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีได้ ๑ ตัน ซึ่งมาตรการตรงนี้ยังคงใช้อยู่ แล้วก็ช่วยให้พยุงราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกส่วนหนึ่ง คือข้าวบาร์เลย์ ซึ่งจริงครับมีราคาถูกและต่ำกว่าข้าวสาลีอยู่ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้ทดแทนการปลูกข้าวโพดได้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้ทดแทนได้เป็นอาหารสัตว์ แต่เรียนว่า ข้าวบาร์เลย์นั้นใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อยู่ประมาณเพียง ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง เพราะคุณค่าทางอาหารของข้าวบาร์เลย์นั้นหนักไปทางคาร์โบไฮเดรต วิตามิน โปรตีนนั้นน้อยกว่าข้าวโพด ถ้าใช้ข้าวบาร์เลย์จะต้องผสมปลาป่นเพิ่มขึ้น จะต้องผสม กากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นซึ่งมีราคาสูง ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักสำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะไก่หรือสุกร แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์นั้นติดตามแล้ว Monitor ตลอดว่า ถ้าหากการคาดการณ์ว่าปลาป่นก็ดี กากถั่วเหลืองก็ดีที่คาดการณ์ว่าจะมีราคาสูงขึ้น เกิดตกต่ำลง และทำให้ส่วนผสมของอาหารสัตว์ใช้ข้าวบาร์เลย์ ปลาป่น แล้วก็กากถั่วเหลือง เพิ่มขึ้น แน่นอนที่สุดต้องมีผลกระทบต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงพาณิชย์ Monitor ตลอดเวลาและติดตามตลอดเวลา ถ้าหากว่ามีสถานการณ์เช่นนั้นเราก็พร้อมที่จะประกาศ ชะลอการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ กำหนดปริมาณการนำเข้า หรือเช่นเดียวกันอาจจะกำหนด ปริมาณการนำเข้าเหมือนข้าวสาลีเป็นสินค้าควบคุมนะครับ ในขณะนี้เราติดตาม และ Monitor ตลอดเวลา แต่ก็ฝากไว้ว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องดูหลาย ๆ มิติ ดูทั้งต้นทุน ของอาหารสัตว์ที่ไม่สูงจนเกินไปด้วย สร้างความสมดุล มาตรการต่าง ๆ เรามีพร้อมในมือ แล้ว Monitor ตลอด แต่การใช้นั้นก็คงอยู่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมช่วงเวลาในแต่ละสถานการณ์
ต่อข้อถามอีกข้อหนึ่งในเรื่องของการเก็บเกี่ยวที่ล่าช้าของเกษตรกรไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจจะเคลื่อนไปถึงกุมภาพันธ์อันทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศพม่านั้นเข้าสู่ประเทศไทย และทำให้เกิดผลกระทบต่อ พี่น้องเกษตรกรในการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยความเคารพครับ เรา Monitor หรือติดตามตลอด เพราะฉะนั้นมาตรการต่าง ๆ เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ก็ต้องขอขอบคุณคำแนะนำของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ เราจะติดตามแล้วเราจะดูระยะเวลาว่า เกษตรกรนั้นเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมดหรือยังในเดือนกุมภาพันธ์ ถ้ายังไม่หมดเราก็คง มีมาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ขยายเวลาเพิ่มขึ้นไปถึง เดือนกุมภาพันธ์ตามคำแนะนำของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ
อีกประเด็นคำถามหนึ่ง ซึ่งท่านได้ถามถึงสินค้าเกษตรพืชสวนซึ่งมีการเน่าเสียไว กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการอย่างไรในการที่จะดูแลพี่น้องเกษตรกรในขณะที่สินค้าออกมามาก ๆ แล้วราคาตกต่ำ ผมเรียนอย่างนี้ว่าสินค้าพืชสวนนั้นเป็นสินค้าที่เน่าเสียไวไม่สามารถ ใช้มาตรการในการเก็บ Stock เหมือนอย่างพืชไร่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผักและผลไม้ ดังนั้น มาตรการของกระทรวงพาณิชย์นั้นก็คือเราจะซับส่วนเกินของสินค้าพืชสวนที่เน่าเสียไว ออกนอกกลไกตลาดปกติไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง กลไกตลาดปกติคืออะไร ผมเรียนอย่างนี้ครับว่าสินค้าเกษตรในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ที่ผลิตในประเทศไทย หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ปริมาณการบริโภคต่อวันนั้นอยู่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยเบื้องต้นสินค้าเหล่านี้จะเข้าสู่กลไกตลาดค้าส่ง ได้แก่ ตลาดไทซึ่งหนักไปทางผลไม้ ปริมาณเข้าวันหนึ่งประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตัน ตลาดสี่มุมเมืองซึ่งเต็มไปด้วยผักทั้งประเทศไทย และต่างประเทศ วันหนึ่งตกประมาณ ๗,๐๐๐ ตันต่อวัน ตลาดศรีเมืองที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งก็เป็นศูนย์รวบรวมสินค้าเกษตรอีกที่หนึ่งซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผักของประเทศไทย มีปริมาณ สินค้าเช่นเดียวกันวันหนึ่งประมาณ ๗,๐๐๐ ตันต่อวัน นอกจากนั้นถ้าลงไปภาคใต้อีกก็จะมี ชุมพร ตลาดมรกต วันหนึ่งประมาณ ๑,๐๐๐ ตัน หัวอิฐ นครศรีธรรมราช ๑,๐๐๐ ตัน ขึ้นมาทางภาคเหนือหน่อยก็มีที่จังหวัดพิษณุโลก ตลาดไทยเจริญ ขึ้นไปอีกหน่อยก็เชียงราย ตลาดล้านเมือง มีผลผลิตอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ ตันต่อวัน ขยับไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีตลาดสุรนคร ตลาดเทิดไท จังหวัดนครราชสีมา ตลาดศรีเมืองทองที่ขอนแก่น ตลาดเมืองทองเจริญศรีที่อุดรธานี แล้วก็ตลาดเจริญศรีที่อุบลราชธานี นี่คือภาพรวมกว้าง ๆ ของการกระจายสินค้า ๔๐,๐๐๐ ตันต่อวันว่ากระจายไปอย่างไร จะเข้าสู่กลไกตลาดค้าส่ง เช่นนี้ประมาณ ๑๐ กว่าตลาดด้วยกัน แต่ ๓ ตลาดหลักก็คือ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมืองได้มีผลผลิตเข้ามาวันหนึ่งประมาณ ๒๕,๐๐๐ ตัน และตลาดเหล่านี้ ก็กระจายไปยังตลาดสดในภูมิภาคจังหวัดต่าง ๆ กระจายสู่ผู้บริโภค กระจายสู่ร้านอาหาร ในกรณีที่สินค้ามากกว่า ๔๐,๐๐๐ ตัน หรือในสินค้าบางชนิดมีปริมาณสูงขึ้นมากกว่าปกติ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในก็จะซับส่วนเกินตรงนั้นดึงออกนอกกลไกตลาด ที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่นี้และลงไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยยกตัวอย่างผ่านปั๊มน้ำมัน ปั๊มน้ำมัน เมืองไทยมีอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปั๊ม มีรถเข้าไปเติมน้ำมันตลอด ซึ่งปั๊มน้ำมันก็มีสมนาคุณด้วยน้ำดื่ม เราประสานงานกับบริษัท PT บางจาก และ ปตท. คัดมาประมาณสัก ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปั๊ม แทนที่จะสมนาคุณด้วยน้ำดื่มก็สมนาคุณด้วยผักและผลไม้ที่ราคาลดลงตกต่ำ ซับส่วนเกิน มาให้ได้ มีทั้งห้าง ชุมชน ท้องถิ่นอีกประมาณ ๖๐๐ แห่ง แล้วก็มีทั้งรถ Mobile อีก ๑๐๐ จุด ต่อวัน สรุปง่าย ๆ ครับว่าสามารถระบายสินค้าเกษตรพืชสวนข้ามกลไกตลาดปกติ ไปสู่ผู้บริโภคได้วันหนึ่งประมาณ ๕๐-๑๐๐ ตันต่อวัน ก็สามารถซับสินค้าพืชสวนส่วนเกินได้ และนี่คือมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เคยทำและจะทำต่อไป
ผมเรียนอย่างนี้ครับว่ารัฐบาลเพิ่งมาทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองอยู่ประมาณ ๒ เดือน เราได้วางมาตรการเชิงรุกว่าจะทำอย่างไรให้เรามี Order หรือมี Demand อยู่ในมือ เราได้พูดคุยกับกลุ่มพลังงาน กลุ่มปั๊มน้ำมัน ขอเขาว่าปั๊มน้ำมัน ๒๐,๐๐๐ ปั๊ม คัดมา ๕,๐๐๐ ปั๊ม แล้วเราขอปีหนึ่ง ๓๐ วัน เพราะฉะนั้นท่านสั่งซื้อน้ำดื่มเพื่อสมนาคุณ ปีหนึ่งท่านสั่งมาเพียง ๓๓๕ วัน เราก็จะมีเวลา ๓๐ วันในการระบายสินค้าเกษตรพืชสวนนั้นสู่ผู้บริโภคโดยตรง เรียนง่าย ๆ ครับว่าปั๊มหนึ่ง ๕๐๐ กิโลกรัม ๕,๐๐๐ ปั๊มก็ ๒,๕๐๐ ตันต่อวัน ๓๐ วัน ก็ ๗๕,๐๐๐ ตันต่อวัน ในขณะที่ห้างชุมชนอื่น ๆ แล้วก็รถ Mobile เพราะฉะนั้นกระทรวง พาณิชย์จะมี Order มี Demand ในมือต่อปีประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน เราเชื่อครับว่า เราสามารถที่จะพยุงราคาสินค้าเกษตรในส่วนของพืชสวนได้อย่างเป็นระบบ และทำให้ ราคาเหล่านั้นไม่ตกต่ำจนมีผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรนะครับ ขอตอบข้อซักถามอีกข้อหนึ่ง ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติก่อนนะครับ ก็ขอตอบข้อซักถามอีกข้อหนึ่งของท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติซึ่งได้มีความเป็นห่วงทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งพืชไร่ ซึ่งขออนุญาตเอ่ยนาม อีกครั้งหนึ่ง ท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ ผม นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากท่านรอง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ให้มาตอบ กระทู้ถามสดของท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ซึ่งมีความห่วงใยในพี่น้องภาคเหนือ ซึ่งได้รับ ผลกระทบจาก PM2.5 เนื่องจากการเผาข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะรัฐฉาน ผมเรียนอย่างนี้ครับว่าประเทศไทยนั้น ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีหนึ่งประมาณ ๘ ล้านตัน ประเทศไทยนั้นผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีหนึ่งประมาณ ๕ ล้านตัน ต้องนำเข้าจากประเทศ เพื่อนบ้าน ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวของข้าวโพดนั้นก็ออกมาตรงกันอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนมกราคม ซึ่งข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็จะมีราคาถูกกว่าประเทศไทย ประเทศไทยนั้นก็จึงมีมาตรการการนำเข้าข้าวโพด ในช่วงของเดือนกันยายนถึงเดือนมกราคม โดยให้บริษัทเดียวที่สามารถนำเข้าได้ก็คือองค์การคลังสินค้า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ การกำกับการดูแลของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก ผมเรียนอย่างนี้ครับว่ามาตรการดังกล่าวนั้น เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวโพดของประเทศไทยไม่ให้ตกต่ำนั้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในปัญหาเรื่อง PM2.5 นั้น ผมเรียนอย่างนี้ครับว่ามาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น AFTA หรือ WTO หรือ ATIGA ก็ดี สิ่งสำคัญก็คือการที่จะห้ามประเทศเพื่อนบ้านนั้นนำเข้าข้าวโพดเข้าสู่ ประเทศไทย เนื่องจากปัญหาสุขภาพนั้น ประเด็นแรกเราต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนครับว่า มาตรการในประเทศไทยนั้นเรามีมาตรการเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน การนำเข้า ข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือถ้าเราจะห้ามข้าวโพดที่เกิดจากการเผาแล้วเกิด PM2.5 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนทางภาคเหนือนั้น ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการ การห้ามเผาข้าวโพดเช่นเดียวกัน นี่คือปัญหาที่ ๑ นอกจากนี้ เราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ว่าประชาชนนั้นมีสุขภาพ ที่ไม่ดีอันเกิดจาก PM2.5 ซึ่งเกิดจากการเผาป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดของในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ต้องพิสูจน์ด้วยนะครับว่าก่อนนำเข้าข้าวโพด ข้าวโพดนั้นคือต้นเหตุของการเผาป่า ในประเทศเพื่อนบ้านนั้นจริง และสุดท้ายต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าปัญหาการเผาป่าเพื่อปลูก ข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านนั้นก่อให้เกิด PM2.5 ในไทย อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ พี่น้องประชาชนคือปัญหาเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากการเผาป่าในประเทศ รวมทั้งไม่ได้เกิด จากการอุบัติไฟป่า การเผาป่าโดยชาวบ้าน โรงงานอุตสาหกรรม และมลพิษของการคมนาคม การจะห้ามข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทยนั้นต้องพิสูจน์ให้ได้
ประการแรก เราปฏิบัติกับประเทศอื่นเช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติกับประเทศไทย นี่คือข้อสำคัญประการที่ ๑ ซึ่งข้อสำคัญประการที่ ๑ นั้น ทุกวันนี้สำหรับการปลูกข้าวโพด ในประเทศไทย เราก็ยังขอความร่วมมือให้ชาวไร่ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นไม่เผาข้าวโพด ไม่เผาซัง เอามาทำเป็นปุ๋ย เอาทำเป็นอาหารสัตว์ มาตรการในประเทศไทยเรายังไม่มี นอกจากนี้เราก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า PM2.5 ที่เกิดขึ้นมานั้นเกิดจากการนำเข้าข้าวโพดจาก ประเทศพม่าเพียงเหตุผลเดียว มันอาจจะเกิดจากการคมนาคม จากการเผาป่าในประเทศไทย หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ในประเทศรวมอยู่ด้วย แต่ถึงอย่างไรกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้ นิ่งนอนใจ กระทรวงพาณิชย์ได้หามาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กำกับดูแลและส่งเสริมการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้สอดคล้องกับการค้าโลก โดยมีอธิบดี กรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีหน้าที่ศึกษา แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนในชั้นต้น ในขั้นตอนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืช อาหารสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวและมันสำปะหลัง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในภาคการเกษตร เพื่อพิจารณาแนวทาง การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และปัญหากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐาน GAP PM2.5 อยู่ นี่คือ ๒ คณะกรรมการที่ลงไปดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งยอมรับว่าปัญหา PM2.5 นั้น เป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นปัญหาที่ใหญ่และมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว สุขภาพของคน ภาคเหนือนะครับ ซึ่งรัฐบาลเองนั้นก็ให้ความห่วงใย แต่การทำงานต่าง ๆ เราต้องคำนึงถึง เงื่อนไขของ WTO เงื่อนไขของ AFTA เงื่อนไขของ ATIGA ซึ่งอยู่ใน AFTA ด้วย เพราะว่า การปฏิบัติต่อประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญเราต้องปฏิบัติกับประเทศเราเช่นเดียวกัน ต้องเป็น ประเทศที่เป็นกลางนะครับ
ส่วนที่ท่านขอเอกสารในการนำข้าวโพด ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหล่านั้น ไม่ได้ผ่านการเผาหรืออย่างไร ในวันนี้เป็นกระทู้ถามสด ผมขออนุญาตว่าผมจะหาข้อมูล แล้วนำส่งให้ท่านเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่งนะครับ ยืนยันครับว่ารัฐบาลเป็นห่วงและให้ ความสำคัญกับ PM2.5 ให้ความเป็นห่วงกับสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ ภาคเหนือ แล้วก็เป็นห่วงในเรื่องของภาคเศรษฐกิจ ในเรื่องภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ภาคเหนือ ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ขอเรียนชี้แจงในเบื้องต้นไว้ดังนี้ ขอบคุณครับ
เรียน ท่านประธานสภาและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เรียนอย่างนี้ครับ ว่าข้อเสนอแนะของท่านนั้นก็คือสร้างความเสมอภาค คือปฏิบัติในประเทศไทยอย่างไร ก็ปฏิบัติในประเทศเพื่อนบ้านเช่นนั้น โดยเริ่มต้นจากการปฏิบัติในประเทศไทยก่อน ซึ่งกำหนดพื้นที่เป็น Zoning หรือพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกำหนดมาตรการ ในการห้ามเผา เพื่อนำไปใช้กับประเทศเพื่อนบ้าน อันนี้เป็นข้อเสนอแนะที่ดี แล้วผมจะรับไป นำเสนอต่อ โดยเฉพาะกรมการค้าต่างประเทศซึ่งมีหน้าที่ในส่วนตรงนี้ ในส่วนของข้อซักถามต่อมาท่านถามด้วยว่าประกาศฉบับนี้จะต่อหรือไม่ ซึ่งประกาศฉบับนี้ มีผลถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ปี ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นประกาศของปี ๒๕๖๖ ซึ่งเราจะต่อหรือไม่ ก็คงจะดูเฉพาะในส่วนที่ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เก็บเกี่ยวในประเทศไทยนั้นหมดหรือยัง ถ้าหมด ในเดือนมกราคมก็คงไม่ต่อนะครับ ส่วนเอกสารในการนำเข้าเรื่องของ Form D ที่มา ของแหล่งผลิตนั้น ผมจะขอไปดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าใน Form D นั้นระบุว่ามาจาก ประเทศเมียนมาสามารถกำหนดจุดพิกัดได้ไหม สิ่งหนึ่งผมเชื่อครับว่า PM2.5 ในภาคเหนือนั้น ปัญหาหลัก ปัญหาใหญ่ มาจากการเผาข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราจะพยายาม นำเสนอเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา ผมเชื่อครับว่าการนำเข้าข้าวโพดนั้นก็แก้ปัญหาเรื่อง ราคาอาหารสัตว์ในประเทศ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือปัญหาสุขภาพของพี่น้องประชาชน ภาคเหนือนั้นสำคัญกว่า และในขณะเดียวกันผมก็เชื่อครับว่าในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของ ภาคเหนือนั้นมีความสำคัญมากกว่าเรื่องของราคาข้าวโพด เราจะเอาประเด็นปัญหานี้ เป็นหลักในการพิจารณา ในการประกาศของกระทรวงพาณิชย์ และจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ การหารือของคณะกรรมการต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่งนะครับ
ส่วนหลักฐานเรื่องการนำเข้าข้าวโพด เดี๋ยวผมจะส่งเป็นเอกสารให้กับท่าน อีกครั้งหนึ่งครับ เนื่องจากว่าเป็นกระทู้ถามสด ซึ่งผมเองนั้นไม่ได้เตรียมข้อมูลในส่วนตรงนี้มา แล้วสำหรับเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของกรมการค้าต่างประเทศโดยตรงกับกรมการค้าภายใน ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ก็รับข้อเสนอทุกข้อของท่านไว้ แล้วก็จะนำข้อมูลที่ไม่สามารถชี้แจงได้ในขณะนี้ส่งให้ท่าน อีกครั้งหนึ่งนะครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผมเรียนอย่างนี้ครับว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ แต่การแก้ไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีการเผาในประเทศ เพื่อนบ้านนั้น การดำเนินการจะต้องดำเนินการในประเทศก่อน ต้องดำเนินการในประเทศว่า ห้ามผู้ที่ปลูกข้าวโพดนั้นเผาข้าวโพด ถึงไปใช้มาตรการนี้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ ไม่ใช่หน้าที่ โดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ แต่เราก็ประสานงานมาโดยตลอด เพื่อให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์นั้นมีมาตรการในการกำหนด Zoning กำหนดพื้นที่ พิกัดในการที่จะปลูก ข้าวโพด แล้วก็มีมาตรการรองรับอย่างไร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรนั้นก็กำลังดำเนินการอยู่ว่า จะมีมาตรการอย่างไรที่การเก็บข้าวโพดโดยไม่ต้องเผา ซึ่งในส่วนตรงนี้มันเป็นเรื่องของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังประสานอยู่ แล้วผมจะติดตาม เรื่องนี้ให้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็แจ้งเป็นหนังสือให้กับท่านทราบ แต่ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่นิ่งนอนใจ แต่การทำงานนั้นต้องประกอบไปด้วยหลายกระทรวงและมีคณะกรรมการ ในหลายคณะด้วยกัน ซึ่งก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ๒ คณะด้วยกัน อยู่ระหว่าง การดำเนินการและกำลังดำเนินการศึกษาอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องของกรมค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศที่ทำงานร่วมกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในส่วนตรงนี้ ผมเองไม่ได้กำกับดูแล ผมจะติดตามและตอบเป็นหนังสือให้ท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง แต่ยืนยันครับว่ารัฐบาลให้ความเป็นห่วงในเรื่อง PM2.5 แล้วที่สำคัญก็คือ PM2.5 นั้นมันก็มี หลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ สาเหตุอื่น ๆ มันก็มีการเผาไหม้ในประเทศด้วยเช่นกัน ทั้งการคมนาคมและอะไรต่าง ๆ การจะนำเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศต้องพิสูจน์ให้ได้ครับว่า เป็นสาเหตุเดียวที่เกิด PM2.5 เพราะฉะนั้นในการพิสูจน์มันมีหลาย ๆ ข้อด้วยกัน แต่เราก็พยายามที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า การเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ตรงนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนเอกสารต่าง ๆ ผมจะส่งให้ท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณมากครับ