นายอนุรัตน์ ตันบรรจง

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดพะเยา ในอำเภอจุน อำเภอภูซาง และอำเภอเชียงคำครับ วันนี้จะมี ๓ หัวข้อครับที่จะขอหารือกับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกเป็นเรื่องของแหล่งน้ำนะครับ ซึ่งในอำเภอจุนนะครับ ในตำบลลอ ตำบล หงส์หิน ตำบลห้วยยางขาม และตำบลห้วยข้าวก่ำ ๔ ตำบลนี้นะครับท่านประธาน ยังใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาตินะครับ โดยเฉพาะการสูบจากการขุดสระ ซึ่งตอนนี้ประชาชน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากว่าเกิดปัญหาภัยแล้งน้ำในสระนั้นไม่มีปริมาณที่เพียงพอที่จะ สูบขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภค แม้แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือปัญหาเรื่องของการเกษตร ไม่เพียงพอ เนื่องจากทั้ง ๔ ตำบลนี้เป็น ๔ ตำบลที่มีการปลูกข้าว ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำสวนทำไร่นะครับ ดังนั้นอยากจะขอให้ท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันงบประมาณ ส่งเสริมให้มีการวางท่อ HDPE เพื่อให้มีน้ำประปาให้ประชาชนใช้นะครับ บางตำบลนั้นนะครับท่านประธานมีการวางท่อ HDPE เพื่อจะส่งน้ำดีไปยังใน ๔ ตำบล แต่ยัง ขาดงบประมาณในการที่จะทำการเชื่อมต่อ เป็นการเชื่อมต่อให้กับประชาชนได้ใช้น้ำประปา

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาครับท่านประธาน เรื่องที่ ๒ นะครับเป็นเรื่องของถนน เป็นถนน สาย ๑๐๒๑ เป็นถนนที่เชื่อมต่อจากอำเภอจุนสู่อำเภอเชียงคำครับ ใน กม. ที่ ๗๐+๓๐๐ ถึง กม. ที่ ๗๑+๔๐๐ เป็นแยกเชียงบาน เป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่ประชาชนได้ประสบอุบัติเหตุ อย่างที่ผมเรียนข้างต้นครับท่านประธาน กม. ที่ ๗๐+๓๐๐ ถึง กม.ที่ ๗๑+๔๐๐ อยากจะขอการขยายให้เป็นถนน ๔ Lane แล้วก็มีสัญญาณไฟจราจรให้เกิดความปลอดภัย แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน ผมจะหารือในเรื่องถนนเพื่อการเกษตร ถนนเพื่อการเกษตรปัจจุบันนี้มีการโอนย้ายจาก อบต. ซึ่ง อบต. เป็นผู้รับผิดชอบ หรือเทศบาลในหน่วยงานรับผิดชอบไปแล้วนะครับ แต่ อบต. และเทศบาลขาดงบประมาณ ในการดูแลพื้นที่ถนนทางการเกษตรนะครับ ก็ขอให้หน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทยหรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นช่วยผลักดันงบไปให้ถนน ทางการเกษตรด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๒ วันนี้จะขอหารือ กับท่านประธานอยู่ ๑ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจุน โรงพยาบาลจุนนั้นได้รับผิดชอบผู้ป่วยทั้งหมด ๗ ตำบล ซึ่งโรงพยาบาลจุนนั้นก่อตั้ง ในปี ๒๕๒๕ เป็นโรงพยาบาล ๑๐ เตียง จากนั้นปี ๒๕๓๓ ได้ขยายเป็น ๓๐ เตียง และปัจจุบันนี้โรงพยาบาลจุนสามารถรองรับผู้ป่วยได้ ๕๒ เตียง ปัจจุบันมีแพทย์ ๙ อัตรา ทันตแพทย์ ๖ อัตรา เภสัชกร ๗ อัตรา และพยาบาล ๕๓ อัตรา เรามาดูสถิติว่าจำนวน ผู้ป่วยนอกรับต่อปี ๑๑๙,๓๘๒ คนต่อปี จำนวนผู้ป่วยใน ๒,๓๙๒ คนต่อปี และแผนก ทันตกรรม ๒๒,๓๗๔ คนต่อปี จะเห็นได้ว่าสัดส่วนตัวอาคารของโรงพยาบาลนั้นไม่สามารถ รองรับผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยที่อยู่ในอำเภอจุนนั้นต้องไปใช้ที่สถานี โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นในตัวจังหวัดพะเยา อำเภอเชียงม่วน อำเภอปง หรืออำเภอเชียงคำ วันนี้ผมเองในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมเองเกิดมาไม่มีบ้านอยู่ครับ ผมเติบโตในโรงพยาบาลจุน แค่เพียงว่าโชคดีมีแม่เป็นแพทย์ ได้อาศัยอยู่ในโรงพยาบาลจุน ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖-๒๕๓๙ ได้เห็นปัญหาต่าง ๆ และปัญหาในโรงพยาบาลจุนยังมีเรื่องของ ปัญหาน้ำเสีย เพราะว่าระบบบำบัดในโรงพยาบาลจุนนั้นเก่าเต็มที ผ่านมา ๔๐ กว่าปี ไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนโรงบำบัดน้ำเสียให้แก่ประชาชนเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย คือระบบไฟฟ้าในอาคาร วันนี้ไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ ถ้าไฟดับก็ไม่มี Generator ในการสำรองไฟให้กับโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาล ลำบากเป็นอย่างยิ่งครับ ผมขอหารือท่านประธานสภาผ่านไปยังกระทรวงสาธารณสุข ขอจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารโรงพยาบาลจุน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการ อย่างทั่วถึง ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐมี ๒ ท่าน ท่านแรกคือท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร ท่านที่ ๒ คือท่านจักรัตน์ พั้วช่วย ขอผู้รับรองครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทน เขต ๒ จังหวัดพะเยา พรรคพลังประชารัฐ วันนี้จะขอ หารือกับท่านประธานเรื่องถนนนะครับ ถนนที่ อบต. เทศบาลหรือ อบจ. ที่ได้รับส่งมอบ ในการดูแลจากกรมทางหลวงหรือกรมทางหลวงชนบท หรือย้อนไปเมื่อในอดีตที่ยาวนาน ก็คือรับมอบจาก รพช. วันนี้ผมเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเขตเลือกตั้งเป็นของตัวเอง ก็จะได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องว่าถนนไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมบำรุง เพราะว่าถนน บางเส้นต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง ปัจจุบันถนนในประเทศไทยกว่า ๗๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทนั้นได้รับผิดชอบอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร ๒ กรมร่วมกันนะครับ แต่ปัจจุบันนี้ อปท. หรือองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้นได้รับผิดชอบกว่า ๖๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร ผมอยากจะหารือท่านประธานผ่าน ไปยังกระทรวงมหาดไทยให้จัดสรรงบประมาณลงสู่ อบต. และเทศบาล เพื่อที่จะซ่อมสร้าง ถนนให้พ่อแม่พี่น้องราษฎรได้ใช้ถนนอย่างมีความสุข และความปลอดภัย วันนี้น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางต้องดี

    อ่านในการประชุม

  • และเรื่องสุดท้ายครับ ผมอยากจะฝากท่านประธานหารือไปยังกรมบัญชีกลาง ในการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้คัดเลือกด้วยความเป็นธรรมนะครับ ไม่ใช่ว่าวันนี้ มีการ e-Bidding มีการฟันราคากันแล้วไม่สามารถที่จะสร้างโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ให้แล้วเสร็จได้ รวมถึงโครงการนี้ไม่สามารถที่สร้างได้อย่างมีคุณภาพ ถนนก็พังแล้วพังอีก นะครับ ก็ขอฝากท่านประธานหารือไปยังกรมบัญชีกลางด้วย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้จะขอหารือกับท่านประธาน ๑ เรื่อง ผมได้รับการประสานงานมาจากท่านบุญสินธ์ มังคลาด สจ. ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ทุ่งลอ กลุ่มทุ่งลอนั้นประกอบไปด้วย ๔ ตำบล ๑. ตำบลทุ่งรวงทอง ๒. ตำบลอ่างทอง ๓. ตำบลน้ำแวน ๔. ตำบลเชียงบาน ทั้ง ๔ ตำบลมีพื้นที่ในการปลูกข้าวมากกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ เรียกว่าทุ่งลอ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิของจังหวัดพะเยา ซึ่งข้าวหอมมะลิของจังหวัด พะเยานั้นเป็น Soft Power ปัญหาคือต้องการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงเพื่อผันน้ำเข้าสู่ที่นา แต่เมื่อเกิดภัยแล้งลำน้ำอิงนั้นตื้นเขินจึงไม่สามารถสูบน้ำเข้าที่นาของเกษตรกรได้ทั่วถึง เพราะมีที่นาจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงเกษตร และสหกรณ์เรื่องของบประมาณสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า รวมถึงเรื่องระบบ การวางท่อน้ำให้ครอบคลุมที่นากว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับ การจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา เขต ๒ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการขนส่งทางบกและป้องกัน การเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเราเรียกว่า ส่วย ขออนุญาตนำเรียนถึง รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการขนส่งทางบกและป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคณะ อนุกรรมาธิการได้กำหนดกรอบการพิจารณา แบ่งเป็น ๕ ประเด็น ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ศึกษาแนวทาง การบังคับใช้และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ศึกษาสภาพปัญหาเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบจาก เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมทางหลวง และข้อสังเกตในการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก และข้อสังเกตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน เกิดความเป็นธรรมสามารถป้องกันการทุจริตและบังคับใช้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ศึกษาข้อมูลและแนวทางการป้องกันการทุจริต การตรวจสภาพ รถนอกสถานที่ ตลอดจนศึกษาแนวทางป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์จากการรับ จดทะเบียนส่วนบุคคล

