นายชัยธวัช ตุลาธน

  • ก่อนตั้งกระทู้ถาม ผมขออนุญาต หารือท่านประธานสักเล็กน้อยได้ไหมครับ

    อ่านในการประชุม

  • คือเท่าที่ผมทราบนะครับ เมื่อเช้า ผมไปแจ้งต่อท่านประธานเรื่องกระทู้ถามสด แล้วก็ทราบว่าเพื่อนสมาชิกอีก ๒ ท่าน คือจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ๑ ท่าน และพรรคร่วมรัฐบาลอีก ๑ ท่าน ก็ได้แจ้งความประสงค์ ที่จะตั้งกระทู้ถามสดต่อท่านนายกรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ปรากฏว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะตอบ กระทู้ถามสดของท่านสมาชิกอีก ๒ ท่าน แต่ไม่ตอบของผม โดยมอบหมายให้รัฐมนตรี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผมต้องการจะถาม เพราะอะไร เมื่อวานเมื่อทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ทราบว่าผมจะตั้งกระทู้ถามสดท่านนายก มีความพยายามถามครับ จะถามเรื่องอะไร จะถามเรื่อง Digital Wallet หรือไม่ ผมก็บอกไม่ต้องกังวลผมไม่ถามแล้วครับ เรื่อง Digital Wallet เพราะเรื่องนี้มีคนถามเยอะแล้ว รอแต่ท่านตอบ ไม่ต้องตอบผม เพื่อให้ความสบายใจ แล้วเมื่อตอนเย็นก็มีข่าวปรากฏว่าท่านนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่ามาตอบกระทู้ในสภา แน่นอน ไม่หนีสภา ก็เป็นที่สบายใจ เมื่อเช้าผมขึ้นไปคุยกับท่านประธานก็หารือกันเรียบร้อย แล้วผมบอกว่าเดี๋ยวผมเรียงลำดับ ผมยอมถามท่านนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับสุดท้ายก็ได้ เพื่อให้ต่อเนื่องจาก ๒ กระทู้ก่อนหน้า ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปรากฏว่าเมื่อสักครู่ไม่กี่นาที มาแจ้งว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่ประสงค์จะตอบผม มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะตอบแทนได้หรือครับ ผมจะถามท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธาน ก.ตร. ผมจะถามท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ ผมจะถามท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลว่ามีนโยบาย เรื่องคดีการเมืองอย่างไร ซึ่งท่านรัฐมนตรีไม่มีความเหมาะสมที่จะตอบด้วยความเคารพ ฉะนั้นผมหารือท่านประธาน ผมจะไม่ถาม แล้วผมจะนั่งรอท่านนายกรัฐมนตรีมาตอบอีก ๒ กระทู้ถามสด แล้วอยากจะทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีพอจะมีเวลาตอบกระทู้ถามสด ของผมหรือไม่ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ก่อนอื่นผมคงต้อง แสดงความคิดเห็นต่อท่านประธานสักเล็กน้อย ไม่ใช่ประท้วง แต่ผมมีความกังวลเมื่อสักครู่ ในช่วงหนึ่งท่านประธานได้บอกว่าในอดีตที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มาตอบกระทู้ถาม เป็นเรื่องปกติ ผมยืนยันนะครับ เราอยู่ในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี

    อ่านในการประชุม

  • อย่างไรก็ตามผมก็ยังยืนยันว่า การที่ฝ่ายบริหาร ในฐานะที่ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภามีความรับผิดชอบ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ก็คงไม่ต้องประท้วงอีกต่อไปแล้วนะครับ เพราะว่าเพื่อความสบายใจของทุกท่าน ผมจะไม่รอ นายกรัฐมนตรีมาตอบ แต่ผมอยากจะเรียนท่านประธานอย่างนี้ว่าผมยังยืนยันว่า เรื่องที่ผมแจ้งประเด็นที่จะถามกระทู้ถามสดในวันนี้ต่อท่านนายกรัฐมนตรีก็ด้วยเหตุผลว่า เดิมทีเรามั่นใจแล้วก็ได้รับการยืนยันว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้ถามในวันนี้ แล้วตัวท่านเองก็ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวานอย่างหนักแน่นว่าจะไม่หนีสภา ผมเอง เป็นคนยื่นกระทู้ถามสดเป็นคนสุดท้าย ผมไปพบท่านประธานเป็นคนสุดท้าย โดยที่ ๒ ท่าน ก่อนหน้าผมก็ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ผมไม่ทราบว่าสุดท้ายวันนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจะมาตอบท่านที่ ๒ หรือท่านที่ ๓ หรือไม่ แต่สำหรับประเด็นที่ผมจะตั้ง กระทู้ถามผมก็ยังยืนยันว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคงไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ และมีความสำคัญ แม้ว่าดูเหมือนจะเป็น ๓ เรื่อง ๓ ประเด็นที่คนละเรื่องเดียวกัน แต่มันเกี่ยวพันกับการปฏิบัติหน้าที่การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีที่อาจจะผิดกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดกฎหมาย ซึ่งอำนาจในการยับยั้ง อยู่ที่นายกรัฐมนตรี ฉะนั้นสุดท้ายผมประสงค์ที่จะแจ้งท่านประธานว่าผมจะไม่ถาม กระทู้ถามสดในวันนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ วันนี้ ผมมีประเด็นที่จะถามกระทู้ไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้รับ มอบหมายมาให้ตอบแทน ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหา ทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ก็คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย การฟื้นฟูระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นแรกจำเป็นต้องถาม เพราะตอนนี้คณะกรรมการศึกษา ประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปไปยัง รัฐบาลแล้ว แล้วก็เข้าใจว่าจะมีการพิจารณาเรื่องการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในวันที่ ๒๕ ธันวาคมที่ผ่านมาทางคณะกรรมการศึกษาประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ได้สรุปว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ โดยประชามติครั้งแรกนะครับ ใน ๓ ครั้งนั้นจะถามแค่ ๑ คำถาม ว่าท่านเห็นชอบ หรือไม่ที่จะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ผมเองในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องเรียนอย่างนี้ก่อนว่าเราเองมี ความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ โดยกระบวนการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้ เคยมีข้อเสนอใด ๆ ที่จะให้มีการแก้ไขหมวด ๑ หรือหมวด ๒ แต่คำถามที่คณะกรรมการ กำลังจะเสนอให้ ครม. พิจารณานั้นมีปัญหาที่จะต้องท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์จริง ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ผมเห็นว่าคำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาเสนอนั้น ขัดต่อหลักการสำคัญที่ว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่จะต้องมี การยกเว้นว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ แต่ห้ามทำใหม่ทั้งฉบับ คำถามคือว่าตกลงใน สังคมไทยนี้ผู้ที่จะสามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ จะมีเพียงแค่คณะรัฐประหารที่จะ มาฉีกรัฐธรรมนูญอย่างตามใจชอบอย่างนั้นหรือครับ ตกลงประชาชนไม่มีสิทธิใช่ไหมครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ผมเอง พรรคก้าวไกลเองเราคาดหวังว่ากระบวนการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้สังคมไทยที่มีความคิดเห็น แตกต่างกันแล้วขัดแย้งกันมา ๑๐ กว่าปีนี้สามารถที่จะแสวงหาฉันทามติใหม่ร่วมกันได้ ผ่านเวทีการถกเถียงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แล้วเราก็ไม่เชื่อว่าจะมีความคิดเห็น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพียงฝ่ายเดียว มันต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ส่วนหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งได้ส่วนหนึ่ง ไม่มีใครได้อย่างที่ตัวเองต้องการทั้งหมดหรอกครับ เพราะสุดท้ายมัน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันจะต้องเป็นสิ่งที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน แม้จะเห็นตรงกัน ไม่ทั้งหมด แต่การตั้งคำถามประชามติแบบนี้จะส่งผลทำให้ประชาชนที่มีความคิดเห็น ไม่ตรงกัน บางส่วนรู้สึกว่าพวกเขาถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ตั้งแต่วันแรก แล้วเราจะสูญเสียโอกาสในการหาฉันทามติใหม่ด้วยคำถามแรกในการจัดทำ ประชามติแบบนี้หรือครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ คำถามประชามติแบบนี้มีปัญหา เพราะมันเป็นคำถามที่กังวล มากเกินจำเป็น โดยไม่จำเป็นของรัฐบาลที่อาจจะไปสร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็นขึ้นมาด้วย ต้องเรียนอย่างนี้ว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหมวด ๑ หมวด ๒ นี้มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อยู่เสมอเวลามีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติอะไร แต่ในช่วง ระยะเวลาไม่นานมานี้เองมีความพยายามที่จะสร้างความกลัว และความเข้าใจผิดทาง การเมืองว่าการแก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ นี้มันเป็นเรื่องอันตราย เป็นเรื่องที่เหมือนจะไป กระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้ง ๆ ที่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันตามมาตรา ๒๕๕ ก็มีข้อจำกัดชัดเจนอยู่แล้ว ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปส่งผล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นการล็อกไม่ให้แก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ แบบนี้จึงไม่จำเป็นแต่อย่างใด แล้วอย่างที่ ผมเรียนอาจจะไปสร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาในเชิงกฎหมาย รัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดนี้มันจะโยงใยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การยกร่างใหม่เกือบทุกหมวด แล้วไปล็อกไม่ให้แก้ไขข้อความใด ๆ เลย ในหมวดใดหมวดหนึ่งนี้มันสร้างปัญหาได้ครับ เช่นสมมุติว่า สสร. ที่มาจากประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่บอกว่า เราจะยกเลิกวุฒิสภา เป็นต้น ใช้ระบบสภาเดี่ยว เพื่อประสิทธิภาพของระบบนิติบัญญัติของไทย ปรากฏว่าถ้าเป็น แบบนี้ถูกไหมครับ ถ้ามีข้อความใดข้อความหนึ่งที่พูดถึงวุฒิสภาในหมวด ๑ หมวด ๒ ก็ต้องตัดข้อความนั้นออกในบทบัญญัติ มันเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ไปล็อกแบบนี้มันจะสร้าง ปัญหาได้ในอนาคตนะครับ หรือปัญหาทางการเมือง ผมยกตัวอย่างเช่น ประสบการณ์ทาง การเมืองที่ผ่านมานี้เอง ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ พอหลังผ่านประชามติ ไปแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลในขณะนั้นก็บอกว่ามีพระราชประสงค์ที่จะให้แก้ไขปรับปรุง หมวด ๒ แล้วถ้าอนาคตมีเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไร ล็อกไว้แล้วตั้งแต่ต้นแบบนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ในคำถามที่จะทำประชามตินี้ไม่มีการระบุว่าจะให้จัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. คำถามก็คือว่ามันเกิดอะไรขึ้น แน่นอนครับ ประเด็นที่ผมพูดมา ทั้งหมด รัฐบาลบอกว่าต้องการให้เกิดความรอบคอบที่สุด ต้องการทำให้ประชามติทำได้และ มีโอกาสผ่านมากที่สุด บ้างก็บอกว่าถ้าไม่ล็อกหมวด ๑ หมวด ๒ ไว้เดี๋ยวจะถูกต่อต้าน เดี๋ยวจะไม่ได้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็ยืนยันอีกครั้งว่ามันไม่สมเหตุสมผลเลย แล้วเรื่องนี้ ผมย้ำอีกทีว่าเรื่องหมวด ๑ หมวด ๒ นี้ไม่เคยเป็นประเด็นในทางการเมืองมาก่อนในการ จัดทำรัฐธรรมนูญของไทย เพียงแต่ว่าสภาในสมัยที่แล้วพรรคฝ่ายค้านเป็นคนเสนอประเด็นนี้ เองไปล็อกไว้อย่างนี้ ไปสร้างเงื่อนไขแบบนี้ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ได้เป็น ข้อเสนอจากฝ่ายที่อยากจะรักษารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ไว้เลย และเมื่อเสนอไปแล้วก็ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา เรื่องการไม่ระบุเรื่อง สสร. ก็ให้เหตุผลอธิบายว่า เดี๋ยวกังวลว่าจะไปถูกตีความว่าเป็นการจัดทำประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เอาละ ผมก็พยายามจะเข้าใจเหตุผลของรัฐบาล แต่ผมก็อยากจะให้รัฐบาลพิจารณาผลด้านกลับของ มันด้วย เพราะการตั้งคำถามประชามติแบบนี้อาจจะกลายเป็นการวางยาให้ตัวเอง วางยา อย่างไร ๑. ประเด็นเรื่อง สสร. ตัดออกไป สุดท้ายผมกังวลอย่างนี้ว่าเมื่อเราเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาโดยใช้กระบวนการ สสร. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บางฝัก บางฝ่ายรวมถึง สว. อาจจะไม่เห็นชอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ก็ได้ เพราะอ้าง ว่าในคำถามประชามตินั้นประชาชนไม่เห็นด้วยที่จะให้มี สสร. จะทำอย่างไรครับ ๒. การตั้ง คำถามประชามติที่เพิ่มเงื่อนไขเอาไว้ว่าให้ล็อกหมวดใดหมวดหนึ่งไว้นั้น ซึ่งไม่มีเหตุผลตามที่ ผมกล่าวมาแล้ว อาจจะทำให้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชามติผ่านยากขึ้น เพราะมันเป็นคำถาม แทนที่จะแสวงหาจุดร่วมให้มากที่สุด สงวนจุดต่างทำให้เสียงของคนที่ต้องการมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่เป็นเอกภาพให้มากที่สุด กลับเป็นคำถามที่ทำให้เสียงแตก เราประเมินไม่ได้หรอก ครับว่าสุดท้ายจะมีคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขแบบนี้กี่ล้านคน สุดท้ายมันจะวางยาตัวเองครับ ตั้งคำถามด้วยความรู้สึกจงรักภักดีล้นเกินแบบนี้มันต้องระวัง อาจจะทำให้ในการทำประชามติ การถกเถียงกัน การ Debate กัน การรณรงค์กัน แทนที่จะ มาเถียงกันว่าเราควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปี ๒๕๖๐ ของ คสช. หรือไม่ กลายจะ มาเป็นเราควรจะเห็นด้วยกับการแก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ หรือไม่ ซึ่งละเอียดอ่อนนะครับ ผมก็อยากจะให้รัฐบาลคิดผลด้านกลับของคำถามแบบนี้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นคำถามแรก ตามที่กล่าวมาทั้งหมดผมถามท่านประธานผ่านไปยัง ท่านรองนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลจะทบทวนข้อเสนอเรื่องคำถามประชามติ ครั้งที่ ๑ ของคณะกรรมการศึกษาประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ (มหาสารคาม) ขออนุญาตครับท่านประธาน ผมขอประท้วงครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผมคงใช้เวลาที่เหลือกับอีกแค่คำถามเดียวนะครับ ก็คือเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูหลักนิติรัฐ ที่เข้มแข็งของรัฐบาล

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสำคัญที่อยากจะพูดถึงคือว่าสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีทาง การเมืองตั้งแต่ก่อนแล้วก็หลังการมีรัฐบาลชุดใหม่นี้มันแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยครับ ในปี ๒๕๖๖ นี้ปรากฏว่าเป็นปีที่เรามีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองสูงที่สุดในรอบหลายปี ที่ผ่านมา ก็คือ ๕๖ คน เทียบกับปี ๒๕๖๕ ก็คือ ๔๖ คน ซึ่งแน่นอนส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อน ที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามา แต่หลังจากที่เรามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วก็ยังมีการดำเนินคดี ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกหรือการชุมนุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอีกนะครับ เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับ มาตรา ๑๑๒ นี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๙ คดี ในรัฐบาลชุดใหม่ แล้วก็มีผู้ต้องหาบางรายก็ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว สถานการณ์ เรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวก็ยังมีปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนแน่นอน ส่งผลกระทบต่อสิทธิกระบวนการยุติธรรมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากคดีทาง การเมืองแล้ว การคุกคามทางการเมืองซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เท่านั้น ก็ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนกัน นักศึกษาประชาชนที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากเคยออกมาแสดงออกทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังตกเป็นเป้าหมาย เหมือนเดิม ไม่ว่าจะถูกไปกดดันคุกคามถึงที่พัก ถึงที่ทำงานนะครับ ถูกสอดแนม ถูกกดดันใน รูปแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเวลามีบุคคลสำคัญ รวมถึงนายกรัฐมนตรีไปลงพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะถูกเฝ้าระวังหรือถูกขอให้ออกจากพื้นที่ ถูกควบคุมตัวชั่วคราว โดยผิดกฎหมาย กีดกันออกจากการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๖๖ นี้มีกรณีที่ ประชาชนถูกคุกคามทางการเมืองแบบนี้ไม่น้อยกว่า ๒๐๓ กรณี เป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังจาก ที่เรามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ๗๐ กรณี ไม่เปลี่ยนแปลงนะครับ แล้วขณะที่สถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมืองและการคุกคามทางการเมือง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ซ้ำร้ายความรู้สึกถึงกระบวนการยุติธรรมแบบ ๒ มาตรฐานกลับรุนแรงมากขึ้น จากกรณีที่เราทราบกันดีว่ามีบุคคลที่ได้รับอภิสิทธิ์ในการรับ สิทธิในการรักษาตัวนอกเรือนจำ รักษาพยาบาลนอกเรือนจำบนชั้น ๑๔ ของโรงพยาบาล ตำรวจนะครับ เทียบเคียงกับกรณีนักโทษอื่น ๆ แล้ว ซึ่งทั่วไปจะทราบว่ายากมากที่เราจะ ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม หลายกรณีต้องอาการหนักจริง ๆ สุดท้ายนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอนิดเดียวครับ จบแล้วครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานครับ แล้วขออภัยท่านสมาชิกนะครับ ผมรบกวนเวลาอีกเล็กน้อยจริง ๆ สักไม่เกิน ๑ นาที ผมสรุปแล้วครับ ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันตอกย้ำ แล้วก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเสมอ ภาคเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลอาจจะบอกว่าเรื่องนี้ถูกต้องตามระเบียบ ทุกอย่าง แน่นอนครับ ตอนนี้มีผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิไปรักษานอกเรือนจำนี้เกิน ๑๒๐ วัน อยู่อีก ๓ คนครับ

    อ่านในการประชุม

  • แล้วผมจะถามอย่างไรครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมยังไม่ได้ถามเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้ พูดในหลายประเด็นมาแล้วก็แทบจะครอบคลุมทุกมิติ เพราะฉะนั้นผมจะใช้เวลาไม่มากนัก ในการที่จะย้ำแล้วก็เสริมอีกบางประเด็นเท่านั้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก สมาชิกหลายท่านเพื่อนของเราก็ได้ทบทวนว่าประเทศไทยของเรา เคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง ผมขอทบทวนอีกสักครั้ง ตัวเลขอาจจะไม่ตรงกันบ้าง เท่าที่ผมรวบรวมไว้นี้เราเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งผ่านกฎหมาย ก็คือในระดับ พระราชกำหนดและพระราชบัญญัติมาไม่น้อยกว่า ๒๑ ครั้ง แล้วก็ผ่านรัฐธรรมนูญอีก ๒ ครั้ง ทั้งหมดก็คือไม่น้อยกว่า ๒๓ ครั้ง แทบทั้งหมดเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ ๑๗ ครั้ง ในบรรดา ๒๓ ครั้ง ๑๗ ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารหรือการกบฏ ทั้งที่สำเร็จ และไม่สำเร็จ อีก ๓ ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปราบปรามพี่น้อง ประชาชนเพื่อให้ไม่ต้องรับผิด แม้ว่าจะมีการใช้อาวุธต่อประชาชนจนเสียชีวิตและบาดเจ็บ หรือสูญหายจำนวนมาก ๓ ครั้ง ในเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และในเหตุการณ์พฤษภาคม ปี ๒๕๓๕ แล้วก็มีบ้างเล็กน้อยที่เป็นการ นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มีความขัดแย้งครั้งสำคัญในประเทศ ก็คือ ๑ ครั้ง เป็นการ นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในระดับที่เข้าร่วมพรรคกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับปืน จับอาวุธขึ้นสู้ ทำสงครามกลางเมืองจนทำให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวิตจำนวนมากเหมือนกัน แล้วก็มีอีก ๑ ครั้งที่เคยนิรโทษกรรมให้กับ นักศึกษาประชาชนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาความมั่นคงร้ายแรง รวมถึงมาตรา ๑๑๒ จาก เหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ทีนี้เวลาเราพูดถึงการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ หรือที่หวังว่าจะเกิดขึ้น ในอีกไม่นานมันมีความสำคัญและมีความหมายอย่างไร ผมเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ที่มองเป้าหมายตรงกันว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ต้องมีเป้าหมายเพื่อที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ให้กับสังคมไทยซึ่งเราอยู่ในวังวนนี้อยู่มาเกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว อย่างไร ก็ตามก็ต้องเน้นย้ำว่านิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย และไม่ใช่กระบวนการเดียวในการที่ จะยุติหรือคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทย แต่ผมเองและพรรคก้าวไกลยืนยันว่านิรโทษกรรมเป็นประตูบานแรก ๆ ที่สำคัญมาก ๆ ที่จะเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งและแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ให้กับ พวกเรา ท่านประธานครับ เวลาเราพูดถึงการนิรโทษกรรมมีหลายท่านปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ประเทศไทยไม่มีคดีการเมือง ทุกคดีที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากการไม่เคารพกฎหมาย ดังนั้นการนิรโทษกรรมจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด เพราะจะทำให้อนาคตจะไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายอีกต่อไปถูกไหมครับ แต่ผมอยากให้เรา นึกภาพให้ดี ๆ ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีการเมืองที่เราเรียกกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ทางการเมือง มีแรงจูงใจทางการเมือง เราไม่ควรจะมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรม หลายคน ต้องคดีถูกดำเนินคดีเพราะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะเชื่อจริง ๆ ว่าตนเองกำลังทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง กำลังผลักดันความคิดความฝันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่ามันดีต่ออนาคตของ ประเทศของเราไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะไปแสดงออกในทางการเมือง ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรม เพื่อต่อต้านการรัฐประหารหรือเพื่อปกป้อง ประชาธิปไตย หลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะมีความคิดที่รัฐหรือหน่วยงานความมั่นคง ไม่อนุญาตให้คิด แค่คิดนะครับ หรือหลายคนเรียกว่าเป็นนักโทษทางความคิด ดังนั้นหลายคดี ก็เป็นการเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายโดยไม่ชอบธรรมของรัฐ ในแง่นี้คดีทางการเมืองที่เรา พูดถึงจึงถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน มองในแง่นี้นะครับ การนิรโทษกรรมที่พวกเรากำลังจะไปพูดคุยกันผ่านกรรมาธิการวิสามัญจึงมีทั้งมิติที่เป็น การให้อภัยต่อกัน และมีทั้งมิติของการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนจากความขัดแย้ง ทางการเมืองในรอบเกือบ ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา ผมทราบดีว่าแม้โดยภาพรวมเราจะเห็น ตรงกันเกือบทั้งหมดเรื่องการนิรโทษกรรม และหวังว่ามันจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมี อีกหลายประเด็นสำคัญที่เรายังมีความคิดเห็นแตกต่าง หรือยังเห็นไม่ตรงกัน หรือยังเข้าใจ ไม่ตรงกันเสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการการนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งขอบเขตและ ข้อจำกัดที่เหมาะสมของการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ทั้งกระบวนการก่อนและหลัง การนิรโทษกรรม เป็นต้น ดังนั้นผมเห็นด้วยนะครับ สนับสนุนที่จะให้สภาของพวกเราตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดี การเมือง แล้วมีประเด็นสำคัญที่เพื่อนสมาชิกย้ำหลายครั้งว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะต้อง ระมัดระวังว่าจะต้องไม่สร้างให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่นะครับ ผมก็เห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันถ้าเรายึดเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง เราก็ต้องระมัดระวังเหมือนกันว่าอย่าทำ ให้การนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นกลายเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทางการเมือง ไม่สามารถนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความ สมานฉันท์ ไม่สามารถนำไปสู่การถอดสลักระเบิดของสังคมไทยได้ในอนาคต ท่านประธานครับ จนถึงเวลานี้เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเรายังไม่ปกติ พื้นที่ในระบบ รัฐสภาของเรา พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรของเราดูเหมือนจะจำกัดลงเรื่อย ๆ สูญเสียโอกาส ในการที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่เราจะมาแสวงหาข้อยุติความคิดเห็นแตกต่างกัน สูญเสียโอกาส ที่จะกลายเป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่จะหาข้อยุติ ความขัดแย้ง หาทางออกความขัดแย้ง อย่างมีวุฒิภาวะ แต่มันยังมีโอกาสอยู่ ผมหวังว่าท่ามกลางพื้นที่ที่จำกัดลงเรื่อย ๆ พวกเราจะ ร่วมมือกันถอดหัวโขนทางการเมืองออก หันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อใช้พื้นที่แห่งนี้พื้นที่ของ สภาผู้แทนราษฎรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยประชาชน ใช้โอกาสครั้งนี้พูดคุยกันในการแสวงหา ทางออกเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เพื่อเป็นประตูบานแรกในการเปลี่ยน ใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนการเมืองของความเกลียดชัง เปลี่ยนการเมืองที่เกิดจากความ เคียดแค้นชิงชังไม่เข้าใจกัน แล้วนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง การเมืองแห่งความรัก การเมืองที่สร้างความเข้าอกเข้าใจต่อกัน สร้างความปรารถนาดีร่วมกัน เพื่อให้พวกเรามีระบบการเมือง มีระเบียบสังคมที่พวกเราอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะไม่มีทางที่จะ เห็นด้วยตรงกันทุกเรื่องทั้งหมด สุดท้ายพรรคก้าวไกลยืนยันอีกครั้ง พวกเราสนับสนุน ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เสนอโดย คุณขัตติยา สวัสดิผล ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่าน ประธานสภาที่เคารพ ผม ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลครับ ผมฟังหลายท่านอภิปรายแล้วมีความเห็นว่า จริง ๆ แล้วเราก็มีความเห็นร่วมกันอยู่ หลายอย่างนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก ผมคิดว่าเราเห็นตรงกันว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับ บุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุข ของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมือง หรือแม้แต่บุคคลสาธารณะที่สำคัญนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องหลักปฏิบัติสากล

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ผมคิดว่าเราเห็นตรงกันว่าขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อย ก็ในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ เราก็ต่างเห็นตรงกันว่า เราไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์อย่าง วันที่ ๔ กุมภาพันธ์เกิดขึ้นอีก ตอนท่านที่เสนอญัตติท่านแรกนะครับ ขออนุญาตเอ่ยนาม คือท่านเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้อภิปรายเปิดญัตตินั้น ผมฟังดูแล้วก็ผมดีใจนะครับ ผมดีใจ ที่ท่านเอกนัฏก็ได้เล่าว่า ยอมรับว่าตัวเองเกิดความรู้สึกโกรธ ในแว็บแรกที่ได้รับทราบ เหตุการณ์ แต่หลังจากนั้นก็สามารถที่จะสงบสติอารมณ์ได้ ในกรณีของท่านเอกนัฏ ก็ด้วยเหตุที่นึกถึงพระราชดำรัสที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ ก็คิดที่จะหาวิธีหรือเสนอวิธีการที่จะบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์อย่างในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์นั้น เกิดการบานปลายนำไปสู่การปะทะ ขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะบริหาร จัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่ เราควรจะถกเถียงอภิปรายกันให้รอบด้าน ผมเองยังยืนยันว่าเวลาเราพิจารณาเกี่ยวกับ มาตรการถวายความปลอดภัย ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผนในการถวายความปลอดภัย ได้อย่างเดียวเท่านั้น ผมขออนุญาตท่านประธานนะครับ ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรานี่ละครับ ที่กระทบกับการถวายความปลอดภัยต่อ องค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เพื่อเป็น ตัวอย่าง เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๐ เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้าย ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เสด็จไปด้วย ระหว่างที่ เสด็จพระราชดำเนินไปที่จังหวัดยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสัปดาห์ก่อนหน้านี้ หลายเท่าครับ เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จ และเกิดการลอบวางระเบิดใกล้ที่ประทับ ของพระองค์ นี่เป็นตัวอย่างว่าเหตุการณ์ในวันนั้นถ้าจะแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้น ไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะกฎหมาย และแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัย เท่านั้น เพราะสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยหลายครั้ง หลายกรณีจึงเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสียดายเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ใช้วิธีทางการเมืองนี่ล่ะครับจัดการเหมือนกัน แต่ผิดทางไป หน่อย เพราะหลังจากนั้นเกิดกลุ่มฝ่ายขวา คือกลุ่มกระทิงแดงในขณะนั้นพยายามใช้กรณีที่ เกิดขึ้น การลอบปลงพระชนม์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาปลุกปั่น กล่าวหาโจมตีว่ารัฐบาล ขณะนั้นซึ่งเป็นรัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่าไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน แล้วกว่าประเทศจะฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ก็ใช้เวลาหลายปี ย้อนกลับมาสู่กรณี ที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่ ผมก็ยังยืนยันว่าเราทราบกันดีว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวาย ความปลอดภัยอันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่มันเป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทาง ความคิด มันต้องยอมรับตรงนี้ก่อนถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้านว่าเราจะจัดการบริหาร จัดการการถวายความปลอดภัยและการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร แน่นอน วันนี้คงไม่ใช่วาระที่เราจะมาพูดกันเรื่องการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยละเอียด แต่ผมคิดว่า อย่างน้อยประเด็นหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของคุณตะวัน ก็คือว่ามันต้องมีปัญหาอะไร อย่างแน่นอนที่รัฐไทยสามารถทำให้คน ๆ หนึ่งที่เขาแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง ของเขาด้วยการถือกระดาษแผ่นหนึ่ง และผลักให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ผมคิดว่าคนไทย จำนวนมากไม่คาดคิดว่ามีใครจะกล้าทำ มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างครับ เมื่อประชาชน คนหนึ่งเขาอยากจะพูด แต่เราไม่อยากฟัง เพราะมันไม่น่าฟังและไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน แล้วเราพยายามจะไปปิดปากเขา สุดท้ายเขาก็เลยเลือกตัดสินใจที่จะตะโกนครับ แล้วมันก็ นำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่งที่เราควร จะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ในขณะเดียวกัน ผมขออนุญาตท่านประธาน อีกสักเล็กน้อย ผมคิดว่าคนที่กำลังตะโกนอยู่ ด้วยความเคารพ ผมคิดว่าคนที่กำลังตะโกน ก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้นด้วย การตะโกน และยิ่งทำให้ไม่มีใครฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน สุดท้ายไม่ว่าจะฝ่ายไหน ผมคิดว่าเราไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ อย่างที่ท่านวิโรจน์บอก อย่าใช้น้ำมันดับไฟครับ ผมเองถ้าถามว่าวันนี้เราจะเสนออะไรไปยัง ฝ่ายบริหารฝ่ายรัฐบาลจากญัตตินี้ นอกจากข้อเสนอเรื่องการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนต่าง ๆ แล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง ผมเอง ไม่สบายใจได้ยินสมาชิกฝั่งรัฐบาลพูดกันถึง ถ้าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่น หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง นี่ผมยังนึกว่าเราอยู่ในรัฐบาลจากการรัฐประหารนะครับ ผมคิดว่า เราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายไม่สามารถ ส่งผลดีกับใครเลย เราเคยผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลาคมมาแล้ว สมาชิกหลายท่านพูดถึง ผมขอเวลาอีกนิดเดียว มันสอนเราแล้วว่าสุดท้ายต่อให้เราใช้กำลัง ใช้อาวุธร้ายแรงยิงเข้าไป สู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ฆ่าเขาตายกลางเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ตอกอก หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายเขาไม่มีทางเลือกแล้วก็ต้องเข้าไป เป็นคอมมิวนิสต์จริง ๆ ในป่า มันไม่ใช่ทางออก สุดท้ายเราก็ต้องจบด้วยการแก้ไขปัญหา ทางการเมือง นิรโทษกรรม เปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นผู้ร่วม พัฒนาชาติไทย มันวน Loop อยู่แบบนี้ละครับ สุดท้ายผมก็หวังว่ารัฐบาลของเราสมาชิกผู้แทนราษฎรของเราจะมีสติ แล้วก็ระงับความโกรธ อย่างที่ท่านเจ้าของญัตติได้เปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก แล้วใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ แล้วเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็น ไม่ตรงกันสามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยเราออกจากความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นมาเกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว เพื่อประเทศของเราได้มีสมาธิเดินหน้าไปเผชิญหน้ากับโลก ที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม