นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพและท่าน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เคารพทุกท่าน ผม นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัตน์เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรวิจัยนโยบาย ด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างธรรมาภิบาลในระบบนโยบายสาธารณะ ในปี ๒๕๕๕ ได้รับรางวัล โครงการวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความตกลงระหว่าง ประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ผมได้รับการเสนอชื่อมาจากกลุ่ม สปช. ด้านสิ่งแวดล้อมนะครับ มีพื้นฐานการเรียนทางด้านปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านสิ่งแวดล้อม และมาจบ ปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์ ประสบการณ์การทำงานของผมที่จะเป็นประโยชน์ต่อ การปฏิรูปและการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ควบคู่กันไปนั้น ตัวอย่างเช่น ผมเป็น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เคยช่วยงานในฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ที่เรารู้จักกันในนามคณะกรรมการ ๔ ฝ่าย ที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้เคยช่วยงานอยู่ในคณะอนุกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติ ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติ เคยเป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย หลายฉบับนะครับ ตัวอย่างเช่น กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา รวมทั้งคณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ ผมเห็นแง่มุมปัญหาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในมุมเกี่ยวกับเรื่องหมวดสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของกลไกฝ่ายบริหารและ นิติบัญญัติที่จะนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีส่วนในการช่วย ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป โดยนำข้อเสนอแนะจากท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและ ประชาชนมาช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อการปฏิรูปประเทศ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานครับ ผม บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ ผมมีความห่วงใยในประเด็นเดียวกับที่ท่านอาจารย์เจิมศักดิ์ ยกขึ้นมานะครับ คือไม่อยากให้บรรยากาศของการอภิปรายในสภาเป็นการเอาชนะ มีฝ่ายค้าน ฝ่ายสนับสนุน ขออนุญาตเรียนเสนอคล้าย ๆ กับที่ท่านกรรมาธิการพยายามที่จะ ปรับเปลี่ยน แต่ว่ามีถ้อยคำที่ต่างไปแบบนี้ครับ เมื่อผู้อภิปรายก่อนตามข้อ ๕๓ ได้อภิปรายแล้ว การอภิปรายในลำดับต่อไปเป็นการอภิปรายของสมาชิกเพื่อการให้ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ อย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การลงมติที่เป็นประโยชน์โดยส่วนรวมต่อไป ก็เป็นการโยงไปถึง ภารกิจที่จะต้องลงมติตามข้อบังคับ ข้อ ๖๐ หรือในส่วนที่ ๔ ต่อไป แต่เพื่อหลบเลี่ยงปัญหา จากข้อเป็นห่วงที่ได้มีการกล่าวถึงโดยสมาชิกหลายท่านครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ในประเด็นเรื่องภาพรวมอยากจะเรียกร้องให้มีการปรับขนาดของจำนวนกรรมาธิการ ให้มีขนาดลดลงกว่าที่ปรากฏอยู่นะครับ ด้วย ๒ เหตุผล

    อ่านในการประชุม

  • ในประการแรก กลไกการปฏิรูปอาจจะมองเป็น ๒ ส่วนนะครับ ส่วนแรก เรียกว่าเป็นตัวพาหนะ เป็นกลไกขับเคลื่อน อีกส่วนหนึ่งก็คือตัวสัมภาระ ก็คือตัวประเด็น ปฏิรูป ถ้าเรามีประเด็นปฏิรูป มีสัมภาระมากเกินไป ตัวพาหนะก็อาจจะมีปัญหานะครับ ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ประสบการณ์การปฏิรูปที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมอยู่ใน อนุกรรมการสมัชชาปฏิรูปก็เห็นปัญหาในส่วนนี้นะครับว่าการแบกรับภาระทุกโจทย์ ทุกประเด็นเข้ามาจะทำให้การปฏิรูปขยับเคลื่อนไปได้ช้ามาก อันนั้นเป็นประสบการณ์ที่เป็น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีตนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • กับประการที่ ๒ ท่านสมาชิกบางส่วนก็ได้พูดไปแล้วว่าถ้าภาพที่ออกไป แล้วเป็นการสะท้อนถึงความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้อธิบายให้กับสังคมได้ชัดเจนว่า ทำไมต้องมีประเด็นปฏิรูปมากมายเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นว่าเราไปทำประเด็นย่อย แทนที่จะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างและระบบ ความเชื่อมั่นต่อกลไกของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตรงนี้ก็จะมีปัญหาตามมานะครับ ก็เห็นรูปธรรมชัดในประเด็นนี้ก็คือในกรณีเรื่องกรรมาธิการ ปฏิรูปการกีฬา ผมเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการกีฬานะครับ จุดมุ่งหมายคือการพัฒนาคน เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการกีฬาน่าจะอยู่ในส่วนหนึ่งของ (๕) คือคณะกรรมาธิการ ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยที่มุ่งเหตุผลว่าเรื่องกีฬาคือการที่เราต้อง พัฒนาคน คุณภาพของคน อยากจะเรียกร้องให้ดูเป้าหมายของการปฏิรูปซึ่งหลายท่าน ได้พูดในมาตรา ๒๗ วรรคสองนะครับ ทุกกรรมาธิการต้องสามารถตอบโจทย์ตรงนั้นให้ได้ แล้วกรรมาธิการยกร่างก็ได้นำมาเป็นส่วนขึ้นต้นของข้อ ๘๐ ไว้อยู่แล้วว่าการปฏิรูปจะต้อง ตอบโจทย์อะไรได้บ้าง ถ้ากรรมาธิการใดไม่สามารถไปบรรลุตรงนั้นได้ก็ขอช่วยพิจารณา

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ ข้อ ๘๐ วรรคสามนะครับ อยากลองเสนอความเห็นกับ ประเด็นที่หลายท่านยกขึ้นมาเกี่ยวกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ สปช. ผมมีข้อเสนอนะครับ เบื้องต้นเห็นด้วยกับการที่ให้กรรมาธิการแต่ละประเด็นเป็นผู้เสนอชื่อขึ้นมา อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าอาจจะมีการตกลงกันไม่ได้ เพราะแต่ละท่านก็อาจจะมีความรู้จักที่แตกต่างกันไป ถ้าตกลงได้ขอเสนอว่าให้ใช้ชื่อจากกรรมาธิการแต่ละด้านที่เสนอ ในกรณีที่ตกลงไม่ได้ ก็ค่อยเป็นการพิจารณาในขั้นต่อไปของกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อจะได้ ช่วยหาข้อยุติในตรงนั้น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายครับ ในข้อ ๘๐ วรรคสุดท้าย อันนี้เป็นประเด็นในเชิง ความเข้าใจที่ขอความกรุณาอธิบายจากกรรมาธิการที่ยกร่าง ในวรรคสุดท้ายเขียนว่า เมื่อกรรมาธิการประจำสภาจะดำเนินการศึกษาและเสนอแนะ เพื่อให้การปฏิรูปในเรื่องใด ๆ ให้กรรมาธิการรายงานให้สภาทราบ อยากเรียนถามในประเด็นตรงนี้ครับว่าเป็นความหมาย อย่างไร เฉพาะครั้งแรกว่าเราจะศึกษาอะไรเท่านั้น เหมือนกับการกำหนดทีโออาร์ (TOR) ใช่หรือไม่ ถ้าทำงานไป ๓ เดือนเห็นประเด็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมต้องมารายงาน ในทุก ๆ ครั้งอย่างนั้นหรือไม่ ขอความกรุณาเรื่องความชัดเจนในวิธีปฏิบัติครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ครับ ขออนุญาตนำเสนอประเด็นอภิปรายในข้อ ๘๔ (๒) กรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์ และรูปแบบอนาคตประเทศไทย ผมเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของกรรมาธิการชุดนี้นะครับ ในฐานะที่จะเป็นตัวยึดโยงกับคณะกรรมาธิการ ๑๘ คณะที่ได้ผ่านการพิจารณาไปเป็น ร่มใหญ่ เป็นตัวฐานความคิดที่จะทำให้เกิดการบูรณาการของประเด็นต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูป ที่มุ่งเป้าหมาย ในประเด็นการทำงานอยากเห็นภาพการทำงานในลักษณะของการที่ กรรมาธิการทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการค้นหาเรื่องของเทคนิค การทำให้นำไปสู่ การกำหนดวิสัยทัศน์ แต่ในแง่ของผู้ที่เข้าร่วมจัดทำวิสัยทัศน์ สนับสนุนคุณหมอพรพันธุ์ว่า จะต้องเป็นสมาชิกของ สปช. มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ที่จะเข้าไปร่วมกระบวนการกำหนด วิสัยทัศน์ เพื่อไม่ให้วิสัยทัศน์ที่ออกมาเป็นวิสัยทัศน์ของกรรมาธิการ แต่เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน อย่างน้อยของ สปช. สมาชิกทุกท่าน ตรงนี้เป็นประเด็นที่อยากจะฝากให้ทางกรรมาธิการ ในชุดนี้ได้ดำเนินการ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม