กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ กระผม นายธานี สิงหนาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ขอชี้แจงประกอบการพิจารณารายงานผล การตรวจสอบและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ ของสำนักงาน ศาลยุติธรรมตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๑ กำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยรับตรวจตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว ให้เสนอผลการสอบบัญชีต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า กระผมขอเรียนว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับงบประมาณ ในการสนับสนุนจากการจัดของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รายได้จาก งบเงินอุดหนุนรวมทั้งสิ้น จำนวน ๒๐,๐๓๘,๗๗๔,๖๐๐ บาทถ้วน จำแนกเป็น ๑. ค่าใช้จ่าย บุคลากร จำนวน ๑๒,๘๐๑,๙๒๒,๓๐๐ บาทถ้วน ๒. ค่าใช้จ่ายดำเนินงานจำนวน ๔,๒๒๔,๐๑๖,๘๐๐ บาท ๓. ค่าครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง จำนวน ๓,๐๑๒,๘๓๕,๕๐๐ บาทถ้วน ในส่วนของการจัดเก็บเงินรายได้ เพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดินสำนักงานศาลยุติธรรม มีการจัดเก็บเงินรายได้ที่เป็นค่าธรรมเนียมศาล และเงินค่าปรับในประกัน รวมถึงรายได้อื่น ๆ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๓,๓๕๘,๒๘๕,๒๑๓.๑๙ บาท ได้มีการนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๓,๓๕๗,๒๐๓,๖๑๓.๕๖ บาท และส่วนที่เหลือเป็นเงิน จำนวน ๑,๐๘๑,๕๙๐.๖๓ บาท ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ สำนักงานศาลยุติธรรมมีหน่วยเบิกจ่ายในสังกัดทั้งหมด ๒๘๕ หน่วย การเบิกจ่ายเงินถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยรวบรวมผลการดำเนินการทั้งหมดแสดงไว้ในบัญชีแสดงฐานะการเงินและงบประมาณ และดำเนินการทางการเงิน และปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ สำนักงานศาลยุติธรรม จัดทำรายการการเงินภาพรวมให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบและนำส่ง กระทรวงการคลังภายใน ๙๐ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณตามพระราชบัญญัติวินัยการเงิน การคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๐ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่า รายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมแสดงฐานะการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรม ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และมีผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดในวันเดียวกัน โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายการบัญชี ภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งเป็นการรับรองรายงานการเงินแบบไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการนำส่งรายงานการเงินประจำปี พร้อมกับรายงานผล การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๗๒ เรียบร้อยแล้ว จึงขอกราบเรียนท่านประธานและสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านทราบ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม นายธานี สิงหนาท ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม ขอชี้แจงที่ประชุมตามลำดับนะครับ
สำหรับในเรื่องแรกที่ทางที่ประชุมสอบถามเกี่ยวกับทนายความอาสา หรือทนายความขอแรงนั้น ขอกราบเรียนที่ประชุมว่าในปีนี้ท่านประธานศาลฎีกามีนโยบาย ที่สำคัญประการหนึ่ง คือต้องการที่จะจัดหาทนายความที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งเดิมทีเดียวแนวทางศาลเองก็จะจัดทนายความอาสา หรือทนายความขอแรงให้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้คือคดีที่มีอัตราโทษ ประหารชีวิตหรือจำเลยที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี เราต้องจัดหาทนายความให้ โดยภาคบังคับ ส่วนคดีที่มีโทษจำคุกก็เป็นสิทธิของจำเลยจะเลือกทนายความหรือไม่ก็ได้ แต่ยังขาดอยู่อันหนึ่งคือเวลาที่ศาลเลือกทนายความให้กับตัวจำเลยนั้น ก็จะเป็นการจัดตามคิว ตามระบบไป แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเริ่มพัฒนาจัดทนายความที่มีประสิทธิภาพให้เหมาะสม กับคดีที่จำเลยต้องหาในคดีนั้น ๆ อย่างเช่นคดียาเสพติดเราก็จะจัดหาทนายความที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านคดียาเสพติด เคยว่าความผ่านประสบการณ์มาหลายเรื่อง หลายคดี มีประสบการณ์ในการว่าความหลาย ๆ ปี มีความเชี่ยวชาญด้านที่จะต้องว่าความในเรื่องนั้น โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาได้รับประโยชน์จากทนายความที่มีคุณภาพขึ้น มีประสิทธิภาพในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็เห็นความสำคัญ ของจำเลยในคดีอาญาที่จะต้องมีโอกาสได้รับการจัดหาทนายความในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านไม่รู้กฎบัตรกฎหมาย แม้กระทั่งทนายความเอง บางครั้งก็อาจจะรู้กฎหมายไม่สมบูรณ์ที่สุด เพราะกระบวนการวิธีพิจารณาชั้นศาล อาจจะสลับซับซ้อน ดังนั้นในปัจจุบันเราก็คิดว่าเราจะต้องพัฒนาตรงนี้ไปให้เหมือนกับ หลักสากล โดยจะจัดทนายความที่มีคุณภาพเฉพาะด้านนั้นด้านนี้ให้กับตัวจำเลยที่ถูก ต้องหาดำเนินคดีให้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด แล้วงบประมาณที่เราจะจัดสรรให้กับ ทนายความนั้น เราก็จะพยายามจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนทนายความให้สูง เพียงพอกับแล้วกับค่าวิชาชีพของทนายความ
อีกอันหนึ่งที่ทางที่ประชุมสอบถามเกี่ยวกับการให้บริการประชาชน ในปัจจุบันนี้เราก็จะมีการอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ของศาลให้มีจิตอาสา มีหน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใสเพื่อที่จะต้อนรับประชาชนที่มาในศาลซึ่งเขามีความทุกข์อยู่แล้ว เราก็ต้องให้เขา มาศาลด้วยความสบายใจ ไม่ให้เขาได้รับทุกข์ต่อไป ในอีกจุดหนึ่งก็คือเราอยากจะบริการ ประชาชน สำหรับคนที่มีคดีความอาจจะไม่จำเป็นต้องมาทำงานหรือมาศาลในวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ เราอาจจะให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้เหมือนกับคลินิกนอกเวลา ซึ่งปีนี้ เป็นนโยบายของท่านประธานศาลฎีกาว่าประชาชนอาจจะเลือกมาศาลในวันหยุดได้ เราจะเปิดทำการศาลวันหยุด อาจจะวันเสาร์ วันอาทิตย์ ให้ประชาชนที่ไม่สะดวก ในการมาศาลในวันทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ อาจจะให้ประชาชนเลือกมาศาลในวันหยุด วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรืออาจจะเปิดทำการศาลนอกเวลาการทำงานในวันปกติ อาจจะ เปิดนอกเวลาตอนประมาณ ๔ โมงครึ่งถึง ๒ ทุ่ม แล้วซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมตอนนี้ กำลังจัดงบประมาณเพื่อที่จะให้ศาลแพ่ง แล้วก็ศาลเยาวชน แล้วก็ศาลอื่น ๆ อีก หลาย ๆ ศาล ทำงานในวันหยุด
อีกอันหนึ่งที่ที่ประชุมถามว่าเรามีการยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทางระบบ e-Filing ระบบ CIOS ที่ศาลชั้นต้นได้ แต่ในการอุทธรณ์ การฎีกาเรายังไม่มีระบบนี้ ซึ่งก็จะ ขอตอบในที่ประชุมว่าเรากำลังจะพัฒนาระบบการยื่นอุทธรณ์ ยื่นฎีกาผ่านระบบ e-Filing ระบบทาง CIOS ต่อไป อันนี้เป็นแนวคิดที่เรากำลังจะทำในปีนี้ และในปีนี้ที่เราคิด แล้วก็ท่านถามมาตรงใจเลยคือในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เราแก้ไขกฎหมาย ในมาตรา ๑๗๒ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ แล้ว ๑๐ กว่าปีแล้ว เราแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะให้ศาล ทำการพิจารณาและสืบพยานโดยบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องไว้ แต่เรายังไม่ได้มี การทำอย่างจริงจัง แต่เรามีการทดลองบางศาลแล้ว อย่างเช่นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ ตอนนี้เรากำลังทดลองทำ แล้วเราก็ลองทำที่ศาลอาญา บางบัลลังก์แล้วนะครับ แล้วปีนี้เราจะจัดงบประมาณไปยังศาลต่าง ๆ เพื่อให้ทุกศาลได้มี การบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในคดีอาญาไว้ โดยเราจะเน้นในคดีอาญาเป็นหลักเลย คดีแพ่งนั้นเราค่อยตามมาทีหลัง แต่คดีอาญาเราจะต้องทำให้ทัน แต่ว่าระบบ e-Hearing ที่เราจะถอด Tape บันทึกทันทีอาจจะต้องพัฒนาอีกต่อไป ซึ่งยังไม่มีระบบใดที่เสถียรที่สุด ในตอนนี้ แต่สำหรับในการบันทึกภาพและเสียงเราจะต้องเร่งทำในปีนี้ตามที่ทางสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา เราก็จะทำให้ในจุดนี้นะครับ
อีกจุดหนึ่งที่ฝากมาคือในเรื่องของการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ตามที่เรา ทราบว่ามีการสอบหลายสนาม สนามใหญ่ สนามเล็ก สนามจิ๋ว แต่ละสนามก็มีการสอบ ได้น้อยมาก ซึ่งเรื่องนี้แล้วทางสำนักงานศาลก็ดี ทางประธานศาลฎีกาก็ดี ได้เห็น ข้อบกพร่องตรงนี้ เรากำลังจะดำเนินการแก้ไขเพื่อที่จะจัดสอบให้มีประสิทธิภาพ แล้วก็ ได้ผู้พิพากษามาทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นเรื่องที่ต้องขอกราบขอบคุณสภาแห่งนี้ ที่ให้ความห่วงใยทางศาลยุติธรรมเป็นอย่างมากในเรื่องนี้
อีกเรื่องหนึ่งที่มีการสอบถามเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว การปล่อยชั่วคราว ต้องติด EM ต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ศาลกำลังจะเปลี่ยนระบบใหม่ การใช้ EM อาจจะใช้เป็น เรื่องรองลงไป เราจะใช้ EM น้อยมากเลยตอนนี้ เราจะปล่อยประกันอิสรภาพไป โดยอาจจะไม่ต้องมีการติด EM ต่อไป แล้วเราอาจจะปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก และไม่ปล่อย ชั่วคราวเป็นข้อยกเว้นตามหลักที่เราได้เขียนกฎหมายไว้ทุกประเทศ แล้วก็ทุกรัฐธรรมนูญ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่ามีความผิดให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งศาลก็จะคำนึงถึงจุดนี้ในใจของศาลอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันเราก็อาจจะ ต้องมีการเปลี่ยนทิศทางไปนะครับ
สำหรับในเรื่องงบประมาณอื่น ๆ ที่ทางสภาได้จัดสรรไปให้ ทางสำนักงานศาล ก็จะพยายามใช้ให้ถูกต้องตามงบและใช้อย่างประหยัดที่สุด ขอชี้แจงไว้เพียงเท่านี้ครับ