ท่านประธานที่เคารพ กระผม ไชยา พรหมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านชัชวาล แพทยาไทย ท่าน สส. บิ๊กแห่งจังหวัดร้อยเอ็ด ต้องขอชื่นชมท่านนะครับ ท่านเป็นนักการเมืองหนุ่ม ที่มีอนาคต แล้วท่านก็ให้ความสนใจกับปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ก็ถือว่าสิ่งที่ ท่านได้นำเสนอและเป็นคำถามมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นจะเป็นคุณประโยชน์ อย่างมากสำหรับพี่น้องประชาชนที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นผู้ที่เลี้ยงโค กระบือ ในภาคอีสานแล้วก็ทั่วประเทศ ขอกราบเรียนนะครับว่าปัญหาที่ท่านได้นำเสนอและตั้ง คำถามมา ในฐานะที่ผมได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ซึ่งถือว่าสิ่งที่ท่านได้สอบถามมา โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องราคาของโค กระบือที่มีราคา ตกต่ำ ซึ่งมีปัจจัยอยู่ ๒-๓ ปัจจัยด้วยกันอย่างที่ท่านได้กราบเรียนในที่ประชุมแห่งนี้แล้วว่า สาเหตุหนึ่งมาจากเราไม่สามารถที่จะแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง ประเทศที่มีกำลังซื้ออย่างมากนั่นก็คือประเทศจีน เราต้องพึ่งพาอาศัยสถานที่กักกันอยู่ที่ ชายแดนของ สปป. ลาวที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ถามว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์นั้นได้ทราบเรื่องนี้หรือไม่ ทราบครับ ผมได้ประชุมแล้วก็มอบนโยบายให้กับกรมปศุสัตว์ แล้วก็สอบถามปัญหานี้เป็นลำดับต้น ๆ ไม่เฉพาะในเรื่องของโค กระบือครับ เรื่องของสุกร เรื่องของทางด้านปศุสัตว์ ทุกอย่างที่ทำให้ กลไกราคาแล้วก็ราคาที่มีผลตอบแทนต่อผู้เลี้ยง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้เลี้ยงที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ในเรื่องของโค กระบือนั้น ท่านประธานที่เคารพ เรียนไป ยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้สอบถามในเรื่องนี้ เนื่องจากว่าประเทศเรานั้นเป็นประเทศ ที่ถูกกีดกัน โดยเฉพาะข้อกล่าวอ้างที่ว่าประเทศไทยนั้นส่งออกโคเนื้อที่มีโรคปากเปื่อย เท้าเปื่อยเป็นปัจจัยแรก ๆ อันที่ ๒ นั้นก็คือโรคที่เกิดจากที่มันแพร่ระบาดเมื่อปีสองปี ที่ผ่านมาคือ Lumpy skin ทางกระทรวงเองโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ก็พยายามที่จะหา มาตรการอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในเรื่องของการที่จะต้องมีวัคซีน ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมานั้นเราไม่สามารถที่จะผลิตวัคซีนได้มีความเพียงพอ บางส่วนเราต้องนำเข้า จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณ สูญเสียสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ ขณะนี้กรมปศุสัตว์เอง ผมได้สั่งการไปยังกรมปศุสัตว์แล้วเพื่อที่จะดูว่าศูนย์ผลิตวัคซีนของเรา ที่มีอยู่ที่ปากช่องมีศักยภาพในการที่จะรองรับไม่เฉพาะในเรื่องของโค กระบือ ยังรวมถึง วัคซีนหมู วัคซีนเป็ด วัคซีนไก่ สัตว์ปีกทั้งหลาย แล้วก็ที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ทั้งหมด อย่างครบวงจร ขณะนี้เรากำลังปรับปรุงแก้ไข เราทราบดีว่าการผลิตวัคซีนของศูนย์วัคซีน ของกรมปศุสัตว์นั้นไม่เฉพาะในเรื่องของการใช้ภายในประเทศเท่านั้น เรายังคิดไกลถึงว่า เราสามารถที่จะต้องเป็น Hub นะครับ Hub ทางด้านวัคซีนปศุสัตว์ในภูมิภาคนี้ด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นพม่า สปป.ลาว หรือประเทศกัมพูชา หรือแม้กระทั่งเวียดนาม เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ในมาตรการในอนาคตนั้นเราก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อพึ่งพาตนเอง ภายในประเทศได้ ส่วนสำหรับกลไกด้านราคา ต้องเรียนว่ากลไกด้านราคานั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะกำกับดูแลและควบคุม การผลิต ตลอดจนการส่งเสริมพี่น้องที่เป็นเกษตรกร โดยเฉพาะเรามีความเป็นห่วงเกษตรกร รายย่อยเป็นอันดับแรก เราจัด Priority เลยว่าสิ่งที่ได้รับผลกระทบก็คือผู้ประกอบการ รายย่อยที่เป็นผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ดังนั้นกลไกราคาต่าง ๆ นี้เรากำลังประสานความร่วมมือ แล้วจับมือไปยังกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลในราคาที่เป็นวัตถุดิบหรือต้นทุน ของอาหารสัตว์ก็ดี
อันที่ ๒ ก็คือราคาจำหน่ายในท้องตลาดหลังจากที่แปรรูปแล้ว มีการกำหนด ราคามีความเป็นธรรมอย่างไร อย่างที่ท่าน สส. ชัชวาลได้พูดนั้นถูกต้องครับว่าโคเนื้อที่มี ชีวิตนั้นราคา ๗๐-๘๐ บาท แบบบ้านผมเหมือนกันครับ ที่หนองบัวลำภูก็ราคาเดียวกัน กับท่าน แต่เวลาชำแหละแล้วราคาหน้าเขียง ๒๐๐ บาท เกือบ ๓๐๐ บาท มันกระทบ แม้กระทั่งวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรทั่วไป วันนี้บ้านท่านกับบ้านผมไม่แตกต่างกันหรอกครับ เวลาจะจัดงานทำบุญต่าง ๆ วันนี้ชาวบ้านเขาไม่เลี้ยงวัวไม่ล้มวัวเหมือนในอดีตแล้วนะครับ เพราะว่ามันแพง วันนี้เข้าไปใช้อย่างอื่น อันนี้ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ทางกรมปศุสัตว์เองก็หามาตรการว่าทำอย่างไรจะสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะตลาดใหญ่ ที่สุดนั่นก็คือตลาดจีน เราจะใช้ความสัมพันธ์ของมิตรภาพไทย-จีนทางด้านการทูตอย่างหนึ่ง ที่จะต้องเจรจา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าวัวเป็น ๆ จากประเทศไทยนั้นเราปลอดภัย เรากำลัง สร้างมาตรการที่จะทำให้ไม่ต้องไปอาศัยประเทศเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาวในการที่จะเป็น สถานที่กักกันก่อนที่จะนำวัวเป็นออกไปสู่ตลาดใหญ่ที่สุดคือตลาดจีน แล้วกระจายไปยัง ประเทศเวียดนามด้วย
ต่อมาก็คือเรื่องสารเร่งเนื้อแดง อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ควบคุม ค่อนข้างยาก แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่จะไม่สามารถดำเนินการได้ ในขณะนี้ผมได้สั่งการให้ กรมปศุสัตว์ว่าบริษัทนำเข้าหรือว่าสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นข้ออ้างอันสำคัญในการที่ทำให้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นโคเนื้อเราแม้กระทั่งหมูเองก็ประสบปัญหานะครับ เราประสบปัญหา เรื่องสารเร่งเนื้อแดงทั้งนั้นเลย ทั้ง ๒ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะหามาตรการว่าจะมีมาตรการ อย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องของการนำเข้า การนำมาจัดจำหน่าย วันนี้เพิ่งจะได้ทราบข้อมูล เมื่อก่อนที่ผมจะขึ้นมาตอบกระทู้ถามนี้นะครับท่านประธาน ฝากไปยังท่านชัชวาล และเพื่อนสมาชิก และพี่น้องประชาชนที่กำลังรับชมรับฟังอยู่ในขณะนี้ว่าวันนี้ ผู้ประกอบการเองโดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารสัตว์เขาเปลี่ยนยุทธวิธีครับ ในส่วนผสมของอาหารสัตว์นั้น เมื่อก่อนนี้อาหารสัตว์ที่เป็นสำเร็จรูปมันมีสารที่ปนเปื้อน เนื้อแดงอยู่ในสูตรอาหารด้วย วันนี้เขาฉลาดครับ ถ้าเราไปซื้อหัวอาหารที่เป็นสำเร็จรูป สารเร่งเนื้อแดงเขาจะมีของแถมให้ด้วย จะมีของแถมให้เกษตรกรไปผสมเอง ท่านชัชวาล คงรู้ดีครับ ถ้าหากว่าพี่น้องเกษตรกรในภาคอีสาน เขาบอกว่าอันนี้เป็นของแถมไปให้กับ พี่น้องเกษตรกร แล้วก็จะไป Mixed กับอาหารที่เป็นอาหารสำเร็จรูป เพราะฉะนั้นถ้าเรา ไปตรวจโรงงานอาหารสัตว์ไม่เจอหรอกครับสารเร่งเนื้อแดง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ จึงส่งสัญญาณไปยังผู้เลี้ยงทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้เลี้ยงเกษตรกรรายย่อยว่ามันอาจจะทำให้ เนื้อมีความแน่น มีเนื้อแดง แล้วก็มีน้ำหนักมากขึ้นก็ตาม แต่ว่ามันเป็นอุปสรรค ของการส่งออก โดยเฉพาะการกดราคารับซื้อที่เป็นวัวเป็น อันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องทำ ความเข้าใจแล้วก็หามาตรการในการป้องกัน ตลอดจนการที่จะทำให้กลไกราคาต่าง ๆ นั้น สามารถทำงานได้และเป็นราคาที่มีความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า คนกลาง และผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในขณะนี้มาตรการที่ท่านเป็นห่วงนั่นก็คือ การนำเข้าของวัวเป็นจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านคือพม่านั้น วันนี้ กรมปศุสัตว์เรามีการประกาศห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด สิ่งที่มีชีวิตโดยเฉพาะโค กระบือ จากประเทศพม่า เรามีการออกประกาศมา ๓ ครั้งแล้ว ครั้งที่ ๑ ประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ มีผล ๙๐ วัน ประกาศตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๖ นี่คือประกาศ ครั้งที่ ๑ ประกาศครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ มีผล ๙๐ วันเช่นกัน และประกาศครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ มีผล ๙๐ วันเช่นกัน เพราะฉะนั้น ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของการป้องกันไม่ให้ มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาแข่งขัน แล้วการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเราก็ ไม่มั่นใจนะครับว่ามันปลอดเชื้อ ปลอดโรค เพราะฉะนั้นในประเทศเราก็เจอปัญหาวิกฤติ ขนาดนี้แล้ว ถ้ามีวัวจากต่างประเทศเข้ามาแล้วก็มาแพร่ระบาดในโรคระบาดต่าง ๆ มันจะยิ่ง ทำให้ตลาดส่งออกของเรานั้นมีปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ในคำถามแรกที่ท่านบอกว่ามาตรการ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำมีอะไรบ้าง สิ่งแรกนั้นก็คือเรื่องของการห้ามนำเข้า โดยเด็ดขาด โค กระบือจากประเทศพม่า ตามประกาศที่ได้กราบเรียนท่านสมาชิกไปแล้ว ในเบื้องต้นนี้ก็ขออนุญาตที่จะตอบคำถามท่านสมาชิก ท่าน สส. ชัชวาล แพทยาไทย เป็นการเบื้องต้นไว้เพียงเท่านี้ก่อน ถ้ามีคำถามอื่น ผมยินดีที่จะตอบคำถามของท่านครับ ด้วยความขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ไชยา พรหมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบคำถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่าน สส. ชัชวาล แพทยาไทย จากจังหวัดร้อยเอ็ด สส. หนุ่มมีอนาคตนะครับ ผมติดตามใน Facebook ท่าน ติดตามใน TikTok ของท่านเป็นประจำ ซึ่ง ก็เป็น FC ท่านอยู่ ในคำถามที่ ๒ นั้น ก่อนที่ จะตอบคำถามที่ ๒ ผมเรียนให้ท่านมีความมั่นใจ แล้วก็ยืนยันกับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่กำลังรับฟังรับชมอยู่ในขณะนี้ว่าในอีกไม่กี่วันนี้ภายในสัปดาห์หน้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ โดยคำสั่งของท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง มอบหมายให้ผมในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์นั้น เราจะมีคณะกรรมการหน่วยเฉพาะกิจ ในการปราบปรามเนื้อเถื่อนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อควาย หรือแม้กระทั่งเนื้อหมู ที่ขณะนี้ถูกจับไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง เราจะมีการทำลายภายในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าพวกเนื้อเถื่อนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว หรือแม้กระทั่งเครื่องในสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งในขณะนี้ ระบาดเข้ามา แล้วก็มีการลักลอบตามชายแดนตามตะเข็บ ไม่ว่าจะประเทศรอบบ้านเรา ก็ตาม สิ่งเหล่านี้แล้วเราประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะ กรมศุลกากร ประสานความร่วมมือไปยังฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลตามชายแดน เราประสาน ความร่วมมือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าในขณะนี้การลักลอบนำเข้าสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทางด้านการเกษตร ในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์เรารับผิดชอบในเรื่องของสินค้า ที่เกี่ยวข้องกับความผิดด้านการลักลอบสินค้าด้านการเกษตร แต่เรื่องของกรมศุลกากรนั้น โดยกระทรวงการคลังเอาผิดในเรื่องของการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย และในขณะนี้มีคน ไปร้องทุกข์โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลคือกรมศุลกากรนั้นก็ได้แจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้คดีดังกล่าวนี้ไปอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในขณะนี้เราได้จับมือกัน แล้วก็ตั้งคณะกรรมการในการที่จะไปดำเนินการในการทำลายสิ่งที่ผิดกฎหมายที่มีอยู่ที่เป็น สินค้าทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อวัว แล้วก็เครื่องในที่ผิดกฎหมายที่ลักลอบ เข้ามาเราจะรีบทำลาย แล้วก็สร้างความมั่นใจว่ากระบวนการเหล่านี้จะต้องไม่เข้ามา แทรกแซงทำให้กลไกราคาและกลไกตลาดมันบิดเบี้ยวต่อไป อย่างน้อยเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าพี่น้องที่เป็นเกษตรกรทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงพี่น้อง ที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยนั้น เราไม่ค่อยห่วงเรื่องผู้ประกอบการรายใหญ่ครับ แต่สิ่งที่ ผมเป็นห่วงในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วก็มาจาก พื้นเพพี่น้องชาวไร่ชาวนา พี่น้องภาคอีสานเหมือนกับท่านชัชวาล แพทยาไทย ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรตินั้น เราเข้าใจดีว่าเราต้องปกป้องคนที่ด้อยโอกาสกว่า ก็คือพี่น้องเกษตรกร รายย่อย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสร้างมาตรการในการที่จะป้องกันไม่ให้สินค้าของเถื่อน เข้ามาสู่ประเทศ แล้วเกิดความมั่นใจว่าไม่มีกลไกใด ๆ ที่จะทำให้กลไกมันผิดเพี้ยน อย่างน้อยก็ทำให้กลไกต่าง ๆ ไม่ว่าการเลี้ยง การจำหน่าย การชำแหละ แล้วก็ได้สร้าง มาตรฐาน ไม่ว่าผู้เลี้ยงก็ได้ราคาที่มีความเป็นธรรม ผู้ประกอบการก็มีราคา มีกำไรอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป ช่องว่างที่ท่านได้พูด นี่คือข้อเท็จจริงครับ ราคาโคเนื้อ ๗๐-๘๐ บาท ในขณะที่หลังจากชำแหละแล้วก็กลายเป็นราคา ๒๘๐-๓๐๐ บาท เพราะฉะนั้นกรมปศุสัตว์เองก็พยายามที่จะส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อย วันนี้ได้มี กลุ่มเกษตรกรทั้งเลี้ยงหมูและเลี้ยงวัวมายื่นข้อเรียกร้องอย่างที่ท่าน สส. ชัชวาล แพทยาไทย ได้นำเสนอในที่ประชุมแห่งนี้ เป็นคำถามแล้วก็เป็นข้อเสนอแบบเดียวกันกับท่านเลยว่า ต้องการอยากจะให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการในการป้องกันเพื่อไม่ให้ ถูกเอารัดเอาเปรียบอีก เพราะฉะนั้นมาตรการดังกล่าวนี้ก็คือว่าสร้างเกราะป้องกันว่า ของเถื่อนจะต้องไม่เข้ามา เราจะมีการทำลาย แล้วก็จะทำการป้องกันไม่ให้มีการลักลอบ เข้ามาสู่ประเทศไทย สิ่งเหล่านี้เราไม่มั่นใจว่าที่มาแล้วออกไปสู่ตลาดแล้ว พี่น้องประชาชน บริโภคแล้วจะมีความปลอดภัยหรือไม่ แต่ถ้าเกิดว่าเราสามารถกำกับดูแลได้ทั้งกระบวนการ ในการผลิต ผมเชื่อว่า ๑. ผู้เลี้ยงได้ราคาที่มีความเป็นธรรม ๒. ผู้บริโภคได้ราคาที่มี ความเป็นธรรม แถมยังมีความมั่นใจว่าสินค้าที่ชำแหละและจำหน่ายในประเทศนั้น มีความปลอดภัย ถูกสุขภาพ ถูกอนามัยเช่นกัน เพราะฉะนั้นกลไกต่าง ๆ นี้เราจะช่วยเหลือ พี่น้องเกษตรกรอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าในฐานะที่ผมกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ และเป็นรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในองคาพยพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น จะเป็นแหล่ง หมายความว่าจะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยนั้นได้ตั้งตัว และยืนบนขาของตัวเองให้ได้ นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเกษตรนั้น โดยเฉพาะ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงต่อรัฐสภาแห่งนี้ว่านโยบายทางด้านแก้ไขปัญหา การเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ ไม่เฉพาะผู้เลี้ยงที่เป็นเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคเนื้อ หรือว่าสุกร เท่านั้นครับ ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรนั้นเราจะใช้ในเรื่องของตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และเพิ่มรายได้ ใน ๓ ปัจจัยนี้วันนี้ก็คงจะต้องไม่เป็นการผลิตแบบดั้งเดิม เราจะมองที่ว่าตลาดมีความต้องการอย่างไร เหมือนตลาดวัวที่ประเทศจีน ประเทศเวียดนาม เขามีความต้องการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ แต่เราต้องสร้างหลักประกันว่าผลผลิตที่ออกมา จากเกษตรกรพวกเรานั้นมีความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องของปากเท้าเปื่อยนั้นเป็นกำแพง เป็น Barrier ที่ทำให้เราไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้พ่อค้าคนกลางก็กดราคาในการรับซื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำนั้นก็คือจะต้องป้องกัน แล้วก็หาวัคซีน วันศุกร์นี้คือพรุ่งนี้ผมจะไปดูที่ศูนย์วัคซีนของกรมปศุสัตว์ที่ปากช่อง เรากำลังคิดว่าต่อไปนี้ เราจะเป็นแหล่งผลิตวัคซีนโรคปากเท้าเปื่อย โรค Lumpy Skin และโรคที่แพร่ระบาดในหมู ที่พี่น้องเกษตรกรประสบปัญหา เราจะยืนบนขาของตัวเองให้ได้โดยกลไกของกรมปศุสัตว์เอง วันนี้โรงงานที่เรามีเผอิญว่าไม่ได้มาตรฐานเท่าไร เราไม่ใช่ทำมาเพื่อที่รักษาเฉพาะในประเทศ เท่านั้น แต่เราคิดไกลว่าเราจะต้องเป็น Hub ที่นำวัคซีนขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราก็กลัวว่าในอนาคตมันเกิดลักลอบเข้ามา ถ้าเกิดว่าเราสามารถมีวัคซีนแล้วส่งออกไป ยังประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันโรคต่าง ๆ ก็จะทำให้ในกระบวนการในภูมิภาคนี้ก็มี ความปลอดภัยในเรื่องของเนื้อ ของสุกรต่าง ๆ เหล่านี้ อันนี้คือปัญหา แล้วก็สิ่งที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะกรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการอยู่ครับ และประการต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างที่ท่านถาม รัฐบาลมีโครงการพักหนี้ เกษตรกร ๓ ปี การพักหนี้ไม่ใช่ว่าเกษตรกรนั้นจะลืมตาอ้าปากได้ทันที แต่เป็นการพักภาระ พักสิ่งที่เขาประสบปัญหา พักต้นพักดอกไว้ ๓ ปีก่อน ใน ๓ ปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง ในองคาพยพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องเป็นผู้สนับสนุนทุกอย่างในองคาพยพ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เขายืนบนขาของตัวเองได้ รัฐบาลไม่ต้องการที่อยากจะ เอาของไปแจก หรือไปแก้ไขปัญหาด้านราคา ก็แค่ไป Subsidize ราคา แต่เราต้องการให้ กลไกที่มีอยู่ให้เกิดความสมบูรณ์ในตัว เป็นกลไกที่มีการแข่งขัน และกลไกที่มีความชอบธรรม จริง ๆ เพราะฉะนั้นใน ๓ ปีนี้ผมคิดว่าภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือ ให้การสนับสนุนในสิ่งที่พี่น้องเกษตรกรนั้นจะสามารถช่วยเหลือตัวเอง แล้วยืนบนขา ของตัวเองได้ รัฐบาลมีหน้าที่ให้เครื่องมือ รัฐบาลไม่ได้เอาปลาไปให้ ไม่ได้เอาของไปแจก แต่รัฐบาลจะเอา เครื่องมือในการทำมาหากินให้กับเกษตรกรในระยะเวลา ๓ ปีที่เขาไม่ต้องแบกรับภาระ ดอกเบี้ย ไม่ต้องแบกรับภาระเงินต้น ให้เขามีความแข็งแรง วันที่เขามีความแข็งแรงนั้น เขาจะกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติได้ นี่คือสิ่งที่ในภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะหน้าที่ที่ผมได้รับมอบหมายนั้น เราจะดำเนินการตามที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ได้มีความห่วงใยว่าพี่น้องเกษตรกรรายย่อยจะได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือพี่น้อง เกษตรกรอย่างไร อย่างที่ผมได้กราบเรียนท่านสมาชิกไว้ทั้งหมดที่ผมได้ตอบคำถามไปแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้ชี้แจงแล้วก็คงจะสร้างความเข้าใจอันดีกับท่านสมาชิกแล้วก็พี่น้องที่กำลัง รับฟังอยู่ แล้วถ้าเกิดว่ามีคำถามที่ท่านคิดว่ายังค้างคาใจอยู่ผมก็ต้องขอชี้แจงในโอกาสต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม ไชยา พรหมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ขอบคุณสำหรับคำถามในกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง ต้องขอชื่นชมที่ท่านได้ให้ความสนใจ แล้วก็ได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นคำถามที่ท่านพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ อย่างที่ท่านได้นำเรียนต่อที่ประชุมแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากว่าเราขาดการบริหารจัดการในเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของน้ำก็มีมากเกินไปและน้ำบางที่ก็มีการท่วม เพราะฉะนั้นการบริหาร จัดการนั้นจึงมีความจำเป็นในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน อย่างที่ท่านได้ตั้ง กระทู้ถามในครั้งนี้
ผมขออนุญาตที่จะตอบคำถามของท่านว่ารัฐบาลนั้นมีนโยบายในการแก้ไข ปัญหาในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็น การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ขอเรียนท่านสมาชิกอย่างนี้นะครับ เนื่องจากว่าเรามีแผน ในการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ได้กำหนดไว้ นั่นก็คือแผนการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทใน ๒๐ ปี ก็คือตั้งแต่ ปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ ซึ่งได้บริหารจัดการวางระบบไว้ทั้งหมด ๖ ด้านด้วยกัน ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำในการผลิต การจัดการน้ำท่วม น้ำอุทกภัย การจัดการควบคุมคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำ แล้วก็การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม เพื่อป้องกัน การพังทลายของดินและการบริหารจัดการ ซึ่งต่อมานั้นได้มีการปรับปรุงแผนแม่บท ดังกล่าวนั้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นการปรับปรุงครั้งที่ ๑ ซึ่งมีผลในช่วงปี ๒๕๖๖-๒๕๘๐ เพื่อให้ สอดคล้องกับบริบท แล้วก็สภาพของความเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมในปัจจุบันนี้ ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นคณะกรรมการที่เป็นผู้วางแผนแม่บท หรือ Master Plan ในระดับประเทศนั้น ได้กำหนดแล้วก็ได้มีความเห็นชอบในการปรับปรุงแผนดังกล่าวนี้ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยมี แนวทางแล้วก็มีเป้าหมายในการดำเนินงานอยู่ ๕ ด้านด้วยกันดังนี้นะครับ
ในด้านที่ ๑ ก็คือเรื่องของการจัดการเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ได้แก่ การพัฒนา ขยายเขตระบบประปาแล้วก็เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน ทั้งประปาผิวดิน แล้วก็ระบบ น้ำบาดาล การพัฒนาขยายเขตประปาเมือง รวมทั้งมีการจัดหาแหล่งน้ำที่เป็นน้ำต้นทุน แหล่งน้ำสำรอง เพื่อรองรับในการผลิตประปา ทั้งในภาวะของการขาดแคลนน้ำช่วงที่เป็น ช่วงฤดูแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วง โดยในระยะแผน ๕ ปีแรกจะดำเนินการในการก่อสร้าง ระบบประปาหมู่บ้าน ทั้งหมด ๑๖,๖๗๒ แห่ง สามารถให้บริการได้ ๓.๙ ล้านครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตของประปา ๑.๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จัดหา แหล่งน้ำสำรอง ๕ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้ก็คือแผนในการบริหารจัดการน้ำในเรื่องของ การขาดแคลนในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค
ในด้านที่ ๒ ก็คือการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต แผนนี้ก็คือ การปรับปรุงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมในการกักเก็บน้ำและระบบการส่งน้ำให้มี ประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพในการกักเก็บน้ำมากขึ้นในช่วงฤดูฝน และนำมาใช้ในฤดูแล้ง การจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็ก แหล่งน้ำในไร่นา ขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำในกรณี ที่เกิดน้ำแล้ง ตลอดจนแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดใหญ่ มีให้เพียงพอต่อ ความต้องการ ตลอดจนการทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน รวมทั้งการบริหาร จัดการน้ำในเขื่อนให้มีประสิทธิภาพและรองรับในการขยายเขตพื้นที่ชลประทานมากขึ้น ดังนั้นในแผน ๕ ปีแรกจะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ๘๐๙ ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน จำนวน ๙๘๘ ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับพื้นที่ที่ทำประโยชน์นั้น ๑.๖ ล้านไร่
ในด้านที่ ๓ แผนบริหารจัดการดังกล่าวนี้ แผนนี้คือแผนที่อยู่ภายใต้ การบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ด้านที่ ๓ ก็คือการจัดการ เรื่องน้ำท่วมและปัญหาอุทกภัย ได้แก่การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางน้ำ การเร่งรัดการจัดระบบการป้องกันน้ำท่วมในชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ ชะลอน้ำ เป็นต้น ตลอดจนการแจ้งภัย การหนีภัย การปรับปรุงโครงสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ที่มีสภาพภาวะน้ำท่วม โดยระยะ ๕ ปีแรกนั้นจะดำเนินการในการปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ
ในด้านที่ ๔ ก็คือการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม การป้องกันการลดภาวการณ์ชะล้างพังทลาย ของดินในพื้นที่ต้นน้ำ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ตลอดจนการรักษาแล้วก็เพิ่มระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเมือง การนำเอา น้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ลดการสูญเสียน้ำต้นทุน ฟื้นฟูแหล่งแม่น้ำลำคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นต้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ และให้เกิดความสมดุล ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในระยะ ๕ ปีแรกนั้นจะดำเนินการ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำจำนวน ๔๒๕,๐๐๐ ไร่ ลดการชะล้างการทลายของดินอยู่ ๖๕๑,๕๐๐ ไร่ ปรับปรุงและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำ ๓๘ แห่ง
