เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านผู้แทนทุกท่านนะครับ ผม พลตำรวจโท สุรพล เปรมบุตร เป็นผู้แทนของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนอื่นต้อง ขอขอบคุณท่านผู้อภิปรายทุกท่านที่กรุณาให้ข้อคิดเห็นแล้วก็ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในหลาย ๆ เรื่อง ผมนั่งฟังอยู่กับพวกท่านตั้งแต่เช้าตั้งแต่แรกแล้วก็ไม่ได้ลุกไปไหนเลย ไปเข้าห้องน้ำมานาทีหนึ่ง ก็จดสิ่งที่ทุกท่านกรุณาให้คำแนะนำมาประมาณ ๗-๘ หน้ากระดาษ ในส่วนนี้ก็อยากจะนำเรียนอย่างนี้ครับ ในส่วนของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเราเริ่มแรก เลยนี่เราก็ยอมรับว่าเรายังสะเปะสะปะเรื่องการจัดรวบรวมสถิติข้อมูลต่าง ๆ ว่าคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี่มันเกิดขึ้นที่แห่งหนตำบลใดของประเทศไทยบ้าง แล้วก็คดีที่เกิดนี่มันมีรูปแบบแผนประทุษกรรมเป็นอย่างไรบ้าง เพราะว่าตำรวจเรามีการรับแจ้ง คดีความอาญาทุกประเภททั่วประเทศอยู่แล้ว จนกระทั่งว่าพอเราเริ่มตั้งหลักได้เราก็เริ่มจัดทำ ระบบรับแจ้งความคดีทาง Online ที่ท่านได้อภิปรายกันไปหลายท่านเป็นระบบผ่านระบบ Website taipoliceOnline.com หลังจากนั้นเราเริ่มที่จะประมวลจัดรูปแบบแผน ประทุษกรรมของคนร้ายต่าง ๆ นานาได้ แต่ก็ยอมรับว่าเราเริ่มมองเห็นแล้วว่ากฎหมายที่มี อยู่ในปัจจุบันนี้มันไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ เราก็เลยเสนอสิ่งที่เราต้องการอยากได้ ผ่านทางกระทรวง DE ที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงพร้อมกับหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน จนกระทั่งออกมาเป็น พ.ร.ก. ฉบับนี้ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด ๑๔ มาตรา ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ เมื่อสักครู่ท่านปลัดได้กรุณาสรุปในสาระสำคัญไปบางส่วนแล้ว แต่ผมอยากจะอธิบายซ้ำย้ำอีกนิดหนึ่งว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จุดเด่นของ พ.ร.ก. ฉบับนี้จริง ๆ เลย นี่คือเราอยากจะป้องกันเหตุของคดีอาชญากรรม Online ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นมา เพราะเรา วิเคราะห์กันแล้วว่าแผนประทุษกรรมของคนร้ายมีคนเปรียบเปรยว่าเสมือนกับทำงานด้วย ความเร็วแสง มีการออกแบบแผนในการที่จะหลอกลวงประชาชนไว้ตั้งแต่แรก เมื่อหลอกลวง ได้เงินแล้วก็วางระบบของบัญชีม้าต่าง ๆ ไว้หลาย ๆ ทอด จนกระทั่งสุดท้ายในปัจจุบัน พัฒนาไปผ่านโพยก๊วน ผ่านบริษัทรับซื้อสินค้าต่าง ๆ แปลงร่างจากเงินออกไปเป็นเหรียญ Crypto แปลงร่างออกไปเป็นการแลกเปลี่ยนเงินตราตามแนวตะเข็บชายแดนแล้ว ก็ผ่านโพยก๊วนต่าง ๆ ออกไปที่ต่างประเทศ ตรงจุดนี้เรามองว่าสิ่งที่เราจะป้องกันได้ดีที่สุด นอกจากว่าเราให้ความรู้กับประชาชนแล้วเราอยากจะป้องกันก่อนเกิดเหตุโดยการกำหนด เหตุอันควรสงสัยขึ้นมาว่าไม่ต้องรอให้เหตุเกิด ไม่ต้องรอให้ประชาชนถูกหลอก ถ้าเราสงสัย แล้วเราระงับยับยั้งธุรกรรมอันนั้นเลยได้ไหมประชาชนจะได้ไม่ต้องถูกหลอก ซึ่งในตัวนี้ ได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ หลายท่านผู้อภิปรายได้สอบถามมีความสงสัยว่า เราขับเคลื่อนกันไปถึงไหน ผมอยากจะเรียนความคืบหน้าอย่างนี้ครับ เราได้กำหนดเหตุ อันควรสงสัยของทางสถาบันการเงินนี้ไว้ด้วยกันทั้งหมด ๑๘ ข้อด้วยกัน แล้วส่วนเหตุ อันควรสงสัยของทางฝ่ายเครือข่ายโทรศัพท์อีก ๑๐ ข้อ พอดีผมไม่ได้เตรียมเอกสารมา ก็อยากจะขออนุญาตเล่าในที่ประชุมเพื่อโปรดกรุณาทราบเป็นข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เหตุอันควรสงสัย ๑๘ ข้อ ถ้าเราพบว่า ข้อ ๑ มีบัญชีที่มีการทดลองโอนเงินเข้าและออกเป็นมูลค่าน้อย ๆ ในระยะสั้น ๆ อย่างนี้เป็นการ Test การโอนเงินก่อนที่จะมีการโอนเงินจริงอย่างนี้เป็นต้น เราก็จะระงับ ยับยั้งการทำธุรกรรมของบัญชีนั้นไปเลย หรือในกรณีที่มีการโอนเงินผ่านบัญชีของบุคคล คนเดียวหรือหลายบัญชีที่มีหมายเลขโทรศัพท์ไปผูกกับบัญชีนั้นอยู่ด้วยกันในลักษณะที่ มองว่าเป็นบัญชีม้าได้ชัดเจนพวกนี้นะครับ รายละเอียดต่าง ๆ พวกนี้เราจะระงับตั้งแต่ เบื้องต้น แล้วสิ่งที่ระงับเราจะระงับในช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนในเบื้องต้น หลายท่าน เป็นห่วงกังวลว่าจะไปกระทบกับผู้สุจริตในบางท่านหรือเปล่า ตรงนี้เราจะระงับในช่องทาง ทางอิเล็กทรอนิกส์ในเบื้องต้น เพื่อให้ทางเจ้าของบัญชีได้มาแสดงตนกับทางธนาคารเจ้าของ บัญชี เมื่อท่านได้มาแสดงตนแล้วปรากฏว่าท่านเป็นเจ้าของบัญชีที่แท้จริงไม่ใช่เป็นเจ้าของ บัญชีม้า ทางธนาคารก็จะยกเลิกการระงับการทำธุรกิจนั้นไปยกตัวอย่างนี้เป็นต้นครับ ในส่วนของทางเครือข่ายโทรศัพท์ก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าเราพบว่าหมายเลขโทรศัพท์นี้ มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยเราก็จะระงับการใช้ไปเลย หลายท่านผู้อภิปรายช่วงเช้าบอกว่าบางคน มีหมายเลขโทรศัพท์เป็นของตนเองถึง ๕๐๐ เบอร์ ๑,๐๐๐ เบอร์ อย่างนี้คือ SIM ม้าแน่นอน ไม่มีประชาชนผู้สุจริตคนไหนใช้บัญชีหรือหมายเลขโทรศัพท์เยอะมากมายขนาดนั้น ตรงนี้ก็ เป็นมาตรการที่เป็นจุดเด่นของตัว พ.ร.ก. ฉบับนี้ในมาตรา ๖ นะครับ
ส่วนในมาตรา ๗ เดิมหลายท่านคงจะต้องมีญาติพี่น้องเวลาถูกแจ้งความ ถูกหลอกในคดี Online ต่าง ๆ ก็ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ พอไปที่ธนาคาร ธนาคารก็จะปฏิเสธบอกว่าไปพบตำรวจก่อน แล้วค่อยมาหาธนาคาร แต่ในมาตรา ๗ ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าเมื่อผู้เสียหายถูกหลอกแล้วท่านสามารถแจ้งที่ธนาคารของตนเอง ซึ่งตนเองเป็นเจ้าของได้เลยตลอด ๒๔ ชั่วโมง จะต้องมีเจ้าพนักงานของธนาคารรับสาย หลังจากนั้นสิ่งที่ธนาคารจะต้องทำ ๒ ประการด้วยกันก็คือ ระงับธุรกรรมนั้น ๆ ทันที พร้อมกับตรวจสอบไปยังธนาคารเครือข่ายอีก ๒๑ แห่งของตัวเองว่าบัญชีที่ถูกหลอก ไปยังม้าแถว ๑ ได้โอนไปยังบัญชีม้าแถว ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ด้วยหรือไม่ แล้วก็จะระงับธุรกรรม ทุกแถว ทุกบัญชีไปในทันทีด้วยเหมือนกัน แต่เป็นการระงับชั่วคราว ๗๒ ชั่วโมง ในมาตรา ๗ ระงับชั่วคราว เพราะเราก็กังวลว่าจะไปกระทบกับผู้สุจริตเหมือนกันนะครับ หลังจากนั้น ทางผู้เสียหายจะต้องไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนต่อเพื่อที่เราจะได้ Prove อีกครั้งหนึ่งว่า การแจ้งความอันนั้นมันเป็นการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ ที่มีผู้อภิปรายบางท่านสอบถาม เมื่อเช้าครับว่า แล้วถ้าเป็นการกลั่นแกล้งกันจะทำอย่างไร เราก็มีระบบในการ Prove ตรงนี้ว่า ธนาคารรับแจ้งแล้วดูว่าเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมเทคโนโลยีก็ระงับไปเลย หลังจากนั้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรา Prove อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเรา Prove แล้ว OK ถ้าไม่ใช่เราก็ปลด ถ้าใช่เราก็อายัดต่อไป อันนี้ก็จะเป็นมาตรการในช่วงของหลังการเกิดเหตุนะครับ
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลง เรื่องอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเราทั่วประเทศ จากเดิมคดีอาญาจะต้องมีการแจ้งความให้ตรงกับพื้นที่เกิดเหตุหรือวิธีการสอบสวน ของโรงพักนั้น ๆ แต่เรามองว่าคดีประเภทนี้มันสามารถเกิดได้ทุกที่ทั่วประเทศ บางคนถูกหลอกอยู่ที่เชียงใหม่ แต่มาโอนเงินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ก็เกิดความสับสน ในช่วงแรกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเองเราก็มีการบ่ายเบี่ยง บางทีก็เกี่ยงกันบ้างว่าใครจะเป็น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดี ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ยกร่าง ก็กรุณาใส่เข้าไปเลยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถแจ้งความได้กับสถานีตำรวจทุกท้องที่ ทั่วประเทศไทย เพราะถือว่าคดีอาชญากรรม Online เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ อันนี้ก็เป็น การอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นที่ท่านผู้อภิปรายสอบถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเราบางคนก็สับสน หรือประชาชนก็สับสน ตรงนี้ผมก็ยอมรับครับว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้เพิ่งออกมาเป็นระยะเวลาประมาณ ๔ เดือน ๑๘ วัน ในรายละเอียดของ การปฏิบัติต่าง ๆ ใน ๑๔ ข้อนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรามาออกเป็นคำสั่ง ในการปฏิบัติเข้าไปในรายละเอียดตรงนี้ไปอีก ๑๒ หน้า อีก ๓๐ กว่าข้อ ซึ่งจะต้องปฏิบัติ โดยละเอียดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตรงนี้เรามีการอบรมพนักงานสอบสวนทั่วประเทศไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าก็อาจจะมีพนักงานสอบสวนบางท่านอาจจะฟังไม่ตลอดเวลาหรืออะไรอย่างนี้บ้าง เราก็มีการทบทวนอยู่เป็นประจำ ตรงนี้ก็จะรับข้อเสนอแนะของท่านผู้อภิปรายไปดำเนินการในส่วนที่เป็นความบกพร่องของ ทางพนักงานสอบสวนบ้างในบางประการ แล้วก็อยากจะขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่า เนื่องจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้มีด้วยกันทั้งหมด ๑๔ มาตรามันอาจจะมีรายละเอียดบางเรื่องที่มัน ไม่ครบถ้วนอยู่ในนั้นบ้างเล็กน้อยนะครับ แต่ในท้ายของ พ.ร.ก. ในมาตรา ๑๓ ก็ได้กำหนดว่า ให้ท่านนายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่กำหนด แนวทางในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเพิ่มเติมจากตัวมาตราต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งในส่วนนี้ที่ประชุมของคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมามีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE เป็นประธาน ท่านก็ได้กรุณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในการขับเคลื่อนขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งมีท่าน ผบ.ตร. เป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ในส่วนนี้เรามีการประชุม เพื่อจะเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่อาจจะมีส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์หรืออะไรอยู่ บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เรามีการประชุมกันทุกอาทิตย์นะครับ
สำหรับในข้อเสนอแนะของท่านผู้อภิปรายทุกท่านที่ผมได้จดไว้ค่อนข้าง ละเอียดเยอะอยู่แล้วเดี๋ยวผมจะไปดูในรายงานการประชุมอีกทีก็จะได้นำไปเสนอในที่ประชุม ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อจะพิจารณาดำเนินการตามที่ท่านได้กรุณา ให้ความคิดเห็นต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