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นที่ ๔ และประเด็นที่ ๕ คณะกรรมาธิการเห็นว่าเรื่องเป็น ประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก จึงศึกษาเพิ่มเติมอีก ๒ ประเด็น ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ศึกษาแนวทางการเปลี่ยนยานยนต์ เครื่องยนต์สันดาปให้เป็น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรียกว่า EV Conversion Project

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๕ จัดทำข้อสังเกตอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง ทางบก ในส่วนต่อจะนำเสนอผลการศึกษาที่ได้นำเรียนมานี้ ในประเด็นที่ ๑ ศึกษาแนวทาง การบังคับใช้และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก ผลพิจารณา ในประเด็นที่ ๑ จากการศึกษาพบว่าหน่วยงานสำคัญที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การขนส่งทางบก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กองบังคับการตำรวจทางหลวงมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมน้ำหนักบรรทุก คืออัตราโทษการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากำหนด ตาม พ.ร.บ. กรมทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗๕/๒ ซึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้บังคับใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ซึ่งนับเป็นเวลา ๑๘ ปีมาแล้วที่ไม่ได้มีการแก้ไขอัตราโทษให้ เหมาะสมกับเทคโนโลยีการบรรทุก รวมทั้งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือการกำหนดอัตราโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทไม่สามารถป้องกัน การบรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบรรทุกน้ำหนักเกิน ๑๐๐ กิโลกรัม หรือการบรรทุกน้ำหนักเกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลกรัม ย่อมถูกปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตามระวางโทษดังกล่าว ส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว จึงมีการกระทำข้อผิดพลาดในการ บรรทุกน้ำหนักเกินจำนวนมาก และยอมจ่ายผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ บางรายเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยการบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่สำคัญในการควบคุมน้ำหนัก คือสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง หรือเราเรียกว่า สคน. ยังมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถ บังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนต่อมาเป็นข้อสังเกตที่มีทั้งหมดจำนวน ๑๑ ข้อ ซึ่งอยู่ในรายงาน ที่ได้แจกไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วครับ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. เสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทแก้ไขเพิ่มเติมคำขอ ท้ายวันบันทึกการจับกุมแบบ สคน. ๑/๑ โดยระบุให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบพฤติกรรม เพิ่มเติมของผู้ต้องหาในข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าจ้างขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่ง หรือเจ้าของรถ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดโทษในการเอาผิดผู้ว่าจ้างขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่ง หรือเจ้าของรถ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. เสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกระทรวงคมนาคมแก้ไข พระราชบัญญัติในมาตรา ๗๓/๒ โดยให้คงโทษจำคุกไว้ตามเดิม และกำหนดโทษปรับ เป็นอัตราปรับก้าวหน้า ซึ่งอัตราโทษเดิมนั้นมีการแจ้งไว้คือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท

    อ่านในการประชุม

  • ๔. เสนอให้กรมทางหลวงเร่งดำเนินการสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมใน การจัดตั้งหน่วยงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะให้เป็นกองควบคุมน้ำหนักยานพาหนะตาม กฎกระทรวง

    อ่านในการประชุม

  • ๕. เสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เสนอแก้ไข อัตราโทษความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานทางหลวงตามมาตรา ๗๐ ให้สูงขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ๖. เสนอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมพิจารณาจัดหาหน่วยชั่งน้ำหนัก เคลื่อนที่ หรือเราเรียกว่า Spot Check ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงและเจ้าหน้าที่ ตำรวจท้องที่ซึ่งปัจจุบันนี้กรมทางหลวงมีเครื่องชั่งน้ำหนัก Spot Check อยู่จำนวน ๑๐๕ ชุด กรมทางหลวงชนบท มี Spot Check ทั้งหมด ๑๑๔ ชุด กองบังคับการตำรวจทางหลวง เดิมที่มี Spot Check อยู่ ๑๒ ชุด แต่ปัจจุบันนี้สามารถใช้งานได้เพียงแค่ ๒ ชุด

    อ่านในการประชุม

  • ๗. เสนอให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติ ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือไม่อนุมัติให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง กรณีผู้ประกอบการขนส่งกระทำความผิดซ้ำซ้อน ซ้ำซาก หรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บ่อยครั้ง เช่น การบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

    อ่านในการประชุม

  • ๘. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจทางหลวงจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจจากส่วนกลาง และจัดตั้งหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ หรือ Spot Check บนสายทางหลักและสายทางรอง สายทางที่มีความเสี่ยงในการบรรทุกน้ำหนักเกิน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ศึกษาสภาพปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบจาก เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับควบคุมทางหลวงและข้อสังเกตในการแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมการขนส่งทางบก รวมถึงข้อสังเกตอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน เกิดความเป็นธรรม สามารถป้องกันการทุจริตและบังคับได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปจะเป็นผลพิจารณา จากการศึกษาพบว่าสภาพการเรียกรับผลประโยชน์ โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับควบคุมทางหลวงเกิดการใช้ดุลยพินิจ ในการทุจริตในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางราย นอกจากนี้ยังประสบปัญหาในการ สอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีได้ยาก เนื่องจากมีสาเหตุอันประกอบไปด้วย ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๑ เกิดจากความสมัครใจของผู้ให้และผู้รับ โดยการให้ประโยชน์ จะเริ่มตั้งแต่การให้หรือการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกเท่านั้น ไปจนถึงการให้ผลประโยชน์เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีหากกระทำความผิด

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๒ เป็นการกระทำความผิดร่วมกันทั้งผู้ให้สินบนและผู้รับสินบน โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายต่างให้รับผลประโยชน์จากการกระทำ

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๓ ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอิทธิพล จึงไม่มีใครกล้าแสดงตนในการ จับกุมและขยายผลในการดำเนินคดี

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๔ คือสาเหตุสุดท้ายครับท่านประธาน ตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นยาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้เงินสดหรือใช้บัญชีม้าในการโอนรับผลประโยชน์

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตจำนวน ๕ ข้อที่จะเสนอต่อรัฐสภาแห่งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. เสนอให้คณะรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เพื่อจัดซื้อระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะรถวิ่ง เรียกว่า Weight In Motion หรือระบบ WIM สนับสนุนทุกรูปแบบ ปัจจุบันถนนในประเทศไทย มีระยะทางกว่า ๗๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร โดยกรมทางหลวงมีระบบ WIM จำนวนทั้งสิ้น ๑๘๒ แห่ง กรมทางหลวงชนบทมีระบบ WIM ทั้งสิ้น ๑๘ แห่ง หากต้องการติดตั้งระบบ WIM ทุกช่อง จราจรพร้อมอุปกรณ์ควบคุมทั้งประเทศ กรมทางหลวงจะต้องขอการจัดสรรงบประมาณอยู่ ๒๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับควบคุมถนนทางหลวง ไม่ว่าจะเป็น ทางหลวงชนบท กรมทางหลวง กองบังคับการตำรวจทางหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำบันทึกความเข้าใจ หรือเราเรียกว่า MOU เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการบังคับใช้ กฎหมายกรณีบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. เสนอให้กรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๒ (๖) แก้ไขโดย เพิ่มหลักเกณฑ์รายละเอียดในการแจ้งน้ำหนักบรรทุกเพิ่มเติม นอกจากใบกำกับการขนส่ง แล้วกำหนดให้มี ๑. ใบรับรองการชั่งน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง ๒. ขอความร่วมมือให้มี ป้ายระบุแจ้งน้ำหนักบรรทุกสุทธิขณะรถวิ่งบนทางหลวง โดยให้ติดในตำแหน่งข้างรถ ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้การชั่งและระบุน้ำหนักควรใช้เครื่องชั่งที่ได้รับมาตรฐาน การตรวจสอบจากสำนักงานชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์

    อ่านในการประชุม

  • ๔. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแหล่งต้นทางสิ่งของบรรทุก เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม จัดหา เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานตรวจสอบจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน

    อ่านในการประชุม

  • ๕. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน เพื่ออบรมความรู้ ด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นถนนที่อยู่ในการดูแลของ อบจ. องค์การ บริหารส่วนจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบล รวมไปถึงเทศบาลต่าง ๆ ขออนุญาต ท่านประธานครับ จากการศึกษาเรื่องน้ำหนักบรรทุก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเราน่าจะ ได้ยินจากสื่อนะครับ เป็นเวลามาทุกยุคทุกสมัยในเรื่องของน้ำหนักบรรทุกเกินตามที่กฎหมาย ได้กำหนด ผมขออธิบายหลังจากที่ได้แจ้งผลรายงานดังกล่าว ปัจจุบันถนนในประเทศไทยเรา มีพื้นที่กว่า ๗๐๐,๐๐๐ กว่ากิโลเมตร แต่อยู่ในการดูแลและคุ้มครองของกรมทางหลวงและ กรมทางหลวงชนบท ๒ หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานหลักที่มีด่านตาชั่ง และมีตาชั่งที่เราเรียกว่า Spot Check รวมถึงมีระบบที่ทันสมัยที่สุด ณ เวลานี้ก็คือระบบ Weight In Motion ซึ่งระบบ Weight In Motion นี้จะเป็นตาชั่งที่ถูกฝังไว้ในผิวถนน เมื่อเวลารถวิ่งจะสามารถ ตรวจจับน้ำหนักได้ทันทีว่ารถบรรทุกที่วิ่งนั้นเกินหรือไม่ แต่วันนี้ครับท่านประธาน จุดอ่อน ของตาชั่งที่เราเรียกว่า Weight In Motion หรือเรียกว่า WIM นี้มันมีจุดอ่อน คือปัจจุบันนี้ มันไม่ได้ติดตั้งทุกช่องจราจรของถนนบนทางหลวง ซึ่งปัจจุบันนี้กรมทางหลวงและกรมทาง หลวงชนบทได้หารือกัน และเร่งขอจัดสรรงบประมาณเพื่อติดตั้งระบบ WIM ถ้าเราได้มี การติดตั้งระบบ WIM นั้นสำเร็จเราจะสามารถทำงานจับผู้บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างมี ประสิทธิภาพ แต่ถ้ารัฐบาลส่งเสริมงบประมาณลงไปแล้ว ถามว่าปัญหามันจบไหมครับ คณะอนุกรรมาธิการเราก็ต้องเรียนว่า มันไม่จบครับ เนื่องจากถนนที่อยู่ในการดูแลส่วนใหญ่ เลยกว่า ๖๐๐,๐๐๐ กิโลเมตรนั้น เป็นถนนที่อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ซึ่งผมอยากจะฝากไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ จัดสรรงบประมาณ แล้วให้คนจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้บูรณาการ ให้ความรู้แก่ อปท. ต่าง ๆ ที่มีถนนอยู่ในการดูแลของท่าน วันนี้เมื่อประมาณ ๔-๕ เดือนที่แล้ว เราได้ยินข่าวเรื่องของกำนันนกก็ดี ผมได้ดูข่าว ผมก็เข้าใจว่ากำนันนกตอนนี้เป็นผู้ที่ถูก ดำเนินคดีอยู่ เป็นคดีที่มีการยิงกันในบ้านของตัวเอง แล้วยิงใคร ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจครับท่าน ประธาน ก็ได้สืบเสาะไปหากำนันนกว่า กำนันนกนั้นได้ทำอาชีพอะไร ปรากฏว่าเป็นอาชีพ รับเหมาก่อสร้าง ผู้สื่อข่าวรวมถึงสื่อทาง Social ก็ได้ไปถ่ายรูปในรถบรรทุกที่กำนักนกใช้ ในการประกอบกิจกรรม จึงเกิดคำว่า ส่วยสติกเกอร์ขึ้น ถ้าถามผมแล้วแน่นอนครับ ปัจจุบันนี้ รถบรรทุกน้ำหนักเกินได้วิ่งในสายทางรองนี้กว่า ๖๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร โดยปราศจากผู้จับกุม ถ้าวันนี้เราถามว่าใครคือผู้จับกุม ก็ต้องบอกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านว่า ตำรวจมี หน้าที่ไปจับกุมครับท่านประธาน แต่ด้วยความที่ว่าตำรวจไม่มีอุปกรณ์ในการจับกุม ไม่ว่าจะ เป็นเครื่องชั่งแบบ Spot Check ไม่มีเลย แล้วตำรวจทางหลวงรับผิดชอบก็ไม่มี Spot Check เพียงพอ ปัจจุบันนี้ทั้งประเทศเหลือแค่ ๒ เครื่อง เท่ากับว่ามีหน่วยจับได้แค่ ๒ หน่วย ผมจึง ได้ศึกษาพร้อมกับคณะอนุกรรมาธิการเรา อยากจะบอกไปยังท่านประธานสภาว่า จริง ๆ แล้ว วันนี้ถ้าจะแก้ไขให้ได้จริงจังเราต้องทำการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ต้องให้อำนาจ การจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเป็นรูปธรรมและให้เครื่องมือเขาในการจับกุม ซึ่งตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในครั้งนี้เรามีการเพิ่มโทษใน มาตรา ๗๓/๒ จากเดิมปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน เราได้มีการเพิ่มโทษ โดยจะเพิ่มโทษในพระราชบัญญัติของกรมทาง ขอสไลด์หน้าที่เป็นอัตราปรับแบบก้าวหน้า การเพิ่มโทษนั้นเพิ่มโทษเป็นการคงกฎหมาย โทษทางอาญายังคงไว้เหมือนเดิม ขอสไลด์ที่ เป็นตารางนะครับ ที่เป็นเบี้ยปรับ ก็คือเกิน ๑ กิโลกรัมก็ถือว่ากระทำความผิดครับ เราจะ เห็นได้ว่าการปรับนั้นตั้งแต่ ๑ กิโลกรัม จนถึง ๕๐๐ กิโลกรัม มีอัตราปรับอยู่ ๑,๐๐๐ บาท จนมีการปรับสูงสุดไปที่ ๕๐ ตัน ๕๐ ตันนั้นจะมีเบี้ยปรับอยู่ทั้งหมด ๕๖๐,๐๐๐ บาท และทุก ๆ ๑ ตันจะมีค่าปรับหลังจากนี้ตันละ ๑๒,๐๐๐ บาท ผมได้ถามหน่วยงาน โดยเฉพาะ หน่วยงาน สคน. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่จับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินก็ได้รายงานมาว่าเคยจับน้ำหนัก สูงสุดที่บันทึกได้ ๖๐ ตัน ซึ่งหมายความว่าเกินจากตรงนี้ ๕๐ ตันแล้ว ก็ต้องปรับเป็นจำนวน เงิน ๕๖๐,๐๐๐ บาท ตันละ ๑๒,๐๐๐ บาท อีก ๑๐ ตัน ก็เป็นเงินอยู่ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ก็จะมี เบี้ยปรับทั้งหมดอยู่ประมาณ ๖๘๐,๐๐๐ บาท เราได้เพิ่มโทษตรงจุดนี้ แต่ยังคงในกฎหมาย อาญาไว้อยู่ หมายความว่าผู้กระทำความผิดนั้นจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ผมจึงอยากนำเสนอใน ประเด็นที่กล่าวมาเป็นการนำเสนอแค่เบื้องต้นนะครับ เดี๋ยวจะมีผู้นำเสนอถัดมาในเรื่องของ ประเด็นที่ ๓ เป็นของคณะอนุกรรมาธิการเรา ก็คือท่านอาจารย์พงศ์ธร ได้รายงานต่อรัฐสภา ต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านประธานครับ ยังไม่จบครับท่านประธาน ขออีกนิดเดียวครับ ในประเด็นที่ ๔ และประเด็นที่ ๕ ค้างอีก ๒ ประเด็นครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานครับ ผม อนุรัตน์ ตันบรรจง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๒ สิ่งแรกก็ต้อง ขอขอบคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านที่ได้ให้คำชี้แนะ รวมถึงข้อชี้แนะที่เป็นประโยชน์ ต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องส่วยนะครับ หรือเราเรียกว่า ส่วยรถบรรทุก ซึ่งประเด็น ที่ผมอยากจะตอบคำถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ ก็จะเกี่ยวข้อง ของท่านณัฏฐ์ชนน ท่านสมาชิกจังหวัดสงขลานะครับได้ถามเรื่องกฎหมายในมาตรา ๗๓/๒ ซึ่งท่านผู้อภิปรายหลายคนก็มีข้อสงสัยในเรื่องของมาตรา ๗๓/๒ ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการ เราก่อนที่จะทำการศึกษาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เราได้เชิญตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ ที่ใช้กฎหมาย ก็คือกรมทางหลวง รวมถึงภาคเอกชนก็คือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสมาพันธ์รถบรรทุกแห่งประเทศไทย ที่มีการจดทะเบียนขึ้นกับกรมการขนส่งทางบกอยู่ประมาณกว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ คัน ซึ่งในหลาย ๆ ข้อคิดเห็นเราได้ศึกษาว่ากฎหมายนี้ จากเดิมได้มีบทลงโทษทางอาญา ก็คือจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน และปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ทางคณะอนุกรรมาธิการเราได้ ศึกษาและได้เห็นถึงความสำคัญว่ากฎหมายฉบับนี้ ถ้าได้นำโทษทางอาญาออกจากมาตรา ๗๓/๒ แล้ว มันจะทำให้กฎหมายนั้นไม่แข็งแรง มันจะอ่อนแรงลงทันที เพราะหมายความว่า ใครจะกระทำความผิด แค่จ่ายค่าปรับนั้นก็สามารถพ้นโทษ ดังนั้นทางคณะอนุกรรมาธิการ เราโดยได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาพันธ์รถบรรทุกก็บอกว่า เรายังคงเห็นความสำคัญ ของโทษอาญาในกฎหมายฉบับนี้อยู่ จึงไม่สามารถนำกฎหมายทางอาญาออกจากกฎหมาย ฉบับนี้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมอยากกราบเรียนท่านประธานและท่านสมาชิกทุกท่านว่า แท้ที่จริงแล้วเรามีการประชุมหารือกัน เบื้องต้นว่าเราจะเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกให้กับ ผู้ประกอบการซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงก็เห็นด้วย แต่เราได้ศึกษากับ ภาคเอกชนแล้วภาคเอกชนบอกว่าน้ำหนักรถบรรทุกมันไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดหรือ เพิ่มนะครับ แต่เราต้องทำตามกฎว่าให้น้ำหนักรถบรรทุกเท่าไร เราก็ควรจะบรรทุกไม่ให้เกิน พิกัด

    อ่านในการประชุม

  • อีกสิ่งหนึ่งครับ ปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ผมอยากฝากรัฐสภาหารือ ในรอบหน้าว่ากระบะใช้ในการบรรทุก ถ้าเราตัดกระบะให้สามารถบรรทุกได้เต็มพิกัด เต็มพิกัด หมายความว่า ลดขนาดกระบะบรรทุกลงให้สามารถบรรทุกได้ตามที่น้ำหนัก กำหนดนี้มันก็จะไม่เกิดปัญหาครับ แต่วันนี้กระบะของรถบรรทุกนั้นมันสามารถบรรทุก น้ำหนักได้เกิน ผมยกตัวอย่างรถบรรทุกที่เป็นรถพ่วง เป็นตัวแม่กับตัวลูกรวมกันในกฎหมายนี้ กำหนดไว้ให้น้ำหนักบรรทุกได้ ๕๐.๕ ตัน แต่ปัจจุบันนี้ สคน. เคยจับรถบรรทุกได้ประมาณ ๑๑๐ ตัน หมายถึงว่าเกินไป ๖๐ ตัน ครับท่านประธาน ซึ่งตรงจุดนี้แน่นอนว่าผู้ประกอบการนั้น ยิ่งบรรทุกน้อยก็ยิ่งเสียผลประโยชน์ เพราะว่าเสียค่าน้ำมันและค่าเดินทางเท่ากัน หรืออาจจะมากกว่านิดหน่อย ดังนั้นกฎหมายมาตรา ๗๓/๒ ทางคณะอนุกรรมาธิการเรา จึงเห็นความสำคัญว่าควรจะคงโทษอาญาไว้ไม่ให้กฎหมายนั้นอ่อนแอ

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาครับ ผมขอตอบคำถามท่านนิพนธ์ คนขยัน ซึ่งเห็นด้วยกับการให้ อำนาจกับท้องถิ่น ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการเราได้นำเสนอไป เนื่องจากปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเรามีถนนอยู่ทั้งหมดประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ กว่ากิโลเมตร แต่หน่วยงานที่ดูแล จริงจังมีแค่กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท รวมถึงตำรวจทางหลวง ซึ่ง ๓ หน่วยงาน นี้รับผิดชอบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร แต่ ๖๐๐,๐๐๐ กว่ากิโลเมตรไม่มีผู้รับผิดชอบ ครับท่านประธาน ดังนั้นทางคณะอนุกรรมาธิการเราจึงเห็นว่าควรจะสนับสนุนงบประมาณ ผ่านทางกระทรวงมหาดไทยไปยัง อปท. ต่าง ๆ วันนี้ท่านสมาชิกหลายท่านในที่นี้เป็น สส. เขต เวลาเราลงพื้นที่พบปะกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน เราจะได้รับเรื่องร้องเรียนมาตลอด ว่าถนนนั้นเสีย ถนนนั้นไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม หรือถนนบางเส้นตัดขาดจาก โลกภายนอกก็มีครับ สาเหตุนั้นเกิดจากต้นเหตุที่มีการบรรทุกน้ำหนักเกินทำให้ถนนนั้นเสียหายและชำรุด ถามหา งบประมาณในการซ่อมแซม ก็ต้องบอกว่าวันนี้ถนนส่วนใหญ่ในประเทศไทย พยายามนะครับ มีความพยายามที่อยากจะขอคืนเส้นทางไปให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุง ต้องผ่านคณะกรรมการการกระจาย อำนาจในกระทรวงมหาดไทย ไปผ่านที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด กว่าจะโอนถ่าย ๑ เส้นได้ ผมได้ดูผลการศึกษามาอย่างน้อยใช้เวลา ๒-๓ ปี ซึ่งวันนี้พ่อแม่พี่น้องบ้านเรา ทนไม่ได้กับถนนที่เสียหาย และอยากจะได้งบประมาณจากภาครัฐโดยเร็ว ดังนั้นผมจึงขอ เสนอให้กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการจับผู้กระทำ ความผิดในการบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยการบูรณาการนั้นควรจะต้อง MOU ร่วมกันให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ดี รวมถึงตำรวจในพื้นที่ บูรณาการกันทั้งหมด ถามว่าวันนี้นอกจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทแล้วมี Spot Check นำจับ มีระบบ WIM นำจับก็ดี แต่ตำรวจทุกพื้นที่สามารถจับในกรณีที่ท่านเห็น ว่าเป็นรถบรรทุกต้องสงสัยได้ สามารถจับได้นะครับ แต่ปัจจุบันนี้ยังขาดความรู้ และที่สำคัญ ขาดเครื่องมือในกระบวนการที่จะจับกุม ดังนั้นผมจึงเอาเรื่องจริงมาพูดกันในรัฐสภาว่าวันนี้ มันไม่มีคนจับครับท่านประธาน มันต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องที่ท่าน สส. บัญชา ได้พูดถึง ขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ ว่าการจับกุมนี้มันอยู่ในดุลยพินิจ หลาย ๆ ท่านได้แสดงข้อคิดเห็นว่ามันอยู่ในดุลยพินิจของ ผู้จับกุม แท้ที่จริงแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำงานแล้วจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เจ้าหน้าที่ จะนำตัว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่นำตัวผู้กระทำความผิดส่งไปที่สถานีตำรวจ และทำการยึดรถ ชั่วคราว และจะต้องส่งฟ้องศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง และดุลยพินิจในการยึดรถอยู่ที่ศาลเป็น ผู้ตัดสินครับ จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ดังนั้นการยึดรถมันมีหลายเหตุผล เราบรรทุก อย่างที่ผมได้นำเรียนไป ถ้าเราบรรทุกจากต้นทางเราอาจจะชั่งได้น้ำหนักอยู่ ๕๐.๕ ตัน อย่างที่ผมนำเรียนไป เป็นน้ำหนักที่ยอมให้วิ่งบนถนนได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เมื่อรถออกจาก ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ โรงงานอุตสาหกรรม หรือขนพืชผลทางการเกษตรก็ดี ออกมาแล้วมี การเติมน้ำมันรถ น้ำหนักก็เพิ่มขึ้น หรือคนรถรับครอบครัวก็มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น พาลูกพาเมีย ขึ้นรถก็เป็นน้ำหนักแล้วครับท่านประธาน รวมถึงดินที่ติดล้อรถบรรทุกสิบล้อมาก็ถือว่าเป็น น้ำหนัก และที่ท่านผู้อภิปรายบางท่านได้พูดถึง ก็คือน้ำฝนที่ค้างบนผ้า Slant คลุมรถบรรทุก ก็มีน้ำหนักเช่นเดียวกัน ดังนั้นทางคณะอนุกรรมาธิการเราจึงเล็งเห็นว่าการคงโทษกฎหมาย อาญาและใช้การปรับแบบก้าวหน้านี้มันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิด ไม่ให้ผู้กระทำ ความผิดนั้นกล้าที่จะทำประโยชน์ ส่วนคณะอนุกรรมาธิการเราได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงาน ว่าผู้กระทำความผิดนี้โทษจะตกลงอยู่ที่คนขับรถบรรทุก ดังนั้นถ้าเรามีการเสนอแก้กฎหมาย ขึ้นมาเราอยากจะให้ผู้ประกอบการนั้นมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าให้คนรถขับรถบรรทุก รับผิดชอบอย่างเดียวครับ ตรงจุดนี้ก็เป็นที่มาของรายงานฉบับนี้ และผมย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าทางคณะอนุกรรมาธิการเราได้ ทำงานอย่างสุดความสามารถ แต่วันนี้บอกกับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับว่าวันนี้เรา จะขจัดแก้ไขปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เรื่องส่วย ถามว่าเราทำได้ไหม ผมเชื่อว่า เราทำได้ครับ แต่เราต้องมีการวางแผนที่เป็นรูปธรรมนามชัด สามารถจับต้องได้นะครับ อย่างที่ ผมยกตัวอย่างไปเรื่องระบบ WIM Weight In Motion ถ้ารัฐบาลสนับสนุนงบประมาณมา ๒๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถามว่าครอบคลุมถนนสายใดบ้าง ก็ต้องบอกว่าถ้าได้เงินงบประมาณ มาก็จะครอบคลุมแค่ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตรแรกครับท่านประธาน แต่ยังแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ ถนนที่เป็นสายรองนั้นไม่ได้ ดังนั้นการศึกษารายงานเล่มฉบับนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การมีบทลงโทษ แต่ผู้กระทำความผิด รวมถึงได้นำเสนอสิ่งที่เราจะนำไปแก้ไขในอนาคตให้เป็นรูปธรรม นามชัดครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออีกเรื่องครับท่านประธาน เรื่องกรณียึดรถ ผมอยากจะบอกว่าการยึดรถ นั้นอยู่ในดุลพินิจของศาล ท่านจะดูจากสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่ บรรทุกเกินก็ดี หรือความจงใจวิ่งมาในเขตห้ามวิ่งของรถบรรทุกหนัก รวมถึงการฝ่าฝืน ในเรื่องของเวลาที่ผู้กระทำความผิดนั้นได้ฝ่าฝืน ประเด็นทั้งหมดก็จะมีประมาณนี้ครับ ท่านประธาน ก็จะขอให้ทางท่านคณะอนุกรรมาธิการ ท่าน สส. ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ได้ชี้แจง ในประเด็นที่ยังค้างอยู่ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม