กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายศุภชัย ตั้งวัฒนากร ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการสำรวจ และฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ ผู้แทนกรมธนารักษ์ครับ ขอตอบคำถามที่เกี่ยวข้องตามที่ ท่านสมาชิกได้ให้เกียรติถามดังต่อไปนี้ครับ
ประเด็นที่ ๑ ในเรื่องกรณีที่ท่านได้ให้ข้อสังเกตว่าที่ราชพัสดุมี ๑๐.๕ ล้านไร่ แล้วทำไมแตกต่างไปกับที่ทราบมาว่าคือประมาณ ๑๒.๗ ล้านไร่ กรณี ๑๐.๕ ล้านไร่ ที่เราได้ ลงมาในบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากเป็นการนำส่งขึ้นทะเบียนที่ได้มีการตรวจสอบการได้มาของ ที่ราชพัสดุมีความครบถ้วน ถูกต้อง แล้วก็เป็นที่ราชพัสดุค่อนข้างจะ ๘๐-๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป สำหรับที่ที่หายไป ๒ ล้านกว่าไร่ ที่ท่านได้สังเกตมา ก็คือเป็นการสงวนหวงห้ามซึ่งมี การทับซ้อนกับหน่วยงานของรัฐอื่นเป็นจำนวนมาก แล้วส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่เป็น การสงวนหวงห้ามของความมั่นคงและพื้นที่อนุรักษ์ เช่น ป่าไม้ ซึ่งตอนนี้เราอยู่ระหว่าง การดำเนินการโครงการ One map ซึ่ง ๙ หน่วยงานจะมาคุยกันว่าส่วนไหนเป็นของใคร เพื่อที่จะดูจากการใช้ประโยชน์ที่แท้จริง เมื่อมีการสรุปแล้วก็ผ่านมติ ครม. ในการประกาศใช้ ตอนนี้ก็ดำเนินการไปแล้วประมาณ ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็ประมาณ ๑๑ จังหวัด ตอนนี้ก็มี การดำเนินการให้ครบถ้วนแล้ว เราก็จะนำส่วนนั้นละครับที่มีมติมาว่าเป็นของกรมธนารักษ์ มาขึ้นทะเบียนไปเป็น ๑๐ กว่าล้านไร่ขึ้นไปตามที่ท่านให้ข้อสังเกต อันนี้คือข้อที่ ๑ นะครับ
ประเด็นที่ ๒ เรื่องเกี่ยวกับการพิพาทกับที่ราษฎร หรือที่ของหน่วยงานอื่น กรณีที่พิพาทกับหน่วยงานของรัฐด้วยกันก็อย่างที่แจ้งครับ ก็คือดำเนินการตามโครงการ One Map ก็คือว่าใครได้สิทธิก่อน หรือว่าใครมีหลักฐานที่ดีกว่าก็จะได้ Slide มาเป็น ของหน่วยงานนั้น ๆ สำหรับกรณีที่พิพาทกับที่ดินเอกชนหรือราษฎร กรณีนี้มีการทับซ้อน เป็นที่ราชพัสดุจำนวนมาก ก็มีการดำเนินการเป็น ๒ แนวทาง
แนวทางที่ ๑ ถ้าเรามีการดำเนินการสำรวจรังวัด โดยที่ราษฎรได้ให้ ความยินยอม ให้ความร่วมมือ หน่วยงานของรัฐก็คือกรมธนารักษ์ก็จะมีการจัดให้เช่า โดยการช่วยเหลือเยียวยาให้กับราษฎรผู้ที่อยู่มาก่อน หรือว่าอยู่มาโดยสุจริต ให้เช่าเป็นโครงการธนารักษ์ประชารัฐ ซึ่งดำเนินการมาทุกปี
แนวทางที่ ๒ ถ้าราษฎรหรือเอกชนมีความต้องการที่จะโต้แย้งสิทธิ หรือไม่ยินยอมที่จะเข้าสู่กระบวนการของรัฐในการช่วยเหลือเยียวยา ก็จะมีการเข้าสู่ กระบวนการพิสูจน์สิทธิซึ่งเป็นโครงการของ คทช. ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เรียกว่า คพร. ก็คือ คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิที่ดินของรัฐ เดิมก็คือ กปร. แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อไปแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ ถ้าสิทธิเป็นที่ดินของชาวบ้านหรือราษฎรเราก็จะยินยอม รับรองแนวเขตให้กับชาวบ้านไปสามารถออกเอกสารสิทธิได้นะครับ แต่กรณีที่ชาวบ้าน ไม่ยินยอมแล้วพิสูจน์สิทธิว่าเป็นที่ดินของรัฐ เราก็ยังเปิดโอกาสให้ราษฎรผู้ที่โต้แย้งกับเรา สามารถมาเช่ากับเราได้ โดยที่เราคิดในอัตราที่ผ่อนปรนแล้วก็ช่วยเหลืออย่างดีที่สุดครับ
สำหรับประเด็นที่ ๓ การเรียกคืนที่ราชพัสดุ ตามที่ท่านได้สอบถามมานะครับ ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้มีการออกตรวจสอบในแต่ละจังหวัด เนื่องจากต้องขอแจ้งก่อนว่า ธนารักษ์พื้นที่จะมีสำนักงานอยู่ที่เดียวในจังหวัด เจ้าหน้าที่บุคลากรก็มีจำนวนจำกัด ก็จะมี การออกตรวจสอบ เมื่อพบว่าหน่วยงานใดปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกหรือว่ามีการใช้ ประโยชน์ไม่เป็นไปตามภารกิจหรือหน้าที่เราก็จะมีการทำหนังสือเรียกคืน และหากว่า ส่วนราชการส่วนใดมีความประสงค์ส่งคืนเราก็ดำเนินมาจัดประโยชน์บ้าง แล้วก็ไปดำเนินการ จัดให้เช่า หรือว่าไปให้หน่วยงานอื่นที่ว่ามีความจำเป็นที่ใช้เข้ามาใช้ประโยชน์แทนบ้าง
สำหรับกรณีที่ว่าการเรียกคืนของเรา มันจะมีปัญหาตรงที่ว่าบางครั้งการเรียกคืน หน่วยงานราชการเขาอาจจะเข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ก็เลยต้องมีการเจรจากันบ้าง เป็นนโยบายที่ว่าคล้าย ๆ กับละเอียดอ่อน ต้องค่อย ๆ คุยกันในการที่จะไปทำหนังสือว่า ขอเอาคืนเลยก็จะมีปัญหาภายหลังในเรื่องของการโต้แย้งกันไปโต้แย้งกันมา แล้วปัจจุบัน เราก็มีการเรียกคืนแล้วก็นำมาจัดหาประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันก็อยู่ที่ประมาณร้อยละ ๘ ของที่ราชพัสดุ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ว่าร้อยละ ๘ ก็จริง แต่จะเป็นกรณีที่ว่าช่วยเหลือราษฎร เสียส่วนใหญ่ ก็เลยทำให้เหมือนกับมูลค่าของเราในการจัดหาประโยชน์มันดูน้อย ไม่เป็นไป ตาม ROA เพราะว่ามันเป็นการช่วยเหลือผ่อนปรนเป็นหลัก แล้วก็ในกรณีที่ว่าส่วนราชการ ที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการทำสวัสดิการเชิงธุรกิจ ตอนนี้เราก็มีการเจรจาของแต่ละหน่วยงาน เช่น ของทางกองทัพบก ของกองทัพอากาศ แล้วก็หน่วยงานอื่น ๆ กองทัพเรืออย่างนี้ครับ มีการเจรจาเพื่อให้เขาเข้าใจว่าอะไรคือสวัสดิการภายใน อะไรคือสวัสดิการเชิงธุรกิจ เพื่อให้ เขาเข้าสู่กระบวนการในการจัดให้เช่าตามโครงการครับ
สำหรับข้อ ๔ เรื่องของ Capital Charge ที่ท่านได้ติดตามมาเป็นเวลานาน แล้วนะครับ ก็จะขอชี้แจงว่าปัจจุบันนี้เราได้จ้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาเสร็จแล้ว เสร็จแล้วก็ส่งมาที่กรมธนารักษ์แล้วครับ ตอนนี้กรมธนารักษ์ก็ดำเนินการนำสู่คณะกรรมการ ในเรื่องของด้านกฎหมายเพื่อจะมีการแก้ไขแล้วก็ปรับปรุง เช่น ตาม พ.ร.บ. ปี ๒๕๖๒ เขาได้ระบุว่าผู้ใช้ก็คือส่วนราชการ ถ้าเราจะนำมาเก็บค่าเช่ามันก็ต้องมาศึกษาว่าเกณฑ์ใด ที่คิดว่าส่วนราชการนั้นใช้พื้นที่แค่นี้เพียงพอแล้ว เพราะว่ามีหลายหน่วยงานในกรมธนารักษ์ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนต่าง ๆ สถานีอนามัย โรงพัก ที่ว่าการอำเภอ เราต้องมาคิดก่อนว่า ความจำเป็นแล้วก็เกณฑ์ที่เขาควรจะได้รับในการใช้เท่าไร ส่วนที่เหลือเราจะมาปรับ ในการคิดเป็น Capital Charge เท่าไร ตรงนี้ก็ต้องใช้เวลานิดหนึ่งครับ เพราะว่าต้องแก้ เรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ขอเรียนให้ทราบเบื้องต้นเท่านี้ก่อนครับ ขอบคุณมากครับ