นายพิสิฐ ลี้อาธรรม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ขออนุญาตยกเป็นประเด็นขึ้นมาสอบถามนะครับว่า ผู้ร่างได้คำนึงถึง เรื่องของการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต (Internet) บ้างไหมครับ เช่น โพสต์ (Post) เข้าไปใน เว็บไซต์ (Web site) แล้วก็อาจจะมีการเผยแพร่ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นประเด็นต่าง ๆ ที่ร่างมานี้เข้าใจว่าครอบคลุมเฉพาะเรื่องของวิทยุกระจายเสียงกับโทรทัศน์เท่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ต้องขออภัยครับที่อาจจะพูดเร็วไป คือในหมวดนี้ท่านพูดถึงเรื่องของ การเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันนี้เราก็ทราบดีครับว่า การเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โดยโพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างดาษดื่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านเขียนมาทั้งหมดนี้ อยากจะขอความชัดเจนครับว่า ท่านได้คำนึงแล้วก็ ครอบคลุมถึงเรื่องของการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตด้วยหรือเปล่าครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ขออนุญาตที่จะเรียนเสนอข้อคิดเห็นนะครับ จริง ๆ แล้วนี่ผมเห็นด้วยกับ ท่านกรรมาธิการที่ทำข้อเสนอเหล่านี้มานะครับ เพียงแต่ว่าในการทำงานของพวกเราสมาชิก ทั้ง ๒๕๐ ท่าน ผมก็มีความรู้ว่าชุดต่าง ๆ ที่ท่านทำมาทั้งหมด ๑๗ คณะนี่นะครับ ยกเว้น ๒ คณะแรกนะครับ คณะหลัง ๆ มักจะล้อตามกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหล่านี้เป็นต้น เรื่อยไปนะครับ จริง ๆ ผมเห็นด้วยกับ ท่านเจิมศักดิ์ครับว่าจริง ๆ เราก็ไม่ควรจะไปแตกแขนงอะไรมากมาย แต่ในเมื่อเรามีถึง ๒๕๐ ท่าน และโอกาสนี้เป็นโอกาสที่มีอยู่ไม่มากในประเทศไทย ที่เราจะได้ทำอะไร หลาย ๆ อย่างที่ในเวลาปกติไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปรับรื้อ ระบบหรือรื้อเรื่องของการปฏิรูปนะครับ แต่ทีนี้ประเด็นปัญหาในการทำงานด้านเศรษฐกิจ ผมก็มีความเห็นอย่างชัดเจนว่า เรื่องเศรษฐกิจมันสามารถแยกได้เป็น ๒ เซคเตอร์ เซคเตอร์หนึ่งคือเรียล เซคเตอร์ (Real sector) อีกเซคเตอร์หนึ่งคือไฟแนนเชียล เซคเตอร์ (Financial sector) และ ๒ ข้างนี่นะครับมันงานของเขาค่อนข้างมากด้วยกัน ท่านดูนะครับ คณะกรรมาธิการที่ท่านเสนอขึ้นมาในด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุมทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง แถมก็ยังมีกระทรวงคมนาคม งานของสภาพัฒน์ งานของแบงก์ชาติ และอีกหลาย ๆ ส่วนของภาคธุรกิจและเอกชน ในขณะที่งาน อย่างท่องเที่ยวท่านก็จะเอามาใส่ แล้วก็กีฬาซึ่งเป็นครึ่งกระทรวงก็ยังแยกมาเป็น คณะกรรมาธิการเดียวได้นะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นด้วยกับท่านภัทรียาครับว่าอยากให้ ท่านลองแยกบางส่วนออกมาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของเรียล เซคเตอร์ กับไฟแนนเชียล เซคเตอร์นะครับ มันเป็นคนละส่วนกัน ผมจะได้นำเสนอบทที่ได้ให้กับท่านในวันนี้นะครับ ที่ได้มีการเสนอให้แยกเป็น ๒ คณะกรรมาธิการครับ ชุดแรกก็เป็นคณะกรรมาธิการ ด้านการเงิน การคลัง ก็คือจะมีงานที่เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิรูประบบภาษีอากร ซึ่งมีท่านสมาชิกบางท่านก็สนใจมากว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย เรื่องของ การปฏิรูประบบการคลัง เราทราบดีว่าที่ผ่านมาเรามีความหละหลวมในบางส่วนในระบบ ระบบการคลังของบ้านเราได้มีการออกแบบมาเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วนะครับ ในสมัย ท่านอาจารย์ป๋วย พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ใช้มาเป็นอย่างดีโดยตลอด แต่มาบัดนี้มันมีช่องโหว่เกิดขึ้น มันจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบนี้ และต้องอาศัย การทำงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในแวดวงการคลัง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ หรือแบงก์ชาติ เป็นต้น หรือส่วนนี้จะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมจะขอเรียนนำเสนอครับก็คือทางด้านของเรียล เซคเตอร์นะครับ ก็คือทางด้านของภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พาณิชย์ หรือแม้กระทั่งคมนาคม ซึ่งจะมีเรื่อง ปัญหาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำนะครับ เรื่องของการปกป้อง เรื่องของการค้าปลีก ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอี (SME) เดือดร้อนมากว่าเขานี่ถูกเอาเปรียบ ในการที่จะวางสินค้าในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ นะครับ เรื่องของการท่องเที่ยวก็มีปัญหาที่ต้องการการดูแล ซึ่งลักษณะงานนี้มันก็แยกออกจากกัน เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับหลายท่านที่เป็นห่วงว่า ถ้าเกิดเราไม่มีการแยกแยะให้ดี แล้วปล่อยให้กรรมาธิการบางชุดทำงานมากไปก็จะมีผลออกมาก็คือคุณภาพของงาน แล้วที่สำคัญก็คือว่าพวกเรามีถึง ๒๕๐ ท่านนะครับ ถ้าเกิดมีเพียงชุดเดียวโอกาสที่พวกเรา จะเข้าไปมีส่วนในฐานะกรรมาธิการก็น้อยมีแค่ ๒๘ ที่นั่ง ๒๙ ที่นั่ง ที่เหลืออีกประมาณ ๒๐๐ เศษนี้ก็ไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการ อย่างน้อยถ้าแยกเป็น ๒ คณะ เราก็จะมีพวกเราที่เข้าไปได้เป็นจำนวนเกือบ ๆ ๖๐ ท่าน ก็ขออนุญาตที่จะนำเสนอ ข้อคิดเห็นครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายพิสิฐ ลี้อาธรรม เช่นเดียวกับคุณสายัณห์ครับที่ได้เป็นกรรมาธิการ ประทานโทษ ได้มาจาก ด้านเศรษฐกิจนะครับ แล้วก็ที่จริงเมื่อสักครู่กระผมก็ได้ชี้แจงไปบ้างแล้วครับว่าผมเห็นว่า ชุดนี้มีภารกิจมากเหลือเกิน แล้วก็อยากจะยืนยันครับว่าน่าจะเรียกแยกเรียล เซคเตอร์ ออกจากไฟแนนเชียล เซคเตอร์ ก็เลยอยากจะขออนุญาตตั้งเป็นญัตติครับว่าขอให้เพิ่ม กรรมาธิการด้านการเงิน การคลังครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ครับ จริง ๆ ก็ด้วยความเกรงใจนะครับ ไม่อยากที่จะให้เสียเวลา แต่เผอิญ อาจารย์อมรได้ยกประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ ผมได้บอกกล่าวกับเพื่อน ๆ สมาชิกบางท่าน ไปแล้วว่าในการทำงานของเรานั้นเวลาสั้นมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะให้เกิดผล เราควรจะต้องเอาคนที่เขาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น เรื่องของภาษีอากรนะครับ ถ้าจะทำเรื่อง ภาษีอากรจะต้องให้สรรพากรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าหากแค่เชิญเขามาให้ข้อมูลแล้วก็ให้ เขาไป ผมก็เชื่อว่าผลที่จะเกิดตามมาก็คือเราก็จะได้ชิ้นงานดี ๆ ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แต่เขาจะไม่มี ความรู้สึกว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ผมอยากจะเชิญชวนให้สมาชิกได้ลองพยายามที่จะให้ เขาได้มีส่วนร่วมแล้วก็มีออนเนอร์ชิพ (Ownership) ด้วย คือมีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของด้วย ไม่ใช่มาเพียงให้ข้อมูลอย่างเดียวนะครับ แต่ว่ามีส่วนร่วมรับผิดชอบกับงานนี้ด้วย จะวิธีการไหนก็แล้วแต่ครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ครับ ด้วยความเกรงใจแต่ก็ขออนุญาตที่จะขอความกระจ่าง คณะกรรมาธิการที่ ๖ กับ ๗ ขอความยืนยันว่าเป็นการแบ่งแยกระหว่างไฟแนนเชียล เซคเตอร์ กับเรียล เซคเตอร์ ใช่ไหมครับ การที่มีการแก้ไขไปขอท่านประธานกรรมาธิการช่วยยืนยันด้วยครับว่าชุดที่ ๖ เราหมายถึงไฟแนนเชียล เซคเตอร์ ส่วนชุดที่ ๗ หมายถึงเรียล เซคเตอร์ ตามที่ได้ มีการอภิปรายไป มิฉะนั้นแล้วมันจะเกิดความซ้ำซ้อนครับ เพราะว่าชุดที่ ๗ ก็คือเศรษฐกิจ เหมือนกันครับ

    อ่านในการประชุม