กราบเรียนท่านประธานและท่านสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ดิฉัน สมสุข บุญญะบัญชา เป็นสมาชิกหมายเลข ๒๐๖ ด้านสังคม ดิฉันจะพูดถึงประสบการณ์ ๒ ด้านทั้งในประเทศไทยแล้วก็ต่างประเทศ ในประเทศไทย ดิฉันเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ร่วมกับ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งมีความสำคัญคือเราพยายามจะทำให้องค์กรของรัฐ เป็นองค์กรของประชาชน เป็นองค์กรที่เอื้อให้ชุมชนขึ้นมาเป็นหลักในการพัฒนาแก้ไขปัญหา จัดการการพัฒนาของเขาเองในทุก ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน แผนชุมชน เศรษฐกิจทุนชุมชน สิ่งแวดล้อมโดยชุมชน และในงานเหล่านี้ทั้งเมืองและชนบท ก็ทำให้เห็นความแตกต่าง การที่ระบบของประเทศเราซึ่งรวมศูนย์เป็นอันมากทำให้ เกิดปัญหาในชุมชนท้องถิ่น แต่คนของเรา ชุมชนของเราเป็นชุมชนที่มีความสามารถ แล้วก็ ท้องถิ่นเราเป็นท้องถิ่นที่มีความร่ำรวย ถ้าเขามีโอกาสและเขามีสิทธิมีเสรีในการที่เขา จะจัด จะคิด จะทำอะไร เขาจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถจะสร้างประเทศที่มีความมั่นคงโดยที่ท้องถิ่นอ่อนแอได้เลย ปัญหา ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และระบบส่วนกลางซึ่งรวมศูนย์เป็นอันมาก ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดพลังอำนาจ โอกาสในการพัฒนาของประชาชนแล้วก็ท้องถิ่นต่าง ๆ ให้เกิดความสร้างสรรค์ในการพัฒนาด้วยตัวเขาเองที่เพียงพอนะคะ นอกจากนั้นก็ยังเป็นอดีต คณะกรรมการปฏิรูปชุดท่านอานันท์ ปันยารชุน และอนุกรรมการชุดปฏิรูปของคุณหมอ ประเวศ แล้วก็เป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินด้านชุมชน นอกเหนือจากอื่น ๆ ในต่างประเทศได้มีโอกาสทำงานเรื่องแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยให้ประชาชนขึ้นมาเป็นหลัก ในการดำเนินการแก้ไขเอง แล้วก็แก้ไขทุกเรื่องนะคะ ไม่ใช่เรื่องบ้านอย่างเดียว ทำบ้านแล้วก็ ทำชุมชนให้เข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับการทำงานร่วมกับท้องถิ่น ปัจจุบันนี้ได้สนับสนุนอยู่ใน ๑๐ กว่าประเทศในเอเชีย แล้วก็พบว่าการแก้ไขปัญหาสมัยใหม่โดยชุมชนสามารถทำได้ง่าย แล้วก็ได้ดีกว่าโดยระบบเพียงอย่างเดียวค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
ขอบคุณค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉัน สมสุข บุญญะบัญชา สมาชิกหมายเลข ๒๐๖ นะคะ ดิฉันมีข้อเสนอว่าการปฏิรูปโดย สปช. นี่เราควรจะหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเราอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงนะคะ ในหลาย ๆ ประเด็นที่เราได้พูดถึง คือเสียดายที่โอกาสในช่วงต้นเราไม่ได้มีโอกาสที่จะมา สัมมนา หรือว่าพูดจากันเพื่อวางยุทธศาสตร์ หรือว่าเป้าหมายสำคัญ ประเด็นสำคัญสัก ๓-๔ ประเด็น ซึ่งหลาย ๆ ท่านได้พูดไปนี่นะคะ ไม่ว่าจะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เรื่องกระจายอำนาจ เรื่องลดคอร์รัปชันอะไรก็แล้วแต่ ดิฉันคิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นเป้าสำคัญของทุก ๆ เรื่อง มิฉะนั้นถ้าหากว่าเราวางเรื่องของ กรรมาธิการเชิงประเด็นขยายออกไปเรื่อย ๆ ท้ายสุดถามว่าใครจะเป็นคนไปบริหารประเด็น หรือเรื่องราวเหล่านี้ ก็ต้องชี้ไปที่กระทรวง ทบวง กรม ทำไปทำมาเหมือนกับไปเน้นการรวมศูนย์ เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่เราอยากแก้ไขให้เกิดการกระจาย ระบบการบริหารจัดการไปสู่ประชาชนโดยประชาชนให้มากขึ้นนะคะ กระทรวงหลาย ๆ กระทรวงคงจะมีความยินดีมาก ถ้าหากว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะเรื่องอะไรเสนอไปที่เขาแล้วให้ เขาจัดการ เพราะว่าเขาจะได้ดูแลต่าง ๆ หลาย ๆ กระทรวงก็ดูแลงานตั้งแต่ส่วนกลาง ระดับภาค ระดับจังหวัด ลงไปถึงรากหญ้าก็มี น่าจะเป็นรูปแบบที่เราจะต้องมองว่า เราจะเปลี่ยนแปลงแนวทางเหล่านี้ในลักษณะไหน อย่างไร เลยไม่แน่ใจว่าในเรื่องของ การกระจายอำนาจนี่นะคะ ในคณะกรรมาธิการชุดที่ ๒ ชุดที่ ๔ จะสัมพันธ์ในเรื่องนี้แค่ไหน จะรับในเรื่องนี้เพียงใด แล้วก็ในประเด็นเชิงอื่น ๆ ในประเด็นเรื่องอื่น ๆ กรรมาธิการ เรื่องอื่นๆ ก็จะดูในเรื่องว่าเรื่องเหล่านั้นจะนำไปสู่การกระจายอำนาจในการจัดการ โดยผู้คนทั้งหลาย โดยประชาคม โดยท้องถิ่น โดยอะไรต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ อย่างไรด้วยนะคะ นอกเหนือจากการที่จะมองเนื้อหาว่าควรจะปฏิรูปอย่างไรเพียงอย่างเดียว ก็เรียนเสนอว่าให้กรุณามองไปถึงกลไกการบริหารจัดการซึ่งให้โอกาสแล้วก็ให้อำนาจผู้คนได้ เข้ามามีส่วนร่วม หรือกลไกองค์กรที่จะเปิดกว้างออกไปให้มากขึ้นอันนี้จะเป็นอย่างไร แบบไหนด้วยนะคะ
อีกประเด็นหนึ่งดิฉันคิดว่าเป็นประเด็นที่ได้พูดจากันอยู่ในแวดวงการพัฒนา กระบวนชุมชนแล้วก็กระบวนประชาคมเป็นอันมากในเรื่องของการที่ว่าจะทำอย่างไร ให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการด้วยตนเองให้มากที่สุด มันอาจจะอยู่ในกรรมาธิการ เรื่องท้องถิ่น หรือว่าเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินก็ได้นะคะ แต่ดิฉันขออนุญาตหยิบยกขึ้นมา เพื่อให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่จะต้องมีการพิจารณา เพราะว่าเวลานี้ดิฉันคิดว่า การบริหารงานระดับจังหวัดคงจะต้องมาถึงจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญที่เชื่อมโยงงาน ของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น แล้วก็งานส่วนกลางเข้ามาสร้างระบบการบริหารใหม่ โดยคนในจังหวัดให้มากที่สุด จะทำอย่างไรที่แต่ละจังหวัดเขาสร้างแผนของการพัฒนา ประเด็นต่าง ๆ ที่เราพูดถึงด้วยตัวเขาเองให้มากที่สุด เขาสามารถจัดการทรัพยากร จัดการเศรษฐกิจ จัดการอาชีพของคนทั้งหมด จัดการเรื่องการศึกษา จัดการเรื่อง การพัฒนาสังคม จัดการทุกสิ่งทุกอย่างโดยกระบวนการของคนในจังหวัดเองให้มากที่สุด ซึ่งรูปแบบนี้มันยังไม่มีอยู่ ก็เลยคิดว่าการสร้างรูปแบบใหม่ที่ต้องปรับระบบรูปแบบเดิม อาจจะต้องใช้การพิจารณาค่อนข้างมาก เพราะว่าเป็นวิชัน (Vision) ของระบบบริหารใหม่ ซึ่งมีโครงสร้างเดิมอยู่แล้ว ก็เลยอยากจะเรียนว่าเรื่องการบริหารจัดการจังหวัดใหม่ อย่างมีส่วนร่วมและเป็นของประชาชนในจังหวัด อันนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ อยากจะฝากเอาไว้ถ้าไม่อยู่ในกรรมาธิการข้อที่ ๔ ก็ต้องอยู่ในข้อที่ ๒ แต่เข้าใจว่าข้อที่ ๒ จะมีเรื่องอื่นที่พูดมากแล้วนะคะ ก็อยากจะฝากว่าในหัวข้อที่ ๔ คณะกรรมาธิการปฏิรูป การปกครองท้องถิ่น คือดูเป็นชุดไปเลย เป็นชุดจังหวัดแล้วก็ท้องถิ่นว่าจะมีความสำคัญ อย่างไรในเรื่องต่าง ๆ ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