นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพและท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ กระผม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอกราบเรียนว่าเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๖ คณะรัฐมนตรีได้มี ความเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ท่านประธานที่เคารพครับ โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ กำหนดสำหรับการตราพระราชกำหนดทั่วไปว่ามาตรา ๑๗๒ ในกรณีเพื่อประโยชน์ ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรง ตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติได้ การตราพระราชกำหนด ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็น เร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้คณะรัฐมนตรีเสนอ พระราชกำหนดนั้นต่อสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นโดยเร็ว คือในโอกาสนี้ทางรัฐบาลจึงขอกราบเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึงเหตุผลและความจำเป็นตลอดจนสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกัน และปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งผมเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็เป็นผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้และมีส่วนในการยกร่าง แล้วก็นำเสนอที่ประชุม ครม. เหตุผลและความจำเป็นก็อย่างที่เราทราบนะครับ ในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารในการทำธุรกรรมทางการเงินกันอย่างแพร่หลาย ถามว่าปัจจุบันก็มีประชาชนจำนวนมากถูกหลอกลวง หรือถูกฉ้อโกง ถูกอาชญากรรมต่าง ๆ ในหลายรูปแบบผ่านมาทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มีความเสียหายต่อทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ของประเทศ ทำให้มีความจำเป็นที่เราต้องมีการออกมาตรการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เหตุที่ต้องตราเป็นพระราชกำหนดก็เรียนว่า คือผมมีการศึกษาเรื่องนี้อยู่เป็นเวลาพอสมควร ถ้าเราจะแก้เป็นกฎหมาย แก้เป็น พ.ร.บ. มันจะต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ ถ้าเรื่องการเงินก็คือธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน การสื่อสารก็ต้องไปแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับ กสทช. รวมถึง ต้องไปแก้กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินอีก ปปง. นี่หลัก ๆ ๓ ฉบับแล้วนะครับ ซึ่งแต่ละฉบับ ก็มีการพยายามศึกษาและยกร่าง แต่กระบวนการก็ล่าช้ามากเพราะมีความไม่ลงตัว ในการพิจารณากฎหมาย จนล่าสุดผมเพิ่งทราบว่ากฎหมาย ปปง. ที่จะมีการแก้ไข เพิ่งพิจารณาเสร็จยังไม่ได้เข้า ครม. เลย อาจจะต้องเป็นรัฐบาลถัดไปต้องพิจารณาว่าจะแก้ กฎหมาย ปปง. หรือไม่ ซึ่งก็เป็นการปรับกฎหมายให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เนื่องจากว่ามันมีความเสียหายรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วกระทบต่อความเชื่อมั่น ของพี่น้องประชาชนในการทำธุรกรรมทาง Online ต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก. หรือพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนถ้าจะศึกษากฎหมายฉบับนี้ จะเข้าใจว่าประเด็นหลัก ๆ ที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้มี ประเด็นในเรื่องของการเมืองหรือการที่จะไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชนใด ๆ เป็นเรื่องของการมุ่งที่จะขจัดวงจรการหลอกลวงประชาชน Online ซึ่งหัวใจหลักก็คือ บัญชีการเงินหรือที่เราเรียกภาษาชาวบ้านว่าบัญชีม้า กับ ๒. คือการใช้ช่องทางสื่อสารที่ไม่ชอบผิดกฎหมาย โดยใช้ SIM มือถือ SIM ปลอม หรือ SIM ม้า ใช้บัญชี Internet ปลอม ใช้ Account ปลอมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนร้ายใช้ใน การหลอกลวงประชาชนนะครับ เพราะฉะนั้นขอสรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ดังนี้นะครับ หลัก ๆ คือ

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๔ กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่าย โทรศัพท์มีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๕ ให้อำนาจหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทาง คอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในเวลาที่กำหนด

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๖ กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำ ธุรกรรมนั้นและแจ้งธนาคารที่รับโอนต่อเป็นทอด ๆ ทุกทอดให้ระงับการทำธุรกรรม ที่รับโอนไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน ๗ วันเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหรือเลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๗ ในกรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคาร ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอดระงับการทำ ธุรกรรมที่รับโอนไว้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน เวลา ๗๒ ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้วให้พิจารณามีคำสั่งไปยัง ธนาคารภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนด ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๘ วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าว สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๘ วรรคสอง การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวน ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสอบสวน หรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๙ ผู้ใดเปิดบัญชีม้า นี่ภาษาพูด เปิดบัญชีม้าคือใช้ชื่อตัวเองไปเปิด ให้คนอื่นไปใช้ในการโอนเงินนะครับ เปิดบัญชีม้าหรือ SIM ม้า ก็คือเปิดเบอร์มือถือในชื่อ ตัวเองแล้วไปให้คนอื่นใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันนี้เป็นมาตรการใหม่ทางกฎหมาย เพราะเดิมในอดีตไม่มีความผิดโดยตรง

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า SIM ม้ามีโทษจำคุก ตั้งแต่ ๒-๕ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คือถ้าทำธุรกิจ เกี่ยวกับบัญชีม้า SIM ม้าไปขาย ไปโฆษณา ไปหาลูกค้า พูดง่าย ๆ ไปอยู่ในขบวนการ อาชญากรรม นี่มีความผิดโทษหนักขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๑๒ การเปิดเผยแลกเปลี่ยนเข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูล บุคคลตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีหรือทำงานได้สะดวกขึ้นและปลอดภัยขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๑๔ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับก็คือ คาดว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาการถูก หลอกลวงให้โอนเงินไปให้คนร้ายหรือเป็นอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น และจะลดภาระ และอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนในการร้องทุกข์หรือการดำเนินคดี ต่าง ๆ อย่างที่ผมได้กล่าวคือสามารถร้องทุกข์หรือแจ้งความได้กับทุกสถานีตำรวจหรือจะ Online ก็ได้นะครับ ความรวดเร็วที่เกิดขึ้นก็คือวันนี้ผู้เสียหายสามารถไปแจ้งธนาคารที่ท่านโอนเงินไปให้อาชญากร พอรู้ตัวว่าเราโดนหลอกแล้ว เราโอนเงินไปแล้ว ท่านสามารถไปแจ้งร้องทุกข์ที่ธนาคารนั้น ได้เลย และธนาคารก็ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี ธนาคารมีหน้าที่ระงับบัญชีที่ต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีของคนร้ายไว้ก่อน เพื่ออะไรครับ เพื่อรักษาเงินของพี่น้องประชาชนไว้ไม่ให้ถูกโอนต่อเป็นทอด ๆ เมื่อมีการดำเนินคดี จะได้เอาเงินคืนได้ ฉะนั้นความรวดเร็วในการระงับบัญชีนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เราต้องมีการ ออก พ.ร.ก. ฉบับนี้เพื่อให้อำนาจธนาคาร สถาบันการเงินสามารถระงับบัญชีได้ และมีการ แชร์ข้อมูลกันด้วยว่าบัญชีชื่อคนนี้ บัญชีโอนต่อ ๆ ไปนี้ถือว่าเป็นบัญชีต้องสงสัยของคนร้าย ก็ต้องระงับบัญชีทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้สามารถรักษาทรัพย์สินเงินทอง ของพี่น้องประชาชนไว้ได้ให้มากที่สุด เรื่องที่สำคัญที่ผมได้กล่าวอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของ บัญชีม้าและ SIM ม้า ซึ่งตอนนี้ผิดกฎหมายแล้วนะครับ มีการดำเนินคดีไปหลายร้อยคดีแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนนี้จะมีความผิดต่อเมื่อมีการดำเนินคดีกับขบวนการต่าง ๆ และมีการสืบเส้นทาง การเงินว่าใช้บัญชีชื่อใดบ้างในการโอนเงิน แต่วันนี้ท่านรับจ้างเปิดบัญชีม้า ประชาชนที่ไป เป็นเหยื่อ หรืออาจจะไม่ใช่เหยื่อก็ได้นะครับ คือรู้อยู่แล้วว่าไปขายบัญชีเพื่อไปทำสิ่งที่ ไม่ถูกต้อง วันนี้มีความผิดโทษจำคุก ๓ ปี ซึ่งวันนี้ก็ทำให้บัญชีม้าลดลง หรือแทบจะไม่มีแล้ว และวันนี้อยู่ที่กระบวนการต่อไปซึ่งธนาคาร สถาบันการเงินกำลังพยายามทำระบบร่วมกันอยู่ พัฒนาอยู่ก็เป็น Phase 1 ไปแล้ว คือการเชื่อมโยงข้อมูลแล้วก็ระงับบัญชี Phase 2 ก็คือ จะต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมการโอนเงิน หรือรูปแบบการโอนเงินที่เป็นลักษณะต้อง สงสัยว่าเป็นของคนร้ายนะครับ คือโอนเข้า โอนออกบ่อย ๆ โอนไปต่างประเทศบ่อย ๆ อะไร อย่างนี้นะครับ ที่เรารู้สึกว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นบัญชีต้องสงสัยซึ่งต่อไปถ้าระบบนี้สมบูรณ์ ธนาคารจะสามารถระงับบัญชีของคนร้ายได้ทันทีโดยไม่ต้องมีผู้มาร้องทุกข์ครับ ซึ่งอันนี้เป็น มาตรการเชิงรุกซึ่งจะทำให้ธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย อาจจะไม่ใช่เฉพาะหลอกลวง ประชาชนแล้วต่อไป ที่ผิดกฎหมายจะถูกระงับยับยั้งไว้ก่อนที่จะไปสร้างความเสียหายกับพี่ น้องประชาชน ผมจึงกราบเรียนว่าพระราชกำหนดนี้ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วนะครับ ผมก็ได้ ติดตามนะครับว่าคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ลดลงหรือไม่ ในช่วงต้นปีตั้งแต่ ๑ มกราคม ถึง ๑๖ มีนาคม มีการเกิดคดีที่มีการร้องทุกข์เข้ามาเฉลี่ย ๗๙๐ คดีต่อวัน หลังจากมีพระราชกำหนด บังคับใช้คือตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม เฉลี่ยเหลือ ๖๐๓ คดีต่อวัน ก็คือ ลดลงจาก ๗๙๐ คดี เหลือ ๖๐๓ คดีต่อวันส่วนการอายัดบัญชีก็ทำได้ดีขึ้นนะครับ จากเดิม มีความเสียหาย ๑,๓๐๐ กว่าล้านบาท อายัดบัญชีได้ ๘๗ ล้านบาท หรือเพียง ๖.๕ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังมีพระราชกำหนดบังคับใช้ก็อายัดบัญชีได้จาก ๒,๔๐๐ ล้านบาท อายัดได้ทันที ๒๕๖ ล้านบาท หรือคิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็คืออายัดบัญชีได้ดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ดี เท่าที่ควรนะครับ ผมคิดว่ามันควรจะดีกว่านี้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของระบบ เรื่องของมาตรการ ต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มาทำงานร่วมกันแล้วก็ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็น รูปธรรมต่อไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ก็ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายสำคัญนะครับ ที่มุ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรรม Online ซึ่งเป็นปัญหาของ พี่น้องประชาชน แล้วก็ได้มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายฉบับนี้ไปเป็นระยะเวลา หลายเดือนแล้วนะครับ แต่ก็อาจจะยังไม่ถูกใจ อาจจะไม่ได้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่า ยังมีมาตรการอีกหลายอย่างที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปนะครับ แต่อย่างไรก็ดีผมว่าอันนี้เป็น ก้าวแรกและก้าวสำคัญที่เราจะเข้าไปแก้ปัญหาอาชญากรรม Online โดยเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ ปปง. DSI ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ กสทช. ซึ่งเข้ามาช่วยกันดูเรื่องนี้อย่างเต็มที่นะครับ ก็ถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง และจริง ๆ ก็เป็นกฎหมายที่ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ละครับ ที่มาชี้แจงท่านเป็นผู้ที่ช่วยกันยกร่าง ช่วยกันเสนอขึ้นมาจนรัฐบาลผลักดัน นำเป็น พ.ร.ก. ฉบับนี้เข้ามาสู่สภา ผมจึงขอ ความเห็นชอบจากพวกเราทุกคนด้วยให้การสนับสนุน เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ได้ดำเนินการ ต่อไป เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่ผมเป็นคนรับผิดชอบเรื่องอาชญากรรม Online และที่ท่านนายกก็ได้มอบหมาย ก็ทำงานกันมาตลอดก็รู้ว่าเป็นปัญหาที่หนักมาก เพราะว่าประชาชนก็มีการใช้ช่องทางการทำธุรกรรม Online กันเยอะมาก และแพร่หลาย มากนะครับ คนร้ายก็ตามเข้ามา ผมว่าคนร้ายวันนี้ก็เหมือนเชื้อไวรัส หรือโควิดปีที่แล้ว ก็เป็นสายพันธุ์หนึ่งเราก็มีวัคซีนแบบหนึ่ง พอปีนี้ก็จะมีสายพันธุ์ใหม่เราก็ต้องมีวัคซีน แบบใหม่ เช่นเดียวกันอาชญากรรม Online หรือการแก้ปัญหาก็จะต้องมีการปรับปรุง หรือการไล่ตามกับคนร้าย ตามเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง พ.ร.ก. นี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องบัญชีม้า หรือการใช้ SIM การใช้ Internet ในการที่คนร้ายนำมาใช้ หลอกลวงประชาชน มีการเพิ่มโทษ มีการมีมาตรการต่าง ๆ ซึ่งเดี๋ยวผมจะให้ทางเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนเลยที่เป็นคนช่วยกันยกร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ ต้องเรียนไปยังเพื่อนสมาชิก ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญจริง ๆ ตอนแรกเราคิดว่าจะทำเป็น พ.ร.