กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี มาชี้แจงในเรื่องของพระราชกำหนดในวันนี้ ขออนุญาตกราบเรียนว่าเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดและการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. .... ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรีได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ท่านประธานสภาที่เคารพ โดยที่บทบัญญัติตามมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดให้เพื่อประโยชน์ ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตรา พระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ และในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า รัฐบาล จึงขอกราบเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงเหตุผลและความจำเป็นตลอดจนสาระสำคัญ ของพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยสรุปดังนี้
เหตุผลและความจำเป็น โดยที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการ แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรแบบร้องขอตามความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บ ภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความ ช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี และต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ทางการเงินแบบอัตโนมัติตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการ แลกเปลี่ยนข้อมูล บัญชีทางการเงินและแบบอัตโนมัติ ประกอบกับประเทศไทยเป็นภาคี สมาชิกของ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือเรียกว่าเป็น Organization for Economic Co-operation and Developmentห รือ OECD ป ระเท ศ ไท ยจึงต้ อ ง ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรแบบร้องขอและข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ กับคู่ภาคีของความตกลงดังกล่าวภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งการดำเนินการ ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และมีความซับซ้อนในทางปฏิบัติจึงต้องให้เวลาแก่สถาบันการเงินซึ่งจะ เป็นผู้มีหน้าที่รายงานในการตรวจสอบและจัดเตรียมข้อมูลบัญชีทางการเงินที่อยู่ในความ ครอบครองดูแลของตนเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยน หากสถาบันการเงินของประเทศไทยไม่ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวประเทศไทยก็จะถูกจัดให้เป็น ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือทางภาษีกับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศ OECD อันเป็นคู่ค้า ที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างรุนแรงโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องดังกล่าวต่อ สภาผู้แทนราษฎรในชุดที่แล้ว ซึ่งพิจารณาขั้นกรรมาธิการเสร็จสิ้นแล้ว แต่เนื่องจากมีการปิดสมัยการประชุมสภาเสียก่อนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงค้างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไม่ตราพระราชกำหนดขึ้น ก็จะไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการปฏิบัติตามพันธะกรณีดังกล่าว กรณีจึงเป็น เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษา ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชกำหนดฉบับนี้มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ มี ๔ หมวดด้วยกัน
ในหมวดที่ ๑ คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ มาตรา ๗ ถึงมาตรา ๑๒ ประกอบไปด้วย ๑. กำหนดขอบเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทย ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ ๒. กำหนดรายละเอียดคำขอที่เป็นเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาต้องส่งมายังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทย ๓. กำหนดเหตุที่ให้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยสามารถปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ ๔. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา กรณีคำร้องขอข้อมูลมีรายละเอียดไม่เพียงพอ หรือมีเหตุในการปฏิเสธคำร้องขอ ๕. กรณี คำร้องขอข้อมูลมีรายละเอียดเพียงพอ หรือไม่มีเหตุในการปฏิเสธคำร้องขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มี อำนาจดำเนินการรวบรวมข้อมูล หากไม่มีข้อมูลให้สั่งการให้อธิบดีมีอำนาจในการจัดหา ข้อมูล โดยอธิบดีมีอำนาจการสั่งบุคคลหรือผู้ที่ครอบครองข้อมูลดังกล่าวส่งข้อมูลนั้นให้แก่ อธิบดี เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยเพื่อการแลกเปลี่ยนต่อไป
ในหมวดที่ ๒ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ มาตรา ๑๓ ถึง มาตรา ๒๔ ซึ่งประกอบไปด้วย ๑. กำหนดขอบเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของ ประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ๒. กำหนดผู้มีหน้าที่ รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงิน และผู้ได้รับยกเว้นไม่เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ๓. กำหนดให้ผู้มี หน้าที่รายงานต้องจัดให้ลูกค้าของตนแจ้งและยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางภาษีทุกครั้งที่ มีการเปิดบัญชีใหม่และต้องตรวจสอบบัญชีทางการเงินของลูกค้าของตน หากพบว่าบัญชี ทางการเงินใดถือโดยลูกค้าซึ่งเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือถือโดยลูกค้าซึ่งมีผู้มีอำนาจควบคุม เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน ให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดให้บัญชีทางการเงินนั้นเป็นบัญชี ทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน ๔. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานรายงานข้อมูลบัญชีทางการเงิน แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
ในหมวดที่ ๓ ว่าด้วยอำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้อำนาจในมาตรา ๒๕ กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยสามารถเปิดเผยข้อมูลให้กับเจ้าพนักงานประเมินตาม ประมวลรัษฎากร หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม หรือกฎหมายเกี่ยวกับภาษี อากรอื่นตามที่กำหนดได้ ทั้งนี้การเปิดเผยดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของความตกลง เท่านั้น
ในหมวดที่ ๔ บทกำหนดโทษมาตรา ๒๖ ถึงมาตรา ๓๑ ประกอบไปด้วย ๑. โทษปรับทางปกครอง กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีในกรณีสั่งให้ส่งข้อมูลแบบร้อง ขอหรือสั่งให้ปฏิบัติและรายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ๒. โทษทางอาญา ในกรณีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ กรณีไม่เก็บรักษาข้อมูล และกรณีเปิดเผยข้อมูลแก่ บุคคลอื่น
ในหมวดที่ ๕ คือบทเฉพาะกาล กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานตามพระราช กำหนดนี้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทางการเงินที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้มีผล บังคับใช้ หากพบว่าบัญชีทางการเงินใดถือโดยลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือถือโดย ลูกจ้างที่มีผู้มีอำนาจควบคุมเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดให้บัญชี ทางการเงินนั้นเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผมขออนุญาตเรียนสรุปว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องออกพระราชกำหนดฉบับนี้ก็เนื่องมาจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือ Global Forum จึงต้องยกระดับการแลกเปลี่ยน ข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ๒ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สร้างความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจในความโปร่งใสของระบบภาษีอากรและข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมี ๒ เรื่องด้วยกัน ก็คือเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ สำหรับข้อมูลที่อยู่นอกเหนืออำนาจ ตามประมวลรัษฎากร และ ๒. การแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน แบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่าความตกลง MCAA CRS ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๕ ซึ่งพระราชกำหนดฉบับนี้จะรองรับการดำเนินการ ตามมาตรฐานสากลในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้ง ๒ เรื่องข้างต้นได้ ท่านประธานสภา ที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางสภาผู้แทนราษฎร จะได้กรุณาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลง ระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป และทำให้ประเทศไทยไม่ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือทางภาษีอากร สำหรับรายละเอียดนั้นมีเจ้าหน้าที่ที่จะรอชี้แจงอยู่นะครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ก่อนอื่น ขอกราบขอบพระคุณในข้อคำถาม ข้อเสนอแนะ แล้วก็เป็นข้อห่วงใย ข้อกังวล ซึ่งก็เป็น เรื่องเดียวกับที่ผมเองในฐานะที่ดูแลกระทรวงการคลัง ในเรื่องนี้ก็ได้มีการพูดคุยกับทาง กรมสรรพากรอยู่ตลอดเวลานะครับ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย เป็นเรื่องใหม่ แล้วก็ มีความซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นการใช้เวลาก็ค่อนข้างที่จะยาว ยาวมากนะครับ ขออนุญาต เรียนว่าเรื่องนี้จริง ๆ ก็เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ซึ่งเราเข้าเป็นสมาชิกของ Global Forum ถ้าหาก จะมองว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ มาถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้เวลา ๖ ปี ทำไมเพิ่งมาเสนอเรื่องในตอนนี้ ก็อย่างที่ผมเรียนมันมีความซับซ้อน แล้วก็เป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นในแง่ขององค์ความรู้ หรือเจ้าหน้าที่ของเราก็ต้องเรียนรู้จากทางด้าน OECD เป็นอย่างแรกเลยนะครับ ซึ่งขณะนี้ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่พอ เมื่อสักเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผมเดินทางไป OECD ก็ได้พูดกับทาง OECD ว่าเรื่อง Capacity Building หรือการฝึกอบรม บุคลากรนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลนะครับ วิเคราะห์ข้อมูลว่าใครบ้างที่อยู่ในข่ายที่ต้องสงสัยว่าจะมีการหลบเลี่ยงภาษีอะไรต่าง ๆ พวกนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น ประเทศใหญ่ ๆ นั้นเขาก็จะดูในเรื่อง ผลประโยชน์ของเขาในเชิงภาษี เพราะฉะนั้นเขาก็จะต้องดูว่าคนของเขา หรือบริษัทของเขา ไปลงทุนที่ไหนบ้าง แล้วเอาเงินไปหลบ พักไว้ที่ไหนที่มีอัตราภาษีต่ำ นั่นเป็นเรื่องปกติ ที่เขาป้องกันการรั่วไหล หรือการหลบเลี่ยงภาษีของคนในชาติของเขา ทำนองเดียวกันเราเอง ก็ต้องดูนะครับ เพราะฉะนั้นหลักในการเจรจา หรือว่าในการที่จะเข้าเป็นสมาชิกนั้น ก็ต้องเป็นหลักในเรื่องของความเสมอภาคกัน เพราะฉะนั้นการที่จะได้ประโยชน์ที่ท่านสมาชิก ได้ตั้งคำถามว่า เราจะรักษาสมดุลอย่างไรในเรื่องของการได้ประโยชน์กับในเรื่องของ การปกป้องในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล แล้วก็สิทธิภายใต้กฎหมายของ PDPA ซึ่งเรื่องพวกนี้ ได้รับการพิจารณามาโดยตลอดนะครับ ก็เรียนว่าในกระทรวงการคลังเองก็มีความตั้งใจ เต็มเปี่ยมว่าเรื่องนี้จะต้องออกเป็นข้อกฎหมาย แล้วก็เป็นข้อสัญญาไว้กับทางด้าน OECD ใน Global Forum ว่าเราจะต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ได้ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ แต่ถ้าหากเราทำไม่ได้นั้นก็ยังมีเกณฑ์อีกอันหนึ่งคือเกณฑ์ในเรื่องการประเมิน ความพร้อมของประเทศไทย ซึ่งเราเรียกว่าเป็น Peer Review Peer Review นั้นก็จะมี ข้อกติกาต่าง ๆ ว่าความพร้อมเรามีกฎหมายภายในประเทศหรือยังในการที่จะให้อำนาจ ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้อำนาจกับทางเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศนั้น ๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราคงจะต้องมานั่งดูกัน ข้อกำหนดก็คือว่าถ้าเราส่งไม่ทันในเรื่องของ ข้อกฎหมายภายในเดือนเมษายน จริง ๆ เกณฑ์เวลาจะมีเรื่องของเมษายนปีนี้ ซึ่งผ่านมาแล้ว หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๓๑ มีนาคม ก็พอดีนะครับภายในเดือน เมษายนเราก็ส่งข้อมูลว่าบัดนี้เรามีพระราชกำหนดในเรื่องข้อกฎหมาย ในเรื่องของการขอ ข้อมูลแบบร้องขอกับแบบอัตโนมัติ กำหนดผู้มีอำนาจ กำหนดในเรื่องของผู้ที่จะมีหน้าที่ ต้องรายงานข้อมูลนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราก็ผ่านไป แต่ถ้าหากเราส่งไม่ทัน ในเดือนเมษายนอะไรจะเกิดขึ้น ในเกณฑ์ตัวชี้วัดที่เขาประเมินความพร้อมของเรานั้น เวลานี้เหลือตัวเดียวคือข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายที่เราต้องมีภายในประเทศ ถ้าเราไม่สามารถที่จะส่งข้อมูลเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งข้อกฎหมายฉบับนี้นั้นก็ผสมผสาน นิดหนึ่งครับ เราใช้ Model Laws ใช้เรื่องโครงของ OECD ซึ่งเขาทำกับทุก ๆ ประเทศ ก็จะทำอย่างนี้ แล้วก็ปรับแต่งบ้างให้เข้ากับบริบทของไทย ถ้าหากเราส่งไม่ทันในเดือน เมษายนนั้น หนึ่งในเกณ ฑ์เรื่องการออกกฎหมายเราก็จะติดในเรื่องของ Partially Compliance Partially Compliance คือว่าเรา Comply เราปฏิบัติตามกติกา ของ Global Forum เป็นเพียงบางส่วน ไม่ใช่ Lastly Compliance ถ้า Lastly Compliance เราสบายใจ แต่ก็ไม่สบายใจทีเดียวนะ เพราะว่าถ้าหากนับเป็น แบบไฟเหลือง ไฟเขียว ไฟแดง เราจะอยู่ที่ไฟเหลือง แต่เราต้องการไปถึงไฟเขียว ต้องการ ไปถึงไฟเขียวก็คือ Fully Compliance ไม่ใช่ Lastly ไม่ใช่เป็นส่วนใหญ่นะครับ นั่นคือ เงื่อนเวลาอันหนึ่งที่กำหนดให้ที่ว่า เมื่อเราตั้งใจอยากจะออกเป็นพระราชบัญญัติแล้วนี่ ทำไมเราต้องมาเปลี่ยน จริง ๆ แล้วก็ใช้เวลาพอสมควรนะครับในเรื่องของการเสนอ ร่างกฎหมาย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ตั้งแต่พฤษภาคม ปี ๒๕๖๔ หลังจากนั้นก็มีการรับฟัง ความคิดเห็น มีการรับฝึกอบรม รับองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทาง OECD แล้วก็มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมานะครับ แล้วก็ใช้เวลาประมาณมาถึงปี ๒๕๖๕ ในระหว่างนั้นก็มีการรับฟังความคิดเห็นด้วยอย่างที่ท่านสมาชิกได้กล่าวไว้ว่า ทำไมคนมา แสดงความคิดเห็นน้อยมาก อันนี้ก็อย่างที่ผมเรียนว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แม้กระทั่ง ตัวผมเองก็ยังใช้เวลาพอสมควรในการที่จะทำความเข้าใจ เพราะในแต่ละเรื่องนั้นก็เป็นเรื่อง ที่ใช้ภาษาที่ค่อนข้างจะยาวมากนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้นั้นทางกฤษฎีกาก็ได้พิจารณา เสร็จในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๕ แล้วก็ส่งเข้ามาที่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมาในเดือน พฤศจิกายน ซึ่งก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการนะครับ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างหลังจาก รับหลักการแล้วก็กรุณามาก ๆ เลยนะครับที่ใช้เวลาประมาณไม่ถึง ๓ เดือน ไม่ถึง ๓ เดือน ในการพิจารณารายละเอียดนะครับ แล้วก็เสนอเข้ามาบรรจุใน List ของวาระของสภา แต่เนื่องจากอย่างที่ผมเรียนนะครับว่า ข้อจำกัดที่เราก็เห็นอยู่แล้วว่าใกล้ที่จะถึงเวลายุบสภา แล้วก็เงื่อนเวลาเดือนเมษายนนั้นก็ยังกำหนดตัวเราอยู่ ขณะนั้นก็ขออนุญาต ครม. ว่าขอถอน ร่างออกจากทางสภา แล้วก็เสนอมาเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้ทันเวลาในเดือนเมษายน แล้วก็กรอบเวลาอีกอันหนึ่งก็คือเดือนกันยายนนะครับ อันนั้นก็เป็นเรื่องที่ขออนุญาตเรียนว่า ทำไมถึงใช้เวลามากขนาดนี้นะครับ
เรื่องที่ ๒ นั้นก็คือ เรายังมีเรื่องที่ค้างอยู่ว่าหลักการปฏิบัติเมื่อเทียบกับ FATCA นั้นทำไมไม่เหมือนกัน จริง ๆ แล้ว FATCA หรือของ US นั้นก็เป็นลักษณะที่เป็น ทวิภาคี แต่ในกรอบของ OECD มันเป็น Global Forum มันเป็นลักษณะพหุภาคี เราไม่ต้อง ไปเจรจาทีละประเทศนะครับ อย่างเช่น อนุสัญญาภาษีซ้อนนั้นเรามีทั้งหมด ๖๑ ประเทศ เราไม่จำเป็นจะต้องไปทำอย่างนั้นเป็นทีละประเทศ เพราะฉะนั้นครั้งเดียวนี่ได้ ๑๐๐ กว่าประเทศเลยนะครับ เพราะฉะนั้นจะอยู่ในกรอบใหญ่ตรงนี้นะครับ เพราะฉะนั้น ในเรื่องของ FATCA นั้นเร็ว ๆ นี้ก็จะออกในเรื่องของกฎกระทรวง แล้วก็ประกาศตามมา พร้อม ๆ กับของตัว CRS ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้นะครับ ถ้าหากท่านสมาชิกท่านกรุณา ให้ความเห็นชอบในวันนี้ก็จะออกกฎกระทรวง แล้วก็ประกาศของกระทรวง แล้วก็ประกาศ ของอธิบดีออกมาพร้อมกันในเรื่องของรายละเอียดนะครับ หลาย ๆ ข้อที่ท่านสงสัยก็จะไป ปรากฏในนั้น ถามว่าบทลงโทษนั้นมันน้อยไปหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าก็คงได้มี การปรึกษาหารือกันอยู่นะครับ แต่ว่าถ้าหากข้อมูลรั่วไหลนั้นก็แน่นอนที่สุดจำคุกอย่างน้อย ๑ ปีแน่นอน ส่วนค่าปรับนั้นอาจจะไม่สูงเท่ากับบางประเทศที่ท่านสมาชิกได้กรุณา กล่าวถึงนะครับ เพราะฉะนั้นมาตรการทั่วโลกในเรื่องของภาษีนั้นนอกจากป้องกัน การหลบเลี่ยงภาษีแล้วยังมีอีกเรื่องหนึ่งคือหนีภาษีไปประเทศที่เรียกว่าลดภาษีแข่งกัน จนฐานะรายได้ของรัฐบาลนั้นสูญหายไป อันนี้คือกรอบในเรื่องของการป้องกันการกัดกร่อน ทางภาษี ซึ่งท่านสมาชิกได้ถามถึงว่าขณะนี้ก้าวหน้าไปถึงไหน โดยเฉพาะ Pillar 1 Pillar 2 ซึ่งก็ขออนุญาตเรียนคร่าว ๆ นะครับว่า ใน Pillar 2 นั้นที่กำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ ๑๕ เปอร์เซ็นต์นั้นเราก็ได้ดูแล้วว่าเรามีการลดภาษีผ่านมาตรการของ BOI ซึ่งทำกันทั่วโลก ในการแข่งกันตรงนี้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือรายได้ของรัฐที่หายไป เพราะฉะนั้นถ้าหาก เรากลับมาเก็บภาษีแล้วถามว่าเราจะคืนเป็นสิ่งจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่มา นักลงทุน ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศของเรานั้นได้อย่างไร ก็ได้หารือกับทางสำนักงาน BOI และก็ทางกรมสรรพากรก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเมื่อรัฐ เก็บภาษีมาแล้วเราอาจจะคืนให้ในลักษณะที่เขาเรียกว่าเป็น Top Up Tax ที่ว่าคืนให้เขาไป ในลักษณะที่เป็นนวัตกรรมหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นเบื้องต้นนะครับที่ได้นำเสนอ แนวทางนี้ให้กับทางคณะรัฐมนตรีได้พิจารณานะครับ ซึ่งก็เป็นลักษณะที่คล้าย ๆ กับ ในหลาย ๆ ประเทศที่เขาทำกันนะครับ ก็ขออนุญาตว่าในหลาย ๆ ข้อที่ท่านสมาชิก เป็นห่วงนั้นผมก็เป็นห่วงเช่นเดียวกัน แล้วก็ได้กำกับ ถามว่าพร้อมไหม ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคมนั้นถามว่ามีการเรียกว่าร้องขอข้อมูลกันหรือยัง ก็เรียนว่าตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคมนั้น ก็มีประเทศที่ร้องขอ คู่สัญญาที่ร้องขอข้อมูล แบบร้องขอนะครับไม่ใช่แบบอัตโนมัติ ซึ่งอัตโนมัตินั้นก็เป็นไปตามมาตรฐานของ OECD เราก็ไม่สามารถที่จะไปออกแบบให้เป็น แบบของเราได้ แต่แบบของเรานั้นก็ต้องสอดคล้องกับในเรื่องของมาตรฐานสากลของ OECD เพื่อให้ทุกคนนั้นสามารถที่จะ Access เข้าไปได้ แต่การที่เขา Access หรือว่าการเข้าถึง ข้อมูลของประเทศคู่สัญญานั้นไม่ใช่ทุกคนเห็นข้อมูลกันหมด ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจาก ประเทศคู่สัญญาแล้วถึงจะเข้าไปดูข้อมูลได้ แม้จะเป็นในระบบอัตโนมัติก็ตามนะครับ ก็ขออนุญาตเรียนในเบื้องต้น อาจจะไม่ได้ตอบคำถามในทุกคำถามนะครับ แล้วก็ ทางสรรพากรนั้นผมก็จะขอมอบให้ทำคำอธิบาย แล้วก็อาจจะกราบเรียนท่านในโอกาส ต่อไปนะครับ ขอกราบขอบพระคุณนะครับ