ส่วนทางด้านที่ ๕ ก็คือการบริหารจัดการได้แก่การขับเคลื่อนองค์กร ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ การปรับปรุงกฎหมาย การจัดทำระบบฐานข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมตลอดจนการประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน มีการกำหนดรูปแบบเพื่อยกระดับการบริหารจัดการน้ำเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำ การบริหารแบบบูรณาการในองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อเป็นกลไก ในการสนับสนุนในการพัฒนาทั้ง ๔ มิติแรกดังกล่าวนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้วก็ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวนี้
สำหรับการดำเนินการในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ โดยเฉพาะโครงการ ขนาดใหญ่ที่แก้ไขปัญหาทางด้านทรัพยากรน้ำนั้นมีโครงการที่สำคัญได้รับการขับเคลื่อนแล้ว ในช่วงปี ๒๕๕๙ ถึงปี ๒๕๖๖ จำนวน ๒๙๕ โครงการ เมื่อโครงการเสร็จแล้วก็สามารถที่จะเพิ่ม น้ำต้นทุนได้ถึง ๑,๓๖๖ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ ๑.๑ ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ป้องกันน้ำท่วม ๑.๖ ล้านไร่ แล้วก็สามารถให้บริการประชาชนในครัวเรือนที่ได้รับ ประโยชน์นั้นประมาณ ๕๕๓,๐๐๐ กว่าครัวเรือนเป็นต้น โดยแผนการดำเนินการโครงการ สำคัญและโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน ๑,๐๐๐ ล้านที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบมีทั้งหมดแล้ว ๔๗ โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำศรีสองรัก จังหวัดเลย อ่างเก็บน้ำลำสะพุงที่จังหวัดชัยภูมิเป็นต้น
สำหรับแผนงานการขับเคลื่อนที่สำคัญในปี ๒๕๖๗ คือปีที่จะถึงนี้ หน่วยงาน ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในระบบ Thai Water Plan จำนวน ๑๖๕ โครงการ คาดว่าสามารถที่จะเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ได้ถึง ๒,๖๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับ ผลประโยชน์นั้น ๒.๗ ล้านไร่ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมในปริมาณ ๒.๑ ล้านไร่ และพื้นที่รับประโยชน์นั้น ๙๕๙,๐๐๐ ครัวเรือน ยกตัวอย่างเช่น โครงการปรับปรุงระบบ ชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ก็ดำเนินการอยู่ในแผนของสำนักงานทรัพยากรน้ำ แห่งชาติ แต่สำหรับในส่วนของกรมชลประทานนั้นคือส่วนของงานของฝ่ายปฏิบัติในการที่ ได้รับงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎรในการจัดสรรแล้วก็การแก้ไขปัญหา กรมชลประทานนั้น ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปี ก็คือปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๘๐ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ต้น ปีจนถึงสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นั้นกรมชลประทานได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน ไปแล้ว ๒๑,๖๒๒ แห่ง ความจุในขณะนี้ก็คือประมาณ ๘๓,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ ชลประทานครอบคลุมไปถึง ๓๕ ล้านไร่ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ที่ผ่านมานั้นกรมชลประทาน ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน ๔๖๑ แห่ง ความจุประมาณ ๑๕๗,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ ไร่ เป็นต้น ดังกล่าวนี้ก็คือแผนบริหาร จัดการน้ำที่ทางกรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณ แล้วก็ดำเนินการในการแก้ไข ปัญหาเพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการบริหารจัดการน้ำที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้ตอบคำถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจากจังหวัดพัทลุงนั้นก็คงจะได้ ชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ท่านได้ทราบถึงแนวทางที่ทางกรมชลประทานในฐานะที่ได้กำกับดูแล แล้วก็ได้เป็นฝ่ายปฏิบัตินั้นได้ดำเนินการในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบอย่างไรบ้าง ขออนุญาตที่จะตอบคำถามแรกเท่านี้ก่อนครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม ไชยา พรหมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ขอบคุณท่านสมาชิกที่ได้ให้ความสนใจแล้วก็สอบถาม โดยเฉพาะการแก้ไข ปัญหาเรื่องน้ำในจังหวัดพัทลุง ต้องขอชื่นชมท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ท่านเป็นนักการเมือง รุ่นใหม่มีอนาคต แล้วก็เป็นคนที่มีความรอบรู้ ผมติดตามการอภิปรายของท่านในสภา ทุกครั้งนะครับ แล้วก็ถือว่าท่านได้ให้ความสนใจและทำหน้าที่ของการเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อย่างสมความภาคภูมิของคนจังหวัดพัทลุง พื้นที่ของจังหวัดพัทลุงที่ทางกรมชลประทานได้มีข้อมูลในขณะนี้ที่ได้รับผิดชอบในการที่จะ จัดสรรงบประมาณ แล้วก็การแก้ไขปัญหานั้นเราทราบถึงว่าความต้องการของพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดพัทลุงหรือว่าพื้นที่ของทั่วประเทศ ภารกิจของกรมชลประทานนั้น ก็คือการแก้ไขปัญหาในเรื่องของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในเรื่องของน้ำท่วม น้ำแล้ง ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบนั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และต้องยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่มีความยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ เชิงระบบ ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้ให้ความสนใจแล้วก็ได้วางแผนในการที่จะบริหารจัดการให้เป็น เครือข่ายที่สามารถที่จะเชื่อมโยงในการแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีได้อย่างที่ท่านสมาชิก ได้นำกราบเรียนต่อที่ประชุมนี้แล้ว
ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงนั้นมีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ภายใต้ของพื้นที่ทะเลสาบสงขลา โดยที่มีการแยกลำดับลุ่มน้ำที่มีความสำคัญดังกล่าวนี้ เช่น ๑. ก็คือคลองป่าพะยอม มีต้นน้ำ ต้นกำเนิดของเทือกเขาบรรทัด ผ่านอำเภอป่าพะยอม อำเภอควนขนุน ไปลงทะเลสาบสงขลา ที่พรุควนเคร็ง มีความยาว ๓๓ กิโลเมตร เป็นต้น
แล้วก็อีกคลองหนึ่งที่ท่านได้ยกขึ้นมาก็คือคลองป่าบอนนั้นมีต้นกำเนิดจาก เทือกเขาบรรทัด ไหลผ่านอำเภอป่าบอน อำเภอปากพะยูน ไปลงที่ทะเลสาบสงขลา ที่บ้านพระเกิด มีความยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เป็นต้น แล้วก็มีคลองต่าง ๆ ที่เป็น คลองธรรมชาติที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัดอีกหลายแห่งในจังหวัดพัทลุง ซึ่งในขณะนี้ แผนงานโครงการของกรมชลประทานในการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาตามที่ ท่านสมาชิกได้สอบถามถึงความเดือดร้อนของประชาชน แล้วก็การพัฒนาในเรื่องของ แหล่งน้ำที่เป็นการขาดแคลนเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น ทางกรมชลประทานมีแผนในการพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งในขณะนี้เฉพาะที่จังหวัดพัทลุง มีจำนวนทั้งสิ้น ๔๕ โครงการ สามารถที่จะเพิ่มความจุได้ ๑๖ ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุม พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐,๕๖๐ ไร่ ซึ่งถือว่าอันนี้อยู่ในแผนงบประมาณที่ทาง กรมชลประทานได้รับการจัดสรรตามพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง แผนของกรมชลประทาน จึงขอกราบเรียนท่านสมาชิกได้รับทราบตามข้อมูลที่ได้แจ้งไว้ตามนี้ครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอบคุณสำหรับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ที่ได้ให้ความสนใจ กับปัญหาของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาที่ท่านได้ตั้งคำถามและมีผลกระทบต่อ พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในขณะนี้ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสี คางดำนั้นเกิดจากความผิดพลาด เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างที่ท่านได้นำเรียนต่อที่ประชุม แล้วจริง ๆ สำหรับคำถามที่ท่านได้ถามในคำถามแรกที่บอกว่ารัฐบาลนั้นมีแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรตามกระทู้ถามที่ท่านได้ยื่นมาต่อ สภาแห่งนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น ขอเรียนนะครับว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น ก็เนื่องจากว่ามีข้อผิดพลาดในด้านการวิจัยที่มีการอนุญาตให้นำเข้าเมื่อปี ๒๕๔๙ อย่างที่ท่าน ได้นำเรียนต่อที่ประชุมแล้ว ความผิดพลาดดังกล่าวนั้นผมคิดว่าในขณะนี้กรมประมงเอง ในฐานะที่ต้องกำกับดูแล แล้วก็ต้องปฏิบัติตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง เรามีมาตรการในการที่จะแก้ไขในส่วนที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องที่เป็นผู้เลี้ยงกุ้ง ต้องยอมรับว่าปลาพันธุ์นี้เป็นปลาพันธุ์ที่กินสัตว์น้ำซึ่งถือว่าเป็นนักล่าอย่างที่ท่านได้นำเรียนแล้ว แต่ว่าในการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบนั้นทางกรมประมงเองก็มีมาตรการในการควบคุม โดยเฉพาะในการปรับปรุงกฎหมายว่าจากนี้ไปการที่จะอนุญาตในการนำเข้าหรือว่าการอนุญาต เพื่อมาทำการวิจัยนั้นจะต้องมีขั้นตอนและมีวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราก็ได้ดำเนินการ ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้นได้ดำเนินการการแพร่ระบาดทั้งหมด ใน ๑๑ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ระนอง ตลอดจนจันทบุรี เป็นต้น เพราะฉะนั้น การดำเนินการในขณะนี้ทางกรมประมงเองก็ได้หามาตรการในการที่จะแก้ไขปัญหา เช่น การรับซื้อ เพราะว่าในขณะนี้มันแพร่ระบาดไปค่อนข้างมาก แล้วก็มีมาตรการในการที่จะ ควบคุมปริมาณ ควบคุมในการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการวางไข่ ซึ่งโดยธรรมชาติ ของปลาหมอสีคางดำนั้นตัวผู้จะอมไข่ไว้สำหรับการขยายพันธุ์ ซึ่งมันก็ง่ายต่อการที่จะเล็ดลอด ออกไปสู่ลำน้ำธรรมชาติแล้วก็มีการขยายพันธุ์ แต่ว่ามาตรการดังกล่าวนั้นทางกรมประมงเอง ก็ได้หามาตรการในการแก้ไขปัญหาอยู่ ผมขอเรียนอย่างนี้ว่าหลังจากที่เราทราบปัญหา ของการแพร่ระบาดแล้วก็มีผลกระทบในวงกว้างแล้ว ในขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีในเรื่องของการกำหนดในการประกาศของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนด ชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้าและส่งออก หรือนำผ่านมาในราชอาณาจักร ปี ๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดชนิด สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ปี ๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เช่นกัน เพื่อเป็นการควบคุมแล้วก็พิจารณาการนำเข้าสัตว์น้ำต่าง ๆ ซึ่งสัตว์น้ำต่างถิ่น รวมถึง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มในการที่จะเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำพื้นเมือง ในประเทศ ซึ่งการขออนุญาตเนื่องจากว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ แล้ว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมประมงเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจครับ เพราะฉะนั้น การออกมาตรการในการอนุญาต และการห้ามนำเข้านั้นก็เป็นมาตรการหนึ่งในการที่จะลด ปริมาณแล้วก็ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการขออนุญาตในการนำเข้าสัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีชีวิต ที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการด้านความหลากหลาย และความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมงนั้น เราก็มีขั้นตอนในการที่จะขออนุญาต ที่จะให้ผู้นำเข้านั้นได้แจ้งจำนวน ปริมาณ วัตถุประสงค์ ประเทศต้นทาง ตลอดจนเหตุผล ในการที่จะนำเข้ามาดังกล่าวนั้น หลังจากนั้นแล้วทางกรมประมงเองก็มีมาตรการโดยการส่ง เจ้าหน้าที่นั้นได้ไปดำเนินการเพื่อจะติดตามให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการอนุญาตนะครับ ดังนั้นผมคิดว่าในขณะนี้กรมประมงเองก็ได้ตระหนักปัญหานี้อยู่ แล้วก็พยายามที่จะหาทาง แก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องผู้ที่ ทำการประมงอยู่ในขณะนี้ ขออนุญาตที่จะตอบคำถามของท่านเป็นคำถามแรกก่อนครับ
ท่านประธานครับ ผม ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขออนุญาตตอบคำถามที่ ๒ ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้ถามคำถามที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมาก ต้องยอมรับนะครับว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นนั้นกรมประมงเอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาที่ท่านได้นำเรียนต่อที่ประชุมนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงว่าการแพร่ระบาด อย่างรวดเร็วแล้วก็ควบคุมปริมาณไม่ได้นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากทีเดียว ซึ่งในขณะนี้โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านนำเรียนว่าความรับผิดชอบของกรมประมงในการที่อนุญาต ให้มีการนำเข้ามาแล้วก็ทำให้เกิดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็น ที่น่าสนใจ เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเรื่องนี้ในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้กำกับดูแลกรมประมงโดยตรงก็ตาม แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่เป็นเกษตรกร โดยเฉพาะพี่น้องที่ประกอบอาชีพทางด้านการประมงนั้นได้รับผลกระทบ และเป็นความเสียหาย ทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างที่ท่านได้กราบเรียนต่อที่ประชุมแล้วจริง ๆ ผมจะนำเรื่องนี้ ไปหาคำตอบให้ท่านว่ากรมประมงนั้นจะรับผิดชอบอย่างไร ในฐานะที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล ในฝ่ายที่เป็นผู้ที่กุมระเบียบแนวทางปฏิบัติที่จะต้องมีความเข้มงวด ติดตาม เพราะฉะนั้น การอนุญาต การอนุมัติ ตลอดจนการเฝ้าติดตาม โดยเฉพาะการนำเข้าสัตว์สิ่งมีชีวิต ทางด้านประมงที่มีผลกระทบในการแพร่ระบาด และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางด้าน การประมงนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ความรับผิดชอบของกรมประมงนั้นจะปฏิเสธ ความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมรับเรื่องนี้ที่จะไปหาคำตอบให้ท่าน แล้วก็จะมาตอบคำถามในโอกาสต่อไป ถ้าหากว่าผลของการติดตามเรื่องนี้ว่าความชดเชย ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นทางผู้รับผิดชอบ แล้วก็ความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐเอง และภาคเอกชนเองที่ปล่อยให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของสังคมที่กำลังจับตามองอยู่ แล้วผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องขอขอบคุณท่านที่ได้หยิบยก เรื่องนี้มา แล้วก็เพิ่งจะทราบเช่นกันว่าผลกระทบที่รุนแรงขนาดนี้มันนำมาซึ่งการแพร่ระบาด อย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่าวิธีการที่ท่านได้นำเรียน เช่น การที่จะใช้ปลากะพงขาวทำให้เกิด การทำลายในระบบนิเวศของธรรมชาติเอง เพิ่งจะทราบข้อมูลจากท่านว่ามันก็ไม่สามารถ ที่จะหยุดยั้งดังกล่าวนี้ได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกรมประมงเองจะต้องไป ดำเนินการแก้ไข แล้วคำถามที่ท่านถามว่าเราจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไรนั้นผมขอเวลา จากท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติว่าจะไปหาคำตอบมาให้ท่าน แล้วก็จะมีคำตอบต่อสาธารณะ และพี่น้องประชาชนที่กำลังติดตามอยู่ในขณะนี้ครับ ขอบคุณครับ