บ. ออกเป็น พระราชบัญญัตินะครับ มีการยกร่าง เดี๋ยวท่านตัวแทนจาก ปปง. ก็จะอธิบายได้ มีการจะแก้กฎหมาย ปปง. จะแก้กฎหมายธนาคาร แก้กฎหมาย กสทช. แต่ระหว่าง ที่ทำกระบวนการแก้กฎหมายมันใช้เวลาเยอะมากเพราะหลายมาตรา แล้วมันไปเกี่ยวกับ หลายหน่วยงาน ซึ่งระหว่างที่ยกร่างผมดูแล้วมันไม่ทันการณ์แล้ว ปัญหามันรุนแรงขึ้น ถ้ารอกฎหมายผมว่าไม่ทัน ไม่ทันเหตุการณ์ จึงดึงเฉพาะเรื่องหลัก ๆ เรื่องที่เป็นหัวใจ คือเรื่องบัญชีม้า SIM ม้า การแชร์ข้อมูลเพื่ออายัดบัญชี การให้ประชาชนวันนี้ไปที่ธนาคาร สามารถขออายัดบัญชีได้เลย บัญชีนี้มาหลอกเราไปที่นาคารขออายัดบัญชีเลย และอายัด เป็นทอดเลยทุกบัญชีที่เกี่ยวข้องอายัดหมด เพื่อจะได้ดึงเงินกลับให้ได้มากที่สุด ซึ่งอันนี้ เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ส่วนกฎหมาย พ.ร.บ. จะมีการแก้ไขหรือไม่ต่อไปก็คงเป็นเรื่องของ รัฐบาลและสภาชุดใหม่ก็คงจะมาเดินหน้ากันต่อ ซี่งมันใช้เวลาจริง ๆ ครับ เพื่อนสมาชิก คงทราบว่าการแก้กฎหมายแต่ละฉบับต้องผ่านกฤษฎีกา ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นปีครับ ออกไม่ได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ หาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้จำเป็นจริง ๆ ที่ต้องออก พ.ร.ก. แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าท่านนายกรัฐมนตรีอยากจะให้ ออก พ.ร.ก. หรือว่ามีความจำเป็นอะไรเป็นเรื่องทางการเมือง หรือหาเสียง หรืออะไร เป็นความมุ่งหวังของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่มาทำงานและเป็นว่ามีปัญหาเรื่องนี้ อยากให้ มีอำนาจพิเศษขึ้นมาตาม พ.ร.ก. เพื่อจะเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนจริง ๆ แล้วจะมีมาตรการต่าง ๆ ขออนุญาตท่านประธานนะครับ ให้ทางเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่มา ได้เล่าให้ฟัง เพราะว่าบางทีถ้าเล่าให้ฟังเข้าใจการอภิปรายได้สั้นลงด้วย จะได้จบเร็วขึ้นนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอตอบข้อชี้แจงผ่านท่านประธานไปยังท่านอดิศร เพียงเกษ สั้น ๆ นะครับ ท่านได้พูดถึงเรื่องการเสนอ พ.ร.ก. ซึ่งผมเข้าใจว่า พ.ร.ก. นี่มันควร จะจบในรัฐบาลที่แล้ว ในสภาชุดที่แล้ว เพราะตอนที่เรายกร่างกันนี่ตอนที่เราคุยเรื่องปัญหา ต่าง ๆ แล้วก็เป็นที่มาของต้องยกเลิก ไม่ใช่ยกเลิก ไม่รอ พ.ร.บ. แล้ว แก้ พ.ร.บ. ไม่ทัน เพราะว่ากระบวนการมันช้ามาก เลยดึงเรื่องที่มันจำเป็นที่ Pin Point เรื่องของการทำระบบ แก้ปัญหาเรื่องบัญชีม้ากับ SIM ม้านี่ดึงขึ้นมาก่อน เพราะมันเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งทุกหน่วยงาน อยากทำแต่ไม่มีอำนาจ ประชาชนก็อยากทำนะครับ วันนี้โดนหลอกไปร้องเรียนอยากจะ อายัดบัญชีใช้เวลาเป็นวัน อยากจะให้ทำได้ทันทีเพื่อจะเอาเงินคืนประชาชนให้ได้มากที่สุด ก็เลยออกเป็น พ.ร.ก. แต่ว่าเราเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายนเริ่มยกร่างเริ่มคุยกัน แล้วก็ มาถึงเข้า ครม. ครั้งแรกวันที่ ๘ ธันวาคม ซึ่งผมกะว่าถ้าอย่างนั้นผ่านนี่ก็จะเข้าสภา ช่วงสมัยที่แล้วได้ทันนะครับ แต่เนื่องจากว่าพอเข้าไปเสร็จก็มีข้อทักท้วงจาก ก.ล.ต. หรือบางหน่วยงาน ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่ากฎหมายนี่เวลาจะออกมันจะมีผู้ที่อาจจะไม่เห็นด้วย หรือมีข้อขัดข้องก็ต้องถอนออกมาแก้ พอแก้ไปแก้มากลับมาอีกทีเป็นวันที่ ๒๔ มกราคมปีนี้ ซึ่งมันก็เริ่มจะไม่ทันแล้ว เพราะว่าสภาจะหมดสมัยประชุมเดือนกุมภาพันธ์ ภายใน เดือนกุมภาพันธ์ แต่พอผ่าน ครม. เสร็จก็ไปเจอกระบวนการของการตรวจร่างการพิจารณา ของกฤษฎีกาต่าง ๆ ก็ทำให้สุดท้ายกฎหมายถึงได้มีการประกาศมาจริง ๆ มีผลบังคับใช้ หรือประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๑๖ มีนาคมซึ่งก็ไม่ทัน ไม่ทันวาระของสภา ผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ซึ่งเจตนาจริง ๆ พวกเราตั้งใจจะให้เข้าทัน แต่ว่าเนื่องจาก มันมีกระบวนการตรวจสอบแก้ไขหรือว่ามีผู้ที่คัดค้านในบางเรื่องจะมีการปรับปรุง ทำให้กระบวนการไม่ทัน ก็ต้องเรียนท่านอดิศร แต่ว่าอยากให้พวกเราเข้าใจนิดหนึ่งว่า ผมเข้าใจครับว่ากฎหมายนี้ถึงแม้จะเป็นกฎหมายของรัฐบาลที่ไม่ใช่มาจากสภาชุดนี้ แต่ว่าเจตนาของกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเมืองหรือว่าเป็นเรื่องนโยบาย ของพรรคใดพรรคหนึ่งเลยนะครับ ไม่ใช่เป็นนโยบายของพรรคหรือนโยบายของการเมือง มันเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ธนาคาร กสทช. ทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งและเห็นว่า มันเป็นปัญหาจริง ๆ ที่อยากได้อำนาจในการเข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชน ส่วนอำนาจนี้ มันจะพอไม่พอนี่ผมก็ยังคิดว่าก็เป็นเรื่องที่สภาชุดต่อไปคือชุดนี้จะพิจารณากันอีกที ว่าจะปรับปรุงหรือแก้ไข แต่ว่าในภาพรวมตรงนี้ผมเชื่อว่าทั้งหมดเขาพอใจแล้ว อำนาจที่มีอยู่ ตอนนี้เรื่องต่อไปคือเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เรื่องของกระบวนการ ทำงาน การไปกำหนดคณะทำงานร่วมกัน การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ด้วยระบบ AI ระบบอะไรต่าง ๆ เพื่อจะเข้ามาทำงานเรื่องนี้ให้เกิดประสิทธิภาพให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเหมือนอย่างหลายคนเขาบอกว่าผลลัพธ์อาจจะยังไม่เห็นนะครับ วันนี้ท่านเพิ่ง กินยาตัวนี้ไปได้ ๔ เดือน มาตรการบางอย่างนี่ยังไม่เสร็จเลยนะครับ ธนาคาร ต้องไปสร้างระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงข้อมูลกัน ซึ่งเขามีอยู่ ๒ หรือ ๓ เฟส นี่ วันนี้เพิ่งได้ Phase 1 เอง Phase 2 ก็จะเสร็จเร็ว ๆ นี้ผมจำได้ว่าเดือนหน้านะครับ มันจะเป็นระยะ ๆ ในการพัฒนาระบบ Software เพื่อจะได้เชื่อมโยงข้อมูลในการบล็อก บัญชี ระงับบัญชี เพราะฉะนั้นมันต้องใช้เวลาในการทำงานนะครับ เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องวางระบบในการเข้าไปดำเนินคดีต่าง ๆ เช่นตอนนี้แจ้งความได้ทุกที่ ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าไปแจ้งที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วตำรวจที่เชียงใหม่ทำคดีนะครับ เขาจะมี การรวมคดีมาให้ตำรวจที่ทำหน้าที่ด้าน Cyber เขาเรียก Cyber Police ชื่อเต็มว่า บช.สอท. กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพหลักในการดูนะครับ เพียงแต่ว่าทุกคนรับแจ้งความแล้วรวมเรื่องมาเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนเป็นภาระ ต้องไปแจ้งความที่กรุงเทพฯ หรือที่ บช.สอท. หรือที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ให้แจ้งที่ไหนก็ได้เราใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการรวบรวมคดีนะครับ เพราะคดี Online ส่วนใหญ่มันจะเป็นเกิดขึ้นหลายที่นะครับ แต่บางทีก็เป็นคนร้ายคนเดียวกัน ต้องรวมคดี และให้ บช.สอท. เป็นคนดำเนินการ ก็ฝากไว้สั้น ๆ เรียนท่านอดิศร เพียงเกษ ด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการเมืองจริง ๆ ครับ ไม่ใช่นโยบาย เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ คุยด้วยกันมา เพื่ออยากจะให้เกิดอำนาจในการดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องขอบคุณท่านประธานและเพื่อน สมาชิกที่ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นใน พ.ร.ก. ฉบับนี้กันอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งทุกเรื่องเราก็ จะนำไปใช้ในการทำงานต่อไป รวมถึงปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในการทำงานด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก็คงมีคำถามที่ผมก็ได้ตอบไปแล้วว่าความตั้งใจจริง ๆ ของรัฐบาลก็คือ ต้องการออกเป็นกฎหมาย ออก พ.ร.บ. มีการยกร่าง มีการพูดคุยกันมาตลอด แต่ว่ากระบวนการในการทำกฎหมายฉบับที่เราจะแก้คือ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเราจะใช้ตัวนั้นเป็นตัวหลักในการแก้ แล้วอาจจะมีแก้ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับธนาคาร สถาบันการเงิน แต่ระหว่างดำเนินการมันมีความล่าช้า ในกระบวนการทำกฎหมาย ซึ่งอันนี้ผมก็ไม่ได้ลงไปทำโดยตรงด้วยมันมีเรื่องของกฤษฎีกา เรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่พอเราเห็นปัญหาแล้วนี่มันไม่ทัน แล้วปัญหานี้ช่วงปีที่แล้ว คนร้องเรียนเรื่องโดนหลอกเรื่องอาชญากรรม Online กันมากจริง ๆ นะครับ โดยเฉพาะ เรื่องการพยายามติดตามเงินคืน การอายัดบัญชี การป้องกันปัญหาเรื่องบัญชีม้า เรื่อง SIM ม้า เรื่องการใช้ SIM ไปหลอกลวงต่าง ๆ ก็เลยมีความจำเป็นที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก. เพราะในเงื่อนเวลานี่มันไม่ทันแล้วผมดู ถ้าเราไม่ออกเป็น พ.ร.ก. ก็จะยิ่งสร้างความเสียหาย ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะในเนื้อหาสาระจริง ๆ ของกฎหมายนี่ถ้าท่าน ให้ความเป็นธรรมนะครับ ไม่ได้มองเรื่องของการเมือง เรื่องของ พ.ร.ก. พ.ร.บ. อะไรนี่ ดูที่เนื้อหากฎหมายนี่จะเห็นว่าเราดึงเฉพาะเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่ไม่มีความขัดแย้ง กับหน่วยงานอื่นด้วยนะครับ จริง ๆ มันมีเรื่องของ กลต. ด้วยที่เราจะเอาเข้ามาด้วย แต่ว่ายังไม่ลงตัวก็ดึงออกไปก่อน ก็เลยมีเฉพาะเรื่องของที่เกี่ยวกับธนาคาร บัญชีการเงิน ซึ่งเรียกว่าบัญชีม้า มีเรื่องของ กสทช. เรื่องของ SIM ม้า แล้วก็เรื่องของการที่ให้มีกระบวนการในการสร้างระบบบัญชีต้องสงสัย คือแค่สงสัยก็ระงับ การใช้งานได้เลยระงับบัญชีได้ ซึ่งอันนี้เป็นอำนาจสำคัญที่ต่อไปธุรกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ อาชญากรรมที่มันมาใช้ช่องทางการเงินใช้บัญชีม้าพอเราตรวจสอบเห็นมีการโอนเงิน ที่ผิดปกติ แม้จะไม่มีผู้ร้อง ยังไม่มีคดีเราก็สามารถหยิบขึ้นมายกขึ้นมาระงับบัญชี และเรียก ผู้ที่ใช้บัญชีเข้ามาชี้แจงก่อนได้ว่าท่านใช้บัญชีแบบนี้ด้วยเหตุอันใด เป็นธุรกิจที่ถูกต้องไหม ซึ่งอันนี้มันจะเป็นภาพรวมที่ใหญ่มากจะแก้ปัญหาเรื่องทุนจีนสีเทา เรื่องอะไรทั้งหมดด้วย กฎหมายฉบับนี้ละครับ เมื่อระบบสมบูรณ์ตอนนี้มันเพิ่ง Phase 1 เพิ่งมาได้ ๓-๔ เดือน ต่อไปผมเชื่อว่าทางธนาคารจะมีการแชร์ข้อมูล มีการตรวจสอบการเดินบัญชี แล้วเราก็มาคุย กันครับว่าบัญชีต้องสงสัยหรือบัญชีที่คิดว่าเป็นบัญชีของคนร้าย หรือคนที่ทำผิดกฎหมาย มีการเดินบัญชีแบบไหน มีการโอนเงินกันแบบไหน พอเรากำหนดหลักเกณฑ์นี้เสร็จเราก็มา ตรวจทุกบัญชีด้วยระบบ AI คอมพิวเตอร์ก็ว่าไป แล้วเอาบัญชีเหล่านั้นละครับมาระงับไม่ให้ ทำธุรกรรม ซึ่งอันนี้จะเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรม Online ได้อย่างแน่นอนในที่สุด แต่ระบบก็ต้องพัฒนาต่อไป กฎหมายก็ต้องมีการปรับปรุงต่อไป แน่นอนครับผมเชื่อคง จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายอีกหลายฉบับ แต่วันนี้เป็นก้าวสำคัญของเราในการที่ออก พ.ร.ก. เพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้อง ประชาชนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องเวลาผมได้กล่าวไปแล้วว่าตั้งใจจะให้เข้าสภาในเดือนกุมภาพันธ์ ของสมัยประชุมในรัฐบาลสภาที่แล้ว แต่มันมีเรื่องของมีข้อโต้แย้ง มีการแก้ไขปรับปรุง กฎหมายบางช่วงในช่วงที่เราพิจารณาอยู่ทำให้เข้าสภาไม่ทัน เพราะว่าประกาศออกมา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็วันที่ ๑๖ มีนาคมแล้ว ซึ่งสภาปิดสมัยประชุมไปแล้วนะครับ ซึ่งในส่วนกระบวนการว่าทำไมไม่เรียกประชุมหรืออะไรนี่ผมก็ไม่ทราบนะครับ เพราะว่า ไม่ได้อยู่ในกระบวนการนั้นนะครับ แต่ก็เรียนว่ามีความตั้งใจจริง ๆ ว่าจะให้เข้าในสภา ชุดที่แล้วแต่ไม่ทัน แต่สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายทางการเมือง ไม่ได้มีการมุ่งไป จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เป็นกฎหมายที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาคุยกัน และอยากให้มีอำนาจในการแก้ปัญหาปราบปรามอาชญากรรม Online นะครับ ก็อยากฝาก ท่านประธานไปถึงเพื่อนสมาชิกทุกท่านให้ช่วยกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบกฎหมาย ฉบับนี้เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ได้ทำหน้าที่ของมันเดินหน้าในการแก้ปัญหาป้องกันปัญหา ปราบปรามอาชญากรรม Online ให้สำเร็จผลให้ได้ในที่สุด แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ ถึงแม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเดินหน้ามันยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติ คอมพิวเตอร์ ซึ่งอันนี้เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงในการปิด Website หรือว่าปิดกั้นการใช้ งานคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายซึ่งอันนี้เราก็ทำอยู่ แต่ก็ยังปิดไม่ได้ทั้งหมดก็ยอมรับนะครับ เหมือนเพื่อนสมาชิกพูดถึงว่าการใช้ Facebook หลอกลวงกัน การใช้ Account ปลอม หลอกลวงกัน ในช่องทางต่าง ๆ อันนี้ก็ยังยอมรับว่าด้วยระบบยังทำไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยอำนาจที่มีของกระทรวงก็ทำไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาคุยกันต่อไป แต่ก็มีกฎหมายหลายฉบับที่เริ่มได้เข้ามาบังคับใช้แล้ว เช่น เกี่ยวกับ Cyber Security เรื่อง PDPA หรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอันนี้ก็เกิดขึ้นมาในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ มีหน่วยงานเข้ามาทำงานแล้ว ผมเชื่อว่า ที่ PDPA และ Cyber Security เมื่อดำเนินการไปเรื่อย ๆ สมบูรณ์แบบตามเป้าหมายที่เราวางไว้นี่เมื่อมารวมกับ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรม Online และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผมว่าในที่สุดเราก็สามารถ บริหารจัดการให้ลดผลกระทบ ลดความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอนครับ ก็ฝากเพื่อนสมาชิกทุกคนให้ช่วยลงมติเห็นชอบให้กับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม