กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก เป็นกรรมาธิการด้วยนะครับ อดีตกรรมาธิการครับ เรียกตัวเอง ไม่ถูกเหมือนกันตอนนี้ คือจริง ๆ ท่านประธาน ที่ผมขอแก้นี่นะครับ เข้าใจว่าข้อ ๘๐ เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา ก็เลยจะล้อว่าการกระทำกิจการของ กรรมาธิการให้คำนึงถึงอะไรบ้าง ก็เลยใส่เติมเข้าไป อันนี้คือบรรทัดที่ ๓ ของข้อ ๘๐ ซึ่งกรรมาธิการประจำก็จะมีอยู่ในคณะต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ๑๗ คณะ ถ้าดูต่อไปนี่นะครับ อันนี้ก็เป็นเหตุผลข้อที่ ๑
ข้อที่ ๒ กรรมาธิการที่ระบุไว้ในวรรคสอง จริง ๆ เดิมก็ไม่ได้ระบุ ขออนุญาต เอ่ยนาม ท่านอลงกรณ์ได้พูดถึง ตอนแรกผมก็คล้อยตาม พอมานึกขึ้นได้ว่าในบทบัญญัติ ของการยกร่างข้อบังคับก็จะมีส่วนของกรรมาธิการอื่นอยู่ในข้อ ๙๗ ในข้อ ๙๗ วรรคแรก บอกว่า เมื่อคณะกรรมาธิการได้กระทำกิจการ พิจารณา หรือศึกษาเรื่องใด ๆ หรือตามที่สภา มอบหมายเสร็จแล้ว ให้รายงานต่อสภา อันนี้ก็คือทุกเรื่อง พอวรรคสองนี่นะครับ กำหนดว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ หากเห็นว่ามีกรณีที่จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสนอมาพร้อมกับรายงานตามวรรคหนึ่งด้วย มันก็เลยแยกออกเป็น ๒ ส่วนไป ดังนั้นเจตนาในข้อ ๘๐ ก็เลยคำนึงถึงในส่วนกรรมาธิการ วิสามัญประจำสภา ซึ่งส่วนนี้กรรมาธิการวิสามัญประจำสภาได้ตั้งแต่ละคณะโดยนำมาจาก แนวทางของด้านต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๗ ก็มีด้านต่าง ๆ แต่มาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ วรรคสอง ก็มีบทบัญญัติในรายละเอียดว่าที่กรรมาธิการชุดนี้ ถ้าไปทำงานต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ก็เลยไปหลุดเหมือนกับล้อข้อความมาในวรรคสองมาใส่ อยู่ในข้อ ๘๐ วรรคหนึ่ง ดังนั้นกรรมาธิการประจำสภาที่เกิดขึ้นก็มาจากแต่ละด้าน ส่วนใหญ่นะครับ หรือส่วนหนึ่งมาจากแต่ละด้านในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ อันนี้ก็เลยเป็น ที่มาที่ไปเป็นอย่างนี้ครับ ขอบคุณครับ