พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา

  • กราบเรียนท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เคารพ กระผม พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอเรียนว่า ตามปกติผมจะไม่ค่อยอภิปรายนะครับ แล้วก็จะไม่พูด แต่ในฐานะที่เป็นคนกีฬา แล้วก็เป็น ประธานองค์กรกีฬาแห่งชาติในองค์กรกีฬาสากลด้วย ก็จะขออนุญาตในช่วงนี้นะครับ พูดให้เข้าใจถึงความสำคัญของการปฏิรูปด้านกีฬาให้สมาชิกได้รับทราบโดยผ่าน ท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาตินะครับ คือก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ กระบวนการในการทำงานปฏิรูปได้เริ่มต้นไปแล้วไม่น้อยกว่า ๕ เดือนนะครับ โดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้กับคนในชาตินั้นได้ดำเนินการตาม โรดแมพ (Roadmap) ของ คสช. ในระยะที่ ๑ แล้ว แล้วได้ผลผลิตออกมาเป็นข้อมูล การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ จากแนวความคิดของประชาชนหลากหลายอาชีพจากทุกภาคส่วน แล้วได้สรุป ได้วิเคราะห์เป็นกรอบแนวทางการปฏิรูปรวม ๑๑ ด้าน เสนอให้สภาปฏิรูป แห่งชาตินำไปพิจารณาต่อในโรดแมพระยะที่ ๒ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าแนวทางการปฏิรูป ทั้ง ๑๑ ด้าน ได้มีความชัดเจนในตัวเองว่าจะปฏิรูปในเรื่องอะไรบ้าง เว้นการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ซึ่งต้องมีการขยายเพิ่มเติมว่าจะเสนอให้ปฏิรูปในด้านอื่น ๆ ในเรื่องหรือประเด็นอะไรกันบ้าง ผลสรุปออกมาว่ามี ๑๐ ประเด็น ซึ่งประเด็นที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุข ให้กับคนในชาติให้ความสำคัญระดับหนึ่งเป็นพิเศษก็คือประเด็นเรื่องด้านกีฬา ซึ่งคณะทำงานได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาและกรอบความเห็นร่วมว่าควรจะมีแนวทาง การปฏิรูปในสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง ที่กระผมได้เรียนท่านประธานวันนั้น ก็เพื่อที่จะยืนยันว่าเรื่องกีฬาเป็นเรื่องที่สำคัญในมุมมองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านทางคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชาชนในชาติของ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือที่เรียกว่า ศปป. ซึ่งได้ดำเนินการทบทวนข้อมูล จากหนังสือรายงานการวิจัย เอกสารและบทความที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลจาก ประชาชน ทั้งโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมย่อย การเสวนา การรับข้อมูลผ่านทาง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมทั้งจดหมาย ไปรษณียบัตร แล้วข้อคิดเห็นจากองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ แล้วได้นำมาสังเคราะห์เพื่อให้เกิดกรอบความเห็นร่วม และในฐานะที่ ผมเป็นคนกีฬาแล้วก็เป็นประธานขององค์กรการกีฬาตัวแทนประเทศไทยในกระบวนการ โอลิมปิกสากล ผมจึงเห็นถึงความจำเป็นแล้วก็เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีคณะกรรมาธิการ ประจำสภาในด้านกีฬาตามแนวทางที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปได้เสนอไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้ว่า การกีฬาเป็นสิ่งที่มีจุดประสงค์พื้นฐานที่จะส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง และสามารถที่จะแสดงฝีมือในเชิงกีฬาเพื่อความสามัคคีแล้วเพื่อให้คุณภาพของมนุษย์ดีขึ้น การกีฬานับว่ามีความสำคัญในทางอื่น ๆ ด้วย คือในทางสังคมทำให้ประเทศชาติได้หันมา ปฏิบัติสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้สามารถที่จะอยู่เป็นสังคมอย่างอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งเป็นสิ่งที่ ก่อให้เกิดความเจริญของบ้านเมือง ฉะนั้นการกีฬามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต ของแต่ละคนและชีวิตของบ้านเมือง และจะส่งเสริมความสามัคคีในประเทศชาติ นี่เป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ ซึ่งเวลานี้ประเทศเรา ก็ต้องการความรัก ความปรองดอง และรู้รักสามัคคี

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถจะใช้กีฬาสร้างรายได้ อย่างจำนวนมาก และพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมกีฬา เป็นงานที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด ขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของธุรกิจโลก ซึ่งเราได้พบแล้วว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจรวมมากกว่า ๔ แสนล้านเหรียญสหรัฐ และการขยายตัวในธุรกิจอุตสาหกรรมกีฬาเป็นอัตราส่วน ร้อยละ ๒๐ ต่อปี สหรัฐอเมริกานะครับ เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีกีฬาใหญ่เป็นอันดับ ๑ ของโลก มูลค่าการตลาดมากกว่าปีละ ๒๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๒ ของจีดีพี ส่วนในภูมิภาคเอเชีย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรม กีฬาใหญ่ที่สุด มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ ๘ แสนล้านหยวน หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๒ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สำหรับประเทศไทยควรที่จะได้เริ่มต้นอุตสาหกรรมกีฬา ได้แล้วนะครับ ณ บัดนี้เป็นต้นไป

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๓ ครับ สำหรับประเทศไทยการบริหารจัดการด้านกีฬาประสบปัญหา หลายด้าน ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรที่เกิดจากการรวมด้านการท่องเที่ยว และกีฬาเข้าด้วยกัน โดยคิดว่ากิจการทั้ง ๒ ด้าน ควบรวมกันได้ แต่ในความเป็นจริงกิจกรรม ทั้ง ๒ อย่างมีเพียงบางส่วนที่สามารถดำเนินการไปด้วยกันได้เท่านั้นเอง เรื่องที่ ๒ ปัญหา การจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา จำนวนชั่วโมงพลศึกษา ที่เคยมีมาแต่ในอดีต ขณะนี้หายไปแล้วครับ หลักสูตรการเรียนปกติไม่เหมาะกับการส่งเสริม นักกีฬา โดยเฉพาะกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาอาชีพ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ปัญหากฎหมายด้านการกีฬาโดยเฉพาะด้านภาษี ซึ่งขณะนี้ กำลังเข้าอยู่ที่ สนช. ตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว และอยู่ในคณะกรรมาธิการของ สนช. อยู่ในขณะนี้ ปัญหาการนำแผนการพัฒนากีฬาแห่งชาติสู่ภาคปฏิบัติไม่บรรลุเป้าหมาย เราจะเห็นได้ว่า แผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ เมื่อปีที่แล้วทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์ ไม่มียุทธศาสตร์ใดเลย บรรลุเป้าหมาย แม้แต่ยุทธศาสตร์เดียว ซึ่งจะต้องทำแผนพัฒนากีฬา ฉบับที่ ๕ ในสมัยที่เรา กำลังจะดำเนินการต่อไป ปัญหาการไม่สามารถนำนักกีฬามาสร้างรายได้ หรือพัฒนาเป็น อุตสาหกรรมกีฬาเช่นกับประเทศอื่น ๆ จากความสำคัญและปัญหาต่าง ๆ ทั้ง คสช. ทั้ง สปช. และภาครัฐนี่ครับ ควรจะได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเหล่า ทุกระดับได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกันจากการใช้กีฬา เป็นเครื่องมือผลักดันสังคมไทย รวมกันสร้างโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศในการพัฒนาในทุกด้าน เฉกเช่นเดียวกับประเทศที่ได้พัฒนา ไปแล้วทั่วโลก ดังนั้นการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการที่เราควรจะเร่งรีบทำ อย่างน้อย ก็ควรจะรีบดำเนินการในเรื่องใหญ่ ๆ ๓ ประการคือ ๑. ผลักดันแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ ทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ เรื่องที่ ๒ ก็คือต้องส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานของด้านการกีฬา และวัตถุประสงค์ที่ ๓ ที่จะต้องเร่งรีบทำก็คือการส่งเสริมการกีฬาให้พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมกีฬา เพื่อความอยู่ดีกินดี และการมีรายได้ของประชาชน ท้ายนี้นะครับ ผมขอเรียนว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าว ในรายการคืนความสุขให้กับประชาชนในชาติเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้วว่ากีฬาเป็นเรื่องที่ นำความสุข นำรอยยิ้มและความภาคภูมิใจมาให้กับประชาชนคนไทยทุกคน และขอเน้นย้ำ เรื่องการพัฒนากีฬาให้มีความก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนโดยเร็ว และในสุดท้ายผมก็ขอฝาก กับท่านสมาชิกทุกท่านว่าความเป็นชาตินิยม ความภาคภูมิใจ ความสุขใจของคนทั้งชาติ เมื่อได้เห็นธงชาติไทยถูกชักขึ้นและเพลงชาติไทยดังขึ้นในมหกรรมกีฬาของโลก สิ่งเหล่านี้ เป็นงานของพวกเราทุกคนที่จะต้องทำครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม