กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายณรงเดช อุฬารกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมมาพูดถึงปัญหาของพี่น้อง เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่รายได้ตกต่ำ ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบมีสาเหตุที่แตกต่าง จากผลผลิตทางการเกษตรประเภทอื่น กล่าวคือได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐ ที่ผิดพลาด ขาดความรอบคอบ ท่านประธานครับ จากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต ในปี ๒๕๖๐ ส่งผลทำให้โครงสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างผู้ผลิตบุหรี่ไทยกับบุหรี่นอก เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมผู้ผลิตบุหรี่ไทยมีส่วนแบ่ง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี จนถึงเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ในบางปี แต่หลังจากมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ทำให้บุหรี่ไทย มีสัดส่วนทางการตลาดลดลงเหลือเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งกระทบโดยตรงต่อพี่น้อง เกษตรกร เนื่องจากผู้ผลิตบุหรี่ไทยผูกขาดโดยรัฐบาล ซึ่งก็คือการยาสูบแห่งประเทศไทย ได้ทำการลดโควตาการรับซื้อใบยาสูบจากพี่น้องเกษตรกรลงตามสัดส่วนทางการตลาด ที่ลดลง โดยโควตาได้ลดลงจากปี ๒๕๖๐ ที่เคยรับซื้อใบยาสูบสายพันธุ์เวอร์จิเนีย ๙.๖ ล้านกิโลกรัม ในปี ๒๕๖๕ กลับเหลือเพียง ๔.๒ ล้านกิโลกรัม หรือลดลง ๕๖ เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์เบอร์เลย์ จากที่เคยรับซื้อ ๑๐.๗ ล้านกิโลกรัม เหลือเพียง ๕.๓ ล้านกิโลกรัมหรือลดลง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์เตอร์กิช จากที่เคยรับซื้อ ๓.๗ ล้านกิโลกรัม เหลือเพียง ๑.๒ ล้านกิโลกรัม หรือลดลง ๖๘ เปอร์เซ็นต์ จากที่พี่น้องเกษตรกรเคยขายยาสูบได้กว่าปีละ ๒๔ ล้านกิโลกรัม กลับเหลือเพียง ๑๐.๘ ล้านกิโลกรัม ในปัจจุบันถึงแม้จะมีการรับซื้อใบยาสูบบางสายพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น แต่ก็เป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เกษตรกรต้องลดการปลูกใบยาสูบจากโควตาที่ได้รับลดลง จากเดิมเรามีพื้นที่ปลูกใบยาสูบ ๑.๕ แสนไร่ ในปัจจุบันเหลือเพียง ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ จากที่เคยมีครัวเรือนพี่น้องเกษตรกรปลูกใบยาสูบ ๒๖,๐๐๐ ครัวเรือน เหลือเพียง ๑๕,๐๐๐ ครัวเรือน ลดลง ๔๑ เปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่เคยตกถึงมือพี่น้องเกษตรกรกว่า ๒,๕๐๐ ล้านบาทในแต่ละปี เหลือเพียงไม่ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาทในปัจจุบัน ครัวเรือนเกษตรกรยังประกอบอาชีพปลูกใบยาสูบ จากที่เคยมี รายได้เฉลี่ยเดือนละ ๘,๐๐๐ บาท เหลือเพียง ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน การออกนโยบายที่ ผิดพลาดของรัฐส่งผลต่อชีวิตของเกษตรกรโดยตรง จากอาชีพที่เคยมั่งคั่งกลับกลายเป็น อาชีพที่ต้องคอยลุ้นว่าในอนาคตจะได้รับโควตาหรือไม่ ท่านประธานครับ ผมได้เข้าไปดู บทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งอยู่มาได้ ๘๔ ปี เพราะเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ แต่ไม่มีบรรทัดไหนเลยครับที่กล่าวถึงเกษตรกรผู้ปลูก ใบยาสูบ ไม่มีอนุกรรมการชุดไหนเลยครับที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ผู้ปลูกใบยาสูบ การบริหารงานของการยาสูบแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นผลกำไร บนความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร แทนที่จะบริหารความเสี่ยงจากความผันผวน ของตลาดยาสูบด้วยตัวเอง กลับโยนความเสี่ยงให้เกษตรกรโดยกำหนดโควตาเป็นรายปี แทนที่จะมีแผนระยะยาวให้พี่น้องเกษตรได้ปรับตัว นโยบายความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีก็เป็นเพียงการชดเชยในปีแรก ๆ เท่านั้น ความเสียหาย ดังกล่าวได้เห็นจากข้อมูลที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ท่านประธานครับ อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ พบความยากลำบากทั้งจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนการผลิตที่สูงแต่ผลผลิต ราคาตกต่ำ วันนี้สังคมไทยกำลังปรับตัวเข้าสังคมผู้สูงอายุ ไม่เว้นแม้แต่สังคมเกษตรกรรม หลายจังหวัดของประเทศไทย เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไปแล้ว วันนี้ถ้าเรา สูญเสียครัวเรือนผู้ปลูกใบยาสูบ สูญเสียการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรจะนำไปสู่การสูญเสีย การถือครองที่ดินในชนบทในอนาคต ถึงแม้คนหนุ่มสาวรุ่นต่อไปเรียนจบอยากจะกลับบ้าน ไปทำเกษตรก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีที่ดิน ทุกวันนี้แม้เราอาจจะเห็นตัวเลข ภาคการเกษตรเติบโตแต่ก็เป็นการเติบโตแบบถดถอยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ท่านประธานครับ แนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบได้ทันที คือการยาสูบแห่งประเทศไทย กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องเร่ง ทบทวนนโยบายและบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้มีความรับผิดชอบต่อพี่น้องเกษตรกร ให้เกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนการผลิต การกำหนดโควตาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยมีอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ และนำ ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพี่น้องเกษตรกรไปพิจารณา ขอบคุณครับ