นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอรายงาน ผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ มีภารกิจหลักคือการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจ ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๓๐ ได้บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่ง หรือขั้นตอน การปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระ แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งมีอำนาจ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตาม กฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น และมีอำนาจ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการ แผ่นดินดังกล่าวนั้น หากเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๓๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

    อ่านในการประชุม

  • ในโอกาสนี้กระผมขอรายงานผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อหลักจำนวน ๓ หัวข้อ ได้แก่ ๑. ผลการดำเนินงานด้านเรื่องร้องเรียน ๒. ผลการดำเนินงานด้านการตรวจสอบการปฏิบัติ หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญ และ ๓. ผลการดำเนินงานในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ผลการดำเนินงานด้านเรื่องร้องเรียน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมของประชาชน นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า ๒๓ ปี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น ๕๙,๕๐๐ เรื่อง ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน ๕๗,๒๑๙ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๑๖ โดยมีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวน ๒,๒๘๑ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๓.๘๓ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ ดำเนินการทั้งสิ้น ๕,๒๕๐ เรื่อง ได้มีคำวินิจฉัยและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ ที่ก่อให้เกิด ความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนจำนวน ๒,๘๓๙ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๕๔ ของเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการในรอบปี ในจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมดนี้ปรากฏกรณี ข้อร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจำนวน ๓๔ เรื่อง และเป็นกรณีคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายจำนวน ๔๖ เรื่อง และไม่เพียงการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนรายกรณีเท่านั้น แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังได้พิจารณาศึกษาปัญหาเชิงระบบ หรือเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ในหลายเรื่อง อาทิ ๑. การแก้ไขปัญหาดินเค็มในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบ กิจการบ่อทราย ๒. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้านอุทกภัย และเร่งรัดติดตามแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ๓. กรณีเหตุเพลิงไหม้ โกดังเก็บน้ำมันเครื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย สุขอนามัยและทรัพย์สินของ ประชาชน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อ้อมใหญ่ Model) ๔. โรงเรียนเอกชนนอกระบบ และโรงเรียนนานาชาติได้รับผลกระทบจากปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ต้องเลิกประกอบกิจการ ทั้งนี้ตัวอย่างผลการดำเนินการในเรื่องร้องเรียนเพื่อ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและการแก้ไขปัญหาเฉพาะรายได้นำเสนอไว้ในรายงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ แล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ผลการดำเนินงานด้านการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน ของรัฐตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ

    อ่านในการประชุม

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๓๐ (๓) บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจ ในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึง การที่หน่วยงานของรัฐ ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ โดยกำหนดให้รัฐ มีหน้าที่ต่อประชาชนเพื่อให้รัฐต้องดำเนินการในเรื่องที่กำหนดให้ประชาชน ทุกคนหรือทุกชุมชนเป็นการทั่วไปโดยที่ประชาชนหรือชุมชนไม่ต้องใช้สิทธิร้องขอ ถ้ารัฐไม่กระทำตามหน้าที่ก็จะเป็นกรณีจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือปฏิบัติหน้าที่ ไม่ถูกต้องครบถ้วน ประชาชนและชุมชนย่อมมีสิทธิติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการและ ฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นได้

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ได้ทำการศึกษาและจัดทำข้อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐไปแล้วจำนวน ๔ เรื่องประกอบด้วย ๑. การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อนที่เกิดจากโรคหายาก ๒. การคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับอาหาร แปรรูปจากเนื้อสัตว์ การพัฒนาระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหลัง ออกสู่ท้องตลาด ๓. การแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรมกรณีความล่าช้า ในการดำเนินคดี และเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการอายัดตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน ๔. สิทธิการเข้าถึงบริการไฟฟ้าในครัวเรือนของราษฎร

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ผลการดำเนินงานในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๓๑ กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ ใน ๒ กรณีได้แก่ ๑. กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ๒. กรณีกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา ๒๓๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ดังนี้ ๑. กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน ๓๔ เรื่อง เสนอเรื่องพร้อมความเห็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญจำนวน ๑ เรื่อง ๒. ยุติการพิจารณาจำนวน ๓๓ เรื่อง ๓. กรณีกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน ๔๖ เรื่อง เสนอเรื่องพร้อมด้วย ความเห็นต่อศาลปกครองจำนวน ๓ เรื่อง ยุติการพิจารณาจำนวน ๔๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งนี้ในการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นหลัก และในการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจหลักดังกล่าว ปรากฏผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการทำงานขององค์กรอิสระและ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยสถาบันพระปกเกล้า พบว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับความเชื่อมั่นในการทำงานสูงเป็นลำดับที่ ๑ ผลการสำรวจคิดเป็นร้อยละ ๖๕ อยู่ในระดับค่อนข้างเชื่อมั่นต่อการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของผู้ ร้องเรียน ผู้มารับบริการ โดยในการสำรวจความพึงพอใจต่อการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่อง ร้องเรียนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการออกแบบสำรวจให้ผู้ร้องเรียนได้สะท้อนความคิดเห็นอย่างอิสระเพื่อนำผลการสำรวจ ดังกล่าวมาปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานผู้ตรวจการ แผ่นดินเพื่อให้เกิดมาตรฐานและเป็นที่พึงพอใจของประชาชนผู้มาร้องเรียนมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ มีผลการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนของความพึงพอใจของผู้ร้องเรียน พบว่าผู้ร้องเรียนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนในทุกด้าน อยู่ระดับมาก โดยสรุปความพึงพอใจในแต่ละด้านได้ดังนี้ ๑. ด้านการยื่นและรับเรื่อง ร้องเรียนมีความพึงพอใจร้อยละ ๘๗.๖ ด้านการพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง ตามคำร้องเรียนมีความพึงพอใจร้อยละ ๘๑.๘ ด้านการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน มีความพึงพอใจร้อยละ ๘๑.๔ ด้านการดำเนินการหลังการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน มีความพึงพอใจร้อยละ ๗๐.๖ ด้านความพึงพอใจต่อการพิจารณาสอบสวนเรื่องร้องเรียน ในภาพรวมมีความพึงพอใจร้อยละ ๗๙ และด้านภาพลักษณ์และการให้บริการของ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีความพึงพอใจร้อยละ ๘๖.๒ ทั้งนี้สามารถสรุปภาพรวม ความพึงพอใจที่พี่น้องประชาชนมีต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อยู่ในระดับมากคิดเป็นร้อยละ ๘๓.๔

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผมขอยืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินทุกท่าน เป็นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่หน่วยงานของรัฐและสร้างความเป็นธรรมให้แก่พี่น้อง ประชาชนโดยยึดหลักสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวง ท้ายนี้กระผม ขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้กรุณาให้ความสนใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการ แผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกท่านเพื่อนำไป พัฒนางานของผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป กระผมและผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอจบการแถลงผลการ ดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ แต่เพียงเท่านี้ กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ก่อนอื่นในนามของ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วก็สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกทุกท่านที่ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจกับการปฏิบัติ ภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแก้ไขความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมของพี่น้อง ประชาชน ได้กรุณาสะท้อนปัญหา ข้อบกพร่อง หรือความไม่สมบูรณ์ในการปฏิบัติ แล้วก็ ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์หลายประการ ซึ่งทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะขอน้อมรับเอาไปปรับใช้ในการพัฒนาการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้อง ประชาชน ผมขออนุญาตลงในรายละเอียดโดยสังเขปของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติในแต่ละท่านโดยสังเขปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านแรก ได้รับความกรุณาจากท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ท่านได้กรุณาสะท้อน สอบถามเรื่องกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีบุคคล ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ากรณีบุคคล ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้สามารถยื่นร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ และมี พ.ร.ป. ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดรองรับว่า ก่อนที่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มายื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจราชการแผ่นดินเป็นหน่วยกรองในเบื้องต้น กรณีที่พิจารณาแล้วไม่เข้าเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก็จะยุติเรื่อง กรณีที่ก้ำกึ่งหรือเห็นว่ามันน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญก็จะส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา อำนาจวินิจฉัยสุดท้ายจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็ในกรณี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยุติเรื่อง ไม่ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในเวลาที่กำหนดก็ไม่ได้ตัดสิทธิ ผู้ร้องที่จะไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ท่านมีความสงสัยต้องการข้อมูลว่า ในส่วนที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ ๑ เรื่อง ก็จะเป็นเรื่องกรณีการประกันตัวผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดไว้มันขัดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการประกันตัวผู้ต้องหาที่กำหนดไว้ใน ป. วิ. อาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญนะครับ ในส่วนที่ได้ส่งมีความเห็นว่าขัดต่อกฎหมาย และได้ส่งต่อไปยังศาลปกครองเป็นกรณีเกี่ยวกับ คำสั่ง หรือว่าการปฏิบัติการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งต่อให้ศาลปกครองพิจารณาก็มีด้วยกัน ๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก จะเป็นกรณีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ก็เป็นพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๗/๑ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นกรณีระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วย การเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้อยู่ในความครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนก ตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๖๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๑๑ และข้อ ๑๗ มีปัญหาความชอบด้วยพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๗ และ มาตรา ๑๔ สำหรับในเงื่อนไขในรายละเอียดจะขออนุญาตส่งเป็นเอกสารให้ท่านฐากร จะได้ไม่รบกวนเวลาที่ประชุมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตกราบเรียนดังนี้ครับ เรื่องที่ไม่ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือ ศาลปกครองส่วนใหญ่ก็จะเป็นกรณีที่ถ้าจะส่ง กรณีที่จะส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกรณีที่ บทบัญญัติของกฎหมาย ขัดบทบัญญัติของกฎหมายนะครับ บทบัญญัติของกฎหมาย ก็เป็นกฎหมายหลักที่ผ่านองค์กรที่มีอำนาจออก คือผ่านทางสภาหรือประกาศคณะปฏิวัติ ที่สภารับทราบแล้วถึงจะส่ง ถึงจะอยู่ในเงื่อนที่จะพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่ร้องมา อาจจะเป็นข้อบังคับ เป็นระเบียบ มันไม่ถึงที่จะต้องส่งนะครับ อีกกรณีหนึ่งที่ไม่เข้า หลักเกณฑ์ที่พบบ่อยก็คือไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง เป็นผู้ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรงไป อีกประการหนึ่งในคำร้องระบุไม่ชัดเจน เพราะว่าในตัวรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ผู้ร้องในกรณีร้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญต้องระบุว่าถูกละเมิดสิทธิในกรณีใดที่มีความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาในเบื้องต้นแล้วว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ และไม่ส่งต่อ ยุติเรื่องก็ไม่ได้ตัดสิทธิ ถ้าผู้ร้องยังมีความมั่นใจว่าเข้าหลักเกณฑ์เข้าเงื่อนไข ก็สามารถยื่นร้อง ไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของผู้ร้องที่จะร้องโดยตรงด้วยตนเองต่อศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ขออนุญาตกราบเรียน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดมาคือท่านนิพนธ์ คนขยัน จังหวัดบึงกาฬ พรรคเพื่อไทย ท่านให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประสานงาน การประสานการปฏิบัติระหว่างองค์กรอิสระด้วยกัน ท่านก็ยกกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จริง ๆ เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ มีกำหนดไว้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ๕ องค์กรให้เน้นการให้ความร่วมมือ ประสานงานในการปฏิบัติงานด้วยกัน กรณีที่มีเรื่องร้องเรียนที่รับไว้แล้วมันไม่เข้าในภารกิจ ขององค์กรอิสระที่รับเรื่อง แต่ไปเข้าอีกองค์กรอิสระหนึ่งก็ให้ส่งเรื่องนั้นไปยังองค์กรอิสระนั้น เช่น กรณีมีเรื่องร้องเรียนเรื่องการทุจริตการใช้จ่ายงบประมาณ การทุจริตในการปฏิบัติ หน้าที่ราชการร้องมาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เราก็จะไม่รับไว้แต่ไม่ได้ทิ้งเปล่า เราก็จะส่งต่อ ไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรับเรื่องไปพิจารณาต่อ ต้องขอขอบคุณท่านนิพนธ์ คนขยัน นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาครับ ท่านธิษะณา ชุณหะวัณ กทม. พรรคก้าวไกล ต้องขอบคุณ ท่านธิษะณาเป็นอย่างสูงนะครับ ท่านกรุณาได้ลงรายละเอียดในเรื่องสถิติการแก้ไข เรื่องร้องเรียน ท่านได้พบประเด็นที่สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นกัน ก็คือเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จ ในจำนวนเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จมันมีเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จ เรื่องที่รับไว้ แต่พอรับไว้แล้วพิจารณาแล้วปรากฏว่ามันต้องยุติเรื่อง เนื่องจากไม่เข้า หลักเกณฑ์เงื่อนไขก็ทำให้เสียเวลา เสียเวลาที่จะต้องมาทำงานธุรการกับสำนวนพวกนี้ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะรับไปว่าตรงนี้ก็คือเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ เรื่องที่อยู่ในกรอบหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องไหนรับได้ เรื่องไหนรับไม่ได้นะครับ อันนี้ก็จะช่วยลดเรื่องร้องเรียนในลักษณะดังกล่าว ทำให้สิ้นเปลืองเวลาไปโดยใช่เหตุนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนั้นท่านธิษะณาได้ให้ความกรุณาแนะนำ ท่านไปศึกษาถึงการแก้ไข เรื่องร้องเรียนขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ท่านยกตัวอย่างของนิวซีแลนด์ ซึ่งมีมีระบบรับเรื่องร้องเรียน ติดตามเรื่องร้องเรียน แล้วก็การออกคำวินิจฉัยที่มีประโยชน์ ซึ่งตรงนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ขอบคุณนะครับ เราจะรับไว้ไปพัฒนา ซึ่งหลายประเด็นของนิวซีแลนด์เราได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่บางประเด็นยังไม่ครบถ้วน ตรงนี้สำหรับนิวซีแลนด์ก็ไม่ต้องหนักใจนะครับ เพราะว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไทย และผู้ตรวจการแผ่นดินของนิวซีแลนด์ได้มีการลงนาม MOU ในความร่วมมือทวิภาคี ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ การฝึกอบรม การดูงาน การพัฒนางานซึ่งกันและกัน ก็ขออนุญาตจะได้รับไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับท่านธีระชัย แสนแก้ว ขอบคุณครับ ไม่ได้พบกันนานยังระลึกถึง เมื่อครั้งที่ได้ร่วมงานกันช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรมากมายในภารกิจของท่านธีระชัยในฐานะ ประธานสหภาพ ประธานเครือข่ายเกษตรกร ผมเองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งพี่น้องประชาชนกลุ่มเดียวกันที่เราต้องดูแลนะครับ ในโอกาสนี้ท่านได้ให้ข้อสังเกต ที่เป็นประโยชน์ ในการพัฒนางานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หลายประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ท่านก็ตั้งคำถามเชิงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใดเรื่องร้องเรียน แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาจึงต่ำกว่าเป้าหมาย ในแต่ละปีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำคำรับรองกับสำนักงบประมาณไว้ว่าเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จต้องไม่น้อยกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ปีที่ผ่านมาปี ๒๕๖๕ ๕๔ เปอร์เซ็นต์ แต่จริง ๆ แล้วก็มีสาเหตุอยู่ หลายประการ อาจจะไม่เชิงแก้ตัว แต่อาจจะเป็นข้อจำกัดนะครับ เรื่องแรกก็เรื่อง สถานการณ์โควิด มันทำให้การออกไปแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ทำได้ยากลำบาก แล้วก็ ต้องชะลอตัวไป แม้ว่าเราจะใช้การแก้ไขปัญหาทางด้านการประชุมทาง Online แล้วก็ตาม แต่บางกรณีมันต้องลงไปดูด้วยกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ไปที่พื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ แล้วก็ มองปัญหาจริง ๆ ด้วยกัน แล้วก็หาทางแนวแก้ไขปัญหาด้วยกัน อันนี้ก็จะเป็นอุปสรรค อันหนึ่งทำให้ปริมาณงานมันก็ล่าช้าไป

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือที่ล่าช้าในกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ของผู้ตรวจการแผ่นดินเราเน้นการทำงานแบบกัลยาณมิตร เราไม่เน้นว่าเมื่อมีเรื่องร้องเรียนมา ไม่เน้นว่าใครผิด ใครถูก แต่เราเน้นว่าเมื่อปัญหามันเกิดขึ้นแล้วจะช่วยกันแก้ไขปัญหา ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในกระบวนการแก้ไขปัญหาก็เน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากคำร้องเรียนของผู้ร้องเรียนแล้วก็จะมีการให้ ผู้ถูกร้องเรียนได้ชี้แจงได้ให้ข้อเท็จจริง แล้วก็จะมีการประชุมปรึกษาหารือแนวทางแก้ไข ปัญหาเรื่องร้องเรียนร่วมกันระหว่างผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนนั้นและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในคำวินิจฉัย ในข้อเสนอแนะที่จะออกไปเราก็จะคำนึงถึงขีดความสามารถของหน่วยงานที่จะปฏิบัติ ข้อจำกัดของหน่วยงานเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยหรือข้อเสนอแนะออกไป เกือบจะทั้งหมดจะเป็นข้อเสนอแนะที่มันสามารถปฏิบัติได้ในทางปฏิบัติ ก็อาจจะเป็นเหตุว่า เราให้ความสำคัญกับกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นก็อาจจะทำให้ ใช้เวลาไปหน่อย ที่สำคัญที่เราพบอยู่มากก็เรื่องการชี้แจงของหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตือนครั้งที่ ๔ ครั้งที่ ๕ ครั้งที่ ๖ แล้วก็ยังไม่มา สำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ปรับเพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้แล้วว่า ในโอกาสต่อไปการให้หน่วยงานชี้แจง จะทวงถามแค่ ๒ ครั้ง ครั้งแรก แล้วก็ครั้งที่ ๒ หลังจากนั้นก็จะใช้วิธีเชิญประชุม เชิญที่ประชุมเพื่อได้ข้อสรุปในที่ประชุมโดยขอความร่วมมือให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ของหน่วยงานมาเข้าร่วมประชุมก็คิดว่าน่าจะคลี่คลาย ก็เป็นที่น่ายินดีขึ้นมานิดหนึ่ง สำหรับเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๙ กันยายนที่จะถึงนี้ ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดูข้อมูลในเบื้องต้นแล้วคิดว่าเราอาจจะได้มากกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์เล็กน้อย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดมาของท่านธีระชัยนะครับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ในการเสนอหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมของพี่น้องประชาชน แล้วหน่วยงานร่วมมือมากน้อยเพียงไร ก็ดังได้เรียนแล้วด้วยวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วก็ข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาเราคำนึงถึงขีดความสามารถ แล้วก็ข้อจำกัดของงบประมาณ ข้อจำกัด ของหน่วยงานด้วย เพราะฉะนั้นในคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะที่ออกไปส่วนใหญ่ก็จะได้รับ การตอบสนอง ผมยกตัวอย่างที่เราคำนึงถึงข้อจำกัดและข้อเสนอแนะ กรณีที่มันเกิด อุบัติเหตุจากการเดินข้ามถนนในเขตชุมชนบ่อยมากในรอบปี แล้วก็มีประชาชนก็ไปร้องขอ ให้หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ อาจจะเช่นแขวงการทางสร้างสะพานลอยข้ามในเขตชุมชน ก็มีการหารือกัน ก็ได้ข้อสรุปว่าดูจากสถิติ ดูจากข้อมูล ดูแนวโน้มปริมาณปัญหา ที่เพิ่มมากขึ้นในปีที่แล้วสมควรที่จะสร้าง แขวงการทางก็จะรับไปที่จะดำเนินการ ของบประมาณก่อสร้าง แต่ก็ได้ร้องขอกับผู้ร้องเรียนว่าปีนี้คงสร้างไม่ทัน เพราะระบบ งบประมาณแผ่นดินของราชการต้องของบประมาณล่วงหน้า ๑ ปี อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยก็คงไม่ได้ออกไปว่าต้องสร้างสะพานลอยให้ได้ในปีนี้ อย่างนี้เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • อีกกรณีหนึ่ง เป็นกรณีที่ผ่านมาแล้ว ลุล่วงแก้ไขไปแล้ว แต่ท่านธีระชัย ก็ยังอยากจะทราบ เรื่องกรณีการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการลงมติวินิจฉัย ของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ในประเด็นร้องเรียนมันมีข้อร้องเรียนมาว่า มติวินิจฉัยของรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ซึ่งวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคล ให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นญัตติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ การประชุมรัฐสภาซึ่งกำหนดว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้วห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน ขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน มตินี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ในประเด็นนี้ทางคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ได้พิจารณาเงื่อนไขหลักเกณฑ์ว่ามันสมควรที่จะส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นแรก ก็พิจารณาว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะได้รับความเสียหาย คือผู้ร้องจะต้องเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ในกรณีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายกรณีนี้ จริง ๆ เราอาจจะแจงได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้ร้องเรียนที่เป็นประชาชนที่แสดงเจตจำนง ผ่านการใช้สิทธิ คือผู้เลือกตั้งถูกละเมิดสิทธิที่จะได้นายกรัฐมนตรีด้วยกระบวนการที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกระบวนการที่ กำหนดไว้เฉพาะ มีขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกละเมิดสิทธิกลุ่มที่ ๒ ก็เป็นประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการไม่ได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเข้าไป ทำหน้าที่บริหารประเทศ และผู้ถูกกระทบสิทธิประการที่ ๓ ก็คือผู้ที่เป็น สส. สว. ที่ลงมติเสนอไว้ แล้วเขาจะใช้สิทธิก็เลยไม่ได้ใช้สิทธิที่เขามีสิทธิที่จะเลือก ในกรณีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเราพิจารณาว่าประเด็นนี้มันเป็นประเด็นปัญหาสาธารณะ ก็น่าที่จะเปิด โอกาสให้ผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาคือศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา เราก็เลยตัดสินใจส่งต่อ คงไม่ใช่ตามกระแสครับ เพราะกรณีนี้ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่องเสียเองก็ไม่ยุติหรอกครับ ฝ่ายที่เห็นว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย จริง ๆ ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือจะได้ข้อยุติจริง ๆ สุดท้าย เพราะว่าเป็นอำนาจของ ศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็ด้วยความสัตย์จริงเราจะทำหน้าที่โดยยึดหลักความถูกต้อง แล้วก็ประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ คงไม่ใช่ตามกระแส เพราะว่าเรื่องนี้อย่างไร ก็ไปตามกระแสไม่ได้เพราะเป็นเรื่องมีความเห็น ๒ ฝ่าย ก็จะโดนอีกฝ่ายคัดค้านถ้าอย่างนั้น แต่ที่ดีที่สุดคือยึดหลักนิติธรรม ยึดหลักกฎหมาย ก็ส่งต่อให้ผู้มีหน้าที่และมีอำนาจ เป็นผู้วินิจฉัย ก็ขออนุญาตกราบเรียนท่านธีระชัยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จวนจบแล้วครับ ของท่านเอกราช อุดมอำนวย

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่อง การติดตามผลการปฏิบัติคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เรา ให้ความสำคัญ แต่ที่ผ่านมานี้มันยังมีข้อจำกัดในเรื่องบุคลากร บุคลากรมีจำกัด ขณะนี้ ในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ขอให้ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ก.พ.ร. ได้มาศึกษาก็ตรงกันว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินควรที่จะมีหน่วยงานรับผิดชอบ ในการติดตามผลการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เป็นกิจจะลักษณะ แล้วก็มีระบบการตรวจติดตาม ตรงนี้ก็รับข้อเสนอของท่านไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ได้กรุณาเสนอประเด็นที่เป็นเรื่องเชิงระบบ ที่เป็นประโยชน์สาธารณะทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ขอรับไป ท่านจะขอเสนอเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกินเชิงระบบครอบคลุมหมดในหลาย ๆ มิติเลย เป็นประโยชน์ ในหลายเรื่อง เราได้แก้ไขในประเด็นเรื่องร้องเรียนรายกรณีไปแล้ว แต่ถ้าเอามา ต่อ Jigsaw กันให้มันเชื่อมโยงกันทั้งระบบมันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปออกกฎหมาย ออกระเบียบ ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติ ตรงนี้ ก็ขอรับไปนะครับ ฝากขอบคุณท่านอดีต สส. นริศ ขำนุรักษ์ เมื่อสมัยประชุมที่ผ่านมา ท่านได้กรุณาเสนอเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขเรื่องปัญหา ความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญครอบคลุม ๓ จังหวัด สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ก็ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เรื่องปัญหา การตื้นเขิน ปัญหาน้ำเสีย แล้วก็การกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภคนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เสนอแนะ ในการทำงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้เครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราขอกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่แล้วก็แนะนำช่องทางการร้องเรียนเรื่องแบบฟอร์มการร้องเรียน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม อ่างทอง พรรคก้าวไกล ช่องทางการร้องเรียน เรามีนอกเหนือจากทางสายด่วน ทางไปรษณีย์ แล้วมีช่องทางอื่นไหม มีนะครับ ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีทาง Website ก็ร้องเรียนได้ www.ombudsman.go.th www.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน.com www.ผู้ตรวจการแผ่นดิน.com หรือทาง Application ติดตั้ง Application ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ใน Website ใน Application นั้นจะมีแบบฟอร์มเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นร้องเรียน ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้เลย

    อ่านในการประชุม

  • ผลการศึกษาถึงระบบ ปีที่ผ่านมาทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ศึกษา เชิงระบบเรื่องมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กเล็กในสถานศึกษา จะเน้นไปในเรื่อง ของความปลอดภัย เรื่องงบประมาณ เรื่องมาตรการคุ้มครองซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน ระบบการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะขออนุญาตได้ส่งรายงานการศึกษาฉบับเต็มให้กับท่านณัฐวุฒิ ในโอกาสต่อไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านสุดท้าย ท่านปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ เรื่องร้องเรียนไม่แล้วเสร็จท่านก็เป็นห่วงกรณีเรื่องร้องเรียนที่ไม่แล้วเสร็จ จริง ๆ ข้อจำกัด ประการหนึ่งนอกเหนือจากความร่วมมือในเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ถ้ายอมรับ ถ้าดูจากสถิติเรื่องร้องเรียน ๒๓ ปี เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่อัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม ไม่ได้สัดส่วน เจ้าหน้าที่สอบสวนมีประมาณ ๑๒๐ คน นิ่งมาตลอด แต่เรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ต้องมีเรื่องร้องเรียน ที่ทำมันล้นอันนี้ก็จะแก้ ท่านแนะนำว่าให้ร่วมมือกับศูนย์ดำรงธรรม ขณะนี้ปีที่ผ่านมาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ที่จะร่วมมือกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยเรื่องร้องเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในระดับอำเภอก็แนะนำให้พี่น้อง ประชาชนยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพราะสามารถแก้ไขได้เบ็ดเสร็จ เรื่องร้องเรียน เกี่ยวข้องกับหน่วยงานในระดับจังหวัดก็ยื่นร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และกรณี ที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดรับเรื่องร้องเรียนไว้แล้วแต่ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาได้เนื่องจากติดขัดว่าผู้ที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ แก้ไขกฎ ระเบียบ มันอยู่ที่ส่วนกลาง คืออยู่ที่อธิบดี อยู่ที่กระทรวง ขอความร่วมมือไปแล้ว ขอให้เขาชี้แจง เขาไม่ชี้แจง ขอให้เขามาร่วมประชุมที่จังหวัดเขาไม่มา เรื่องมันก็ค้าง เราก็ทำความร่วมมือกันว่า ต่อไปนี้เรื่องไหนที่ติดขัดด้วยความร่วมมือของหน่วยงานส่วนกลางให้ส่งต่อเรื่องร้องเรียนนั้น มายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะว่าในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน กฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ว่า สามารถเชิญสามารถให้หน่วยงานชี้แจง สามารถเชิญหน่วยงานมาประชุม ถ้าไม่มาก็จะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือขัดกฎหมาย ตรงนี้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา นี่ก็เป็นภาพรวมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต้องขอขอบคุณ ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติที่ได้กรุณาสะท้อนปัญหาแล้วก็แนะนำ ถ้าดูจากภาพรวมทั้งหมดด้วยความขอบคุณจริง ๆ ครับ เป็นข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ หลายท่านสะท้อนปัญหาและมีข้อแนะนำด้วย ก็ขอน้อมรับประเด็นปัญหาแล้วก็ข้อเสนอแนะ ของทุกท่านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป ด้วยความขอบพระคุณครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม